ฉบับที่ 152 พลุและดอกไม้ไฟ อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

พอใกล้ช่วงลอยกระทงทีไรเราก็มักจะได้ยินข่าวเรื่องการขอความร่วมมืองดเว้นการเล่นพลุเล่นดอกไม้ไฟ สาเหตุก็เพราะบ่อยครั้งที่ได้ยินข่าวบรรดาพลุหรือดอกไม้ไฟนำมาซึ่งอุบัติเหตุแบบคาดไม่ถึง รุนแรงมากบ้างน้อยบ้าง หลายครั้งที่มันนำไปสู่การสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นเสียทรัพย์หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ที่สำคัญคือคนที่ได้รับอุบัติเหตุจากการเล่นพลุเล่นดอกไม้ไฟส่วนใหญ่ ก็คือ เด็กๆ ที่มักเล่นสนุกจนมองข้ามอันตราย คำถามที่ตามมา คือ ในเมื่อพลุและดอกไม้ไฟเป็นสินค้าอันตราย แล้วการควบคุมการขาย การนำมาใช้นั้นได้มีการทำอย่างถูกต้องเข้มงวดแล้วหรือยัง ลองมาหาด้วยกันว่าบ้านเรามีวิธีจัดการกับปัญหาเรื่องอันตรายจากพลุและดอกไม้ไฟมากน้อยขนาดไหน เจ็บ – ตาย เพราะพลุและดอกไม้ไฟ ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เรื่องสถานการณ์การบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลวหรือสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุ ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2554 พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 2,587 ราย เฉลี่ยปีละ 517.4 ราย โดยเป็นผู้ที่เสียชีวิตจำนวน 6 ราย ซึ่งเมื่อจำนวนผู้ป่วยแยกเป็นแต่ละปีพบว่ามีผู้ป่วยจากอุบัติเหตุพลุ ดอกไม้ไฟ มีแนวโน้มสูงขึ้น จากในปี จากจำนวน 364 ราย ในปี พ.ศ. 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 642 ราย ในปี พ.ศ. 2554 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.76 เท่า อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุพลุและดอกไม้ไฟ อยู่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน มากที่สุดคือช่วงอายุ  10-14 ปี ร้อยละ 23.83 รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 15-19 ปี ร้อยละ 14.48 และกลุ่มอายุ 5-9 ปี ร้อยละ 14.33   ชนิดของพลุและดอกไม้ไฟ พลุและดอกไม้ไฟที่จำหน่ายในท้องตลาดในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งประเภทที่จุดแล้วทำให้เกิดแสงสว่าง และชนิดที่จุดแล้วทำให้เกิดเสียงดัง แต่โดยทั่วไปแล้วเราสามารถแบ่งประเภทของพลุและดอกไม้ไฟได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1.พลุและดอกไม้ไฟขนาดเล็ก หรือ แบบทั่วไป (Consumer Fireworks) ใช้เล่นเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก แสงหรือเสียงที่เกิดขึ้นจะเกิดจากการเผาไหม้ พลุและดอกไม้ไฟขนาดเล็กจะมีปริมาณของส่วนผสมที่เป็นวัตถุระเบิดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อชิ้นสำหรับพลุและดอกไม้ไฟที่เล่นบนพื้นดิน และไม่เกิน 130 มิลลิกรัม สำหรับพลุและดอกไม้ไฟที่เล่นในอากาศ ตัวอย่างพลุและดอกไม้ไฟขนาดเล็กมีอย่างเช่น ประทัด ไฟเย็น พลุขนาดเล็ก กระจับ กระเทียม เป็นต้น 2.พลุและดอกไม้ไฟขนาดใหญ่ หรือ แบบพิเศษ (Display Fireworks) พลุและดอกไม้ไฟขนาดใหญ่นิยมใช้กับงานแสดงในที่กว้าง โล่งแจ้ง ผู้ใช้จะต้องมีความชำนาญ ได้รับการฝึกอบรมในการใช้งานมาเป็นอย่างดี เพราะมีการระเบิดเผาไหม้ที่รุนแรงกว่า ที่สำคัญคือใช้ส่วนผสมของวัตถุระเบิดมากกว่า ตัวอย่างของพลุและดอกไม้ไฟขนาดใหญ่ ได้แก่ พลุและดอกไม้ไฟขนาดใหญ่ที่นิยมยิงขึ้นฟ้าสร้างภาพและสีสันต่างๆ   อันตรายที่มักเกิดจากพลุและดอกไม้ไฟ อันตรายจากการเกิดไฟไหม้และการระเบิด อุบัติเหตุที่เกิดจากพลุและดอกไม้ไฟที่นำมาซึ่งความสูญเสียมากที่สุด ก็คืออุบัติเหตุที่เกิดจากการระเบิดของพลุและดอกไม้ไฟ โดยเฉพาะกับการระเบิดที่เกิดขึ้นภายในโรงงานที่ผลิต ซึ่งเต็มไปด้วยวัตถุดิบที่เอื้อต่อการเกิดการระเบิดที่รุนแรง บ่อยครั้งที่เราได้ยินข่าวโรงงานผลิตพลุและดอกไม้ไฟเกิดการระเบิด ซึ่งมักเป็นเหตุการณ์รุนแรง แถมยังมีสิ่งที่ตามมาหลังการระเบิด ทั้งการเกิดเพลิงไหม้ และการรั่วซึมของสารเคมีที่เป็นอันตราย นอกจากนี้สาเหตุของการระเบิดและไฟไหม้อาจไม่ได้เกิดจากความไม่ได้มาตรฐานของโรงงานที่ผลิตแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีหลายเหตุการณ์ที่เกิดจากความประมาทของผู้ที่ซื้อพลุไปจุดเล่นแล้วไม่ระมัดระวัง พลุหรือดอกไม้ไฟที่จุดไปตกยังบริเวณที่เสียงต่อการติดไฟทำให้ไฟเกิดลุกไหม้ อีกหนึ่งอุบัติเหตุจากพลุและดอกไม้ไฟที่เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ก็คือการที่ผู้เล่นซึ่งมักเป็นเด็กและเยาวชนได้รับบาดเจ็บจากการจุดพลุและดอกไม้ไฟ ซึ่งมีไม่น้อยที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นมือ นิ้วมือ แขน หรือ แม้แต่ดวงตา ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความประมาท ความคึกคะนอง ซึ่งการป้องกัน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องคอยสอดส่องดูแล ไม่ควรให้เด็กเล่นวัตถุอันตรายอย่างพลุเด็ดขาด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดูแลเรื่องการขายก็ต้องควบคุมดูแลให้การขายพลุและดอกไม้ไฟเป็นไปตามกฎ   อันตรายจากการได้รับสารเคมี เพราะส่วนประกอบหลักของพลุและดอกไม้ไฟเกิดจากการผสมกันของสารเคมีหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น สารโปแตสเซียมเปอร์คลอเรต ที่มีผลทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและระบบทางเดินหายใจส่วนบน, สารซัลเฟอร์หรือกำมะถัน จะทำให้เกิดอาการตาแดง ผิวหนังอักเสบ หายใจขัด เกิดการระคายเคืองที่ระบบทางเดินหายใจ, สารโปตัสเซียมไนเตรต หากสัมผัสถูกสารจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง และเยื่อบุผิวหนัง ถ้ากลืนกินเข้าไปจะทำให้คลื่นไส้ ท้องเสีย และกล้ามเนื้ออ่อนแรง, สารแบเรียมไนเตรต เป็นสารที่ มีพิษมากจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อหู ตา จมูก และผิวหนัง สารนี้มีผลทำลายตับ ม้าม และยังทำให้เกิดอัมพาตที่แขน ขา และบางรายอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งอย่างที่เราได้รับทราบในข่าว เวลาที่เกิดการระเบิดของโรงงานผลิตพลุและดอกไม้ไฟ จะมีการอพยพชาวบ้านที่อยู่ในละแวกที่เกิดเหตุออกจากพื้นที่ เพื่อหลีกหนีอันตรายจากสารเคมีต่างๆ ที่อาจรั่วซึมออกมาพร้อมการระเบิด   อันตรายการได้รับเสียงดัง มีข้อมูลจากกรมอนามัย เรื่องความดังของเสียงระเบิดจากพลุและดอกไม้ไฟมีระดับเสียงกระแทกสูงถึง 130 เดซิเบล เอ (เดซิเบล เอ dB(A) คือ สเกลของเครื่องวัดเสียงที่สร้างเลียนแบบลักษณะการทำงานของหูมนุษย์ โดยจะกรองเอาความถี่ต่ำ และความถี่สูงของเสียงที่เกินกว่ามนุษย์จะได้ยินออกไป) ที่ระยะห่างจากจุดกำเนิด 5 เมตร ซึ่งสูงเกินกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 85 เดชิเบล เอ การที่หูของเราได้รับเสียงที่มีความดังเกินกว่า 130 เดซิเบล เอ มีผลทำให้เราเกิดอาการหูตึงชั่วคราว แต่หากต้องได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลทำให้เกิดอาการหูตึงถาวร นอกจากนี้เสียงที่ดังมากๆ ก็มีผลต่อเรื่องของสุขภาพจิต ทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด รำคาญ ส่งผลให้นอนไม่หลับ ทำให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอ รวมทั้งมีผลต่อผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิต   อันตรายจากความร้อน พลุและดอกไม้ไฟใช้การจุดระเบิดเป็นตัวทำปฏิกิริยา ซึ่งการจุดไฟสิ่งที่ตามด้วยเสมอก็คือความร้อน หลายคนหลงเพลิดเพลินกับประกายสะเก็ดไฟที่สวยงาม จนลืมนึกถึงความร้อนของสะเก็ดไฟเหล่านั้น ซึ่งเป็นความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงมาก ตัวอย่างพลุที่ชื่อเรียกว่า ไฟเย็น ซึ่งเป็นที่นิยมมาก หลายๆ คนน่ารู้จักกันดี แม้จะชื่อไฟเย็นแต่เวลาที่จุดจะมีอุณหภูมิความร้อนสูงสุดถึง 900 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นความร้อนในระดับที่สามารถทำให้ผิวหนังไหม้ได้หากไปสัมผัสถูก   11 ข้อห้าม!!! ป้องกันอันตรายจากพลุและดอกไม้ไฟ 1.ห้ามให้เด็กๆ เล่นพลุและดอกไม้ไฟ หรือควรต้องอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ 2.ห้ามเล่นพลุและดอกไม้ไฟ ที่ซื้อจากร้านค้าที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ  สินค้าอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ เก่า และไม่มีฉลากภาษาไทยที่ถูกต้องชัดเจน 3.ห้ามเล่นพลุและดอกไม้ไฟ ถ้ายังไม่ได้อ่านฉลาก คำแนะนำ วิธีการใช้ คำเตือน 4. ห้ามจุดดอกไม้ไฟที่เสื่อมสภาพหรือดอกไม้ไฟที่ถูกจุดแล้วแต่ยังไม่ระเบิด(ไม่ทำงาน) เพราะพลุและดอกไม้ไฟนั้นอาจระเบิดโดยไม่คาดคิด 5.ห้ามจุดพลุและดอกไม้ไฟ ถ้ายังไม่ได้เตรียมกระป๋องหรือถังใส่น้ำไว้ใกล้บริเวณที่จะจุดพลุหรือดอกไม้ไฟ เผื่อไว้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน 6.ห้ามเข้าใกล้ดอกไม้ไฟที่ถูกจุดแล้วหรือดอกไม้เพลิงที่ยังดับไม่สนิท 7.ห้ามจุดพลุหรือดอกไม้ไฟ หากไม่อยู่ในระยะที่ปลอดภัย คือ 1 เมตร หรือ 1 ช่วงแขน 8.ห้ามประกอบหรือดัดแปลงพลุหรือดอกไม้ไฟไว้เล่นเองโดยเด็ดขาด 9.ห้ามเก็บพลุและดอกไม้ไฟไว้ในบ้าน หากต้องเก็บควรเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดฝามิดชิด สถานที่เก็บควรเป็นที่แห้งและมีอากาศเย็น 10.ห้ามจุดพลุหรือดอกไม้ไฟ ในพื้นที่โล่งแจ้ง บริเวณที่มีหญ้าแห้งหรือบริเวณที่เป็นสนามหญ้า เพราะหญ้าเหล่านั้นสามารถลุกติดไฟได้ หลีกเลี่ยงบริเวณอาคารบ้านเรือน หรือแหล่งที่มีวัสดุที่ติดไฟง่าย พวก ก๊าซ น้ำมัน หรือเชื้อเพลิง 11.ห้ามเล่นพลุและดอกไม้ไฟโดยเด็ดขาด หากไม่จำเป็น   กฎหมายที่ทำหน้าที่ควบคุมการซื้อ-ขายและการใช้พลุและดอกไม้ไฟ พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ที่ให้อำนาจนายทะเบียนท้องที่แต่ละท้องที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตในการขาย ผลิต นำเข้า ดอกไม้เพลิง ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุ 1 ปี นอกจากนี้เจ้าหน้าที่นายทะเบียนท้องที่ยังมีสิทธิในการออกข้อกำหนดหรือข้อบังคับเพื่อควบคุมป้องกันอันตรายอันอาจจะเกิดจากพลุและดอกไม้ไฟ เช่น การกำหนดปริมาณน้ำหนักรวมของดินปืนหรือสารระเบิดในสินค้าพลุและดอกไม้ไฟรวมทั้งหมดที่มีอยู่ในร้าน อย่างเช่น กำหนดให้มีน้ำหนักรวมของดินปืนหรือสารระเบิดรวมไม่เกิน 50 กิโลกรัม กำหนดเวลาปิดเปิดของร้านค้าพลุและดอกไม้ไฟ กำหนดให้ภายในร้านต้องมีลักษณะที่เหมาะสม  มีอากาศถ่ายเทดี มีอุปกรณ์ดับเพลิง ไม่จำหน่าย พลุและดอกไม้ไฟ รวมกับสินค้าอื่นที่ติดไฟง่าย อย่าง เชื้อเพลิง ก๊าซ น้ำมัน ไม้ขีดไฟ เป็นต้น ซึ่งผู้ที่ทำผิดมีสิทธิถูกบทลงโทษ ทั้งจำทั้งปรับ   พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 พลุ ดอกไม้ไฟ หรือ ดอกไม้เพลิง ถือเป็นวัตถุอันตราย ตามคำจำกัดความที่บอกว่าวัตถุอันตรายหมายถึง วัตถุไวไฟ และ วัตถุระเบิดได้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ทำหน้าที่ควบคุมดูแลสินค้าที่ถูกผลิต นำเข้า และจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด โดยจะมีคณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งมาจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงอุตสาหกรรม กรมการค้าภายใน กรมตำรวจ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงกลาโหม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาเคมี ฯลฯ หน้าที่หลักๆ ของคณะกรรมการชุดนี้คือ ให้คำแนะนำแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการรับขึ้นทะเบียน หรือเพิกถอนทะเบียนวัตถุอันตราย แจ้งข่าวสารเกี่ยวกับวัตถุอันตรายให้ประชาชนได้ทราบ รวมถึงพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากวัตถุอันตราย   พลุ ดอกไม้ไฟ เป็นสินค้าควบคุมฉลาก หนึ่งในความพยายามที่จะลดและป้องกันอันตรายจากพลุและดอกไม้ไฟ ก็คือการกำหนดให้ ดอกไม้ไฟ หรือ ดอกไม้เพลิง ซึ่งนิยามตามประกาศหมายรวมถึง พลุ ประทัดไฟ ประทัดลม และวัตถุอื่นใดอันมี สภาพคล้ายคลึงกัน เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ซึ่งสิ่งที่ดอกไม้ไฟต้องแสดงไว้บนฉลากเพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค นอกจากรายละเอียดสำคัญพื้นฐานอย่าง -ชื่อประเภทหรือชนิดของสินค้า -สถานที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้ขาย -ปริมาณ ขนาด หรือน้ำหนักของสินค้า -วิธีใช้ -ข้อแนะนำในการใช้ หรือห้ามใช้ -คำเตือน -วันเดือนปีที่ผลิต -ราคา ตามข้อกำหนดในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2541 แล้ว ยังต้องมีการแสดงข้อมูลเฉพาะที่ได้มีการกำหนดเพิ่มเติมในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 36 พ.ศ. 2556 เรื่อง ให้ดอกไม้เพลิงเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยรายละเอียดข้อมูลที่ต้องมีบนฉลากสินค้าดอกไม้ไฟ มีดังนี้ 1. ผู้เล่นดอกไม้เพลิงที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี ต้องอยู่ในการกำกับดูแลของผู้ใหญ่ 2. ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก 3. ไม่ควรเก็บรักษาไว้ในที่มีอุณหภูมิสูง 4. ไม่ควรจุดไฟใหม่ หากจุดชนวนแล้วไม่ติด 5. ควรเล่นในที่โล่งกว้าง ห่างไกลจากวัตถุไวไฟ นอกจากนี้ยังต้องมีคำเตือน ที่ระบุว่า “อันตรายอาจถึงตายหรือพิการหากเล่นไม่ถูกวิธี หรือคึกคะนอง” โดยข้อความที่เป็นคำเตือนต้องใช้ตัวอักษรเส้นทึบขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรอื่น ในกรอบสี่เหลี่ยม สีของกรอบและข้อความต้องตัดกับสีพื้นของฉลาก ซึ่งประกาศฉบับนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 นี้เป็นต้นไป   โดยใน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ได้มีการระบุโทษของผู้ที่จำหน่ายพลุ ดอกไม้ไฟ ดอกไม้เพลิง ที่ไม่มีฉลาก หรือมีฉลากไม่ถูกต้อง มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   เล่นพลุไม่ระวัง ทำคนอื่นเดือดร้อน มีสิทธินอนคุก อันตรายจากการเล่นพลุและดอกไม้ด้วยความประมาทจนนำไปสู่อุบัติเหตุนั้น นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับตัวเองแล้ว ใครที่เล่นพลุและดอกไม้ไฟแล้วไปสร้างความเสียหายเดือนร้อนให้กับคนอื่นๆ ถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เรื่องความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน มาตรา 220 ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของ ตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท และยิ่งถ้าหากรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 224 มิสิทธิโดนลงโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต   ข่าวพลุระเบิด เมื่อไรจะเงียบเสียง 14 ส.ค.49 รถเทรลเลอร์บรรทุกดอกไม้ไฟนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย มายังจังหวัดสงขลา ได้เกิดระเบิดขึ้นขณะขนถ่ายเข้าเก็บภายในโกดัง ทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 2 ราย ซึ่งการระเบิดขึ้นมีความรุนแรงมาก เนื่องจากพลุที่เริ่มระเบิดภายในรถเทรลเลอร์ได้ลุกลามไปยังพลุและดอกไม้ไฟที่อยู่ในโกดัง ทำให้การระเบิดขยายวงกว้างขึ้น 31 ธ.ค.53 ดารานายแบบชื่อดัง ''สมเจตน์ สะอาด'' เสียชีวิตจากการถูกพลุระเบิดใส่เข้าที่ใบหน้า สาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุจากการที่ตัวนายแบบตั้งใจจะเข้าไปดับพลุที่เตรียมไว้เพื่อจุดในงานส่งท้ายปีเก่า ซึ่งเกิดติดขึ้นมาก่อนเวลาที่ตั้งใจไว้ ระหว่างที่เห็นพลุเกิดมีควันลอยออกมานายแบบหนุ่มตั้งใจก้มลงไปที่พลุเพื่อดับชนวน พลุก็เกิดระเบิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด  ลูกไฟจากแรงระเบิดกระแทกเข้าใบหน้าของนายแบบหนุ่ม ทำให้เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ 17 ม.ค.54 ที่จังหวัดอยุธยา เกิดเหตุระเบิดจากพลุและดอกไม้ไฟ มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย สาเหตุเกิดจากบ้านหลังดังกล่าวลักลอบผลิตพลุและดอกไม้ไฟอย่างผิดกฎหมาย แรงระเบิดยังทำให้บ้านอีก 4 หลังรอบๆ ที่เกิดเหตุ ได้รับความเสียหายพังราบเป็นหน้ากลอง 24 ม.ค. 55 งานตรุษจีนสุพรรณบุรี ปีทองมังกรสวรรค์ ณ อุทยานมังกรสวรรค์ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เกิดเหตุดอกไม้ไฟระเบิด ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากพลุและดอกไม้ไฟที่สร้างความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประเทศไทย สาเหตุจากพลุและดอกไม้ไฟจำนวนมากที่ถูกเตรียมไว้แสดงในงานเกิดระเบิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 4 ราย บาดเจ็บมากกว่า 70 ราย มีบ้านเรือนที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้รุนแรงถึงขั้นไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่า 50 ครอบครัว 27 ส.ค.56 ถังเก็บดินระเบิดที่ผสมแล้วของโรงงานทำพลุซึ่งมีเจ้าของเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ต.ชัยฤทธิ์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง เกิดระเบิด จนเป็นเหตุให้ทั้งโรงงานผลิตพลุ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน และบ้านเรือนใกล้เคียงอีก 3 หลัง ได้รับความเสียหาย โรงงานพลุแห่งนี้ ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง มีการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ แต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุขึ้นโดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน 9 มิ.ย.56 โรงงานผลิตพลุ ในตำบลสวนแตง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เกิดเหตุระเบิดรุนแรง จนทำให้โกดังเก็บพลุจำนวน 6 หลัง บ้านพัก และรถยนต์ 4 คันที่อยู่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ ถูกแรงระเบิดได้รับความเสียหายทั้งหมด โดยจำนวนพลุทั้งหมดที่ถูกเก็บไว้ในโกดังมีมากกว่า 700 ลูก ที่น่าคิดคือโกดังแห่งนี้เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับยึดพลุที่อยู่ในโกดังมาแล้วเมื่อปี 54 เพราะสุ่มเสี่ยงต่ออันตราย แต่ก็ยังมาเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในที่สุด 22 ต.ค. 56 เกิดเหตุโกดังเก็บพลุ ดอกไม้ไฟ และโคมลอย ในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ สาเหตุคาดว่าเกิดจากประกายไฟจากการก่อสร้างในบริเวณใกล้เคียง กระเด็นมาติดกับพลุและดอกไม้ไฟ ที่ถูกเก็บไว้ในโกดัง เพื่อเตรียมจำหน่ายช่วงวันลอยกระทง เป็นผลให้เกิดการระเบิดขึ้น ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บอีก 5 คน //

อ่านเพิ่มเติม >