ฉบับที่ 146 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนมีนาคม 2556 ใช้น้ำมันทอดซ้ำ = ทำผิดกฎมาย หลังจากนิตยสารฉลาดซื้อของเราได้ลงผลทดสอบ “น้ำมันทอดซ้ำในไก่ทอด” ซึ่งตรวจพบสารโพลาร์ – สารก่อมะเร็งในน้ำมันทอดซ้ำในหลายตัวอย่าง ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องอาหารปลอดภัย ก็ได้ออกมารับไม้ต่อในการทำหน้าที่ปกป้องผู้บริโภค โดยทั้งสุ่มตรวจอาหารทอด และออกกฎหมายควบคุมการใช้น้ำมันทอดซ้ำ อย.ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง วิธีการผลิตอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งในประกาศได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำห้ามมีการปนเปื้อนของสารโพลาร์เกินร้อยละ 25 ของน้ำหนักอาหาร หากมีการสุ่มตรวจแล้วพบการปนเปื้อนเกินกว่าค่าที่กำหนด ผู้ผลิตหรือผู้ขายอาหารที่ทำผิดจะมีโทษปรับสูงสุดหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งประกาศนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2556 เป็นต้นไป มีข้อมูลที่ทาง อย. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำมันทอดซ้ำจากทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อดูผลย้อนหลัง 5 ปี พบว่ามีความเสี่ยงจากอันตรายในน้ำมันทอดซ้ำเพิ่มขึ้นทุกปี โดยจากการเก็บตัวอย่าง อาหารทอดที่พบสารโพลาร์เกินร้อยละ 25 มีอย่างเช่น แคบหมู มันฝรั่ง ไส้กรอก ลูกชิ้น และไก่ทอด ----------------------------------------------------------   พ.ร.บ.ยา...ที่ยังมาไม่ถึง (สักที) คนไทยยังคงต้องร้องเพลงต่อไป สำหรับโอกาสที่จะได้ใช้ พ.ร.บ. ยา พ.ศ. ... (ฉบับประชาชน) หลังจากถูกดองโดยรัฐบาลเป็นเวลาร่วม 1 ปี ทั้งๆ ที่กฎหมายฉบับนี้ซึ่งมาจากการเข้าชื่อของประชาชนหนึ่งหมื่นชื่อผ่านการรับรองโดยรัฐสภาแล้วเรียบร้อย แต่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่ลงนามรับรองร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน รัฐบาลจะต้องออกร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับของรัฐบาลมาควบคู่กัน เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบ กฎหมายจากภาคประชาชนฉบับนี้จึงอดแจ้งเกิด ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา กล่าวว่า พ.ร.บ. ยา ฉบับประชาชน จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในเรื่องการใช้ยาของคนไทย ทั้งการตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายจากปัญหาการใช้ยา ซึ่งหลายประเทศที่พัฒนาแล้วใช้หลักการนี้ การควบคุมการส่งเสริมการขาย สร้างโครงสร้างราคายาที่เหมาะสม ลดปัญหาการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันเรานำเข้ายาจากต่างประเทศถึง 70% โดยหลังจากนี้ กพย. วางแผนที่จะผลักดันให้เกิดการใช้ร่างเกณฑ์จริยธรรมการส่งเสริมการขายยา ด้วยการพิมพ์เผยแพร่ร่างดังกล่าว ส่งต่อให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ที่สนใจและเห็นประโยชน์เพื่อให้ลองนำไปปรับใช้ต่อไป ----------------------------------------------- สวยต้องห้าม "สเต็มเซลล์ โรลเลอร์” ความสวยไม่ควรมาพร้อมความเสี่ยง การแพทย์เพื่อความงามต้องตั้งอยู่บนความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ออกโรงยืนยันว่า "สเต็มเซลล์ โรลเลอร์ (Stem Cell Roller)" และ "เดอร์มา โรลเลอร์" (Derma Roller) ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่า ช่วยรักษารอยเหี่ยวย่น รอยสิว ผิวหน้าไม่เรียบ ทำให้หน้าใส โดยจะใช้ลูกกลิ้งที่มีเข็มเล็กๆ เป็นจำนวนมาก กลิ้งไปบนใบหน้า เพื่อให้ใบหน้ามีการสร้างเซลล์ผิวหนังใหม่ขึ้นมาทดแทนนั้น ไม่ได้รับการรับรองให้ใช้รักษาในประเทศไทย เพราะไม่มีข้อมูลการันตีเรื่องผลการรักษา และยังเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อผิวหน้า โดย อย. ได้เอาผิดกับ 2 คลินิกเสริมความงามชื่อดัง ทั้ง นิติพลคลินิก และ วุฒิ-ศักดิ์คลินิก หลังจากได้รับการร้องเรียนและตรวจสอบพบว่ามีการให้บริการ สเต็มเซลล์ โรลเลอร์ และเดอร์มา โรลเลอร์ อันตรายของ สเต็มเซลล์ โรลเลอร์ และเดอร์มา โรลเลอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ ที่ทำให้เกิดบาดแผลกับผิวหน้า มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคติดต่ออันตราย หากเครื่องมือที่ใช้ไม่มีความสะอาดและไม่ได้มาตรฐาน ------------   ร้องเนสท์เล่ เรียกคืน “คิทแคท” เจ้าปัญหาแบบในต่างประเทศ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน รวมกันแถลงข่าว ร้องขอความรับผิดชอบจาก บริษัท เนสท์เล่ ประเทศไทย ให้มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ ช็อคโกแล็ตนมสอดไส้เวเฟอร์ ตราเนสท์เล่คิทแคท ออกจากร้านค้าทั่วประเทศ หลังจากพบปัญหาว่าพลาสติกที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์หลุดออกมาปนเปื้อนในเนื้อช็อกโกแลตที่เคลือบขนม ปัญหาแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยบริษัท เนสท์เล่ ได้แสดงความรับผิดชอบโดยการเรียกคืนสินค้าที่มีปัญหาโดยสมัครใจทั้งใน อังกฤษ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่มาเลเซีย ซึ่งผลิตภัณฑ์คิทแคทที่จำหน่ายในบ้านเรานำเข้ามาจากมาเลเซีย ลักษณะของปัญหาเกิดจากตัวบรรจุภัณฑ์ที่มีการนำเส้นพลาสติกสีแดงติดอยู่ด้านใน ซึ่งสามารถหลุดลอกออกมาได้ทำให้ไปปนเปื้อนกับตัวอาหาร ยิ่งเนื้อช็อกโกแลตมีโอกาสหลอมเหลวได้ง่ายเมื่ออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน การปนเปื้อนของเส้นพลาสติกกับเนื้ออาหารจึงเกิดขึ้นได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงน่าจะมาจากตัวบรรจุภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาไม่เหมาะสม ------------------------------------------------------------------------------   กสทช. กับความล้มเหลวเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค "2556 ปีทองการคุ้มครองผู้บริโภค " คือคำประกาศที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. นำมาใช้แสดงวิสัยทัศน์ในการทำงาน แต่หากลองพิจารณาถึงการทำงานตลอดปี 2555 ที่ผ่านมา และช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 จะเห็นว่าผลงานที่ประจักษ์ของ กสทช. นั้น ช่างแตกต่างจากคำประกาศอย่างสิ้นเชิง เพราะการทำงานที่ผ่านมา ปัญหาของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของ กสทช. ถูกละเลยอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน การคิดค่าโทรนาทีละ 99 สตางค์ หรือปัญหา sms หลอกเงิน ซึ่งหลายเรื่องมีข้อกฎหมายกำหนดชัดเจนมาพร้อมบทลงโทษกับผู้ประกอบการที่กระทำผิด แต่ทุกปัญหาก็ยังคงรบกวนผู้บริโภคอย่างไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการแก้ไข นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวเสริมถึงเรื่องปัญหาของผู้บริโภคว่า ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเต็มที่ ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนมาที่ กสทช. ประมาณ 4 - 5 พันเรื่อง การแก้ไขเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งที่กฎหมายกำหนดว่าต้องดำเนินการภายใน 30 วัน โดยยังคงมีเรื่องร้องเรียนค้างอยู่นับพันเรื่อง ซึ่งสาเหตุของปัญหามาจากการจัดการทั้งเรื่องของบุคลากรและงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ขั้นตอนการดำเนินงานที่มากเกินไป ทั้งหมดล้วนเกิดจากการบริหารจัดการที่ยังไม่มีความชัดเจนและไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหาผู้บริโภคมากเพียงพอ จากนี้ไป ผู้บริโภคอย่างเราก็คงต้องจับตาดูการทำงานของ กสทช. อย่างใกล้ชิด  กสทช. ต้องแสดงความจริงใจในการเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในยุคที่บริการด้านการสื่อสารมีบทบาทอย่างมากกับการดำเนินชีวิต ไม่ใช้องค์กรที่ค่อยสร้างประโยชน์แก่ผู้ประกอบการอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ---------------------   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 “กาน่าฉ่าย” เมนูเสี่ยงน้ำมันทอดซ้ำ

ถึงช่วงเทศกาลกินเจทีไร อาหารจำพวกพืชผักต่างๆ ก็ได้เวลาคึกคัก ซึ่งหนึ่งในเมนูผักๆ ที่ขาดไม่ได้ในช่วงเทศกาลกินเจ ก็คือ “กาน่าฉ่าย” เมนูชื่อแปลกที่หลายคนอาจไม่คุ้นหู แต่ก็เป็นเมนูสุดโปรดของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะคนที่เชื้อสายจีนรับรองว่าต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี อ่านมาถึงตรงนี้แฟนๆ ฉลาดซื้อคงเริ่มอยากรู้แล้วว่า เราจะทดสอบอะไรในกาน่าฉ่าย ซึ่งฉลาดซื้อได้รับข้อมูลมาว่าในการทำกาน่าฉ่ายนั้นมีการใช้น้ำมันเป็นส่วนประกอบ ทำให้เรามีข้อสงสัยว่ากาน่าฉ่ายอาจเสี่ยงปัญหาน้ำมันทอดซ้ำ ฉลาดซื้อจึงสุ่มเก็บตัวอย่างกาน่าฉ่ายที่ขายอยู่ตามแหล่งจำหน่ายอาหารเจและตลาดยอดนิยมที่ขายสินค้าอาหารของคนไทยเชื้อสายจีน ไม่ว่าจะเป็น ตลาดเยาวราช ตลาดท่าดินแดง และตลาดสามย่าน  เพื่อมาทดสอบดูว่ากาน่าฉ่ายที่วางขายอยู่เสี่ยงน้ำมันทอดซ้ำมากน้อยแค่ไหน   สูตรไม่ลับ กาน่าฉาย กาน่าฉ่าย ทำจากผักกาดดองที่บีบน้ำดองออกแล้วส่วนหนึ่ง เพื่อไม่ให้รสชาติเปรี้ยวหรือเค็มจัดเกินไป จากนั้นนำมาสับ นำลงผัดกับลูกสมอดอง หรือที่ชาวจีนเรียกว่า กาน่าซั่ม บางเจ้าบางสูตรจะมีการเติมเห็ดหอมลงไปด้วย เมื่อผัดได้ที่ก็จะเติมน้ำเพิ่มลงไป  ตั้งไฟตุ๋นทิ้งไว้ 5-8 ชั่วโมง กาน่าฉ่ายก็จะกลายเป็นสีดำ หน้าตาอาจจะไม่ค่อยน่ากิน แต่รสชาติอร่อยถูกใจ หลายคนบอกว่าแค่กินคู่กับข้าวต้มหรือข้าวสวยร้อนๆ ก็อร่อยสุดๆ หรือจะนำไปดัดแปลงไปผัดกับเนื้อสัตว์ ผัดกับผักอื่นๆ หรือเติมลงในข้าวผัดก็อร่อยไปอีกแบบ ขั้นตอนการปรุงเมนูกาน่าฉ่าย จำเป็นต้องมีการใช้น้ำมันในขั้นตอนของการผัด ซึ่งน้ำมันที่นิยมใช้กันคือน้ำมันพืชอย่าง น้ำมันปาล์ม, น้ำมันถั่วเหลือง หรือ น้ำมันงา ร้านค้าส่วนใหญ่เวลาที่เขาผัดกานาฉ่ายขายแต่ละทีเขาทำขายกันทีละหลายกิโล น้ำมันที่ใช้จึงมีปริมาณมาก โอกาสที่จะมีการใช้น้ำมันซ้ำๆ ในการผัดเพื่อเป็นการลดต้นทุนจึงอาจเกิดขึ้นได้   ผลทดสอบน้ำมันทอดซ้ำในกาน่าฉ่าย ฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่าง กาน่าฉ่าย จากตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังในกรุงเทพฯ จำนวน 13 ตัวอย่าง ส่งไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 จ.อุดรธานี เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารโพลาร์ สารที่เกิดจากน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ในตัวอย่างกาน่าฉ่าย โดยการใช้ชุดทดสอบน้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งให้ผลที่แม่นยำเป็นที่ยอมรับ ได้ผลดังนี้     สรุปผลการทดสอบ การวิเคราะห์โดยใช้ชุดทดสอบนั้น จะใช้วิธีการหยดสารละลายโพลาร์ลงในตัวอย่าง ตัวสารจะทำปฏิกิริยากับตัวอย่างทำให้เกิดเป็นสีชมพู ตั้งแต่สีจางไปจนถึงเข้ม สำหรับตัวอย่างที่มีปริมาณสารโพลาร์ไม่เกิน 25% ของน้ำหนัก แต่หากตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ไม่เปลี่ยนเป็นสีชมพู หรือกลายเป็นสีเหลืองแสดงว่าตัวอย่างนั้นมีปริมาณสารโพลาร์เกินกว่า 25% - ตัวอย่างกาน่าฉ่าย ที่อยู่ในเกณฑ์ดีใช้ได้ พบว่ามีเพียง 3 ตัวอย่างเท่านั้น (จากทั้งหมด 13 ตัวอย่าง) คือมีปริมาณสารโพลาร์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ 1.กาน่าฉ่าย ร้านพลังบุญ จากสันติอโศก 2.กาน่าฉ่าย แม่จินต์ จากโลตัส สาขาสุขสวัสดิ์ และ 3.กาน่าฉ่ายเห็ดหอม สูตรคุณตี๋ จากตลาดสามย่าน สารโพลาร์อยู่ในช่วงปริมาณ 9-20% ถือเป็นน้ำมันที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี - กาน่าฉ่ายอีก 10 ตัวอย่างที่เหลือ ตรวจวิเคราะห์พบปริมาณสารโพลาร์ปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ คือมากกว่า 25% ของน้ำหนักอาหาร ซึ่งจากการทดสอบด้วยชุดทดสอบพบว่า ตัวอย่างเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม คิดเป็นสารโพลาร์ที่อยู่ในช่วง 27% ของน้ำหนักอาหาร ซึ่งถือเป็นน้ำมันที่เสื่อมสภาพแล้ว ไม่ควรนำมาใช้ประกอบอาหาร - จากตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์ พบว่า มากกว่า 70% มีการปนเปื้อนของสารโพลาร์เกินค่ามาตรฐาน การรับประทานกาน่าฉ่าย จึงมีความเสี่ยงต่ออันตรายจากน้ำมันทอดซ้ำ ใครที่ชอบซื้อรับประทานบ่อยๆ อาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น รับประทานแต่พอดี หรือพยายามเลือกร้านที่มั่นใจว่าเปลี่ยนน้ำมันในการทำอยู่เสมอ สังเกตดูกาน่าฉ่ายที่ต้องไม่ดูเก่าเกินไป สีของน้ำมันไม่เป็นสีดำ ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน - น้ำมันปรุงอาหารจะเสื่อมคุณภาพ เมื่อถูกความความร้อนสูง และมีความชื้น จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เกิดสารโพล่าร์ (Polar compounds) เครื่องปรุงต่างๆ เช่น เกลือ ถือเป็นตัวเร่งให้เกิดสารสารโพลาร์เพิ่มขึ้น โดยปกติน้ำมันปรุงอาหารใหม่จะมีสารโพลาร์อยู่ระหว่าง 3-8 % ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 283) พ.ศ. 2547 เรื่องกำหนดปริมาณสารโพลาร์ในน้ำมันที่ใช้ทอดหรือประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย ให้มีปริมาณสารโพลาร์ได้ไม่เกิน 25% ของน้ำหนัก ผู้ประกอบการอาหารที่ใช้น้ำมันทอดอาหารที่มีค่าปริมาณสารโพลาร์เกินมาตรฐานทีกำหนดและจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน ฝ่าฝืนมาตรา 25(3) พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท   อันตรายของน้ำมันทอดซ้ำ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า ในน้ำมันทอดซ้ำมีสารอันตรายอยู่ 2 กลุ่ม คือ สารโพลาร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และอีกกลุ่มคือสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน หรือ PAH ซึ่งเป็นกลุ่มสารก่อมะเร็ง น้ำมันทอดซ้ำ หรือน้ำมันที่เสื่อมคุณภาพ มีผลทำลายสุขภาพ ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบ โรคหัวใจวาย โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้หรือกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ไอของน้ำมันที่เสื่อมจะมีกลุ่มสารก่อมะเร็ง ทำให้ผู้ที่ทอดอาหารเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดจากการสูดดม   กานาฉ่าย ไม่ได้เสี่ยงแค่น้ำมันทอดซ้ำแต่ยังต้องระวังเรื่องสารกันบูด ช่วงเทศกาลกินเจ นอกจากผักที่คนกินเจนิยมบริโภคกันมากแล้ว อาหารจำพวกหมักดองก็เป็นที่นิยมมากเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ผักกาดดอง หัวไช้โป้ว เกี่ยมฉ่าย และรวมถึง กาน่าฉ่าย ซึ่งอาหารเหล่านี้มักมีการใช้วัตถุกันเสียเพื่อยืดอายุของอาหาร ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย คือ กรดเบนโซอิก (benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (sorbic acid) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร อนุญาตให้ใช้วัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ในผักดอง ผักปรุงสุก ได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหารช่วงเทศกาลกินเจปี 2557 สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เก็บตัวอย่าง กาน่าฉ่าย ไช้โป้ว หัวผักดอง และ ยำเกี่ยมฉ่าย รวม 30 ตัวอย่าง เพี่อตรวจวิเคราะห์หาวัตถุกันเสียทางห้องปฏิบัติการ พบว่ามีตัวอย่างที่ใช้วัตถุกันเสียถึง 29 ตัวอย่าง ไม่พบเพียง 1 ตัวอย่าง โดยพบตัวอย่างใช้วัตถุกันเสียทั้ง 2 ชนิด จำนวน 6 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้พบกรดเบนโซอิก เกินมาตรฐาน 22 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 73.3 โดยพบปริมาณสูงสุด 5,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในตัวอย่าง กาน่าฉ่าย ส่วนกรดซอร์บิกพบในตัวอย่าง ไช้โป้ว/ไช้โป้วฝอย อยู่ในช่วง 50 - 418 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แม้ว่ากรดเบนโซอิกจะมีความเป็นพิษต่ำ แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงมากอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ที่มา: รายงานประจำปี 2556 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 ไก่ทอดกับปัญหาน้ำมันทอดซ้ำ

ไก่ทอด เป็นหนึ่งในรายการอาหารสุดคลาสสิกที่แข่งกับหมูปิ้งแบบหายใจรดต้นคอมาอย่างยาวนานในวิถีชีวิตสังคมเมืองที่เร่งรีบ อันตรายจากการกินไก่ทอดที่ทุกคนน่าจะรู้กันดีคือ ไขมัน เพราะมันเป็นของทอด! กินมากไปไขมันพอกพูนแน่นอน   แต่คราวนี้เราขอชักชวนไปอีกเรื่องหนึ่ง อาจเรียกว่าเป็นอันตรายแบบเงียบๆ ก็ได้ นั่นคือ “น้ำมันทอดซ้ำ” ฉลาดซื้อขอนำท่านผู้อ่านมาดูผลทดสอบน้ำมันทอดซ้ำในไก่ทอดแบบวัดกันไปเลยว่ามีผู้ประกอบการรายใดบ้างที่ละเลยปัญหาเรื่องนี้   ชาวฉลาดซื้อเดินดุ่ยๆ ไปสุ่มซื้อไก่ทอดทั้งแบรนด์ท้องถิ่นและแฟรนไชส์ ที่เรียกว่า มีชื่อเสียงพอตัว ในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 21 – 23 มกราคม 2556 จำนวน 11 ตัวอย่าง แล้วนำส่งทดสอบ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี การทดสอบทำโดยนำตัวอย่างไก่ทอดมาบีบเอาน้ำมันออกแล้วใช้ชุดทดสอบน้ำมันทอดซ้ำตรวจหาค่า “โพลาร์” เพื่อวัดการเสื่อมสภาพจากการใช้งานของน้ำมันที่ใช้ทอด   ผลทดสอบ ข่าวดีคือ “ฉลาดซื้อ” พบว่าเกือบทุกตัวอย่างมีค่าโพลาร์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีเพียงตัวอย่างเดียวที่พบการใช้น้ำมันทอดซ้ำเกินค่ามาตรฐานได้แก่ ไก่ทอด แมคโดนัล (McDonald) สาขาห้าง เซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ข้างสำนักงานของ “ฉลาดซื้อ” นี่เอง) โดยพบโพลาร์เกินกว่าร้อยละ 25 อันเป็นตัวบ่งชี้ว่าน้ำมันเสื่อมสภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 283) พ.ศ. 2547 และวินิจฉัยได้ว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน ฝ่าฝืนมาตรา 25 (3) ของพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท   ข้อสังเกต มี 3 ตัวอย่างที่พบสารโพลาร์เกือบเกินค่ามาตรฐาน(น้ำมันใกล้เสื่อมสภาพ) ได้แก่ ไก่ทอดหาดใหญ่จากตลาดปทุมธานี ไก่ทอดเจ๊กีจากซอยโปโล ถนนพระราม 4 และไก่ทอดจีระพ้นธ์ จากตลาดหลังการบินไทย วิภาวดี   อันตรายของน้ำมันทอดซ้ำ น้ำมันที่ใช้ซ้ำจนเสื่อมคุณภาพเป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้รับประทานทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบ โรคหัวใจวาย โรคอัมพฤกษ์หรืออัมพาตและภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้หรือกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ไอของน้ำมันที่เสื่อมสภาพจะมีกลุ่มสารก่อมะเร็งทำให้ผู้ทอดอาหารเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดจากการสูดดม อันตรายของน้ำมันทอดซ้ำที่เสื่อมคุณภาพเกิดจากโครงสร้างของน้ำมันถูกเปลี่ยนเป็นสารประกอบที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น สารโพลาร์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดหัวใจตีบ และสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เป็นต้น ฉลาดซื้อแนะนำ จากตารางข้อมูลจะเห็นว่าของแพงและเป็นแฟรนส์ไชส์ใช่ว่าจะมีมาตรฐานที่ดีและปลอดภัยเสมอไป ดังนั้น “อย่าติดแบรนด์” ช่วยลดความเสี่ยงได้เยอะอยู่ครับ ควรหลีกเลี่ยงไม่ซื้ออาหารทอดจากร้านค้าที่ใช้น้ำมันมีกลิ่นเหม็นหืน เหนียวสีดำคล้ำ ฟองมาก เหม็นไหม้ (ถ้าได้เห็นน้ำมันนะครับ) ทอดไก่รับประทานเองครับ รู้แน่นอนว่าปลอดภัยหรือไม่ (เพราะเราทำเอง ฮา…) หาคนช่วยรับประทาน(อร่อยกว่ากินคนเดียว) และกินแต่พออิ่ม อย่ากินไก่ทอดอย่างเดียวให้มีผักเคียงด้วยจะช่วยลดความเสี่ยงจากการได้รับไขมันและน้ำมันทอดซ้ำในของทอดได้ เพราะใยอาหารและสารอาหารในผักช่วยลดการสะสมของไขมันในร่างกายและยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งด้วยครับ   ตารางแสดงผลทดสอบน้ำมันทอดซ้ำในไก่ทอด ชื่อตัวอย่าง สถานที่เก็บตัวอย่าง ราคา ผลทดสอบ สรุปผล ไก่ทอดหาดใหญ่ ตลาดปทุมธานี 40 บาท/ชิ้น สีชมพูจาง น้ำมันใกล้เสื่อมสภาพ ไก่ทอดนายเอส (S) โรงอาหาร ม.เกษตรฯ 22 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอดอนงค์ ตลาด อตก. 25 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอด McDonald ห้าง Center One 124 บาท/ 2 ชิ้น ไม่มีสี น้ำมันเสื่อมสภาพเกิน 25% ไก่ทอดเจ๊กี ซ.โปโล ถ.พระราม 4 200 บาท/ตัว สีชมพูจาง น้ำมันใกล้เสื่อมสภาพ ไก่ทอดสมุนไพร หน้าอาคารพหลโยธินเพลส 35 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอดเดชา ปากซอยไมยราพ ถ.เกษตร-นวมินทร์ 45 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอด Chester Grill ห้าง Center One 140 บาท/ 4 ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอดจีระพันธ์ ตลาดหลังการบินไทย 30 บาท/ชิ้น สีชมพูจาง น้ำมันใกล้เสื่อมสภาพ ไก่ทอดหาดใหญ่ ตลาดบางจาก 40 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอด KFC ห้าง Center One 108 บาท/ 3 ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 %    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point