ฉบับที่ 141 ลูกอม หมากฝรั่ง ซูการ์ฟรี??

รสหวานมีใครบ้างไม่ชอบ หวานทำให้อาหารมีรสสัมผัสที่ดี อร่อย และยังช่วยให้สดชื่นด้วย เพราะน้ำตาลที่สร้างรสหวานนั้นให้พลังงานสูง อาหารที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสมหลักก็คงหนีไม่พ้นพวกลูกอม ลูกกวาด รวมไปถึงหมากฝรั่ง ซึ่ง  90 กว่าเปอร์เซ็นต์ในส่วนผสมเป็นน้ำตาล แต่หวานจากน้ำตาลหลังๆ ชักมีปัญหา เพราะถูกประณามว่าทำให้อ้วน หรือถ้าเคี้ยวหนุบหนับในปากเขาก็ว่าทำให้ฟันผุ เพราะจุลินทรีย์ที่ทำร้ายฟันก็ชอบกินน้ำตาลเหมือนกัน ถ้าจะหนีภัยฟันผุและอ้วน ก็ต้องเลิกกินหวาน เลิกเคี้ยวลูกอม หรือหมากฝรั่งไปเลย แต่มนุษย์เราไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ คือแทนที่จะเลิกหวาน ก็ขอหวานเถอะ แต่ไม่เอาแคลอรีหรือพลังงาน จึงคิดค้นหารสหวานที่มาจากอย่างอื่นแทนน้ำตาล ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาเฉพาะว่า วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล  วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล เวลาได้ยินโฆษณาว่า ไม่มีน้ำตาล หรือ ซูการ์ฟรี หรือ แคลอรีต่ำ หากเราไม่รู้จักวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลมาก่อน เราก็อาจคิดได้ว่า เขาโกหก เพราะกินแล้ว มันก็หวานชะมัด หวานติดลิ้นด้วยซ้ำ จะมาบอกว่าไม่มีน้ำตาลได้ยังไง แต่ถ้าเราลองอ่านฉลากดู บนฉลากจะถูกกำหนดให้เขียนไว้ชัดเจนเลยว่า ผลิตภัณฑ์อาหารนี้ ใช้อะไรให้ความหวานแทนน้ำตาล  คราวนี้ล่ะ เราจะเห็นชื่อแปลกๆ มากันหลากหลาย ทั้ง แอสปาแตม อะซีซัลเฟม-เค ซูคราโลส ไซลิทอล ซอร์บิทอล มอลทิทอล ไอโซมอลต์ ฯลฯ ชื่อที่ยกมาข้างต้นเป็นชื่อของ วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ทำไมต้องเรียกว่า “วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล” ทำไมไม่เรียก “น้ำตาลเทียม” ไปเลยล่ะ เข้าใจง่ายกว่ากันเยอะ ก็ต้องบอกว่า บางอย่างมันไม่ใช่น้ำตาลเทียมนะสิ วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล หลายตัวมีคุณสมบัติที่ให้ทั้งความหวานและให้พลังงานด้วย แอบมีคุณค่าทางโภชนาการนิดๆ  คือตัวมันยังเป็นน้ำตาลอยู่ เพียงแต่เป็นน้ำตาลที่มีคุณสมบัติไม่เหมือนน้ำตาลทรายที่เรารู้จัก (ถ้าเป็นน้ำตาลเทียมจะเป็นสารสังเคราะห์ที่จะมีความหวานกว่าน้ำตาลแท้เป็นสองสามร้อยเท่า ทำให้ใช้ในปริมาณที่น้อยมากๆ ค่าพลังงานเลยเกือบจะเท่ากับ 0) ดังนั้นถ้าจะลองจำแนก วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล โดยดูจากหลักเกณฑ์เรื่อง คุณค่าทางโภชนาการ ก็จะแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม   วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการนำมาใช้ทดแทนรสหวานจากน้ำตาลในอาหารหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม ขนม ลูกอม ลูกกวาด เบเกอรี่ อาหารหรือเครื่องดื่มไดเอ็ตทั้งหลาย หรือแม้แต่ในอุตสาหกรรมยา  การใช้สารหรือวัตถุให้ความหวานมีการใช้ทั้งในลักษณะเดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับสารให้ความหวานชนิดอื่นๆ ซึ่งการใช้สารให้ความหวานมากกว่า 1 ชนิดประกอบกันได้รับการยอมรับ เนื่องจากสารให้ความหวานแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน ไม่มีสารให้ความหวานใดดี หรือสมบูรณ์แบบที่สุด ฉลาดซื้อในครั้งนี้ ออกไปช้อปหมากฝรั่งและลูกอม เพื่อมานำเสนอเป็นตัวอย่างสำหรับผลิตภัณฑ์ที่น้ำตาลกำลังจะหายไป แต่กลายเป็นการนำวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล มาใช้แทนที่ และอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลไม่มีอะไรที่ดีที่สุด ดังนั้นบางตัวก็สร้างปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน แม้จะเป็นความเสี่ยงในระดับต่ำ แต่ก็ควรจะได้รู้เป็นข้อมูลไว้เพื่อการพิจารณา    ผลิตภัณฑ์ หมากฝรั่ง ------------------------------------------------- วัตถุให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ควรรู้จัก โพลิออล (polyols) หรือน้ำตาลแอลกอฮอล์ (sugar alcohols; polyhydric alcohol; polyalcohol) บางครั้งเรียกว่า “sugar replacers” หรือ “bulk sweeteners” ใช้เป็นสาร ปรุงแต่งในอาหารที่มีความสำคัญเช่นกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำตาล สารให้ ความหวานเหล่านี้จัดเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารเพิ่มมวลหรือปริมาตรของน้ำตาล มีความหวานต่ำกว่าน้ำตาลทราย(ซูโครส) เป็นสารให้ความหวานลดแคลอรี (reduced- calorie sweeteners) สามารถรวมกับสารอื่นได้ดี เช่น มีคุณสมบัติส่งเสริมกันกับสารให้ความหวานชนิดแคลอรีต่ำ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีแคลอรีลดลงและมีรสชาติดีคล้ายกับ ผลิตภัณฑ์สูตรดั้งเดิม กลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ จะมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ เนื่องจากดูดซึมได้ช้า และตกค้างมาเป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพจึงเป็นเรื่องของภาวะท้องเสีย -------------------------------------------------   วัตถุให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ควรรู้จัก สารให้ความหวานที่จัดอยู่ในประเภทนี้กลุ่มหนึ่งจะไม่ให้พลังงานเลย เนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ มีหน้าที่ให้รสหวานเท่านั้น อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ให้พลังงานต่ำ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ให้คำจำกัดความไว้ว่าคือสารให้รสหวานที่ให้พลังงานน้อยกว่า 2% ของจำนวนพลังงานที่ได้จากน้ำตาลทราย ในระดับที่ให้ความหวานเท่ากัน การที่ต้องกำหนดไว้เนื่องจากสารรสหวานบางชนิดเป็นสารที่ให้พลังงานตามธรรมชาติ เช่นจัดเป็นเปปไทด์ (หน่วยย่อยของโปรตีน) เพราะฉะนั้นจะให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรีต่อกรัมเหมือนโปรตีนอื่น แต่เนื่องจากสารนั้นหวานกว่าน้ำตาลทรายเป็นร้อยเท่า เวลานำมาใส่ในอาหารจึงใช้ปริมาณน้อยมาก จนปริมาณดังกล่าวให้พลังงานแก่ร่างกายเพียงน้อยนิด ต่อไปจะขอแนะนำให้รู้จักสารรสหวานที่นิยมใช้กันบางชนิด   แอสปาแตม ถึงแม้ว่าจะจัดเป็นสารพวกโปรตีน (เปปไทด์) แอสปาแตมถือเป็นสารรสหวานที่ไม่ให้พลังงานหรือพลังงานต่ำ ตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ปัจจุบันผลิตในระดับอุตสาหกรรมด้วยการสังเคราะห์โดยเชื้อจุลินทรีย์ และนำมาใช้แทนน้ำตาลบริโภคในเครื่องดื่มต่างๆ ของหวานโดยเฉพาะเยลลี่ ไอศกรีม ลูกกวาดและอาหารแห้ง ข้อที่ควรระวังของการใช้แอสปาแตมในผลิตภัณฑ์อาหารคือ ผู้ที่เป็นโรค Phenylketonuria จะไม่สามารถบริโภคอาหารที่มีแอสปาแตมเป็นส่วนประกอบ จึงต้องระบุคำเตือนบนฉลาก ค่าปริมาณที่ได้รับต่อวันกำหนดไว้ที่ 0-40 (บางประเทศ 0-50) มก.ต่อกก.น้ำหนักตัว ต่อวัน อะซีซัลเฟม-เค เอะซีซัลเฟม-เค คงตัวอยู่ได้ในสภาพความเป็นกรด-ด่างของอาหารและในช่วงอุณหภูมิของกระบวนการผลิตอาหารทั่วๆ ไป มีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารประเภทต่างๆ ในทำนองเดียวกับแอสปาแตม ค่าปริมาณที่ได้รับต่อวันคือ 0-15 (บางประเทศ 0-9) มก.ต่อกก.น้ำหนักตัว ต่อวัน ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์อาหารทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์นมและหมากฝรั่ง ดูดซึมและขับถ่ายออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการย่อยสลาย ซูคราโลส ซูคราโลสเป็นสารที่ได้จากดัดแปลงน้ำตาลทราย (ซูโครส) ด้วยวิธีทางเคมี ทำให้มีความหวานสูงขึ้น โดยยังคงรสชาติของน้ำตาล และมีความคงตัวสูงจึงสามารถนำไปใช้ได้ในผลิตภัณฑ์อาหารที่หลากหลาย รวมถึงอาหารที่เป็นกรด และอาหารที่ต้องผ่านกระบวนให้ความร้อน เช่นผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ถึงแม้จะมีโครงสร้างคล้ายน้ำตาลทราย แต่ซูคราโลสไม่ถูกย่อยสลายในร่างกาย ค่าปริมาณที่ได้รับต่อวันกำหนดไว้ที่ 0-15 มก.ต่อกก.น้ำหนักตัว ต่อวัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point