ฉบับที่ 101 โจ๊ก – ซุปกึ่งสำเร็จรูป อร่อยง่ายๆ แต่แฝงอันตราย

เรื่องทดสอบ กองบรรณาธิการ ชีวิตที่เร่งรีบ บีบคั้นทำให้บรรดาอาหารกึ่งสำเร็จรูปทั้งหลายทำมาค้าขายกันคึกคัก อย่างผลิตภัณฑ์ประเภทบะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้ม และซุป ที่หาซื้อง่ายๆ จากชั้นวางในร้านค้าและซูเปอร์มาเก็ตทั่วไป ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบหลักคือ แป้ง หรือคาร์โบไฮเดรต อาจจะมีสารอาหารประเภทอื่นๆ อย่าง โปรตีน วิตามิน หรือแร่ธาตุบางชนิดผสมอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. จะกำหนดให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต้องมีปริมาณโปรตีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 8.5 ของน้ำหนัก ส่วนโจ๊กและข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปกำหนดปริมาณโปรตีนไว้ที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 ของน้ำหนัก ซึ่งโปรตีนในอาหารกึ่งสำเร็จรูปส่วนใหญ่ก็จะมีอยู่ในเนื้อสัตว์อบแห้ง โปรตีนถั่วเหลืองและโปรตีนจากข้าว แต่ก็จัดว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากยิ่งเมื่อเปรียบเทียมกับปริมาณต่อการบริโภค 1 ซอง แต่ส่วนประกอบที่พบมากในบรรดาอาหารกึ่งสำเร็จรูปแทบทุกชนิดคือ เกลือหรือโซเดียม ที่มีอยู่ทั้งในรูปของผงชูรส และในผงปรุงรส ซึ่งมีส่วนทำให้รสชาติของอาหารกึ่งสำเร็จรูปมีรสชาติที่เข้มข้นอร่อยถูกปากถูกใจใครหลายๆ คน เรียกว่าทำก็ง่าย รับประทานก็สะดวก จึงไม่น่าแปลกใจที่อาหารกึ่งสำเร็จรูปจึงเป็นที่พึ่งพาเวลาหิวของใครหลายๆ คน แต่อย่ามัวเพลิดเพลินอยู่กับความอร่อย เพราะอันตราย! อาจจะถามหา โดยเฉพาะเจ้าโซเดียมที่มาพร้อมกับอาหารกึ่งสำเร็จรูปนั้นมีมากเกินไปโซเดียมพอๆ กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป“ฉลาดซื้อ” เราเคยทดสอบเรื่องความเสี่ยงของปริมาณโซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาแล้ว (ฉบับที่ 68 สิงหาคม – กันยายน 2548) ซึ่งผลที่ออกมาก็ต้องชวนให้ผู้นิยมรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต้องตกใจ เพราะเราพบปริมาณโซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงมากกว่าร้อยละ 50 – 100 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ระบุไว้ในบัญชีสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ว่าปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมคือ ไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน) คราวนี้เราออกตามล่าหาโซเดียมในอาหารกึ่งสำเร็จรูปอีกครั้ง โดยเป้าหมายของเราคือ โจ๊ก ข้าวต้ม และซุปกึ่งสำเร็จรูป แม้ความนิยมในการเลือกซื้อหามารับประทานของผู้บริโภคยังไม่สูงเทียบเท่ากับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่อาหารกึ่งสำเร็จรูปกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มของโจ๊กและข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป ที่มีทั้งแบบที่แค่ใส่น้ำร้อนก็สามารถรับประทานได้ กับแบบที่ต้องนำไปต้มกับน้ำร้อนก่อน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้โจ๊กและข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวเพิ่มมากขึ้นก็มาจากพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมการกินเน้นไปที่ความสะดวกรวดเร็ว ไม่ค่อยได้คำนึงถึงเรื่องสุขภาพมากนัก รวมทั้งผู้ผลิตเองก็ผลิตตัวสินค้ารสชาติใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคตลอดเวลาส่วนซุปกึ่งสำเร็จรูปแม้ยังไม่ได้รับความสนใจมากในตลาด เนื่องจากซุปไม่ใช่อาหารหลักของคนไทย ยังมีการบริโภคอยู่ในวงจำกัดเฉพาะผู้มีรายได้สูงและในร้านอาหารต่างประเทศเท่านั้น จึงทำให้ยังไม่มีผู้ผลิตรายใดที่ลงมือทำตลาดกับผลิตภัณฑ์ชนิดนี้อย่างจริงจัง และซุปกึ่งสำเร็จรูปส่วนมากจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้มีราคาค่อนข้างสูง แต่ในอนาคตข้างหน้ามีแนวโน้มที่ตลาดจะขยายตัวขึ้น ตามพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป บวกกับกระแสการบริโภคอาหารตะวันตกซึ่งรวมถึงอาหารจากเกาหลีและญี่ปุ่นซึ่งมีซุปเป็นอาหารเป็นหลักกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆไม่ว่าคุณจะชอบกินโจ๊ก ข้าวต้ม และซุปกึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารเช้า หรืออาจเลือกเป็นอาหารอ่อนๆ สำหรับเวลาเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเลือกอย่างไร อย่าลืมว่าความอร่อยแบบง่ายๆ อาจเป็นภัยร้ายที่แฝงมากับอันตรายจากโซเดียมสูงผลทดสอบปริมาณโซเดียมโจ๊ก ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป- คนอร์ โจ๊กต้มรสหมู (โซเดียมที่ทดสอบพบ 1949 มก./น้ำหนัก 70 ก), ม่ามา ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปรสหมู (1569 มก./50 ก.), ม่ามา โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสหมู (1364 มก./50 ก.) และ เกษตร โจ๊กรสหมู (1132.6 มก./42 ก.) ทดสอบพบว่ามีปริมาณโซเดียมต่อซองมากที่สุดตามลำดับ ซึ่ง คนอร์ โจ๊กต้มรสหมู ระบุว่าสำหรับ 4-5 ที่, ม่ามา ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปรสหมู ระบุว่าสำหรับ 2 ที่, ม่ามา โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสหมู ระบุว่าสำหรับ 3-4 ที่ ขณะที่ เกษตร โจ๊กรสหมู ไม่ได้ระบุ ซึ่งเมื่อคำนวณตามจำนวนเสิร์ฟต่อ 1 ที่จะพบว่า เกษตร โจ๊กรสหมู มีมากที่สุด (1132.6 มก.) รองลงมาคือ ม่ามา ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปรสหมู (784.5 มก.), คนอร์ โจ๊กต้มรสหมู (389.8 มก.) และ ม่ามา โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสหมู (341 มก.)- ลูกเต๋า ข้าว 7 นาที และ ลูกเต๋า ข้าวตุ๋นผสมฟักทอง ทดสอบพบโซเดียมในปริมาณที่น้อย เพราะลักษณะของข้าวตุ๋นที่เป็นข้าวบดอบแห้ง ไม่มีการผสมเครื่องปรุงรสใดๆ ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่อยากเลือกปรุงรสด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการควบคุมปริมาณโซเดียมไม่ให้มีมากเกินไป- ลูกเต๋า โจ๊กข้าวกล้องหอมมะลิ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิต ลูกเต๋า ข้าว 7 นาที และ ลูกเต๋า ข้าวตุ๋นผสมฟักทอง ซึ่งก็ทดสอบพบปริมาณโซเดียมในระดับที่ค่อนข้างน้อยเช่นเดียวกัน แม้จะใช้ชื่อว่าโจ๊กแต่เชื่อว่ามีกรรมวิธีแบบเดียวกับข้าวตุ๋น คือ ไม่มีการผสมเครื่องปรุงรสใดๆ ซึ่งวิธีทำด้านหลังซองเองก็ระบุไว้ชัดเจนว่าเมื่อต้มข้าวเสร็จแล้วให้เติมเครื่องปรุงตามชอบใจ และอีกเหตุผลที่ทำให้ ลูกเต๋า ข้าว 7 นาที, ลูกเต๋า ข้าวตุ๋นผสมฟักทอง และ ลูกเต๋า โจ๊กข้าวกล้องหอมมะลิ มีปริมาณโซเดียมน้อยน่าจะมาจากทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ ไม่ใส่ผงชูรส ตามที่ระบุไว้บนซองซุป กึ่งสำเร็จรูป ในกลุ่มของซุปกึ่งสำเร็จรูปทั้ง 3 ยี่ห้อ คือ โวโน ซุปครีมรสเห็ดพร้อมขนมปังกรอบกึ่งสำเร็จรูป, เลดี้แอนนา ซุปครีมเห็ดกึ่งสำเร็จรูป และ แคมเบล์ ซุปข้าวโพดกึ่งสำเร็จรูป ทดสอบพบปริมาณโซเดียมอยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกัน คือ 465.3 มก., 574.6 มก. และ 619.7 ตามลำดับ แคมเบล์ ซุปข้าวโพดกึ่งสำเร็จรูป เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ข้อมูลทั้งหมดบนกล่องเป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้นเพียงส่วนประกอบสำคัญที่ระบุไว้ว่า ข้าวโพด 20% ครีม 25% และน้ำตาล 10%, ที่อยู่ผู้ผลิตและผู้นำเข้า น้ำหนักสุทธิ และเครื่องหมายรับรองของ อย.ข้อสังเกต1. แม้โจ๊กและข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อที่นำมาทดสอบ จะมีการระบุข้อมูลว่า ควรเติม เนื้อสัตว์ ไข่ หรือผัก เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร ไว้บนซอง แต่ส่วนใหญ่ก็ถูกจัดวางอยู่ในบริเวณที่มองไม่ค่อยเห็นและมีขนาดเล็ก เช่น ม่ามา โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสหมู และ ม่ามา ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปรสหมู ที่ตัวอักษรข้อความที่มีขนาดเล็กและกลืนไปกับสีพื้นหลังของซองยากต่อการสังเกต2. ลูกเต๋า โจ๊กข้าวกล้องหอมมะลิ มีปริมาณโปรตีนไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่ อย. กำหนดไว้ (ร้อยละ 8 ของน้ำหนัก) โดยพิจารณาจากข้อมูลโภชนาการที่ให้ไว้บนซองผลิตภัณฑ์ คือ ลูกเต๋า โจ๊กข้าวกล้องหอมมะลิ โปรตีน 3 ก./น้ำหนัก 40 ก. คิดเป็นร้อยละ 7.5 ต่อน้ำหนัก     โจ๊กและข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป - คือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากข้าวสารบดที่ผ่านกรรมวิธีทำความสะอาดและอบเพื่อลดความชื้น พร้อมกับทำลายเชื้อจุลลินทรีย์บางชนิด ส่วนใหญ่มักนิยมเติมส่วนผสมจากธรรมชาติชนิดอื่นๆ ลงไป เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหารและเป็นจุดขายเพื่อดึงความสนใจจากผู้บริโภค ซึ่งส่วนผสมอื่นๆ ที่เพิ่มลงไปได้แก่ แป้งถั่วเหลือง ฟักทอง แครอท สาหร่าย หรือธัญพืชนานาชนิด นอกจากนี้ยังมีการเติมเครื่องปรุงรสหรือเนื้อสัตว์อบแห้งเพิ่มลงไป เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการปรุง และเพิ่มรสชาติให้ชวนรับประทานข้าวตุ๋น – คือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากข้าวสารบด แบบเดียวกับ โจ๊กและข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป เพียงแต่ไม่มีการปรุงแต่งหรือใส่เครื่องปรุงรสเพิ่มเติมซุปกึ่งสำเร็จรูป – คือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเนื้อสัตว์หรือพืช เช่น ผัก ถั่ว เต้าหู้ ธัญพืช ผสมเข้ากับเครื่องปรุงรส หรืออาจเพิ่มเติมด้วยส่วนประกอบอื่นๆ เช่น แป้ง เส้นบะหมี่ แล้วนำมาผ่านกรรมวิธีทำให้แห้งหรือใช้ส่วนประกอบที่ทำให้แห้งแล้วนำมาผสมกัน โดยยังคงรักษาคุณภาพและกลิ่นรสของส่วนประกอบไว้ โซเดียม เป็นสารอาหารในกลุ่มเกลือแร่ที่ให้ประโยชน์กับร่างกาย แต่หากร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมมากเกินไป ก็ส่งผลร้ายกลับมาด้วยเช่นกัน ซึ่ง อย. กำหนดไว้ว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวันโซเดียมกับผลกระทบต่อไตไต ทำหน้าที่ปรับโซเดียมให้กับร่างกาย รักษาปริมาณโซเดียมไว้ใช้ในเวลาที่ร่างกายต้องการหรือขาดโซเดียม รวมทั้งขับโซเดียมที่มากเกินไปออกจากร่างกายออกทางปัสสาวะและเหงื่อ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในเงื่อนไขที่ว่าไตอยู่สภาพที่ทำงานได้เป็นปกติ แต่หากไตเสื่อมสมรรถภาพหรือทำงานผิดปกติ ผลเสียจากการที่ได้รับโซเดียมมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราได้ทันที เมื่อไตไม่สามารถขับโซเดียมส่วนเกินออกไปได้ จะทำให้ปริมาณน้ำในร่างกายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ระดับเลือดในร่างกายสูงขึ้นด้วย ทำให้เลือดต้องวิ่งผ่านไปยังเส้นเลือดมากขึ้น เกิดเป็นความดันโลหิตสูง หัวใจทำงานหนักเพราะต้องสูบฉีดเลือดเพิ่มขึ้น เป็นผลทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นหัวใจวาย ผู้ป่วยโรคไตและโรคอื่นๆ ดังที่กล่าวมาจึงจำเป็นต้องใส่ใจระมัดระวังในการเลือกรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของโซเดียมเป็นอย่างมากเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point