ฉบับที่ 217 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2562

เด็กไทยกินเค็ม 5 เท่า        พ.อ.นพ.อดิสรณ์ ลำเพาพงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และแพทย์โรคไตในเด็ก กล่าวว่า คนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี ที่น่าห่วงคือ พฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทย ซึ่งกินเค็มเกินปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน เกือบ 2-5 เท่า โดยปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่เด็กรับประทานอยู่ที่ 3,194 มิลลิกรัม/วัน ขณะที่ปริมาณโซเดียมที่เด็กวัยเรียน อายุ 6-8 ปี ควรได้รับอยู่ที่ 325-950 มิลลิกรัม/วัน, เด็กอายุ 9-12 ปี อยู่ที่ 400 - 1,175 มิลลิกรัม/วัน และเด็กอายุ 13-15 ปี อยู่ที่ 500-1,500 มิลลิกรัม/วัน        ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่า ผู้ปกครองมักให้เด็กกินเค็มโดยไม่รู้ตัว ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและขนมกรุบกรอบที่พบว่ามีปริมาณโซเดียมสูง เช่น โจ๊กสำเร็จรูป 1 ถ้วย ซึ่งมีโซเดียมสูงถึง 1,269 มิลลิกรัม, ปลาเส้น มีโซเดียม 666 มิลลิกรัม/ซอง, สาหร่าย 304 มิลลิกรัม/ซอง หรือ มันฝรั่งทอด 191 มิลลิกรัม/ซอง การบริโภคอาหารเหล่านี้เพียง 1 ซอง ปริมาณโซเดียมก็เกินความต้องการต่อวันแล้ว หากเด็กเคยชินกับการกินเค็มก็มีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ติดเค็ม และส่งผลต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ และไต ตามมา        ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตทั่วโลกกว่า 850 ล้านคน และเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 6        เครดิตภาพ : https://teen.mthai.com/variety/165892.htmlเตือนผู้ปกครอง ระวังคลิปการ์ตูน สอนเด็กทำร้ายตัวเอง        อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า พบคลิปการ์ตูนสำหรับเด็กบนยูทูป (YouTube) ถูกดัดแปลงสอดแทรกเนื้อหาที่มีความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายตนเอง โดยจงใจทำขึ้นเพื่อมุ่งเป้าโจมตีเด็กที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้ทำตามแบบอย่างในคลิป        นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาความรุนแรงอื่นๆ ปะปนอยู่ในคลิปด้วย เช่น ความรุนแรงในโรงเรียน และการค้ามนุษย์ โดยผู้ไม่หวังดีใช้ฉากในการ์ตูนเพื่ออำพรางการตรวจจับของระบบรักษาความปลอดภัยบนเว็บ ซึ่งเมื่อผู้ปกครองตรวจสอบแบบผิวเผินอาจไม่พบความผิดปกติ เพราะเนื้อหาอันตรายมันถูกสอดแทรกอยู่ระหว่างกลางของเนื้อเรื่อง ผู้ปกครองจึงควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กใช้สื่อเพียงลำพัง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และมีการควบคุมเวลาและเนื้อหาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งหากเกิดกรณีตามเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323มติกก.สถานพยาบาลย้ำผู้ป่วยซื้อยานอก รพ.ได้        18 ก.พ. นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวว่า                1) ยาในสถานพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของบริการทางการแพทย์ ตามแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งแพทย์ต้องรับผิดชอบต่อผลการรักษา                2) เรื่องการติดป้ายประกาศแจ้งคนไข้ว่าสามารถขอใบสั่งยาเพื่อนำไปซื้อจากร้านขายยาได้ เห็นว่าเป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้วที่สามารถทำได้ แต่ไม่เห็นด้วยในการติดป้าย เพราะการรักษาในรพ. เป็นลักษณะทีมสหวิชาชีพที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างแพทย์กับเภสัชกร รวมถึงคุณภาพของยา ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของการรักษาผู้ป่วยตามแผนการรักษา แต่ก็ย้ำว่ามติ 2 ข้อนี้เป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการสถานพยาบาลเท่านั้น ยังไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำตาม แต่จากนี้จะนำเรียนรมว.สาธารณสุขเพื่อทราบ เพื่อส่งมติดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาออกมาตรการในการควบคุมราคาบริการทางการแพทย์ ซึ่งตนยังไม่ทราบว่าอนุกรรมการฯ จะประชุมเมื่อไหร่ เพราะต้องรอความเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ อีก เช่น ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจประกันชีวิต เป็นต้น เพราะผู้ป่วยร้อยละ 60-70 ของรพ.เอกชนเป็นผู้ที่มีประกันเหล่านี้        เมื่อถามว่าสรุปผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาลเอกชนสามารถนำใบสั่งยามาซื้อจากร้านขายยาข้างนอกได้หรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เดิมกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อจากร้านขายยาข้างนอกอยู่แล้ว อย่างยาบางตัวที่ไม่มีในรพ. หรือยา รพ.หมดสต๊อก หรือกรณีผู้ป่วยมารพ.รัฐแล้วคิวยาวก็ขอใบเสร็จไปซื้อยาจากร้านข้างนอกได้ เป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่ยาบางตัวไม่สามารถซื้อได้ แล้วแต่กรณีพบร้านค้าออนไลน์ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกว่า 700 ราย         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เปิดเผยผลการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม ซึ่งพบสินค้าที่ถูกเพิกถอนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) 29 รายการ ยังมีวางขายอยู่ นอกจากนี้ยังมีการอ้างเลข อย.ปลอม ไม่แสดงฉลากภาษาไทย หรือข้อมูลผู้ผลิต        ทั้งนี้ยังพบว่าดาราและเน็ตไอดอลมีส่วนในการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. หรือมักโฆษณาว่าผ่านมาตรฐาน อย. แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการจดแจ้งกับทาง อย.เท่านั้น จึงขอให้ดาราและเน็ตไอดอลตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนรับงานโฆษณา        โดยเครือข่ายผู้บริโภค มีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ปัญหา เช่น ให้ดำเนินคดีผู้ค้ารายย่อยที่จำหน่ายหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง การสร้างระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพระหว่างห้างออนไลน์กับ อย. เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ รวมถึงการให้รัฐจัดเก็บภาษีการขายสินค้าออนไลน์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >