ฉบับที่ 254 ซื้อยาทางไลน์กับร้านยาแต่ไม่ได้ของ

        คุณยุเป็นลูกค้าประจำของร้านยาที่จำหน่ายยาในบริเวณตรงกันข้ามกับโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง แน่นอนว่าเป็นร้านยาขนาดใหญ่ขายยาราคาไม่แพงและครอบคลุมหลายชนิด ปกติเธอเดินเข้าออกร้านเพื่อซื้อยาทุกรอบสองสามเดือน ต่อมาช่วงโควิดระบาดหนักเข้า ทางร้านแจ้งทางไลน์กลุ่มว่า สามารถสั่งซื้อยาทางไลน์และรอรับยาที่บ้านได้เลย ทางร้านจะส่งผ่านบริษัทขนส่งไปให้ ไม่ต้องเดินทางมาที่ร้านซึ่งเสี่ยงภัย คุณยุจึงทดลองสั่งยากับทางร้านเป็นจำนวนเงิน ราว 4,000 บาท        รอสินค้าอยู่ประมาณสองอาทิตย์คุณยุก็ยังไม่ได้รับยาตามสั่งซื้อ จึงติดต่อกลับมาทางร้าน ซึ่งเธอบ่นว่า ร้านแทบไม่ยอมรับสายเธอเลย เหมือนปิดการสื่อสารไป จนเธอต้องใช้วิธีใช้เบอร์อื่นโทรเข้าร้านยา ทางร้านจึงยอมรับสาย เมื่อเธอทวงถามสินค้า ทางร้านบอกว่าจัดส่งไปแล้วกับบริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการรับประกันว่าหากสินค้าไม่ถึงมือผู้รับจะเงินชดเชยความเสียหายหรือค่าประกันสินค้าให้ แต่คุณยุต้องเอาเลขที่พัสดุไปติดตามเอง โดยทางร้านอ้างว่า บริษัทขนส่งแจ้งมาว่ามีผู้เซ็นชื่อรับสินค้าไปแล้ว           จุดหงุดหงิดอยู่ตรงนี้เอง คุณยุไม่คิดว่าทางร้านยาจะปัดความรับผิดชอบโยนภาระการติดตามสินค้าให้กับผู้บริโภค เธอจ่ายเงินให้ทางร้านยา แต่เมื่อสินค้าไม่ถึงมือเธอกลับต้องเป็นคนไปติดตามเรื่องเอง เรื่องนี้คือสิ่งที่เธอสอบถามมายังมูลนิธิฯ ว่าเรื่องนี้ควรเป็นความรับผิดชอบของร้านหรือเธอ แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีนี้คุณยุได้พยายามนำเลขพัสดุไปติดตามกับบริษัทขนส่งเอง ได้รับคำตอบว่า พนักงานที่อ้างว่ามีผู้รับสินค้าไปแล้วนั้น ได้ลาออกไปแล้ว ทางบริษัทขนส่งจะติดตามเรื่องให้และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 15 วัน หากเกิดจากความผิดพลาดของบริษัท จะมีการชดเชยเงินให้กับทางผู้ร้องตามเงื่อนไข         ส่วนกรณีเรื่องความรับผิดชอบ โดยทั่วไปทางร้านหรือผู้ขายควรเป็นผู้รับผิดชอบในการติดตามสินค้าให้แก่ผู้ซื้อถือเป็นบริการหลังการขาย อย่างไรก็ตามแน่นอนว่าเมื่อสินค้าถึงส่งเข้าระบบของบริษัทขนส่ง ความรับผิดชอบส่วนนี้จะตกเป็นของบริษัทขนส่งที่ต้องรับผิดชอบชดเชยหากสินค้าไม่ถึงมือผู้รับ         แต่จุดที่น่าสนใจของกรณีการร้องเรียนนี้คือ  ยา จัดเป็นสินค้าพิเศษมีกฎหมายควบคุมเฉพาะ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า ร้านยาไม่สามารถขายยาผ่านทางไลน์หรือช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภายในร้านยา(สถานที่ที่ได้รับอนุญาต) ได้ เพราะเจตนาของกฎหมายคือ ต้องการให้ผู้มีหน้าที่ปฎิบัติการส่งมอบยาพร้อมคำแนะนำให้กับผู้บริโภค การขายยาอันตรายโดยรับขายไลน์และส่งทางไปรษณีย์ ถือว่าผิดกฎหมาย  ซึ่งทางมูลนิธิฯ จะได้นำเรื่องนี้แจ้งต่อทางหน่วยงานกำกับดูแลต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 จับพิรุธ ตระเวนซื้อยาแก้แพ้ แก้ไอ

        วัยรุ่นยุคนี้มักมีพฤติกรรมแปลกๆ เพื่อโชว์ให้คนสนใจ บางครั้งกลับทำให้เกิดอันตรายกับตัวเองดังกรณีล่าสุดที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องออกมาเตือนวัยรุ่นว่า อย่าลอกเลียนแบบการทำ Benadryl challenge เด็ดขาด หลังพบรายงานผู้เสียชีวิตจากการเข้าร่วมทำไวรัลดังกล่าวผ่านแอพพลิเคชั่น TIKTOK เพราะยาเบนาดริล (Benadryl) แม้จะเป็นยาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา แต่หากรับประทานเกินขนาด อาจเกิดอาการข้างเคียงจนถึงแก่ชีวิตได้         ยาเบนาดริล (Benadryl) มีชื่อสามัญทางยาคือ ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เป็นยาแก้แพ้ที่ใช้ในการบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนบนและอาการหวัด เช่น น้ำมูกไหลและจาม ในแง่กฎหมายจัดเป็นยาอันตรายที่ต้องสั่งจ่ายยาโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น หากรับประทานเกินขนาด อาจเกิดความผิดปกติกับหัวใจทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง หัวใจหยุดเต้นและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้         ในประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หลายตำรับ ทั้งยาน้ำ ยาเม็ด และยาแคปซูล มีชื่อการค้าต่างๆ มากมาย  ร้านขายยาที่จ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วยจะต้องจัดทำบัญชีการขายยาเพื่อป้องกันการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด         จากการลงพื้นที่ตรวจสอบตามร้านขายยาและข้อมูลในชุมชนพบว่า วัยรุ่นมักจะตระเวณมาขอซื้อยานี้ตามร้านต่างๆ ทั้งจากร้านยาหรือร้านขายของชำบางแห่งที่แอบลักลอบนำมาขาย ในอดีตวัยรุ่นที่มาซื้อยาเหล่านี้ เราจะสังเกตได้ง่าย โดยดูจากท่าทีและพฤติกรรมของพวกเขาที่แสดงออกอย่างชัดเจน แต่เมื่อทางการเข้มงวดมากขึ้นก็เลี่ยงหาวิธีต่างๆ มาซื้อ เช่น จ้างผู้ใหญ่มาซื้อโดยอ้างว่าจะนำไปใช้กับบุตรหลาน เคยมีข้อมูลว่าบางครั้งมีการจ้างคนแต่งกายเป็นพระสงฆ์หรือผู้สูงอายุมาขอซื้อ อ้างว่ารับประทานประจำ ล่าสุดมีการจ้างเด็กวัยรุ่นที่ท่าทางสุภาพเรียบร้อยมาขอซื้อยาเหล่านี้         วิธีง่ายๆ ที่จะจับพิรุธคือ เมื่อคนกลุ่มนี้เข้ามาในร้านยามักจะคอยสอดส่ายสายตา กวาดตามองยาตามชั้นวางยาพยายามเพ่งไปบริเวณที่มียาน้ำ และเมื่อจะขอซื้อก็มักจะเอ่ยปากขอซื้อยาโดยระบุชื่อการค้าของยาพวกนี้ที่วัยรุ่นนิยมแทนที่จะบอกอาการเจ็บป่วยไม่สบาย  หรือบางคนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่กลับจะซื้อแต่ยาน้ำเชื่อมและมักจะวนมาขอซื้อบ่อยๆ จนมีพิรุธว่าทำไมอาการป่วยไม่หายสักที และทำไมรับประทานยาหมดก่อนกำหนดตามปริมาณที่ได้รับไป         หากใครเจอพฤติกรรมเหล่านี้ หรือเจอร้านขายยาที่ไม่เข้มงวดปล่อยปละละเลยในการขายยาอย่างไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ช่วยไปกระซิบเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้ลงไปตรวจสอบด้วยนะครับ เพื่อคุ้มครองให้บุตรหลานเราปลอดภัยต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2562

เด็กไทยกินเค็ม 5 เท่า        พ.อ.นพ.อดิสรณ์ ลำเพาพงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และแพทย์โรคไตในเด็ก กล่าวว่า คนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี ที่น่าห่วงคือ พฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทย ซึ่งกินเค็มเกินปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน เกือบ 2-5 เท่า โดยปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่เด็กรับประทานอยู่ที่ 3,194 มิลลิกรัม/วัน ขณะที่ปริมาณโซเดียมที่เด็กวัยเรียน อายุ 6-8 ปี ควรได้รับอยู่ที่ 325-950 มิลลิกรัม/วัน, เด็กอายุ 9-12 ปี อยู่ที่ 400 - 1,175 มิลลิกรัม/วัน และเด็กอายุ 13-15 ปี อยู่ที่ 500-1,500 มิลลิกรัม/วัน        ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่า ผู้ปกครองมักให้เด็กกินเค็มโดยไม่รู้ตัว ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและขนมกรุบกรอบที่พบว่ามีปริมาณโซเดียมสูง เช่น โจ๊กสำเร็จรูป 1 ถ้วย ซึ่งมีโซเดียมสูงถึง 1,269 มิลลิกรัม, ปลาเส้น มีโซเดียม 666 มิลลิกรัม/ซอง, สาหร่าย 304 มิลลิกรัม/ซอง หรือ มันฝรั่งทอด 191 มิลลิกรัม/ซอง การบริโภคอาหารเหล่านี้เพียง 1 ซอง ปริมาณโซเดียมก็เกินความต้องการต่อวันแล้ว หากเด็กเคยชินกับการกินเค็มก็มีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ติดเค็ม และส่งผลต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ และไต ตามมา        ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตทั่วโลกกว่า 850 ล้านคน และเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 6        เครดิตภาพ : https://teen.mthai.com/variety/165892.htmlเตือนผู้ปกครอง ระวังคลิปการ์ตูน สอนเด็กทำร้ายตัวเอง        อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า พบคลิปการ์ตูนสำหรับเด็กบนยูทูป (YouTube) ถูกดัดแปลงสอดแทรกเนื้อหาที่มีความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายตนเอง โดยจงใจทำขึ้นเพื่อมุ่งเป้าโจมตีเด็กที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้ทำตามแบบอย่างในคลิป        นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาความรุนแรงอื่นๆ ปะปนอยู่ในคลิปด้วย เช่น ความรุนแรงในโรงเรียน และการค้ามนุษย์ โดยผู้ไม่หวังดีใช้ฉากในการ์ตูนเพื่ออำพรางการตรวจจับของระบบรักษาความปลอดภัยบนเว็บ ซึ่งเมื่อผู้ปกครองตรวจสอบแบบผิวเผินอาจไม่พบความผิดปกติ เพราะเนื้อหาอันตรายมันถูกสอดแทรกอยู่ระหว่างกลางของเนื้อเรื่อง ผู้ปกครองจึงควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กใช้สื่อเพียงลำพัง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และมีการควบคุมเวลาและเนื้อหาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งหากเกิดกรณีตามเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323มติกก.สถานพยาบาลย้ำผู้ป่วยซื้อยานอก รพ.ได้        18 ก.พ. นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวว่า                1) ยาในสถานพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของบริการทางการแพทย์ ตามแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งแพทย์ต้องรับผิดชอบต่อผลการรักษา                2) เรื่องการติดป้ายประกาศแจ้งคนไข้ว่าสามารถขอใบสั่งยาเพื่อนำไปซื้อจากร้านขายยาได้ เห็นว่าเป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้วที่สามารถทำได้ แต่ไม่เห็นด้วยในการติดป้าย เพราะการรักษาในรพ. เป็นลักษณะทีมสหวิชาชีพที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างแพทย์กับเภสัชกร รวมถึงคุณภาพของยา ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของการรักษาผู้ป่วยตามแผนการรักษา แต่ก็ย้ำว่ามติ 2 ข้อนี้เป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการสถานพยาบาลเท่านั้น ยังไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำตาม แต่จากนี้จะนำเรียนรมว.สาธารณสุขเพื่อทราบ เพื่อส่งมติดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาออกมาตรการในการควบคุมราคาบริการทางการแพทย์ ซึ่งตนยังไม่ทราบว่าอนุกรรมการฯ จะประชุมเมื่อไหร่ เพราะต้องรอความเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ อีก เช่น ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจประกันชีวิต เป็นต้น เพราะผู้ป่วยร้อยละ 60-70 ของรพ.เอกชนเป็นผู้ที่มีประกันเหล่านี้        เมื่อถามว่าสรุปผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาลเอกชนสามารถนำใบสั่งยามาซื้อจากร้านขายยาข้างนอกได้หรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เดิมกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อจากร้านขายยาข้างนอกอยู่แล้ว อย่างยาบางตัวที่ไม่มีในรพ. หรือยา รพ.หมดสต๊อก หรือกรณีผู้ป่วยมารพ.รัฐแล้วคิวยาวก็ขอใบเสร็จไปซื้อยาจากร้านข้างนอกได้ เป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่ยาบางตัวไม่สามารถซื้อได้ แล้วแต่กรณีพบร้านค้าออนไลน์ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกว่า 700 ราย         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เปิดเผยผลการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม ซึ่งพบสินค้าที่ถูกเพิกถอนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) 29 รายการ ยังมีวางขายอยู่ นอกจากนี้ยังมีการอ้างเลข อย.ปลอม ไม่แสดงฉลากภาษาไทย หรือข้อมูลผู้ผลิต        ทั้งนี้ยังพบว่าดาราและเน็ตไอดอลมีส่วนในการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. หรือมักโฆษณาว่าผ่านมาตรฐาน อย. แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการจดแจ้งกับทาง อย.เท่านั้น จึงขอให้ดาราและเน็ตไอดอลตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนรับงานโฆษณา        โดยเครือข่ายผู้บริโภค มีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ปัญหา เช่น ให้ดำเนินคดีผู้ค้ารายย่อยที่จำหน่ายหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง การสร้างระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพระหว่างห้างออนไลน์กับ อย. เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ รวมถึงการให้รัฐจัดเก็บภาษีการขายสินค้าออนไลน์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >