ฉบับที่ 248 การบอกเลิกสัญญาโดยปริยาย

        สวัสดีครับ ในฉบับนี้จะขอหยิบยกเรื่องใกล้ตัวพวกเรา ที่หลายคนอาจไม่ได้สนใจมากนัก มาเล่าสู่กันฟัง นั่นคือเรื่องของการบอกเลิกสัญญา แน่นอนว่าเมื่อเราต้องการผูกพันเรื่องใดเรื่องหนึ่งและต้องการให้เกิดความชัดเจน มีหลักฐานยืนยันกันได้ และกฏหมายยอมรับ ก็ต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่หลังจากทำสัญญาไปแล้ว บ่อยครั้งที่มักเกิดปัญหา ไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ ก็อาจมีเหตุที่อยากจะเลิกสัญญากัน ซึ่งหลายคนคงเข้าใจว่าการบอกเลิกสัญญาก็ต้องทำเป็นหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร เช่นกัน แต่ความจริง การบอกเลิกสัญญาอาจเกิดจากพฤติการณ์บางอย่าง ซึ่งศาลก็เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า หากเป็นกรณีใดที่ถือว่ามีผลบอกเลิกสัญญาโดยปริยายบ้าง เช่น  เจ้าของทางพิพาทนำลวดหนามขึงกั้นทางพิพาท ไม่ให้ใช้ทางอีกต่อไป ก็ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาให้ใช้ทางโดยปริยาย  หรือทำสัญญาซื้อขายที่ดิน เมื่อผู้ขายส่งมอบที่ดินขาดตกบกพร่อง ผู้ซื้อจึงไม่รับโอน และไม่ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ พฤติการณ์เช่นนี้ ถือเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยปริยายแล้ว โดยไม่ต้องทำเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญา และผลของการบอกเลิกสัญญาทำให้คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กล่าวคือ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเสมือนไม่เคยทำสัญญากันมาก่อน ฝ่ายที่รับเงินไว้ก็ต้องคืนเงินหรือส่งมอบทรัพย์คืนแก่คู่สัญญา         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4645/2540           จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทได้ แต่เมื่อไม่มีข้อกำหนดเวลากันไว้ โจทก์จึงใช้ทางได้ตราบเท่าที่จำเลยยินยอม หากจำเลยไม่ยินยอมโจทก์ก็ไม่มีสิทธิใช้ทาง เพราะสิทธิของโจทก์เกิดจากความยินยอมของจำเลย แม้การที่จำเลยอนุญาตให้โจทก์สร้างทางได้ทำสัญญากันไว้เป็นหนังสือ แต่ในกรณีบอกเลิกสัญญาเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบังคับไว้ว่าจะต้องบอกเลิกสัญญาเป็นหนังสือจำเลยจะบอกเลิกสัญญาเป็นหนังสือหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นการที่จำเลยนำลวดหนามขึงกั้นทางพิพาทไว้จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยปริยายแล้ว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5228/2539           จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์น้อยกว่าจำนวนเนื้อที่ที่ตกลงซื้อขายกันตามสัญญาถึงเกือบครึ่ง เป็นการส่งมอบที่ดินที่ขาดตกบกพร่องถึงขนาดซึ่งหากโจทก์ได้ทราบก่อนแล้วคงจะมิได้เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 อย่างแน่นอนโจทก์จึงมีสิทธิบอกปัดเสียหรือเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 การที่โจทก์บอกปัดไม่ยอมรับโอนที่ดินพิพาทและไม่ชำระราคาที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญากรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 466 วรรคสอง แล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์                 อีกประเด็นที่สำคัญคือ เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาแล้ว ทำให้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะไม่ได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ย ในกรณีที่ผิดสัญญาไว้ก็ตาม แต่ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามมาตรา 391 วรรคสอง         คำพิพากษาฎีกาที่ 5196/2548               โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินกับจำเลย โจทก์ผ่อนชำระเงินดาวน์แก่จำเลยครบถ้วนตามสัญญาและต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมทั้งให้นำเงินที่เหลือไปชำระ แสดงว่าจำเลยได้ยืนยันต่อโจทก์ว่าจำเลยได้พัฒนาที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัด ส่วนที่หนังสือของจำเลยระบุว่าก่อนถึงวันนัดให้โจทก์มีหนังสือแจ้งแก่จำเลยก่อนวันที่กำหนดในหนังสือเพื่อเป็นการยืนยันว่าจะไปรับโอนกรรมสิทธิ์นั้นเป็นเรื่องที่จำเลยกำหนดขึ้นเองฝ่ายเดียว โดยไม่มีเงื่อนไขดังกล่าวระบุในสัญญา อย่างไรก็ตามการที่โจทก์มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยว่าจำเลยยังพัฒนาที่ดินไม่เรียบร้อย แต่โจทก์ก็พร้อมที่จะไปรับโอนกรรมสิทธิ์ตามวันเวลาที่จำเลยกำหนดนัด เพียงพอที่จะถือได้ว่าโจทก์มีหนังสือตอบรับยืนยันไปยังจำเลยแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ไปตามกำหนดนัดจึงถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายได้         การบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายใดบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ การมอบอำนาจให้บอกเลิกสัญญาจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือเช่นกัน การที่โจทก์ได้เบิกความยืนยันในชั้นพิจารณาว่าได้มอบหมายให้ทนายโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย แสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์ว่าได้ยอมรับการกระทำของทนายความที่กระทำแทนโจทก์ในกรณีดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 การบอกเลิกสัญญาจึงชอบแล้ว         โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและการบอกเลิกสัญญาของโจทก์มีผลสมบูรณ์แล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะมีหนังสือนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอีกครั้งหนึ่งและโจทก์ไปที่สำนักงานที่ดินตามกำหนดนัดดังกล่าว ก็เป็นเพียงการให้โอกาสแก่จำเลยในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาข้อพิพาทกันอีกต่อไป แต่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยก็ยังผิดนัดอีก พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ติดใจที่จะเลิกสัญญากับจำเลยอีกต่อไป         เมื่อเลิกสัญญาต่อกันแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ได้รับให้แก่โจทก์และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่รับไว้ด้วย ซึ่งการคิดดอกเบี้ยในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด แต่เป็นเรื่องที่จำเลยประพฤติผิดสัญญา และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะไม่ได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ยที่โจทก์จะคิดจากจำเลยในกรณีที่จำเลยผิดสัญญาไว้ก็ตาม แต่โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามมาตรา 391 วรรคสอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 อยู่ๆ คอนโดให้พื้นที่เพิ่มแต่ก็เก็บเงินเพิ่มไปอีก

        ก่อนจะซื้อคอนโดมิเนียม เราได้อ่านสัญญาจะซื้อจะขายกันบ้างหรือไม่ หากอ่านแล้วรู้สึกว่าข้อสัญญาไม่เป็นธรรมกับเราจะทำอย่างไรดี         ย้อนไปประมาณปีครึ่ง คุณภูผาได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายคอนโดแห่งหนึ่งแถวพัทยา โดยอ่านสัญญาคร่าวๆ คิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งข้อความในสัญญาระบุว่าจะก่อสร้างให้เสร็จภายใน 1 ปี เมื่อครบกำหนดสร้างเสร็จ เขาติดต่อไปยังโครงการเพื่อสอบถามเรื่องการโอนคอนโด แต่พนักงานแจ้งว่า คอนโดยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เขาก็เพียรโทรตามอยู่หลายครั้ง หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน พนักงานดูแลโครงการโทรศัพท์มาแจ้งว่าให้เข้าไปตรวจรับห้อง         เมื่อคุณภูผาไปตามนัด พบว่าโครงการได้เปลี่ยนแปลงวัสดุและสีห้องโดยไม่แจ้งให้เขารู้เลย หลายๆ อย่าง ไม่เหมือนห้องตัวอย่างที่เขาเห็นก่อนทำสัญญา นอกจากนั้นยังพบอีกว่าห้องของเขา ซึ่งทำสัญญาไว้ต้องมีพื้นที่ 29 ตารางเมตร แต่ห้องจริงที่ไปดูกลับมีพื้นที่ 31.45 ตารางเมตร ซึ่งห้องที่ไม่เป็นไปตามตัวอย่างทั้งเรื่องวัสดุและสีห้อง มีลักษณะแบบเดียวกับห้องของเขา คือมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเหมือนกันทุกห้อง เหมือนดี แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเขา (และคนอื่นๆ) ต้องจ่ายเงินค่าพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกตารางเมตรละ 43,000 บาท         “วันที่ไปตรวจรับห้อง โครงการฯ ยังดำเนินการสร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง เช่น สระว่ายน้ำ ฟิตเนส ไม่เสร็จและไม่ตรงตามใบโบรชัวร์ขายคอนโดด้วย”         เขาจึงแจ้งให้ทางโครงการฯ แก้ไขให้เรียบร้อยให้เหมือนตามที่โฆษณาขายไว้ ซึ่งโครงการฯ ก็ไม่ได้แก้ไข แต่มีหนังสือว่า โครงการฯ ได้สร้างคอนโดเสร็จเรียบร้อยแล้วให้เขาไปรับโอนคอนโดภายใน 30 วัน ถ้าไม่ไปถือว่าเขาผิดสัญญา และให้รับผิดชอบพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น        คุณภูผารู้สึกไม่พอใจ ทำไมอยู่ๆ เขากลายมาเป็นคนผิดสัญญา ทั้งๆ ที่โครงการฯ เป็นผู้ทำผิดสัญญาเองทั้งหมด ตั้งแต่สร้างไม่เสร็จตามกำหนด สร้างไม่ตรงตามโฆษณาขาย และมีพื้นที่เพิ่มขึ้นมาแล้วมาเก็บเงินเขาเพิ่ม เขาจึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนะนำว่า เรื่องการซื้อขายอาคารชุด มีกฎหมายควบคุมให้สัญญาต้องเป็นไปตามแบบ 2 ฉบับ คือประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522          สัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ข้อ 4 ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 และมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท         สัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดต้องทำตามแบบ อ.ช. 22 ถ้ามีส่วนหนึ่งส่วนใดในสัญญาไม่ได้ทำตามแบบและไม่เป็นคุณกับผู้จะซื้อ สัญญาส่วนนั้นไม่มีผลบังคับใช้ และมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท ตามมาตรา 6/2 และ 63 ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522         เมื่อพิจารณาสัญญาจะซื้อจะขายของโครงการแล้วพบว่า ไม่ปฎิบัติตามแบบ อ.ช. 22 และประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 ดังนี้        o       โครงการแจ้งผู้ซื้อด้วยวาจาเรื่องขอขยายระยะเวลาก่อสร้าง ซึ่งโครงการสามารถขยายเวลาก่อสร้างได้ 12 เดือน โดยผู้ขายต้องทำหนังสือแจ้งผู้ซื้อเป็นลายลักษณ์อักษร        o       โครงการเปลี่ยนแปลงวัสดุและสีห้อง สร้างสาธารณูปโภค เช่น สระว่ายน้ำ ฟิตเนส ไม่ตรงตามภาพโฆษณา ภาพโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ผู้ขายต้องก่อสร้างตามที่ได้โฆษณาไว้        o       โครงการมีพื้นที่ก่อสร้างในห้องเพิ่มขึ้นจาก 29 ตารางเมตร เป็น 31.45 ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 2.45 ตารางเมตร ซึ่งผู้ขายสามารถมีพื้นที่พร่องหรือเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินร้อยละ 5         ผู้ร้องสามารถบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดและขอเงินคืนได้โดยอาศัยเหตุผลข้างต้นในการบอกเลิกสัญญาเพราะผู้ซื้อไม่ได้เป็นผู้ผิดสัญญา โดยทำหนังสือบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับ ถ้าผู้ขายไม่ยินยอมคืนเงิน ผู้ซื้อสามารถฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ผู้ขายคืนเงินได้         กรณีคุณภูผา ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกรมที่ดิน แจ้งไปยังกรมที่ดินว่าสัญญาจะซื้อจะขายของโครงการเป็นข้อสัญญาไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามแบบ อ.ช. 22 และกรมที่ดินได้ดำเนินการตามกฎหมายกับโครงการนี้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 สิทธิของผู้ซื้อที่ดินที่เป็นที่สาธารณประโยชน์

        เช่นเคยผมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกฎหมายใกล้ตัวทุกท่านมาบอกเล่า โดยจะขอหยิบยกเรื่องของสิทธิในที่ดินมาพูดถึงอีกสักครั้ง เพราะเห็นว่าทุกวันนี้ก็ยังมีปัญหากันไม่น้อย เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดิน  สิทธิผู้บริโภคกำหนดว่าผู้บริโภคต้องได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา อย่างไรก็ตามผู้บริโภคก็ต้องระมัดระวัง ไม่ใช่ตรวจสอบเพียงข้อสัญญา แต่ต้องตรวจถึงทรัพย์สินที่ซื้อขายด้วย         อย่างกรณีตัวอย่างคดีที่ยกมาให้ดูกันนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อไปซื้อที่ดินซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งกฎหมายวางหลักไว้ว่าทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ ประเด็นคือถ้าทำสัญญาซื้อขายกันแล้วจะมีผลใช้บังคับได้แค่ไหน และหากสัญญาเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ ผู้ซื้อมีสิทธิขอเงินค่าที่ดินคืนได้เพียงใด ประเด็นดังกล่าว มีคดีขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกาได้วางหลักไว้ว่าการที่โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแก่กัน เป็นการทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยย่อมตกเป็นโมฆะ และหากโจทก์ผู้ซื้อรู้อยู่ขณะทำสัญญาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ ถือว่าชำระนี้ไปโดยรู้อยู่ว่าตนเองไม่มีหน้าที่ต้องชำระ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้เงินค่าที่ดินคืน         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7464/2555        ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 บัญญัติว่า ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา การที่โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแก่กัน จึงเป็นการทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 และมีผลเป็นการเสียเปล่าเท่ากับโจทก์จำเลยมิได้ทำสัญญาซื้อขายกันและต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมแก่กันโดยให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตามมาตรา 172        แต่การที่โจทก์ชำระราคาที่ดินพิพาทแก่จำเลยตามสัญญาซื้อขายโดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ถือว่าเป็นการกระทำตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามมาตรา 407 และมาตรา 411 โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะได้รับคืนราคาที่ดินที่ชำระแก่จำเลยดังกล่าว        นอกจากนี้ แม้เป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้น  ผู้ใดจะอยู่มาช้านานเท่าใดก็ ไม่ได้กรรมสิทธิ์            คำพิพากษาฎีกาที่ 1642/2506        ที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้น ผู้ใดจะอยู่มาช้านานเท่าใดก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่ แต่ถ้าหากบุคคลอื่นเข้ามากั้นรั้วปลูกเรือนแพและสิ่งอื่นๆ กีดขวางหน้าที่ดินของเจ้าของที่ดินที่ติดกับที่ชายตลิ่งเต็มหมด จนไม่สามารถใช้สอยชายตลิ่งเข้าออกสู่ลำแม่น้ำได้แล้ว ย่อมถือว่าเจ้าของที่ดินนั้นได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ มีสิทธิฟ้องขับไล่ได้          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์        มาตรา 1304 สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของ แผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น        (1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมา เป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน        (2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ        (3) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่า ป้อม และโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์         มาตรา 1305 ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กัน มิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา        มาตรา 1306 ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินใน เรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน        มาตรา 1307 ท่านห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของแผ่นดินไม่ว่าทรัพย์สินนั้น จะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 รู้กฎหมายกับทนายอาสา

กฎหมายขายฝากเมื่อทำสัญญากันแล้วกรรมสิทธิ์ในที่ดินตกเป็นของผู้รับซื้อฝากทันที...ต่างจากการทำสัญญาจำนอง ที่เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนจำนองแล้ว กรรมสิทธิ์จะยังไม่ตกเป็นของผู้รับจำนองทันที ต้องไปฟ้องบังคับคดีกับศาลอีกครั้งหนึ่งการขายฝากต้องระวัง อันตรายกว่าสัญญาจำนอง             ครั้งนี้มีเรื่องเกี่ยวกับการทำสัญญามาฝาก โดยเฉพาะสำหรับคนที่ชอบเอาที่ดิน เอาบ้านไปประกันเงินกู้ต่างๆ อยากให้ศึกษาไว้นะครับ  อย่างที่เราทราบกัน ว่าเวลาจะไปกู้ยืมเงิน บางคนเครดิตไม่ดี ก็ไม่สามารถไปกู้เงินกับธนาคารรัฐบาลหรือเอกชนได้ ก็ต้องไปหาคนที่รับซื้อฝาก หรือรับจำนองที่ดิน  ซึ่งสังเกตไหมครับว่า สัญญาที่เขาทำกับเรา ทำไมเขาไม่ค่อยทำสัญญาจำนองกัน แต่ชอบทำเป็นสัญญาขายฝาก สาเหตุก็คือ กรรมสิทธิ์ตามสัญญาขายฝาก โอนไวกว่านั่นเอง กล่าวคือ กฎหมายขายฝากเมื่อทำสัญญากันแล้วกรรมสิทธิ์ในที่ดินตกเป็นของผู้รับซื้อฝากทันที ย้ำนะครับว่าทันที ไม่ต้องรอให้มีการผิดสัญญา โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ขายฝากจะมาไถ่ถอนได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา แม้จะเขียนไว้ว่าภายใน 10 ปี แต่ไม่ได้เขียนระยะเวลาขั้นตํ่าเอาไว้ ส่วนใหญ่จึงทำสัญญาในระยะสั้น เมื่อถึงเวลาผู้ขายฝากไม่มีเงินมาไถ่ถอน ที่ดินก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อฝาก ซึ่งจริงๆ ก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อฝากตั้งแต่วันทำสัญญาวันแรกแล้ว แต่เมื่อไม่มาไถ่ถอนตามกำหนด ที่ดินก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับซื้อฝากโดยสมบูรณ์ และไม่ต้องไปฟ้องบังคับจำนองเลย ผู้ทำธุรกิจรับซื้อฝากจึงนิยมเรียกร้องให้ผู้ขอกู้เงินทำขายฝากด้วยเหตุผลประการใดประการหนึ่ง มากกว่าทำสัญญาจำนอง เพราะการทำสัญญาจำนองเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนจำนองแล้ว กรรมสิทธิ์ยังไม่ตกเป็นของผู้รับจำนองทันที ต้องไปฟ้องบังคับคดีกับศาลอีกครั้งหนึ่ง            มีคดีเรื่องหนึ่ง ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการไถ่ทรัพย์ตามสัญญาขายฝาก โดยผู้ขายฝากได้นำเงินไปไถ่ในวันสุดท้ายตามสัญญา แต่เนื่องจากไปตอนช่วงเย็น เลยเวลาราชการแล้ว ไม่สามารถไปจดทะเบียนไถ่ทรัพย์ได้ ผู้รับฝากก็เลยอ้างว่าไถ่เลยเวลาแล้ว จึงไม่ยอมให้ไถ่คืน ทำให้ผู้ขายฝากมาฟ้องศาล และศาลฎีกาก็ได้ตัดสินเป็นแนวทางไว้ว่า การจดทะเบียนไถ่ทรัพย์ซึ่งขายฝาก กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน โจทก์ย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19332/2556            โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินจากจำเลยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2554 อันเป็นวันครบกำหนดเวลาไถ่ที่ดิน ซึ่งขายฝาก โดยนำเงินสินไถ่เพื่อไปชำระให้แก่จำเลยที่บ้าน แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงอ้างว่าหมดเวลาราชการแล้ว การกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิไถ่ที่ดิน ซึ่งขายฝากต่อจำเลยภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาขายฝากโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 ประกอบมาตรา 498 แล้ว จำเลยต้องรับการไถ่ แม้โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินนั้นในเวลา 18 นาฬิกา ซึ่งล่วงพ้นเวลาราชการแล้ว และไม่สามารถจดทะเบียนการไถ่ขายฝากที่ดินในวันดังกล่าวได้ก็ตาม แต่การจดทะเบียนไถ่ทรัพย์ซึ่งขายฝาก กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน เมื่อโจทก์ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากนั้นต่อจำเลยภายในกำหนดเวลาไถ่ตามสัญญาขายฝากโดยชอบแล้ว จึงมีผลผูกพันใช้ยันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 อดได้ของ เพราะสัญญาซื้อขายผิดแบบ

ผู้บริโภคจำนวนมากตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมเป็นของตนเอง ซึ่งบางคนโชคดีไม่เจอปัญหาใดๆ ในขณะที่หลายคนเจอปัญหามากน้อยต่างกันไป และหนึ่งในปัญหาเหล่านั้นคือเรื่องของมาตรฐานหรือรูปแบบของสัญญาในการซื้อขาย ซึ่งจะมีเรื่องราวเป็นอย่างไรนั้น เราลองไปดูกันคุณชาลาชื่นชอบคอนโดของโครงการ Arcadia Beach Continental ซึ่งเป็นคอนโดหรูสไตล์ยุโรป เธอจึงตัดสินใจเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดห้องหนึ่งของโครงการดังกล่าว และได้ชำระเงินจองเป็นจำนวน 50,000  บาท อย่างไรก็ตามภายหลังทำสัญญาเสร็จแล้วเรียบร้อย คุณชาลาก็มาทราบว่าสัญญาที่เธอทำไปนั้น ไม่สามารถบังคับใช้ตามกฎหมายได้ เนื่องจากเป็นสัญญาที่ใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด เธอจึงติดต่อไปยังผู้ประกอบการเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งได้เสนอกลับมาว่าให้เธอเปลี่ยนมาจองห้องของอีกโครงการหนึ่งแทน โดยจะลดราคาให้เป็นพิเศษ แต่ต้องชำระค่าเงินจองเพิ่มอีกประมาณ 300,000 บาทด้านคุณชาลาเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวน่าสนใจ จึงตกลงทำตามที่บริษัทแนะนำและชำระเงินเพิ่มไป อย่างไรก็ตามหลังเวลาผ่านไปหลายเดือน เธอก็ได้เข้าไปติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างของโครงการดังกล่าว แต่กลับพบความจริงว่า ทางบริษัทได้นำห้องที่เธอจองไว้ ไปขายให้กับบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เธอจึงตัดสินใจทำหนังสือขอยกเลิกสัญญาทั้งหมดไปยังบริษัท แต่ทางบริษัทไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ กลับมา ทำให้คุณชาลาไปร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) พร้อมส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลืออีกทางแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ให้คำแนะนำในการทำสัญญาเพื่อจะซื้อจะขายห้องชุดว่า ต้องใช้แบบสัญญามาตรฐาน(อ.ช.22) ทั้งยังต้องให้เป็นไปตามประกาศของ สคบ.กำหนด คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุม พศ.2543 (3) ที่กำหนดให้สัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร ซึ่งในกรณีที่ผู้ประกอบการใช้ข้อความในสัญญาเป็นภาษาอื่นนั้น สัญญาย่อมไม่มีผลบังคับใช้ได้นอกจากนี้ในกรณีห้องชุดที่ได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายกันแล้ว ผู้ประกอบการไม่สามารถนำห้องดังกล่าว ไปขายให้กับบุคคลอื่นได้ เพราะจะถือว่าเป็นการผิดสัญญา โดยผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยคืนจากผู้ประกอบการได้ โดยต้องทำเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญา ซึ่งสามารถเข้าไปดูตัวอย่างรูปแบบของหนังสือบอกเลิกสัญญาได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (http://www.consumerthai.org/data-storage/non.html)ทั้งนี้ก่อนที่ศูนย์ฯ จะได้ช่วยผู้ร้องดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ผู้ร้องที่มูลนิธิ ก็พบว่าทาง สคบ. ได้เรียกให้ผู้ร้องเข้าไปเจรจาก่อน ซึ่งผลปรากฏว่า ทาง สคบ. ได้ช่วยเหลือผู้ร้องให้ได้เงินคืนส่วนหนึ่งแล้ว โดยเป็นส่วนที่ผู้ร้องได้ชำระไปในรอบที่สอง เนื่องจากเงินส่วนที่ผู้ร้องได้ชำระไปรอบแรกนั้น ทาง สคบ. มองว่าผู้ร้องไม่ได้มีเจตนาซื้อคอนโดดังกล่าวไว้เพื่ออยู่อาศัยเอง แต่ซื้อไว้เพื่อขายต่อหรือออกให้เช่าเพื่อเก็งกำไร ดังนั้นจึงไม่รับไกล่เกลี่ยให้ เพราะไม่เข้าข่ายเป็นผู้บริโภค ซึ่งผู้ร้องก็ยินดีรับเงินจำนวนดังกล่าว เพราะไม่ต้องการให้เรื่องยืดเยื้อไปมากกว่านี้และขอยุติการร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 รู้จักกฎหมาย “ขายฝาก” เป็นสัญญาซื้อขายแบบหนึ่ง ไม่ใช่สัญญาประกันหนี้

ช่วงเดือนที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ติดตามข่าวฆาตกรรมที่มีปมจากเหตุฝากขายที่ดิน ที่ชาวบ้านหลายคนบอกว่าโดนหลอกให้ขายฝากที่ดิน แล้วถูกเอาที่ดินไปขายต่อโดยไม่รู้เรื่อง  ดังนั้นวันนี้ เรามาทำความรู้จักเรื่องการทำสัญญาขายฝากให้มากขึ้นกันดีกว่า เพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราเท่าทันเรื่องการขายฝากมากขึ้นครับ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การขายฝาก คืออะไร ต่างกับสัญญาจำนองอย่างไร ซึ่งหากไปดูข้อกฎหมายจะทราบว่า การทำสัญญาจำนอง คือการเอาทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน ไปเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือบ้านยังเป็นของเราอยู่ไม่ได้โอนไป หากเราไม่ชำระหนี้เขาจะบังคับจำนองต้องลำบากไปฟ้องศาล ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ แต่ถ้าทำเป็นสัญญาขายฝาก เหมือนเอาทรัพย์ไปขายและถ้าครบกำหนดก็ให้ซื้อคืนได้ ฉะนั้นกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือบ้านก็จะโอนไปด้วย หากเราผิดนัดชำระหนี้แค่วันเดียว ก็มีสิทธิจะเอาทรัพย์เราไปขายต่อหรือไปทำอะไรก็ได้เพราะกรรมสิทธิ์มันโอนมาแล้ว ไม่ต้องลำบากไปขอศาลด้วย ดังนั้นในมุมผู้ที่เดือดร้อนเงิน แล้วจะนำที่ดินหรือบ้านไปกู้เงิน จึงขอแนะนำว่าไม่ควรทำเป็นสัญญาขายฝากนะครับ เพราะโอกาสที่จะเสียทรัพย์สินจะมีสูงกว่าเพราะกรรมสิทธิ์โอนให้เขาไปตั้งแต่วันทำสัญญาแล้ว  เราจะเห็นว่า สัญญาขายฝากมีเรื่องของ “กำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน” ไว้เป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากไม่มาไถ่คืนตามกำหนดเวลาที่ตกลงไว้ก็จะเสียสิทธิไถ่ทรัพย์คืน และทำให้ทรัพย์สินที่ขายฝากนั้นตกเป็นของผู้รับฝากทันที  อย่างไรก็ตามระยะเวลาไถ่ทรัพย์อาจขยายเวลาได้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18460/2557            การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ จึงจะบังคับกันได้ การไม่นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คงมีผลทำให้คู่สัญญาไม่อาจยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง ดังนั้น การตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ตามหนังสือขอต่อสัญญาขายฝาก ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ผู้รับไถ่ลงลายมือชื่อไว้ แม้มิได้นำไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่ได้ลงลายมือชื่อ แต่การที่จำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมในการกระทำของจำเลยที่ 1 กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตกลงและทำหนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับไถ่ด้วย หนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยนำทรัพย์สินที่รับซื้อฝากไปขายก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ นอกจากนี้ ถ้ามีการกำหนดราคาไถ่ทรัพย์ที่สูงกว่าราคาแท้จริงที่ขายฝาก กฎหมายก็ให้ถือว่า ให้ไถ่กันตามราคาขายฝากที่แท้จริง และรวมประโยชน์ตอบแทนไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี เท่านั้น โดย “ราคาขายฝากที่แท้จริง” คือ ราคาที่ผู้ซื้อฝากได้ชำระราคาแก่ผู้ขายฝากในขณะทำสัญญากัน ซึ่งอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าราคาทรัพย์สินที่แท้จริง  เช่น ราคาขายฝากบ้าน 300,000 บาท กำหนดเวลาไถ่ 3 ปี กำหนดสินไถ่ เป็นเงิน 500,000 บาท เช่นนี้ ถือว่ากำหนดไว้เกินร้อยละ 15 ต่อปี เนื่องจากเมื่อคิดประโยชน์ตอบแทนจะได้ 155,000 บาท เท่านั้น(ราคาขายฝากที่แท้จริง x ประโยชน์ตอบแทน ร้อยละ 15 x กำหนดเวลาไถ่) จึงได้เท่ากับ 455,000 บาทเท่านั้น ดังนั้นค่าสินไถ่ที่กำหนดไว้ 500,000 บาทจึงตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับได้เพียงไม่เกินที่กฎหมายกำหนดกล่าวคือ ผู้มีสิทธิไถ่ย่อมชำระสินไถ่เพียง 455,000 บาท เท่านั้น     อีกทั้ง กฎหมายเขียนเรื่องประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี  ทำให้บางคนเข้าใจว่าเป็นสัญญาประกันหนี้ เพราะมีลักษณะคล้ายดอกเบี้ยเงินกู้  แต่แท้จริงคือการทำสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2559       บันทึกเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความสรุปว่า จำเลยได้รับขายฝากที่ดินพิพาท จำเลยยินดีจะทำสัญญาซื้อขายตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2556 ตามสัญญาเดิมที่ทำไว้พร้อมดอกเบี้ย โดยบันทึกดังกล่าวมีการอ้างถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมที่ น. มารดาโจทก์ทำไว้ก่อนตาย ซึ่งหากเป็นการตกลงจะซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างกันใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมไว้ ทั้งยังตกลงให้โจทก์ต้องชำระสินไถ่พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาขายฝากเดิมให้แก่จำเลยภายในวันที่ 26 มกราคม 2556 กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์  โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง แล้ว น. มารดาโจทก์ผู้ขายฝากและจำเลยผู้รับซื้อตกลงคิดดอกเบี้ยเดือนละ 12,000 บาท กรณีนี้จึงเป็นการกำหนดราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากสูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ราคาสินไถ่ที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขาย และการคุ้มครองผู้บริโภค

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป ได้ดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการฯ ดังที่กำหนดไว้ใน (ร่าง) พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ... เพื่อทดลองทำหน้าที่ของอนุกรรมการฯ ตามเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายดังกล่าว โดย ได้มีความเห็นให้จัดทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขายและการคุ้มครองผู้บริโภค โดย นายเชิดวุฒิ สินพิมลบูรณ์ นักวิจัยในโครงการนี้ ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยได้นำไปประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และขยายผลโดยการนำเสนอต่อผู้แทนภาครัฐและภาคธุรกิจ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป โดยผลจากการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าการปรับปรุงหลักกฎหมายในการจัดการกับปัญหาข้อพิพาทเรื่องสินค้ามือหนึ่งชำรุดบกพร่องในลักษณะทำนองเดียวกับที่หลายประเทศได้ดำเนินการแล้วจะเป็นประโยชน์ และทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันในการปรับปรุงและพัฒนามาตรการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น หลักกฎหมายว่าด้วยความรับผิด(ของผู้ขาย) เพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าถือเป็นหลักกฎหมายสำคัญที่รัฐจะนำไปเป็นกฎเกณฑ์ในการสร้างความสงบและผาสุก(ในแง่ของการทำสัญญาซื้อขาย) ให้แก่สังคม อีกทั้ง หลักกฎหมายดังกล่าวยังมีความสำคัญต่อความคล่องตัวและความมั่นคงทางพาณิชย์อีกด้วย ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้มีการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 1 หมวด 2 ส่วนที่ 2 ตั้งแต่มาตรา 472 ถึงมาตรา 474 โดยบัญญัติไว้อย่างกว้างๆ ซึ่งในทางหนึ่งก็อาจจะส่งผลให้สามารถใช้และตีความกฎหมายได้อย่างยืดหยุ่นตามกาลเวลา แต่ก็อาจจะสร้างความสับสนและก่อให้เกิดอุปสรรคในการบังคับใช้และการตีความได้เช่นกัน   ประกอบกับมาตราดังกล่าวได้บัญญัติและบังคับใช้มาตั้งแต่พุทธศักราช 2472 และด้วยกาลเวลาที่ผ่านมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานย่อมส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนั้น กับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในปัจจุบันย่อมแตกต่างกันไปมาก ทั้งในแง่เทคโนโลยี ความซับซ้อนของสินค้า พฤติกรรมของคู่สัญญา หรือวิธีการดำเนินการค้าขายก็แตกต่างกันมากมายในแง่ทางเทคนิค ดังนั้น จึงควรจะต้องทำการวิเคราะห์และศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อค้นหาปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเท่าที่จะเป็นไปได้ และนอกเหนือไปจากประเด็นปัญหาเกี่ยวกับบทนิยามของความชำรุดบกพร่องของสินค้า รวมถึงภาระในการพิสูจน์เกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องของสินค้าแล้ว ยังมีประเด็นที่ควรต้องทำการศึกษาต่อไปว่า ความชำรุดบกพร่องที่ผู้ขายต้องรับผิดนั้นได้แก่ความชำรุดบกพร่องที่ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาใด ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นก่อน ระหว่าง หรือหลังการส่งมอบสินค้าแล้วก็ได้ และเมื่อปรากฏว่าผู้ขายต้องรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องแล้วก็จะต้องมาแจกแจงสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย รวมถึงการพิจารณาเกี่ยวกับอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวเนื่องกับความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง โดยได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบหลักกฎหมายดังกล่าวที่ปรากฏในประเทศเยอรมนีและสิงคโปร์ (Lemon Law) ผลการศึกษา เมื่อพิจารณาจากระบบความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องของไทยที่ปรากฏในมาตรา 472 ถึง 474 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว จะพบว่าบทบัญญัติความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องมีขอบเขตกว้างและไม่ชัดเจน ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการตีความ อันส่งผลต่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ และแม้ว่าพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะมีมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคที่หลากหลายก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงการบัญญัติเกี่ยวกับวิธีพิจารณาหรือกรอบการใช้อำนาจของศาลเท่านั้น อีกทั้งโครงสร้างการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องที่ปรากฏในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ยังเป็นการบัญญัติการคุ้มครองผู้บริโภคที่เรียกได้ว่า “กล้าๆ กลัวๆ” เมื่อเปรียบเทียบกับของเยอรมนีและสิงคโปร์ ดังจะเห็นได้จากการการบัญญัติการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องเอาไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความ ซึ่งก็เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องที่ “ผิดฝา ผิดตัว” ดังนั้น การคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องที่ปรากฏในระบบกฎหมายไทยควรจะมีการจัดระบบเสียใหม่ เพื่อลบภาพ “กล้าๆ กลัวๆ และผิดฝา ผิดตัว” ออกไปให้ได้ ...   เปรียบเทียบหลักกฎหมายของเยอรมนีและสิงคโปร์ กรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง เยอรมนี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 เป็นต้นมา เยอรมนีได้ทำการปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่ง (Das Bürgerliches Gesetzbuch; BGB)  ขนานใหญ่  โดยหนึ่งในนั้นคือ การนำข้อความคิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาใส่ไว้ในระบบความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งในส่วนองค์ประกอบของนิยามความชำรุดบกพร่อง เหตุยกเว้นความรับผิด รวมไปถึงสิทธิต่างๆ ของผู้ซื้อไม่ว่าจะเป็น การเรียกให้ซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้า การขอลดราคาตามสภาพ การบอกเลิกสัญญา (ขอคืนสินค้าและขอรับเงินที่ชำระไปคืน) รวมไปถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่ผู้บริโภคทำสัญญากับผู้ประกอบธุรกิจ จะต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภคในบางประเด็นเป็นกรณีพิเศษ เช่น บทสันนิษฐานความชำรุดบกพร่อง หรือข้อห้ามในการยกเว้นสิทธิต่างๆ ของผู้บริโภคตามกฎหมาย เป็นต้น สิงคโปร์ (Lemon law) ระบบความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องของสิงคโปร์เป็นระบบความรับผิดที่ปรากฏในระบบคอมมอนลอว์ คือถือเอาข้อตกลงตามสัญญาเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงที่ปรากฏชัดแจ้งหรือข้อตกลงโดยปริยายเป็นต้น กรณีที่ผิดข้อตกลงที่เป็นสาระสำคัญของสัญญา (breach of conditions) ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะไม่ขอผูกพันตนตามสัญญาอีกต่อไปได้ โดยสามารถปฏิเสธที่จะไม่รับมอบสินค้าหรือโดยการขอกลับคืนสู่สถานะเดิม เสมือนหนึ่งไม่เคยมีสัญญาต่อกัน โดยการบอกเลิกสัญญาและการเรียกค่าเสียหายหลังจากเลิกสัญญาไปแล้ว และในกรณีที่ในการผิดข้อตกลงที่มิได้เป็นสาระสำคัญของสัญญานั้น (breach of warranties) ผู้ซื้อยังคงต้องผูกพันตนตามสัญญาต่อไปได้ โดยสามารถเรียกค่าเสียหายได้ แต่มิได้ให้สิทธิในการปฏิเสธที่จะรับมอบทรัพย์ที่ซื้อขายหรือยกเลิกสัญญาแต่อย่างใด ดังนั้น สิทธิของผู้ซื้อจึงมีน้อยกว่าหรือหากจะมองในมุมมองของผู้บริโภคจะถือได้ว่า Sale of Goods Act ไม่ปรากฏการคุ้มครองผู้บริโภคเลย ซึ่งก็มีความพยายามที่จะตีความ Sale of goods act เพื่อให้คุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งก็ปรากฏความพยายามที่จะอธิบายว่าผู้ขายจะสามารถป้องกันมิให้ผู้ซื้อยกเลิกสัญญาได้ โดยการส่งมอบสินค้าที่ไม่ชำรุดบกพร่องให้ทันแก่เวลา (เอาสินค้านั้นกลับไปแก้ไข ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่) แต่คำอธิบายดังกล่าวก็ยังมิได้มีการบัญญัติสิทธิดังกล่าวไว้ในกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น จึงเกิดปรากฏการณ์ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย หรือเรียกสั้นๆ ว่า Lemon Law ขึ้น โดยจะเป็นการเพิ่มเติมในส่วนที่ว่า ผู้ขายจะรับผิดอย่างไร (สิทธิของผู้ซื้อในการเรียกให้ผู้ขายรับผิด) โดยจะมีการบัญญัติถึงการซ่อมแซมแก้ไข การเปลี่ยนสินค้า รวมถึงการลดราคาตามสภาพ รวมถึงบทสันนิษฐานความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องด้วย สำหรับท่านที่สนใจในรายงานฉบับสมบูรณ์ ทางอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการจะทำการเผยแพร่ผลการศึกษา ผ่านทางเวบไซต์ของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค http://www.consumerthai.org/main/index.php?option=com_content&view=section&layout=blog&id=24&Itemid=179 หรือ สามารถติดต่อเพื่อขอรับเอกสารในรูปอิเลคโทรนิคส์ไฟล์ ได้ทางฝ่ายเลขานุการอนุกรรมการ ตามที่อยู่อีเมลด้านล่างนี้ pohin59@gmail.com;     //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point