ฉบับที่ 235 เป็นไปได้ไหม เก็บภาษีเกลือ

หมอ ห่วงคนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึง 2 เท่า ทำเจ็บป่วย โรคเอ็นซีดีเพียบ ชี้การรณรงค์ ขอความร่วมมือลดเติมเกลือในอาหาร ยังไม่ได้ผล รอโควิดซาจ่อเก็บ “ภาษีโซเดียม” ยันทำเพื่อสุขภาพปัดหารายได้            ปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่มโรคเอ็นซีดี ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม โดย ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์สาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มเปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยกินอาหารรสชาติค่อนข้างเค็มตอนนี้เกือบๆ 2 เท่าของความต้องการของร่างกาย หรือประมาณสูงถึง 4,351 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งจากการศึกษาทั่วประเทศพบว่ามีการบริโภคเค็มกันทุกภูมิภาค มากที่สุดคือภาคใต้ แต่สูงกว่ากันไม่มาก เช่น ประชากรจากภูมิภาคอื่นๆ บริโภคเค็ม 100 ส่วน ภาคใต้จะรับประทาน 110 ส่วน เป็นต้น         ทั้งนี้ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมที่อยู่ในอาหารธรรมชาติพบเล็กน้อยประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ข้าว ส่วนประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากเครื่องปรุงเช่น เครื่องปรุงที่มีความเค็มคือ เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่างๆ เกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ก็โซเดียมที่ไม่เค็ม ในรูปของผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ผงชูรส ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง เบเกอรี่ก็มีโซเดียมเช่นเดียวกัน         และจากการสำรวจของภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หรือการสำรวจของภาคเอกชน คือนีลสันพบข้อมูลตรงกันว่าคนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น จากเดิมประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ก็เพิ่มเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ มีการพึ่งพาอาหารจากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต อาหารข้างทาง ตามตลาดนัด ข้าวแกงและยังพบแนวโน้มรับประทานอาหารจานด่วน เช่น แฮมเบอร์เกอร์ ไส้กรอก พิซซ่า มากขึ้นด้วย        รวมถึงความนิยมอาหารญี่ปุ่น อาหารจีน ซึ่งมีรสชาติค่อนข้างเค็มมาก โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่นจะเค็มกว่าอาหารทั่วไป ตั้งแต่น้ำแกงราเมนที่ใส่ทั้งเกลือและซีอิ๊ว ซอสปรุงรสต่างๆ แถมยังรับประทานกับน้ำจิ้มอีก ทั้งหมดนี่คืออีกแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง ตลอดจนขนมกรุบกรอบที่เด็กรับประทาน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่ง 1 ซองมีปริมาณโซเดียมสูงเกินความต้องการของคน 2-3 เท่า เมื่อเทียบข้าว 2 จาน         ผศ.นพ.สุรศักดิ์ ระบุว่า จากพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนไทยที่กล่าวมานั้น เป็นแนวโน้มที่น่ากังวลส่งผลให้อัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น ทั้งความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ เบาหวาน ตลอดจนอัมพฤกษ์ อัมพาต ข้อมูลจากระทรวงสาธารณสุขพบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังสูงถึง 7,600,000 คน เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดปีละเกือบ 40,000 คน โรคอัมพฤกษ์อัมพาตมากกว่า 500,000 คน แนวโน้มการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีน้อยลงเลย         ที่น่าเป็นห่วงเพราะสังเกตว่าคนที่ป่วยด้วยโรคเหล่านี้อายุน้อยลงเรื่อยๆ จากเมื่อก่อนคนจะเริ่มป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่อายุ 30-35 ปี เป็นอายุกลางคนแล้ว โดยเริ่มความดันโลหิตสูง แต่ปัจจุบันวัยรุ่นพอเรียนจบความดันสูงน้ำหนักตัวเยอะ ยิ่งถ้าเราเริ่มกินเค็มแต่เด็กจะเป็นความดันโลหิตสูงเร็ว ไม่ถึง 20 ปี ก็เจอได้ ซึ่งที่ตนเคยเจออายุน้อยสุดคือ 18 ปี ทั้งนี้ไม่เกี่ยวว่าคนนั้นอ้วนหรือไม่อ้วน ทุกคนสามารถเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ หากรับประทานเค็มมากความดันก็สามารถขึ้นได้ แต่คนไข้ที่อ้วนมักพบว่ามีการกินหวานร่วมด้วย ยิ่งทั้งหวานทั้งเค็ม 2 อย่างก็จะอันตรายมากเข้าไปอีก         ผศ.นพ.สุรศักดิ์  ได้อธิบายกลไกการรับประทานอาหารที่มีความเค็ม มีโซเดียมสูงมีผลต่อการเกิดโรคว่า ความเค็มหรือโซเดียมจะก่อให้เกิดโรคอันดับแรกคือ โรคความดันสูง เพราะเวลากินเค็ม กินเกลือเข้าไปนั้น ธรรมชาติสร้างมาว่าต้องมีการขับออก ถ้าได้รับปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดอันตรายกับร่างกาย ดังนั้นเพื่อที่จะขับเกลือที่เกินความจำเป็นนั้นออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ เพราะฉะนั้นความเค็มจะไปกระตุ้นสมองและสั่งการให้เกิดกระหายน้ำ  และเมื่อน้ำกับเกลือรวมกันกลายเป็นน้ำเกลือ ซึ่งน้ำเกลือจะเป็นตัวนำพาเลือดภายในหลอดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย         ทั้งนี้กลไกของมันคือ เม็ดเลือดจะเดินทางไปไม่ได้ ถ้าไม่มีน้ำเกลือพาไป แต่ถ้าค่าน้ำเกลือมีปริมาณมากเกินไปแรงดันในหลอดเลือดก็จะสูงขึ้น เรียกว่าความดันโลหิตสูง จะส่งผลทำให้หลอดเลือดนั้นเสื่อมเร็ว หรือถ้าทนไม่ได้เส้นเลือดก็จะแตก เช่น เส้นเลือดสมองแตกเป็นอัมพาตไป บางคนเส้นเลือดเกิดการอักเสบ หรือทนแรงไม่ไหวก็จะเสื่อม มีหินปูนเกาะ มีไขมันคอเลสเตอรอลไปเกาะ เกิดการอุดตันได้ เกิดเป็นหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย และหากไตทำงานหนักมากๆ เพราะมีหน้าที่ขับเกลือออกทางปัสสาวะ ไตก็จะเสื่อมเร็วเพราะเหตุว่าไตมีหน้าที่กรองน้ำกับเกลือออกไป ซึ่งการขับสิ่งเหล่านี้จะต้องใช้แรงดันเลือดเข้าไป พอมีแรงดันมากๆ หลอดเลือดที่ไตก็จะเสื่อม เกิดไตเสื่อม ไตวายในอนาคต         เพราะฉะนั้นการรับประทานอาหารรสเค็มจะทำให้เป็นโรคความดันมาก่อน ตามมาด้วยไต โรคหัวใจ และอัมพาต และยังตามมาด้วยโรคเบาหวานอีกด้วย สังเกตว่าถ้าป่วยความดันสูง 4-5 ปี หรือเมื่ออายุมากขึ้นจะเป็นเบาหวานตามมา เพราะคนที่รับประทานเค็มมากมักจะรับประทานรสหวานด้วย มีน้ำหนักขึ้น เช่น เวลารับประทานขนมกรุบกรอบก็ต้องกินกับน้ำหวาน กินอะไรก็ตามอาจจะตามด้วยน้ำอัดลมจะทำให้น้ำหนักตัวเยอะ ตามด้วยเบาหวาน ความดัน โรคไต ตามมาเป็นตระกูล         ผศ.นพ.สุรศักดิ์  ย้ำว่า การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มต่อเนื่องกันเป็นเวลานานราวๆ 5 ปี 10 ปี มีโอกาสสูงที่จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตามถ้ารับประทานอาหารเค็ม แต่ก็รับประทานอย่างอื่น รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็จะช่วยได้บ้างแต่ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ บางคนรับประทานเค็มแล้วดื่มน้ำตามมากๆ ก็จะขับเกลือออกผ่านทางปัสสาวะ ขับออกจากร่างกายได้เร็วขึ้นแทนที่จะคั่งค้างในร่างกาย แต่ไตก็ยังทำงานหนักอยู่ดี หรือบางวันกินบุฟเฟ่ต์ มื้อต่อมาอาจจะรับประทานจืดลงหน่อย ไปวิ่งออกกำลังกาย ไปเข้าฟิตเนสประมาณ 45 นาที ก็จะช่วยขับเกลือออกทางเหงื่อได้         บางวันบางคนรับประทานผัก ซึ่งในอดีตคนจะรับประทานน้ำพริก และมีผักแนมเยอะๆ ซึ่งในผักจะมีสารโปรแตสเซียมช่วยในการขับเกลือส่วนเกินออกไปได้ดีขึ้นเช่นกัน ช่วยให้ป้องกันความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้นในอดีต ชีวิตคนต่างจังหวัดจึงไม่ค่อยเป็นความดันโลหิตสูงมากนักเพราะรับประทานผักเยอะ อีกทั้งยังทำงานกลางแจ้งเสียเหงื่อเยอะความดันจึงไม่ค่อยขึ้น แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตคนเราเปลี่ยนไปเป็นชีวิตคนเมืองมากขึ้น ออกกำลังกายน้อยลงกินผักน้อยลงทำให้เป็นโรคสะสมโดยเฉพาะความดันโลหิตสูงโรคไตจะเข้ามาเยอะและอายุผู้ป่วยน้อยลงเรื่อยๆ          ผศ.นพ.สุรศักดิ์  บอกว่า เมื่อป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงแล้วหากไม่รักษา ใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี ก็จะเริ่มมีปัญหาโรคไต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับดีกรีด้วย ถ้าความดันโลหิตสูงมากก็มีโอกาสป่วยโรคไตเร็วขึ้น แต่ถ้าความดันโลหิตสูงน้อยหน่อยก็เป็นเป็นโรคไตช้า เช่น บางคนความดันโลหิตสูง 150 - 160  จะอยู่ได้ประมาณ 5 ปี ส่วนคนที่ 180 - 200 ภายใน 2-3 ปีก็เป็นโรคไตแล้ว ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความดันโลหิต         อย่างไรก็ตามสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ลดเค็ม ลดหวาน และออกกำลังกาย ถ้าน้ำหนักเยอะก็พยายามลดน้ำหนักลง และทานผักผลไม้เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยสร้างสมดุลเรื่องเกลือและไม่สูบบุหรี่ เลี่ยงยาที่ทำให้ไตเสื่อมเร็ว เช่น ยาชุด ยาแก้อักเสบ แก้ปวดข้อต่างๆ ซึ่งทำให้ไตเสื่อมเร็ว         หลายคนอาจจะเข้าใจว่าบุหรี่มีผลต่อโรคปอดอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วบุหรี่อันตรายมากกับทุกอวัยวะในร่างกาย ทำให้หลอดเลือดทั่วไปเสื่อมเร็ว เหมือนกับเวลาคนไข้ที่สูบบุหรี่มักจะเป็นโรคหัวใจเพราะหลอดเลือดหัวใจเสื่อม เป็นโรคไตก็เพราะหลอดเลือดไตเสื่อม โรคสมองก็เพราะบุหรี่ทำให้หลอดเลือดที่สมองเสื่อมและเป็นโรคปอดไปด้วย เพราะมีสารทำร้ายเนื้อเยื่อปอด เพราะฉะนั้นบุหรี่กับความเค็มมีความรุนแรงพอๆ กัน แต่ความเค็มยังพอมีวิธีแก้ด้วยการลดเค็ม แต่บุหรี่ไม่มีวิธีแก้เลย ต้องหยุดอย่างเดียว         ความเป็นไปได้ของการเก็บภาษีเกลือ         จากอันตรายที่มาจากการรับประทานอาหารที่มีความเค็ม หรือปริมาณโซเดียมสูง นำมาสู่ความพยายามผลักดันให้มีการออกกฎหมายเก็บภาษีโซเดียมขึ้นมา เรื่องนี้ ผศ.นพ.สุรศักดิ์  อธิบายว่า การรณรงค์ให้ประชากรลดการบริโภคเค็มถือว่ามีประโยชน์มาก ยกตัวอย่างที่ประเทศอังกฤษ ประเทศฟินแลนด์ มีการรณรงค์ทั่วประเทศให้ลดการบริโภคเค็มลดลง แค่ลดลงประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ก็มีผลทำให้ลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตได้มาก ในอังกฤษพบว่าการรณรงค์ระยะเวลา 10 ปี ประชาชนสามารถลดการบริโภคความเค็มลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ ส่งให้อัตราคนเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจลดลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ อัตราการเสียชีวิตลดลงชัดเจน         เพราะฉะนั้นการรณรงค์ก็มีความสำคัญ แต่การรณรงค์อย่างเดียวมักไม่ค่อยได้ผล เพราะธรรมชาติคนมักจะติดกับรสชาติ หากบอกว่าการรับประทานรสเค็มมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคไตในอีก 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นขอให้รับประทานรสจืดลงสักหน่อย แต่คนจะมองว่า “ฉันไม่เป็นหรอก ไม่กลัว อีกตั้งนานกว่าจะเป็น”  เพราะฉะนั้นการรณรงค์อย่างเดียวไม่ได้ประโยชน์ วิธีที่จะช่วยได้ ซึ่งในหลายประเทศทำอยู่ คือการปรับสิ่งแวดล้อมหรือปรับสูตรอาหาร ที่ขายในท้องตลาดให้มีความเค็มลดลง         ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ทำวิธีนี้เช่นกัน โดยการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจอาหารตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ให้ช่วยลดปริมาณเกลือลงเพื่อทำให้ประชาชนสุขภาพดี อย่างน้อยคือ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่คนนิยมบริโภค มียอดจำหน่ายมากถึงวันละ  8 ล้านซอง ถ้าคนรับประทานวันละ 1 ซอง แสดงว่ามีคนรับประทานถึง 8 ล้านคน และคนเหล่านี้ก็คือคนที่ได้รับโซเดียมสูงมาก         เพราะฉะนั้น จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการลดเกลือในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลง เป็นการขอความร่วมมือ จะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ปรากฏว่าผู้ประกอบการลดปริมาณเกลือที่ใส่ได้น้อยมาก โดยให้เหตุผลว่าถ้าลดเกลือลงแล้วคนจะไม่ซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้ประกอบการทุกบริษัทลดเกลือลงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ทุกบริษัท คนก็จะต้องรับประทานของบริษัทที่เป็นเจ้าใหญ่อยู่แล้ว เพราะคนส่วนใหญ่ติดที่ยี่ห้อเดิม การลดปริมาณเกลือลง 5 เปอร์เซ็นต์ ลิ้นคนเราไม่สามารถจับได้         “ที่ผ่านมาเราขอให้เขาค่อยๆ ลดปริมาณเกลือลง ปีแรก 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งลิ้นคนเราจับรสชาติไม่ได้อยู่แล้ว หลังจากนั้นอีก 2 ปี ก็ขอให้ลดลงอีก 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ปรากฏว่าเขาทำไม่ได้ เพราะว่าต่างคนต่างไม่ยอมลด ก็เป็นที่มาว่าถ้าไม่ลดเกลือในอาหารลง ก็จะทำให้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนที่บริโภค เพราะฉะนั้นถ้าลดไม่ได้ก็ต้องเก็บภาษี เหมือนภาษีน้ำหวาน”         ผศ.นพ.สุรศักดิ์  ระบุว่า หลักการจัดเก็บภาษีโซเดียมนั้น ไม่ได้จะเก็บภาษีผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปทุกตัว แต่จะมีการกำหนดค่ามาตรฐานความเค็มเอาไว้ ผลิตภัณฑ์ใดที่มีความเค็มเกินเกณฑ์ที่กำหนดก็จะถูกเรียกเก็บภาษีดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันเมื่อดูจากข้อมูลผลิตภัณฑ์อาหารในท้องตลาดจะพบว่ามีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่จะโดนภาษี หรือคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 3 ใน 4 จะไม่โดน หลักคือกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กลุ่มโจ๊ก และขนมกรุบกรอบ         อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าการเก็บภาษีโซเดียมไม่ได้จะเก็บจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทุกตัว แต่จะเก็บเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีความเค็มเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ถ้าผู้ผลิตมีการปรับสูตรให้มีความเค็มเกินค่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ ก็จะไม่ถูกเก็บภาษีแต่อย่างใด แต่ถ้ามีคนกังวลว่าหากผู้ผลิตที่ถูกเก็บภาษี จะหันไปขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นั้น ส่วนที่ไม่ถูกเก็บภาษีก็จะราคาไม่แพง ดังนั้นถ้าดูตามพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ หรือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ จะเลือกสินค้าตามราคา ตัวไหนราคาถูกก็จะซื้อตัวนั้น ดังนั้นผู้บริโภคก็มีทางเลือกว่าจะซื้อของที่มีราคาถูกและดีต่อสุขภาพ หรือว่าจะซื้อของแพงแถมยังเป็นภัยต่อสุขภาพ ผู้บริโภคมีสิทธิเลือก ทั้งนี้ไม่รวมเครื่องปรุงรส แต่อาจจะมีการออกคำเตือนเรื่องการบริโภคในปริมาณน้อยเพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง         เพราะฉะนั้นจะคัดค้านไม่ให้มีการเก็บภาษีดังกล่าวโดยอ้างว่าจะทำให้บะหมี่ราคาแพงขึ้นทั้งแผงคงไม่ถูกต้อง เป็นข้ออ้างที่จะบ่ายเบี่ยง แต่ถ้ามีการขึ้นราคาทั้งหมดเท่ากับว่าเป็นการฉวยโอกาสขึ้นราคาเพื่อทำกำไร ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องมาควบคุมราคาเพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภคได้         “การลดปริมาณเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ถ้าทำได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย เพราะไม่ต้องไปขึ้นราคา ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคเอ็นซีดี ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถเซฟค่าใช้จ่ายในการรักษาได้”         ทั้งนี้ มาตรการภาษีไม่ใช่ว่าบังคับใช้ทันที แต่จะบังคับใช้ใน 3 ปีข้างหน้า 5 ปีข้างหน้า เพราะเข้าใจดีว่าก็ต้องให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับตัว โดยค่อยๆ ลดเกลือลงมา ซึ่งถ้าลดเกลือลงมาแล้วผลิตภัณฑ์มีความเค็มไม่เกินค่าที่ตั้งไว้ก็ไม่ต้องเสียภาษีอีก ดังนั้นถือว่ากระทบน้อยมากและนี่เป็นมาตรการที่ต่างประเทศ เช่น ฮังการี ใช้มาก่อนแล้วพบว่าได้ผลดี  สินค้าเกือบทั้งหมดลดปริมาณเกลือลงโดยที่ไม่ต้องไปขอร้องกันอีก ผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากการลดต้นทุน ไม่ต้องเสียภาษีและขายได้เยอะขึ้น เพราะราคาไม่แพง         สำหรับความคืบหน้าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทำความตกลงกับสภาอุตสาหกรรม กลุ่มผู้ผลิตอาหาร ประชุมกันมา 4-5 ครั้ง ดูแนวโน้มก็เข้าใจมากขึ้นว่าเราไม่ได้จะไปเก็บภาษีทั้งหมด ถ้าลดปริมาณเกลือลงมาก็จะไม่ถูกเก็บภาษี ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ได้มีการยกร่างเอาไว้หมดแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 จึงยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะออกมาตรการเก็บภาษีในช่วงนี้ รอให้สถานการณ์ดีขึ้นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้ประกอบการก่อน        โดยอยากจะทำความเข้าใจอีกครั้งว่าการลดการบริโภคเกลือลงนั้น  มีความสำคัญสำหรับประชาชน เพราะทำให้คนป่วยน้อยลง ค่าใช้จ่ายถูกลง ค่ารักษาพยาบาลน้อยลง ถ้าขอความร่วมมือทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตให้บริโภคเกลือน้อยลง โดยมีระบบจัดเก็บภาษีเป็นการโน้มน้าว หรือชักจูงให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคกินอาหารที่มีความเค็มลดลงเพื่อผลดีต่อสุขภาพ ไม่ได้มีเจตนาจะไปเก็บเงินหารายได้ต่างๆ ถ้าทุกอย่างคนกินจืดลง ผู้ผลิตผลิตอาหารจืดลง ภาษีนี้อาจจะไม่ต้องใช้ก็ได้ ไม่กระทบค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค คิดว่าเป็นมาตรการที่ทำให้สุขภาพของทุกคนดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ส่องฉลากซีอิ๊วขาว ตำนานน้ำปรุงรสจากถั่วเหลือง

        “ซีอิ๊ว” นั้นออกเสียงตามสำเนียงแต้จิ๋ว หมายความว่า “ซอสถั่วเหลือง” (จีนกวางตุ้งเรียก ‘สี่เหย่า’) นับเป็นเวลาอันยาวนานกว่าพันปีที่ “ซีอิ๊ว” ถูกคิดค้นขึ้นโดยบรรพบุรุษชาวจีน เพื่อใช้เป็นเครื่องปรุงแต่งรสอาหาร ว่ากันว่าซีอิ๊วนั้นถือกำเนิดขึ้นในช่วงราชวงศ์โจว (1,100 – 221 ปี ก่อนคริสตกาล) เรียกกันว่า ‘เชียง (Chiang)’ หรือ ‘เจียง (Jiang)’ จากนั้นในช่วงสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960 – 1229) ซีอิ๊วเริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นสิ่งจำเป็นในวิถีชีวิตชาวจีน โดยภายหลังถูกเรียกว่า ‘เจียงอิ้ว’        วัฒนธรรมการใช้ซีอิ๊วปรุงอาหารและการทำเต้าเจี้ยว ได้ถูกส่งต่อมายังประเทศญี่ปุ่นในยุคสมัยของซามูไร โดยพระชาวญี่ปุ่นที่ไปศึกษาพุทธศาสนาในประเทศจีนในศตวรรษที่ 12 โดยชาวญี่ปุ่นเรียกซีอิ๊วว่า ‘โชยุ (shoyu)’ ซึ่งซีอิ๊วนับเป็นของแพงและหายากที่มีใช้กันเฉพาะในชนชั้นสูง ในแต่ละตระกูลจะมีสูตรและวิธีการผลิตที่แตกต่างกันออกไป โชยุของญี่ปุ่นจึงมีความหลากหลาย จากนั้นโลกตะวันตกก็ได้รู้จักซีอิ๊วครั้งแรกจากญี่ปุ่น โดยการนำเข้าของพ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์        สำหรับคนไทย ซีอิ๊วนับเป็นเครื่องปรุงรสสำคัญในครัวมาช้านาน ใช้ประกอบอาหารทั้ง ต้ม ผัด หรือน้ำจิ้ม โดยเฉพาะเมนูอาหารเจที่ต้องใช้ซีอิ๊วแทนน้ำปลา ซึ่งให้รสเค็มกลมกล่อมกว่ามาก         การผลิตซีอิ๊ว         ซีอิ๊ว เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสในรูปของเหลวที่ได้จากการย่อยสลายโปรตีนถั่วเหลือง โดยผ่านกระบวนการหมักด้วยจุลินทรีย์ ซึ่งกรรมวิธีการผลิต ซีอิ๊วหมักแบบธรรมชาติ คือ การนำเอาถั่วเหลืองต้มสุกพักให้หมาด คลุกกับแป้งสาลี (ทำให้ซีอิ๊วมีส่วนผสมของกลูเตน) แล้วบ่มทิ้งไว้ประมาณ 3-7 วัน กระบวนการนี้จะทำให้เกิดเชื้อรา ในกลุ่ม แอสเพอร์จิลลัส ออไรชี (Aspergillus oryzae) ซึ่งจะทำหน้าที่ย่อยโปรตีนในถั่วเหลืองให้กลายเป็นกรดอะมิโนที่มีรสชาติกลมกล่อมตามธรรมชาติ จากนั้นจึงนำถั่วเหลืองที่เกิดเชื้อราทั่วแล้ว หมักในน้ำเกลือตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป จากนั้นจึงนำมากรองแยกน้ำซีอิ๊วออกจากกากถั่วเหลือง          ซีอิ๊วสูตรต่างๆ        ซีอิ๊วที่คนไทยนิยมใช้กันนั้น มีอยู่ 4 - 5 ชนิด ได้แก่         1. ซีอิ๊วขาว คือ ซีอิ๊วที่ไม่ผ่านการปรุงรสหรือแต่งสีเพิ่มเติม         2. ซีอิ๊วดำ คือ ซีอิ๊วขาวที่นำมาเก็บหรือต่อระยะเวลาการบ่ม ทำให้ซีอิ๊วเข้มข้นและกลมกล่อมขึ้น อาจมีการแต่งสีเพื่อให้สีเข้มข้นสม่ำเสมอ ซึ่งโดยมากจะใช้น้ำตาลเคี่ยว        3. ซีอิ๊วดำหวาน คือ ซีอิ๊วที่ผสมกับสารให้ความหวาน โดยมากจะเป็นกากน้ำตาล หรือ โมลาส (Molasses) สีดำเข้ม ค่อนข้างหนืด         4. จิ๊กโฉ่ว หรือ ซอสเปรี้ยว คือ ซีอิ๊วขาวผสมกับน้ำส้มหมัก อาจมีการเติมเครื่องเทศลงไปด้วยระหว่างการหมักบ่ม         เมื่อผู้บริโภคเลือกซื้อซีอิ๊ว คงจะเคยสังเกตเห็นตัวเลข สูตร 1, 2, 3, 4, 5 ซีอิ๊วสูตร 1 คือ ซีอิ๊วที่ได้จากการหมักครั้งแรก เมื่อกรองน้ำซีอิ๊วออกแล้ว จะเหลือกากถั่วเหลือง เมื่อนำกากถั่วเหลืองนี้ไปหมักต่อกับน้ำเกลือ ก็จะกลายเป็นน้ำซีอิ๊ว สูตร 2 ซึ่งถ้าหมักกากซ้ำต่อไปอีกก็จะนับเป็น สูตร 3, 4, 5         ทราบความเป็นมาของซีอิ๊ว และวิธีการทำซีอิ๊วแบบคร่าวๆ กันแล้ว ฉลาดซื้อ ในโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงอยากชวนผู้บริโภคมาดูฉลากของซีอิ๊วที่วางจำหน่ายในท้องตลาดในประเทศไทยกันบ้าง โดยฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่างซีอิ๊วจากห้างสรรพสินค้า จำนวน 37 ตัวอย่าง เพื่อดูข้อมูลบนฉลาก เช่น ส่วนประกอบสำคัญ ปริมาณโซเดียมจากฉลากโภชนาการ เป็นต้น เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อซีอิ๊วกัน ตารางแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ซีอิ๊ว จำนวน 37 ตัวอย่าง (ลำดับตามปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภค 1 ช้อนโต๊ะ หรือ ประมาณ 15 มิลลิลิตร)จากการสังเกตฉลากบนขวดซีอิ๊ว 37 ตัวอย่าง พบข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้         ข้อมูลปริมาณโซเดียม         เนื่องจากซีอิ๊วเป็นเครื่องปรุงที่ให้รสเค็ม ฉลาดซื้อจึงเลือกเปรียบเทียบปริมาณโซเดียม โดยสังเกตข้อมูลจากฉลากโภชนาการ ซึ่งจากผลิตภัณฑ์ซีอิ๊วทั้งหมด 37 ตัวอย่าง มีซีอิ๊วที่มีการแสดงฉลากโภชนาการ จำนวน 27 ตัวอย่าง และไม่มีฉลากโภชนาการ จำนวน 10 ตัวอย่าง (กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ซีอิ๊วต้องมีการแสดงฉลากโภชนาการ) แต่การที่เครื่องปรุงรสมีการแสดงฉลากโภชนาการ นับเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้อ โดยเฉพาะข้อมูลปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภค         โดยหากเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำของซีอิ๊ว คือ 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 3 ช้อนชา (หรือประมาณ 15 มิลลิลิตร) ลำดับจากน้อยไปมาก พบว่า         ยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค น้อยที่สุด คือ ซีอิ๊วขาวเห็ดหอม สูตรลดโซเดียม 40% ตราเด็กสมบูรณ์ ซึ่งมีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคเท่ากับ 480 มิลลิกรัม/ช้อนโต๊ะ (มีการใช้โพแทสเซียมคลอไรด์ (INS508) เป็นส่วนประกอบ)                  ยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค มากที่สุด คือ ซีอิ๊วขาวฉลากน้ำเงิน ตราเด็กสมบูรณ์ มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เท่ากับ 1600 มิลลิลิตร/ช้อนโต๊ะ         หากสังเกตตัวอย่างซีอิ๊วลำดับที่ 1-4 ในตารางจะพบว่า ซีอิ๊วที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด 4 อันดับแรกเป็นซีอิ๊วสูตรลดเกลือโซเดียม 40% ทั้งหมด ซึ่งสูตรดังกล่าวมีการใช้เกลือโพแทสเซียม หรือ โพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) แทนการใช้เกลือปกติเพื่อลดปริมาณโซเดียมลง เพราะหากร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด         แต่การใช้เกลือโพแทสเซียมคลอไรด์ ก็มีข้อควรระวัง คือ ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไต และโรคหัวใจที่มีความผิดปกติของระดับโพแทสเซียมในเลือด ผู้บริโภคที่มีปัญหาดังกล่าวจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อซีอิ๊วที่มีการใช้เกลือโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบ         ข้อมูลการใช้วัตถุกันเสีย         ผลิตภัณฑ์ซีอิ๊ว จำนวน 26 ตัวอย่าง มีการใช้วัตถุกันเสียประเภทโซเดียมเบนโซเอต (Sodium Benzoate / INS211) หรือ โพแทสเซียมซอร์เบต (Potassium Sorbate / INS202) และ มีซีอิ๊ว 10 ตัวอย่าง ที่ระบุบนฉลากบรรจุภัณฑ์ว่าไม่ใช้วัตถุกันเสีย หรือ No preservative added และ มี 1 ตัวอย่าง ที่ไม่ระบุข้อมูลการใช้วัตถุกันเสีย โดยหากประมาณสัดส่วนของปริมาณสารกันบูดต่อการบริโภคเครื่องปรุงรสแต่ละครั้งแล้ว เป็นปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งร่างกายสามารถขับถ่ายสารกันบูดทั้งสองชนิดได้เองตามธรรมชาติ         ข้อสังเกตอื่นๆ         - ซีอิ๊วส่วนใหญ่แสดงข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร เช่น มีถั่วเหลือง, ข้าวสาลี หรือแป้งข้าวสาลีเป็นส่วนประกอบ หลายยี่ห้ออาจมีกลูเตน (Gluten) จากข้าวสาลี  แต่ทั้งนี้ มีซีอิ๊ว 3 ตัวอย่าง ที่ปราศจากกลูเตน ได้แก่ 1) ซีอิ๊วขาว ตราเมกาเชฟ  2) ซีอิ๊วขาวเห็ดหอม ตราซันลี (Sunlee) Gluten Free  และ  3) ซีอิ๊วขาวธัญพืช ง่วนเชียง ตราเรือ Golden Boat Brand         คำแนะนำในการบริโภค        ซีอิ๊วเป็นเครื่องปรุงรสที่ให้รสเค็ม ดังนั้นจึงควรบริโภคในปริมาณน้อยเพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป จะทำให้ไตทำงานหนักเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ในแต่ละวันเราไม่ควรบริโภคเกลือโซเดียมเกิน 1 ช้อนชา (หรือ ปริมาณโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม) โดยหากลองเฉลี่ยปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (1 ช้อนโต๊ะ หรือ 3 ช้อนชา) จากซีอิ๊วทั้ง 22 ยี่ห้อ ที่มีฉลากโภชนาการแสดงปริมาณโซเดียม (ยกเว้น 5 ตัวอย่าง ที่ฉลากโภชนาการแสดงข้อมูลเป็นเกลือ (Salt) แทนปริมาณโซเดียม (Sodium) ซึ่งไม่สามารถนำมาคำนวณเปรียบเทียบได้ชัดเจน) พบว่ามีปริมาณโซเดียมเฉลี่ยอยู่ที่ 1,096.81 มิลลิกรัม/ช้อนโต๊ะ         นอกจากนี้ เมื่อเปิดซีอิ๊วใช้แล้ว ควรปิดฝาให้สนิทและเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อยืดอายุให้นานขึ้น และป้องกันไม่ให้ซีอิ๊วขึ้นราหรือเกิดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะซีอิ๊วยี่ห้อที่ไม่ใช้วัตถุกันเสีย และหากไม่ได้ใช้ซีอิ๊วปรุงอาหารบ่อยๆ ก็ควรเลือกซื้อขวดเล็กแทน         ข้อควรรู้เกี่ยวกับซีอิ๊ว         - ยิ่งหมักและเก็บซีอิ๊วไว้นาน กลิ่นรสและเนื้อสัมผัสของซีอิ๊ว ก็จะยิ่งกลมกล่อม หอมละมุน ซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น         - ซีอิ๊วยิ่งมีส่วนผสมน้อยเท่าไหร่ ยิ่งดี         - ซีอิ๊วเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เสีย ถ้าไม่เปิดขวด ส่วนใหญ่มักจะกำหนดวันหมดอายุ 1 – 2 ปี อ้างอิง 1. ข้อแนะนำในการเลือกซีอิ๊วอย่างปลอดภัยสไตล์กินเปลี่ยนโลก (โดย แก้วตา ธัมอิน)2. เลือกซื้อซีอิ๊วอย่างมืออาชีพ ต้องรู้อะไรบ้าง ? (โดย DragonfirE thinking girl)     (https://storylog.co/story/5a7c6993ee105b9517b3fd7e)    (https://storylog.co/story/5a7c6993ee105b9517b3fd7e) 3. ‘ซีอิ๊ว’ ปรุงตำนานอาหารเอเชีย     (https://www.thaihotelbusiness.com/in-the-kitchen/ซีอิ๊ว-อาหารเอเชีย/) 4. ซีอิ๊ว (https://guru.sanook.com/5988/)5. ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร     (http://www.foodnetworksolution.com)6. ทำไมต้องห้ามกินเค็ม ?     (https://www.thaihealth.or.th/Content/48381-    (https://www.thaihealth.or.th/Content/48381-ทำไมต้องห้ามกินเค็ม.html) ขอบคุณภาพประกอบจาก : มูลนิธิชีววิถี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 กระแสในประเทศ

ประมลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 255215 กรกฎาคม 2552จุดจบ “ลวดดัดฟันแฟชั่น” สคบ. สั่งห้ามขายแบบเด็ดขาด “ลวดดัดฟันแฟชั่น” หลังจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ คคบ. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 36 ของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ออกคำสั่งห้ามจำหน่ายลวดดัดฟันแฟชั่นเป็นการถาวรแล้ว พ่อค้า – แม้ค้าคนไหนยังฝืนขายลวดดัดฟันแฟชั่นถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย แจ้งจับได้ทันที มาตรา 36 ของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่าหากพบสินค้าใดต้องสงสัยว่าเป็นอันตราย คณะกรรมการผู้บริโภคสามารถสั่งให้ตรวจพิสูจน์สินค้านั้นได้ ซึ่งในกรณีของลวดดัดฟันแฟชั่นไม่มีผู้ประกอบการรายใดขอทดสอบหรือพิสูจน์สินค้า ซึ่งคณะกรรมการผู้บริโภคพิจารณาแล้วสินค้าดังกล่าวเป็นอันตราย จากคำยืนยันของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกรมวิทยาศาสตร์บริการ หลังจากตรวจพบสารปนเปื้อนโลหะหนัก ทั้งตะกั่ว พลวง ซีลีเนียม โครเมียม และสารหนู รวมทั้งยังมีข้อมูลจาก อย.ว่าวัสดุที่ใช้ทำลวดดัดฟันไม่มีมาตรฐาน และลักษณะการนำมาคล้องที่ฟันด้วยลวดนั้นไม่แข็งแรงมีโอกาสล่วงหลุดลงคอจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 17 กรกฎาคม 2552ทลายโรงงาน “ซีอิ้วปลอม” ส่งขายตลาดนัดกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี หรือ ปศท. ได้ออกกวาดล้างโรงงานผลิตซีอิ้วปลอมและน้ำปลาปลอม ซึ่งสามารถตรวจพบแหล่งผลิตได้ถึง 3 หลาย ในเขตทวีวัฒนาและบางขุนเทียน โดยเจ้าหน้าที่สามารถยึดได้ทั้งอุปกรณ์การผลิตและบรรจุขวดซีอิ้วขาว พร้อมกับซีอิ้วขาวปลอม น้ำปลาปลอม ฝาขวด ขวดเปล่า ฉลากปลอม รวมทั้งสิ้นกว่า 190,000 ชิ้น ซึ่งรวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 9 ล้านบาทการเข้าตรวจค้นจับกุมครั้งนี้เนื่องจากมีตัวแทนบริษัทหยั่นหว่อหยุ่น จำกัด เข้าแจ้งความว่า สินค้าของบริษัทถูกปลอมแปลงออกจำหน่ายตามตลาดนัดและพื้นที่ทั่วไปในราคาถูก สำหรับสินค้าที่ตรวจยึดมานั้นพบว่ามีการวางขายตามตลาดนัดในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสินค้าปลอมเหล่านี้ไม่ได้คุณภาพ มีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ใช้วิธีการใส่เกลือ แต่งสี และปรุงแต่งรสขึ้นมา จากนั้นจะนำมากรอกใส่ขวดขาย หากซื้อมารับประทานอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย 23 กรกฎาคม 2552ชัวร์หรือมั่วนิ่ม? “ไข่ปลอมจากจีน” สร้างความตื่นตกใจให้กับผู้บริโภคไม่น้อย กับข่าวที่มีการพบไข่ไก่ปลอมวางจำหน่ายที่ประเทศจีน ซึ่งแม้จะมีการตรวจสอบยืนยันชัดเจนแล้วว่ายังไม่มีไข่ไก่ปลอมที่เป็นข่าววางขายในประเทศไทย แต่ อย. รับประกันมีการตรวจสอบเรื่องการลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนอย่างเคร่งครัด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ยืนยันยังไม่มีการตรวจพบไข่ไก่ปลอมวางจำหน่ายในประเทศไทย เพียงแต่เป็นกระแสจากการเผยแพร่ภาพของไข่ปลอมส่งต่อกันทางอินเตอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.อาหารระบุไว้ชัดเจนว่าหากมีการปลอมอาหารและจำหน่ายเพื่อบริโภค ให้ถือเป็นอาหารปลอม มีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งในเนื้อข่าวจากจีนระบุว่าไข่ปลอมใช่เจลาตินเป็นส่วนผสมในการทำไข่ขาว ส่วนไข่แดง จะถูกย้อมสีด้วยเกลือหรือเอสเตอร์ของกรดทาร์ทาริค เอซิด ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมถ่ายรูปและฟอกหนัง ขณะที่เปลือกไข่ทำจาก แคลเซียม คาร์บอเนต และพาราฟินแวกซ์ผสมกับน้ำ ซึ่งนอกจากจะไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมือนไข่จริงแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย 30 กรกฎาคม 2552โสมสกัด “เต็มพลัง” ห้ามดื่ม-ห้ามขาย ไม่มี อย.อย. ลงพื้นที่ภาคอีสาน จับกุมแหล่งผลิตเครื่องดื่มชื่อ “เต็มพลัง” ที่มีลักษณะเหมือนน้ำสมุนไพรแต่กลับมีรสชาติคล้ายผสมแอลกอฮอลล์ โดยบรรจุอยู่ในขวดขนาดเท่าขวดน้ำปลา ปิดปากขวดด้วยฝาเบียร์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ฉลากที่ขวดเขียนว่าเป็นสินค้าโอท็อปแต่ไม่ได้ระบุวันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ   เมื่อนำมาตรวจสอบพบสารไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) ซึ่งเป็นยาแก้แพ้ที่มีฤทธิ์ข้างเคียงกระตุ้นให้เจริญอาหาร โดยเครื่องดื่มดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตผลิตยา และไม่มีการขอขึ้นทะเบียนตำรับยา แต่อวดอ้างในคำบรรยายสรรพคุณว่าให้พลังงานสูง แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตมีเจตนาผลิตเป็นยา ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา ผู้ใดผลิตมีโทษทางกฎหมาย เตือนร้านค้าห้างวางจำหน่าย เพราะมีความผิดด้วยเช่นกัน โทรคมนาคมไทยยังมีปัญหา ต้องร่วมกันร้องเรียนเพื่อการพัฒนาปัจจุบันปัญหาด้านโทรคมนาคม ถือเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนไม่พอใจให้กับผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง โทรศัพท์มือถือ บัตรเติมเงิน sms สัญญาณโทรศัพท์ รวมทั้งเรื่องของสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งหน่วยงานที่คอยดูแลแก้ปัญหาในเรื่องนี้ให้กับเราก็คือ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) องค์กรอิสระภายใต้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) โดย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สบท. ได้เปิดเผยตัวเลขเรื่องร้องเรียนที่มีเข้ามาในหน่วยบริการประชาชนในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน พ.ศ. 2552 มีจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 662 เรื่อง มากกว่าปี 2551 ทั้งปีที่มีการร้องเรียน 334 เรื่อง แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคตระหนักในสิทธิของตัวเองมากขึ้น ซึ่งเรื่องที่ถูกร้องเรียนเข้ามามากที่สุด คือเรื่องคุณภาพของการให้บริการ เช่น ความเร็วอินเตอร์เน็ตต่ำกว่าที่โฆษณา ใช้แล้วสัญญาณหลุดบ่อย และเรื่องปัญหาโทรศัพท์โทรข้ามเครือข่ายติดยาก รวมทั้งเรื่องการแก้ไขปัญหาล่าช้า จำนวน 146 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 22.1 ปัญหาอื่นๆ ที่ถูกร้องเรียนรองลงมามีดังนี้ การคิดค่าบริการผิดพลาด จำนวน 137 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 20.7 การเรียกเก็บเงิน 107 บาท ค่าต่อคู่สายโทรศัพท์หลังถูกตัดสัญญาณ จำนวน 78 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 11.8 และการกำหนดระยะเวลาใช้บริการโทรศัพท์แบบเติมเงินล่วงหน้า จำนวน 75 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 11.3 ซึ่งในจำนวนเรื่องร้องเรียน 662 เรื่อง ทาง สบท. ได้ดำเนินการแก้ไขลุล่วงไปแล้ว 272 เรื่อง สำหรับเรื่องที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องในระดับนโยบาย เช่น การคิดค่าบริการผิดพลาด การกำหนดระยะเวลาใช้โทรศัพท์แบบเติมเงินล่วงหน้า หรือแม้แต่เรื่องความปลอดภัยจากเสารับ-ส่งสัญญาณ ซึ่งต้องมีการหารือเพื่อวางแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนต่อไป หวังว่าการใส่ใจ เข้าใจ และตระหนักในสิทธิของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น คงมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น  ภาคประชาชน ค้านพ.ร.บ.ผู้ประสบภัยรถยนต์ แนะรัฐฯ ตั้งกองทุน-ยกเลิกประกันเอกชนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมคนพิการ และมูลนิธิเมาไม่ขับ เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายผู้ประสบภัยจากรถ พร้อมแนะให้ตั้งกองทุนสินไหมผู้ประสบภัยจากรถแทน เพื่อแก้ปัญหาการบริหารงานซับซ้อน และลดภาระให้กับประชาชน   ตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ได้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพิ่มความคุ้มครองหลักในส่วนค่าสินไหม กรณีได้รับบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร จากเดิม 15,000 บาท เป็น 35,000 บาท และกรณีเสียชีวิตก็เพิ่มค่าสินไหมจาก 1 แสนบาท เป็น 2 แสนบาท รวมถึงเพิ่มค่าชดเชยรายวันให้วันละ 200 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 20 วันนั้น แม้มาตรการดังกล่าวดูเหมือนจะเอาใจใส่ผู้ประสบภัยรถยนต์ แต่ในความเป็นจริงเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะแก้ปัญหาพื้นฐานของระบบ ซึ่งขาดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย   จากการสำรวจผู้ประสบภัยรถยนต์ ใน 48 จังหวัดพบว่า ผู้ประสบภัยรถยนต์มากกว่าร้อยละ 55 ไม่ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายฉบับนี้ มีเพียงร้อยละ 42 ที่ใช้สิทธิ โดยผู้ประสบภัยเกือบทั้งหมดประสบปัญหาเมื่อใช้สิทธิ อาทิ การเบิกจ่ายยุ่งยากใช้เวลานาน บริษัทประกันบ่ายเบี่ยงไม่จ่ายค่าทดแทน ทำให้ผู้ประสบภัยต้องใช้สิทธิบัตรทองและประกันสังคมควบคู่ไปด้วยแทน ทั้งนี้ ในปี 2551 บริษัทประกันภัยเอกชน ใช้เงินเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการมากถึง 4,785 ล้านบาท หรือร้อยละ 47 ซึ่งมากกว่าการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่มีเพียง 4,534 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการจ่ายค่าตอบแทนผู้ขายประกัน หรือส่งเสริมการขายที่สูงถึงร้อยละ 45-50 ของค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ทั้งที่เป็นการประกันแบบบังคับ และจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของ คปภ. ดังที่กล่าวมา ทำให้กลุ่มประชาชนรวมตัวกันออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 แก้ไขปี พ.ศ. 2551 โดยให้ประชาชนที่ประสบอุบัติเหตุ รับการรักษาพยาบาลโดยใช้สิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพของตนเอง เพราะประชาชนทุกคนได้รับการคุ้มครองด้วยระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แล้ว และให้ออกกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อจัดตั้งกองทุนสินไหมผู้ประสบภัยจากรถ ที่คุ้มครองกรณีทุพพลภาพและเสียชีวิต โดยใช้งบประมาณในการบริหารกองทุนไม่เกินร้อยละ 5 ซึ่งจะทำให้ประชาชนจ่ายเบี้ยประกันตามกฎหมายจัดตั้งกองทุนฉบับใหม่ประมาณ 200 บาทสำหรับรถยนต์ และ 100 บาทสำหรับรถจักรยานยนต์ เป็นการช่วยลดภาระของประชาชน และทำให้ระบบโดยรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากลดความซ้ำซ้อนของกองทุนประกันสุขภาพต่างๆ และกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 เต้าหู้ขาวญี่ปุ่นนึ่งซีอิ๊ว

ฉันกับแม่กลับเข้าบ้านมาถึงในตอนค่ำ ก็เห็น 2 สาวเพื่อนบ้านกำลังเขย้อเขย่งเก็บช่อดอกเข็มแดงริมรั้วบ้านเตรียมให้ลูกชายใช้ไหว้ครูพอดี  พอรู้ว่าเธอๆ จะใช้ไหว้ครู ฉันก็เดินไปที่กอมะเขือพวงที่กำลังออกดอก และตัดช่อของมันส่งให้เธอไปอีก 3 ช่อ กับคำถามในใจว่าเมื่อไหร่หนอบ้านเราเมืองเราจะมี   “วันนักเรียน” กะเขามั่ง  วันนักเรียนที่สอนให้นักเรียนรู้คิด ตั้งคำถาม  รู้วิธีหาคำตอบ  มีระบบการเรียนรู้ที่มากไปกว่าการเป็นเด็กดี  มีระเบียบวินัย สามัคคี  และเชื่อฟังคุณครู?   ปีนี้ฝนแล้ง มาล่าช้า และเริ่มมาตกชุกเอาช่วงต้นเดือนมิถุนายน  เข็มที่ได้น้ำจากน้ำประปาที่แม่รดทุกวันจึงไม่มีดอกช่อโตดกใหญ่มากอย่างทุกปี   ถัดมาก่อนหน้านี้ 2 วัน  ฉันเพิ่งพบกับเพื่อนชาวนาในทุ่งหน้าโคก ที่เก็บผักมาขายประจำในตลาดนัดวันจันทร์ ซึ่งเช้าวันนั้นพื้นดินลูกรังตลาดเนืองนองเฉอะแฉะหลังฝนกระหน่ำเสียจนหนำใจ  เราได้คุยกันสั้นๆ เรื่องการเตรียมทำนาขอเธอ   เธอว่า ปีนี้ฝนมาช้า จนทำให้ข้าวต้องหว่านช้าไปกว่าเดิม  กว่าจะหว่านได้นั้นเธอรอทั้งน้ำในลำรางให้เขาปล่อยมาและฝน ก็ยังไม่ได้มาดังใจ  ระหว่างนี้ได้พบชาวนาหลายคนที่ต้องไปขอมิเตอร์ไฟฟ้าจากสำนักงานการไฟฟ้าฯ  และเสียค่าเช่าหม้อไฟถึงคนละ 8,000 บาท เพื่อติดตั้งเครื่องไฟฟ้าสูบน้ำเข้านา  ส่วนเธอต้องจ่ายค่าพิเศษให้เจ้าหน้าที่ไป 500 บาท เธอว่า “คนมันต่อคิวกันเยอะ เราอยากได้ไว  ถ้าไม่งั้นเรารอนาน ข้าวเราก็ไม่ได้ปลูกสักที” เงินที่เธอต้องลงทุนเพิ่มในการทำนาเที่ยวนี้  ยังไม่รู้ว่าจะได้รับคืนมาเป็นผลกำไรหรือไม่นั้น คงต้องรอดูตอนช่วงเก็บเกี่ยวต้นเดือนกันยายนปีนี้กันอีกที  เธอว่ายังดีที่หลังเลิกใช้งานแล้วคืนหม้อไฟ จะได้รับเงินคืนกลับมา 6,000 บาท  แต่นั่นก็อีกเกือบ 4 เดือนเชียวแหละที่ต้องรอดูกันต่อ ดูเหมือนเป็นชาวนาต้องรอนั่น รอนี่ และมีเรื่องให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันอยู่เสมอ ... นั่นสินะ  หากรอให้น้ำท่าดีสมบูรณ์ในภาวะที่แล้งจัดแบบนี้  ก็คงยังอีกนานกว่าจะได้ลงมือตีเทือก หว่านข้าวปลูก   ครั้นพอลงมือหว่านทำนาแล้วก็ต้องมาคอยดูด้วยใจระทึกต่อไปว่า ฝนที่เริ่มตกชุกจนอดหวั่นไหวไม่ได้ว่าปีนี้จะน้ำมากจนมาท่วมข้าวก่อนเกี่ยวเหมือนปี54 กันอีกหรือเปล่านั้น  มันเป็นความทุกข์ที่คนทำนาต้องอดทนแบกรับ   มาเรื่องกินกันดีกว่า – วันนี้ว่าด้วยเมนูเต้าหู้ขาว กินแบบเบาๆ สบายๆ   เครื่องปรุง 1. เต้าหู้ขาวญี่ปุ่น 1 ชิ้น   2.เห็ดเข็มทอง  100 กรัม   3.ต้นหอม  2 – 3 ต้น หั่นท่อน   4.สาหร่ายญี่ปุ่น แช่น้ำจนพองตัวแล้วสรงขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ  1/3 ถ้วย   5.ขิงซอย 1 แง่ง (ขยำน้ำเลือกแล้วล้างออก 2 ครั้ง)   6.พริกชี้ฟ้าหั่นแฉลบ 2 เม็ด   7.ซีอิ๊วขาว  2 ช้อนโต๊ะ   8.น้ำมันงา  1 ช้อนโต๊ะ   9.งาคั่วบุบหยาบ  1 ช้อนโต๊ะ  10.น้ำตาลทรายตัดรสเค็ม ปลายช้อน  11.หมูสามชั้นหั่นเรียง (ใส่หรือไม่ – แล้วแต่ชอบ)   วิธีทำ เรียงสาหร่ายบนจานกระเบื้องทนไฟ  หั่นเต้าหู้ขาวญี่ปุ่น เป็นก้อน 3 เหลี่ยมมุมฉากวางบนสาหร่าย   โรยด้วยเครื่องปรุงที่เหลือ แล้วนำไปนึ่งเตาไฟแรงๆ นาน 10 นาทียกลง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point