ฉบับที่ 160 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2557 ไม่อยากมีปัญหา อย่ากิน “ยาสลายมโน” ปราบยังไงก็ไม่หมดจริงๆ สำหรับบรรดาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณที่โฆษณาขายกันอย่างโจ๋งครึ่ม ทำผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อแล้วเป็นจำนวนมาก ล่าสุดมีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “ยาเม็ดสลายมโน” (แค่ชื่อก็ดูไม่น่าเชื่อถือแล้ว) ที่กำลังระบาดหนักทางโซเชียลมีเดีย โดยยาสลายมโนอวดอ้างสรรพคุณด้วยประโยคเด็ดว่า “กินแล้วมโนภาพ จินตนาการ หรือความเพ้อเจ้อ เพ้อฝันว่าจะมีหน้าอกสวยงาม กระชับ เต่งตึงได้รูปจะเป็นจริง” สาวๆ หลายคนอ่านแล้วก็หลงเชื่อ เผลอนโมไปว่ากินยานี้แล้วเราของจะสวยขึ้นแน่นอน ซึ่งราคาขายอยู่ที่กระปุกละ 590 – 700 บาท อย.เห็นแบบนี้เข้าจึงอยู่เฉยไม่ไหว ต้องออกโรงเตือนอย่าหลงเชื่อซื้อยาสลายนโนมากินเด็ดขาด เพราะเข้าข่ายโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง กินแล้วไม่ได้อย่างคำโฆษณาแถมอาจเสี่ยงจากโรคอื่นเป็นของแถม ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารใดๆ ขอให้พิจารณา อ่านฉลาก และตรวจสอบข้อมูลให้ถ้วนถี่ หรือนำเลขที่สารบบในกรอบเครื่องหมาย อย. ไปตรวจสอบกับทาง อย. หากผู้บริโภคพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริง หรือได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้ร้องเรียนไปที่ สายด่วน อย. โทร. 1556   “แอลกอฮอล์อุ่นอาหาร” สารพิษสูง ใครที่ทานอาหารตามร้านอาหารบ่อยๆ คงจะคุ้นตากับ “แอลกอฮอล์อุ่นอาหาร” ที่หลายๆ ร้านใช้อุ่นอาหารพวกต้มยำหม้อไฟที่นำมาวางเสิร์ฟบนโต๊ะให้ร้อนอยู่เสมอ ซึ่งจากนี้ไปมื้อไหนที่มีแอลกอฮอล์อุ่นอาหารอยู่บนโต๊ะ ก็อย่ามัวแต่เพลินกับความอร่อย ต้องสังเกตแอลกอฮอล์อุ่นอาหารเพราะมันอาจมาพร้อมกับสารเคมี อย. ได้ตรวจจับแอลกอฮอล์อุ่นอาหาร ยี่ห้อ “กรีนพาวเวอร์” จำนวน 50 ลัง น้ำหนักรวม 2,266 กิโลกรัม และแอลกอฮอล์แข็ง-เจล จำนวน 122 ถัง น้ำหนักรวม 1,586 ลิตร มาเผาทำลาย เนื่องจากมีการตรวจวิเคราะห์พบปริมาณเมทานอลเกินกว่ากำหนด คือ 86.7% ทั้งที่มาตรฐานต้องไม่เกิน 1% เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง สำหรับผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์อุ่นอาหารเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบว่ามีใช้กันอย่างแพร่หลาย ใช้อุ่นอาหารประเภทหม้อไฟ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้จัดเป็นวัตถุอันตรายถูกกำกับควบคุมโดย อย. สำหรับอันตรายของแอลกอฮอล์อุ่นอาหาร หากสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ตาพร่า และถ้าสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือใครที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นี้ ต้องเลือกที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน สมอ. กำกับเพื่อความปลอดภัย   “ซิมดับ” มาแน่ กันยายนนี้ กสทช. เตือนคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือในคลื่นความถี่ 1800 MHz (เมกกะเฮิร์ตช) รีบทำการโอนย้ายเปลี่ยนแปลงระบบ ก่อนจะเจอกับอาการซิมดับของจริงในเดือนกันยายน 2557 นี้ โดยตัวเลขผู้ใช้โทรศัพท์ที่ยังคงค้างอยู่ในคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ของ 2 บริษัท ประกอบด้วย ทรูมูฟ ซึ่งมีจำนวนลูกค้าเหลืออยู่ทั้งสิ้นราว 5 ล้านกว่าราย ส่วนดีซีพีเหลือประมาณ 6,000 ราย ผู้ใช้เลขหมายคลื่นความถี่ 1800 ส่วนใหญ่เป็นลักษณะการใช้งานโทรออก-รับสาย และส่ง SMS เป็นหลัก การใช้งานไม่สลับซับซ้อน ไม่ใช่การส่งภาพหรือใช้อินเตอร์เน็ต ปัญหาคือ ผู้ใช้เลขหมายบางคนไม่ได้เป็นคนซื้อโทรศัพท์หรือดำเนินการเอง เช่น ลูกซื้อให้พ่อ-แม่ คนใช้งานอาจไม่ได้ใส่ใจหรือติดตามข่าวสารว่า เลขหมายของตัวเองอยู่ในข่ายที่ต้องโอน ผู้ที่ยังใช้โทรศัพท์ในเครือข่าย 1800 MHz หรือไม่แน่ใจว่าตัวเองอยู่ในระบบใด ให้รีบติดต่อกับผู้ให้บริการเครือข่ายและทำการย้ายโอนเครือข่าย เพื่อป้องกันปัญหาซิมดับที่ส่งผลต่อการใช้งานโทรศัพท์มือถือ   ไขปริศนา สารก่อมะเร็งในขวดน้ำพลาสติก จากกระแสข่าวลือที่สะพัดบนโลกออนไลน์ว่า น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกที่ถูกทิ้งตากแดดไว้ในกระโปรงท้ายรถยนต์ เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เพราะจะมีสารไดออกซิน สร้างความสับสนและกังวลของผู้คนในสังคม ว่าข่าวดังกล่าวจริงเท็จประการใด เพื่อไขข้อข้องใจทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ออกมาชี้แจงในเรื่องนี้ว่า เรื่องสารก่อมะเร็งในขวดน้ำพลาสติกนั้น เป็นเรื่องไม่จริง โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ซื้อตัวอย่างน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกชนิดโพลิเอทิลีน โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต โพลิพรอพิลีน โพลิคาร์บอเนต และโพลิไวนิลคลอไรด์ที่จำหน่ายในตลาดสดและซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 18 ยี่ห้อ และนำไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน จากนั้นตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่มไดออกซิน จำนวน 17 ตัว และพีซีบี จำนวน 18 ตัว พบว่า ตรวจไม่พบสารประกอบกลุ่มไดออกซินและพีซีบีในทุกตัวอย่าง สารไดออกซินเป็นสารที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเคมีภัณฑ์ที่มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ เช่น อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมผลิตยาฆ่าแมลง เป็นต้น หรือกระบวนการเผาไหม้อุณหภูมิสูงทุกชนิด เช่น เตาเผาขยะทั่วไป เตาเผาขยะจากโรงพยาบาล เตาเผาศพ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง และการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น กรณีที่สารไดออกซินจะละลายออกมาจากขวดบรรจุน้ำที่วางไว้ในที่ร้อนๆ อย่าง หลังรถยนต์ ยังไม่เคยมีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันการตรวจพบมาก่อน   เด็กไทยยังเสี่ยงสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม กระทรวงสาธารณสุขเผยผลสำรวจที่น่าตกใจ เด็กไทยทั่วประเทศยังคงเสี่ยงกับสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม เหตุเพราะตู้น้ำไม่ได้มาตรฐาน แถมยังสกปรกส่งผลให้เด็กป่วยเป็นเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร จากข้อมูลสำรวจการปนเปื้อนตะกั่วในน้ำดื่มจากตู้ทำเย็นของโรงเรียนในจังหวัดต่างๆ พบว่าส่วนหนึ่งยังมีค่าสูงเกินมาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภคกรมอนามัย พ.ศ. 2553 คือ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวเชื่อมตะเข็บรอยต่อทั้งตู้ใหม่ และตู้เก่าที่ผ่านการซ่อม พบว่า มีการเชื่อมทั้งบริเวณมุมของภายในช่องท่อต่อน้ำเข้าเครื่องบริเวณลูกลอยกับก้าน และช่องท่อส่งน้ำออกบริเวณพื้นตัวถังไปสู่ก๊อกน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลผ่านตู้น้ำมีตะกั่วปนเปื้อน นอกจากนี้ยังพบว่าที่เก็บน้ำมีความสกปรก ขาดการดูแลอย่างสม่ำเสมอ หากเด็กนักเรียน ดื่มเข้าไปเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ทั้งอุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ อหิวาต์ ซึ่งสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในกลุ่มเด็กปี 2557 จากรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา พบผู้ป่วยในกลุ่มอายุ 7 - 9 ปี จำนวน 22,798 ราย และในกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี จำนวน 24,631 ราย กรมอนามัย จึงได้แนะนำการป้องกันอันตรายสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม ต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกซื้อตู้ทำน้ำเย็นที่ประกอบด้วยเหล็กกล้าไร้สนิมเกรดดี ชนิดหนา ซึ่งสารตะกั่วที่ปนเปื้อนแม้เพียงเล็กน้อยก็ส่งผลกระทบต่อเด็กได้ง่าย เนื่องจากเด็กมีความไวต่อการสัมผัส หากร่างกายได้รับสารตะกั่วในปริมาณสูงก็จะเกิดอาการเป็นพิษได้ นอกจากนี้ถังเก็บน้ำต้องทำด้วยวัสดุเหล็กกล้าไร้สนิมที่ใช้กับอาหาร ไม่มีตะกั่วเป็นส่วนผสม เชื่อมตะเข็บรอยต่อด้วยก๊าซอาร์กอน หรือก๊าซสำหรับเชื่อมอื่นที่ไม่มีสารพิษปนเปื้อน และไม่มีผลตกค้างในถังน้ำ ที่สำคัญโรงเรียนต้องหมั่นดูแลทำความสะอาดตู้น้ำดื่มโดยการล้างที่เก็บน้ำภายในตู้เป็นประจำ ทำความสะอาดก๊อกน้ำและบริเวณผิวภายนอกตู้ให้สะอาดป้องกับเชื้อโรคและสิ่งสกปรก   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2556 จับผิดพ่อค้า – แม้ค้าโกงตาชั่ง กรมการค้าภายใน ฝากคำแนะนำถึงคนที่ต้องซื้อสินค้าข้าวของกับร้านค้าที่มีการใช้ตาชั่ง ชั่งตวงสินค้า ป้องกันการถูกโกงน้ำหนัก หลังจากที่กรมการค้าภายในได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคถูกพ่อค้า – แม้ค้าใช้กลโกงตาชั่งเอารัดเอาเปรียบ สำหรับข้อสังเกตในการดูตาชั่งสินค้าที่ได้มาตรฐาน มีอย่างเช่น ต้องตรวจสอบเครื่องหมายรับรองจากกรมฯ ซึ่งเป็นตราครุฑติดไว้, ไม่มีการหักเข็มชี้น้ำหนักเพราะทำให้เครื่องอ่านน้ำหนักไม่ถูกต้อง, ตัวเลขถาดกับตัวเลขเครื่องที่ระบุต้องตรงกัน, ต้องไม่มีวัสดุอื่นหรือนำสีมาพ่นหน้าปัดด้านใดด้านหนึ่งหรือการนำกระดาษมาปิดอีกหน้าหนึ่งของเครื่องชั่ง, การใช้เครื่องที่ทำด้วยพลาสติกหรือเครื่องชั่งที่อยู่ในสภาพชำรุด เป็นต้น เทคนิคที่พ่อค้า-แม้ค้านิยมใช้ในการโกงตาชั่งหลักๆ จะมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ การแกะเครื่องและเปลี่ยนสปริง, การเปลี่ยนหน้าปัดและสปริง, การเปลี่ยนถาดที่มีน้ำหนักสูง ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อได้สินค้าไม่เต็มน้ำหนัก จะได้ของเฉลี่ยที่ 8-9 ขีดต่อน้ำหนักที่ซื้อไป 1 กก. เท่านั้น     ใช้ตู้เอทีเอ็มอย่างปลอดภัยเงินไม่ถูกขโมย ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน(ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาให้คำแนะนำกับผู้ใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม ป้องกันการถูกลักลอบขโมยข้อมูลบนแถบแม่เหล็กด้านหลังบัตรและรหัสประจำบัตร หลังจากเกิดกรณีที่มีกลุ่มมิจฉาชีพแอบดูดเงินจากบัญชีของผู้ใช้เอทีเอ็มกว่า 10 ราย รวมยอดเงินที่ถูกลอบขโมยไปหลายแสนบาท สำหรับคำแนะนำของ ศคง. ในการใช้ตู้เอทีเอ็มอย่างปลอดภัย มีดังนี้ ทุกครั้งที่ใช้ตู้เอทีเอ็ม ควรสังเกตช่องสอดบัตรและแป้นกดตัวเลขอย่าให้มีสิ่งผิดปกติ หากรู้สึกสงสัยก็ไม่ควรใช้เครื่องนั้นและรีบแจ้งให้ธนาคารทราบทันที จุดที่ควรสังเกตก่อนใช้ตู้เอทีเอ็ม คือ กล่องใส่โบชัวร์ ซึ่งไม่ได้เป็นของธนาคาร เพราะอาจเป็นที่ซ่อนกล้องรูเข็มเพื่อแอบดูการกดเลขรหัส ควรใช้มือบังแป้นกดตัวเลขขณะทำรายการ เพื่อไม่ให้กล้องที่มิจฉาชีพแอบติดตั้งไว้หรือคนที่อยู่ด้านหลังเห็นรหัสบัตร ถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนรหัสบัตรอยู่เสมอ และควรรีบเปลี่ยนรหัสทันทีเมื่อสงสัยว่าบุคคลอื่นทราบรหัสของเรา   อย.ประกาศลดราคายาผู้ป่วยมะเร็ง -  สมาธิสั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปรับลดราคายากลุ่มจำเป็นต่อคุณภาพชีวิตตามต้นทุนการจัดหาที่ลดลง จำนวน 7 รายการ เช่น ยาเฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ยาเมทิลเฟนิเดต ที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น และยาโซลพิเดม ทาร์เทรต ซึ่งเป็นยานอนหลับ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาลและผู้ป่วยที่ต้องใช้ยา ซึ่งยา 7 รายการที่ประกาศลดราคาประกอบด้วย 1.เฟนทานิล ชนิดฉีด (0.1 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร/หลอด) 10 หลอด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 220 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 180 บาท ลดลง 18 % 2.เฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง (12 ไมโครกรัม/ชั่วโมง) 5 แผ่น/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 500 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 400 บาท ลดลง 20 % 3.เฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง (25 ไมโครกรัม/ชั่วโมง) 5 แผ่น/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 900 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 600 บาท ลดลง 33 % 4.เฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง (50 ไมโครกรัม/ชั่วโมง) 5 แผ่น/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 1,500 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 900 บาท ลดลง 40 % 5.ยาเมทิลเฟนิเดต ชนิดเม็ด (10 มิลลิกรัม/เม็ด) 100 เม็ด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 350 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 300 บาท ลดลง 14 % 6.ยาเมทิลเฟนิเดต ชนิดเม็ด (10 มิลลิกรัม/เม็ด) 200 เม็ด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 700 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 600 บาท ลดลง 14 % 7.โซลพิเดม ทาร์เทรต ชนิดเม็ด (10 มิลลิกรัม/เม็ด) 20 เม็ด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 180 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 160 บาท ลดลง 11 % โดยยาทั้ง 7 รายการจะเริ่มปรับลดราคาใหม่ในเดือนตุลาคม 2556 นี้เป็นต้นไป   คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โวย กสทช. เอาจริงแก้ปัญหา “ซิมดับ” หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ออกประกาศ “มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556” หรือกรณีปัญหาสัญญาโทรศัพท์มือถือคลื่น 1,800 MHz ซึ่งเป็นของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่สิ้นสุดสัญญาณไม่สามารถใช้งานได้ หรือที่มีคนให้คำจำกัดความว่า “ซิมดับ” โดยหลังจาก กสทช. มีคำสั่งตั้งแต่เมื่อวันที่16 ส.ค.56 ที่ผ่านมา พบว่าประกาศดังกล่าวยังไม่สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคได้จริง เพราะยังคงมีเรื่องร้องเรียนเข้ามายัง กสทช. เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องที่ร้องเรียนมีทั้ง ปัญหาเรื่องการโอนย้ายเลขหมาย ที่ไม่สะดวกอย่างที่ควรจะเป็น แถมมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการแจ้งเรื่องการโอนย้ายเครือข่าย การถูกย้ายเครือข่ายโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า บางคนถูกปรับสิทธิประโยชน์ลดลงจากการโอนย้ายเครือข่าย รวมถึงปัญหาที่บริษัทไม่ยอมคืนเงินที่ยังคงเหลือในระบบเดิม ไปจนถึงไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้ จากปัญหาที่เกิดขึ้น คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดย ผศ.รุจน์ โกมลบุตร ในฐานะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและโทรคมนาคม ร่วมกับสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และ สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสระบุรี ออกแถลงการณ์เป็นข้อเสมอต่อ กสทช. ให้เร่งจัดการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคหลังการประกาศใช้มาตรการเยียวยากรณีซิมดับไปแล้วแต่ปัญหายังไม่ถูกแก้ไข โดยข้อเสนอของภาคประชาชนมีดังนี้ 1.ขอให้ กสทช. ติดตามการบังคับใช้ประกาศอย่างเคร่งครัด เพราะยังพบปัญหาเกิดขึ้นกับผู้บริโภค เช่น ผู้ประกอบการยังมีการขยายฐานผู้ใช้บริการคลื่น 1800 MHz ต้องควบคุมคุณภาพการให้บริการ และคืนเงินคงเหลือเมื่อผู้บริโภคยุติการใช้บริการ 2.กสทช. ต้องกำกับดูแลการจัดการคลื่นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซิมดับซ้ำอีก โดยต้องเร่งให้มีจัดให้มีการประมูลก่อน ถึงวันหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2558 3.ให้ กสทช. ถอนฟ้องนักวิชาการและสื่อมวล ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปัญหากรณีคลื่นสัญญา 1800 MHz เพราะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้หลักสุจริต เพื่อประโยชน์ของสังคม   “มาตรา 61 ยิ่งใกล้ ยิ่งต้องเชียร์” ฉายหนังสั้นผู้บริโภคที่รัฐสภา แม้สถานการณ์ทางการเมืองยังคงสับสนวุ่นวาย แต่องค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนก็ยังมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะผลักดันกฎหมาย “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยเราเสียที ล่าสุดสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ฉายภาพยนตร์สั้นและเสวนาเรื่อง “มาตรา 61 ยิ่งใกล้ ยิ่งต้องเชียร์” ณ สโมสรรัฐสภา เพื่อปลุกจิตสำนึกและสร้างความเข้าใจกับบรรดานักการเมือง สส. สว. ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการออกกฎหมายฉบับนี้ โดยหลังการฉายภาพยนตร์ ก็ได้มีการผู้คุยกับเหล่าผู้กำกับภาพยนตร์ ได้แก่ นายไพจิตร ศุภวารี, นายชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา และ นายพัฒนะ จิรวงศ์ โดยมี ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ ในฐานนะนักวิชาการที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว สส. พรรคเพื่อไทย ร่วมพูดคุยกันถึงปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคในบ้านเรา และการเดินทางของกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคว่าตอนนี้อยู่ในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รอเพียงยกขึ้นมาพิจารณาลงคะแนนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น ผู้บริโภคยังคงต้องคอยติดตาม เป็นกำลังใจ และลุ้นกันต่อไป ว่ากฎหมายเพื่อผู้บริโภคฉบับนี้ว่าจะถึงฝั่งฝันได้เมื่อไหร่ //

อ่านเพิ่มเติม >