ฉบับที่ 274 กรแสต่างแดน

เงินขวัญถุง         คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเมืองเดลลี สั่งปรับห้างจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป lifestyle เป็นเงิน 3,000 รูปี (ประมาณ 1,300 บาท) และขอให้ห้างคืนเงิน 7 รูปีที่เรียกเก็บเป็นค่าถุงกระดาษ ให้กับลูกค้าด้วย         คณะกรรมการได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่ง ว่าด้วยความบกพร่องในการให้บริการของห้าง ซึ่งอ้างว่าถุงกระดาษมีต้นทุนแพงกว่าถุงพลาสติก (ที่รัฐบาลประกาศห้ามใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565) จึงขอเรียกเก็บค่าถุงจากลูกค้า         คำถามคือห้างควรผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้ลูกค้าที่จ่ายเงินค่าสินค้าแล้วหรือเปล่า สำคัญกว่านั้นคือลูกค้าได้รับการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่         จากหลักฐานภาพถ่ายที่ยืนยันว่าห้างไม่ได้แจ้งให้ลูกค้านำถุงมาเอง รวมถึงไม่ได้บอกราคาและประเภทของถุงกระดาษ บริษัทจึงไม่สามารถเก็บค่าถุงที่ใช้ใส่สินค้าที่ซื้อจากทางร้านได้ และต้องจ่ายค่า “ทำขวัญ” ลูกค้าเป็นจำนวนดังกล่าว   ชื่อไฮเอนด์         เทศบาลกรุงโซลขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ลดความยาวและความซับซ้อนของโครงการอพาร์ตเมนท์ หลังผลสำรวจพบว่าชาวเมืองส่วนใหญ่ไม่ถูกใจสิ่งนี้         หลายปีที่ผ่านมาเกิดเทรนด์การตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์เป็นภาษาเกาหลีผสมกับภาษาต่างประเทศ ยำรวมกันทั้งชื่อย่าน ชื่อบริษัทที่ก่อสร้างรวมถึงชื่อแบรนด์เพื่อแสดงถึงความ “ไฮเอนด์” ทั้งที่ชื่อเหล่านี้ไม่ได้การันตีคุณภาพของที่อยู่อาศัย         เทศบาลฯ ได้สำรวจความเห็นประชากรกว่า 1,000 คน และพบว่าร้อยละ 77.3 ไม่ชอบชื่อยืดยาวแบบนี้ บางหมู่บ้านถึงกับร้องขอให้เอาชื่อของตัวเองออกจากชื่ออพาร์ตเมนท์ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกันด้วย         หลังการพูดคุยมีผู้ประกอบการ 9 ราย (Samsung Hyundai และ Posco ก็อยู่ในกลุ่มนี้) ให้คำมั่นว่าจะตั้งชื่อโครงการให้สั้นและง่ายกว่าเดิม รวมถึงใช้คำภาษาเกาหลีให้มากขึ้น         เทศบาลโซลมีกำหนดจะประกาศ “แนวทางการตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์” ภายในครึ่งปีแรกของปี 2024  ซ่อมกันก่อน         เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนไม่ทิ้งขว้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหายเพียงเล็กน้อย รัฐบาลฝรั่งเศสจึงให้ “โบนัสช่วยซ่อม” แบบเหมาจ่ายมาตั้งแต่ปี 2022  โดยเงินช่วยเหลือดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการลดขยะและสร้างเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่ประกาศใช้เมื่อปี 2020         สิ่งที่จะเพิ่มมาในปี 2024 คือค่าซ่อมหน้าจอโทรศัพท์ 25 ยูโร (ประมาณ 950 บาท) และค่าซ่อมโน๊ตบุ๊ค 50 ยูโร         รวมแล้วจึงมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือ 73 รายการ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน กาต้มน้ำ เครื่องทำกาแฟ โทรทัศน์และเครื่องเล่นดีวีดี         เงินช่วยเหลือนี้จะปรากฎเป็นส่วนลดในบิลค่าซ่อมโดยอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องลงทะเบียน เพียงแต่ต้องไปใช้บริการกับร้านซ่อมที่เข้าร่วมโครงการ         ฝรั่งเศสตั้งเป้าเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ารับการซ่อมจากปีละ 10 ล้านชิ้น เป็น 12 ล้านชิ้นให้ได้ภายในปี 2027   ไม่ใช่ที่สูบ         อุตสาหกรรมท่องเที่ยวญี่ปุ่นออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการห้ามสูบบุหรี่ให้มากขึ้น โดยอาจระบุ “พื้นที่สูบบุหรี่” ผ่านแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวในภาษาต่างๆ เป็นต้น         ญี่ปุ่นห้ามการสูบบุหรี่ทั้งในอาคารและกลางแจ้ง (ยกเว้นในพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่) มาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงการระบาดของโควิด 19 จึงไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากนัก แต่เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว จำนวนชาวต่างชาติที่ถูกปรับเพราะ “เดินไปสูบไป” ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในบางเมืองเช่น โกเบ มีถึงร้อยละ 40 ของผู้ฝ่าฝืนที่เป็นนักสูบจากต่างแดน         นอกจากกฎหมายที่ใช้ทั่วประเทศแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมบางแห่งมีค่าปรับสำหรับการสูบบุหรี่ในพื้นที่ด้วย เช่น การสูบบุหรี่ในสวนนารา มีค่าปรับ 1,000 เยน (ประมาณ 240 บาท) โดยเจ้าหน้าที่สามารถแสดงตนและปรับผู้ฝ่าฝืนได้ทันที   ลดเวลาหน้าจอ         กระทรวงเด็กและโรงเรียนของเดนมาร์กเล็งออกกฎหมายห้ามศูนย์รับดูแลเด็กเล็กใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ช่วยเลี้ยงเด็ก         ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ดูแลจะให้เด็กดูหน้าจอแท็บเล็ตหรือโทรทัศน์ไม่ได้ เพียงแต่ต้องจำกัดเวลา เช่น สำหรับเด็กอายุไม่เกินสองปี จะอนุญาตให้ดูหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตได้ในกรณีที่ “จำเป็นอย่างยิ่ง” เท่านั้น เพราะเด็กเล็กไม่ควรมี “เวลาหน้าจอ” มากเกินไป         ขณะที่เด็กอายุระหว่างสามถึงห้าปีจะอนุญาตให้ใช้หน้าจออย่างเหมาะสม โดยเด็กจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้รับผิดชอบ         สรุปว่าสถานรับเลี้ยงเด็กจะอ้างว่าจำเป็นต้องปล่อยให้เด็กดูจอเพราะ “วันนี้ยุ่งมาก” หรือ “ใกล้เวลาพ่อแม่มารับแล้ว” ไม่ได้ รัฐมนตรีฯ เขามองว่ามันเป็นความบกพร่องในการดูแลเยาวชนของชาติ กระทรวงฯ คาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านเป็นกฎหมายได้ในเดือนกรกฎาคมปี 2024   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ซักก่อนใส่

        หลายคนอาจมีความชอบเป็นส่วนตัวในการสวมใส่เสื้อผ้าใหม่เอี่ยมที่มิได้ซักมาก่อน ด้วยรู้สึกว่าการรีดเสื้อหรือกางเกงให้เรียบเหมือนที่วางขายในร้านนั้นทำได้ยาก จึงขอใส่โชว์ให้ดูดีที่สุดสักครั้งหนึ่งก่อนซัก         ใครที่ทำเช่นนี้ย่อมมีโอกาสสัมผัสกับสารเคมีที่ก่ออันตรายเช่นภูมิแพ้ได้ เนื่องจากการใส่เสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ซักนั้นระหว่างที่เหงื่อออกมักก่อให้เกิดการเสียดสีระหว่างเนื้อผ้าและผิวกายจนทำให้สีย้อมผ้าส่วนที่อาจหลงเหลือในการผลิตหลุดออกมาสู่ผิวกาย นอกจากนี้แล้วอุปกรณ์ใหม่ในการเล่นกีฬาที่ทำจากผ้าหรือใยสังเคราะห์ที่สัมผัสกับผิวหนัง เช่น ที่รัดเข่า รัดน่อง รัดข้อมือ ฯ ก็เป็นอีกแหล่งของสีย้อมผ้าส่วนเกินที่หลุดออกมาก่อปัญหาภูมิแพ้ได้เช่นกัน         มีงานวิจัยหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า เสื้อผ้าใหม่ที่ยังไม่ได้ซักมีสารเคมีที่เป็นพิษตกค้างอยู่ เช่น บทความเรื่อง Quinolines in clothing textiles—a source of human exposure and wastewater pollution? ในวารสาร Analytical and Bioanalytical Chemistry ของปี 2014 ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มในสวีเดนได้ทดสอบเสื้อผ้า 31 ตัวอย่างที่ซื้อจากร้านค้าปลีกที่มีความหลากหลายทั้งในด้านสี วัสดุ ยี่ห้อ และราคาจากบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ จอร์เจีย โปรตุเกส จีน บัลแกเรีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี กัมพูชา สวิตเซอร์แลนด์ อียิปต์ อิตาลี ปากีสถาน โปแลนด์ ซึ่งผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า ตรวจพบสารเคมีกลุ่ม “ควิโนลีน (quinoline)” และอนุพันธ์อีก 10 ชนิด ใน 29 ตัวอย่าง โดยระดับของสารเคมีกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงเป็นพิเศษในเสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์ สำหรับสารประกอบ Quinoline ต่าง ๆ ที่ถูกใช้ในการผลิตสีย้อมเสื้อผ้านั้น หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา หรือ EPA ได้จัดว่าเป็น " possible human carcinogen" (เป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์) เนื่องจากการศึกษาบางเรื่อง เช่น Tumor-Initiating Activity of Quinoline and Methylated Quinolines on The Skin of Sencar Mice ในวารสาร Cancer Letters ของปี 1984 ได้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสารกลุ่มนี้กับการกระตุ้นเนื้องอกในหนูทดลอง เพียงแต่ว่ายังไม่มีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง         นอกจากนี้สารเคมีอีกชนิดที่พบได้ในเสื้อผ้าใหม่คือ ไนโตรอะนิลีน (Nitroaniline) ซึ่งใช้ในการสังเคราะห์สีย้อมผ้ากลุ่มเอโซ (Azo dyes) นั้นมีบทความเรื่อง NTP Toxicology and Carcinogenesis Studies of p-Nitroaniline (CAS No. 100-01-6) in B6C3F1 Mice (Gavage Studies) ใน National Toxicology Program technical report series ปี 1993 ที่ระบุหลักฐานการศึกษาในสัตว์ทดลองที่เชื่อมโยงผลเสียเนื่องจากสารเคมีนี้ต่อสุขภาพผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้น (ซึ่งรวมถึงมะเร็ง) ถ้าสารเคมีบางส่วนยังคงติดอยู่ในเส้นใยของเสื้อผ้า                 MDA เป็นสารที่นำมาใช้สำหรับผลิตโพลียูรีเทน ซึ่งมีการนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตเส้นใยสแปนเด็กซ์ (Spandex) ที่ยืดแล้วหดกลับได้เท่ากับขนาดเดิม และสามารถรีดให้เรียบได้ด้วยเตารีดที่อุณหภูมิต่ำ ทนต่อเหงื่อไคลและไขมันจากร่างกายได้ดีกว่ายางธรรมชาติ ใยสแปนเด็กซ์ถูกย้อมสีต่างๆ ได้ ทนต่อการขัดสีและทนต่อปฎิกริยาออกซิเดชั่นดี จึงมีความนิยมนำมาใช้ทำเป็นส่วนหนึ่งของชุดชั้นในสตรี ชุดอาบน้ำ ขอบถุงเท้า ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ต้องการให้มีการยืดกระชับ เช่น ผ้าพันข้อเท้าและหัวเข่า ผ้าพันกล้ามเนื้อ เป็นต้น ดังนั้นสินค้าเหล่านี้จึงอาจมี MDA ตกค้างได้         นอกจากสาร MDA แล้วเครื่องนุ่งห่มต่างๆ มักถูกย้อมด้วยสีกลุ่มเอโซซึ่งหลายชนิดสหภาพยุโรปห้ามใช้หรือจำกัดการหลงเหลือของสี ทั้งที่สีบางชนิดไม่ได้ก่อมะเร็งด้วยตัวมันเอง เพียงแต่ขณะใช้อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารก่อมะเร็งได้ ดังแสดงในบทความเรื่อง Formation of a carcinogenic aromatic amine from an azo dye by human skin bacteria in vitro ในวารสาร Human & Experimental Toxicology ของปี 1999 ซึ่งให้ข้อมูลว่า สีย้อมเอโซบางชนิดถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารประกอบแอโรแมติกอะมีนโดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง อีกทั้งมีข้อมูลทางพิษวิทยาว่า สารประกอบแอโรแมติกอะมีนหลายชนิดถูกดูดซึมได้ทางผิวหนัง โดยในการศึกษานี้ผู้วิจัยได้นำเอา Direct Blue 14 (สีเอโซชนิดหนึ่งซึ่งมักถูกใช้สำหรับผ้าฝ้าย ป่าน ไหมเทียม และเส้นใยเซลลูโลสอื่นๆ) มาผสมกับเชื้อ Staphylococcus aureus (พบได้ทั่วไปบนผิวหนังมนุษย์) แล้วบ่มในเหงื่อสังเคราะห์ (20 มิลลิลิตร, pH 6.8) ที่ 28 องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่วโมง จากนั้นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากปฏิกิริยาถูกสกัดและวิเคราะห์โดยใช้ HPLC ที่มีชุดตรวจวัดเป็น mass spectrometer ทำให้ตรวจพบสาร o-tolidine (3,3'-dimethylbenzidine) ซึ่งเป็นสารพิษในระดับ IARC Group 2B carcinogen (อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์) และอนุพันธ์ของ Direct Blue 14 อีกสองชนิดซึ่งยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยที่ชัดเจน         บทความที่ศึกษาในประเด็นเดียวกันอีกเรื่องคือ Azo dyes in clothing textiles can be cleaved into a series of mutagenic aromatic amines which are not regulated yet ในวารสาร Regulatory Toxicology and Pharmacology ของปี 2017 ให้ข้อมูลว่า สีย้อมเอโซเป็นสีที่แบคทีเรียที่ผิวหนังหลายชนิดสามารถเปลี่ยนแปลงสีชนิดนี้ไปเป็นแอโรแมติกอะมีน ซึ่งอาจถูกดูดซึมทางผิวหนังในปริมาณที่อาจก่อปัญหา เพราะเป็นที่ทราบกันว่า สีเอโซต่างๆ อาจถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งชนิดแอโรแมติกอะมีนชนิดใดชนิดหนึ่งใน 22 ชนิดที่ถูกห้ามพบในสิ่งทอที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป (ดูรายละเอียดได้จาก เอกสาร COMMISSION REGULATION (EC) No 552/2009 of 22 June 2009) และผลการทดสอบจาก Ames Test (การทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์) ซึ่งใช้ทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ในการศึกษานี้พบว่า แอโรแมติกอะมีน 4 ชนิดเป็นสารก่อกลายพันธุ์ ซึ่งเมื่อนับรวมกับข้อมูลเดิมที่เปิดเผยต่อสาธารณะแล้วว่า มีสีที่ถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อกลายพันธุ์ 36 ชนิด จึงทำให้ระบุได้ว่า จากสีเอโซ 180 ชนิด (ซึ่งนับเป็น 38% ของสีย้อมเอโซในฐานข้อมูลสีย้อมผ้า) ถูกเปลี่ยนโดยแบคทีเรียบนผิวหนังไปเป็นแอโรแมติกอะมีนที่ก่อกลายพันธุ์ได้ 40 ชนิด        ผู้บริโภคหลายท่านอาจไม่เคยทราบว่า โดยปรกติแล้วเสื้อผ้าที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมมักใช้สารเคมีหลายชนิดช่วยในการผลิต (ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องเปิดเผยสิ่งเหล่านี้แก่ผู้บริโภค) สารเคมีหลายชนิดนั้นรวมถึงสารเคมีกันน้ำและกันน้ำมัน ที่นิยมกันคือ ฟลูออโรเซอร์แฟกแตนต์ (fluorosurfactant ที่ใช้มากคือ Per- and polyfluoroalkyl substances หรือ PFAS ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับสารเคลือบกระทะชนิดที่ไม่ต้องใช้น้ำมันคือ Polytetrafluoroethylene (PTFE)) ที่มีงานวิจัยเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลยที่รายงานถึงความปลอดภัย         การซักเสื้อผ้าก่อนใส่นั้นทำให้โอกาสเสี่ยงอันตรายจากสารเคมีหมดไปหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่เสมอไป” เพราะยังอาจมีสารเคมีอื่นๆ ที่อาจทยอยหลุดออกจากเสื้อผ้าสู่ผิวหนังเมื่อเสื้อผ้ามีอายุและเสื่อมสภาพ หรือกำลังสวมระหว่างการเล่นกีฬาจนเหงื่อซก ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรเปลี่ยนเสื้อที่สวมใส่เล่นกีฬาจนเปียกเหงื่อระหว่างเล่นกีฬาบ้าง ทั้งนี้เพราะสารเคมีที่หลุดออกมาได้เหล่านี้ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างดีเกี่ยวกับการดูดซึมของผิวหนังหรือผลกระทบต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ………… การระบุเส้นใยธรรมชาติ 100 %              ผู้บริโภคทั่วไปมักมีความคิดว่า วัสดุสังเคราะห์มักใช้สารเคมีมากกว่าเส้นใยธรรมชาติ ดังนั้นจึงพบได้เสมอว่า มีเสื้อผ้าที่ระบุว่าผลิตจาก 'ผ้าฝ้าย 100%' เพื่อให้ผู้บริโภคดีใจว่าอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาตินั้น มักไม่บอกข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารเคมีหรือสารเติมแต่งใดที่ถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงเส้นใยเพื่อเพิ่มมูลค่า และถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เสื้อผ้าฝ้ายแบรนด์เนมที่ติดฉลากว่าเป็น ผ้าฝ้าย 100% นั้น บางตัวใส่สบายมากแต่ถ้าพ่อไม่รวยพอคงซื้อใส่ไม่ไหวแน่        นิตยสารฉลาดซื้อฉบับที่ 149 ในปี 2556 เคยรายงานผลการเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชาย (สีดำ) มาตรวจหาสารก่อมะเร็งที่ปนในสีย้อมและฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับย่น) แล้วต่อมาในฉลาดซื้อฉบับที่ 259 ประจำเดือน กันยายน 2565 ฉลาดซื้อได้รายงานผลทดสอบกางเกงชั้นในชายสีดำอีกครั้งเพื่อเป็นการติดตามผลจากครั้งแรกซึ่งพบว่า กางเกงชั้นในสำหรับผู้ชาย 3 ตัวอย่าง ที่ตรวจทั้งหมดนั้นมีสีย้อมที่ให้สารประกอบแอโรแมติกอะมีนเกินกำหนดคือ กางเกงในชื่อดังราคา 1090 บาทต่อ 6 ตัว (พบ 61.40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) กางเกงในราคา 169 บาทต่อ 2 ตัว (พบ 59.89 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และมีกางเกงในอีกหนึ่งยี่ห้อที่ตรวจพบแม้ไม่เกินมาตรฐานซึ่งขาย 169 บาทต่อ 2 ตัวเช่นกัน (พบ 14.55 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) สำหรับสารเคมีที่ตรวจพบนั้นคือ 4,4'-ไดอะมิโนไดฟีนิลเม็ทเทน (4,4'-Diaminodiphenylmethane) หรืออีกชื่อคือ 4,4'-เมทิลีนไดแอนิลีน (4,4’-Methylenedianiline หรือ MDA) ได้ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในสถานที่ทำงาน โดย US National Institute for Occupational Safety and Healthของสหรัฐอเมริกา สำหรับในประเทศไทยนั้น MDA เป็นสารเคมี 1 ใน 24 ชนิดที่ถูกห้ามพบในสินค้าต่างๆ ตามมาตรฐาน มอก. 2346-2550        เคยมีบทความเรื่อง Detection of azo dyes and aromatic amines in women under garment ในวารสาร Journal of Environmental Science and Health, Part A: Toxic/Hazardous Substances and Environmental Engineering ของปี 2016 ได้รายงานถึงการประเมินตัวอย่างชุดชั้นในสตรีจำนวน 120 คอลเลคชั่นที่ถูกซื้อจากหลายห้างสรรพสินค้าเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่า มีการปล่อยสารประกอบแอโรแมติกอะมีนสู่ผิวหนังเพียงใด ผลการวิเคราะห์พบว่า 74 ตัวอย่าง ตรวจพบสารกลุ่มแอโรแมติกอะมีนในระดับต่ำ ในขณะที่ 18 ตัวอย่างพบสารกลุ่มแอโรแมติกอะมีนสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ppm)

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 249 ซื้อเครื่องอบผ้าจากออนไลน์ แต่เสียงดังเกินไป ทำอย่างไรดี

ธุรกิจแพลตฟอร์มซื้อของออนไลน์ ในปัจจุบันนอกจากจะสะดวกสบายในการซื้อแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนติดกับดักหลุมพรางจนต้องเสียเงิน ก็คงหนีไม่พ้นการขยันออกโปรโมชันกระตุ้นยอดขายของบริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะโปรโมชัน  9.9 , 10.10 , 11.11 ที่ขยันออกมา ล่อตา ล่อใจ ล่อเงินในกระเป๋าสตางค์อยู่เรื่อย ทำให้หลายคนที่มีแอปพลิเคชันธนาคารอยู่ในมือคงสั่นไม่น้อย พร้อมจะเสียเงินไปกับร้านค้าต่างๆ ที่จัดโปรโมชันเอาใจลูกค้าอย่างแรง ไม่ว่าจะเป็นลด แลก แจก แถม ลดแล้วลดอีก ก็แหมใครจะไปทนไหวกับโปรโมชัน ล่อตา ล่อใจ ขนาดนี้ล่ะเนอะ        ในกรณีนี้ คุณภูผาก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ซื้อสินค้าในช่วงโปรโมชันนี้เช่นกัน แถมเขายังอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “งานบ้านที่รัก”อีกด้วย พอดีช่วงหน้าฝน มีคนในกลุ่มเฟซบุ๊กมาโพสต์รีวิวเครื่องอบผ้ายี่ห้อหนึ่งว่า “ของมันต้องมี มีแล้วชีวิตดีมาก ผ้าแห้งเร็ว ไม่ต้องง้อแดด ผึ่งแปบเดียวแห้ง ยิ่งหน้าฝนด้วยแล้วจำเป็นต้องมีอย่างยิ่ง” เมื่อคุณภูผาเห็นโพสต์รีวิว พร้อมข้อความรีวิวดังกล่าวดูน่าสนใจมากเลยทีเดียว จึงได้ตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องอบผ้ายี่ห้อ G จากร้าน Power Buy ทางออนไลน์ ราคาประมาณ 20,000 บาท ชำระเงินผ่านบัตรเครดิตทันที สินค้ามาส่งทันใจไม่รอนาน แต่...         เมื่อใช้งานโดยหวังว่าจะตากผ้าโดยไม่ต้องง้อแดดอย่างคำโฆษณา เพราะช่วงนี้ฝนตกทุกวันหากไม่อบผ้าผ้าก็อาจจะไม่แห้งและเหม็นอับจากการตากในที่ร่ม แต่แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นจนได้ ผ้าที่อบได้นั่นโอเคไม่มีปัญหา ที่ไม่โอเคคือ เจ้าเครื่องอบผ้าที่เขาซื้อมาตอนปั่นหมาดนั้นมีเสียงดังมาก ดังราวกับจะพัง แก้อย่างไรก็ไม่หายสักที “จะทำยังไงดีล่ะเนี้ย” ภูผาปวดหัวตึ้บ จึงได้มาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าต้องการขอเงินคืนจากทางบริษัทจะต้องทำอย่างไร ทำได้ไหม แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำผู้ร้องเบื้องต้นให้ทำหนังสือไปยังสามบริษัท ได้แก่ บริษัทบัตรเครดิต บริษัท G ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องอบผ้า และบริษัท Power Buy ซึ่งเป็นผู้ขาย โดยเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคร่าวๆ และแจ้งความต้องการว่าต้องการขอเงินคืน พร้อมส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับ และระบุในหนังสือว่าผู้ร้องสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วย         เมื่อผู้ร้องได้ทำตามคำแนะนำของฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ต่อมาผู้ร้องหรือคุณภูผาแจ้งกลับมาว่าได้รับเงินคืนเป็นยอดในบัตรเครดิตเรียบร้อยแล้ว และขอบคุณที่ทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิฯ ได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้บริโภค วิธีการนี้สามารถนำไปใช้ได้ในกรณีใกล้เคียงกันหรือปรึกษามาที่มูลนิธิฯ เมื่อท่านประสบปัญหาถูกละเมิดสิทธิ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2564

อนุทินแจงสาธารณสุขโดนแฮกข้อมูลคนไข้จริงสั่งเร่งแก้ปัญหา        จากกรณีเพจเฟซบุ๊กน้องปอสาม ได้เปิดเผยถึงการถูกแฮกข้อมูลผู้ป่วย 16 ล้านราย ของกระทรวงสาธารณสุขไทย วันที่ 7 กันยายน 2564  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เผยว่า ยอมรับว่าข้อมูลผู้ป่วยถูกแฮกจริง โดยข้อมูลที่ถูกแฮกเกิดขึ้นใน จ.เพชรบูรณ์ และเคยเกิดที่ จ.สระบุรี แต่เป็นข้อมูลทั่วไป ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นความลับแต่ประการใด ทั้งนี้ ได้สั่งให้ปลัด สธ. เร่งดำเนินการแก้ไข ด้าน นพ. ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงการณ์กรณีการแฮกข้อมูลผู้ป่วยว่า ข้อมูลที่โดนประกาศขายมาจากฐานข้อมูลย่อยที่ทางเจ้าหน้าที่ของ รพ. ต้นทาง ไม่ได้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาล ซึ่งแฮกเกอร์ได้เพียงข้อมูลชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ สิทธิในการรักษา อาทิ ประกันสังคม ข้าราชการ บัตรทอง ประวัติการนัดคนไข้ของแพทย์ ข้อมูลการแอดมิท ตารางเวรของแพทย์และการคำนวณรายจ่ายการผ่าตัดราว 692 ราย เพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ส่วนการดำเนินการตรวจสอบเรื่องความเสี่ยงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษามั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ สธ. และกระทรวงดีอีเอส ได้มีการแบ็กอัพข้อมูลทั้งหมด ว่ายังมีสิ่งใดซ่อนอยู่ในเซิร์ฟเวอร์หรือไม่” องค์การเภสัชกรรมเตือน “ฟาวิพิราเวียร์” ขายออนไลน์ผิดกฎหมาย        วันที่ 8 กันยายน 2564  ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า มีผู้แอบอ้างประกาศขายยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ขององค์การเภสัชกรรมที่ได้ทำการผลิตวิจัยและพัฒนาเองผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยระบุเป็นยาขององค์การเภสัชฯ จึงขอเตือนผู้บริโภคระวังอาจได้ยาปลอมและการขายผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากยาฟาวิพิราเวียร์จัดอยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษ โดยสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้นและต้องติดตามผลการรักษาตลอด ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถวางขายทั่วไปและออนไลน์ได้ กระท่อม "ต้ม-ปรุงอาหารขาย" ยังผิดกฎหมาย        กรณีพืชกระท่อมถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และประชาชนเริ่มค้าขายใบกระท่อมได้นั้น เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า หลังจากรัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ซึ่งเป็นการถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมว่าสามารถทำในส่วนใดได้บ้าง ขอชี้แจงว่า ส่วนของการเคี้ยวใบ การปลูก การครอบครองและขายใบสด โดยไม่ได้ปรุงหรือทำเป็นอาหารสามารถทำได้อย่างเสรีไม่ผิดกฎหมาย แต่หากนำไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรและแจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆ จะต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพราะมีกฎหมาย พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุม        หรือการนำไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น  พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ยังไม่ปลดล็อคให้สามารถนำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลย ก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิตเพื่อจำหน่าย โดยประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ.2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมนั้น เป็นอาหารที่ห้ามผลิตนำเข้าหรือจำหน่าย การฝ่าฝืน ผลิต และขาย อาหาร ที่ พ.ร.บ.อาหาร ห้ามมีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือน-2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท ตรวจสอบผ้าก่อนอบแห้ง        จากกรณีมีคลิปวิดีโอเผยแพร่เครื่องอบผ้ามีไฟลุกท่วมของร้านสะดวก Otteri wash & dry ซึ่งทางต้นคลิปได้ระบุว่า เจ้าของน่าจะเป็นการลืมไฟแช็กไว้ในกระเป๋าเสื้อผ้า  ทางบริษัท อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย จำกัด เจ้าของแบรนด์แฟรนด์ ได้ชี้แจ้งสาเหตุว่า ไม่มีการลืมไฟแช็คในผ้าและเกิดจากการนำผ้าที่ไม่ควรนำเข้าอบใส่ในเครื่องอบ หลังบริษัทลงพื้นที่ตรวจสอบระบบแก๊สและระบบไฟฟ้า พบว่ามีการทำงานปกติ และได้มีการตรวจสอบ ณ จุดเกิดเหตุไฟไหม้ที่เครื่องอบผ้า พบว่า ซากของผ้าที่อยู่ด้านในกลายสภาพเป็นพลาสติกแข็ง ซึ่งเป็นชุดกีฬา ชุดผ้าร่ม ซึ่งเป็นผ้าที่ไม่ควรนำเข้าเครื่องอบ เพราะเส้นใยผ้าที่ผ่านสภาพการใช้งานพักหนึ่งจะไม่สามารถทนต่อความร้อนได้ จึงจะดำเนินการเพิ่มคือ มีป้ายประกาศเรื่องของชนิดผ้าที่ห้ามนำเข้าเครื่องอบติดตั้งอยู่ภายในร้าน ศาลตัดสิน “จ่ายค่าเสียหายผู้พิการ”กรณีสร้างลิฟต์ระบบไฟฟ้าบีทีเอสล่าช้า 5 ปี        จากกรณีภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้และภาคีคนพิการ ร่วมกันฟ้องยื่นฟ้อง กทม. ปี 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาวันที่ 20 มกราคม 2558 ให้ กทม. จัดทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามกฎหมายในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส สายแรกที่อยู่ในสัมปทานให้ครบทั้ง 23 สถานี ภายในวันที่ 21 มกราคม 2559 แต่จนถึงปี 2564  ยังไม่ดำเนินการสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้เสร็จได้ เป็นเวลา 5 ปีแล้ว วันที่ 15 กันยายน 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้นัดฟังคำพิพากษา กรณีเรียกร้องค่าเสียหายที่ กทม. ไม่สามารถสร้างลิฟต์บนระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสให้เสร็จภายใน 1 ปี ด้านนายสว่าง ศรีสม ผู้จัดการโครงการและแผนงานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ กทม. ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทาน รับผิดชอบค่าเสียหายให้แก่ผู้พิการที่ร่วมฟ้องกว่า 500 คนที่ได้รับความเสียหาย โดยต้องมีภูมิลำเนาใน กทม. และพิสูจน์ได้ว่าทำงาน/อยู่อาศัยใน กทม. ต้องใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นประจำ เป็นค่าชดเชยค่าเสียหายจำนวน 5,000 บาทต่อคน รวมดอกเบี้ย ร้อยละ 7 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ควรจะทำให้แล้วเสร็จ เป็นเวลา 5 ปี และให้กทม.จ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายภายใน 6-7 วัน   เคลมประกันโควิดเกิน 15 วัน เร่งใช้สิทธิร้องทุกข์        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผย ผู้ร้องเรียนกรณีเคลมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วัน บางส่วนได้รับค่าสินไหมแล้ว หลังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพายื่นเรื่องที่ คปภ. เมื่อวันที่ 10 กันยายน แม้ยังมีผู้ที่ไม่ได้รับค่าสินไหมกว่าครึ่งของรายชื่อที่ส่งไป แต่คาดว่าคงได้รับการแก้ไขปัญหาทุกราย         นางสาวฟิตรีนา อาลี เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคที่พบปัญหาเรื่องบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า เกิน 15 วัน สามารถร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเตรียมเอกสารดังนี้ 1. ใบรับรองแพทย์ 2. รายงานการตรวจ RT-PCR (ถ้ามี)  3. สำเนากรมธรรม์  4. สำเนาหน้าบัญชีธนาคาร  5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  ส่งมาให้ทางมูลนิธิฯ ซึ่งจะรวบรวมและทยอยส่งให้ทาง คปภ.ดำเนินการ เนื่องจากมีผู้เสียหายทยอยร้องเรียนเข้ามาเรื่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ซักผ้ายุค 4.0

        พอกล่าวถึงคำว่า 4.0 ในการซักผ้า หลายท่านคงคิดว่าผู้เขียนคงจะเขียนเรื่องเครื่องซักผ้าที่ควบคุมการสั่งงานทางไกลด้วยระบบโทรศัพท์มือถือผ่าน IOT (internet of things ซึ่งถ้าจะให้ประสิทธิภาพดีต้องเป็น 5.0 ซึ่งกำลังมา) ดังที่หลายๆ คนคลั่งไคล้กัน  แต่ในความจริงนั้นไม่ใช่ เพราะผู้เขียนใช้คำว่า 4.0 เพียงเพื่อต้องการให้เห็นว่ามันเป็นไปตามยุคสมัยที่หลายๆ อย่างเกิดขึ้นทั้งที่ไม่จำเป็นต้องเกิด เพราะมีการขายสินค้าที่ช่วยในการซักผ้าแบบใหม่คือ ก้อนโลหะแมกนีเซียมในถุงตาข่ายใยสังเคราะห์            ก่อนกล่าวถึงการใช้โลหะแมกนีเซียมในการซักผ้านั้น ขอคุยเรื่องเกี่ยวกับองค์ประกอบหลักของการซักผ้าทั่วไปก่อนคือ ผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้า มีองค์ประกอบพื้นฐานหลักคือ สารซักฟอก อาจมีการผสมสาร เช่น สารฟอกขาว ที่ทำให้ผ้าดูสดใส สารฟลูออเรสเซนต์ เพื่อดูดซับแสงอัลตราไวโอเลตแล้วสะท้อนกลับเป็นแสงสีฟ้าทำผ้าดูขาวสะอาดขึ้น  สารให้กลิ่นหอม ซึ่งบางคนอาจบอกว่าไม่หอมก็ได้ แล้วอาจมีการเติม เอ็นซัมหลายชนิดเพื่อช่วยกำจัดโปรตีน แป้งและไขมันที่ติดเสื้อผ้า ซึ่งอาจได้ผลหรือไม่ได้ผลตามคำโฆษณา โดยไม่มีองค์กรที่น่าเชื่อถือใดพิสูจน์รับรอง พร้อมลูกเล่น (gimmick) อื่น ๆ ที่ผู้ผลิตใส่เข้าไปเพื่อดึงดูดใจหรือทำให้ผู้บริโภคงง        สมัยโบราณนั้น สบู่ผลิตขึ้นจากวัตถุดิบที่หาได้ไม่ยากคือ ไขมัน ซึ่งมีกรดไขมันจากพืชหรือสัตว์ และด่างแก่ คือ โซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโปตัสเซียมไฮดรอกไซด์ ดังนั้นเมื่อกรดไขมันทำปฏิกิริยากับด่าง โดยมีความร้อนเป็นตัวช่วย สิ่งที่ได้จึงเป็นโมเลกุลเกลือที่ละลายน้ำ พร้อมอีกส่วนที่เป็นไขมัน ซึ่งมีความสามารถจับไขมันได้ ทำให้สบู่สามารถดึงเอาไขมันออกมาจากเสื้อผ้าให้มาละลายอยู่ในน้ำ หลักการดังกล่าวนี้ใช้อธิบายประสิทธิภาพของสารซักฟอกในปัจจุบันได้        สิ่งสกปรกที่มักอยู่บนเสื้อผ้าที่ถูกสวมใส่นั้น โดยทั่วไปคือ เหงื่อ ซึ่งเป็นของเหลวที่ร่างกายขับออกมาทางผิวหนังหรือตามซอกหลืบต่างๆ ของร่างกาย มีรสเค็มเพราะมีเกลือเป็นส่วนประกอบ การออกกำลังกาย ความเครียด ความหวาดกลัวหรือเวลาอากาศร้อน ทำให้มีเหงื่อ ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นน้ำร้อยละ 99 ส่วนอีกร้อยละ 1 นั้นประกอบด้วย ยูเรีย น้ำตาล ไขมัน ซึ่งมาจากต่อมไขมันใต้ผิวหนัง โซเดียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม เหล็ก เป็นต้น ตัวปัญหาที่ทำให้เสื้อผ้าที่ถูกใส่แล้วมีกลิ่นเหม็นคือ ไขมันซึ่งเมื่อทิ้งไว้บนเสื้อผ้าเป็นเวลานานจะถูกแบคทีเรียย่อยให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวในไขมันจากเหงื่อนั้นเปลี่ยนไปเป็น สารกลุ่มอัลดีไฮด์ ที่ให้กลิ่นไม่พึงประสงค์ ดังนั้นผงซักฟอกบางสูตรจึงมีการเติมสารที่ฆ่าแบคทีเรียได้ดีเช่น สารที่ให้อนุมูลธาตุเงิน ซึ่งมักใช้คำว่า ซิลเวอร์นาโน          เมื่อมาถึงยุค 4.0 ผู้เขียนพบว่ามีคนใช้เฟซบุ๊คโฆษณาขายสินค้าที่ดูเผินๆ นึกว่าเป็นฟองน้ำล้างจาน แต่เมื่อพิจารณาอีกทีปรากฏว่า ไม่ใช่ เพราะในถุงตาข่ายนั้นแทนที่จะเป็นฟองน้ำสังเคราะห์กลับเป็น เม็ดโลหะค่อนข้างกลมดูคล้ายตะกั่วถ่วงแหจับปลา และมีการโฆษณาว่า ถุงนั้นเป็นอุปกรณ์ที่มาแทนผงซักฟอก โดยนำเอาถุงนั้นใส่ลงในเครื่องซักผ้าพร้อมผ้าที่ต้องการซัก หลังเปิดเครื่องให้ทำงานแล้วสามารถนั่งรอเวลาเครื่องปิดเมื่อครบรอบการซัก หรือจะไปทำอะไรอย่างมีความสุขกับคนในครอบครัว โดยเสื้อผ้าที่ซักแล้วปราศจากคราบสกปรก มีความสะอาดเอี่ยมจนดมกลิ่นแห่งความสะอาดได้ ไม่ทำให้ระคายผิวทั้งเด็กและผู้ใหญ่         สินค้านี้มีโฆษณาหลายคลิปใน YouTube เมื่อดูแล้วพอสรุปข้อมูลได้ว่า โลหะที่ช่วยในการซักผ้านั้นคือ แมกนีเซียม เป็นสินค้าจากผู้ผลิต ซึ่งเดิมใช้แมกนีเซียมในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ แต่สังเกตพบว่าแมกนีเซียมซึ่งเป็นโลหะที่เบามากนั้นเวลาขึ้นรูปเป็นชิ้นส่วนของรถยนต์จะมีฝุ่นฟุ้งกระจาย เมื่อกวาดมารวมกันปรากฏว่าเกิดเป็นประกายไฟขึ้นได้จึงมีคำถามว่าประกายไฟที่เกิดนั้นมาจากไหน         ในทางเคมีนั้นแมกนีเซียมเป็นโลหะกลุ่มอัลคาไลน์เอิร์ธ ชนิดที่สามารถติดไฟได้เองในอากาศที่ชื้นมากๆ (คล้ายกับโลหะโซเดียมซึ่งไวไฟมากจนต้องเก็บในน้ำมันเพื่อไม่ให้สัมผัสน้ำจากอากาศ) คำอธิบายถึงการติดไฟได้นั้นน่าจะเป็นว่า เมื่อแมกนีเซียมเจอน้ำแล้วเกิดปฏิกิริยาเคมีได้ด่างแก่คือ แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Mg(OH)2) พร้อมได้กาซไฮโดรเจน (H2) ซึ่งติดไฟได้ด้วย         ผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่าสิ่งที่ต้องตาเจ้าของโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์คือ น้ำที่ได้จากการเอาโลหะแมกนีเซียมใส่ลงไปนั้นมีความลื่นเพราะเป็นด่าง ปรากฏการณ์นี้อาจกระตุ้นให้เจ้าของโรงงานย้อนคิดไปถึงอดีตครั้งเป็นเด็กที่เคยซักผ้าด้วยน้ำด่างขี้เถ้า จึงปิ๊งไอเดียว่าแมกนีเซียมน่าจะทำเงินให้เขาได้ในรูปของวัสดุช่วยในการซักผ้าที่ไม่น่าทำอันตรายสิ่งแวดล้อม...มากนัก         หลักการที่น้ำด่างทำให้เสื้อผ้าสะอาดได้นั้น มีฝรั่งคนหนึ่งอธิบายในอินเทอร์เน็ตว่า ปรกติแล้วการใช้สบู่ซักผ้านั้น สบู่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ยึดระหว่างไขมันที่หลุดออกจากเสื้อผ้าให้ละลายน้ำ แต่ในการใช้แมกนีเซียมนั้นเป็นการตัดขั้นตอนการใช้สบู่ โดยให้อนุมูลแมกนีเซียม (Mg++) พร้อมกับอนุมูลไฮดรอกซิล (OH- ซึ่งเป็นตัวทำให้สภาวะแวดล้อมมีความเป็นด่าง) ที่เกิดขึ้นเมื่อใส่โลหะแมกนีเซียมลงน้ำนั้น เข้าจับตัวกับไขมันที่เกาะในเนื้อผ้าได้เป็นสบู่โดยตรง จากนั้นสบู่จับเหงื่อไคลก็ละลายน้ำออกมา        อย่างไรก็ดีมีประเด็นที่ผู้เขียนขอตั้งไว้สำหรับผู้ประสงค์จะทันสมัยแบบ 4.0 ในการซักผ้าโดยไม่ใช้ผงซักฟอกคือ โฆษณาสินค้านี้ในหลายๆ คลิปนั้น ไม่มีส่วนไหนที่แสดงวิธีการใช้สินค้าชิ้นนี้อย่างละเอียดเลย มีแค่การใส่ถุงบรรจุโลหะแมกนีเซีมลงไปกับผ้าที่จะซัก แล้วก็ตัดภาพไปช่วงที่ผ้าซักเสร็จ ทำให้สงสัยว่า ถุงใส่โลหะแมกนีเซียมนั้นอยู่ในถังตลอดวงรอบของการซักเลยหรือ ถ้าเป็นเช่นนั้นแสดงว่า น้ำด่างที่เกิดบางส่วนคงเหลือติดผ้าในช่วงการปั่นครั้งสุดท้ายด้วย ทั้งที่โดยปรกติแล้วถ้าเราใช้น้ำยาซักผ้าแบบเดิม น้ำยานั้นจะถูกทิ้งในน้ำแรก จากนั้นจะมีการล้างผ้าเอาน้ำยาออกอีกราว 1-2 ครั้ง เพื่อให้มีน้ำยาซักผ้าเหลือติดผ้าน้อยที่สุดเพื่อป้องกันการระคายเคืองผิว ส่วนในกรณีของการใช้โลหะแมกนีเซียมซักผ้านั้นแม้ว่าไม่มีการผสมสารอื่นลงไปด้วย แต่ความเป็นด่างของน้ำ ซึ่งมีคำอธิบายในคลิปหนึ่งว่า ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ที่ประมาณ 10 ซึ่ง (อาจ) ติดผ้าถือว่าไม่น่าจะปลอดภัยต่อผิวผู้สวมใส่เสื้อผ้า (โดยเฉพาะเด็กแล้วน่าจะไม่ดี) แต่ในโฆษณานั้นกล่าวว่า ไม่เป็นอันตรายต่อผิวเด็ก ประเด็นนี้จึงน่าจะยังรอการพิสูจน์จากหน่วยงานที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อสินค้านี้        สิ่งที่ผู้เขียนสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ ราคาของถุงโลหะแมกนีเซียมนั้นคือเท่าไร เมื่อเข้าไปในเว็บซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการขายออนไลน์ขนาดใหญ่ก็พบว่า 1 ถุงนั้นมีราคาเกือบ US.$ 50 เมื่อคำนวณเป็นเงินบาทที่ประมาณ 31 บาทต่อ US.$ 1 คงประมาณกว่า 1,500 บาท และในโฆษณาการขายนั้นบอกว่า แร่ 1 ถุงนั้นใช้ได้ 365 วัน เมื่อซักวันละ 1 ครั้ง ซึ่งหมายความว่าค่าใช้จ่ายตกแค่ 4 บาทกว่าเล็กน้อย เรื่องค่าใช้จ่ายจึงไม่น่าเป็นปัญหาอะไร...แต่         ยังมีคำถามหนึ่งที่เมื่อนึกถึงหลักการทางเคมีว่า ปริมาณการเกิดปฏิกิริยาได้น้ำด่างจากโลหะนั้นคงเส้นคงวาทุกครั้งที่ซักตลอด 1 ปี หรือไม่ เพราะในหลักการแล้ว ทุกครั้งที่ถุงโลหะถูกใช้งาน ปริมาณเนื้อโลหะแมกนีเซียมย่อมลดลงทุกครั้ง ดังนั้นการพิสูจน์ว่าปริมาณด่างที่เกิดในการใช้ครั้งที่ 1 นั้นต่างจากการใช้ในครั้งที่ 365 หรือไม่นั้นจำเป็นนัก เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่แท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 กระแสต่างแดน

ลงดาบเว็บไม่แฟร์ สำนักงานควบคุมการแข่งขันทางการค้าของอิตาลี สั่งปรับเว็บไซต์ท่องเที่ยว 6 ราย เป็นเงินรวมกันไม่ต่ำกว่าสี่พันล้านยูโร(ประมาณ 150,000 ล้านบาท) โทษฐานทำธุรกิจแบบไม่โปร่งใสและปฏิบัติต่อผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรม ตั้งแต่การไม่ให้ที่อยู่อีเมลสำหรับติดต่อ คิดค่าบริการทางโทรศัพท์ในอัตราที่แพงเกินควร และไม่ให้ความชัดเจนว่าลูกค้ากำลังจอง/ซื้อบริการกับบริษัทไหน ที่สำคัญ คือเว็บพวกนี้คิดค่าบริการบัตรเครดิตบางชนิดแพงเกินควร สำนักงานฯ ถือว่าการบังคับจ่ายค่าทำธุรกรรมโดยผู้บริโภคไม่มีทางเลือกนั้นเป็นการขัดขวางการพัฒนาพาณิชย์ชอิเล็กทรอนิกส์  เว็บเหล่านี้ได้แก่ volagratis.it เจ้าของเดียวกับ it.lastminute.com นอกจากนี้ยังมี opodo.it  govolo.it และ edreams.it ซึ่งเป็นเว็บในเครือ Opodo Group และ gotogate.it จากฟินแลนด์ volagratis.it เจ้าเดียวก็โดนปรับไป 2.2 ล้านยูโร (85.9 ล้านบาท) แล้วเพราะผิดครบทุกข้อหา  พลาสติกขาลง นาทีนี้ดูเหมือนใครๆ ก็กำลังหาทางลดการใช้พลาสติก ประเทศสมาชิกสหประชาชาติมีมติว่าจะลดปริมาณพลาสติกในทะเลลงให้ได้  สหภาพยุโรปกำหนดให้แพคเก็จสินค้าทั้งหมดต้องเป็นชนิดที่รีไซเคิลได้ภายในปี 2030  และจีนก็ประกาศยกเลิกการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศแล้วอังกฤษก็ไม่น้อยหน้า ประกาศแผนลดการใช้พลาสติกอย่างจริงจัง ด้วยการห้ามใช้พลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ในสถานที่ราชการ (หลักๆ คือแก้วกาแฟ)  ขอความร่วมมือจากร้านค้าปลีกให้จัดโซนปลอดพลาสติกเพื่อรองรับลูกค้าที่เตรียมบรรจุภัณฑ์มาเอง รวมถึงการเริ่มคิดเงินค่าถุงพลาสติกด้วยผู้ประกอบการอย่าง โคคา-โคล่า แมคโดนัลด์ และเอเวียง ต่างก็ประกาศเป้าหมายการหยุดใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ภายในปี 2030รายงานระบุว่าธุรกิจที่ไปได้สวยในขณะนี้ คือธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง เปรี้ยวกว่ามะนาว บรรดาผู้ค้ารถมือสองในสิงคโปร์ทำทีเป็นเจ้าของรถเองเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีสินค้าและบริการตามข้อกำหนดของกฎหมายมะนาวที่สำคัญขายง่ายกว่าเพราะผู้ซื้อเชื่อถือ “รถบ้าน” ที่เจ้าของขายเอง แถมยังได้กำไรมากกว่าเดิมอย่างน้อย 2,000 เหรียญ(ประมาณ 48,000 บาท) เพราะไม่ต้องจ่ายค่าทำประกัน    ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของสิงคโปร์ ผู้ประกอบการรถมือสองจะต้องทำประกันรถเป็นระยะเวลาหกเดือนให้ลูกค้าและต้องเสียภาษี GST ในขณะที่การซื้อขายกันเองระหว่างบุคคลไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวลูกค้าบางคนไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของรถตัวจริงจนกระทั่งเกิดปัญหา วิธีง่ายๆ คือตรวจสอบกับกรมการขนส่งเพื่อหาเจ้าของที่แท้จริงหรือเลือกซื้อรถมือสองจากดีลเลอร์ที่เป็นสมาชิก STVA ที่สมาคมผู้บริโภคสิงคโปร์ให้การรับรองกูเกิ้ลก็หาไม่เจอจักรยานจีไบค์  ที่กูเกิ้ลมีไว้ให้พนักงานได้ใช้เดินทางในระหว่างอาคารที่ตั้งอยู่ห่างกันมักสูญหายบ่อย ทั้งๆ ที่หนึ่งในสามจักรยาน 1,100 คันมีจีพีเอสระบุตำแหน่งผู้คนในเมืองเมาน์เท่นวิว(ซึ่งมีประชากร 80,000 คน) ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท มองว่าจักรยานของกูเกิ้ลก็เหมือนจักรยานของตัวเอง แน่นอนพวกเขาสามารถหยิบยืมไปใช้ได้ตามสบาย กูเกิ้ลกล่าว บริษัทจ้างผู้รับเหมาถึง 30 รายเพื่อทำหน้าที่ “เก็บกู้” จักรยานเหล่านี้กลับมา และในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายนปีที่แล้ว เขาก็สามารถเก็บจักรยานได้สัปดาห์ละ 70 ถึง 190 คัน (จากที่หายไปสัปดาห์ละ 100 ถึง 250 คัน) ข้อมูลจากจีพีเอสระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วจักรยานพวกนี้ถูกใช้ประมาณวันละสิบกว่าเที่ยว เป็นระยะทางประมาณหกไมล์ และมีคนใช้ถีบไปถึงบริษัทออราเคิล คู่แข่งสำคัญของกูเกิ้ลด้วย  เล่นไม่เป็นเรื่องเรื่องสนุกล่าสุดของวัยรุ่นอเมริกัน คือการถ่ายคลิป/ภาพนิ่ง ขณะที่ตัวเองกำลังกัด(และกิน?) ซองน้ำยาซักผ้ายี่ห้อหนึ่ง แล้วโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก ยูทูบ หรืออินสตาแกรม แล้วท้าเพื่อนๆ ให้ทำด้วยกระแสนี้ลุกลามอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งๆ ที่เห็นได้ชัดว่านอกจากจะเป็นการท้าทายที่ไม่เข้าท่าและยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตถ้าเผลอกลืนน้ำยาซักผ้านั้นลงไป สมาคมควบคุมสารพิษแห่งสหรัฐอเมริกาออกมาประกาศเตือนให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว เพราะปีนี้ (แค่เดือนมกราคม) มีผู้ป่วยอายุระหว่าง 13 ถึง 19 ปีที่ได้รับสารพิษโดยการจงใจกินเข้าไปกว่า 30 ราย บรรดาแพลทฟอร์มต่างๆ ก็ถูกเรียกร้องให้ลบโพสต์เพี๊ยนๆ พวกนี้ออกไปให้เร็วที่สุด ในขณะที่ผู้ผลิตน้ำยาซักผ้ายี่ห้อไทด์ ก็รีบทำคลิปวิดีโอที่มีนักกีฬาชื่อดังออกมาเตือนว่า “เจ้าถุงเล็กๆ พวกนี้เอาไว้ซักผ้า มันไม่ใช่ของกินนะวัยรุ่น”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 เกร็ดความรู้เรื่องการซักผ้าด้วยเครื่อง ตอนที่ 2

กิจกรรมการซักผ้าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่แต่ละครอบครัวจะต้องทำเป็นกิจวัตร คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ อาจจะมีเวลาไม่มากนัก การซักผ้าอาจจะพึ่งพาแม่บ้านมืออาชีพ (คนรับจ้างทำงานบ้าน) บางท่านอาจยังไม่ได้แต่งงาน ใช้ชีวิตเป็นคนโสด ก็อาจจะใช้บริการ จ้างร้านซักรีด หรือไม่ก็ใช้บริการตู้ซักผ้าหยอดเหรียญ ซึ่งมีแพร่หลายอยู่ทั่วไป บทความในวันนี้จะอธิบายและให้ความรู้เกี่ยวกับการซักผ้าด้วยเครื่องซักผ้าอัตโนมัติผงซักฟอกสำหรับผ้าสี กำจัดคราบสกปรกได้ดีหรือไม่เนื่องจากในผงซักฟอกสำหรับผ้าสีโดยทั่วไป ไม่ได้มีสารเคมีที่สำคัญในการกำจัดคราบคือ สารฟอกขาว (bleaching medium) ซึ่งจำเป็นในการกำจัดคราบที่ฝังแน่นบนเนื้อผ้า แต่ผงซักฟอกปัจจุบันมีส่วนผสมสาร Tenside ซึ่งทำหน้าที่ในการละลายคราบไขมันบนผ้า และสารเอนไซม์ที่ช่วยกำจัดคราบได้ดีขึ้น สำหรับผงซักฟอกสำหรับผ้าขาวนั้นมีสารเคมีที่ช่วยกำจัดคราบสกปรกได้ดีอยู่แล้วใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มดีหรือไม่ผ้าบางชนิดไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม เช่น ผ้าเช็ดมือ การใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มกับผ้าเช็ดมือ ทำให้ผ้าเสื่อมคุณภาพเร็ว และสารเคมีที่ผสมอยู่ในน้ำยาปรับผ้านุ่มอาจทำให้เกิดอาการแพ้ เมื่อสัมผัสกับผิวของคน นอกจากนี้การใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มก็ยังเป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอีกด้วยมีผงซักฟอกที่ถนอมเนื้อผ้าหรือไม่ผ้าที่ซักด้วยผงซักฟอก เมื่อผ่านการซักหลายครั้งย่อมทำให้สีซีดสีจางลงได้ ซึ่งเป็นผลมาจากสารเคมีในผงซักฟอก โดยทั่วไปผงซักผ้าสี ป้องกันสีซีดสีจางได้ดีกว่าผงซักฟอกผ้าขาวที่มีส่วนผสมของ Bleaching medium มีความสามารถในการซักฟอกได้ดี แต่ก็ทำให้ผ้าเสื่อมสภาพได้เร็วเช่นกันกลิ่นไม่พึงประสงค์จากเครื่องซักผ้าเกิดขึ้นได้อย่างไรในกรณีที่การระบายน้ำในเครื่องซักผ้าไม่หมด และปล่อยทิ้งไว้ในเครื่องซักผ้า แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกลิ่นไม่พึงประสงค์สามารถเจริญเติบโตได้ และกลิ่นไม่พึงประสงค์จากเครื่องซักผ้า ก็อาจติดอยู่กับเสื้อผ้าที่เราซักได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เครื่องซักผ้านั้นเป็นเครื่องซักผ้าสาธารณะ การป้องกันคือ การซักเครื่องเปล่า โดยใช้ผงซักฟอก และใช้น้ำซักที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นทำความสะอาดกล่องใส่ผงซักฟอก เมื่อซักเครื่องเปล่าเสร็จแล้ว ก็เปิดฝาทิ้งไว้จนภายในเครื่องแห้งสนิทในการซักผ้านอกจากเราคำนึงความสะอาดของเนื้อผ้าแล้ว ปัจจุบันเราต้องหันมาสนใจในประเด็นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเลือกใช้เครื่องซักผ้าที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ และช่วยให้เราประหยัดปริมาณผงซักฟอกที่ใช้ด้วย และท้ายสุดคือ ประหยัดเงินของเรา ดังนั้นการเลือกซื้อเครื่องซักผ้า จึงเป็นสิ่งที่เราควรหาข้อมูลทางด้านประสิทธิภาพเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือก(แหล่งข้อมูล: วารสาร Test ฉบับที่ 8/2012)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 เกร็ดความรู้เรื่องการซักผ้าด้วยเครื่อง ตอนที่ 1

กิจกรรมการซักผ้า เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ในแต่ละครอบครัวมักมอบหมายหน้าที่ให้กับแม่บ้าน ซึ่งก็คือคุณแม่ แต่ในครอบครัวของชาวกรุงเทพ ส่วนใหญ่มักเป็นครอบครัวขนาดเล็ก กิจกรรมการซักผ้า มักจะถูกโอนไปให้กับ แม่บ้านมืออาชีพ(คนรับจ้างทำงานบ้าน) บางท่านอาจยังไม่ได้แต่งงาน ใช้ชีวิตเป็นคนโสด ก็อาจจะใช้บริการ จ้างร้านซักรีด หรือ ไม่ก็ใช้บริการตู้ซักผ้าหยอดเหรียญ ซึ่งมีแพร่หลายอยู่ทั่วไป บทความในวันนี้จะอธิบายและให้ความรู้เกี่ยวกับการซักผ้าด้วยเครื่องซักผ้าอัตโนมัติการเลือกผงซักฟอกควรเลือกผงซักฟอก ให้เหมาะกับผ้าที่จะซัก โดยใช้ผงซักฟอกสำหรับผ้าขาว เมื่อซักผ้าขาว และใช้ผงซักฟอกผ้าสี กับผ้าที่มีสีสันต่างๆ ไม่ควรใช้สลับกัน เพราะในผงซักฟอกสำหรับผ้าขาวจะมีสารฟอกขาว (Bleaching chemicals) ซึ่งหากไปใช้ซักผ้าสี ก็จะทำให้สีหม่นลงจากสารฟอกขาว ในกรณีที่ซักผ้าไหม (Silk) หรือผ้าขนสัตว์ (Wool) ก็ควรใช้ผงซักฟอกสำหรับผ้าชนิดนั้นๆ เช่นกันเลือกโปรแกรมซักผ้าแบบประหยัด ทำไมเวลาเลือกโปรแกรมซักผ้าแบบประหยัดของเครื่องซักผ้าบางรุ่นจึงใช้เวลานานในการซัก ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ปัจจัยที่ผลต่อความสะอาดของการซักผ้า คือ ผงซักฟอก ความเร็วรอบของล้อหมุนในเครื่องซักผ้า (drum movement) อุณหภูมิของน้ำ และเวลาในการซัก ดังนั้นถ้าลดปริมาณของปัจจัย ชนิดใดลง ก็ต้องไปเพิ่มปัจจัย อื่นทดแทน เพื่อให้ได้ผลเท่าเดิม ซึ่งปัจจัยที่มีราคาสูงคือ ค่าไฟฟ้า การซักผ้าโดยใช้น้ำร้อนเป็นการซักที่ใช้ไฟฟ้าในปริมาณมาก และมีต้นทุนสูงดังนั้นสำหรับประเทศไทย ที่อุณหภูมิน้ำไม่ได้ต่ำเหมือนในยุโรป ดังนั้นการซักผ้าด้วยน้ำร้อนจึงอาจเกินความจำเป็นทำไมจึงดูเหมือนว่า เครื่องซักผ้ารุ่นใหม่ๆ จึงซักผ้าได้ไม่ดีเหมือนซักด้วยเครื่องรุ่นเก่าจากการทบทวนผลการทดสอบของ มูลนิธิทดสอบสินค้าแห่งเยอรมนี พบว่า เมื่อซักผ้าด้วยโปรแกรมการซักแบบมาตรฐาน (Standard Washing Program) เครื่องซักผ้าหลายยี่ห้อ ให้ผลการซักแบบ ปานกลาง ต่อเมื่อลดปริมาณผ้าที่จะซักลง พบว่าผลการซักผ้าดีขึ้นมา สาเหตุ คือ ล้อหมุนที่ใส่ผ้าได้ออกแบบให้บรรจุผ้าได้มากขึ้น แต่กำลัง (ไฟฟ้า) ซักไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นหากผู้บริโภคประสบปัญหานี้จึงจำเป็นต้องลดปริมาณการซักแต่ละรอบลง หรือ ไปเพิ่มเวลาในการซัก ซึ่งทำให้ เสียค่าไฟและน้ำเพิ่มขึ้นจะใส่ผ้าลงไปซักได้มากที่สุดเท่าไหร่จริง ๆ แล้วในทางปฏิบัติก็คงไม่มีใครนำผ้าที่จะซักไปชั่ง ดังนั้นวิธีที่แนะนำสำหรับการเลือกปริมาณผ้าที่จะซักอย่างเหมาะสม ให้อ่านจากคำแนะนำในคู่มือของเครื่องซักผ้า ซึ่งปริมาณของผ้าที่เหมาะสมสำหรับเครื่องซักผ้าขนาดบรรจุ 10 ลิตร คือ ปริมาณผ้าที่ใส่จนเต็มระดับขอบบนของถัง แล้วสามารถปิดฝาถังได้พอดี ด้วยแรงกดเบาๆผงซักฟอกแบบผงหรือน้ำยาซักผ้า ?ผงซักฟอกแบบผง สามารถขจัดคราบหรือรอยเปื้อนได้ดีกว่า และยังช่วยรักษาสภาพสีของเนื้อผ้าไม่ให้สีหมองอีกด้วย ในขณะที่การซักผ้าสี ควรใช้ น้ำยาซักผ้า ซึ่งสามารถซักผ้าสีได้สะอาดดีใช้ผงซักฟอกปริมาณเท่าไหร่ปริมาณผงซักฟอกขึ้นอยู่กับปัจจัยสามสิ่ง คือ ความสกปรกของผ้า โดยดูจากคราบและรอยเปื้อน ปริมาณผ้าที่ซัก และ ระดับคามกระด้างของน้ำที่ใช้ซัก จริงๆ แล้ว ในคู่มือการใช้งาน ของเครื่องซักผ้าก็จะบอกไว้เป็นแนวทางอย่างคร่าวๆ ซึ่งจะแบ่งระดับความสกปรกของผ้า เป็น 3 ระดับ ได้แก่สกปรกน้อย คือเป็นผ้าที่อาจเปื้อนเหงื่อ และมีคราบบนผ้าสกปรกปานลาง คือ ผ้าที่มีคราบเพียงขนาดเล็กๆ เช่น ผ้าปูเตียงนอน 1 สัปดาห์ หรือผ้าเช็ดมือสกปรกมาก คือ ผ้าที่ใช้ในครัว ผ้าขี้ริ้ว ผ้าที่เปื้อนดิน เปื้อนใบไม้ใบหญ้าหวังว่า ข้อมูลนี้จะช่วยท่านผู้อ่านตระหนักรู้ในเรื่องการซักผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประหยัดเงินในกระเป๋าของเราพร้อมกันไปด้วย เพื่อก้าวสู่การบริโภคเพื่อความยั่งยืน(แหล่งข้อมูล: วารสาร Test ฉบับที่ 8/2012)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 เครื่องซักผ้านำเข้า...ซักผ้านวมแล้วเอ๋อ

เมื่อปลายปี 2553 ในงานแสดงสินค้าที่เมืองทองธานี ประสารได้ซื้อเครื่องซักผ้านำเข้าจากนิวซีแลนด์ ยี่ห้อ Fisher & Paykal บริษัท ทิมแลง 2000 จำกัดเป็นตัวแทนจำหน่าย เครื่องซักผ้าที่ซื้อเป็นระบบฝาบน ขนาดความจุประมาณ 10 กิโลกรัม ราคา 25,000 บาท เหตุผลสำคัญที่ซื้อเพราะตัวแทนขายสินค้ายืนยันว่า เครื่องซักผ้ารุ่นนี้สามารถซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้แน่นอนตอนที่ซื้อเครื่องซักผ้า ประสารเพิ่งปลูกบ้านหลังใหม่ยังสร้างไม่เสร็จ จึงฝากเครื่องไว้กับตัวแทนขายก่อน และได้รับเครื่องซักผ้าจริงๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2554พอได้เครื่องซักผ้ามาก็ฉลองใช้งานเลย เสื้อ-กางเกงผ้าชิ้นไม่ใหญ่น้ำหนักไม่มาก ซักได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเอาผ้าห่มนวมขนาด 6 ฟุตมาซักปรากฏว่าเกิดปัญหาทุกครั้ง“เครื่องจะมีอาการหยุดทำงานระหว่างที่การซักยังไม่จบ หน้าจอเครื่องร้องว่าเครื่องขัดข้อง พร้อมกับมีน้ำค้างที่ก้นถังซัก ปั่นออกไม่หมด และไม่สามารถดำเนินการซักต่อได้”วิธีการแก้ไขของประสารคือ ต้องเอาผ้าห่มออกและถอดปลั๊ก ปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่ พร้อมกับกดโปรแกรมให้ปั่นน้ำออก เครื่องก็จะกลับมาทำงานได้ใหม่ และซักผ้าอื่นๆ ต่อไปได้ แต่หากเอาผ้าห่มนวม 6 ฟุตกลับมาซักอีกก็จะเกิดปัญหาแบบเดิมซ้ำๆ ทุกครั้ง บางครั้งเกิดหลังซักผ้าห่มนวม 1-2 ผืน บางครั้งซักผ้าห่มนวมผืนแรกก็เกิดปัญหาที่ว่าแล้ว และประสารต้องใช้วิธีแก้ไขแบบเดิมๆ ทุกครั้งเขาตั้งข้อสงสัยว่า เครื่องซักผ้าที่ซื้อมา น่าจะซักผ้าห่มนวมขนาด 6 ฟุตไม่ได้จริงตามที่โฆษณาก่อนที่จะนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประสารติดต่อไปที่บริษัทจัดจำหน่ายคือบริษัททิมแสง 2000 ให้มาตรวจสอบแก้ไข บริษัทแสดงความรับผิดชอบด้วยการส่งช่างเข้ามาซ่อมหลายครั้งในช่วงเวลาราว 1 ปี ตั้งแต่ที่รับเครื่องมาเมื่อต้นปี 2554 จนถึงปี 2555 การซ่อมของช่างจากบริษัททุกครั้งก็ทำและได้ผลชั่วคราวเหมือนกับที่ประสารจัดการแก้ปัญหาเอง “คือเครื่องซักผ้ากลับมาใช้งานได้ชั่วคราว ก่อนจะเกิดปัญหาเดิมอีกครั้งเมื่อซักผ้าห่มนวม 6 ฟุตอีก”สำหรับสาเหตุอาการเสียของเครื่องซักผ้าก็มีความแตกต่างกันไปในการซ่อมแต่ละครั้ง เช่น ยกท่อน้ำทิ้งสูงเกินไป เครื่องชื้นจากโดนละอองน้ำฝน หรือเครื่องชื้นจากการอยู่ในห้องปิดระบายน้ำไม่ดี เครื่องวางบนพื้นเอียง อุปกรณ์บางชิ้นเสื่อม ซึ่งเปลี่ยนแล้วก็ไม่หาย“ผมได้ร้องเรียนที่บริษัทหลายครั้งในช่วงปี 2555 เป็นต้นมา ด้วยความเชื่อว่าเครื่องซักผ้ารุ่นนี้อาจไม่สามารถซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้จริงตามที่โฆษณา สุดท้ายทางผู้จัดการบริษัทแจ้งผมว่า ถ้าเครื่องมีปัญหาอีกให้รีบโทรบอก อย่าเพิ่งถอดปลั๊ก ให้ปล่อยเครื่องร้องข้ามวันข้ามคืนไปก่อนเพื่อให้การบันทึกการเสียโดยอัตโนมัติยังอยู่ที่เครื่องซักผ้า จะรีบนำเครื่องเข้ามาตรวจจับให้เพื่อจะได้ทราบสาเหตุเสียที่แน่นอนและแก้ไขได้ถูกต้อง และจะยอมคืนเงินพร้อมรับเครื่องคืน ถ้ามีหลักฐานชัดเจนแจ้งไปที่บริษัทผู้ผลิตที่นิวซีแลนด์ว่าเครื่องใช้ไม่ได้จริงๆ” ข้อเสนอของผู้จัดการบริษัทนี้มีขึ้นในช่วงปลายปี 2555หลังจากนั้นเครื่องซักผ้ายังคงทำงานตามปกติ คือรับซักเฉพาะเสื้อและกางแกง แต่ไม่รับซักผ้านวมเจอผ้านวม 6 ฟุตลงเครื่องเมื่อไหร่เป็นต้องหยุดปั่นผ้าทุกครั้ง แต่ประสารก็ไม่สามารถเปิดเครื่องให้ร้องข้ามวันข้ามคืนไว้ให้ทางบริษัทเข้ามาตรวจได้ตามที่บอก เพราะกว่าบริษัทจะเข้ามาได้ก็ต้องนัดนานเป็นสัปดาห์ ก็ต้องทนใช้วิธีการแก้ปัญหาชั่วคราวแบบเดิมไปพลางๆ“จนถึงต้นปี 2556 เมื่อเกิดปัญหาแบบเดิมอีก ผมได้แจ้งบริษัทให้ส่งช่างมาดู พร้อมกับบอกว่าจะยอมเปิดเครื่องให้ร้องทิ้งไว้ข้ามสัปดาห์ ทางบริษัทแจ้งว่า ผู้จัดการคนเดิมที่เคยคุยกับผมมาตลอดนั้นตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว ไม่ทราบว่าตกลงยังไงกันไว้บ้าง ให้ปิดเครื่องไปได้เลยแล้วจะส่งช่างเข้ามาดูในสัปดาห์ถัดไป” ประสารเล่าพอถึงวันนัด มีช่างเข้ามาดูแลแจ้งว่าอุปกรณ์บางชิ้นเสื่อมอีก จะเปลี่ยนให้ฟรีแม้จะหมดประกันแล้ว แต่ช่างมาสังเกตพบว่า น้ำไหลเข้าเครื่องไม่สม่ำเสมอ และตรวจพบว่าเกิดจากแผงวงจรเสีย ซึ่งต้องเปลี่ยนแผงวงจรราคา 4,000 บาท เพราะหมดประกันแล้วประสารไม่ตกลงเพราะอะไหล่ที่จะเปลี่ยนไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเครื่องซักผ้าไม่ยอมซักผ้านวม ทางช่างจึงกลับไปโดยไม่คิดค่าตรวจ แต่เครื่องซักผ้าก็ถูกทิ้งในสภาพเดิมที่แจ้งสถานะว่า ใช้งานไม่ได้ต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหาประสารพยายามโทรติดต่อกับผู้จัดการคนใหม่หลายครั้งแต่ติดต่อไม่ได้เลย เลขาหรือเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ว่างทุกครั้ง แล้วจะติดต่อกลับมาแต่ไม่เคยติดต่อกลับมาอีก ประสารจึงส่งเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแม้เรื่องนี้จะเกิดมาเนิ่นนานหลายปี แต่ก็เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทเองก็ไม่สามารถแก้ไขให้เครื่องสามารถใช้งานได้ตามโฆษณา มูลนิธิฯ จึงติดต่อไปที่บริษัทเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคประสารแจ้งว่า หลังจากที่มูลนิธิฯ ช่วยประสานงานให้ ในที่สุดทางผู้จัดการคนใหม่ได้ยอมพูดคุยด้วย และส่งช่างเข้ามาดู ทางผู้จัดการยังคงยืนยันว่าเครื่องซักผ้ารุ่นนี้ซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้แน่นอนตามที่โฆษณา แต่คาดว่าประสารอาจจะโชคร้ายได้รับเครื่องการผลิตที่มีปัญหาเอง แต่ยินดีที่จะรับเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้มาใช้ต่อประสารบอก ผมไม่สามารถเชื่อใจทางบริษัทได้อีก จึงยื่นข้อเสนอขอคืนเครื่องและรับเงินคืนหลังจากการเจรจาต่อรองกันอีกราว 2 เดือน ในที่สุดจึงได้ข้อตกลงร่วมกัน โดยทางบริษัทยอมรับคืนเครื่องและคืนเงินให้จำนวน 15,000 บาท เรื่องจึงเป็นอันยุติความจริงแล้ว กระบวนการร้องเรียนเพื่อการเยียวยาความเสียหายไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ยืดยาว รอซ่อมแล้วซ่อมอีก หากผู้บริโภคพบว่า สินค้ามีคุณภาพไม่เป็นไปตามที่โฆษณาก็สามารถที่จะแสดงเจตจำนงขอเปลี่ยนสินค้าหรือคืนสินค้าเพื่อขอคืนเงินได้ตั้งแต่การมาตรวจซ่อมครั้งแรกแล้ว หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ยินยอมผู้บริโภคก็สามารถร้องเรียนต่อ สคบ. หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทันที  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ใครคือแชมป์ ซักสะอาดหมดจด

  ถ้า “แฟ้บ” เป็นชื่อสามัญของ “ผงซักฟอก” ในเมืองไทย ก็ต้องนับว่าเขายังรักษาคุณภาพในการผลิตได้ดีมาจนถึงวันนี้ ฉลาดซื้อได้รับคำแนะนำจากผู้อ่านให้ทดสอบเรื่องผงซักฟอกมาก็นานแล้ว แต่ยังไม่ได้ฤกษ์เสียที จนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคขันอาสามาเป็นคณะทำงานทดสอบเรื่องประสิทธิภาพของผงซักฟอกให้ ผลก็คือ ข้อมูลที่มีประโยชน์มากสำหรับผู้บริโภคทุกท่าน ที่หลายครั้งก็ให้งุนงงสงสัยในเรื่อง ประสิทธิภาพของผงซักฟอก ที่แสนจะหลากหลายสูตรหลายยี่ห้อ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็โฆษณากันได้น่าตื่นตาตื่นใจจริงๆ   ฉลาดซื้อและเครือข่ายนักวิชาการฯ แบ่งผลิตภัณฑ์ผงซักฟอกเป็นสองประเภทคือ ซักมือกับซักเครื่อง ฉบับนี้ขอนำเสนอเฉพาะ สูตรสำหรับซักด้วยมือก่อน เพราะมีหลายยี่ห้อมากและเป็นผลิตภัณฑ์ที่วางขายกันแพร่หลายกว่าชนิดซักเครื่อง จำนวนตัวอย่างที่นำมาทดสอบมีทั้งสิ้น 20 ตัวอย่าง สรุปผลได้ดังนี้  เยี่ยมทั้งซักและดีต่อสิ่งแวดล้อม1. แฟ้บ เพอร์เฟค2. บิ๊กซี แมคคัลเลอร์ ไบร์ท3. แฟ้บ คัลเลอร์4. บิ๊กซี แมคออกซี่ ไวท์ตี้5. โอโม คริสตัลบีตส์ ซักสะอาด ราคาไม่แพง 1.บิ๊กซี แมคออกซี่ ไวท์ตี้ (1.35 บาท/การใช้ 1 ครั้ง)2.บิ๊กซี แมคคัลเลอร์ ไบร์ท (1.50 บาท/การใช้ 1 ครั้ง)3.บัว (1.46 บาท/การใช้ 1 ครั้ง) --------------------------------------------------------------------- เกณฑ์การทดสอบ 1.ประสิทธิภาพในการซัก1.1 ทดสอบการแตกตัวของผงซักฟอก ถ้าผงซักฟอกมีการแตกตัวดีแสดงว่าผงซักฟอกมีสารกระตุ้นที่ทำให้ละลายในน้ำได้ดีแสดงว่ามีประสิทธิภาพที่ช่วยในการทำความสะอาดในซอกซอนอณูผ้าที่เล็กได้อย่างล้ำลึก 1.2 ทดสอบระดับแป้งที่ผสมในผงซักฟอก เนื่องจากมักมีการบอกเล่าต่อๆ กันว่า ผงซักฟอกมีการนำแป้งมาผสมเป็นการเพิ่มน้ำหนัก (เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า การทดสอบครั้งนี้ไม่พบแป้งปนอยู่ในผงซักฟอกยี่ห้อใดเลย) 1.3 ทดสอบประสิทธิภาพการทำความสะอาดได้ โดยการแช่เพียงอย่างเดียว(30 นาที) 1.4 ทดสอบความสามารถในการซักฟอก เมื่อแช่ผ้าไว้ 15 นาทีและขยี้   2.ทดสอบการรักษาสภาพเนื้อสีของผ้า 2.1 ทดสอบความคงสภาพสีเดิม เปรียบเทียบผ้าชิ้นที่ซัก(10 ครั้ง) กับผ้าที่ไม่ซัก ด้วยเครื่องวัดค่าสี ถ้าสีผ้าชิ้นที่1  กับผ้าชิ้นที่ 2 คงสภาพสีเท่ากันหรือแตกต่างเพียงเล็กน้อยแสดงว่าผงซักฟอกมีคุณสมบัติในการรักษาสภาพของสีของเนื้อผ้าได้ดี 2.2 ทดสอบความคงสภาพความขาวของเนื้อผ้า เปรียบเทียบผ้าชิ้นที่ซัก(10 ครั้ง) กับผ้าที่ไม่ซัก ด้วยเครื่องวัดค่าสี ถ้าสีผ้าชิ้นที่1  กับผ้าชิ้นที่ 2 คงสภาพความขาวเท่ากันหรือแตกต่างเพียงเล็กน้อยแสดงว่าผงซักฟอกมีคุณสมบัติในการรักษาสภาพความขาวของเนื้อผ้าได้ดี   3.ผลกระทบต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม 3.1 ทดสอบค่าความเป็น กรด-เบสโดยการวัดจากค่า pH 3.2 ทดสอบฟอสเฟต    ฟอสเฟตจากผงซักฟอกเมื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ จะทำให้พืชน้ำเจริญเติบโต รวดเร็ว ทำให้ กีดขวางทางคมนาคมทางน้ำ ทำลายทัศนียภาพ ทำให้ออกซิเจนละลายน้ำไม่ได้ สิ่งมีชีวิตขาดออกซิเจนตายได้ และพืชน้ำเกิดมากอาจจะตายเน่า ทำให้น้ำเสีย ซึ่งข้อกำหนดปริมาณค่าฟอสฟอรัสรวมไม่เกิน  2 มิลลิกรัมฟอสฟอรัสต่อลิตร ก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำชุมชน (ข้อมูลจากมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน)   4.ข้อมูลทั่วไปบนฉลาก เกณฑ์ที่ใช้คือ คำอธิบายเรื่องวิธีการใช้ เข้าใจง่ายหรือไม่ การระบุปริมาณ การแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน การแสดงวันเดือนปีที่ผลิต แหล่งผลิต ส่วนประกอบ คำเตือน”ห้ามรับประทาน” รวมทั้งความชัดเจนของผลิตภัณฑ์ในเรื่องอื่นๆ ---------------------------------------------------------------------  กำเนิดผงซักฟอก สมัยโบราณ การซักผ้าก็ใช้วิธีการทุบด้วยไม้ ขยี้ด้วยมือหรือเหยียบด้วยเท้า เพื่อลดแรงตึงผิวของน้ำให้แทรกเข้าไปทำความสะอาดในใยผ้าได้ ต่อมามีสบู่ใช้ ก็ช่วยทำให้การซักผ้าง่ายขึ้นเพราะสบู่ช่วยลดแรงตึงผิวของน้ำได้ การซักผ้าก็ง่ายขึ้น ออกแรงน้อยลง แต่พอเข้ายุคสงครามโลกครั้งที่ 1 สบู่ขาดแคลนเนื่องจากหาไขมันสัตว์ไม่ได้ จึงมีการผลิตผงซักฟอกออกมาใช้แทนสบู่ พอหมดสงครามก็เลิกไป แต่มาได้รับความนิยมจริงจังอีกครั้งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และยาวมาจนถึงปัจจุบัน  ผงซักฟอกมีคุณสมบัติชะล้างเช่นเดียวกับสบู่ โดยมีส่วนประกอบสำคัญคือ สารลดแรงตึงผิว เป็นสารทำให้วัสดุเปียกน้ำได้ง่าย ทำให้สิ่งสกปรกหลุดออกมาเป็นอนุภาคเล็กๆ แล้วสารจะล้อมรอบสิ่งสกปรกเล็กๆ เอาไว้ในสารลดความตึงผิว ฟอสเฟต สารนี้ช่วยรักษาสภาพน้ำให้เป็นเบส ช่วยกระจายน้ำมัน สิ่งสกปรกออกเป็นอนุภาคเล็กๆ จนสามารถแขวนลอยได้ในน้ำ สารเพิ่มความสดใส(optical brightening agents) ช่วยดูดแสงอุลตร้าไวโอเลตไว้ ทำให้เกิดการเรืองแสงสะท้อนเข้าตา ผ้าดูขาวสะอาด สารเพิ่มฟอง(suds booster) เป็นสารที่จะทำให้เกิดฟองกับน้ำได้ดีสำหรับผงซักฟอกซักด้วยมือเนื่องจากการแข่งขันในตลาดผงซักฟอกที่สูงขึ้น ผู้ผลิตผงซักฟอกจึงจำเป็นต้องเพิ่มส่วนประกอบอื่นๆ เข้ามา เพื่อเป็นจุดขาย แต่สารเหล่านี้มีอยู่ในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ได้แก่ สารกันหมอง แอนติออกซิแดนต์ เอนไซม์ น้ำหอม สี สารกันการจับตัวเป็นก้อน สารช่วยขับสิ่งสกปรก สารต้านจุลินทรีย์ สารละมุน สารคงสภาพการเก็บรักษา สารช่วยให้ผ้านุ่ม สารกันไฟฟ้าสถิตย์ สารกันการกัดกร่อนและสารอื่นๆ   ฉลาดซื้อ1. ตอนนี้มีโฆษณาผงซักฟอกกำจัดแบคทีเรียได้ ซึ่งดูแล้วทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกินจริงไปมาก จริงๆ แล้วก็ไม่จำเป็นเลย เนื่องจากผงซักฟอกมีฤทธิ์เป็นด่างอ่อนๆ อยู่แล้วจึงสามารถฆ่าแบคทีเรียได้  2. เมื่อพิจารณาจากผลการทดสอบแล้วจะพบว่า ประสิทธิภาพการซักใกล้เคียงกันมาก สิ่งที่ควรนำมาพิจารณาเพิ่มคือ เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและราคาที่ประหยัด  ทำไมจึงเรียกผงซักฟอกว่า “แฟ้บ”หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โลกเรานี้ก็ให้ความนิยมแก่ผงซักฟอกอย่างมาก และเมืองไทยเราก็มีผงซักฟอกยี่ห้อแรกเข้ามา ชื่อว่า “แฟ้บ” โดย บริษัทหลุยส์ทีเลียวโนเวนส์ จำกัด ปรากฏว่าเป็นที่นิยมของประชาชนโดยทั่วไป เพราะสามารถชำระล้างสิ่งสกปรกได้ดีกว่าสบู่และสะดวกในการใช้มากกว่า คนไทยจึงพากันเรียกผงซักฟอกว่า “แฟ้บ” จนในปี พ.ศ. 2500 บริษัท คอลเกตปาล์มโอลีฟ จำกัด จึงได้ตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายผงซักฟอกยี่ห้อ “แฟ้บ” ในประเทศไทยขึ้น และต่อมาได้มีผู้ผลิตผงซักฟอกเกิดขึ้นอีกหลายบริษัท  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 132 แชมป์ซักสะอาด

ฤดูกาลซักฟอกกลับมาอีกครั้ง เมษายนปีที่แล้ว ฉลาดซื้อ ได้เฟ้นหาแชมป์ผงซักฟอกสำหรับการซักด้วยมือ และเราได้สัญญากับสมาชิกไว้ว่าจะนำผลทดสอบผงซักฟอกสำหรับซักด้วยเครื่องมาฝากกัน คราวนี้ทีมงานจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพและคุณสมบัติในด้านต่างๆ ของผงซักฟอกสำหรับซักด้วยเครื่องซักผ้าชนิดเปิดฝาด้านบน จำนวน 20 ยี่ห้อ ใคร? จะผ่านบททดสอบของเราไปด้วยคะแนนฉลุยกว่ากัน ติดตามได้ในหน้าถัดไป     อุปสรรคที่ผู้ท้าชิงทั้ง 20 ยี่ห้อต้องกำจัดออกจากเนื้อผ้าแยม หมึก กาแฟ ซีอิ้วดำ ช็อกโกเลตเหลว ซอสมะเขือเทศ เลือด ลิปสติก คราบผสม ------ เราทดสอบอะไรบ้าง • ประสิทธิภาพการซัก โดยดูจากประสิทธิภาพในการขจัดคราบโดยการซักเครื่องแบบอัตโนมัติ ชนิดฝาบน ซึ่งในการทดสอบพลังขจัดคราบนี้ ใช้การผสมผงซักฟอกในน้ำตามอัตราส่วนที่ระบุข้างบรรจุภัณฑ์ ทดสอบกับผ้าที่ป้ายคราบทั้ง 9• การรักษาความสดใสของสีผ้า โดยการเปรียบเทียบสีของผ้าหลังการซักกับผ้าที่ยังไม่ได้ซักและผ้าที่ซักด้วยน้ำเปล่า สังเกตความหมองของเนื้อผ้า• ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการนำสารละลายผงซักฟอกที่ผสมตามอัตราส่วน มาวัดค่า pH และฟอสเฟต น้ำหนักในการให้คะแนน  60% ประสิทธิภาพในการซัก เนื่องจากจุดประสงค์ของการซักผ้าคือประสิทธิภาพในการซัก ดังนั้นเราจึงเน้นหนักด้านนี้   20% ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในผงซักฟอกมีส่วนผสมของสารประกอบหลายชนิด บางชนิดก็เป็นสาเหตุสำคัญในการทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ฟอสเฟต   10% การรักษาสภาพเนื้อสีผ้า นอกจากจะทำความสะอาดคราบสกปรกแล้ว ผงซักฟอกยังมีส่วนทำลายสีผ้าอีกด้วย  จึงควรให้ความสำคัญกับการป้องกันคราบสกปรกที่หลุดออกมาย้อนกลับมาทำความหมองให้แก่สีของผ้าได้ดี   10% บรรจุภัณฑ์ ความละเอียด และเข้าใจง่ายในฉลากบรรจุภัณฑ์ก็มีส่วนอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคเช่นกัน   ใครแน่กว่ากัน หลังจากการนำผงซักฟอกทั้ง 20 ยี่ห้อ มาทดสอบจำลองการใช้งานจริง ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน เราได้ข้อสรุปดังนี้ ด้านประสิทธิภาพของผงซักฟอกโดยรวมนั้น ผงซักฟอกยี่ห้อ “บรีสเอกเซล คัลเลอร์ชนิดน้ำ” มีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่ในเกณฑ์ดีมาก รองลงมาคือ "บรีส เอกเซล" อยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนที่ได้น้อยที่สุดคือ "เทสโก้ คอนเซนเทรต-พลัส พาวเวอร์" ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้ หากดูจากผลการทดสอบในด้านอื่นๆ เช่น ในด้านประสิทธิภาพการซัก "เปา ซิลเวอร์นาโน สูตรลดกลิ่นอับ" ได้คะแนนสูงสุด ส่วนในด้านผลกระทบต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม “บรีสเอกเซล คัลเลอร์ชนิดน้ำ” ได้คะแนนสูงสุดไป ส่วนด้านความคุ้มค่าและประสิทธิภาพในการซักที่ได้คำนวณจากการซักต่อครั้ง "บรีส เอกเซล" ให้ความคุ้มค่าต่อประสิทธิภาพโดยรวมมากที่สุด บรีสเอกเซล คัลเลอร์ชนิดน้ำ  70 คะแนน ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 4.55 บาทประสิทธิภาพในการซัก   3ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   3ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  5ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 5ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   3.5     บรีสเอกเซล     65 คะแนน ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 2.32 บาทประสิทธิภาพในการซัก   3ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   3ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  2ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 5ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   4   บรีส เอกเซล คอมฟอร์ท  64 คะแนน ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 2.56 บาทประสิทธิภาพในการซัก   3ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   3ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  2ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 5ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   4     เปา ซิลเวอร์นาโน  63 คะแนนสูตร ลดกลิ่นอับ ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 4.03 บาทประสิทธิภาพในการซัก   3ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   3ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  1ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 4ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   4.5     บรีสเอกเซล คัลเลอร์เพอร์เฟค   61 คะแนน ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 2.56 บาทประสิทธิภาพในการซัก   3ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   3ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  2ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 5ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   4   เปา วินวอช ซอฟท์   60 คะแนน ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 3.66 บาทประสิทธิภาพในการซัก   3ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   3ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  1ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 4ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   4   เปา เอ็ม.วอช ซอฟท์    60 คะแนน ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 7.96 บาทประสิทธิภาพในการซัก   3ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   4ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  1ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 3ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   4   แอทแทค ซอฟท์ พลัส    59 คะแนน ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 2.07 บาทประสิทธิภาพในการซัก   2.5ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   4ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  3ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 5ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   3.5   เทสโก้ คอนเซนเทรต-พลัส  58 คะแนนเพิ่ม แอคทีฟ ออกซิเจน ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 2.77 บาทประสิทธิภาพในการซัก   3ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   3ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  1ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 3ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   4   เทสโก้ พลัส สูตรซักเครื่อง 58 คะแนนผสมสารนาโนซิลเวอร์ ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 2.79 บาทประสิทธิภาพในการซัก   3ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   3ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  1ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 3ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   4   แอทแทค ลิควิด  58 คะแนน ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 2.96 บาทประสิทธิภาพในการซัก   2.5ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   3ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  5ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 4ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   3.5   White house   57 คะแนน ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 4.14 บาทประสิทธิภาพในการซัก   3ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   3ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  2ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 3ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   4   โอโม พลัส สูตร ลอกความหมอง  56 คะแนน ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 3.38 บาทประสิทธิภาพในการซัก   2.5ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   4ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  1ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 4ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   3.5     HOME Fresh MART  55 คะแนน สูตร Active Oxygen ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 5.37 บาทประสิทธิภาพในการซัก   2.5ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   3ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  2ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 5ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   3.5   เปา เอ็ม.วอช    55 คะแนน ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 7.79 บาทประสิทธิภาพในการซัก   3ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   3ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  1ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 1ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   4   โอโม พลัส สูตร แอนตี้แบค   55 คะแนน ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 3.72 บาทประสิทธิภาพในการซัก   2.5ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   3ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  1ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 4ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   3.5   บัว บลู เพาเวอร์บีด   54 คะแนน ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 2.70 บาทประสิทธิภาพในการซัก   3ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   2ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  3ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 2ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   3.5   แอทแทค ไบโอ แอคทีฟ    54 คะแนน ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 1.65 บาทประสิทธิภาพในการซัก   2.5ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   3ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  2ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 4ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   3.5   แฟ้บ อัลตร้า   52 คะแนน ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 2.19 บาทประสิทธิภาพในการซัก   2.5ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   3ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  2ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 1ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   4   เทสโก้ คอนเซนเทรต-พลัส พาวเวอร์  50 คะแนน ค่าผงซักฟอกต่อการซัก 1 ครั้ง 2.34 บาทประสิทธิภาพในการซัก   2.5ความคงสภาพสีเนื้อผ้า   3ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ค่า pH)  1ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปริมาณฟอสเฟต) 3ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์   4   ข้อสังเกตจากการทดสอบ• ผงซักฟอกแต่ละยี่ห้อ มีหลายสูตร ซึ่งเป็นเรื่องปกติของผู้ผลิตในปัจจุบันที่ต้องการแย่งส่วนแบ่งของตลาดให้ได้มากที่สุด จึงต้องคิดค้นสิ่งแปลกใหม่เพื่อเพิ่มความสดใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ อยู่ตลอดเวลา บางสูตรก็ไม่ได้มีผลกับคุณสมบัติที่จำเป็นของผงซักฟอกที่ดี • ผู้บริโภคควรคำนึงถึงหลักพื้นฐานความจำเป็นในการใช้งานและความคุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายไปในการซักแต่ละครั้ง ทีมงานได้สรุปค่าใช้จ่ายต่อครั้ง ที่ได้มาจากการคำนวณตามวิธีการใช้ของแต่ละยี่ห้อ ฉะนั้นผู้บริโภคควรวัดผลจากการใช้งานจริงจะดีกว่าเชื่อในคำโฆษณาเพียงอย่างเดียว • เกือบทุกบริษัทใช้วิธีการพิมพ์หมึกสีดำหรือแสตมป์ วัน เดือน ปี ที่ผลิต ในตำแหน่งที่แตกต่างกัน และสังเกตเห็นยาก  น่าสนใจว่าทำไมผู้ผลิตไม่ให้ความสำคัญกับวัน เดือน ปีที่ผลิตที่ชัดเจน เนื่องจากมีความสำคัญต่อผู้บริโภคที่จะทราบว่าผงซักฟอกนั้นหมดอายุแล้วหรือไม่ (โดยทั่วไปแล้วจะมีอายุ 5 ปี นับจากวันที่ผลิต)---- Tips ฉลาดซื้อ • ชนิดของผ้าที่นำมาซักเนื้อผ้าบางชนิดไม่แนะนำให้ซักกับผงซักฟอกทั่วไป อาจจะต้องใช้น้ำยาซักเฉพาะอย่าง อย่างเช่นเสื้อผ้าเด็ก (หากใช้ผงซักฟอกทั่วไปก็ควรใช้ในปริมาณที่น้อยลงเพื่อลดความเสี่ยงต่อการระคายเคือง เพราะจากทดสอบเราพบว่าเครื่องซักผ้ารุ่นใหม่ๆ สามารถขจัดคราบบางชนิดได้ดีพอสมควร แม้จะไม่ได้ใส่ผงซักฟอก) ส่วนเนื้อผ้าที่มีความละเอียดอ่อนสูงที่เหมาะกับการซักมือเท่านั้นก็ไม่ควรจะใช้กับผงซักฟอกที่ใช้ได้ทั้งซักมือและซักเครื่องได้ เพราะอาจทำให้เนื้อผ้าเสียหาย จึงควรดูสัญลักษณ์วิธีการซัก และรักษาเนื้อผ้าอย่างเคร่งครัด   • ชนิดของเครื่องซักผ้าควรใช้ผงซักฟอกในปริมาณที่พอเหมาะและเลือกสูตรของผงซักฟอกที่สอดคล้องกับเครื่องซักผ้าด้วย  เครื่องซักผ้ามีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ที่ช่วยประหยัดน้ำ ทำให้ผ้าสะอาดยิ่งขึ้น   • พฤติกรรมการซักผ้าควรเลือกผงซักฟอกในแบบที่มีช้อนตวงตามปริมาณการใช้ที่เหมาะสมจากผู้ผลิต  เพื่อเปลี่ยนนิสัยการตักผงซักฟอกทุกครั้งจากความเคยชิน โดยไม่ได้คำนึงถึงปริมาณผ้าที่ซักและโปรแกรมการซักที่ตั้งไว้ ซึ่งอาจจะมากหรือน้อยเกินความจำเป็นในแต่ละครั้ง ถ้าเป็นไปได้เราควรซักผ้าในตอนเช้า แต่ถ้าว่างเฉพาะช่วงเย็นก็ควรเลือกผงซักฟอกชนิดที่ลดกลิ่นอับชื้นได้ด้วย ---- มลภาวะในแม่น้ำดานูบ ทะเลบอลติก และทะเลดำ ทำให้สหภาพยุโรปเตรียมประกาศลดการใช้ฟอสเฟตในน้ำยาล้างจานและผงซักฟอกตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 เป็นต้นไป  เพราะฟอสเฟตเป็นตัวเร่งการเจริญเติบโตของสาหร่าย ซึ่งจะไปแย่งออกซิเจนจากบรรดาปลาน้อยปลาใหญ่ในแหล่งน้ำนั่นเอง  สมาชิกสหภาพยุโรปบางประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลีได้ประกาศแบนหรือจำกัดการใช้ฟอสเฟตไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว----  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 กระแสต่างแดน

ผลิตภัณฑ์/บริการยอดแย่แห่งปี Shonkys 2015มาถึงปีที่ 10 แล้วสำหรับการประกาศผลรางวัลผลิตภัณฑ์/บริการยอดแย่แห่งปี 2015 โดยสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้จัดพิมพ์นิตยสาร CHOICE รางวัลนี้ได้มาไม่ยาก คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเขาคัดเลือกจากสินค้าและบริการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคอย่างหน้ามึน ตั้งแต่การกล่าวอ้างที่ไม่เป็นจริง ตัวสินค้า/บริการตกมาตรฐาน หรือการดำเนินงานโดยปราศจากความโปร่งใส เป็นต้น … มาดูกันเลยดีกว่า ว่าปีนี้ใครได้รางวัลนี้ไปเชยชมกันบ้าง   “บัตรเครดิตดอกเบี้ยต่ำ” (ที่ดอกเบี้ยสูงมาก) ผู้บริโภคพึงสังวร อย่าได้หลงเชื่อคำว่า “ดอกเบี้ยต่ำ” ของธนาคารรายใหญ่อย่าง National Australia Bank หรือ NAB เด็ดขาด ในภาพรวมนั้นอัตราดอกเบี้ยของออสเตรเลียลดลงจากร้อยละ 4.75 เมื่อ 4 ปีก่อน ลงมาเหลือเพียงร้อยละ 2 ในปัจจุบัน แต่พฤติกรรมของ NAB กลับสวนกระแส ใช้ช่วงชุลมุนเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อปีของบัตรเครดิตจากร้อยละ 12.99 เป็นร้อยละ 13.99 จะว่าไปเขาก็สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่มันสร้างความคับข้องใจให้กับผู้บริโภคนี่สิ ... อัตราดอกเบี้ย “ต่ำ” ของเขานี่มันต่ำยังไง เมื่อธนาคารเจ้าเล็กๆเขาคิดไม่เกินร้อยละ 10 คุณต้องทำใจนะ ถ้าอยากอยู่กับเจ้าใหญ่ที่ถือเป็นบิ๊กโฟร์ (อีก 3 ธนาคารได้แก่ Westpac Commonwealth Bank และ Australia and New Zealand Banking Group) เพราะเฉลี่ยแล้วดอกเบี้ยของหนี้จากบัตรเครดิตของธนาคารทั้ง 4 นี้ สูงถึงร้อยละ 18.98 เลยเชียว     หลอกคุณพ่อคุณแม่แน่นอนกว่า ขนมขบเคี้ยวที่คุณจะเลือกให้ลูกน้อยต้องมีความดีงามตามสมควรใช่หรือไม่ แล้วถ้าเรามีบิสกิตพร้อมตรา “รับรองโดยโรงอาหารของโรงเรียน” มันก็น่าจะไม่มีทางผิดพลาด ... รึเปล่า?!! ตราที่ว่านี้พบได้บนซองขนมไทนี่ เทดดี้ ของอาร์น็อต บริษัทอ้างว่าตรานี้จะช่วยให้พ่อแม่ตัดสินใจเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น แต่คำถามคืออาร์น็อตไปได้การรับรองนี้จากที่ไหน? ไม่มีหลักฐานว่าโรงอาหารของโรงเรียนใดให้การรับรองที่ว่าเลย ที่มีแน่ๆ คือคำแนะนำเรื่องการจัดอาหารในโรงเรียนที่ระบุว่า ขนมทุกชนิดรวมถึงช็อคโกแล็ตชิพและขนมเคลือบช็อคโกแลตนั้นให้ถือว่าเป็นของหวาน ซึ่ง “ไม่แนะนำให้มีในเมนูอาหารของโรงเรียน” เรื่องนี้ถึงหูหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ACCC แล้ว ล่าสุดอาร์น็อตประกาศว่าจะยกเลิก ตราประทับเก๊ๆ ดังกล่าวภายในกลางปี 2016   รีดเลือดกับปู เมื่อเงินไม่พอใช้ คนออสซี่บางคนเลือกใช้บริการบริษัทเงินกู้ แต่ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และค่าโน่นนี่สารพัด มันไม่ช่วยกอบกู้สถานการณ์การเงินเอาเสียเลย ถ้าเรายืมเงิน 250 เหรียญ ระยะเวลายืม 2 สัปดาห์ เราจะต้องใช้คืนพร้อมดอกเบี้ยที่คิดเป็นอัตราร้อยละ 742 ต่อปี เอิ่ม ... แล้วจะกู้มาให้ปวดหัวทำไม โชคดีที่รัฐบาลประกาศห้ามการคิดดอกเบี้ยแบบนี้แล้ว ตั้งแต่มีนาคม 2013 เป็นต้นมาออสเตรเลียประกาศห้ามการให้กู้ในวงเงินไม่เกิน 2,000 เหรียญ ที่มีระยะเวลาจ่ายคืนภายใน 15 วัน และให้จำกัดค่าธรรมเนียมที่ไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนเงินที่กู้ รวมถึงการคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4 ต่อเดือน แต่ผู้ประกอบการใช่จะยอมถอยไปง่ายๆ อัจริยะทางการเงินเหล่านี้หันมาให้กู้ 100 เหรียญ ในระยะเวลา 16 วัน ซึ่งเมื่อคำนวณดูแล้ว คุณยังต้องใช้คืนถึง 124 เหรียญ   ลูกบอลขยัน แต่มันไม่ช่วยขยี้CHOICE ฟันธง! ลูกบอลนาโนสมาร์ตที่อ้างว่าจะมา “ปฏิวัติวิธีซักผ้าของคุณ” และปลดแอกคุณจากเทคโนโลยีแสนโบราณอย่างผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่มนั้น ... มันไม่เวิร์คการทดสอบโดยห้องปฏิบัติการของ CHOICE พบว่า มันทำอะไรไม่ได้เลย ... ยิ่งกว่านั้น เมื่อเทียบกันแล้วเขาพบว่า ผ้าที่ซักด้วยเครื่องซักผ้าที่มีเพียงน้ำเปล่า ยังสะอาดกว่าตอนที่ใส่ลูกบอลราคา 50 เหรียญนี้ลงไปเสียอีก แล้วเจ้า “ไบโอเซรามิกส์” ในลูกบอลมันไปทำอะไรอยู่ที่ไหน ไม่มาปล่อยแสงอินฟราเรด หรือยิงประจุลบลดขนาดโมเลกุลของน้ำให้มันเล็กจนชอนไชไปจัดการคราบสกปรกในเนื้อผ้าได้ … ดังที่โฆษณา   เครื่องซักผ้าไฟแรงรู้กันหรือยัง ว่าเครื่องซักผ้าอาจทำให้ไฟไหม้บ้านได้ ก่อนซื้อย่าลืมตรวจสอบว่ารุ่นที่คุณสนใจนั้นอยู่ในรายชื่อที่ถูกเรียกคืนหรือเปล่า แต่ถ้าบริษัทไม่ยอมประกาศเรียกคืนสินค้า แล้วผู้บริโภคอย่างเราจะทำอย่างไร ที่แน่ๆ CHOICE ขอมอบรางวัลเยี่ยมแย่ให้กับซัมซุง โทษฐานที่อิดออดเป็นนานกว่าจะยอมเรียกคืนเครื่องซักผ้าฝาบนที่มีความเสี่ยงเกิดไฟไหม้จำนวน 144,000 เครื่องออกจากตลาดออสเตรเลีย จะว่าไม่รู้ก็คงไม่ใช่ นับถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เกิดปัญหากับเครื่องซักผ้าของซัมซุง 224 ครั้ง ในจำนวนนั้นบริษัทระบุว่าเป็นปัญหาไฟไหม้ถึง 76 ครั้ง ... เอิ่ม .. แต่เขากลับไม่ได้แจ้งต่อผู้บริโภคในช่องทางที่จะทำให้เกิดการรับรู้อย่างแพร่หลาย แถมยังผลักภาระค่าซ่อม ค่าอะไหล่กลับมาที่ผู้บริโภคอีกด้วย สุดท้าย หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ACCC ใช้อำนาจบังคับให้บริษัทรับซื้อเครื่องซักผ้าไฟแรงพวกนั้นคืนไป   หนังที่ไม่ใช่หนังถ้าคุณดูแคตาล็อคเฟอร์นิเจอร์ของอิเกีย หมวด “เฟอร์นิเจอร์หนัง” คุณจะพบว่ามีไม่น้อยเลยที่ทำจากวัสดุโพลีเอสเตอร์หรือโพลียูรีเทน เฉลยนั้นมีอยู่เป็นตัวเล็กๆ ภายใต้หัวข้อ “ข้อมูลผลิตภัณฑ์” ตัวอย่างเช่น โซฟารุ่นหนึ่งระบุว่า “สินค้ารุ่นนี้ทำจากวัสดุผ้าเคลือบที่มีความทนทาน ที่มีรูปลักษณ์และผิวสัมผัสคล้ายหนัง” หลังจากได้ทราบว่าตนเองเข้าข่ายผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลยอดแย่ บริษัทก็ได้ปรับปรุงข้อมูลในเว็บไซต์ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงแล้ว   มันต้องลดโค้กสิปีที่แล้ว โคคา โคลา ออสเตรเลีย มีกำไรลดลงจากสองปีก่อนหน้า ทำให้บริษัทต้องลงมือกอบกู้สถานการณ์โดยด่วน และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่บริษัทเข้าไปเป็นผู้สนับสนุน “เครือข่ายความสมดุลในการใช้พลังงาน” Global Energy Balance Network (GEBN) ที่อุทิศตนเพื่อหยุดยั้งภาวะโรคอ้วน ... แต่ไม่ใช่ด้วยการทำให้ผู้คนเลิกนิสัยการกินที่ไม่ดี (เช่น บริโภคเครื่องดื่มรสหวานมากเกินไป) หรอกนะ เขารณรงค์เรื่องการใช้พลังงานให้สมดุลกับสิ่งที่บริโภคเข้าไป ทำนองว่ากินหวาน กินมากไม่เป็นไร แค่ต้องใช้แรงออกไปให้มากพอกันเป็นใช้ได้ เ พื่อเห็นแก่ “วิทยาศาสตร์” แบบเข้าข้างตัวเอง CHOICE เลยแจกรางวัลนี้ให้   กดไม่ลง พอเข้าใจได้ถ้าคุณจะทิ้งทิชชูเปียกสำหรับเด็กลงชักโครก เพราะฉลากของคลีเน็กซ์เขาระบุว่า “สามารถกดลงชักโครกได้” คือ ... คุณจะทิ้งก็ได้ แต่บอกเลยว่ามันไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนั้น และมันจะสร้างความขุ่นเคืองให้ช่างประปาแถวบ้านคุณมิใช่น้อย ทิชชูเปียกพวกนี้ นอกจากจะไม่เป็นมิตรต่อท่อน้ำทิ้งแล้ว มัยยังไม่เป็นมิตรกับผู้บริโภคที่เสียเงินซื้อสินค้าชนิดกดลงชักโครกได้ ที่ไม่ควรนำมากดลงชักโครก แล้วถ้าท่อเกิดตันขึ้นมา ใครจะเป็นคนจ่ายเงินค่าเรียกช่าง? คนออสซี่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์พวกนี้ทำให้พวกเขาเสียเงินไม่ต่ำกว่า 15 ล้านเหรียญ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 กระแสต่างแดน

Chonky Awards 2012 แม่ช้อยส์เจ้าเก่าเขากลับอีกครั้ง ไม่ได้มารำโชว์แต่มาประกาศผลรางวัลผลิตภัณฑ์/บริการ ยอดแย่ประจำปี 2012 CHOICE เป็นชื่อขององค์กรเพื่อผู้บริโภคและนิตยสารเพื่อผู้บริโภคเช่นเดียวกับ ฉลาดซื้อ (ต่างกันตรงที่เขามีทุนในการทดสอบสินค้าและบริการสูงกว่ามาก เพราะเขาก่อตั้งมากว่า 50 ปี และมีสมาชิกในออสเตรเลียไม่ต่ำกว่า 200,000 คน)     เครื่องนี้ต้องซักฟอก จากการทดสอบเครื่องซักผ้าไปแล้ว 170 เครื่อง ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา CHOICE พบว่ามีเครื่องซักผ้ารุ่นหนึ่งใช้น้ำถึง 224 ลิตร ในการซักผ้า 3.5 กิโลกรัม ด้วยโปรแกรมซักอัตโนมัติ เครื่องรุ่นที่ควรค่าแก่การถูกซักฟอกครั้งนี้ได้แก่ เครื่องซักผ้าซัมซุงฝาบน ขนาด 7 กิโลกรัม รุ่น SW70SP ใช้น้ำ มากแล้วจะซักได้สะอาดขึ้น? ... เครื่องซักผ้าดังกล่าวได้คะแนนการล้างผงซักฟอกออกถึงร้อยละ 99 แต่ได้คะแนนการกำจัดคราบสกปรกไปเพียงร้อยละ  62 ในขณะที่เครื่องที่ได้คะแนนกำจัดคราบสูงสุด ใช้น้ำเพียง 1 ใน 4 ของ ปริมาณนี้  ความจริงเครื่องรุ่นนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่ได้ 4 ดาวในเรื่องการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ แต่การคำนวณนี้คิดจากการทดสอบที่ทำโดยห้องปฏิบัติการที่มีนักวิจัยคอยตั้งโปรแกรมการซักให้เหมาะสม  แต่แม่ช้อยส์เชื่อว่า ผู้บริโภคทั่วไปจะเลือกใช้โปรแกรมซักอัตโนมัติมากกว่า   เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจโปรแกรมออโต้ กันน้ำ (ออก) ยอดเยี่ยม อ้างอิงจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของเขาเอง ลิควิเพล คือเทคโนโลยีนาโน ที่ใช้เคลือบอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางน้ำ คนออสซี่ส่วนหนึ่งยินดีควักกระเป๋า 99 เหรียญ (ประมาณ 3,000 กว่าบาท) เพื่อสร้างความมั่นใจว่าอุปกรณ์อันเป็นที่รักจะมีอายุการใช้งานนานขึ้น เว็บไซต์ของลิควิเพล สาธิตประสิทธิภาพของลิควิเพลด้วยการทำให้เห็นว่า ไอโฟนที่ผ่านการเคลือบแล้วยังอยู่ดีมีสุขหลังจากลงไปนอนแช่น้ำเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่เขามีคำเตือนว่าไม่ควรทำการทดลองดังกล่าวนี้เองที่บ้าน บังเอิญว่าทีมงานแม่ช้อยส์ไม่เชื่อคำเตือน เลยไปซื้อไอโฟนและไอแพด ส่งไปเคลือบลิควิเพล แล้วนำมาทดลองแช่น้ำดูบ้าง ปรากฏว่าอุปกรณ์เหล่านั้นแทบจะเสียชีวิตในทันที เมื่อทำการทดลองซ้ำอีก (งบเยอะจริง... ชักจะอิจฉาแล้วนะ) ก็พบว่าโทรศัพท์เครื่องที่เคลือบแล้วนั้น มีอาการ “น้ำเข้า” ไม่ต่างอะไรกับเครื่องที่ไม่ได้เคลือบ แถมยังมีรายงานจากหน่วยกู้ภัยว่า ในกลุ่มผู้รอดชีวิตนั้น มีเครื่องที่ไม่ได้ผ่านการเคลือบอยู่ด้วย     ผลิตภัณฑ์ที่ไม่อาจ “เลิกรา” จากการทดสอบผลิตภัณฑ์กำจัดราทั้งหลายในปีนี้ แม่ช้อยส์เขาพบว่าไม่มีผลิตภัณฑ์ใดเลยที่สามารถ “ฆ่า” เชื้อราได้จริงๆ ผู้เชี่ยวชาญสาขาราวิทยาบอกว่า สาเหตุหลักเป็นเพราะผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อรา เหล่านี้ไม่สามารถเจาะผ่านพื้นผิวที่เป็นรูพรุนอย่างปูนยาแนว ลงไปจัดการกับราต่างๆ ซึ่งมั่วสุมกันอยู่ภายใต้มันได้ ที่เราเห็นว่าขาวขึ้นนั้นเป็นเพียงอิทธิฤทธิ์ของสารฟอกขาว ซึ่งถ้าใช้ไปเรื่อยๆ กระเบื้องและปูนยาแนวก็จะสึกมากขึ้น เปิดโอกาสให้ราทั้งหลายขยายขอบเขตการปกครองออกไปได้อีก แม้จะมีราบางตัวที่อยู่ด้านบนถูกกำจัดออกไปได้ แต่ตัวแม่ยังคงฝังแน่นอยู่ในปูนยาแนว และพร้อมที่จะออกมาเฮฮาปาร์ตี้ได้อีก CHOICE เลยบอกว่าขอเถอะ อย่าได้เที่ยวโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์นั้น “สามารถขจัดราฝังลึก” หรือ “ซึมผ่านพื้นผิวเข้าไปกำจัดราที่ต้นตอ” อีกเลย   ธรรมชาติบำบัดไม่ได้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าที่ออสเตรเลียก็มีผลิตภัณฑ์แนว “น้ำป้าเช็ง” ขายเหมือนกัน แม่ช้อยส์ลงความเห็นว่า การขายน้ำ (ที่อ้างว่าสามารถรักษาได้สารพัดโรค) ในราคาลิตรละ 1,000 เหรียญ มันก็แย่พออยู่แล้ว แต่การหลอกลวงพ่อแม่ที่อยากให้ลูกหายป่วยโดยเร็วนี่มันออกจะใจร้ายไปหน่อย ยาสมุนไพร เนเจอร์ส์ เวย์ คิดส์มาร์ท (ซึ่งเคยโดนตักเตือนมาแล้วเรื่องการโฆษณาเกินจริง) อ้างว่าสามารถรักษาอาการไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ แพ้อากาศ น้ำมูกไหล และทำให้เด็กรู้สึกสบายขึ้น ด้วยส่วนผสม “จากธรรมชาติ” หนึ่งในส่วนผสมที่ว่าของ “น้ำรสผลไม้” นี้ประกอบด้วย สตริกนิน 1 ส่วนในล้านส่วน (ถูกต้องแล้ว .. สตริกนิน .. ยาพิษ แบบในหนังที่เคยดูนั่นแหละ) ซึ่งปริมาณดังกล่าวไม่มากพอที่จะเป็นอันตรายต่อเด็ก แต่ ... ความเสี่ยงคือการเสียเวลาไปเปล่าๆ เพื่อรอผลการรักษาโดยไม่ได้หาวิธีการอื่นๆ เพราะอาการหงุดหงิด ร้องไห้โยเย ไม่หลับไม่นอนของเด็กนั้นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคร้ายแรงที่เกินกว่าการรักษาแบบธรรมชาติจะรับมือไหว   ขนมสร้างความแตกแยก ขนมรวยเพื่อนก็รู้จักกันมานานแล้ว เรามาดูขนมที่อาจทำให้เสียเพื่อนกันบ้าง เนื่องจากแม่ช้อยส์แกเป็นคนละเอียดถี่ถ้วน แม้แต่จะซื้อขนมมาแจกเพื่อน แกก็ไม่ลืมเช็คก่อนว่าจะพอรับประทานกันโดยเท่าเทียมหรือเปล่า บ่อยเข้าแกเลยพบว่าขนมหวานรสช็อกโกแลตยี่ห้อทอปเบอโรน มันมีฉลากที่ไม่ชอบมาพากล ฉลากขนมทอปเบอโรน ขนาด 400 กรัม ระบุว่าทานได้ 16 ที่ แต่ว่าที่เขาแบ่งมาเป็นยอดปิระมิดเล็กๆ ในกล่องนั้นมีเพียงแค่ 15 ชิ้นเท่านั้น ขนาด 200 กรัมก็เช่นกัน ฉลากระบุว่า ทานได้ 8 ที่ (แต่มี 15 ชิ้น) ส่วนขนาด 50 กรัมนั้นระบุว่าทานได้ 2 ที่ (มี 11 ชิ้น)  มีเพียงขนาด 100 กรัมเท่านั้น พอจะแบ่งกันได้ไม่เกิดความแตกแยก   อย่ามาตั๋ว ค่าธรรมเนียม ตามประสาคนชอบดูมหรสพ แม่ช้อยส์แกหงุดหงิดกับภาวะไม่มีทางเลือก เพราะบัตรคอนเสิร์ต/การแสดงจากต่างประเทศ ทั้งหมดในประเทศออสเตรเลีย จัดจำหน่ายโดย ทิคเก็ตเทค และทิคเก็ตมาสเตอร์ ซึ่งคิด “ค่าธรรมเนียมพิเศษ” แพงเหลือเกิน คอนเสิร์ตของเอลตัน จอห์น ที่จัดขึ้นซิดนี่ย์ เอนเตอร์เทนเมนท์เซ็นเตอร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ราคาที่นั่งที่ถูกที่สุดคือ 119.90 เหรียญ (ประมาณ 3,800 บาท) ถ้าจ่ายด้วยบัตรเครดิตทิคเก็ตมาสเตอร์คิดค่าธรรมเนียมอีก 2.64 เหรียญ (85 บาท) และ “ค่าดำเนินการ” อีก 9.50 เหรียญ (300 บาท) รวมๆ แล้วก็เกือบๆ 4,200 บาท ด้าน ทิคเก็ตเทค ก็ใช่ย่อย รายนี้มีค่าจัดส่งด้วย คอนเสิร์ตของเจนนิเฟอร์ โลเปซ ที่รอดลาเวอร์ อารีน่า ตั๋วราคาต่ำสุดคือ 101.60 เหรียญ (ประมาน 3,200 บาท) รวมค่าจัดส่งอีก 5.20 ถึง 11.10 เหรียญ (160 -  350 บาท) ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดส่ง บวกค่าธรรมเนียมการจ่ายด้วยบัตรเครดิตอีกร้อยละ 1.75 บริษัทที่คิดค่าธรรมเนียมเป็นธรรมกว่านี้ก็เคยมี แต่ถูกเบียดตกเวทีไปแล้วโดยดูโอยักษ์ใหญ่ทั้งสอง ปีกลายทิคเก็ตเทค โดนปรับ 2,500,000 เหรียญ ข้อหามีพฤติกรรมผูกขาดทางธุรกิจ ซึ่งนับว่าเป็นเงินจิ๊บๆ สำหรับกำไร 50 ล้านเหรียญในปีดังกล่าว   ค่าแท็กซี่ติดเทอร์โบ แม่ช้อยส์คิดไปคิดมาแล้วงงว่า ทำไมการจ่ายค่าแท็กซี่ด้วยบัตรเครดิตเพื่อความสะดวกมันถึงได้แพงเลยเถิดขนาดนี้ ลองนึกภาพ... คุณมาถึงที่หมายและกำลังจะจ่ายเงินค่าแท็กซี่ มองไปเห็นค่าโดยสารขึ้นที่มิเตอร์ 42.10 เหรียญ (ราคานี้รวมค่าโดยสารเริ่มต้น ค่าจอง ค่าทางด่วน/ทางพิเศษ ค่าธรรมเนียมกลางคืนและภาษี) แต่บังเอิญคนขับไม่มีเงินทอนพอสำหรับแบงค์ 50 ของคุณ คุณเลยจ่ายด้วยบัตรเครดิต เลยโดนเรียกเก็บค่า “เซอร์ชาร์จ” อีกร้อยละ 10 (ซึ่งโดยทั่วไปเขาคิดกันไม่เกินร้อยละ 3 เท่านั้น) บริษัทแค็บชาร์จ ซึ่งเป็นผู้ดูแลการจ่ายเงินค่าแท็กซี่ผ่านบัตรเครดิต อธิบายว่านั่นไม่ใช่ “เซอร์ชาร์จ” มันเป็น “ค่าธรรมเนียมการให้บริการทางการเงิน” ต่างหาก นอกจากนี้ยังมีภาษีอีก 1% สำหรับบัตรเครดิตอื่น ที่ไม่ใช่บัตรของแค็บชาร์จเองด้วย     บริษัททัวร์เจ้าเล่ห์ คุณเลือกจ่ายค่าทริปในฝันของคุณผ่านบัตรเครดิต เพราะถ้าบริษัททัวร์ไม่สามารถจัดทัวร์ให้คุณได้หรือมีเหตุให้เลิกกิจการไปกะทันหัน คุณจะได้รับเงินคืน ซึ่งเป็นเงื่อนไขตามบริการ “chargeback” ที่คุณสมัครไว้กับบริษัทบัตรเครดิตในกรณีที่คุณไม่ได้รับสินค้าหรือบริการที่จ่ายผ่านบัตรเครดิต (โดยบริษัทบัตรเครดิตจะเป็นฝ่ายไปเรียกเก็บเงินกับผู้ขายเอง) บริการนี้สำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการซื้อทัวร์ต่างประเทศ เพราะมันไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของ “ประกันภัยการเดินทาง” แต่บริษัทเจ็ทเซท ทราเวลเวิร์ลด กรุ๊ป และบริษัทในเครือ (ซึ่งคุม 1 ใน 3 ของธุรกิจนี้ในออสเตรเลีย) มีข้อความใน “ข้อตกลงและเงื่อนไข” ที่ระบุว่าลูกทัวร์จะยินยอมงดเว้นการใช้สิทธิ “chargeback” กับบริษัท แม้สิ่งที่เจ็ทเซททำจะไม่ผิดกฎหมาย แต่แม่ช้อยส์เขาขอประณามการกระทำดังกล่าว ซึ่งเข้าข่ายเจ้าเล่ห์และไร้จริยธรรมไปหน่อย

อ่านเพิ่มเติม >