ฉลาดซื้อเปิดเผยผลทดสอบโลหะหนักจากปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ ปลอดภัยไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ โดยโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลากระป๋องชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ ที่วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าทั่วไป โดยเก็บตัวอย่างเดือนกรกฎาคม 2563 จำนวน 14 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของโลหะหนัก 3 ชนิด ได้แก่ ปรอท, ตะกั่ว และแคดเมียม และสังเกตปริมาณโซเดียมบนฉลากนางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวสรุปผลการทดสอบว่า พบผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศจำนวน 14 ตัวอย่าง มีปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขโดยการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ประเทศไทยกำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ สามารถตรวจพบปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และมีปริมาณตะกั่วได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่องอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท*          ส่วนการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ประเทศไทยกำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 98 ) พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน          *ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา            โดยประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องทั้ง 14 ตัวอย่าง ก็ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของประกาศฯ ฉบับใหม่นี้เช่นกัน          ส่วนข้อสังเกตปริมาณโซเดียมนั้น จากการสำรวจปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลากโภชนาการ พบว่า ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำน้อยที่สุด คือ ยี่ห้อ สามแม่ครัว ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ มีปริมาณโซเดียม เท่ากับ 230 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ ½ กระป๋อง (77 กรัม) และ ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำมากที่สุด คือ ยี่ห้อ ซูมาโก ซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 660 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ 1 กระป๋อง (125 กรัม)          ทั้งนี้ในแต่ละยี่ห้อมีปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำแตกต่างกันไป ตั้งแต่ ½ กระป๋อง (ประมาณ 77 กรัม) ถึง 1 กระป๋อง (ประมาณ 125 กรัม) ดังนั้นการพิจารณาปริมาณโซเดียมที่ได้รับจากการบริโภค จึงต้องเปรียบเทียบหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำประกอบกันไปด้วย และ โดยทั่วไปปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของอาหารในกลุ่มอาหารบรรจุกระป๋อง ขวดแก้วที่ปิดสนิท หรือในซองอะลูมิเนียมฟอยล์ จำพวกเนื้อสัตว์ ปลา หอย ในซอส เช่น ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศอยู่ที่ 85 กรัม แม้ว่าปลากระป๋องจะมีคุณค่าทางอาหารโดยเฉพาะให้โปรตีนสูง แต่เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก อยู่บ้างจากการสะสมในธรรมชาติ ซึ่งแม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยครั้งจนเกินไป ก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ จึงควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ สลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น          ข้อควรระวังอีกอย่างก็คือความเสี่ยงจากสารอันตรายที่เรียกว่า "ฮีสตามีน" ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียที่ย่อยกรดอะมิโนในตัวปลา ในระหว่างการขนส่งและจัดเก็บปลาทะเลที่ควบคุมความเย็นได้ไม่มากพอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีอาการแพ้ฮีสตามีนได้ นอกจากนี้ ปลากระป๋องยังมีโซเดียมในปริมาณสูงเช่นกัน หากบริโภคมากจนเกินไปก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตหรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้อ่านข้อมูลและผลทดสอบได้ที่ นิตยสารฉลาดซื้อ https://chaladsue.com/article/3499

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ผลทดสอบโลหะหนัก ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ

        ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 231 (เดือนพฤษภาคม 2563) ได้สำรวจและทดสอบโลหะหนักในปลาทูน่ากระป๋องไปแล้ว และเพื่อเฝ้าระวัง “ปลากระป๋อง” อาหารคู่บ้านอย่างต่อเนื่อง ในฉบับนี้ขอนำเสนอผลทดสอบโลหะหนักในผลิตภัณฑ์ปลากระป๋อง ชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศบ้าง         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลากระป๋องชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ ที่วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินทั่วไปจำนวน 14 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของโลหะหนัก 3 ชนิด ได้แก่ ปรอท, ตะกั่ว และแคดเมียม และสังเกตปริมาณโซเดียมบนฉลาก ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์แสดงในหน้าถัดไป         สรุปผลการทดสอบ         พบว่า ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศจำนวน 14 ตัวอย่าง มีปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข         โดยการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ประเทศไทยกำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ สามารถตรวจพบปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และมีปริมาณตะกั่วได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่องอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท*         ส่วนการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ประเทศไทยกำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 98 ) พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน         *ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา           โดยประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องทั้ง 14 ตัวอย่าง ก็ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของประกาศฯ ฉบับใหม่นี้เช่นกัน  ข้อสังเกตปริมาณโซเดียม         จากการสำรวจปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลากโภชนาการ ของตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องทั้ง 14 ตัวอย่าง         พบว่า ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำน้อยที่สุด คือ ยี่ห้อ สามแม่ครัว ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ มีปริมาณโซเดียม เท่ากับ 230 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ ½ กระป๋อง (77 กรัม)         และ ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำมากที่สุด คือ ยี่ห้อ ซูมาโก ซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 660 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ 1 กระป๋อง (125 กรัม)         ทั้งนี้ในแต่ละยี่ห้อมีปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำแตกต่างกันไป ตั้งแต่ ½ กระป๋อง (ประมาณ 77 กรัม) ถึง 1 กระป๋อง (ประมาณ 125 กรัม) ดังนั้นการพิจารณาปริมาณโซเดียมที่ได้รับจากการบริโภค จึงต้องเปรียบเทียบหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำประกอบกันไปด้วย และ โดยทั่วไปปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของอาหารในกลุ่มอาหารบรรจุกระป๋อง ขวดแก้วที่ปิดสนิท หรือในซองอะลูมิเนียมฟอยล์ จำพวกเนื้อสัตว์ ปลา หอย ในซอส เช่น ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศอยู่ที่ 85 กรัม  คำแนะนำในการบริโภค         แม้ว่าปลากระป๋องจะมีคุณค่าทางอาหารโดยเฉพาะให้โปรตีนสูง แต่เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก อยู่บ้างจากการสะสมในธรรมชาติ ซึ่งแม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยครั้งจนเกินไป ก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ จึงควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ สลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น        สำหรับการเลือกซื้อปลากระป๋องนอกจากการอ่านข้อมูลบนฉลากบรรจุภัณฑ์ เช่น สถานที่ผลิตที่น่าเชื่อถือ เลขสารบบอาหาร (เลข อย.) สังเกตวันหมดอายุแล้ว ยังควรตรวจดูสภาพของกระป๋องว่าไม่บุบ โป่ง บวม มีรอยรั่ว หรือเป็นสนิม        ข้อควรระวังอีกอย่างก็คือความเสี่ยงจากสารอันตรายที่เรียกว่า "ฮีสตามีน" ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียที่ย่อยกรดอะมิโนในตัวปลา ในระหว่างการขนส่งและจัดเก็บปลาทะเลที่ควบคุมความเย็นได้ไม่มากพอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีอาการแพ้ฮีสตามีนได้        นอกจากนี้ ปลากระป๋องยังมีโซเดียมในปริมาณสูงเช่นกัน หากบริโภคมากจนเกินไปก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตหรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้ข้อมูลอ้างอิง- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่อง อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน - กิน "ปลากระป๋อง" อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ   (https://news.thaipbs.or.th/content/254561) - บทความ Histamine, กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง กรมประมง  (https://www.fisheries.go.th/quality/บทความ-Histamine-300658-Final.pdf) - ปลาซาร์ดีน (Sardine), ฐานข้อมูลงานวิจัยปลาทูน่าและปลาซาร์ดีน สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)     (http://agknowledge.arda.or.th/tuna&sardine/?page_id=264)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 ซอสมะเขือเทศเชอร์รี่ ของคุณชาวนาฯ

เตรียมตัวไปเยี่ยมผู้ใหญ่ แต่เตลิดเลยไปบ้านคุณชาวนา ลูกหลานพญาคันคากที่สุพรรณบุรีเสีย  เลยได้ของฝากจากคุณชาวนาฯ มาฝากท่านผู้อ่าน   ผู้ใหญ่ที่ว่านั้น เป็นชาวนาสูงวัย 2 ราย ที่ฉันเคยได้ไปขออาศัยศึกษาข้อมูลความรู้เรื่องนาฟางลอยเมื่อ 2 ปีก่อน   รายแรกที่แวะไปเยี่ยม  เป็นคู่สามี-ภรรยา  วัย 60 ปี   ที่ทำนามาตลอดชีวิต  ตอนที่ไปหานั้นทั้งคู่อยู่ในนาทั้งที่เป็นเวลาบ่ายสี่โมงกว่าๆ แล้ว  เราคุยทักทายกันเบื้องแรกอยู่ไม่กี่นาทีประสาคนไม่เจอหน้ากันนานหลายเดือน  สักพักป้าแกเลยพาไปนั่งหลบเงารถแทรกเตอร์พ่วงบนคันนา  จึงได้รู้ว่านอกจากโครงการจำนำข้าวจะสร้างความพึงพอใจในด้านการผลิตของแก แล้ว  แกเพิ่งนำเงินกำไรจากการขายข้าวไปดาวน์รถคันแรกให้กับลูกชายคนสุดท้ายที่เพิ่งได้งานทำในบริษัท หลังจากช่วงที่ว่างงานลูกชายคนนี้เคยมาช่วยงานในนาบ้างเป็นครั้งคราว  แต่เขาก็ไม่ได้ชอบงานนาสักเท่าไหร่   ทั้งลุงและป้าก็อยากให้เขาได้งานที่สบายกว่าเป็นชาวนา     ฝ่ายลุงก็ยังอดเปรยให้ฉันฟังไม่ได้ว่าบริษัทของลูกชายนั้นเขี้ยว  หาคนเข้าไปทำงานก็ต้องมีรถไปด้วย บริษัทไม่ยอมซื้อให้  ยอมจ่ายแต่ค่าน้ำมัน   อีกรายเป็นชาวนาวัย 70 กว่า  ที่นอกจากทำนาปีในช่วงฤดูนาปีแล้ว  ยังปล่อยให้คนเช่าทำนาปรังของตัวเองในช่วงฤดูนาปรังด้วย   ส่วนรอบๆ บ้านของแกก็มีบ่อปลา เลี้ยงไก่ ปลูกกล้วย ผลไม้ และผักสวนครัวไว้กินตามประสาคนไกลตลาด    สิ่งที่น่ายินดีไปกับแกด้วย  คือลูกชายคนโตที่แกส่งเรียนจนเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ในโรงพยาบาลอำเภอนั้นมาหลายปี เก็บเงินเก็บทองได้ก้อนใหญ่กลับมาซื้อที่นาแปลงใกล้ๆ บ้านไว้ 30 ไร่  และพ่อลูกสองคนได้ใช้โอกาสตระเวนไปดูงานชาวนาดีเด่นอย่าง คุณชัยพร พรหมพันธุ์ , คุณทองเหมาะ แจ่มแจ้ง  และที่อื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมจะมาเป็นชาวนา   แต่คุณลุงแกก็ยังแย้มออกมาว่า ต้องดูก่อนเรื่องน้ำที่ปีนี้ว่าแล้งมากและอาจจะเบิกที่ทำนาปรังไม่ได้  และถึงทำนายังไม่ได้การมีที่ดินที่รู้แต่แรกว่าถนนเส้นใหญ่จะตัดผ่านใกล้ๆ บริเวณนั้น มันช่างการเป็นการเก็งกำไรที่คุ้มค่า  ถึงไม่ได้ทำนา ราคาที่ดินก็ขึ้นมาอยู่ดี แม้บริเวณทุ่งนาแห่งนี้จะถูกประกาศให้เป็นแอ่งรับน้ำนองในช่วงที่เกิดอุทกภัยในเขตเมืองก็ตาม   ฟังข่าวดีของผู้ใหญ่ชาวนาที่ฉันไปเยี่ยมแล้วอดแช่มชื่นใจไปกับแกด้วยไม่ได้   นี่ไม่รวมความครึ้มอกครึ้มใจที่ได้ของฝากแสนอร่อยของคุณชาวนาฯ เพื่อนฉันด้วยนะนี่   ของฝากจากคุณชาวนาฯ ที่ว่า เป็นซอสมะเขือเทศโฮมเมท ที่คุณชาวนาฯ ปลูกเองเคี่ยวเอง กินอร่อยเองภายในครอบครัวแล้วยังมีเหลือแบ่งมาให้ฉันได้ทดลองกิน    แค่ได้ดมก็หอมเหลือใจ  มันมีกลิ่นของอบเชยลอยอวลมากระทบจมูกแล้วชวนน้ำลายไหล พาให้คิดไปไกลว่าจะทำอะไรกินดีระหว่าง พาสต้าของชอบ กับพิซซ่าที่พอจะหาสูตรแป้งในอินเตอร์เน็ตได้ แต่ไม่มีเตาอบสำหรับมัน   คุณชาวนาฯ ปลูกมะเขือเทศเชอร์รี่ไว้  ทั้งกินเองและเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้บรรจุเป็นซองสวยงามจำหน่ายทั้งตามงานของเหล่าชาว GREEN ตามแต่จะมีโอกาส และทางอินเตอร์เน็ตผ่านโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook  ด้วย  พอมีผลผลิตเหลือเยอะเกินจัดการ ก็เปิดค้นหาทั้งรูปแบบและวิธีการแปรรูปจากอินเตอร์เน็ต  แล้วก็เอารูปผลิตภัณฑ์มาอวดกันใน Facebook   หลังจากทั้งได้ดูภาพใน Facebook  ได้ดมและได้กินซอสของจริงแล้ว ฉันว่าผู้ที่สนใจก็อาจจะเอาไปทดลองทำได้ง่ายๆ ไม่ยากเลย   ส่วนประกอบ มะเขือเทศเชอร์รี่สุก                   2              ถ้วย หอมหัวใหญ่                           1              ถ้วย น้ำส้มสายชู                            2              ช้อนโต๊ะ น้ำสะอาด                              ½             ถ้วย เกลือป่น                               1              ช้อนชา อบเชย                               2 – 3          ชิ้น   วิธีทำ นำมะเขือเทศและหอมหัวใหญ่ใส่น้ำ ปั่นด้วยเครื่องปั่นน้ำผลไม้  แล้วเทใส่หม้อเคลือบ  ใส่ส่วนผสมที่เหลือทั้งหมดลงไปในหม้อ ตั้งไฟอ่อนๆ เคี่ยวสัก 30 นาที โดยคนตลอดเวลา  แล้วปิดเตาไป  ยกลง ตั้งให้เย็น   จากนั้นนำไปกรองด้วยกระชอนตาละเอียด หรือกระชอนร่อนแป้ง  กรองเอาแต่น้ำซอสไว้ใช้   สูตรนี้คุณผู้อ่านอาจจะปรับแต่งรสชาติได้เองตามชอบโดยการชิมแล้วค่อยๆ ปรุงเพิ่ม   ถ้าทำในปริมาณมากโดยเก็บใส่ขวดแก้วสะอาดมีฝาปิดแช่ไว้ในตู้เย็น   เมื่อต้องการนำมาใช้ปรุงอาหาร หรือใช้เป็นเครื่องจิ้ม จึงเทแบ่งมาใช้   ฉันทดลองนำซอสมะเขือเทศทำเองของคุณชาวนามาทาขนมปังเป็นแยมกินก็อร่อยดี  ปิ้งขนมปังให้กรอบแล้วทา  จะเสริมเพิ่มแฮมโบโลน่า และ Cheddar Cheese  ลงไปด้วยก็ได้ตามอัธยาศัย   นึกแผลงขึ้นมาอีกนิดก็เอาซอสทาขนมปังแล้วเอากุ้งสดที่ล้างสะอาดผ่ากลางตัวเอาเส้นดำกลางหลังออกมาวางแผ่หรา    แล้วเรียงด้วยถั่วแขกหั่นแฉลบ ของคุณชาวนาฯ นั่นแหละลงไป  โปะด้วย  Cheddar Cheese  ที่หั่นเป็นริ้วๆ แล้วยกไปใส่ไมโครเวฟอบแป๊บเดียวก็ได้กิน   เสียแต่ว่า ขนมปังที่รองมันบางและใส่ซอสมากไปนิด เลยออกจะแฉะไป  เลยกะว่าจะลองปิ้งขนมปังให้เกรียมกรอบก่อน ค่อยบรรจงทาซอส เรียงชิ้นถั่วแขกแล้วเอาเข้าเวฟใหม่คราวหน้า   นี่ยังเสียดายว่าฉันเพลินชิมซอสไปนิด  ถ้ามีเหลือมากกว่านี้   เอาตับหมูบดละเอียดแล้วเอาลงไปเคี่ยวไฟอ่อนๆ ให้ตับสุก  ก็จะได้เป็นแยมตับกับซอสเชอร์รี่ เอาไว้ทาขนมปังกินยามเร่งด่วนก็คงจะดีไม่น้อยทีเดียว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 88 อร่อยกับซอสมะเขือเทศอย่างปลอดภัย

ปัจจุบันซอสมะเขือเทศนั้น ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ  ตามลักษณะของอาหารการกินที่ได้รับค่านิยมมาจากฝรั่ง แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า สเต็ก สปาเก็ตตี้ ฯลฯ  และครอบครัวรุ่นใหม่ก็จะต้องมีไว้ติดครัวกันเกือบทุกบ้าน การตลาดของซอสมะเขือเทศแม้มีกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างกว้างตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ แต่ส่วนใหญ่แล้วเชื่อหรือไม่ว่า การตัดสินใจซื้อกลับตกไปที่เด็กๆ ในบ้าน เนื่องจากเด็กๆ ต่างล้วนติดใจในความอร่อยของรสชาติหวานๆ เปรี้ยวๆ ของซอสมะเขือเทศ ซึ่งนิยมเป็นเครื่องจิ้มอาหารโดยเฉพาะของทอดต่างๆ อย่างไข่เจียว ไส้กรอกหรือลูกชิ้น ปกติเครื่องปรุงรสอาหารหรือเครื่องจิ้มในอาหารไทยไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา ซอสปรุงรส ซีอิ้ว เราจะรับประทานกันในปริมาณไม่มากเพราะความเค็ม แต่ซอสมะเขือเทศเป็นอะไรที่แตกต่างเพราะเวลาจิ้มกินกับอาหารเราจะกินกันในปริมาณมากพอสมควร เพราะมีรสหวานนำ ทำให้โอกาสที่จะรับส่วนผสมที่อาจมองข้ามอย่างน้ำตาลหรือเกลือ(โซเดียม) เข้าไปในร่างกายต่ออาหารมื้อหนึ่งๆ ก็สูงตามไปด้วย ซอสมะเขือเทศเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปหลายขั้นตอน จึงเป็นอาหารที่ต้องมีการกำกับดูแลตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 201) พ.ศ.2543 เรื่อง ซอสบางชนิด การรับประทานซอสมะเขือเทศแม้เราจะได้ประโยชน์จากส่วนผสมที่เป็นมะเขือเทศ ซึ่งเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่เมื่อผ่านความร้อนระดับอุณหภูมิเกิน 72 องศาเซลเซียส ย่อมทำให้สารอาหารหลายชนิดได้สูญเสียไปในกระบวนการผลิตแล้ว ดังนั้นควรรับประทานแต่พอเหมาะไม่มากเกินไป โดยเฉพาะกับเด็กๆ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับความดันโลหิต เบาหวาน โรคหัวใจ ทั้งเพื่อเลี่ยงน้ำตาล โซเดียม ตลอดจนสารกันบูดที่เป็นส่วนผสมสำคัญในซอสมะเขือเทศ จากการทดสอบของฉลาดซื้อพบว่า ซอสมะเขือเทศ 10 ยี่ห้อ มีปริมาณน้ำตาลโดยเฉลี่ยคือ 25.95 กรัม/น้ำหนัก 100 กรัม โดย ไฮนซ์ มีปริมาณน้ำตาลสูงสุด 28.4 กรัม ตามด้วยโรซ่าและภูเขาทอง คือ 27.4 กรัมและ 27.2 กรัม สำหรับโซเดียม พบว่ามีปริมาณค่าเฉลี่ยคือ 741 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 100 กรัม โดยยี่ห้อไฮนซ์ยังครองอันดับหนึ่งด้วยโซเดียมที่สูงถึง 1,035 มิลลิกรัม (เกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวันคือ ไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม) ตามมาด้วย เทสโก้และโรซ่า คือ 940 มิลลิกรัมและ 894 มิลลิกรัม ผลทดสอบน้ำตาลและโซเดียมในซอสมะเขือเทศ

อ่านเพิ่มเติม >