ฉบับที่ 265 โจรออนไลน์ หลอกขายต้นทุเรียนไม่ตรงปก

        เตือนภัย ! นักช้อปออนไลน์ ระวังโจรในคราบพ่อค้าคนกลางบนเฟซบุ๊ก         มิจฉาชีพเหล่านี้จะมาพร้อมข้อความโฆษณว่าขายสินค้าคุณภาพเลิศ ราคาเกินคุ้ม ส่งฟรี แถมเก็บปลายทางอีกต่างหาก เชิญชวนให้นักช้อปมือลั่นกดสั่งสินค้าไป โดยกว่าจะมารู้ตัวว่าถูกหลอกก็ตอนได้รับของไม่ตรงปกนี่แหละ แต่ใครจะคาดคิดว่าจะโกงกันได้แม้กระทั่ง “ต้นทุเรียน”         คุณสายลมอยากปลูกทุเรียน“มูซังคิง” ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ราชาแห่งทุเรียนมาเลย์’ มากๆ ด้วยเห็นว่าทุเรียนพันธุ์นี้ได้รับความนิยมมากและขายกันในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 500 บาท วันหนึ่งเห็นร้านหนึ่งโพสต์บนเฟซบุ๊กว่าขายต้นทุเรียน “มูซังคิง “ สายพันธุ์แท้จากมาเลเซีย ระบุว่ามี 3 ขา ใน 1 กระถาง ไซส์​สูงกว่า 1 เมตร  กำลังลดราคา 50 % พร้อมมีบริการเก็บเงินปลายทาง และรับประกันหากเกิดความเสียหายระหว่างขนส่งให้ด้วย รออะไรครับ...เขาจึงสั่งซื้อไป 6  ต้น เพื่อให้ได้โปรโมชันนี้ “แถมอีก 2  ต้น พร้อมปุ๋ย ราคารวมส่ง 950 บาท” พอสั่งไปแล้วทางร้านออนไลน์แจ้งกลับมาว่าให้รอประมาณ 5 วัน ต้นทุเรียนจะส่งไปถึงหน้าบ้าน แน่นอนว่าระหว่างนั้นเขาก็รออย่างใจจดใจจ่อ         เมื่อถึงกำหนดส่ง ต้นทุเรียนมาส่งตามกำหนดไม่ได้หลอกลวง แต่ทว่าวันนั้นเขาไม่อยู่บ้าน จึงฝากให้คนที่บ้านจ่ายเงินและเซ็นรับของไว้ให้แทน ปัญหาอยู่ตรงนี้จริงๆ เพราะถ้าเขาอยู่บ้านจะไม่รับของเด็ดขาด “สภาพกล่องที่ใส่ต้นทุเรียนมันสั้นมาก” เขามองก็รู้แล้วว่าได้ของไม่ตรงปกแน่ มือเริ่มสั่นแล้วคราวนี้ ยิ่งเมื่อเขาเปิดกล่องก็พบว่าต้นทุเรียนทั้ง 6 ต้น มีแค่ขาเดียวและสูงแค่ 40 เซนติเมตรไม่เหมือนคำโฆษณาสักนิด         คุณสายลมรีบติดต่อทางร้านทันทีแต่ก็ไร้สัญญาณตอบรับใดๆ และเขายังผิดสังเกตอีกอย่างด้วยว่า เขาสั่งซื้อสินค้าจากเพจเฟซบุ๊ก แต่ทำไมจ่าหน้าส่งมาจาก “แอปพลิเคชันชอปปิ้งสีส้ม” เขาคาดว่ามิจฉาชีพพวกนี้น่าจะสั่งซื้อทุเรียนพันธุ์ถูกๆ แล้วมาขายต่อเพื่อกินส่วนต่างอีกทีแน่ๆ เขาจึงโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรทำอย่างไรต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ได้สอบข้อเท็จจริงและขอหลักฐานบางส่วนจากทางคุณสายลมแล้ว จึงแนะนำเบื้องต้นให้คุณสายลมทำตามขั้นตอนดังนี้         1.รีบไปดำเนินการแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อให้ตำรวจเอาผิดกับเจ้าของเฟซบุ๊กที่หลอกลวงขายสินค้า         2.ส่งหนังสือแจ้งไปยังบริษัทขนส่งที่มาส่งของให้โดยด่วนเพื่อให้ระงับยอดเงิน 950 บาท (ที่ยังค้างอยู่กับทางบริษัทขนส่ง) ไม่ส่งไปให้กับร้านค้าที่กระทำการส่งสินค้าไม่ตรงปกมาให้ อีกทั้งขอให้ทางบริษัทนส่งคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหาย         เมื่อติดตามเรื่องจากคุณสายลมพบว่า ในระยะเวลา 1 เดือนภายหลังจากที่ได้ดำเนินการตาม ข้อ 1 และ 2 แล้ว ปรากฎว่ายังไม่คืบหน้า ทางมูลนิธิฯ จึงทำหนังสือสำทับไปยังบริษัทขนส่งอีกรอบ รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อขอให้ตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กของมิจฉาชีพด้วย           ปัจจุบันกรณีซื้อสินค้าแล้วได้รับของไม่ตรงปกนี้ อีกทางออกหนึ่งคือ ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องคดีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ได้ด้วย “ศาลยุติธรรมแผนกคดีซื้อขายออนไลน์” ได้เปิดระบบให้ผู้ร้องสามารถฟ้องคดีตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ร้องที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อขายออนไลน์สามารถยื่นเรื่องด้วยตัวเองและไม่จำกัดวงเงินมากน้อย แต่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ร้องจะต้องมีหลักฐานประกอบเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขาย หลักฐานการสั่งซื้อสินค้า หลักฐานการชำระเงิน รวมถึงวิดีโอที่ถ่ายขณะเปิดกล่อง เป็นต้น เมื่อเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ศาลจะดำเนินการสืบพยานและไกล่เกลี่ยผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด หากผู้ร้องประสงค์จะฟ้องคดีออนไลน์สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://efiling3.coj.go.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 กระแสต่างแดน

จ่ายแล้วจ่ายอีก        ตำรวจไต้หวันเตือนนักช้อปออนไลน์ให้ระวัง “โทรศัพท์แอบอ้าง” หลังมีผู้มาแจ้งความเรื่องดังกล่าวมากกว่า 2,725 ครั้งในไตรมาสที่สองของปีนี้กองบัญชาการสอบสวนอาชญากรรมของไต้หวันระบุว่า มิจฉาชีพเหล่านี้จะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการลูกค้าของร้านดังหรือแพลตฟอร์มรายใหญ่ เช่น ร้านหนังสือ books.com.tw ร้านอุปกรณ์กีฬา Decathlon Group หรือ Shopee เป็นต้น ลูกค้าจะได้รับแจ้งให้ชำระเงินซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากครั้งแรก “ทำรายการไม่สำเร็จ” หรือมีปัญหาในการทำ แบ่งผ่อนชำระ บ้างก็ได้รับข้อมูลว่าทำแล้วจะได้รับของแถม หรือได้อัปเกรดเป็นสมาชิกระดับวีไอพี ตำรวจจึงขอให้เว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มเหล่านี้กำกับดูแลบริษัทที่รับจ้างดูแลฐานข้อมูลของลูกค้าอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการรั่วไหล หรือการแฮคข้อมูล และให้แจ้งเตือนผู้ใช้ที่หน้าแรกของร้านด้วยส่วนผู้บริโภค ขอให้หลีกเลี่ยงการรับสายจากหมายเลขที่ขึ้นต้นด้วย +2 หรือ +886   จมด้วยกัน        ฝันร้ายของบริษัทประกันรถยนต์กลายเป็นจริง เมื่อมีการเคลมประกันเข้ามาพร้อมกันเป็นจำนวนมากโดยเจ้าของรถยนต์ในกรุงโซล หลังเกิดน้ำท่วมหนักเพราะฝนที่ตกหนักสองวันติดต่อกันเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการแจ้งเคลมประกันยานพาหนะที่เสียหายเข้ามากว่า 7,000 คัน และในจำนวนนั้นมีไม่ต่ำกว่า 1,500 คัน ที่เป็นรถนำเข้าราคาแพงของคนมีฐานะที่อาศัยอยู่ในย่านกังนัม   กรณีของบริษัทซัมซุงไฟร์แอนด์มารีนอินชัวรันส์ จากรถที่แจ้งเคลมเข้ามา 2,371 คัน มี 939 คัน (เกือบร้อยละ 40) ที่เข้าข่ายเป็นรถหรู ที่มีทุนประกันรวมกันไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านวอน หรือประมาณ 680 ล้านบาท แม้บริษัทประกันรถยนต์จะไม่เดือดร้อนถึงขั้นต้องปิดตัวไปเหมือนธุรกิจประกันสุขภาพในบางประเทศ เพราะได้กำไรดีมาตลอดแม้ในช่วงโควิดระบาด แต่คนที่ฝันสลายคือผู้บริโภคที่ก่อนหน้านี้เข้าใจว่าจะได้จ่ายเบี้ยประกันถูกลง ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ตลาด อะไรอยู่ในกระเป๋า            เทรนด์ใหม่มาแรงใน Tiktok ขณะนี้คือคลิปลุ้นเปิดกระเป๋าไม่มีเจ้าของ ที่คนทำคอนเทนท์อ้างว่าได้มาจากสนามบิน สถานีรถไฟ หอพักนักศึกษา หรือบ้านเช่า เป็นต้น ความสนุกอยู่ตรงที่ได้ลุ้นว่าข้างในมีอะไร มูลค่าเท่าไร เช่น ผู้ใช้รายหนึ่งนำกระเป๋าที่อ้างว่าซื้อผ่านแอปฯ ขายของมือสองมาในราคา 1,000 หยวน (ประมาณ 5,250 บาท) มาเปิดในคลิป นอกจากข้าวของทั่วไปของผู้หญิงแล้ว เธอยัง “เซอร์ไพรซ์” ที่เจอสร้อยคอแบรนด์เนม ราคาไม่ต่ำกว่า 40,000 หยวน (ประมาณ 200,000 บาท) ตามกฎหมาย การซื้อขายกระเป๋าดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของถือเป็นความผิด และทั้งสนามบินและสถานีรถไฟต่างก็ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายนำกระเป๋าไม่มีเจ้าของออกมาขายหรือเปิดประมูล ผู้ค้ารายหนึ่งบอกว่ากระเป๋าที่เขาขายนั้นส่วนใหญ่มาจากบ้านเช่าหรือหอพักนักศึกษา แต่ “ของมีค่า” นั้นถูกใส่เพิ่มเข้าไปภายหลัง เพื่อสร้างความตื่นเต้นและเป็นอุบายขายของมือสองในราคาสูงขึ้น    เข้ากลุ่มอัตโนมัติ        ศาลสูงออสเตรเลียมีคำสั่งให้ผู้เสียหายจากการถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอย่างไม่เป็นธรรมโดยธนาคาร ANZ และธนาคาร ASB เป็นผู้ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่มโดยอัตโนมัติ เพื่อเรียกร้องเงินคืน เดือนมีนาคม ปี 2563 ธนาคาร ANZ ยอมรับว่าคำนวณดอกเบี้ยผิดเพราะข้อบกพร่องของโปรแกรมที่ใช้ในระหว่างเดือนพฤษภาคม 2558 ถึง พฤษภาคม 2559 และตกลงจะจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกค้าประมาณ 100,000 คน รวมเป็นเงิน 29.4 ล้านเหรียญ  ด้านธนาคาร ASB ซึ่งไม่มีหลักฐานยืนยันว่าได้ส่งข้อมูลอัตราดอกเบี้ยหลังการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2015 ถึง 2019 ก็ตกลงยินยอมจ่ายเงินรวม 8.1 ล้านเหรียญให้กับผู้ได้รับผลกระทบ 73,000 ราย คำสั่งศาลครั้งนี้ทำให้ลูกหนี้สินเชื่อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคลเหล่านี้อุ่นใจได้ว่าจะมีการดำเนินคดีและมีโอกาสได้รับเงินคืน อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่ต้องการร่วมฟ้องก็สามารถขอถอนตัวจากคดีนี้ได้ ฟังก์ชันเหลือเชื่อ        กรมยานยนต์แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ยื่นร้องเรียนต่อสำนักงานพิจารณาคดีปกครองด้วยข้อ กล่าวหาว่าโฆษณารถยนต์เทสลาว่าด้วยระบบช่วยเหลือในการขับขี่ เข้าข่ายเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของฟังก์ชัน “ออโตไพล็อต” และฟีเจอร์ “ขับอัตโนมัติ” โฆษณาในเว็บไซต์บริษัทระบุว่า “สิ่งที่คุณต้องทำคือแค่เข้าไปนั่ง แล้วบอกรถคุณว่าจะให้ไปที่ไหน ถ้าคุณไม่พูดอะไรเลย รถจะเปิดดูปฏิทินของคุณ แล้วพาคุณไปยังที่ๆ คาดว่าคุณมีนัดหมาย” ซึ่งกรมฯ ยืนยันว่ารถเทสลาไม่ใช่ยานยนต์ที่สามารถทำเช่นนั้นได้ ไม่ว่าจะในช่วงเวลาขณะนี้หรือในขณะที่ทำการโฆษณา หากถูกตัดสินว่าผิดจริง เทสลาจะไม่มีสิทธิจำหน่ายรถในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแบรนด์และเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ อีกต่อไป ขณะนี้บริษัทกำลังถูกสอบสวนกรณีอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งคาดว่าอาจเกิดขึ้นขณะรถอยู่ในโหมดออโตไพล็อตด้วย        

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 กระแสต่างแดน

ผมแก้บน         ร้อยละ 70 ของวิกผมในตลาดโลกที่มีมูลค่าสูงเกือบ 10,000 ล้านเหรียญ เป็นวิกที่ผลิตในประเทศจีน และหนึ่งในสามของ “ผม” ที่นำมาทำเป็นวิกเหล่านั้นมาจากอินเดียผม “คุณภาพพรีเมียม” เหล่านี้ได้จากญาติโยมที่มา “แก้บน” ด้วยการโกนศีรษะถวายเป็นการบูชาพระนารายณ์ ที่วัดศรีเวงกเฏศวรา ในเมืองติรุปติ รัฐอันธรประเทศร้อยละ 30 – 50 ของผู้คนหลายหมื่นคนที่เดินทางมายังวัดนี้ในแต่ละวันคือผู้ที่มาแก้บนหลังได้รับพรจากพระนารายณ์ให้มีบุตร มีบ้าน มีรถ หรือหายจากอาการป่วย ฯลฯทางวัดมีเจ้าหน้าที่คอยรวมรวมผมที่ถูกโกนทิ้ง แล้วนำไปทำความสะอาด หวีให้เรียบร้อย แล้วจัดเก็บในโกดัง ทุกๆ โดยจะนำออกมาประมูลขายออนไลน์ทุกสองหรือสามเดือน ผู้ที่เข้ามาประมูลซื้อก็คือบริษัทที่ทำธุรกิจส่งออกผมไปยังจีนหรือฮ่องกงนั่นเองผมของผู้คนประมาณ 12 ล้านคนต่อปีนี้ทำให้วัดมีรายได้ประมาณ 17 ล้านเหรียญ ที่วัดนำไปใช้จ่ายในการบริหารโรงเรียน วิทยาลัย โรงพยาบาล บ้านเด็กกำพร้า รวมถึงทำอาหารเลี้ยงญาติโยมที่มาทำบุญหอมซ่อนเสี่ยง         สำนักงานส่งเสริมสุขภาพประชาชนของไต้หวันกำลังเตรียมเสนอให้รัฐบาลประกาศแบน “บุหรี่แต่งกลิ่น” ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่วัยรุ่นมีข้อมูลที่ยืนยันว่าบุหรี่ชนิดนี้เป็นตัวเลือกของร้อยละ 40 ของนักสูบที่อยู่ในวัยทีน และยังเป็นชนิดที่ได้รับความนิยมในหมู่เด็กผู้หญิงค่อนข้างมาก ที่สำคัญผู้สูบมักรู้สึกว่าบุหรี่ที่มีกลิ่นหอมน่ารักแบบนี้มีอันตรายนิ้ยดว่าบุหรี่ธรรมดา ทั้งที่ปริมาณนิโคตินไม่ต่างกัน    จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนในไต้หวันเมื่อปีที่ผ่านมา “กลิ่น” ที่ว่านี้มีให้เลือกไม่ต่ำกว่า 1,200 กลิ่น สำนักงานฯ จึงเตรียมเสนอให้มีการจำกัดการใช้สารเคมีในการแต่งกลิ่นยอดนิยมอย่าง วานิลา เมนทอล อัลมอนด์ คาราเมล ในการแก้ไขพรบ. ป้องกันอันตรายจากยาสูบด้วยปัจจุบันมี 39 ประเทศทั่วโลกที่ประกาศแบนบุหรี่แต่งกลิ่น เช่น กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป อเมริกา แคนาดา บราซิล ตุรกี และสิงคโปร์ กินหวานช่วยชาติ         อัตราการบริโภคน้ำตาลโดยเฉลี่ยของคนทั่วโลกอยู่ที่ 23 กิโลกรัมต่อคน/ต่อปี แต่สำหรับอินเดียซึ่งเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับหนึ่งของโลก (ผลัดกันครองแชมป์กับบราซิล) ผู้คนกลับบริโภคน้ำตาลเพียงคนละ 19 กิโลกรัมต่อปีเท่านั้นอินเดียประสบปัญหาการผลิตน้ำตาลได้เกินความต้องการมาอย่างต่อเนื่อง จากการที่นักการเมืองท้องถิ่นส่งเสริมให้เกษตรกรในชนบทปลูกอ้อยกันมากขึ้นเพื่อแลกกับผลตอบแทนสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลจึงออกมาเรียกร้องให้มีการบริโภคในประเทศมากขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ควรเท่ากับค่าเฉลี่ยของโลก เพื่อให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลในประเทศจะได้เพิ่มเป็น 5.2 ล้านตันต่อปี เหลือส่งออกน้อยลง ประหยัดเงินที่รัฐต้องใช้อุดหนุนการส่งออกได้ไม่น้อยผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับสามของโลกได้แก่ สหภาพยุโรป อันดับสี่คือประเทศไทย ส่วนจีนนั้นเข้ามาที่อันดับห้าจากข้อมูลล่าสุด อัตราการบริโภคน้ำตาลของคนไทยอยู่ที่คนละ 43.4 กิโลกรัมต่อปี ช้อปล้างแค้น         งานช้อปออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในวันที่ 11 เดือน 11 หรือ “วันคนโสด” ปีนี้เป็นความหวังของผู้ประกอบการว่าผู้บริโภคคงจะ “ช้อปล้างแค้น” ที่อดไปเที่ยวเพราะการระบาดของโควิด-19 งานนี้เขาเตรียมพนักงานไว้กว่า 3 ล้านคน เครื่องบินและเรือสินค้ารวมกันไม่ต่ำกว่า 4,000 ลำ และรถโมบายล็อคเกอร์อีก 10,000 คัน  จากสถิติปีที่แล้วมียอดขาย 210,000 ล้านหยวน (สองเท่าของยอดขายในวันแบล็คฟรายเดย์และวันไซเบอร์มันเดย์รวมกัน) โดยสินค้าที่มีคนสั่งซื้อมากที่สุดได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามแม้จะเข้าสู่ปีที่ 12 แล้ว แต่งานช้อปแห่งปีของจีนแผ่นดินใหญ่ปีนี้คึกครึ้นยิ่งกว่าเคย และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับความนิยมมากได้แก่ วิตามิน เครื่องฟอกอากาศ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น และกล่องเครื่องมือ DIY หรือแม้แต่สินค้าแบรนด์เนมก็คาดว่าขายดีขึ้นเช่นกันงานนี้ยังมีบ้าน/คอนโด ลดราคาท้าโควิดให้เลือกซื้อกันถึง 800,000 แห่ง และรถอีก 200,000 คันคิดบวก         งานวิจัยล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไม่พบความแตกต่างทางสุขภาพอย่างมีนัยยะสำคัญระหว่างคนที่ทานวิตามินทุกวันกับคนที่ไม่ได้ทานจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 20,000 คน (ประกอบด้วยผู้ที่ทานวิตามินเป็นประจำ 5,000 คน และผู้ที่ไม่ทาน 16,660 คน) ในเรื่องสุขภาพ กิจกรรมในชีวิตประจำวัน และประวัติทางการแพทย์ แล้วนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดทางสุขภาพ 5 รายการ นักวิจัยพบว่าคนสองกลุ่มนี้ไม่แตกต่างกันที่น่าสนใจคือเขาพบว่าผู้บริโภควิตามินนั้นเป็นกลุ่มที่มีความสนใจและความกังวลเรื่องสุขภาพมากทั้งๆ ที่ตนเองมีสุขภาพดีอยู่แล้ว และร้อยละ 30 ของกลุ่มที่ทานวิตามินนั้น “รู้สึก” ว่าตัวเองสุขภาพดีขึ้น   “ประโยชน์” ที่เกิดขึ้นนี้จึงน่าจะเป็นเพราะพวกเขาคาดหวังเช่นนั้นนักวิจัยย้ำว่าการรับประทานวิตามินนั้นมีประโยชน์จริงกับคนที่ร่างกายขาดวิตามินส่วนคนที่ไม่ได้ขาดวิตามินก็ถือว่าช่วยทำประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมมูลค่าหลายแสนล้านก็แล้วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 เคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2563

กสทช.จับมือ 5 ค่ายมือถือออกโทรฟรีในเครือข่าย 100 นาที รับมือโควิด-19        หลังออกโครงการเพิ่มเน็ตมือถือ 10 GB และเพิ่มสปีดเน็ตบ้านเป็น 100 Mbps ไปไม่นาน วันที่ 20 เมษายน 2563 ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ร่วมกับ 5 ค่ายมือถือ AIS, DTAC, TOT, TRUE, และ CAT ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรศัพท์ ให้กับประชาชนผู้ใช้มือถือด้วยการเปิดให้โทรฟรี 100 นาทีในเครือข่าย คาดว่าจะมีผู้ใช้งานได้รับสิทธิ์ตามโครงการประมาณ 50 ล้านเบอร์ แต่ก็ยังต้องกดรับสิทธิ์ได้อยู่ดี (ช่วงเวลาเปิดให้กดรับสิทธิ์ 1-15 พ.ค. 63)        กสทช. ระบุ สถิติการใช้โทรศัพท์ พบว่าแม้ปัจจุบันจะมีการโทรหากันผ่านแอปพลิเคชัน เช่น ไลน์ วีดีโอคอล เฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์ ฯลฯ มากขึ้น แต่ประเทศไทยยังมีการโทรหากันผ่านระบบเสียงแบบปกติอยู่ถึงราว 70%   องค์การอนามัยโลกกล่าวชื่นชมระบบ อสม.ไทย เข้มแข็งสุดในยุคระบาดโควิด-19         รายงานจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO Thailand) เผยว่าการที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1,040,000 คน ซึ่งทำการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ให้ความรู้เรื่องสาธารณสุข การใช้ยาและการเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไวรัส ในระดับชุมชน รวมถึงการทำรายงานถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเจ้าหน้าที่อสม. เหล่านี้ถูกยกให้เป็นด่านหน้าสำคัญในการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อระดับชุมชน        ทางกระทรวงสาธารณสุขของไทยเองก็กล่าวชื่นชม อสม. ว่า ส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ดีกว่าหลายประเทศเพราะการมีอสม. อยู่ในทุกจังหวัด ที่คอยทำงานอย่างหนัก ทั้งการหาข่าวผู้มีความเสี่ยงเฝ้าระวัง ติดตาม กักตัวบุคคลและให้ความรู้กับประชาชนว่าจะป้องกันการติดเชื้ออย่างไร ทำให้ขณะนี้การควบคุมโรคในจังหวัดต่าง ๆ เป็นไปด้วยดี เพราะมีอสม. เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขนายกรัฐมนตรีสั่งให้บันทึกเหตุการณ์โควิด-19 ลงในหอจดหมายเหตุ        สถานการณ์โควิด-19 คือเรื่องใหม่ของมวลมนุษยชาติ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงสั่งการให้มีการบันทึกเหตุการณ์โควิด-19 ลงในหอจดหมายเหตุของไทย เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาในอนาคต ร้องเรียน “ช็อปออนไลน์” ช่วงโควิดพุ่ง 5 พันราย            ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC หรือ Online Complaint Center ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า  จากการให้บริการคำแนะนำและรับเรื่องร้องเรียนปัญหาซื้อ-ขายออนไลน์ ในช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม 2563  ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาที่มีการร้องเรียนและขอคำแนะนำเข้ามามากที่สุดคือ ปัญหาจากการซื้อขายทางออนไลน์ จำนวน 4,786 ครั้ง ส่วนใหญ่เรื่องของการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผู้ขายในออนไลน์ ก่อนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคกว่า 40% รองมาคือการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาที่ไม่ได้รับสินค้าหรือถูกหลอกลวงทางออนไลน์ 18% โดยประเภทของสินค้าที่พบปัญหาการซื้อขายออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ สินค้าแฟชั่น และ อุปกรณ์ไอที เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมายเข้ามาที่ศูนย์ฯ จำนวน 4,772 ครั้ง        นอกจากนี้ในช่วงเดือน มกราคม – 12 เมษายน 2563 พบสถิติการร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาการสั่งซื้อหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทางออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าเพิ่มขึ้น จำนวน 234 ครั้ง จึงได้ประสานร้านค้า ผู้ขาย และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าให้ได้รับการชดเชยเรียบร้อยแล้ว 10% ส่วนกรณีที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการ   สมาคมโรคติดเชื้อเตือนไม่จำเป็นต้องฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อตามบ้านเรือน         12 เมย. 2563 เพจเฟซบุ๊ก สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความโดยระบุว่า ความกังวลเรื่องของการปนเปื้อนเชื้อในสถานที่สาธารณะต่าง ๆ และที่พักอาศัย ตลอดจนในร่างกายของผู้ป่วย ทำให้เกิดการปฏิบัติที่หลากหลายด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น การฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อบนร่างกายของบุคคลทั่วไป ทั้งในลักษณะของการสร้างอุโมงค์ให้เดินผ่านหรือเดินผ่านไปตามทางเดินปกติ การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบนถนนหรือสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ตลอดจนภายในอาคารบ้านเรือนที่พักอาศัยหรือร้านค้า ว่าจะช่วยฆ่าเชื้อโควิดได้ นั้น        ทางสมาคมโรคติดเชื้อขอชี้แจงเรื่อง การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อลงบนตัวบุคคลหรือสถานที่ เพื่อฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัส ดังนี้         1.การฉีดพ่นทำลายเชื้อบนร่างกายของบุคคล ไม่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อการติดเชื้อ เนื่องจากหากบุคคลมีเชื้อไวรัสอยู่ เชื้อจะอยู่ที่ทางเดินหาย ใจ ซึ่งการพ่นยาฆ่าเชื้อในสักษณะดังกล่าว จะไม่สามารถทำลายเชื้อได้ นอกจากนี้ ยาฆ่าเชื้อยังอาจจะเป็นอันตรายต่อคนได้ จึงไม่ควรทำโดยเด็ดขาด         2. ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ หรืออบฆ่าเชื้อด้วยสารเคมีต่างๆ บนถนน สถานที่สาธารณะ หรืออาคารบ้านเรือนใดๆ ไม่ว่าในสถานที่นั้นจะมีผู้ป่วยโรคนี้หรือไม่ การปฏิบัติดังกล่าวเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแต่ประการใด         การป้องกันการแพร่เชื้อที่ถูกต้องคือ การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง และการรักษาความสะอาดของมือ หากจะทำความสะอาดในกรณีที่มีผู้พักอาศัยหรือผู้ใช้บริการในร้านค้าป่วยเป็นโรคนี้ แนะนำให้ใช้วิธีเช็ดถูด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และยังมีคำแนะนำอื่น ซึ่งดูรายละเอียดได้ที่ https://www.idthai.org/Contents/Views/… โควิดส่งผลขยะพลาสติก-เศษอาหารพุ่งขึ้ิน ชี้ไร้คัดแยก เหตุกลัวไวรัส         นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่หลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต้องมีการประกาศมาตรการต่างๆ รวมทั้งจำกัดการเดินทาง ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ปิดบริการเกือบทุกอย่าง ยกเว้นที่จำเป็น เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านยา เป็นต้น ส่งผลต่อการคัดแยกขยะและปริมาณขยะอย่างมาก         จากข้อมูลที่ได้จากผู้เก็บขนขยะของกรุงเทพมหานคร พบว่า ปริมาณขยะในภาพรวมมีปริมาณน้อยลงกว่าช่วงปกติ แต่ขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้น อาทิ กล่องพลาสติกใส่อาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแบบเดลิเวรี่ รวมทั้งช้อนส้อมพลาสติก แก้วพลาสติกและหลอดดูดที่ใช้เครื่องดื่ม เนื่องมาจากประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องทำงานอยู่บ้าน (Work from Home ) ส่งผลให้ต้องใช้บริการสั่งของออนไลน์ และฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เพิ่มมากหลายเท่าขึ้น อาทิ LINE MAN , GRAP FOOD , GET FOOD , FOOD PANDA    นอกจากนี้ พบว่า ปริมาณขยะเศษอาหารถูกทิ้งปะปนมากับขยะทั่วไปมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากครัวเรือนและผู้จัดเก็บไม่มีการคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัด เนื่องจากกลัวการติดเชื้อไวรัส 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 กระแสต่างแดน

ปิดช้าไป        สมาคมผู้บริโภคแห่งออสเตรีย VSV เปิดเผยว่าผู้ใช้บริการสกีรีสอร์ตในแคว้นไทโรล (อาณาเขตติดต่อกับอิตาลีและเยอรมนี) ประมาณ 400 คนกำลังเตรียมฟ้องหน่วยงานรัฐที่ดูแลแคว้นดังกล่าว ที่ไม่สั่งปิดบาร์ในรีสอร์ตแห่งหนึ่งโดยทันที หลังพบพนักงานติดเชื้อไวรัสโคโรนาในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์         สมาคมฯ กำลังรวบรวมคำให้การของพยานเพื่อการฟ้องคดีแบบกลุ่ม พวกเขามองว่าการสั่งปิดบาร์ ซึ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวลำดับต้นๆ ล่าช้าออกไปสองสัปดาห์ เป็นเพราะความประมาทและห่วงผลประโยชน์ทางธุรกิจ         และนั่นนำไปสู่การติดเชื้อของผู้คนหลายร้อยคนจากออสเตรีย เยอรมนี อังกฤษ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก และแคนาดา          ประชากร 750,000 คนในแคว้นดังกล่าวจึงถูกกักกันตัวจนถึงวันที่ 6 เมษายน ขณะนี้ออสเตรียมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 15,000 คน และมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 500 คน  ทำไงดีไม่มีแฟกซ์        เมื่อญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินและขอให้คนทำงานจากบ้าน ก็เกิดการรวมตัวกันของผู้คนที่ร้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทันที         ประชากรในประเทศที่มีหุ่นยนต์ช่วยงานและแกดเจ็ตล้ำๆ กลับไม่พร้อมสำหรับการทำงานที่บ้าน เพราะสิ่งนี้ไม่เคยอยู่ในวิธีคิดของพวกเขา         ขณะที่วิถีตะวันตกแบ่งแยกภาระงานชัดเจน พนักงานจึงสามารถแยกย้ายกันไปทำได้ แต่เจแปนสไตล์นั้นคาดหวังให้ทุกคนมารวมตัวเป็นทีมที่สำนักงาน จึงไม่จำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่บ้าน แล้วไหนจะความจำเป็นต้องใช้แฟกซ์ และตราประทับส่วนตัวในเอกสารต่างๆ อีก         การสำรวจโดย YouGov พบว่ามีเพียงร้อยละ 18 ของมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นเท่านั้น ที่พร้อมทำงานที่บ้าน บริษัทที่ทำได้คือค่ายใหญ่ๆ อย่างโตโยต้าและโซนี่ ที่เหลืออีกร้อยละ 70 ซึ่งเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กยังต้องเครียดกับการปรับตัวต่อไป  ไม่ลดก็ไม่ซื้อ        จีนตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศลงให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50         ในการประมูลยาเข้าระบบสาธารณสุขปีนี้ รัฐบาลจึงกำหนดเพดานราคายาต่ำลงกว่าเดิมเกือบเท่าตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยา 33 ชนิดที่ใช้กันมากในประเทศ         บริษัทยาข้ามชาติที่เคยทำกำไรได้มหาศาลจากตลาดจีนจึงต้องลดราคาเพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตในท้องถิ่นได้ เช่น ไบเออร์ ต้องลดราคายารักษาโรคเบาหวานลงร้อยละ 80 หรือไฟเซอร์ที่ต้องลดราคายาลิปิเตอร์ที่ใช้ในผู้ที่มีความดันสูงลงร้อยละ 74 เช่นกัน        รัฐบาลหวังว่าการ “กดราคา” จะทำให้ยาสิทธิบัตรเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยยาชื่อสามัญที่จีนสามารถผลิตเองในประเทศได้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 2018          จีนต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านยาเพื่อนำเงินไปทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ ตกที่นั่งลำบาก        กลุ่มอุตสาหกรรมการบินในยุโรปยื่นจดหมายให้ความเห็นกับคณะกรรมาธิการยุโรปว่า มาตรการเว้นระยะห่างเพื่อลดการติดเชื้อในห้องโดยสารเครื่องบินเป็นสิ่งที่ “ไม่จำเป็น และทำไม่ได้จริง”         สิ่งที่สายการบินอย่าง แอร์ฟรานซ์ เคแอลเอ็ม และลุฟทันซา ต้องการคืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลสำหรับผู้โดยสาร เช่น หน้ากากอนามัย และยังบอกอีกว่ารัฐบาลแต่ละประเทศควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นธุระจัดหาและจ้างงานบุคลากรผู้เชี่ยวชาญการมาตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง         ซีอีโอของไรอันแอร์ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าจะเว้นระยะห่างระหว่างกันในเครื่องบินให้ได้ 2 เมตร เราจะต้องนั่งห่างกันถึง 7 ที่นั่ง ซึ่งถ้าทำอย่างนั้น บินเท่าไรก็ไม่พ้นภาวะขาดทุน         รอติดตามแนวปฏิบัติสำหรับสายการบินโดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้ กลางเดือนพฤษภาคมนี้ เบื่อสะสม        เมื่อต้องกักตัวอยู่ในบ้านนานๆ หลายคนก็เริ่มหันมาทำกับข้าว ทำงานบ้าน งานฝีมือ ช้อปออนไลน์  เต้นติ๊กต่อก ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ยังสู้วิธีรับมือกับความเบื่อของคนจีนไม่ได้        ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงพีคของการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน ยอดการใช้แอป “So Young” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้นิยมการทำศัลยกรรมความงาม เติบโตขึ้นถึงร้อยละ 134 และมีคนที่ “เบื่อหน้าตัวเอง” เข้ามาปรึกษาผ่านวิดีโอคอลถึง 40,000 ราย        ข้อมูลจากแอปโซยัง ซึ่งเป็นตัวกลางระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการศัลยกรรมความงาม ยังระบุว่า ฟังก์ชัน “บิวตี้ไดอารี” ที่เปิดให้ผู้ใช้เข้ามาบันทึกประสบการณ์การทำศัลยกรรมและการฟื้นตัวนั้นมีผู้ใช้มากขึ้น จนขณะนี้มีให้เปิดอ่านถึง 3.5 ล้านเล่ม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ข้อคิดชีวิตนักช้อปออนไลน์

        ยุคนี้กระแสช้อปปิ้งออนไลน์มาแรง บรรดาร้านช้อปออนไลน์ทั้งหลายต่างหาโปรโมชั่นมาล่อตาล่อใจขาช้อปอย่างเราๆ ทั้งลดราคา 30 – 80%, ซื้อ 1 แถม 1, บางร้านก็ทั้งลดทั้งแถม จัดโปรโมชั่นกันขนาดนี้ ขาช้อปจะทนไหวได้อย่างไร อย่างเช่นเดือนที่ผ่านมาก็มี โปรโมชั่น 9.9 วันที่ 9 เดือน 9 ก็ทำให้บรรดาขาช้อปออนไลน์ทั้งหลายกระเป๋าเบาไปตามๆ กัน แต่เดี๋ยวก่อนการจัดโปรโมชั่นทั้งลดทั้งแถม ร้านค้าก็ถือเป็นโอกาสการระบายสินค้าใกล้หมดอายุอีกทางหนึ่งด้วย ต้องระวังกันไว้ให้ดี อย่างเช่นร้านค้าออนไลน์เจ้านี้         ภูผาหนุ่มออฟฟิศที่รักสินค้าลดราคาเป็นชีวิตจิตใจ ในมือถือของเขามีแอปพลิเคชันร้านค้าออนไลน์เพียบ ช่วงเดือนสิงหาคมเขาได้เข้าไปในแอปวัตสันออนไลน์ เห็นว่ากำลังจัดโปรโมชั่น สินค้าครีมบำรุงผิวยี่ห้อดัง ซึ่งลดราคา 30 – 70% ดูไปดูมาเห็นภาพโฆษณาโลชั่นทาผิวขนาด 600 ml ราคาถูกมาก รู้สึกไม่ไหวแล้วต้องจัด คุณภูผาคิดว่าอย่างไรเสียโลชั่นก็เก็บไว้ใช้นานๆ ได้ จึงสั่งไปจำนวน 10 ขวด รวมเป็นเงิน 1,240 บาท          ปัญหาอยู่ตรงที่เมื่อสินค้ามาส่งเขาเปิดสินค้าดูพบว่าเป็นโลชั่นที่ขวดยังเป็นรุ่นเก่า แต่ภาพโฆษณาในแอปตอนสั่งเป็นขวดรุ่นใหม่ที่ขายในปัจจุบัน และเมื่อดูวันหมดอายุก็พบว่า สินค้าจะหมดอายุภายในเดือนกันยายนนี้ เขารู้สึกว่าถูกร้านค้าหลอกและถูกเอาเปรียบ เพราะว่าได้สินค้าไม่ตรงกับโฆษณา ภาพในแอปใช้สินค้าขวดใหม่โฆษณาแต่ส่งสินค้าขวดเก่ามาให้ ทั้งสินค้ายังจะหมดอายุภายในเดือนกันยายนนี้ด้วย สั่งไปตั้ง 10 ขวด เดือนเดียวใช้อย่างไรก็ไม่หมด 10 ขวด         คิดจนปวดหัวจึงติดต่อไปยังคอลเซนเตอร์  02-2178899 เล่าเรื่องให้พนักงานฟัง พนักงานแจ้งว่าสามารถนำสินค้าไปเปลี่ยนได้ที่สาขาใกล้บ้าน แต่เมื่อนำไปเปลี่ยนที่วัตสัน สาขา โลตัสสุขุมวิท 50 พนักงานที่สาขากลับไม่ทราบเรื่อง(ไม่เป็นนโยบาย) จึงไม่รับเปลี่ยนสินค้า คุณภูผาจึงโทรศัพท์ไปยังคอลเซนเตอร์อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้พนักงานแจ้งว่ายังไม่ได้รับรายงานเรื่องที่คุณภูผาเคยร้องเรียนเลย  คุณภูผารู้สึกว่าถูกเอาเปรียบและบริษัทฯ ไม่มีแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน จึงแจ้งมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเหลือดำเนินการต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่าการกระทำของร้านค้าอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดเรื่องโฆษณาเป็นเท็จ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 22 และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 47 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        ดังนั้นศูนย์ฯ จึงได้ติดต่อไปยังคอลเซนเตอร์ของวัตสัน พนักงานอธิบายว่าผู้ร้องได้ร้องเรียนในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุด พนักงานคอลเซนเตอร์วันนั้นจึงเพียงรับเรื่องไว้เท่านั้น เรื่องของผู้ร้องยังไม่ถูกส่งต่อให้บริษัท ทำให้บริษัทยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ร้อง สาขาที่ผู้ร้องไปคืนสินค้าและขอเงินคืน ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะยังไม่มีต้นเรื่องคำสั่งจากบริษัทแจ้งเข้ามา         ศูนย์พิทักษ์จึงขอให้บริษัทฯ เร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วนและเมื่อสอบถามถึงเรื่องการจัดโปรโมชั่นลดราคา พนักงานแจ้งว่า ปกติสินค้าช่วงโปรโมชั่นลดราคา ผู้ซื้อจะทราบอยู่แล้วว่าเป็นสินค้าเก่า บริษัทจะนำสินค้าเก่าใกล้หมดอายุมาลดราคาอยู่แล้วเป็นปกติ เพราะเป็นการลดล้างสต็อค อย่างไรก็ตามปัญหาของผู้ร้องรายนี้บริษัทดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ผู้ร้องภายใน 1 วัน หลังจากศูนย์พิทักษ์เร่งให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา         การกระทำของร้านค้าออนไลน์เจ้านี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างมาก และยังผลักภาระการรับรู้ให้ผู้บริโภคด้วย การจำหน่ายสินค้าออนไลน์เป็นการจำหน่ายโดยไม่เห็นสินค้า ร้านค้าควรแจ้งวันหมดอายุให้ผู้บริโภคทราบไม่ใช่อ้างว่าเป็นสินค้าลดราคาผู้บริโภคต้องทราบเอง ยิ่งกรณีของผู้ร้องรายนี้ถ้าผู้ร้องทราบก่อนว่าสินค้าจะหมดอายุภายในเดือนกันยายน ซึ่งในขณะซื้อสินค้าเป็นเดือนสิงหาคม ผู้ร้องคงไม่ซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากแบบนี้         บรรดาขาช้อปทั้งหลายที่ถูกใจโปรโมชั่นลดราคา และของแถมทั้งหลาย อาจจะภาคภูมิใจที่ซื้อสินค้ามาได้ในราคาถูก แต่หารู้ไม่ว่าตนเองอาจจะตกเป็นช่องทางการระบายสินค้าอายุโดยไม่รู้ตัว อย่างเช่นพ่อหนุ่มภูผาที่รักสินค้าลดราคาเป็นชีวิตจิตใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 5 เทคนิค ช็อปออนไลน์ ให้ได้ของถูกใจและไม่เจ็บตัว

ทุกวันนี้ การซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ต กลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยไปแล้ว ด้วยความที่มันสะดวก รวดเร็ว อยู่ที่ไหน ก็ซื้อขายกันได้ ชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ แล้วก็รอรับสินค้าให้มาส่งถึงบ้านได้เลย จะซื้ออะไร ก็มีทั้งนั้น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ขนม อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า อะไหล่รถยนต์ สัตว์เลี้ยง ต้นไม้ ฯลฯ   ช่องทางที่ซื้อขายกัน ก็มีทั้ง เว็บไซต์ที่เป็น marketplace ที่มีระบบ มีการลงทะเบียน ผู้ซื้อ ผู้ขาย มีระบบการชำระเงินที่น่าเชื่อถือ และก็มีอีกไม่น้อยที่ เป็นการซื้อขาย กับพ่อค้า แม่ค้า ที่เปิดร้านออนไลน์ ผ่าน Social Network ยอดฮิต อย่าง Facebook , Line , Instagram ซึ่งร้านค้าพวกนี้ ใครๆ ก็เปิดได้โดยเสรี ดังนั้น แม้ว่าจะซื้อง่าย ขายคล่อง แต่เราก็ยังได้ยินข่าวผู้บริโภคถูกหลอก ถูกโกง จากการ Shopping Online อยู่เรื่อย ๆ  วันนี้จึงขอนำเสนอเทคนิค การซื้อของออนไลน์ ให้ได้ของถูกใจและไม่เจ็บตัว  1 . ตรวจสอบตัวตน ความน่าเชื่อถือของคนขาย ร้านค้า ให้แน่ใจว่า มีตัวตนอยู่จริง ก็ดูจากชื่อ – นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ หรือ ทะเบียนการค้า และถ้าจะให้ชัวร์ ก็ควรเช็ค ประวัติของคนขาย ว่าเขาเป็นใคร เคยทำอะไรมาบ้าง โดยพิมพ์ ชื่อ หรือ เบอร์โทรศัพท์ ค้นหา ใน google แป๊บเดียว ก็จะมีข้อมูลบอกหมดว่า เขาเป็นยังไง ถ้าเคยมีประวัติเสีย โกงลูกค้า นิสัยไม่ดี รับรองต้องมีคนโพสต์แฉแน่นอน  2. สอบถามลูกค้าเก่า ให้เล่าความจริง จากประสบการณ์ตรงของคนที่เคยใช้สินค้า จะช่วยยืนยันว่าของที่ขายนั้น คุณภาพเป็นอย่างไร บริการของร้านค้าดีหรือไม่ เมื่อก่อน หลายคนอาจจะตัดสินใจซื้อขาย โดยดูจากยอดกด Like ถูกใจร้านค้า แต่เดี๋ยวนี้ ลำพังยอด Like ก็ไว้ใจไม่ได้อีก เพราะมีการปั่นยอดกันได้ ทางที่ดีต้องดูจาก รีวิว หรือ ฟีดแบ็ค ของลูกค้าเก่า ประกอบกันด้วย 3. ปลอดภัยกว่า ถ้าจ่ายผ่านบัตรเครดิต การชำระเงินค่าสินค้า ถ้าคนขายมีให้เลือกหลายช่องทาง การชำระด้วยบัตรเครดิต จะปลอดภัยกว่าการโอนเงินสดเข้าบัญชีผู้ขาย เพราะสามารถระงับการจ่ายเงินกับบริษัทบัตรเครดิตได้ หากสินค้าไม่ได้รับสินค้า หรือ มีปัญหาไม่ตรงตามสเปคที่ตกลงซื้อขายกัน  4. เก็บหลักฐาน การซื้อขาย ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลผู้ขาย ชื่อ สกุล ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ หมายเลขบัญชี , ข้อมูลสินค้า สเปค ขนาด จำนวน คุณสมบัติ และ หลักฐานการโอนเงิน โดยคุณสามารถ บันทึกภาพหน้าจอ (print screen) ภาพสินค้าในเว็บไซต์ หรือ ข้อความที่แชทคุย ผ่านทาง Line กับผู้ขาย ไว้เป็นหลักฐานได้  5. ร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง ถ้าหากเกิดปัญหาจากการซื้อของออนไลน์ อย่าลังเลที่จะใช้สิทธิของคุณในการร้องเรียน เพื่อให้ผู้ขายรับผิดชอบ เพราะนอกจากคุณจะได้รับการแก้ไขปัญหาแล้ว ประสบการณ์ของคุณจะเป็นบทเรียนให้กับผู้บริโภคคนอื่น ๆ ด้วย  เว็บไซต์ ซื้อขายออนไลน์ ที่มีมาตรฐาน จะมีช่องทางในการติดต่อเพื่อร้องเรียนปัญหาจากการซื้อขาย และทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจา แก้ไขปัญหาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ส่วนร้านค้าอิสระบน Facebook , IG นั้น ก็ติดต่อร้องเรียนไปที่เจ้าของร้านโดยตรงเลย ถ้าเป็นเจ้าของธุรกิจจริง ไม่ใช่มิจฉาชีพ ที่ตั้งใจมาหลอก ผมว่า เขาต้องรีบแก้ไขปัญหา รักษาชื่อเสียงของเขาไว้ เพราะในโลกออนไลน์ “เสียงของผู้บริโภค” นั้น มีค่าจริง ๆ ถ้าร้านไหน ลูกค้าประทับใจ ก็จะบอกต่อ ๆ กันไปกลายเป็นกระแส รับทรัพย์นับเงินกันไป ส่วนร้านไหน ไม่ดูแลลูกค้า มีปัญหาแล้วไม่ปรับปรุงแก้ไข ลูกค้าก็จะบอกต่อ ๆ กันไปเช่นกัน ร้านนี้ก็เตรียมปิดกิจการ ได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >