ฉบับที่ 136 กระแสต่างแดน

ทำเองใช้เอง จะมีสักกี่คนที่รู้จักเมือง อีสต์ ลิเวอร์พูล บนฝั่งแม่น้ำโอไฮโอ ก่อนหน้านี้เคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ “จัดโต๊ะอาหารให้กับอเมริกา” ด้วยโรงงานถ้วยชามในเมือง ที่มีถึง 48 แห่ง แต่ปัจจุบัน เศรษฐกิจที่นี่แตกสลาย ไม่ต่างอะไรกับถ้วยชามที่ถูกทำหล่น เมืองนี้กลายเป็นจุดอับของอเมริกา ประชากร(ซึ่งมีทั้งหมด 11,000 คน) มีรายได้เฉลี่ยเพียง 1 ใน 3 ของรายได้ของผู้คนในรัฐโอไฮโอทั้งหมด คนส่วนใหญ่ข้ามแม่น้ำไปหางานทำในคาสิโน ในเวอร์จิเนียตะวันตก บ้างก็ไปทำงานที่สนามบินพิทส์เบิร์ก อัตราว่างงานที่นี่สูงถึงร้อยละ 10 โรงงานเซรามิกก็เหลืออยู่เพียง 2 เจ้าเท่านั้น หนึ่งในนั้นได้แก่ The American Mug and Stein เกือบจะปิดตัวลงเมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา   ที่ว่า “เกือบ” ก็เพราะ อูลริค โฮนิกเฮาเซน เจ้าของบริษัทเฮาเซนแวร์ ในคาลิฟอร์เนีย ที่เป็นผู้จัดหาเครื่องถ้วยชามเซรามิกให้กับห้างค้าปลีกรายใหญ่ๆ มีแผนจะให้โรงงานนี้ผลิตถ้วยส่งให้กับร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ถ้วยดังกล่าวจะเริ่มวางขายในสาขาต่างๆ ทั่วอเมริกา ในเดือนมิถุนายน ภายใต้แบรนด์ Indivisible ที่เป็นโครงการสร้างงานให้กับคนอเมริกัน ของสตาร์บัคส์นั่นเอง นี่เป็นตัวอย่างการตอบสนองเสียงเรียกร้องให้ผู้ประกอบการทั้งได้มีส่วนช่วยกันแก้ปัญหาการว่างงานในอเมริกา บริษัท GE ก็ตั้งโรงงานเพิ่มอีก 2 แห่งเพื่อผลิตแบตเตอรี่คุณภาพสูง ที่แต่ก่อนเคยสั่งผลิตจากจีน ทำให้มีคนว่างงานน้อยลงไปอีก 800 คน เป็นต้น เรื่องนี้เป็นไปได้ด้วยหลายปัจจัย ตั้งแต่ค่าแรงในสหรัฐฯ ที่ลดลง ในขณะที่ค่าแรงในจีนแพงขึ้น นอกจากนี้ระยะทางและเวลาในการขนส่งที่น้อยกว่าก็มีส่วนจูงใจผู้ประกอบการไม่น้อย (เช่น ถ้าสั่งทำถ้วยที่อีสต์ ลิเวอร์พูล จะใช้เวลารอเพียง 4 วัน ถ้าสั่งจากจีนจะต้องรอถึง 3 เดือน เป็นต้น)   จับไป .. อย่าให้เสีย นักวิชาการเขาบอกว่า ถ้าเราเรียนรู้ที่จะกินปลาชนิดใหม่ๆ กันบ้าง เราจะสามารถรอดพ้นจากวิกฤติอาหารได้ อย่างน้อยๆ ก็ที่ทะเลเหนือ ที่แต่ละปีมีการทิ้งปลาที่จับขึ้นมาได้กลับลงทะเลไป ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน ด้วยวิธีการทำประมงแบบปัจจุบัน ทำให้ชาวประมงมักจะได้ปลาที่ไม่ได้ตั้งใจจับ (เพราะมันนำมาขายใครไม่ได้) ขึ้นมาด้วยเสมอ สถิติบอกว่ามีปลาที่ถูกจับผิดตัวอยู่ประมาณร้อยละ 50 แถมบางประเทศยังมีกฎหมายห้ามจับปลาบางชนิด หรือไม่ก็มีโควตาห้ามจับปลาบางชนิดเกินปริมาณ ก็ต้องจัดการทิ้งปลาพวกนี้ไปซะก่อนจะถึงฝั่ง คำถามคือ ทำไมเราต้องเลือกด้วย? การนำปลาที่ว่ามากินเป็นอาหาร ย่อมดีกว่าปล่อยพวกมันกลับลงทะเลไป รอเวลาสิ้นลม เสียของเปล่าๆ นอกจากเรื่องภาวะเศรษฐกิจ เรื่องฟุตบอลแล้ว ระยะนี้สมาชิกสหภาพยุโรปก็กำลังถกเถียงกันว่าจะประกาศห้ามการจับปลาแบบทิ้งๆ ขว้างๆ นี้ดีหรือไม่ นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ค แบนไปแล้ว ในขณะที่ สก็อตแลนด์ ฝรั่งเศส โปรตุเกส และโปแลนด์อยู่ฝ่ายที่ยังไม่ค่อยจะเห็นด้วย นักวิชาการยืนยันว่าต้องแบนเท่านั้นยุโรปถึงจะมีทางรอด และมีปลาบริโภคกันอย่างพอเพียงในอนาคต     ผู้ดีเชิดใส่วันหมดอายุ สิ่งที่สำคัญที่สุดบนฉลากอาหารสำเร็จรูปคือ วันหมดอายุ แต่พักหลังๆ นี่ผู้บริโภคชาวอังกฤษดูเหมือนจะใส่ใจกับมันน้อยลง ต้องกินให้หมด แม้มันจะเสี่ยง องค์การมาตรฐานอาหารของอังกฤษเขาทำสำรวจพบว่าร้อยละ 97 ของผู้บริโภคเชื่อว่าราคาอาหารนั้นเพิ่มขึ้นมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา(ข่าวไม่ได้บอกว่านายกอร์ดอน บราวน์ สั่งการให้บรรดา รมต.ไป เดินตลาดสำรวจราคาด้วยตนเองหรือเปล่านะ) และเมื่อถามว่าผู้บริโภคมีมาตรการที่จะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร ร้อยละ 47 บอกว่าตนเองใช้วิธี “บริการจัดการ สต๊อค” หรือพูดอีกอย่างคือเก็บของเหลือในตู้เย็นกินให้เกลี้ยงนั่นแหละ ปัญหามันอยู่ที่เขากินทุกอย่างแม้จะเลยวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลาก คือถ้าดูแล้วยังหน้าตาเหมือนเดิม กลิ่น ยังไม่เปลี่ยน หรือจำได้ว่าเอาใส่ตู้เย็นไว้ไม่นาน ก็เป็นอันว่าลงมือกินได้ แต่ทางการเขาเป็นห่วง เพราะผู้ดีเหล่านี้ลืมใช้วิจารณญาณในการกินไปนิด เพราะอันตรายบางอย่างนั้นไม่สามารถบอกได้ด้วยลักษณะภายนอก เช่น คุณไม่มีทางดมดูแล้วรู้ว่าอาหารนั้นมี อีโคไล หรือซัลโมเนลลา เด็ดขาด ข่าวเขาฝากเตือนมาว่าใครก็ตามที่ไปลอนดอนเพื่อดูกีฬาโอลิมปิกในปีนี้ อย่าลืมสังเกตดูว่ารถเข็นขายอาหารที่เข้าไปรุมซื้อนั้นมีใบอนุญาตและผ่านการตรวจสอบหรือไม่ อาหารเป็นพิษขึ้นมาจะเชียร์กีฬาไม่สนุกซะเปล่าๆ     อีบุ๊คส์ บุกโรงเรียนฮ่องกง ฮ่องกงก็เป็นอีกที่ๆ มีปัญหาเรื่องราคาหนังสือเรียนแพงเหลือหลาย ปีที่แล้ว ก็ออกประกาศห้ามโรงเรียนใช้ระบบการรับแจกคู่มือครูฟรีจากสำนักพิมพ์ เพื่อแลกกับการขายหนังสือฉบับนักเรียนในราคาที่สูงกว่าปกติ แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป รมต.ศึกษาธิการของที่นั้นจึงหันมาชงข้อเสนอให้รัฐส่งเสริมการพัฒนาหนังสือในรูปแบบอิเลคทรอนิกส์แทน เขาบอกว่าตั้งแต่ปีการศึกษาหน้าเป็นต้นไป โรงเรียนประถมและมัธยมในฮ่องกง อย่างน้อย 50 โรงจะเปลี่ยนจากหนังสือในรูปแบบดั้งเดิมมาเป็นอีบุ๊คส์ทั้งหมด ทั้งนี้กำลังรอให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 50 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 200 ล้านบาท) ให้มหาวิทยาลัยและองค์กรไม่แสวงหากำไรนำไปเป็นทุนพัฒนาอีบุ๊คส์เล่มใหม่ๆ ขึ้นมาให้ตอบสนองกับหลักสูตรในโรงเรียนมากขึ้น ที่น่าสนใจคือ เขาบอกว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการอ่านอีบุ๊คส์นั้น ไม่จำเป็นต้องมีกันคนละเครื่อง เด็กๆ สามารถใช้อุปกรณ์ร่วมกันเป็นกลุ่มได้ จะได้แบ่งเบาภาระของผู้ปกครองด้วย ไม่น่าเชื่อว่าฮ่องกงที่รวยขนาดนั้น เขาไม่แจกแท็บเล็ตให้เด็กคนละเครื่องเหมือนที่เมืองไทยหรอกหรือนี่     รักคงยังไม่พอ โคลเอตต้า ผู้ผลิตช็อคโกแล็ต สัญชาติสวีเดน โฆษณาว่าในซองขนมหวานรสช็อคโกแลต Mini Plopp ของเขาจะมีถ้อยคำ 4 คำบรรจุอยู่: LOVE HUG KISS และ JOY บรรยากาศรักนะจุ๊บๆ นี้ควรจะทำให้ทุกฝ่ายรื่นรมย์ แต่ปรากฏการณ์รักคุดก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อผู้บริโภคชาวสวีเดนรายหนึ่งร้องเรียนต่อองค์กรผู้บริโภค Konsumentverket ว่าเธอไม่ได้รับความเป็นธรรม(หรือจะบอกว่าไม่ได้รับความรักดี?) จากโคลเอตต้า เพราะเธอลงทุนไปซื้อ Mini Plopps มาหลายห่อ เพื่อนำมาใช้ในงานแต่งของเธอ ซึ่งคิดมาแล้วว่าจะต้องอบอวลไปด้วยความรัก แต่ปรากฏว่าไม่ว่าจะเปิดสักกี่ซอง แขกเหรื่อทั้งหลายรวมทั้งตัวเธอเองก็ยังไม่พบคำว่า LOVE และ JOY เสียที เมื่อสืบสาวราวเรื่องไปก็พบว่าเกิดความผิดพลาดขึ้นในกระบวนการผลิต ทำให้โรงงานใส่แต่คำว่า HUG และ KISS ลงไปในซองเท่านั้น โฆษกบริษัทออกมาขอโทษ และสัญญาว่าคราวหน้าจะไม่ให้พลาดอีก ... เขาคงหมายถึงการผลิตครั้งต่อๆ ไป ไม่ใช่งานแต่งครั้งหน้าหรอก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 กระแสต่างแดน

โวดาโฟน VS โวดาเฟล โวดาโฟน (Vodafone) ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่อันดับสามของออสเตรเลีย ได้พบกับคู่ปรับรายใหม่ซึ่งได้แก่เว็บไซต์โวดาเฟลดอทคอม (www.vodafail.com) เข้าแล้ว  เว็บไซต์ที่ว่านั้นเป็นฝีมือของผู้บริโภครายหนึ่งที่สุดจะทนกับบริการอันยอดแย่ของบริษัทโวดาโฟนนั่นเอง  ปลายปีที่แล้ว อดัม บรีโม บัณฑิตหมาดๆ ด้านวิศวกรรมซอฟท์แวร์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ได้เซ็นสัญญาเป็นลูกค้าบริการ 3จี ของบริษัทโวดาโฟนเป็นเวลา 2 ปี แต่หลังจากใช้บริการไปได้เพียง 6 สัปดาห์ก็ต้องเซ็งจิตเพราะสัญญาณขาดๆ หาย เมื่อโทรไปร้องเรียนก็ได้รับคำตอบที่ไม่น่าประทับใจอีกด้วย  อดัมรู้สึกว่าเขาต้องทำอะไรสักอย่าง ว่าแล้วก็ลงมือทำเว็บไซต์หนึ่งขึ้นมา และตั้งชื่อว่าโวดาเฟล (www.vodafail.com) เพื่อแอบประณามบริการที่ล้มเหลว (fail) ของโวดาโฟน และเขาก็พบว่าเขาไม่ใช่คนเดียวที่เดือดร้อน ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา มีผู้เข้าไปดูเว็บดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 150,000 คน และมีไม่น้อยที่ร่วมบันทึกข้อมูลความเดือดร้อนของตนเองจากการโทรเข้าไปยังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของโวดาโฟน เช่นวัน เวลา ที่โทรเข้า ระยะเวลาที่ต้องถือสายรอ ลงในหน้าเว็บดังกล่าวด้วย ผู้บริโภคมักถูกทิ้งให้รอสายนานมากเมื่อโทรเข้าไปร้องเรียนเรื่องบริการ 3 จี ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสัญญาณขาดหาย การได้รับข้อความหรือวอยส์เมล์ล่าช้า ที่สำคัญผู้บริโภคมักได้รับข้อมูลว่าเป็นปัญหาที่ตัวเครื่องมือถือหรือไม่ก็ซิมการ์ด และแนะนำให้ปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่หรือเปลี่ยนซิมการ์ด (ซึ่งทำแล้วก็ไม่ได้ผล) ที่สำคัญรายงานนี้มีข้อมูลโดยละเอียดที่ระบุว่า บริษัทเพิกเฉยต่อข้อร้องเรียนจากลูกค้า และไม่มีการจัดการที่ดีพอ  ข้อมูลเหล่านี้ถูกจัดการและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ผลที่ได้คือรายงานสรุปกรณีปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการ 3 จีของโวดาโฟนทั้งหมด 12,000 กรณี ที่นำเสนอต่อองค์กรที่ดูแลผู้บริโภคด้านบริการโทรคมนาคมของออสเตรเลีย ต้องติดตามกันต่อไป ว่าเขาจะจัดการกับบริษัทดังกล่าวอย่างไร  โวดาโฟนซึ่งควบรวมกิจการกับฮัทชิสันมีลูกค้ากว่า 6.3 ล้านคนทั่วออสเตรเลีย    “เพื่อนสาว” แน่นอนกว่าหมดสมัยแล้วกับการต้องเตรียมช็อคโกแลตเอาไว้ให้ผู้ชายในวันวาเลนไทน์ สาวญี่ปุ่นยุคนี้เขาคิดใหม่ทำใหม่ หันมาซื้อช็อกโกแลตให้เพื่อนสาวดีกว่า  ข้อมูลจากการสำรวจของบริษัทกูลิโกะระบุว่า สามในสี่ของสาวญี่ปุ่นในวัยรุ่นและวัยยี่สิบต้นๆ บอกว่าปีนี้พวกเธอจะให้ “โทโมช็อกโก” หรือช็อกโกแลตเพื่อมิตรภาพกับเพื่อนผู้หญิงของตนเองในวันวาเลนไทน์ ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่จะให้ขนมหวานกับแฟนหนุ่มหรือผู้ชายที่ตนเองแอบปลื้ม  เหตุผลหลักๆ คือผู้หญิงนั้นจะชื่นชมกับช็อกโกแลตที่ได้รับมากกว่า ฝ่ายที่ให้จึงรู้สึกเป็นปลื้มมากกว่า  บ้างก็ว่าสาวๆ เหล่านี้หมดความสนใจในตัวผู้ชายญี่ปุ่นแล้ว เพราะหาคุณสมบัติความเป็นแมนได้ยากเหลือเกิน โดยกลุ่มนี้อ้างว่ามันเป็นเหตุผลเดียวกันที่ทำให้อัตราการเกิดของญี่ปุ่นลดลงเป็นประวัติการณ์  ส่วนบรรดาห้างร้านต่างๆ ก็พร้อมปรับตัวเพื่อรับเทรนด์ใหม่นี้ ด้วยการจัดแผนกช็อกโกแลตสำหรับผู้หญิง ที่เน้นช็อกโกแลตสีสวยๆ รูปร่างน่ารักๆ ไว้บริการลูกค้าสาวๆ โดยเฉพาะ คุณผู้ชายไทยฟังไว้เป็นอุทาหรณ์ อย่าได้มั่นใจเกินไปว่าคุณหล่อเลือกได้   กุหลาบต้นทุนสูงเชื่อหรือไม่ แม้เคนยาจะขาดแคลนน้ำเข้าขั้นวิกฤตแต่ก็ยังเป็นผู้ส่งออกกุหลาบรายใหญ่ที่สุดไปยังยุโรป ร้อยละ 70 ของดอกกุหลาบที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปนั้นมาจากบริเวณรอบๆทะเลสาบไนวาชาในประเทศเคนยานั่นเอง  นักนิเวศน์วิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอังกฤษ ซึ่งทำการศึกษาพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตทะเลสาบไนวาชา มากว่า 30 ปี บอกว่าการปลูกกุหลาบเพื่อส่งออกนั้นได้สร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศน์ของท้องถิ่นไม่น้อย   การใช้ทรัพยากรของคนในท้องถิ่นไปเพื่อรองรับความต้องการของผู้คนในยุโรปนั้นไม่ต่างอะไรกับการเอาน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดไปบรรจุขายในบรรจุภัณฑ์ที่รูปร่างหน้าตาเป็นดอกกุหลาบนั่นเอง  ความจริงแล้วในซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปก็มีดอกกุหลาบแฟร์เทรด หรือกุหลาบที่ปลูกด้วยกระบวนการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรและได้รับการรับรองเรื่องความเป็นมิตรต่อระบบนิเวศน์ซึ่งอาจจะมีราคาแพงกว่าดอกกุหลาบทั่วไปให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อกัน  เพียงแต่เมื่อถึงวันที่ต้องสู้รบกันในสงครามราคาในช่วงวันวาเลนไทน์และวันแม่ ซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้จะอดใจไม่ไหว ต้องหันไปหากุหลาบ “ต้นทุนต่ำ” ที่กล่าวมา  การประมูลซื้อดอกกุหลาบเป็นล็อตใหญ่ๆ นั้นจะมีขึ้นในเมืองอัมสเตอร์ดัม จึงทำให้ผู้ซื้อเข้าใจว่ากุหลาบเหล่านั้นมาจากประเทศฮอลแลนด์ (เพราะฉะนั้นก็ไม่แน่ว่า กุหลาบดอกใหญ่ที่เรียก กุหลาบฮอลแลนด์ อาจเดินทางมาไกลจากเคนยาก็ได้)   กินผิด ระวังจิตตกการกินอาหารที่มีไขมันทรานส์ หรือไขมันอิ่มตัวสูงนั้นไม่ได้ทำให้เราอ้วนขึ้นเท่านั้น งานวิจัยของสเปนบอกว่ามันเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าด้วย  ข้อมูลได้จากการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารของอาสาสมัครกว่า 12,000 คน เป็นเวลา 6 ปี พบว่าในตอนเริ่มงานวิจัยไม่มีใครเป็นโรคซึมเศร้าเลย แต่เมื่อจบการเก็บข้อมูล พบคนที่มีอาการดังกล่าว 657 คน โดยคนที่รับประทานอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดหรือแพสตรี้บรรจุกล่องที่ขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นประจำ มีอัตราความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 และยิ่งรับประทานอาหารที่มีไขมันมากขึ้นเท่าไร ความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย  ที่สำคัญอาสาสมัครกลุ่มนี้คือคนยุโรปที่บริโภคไขมันทรานส์ในปริมาณค่อนข้างต่ำเป็นนิสัย คนเหล่านี้ได้พลังงานจากไขมันดังกล่าวเพียงร้อยละ 0.4 ของพลังงานที่ได้รับ  ลองนึกดูว่าในกลุ่มคนอเมริกันที่ได้พลังงานถึงร้อยละ 2.5 จากไขมันทรานส์นั้นจะมีความเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้ามากกว่านี้สักกี่เท่า  แต่งานวิจัยนี้ก็ยังมีข่าวดีมาบอกกันอยู่บ้าง เขาบอกว่าน้ำมันมะกอก ซึ่งมีโอเมก้า-9 สามารถช่วยป้องกันอาการเจ็บป่วยทางจิตได้ด้วย  ปัจจุบันโลกเรามีผู้ป่วยด้วยอาการดังกล่าวอยู่ประมาณ 150 ล้านคน     สนับสนุนคนไกลเกือบหนึ่งในสี่ของอาหารที่ระบุว่าเป็นของ “ผลิตในท้องถิ่น” ในอังกฤษและเวลส์นั้น ไม่ได้เป็นดังที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เมื่อผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น และต้องการสนับสนุนผู้ผลิตในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อการสร้างงาน และลดมลภาวะที่เกิดขึ้นจากการขนส่ง ก็มีผู้ประกอบการหัวใส ที่หาทางใช้ประโยชน์จากเทรนด์ที่ว่า ในประเทศอังกฤษก็มีผู้ประกอบการประเภทที่ว่าอยู่ไม่น้อย ถึงขั้นที่หน่วยงานรัฐต้องลงมือสำรวจว่ามีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ในท้องตลาดมากน้อยเท่าไร  จากการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ 558 ชิ้น ในร้านค้า ร้านอาหาร ตลาด กว่า 300 แห่ง หน่วยงานดังกล่าวพบว่าร้อยละ 32 ของสินค้าที่ชูจุดขายเรื่องความเป็น “ผลิตในท้องถิ่น” เข้าข่ายการหลอกลวงผู้บริโภค  ในนั้นมีผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าเป็น “เนื้อแกะจากเวลส์” ที่ผลิตในนิวซีแลนด์ หรือ “แฮมจากเดวอน” ทั้งๆ ที่นำเข้ามาจากเดนมาร์ก เป็นต้น นี่ยังไม่นับผลิตภัณฑ์ที่อาจจะใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น แต่ส่งออกไปแปรรูปที่ประเทศจีนแล้วนำกลับเข้ามาขายในอังกฤษใหม่อีกครั้ง ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าสามารถจัดเข้าเป็นสินค้าท้องถิ่นได้ด้วยหรือไม่  

อ่านเพิ่มเติม >