ฉบับที่ 196 ชีวิตเพื่อฆ่า หัวใจเพื่อเธอ : เมื่อหมาป่าอยากโบกบินสู่เสรีภาพ

โดยทั่วไปแล้ว ละครโทรทัศน์ที่เราได้รับชมผ่านทางหน้าจอนั้น มักจะสร้างให้ตัวละครพระเอกเป็นภาพของผู้ชายในอุดมคติ เป็นสุภาพบุรุษจิตใจงาม และเป็นผู้ประกอบสัมมาอาชีวะเป็นอาจิณ เพื่อที่จะให้ภาพของพระเอกดังกล่าวยืนยันในตัวแบบบรรทัดฐานของผู้ชายที่สังคมคาดหวังจะให้เป็น แต่หากละครโทรทัศน์เรื่องใดเปลี่ยนมานำเสนอภาพของพระเอกให้กลายเป็นบุรุษหนุ่มที่อาศัยในมุมมืดของสังคม เป็นมิจฉาชีพที่สังคมไม่ยอมรับ และไม่ใช่ตัวแบบแห่งความคาดหวังที่สังคมเลือกให้ผู้คนเจริญรอยตามแล้ว วิธีการสร้างตัวละครเยี่ยงนี้น่าจะชวนให้เราสงสัยว่า ผู้ผลิตคงต้องการแฝงความนัยบางอย่างที่ซ่อนเร้นเอาไว้แน่นอน เฉกเช่นละครโทรทัศน์เรื่อง “ชีวิตเพื่อฆ่า หัวใจเพื่อเธอ” ที่ผู้สร้างเลือกจะผูกเรื่องราวชีวิตของพระเอกหนุ่ม “วายุ” ให้เป็นมือปืนรับจ้างอันดับต้นๆ ของวงการนักฆ่าผู้ชอบเก็บตัวไม่สุงสิงกับใคร วายุทำงานอยู่ในซุ้มมือปืนที่มี “สุรสีห์” เป็นหัวหน้า โดยสุรสีห์เปิดผับเป็นฉากอาชีพสุจริตที่บังหน้า และมีวายุทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์อยู่ในผับแห่งนั้น  ในโลกทัศน์ของคนทั่วไป ภาพลักษณ์แบบพระเอกนักฆ่าของวายุนั้น ก็คือตัวแบบของมิจฉาชีพผู้เป็นอาชญากรรม ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของสังคม ไม่ว่าจะพินิจพิจารณาจากมุมมองแบบใดก็ตาม หากใช้มุมมองเชิงนิติศาสตร์หรือมุมมองเชิงศีลธรรมแล้ว ความเป็นอาชญากรก็คือบุคคลที่ละเมิดรีตรอยของกฎหมายและผิดศีลปาณาติบาตอันเป็นศีลข้อแรกของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น เมื่อวายุทำตนอยู่นอกกฎหมาย เขาจึงถูกนายตำรวจหนุ่มผู้เป็นศัตรูหัวใจอย่าง “ศรุต” ติดตามไล่ล่า เพื่อขจัดเขาออกไปจากระบบสังคม และคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมและจารีตศีลธรรมของสังคม แต่หากเราลองขยับมาอธิบายด้วยมุมมองแบบจิตวิทยาแล้ว อาชญากรอย่างวายุก็คือคนที่ถูกตีความว่ามีปัญหาทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจเนื่องมาจากปมชีวิตที่ติดตัวมาแต่กำเนิด จนทำให้คนๆ นั้นไม่อาจควบคุมคุณธรรมความดีในจิตใจ และกลายเป็นบุคคลที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคมในที่สุด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม การที่บุคคลหนึ่ง “กลายมาเป็น” คนเลวของระบบ จึงเป็นเพราะความคิดที่ไม่เคารพกฎหมาย ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่เชื่อในเรื่องวัฏฏะแห่งกรรม ไปจนถึงการมีปมปัญหาทางจิตที่ซ่อนซุกเร้นลึกอยู่ในตัวของอาชญากรคนนั้น  แต่อย่างไรก็ดี เพราะเนื่องจากในท้องเรื่องของละครนั้น ปัจเจกบุคคลที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของระบบสังคมกลับกลายเป็นวายุหนุ่มหล่อพระเอกของเรื่องนี่เอง ดูเหมือนว่า เหตุปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดแทบจะไม่ใช่ตัวแปรหลักของการ “กลายมาเป็น” นักฆ่าดังกล่าวเลย  ละครได้วางโครงเค้าให้เราค่อยๆ ย้อนกลับไปเข้าใจสาเหตุที่พระเอกวายุจำยอมและจำต้องเดินทางเข้าสู่โลกมืดของอาชญากร ทั้งๆ ที่หิริโอตตัปปะและความรับผิดชอบชั่วดียังคอยกำกับหน่วงรั้งไว้ทุกครั้งที่เขาต้องเหนี่ยวไกปืนเพื่อสังหารชีวิตคน เริ่มต้นจากการที่บุพการีถูกฆ่ายกครัวตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก ทำให้วายุกลายเป็นมนุษย์ที่ไร้สายสัมพันธ์กับสถาบันที่เป็นหน่วยเล็กที่สุดแต่ก็สำคัญที่สุดอย่างสถาบันครอบครัว หรือการที่เขาจำต้องทดแทนบุญคุณของหัวหน้าซุ้มมือปืนอย่างสุรสีห์ที่ดูแลเขาแทนพ่อแม่นับตั้งแต่นั้น ไปจนถึงการให้เหตุผลความชอบธรรมว่า คนที่เขาได้รับใบสั่งฆ่าทุกคนนั้น ต่างก็เป็นคนเลวหรือมิจฉาชีพทั้งสิ้น เหตุผลที่ถูกอ้างอิงเอาไว้หลายข้อดังกล่าว สะท้อนให้เห็นอีกด้านหนึ่งว่า เมื่อปัจเจกบุคคลถูกสะบั้นสายสัมพันธ์ออกจากสถาบันต่างๆ ประกอบกับถูกแรงบีบคั้นจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เขาก็จะ “กลายมาเป็น” บุคคลที่ไม่อาจปรับตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบได้ ทุกครั้งวายุใช้ปืนปลิดชีวิตคนอื่นจึงเป็นผลพวงจากความแปลกแยกที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และแปลกแยกจากศีลธรรมและกฎของสังคมที่ครอบงำเอาไว้นั่นเอง ความรู้สึกแบบที่ฝรั่งเรียกว่า “ไม่ belonging to” เฉกเช่นนี้ ก็ไม่ต่างจากประโยคที่สุรสีห์พร่ำสอนกรอกหูวายุอยู่ตลอดว่า ชีวิตของนักฆ่าก็ไม่ต่างจาก “หมาป่า” ในสังคมที่คนโดยรอบต่างก็ล้วนเป็น “หมาป่า” ทั้งสิ้น เพราะ “หมาป่า” ยังไงก็ต้องเป็นและไม่อาจหลุดพ้นไปจากวงโคจรชีวิตของ “หมาป่า” ได้โดยง่าย ดังนั้น พระเอกวายุจึงเหมือนถูกผลักให้ยอมรับกฎของสังคมที่ว่า ในสังคมที่ไร้แรงยึดเหนี่ยวเกาะเกี่ยวปัจเจกบุคคลเอาไว้ “ถ้าไม่เป็นผู้ล่า เราก็จะกลายเป็นผู้ถูกล่าเสียเอง”  แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ แม้ตัวละครจะถูกระบบกล่อมเกลาให้เชื่อว่า “มนุษย์เราต่างเป็นหมาป่าของกันและกัน” แบบนี้ แต่มือปืนผู้นี้กลับเป็นผู้ที่หลงรักในนกพิราบสีขาว ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง วายุจะชอบไปนั่งมองนกพิราบในสวนสาธารณะ และเป็นที่นี่เองที่วายุได้พบกับนางเอก “ภาวรินทร์” ประติมากรสาวผู้เป็นบุตรีของ “ธนทัต” ซึ่งฉากหน้าเป็นนักธุรกิจรายใหญ่ แต่หลังฉากกลับเป็นพ่อค้ายาเสพติดผู้โหดเหี้ยม การพบกันระหว่างตัวละครนักฆ่าหนุ่มที่จิตใจเหือดแห้งไร้สายใยกับสังคมรอบข้างกับศิลปินสาวที่เชื่อมั่นในพลังความงดงามในจิตใจของมนุษย์ จึงก่อเกิดเป็นความรักและสายสัมพันธ์เส้นใหม่ ที่ทำให้ “หมาป่า” อย่างวายุอยากจะโบยบินไปสู่อิสรภาพแบบ “นกพิราบสีขาว” ไม่ว่าความสัมพันธ์เส้นใหม่นี้จะสมหวังหรือผิดหวังในฉากจบของเรื่องก็ตาม แต่แน่นอนเพราะ “ขึ้นขี่หลังเสือแล้ว ก็ลงจากหลังเสือได้ยากยิ่ง” แม้จะสำเหนียกว่าชีวิตของตนว่ายวนบนสายพานของแรงกดดันและกฎเกณฑ์มากมายของสังคม แต่วายุก็มิอาจบินหนีไปสู่เสรีภาพได้โดยง่าย ในสภาวะที่ความแปลกแยกได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมนุษย์ และข้อเท็จจริงที่ว่า “สัตว์โลกที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะอยู่รอด” ได้ถูกทำให้เป็นเพียงกฎข้อเดียวของสังคม แต่ทว่า ชะตากรรมของวายุที่ติดกับอยู่ในเงามืดของสังคม ก็สะท้อนย้อนคิดให้เห็นว่า แม้แต่ “หมาป่า” ก็ยังมี “ความหวัง” ที่จะบินออกไปจากกรงที่ขังเขาไว้ด้วยกฎเกณฑ์ดังกล่าว ชีวิตในมุมมืดของตัวละครอยากจะโบยบินสู่เสรีภาพจากกฎต่างๆ ของสังคม แล้วกับชีวิตเราๆ ที่มีเสรีภาพอยู่แล้ว เคยสำเหนียกหรือไม่ว่า รอบตัวของเสรีชนถูกพันธนาการด้วยกฎเกณฑ์แบบใดกันบ้าง?

อ่านเพิ่มเติม >