ฉบับที่ 245 ซื้อบ้านจัดสรรเจอภัยพิบัติบ้านชำรุด เคลมประกันได้ไหม

        ช่วงนี้สถานการณ์โควิดระบาดก็ว่าแย่แล้ว ยังมีเรื่องซ้ำเติมหลายๆ คนกับเหตุการณ์โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกในสมุทรปราการเกิดระเบิด จนทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายทั้งชีวิต ร่างกายและสุขภาพ และแน่นอนว่าในบริเวณดังกล่าวมีบ้านเรือนประชาชนอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่ไปสร้างในบริเวณใกล้โรงงาน ผู้บริโภคที่ซื้อบ้านในโครงการใกล้โรงงานก็ได้รับผลกระทบความเสียหายในบ้านเรือนมากมาย ต้องการการซ่อมแซมบ้านอย่างเร่งด่วน ด้วยเชื่อว่ายังอยู่ในระยะประกันตามสัญญา แต่ปัญหาที่พบคือ “ประกันที่ทำของโครงการ อ้างว่าไม่ครอบคลุมความเสียหายจากเหตุภัยพิบัติ”  ผมจึงอยากหยิบยกกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ในเรื่องความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของบ้านจัดสรรมาฝากกันครับ         ก่อนอื่น ทราบกันหรือไม่ จริงๆ พวกสัญญาจะซื้อจะขายบ้านของพวกโครงการบ้านจัดสรรต่างๆ ต้องดำเนินการตามแบบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด ตาม พ.ร.บ. การจัดสรรที่ดิน มาตรา 34  ซึ่งถือได้ว่าเป็น “แบบสัญญามาตรฐาน” ถ้าโครงการใดไม่ใช้สัญญามาตรฐานนี้ หรือมีการไปใส่ ดัดแปลง ตัดทอนเรื่องสำคัญ ให้มีเนื้อหาแตกต่างจากสัญญามาตรฐาน จะมีผลคือ เจอโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และข้อสัญญาที่แตกต่างจากสัญญามาตรฐานก็จะไม่มีผลบังคับใช้ด้วย         ในเรื่องความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของแบบสัญญามาตรฐาน กรณีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร (มีสิ่งปลูกสร้าง) ข้อ 11 ระบุว่า เมื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ผู้จะซื้อแล้ว ผู้จะขายต้องรับผิดในความเสียหายหรือความชำรุดบกพร่อง อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่ผู้ซื้อพึงได้รับ  โดยกรณีโครงสร้างของอาคารได้แก่ เสาเข็ม ฐานรก เสา คาน พื้น โครงหลังคา และผนังที่รับน้ำหนัก ภายใน 5 ปี นับแต่วันโอนกรรมสิทธิ์  กรณีส่วนควบ เช่น ประตู หน้าต่าง กระจก รวมถึงรั้ว กำแพง ภายใน 1 ปีนับแต่วันโอนกรรมสิทธิ์           มีข้อสังเกต ว่าตามแบบสัญญามาตรฐานดังกล่าว ไม่ได้ระบุเลยว่า ความรับผิดในความชำรุดเสียหายที่เกิดขึ้น จำกัดเฉพาะกรณีเกิดเหตุจากการก่อสร้างของผู้ขายเท่านั้น อย่างไรก็ดี พบว่าในทางปฏิบัติหลายโครงการมักไปเขียนข้อสัญญาจะซื้อจะขายบ้านจัดสรรให้ตัวเองรับผิดชอบในความชำรุดเฉพาะในกรณีที่เกิดจากเหตุการก่อสร้างของตนเท่านั้น  เพื่อจะอ้างไม่รับผิดชอบกรณีความเสียหายจากบุคคลภายนอกหรือภัยพิบัติ   เช่นนี้เห็นได้ว่าการเขียนข้อสัญญาลักษณะนี้ ถือว่าเข้าข่ายเขียนข้อสัญญาที่ขัดหรือแตกต่างต่อแบบของสัญญามาตรฐาน เป็นข้อสัญญาที่ยกเว้นความรับผิดในความชำรุดบกพร่อง จนสร้างภาระให้ผู้ซื้อเกินสมควร อาจเข้าข่ายข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่มีผลบังคับและควรถือว่าสัญญาดังกล่าว ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามแบบสัญญามาตรฐานเพื่อความเป็นธรรมของผู้บริโภค ที่ควรได้รับความคุ้มครองในกรณีเกิดความชำรุดบกพร่องอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่ผู้ซื้อพึงได้รับ          ในเรื่องความชำรุดบกพร่อง ก็มีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น กรณีซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย แม้จะไปตรวจบ้านก่อนรับโอน แต่ในส่วนโครงสร้างที่ผู้ซื้อไม่เห็นประจักษ์ถึงความชำรุดตอนส่งมอบ เมื่อต่อมารับโอนแล้วพบ ผู้ขายก็จะต้องรับผิดชอบ จะบอกปัดโดยอ้างว่าผู้ซื้อไม่ตรวจสอบให้ดีก่อนรับโอนไม่ได้ ตามแนวคำพิพากษาฏีกา ที่ 17002/2555          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17002/2555        การผุกร่อนของเหล็กเส้นที่ถูกสนิมกัดกินคานบ้านเป็นความชำรุดบกพร่องที่เป็นเหตุเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เมื่อโจทก์ซื้อบ้านเพื่อจะใช้อยู่อาศัยและคู่สัญญาซื้อขายไม่ได้ตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 483 ความชำรุดบกพร่องดังกล่าว จึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 แม้ก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบบ้านให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ได้เข้าไปตรวจดูบ้านถึง 4 ครั้ง กับใช้กล้องวิดีโอถ่ายสภาพบ้านนำไปให้ญาติของโจทก์ช่วยกันพิจารณาสภาพบ้านด้วยก็ตาม แต่ในส่วนโครงเหล็กของคานชั้น 2 อยู่บริเวณเหนือฝ้า การจะตรวจดูต้องทุบแล้วรื้อฝ้าออกจึงจะพบเห็น ไม่ใช่กรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบและโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์รับเอาบ้านไว้โดยมิได้อิดเอื้อน ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ขอเปิดฝ้าเพื่อตรวจดูคานนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่ไม่น่าจะคาดคิดว่าคานบ้านชั้น 2 ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นดินหรือความชื้นจะเกิดสนิมที่เหล็กเส้นจนผุกร่อน จนต้องขอเปิดฝ้าดูเพื่อตรวจสอบ กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน อันจะทำให้จำเลยทั้งสองผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในกรณีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 473 (1) และ (2)          กรณีซื้อบ้านใหม่อยู่ไม่ถึงปี พบชำรุดหลายจุดจนไม่อาจอยู่อาศัยได้ ก็ถือว่าเป็นความชำรุดที่ทำให้เสื่อมประโยชน์ใช้สอยตามปกติคือซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย ถือเป็นการชำรุดก่อนเวลาอันควร ไม่ใช่เรื่องชำรุดบกพร่องจาการใช้สอยตามปกติ เช่นนี้ ผู้ขายก็ต้องรับผิด         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8088/2543         โจทก์ทั้งสามซื้อทาวน์เฮาส์หลังพิพาทมาในสภาพใหม่เพิ่งก่อสร้างเสร็จจากจำเลย และเข้าอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ได้เพียง 6 เดือน ก็เกิดความชำรุดบกพร่องในส่วนสำคัญหลายรายการ จนไม่อาจใช้อยู่อาศัยได้อย่างปกติสุขหรือเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติต่อไปได้ เป็นการชำรุดบกพร่องก่อนเวลาอันสมควร จึงหาใช่เป็นเรื่องที่ความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นจากธรรมชาติของการใช้สอยไม่ จำเลยผู้ขายย่อมต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทาวน์เฮ้าส์นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 472

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 รถยนต์ชำรุดซ่อมไม่หาย ฟ้องให้ชดใช้เป็นเงินได้

        ในเล่มนี้ก็มีความรู้ดีๆ มาแบ่งปันอีกเช่นเคย สำหรับช่วงนี้เราก็ยังอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นใจ ทั้งโรคโควิด 19 ที่ยังระบาดและฝุ่น PM 2.5 ที่ยังแก้ไม่ได้  และหลายท่านอาจมีปัญหาด้านสุขภาพ ผู้เขียนก็มีความห่วงใย ขอให้ผู้อ่านทุกท่านดูแลรักษาสุขภาพกันให้ดีๆ นะครับ         ปัญหาคลาสสิคที่เกิดอยู่บ่อยๆ คือ เวลาซื้อรถยนต์ ใช้ได้ไม่นานก็ต้องซ่อมบ่อยๆ ทั้งที่เพิ่งซื้อมา หลายคนคงปวดหัวเพราะการซื้อรถยนต์คันหนึ่งต้องใช้เงินไม่น้อย บางคนซื้อมาเพื่อเอาไว้เป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน พอเจอรถเสียต้องซ่อมก็ทำให้กระทบกับการหารายได้ แน่นอนว่าเมื่อซ่อมหลายครั้งไม่หายคงต้องอยากขอเรียกเงินคืนซึ่งผู้ขายก็มักไม่ยอมจนเกิดคดีฟ้องร้องต่อศาล          เราในฐานะผู้บริโภคเองมีกฎหมายช่วยฟ้องคือ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 สามารถฟ้องเป็น “คดีผู้บริโภค” เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ได้ อีกทั้งยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้ หากผู้ผลิตและผู้ขายรถยนต์นั้นไม่สามารถจัดการปัญหาความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เราซื้อมาได้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2561         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2561         แม้โจทก์จะเป็นเพียงลูกค้าที่ติดต่อซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีการเช่าซื้อ และโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันพิพาทขณะฟ้องคดีเพราะเป็นผู้เช่าซื้อจากธนาคาร ท. แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อพร้อมกับส่งมอบสมุดคู่มือการรับบริการให้แก่โจทก์ระบุการรับประกันรถยนต์พิพาทตามเงื่อนไขและระยะเวลา โดยระบุชื่อโจทก์เป็นลูกค้าผู้ซื้อซึ่งมีสิทธิเข้ารับบริการเกี่ยวกับรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมถือเป็นสัญญาให้บริการ แม้ไม่ได้ทำสัญญาให้บริการขึ้นก็มีผลผูกพันและใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และผู้ให้เช่าซื้อตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิต ประกอบ และจำหน่ายรถยนต์พิพาท แม้เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกค้าผู้ซื้อรถก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลมาตรฐานการซ่อมของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยใกล้ชิด พฤติการณ์การประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ย่อมชี้ชัดว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการให้สัญญารับประกันการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์อันเป็นบริการที่ให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนโจทก์เป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้รับบริการย่อมเป็นผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่ารถยนต์พิพาทชำรุดบกพร่องจากเหตุเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติและอยู่ภายใต้เงื่อนไขและระยะเวลารับประกัน อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาให้บริการซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง        ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ซ่อมแซมข้อชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาทเรียบร้อยแล้วหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้บริการที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 เมื่อจำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์แต่ไม่อาจนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างได้ คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าข้อชำรุดบกพร่องของเครื่องยนต์ได้รับการแก้ไขแล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังคงต้องร่วมกันรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาท        ศาลในคดีผู้บริโภคย่อมมีอำนาจบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเป็นเงินแก่โจทก์ได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 และ 41 ในกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่อาจแก้ไขเหตุชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้บริโภคได้         เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาของศาลฏีกาข้างต้นคงจะสังเกตเห็น ว่าการที่เราเป็นผู้บริโภคแล้วใช้สิทธิฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลมีกฎหมายช่วยเราในหลายประการ เช่น แม้เราจะไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ เพราะเรายังผ่อนกับธนาคารก็ตาม แต่เมื่อเราได้สมุดคู่มือการรับบริการ ทำให้เรามีสิทธิรับบริการเกี่ยวกับรถยนต์ก็ถือว่าเรามีสัญญากับบริษัทแล้ว จึงฟ้องทั้งผู้ขายและผู้ผลิตได้  เมื่อรถยนต์ที่ซื้อมาใช้งานไม่ได้ตามที่ตกลงสัญญาไว้ เราก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล         อีกอย่างคือ ภาระการพิสูจน์ว่ารถยนต์ได้รับการซ่อมจนหายเป็นปกติหรือไม่ กฎหมายกำหนดให้เป็นภาระของจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ เมื่อสืบไม่ได้จึงต้องฟังว่า คดีนี้รถยนต์พิพาทมีปัญหาความชำรุดบกพร่องตามฟ้องและต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 พัสดุชำรุดเสียหาย ใครรับผิดชอบ

หากพบว่าพัสดุชำรุดบกพร่องระหว่างการขนส่ง ผู้บริโภคสามารถแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง ลองไปดูกันคุณปรานีเลือกใช้บริการไปรษณีย์ไทย สาขาตลิ่งชัน เพื่อส่งพัสดุเป็นพัดลมตั้งโต๊ะ ซึ่งมีราคาเครื่องละ 1,600 บาท จำนวน 4 เครื่องให้กับลูกค้า อย่างไรก็ตามภายหลังลูกค้าได้โทรศัพท์มาแจ้งว่า พัดลมที่ได้รับ 2 ใน 4 เครื่อง ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากคอพัดลมหัก พร้อมส่งรูปถ่ายสภาพกล่องมาให้ดู ซึ่งมีลักษณะถูกกระแทกและมีรอยบุบหลายแห่ง ทำให้คุณปรานีมั่นใจว่า เหตุที่พัดลมเสียหาย ต้องเกิดขึ้นระหว่างการขนส่งพัสดุของไปรษณีย์ดังกล่าวแน่นอน เธอจึงไปติดต่อที่สาขาเดิม เพื่อขอให้รับผิดชอบและชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไรก็ตามทางไปรษณีย์ ได้ปฏิเสธรับผิดชอบความเสียหายดังกล่าว แต่แนะนำให้คุณปรานีติดต่อไปยัง Call Center ที่เบอร์โทร 1545 เพื่อร้องเรียน ซึ่งพนักงาน Call Center ได้ช่วยเหลือเธอด้วยการให้ส่งเรื่องมายังอีเมลและรอการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทำให้เธอส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งภาพถ่ายสินค้าและกล่องพัสดุ ในสภาพก่อนและหลังมาเพิ่มเติม พร้อมเอกสารอื่นๆ เช่น ใบเสร็จรับเงินหรืออีเมลการร้องเรียน และช่วยผู้ร้องโทรศัพท์สอบถามไปยังไปรษณีย์ไทย ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า ผู้ร้องดำเนินการส่งพัสดุผิดวิธี โดยไม่มีการห่อกันกระแทกภายใน อย่างไรก็ตามจะรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาถึงการชดเชยความเสียหายเบื้องต้น ภายหลังบริษัทไปรษณีย์ไทย ก็ได้ตอบกลับมาว่า ยินดีชดเชยค่าเสียหายตามราคาจริงของพัดลมที่ชำรุด โดยเสนอให้เป็นจำนวนเงิน  3,200 บาทแต่ให้ผู้ร้องนำพัดลมที่ชำรุดส่งคืนมายังบริษัทฯ เพื่อเป็นหลักฐานในการคืนเงินกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องระหว่างขนส่ง ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติการร้องเรียน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 สิทธิของผู้ซื้อบ้าน กรณีเจอบ้านชำรุดบกพร่อง

ในชีวิตคนเรา ไม่ว่าใครก็ฝันอยากมีบ้านเป็นของตนเอง หรือบางท่านก็ต้องการมีบ้านเพื่อเป็นเรือนหอ เพื่อสร้างครอบครัวของตนเอง บ้านหลังหนึ่งราคาไม่ใช่น้อยๆ  ต้องเก็บเงิน ทำงานทั้งชีวิตกว่าจะได้มา ช่วงที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ทราบข่าวคู่รักชาวเชียงใหม่ เข้าร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมให้ช่วยเหลือ หลังซื้อบ้านใหม่ราคากว่า 2 ล้านบาท เพื่อทำเป็นเรือนหอ แต่ยังไม่ทันเข้าอยู่ กลับมีสภาพเหมือนโรงเพาะเห็ด  เมื่อมาเจอปัญหาซื้อบ้าน แต่ได้บ้านที่มีเห็ด มีเชื้อราขึ้นทั่วบ้าน ใครจะกล้าอยู่  จ่ายเงินไปแล้ว ก็ต้องการบ้านที่ดี สะอาด ปลอดภัย น่าอยู่เหมือนคนอื่นๆ    เรื่องของการซื้อขายบ้าน คนขายไม่ใช่เพียงแต่ขายบ้าน รับเงินแล้วจบ  แต่ยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบบ้านในสภาพที่ใช้อยู่อาศัยได้จริงด้วย  หากส่งมอบบ้านมา อย่างกรณีที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคยังไม่ทันเข้าอยู่อาศัย พบว่าบ้านมีเห็ด มีเชื้อราขึ้น สอบถามจนทราบว่าเกิดจากความชื้นจากใต้ดิน ทำให้บ้านเกิดเชื้อรา แบบนี้ถือว่า บ้านที่ส่งมอบให้ผู้บริโภคนั้น เกิดความชำรุดบกพร่องเป็นเหตุเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ กล่าวคือ บ้านซื้อมาประโยชน์จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยอีกหลายสิบปี แต่กลับใช้อาศัยไม่ได้ ไม่ปลอดภัยเพราะมีแต่เชื้อโรค บ้านปกติเขาไม่เป็นแบบนี้  กรณีแบบนี้ ต่อให้ตรวจสอบก่อนรับมอบบ้าน ก็คงไม่ทราบ เพราะไม่ใช่ความชำรุดเสียหายที่เห็นเป็นประจักษ์ขณะส่งมอบบ้านกัน จะให้ผู้บริโภคที่ซื้อบ้านรับผิดชอบคงไม่ได้ (ฏีกาที่   5584/2544, 17002/2555) โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้อ เมื่อพบว่าทรัพย์สินที่ซื้อขายมีความชำรุดบกพร่องเช่นนี้ มีสิทธิ 3 ประการ คือ 1.สิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายแก้ไขความชำรุดบกพร่อง (มาตรา 472)2.สิทธิยึดหน่วงราคาทั้งหมดหรือแต่บางส่วน กล่าวคือ ไม่ต้องชำระเงินค่าบ้านส่วนที่เหลือจนกว่าจะได้รับการแก้ไขความชำรุดบกพร่อง (มาตรา 488) 3.สิทธิบอก(ปัด)เลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหาย  รวมถึงเงินมัดจำ และให้ชำระหนี้บางส่วน (ถ้ามี) ( มาตรา 386 และ 391 )แต่อย่างไรก็ตามสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายรับผิดนั้นก็ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง  ดังนั้นในเบื้องต้น หากท่านรู้ว่าบ้านที่ซื้อมีความชำรุดบกพร่อง มีความเสียหายส่วนใดๆ ก็ตาม ต้องรีบทำหนังสือแจ้งให้โครงการดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว เช่น ภายใน 15 วัน หากผู้ขายไม่รีบดำเนินการแก้ไข ก็อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบทำเรื่องร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อดำเนินการช่วยเหลือในการเจรจาไกล่เกลี่ย รวมถึงฟ้องเป็นคดีต่อศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2544 ความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการที่ผนังบางส่วนมีรอยแตกร้าวบริเวณระหว่างกำแพงที่เป็นปูนหรือส่วนที่เป็นพื้นกับวงกบอะลูมิเนียมของบานประตูหน้าต่างมีรอยต่อไม่สนิท หรือบางส่วนยาซิลิคอนไม่ทั่วทำให้น้ำฝนสามารถซึมเข้ามาได้นั้น เป็นความชำรุดบกพร่องอันไม่เห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ เมื่อมีน้ำฝนตกหนักน้ำฝนซึมเข้ามา จึงจะรู้ว่ามีการชำรุดบกพร่องดังกล่าว แม้ตัวแทนโจทก์เข้าไปสำรวจตรวจสอบแล้ว ก็เป็นการตรวจสอบเพียงว่ามีทรัพย์สินใดเสียหายบ้าง แต่บุคคลดังกล่าวไม่มีความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้าง การที่ตัวแทนโจทก์เสนอให้โจทก์หาผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจสอบและโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท อ. เข้าไปตรวจสอบจึงเป็นการกระทำที่สมควร จะถือว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องแล้วแต่เวลานั้นยังไม่ได้ เมื่อต่อมาบริษัท อ. ตรวจสอบเสร็จและเสนอรายการซ่อมให้โจทก์ทราบ จึงถือได้ว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องนับแต่เวลานั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันดังกล่าวคดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17002/2555การผุกร่อนของเหล็กเส้นที่ถูกสนิมกัดกินคานบ้าน เป็นความชำรุดบกพร่องที่เป็นเหตุเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เมื่อโจทก์ซื้อบ้านเพื่อจะใช้อยู่อาศัยและคู่สัญญาซื้อขายไม่ได้ตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 483 ความชำรุดบกพร่องดังกล่าวจึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472แม้ก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบบ้านให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ได้เข้าไปตรวจดูบ้านถึง 4 ครั้ง กับใช้กล้องวิดีโอถ่ายสภาพบ้านนำไปให้ญาติของโจทก์ช่วยกันพิจารณาสภาพบ้านด้วยก็ตาม แต่ในส่วนโครงเหล็กของคานชั้น 2 อยู่บริเวณเหนือฝ้า การจะตรวจดูต้องทุบแล้วรื้อฝ้าออกจึงจะพบเห็น ไม่ใช่กรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบและโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์รับเอาบ้านไว้โดยมิได้อิดเอื้อน ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ขอเปิดฝ้าเพื่อตรวจดูคานนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่ไม่น่าจะคาดคิดว่าคานบ้านชั้น 2 ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นดินหรือความชื้นจะเกิดสนิมที่เหล็กเส้นจนผุกร่อน จนต้องขอเปิดฝ้าดูเพื่อตรวจสอบ กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน อันจะทำให้จำเลยทั้งสองผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในกรณีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 473 (1) และ (2)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 ทรู อ้างอุปกรณ์ชำรุดริบเงินมัดจำ

วิโรจน์ สมัครเป็นสมาชิกอินเทอร์เน็ตกับทรู ไลฟ์ พลัส ตั้งแต่ปี 2550วิโรจน์ถูกเรียกเก็บค่ามัดจำอุปกรณ์รับสัญญาณเป็นเงินสองพันบาท จะได้คืนต่อเมื่อมีการบอกเลิกสัญญากันวิโรจน์ ใช้บริการอินเทอร์เน็ตกับทรู มาจนถึงกลางปี 2555 เป็นเวลา 5 ปี อยากจะบอกเลิกใช้บริการ จึงโทรไปแจ้งให้ทรูทราบว่า ต้องการบอกเลิกสัญญาและให้ทรูมาเก็บอุปกรณ์ของตัวเองไปหลังจากนั้นไม่นาน ทรูส่งเจ้าหน้าที่มาเก็บอุปกรณ์ คือกล่องดำรับสัญญาณ มารับอุปกรณ์ เซ็นเอกสารอะไรกันเสร็จ จากนั้นประมาณ 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ช่างที่มาเก็บอุปกรณ์โทรมาบอกว่า กล่องดำรับสัญญาณที่เก็บไปการ์ดชำรุด ใช้งานไม่ได้“ผมก็แย้งไปว่า กล่องดำที่เสียน่ะเป็นของผมหรือเปล่า หรือคุณทำของผมเสียหายแล้วโทรแจ้ง ทำไมตอนเก็บไม่ตรวจสอบต่อหน้าลูกค้าว่าอุปกรณ์เกิดชำรุด เสียหายอะไรบ้าง แล้วมาบอกว่าจะถูกหักเงินจากเงินมัดจำ”วิโรจน์ทักท้วงไป แต่ก็ไม่ได้ผลอะไร เพราะปลายเดือนเขาได้รับเงินโอนเข้าบัญชีจากทรูเป็นเงิน 1,000 บาท แทนที่จะเป็น 2,000 บาท วิโรจน์ต้องหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรไปถามทรูว่า ทำไมเงินมัดจำได้รับคืนไม่ครบ ได้รับคำตอบว่า เป็นการหักเงินค่ามัดจำอุปกรณ์ที่เกิดการชำรุดวิโรจน์รวบรวมหลักฐานที่มีอยู่ส่งเรื่องมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “ผมคิดว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกค้า เป็นการหักโดยประมาณค่าใช้จ่าย และช่างของ ทรูได้เซ็นรับอุปกรณ์ไปแล้ว มาแจ้งภายหลังว่าการ์ดเสีย ไม่รู้ว่าเสียจริงหรือหรือเปล่า” แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อได้ฟังข้อเท็จจริงจากผู้ร้องเรียนแล้ว เราจึงรีบแนะนำให้คุณวิโรจน์ทำจดหมายเรียนถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท ทรู ไลฟ์ พลัส ทันที เพราะการเจรจาทางโทรศัพท์ฝั่งผู้บริโภคจะไม่มีอะไรเป็นหลักฐานยืนยันว่าได้เคยมีการทักท้วงในปัญหาที่เกิดขึ้น และให้ยืนยันอย่างชัดเจนว่ามีความประสงค์ในการร้องเรียนเพื่ออะไรคุณวิโรจน์ได้ทำหนังสือขึ้น เพื่อขอค่ามัดจำที่เหลืออยู่คืน เนื่องจากทรูได้รับอุปกรณ์คืนไปเรียบร้อยแล้ว แต่กลับมาอ้างว่าอุปกรณ์เสียในภายหลัง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น อุปกรณ์ดังกล่าวยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ เขียนเสร็จก็ส่งไปที่ อีเมล์ voc@truecorp.co.th พร้อมส่งสำเนามาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯเมื่อได้รับจดหมายร้องเรียนเป็นทางการแล้ว เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จึงสามารถประสานไปที่ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนของทรูได้ จากนั้นไม่นานได้รับแจ้งจากผู้ร้องเรียนว่า ได้รับเงินคืนจำนวน 1,000 บาทจากทรูเป็นที่เรียบร้อยแล้วใครที่มีปัญหาทำนองนี้ ใช้วิธีการร้องเรียนแบบนี้ได้ทันที ไม่ควรใช้ช่องทางโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 ห้องชำรุด ยังไม่ต้องรับโอน บอกเลิกสัญญาขอเงินคืนได้

ฉบับนี้เป็นปัญหาของผู้บริโภคที่ซื้ออาคารชุดแล้วห้องไม่เรียบร้อย เมื่อแจ้งโครงการให้แก้แล้ว แต่โครงการแก้ไขไม่เสร็จ และไม่สามารถให้ผู้บริโภครับโอนกรรมสิทธิ์ได้ ปัญหาลักษณะนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดจวบจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิในการบอกเลิกสัญญา กรณีนี้เช่นนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเป็นตัวอย่างมาแล้ว เรามาดูกันครับ คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการทรัพย์แก้วทาวเวอร์ ของบริษัท ทรัพย์แก้ว จำกัด กับจำเลยในราคา 740,000 บาท ตกลงชำระเงินในวันจอง 5,000 บาท ในวันทำสัญญา 5,000 บาท และระหว่างการก่อสร้างอาคารชุดจำนวน 24 งวด งวดละ 5,750 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 148,000 บาท โดยให้ถือว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินมัดจำ จำเลยตกลงจะส่งมอบห้องชุดในสภาพเรียบร้อยให้แก่โจทก์ประมาณเดือนเมษายน 2539 สำหรับเงินส่วนที่เหลืออีกจำนวน 592,000 บาท มีข้อตกลงให้ชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาและยังได้ชำระค่าตกแต่งเพิ่มเติมห้องชุดให้แก่จำเลยอีกจำนวน 1,470 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสิ้นจำนวน 149,470 บาท เมื่อครบกำหนดส่งมอบปรากฏว่าผนังของห้องชุดดังกล่าวมีรอยร้าวเป็นแนวยาวจากเพดานถึงพื้นห้อง จำเลยจึงขอเลื่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นวันที่ 26 ธันวาคม 2539 แต่จำเลยก็ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ตามที่ตกลงได้ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและทวงถามขอเงินคืน แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องรับผิดคืนเงินจำนวน 149,470 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2540 อันเป็นวันครบกำหนดให้จำเลยชำระเงินคืน คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 1,627.78 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 151,097.78 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 151,097.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 149,470 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 148,000 บาท คืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง(วันที่ 30 กันยายน 2540) ต้องไม่เกิน 1,627.78 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,500 บาท คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 1,500 บาท จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายห้องชุดเพื่อบุคคลภายนอกในโครงการอาคารชุดพักอาศัยทรัพย์แก้วทาวน์เวอร์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลยในราคา 740,000 บาท โจทก์ได้ชำระเงินในวันจอง 5,000 บาท ในวันทำสัญญา 5,000 บาท และชำระในระหว่างก่อสร้างห้องชุดจำนวน 24 งวด งวดละ 5,750 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ได้ชำระไปแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 148,000 บาท สำหรับเงินที่เหลืออีกจำนวน 592,000 บาท มีข้อตกลงให้ชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยได้รับเงินจำนวน 148,000 บาท แล้ว แต่จำเลยมิได้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่โจทก์ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ จำเลยอ้างว่าจำเลยบอกเลิกแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2539 ก่อนที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับสิ้นไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยอีก เห็นว่า ก่อนที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ ปรากฏว่าผนังของห้องชุดพิพาทมีรอยแตกร้าว ซึ่งจำเลยรับกับโจทก์ว่าจะแก้ไขรอยแตกร้าวในห้องชุดพิพาทให้เรียบร้อย และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2539 จำเลยได้ให้โจทก์ตรวจรับห้องชุดพิพาท ซึ่งพบว่าห้องชุดพิพาทมีรอยแตกร้าวต้องซ่อมแซม และในวันที่ 29 ธันวาคม 2539 ได้มีการนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทซึ่งเป็นวันหลังจากที่จำเลยอ้างว่าได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว การที่มีการนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทหลังจากที่จำเลยอ้างว่าได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้วนั้น แสดงให้เห็นว่า จำเลยมิได้มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์ในเดือนกันยายน 2539 ทั้งหลังจากนั้นจำเลยยังได้ยินยอมให้โจทก์เข้าไปตรวจรับห้องชุดพิพาทและจำเลยได้นัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดกับโจทก์ในวันที่ 26 ธันวาคม 2539 แต่ในวันดังกล่าวไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์กัน เนื่องจากจำเลยเรียกเงินจากโจทก์อีก 50,000 บาท โดยอ้างว่าโจทก์รับโอนห้องชุดพิพาทล่าช้า หลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้แจ้งให้โจทก์มารับโอนห้องชุดพิพาทอีก เมื่อสัญญายังไม่เลิกกันและจำเลยไม่โอนห้องชุดพิพาทให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้. (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8390/2549) //

อ่านเพิ่มเติม >