ฉบับที่ 270 ขอบังคับคดีกับบุคคลภายนอกที่เป็นลูกหนี้ร่วมตามสัญญาประนีประนอมได้หรือไม่

        การบังคับคดี โดยปกติจะกระทำได้ก็เฉพาะคู่ความผู้ที่แพ้คดีและตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่บางกรณี บุคคลภายนอกก็อาจถูกบังคับคดีได้ หากเข้ามาเกี่ยวข้องกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา อย่างเช่นในกรณีที่หยิบยกในครั้งนี้ เป็นเรื่องของ นาย ส. ซึ่งเดิมมิใช่คู่ความในคดีเป็นบุคคลภายนอก แต่ในระหว่างดำเนินคดี ได้ยินยอมตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยในคดี  ต่อมาเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ ศาลฏีกาได้ตัดสินให้ นาย ส. ซึ่งแม้เป็นบุคคลภายนอกคดี แต่เมื่อยอมตกลงรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม แล้วต่อมา นาย ส.ไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญา ก็มีสิทธิบังคับคดีกับทรัพย์สินของนาย ส. ได้ เนื่องจากถือได้ว่านาย ส. อยู่ในฐานะเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ และต้องดำเนินการบังคับคดีภายในสิบปีวันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามมาตรา 274 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามแนวคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3787/2564  คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3787/2564         แม้ ส. เป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดีที่ถูกฟ้องแต่แรก แต่ ส. ยินยอมเข้ามาในคดีโดยตกลงยอมรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างลูกหนี้ร่วมและได้ลงลายมือชื่อผูกพันตนว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274  แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560  มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 และโจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีภายหลังจากมาตรา 274  ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับแล้ว การบังคับคดีของโจทก์จึงตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 274  วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมที่ ส. ซึ่ง เป็นบุคคลภายนอกยินยอมเข้ามาผูกพันตนว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ ร่วมรับผิดกับจำเลยมีผลผูกพัน ส. ในฐานะเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องปฏิบัติตาม เมื่อ ส. ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับคดี ส. ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่เกร็ดความรู้เพิ่มเติม สำหรับหลายท่านที่เป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิบังคับคดี ในบางครั้งการบังคับคดี หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ทราบว่าทรัพย์สินลูกหนี้ตั้งอยู่หรือเก็บรักษาไว้ที่ใด เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนหาทรัพย์สินของลูกหนี้ได้             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2559          คำร้องของโจทก์ที่ระบุว่า โจทก์ได้ดำเนินการสืบหาทรัพย์ของจำเลยแล้ว  ปรากฏว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้  แต่ตามฐานะความเป็นอยู่ของจำเลยเชื่อว่าจำเลยมีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับมากกว่าที่ตนทราบแล้ว  ย่อมมีความหมายในตัวเองว่าโจทก์เห็นว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นซึ่งโจทก์ยังไม่สามารถติดตามจนพบเพื่อบังคับคดีได้จึงต้องขอให้ศาลเรียกจำเลยมาไต่สวนให้ได้ความจริง  การที่โจทก์ไม่อาจนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ได้เพราะยังไม่พบว่าจำเลยมีทรัพย์สินใด   กรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ทราบว่าจำเลยมีทรัพย์สินใดเป็นที่แน่ชัดแล้ว  แต่จะอาศัย ป.วิ.พ.มาตรา 277  เป็นเครื่องมือติดตามตัวทรัพย์สิน  หรือเพื่อให้ทราบสถานที่ตั้งของทรัพย์สินนั้น จึงมีเหตุสมควรที่จะรับคำร้องของโจทก์และมีหมายเรียกจำเลยมาไต่สวนทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ใบแจ้งหนี้ที่ไม่แจ้งยอดหนี้

        หลายบริษัทไฟแนนซ์เมื่อเราซึ่งเป็นลูกค้ากลายเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระ หนี้ของเราจะถูกโอนไปให้สำนักงานทนายความมารับคดีไปทำ ซึ่งเวลาที่ผู้บริโภคจะติดต่อเรื่องราวก็ต้องทำกับสำนักงานทนายความ เพราะบริษัทไฟแนนซ์บอกว่า ให้ติดต่อสำนักงานทนายความเลย แต่หากสำนักงานทนายความไม่ยอมแจ้งยอดหนี้ว่าจริงๆ คือเท่าไร ลูกหนี้อย่างเรามีสิทธิทำอะไรได้บ้าง         ศาลมีคำพิพากษาให้คุณภูผาชำระหนี้ส่วนต่างค่ารถยนต์กับบริษัทไฟแนนซ์ จำนวน 172,000 บาท  ซึ่งบริษัทไฟแนนซ์เจ้านี้ได้ให้สำนักงานทนายความเข้ามาดำเนินคดีแทนตั้งแต่แรก เวลาติดต่อเรื่องการชำระหนี้ก็จะต้องติดต่อสำนักงานทนายความนี้ หลังจากมีคำพิพากษาประมาณ 1 เดือน สำนักงานทนายความโทรศัพท์มาติดตามให้เขาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแทบทุกวัน จนกระทั่งเขาหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ ในวันชำระหนี้ทนายความให้เขาไปรอที่ธนาคารเพื่อจะให้ชำระหนี้ ทนายความจะส่งเอกสารในการชำระหนี้มาให้         เมื่อเขาไปถึงธนาคารก็บอกทนายไปว่ามาถึงแล้ว สักพักทนายส่งเอกสารใบแจ้งหนี้มาให้ ในใบแจ้งหนี้มีแต่ชื่อตัวเขาและคิวอาร์โค้ดสำหรับการชำระหนี้เท่านั้น เขางงว่าทำไมทนายความส่งมาให้แบบนี้ไม่เห็นบอกยอดหนี้ที่เขาต้องชำระเลย เขาจึงสอบถามทนายความไปว่าทำไมไม่แจ้งยอดหนี้มาในใบแจ้งหนี้ ทนายความก็บอกเพียงแต่ว่าให้เอาเอกสารนี้ยื่นให้ธนาคาร ใบแจ้งหนี้มีเท่าที่เห็นไม่มีการบอกตัวเลขยอดหนี้ ซ้ำทนายความยังขู่ให้โอนทันที แต่คุณภูผา “ไม่ไว้ใจ” สงสัยว่าทำไมทนายความถึงไม่แจ้งยอดหนี้ในใบแจ้งหนี้ บอกเพียงปากเปล่าเท่านั้น จึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา          ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะทราบรายละเอียดและเงื่อนไขการกู้ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่างๆ ดังนั้นผู้ร้องสามารถแจ้งทนายความได้เลยว่า ผู้ร้องเป็นลูกหนี้ควรต้องรู้รายละเอียดในการชำระหนี้ของตนเอง ถ้าเราไม่รู้รายละเอียดยอดหนี้ก็คงไม่สามารถชำระหนี้ได้         ส่วนกรณีที่ผู้ร้องถูกขู่ อาจเข้าข่ายเป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ทวงหนี้ พ.ศ. 2558 สามารถร้องเรียนได้ที่ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง คณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ประจำจังหวัด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยิ่งกรณีของผู้ร้องเป็นทนายความด้วย ผู้ร้องสามารถร้องเรียนมรรยาททนายความกับทนายความ และสำนักงานทนายความได้ที่ สภาทนายความฯ อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ด่วนค่ะ หนูจะถูกยึดบ้านไหม

        กริ้ง กริ้ง กริ้ง เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ณ สำนักงานมูลนิธิฯ “สวัสดีค่ะพี่ หนูมีเรื่องอยากปรึกษาค่ะ” ผู้ร้อง “พี่ค่ะ พอดีว่าหนูเป็นหนี้บัครเครดิต... ประมาณ พี่ขา บ้านหนูจะถูกยึดไหมค่ะ เป็นหนี้เขา120,000 บาท แล้วหนูผิดนัดชำระหนี้เพราะหนูตกงานและหมุนเงินไม่ทัน” เมื่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ สอบถามว่าอยู่ในขั้นตอนใด ถูกฟ้องหรือยัง ผู้ร้องตอบเสียงสั่นๆ ว่า “ถูกฟ้องแล้วค่ะ บริษัทบัตรเครดิตฟ้องหนูที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2561 โน้นค่ะ วันที่เขานัดหนูก็ไปศาลมาค่ะ หนูทำสัญญาประนอมหนี้กับบริษัทบัตรเครดิตที่เป็นเจ้าหนี้หนูว่า หนูจะชำระหนี้เดือนละ 3,000 บาท แต่ช่วงปีที่ผ่านมาหนูก็ไม่มีรายได้ค่ะ หนูเลยไม่สามารถผ่อนเขาได้ตามที่ตกลงไว้ ตอนนี้บริษัทเขาก็ตั้งเรื่องบังคับคดี เพื่อจะยึดทรัพย์หนูค่ะ หนูต้องทำยังไงดีค่ะพี่”          “ผู้ร้องมีทรัพย์สินอะไรบ้างไหม เช่น บ้าน รถ ที่ดิน เงินฝาก”         “หนูมีบ้านพร้อมที่ดินหนึ่งหลังค่ะ แต่เป็นชื่อร่วมหนูกับน้องชาย”         “ใจเย็นๆ ครับ ผู้ร้องสามารถเลือกจัดการปัญหาได้ 3 ทาง อย่างนี้นะครับ”   แนวทางการแก้ไขปัญหา         ช่องทางแรก ถ้าผู้ร้องไม่ต้องการให้บ้านของผู้ร้องถูกบังคับคดี ผู้ร้องจะต้องติดต่อกับเจ้าหนี้โดยด่วน เพื่อผ่อนชำระหนี้ โดยผู้ร้องต้องมีตัวเลขอยู่ในใจแล้วว่าจะตกลงกับเจ้าหนี้ที่ตัวเลขเท่าไร เพราะถ้าประนอมหนี้ได้ก็จะต้องชำระให้ครบทุกงวดผิดนัดแม้แต่งวดเดียวไม่ได้         ช่องทางที่สอง ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมตกลงด้วย ก่อนที่จะบังคับคดีผู้ร้องสามารถติดต่อที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยของกรมบังคับคดีเพื่อประนอมหนี้ได้อีกครั้งในขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะบังคับคดี โดยทางกรมบังคับคดีจะเรียกเจ้าหนี้และผู้ร้องเข้ามาคุยกันอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าสามารถตกลงกันได้และตราบใดที่ยังคงชำระหนี้อย่างต่อเนื่องก็จะไม่มีการบังคับคดีเกิดขึ้น แต่ถ้าเรียกแล้วเจ้าหนี้ไม่มา กรมบังคับคดีก็ไม่สามารถบังคับเจ้าหนี้ได้ เพราะฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้เป็นหลัก ว่าจะเห็นใจผู้ร้องหรือไม่         ช่องทางที่สาม ถ้าไม่สามารถประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้ หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมให้ผ่อนชำระอีก ซึ่งส่วนมากเจ้าหนี้จะให้ปิดด้วยเงินก้อนเดียวโดยอาจยอมลดยอดหนี้ลงมา ผู้ร้องก็ต้องดูว่าสามารถรวบรวมเงินจากพี่น้องหรือญาติคนไหนได้บ้างเพื่อนำมาปิดบัญชีนี้ไว้ก่อน  แล้วค่อยหาทางชำระหนี้กับผู้ที่หยิบยืมมาในภายหลัง         ถ้าทั้งสามช่องทางข้างต้นผู้ร้องไม่สามารถทำได้ และยังต้องการบ้านไว้ ผู้ร้องก็อาจจะต้องหาคนเข้ามาช้อนซื้อทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดเอาไว้ก่อนเพื่อไม่ให้บ้านตกเป็นของผู้อื่นและบ้านที่จะขายจะได้มีราคาไม่ต่ำมากจนเกินไปและอาจเพียงพอที่จะชำระหนี้         ในส่วนบ้านของผู้ร้องที่จะถูกบังคับคดีเป็นชื่อของผู้ร้องและน้องชาย ซึ่งถือเป็นกรรมสิทธิร่วม เพราะฉะนั้นก่อนมีการขายทอดตลาดผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอกันส่วนเอาไว้ให้กับน้องชาย เพราะถ้าไม่กันส่วนไว้ เมื่อขายทอดตลาดแล้วน้องชายจะไม่ได้เงินในส่วนของเขา เจ้าหนี้ก็จะนำไปชำระหนี้หมด แต่ถ้ามีการกันส่วนไว้ เมื่อขายทอดตลาดได้เงินแล้วเงินจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ในส่วนของผู้ร้องก็จะนำมาชำระหนี้บัตรเครดิต (ถ้าเหลือก็ต้องคืนให้กับผู้ร้อง ถ้าไม่พอก็ต้องก็ต้องยึดทรัพย์สินอื่นอีก) อีกส่วนหนึ่งก็จะกันไว้ให้กับน้องชายของผู้ร้องไม่นำมาชำระหนี้เพราะไม่ได้เป็นหนี้บัตรเครดิตกับผู้ร้องด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ศาลพิพากษาจ่ายเท่านี้ แต่เจ้าหนี้ให้จ่ายเพิ่มต้องทำอย่างไร

        ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหลายคนคงเคยมีปัญหาว่า เมื่อศาลให้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เป็นจำนวนเงินหนึ่ง หรือระบุว่า ชำระจำนวนหนึ่ง เมื่อถึงคราวจ่ายจริงเจ้าหนี้กลับบอกให้ชำระอีกยอดหนึ่ง ซึ่งสูงกว่าคำพิพากษา ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เราจะทำอย่างไรได้บ้างให้เรื่องมันจบโดยไม่เสียหายเกินไป            คุณบุปผาเป็นผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กระบะ ราคา 600,000 บาท ให้ลูกชายกับธนาคารแห่งหนึ่ง ต่อมาลูกชายของเธอไม่ส่งค่างวดรถ จนทำให้ธนาคารมายึดรถยนต์ไป และเมื่อธนาคารนำรถออกขายทอดตลาดแล้วปรากฎว่า มีส่วนต่างที่ลูกชายต้องชำระเพิ่มอีก 300,000 บาท ธนาคารจึงมาฟ้องเรียกเงินส่วนต่าง 300,000 บาทนั้น เป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ 15,000 บาท ค่าติดตามรถยนต์ 6,000 บาท กับลูกชายซึ่งเป็นลูกหนี้ เป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องคุณบุปผาในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยที่ 2          ต่อมาลูกชายของเธอเสียชีวิตกะทันหัน อย่างไรก็ตามเธอได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีในฐานะผู้ค้ำประกันจนศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 (ลูกชาย) ชำระหนี้ 150,000 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ 9,000 บาท ค่าติดตามรถยนต์ 3,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 162,000 บาท และเธอในฐานะผู้ค้ำประกัน ชำระหนี้ 150,000 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ 6,000 บาท ค่าติดตามรถยนต์ 2,000 บาท เนื่องจากธนาคารมีหนังสือถึงผู้ค้ำประกัน เรื่องการประมูลรถยนต์เกินเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งข้อความเหล่านี้เป็นเหตุผลและรายละเอียดในคำพิพากษา และให้ชำระค่าทนายความอีก 3,000 บาท         หลังจากมีคำพิพากษาแล้ว ประมาณหนึ่งเดือนสำนักงานทนายความตัวแทนของธนาคารที่ดำเนินการฟ้องคดีคุณบุปผาโทรศัพท์มาทวงถามให้เธอชำระหนี้ทุกวัน ถ้าวันไหนไม่รับสายก็โทรมาหลายครั้ง แต่เมื่อได้พูดคุยทางเจ้าหน้าที่ของทางสำนักงานทนาย ซึ่งแจ้งว่าตนอยู่ฝ่ายเร่งรัดหนี้สิน บอกว่าเธอมียอดหนี้ประมาณเกือบ 200,000 บาท อ้างว่า “ยึดยอดหนี้ตามหมายบังคับคดีและบวกดอกเบี้ยเพิ่มเข้าไป”         เธอจึงขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยอ่านคำบังคับให้ฟัง “ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล จังหวัดนครปฐม ที่บังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 162,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (18 มีนาคม 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ หากชำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินดังกล่าวแทนโจทก์ แต่ค่าขาดประโยชน์ให้รับผิดไม่เกิน 6,000 บาท ค่าติดตามไม่เกิน 2,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกนี้ขอให้ยก” เธอตกใจมาก เพราะว่าเพิ่งผ่านมา 1 เดือน จากยอดหนี้ไม่ถึง 170,000 บาท ทำไมยอดหนี้ถึงเพิ่มขึ้น 20,000 กว่าบาท เริ่มไม่แน่ใจว่าตัวเองเข้าใจคำพิพากษาผิดหรือเปล่า จึงปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แนะนำผู้ร้องว่า ให้ผู้ร้องไปคัดคำพิพากษาของศาลคดีของผู้ร้อง และยื่นคำร้องให้นิติกรศาลคำนวณเงินที่ต้องชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและคำบังคับในฐานะจำเลยที่ 2 (ผู้ค้ำประกัน) ให้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเจรจา และขอให้สำนักงานทนายความชี้แจงรายละเอียดหนี้ของผู้ร้องว่ามีรายละเอียดอย่างไร ทำไมยอดหนี้ถึงสูงขึ้น เช่น จำนวนเงินที่ศาลให้ชำระ ดอกเบี้ย ฯลฯ         ทั้งนี้หากว่าเจ้าหนี้ไม่ชี้แจงยอดหนี้ ผู้ร้องหรือคุณบุปผาสามารถอ้างสิทธิของลูกหนี้ (ลูกหนี้มีสิทธิรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับรายละเอียดและเงื่อนไขการกู้ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามประมลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558)         ต่อเมื่อได้เอกสารชี้แจงจำนวนยอดหนี้ที่ต้องถูกต้องแล้วจึงค่อยชำระหนี้ และขอให้เจ้าหนี้ออกเอกสารที่มีข้อความประมาณว่า เมื่อได้ชำระหนี้จำนวนนี้แล้ว ถือว่าไม่เป้นหนี้สินต่อกันอีก หรือขอใบเสร็จรับเงินในการชำระหนี้ ถ้าเจ้าหนี้ไม่สามารถออกเอกสารเรื่องการชำระหนี้ครบถ้วนหรือไม่สามารถออกใบเสร็จให้ได้ ลูกหนี้ไม่ควรชำระหนี้โดยเด็ดขาด เพราะไม่มีเอกสารอะไรยืนยันเลยว่า ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ครบถ้วนแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ‘การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ’ ว่าแต่ต้องทำยังไงล่ะ? (จบ)

        เรายังอยู่กับเรื่อง ‘หนี้’ ปัญหาคับอกคับใจคนจำนวนมาก ตอนก่อนๆ หน้านั้น เราจำแนกหนี้ดีกับหนี้เสียกัน จนถึงขั้นตอนแรกของการปลดหนี้ นั่นก็คือการหยุดก่อหนี้เพิ่ม         ลำดับต่อมาคือเราต้องจัดลำดับความสำคัญของหนี้แต่ละก้อน         ฟังดูงงๆ หมายความว่าคุณต้องสำรวจหนี้สินแต่ละก้อนว่าก้อนไหนสร้างภาระดอกเบี้ยมากที่สุด เพื่อหยุดวงจรดอกทบต้น ต้นทบดอกไม่จบสิ้น และก้อนนี้เป็นหนี้ที่คุณควรจัดการก่อนเป็นอันดับแรก         การเรียงลำดับความสำคัญการชำระหนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือการเจรจาผ่อนผันกับเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องหรือสถาบันการเงิน อย่ากลัวหรือคิดไปเองว่าหนี้สถาบันการเงินไม่อาจผ่อนผันได้ อย่างไรเสีย สถาบันการเงินก็ต้องการให้เราผ่อนชำระหนี้ให้หมด แทนที่จะปล่อยให้เป็นหนี้เสีย เมื่อส่วนนี้ลุล่วงก็มาถึงขั้นต่อไปว่า แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาชำระหนี้?         แน่นอนว่าต้องเป็นเงินที่เราทำมาหาได้ ขั้นตอนนี้มี 2 สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป หนึ่ง-การลดรายจ่าย และสอง-การเพิ่มรายได้ เพราะทั้งสองสิ่งนี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและปริมาณเงินที่จะนำไปใช้หนี้ แยกแยะระหว่าง ‘จำเป็น’ และ ‘ไม่จำเป็น’ เลือกใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ขณะเดียวกันก็หาช่องทางสร้างรายเสริมอื่นๆ จากทักษะความรู้ที่มี เช่น เป็นติวเตอร์ การทำขนม และอื่นๆ อีกมากมาย ไปจนถึงการลงทุนค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ยอมรับว่าเหนื่อย แต่ก็คล้ายกับการออกกำลังกายนั่นแหละ เพราะมันจะช่วยให้เรามีสุขภาพทางการเงินที่ดีในอนาคตและยังช่วยเพิ่มทักษะด้านการจัดการและการทำธุรกิจ         ต่อมา วางแผนการปลดหนี้ เช่น ถ้าคุณมีหนี้อยู่ 3 ก้อน รู้แล้วว่าก้อนไหนมีภาระดอกเบี้ยมากที่สุดคุณต้องจัดการก้อนหนี้นี้ก่อน แต่คงเป็นไปได้ยากที่จะไม่ชำระหนี้อีก 2 ก้อนเลย การเจรจากับเจ้าหนี้ถึงได้สำคัญ คุณอาจผ่อนหนี้ 2 ก้อนหลังลดลงก่อน วางเป้าหมายว่าจะชำระหนี้ก้อนแรกให้จบภายในเวลาเท่าไหร่ เช่น ภายใน 18 เดือน เมื่อมีเป้าหมายชัด คุณจะรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ต้องเอาเงินบางส่วนไปใส่ไว้ที่ไหนเพื่อให้เงินงอกเงยแล้วนำกลับมาชำระหนี้ภายหลัง ต้องหารายได้เสริมต่อเดือนเท่าไหร่ ฯลฯ         การกู้หนี้ใหม่มาโปะหนี้เก่ายังเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ไม่ถือเป็นกฎตายตัว มันต้องห้ามกรณีรูดบัตรใหม่มาโปะบัตรเก่าและกรณีกู้นอกระบบ ซึ่งยิ่งถือเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิตทางการเงินที่ควรหลีกเลี่ยง                 โชคดีที่โลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่าการ ‘รีไฟแนนซ์’ (Refinance) ซึ่งมักจะใช้ในกรณีการกู้ซื้อบ้าน จริงๆ มันก็คือการกู้หนี้ใหม่มาชำระหนี้เก่าโดยใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมเป็นหลักประกัน โดยทำผ่านสถาบันการเงิน ใช่ว่ามันไม่ได้ทำให้หนี้หายไป มันเพียงทำให้หนี้เก่าที่มีภาระดอกเบี้ยสูงจบ แล้วคุณไปจ่ายหนี้ก้อนใหม่ให้กับสถาบันการเงินด้วยดอกเบี้ยที่ถูกลง       เมื่อหนี้ก้อนแรกจบ หมายความว่าคุณจะมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เงินที่จะใช้ชำระหนี้ก้อนต่อมาก็จะเพิ่มขึ้นและจบหนี้ก้อนนี้ได้เร็วขึ้นอีกเป็นวงจรไปเรื่อยๆ บางคนเรียกวิธีนี้ว่า สโนว์บอล (snow ball) จากเงินใช้หนี้ก้อนเล็กๆ หากวางแผนและจัดการดีๆ มันจะขยายใหญ่ขึ้น เหมือนลูกบอลหิมะที่ไหลลงจากเขา       หลังจากปลดหนี้แล้ว อย่าลืมรักษาวินัยทางการเงินและเลี่ยงการเป็นหนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ชำระหนี้ครบ แต่ยังโดนหมายฟ้อง

เอกสารการชำระหนี้ เป็นหลักฐานสำคัญสำหรับลูกหนี้ทุกคน เพราะเราอาจโดนฟ้องให้ชำระหนี้ ทั้งๆ ที่จ่ายครบแล้ว ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้เมื่อปี พ.ศ. 2540 คุณสุนีย์กู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) จำนวน 16,018 บาท ซึ่งกองทุนกำหนดให้ชำระเงินคืนเมื่อสำเร็จการศึกษา และเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปีของเงินต้น ภายหลังเมื่อเรียนจบและครบกำหนดชำระหนี้ คุณสุนีย์กลับผิดนัดชำระ เนื่องจากมีปัญหาด้านการเงินและไม่ได้ติดต่อไปยัง กยศ. เพื่อแจ้งเหตุผลหรือขอเลื่อนนัดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเมื่อเธอเริ่มตั้งตัวได้และต้องการชำระหนี้ดังกล่าว จึงตัดสินใจชำระหนี้เต็มจำนวนเป็นเงิน 25,698.40 บาท โดยชำระผ่านทางธนาคารกรุงไทย ซึ่งหลังชำระเงินพนักงานของธนาคารก็ได้แจ้งว่า ยอดดังกล่าวได้รวมดอกเบี้ยแล้วเรียบร้อย ทำให้เธอไม่มีหนี้ติดค้างกับ กยศ. อีกต่อไปอย่างไรก็ตามเหตุการณ์หลังจากนั้นกลับไม่ได้เป็นอย่างที่พนักงานแจ้ง เพราะไม่นานเธอได้รับหมายศาลให้ชำระหนี้ กยศ. ที่ค้างอยู่ รวมเป็นเงินกว่า 30,000 บาท โดยกองทุนได้ฟ้องร้องเนื่องจากเธอผิดสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุนีย์จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงธนาคารกรุงไทย เพื่อขอให้ชี้แจงพร้อมขอสำเนาการชำระเงินที่เธอได้ชำระไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องคดีได้ พร้อมส่งจดหมายเชิญตัวแทนของกองทุนมาเจรจาไกล่เกลี่ย อย่างไรก็ตามภายหลังเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากทาง กยศ. ยืนยันว่า จำนวนหนี้ที่ฟ้องมานั้นถูกต้อง และผู้ร้องต้องชำระให้ครบจำนวน ทำให้ต้องไปพิสูจน์ความจริงที่ศาลต่อไปเมื่อถึงวันพิจารณาคดี ศาลให้มีการนัดสืบพยาน แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการใดๆ ทางโจทก์หรือกยศ.ก็ขอถอนฟ้อง เนื่องจากไม่มีพยานเอกสารมาสืบ แต่ได้กล่าวทิ้งท้ายว่าอาจทำเรื่องฟ้องใหม่ภายหลัง ซึ่งทำให้ผู้ร้องไม่สบายใจ แต่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ชี้แจงว่า อาจเป็นเพียงการพูดกดดันจากอีกฝ่ายเท่านั้น แต่ให้เก็บหลักฐานการชำระเงินไว้ก่อน เพราะสามารถใช้ยืนยันความบริสุทธิ์ได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 10 ข้อควรรู้ เอาไว้สู้กับพวกทวงหนี้โหด (ตอนที่ 2)

ฉลาดซื้อ ฉบับที่แล้ว ผมได้แนะนำสาระสำคัญของ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันไปแล้วว่ากฎหมายนี้ จะช่วยคุ้มครองสิทธิของคุณในฐานะลูกหนี้ได้อย่างไรบ้าง ผ่านไปแล้ว 4 ข้อ ซึ่งฉบับนี้เราจะมาพูดถึงข้อดีอื่น ๆ ต่อไป ให้ครบ 10 ประการ   5. ห้ามทวงหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก แฟกซ์ หรือวิธีการอื่นใดที่สื่อให้เห็นว่าเป็นการทวงหนี้อย่างชัดเจน  แม้แต่ซองจดหมายที่ใช้ในการติดต่อกับลูกหนี้  กฎหมายก็ห้ามใช้ข้อความ สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายใด ๆ      ที่สื่อไปในทางทวงหนี้ เพราะก่อนหน้านี้เอกสารทวงหนี้มัก        จะตีตรา “ชำระหนี้ด่วน”    ตัวแดงเด่นชัดเห็นมาแต่ไกล ราวกับจะประกาศให้คนทั้งหมู่บ้านรู้ว่าคุณเป็นหนี้ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างคุณกับเจ้าหนี้ การพยายามเปิดเผยเรื่องหนี้กับบุคคลภายนอกจึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย 6. ห้ามทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ หรือบุคคลที่ลูกหนี้แจ้งชื่อเอาไว้ ถ้าเกิดไม่เจอตัวลูกหนี้ ทำได้อย่างมากก็แค่ถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ลูกหนี้เท่านั้น จะไปฝากเรื่องทวงหนี้เอาไว้กับเพื่อนร่วมงาน หรือคนข้างบ้านหวังจะประจานให้ลูกหนี้ได้อายอย่างเมื่อก่อนนี้ไม่ได้แล้ว  ข้อนี้ มีโทษหนักถึงขั้นต้องปิดบริษัท ถูกเพิกถอนใบอนุญาตการทวงหนี้กันเลยทีเดียว7. ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ของส่วนราชการทุกแห่งประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ คนในเครื่องแบบ คนมีสี ไม่ว่าจะสีเขียว หรือสีกากี ต่อไปห้ามรับ job ทวงหนี้เด็ดขาด ถูกร้องเรียนขึ้นมามีโทษทั้งจำทั้งปรับ และอาจจะต้องออกจากราชการหมดอนาคตไปด้วย 8. การติดต่อลูกหนี้ถ้าเป็นวันธรรมดาให้ติดต่อได้ในช่วง 08.00-20.00 น. ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ให้ติดต่อเวลา08.00-18.00 น. แต่การเจรจาพูดคุยกับลูกหนี้ก็ต้องดูให้เหมาะสม ไม่ใช่โทรมาทุกสิบนาทีตลอดทั้งวัน แบบนั้นก็ไม่ใช่ละส่วนสถานที่ติดต่อต้องเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ แต่ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงานก็ตาม พนักงานทวงหนี้ห้ามเข้ามาถ้าคุณไม่อนุญาต ไม่อย่างนั้น เจอข้อหาบุกรุกแน่  9. เป็นหน้าที่ของพนักงานทวงหนี้ ที่จะต้องแจ้ง ชื่อ -สกุล ชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ กรณีรับมอบอำนาจมาก็ให้แสดงหนังสือมอบอำนาจด้วย และถ้ามีการชำระหนี้ก็ต้องออกหลักฐานการรับเงินให้ลูกหนี้ด้วย และตามกฎหมายจะถือว่าเป็นการรับชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยถูกต้องแล้ว10. ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิจากการทวงหนี้ ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้ หรือคนในครอบครัว สามารถร้องเรียนพฤติกรรมโฉดของแก๊งทวงหนี้ได้ ที่สถานีตำรวจและที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง โดยเจ้าหน้าที่จะรวบรวมข้อเท็จจริงและเอกสารการร้องเรียน เสนอให้ “คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด” เป็นผู้พิจารณาจัดการกับพวกทวงหนี้โดยผิดกฎหมาย ต่อไป      ถึงตอนนี้ คุณก็ไม่ต้องกลัวพวกทวงหนี้โหดอีกแล้ว เพราะการติดหนี้นั้นเป็นคดีแพ่ง ไม่ต้องกลัวติดคุก แต่การทวงหนี้นอกกติกา ป่าเถื่อนนี่สิ เป็นคดีอาญา มีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 10 ข้อควรรู้ เอาไว้สู้กับพวกทวงหนี้โหด (ตอนที่ 1)

นับตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นมา การทวงหนี้โดยการข่มขู่ ประจาน ทำให้เสียชื่อเสียง ใช้กำลังประทุษร้ายหรือการคุกคามลูกหนี้ด้วยวิธีการสกปรกต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องต้องห้าม ผิดกฎหมาย พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เจ้าหนี้คนไหนฝ่าฝืนมีโทษหนัก ทั้งจำทั้งปรับ  ดังนั้น ใครที่กำลังถูกพวกทวงหนี้โหดคุกคาม คุณควรจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกฎหมายฉบับนี้ให้ดี เพราะมันเป็นเสมือนยันต์เกราะเพชร ที่จะคอยปกป้องคุณจากบรรดาพวกทวงหนี้ขาโหดได้เป็นอย่างดีสาระสำคัญของ พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ที่อยากให้คุณรู้ 1. พวกรับจ้างทวงหนี้ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานกฎหมาย ทนายความ หรือบริษัทรับทวงหนี้ จะต้องจดทะเบียน “การประกอบธุรกิจการทวงถามหนี้” กับทางราชการ เพื่อที่จะกำกับดูแลให้การทวงหนี้อยู่ในกรอบของกฎหมาย หากใครทวงหนี้โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับข้อมูลสำคัญ...ที่ต้องจำ เมื่อถูกทวงหนี้เจอพนักงานทวงหนี้ครั้งต่อไป อย่าลืมจดข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อ – นามสกุล, ชื่อบริษัทต้นสังกัด, เลขที่ใบอนุญาตประกอบกิจการทวงถามหนี้, หนังสือมอบอำนาจจากเจ้าหนี้,    ที่อยู่ - เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ เพราะหากมีการพูดจาข่มขู่ คุกคาม คุณจะได้มีหลักฐานไว้เล่นงานพวกทวงหนี้นอกรีตเหล่านี้ 2. ห้ามทวงหนี้ในลักษณะที่เป็นการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย ทำให้เสียชื่อเสียง หรือทำลายทรัพย์สินของลูกหนี้รวมทั้งคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้ด้วย ถ้าฝ่าฝืนมีโทษร้ายแรงมาก คือ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ...งานนี้นักเลงทวงหนี้ มีสิทธิติดคุกยาว 3. ห้ามทวงหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จหรือทำให้ลูกหนี้เกิดความเข้าใจผิด เช่น จดหมายทวงหนี้ที่ใช้ข้อความว่า อนุมัติฟ้องดำเนินคดี เตรียมรับหมายศาล เตรียมยึดทรัพย์ ถ้าไม่ใช้หนี้จะติด Black List เครดิตบูโร เพื่อจะขู่ให้ลูกหนี้กลัว และที่สำคัญห้ามแอบอ้างให้ลูกหนี้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นการกระทำของศาล หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ โดยใช้เครื่องหมาย ตราสัญลักษณ์ หรือแต่งกายเลียนแบบ ข้อนี้มีโทษหนักมาก จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ4. ห้ามทวงหนี้โดยใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น ข้อนี้น่าจะช่วยกำจัดพวกทวงหนี้ปากปลาร้าไปได้เยอะเลย เพราะถ้าคุมหมาในปากไม่อยู่ อาจจะต้องถูกปรับหนึ่งแสนบาท หรือต้องไปกินข้าวแดงในคุกฟรี นะจ๊ะอีก 6 ข้อควรรู้ที่เหลือ ติดตามต่อได้ในฉลาดซื้อ ฉบับหน้านะครับ ส่วนใครที่ร้อนใจ เพราะตอนนี้ปัญหาหนี้สินรุมเร้าเหลือเกิน ก็สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook : รู้สู้หนี้ หรือ www. rusunee.blogspot.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 ลูกค้าธนาคารออมสิน โวย มาตรการพักชำระหนี้ช่วยภัยน้ำท่วมไม่เป็นจริง

ในช่วงปลายปี 2553 เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ในหลายท้องที่ของประเทศไทยรวมทั้งที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาธนาคารออมสินได้มีการประชาสัมพันธ์แถลงข่าวและส่งจดหมายมาถึงลูกหนี้แจ้งมาตรการบรรเทาผลกระทบของลูกค้าและประชาชน จากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ให้พักชำระเงินต้น และดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าสินเชื่อทุกประเภทเป็นเวลาครึ่งปีคุณบุษกร กู้เงินสินเชื่อเคหะจากธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม จ.พระนครศรีอยุธยาเพื่อมาปลูกสร้างบ้านใหม่หลังโดนภัยน้ำท่วมจนบ้านพังอยู่อาศัยไม่ได้ เมื่อเห็นประชาสัมพันธ์นี้เข้าก็คิดว่าดีได้หยุดพักชำระหนี้จะได้นำเงินไปทำอย่างอื่นที่จำเป็นบ้างเธอเข้าทำสัญญาพักชำระหนี้แก้ไขเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญากู้เงินสินเชื่อเคหะของธนาคารออมสิน โดยตกลงกันที่จะผ่อนผันการพักชำระหนี้เงินต้นและหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ รวมเป็นเวลา 6 เดือน หรือ 6 งวด นับแต่เดือนธันวาคม 2553 โดยเข้าใจว่า ธนาคารจะระงับการคิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าวเมื่อครบกำหนดพักชำระหนี้ 6 เดือนแล้ว คุณบุษกรจึงนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาจำนวน 3,700 บาท ซึ่งเป็นอัตราชำระขั้นต่ำตามสัญญา ปรากฏว่า ถูกธนาคารคิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมด โดยไม่มีเงินต้นเลย เมื่อสอบถามกับพนักงานของธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม ก็อธิบายให้เข้าใจเป็นที่กระจ่างไม่ได้ว่า ทำไมจึงมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเป็นดอกเบี้ยย้อนหลังกลายเป็นดอกเบี้ยค้างชำระทบเข้ามา ทำให้ต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงเขียนเรื่องร้องเรียนเข้าที่เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org แนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้สอบถามไปยังธนาคารออมสิน และได้รับหนังสือชี้แจงจากนายมนตรี   นกอินทร์ ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า การผ่อนผันการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือนนั้น เป็นการหยุดเรื่องส่งชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเท่านั้น ส่วนเรื่องของการคิดดอกเบี้ยในขณะผ่อนผัน ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยสะสมไว้ รอลูกหนี้มาชำระหนี้เมื่อครบกำหนดสัญญาผ่อนผันการพักชำระหนี้เมื่อได้คำชี้แจงมาแบบนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นว่า การให้ข้อมูลโฆษณาประชาสัมพันธ์ของธนาคารออมสิน เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน สับสน และก่อให้เกิดการตัดสินใจเลือกใช้บริการที่ผิดพลาดมีความเสียหายขึ้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่สำคัญ  และเชื่อว่าน่าจะมีผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีกหลายรายที่หลงเชื่อเข้าร่วมโครงการนี้ของธนาคารออมสิน จึงได้จัดเวทีแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมาผลปรากฏว่า ธนาคารออมสินได้มีการประชุมพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการเร่งด่วน และมีมติอนุมัติที่จะให้ปรับปรุงบัญชีดอกเบี้ยของ 6 เดือนที่หยุดชำระจำนวนประมาณ 14,000 บาทนั้นออกไปทั้งหมด ส่งผลให้สถานะบัญชีหนี้ของคุณบุษกรกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมอีกครั้ง “ขอบคุณคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครวมถึงผู้สื่อข่าวทุกๆ ท่านที่ให้การช่วยเหลือมากเลยนะคะ” คุณบุษกรกล่าวสำหรับการดำเนินการแก้ปัญหาที่รวดเร็วของผู้บริหารธนาคารออมสินนั้น มูลนิธิฯ ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง และขอให้ดูแลลูกค้ารายอื่นให้มีมาตรฐานเดียวกันด้วย เพื่อให้สมกับเป็นธนาคารของประชาชน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 โกรธมาก อย่างนี้ต้องฟ้อง

เรื่องนี้เป็นเสียงจากลูกหนี้คนหนึ่งที่ร้องเรียนมาที่ศูนย์ฯ ครับ“เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 ได้มีโทรศัพท์เบอร์ 084-088XXXX โทรมาติดตามให้ชำระหนี้ผมเป็นหนี้ควิกแคชอยู่ 25,000 บาท ไอ้คนที่โทรมาคุยด้วยน้ำเสียงเหมือนเหนือกฎหมายมากว่าให้ชำระเงินให้เขา โดยเขาเนี่ยสามารถจะลดยอดให้เหลือเท่าไหร่ก็ได้ แต่สิ้นเดือนให้โอนมาก่อน 500 บาท โดยวาจาที่พูดมามีน้ำเสียงอวดดีมาก “พูดเหมือนเราฆ่าพ่อเขาตายแล้วโดนตำรวจจับได้อย่างงั้นแหละ”ผมเลยบอกไปว่า มึ..(เซ็นเซอร์)...ฟ้องเลย แล้วผมก็ติดต่อบริษัทฯ โดยผมจะขอผ่อนชำระทุกเดือนจนหมดหนี้โดยจะส่งเดือนละ 1,500 บาท เจ้าหน้าที่ก็ตกลงผมไม่เข้าใจว่าสำนักงานกฎหมายพวกนี้เรียนจบมาจากไหนกัน ใครสั่งสอน มีจรรยาบรรณกันบ้างมั้ย ทนายเขามีไว้ช่วยคนหรือหา..แ..(เซ็นเซอร์)...บนหลังคนกัน ผมก็มีการศึกษามีจรรยาบรรณ บ้านเมืองคงจะเจริญล่ะ ถ้ามีพวกนี้มากมายเรียนมาเพื่อกดคนที่เขาไม่รู้กฎหมาย แล้วบริษัทที่ส่งจดหมายทวงถามให้ผมคือ สำนักงานกฎหมาย...(เซ็นเซอร์) เจ้าของช่วยไปอบรมพนักงานบริษัทคุณมั่งนะ ผมเห็นเขาโพสด่ากันหลายคน ถ้ายิ่งใหญ่กันนักก็มาจัดการผมเลย ผมโกรธจริงๆ โกรธมากๆ” แนวทางแก้ไขปัญหา ใส่กันสุดตีนครับ แต่ว่า อย่าเอาแต่โกรธอย่างเดียวครับ หากลูกหนี้รายไหนเจอพฤติกรรมการทวงหนี้ประเภทข่มขู่กดดัน เสียดสีถากถาง ใช้กิริยาวาจาที่ไม่สุภาพควรจัดการทันทีด้วยวิธีการส่งจดหมายร้องเรียนไปถึงบริษัทเจ้าหนี้ สำเนาถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บริษัทเจ้าหนี้ที่ฉลาดเจอจดหมายร้องเรียนแล้วมักจะเลือกเปลี่ยนใช้บริการคนทวงหนี้ล่ะครับ ไม่งั้นเสียชื่อบริษัทเอาได้ง่ายๆ การใช้มุขหยอดให้โอน 500 บาทนี่ เป็นมุขหากินโบราณนานนมมาแล้ว คนทวงหนี้ที่มีการพัฒนาจะเลิกทำแล้ว เพราะจะถูกคนเป็นหนี้จับผิดแล้วแซวได้ว่า ไม่มีอำนาจจริงในการลดยอดหนี้หากินแต่ค่าคอมฯ 5 บาท 10 บาท แล้วจะพอกินเหรออะไรทำนองนี้ล่ะ ดังนั้น ถ้าต้องการจัดการพวกทวงหนี้ไดโนเสาร์เต่าล้านปีพวกนี้ให้สิ้นซากรบกวนทำจดหมายร้องเรียนทันทีครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 หนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ไม่มีข้อความว่าจะบอกเลิกสัญญา ถือว่าบอกเลิกสัญญาหรือไม่

ตามสัญญาเช่าซื้อนั้น แม้ว่าคู่สัญญาจะกำหนดวันชำระค่าเช่าซื้อไว้เป็นที่แน่นอนแล้ว  หลังจากนั้นผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดนัดและผู้ให้เช่าซื้อก็รับชำระเงินค่าเช่าซื้อนั้นไว้โดยไม่ทักท้วง ย่อมแสดงว่าในทางปฏิบัติ คู่สัญญามิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญต่อไป ต่อมาหากผู้ให้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อให้ตรงตามกำหนดก่อนแล้ว หากภายหลังผู้เช่าซื้อยังคงชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบตามกำหนด ผู้ให้เช่าซื้อจึงจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 บัญญัติว่า  ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ และถ้าฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ อีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ “ ดังนั้น หากผู้ให้เช่าซื้อไม่บอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อจะเลิกสัญญาและยึดทรัพย์คันที่เช่าซื้อคืนไม่ได้ กรณีตามหัวข้อบทความนี้มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8238/2556 วินิจฉัยว่า เมื่อตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ข้อ 12 วรรคสอง ระบุไว้ชัดเจนว่า “การชำระค่าเช่าซื้อตรงตามกำหนดเวลาเป็นสาระสำคัญของสัญญานี้” แล้วโจทก์ไม่อาจแปลข้อความนี้ให้เป็นอย่างอื่น ดังเช่นฎีกาของโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาของการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญนั้นชอบแล้ว ดังนั้นแม้ในภายหลังจะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จะไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดเวลา ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด หากโจทก์จะบอกเลิกสัญญาโจทก์จะต้องบอกกล่าวโดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 นำค่าเช่าซื้อมาชำระภายในกำหนดระยะเวลาพอสมควร ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนด โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 หนังสือที่โจทก์ส่งให้จำเลยทั้งสองมิได้มีข้อความว่า โจทก์จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1  คงมีข้อความเพียงว่าโจทก์ทวงถามและกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 7 วัน หรือให้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ พร้อมกับมีบทบังคับว่าหากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 อย่างเด็ดขาดเท่านั้น จึงถือได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 387 แล้ว เมื่อคำนึงถึงระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อถึง 51 เดือน แม้โจทก์ให้เวลาชำระหนี้เพียง 7 วัน ก็เป็นระยะเวลาพอสมควร โจทก์จึงมีสิทธิเลิกสัญญาได้ ซึ่งการบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 386 ให้ทำได้ ด้วยการแสดงเจตนาแก่อีกฝ่าย และการตีความการแสดงเจตนาตามมาตรา 171 ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาที่แท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร แม้ถ้อยคำที่โจทก์ระบุในหนังสือบอกเลิกสัญญาว่า หากไม่ชำระหนี้โจทก์จะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ไม่มีข้อความว่าโจทก์จะบอกเลิกสัญญา แต่เมื่อพิจารณาจากเจตนาอันแท้จริงของโจทก์เห็นได้อย่างชัดเจนว่าโจทก์ต้องการบอกเลิกสัญญา จึงดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสอง ต้องถือว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสองโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเมื่อโจทก์ไม่ถือเอากำหนดเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญแล้ว ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดเบี้ยปรับ รวมทั้งไม่มีเหตุที่จะติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน จึงไม่มีสิทธิคิดค่าใช้จ่ายดังกล่าว    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 ผลร้ายของการชำระหนี้ที่ขาดอายุความไปแล้ว

โดยปกติเจ้าหนี้จะต้องฟ้องบังคับชำระหนี้ภายในอายุความที่กฎหมายบัญญัติไว้  ซึ่งอาจจะเป็น 6 เดือน ถึง 10 ปี เช่น  กรณีผู้พักอาศัยในโรงแรมจะเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพราะความสูญหายหรือบุบสลายของทรัพย์สินที่ผู้พักอาศัยพามาไว้ในโรงแรมจากเจ้าสำนักโรงแรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 678   หรือ 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสัญญาฝากทรัพย์ในกรณีฟ้องเรียกให้ใช้เงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์หรือให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ตามมาตรา 671 หรือ 1 ปีในกรณีของการฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดตามมาตรา 488 วรรคหนึ่ง หรือ 2 ปี ในกรณีผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตฟ้องเรียกคืนเงินที่ได้ออกทดรองจ่ายแทนผู้ถือบัตรไปตาม มาตรา 193/34(7) หรืออย่างยาวที่สุดก็ไม่เกิน 10 ปี ดังกรณีที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความมิได้ทำให้สิทธิเรียกร้องหรือหนี้รายนั้นระงับสิ้นไปเพียงแต่ให้ลูกหนี้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้เท่านั้น  หากลูกหนี้ยอมชำระหนี้ให้ ถึงจะไม่รู้ว่าหนี้ขาดอายุความแล้ว ก็ถือเป็นการชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 193/28 วรรคหนึ่งมิใช่ลาภมิควรได้ ลูกหนีจึงไม่มีสิทธิเรียกคืนจากเจ้าหนี้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 408(2)   ถ้าลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ที่ขาดอายุความ เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องบังคับชำระหนี้นั้นได้ กฎหมายเพียงแต่ให้สิทธิลูกหนี้ที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้เท่านั้นตามมาตรา 193/10 หากลูกหนี้มิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแจ้งชัด คดีก็เท่ากับลูกหนี้มิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้  ศาลจะยกเรื่องอายุความขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้เพราะมาตรา 193/29 บัญญัติห้ามไว้ ในกรณีที่หนี้ขาดอายุความไปแล้ว แต่ถ้าลูกหนี้ได้สละประโยชน์แห่งอายุความนั้นเสีย  จะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ตามเช่น  ปฏิบัติการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้บางส่วน  ทั้งๆ ที่รู้ว่าหนี้ดังกล่าวขาดอายุความ  ลูกหนี้ก็ไม่อาจยกอายุความที่ขาดไปแล้วนั้นขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ และต้องเริ่มนับอายุความเดิมกันใหม่  นับแต่วันที่ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นตามมาตรา 193/24 มาดูกรณีศึกษาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7912/2553 จำเลยใช้บัตรเครดิตของธนาคาร ก. ซื้อสินค้าและบริการ  ธนาคาร ก. แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ภายในวันที่ 9 พฤศจิกายน  2537 แต่จำเลยไม่ชำระ  ธนาคาร ก.จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน  2537 เป็นต้นไป  เมื่อสัญญาใช้บัตรเครดิตมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 และครบกำหนดวันที่ 10 พฤศจิกายน 2539   หลังจากที่อายุความครบกำหนดแล้ว  จำเลยได้ผ่อนชำระหนี้จากการใช้บัตรเครดิตให้แก่ธนาคาร ก. หลายครั้งตั้งแต่ปี 2540 ติดต่อกันเรื่อยมา  โดยชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 8 ตุลาคม  2544  เป็นการแสดงออกโดยปริยายว่า  จำเลยได้สละประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24 จำเลยย่อมไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้ธนาคาร ก.   และโจทก์ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคาร ก. ได้ และต้องเริ่มนับอายุความใหม่จากวันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้าย ซึ่งนับถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 2 ปี จึงไม่ขาดอายุความ หมายเหตุผู้เขียน ลูกหนี้บัตรเครดิตทั้งหลายจำไว้ให้แม่นๆ  หนี้ขาดอายุความไปแล้ว อย่าเผลอผ่อนชำระใดๆ ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >