ฉบับที่ 167 หญิงท้องดื่มชาเขียว

  ชาเป็นเครื่องดื่มที่ผู้ใหญ่ห้ามผู้เขียนสมัยเป็นเด็กดื่ม นัยว่าเพื่อเลี่ยงอาการท้องผูก นอนไม่หลับ แต่พอมาถึงยุคสมัยนี้การดื่มชาของเด็กไทยดูจะไม่มีปัญหา เพราะเป็นการรับอิทธิพลที่ดูดีจากชาวญี่ปุ่น ซึ่งดื่มชาเขียวเป็นนิสัย สิ่งที่ต่างกันกับอดีตคือ ชาที่ผู้เขียนถูกห้ามดื่มนั้นเป็นชาจีนไม่ใช่ชาเขียว ชาจีนและชาเขียวนั้นมาจากพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis วิธีการผลิตนั้นต่างกัน ตามความเข้าใจของผู้เขียนนั้น เมื่อใบชาถูกเก็บมาทิ้งไว้จะมีเอนไซม์ในใบชาออกมาย่อยสารธรรมชาติในใบให้เปลี่ยนไปพร้อมกับการหมักจากจุลินทรีย์ธรรมชาติ จนกลายเป็นสารที่ส่งกลิ่นของชาจีน(ซึ่งอาจรวมถึงชาฝรั่งและแขก) แต่ถ้าใบที่ถูกเก็บมาได้รับความร้อนพอประมาณตามวิธี ซึ่งคิดค้นในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งเป็นการทำให้เอนไซม์ในใบถูกทำลายไป ชานั้นจะคงสารตั้งต้น ซึ่งมีคาเทชินเป็นกลุ่มหลักไว้ พร้อมทั้งมีสีออกเขียวรวมทั้งกลิ่นที่ผู้เขียนไม่ใคร่ชอบ เพราะมันคาวคล้ายสาหร่าย(ต่างจากชาจีนที่สีออกน้ำตาลคล้ำและกลิ่นหอมชวนดื่ม) ดังนั้นสำหรับผู้เขียนแล้วชาจีนและชาฝรั่งใส่นมข้นหวาน จึงเป็นตัวเลือกแรกโดยทิ้งชาเขียวลงท่อระบายน้ำไป   มาในปัจจุบัน สืบเนื่องจากการศึกษาทางระบาดวิทยาด้านอาหารและมะเร็ง ได้ผลสรุปประการหนึ่งจากหลายประการว่า คนญี่ปุ่นอายุยืนและเป็นมะเร็งน้อยกว่าคนชาติอื่นเพราะกินอาหารดีกว่า โดยมีชาเขียวเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในหลายปัจจัย อีกทั้งวัฒนธรรมเจป๊อบก็ได้เข้ารุกรานประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้นำวัฒนธรรมดื่มชาเขียวตามเข้าไปด้วย โดยอ้างว่าเป็นวัฒนธรรมเพื่อสุขภาพ   ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ชาเขียวเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่น่าจะทำให้คนญี่ปุ่นอายุยืนกว่าคนชาติอื่น แต่การดื่มชาเขียวนั้นไม่ใช่การดื่มน้ำล้างถุงชา(เติมน้ำตาล 12 ช้อน)ในขวดพลาสติก ซึ่งดื่มแล้วอย่าได้หวังเลยว่าอายุจะยืนยาว เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วต้องเข้าใจวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นที่ดื่มชา ซึ่งไม่ได้ใสแจ๋วแบบที่คนไทยดื่ม อีกทั้งต้องฝึกการฝึกสมาธิ ความมีระเบียบ ความอดทน และอื่นๆ ตลอดถึงการกินอาหารที่ออกเป็นธรรมชาติมีผักและธัญพืชสูง เป็นต้น   จากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่มีการทำวิจัยที่ลึกซึ้ง ทำให้เราทราบว่าสารเคมีธรรมชาติสำคัญกลุ่ม คาเทชิน (catechin) นั้นมีศักยภาพในการลดความเสี่ยงของการเกิดเซลล์มะเร็ง ทั้งจากการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผู้แสวงหาแนวทางในการขายสินค้าเพื่อสุขภาพจับประเด็นว่า น่าจะรวย ถ้าหันมาขายคาเทชินแก่ผู้รักสุขภาพซึ่งอยากตายช้า โดยมีบางส่วนของโฆษณาใน facebook ดังนี้ “ชาเขียวเป็นสมุนไพรซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลาย จัดเป็นยาอายุวัฒนะในเมืองจีนที่มีประวัติมายาวนานถึง4000ปี และจากการวิจัยโดยแพทย์ยุคนี้ ทำให้เราได้รู้ว่าสารที่ดีที่มีอยู่ในชาเขียวนั้นคือ"คาเทชิน" และร่างกายหากได้รับสารคาเทชิน 700-800 mg เป็นประจำทุกวัน จะช่วยดูแลร่างกายได้หลักๆคือ ลดคอเลสเตอรอลไม่ดีในเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดและปรับความดันเลือดให้สมดุล บำรุงตับไต และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายต่างๆเช่น โรคหัวใจ เบาหวาน สโตรค หลอดเลือดตีบ พาร์คินสัน อัลไซเมอร์ มะเร็ง และโรคอ้วน แต่การที่จะได้คาเทชิน700-800 mg นั้นต้องต้มชาเขียวร้อนถึง10 ลิตรเลยทีเดียว และของแถมที่มากับชาก็คือแทนนินที่ทำให้ท้องผูกและคาเฟอีนที่ทำให้นอนไม่หลับ ซึ่งก็จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดี เลือกดูแลสุขภาพตัวคุณเองแบบง่ายๆด้วยมูเกน สารสกัด"คาเทชิน"คุณภาพพรีเมี่ยมสั่งตรงจากญี่ปุ่น บรรจุแคปซูล ทานง่ายๆหลังอาหารเช้า-เย็น ครั้งละ 1 แคปซูล เป็นประจำ เหมาะทั้งทานบำรุง ป้องกัน และบรรเทา สินค้าเรานำเข้าจากญี่ปุ่น ราคาจึงอาจจะสูงไปหน่อย แต่คุณภาพสมราคาแน่นอน รับประกันว่าคุณภาพดีที่สุดในไทย สั่งตอนนี้มีโปรโมชั่นดีๆ มาเสนอP”   คาเทซิน คืออะไร  คาเทชินนั้นเป็นสารเคมีที่ใช้ในอาหารคนและอาหารสัตว์ ด้วยคุณสมบัติที่คาเทชินนั้นสามารถยับยั้งการออกซิไดส์ไขมันในอาหารโดยเฉพาะในเนื้อแดง สัตว์ปีกและปลา ปริมาณทั่วไปคือ ราวร้อยละ 0.3 ของเนื้อสัตว์เพื่อให้สามารถยับยั้งการออกซิไดส์ของไขมันที่แทรกในเนื้อสัตว์ได้ นอกจากนี้ในผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วลิสงและน้ำมันคาโนลา ก็มีการใช้คาเทชินเช่นกัน คาเทชินมีหลายชนิดที่สำคัญได้แก่ คาเทชิน เอปปิคาเทชิน และเอปปิคาเทชินแกลเลท สารเหล่านี้เมื่อถูกจำหน่ายในลักษณะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น มักถูกอวดอ้างคุณสมบัติในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ ป้องกันการเกิดคราบฟัน หรือบำบัดอาการความดันสูง ความจริงการบริโภคชาเขียวเพื่อให้ได้คาเทชินนั้น ไม่ควรมีปัญหาอย่างไรเลยเพราะคนญี่ปุ่นดื่มกันมาจนจำความกันไม่ได้แล้ว แต่มันมามีปัญหาในยุคดิจิตอลนี้แหละที่มีการนำเอาคาเทชินมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวแล้วข้างบน ผู้เขียนเลยลองหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ทดูว่าการได้รับคาเทชินเข้าไปในปริมาณสูงๆ นั้นก่อปัญหาทางสุขภาพบ้างหรือไม่ ผลปรากฏว่าโชคร้ายเพราะพบว่า มีบทความวิชาการเรื่องหนึ่งชื่อ Herbs and Supplements to Avoid During Pregnancy and Breastfeeding เขียนโดย Navarro-Peran และคณะเผยแพร่ที่ www.med.nyu.edu/content?ChunkIID=35536 ซึ่งอ้างข้อมูลจากงานวิจัยของตัว Navarro-Peran และทีมงาน ซึ่งประกอบด้วยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในสเปนและสหราชอาณาจักรเรื่อง The antifolate activity of tea catechins ตีพิมพ์เมื่อปี 2005 ใน วารสาร Cancer Research ชุดที่ 65 หน้า 2059-2064 งานวิจัยนั้นกล่าวว่า สมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างการตั้งครรภ์และให้นมลูกคือ ชาเขียว เพราะการดื่มชาเขียวมากเกินไปก่อให้เกิดความผิดปรกติของทารกในท้อง เนื่องจากสารธรรมชาติในชาเขียวน่าจะไปรบกวนการทำงานของโฟเลตในทารกที่อยู่ในครรภ์ เพราะมีการทดลองในห้องปฏิบัติการที่ใช้สารสกัดจากใบชาแล้วปรับให้มีความเข้มข้นเท่าที่ตรวจพบได้ในน้ำเลือดของคน พบว่าสารสกัดนั้นสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ dihydrofolate reductase (DHFR) ซึ่งในสภาวะปรกติถ้าไม่มีสารสกัดจากใบชาในเลือดหรือมีไม่มากนัก เอนไซม์นี้ทำหน้าที่เปลี่ยนโฟเลตที่กินเข้าไปให้อยู่ในรูปที่ร่างกายใช้ได้ ดังนั้นเมื่อกินคาเทชินแล้วการเปลี่ยนโฟเลตให้ใช้ได้ก็จะลดลง ผลที่ตามมาคือ เกิดปัญหาในการสร้างหน่วยพันธุกรรมใหม่ของร่างกาย ซึ่งเกี่ยวข้องต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในท้องแม่ ความจริงผลของสารสกัดจากใบชา ซึ่งมีคาเทชินเป็นหลักต่อการเปลี่ยนแปลงโฟเลตนั้น ถ้าเกิดต่อเซลล์มะเร็งก็จะทำให้เซลล์มะเร็งชะลอการเจริญเติบโตได้ ซึ่งเป็นข้อดีที่ส่งผลให้การดื่มชานั้นได้รับการยอมรับว่าลดความเสี่ยงต่อมะเร็งได้ แต่ในกรณีที่ผู้ดื่มตั้งครรภ์ ซึ่งทารกในครรภ์มารดานั้นมีอุปมาว่ามีความคล้ายกับก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ เนื่องจากมีการกระตุ้นให้มีการแบ่งเซลล์อย่างรวดเร็ว(แต่ควบคุมได้) ประเด็นที่เซลล์เนื้อเยื่อทารกต่างจากเซลล์มะเร็งก็คือ เมื่อเซลล์แบ่งพอแล้ว จะมีการพัฒนาไปเป็นอวัยวะตามความเหมาะสมของเนื้อเยื่อนั้น ๆ ซึ่งเข้าใจว่าถูกควบคุมด้วยระบบฮอร์โมนของแม่ ดังนั้นจึงมีการตั้งสมมุติฐานว่าการดื่มชามากเกินไปในหญิงตั้งครรภ์นั้นจึงอาจส่งผลถึงการพัฒนาร่างกายของเด็กในท้อง เพราะโฟเลตที่แม่กินเข้าไปทำงานไม่เติมที่ ซึ่งอาจส่งผลถึงการตายคลอดของเด็กได้ อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ การที่คาเทชินเป็นสารต้านออกซิเดชั่น(เหมือนสารอื่นๆ ที่มีการขายเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) โอกาสที่มันจะแสดงความเป็นสารกระตุ้นออกซิเดชั่น (prooxidation) เมื่อใช้ที่ความเข้มข้นสูงดังที่มีการโฆษณาในการแนะนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีคาเทชินเป็นองค์ประกอบนั้นอาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งปรากฏการณ์นี้มีการแสดงให้เห็นแล้วจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เฉพาะทางที่ได้รายงานว่า คาเทชิน โดยเฉพาะเอปปิแกลโลคาเทชินนั้นสามารถออกซิเดไซส์หน่วยพันธุกรรมของเซลล์ให้เสียหายได้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งทำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในฮ่องกงแล้วตีพิมพ์ในวารสาร Free Radical Biology and Medicine ชุดที่ 43 หน้าที่ 519–527 .ในปี 2007 กล่าวว่า ในจำนวนคาเทชินที่อยู่ในใบชาทั้งหมดนั้น มีสารชื่อ เอปปิแกลโลคาเทชิน-3-แกลเลท ที่ถูกระบุว่า เมื่อให้สารนี้แก่แม่หนูที่กำลังท้องในความเข้มสูง ทำให้ตัวอ่อนของหนูทดลองหยุดพัฒนาอวัยวะบางส่วน ซึ่งเป็นข้อมูลที่สนับสนุนสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวข้างต้นว่า สารสกัดจากใบชาน่าจะมีผลต่อความสมบูรณ์ของตัวอ่อนมนุษย์ ดังนั้นถ้าท่านผู้บริโภค โดยเฉพาะสตรีตั้งครรภ์มีความประสงค์จะเสพคาเทชินในขนาดสูงๆ เมื่อได้ทราบข้อมูลดังกล่าว ซึ่งแม้ไม่ใช่ผลการทดลองในคนก็ตาม แต่ก็มีความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ ผู้เขียนก็ไม่คิดจะห้ามปรามแต่ประการใด เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการเสพสิ่งที่หน่วยงานราชการอนุญาตให้มีการขายแล้ว แต่สำหรับนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแล้ว ประเด็นที่น่าติดตามคือ อุบัติการณ์ของเด็กที่ออกมาผิดปรกติหรือตายคลอดเนื่องจากแม่นิยมบริโภคสารอะไรๆ ในปริมาณสูงๆ นั้น น่าสนใจติดตามเป็นอย่างยิ่งโดย ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ

อ่านเพิ่มเติม >