ฉบับที่ 262 เตี๋ยวน้ำในชามเมลามีน

        ภาชนะเมลามีนเช่น จาน ชาม ทัพพี ช้อน ถ้วยกาแฟ ฯลฯ จัดเป็นภาชนะพลาสติกที่มีราคาไม่แพง ทนกรด ทนด่าง ทนทาน (ไม่แตกง่าย) แล้วยังมีน้ำหนักเบา ผลิตให้มีลวดลายหลากหลายตามรสนิยมของแต่ละคน อย่างไรก็ดีภาชนะเมลามีนซึ่งต้องสัมผัสกับอาหารที่เราบริโภคนั้นมีข้อจำกัดบางประการคือ ถ้าอาหารมีความร้อนสูงราว 100 องศาเซลเซียส โอกาสเกิดการแพร่กระจายของฟอร์มาลดีไฮด์และเมลามีนออกสู่อาหารอาจเกิดขึ้น ซึ่งก่ออันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้         การสะสมของเมลามีนในร่างกายถึงปริมาณหนึ่งอาจก่อให้เกิดนิ่วในไตซึ่งนำไปสู่มะเร็งที่ไตได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงไม่สมควรนำภาชนะเมลามีนอุ่นอาหารในเตาไมโครเวฟ หรือนำภาชนะเมลามีนใส่อาหารที่ร้อนจัด เช่น ใส่น้ำขณะที่เดือดจัด ของทอดที่ร้อนจัดซึ่งอาจมีอุณหภูมิเกิน 100 องศาเซลเซียส เพราะความร้อนทำให้มีสารฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อนในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนด (กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้แพร่กระจายได้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/ลิตร...ข้อมูลนี้ได้จากเว็บของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช www.phonabon.go.th)         โมเลกุลของเมลามีนเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีสูตร C3H6N6 มีสถานะเป็นผลึกของแข็งสีขาว เมื่อนำเมลามีนมาทำปฏิกิริยากับฟอร์มาลดีไฮด์หรือสารเคมีอื่นๆ จะได้เรซินเมลามีนซึ่งมีคุณสมบัติเป็นพลาสติกชนิดทนความร้อนได้ดีในระดับหนึ่ง จึงเหมาะในการนำมาผลิตเป็นแผ่นลามิเนตทนแรงดันสูง เช่น ภาชนะเมลามีน ฟอร์ไมก้า (formica) พื้นไม้ลามิเนต กระดานลบแบบแห้ง (white board) เป็นต้น         เนื่องจากการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารและอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารที่ทำจากเมลามีนเป็นไปอย่างแพร่หลาย จึงมีผู้ตั้งสมมุติฐานว่า ถ้าการใช้ภาชนะนั้นเป็นไปในลักษณะที่ไม่เหมาะสม เช่น อาหารมีความร้อนเกินไปอาจส่งผลให้เกิดการแพร่ออกมาของโมเลกุลเมลามีน การได้รับเมลามีนในขนาดต่ำอย่างต่อเนื่องอาจเชื่อมโยงกับโรคนิ่วในท่อไตของเด็กและผู้ใหญ่ ดังนั้นในบางประเทศที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคจึงมีการทำวิจัยและรายงานถึงปริมาณเมลามีนในระดับ ppm (ส่วนในล้านส่วน) ที่หลุดออกมาจากชามพลาสติก         บทความเรื่อง Liquid Chromatographic Determination of Melamine in Beverages ในวารสาร Journal of the Association of Official Analytical Chemists ของปี 1987 ให้ข้อมูลในการทดลองเทเครื่องดื่มได้แก่ นมเปรี้ยวเข้มข้น น้ำส้มคั้น น้ำมะนาว และกาแฟด้วยปริมาตร 220 มิลลิลิตร ที่อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียสลงในถ้วยเมลามีน โดยให้พื้นผิวเครื่องดื่มอยู่ต่ำกว่าขอบถ้วยด้านบน 5 มิลลิเมตรแล้วปิดปากถ้วยด้วยกระจกนาฬิกาก่อนวางถ้วยนั้นไว้ในอ่างน้ำอุ่นอุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที จากนั้นจึงนำเครื่องดื่มไปสกัดและวิเคราะห์หาปริมาณเมลามีนที่แพร่ออกมา ผลการวิเคราะห์พบระดับของเมลามีนปนเปื้อนในเครื่องดื่มที่ 0.45-3.54 ส่วนในล้านส่วน         เมลามีนปริมาณเล็กน้อยตามธรรมชาติอาจถูกตรวจพบได้ในผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์และพืช เพราะเมลามีนเป็นอนุพันธ์เกิดจากการสลายตัวของสารกำจัดแมลงคือ ไซโรมาซีน (cyromazine) ดังปรากฏข้อมูลในบทความเรื่อง Residue determination of cyromazine and its metabolite melamine in chard samples by ion-pair liquid chromatography coupled to electrospray tandem mass spectrometry ในวารสาร Analytica Chimica Acta ของปี 2005 ด้วยข้อมูลดังนี้ Codex Alimentarius Commission แห่งสหประชาชาติจึงได้กำหนดปริมาณเมลามีนสูงสุดที่อาจปนเปื้อนตามธรรมชาติในนมผงดัดแปลงสำหรับทารกไว้ที่ 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในอาหารคนชนิดอื่นและในอาหารสัตว์ (ข้อมูลจาก Wikipedia)        ชามเมลามีนกับก๋วยเตี๋ยว         การแพร่กระจายของเมลามีนสู่อาหารที่มีความร้อนสูงที่น่าจะเกิดขึ้นตามสมมุติฐานที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น น่าจะเกิดขึ้นในหลายประเทศในเอเชียที่นิยมกินอาหารที่มีความร้อนจัดเช่น แกงจืด ก๋วยเตี๋ยวน้ำ และอื่น ๆ ดังนั้นจึงมีงานวิจัยของนักวิทยาศาสตรชาวจีนไต้หวันที่ศึกษาถึงโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้รับเมลามีนที่แพร่ออกมาจากชามพลาสติกเมลามีนที่ใช้ใส่ก๋วยเตี๋ยวน้ำแบบของจีนซึ่งหากินได้ง่ายในไทย         บทความเรื่อง A Crossover Study of Noodle Soup Consumption in Melamine Bowls and Total Melamine Excretion in Urine.ในวารสาร JAMA Internal Medicine ของปี 2013 ได้กล่าวถึงการศึกษานำร่อง (pilot study) ในอาสาสมัครซึ่งมีสุขภาพดี 16 คน (อายุ 20-27 ปี) ซึ่งกินก๋วยเตี๋ยวน้ำ (อุณหภูมิเริ่มต้น 90 องศาเซลเซียส) มีน้ำแกง 500 มิลลิลิตร จากชามเมลามีนในช่วงเช้าวันหนึ่ง โดยมีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ 1 ครั้งจากผู้เข้าร่วมการศึกษาก่อนกินก๋วยเตี๋ยวหนึ่งครั้งและทุก 2 ชั่วโมงหลังกินก๋วยเตี่ยว ในช่วงเวลา 12 ชั่วโมง (การทดลองนี้เป็นการจำลองสถานการณ์ทางธรรมชาติ ดังนั้นผู้เข้าร่วมบางคนจึงไม่ได้ถ่ายปัสสาวะทุกๆ 2 ชั่วโมง) หลังจากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ความเข้มข้นของเมลามีนในปัสสาวะที่เก็บแต่ละช่วงเวลาของแต่ละคนซึ่งพบว่า มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเมลามีนที่ถูกขับออกมาและสูงสุดที่ 4 ถึง 6 ชั่วโมง จากนั้นอีก 2 ชั่วโมง ปริมาณเมลามีนได้ลดลงอย่างรวดเร็ว         ส่วนการศึกษาจริงนั้นได้ให้อาสาสมัครซึ่งระบุว่า ไม่ใช่กลุ่มเดิมจากการศึกษานำร่อง และอย่างน้อย 3 วันก่อนการทดลองต้องไม่กินอาหารจากภาชนะใส่อาหารที่ทำจากเมลามีน โดยกลุ่มที่ 1 (ชาย 3 คนและหญิง 3 คน) อดอาหารเป็นเวลา 8 ชั่วโมงก่อนกินก๋วยเตี๋ยวน้ำ (อุณหภูมิเริ่มต้น 90 องศาเซลเซียส) มีน้ำแกง 500 มิลลิลิตร ในชามเมลามีนเป็นอาหารเช้าโดยใช้เวลากิน 30 นาที นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครกลุ่มที่ 2 (ชาย 3 คนและหญิง 3 คน) ที่ได้กินก๋วยเตี๋ยวน้ำชุดเดียวกันแต่ใช้ชามกระเบื้อง (ซึ่งตรวจไม่พบระดับเมลามีน) สำหรับระดับเมลามีนในปัสสาวะถูกวัดโดย triple-quadrupole liquid chromatography tandem mass spectrometry นอกจากนี้ในระเบียบวิธีวิจัยได้กำหนดหลังการศึกษาในช่วงแรกจบ ให้อาสาสมัครทุกคนได้พักโดยไม่กินอาหารจากภาชนะเมลามีนเป็นเวลา 3 สัปดาห์ แล้วกลับมาทำการศึกษาซ้ำโดยสลับกลุ่มกันคือ ให้กลุ่มที่เป็นกลุ่มที่ 1 กินก๋วยเตี๋ยวในชามกระเบื้องแล้วกลุ่มที่ 2 กินก๋วยเตี๋ยวในชามเมลามีน         ผลการศึกษานั้น พบปริมาณเมลามีนรวมในปัสสาวะที่เก็บได้ในช่วง 12 ชั่วโมงเท่ากับ 8.35 ไมโครกรัม (ชามเมลามีน) และ 1.31 ไมโครกรัม (ชามเซรามิก) ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในปริมาณเมลามีนในปัสสาวะจากทั้ง 2 กลุ่ม โดยค่าครึ่งชีวิตโดยประมาณของการกำจัดเมลามีนในปัสสาวะคือ 6 ชั่วโมง (หมายความว่า ความเข้มข้นของเมลามีนในเลือดลดลงเหลือครึ่งหนึ่งทุก 6 ชั่วโมง จนสุดท้ายที่ระยะเวลาหนึ่งที่ผ่านไป จะไม่สามารถใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ตรวจพบเมลามีนได้)         มีการระบุในผลการศึกษาว่า ชามเมลามีนที่ใช้ในการศึกษาทั้ง 2 ครั้งถูกเลือกมาจาก 5 ยี่ห้อ โดยปริมาณเมลามีนที่ปล่อยออกมาแตกต่างกันไปตามยี่ห้อ ทำให้ผลการศึกษาสรุปได้ว่า แม้ว่ามีการขับเมลามีนออกมาในปัสสาววะของอาสาสมัคร แต่ก็มีค่าความเบี่ยงเบนสูง ดังนั้นผลการศึกษาที่พบว่า จานยี่ห้อหนึ่งปล่อยเมลามีออกมานั้นไม่ได้หมายความว่า จานยี่ห้ออื่นต้องปล่อยเมลามีนออกมาด้วยเมื่อใส่อาหารที่ร้อนจัด         สำหรับสถานะการณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยของภาชนะพลาสติกเมลามีนนั้นมีบทความเรื่อง การสำรวจเบื้องต้น : คุณภาพของเครื่องใช้ในครัวเรือนพลาสติกเมลามีน ในวารสารวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Bulletin of Applied Sciences) ในปี 2016 นั้น นักวิทยาศาสตร์จากกรมวิทยาศาสตร์บริการได้สุ่มตัวอย่างเครื่องใช้ในครัวเรือนประเภทพลาสติกเมลามีนที่จำหน่ายในประเทศรวมทั้งสิ้นจำนวน 71 ตัวอย่าง แยกตามประเทศผู้ผลิตได้แก่ ไทย จีน เวียดนาม และที่ไม่ระบุแหล่งผลิตเป็น 20, 36, 2 และ 13 ตัวอย่างตามลำดับ ซึ่งเมื่อตรวจสอบชนิดของพลาสติกเมลามีนด้วยเทคนิค Fourier transform infrared spectroscopy (FT-IR) พบว่าเป็นพลาสติกเมลามีนชนิดเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ 21 ตัวอย่าง ชนิดยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ 8 ตัวอย่าง และชนิดยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เคลือบด้วยเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ 42 ตัวอย่าง         ผลการสำรวจพบว่า ภาชนะชนิดเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 62 (ตรวจพบปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ในช่วง 16.0-797.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปริมาณเมลามีนในช่วง 3.0-455.8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) สำหรับพลาสติกเมลามีนชนิดยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง (ตรวจพบปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ในช่วง 22.2-12,193.8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปริมาณเมลามีนในช่วง 3.1-16.6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ส่วนพลาสติกเมลามีนชนิดยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เคลือบด้วยเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 88 (ตรวจพบปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์และปริมาณเมลามีนในช่วง 15.2-5,247.6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 2.7-26.9 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ) จึงเป็นการบ่งชี้ได้ว่า เครื่องใช้ในครัวเรือนประเภทพลาสติกเมลามีนที่จำหน่ายในประเทศไทย ส่วนใหญ่มีปริมาณเมลามีนและปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ดังนั้นการนำเครื่องใช้ในครัวเรือนประเภทพลาสติกเมลามีนมาใช้งานควรให้ความระมัดระวังในการใช้.................................        มาตรฐานของภาชนะเมลามีน        -ยุโรปมีข้อบังคับ EU Regulation No. 10/2011 on plastic material and articles intended to come into contact with food กำหนดปริมาณเมลามีนไม่มากกว่า 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมและปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ไม่มากกว่า 15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม        -มาตรฐานประเทศไทย มี 2 มาตรฐาน คือ ภาชนะและเครื่องใช้เมลามีน มอก. 524-2539 กำหนดให้ต้องไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์โดยเทียบกับสารมาตรฐาน 4 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร แต่ไม่ได้กำหนดปริมาณสารเมลามีน และประกาศกระทรวงสาธารณะสุขฉบับที่ 295 พ.ศ. 2548 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะที่ทำจากพลาสติกซึ่งกำหนดให้ต้องไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 ชามตราไก่

เป็นชามที่นิยมในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเลและชาวไทยสมัยหนึ่ง ชามปากบานกว้าง ใบหนา ขาสูง พร้อมลวดลายไก่ ดอกโบตั๋นและใบกล้วย สีสันสวยงามนี้ มีต้นแบบมาจากเมืองจีน     ชามที่ใช้กินข้าวแบบจีน คือพุ้ยข้าวด้วยตะเกียบเข้าปากนั้น ไม่มีอะไรจะเหมาะไปกว่า ชามตราไก่ อีกแล้ว เพราะมีลักษณะปากกว้าง จึงใส่อาหารได้มาก รอบชามจะไม่เรียบแต่จะมีรอยบุ๋มหน่อยๆ ทำให้จับกระชับมือ อีกทั้งเนื้อชามหนาและมีขาสูง ขาสูงนี้ทำให้แม้ใส่อาหารร้อนๆ ก็ยังพอยกถือไหว เนื้อที่หนาแกร่ง ทำให้ทนใช้งานได้นานปี ดังนั้นไม่เพียงเหมาะแก่การใส่ข้าว ข้าวต้ม หรือน้ำแกงร้อนๆ สำหรับครัวเรือนและร้านอาหารทั่วไปแล้ว ยังนิยมมากในหมู่ร้านก๋วยเตี๋ยวยุคแรกๆ ด้วย     เมื่อเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ชามตราไก่ที่นำเข้าจากจีนเริ่มขาดแคลน จึงมีการผลิตในเมืองไทยแต่คุณภาพยังไม่ดี จนมีชาวจีนกลุ่มหนึ่งค้นพบว่า มีดินขาวเนื้อดีที่จังหวัดลำปางสามารถผลิตชามไก่ได้ใกล้เคียงกับของจีน จึงตั้งโรงงานผลิตชามไก่ขึ้นที่ลำปางได้รับความนิยมมาก เกิดโรงผลิตชามไก่และเครื่องเซรามิกอื่นๆ ขึ้นมากมาย กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองลำปางในที่สุด  ต่อมาเมื่อชามไก่หมดความนิยมลงพร้อมกับคุณภาพการผลิตที่ไม่เหมือนเดิม ชามไก่ยุคแรกของลำปางจึงกลายเป็นของหายากและนิยมในหมู่นักสะสม บางใบมีราคาสูงถึงหลักพัน ปัจจุบันลวดลายไก่ ดอกไม้ ใบกล้วย ต้นหญ้ายังคงมีการออกแบบบนจาน ชาม เซรามิกแต่จะไม่มีเอกลักษณ์อย่างสมัยก่อนที่ต้องวาดด้วยฝีมือช่างทีละใบ ชามไก่ยุคแรกๆ จึงไม่เพียงเป็นของที่มีคุณค่าในแง่ของภาชนะเก่าเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งของแทนใจสำหรับคนที่เติบโตมาพร้อมกับการกินข้าวในชามตราไก่นี้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >