ฉบับที่ 148 กระแสต่างแดน

ใครๆ ก็ไม่รักเด็ก ด้วยอัตราการเกิดที่ต่ำมากของญี่ปุ่น ทำให้เด็กๆ ที่นั่นกลายเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ที่ผู้คนไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนัก  และไม่ชินกับเสียงร้อง หรือเสียงหัวเราะเล่นกันของพวกเขา เด็กญี่ปุ่นยุคนี้จึงอยู่ยากขึ้นทุกวัน น่าประหลาดที่สังคมนิยมเสียงอย่างญี่ปุ่น -- เสียงปิ๊งป่องต้อนรับที่ร้านสะดวกซื้อ หรือเสียงตะโกนหา เสียงผ่านโทรโข่งตามสถานีรถไฟ – กลับรับเสียงเด็กๆ ไม่ได้ ข่าวบอกว่ามีเรื่องร้องเรียนเรื่องเด็กเสียงดังทุกวัน เดี๋ยวนี้ศูนย์รับเลี้ยงเด็กต้องสร้างกำแพงกั้นเสียงไม่ให้ไปรบกวนเพื่อนบ้าน และจำกัดเวลาที่เด็กจะเล่นในสนามไว้ที่วันละไม่เกิน 45 นาที และถ้าจะมีงานเทศกาลอะไรก็ตามที่มีผู้ร่วมงานเป็นเด็ก เขาก็จะนิยมจัดในอาคารกัน แทนที่จะจัดกลางแจ้งเหมือนเมื่อก่อน แม้แต่นักเรียนมัธยมต้นที่เคยซ้อมวิ่งพร้อมออกเสียงเพื่อสร้างความฮึกเหิม เดี๋ยวนี้ยังต้องเจียมเนื้อเจียมตนวิ่งกันไปเงียบๆ   ก่อนหน้านี้มีศูนย์เด็กเล็กแห่งหนึ่งถูกเพื่อนบ้านขี้รำคาญฟ้องร้องโทษฐานส่งเสียงดังรบกวน จึงต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 5 ล้านกว่าบาท ปัญหานี้ไม่ได้มีสาเหตุจากเรื่องอัตราการเกิดต่ำเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความแออัดของที่อยู่อาศัยในเขตเมืองและเศรษฐกิจที่ค่อนข้างฝืดที่ทำให้ผู้สูงอายุใช้เวลาอยู่บ้านกันมากขึ้นด้วย กลุ่มคนรักเด็กให้ความเห็นว่า ผู้สูงอายุหรือคนที่ไม่มีลูกที่หงุดหงิดรำคาญเด็กๆ เหล่านี้หลงลืมกันไปหรือเปล่าว่าเด็กเหล่านี้คือแรงงานสำคัญของญี่ปุ่นในอนาคต พวกเขาจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อจ่ายภาษีให้รัฐบาลนำมาเลี้ยงดูตนเอง ที่สำคัญค่าใช้จ่ายนี้กำลังเพิ่มสูงขึ้น เพราะประชากรในวัยทำงานมีจำนวนน้อยกว่าวัยสูงอายุ จากประชากรทั้งหมด 128 ล้านคนของญี่ปุ่น มีถึง 1 ใน 4 ที่อายุมากกว่า 65 ปี ในขณะที่เด็กวัยต่ำกว่า 14 ปีนั้นเป็นเพียงร้อยละ 13.2  ของประชากรเท่านั้น อัตราการเกิดของญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่แม่ 1 คน ต่อเด็ก 1.39 คน อัตราเฉลี่ยของโลกอยู่ที่แม่หนึ่งคน ต่อเด็ก 2.52 คน และของประเทศไทยขณะนี้อยู่ที่ 1.6 คน ... เอ หรือว่าเราจะมีปัญหาเดียวกันในอนาคต   การเกษตรต้องมาก่อน ไม่แน่ใจว่าราคาไข่ที่มาเลเซียจะแพงเว่อร์เหมือนบ้านเราหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ โดยรวมแล้วอาหารที่มาเลเซียก็แพงเหมือนกัน สาเหตุของอาหารแพงนั้น องค์กรผู้บริโภค FOMCA ของเขาบอกว่าหลักๆ แล้วเป็นเพราะรัฐบาลไม่ค่อยสนับสนุนการลงทุนด้านการเกษตร จากที่เคยให้งบประมาณร้อยละ 22 เพื่อการพัฒนาการเกษตรในปี 1980 กลับลดเหลือเพียงร้อยละ 3.8 เท่านั้น เมื่อถึงปี 2007 และถ้าดูจากผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) แล้ว จะเห็นว่าสินค้าเกษตร ซึ่งเคยมีส่วนแบ่งถึงเกือบร้อยละ 23 แต่ในปี 1980 กลับลดเหลือเพียงแค่ร้อยละ 7.7 ในปี 2007 ผลก็คือมาเลเซียต้องพึ่งการนำเข้าวัตถุดิบอาหารมากขึ้น มูลค่าการนำเข้าในปี 2007 สูงถึงสองแสนกว่าล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นอีกเท่าตัวจาก 4 ปีก่อนหน้า FOMCA มีข้อเสนอให้รัฐให้ความช่วยเหลือกับเกษตรมากกว่านี้ และเรียกร้องให้รัฐมีแผนชัดเจนในการใช้พื้นที่ว่างเปล่าซึ่งมีถึง 34,300 เฮคตาร์ หรือสองแสนกว่าไร่ มาเพาะปลูกพืชไว้เพื่อการบริโภคในประเทศ แต่ปัจจัยที่ทำให้อาหารแพงยังรวมถึงปัจจัยระดับโลกนั่นคือ การจำนวนประชากรที่ไม่สมดุลกับปริมาณอาหารที่ผลิตได้ เพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกและแหล่งน้ำที่มีจำกัด นอกจากนี้มาเลเซียยังมีเรื่องของการผูกขาดในธุรกิจอาหาร ที่มีผู้เล่นน้อยราย จึงทำให้สามารถตั้งราคากันได้ตามใจชอบ และยังมีเรื่องของความยากลำบากในการขอใบอนุญาตทำกิจการอาหารอีกด้วย     ปฏิบัติการยึดบ้านบาร์บี้ เปิดตัวไปแล้วเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับคฤหาสน์ในฝันของสาวบาร์บี้ที่ใช้ชื่อทางการค้าว่า Barbie The Dreamhouse Experience ที่เบอร์ลินตะวันออก ใกล้ๆ กับย่านช้อปปิ้งของเมือง โดยแห่งแรกเปิดตัวไปก่อนหน้านั้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่เมืองไมอามี รัฐฟลอริด้า คฤหาสน์สีชมพูหลังนี้มีพื้นที่ประมาณ 2,500 ตารางเมตร ตั้งอยู่ระหว่างทางรถไฟและตึกแถวยุคคอมมิวนิสต์ การตกแต่งภายในและเฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างก็เป็นสีชมพูเพื่อเอาใจเด็กผู้หญิงที่สามารถเข้าไปอบคัพเค้ก เข้าตู้เสื้อผ้าแบบวอล์คอิน หรือจะนั่งชิลในห้องนั่งเล่นสีชมพูก็ไม่ว่ากัน งานนี้ไม่ได้มีแต่คนชื่นชม กลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีออกมาต่อต้านการเปิดตัวของคฤหาสน์แห่งนี้ บ้างก็รับไม่ได้กับการส่งเสริมความงามที่ฉาบฉวยและไม่เป็นจริงให้กับพวกเด็กๆ บ้างก็บอกว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เด็กๆ ต้องเล่นกับตุ๊กตาที่เป็นโรคขาดอาหาร ที่มีชีวิตอยู่เพื่อนั่งรอชายหนุ่มชื่อเคนอยู่ในรถเปิดประทุน ว่าแล้วก็ชักชวนผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการปลูกฝังแนวคิดให้เด็กผู้หญิงเป็นอย่างบาร์บี้ มาเข้าร่วมกระบวนการ Occupy Barbie Dreamhouse ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกแล้ว 1,000 คน ทางด้านบริษัท Mattel ผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ออกมายืนยันว่าเขาได้ปรับภาพลักษณ์ของบาร์บี้แล้ว นอกจากบาร์บี้ในชุดบิกินี่แล้ว เด็กๆ สามารถซื้อบาร์บี้ที่เป็นศัลยแพทย์ หรือบาร์บี้ที่สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย เผื่อคุณอยากทราบ คฤหาสน์ที่ว่ามีอัตราค่าเข้าชมดังนี้ สำหรับผู้ใหญ่ (14 ปีขึ้นไป) ค่าเข้าชม 15 ยูโร หรือประมาณ 600 บาท  เด็กระหว่าง 4 ถึง 13 ปี 12 ยูโร หรือประมาณ 480 บาท  หรือจะเป็นแพคเก็จครอบครัว (ผู้ใหญ่ 2 คน เด็กไม่เกิน 3 คน) ก็ 49 ยูโร หรือประมาณ 2,000 บาท แต่ถ้าลูกของคุณอยากจะลองประสบการณ์การเดินแบบบนแคทวอล์ค หรือขึ้นเวทีเป็นซุปตาร์ ก็จ่ายเพิ่มอีกประสบการณ์ละ 10 ยูโร หรือประมาณ 400 บาท ควรมิควรก็แล้วแต่ผู้ปกครองจะพิจารณา ...     มาตรการลดขยะ เดือนมิถุนายนนี้ เกาหลีใต้เริ่มใช้กฎระเบียบใหม่เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะอาหาร ด้วยการคิดค่าบริหารจัดการขยะอาหารจากครัวเรือนและร้านอาหาร โดยเริ่มจาก 129 เทศบาลก่อน แต่ข่าวบอกว่าสิ้นปีนี้จะครอบคลุมทั้งหมด 144 เขต กระทรวงสิ่งแวดล้อมเขาประเมินแล้วว่า ระบบนี้จะช่วยประหยัดเงินของรัฐในการจัดการขยะที่เป็นอาหารสดได้ถึง 160,000 ล้านวอน (4,400 ล้านบาท) แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเขาตั้งเป้าว่าจะต้องลดขยะอาหารทั่วประเทศลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 ทั้งนี้เพราะโครงการนำร่องที่ทดลองทำไปก่อนหน้านี้สามารถลดปริมาณขยะลงได้ถึงร้อยละ 28.7 เรียกว่าสามารถทำให้แต่ละครัวเรือนมีขยะอาหารเหลือทิ้งเพียงแค่วันละ 620 กรัมเท่านั้น แต่ร้านอาหารอาจต้องรับภาระหนักหน่อย เพราะมีขยะมากกว่าบ้านเรือนธรรมดา แต่กระทรวงสิ่งแวดล้อมบอกว่าให้ถือเป็นโอกาสดีที่ทางร้านจะได้คิดหาไอเดียการปรุงอาหารให้เกิดของเหลือทิ้งน้อยที่สุด ระบบการคิดเงินขยะอาหารนั้นมีอยู่ 3 ระบบ ข่าวบอกว่าแบบที่นิยมมากที่สุดคือการซื้อสติ๊กเกอร์ ดวงละ 41 วอน (1 บาทกว่าๆ) สำหรับขยะ 1 ลิตร แบบที่สองเป็นระบบไฮเทค RFID ที่จะชั่งน้ำหนักตามจริงเมื่อเรานำไปทิ้งในถังที่รัฐจัดไว้ให้ สนนราคาแพงขึ้นมาอีกนิดที่ลิตรละ 42 วอน หรือใครจะชอบแบบที่สาม คือการซื้อถุงขยะ (ซึ่งเขารวมค่าจัดการขยะไปแล้ว) มาใช้ก็ได้     กลัวไม่มีคู่แข่ง ซุปเปอร์มาร์เก็ตวูลเวิร์ธมีอันต้องเซ็งเป็ด เพราะคณะกรรมการการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลียไม่อนุญาตให้เปิดสาขาเพิ่มในเขตเกลนมอร์ ริดจ์ ทางตะวันตกของเมืองซิดนีย์ โดยให้เหตุผลว่ามีวูลเวิร์ธอยู่แล้วหนึ่งสาขาในเขตดังกล่าว และในเขตเพนริธที่อยู่ติดกันก็มีห้างวูลเวิร์ธอยู่แล้วเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้วูลเวิร์ธมาเปิดสาขาเพิ่มในเมืองนี้ จนกว่าจะมีห้างอื่นมาเปิดเพื่อเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภค ซึ่งตามข่าวบอกว่าเร็วที่สุดก็คงต้องเป็นปีหน้า ที่จะมีห้าง Aldi มาเปิดในเขตนี้ ทั้งนี้เขาสกัดตั้งแต่ตอนที่วูลเวิร์ธทำเรื่องขออนุญาตซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างห้าง คณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่ดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาด เพราะมันหมายถึงการทำให้สินค้าราคาแพงขึ้นและทำให้ผู้ผลิตไม่มีความจำเป็นต้องสร้างทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค ก่อนหน้านี้เขาก็สกัดบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่อย่างไฮนซ์ ไม่ให้เข้ามาซื้อกิจการของบริษัทสัญชาติออสซี่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสำหรับเด็กทารก ยี่ห้อ Rafferty’s Garden มาแล้ว โดยให้เหตุผลว่า การควบรวมกิจการดังกล่าวจะทำให้บริษัทไฮนซ์ครอบครองถึงร้อยละ 80 ของตลาดอาหารเด็กทารก และร้อยละ 70 ของซีเรียลและขนมกรุบกรอบในออสเตรเลีย เข้มจุงเบย ... ไม่เหมือนบางที่ ใครจะซื้อใครเขาก็เฉยๆ นะ   //

อ่านเพิ่มเติม >