ฉบับที่ 255 สำรวจฉลากส่วนประกอบในแยมส้มและมาร์มาเลดส้ม

        ฉลาดซื้อฉบับที่ 234 ได้เคยนำเสนอเรื่องปริมาณเนื้อผลไม้ในแยมสตรอว์เบอร์รีมาแล้ว คราวนี้ขอเอาใจคนที่ชื่นชอบรสชาติของ “แยมส้ม” และ”มาร์มาเลดส้ม” กันบ้าง          “แยมส้ม” จะมีส่วนประกอบหลักคือ เนื้อส้ม น้ำส้ม และน้ำตาล เนื้อเนียนละเอียด รสหวานนำ ส่วน ”มาร์มาเลดส้ม” จะใส่ผิวส้มเพิ่มเข้าไปด้วย จึงเจือรสขมผสมกับรสหวานอมเปรี้ยว เนื้อหยาบกว่ากินแล้วสัมผัสได้ถึงผิวส้มและเนื้อส้ม หอมกลิ่นส้มในปาก         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์แยมส้มและมาร์มาเลดส้มจำนวน 18 ตัวอย่าง ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ จากห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 โดยสำรวจฉลากเพื่อพิจารณา สัดส่วนของปริมาณส้ม (เนื้อส้ม น้ำส้มและผิวส้ม) และปริมาณน้ำตาล พร้อมกับเปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนัก 1 กรัม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ผู้บริโภคเลือกว่ายี่ห้อไหนจะมีรสชาติถูกปาก คุ้มค่าและปลอดภัยสำหรับคุณ ผลการสำรวจ         จากการสำรวจฉลากส่วนประกอบของแยมส้มและมาร์มาเลดส้มทั้ง 18 ตัวอย่าง พบว่า         1. สัดส่วนของปริมาณส้มรวม (เนื้อส้ม น้ำส้มและผิวส้ม) => ยี่ห้อดาโบ มีมากที่สุดคือ 70% ส่วนยี่ห้อเบสท์ ฟู้ดส์ มีน้อยที่สุดคือ 20%         2.สัดส่วนของปริมาณน้ำตาลรวม (รวมน้ำตาลที่ให้ความหวานและพลังงานทุกชนิด) => ยี่ห้อแม็คเคย์ มีมากที่สุด คือ 72% ส่วนยี่ห้อทิพทรี มีน้อยที่สุดคือ 10%         3.สัดส่วนของปริมาณน้ำตาลที่ระบุว่าเป็น “น้ำตาล” => ยี่ห้อแม็คเคย์ มีมากที่สุด คือ 72% ส่วนยี่ห้อสตรีมไลน์ มีน้อยที่สุดคือ 9%         4.เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนัก 1 กรัม => ยี่ห้อทิพทรี แพงสุดคือ 1.23 บาท ส่วนยี่ห้อเอ็มไพร์ ถูกสุดคือ 0.20 บาท  ข้อสังเกต        - ยี่ห้อเซนต์ดาลฟูร์ ไม่ระบุว่ามีน้ำตาลชนิดใดๆ เพิ่มเข้าไปในส่วนประกอบ แต่เมื่อดูที่ฉลากโภชนาการระบุว่ามีปริมาณน้ำตาลต่อหนึ่งหน่วยบริโภค(1 ช้อนโต๊ะ = 15 กรัม) อยู่ 8 กรัม ซึ่งเป็นน้ำตาลจากน้ำผลไม้        - ยี่ห้อสทิ้ว ระบุว่า ‘no sugar added’ ไม่ใส่น้ำตาล แต่ใช้ซอร์บิทอล(วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล)        - มี 4 ยี่ห้อ เป็นสูตรลดน้ำตาล (Reduce Sugar) ได้แก่ มายช้อยส์, บอนน์ มาม็อง, สตรีมไลน์ และทิพทรี        - ยี่ห้อดอยคำ ปริมาณ 130 กรัม เป็นแบบหลอดบีบที่น่าจะช่วยลดการปนเปื้อน และใส่วัตถุกันเสีย มีคำแนะนำให้เปิดแล้วควรเก็บไว้ในตู้เย็นและบริโภคให้หมดภายใน 2 สัปดาห์        - มี 8 ยี่ห้อระบุว่าใส่วัตถุกันเสีย มี 6 ยี่ห้อแต่งกลิ่น และมี 5 ยี่ห้อแต่งสี ฉลาดซื้อแนะ        - ถ้าใครไม่ชอบรสขม ลองเลือกมาร์มาเลดส้มที่มีผิวส้มน้อยหน่อย        - ใครที่ชอบรสหวานแต่ไม่อยากอ้วน ลองเลือกแยมส้มที่ให้ความหวานจากน้ำผลไม้ น้ำเชื่อมข้าวโพด หรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอื่น ๆ  ซึ่งมีรสหวานและให้พลังงานน้อยกว่าน้ำตาลปกติ แต่ถ้ากินเพลินจนเยอะเกินก็เสี่ยงน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้        - เปิดขวดแยมแล้วให้แช่ในตู้เย็น ควรใช้ช้อนสะอาดตักแบ่งใส่ถ้วยก่อนทาขนมปัง เพื่อลดการปนเปื้อน        -จดวันที่ที่เปิดขวดแยมส้มครั้งแรกไว้ แยมส่วนใหญ่จะหมดอายุหลังจากเปิด 3 เดือน หรือดูที่ฉลากแนะนำ        - ถ้าใครกินไม่บ่อยและไม่ค่อยเยอะ ซื้อขวดเล็กก็พอ จะได้กินหมดก่อนวันหมดอายุ แต่ถ้าใครกินเป็นประจำทุกวันให้ซื้อขวดใหญ่จะคุ้มค่ากว่า        - หลายคนเลือกซื้อแยมส้มที่รสชาติอร่อยถูกปากและความคุ้มค่า แต่ก็อย่าลืมคำนึกถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย ลองเลือกที่มีส้มเยอะ มีน้ำตาลน้อยหรือไม่มีเลย ไม่ใส่วัตถุกันเสีย ไม่แต่งกลิ่นแต่งสี ก็น่าจะดี ข้อมูลอ้างอิงhttps://bestreview.asia/best-orange-jams/ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนกรกฎาคม 2559“บินถูกแต่ไม่มีที่นั่ง” โฆษณาเอาเปรียบผู้บริโภคโปรโมชั่นเที่ยวบินราคาถูกของบรรดาสายบิน “โลว์คอสต์” ต่างๆ กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากของผู้ที่ต้องเดินทางเป็นประจำและกลุ่มผู้ที่รักการท่องเที่ยว แต่ล่าสุดได้เกิดปัญหาจากโฆษณาโปรโมชั่นของสายบินโลว์คอสต์ที่สร้างความเข้าใจผิดกับผู้บริโภค จนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ต้องออกมาเตือนพร้อมกำหนดแนวทางให้กับบรรดาสายการบินต่างๆ ในการทำโปรโมชั่นเที่ยวบินราคาถูกโดย สคบ.ออกมาเตือนสายการบินโลว์คอสต์แห่งหนึ่ง ที่มีการโฆษณาว่าบินเที่ยวออสเตรเลียจ่ายเพียง 1,200 บาท ซึ่งเมื่อมีการตรวจสอบแล้วพบว่า ราคาที่โฆษณามีที่นั่งจำกัดแค่ 1-2 ที่นั่งเท่านั้น ซึ่งการโฆษณาดังกล่าวถือเป็นโฆษณาในลักษณะที่เอาเปรียบผู้บริโภค เพราะเป็นการโฆษณาโดยให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ทาง สคบ.จึงทำเอกสารชี้แจงไปยังผู้ประกอบการธุรกิจสายการบิน ว่าการโฆษณาโปรโมชั่นเที่ยวบินราคาพิเศษต่างๆ สามารถทำได้ แต่ต้องระบุข้อความให้ชัดเจน ครบถ้วน เกี่ยวกับเงื่อนไขและรายละเอียด วันเริ่มต้น วันสิ้นสุดของโปรโมชั่นที่โฆษณา จำนวนที่นั่งที่มีให้ หากผู้ประกอบการธุรกิจรายใด กระทำการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการจะมีความผิดตามกฎหมาย ถอนทะเบียน 40 ตำรับยาต้านแบคทีเรีย ทำคนป่วยเพราะดื้อยามีข้อมูลว่าในแต่ละปีมีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 88,000 คน และเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000 - 38,000 คน ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายนักวิชาการจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกันแถลงข่าว “เตือนภัยตำรับยาต้านแบคทีเรียที่ควรถอดถอนออกจากประเทศไทย” โดยเป็นการแถลงข้อมูลที่ได้จากการศึกษารายการยาต้านแบคทีเรียในประเทศ พบว่ามีมากกว่า 40 สูตรยาตำรับ ที่ควรถอนทะเบียนตำรับยาออกจากประเทศไทยเนื่องจากเป็นยาที่ไม่ได้มีประสิทธิผลในการรักษาโรค เช่น “ยาอมแก้เจ็บคอ” ที่ไม่ควรมียาต้านแบคทีเรียเป็นส่วนประกอบ เพราะโรคเจ็บคอมากกว่า 80% ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หากเกิดจากแบคทีเรียปริมาณยาก็ไม่เพียงพอต่อการฆ่าเชื้อในลำคอให้หาย แถมการกลืนยาลงสู่กระเพาะอาหารยังทำให้เกิดเชื้อดื้อยาของแบคทีเรียในลำไส้ หรือ ยาต้านแบคทีเรียที่เป็นสูตรผสมชนิดฉีด ที่ไม่ควรเป็นสูตรผสมเพราะอาจเกิดปัญหาประสิทธิภาพการรักษา และเพิ่มความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับทั้งนี้จะมีการยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถอนบัญชียาเหล่านี้ออกจากประเทศ โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบบัญชียาดังกล่าวได้ที่ www.thaidrugwatch.org หรือ www.thaihealth.or.th10 อาการป่วยใช้สิทธิ์ฉุกเฉินได้ทันทีฟรี 24 ชม. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้กำหนดกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤต 10 อาการ เพื่อเป็นหลักให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย ในการใช้บริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สายด่วน 1669 ซึ่งหากพบผู้ป่วยด้วยอาการ 10 ลักษณะต่อไปนี้ สามารถเข้ารับการรักษากรณีฉุกเฉินได้ทันที ไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอด 24 ชั่วโมง1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ, 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง, 3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือ มีอาการชักร่วม, 4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง, 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือ ชักต่อเนื่องไม่หยุด, 6.ได้รับบาดเจ็บ ต่อสมอง ต่อกระดูกสันหลัง มีแขนขาอ่อนแรง มีบาดแผลที่เสียเลือดมาก ถูกไฟฟ้าแรงสูง แผลไฟไหม้บริเวณกว้าง, 7.ถูกยิง ถูกแทง ที่ศีรษะ ลำตัว อวัยวะสาคัญ, 8.งูพิษกัด ซึม หายใจลำบาก หนังตาตก, 9.ตั้งครรภ์และชัก ตกเลือดมาก มีน้ำเดิน เด็กโผล่ และ 10.บาดเจ็บต่อดวงตาจากสารพิษ มองไม่ชัดคนไทยถูกค่ายมือถือเอาเปรียบ?รู้หรือไม่ว่า? คนไทยต้องจ่ายค่าบริการโทรศัพท์มือถือสูงกว่าความเป็นจริง  หลังจากมีข่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษากลไกปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนเพื่อการปฎิรูปประเทศ (สปท.) ได้เรียกให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาให้ข้อมูลที่ทั้ง 3 บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ คือ เอไอเอส ดีแทค และ ทรู คิดค่าบริการเกินกว่าที่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตให้บริการ ซึ่งทาง กสทช. ก็รับว่าปัจจุบันทั้ง 3 ค่ายมือถือยังมีการคิดค่าบริการที่สูงกว่าอัตราที่ กสทช. กำหนดโดยตามประกาศ เรื่องอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ให้บริการบนคลื่นความถี่ 2.1 จิกะเฮิรตซ์ (GHz) ที่ กสทช. กำหนดนั้น การคิดค่าบริการจะต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง แยกเป็น การบริการเสียง ห้ามเกินนาทีละ 69 สตางค์ บริการข้อความสั้น (SMS) ไม่เกิน 1.15 บาท/ ข้อความ บริการข้อความมัลติมีเดีย (MMS) ไม่เกิน 3.11 บาท/ข้อความ และบริการอินเตอร์เน็ต (Mobile Internet) ไม่เกิน 0.26 บาท/เมกกะไบค์ (MB)ซึ่งจากนี้ กสทช. ต้องทำหน้าที่ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล เร่งดำเนินการเอาผิดกับผู้ประกอบการค่ายมือถือที่เอาเปรียบผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบโปรโมชั่นต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนด สำหรับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหากพบว่าค่าบริการที่ใช้อยู่สูงกว่าอัตราที่ทาง กสทช. กำหนด สามารถร้องเรียนไปได้ที่ สายด่วน กสทช.1200 ฉลากอาหารแบบใหม่เป็นมิตรกับผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภควอนรัฐเดินหน้าอย่ายกเลิกคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) นำเสนอผลการสำรวจการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร พบว่าส่วนใหญ่มีการปรับปรุงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ โดยข้อมูลผลสำรวจที่ได้นำมาใช้เป็นข้อมูลโต้แย้งกับแนวคิดของประชารัฐกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารขอให้ยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าว ให้กลับมาใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 194 พ.ศ.2543 เรื่องฉลาก ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคน้อยกว่าฉบับที่ 367 โดยประชารัฐกลุ่มนี้อ้างว่า ไม่สามารถทำตามประกาศ สธ.ที่ 367 เพราะมีข้อจำกัดมากมาย ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงและสับสน และไม่สามารถทำฉลากใช้ร่วมกับประเทศอื่นได้ ต้องมีสต็อกฉลากเฉพาะขายในประเทศไทยทำให้ต้นทุนสูง    ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 พ.ศ.2557 จะมีการให้แสดงข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมากกว่าประกาศฉบับที่ 194 เช่น สำหรับผู้แพ้อาหาร กรณีใช้ส่วนประกอบหรือปนเปื้อนในกระบวนการผลิตของสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไข่ ถั่ว นม นอกจากนี้ต้องแสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะหรือตัวเลขตามระบบเลขรหัสสากล (International Numbering System : INS for Food Additives)รศ. ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ คณะอนุกรรมการฯ คอบช. กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจฉลากแสดงชัดเจนว่า ข้ออ้างของประชารัฐที่ไม่สามารถทำตามประกาศ สธ.ที่ 367 นั้น ไม่เป็นความจริง จึงขอเรียกร้องให้ อย. บังคับใช้ประกาศฉบับดังกล่าว และให้มีกระบวนการตรวจสอบการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ดีเอสไอ เชือด!!! อาหารเสริม “เมโซ” (Mezo) อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ถูกเช็คบิลไปอีกหนึ่งยี่ห้อ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงอย่าง อาหารเสริมยี่ห้อ “เมโซ” (Mezo) ที่ถูกทาง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำการตรวจยึดของกลางได้กว่า 1 ล้านแคปซูล มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท จาก 2 แหล่ง คือที่ บริษัท เมโซ เอนเทอร์ไพรซ์ จำกัด ซึ่งเป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตราเมโซ (Mezo) และที่โรงงานผลิตอาหารเสริม บริษัท สุกฤษ 55 จำกัด ซึ่งพบผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายความผิดหลายรายการ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักตราเมโซ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ตรา FOMO V Shape Body ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ตราดับเบิลยูพีพลัส และผลิตภัณฑ์เอฟบีแอลพลัส มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท โดยโรงงาน-บริษัท ข้างต้นจดทะเบียนถูกต้อง มีรูปแบบการทำธุรกิจโดยเป็นเจ้าของสูตรยา แล้วโฆษณาให้คนที่มีต้นทุน และสนใจที่จะเข้ามาลงทุน โดยระบุข้อความขอเพียงมีเงินลงทุนเท่านั้น บริษัทจะเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ ทำการตลาด กำหนดยี่ห้อสินค้าให้ แต่ใช้สูตรตัวยาเดียวกัน สำหรับความผิดที่นำไปสู่การตรวจยึดสินค้าครั้งนี้มาจากการที่ผลิตภัณฑ์แสดงชื่อไม่ตรงกับที่จดแจ้งไว้ และแสดงฉลากข้อความอวดอ้างสรรพคุณฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยอาหารและยา มาตรา 6 (10) และมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 อาหารเสริมดังกล่าวมียอดการจำหน่ายต่อปีกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งต้องตรวจสอบการยื่นเสียภาษีด้วย ส่วนการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดนั้น ดีเอสไออยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน โดยในส่วนของโรงงานยังไม่สั่งปิด เนื่องจากผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์ให้กับหลายบริษัท แต่หากพบว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตจากโรงงานมีความผิด ก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป อย.เตรียมปรับฉลากอาหารใช้สัญลักษณ์แสดงโภชนาการ บ้านเรามีความพยายามอย่างมากในการปรับปรุงฉลากอาหารให้มีความเป็นมิตรกับผู้บริโภคมากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของฉลากโภชนาการที่เป็นข้อมูลสำคัญที่แจ้งให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงส่วนประกอบต่างๆ ในอาหารที่เรารับประทาน ซึ่งล่าสุดผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ออกมายืนยันว่าทาง อย. มีแผนที่จะปรับปรุงฉลากอาหารโดยจะมีการกำหนดเกณฑ์ของสารอาหารที่เหมาะสมต่อการบริโภคที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยใช้วิธีการมอบตราสัญลักษณ์ให้แก่ผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารได้ตามเกณฑ์ที่ อย. กำหนดไว้ ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากภาคประชาชนที่เสนอให้ใช้ฉลากอาหารแบบสัญญาณไฟจราจร ที่เป็นแบบแจ้งปริมาณสารอาหารว่าอยู่ในเกณฑ์หรือไม่แบบตรงไปตรงมา ซึ่งผู้อำนวยการสำนักอาหารก็ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นรูปแบบฉลากที่ผู้ประกอบการไม่ยอมรับ ส่วนฉลาก GDA ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นการให้ข้อมูลที่อ่านง่ายแต่ไม่ได้ตัดสินว่าผลิตภัณพ์อาหารนั้นดีหรือไม่ดี โดยภายในปีนี้ เครื่องหมายตราสัญลักษณ์แบบใหม่จะเริ่มนำมาใช้ได้ในกลุ่มอาหารแช่แข็งเป็นกลุ่มแรกและค่อยๆ ทยอยออกเพิ่มเติมต่อไป สปสช. เพิ่มยา 6 รายการในสิทธิบัตรทอง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ด้านยาเพิ่มเติม 6 รายการ เพื่อให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง เข้าถึงการรักษาพยาบาลและได้รับยาที่จำเป็นเพิ่มขึ้น โดยยา 6 รายการที่มีการอนุมัติเพิ่มเติมได้แก่ 1. ยาลอราซีแพม อินเจกชัน ใช้ฟื้นฟูลดภาวะที่สมองจะถูกทำลายและเสียชีวิตจากการชัก มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยา 3,000 - 5,000 คนต่อปี 2. ยาทริแพน บูล ใช้ย้อมสีถุงหุ้มเลนส์ตาระหว่างผ่าตัดต้อกระจก และย้อม Internal Limiting membrane กรณีผ่าจอตา มีผู้ป่วยต้องการใช้ประมาณ 10,000 รายต่อปี 3. ยาอินดอคยาไนน์ กรีน ใช้วินิจฉัยโรคจุดภาพเสื่อม (PCV ) มีผู้ป่วยที่ต้องการใช้ประมาณ 20,000 ราย 4. ยาดาคาบาซีน ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดกินส์ ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับยานี้มีโอกาสหาย มีผู้ที่ต้องรับยานี้ประมาณ 100 คนต่อปี 5. ยารักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว APL ใช้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา All-trans-retinoic acid มีผู้ป่วยที่ต้องได้รับยานี้ประมาณ 1,000 คน และ 6. Factor Vlll และ Factor IX สำหรับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย A และ B มีผู้ป่วยที่ต้องใช้รับยานี้ประมาณ 1,483 ราย การส่งเสริมเรื่องการเข้าถึงยาเพิ่มมากขึ้นในครั้งนี้ นอกจากช่วยให้ผู้ป่วยบัตรทองได้สิทธิในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยกองทุนบัตรทองถึงปีละเกือบหมื่นล้านบาท ช่วยลดภาระค่ายาที่มีราคาแพงให้กับโรงพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาเหล่านี้ สั่ง “วิตามิน-อาหารเสริม” จากต่างประเทศ ระวังเสียเงินฟรี!!! อย.เตือนใครที่คิดจะสั่งซื้อ “วิตามิน” และ “อาหารเสริม” จากต่างประเทศผ่านทางเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต ระวังจะสูญเงินเปล่า เพราะวิตามินและอาหารเสริมที่สั่งซื้ออาจเข้าข่ายเป็นยาตามกฎหมาย อย. หากไม่มีการขึ้นทะเบียนนำเข้าก็จะถูกสกัดที่ด่านอาหารและยาตั้งแต่ต้นทาง ปัจจุบันพบว่ามีคนที่สั่งซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากต่างประเทศ เช่น วิตามิน เกลือแร่ โสมสมุนไพร หรือสารสกัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งนำมาใช้เองและนำมาเพื่อจำหน่ายต่อ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาขายตามเว็บไซต์ต่างๆ นั้น แม้ในประเทศต้นทางแม้จะบอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่เมื่อพิจารณาจากขนาดของวิตามิน เกลือแร่ หรือสารสกัดต่างๆ ที่เป็นส่วนผสมแล้ว หากพบว่าเกินกว่าเกณฑ์ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ถือว่าเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งวิตามิน หรือสารสกัดแต่ละตัวจะมีขนาดกำหนดไว้ไม่เท่ากัน และหากมีการโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคได้ก็ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งหากไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนนำเข้ามาในราชอาณาจักรกับ อย. ก็ถือเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย หากใครมีข้อสงสัยเรื่องการสั่งซื้อนำเข้ายาจากต่างประเทศ ควรสอบถามให้แน่ใจกับทาง อย. เสียก่อน เพื่อป้องกันการสูญเงินไปแบบฟรีๆ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายเกลื่อนจอทีวี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้ทำการจับตาเฝ้าระวังสถาการณ์ของบรรดาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงทั้งหลาย ที่ยังคงโฆษณาออกอากาศอยู่ตามช่องเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม ระหว่างเดือน ตุลาคม ถึง ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่าโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ออกอากาศอยู่ ณ ปัจจุบัน เกือบ 100% เป็นการโฆษณาอย่างผิดกฎหมาย เนื้อหาส่วนใหญ่โอ้อวดเรื่องสรรพคุณด้านความสวยความงาม การลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ขาว-สวย-ใส และเรื่องการรักษาโรคแบบครอบจักรวาล ข้อมูลที่ได้จากการเฝ้าระวังพบว่า โทรทัศน์ดาวเทียม-เคเบิ้ลจำนวน 18 ช่อง พบแล้ว 17 ช่อง ที่โฆษณาผิดกฎหมายและเป็นช่องที่กสทช. เคยสั่งปรับไปแล้ว 5 ช่อง ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ไทยมุสลิม (TMTV) , ทีวีมุสลิมไทยแลนด์ , มีคุณทีวี , เอชพลัส (H+) และช่อง 8 (8 Channel : ดิจิตอลทีวี) โดยมีผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่โฆษณาอยู่จำนวน 95 ผลิตภัณฑ์ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันและมีข้อมูลก่อนเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเทคนิคง่ายๆ สำหรับใช้เป็นคนสังเกตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย มีดังนี้ 1.สังเกตเลขอนุญาต เช่น ด้านอาหาร คือ ฆอ. .../... , กรณีด้านยา คือ ฆท. .../... , เครื่องมือแพทย์ คือ ฆท. ..../... ,ส่วนเครื่องสำอางไม่ต้องมีเลขอนุญาตโฆษณา แต่ต้องไม่โฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ ซึ่งจะมีความผิดตา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2.พิจารณาเนื้อหา ว่าโฆษณาตรงกับผลิตภัณฑ์หรือไม่ 3.เนื้อหาโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ สำหรับข้อเสนอที่ภาคประชาชนอยากให้หน่วยงานภาครัฐจัดการกับปัญหานี้ คือให้มีการปรับปรุงบทลงโทษผู้ที่ทำผิดให้มีความรุนแรงมากขึ้น และต้องเร่งรัดการจัดทำระบบฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณาอาหาร และเปิดให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเรื่องการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ ที่สำคัญหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลปัญหานี้โดยตรงอย่าง อย. กสทช. ต้องจริงจังเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 2556 ตรวจสุขภาพ...อาจทำร้ายสุขภาพ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) รายงานว่าคนไทยให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นการตรวจที่ไม่เหมาะสม เป็นการตรวจสุขภาพโดยการสุ่มตรวจหรือการตรวจแบบ “เหวี่ยงแห” นอกจากจะสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะอื่น นำไปสู่การรักษาที่ไม่จำเป็น นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า การตรวจสุขภาพหรือการคัดกรองสุขภาพ(ไม่รวมการตรวจสุขภาพที่เกี่ยวกับการยืนยันโรค หรือเพื่อรักษาโรคนั้น) ควรหลีกเลี่ยงการคัดกรองแบบเหวี่ยงแห ที่เป็นการตรวจแบบไร้จุดเป้าหมาย เพราะมีโทษมากกว่าประโยชน์ และสามารถก่ออันตรายต่ออวัยวะอื่น เช่น การเอกซเรย์ การตรวจการทำงานของตับ ไต หรือการใช้เครื่องซีทีสแกน ซึ่งมีรังสีมากกว่าการเอกซเรย์ 100 เท่า เป็นต้น โดยทาง HITAP ได้ทำวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและราชวิทยาลัยต่างๆ จัดเป็นโปรแกรมการตรวจคัดกรอง 12 เรื่อง เตรียมเสนอให้กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง 12 เรื่องที่อยู่ในโปรแกรมการตรวจมีอย่างเช่น การตรวจโลหิตจาง ภาวะทุพโภชนาการ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง ตรวจสายตา ฯลฯ พร้อมกับกำหนดช่วงวัยที่เหมาะสมและจำนวนการตรวจ ซึ่งประชาชนควรได้รับทราบข้อดี ข้อเสียของการตรวจสุขภาพ ก่อนเข้ารับการตรวจ     ตู้น้ำดื่มตกมาตรฐาน ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่เลือกบริโภคน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ แต่หลายๆ คนอาจยังไม่รู้ว่าบรรดาตู้น้ำดื่มทั้งหลายที่ตั้งให้บริการอยู่นั้น ยังไม่มีหน่วยงานใดที่รับหน้าที่ดูตรวจสอบความปลอดภัยที่ชัดเจน แถมล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สุมตรวจความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พบว่าเกินครึ่งตกมาตรฐาน อย. ได้เปิดเผยข้อมูลการสุ่มตรวจตัวอย่างคุณภาพน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในเขต กทม.จำนวน 300 ตัวอย่าง พบผ่านมาตรฐาน 129 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 43 ตกมาตรฐาน 171 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 57 โดยรายการที่ไม่ผ่านมาตรฐานมากที่สุด คือ ค่าความเป็นกรดด่าง ซึ่งอาจมาจากระบบการกรองของตู้ (Reverse Osmosis) ซึ่งไม่ผ่านมาตรฐานที่กำหนด ซึ่ง อย. ออกมาเปิดเผยว่าไม่ได้นิ่งเฉยกับปัญหานี้ โดยขณะนี้ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง น้ำบริโภคจากตู้น้ำหยอดเหรียญอัตโนมัติ เพื่อกำหนดคุณภาพของน้ำบริโภคที่ผลิตจากเครื่องอัตโนมัติโดยตรง ขณะนี้เหลือเพียงรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมบังคับใช้ในปี 2557 ซึ่งเมื่อมีผลตามกฎหมายหากพบตู้น้ำหยอดเหรียญอัตโนมัติของผู้ประกอบการรายใดไม่ได้มาตรฐานจะมีโทษทันที   อย.มั่นใจนมผงไทยไม่มีเชื้อแบคทีเรีย หลังจากมีข่าวที่ชวนให้ตกใจ เรื่องการพบเชื้อแบคทีเรียในเวย์โปรตีนชนิดเข้มข้นที่ผลิตจากบริษัท ฟอนเทียร่า ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเวย์โปรตีนชนิดเข้มข้นนี้ถือเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์นมต่างๆ โดยเฉพาะนมผง โดยเชื้อแบคทีเรียที่พบการปนเปื้อนมีอันตรายหากมีการบริโภคเข้าสู่ร่างกาย ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาตรวจสอบปัญหาดังกล่าวเพื่อคลายความกังวลของผู้บริโภคในประเทศไทย ทั้งการตรวจเข้มการนำเข้า เก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ เชิญผู้ประกอบการมาชี้แจงหามาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัย สำหรับกรณีที่ บริษัท ดูเม็กซ์ ประเทศไทย ที่มีบางผลิตภัณฑ์ใช้วัตถุดิบจากบริษัท ฟอนเทียร่า บริษัท ดูเม็กซ์ ประเทศไทย จึงได้มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์บางตัว ประกอบด้วย 1.ดูโปร สูตร 2 ผลิตขึ้นระหว่างวันที่ 29 เมษายน 2556 ถึง 28 มิถุนายน 2556 หมดอายุในระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ถึง 28 ธันวาคม 2557, 2. ไฮคิว สูตร 1 ผลิตขึ้นระหว่างวันที่ 09 พฤษภาคม 2556 ถึง 15 กรกฎาคม 2556 หมดอายุระหว่างวันที่ 09 พฤศจิกายน 2557 ถึง 15 มกราคม 2558, 3. ไฮคิว สูตร 2 ผลิตขึ้นระหว่างวันที่ 29 เมษายน 2556 ถึง 25 มิถุนายน 2556 หมดอายุระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ถึง 25 ธันวาคม 2558, 4. ไฮคิว ซูเปอร์โกลด์ สูตร 1 ผลิตขึ้นระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม 2556 ถึง 14 มิถุนายน 2556 หมดอายุระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ถึง 14 ธันวาคม 2557 และ 5. ไฮคิว ซูเปอร์โกลด์ สูตร 2 ผลิตขึ้นระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม 2556 ถึง 28 มิถุนายน 2556 หมดอายุระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ถึง 28 ธันวาคม 2557 ส่วนผลิตภัณฑ์นมดัดแปลงและอาหารทารกสำหรับเด็กเล็กจากบริษัทผู้ผลิตและนำเข้าอื่นๆ รวม 73 รายการ ที่แจ้งกับทาง อย. ทาง อย. ยืนยันว่าไม่มีบริษัทใดนำเข้าหรือใช้เวย์โปรตีนล็อตที่เป็นปัญหาเป็นวัตถุดิบแต่อย่างใด   เตรียมปรับฉลากอาหาร ปริมาณ “น้ำตาล – เกลือ” ต้องอ่านง่าย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการจัดทำฉลากอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและเกลือใหม่ จากเดิมที่ระบุปริมาณเป็นมิลลิกรัม ซึ่งอ่านเข้าใจยาก โดยเฉพาะในฉลากขนมที่มีน้ำตาลและเกลือสูง หวังช่วยให้เด็กๆ มี่ซื้อรับประทานอ่านฉลากมากขึ้น โดยฉลากแบบใหม่ต้องปรับให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย อาจใช้รูปสัญลักษณ์ในการบอกค่า เช่น รูปช้อน แทนปริมาณน้ำตาล 1ช้อน หรือ 2 ช้อน พร้อมกับระบุวิธีการเผาผลาญออกจากร่างกาย และผลกระทบ ผลเสีย หรืออันตรายที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายด้วย เช่น น้ำตาล 2 ช้อน การเผาผลาญต้องวิ่งเป็นเวลา 20 นาที หรือ เกลือ หากได้รับปริมาณมากเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยอาจจะทำเป็นสติกเกอร์ติดที่ซองอาหารเพิ่มเติมจากฉลากเดิมที่มีอยู่แล้ว ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คนไทยเราเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ มากขึ้น โดยในปี 2554 ข้อมูลจากการตรวจคัดกรองประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป จำนวน 22.2 ล้านคน พบผู้ป่วยเบาหวาน 1,581,857 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อน 277,020 ราย โดยมีภาวะแทรกซ้อนทางไตมากที่สุด เช่น ไตวาย ร้อยละ 25 รองลงมาคือแทรกซ้อนทางตา เช่น ตาต้อกระจก ต้อหินร้อยละ 23 คาดการณ์ว่าในอีก 8 ปีข้างหน้า ไทยจะพบผู้ป่วยถึง 4.7 ล้านราย เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 52,800 ราย แนวโน้มพบในเด็กมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้เด็กไทยเผชิญความอ้วนมากขึ้น   พลังคนไทยทวงคืนพลังงานชาติ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา ภาคประชาชนได้รวมตัวกันเพื่อร่วมแสดงพลังเรียกร้องความเป็นธรรม หน้าสำนักงานใหญ่ ปตท. ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อชุมนุมคัดค้านการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม หรือ แอลพีจี พร้อมทั้งล่ารายชื่อ 5 หมื่นชื่อ ยื่นถอดถอนรัฐมนตรีว่าการและข้าราชการกระทรวงพลังงานทั้งสิ้น 5 คน เนื่องจากนโยบายการปรับขึ้นราคาแอลพีจีที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ประชาชนทั่วประเทศเดือดร้อน ซึ่งการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อรวมคัดค้านนั้น จะกระจายไปทุกจังหวัด โดยตั้งเป้าให้ได้จังหวัดละ 1 พันรายชื่อ เพื่อแสดงพลังของประชาชนที่คัดค้านการปรับขึ้นราคาแอลพีจีและจะนำรายชื่อไป ยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ตรวจการแผ่นดินต่อไป ก๊าซแอลพีจี หรือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลวสำหรับภาคครัวเรือน เริ่มปรับขึ้นราคาเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยปรับราคาขึ้นกิโลกรัมละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม ต่อเดือนต่อเนื่องเป็นเวลา 12 เดือน รวมแล้วขึ้นราคาเป็น 6 บาท จากเดิมที่ราคา 18.13 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 24.82 บาทต่อกิโลกรัมใครที่อยากร่วมลงชื่อถอดถอนรัฐมนตรีว่าการและข้าราชการกระทรวงพลังงาน สามารถเข้าไปโหลดเอกสารลงรายชื่อได้ที่ลิงค์ http://www.gasthai.com/pengout.pdf และติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมและข้อมูลต่างๆ เรื่องความไม่เป็นธรรมของธุรกิจพลังงานในไทยได้ที่เฟซบุ๊ค Goosoogong   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2554 19 มกราคม 2554ฉลากอาหารปรับลุคใหม่ หวาน – เค็มเท่าไหร่รู้ได้เลยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมออกประกาศ ปรับปรุงการแสดงฉลากอาหารสำเร็จรูปทุกประเภท รวมทั้งน้ำดื่มทุกชนิด ที่เป็นการให้ข้อมูลโภชนาการแก่ผู้บริโภคให้อ่านง่ายและเข้าใจมากขึ้น จากเดิมที่มีรายละเอียดซับซ้อนและเข้าใจได้ยาก ผู้บริโภคต้องคิดคำนวณสารอาหารที่ได้หรือเปรียบปริมาณที่ควรกินต่อวันเอง แต่ข้อมูลในฉลากใหม่นี้จะเน้นที่การให้ข้อมูลสารอาหารที่บรรจุภายในผลิตภัณฑ์ เปรียบเทียบเป็นร้อยละความต้องการสารอาหารของร่างกายในแต่ละวัน รวมทั้งปรับปรุงจากเดิมที่เป็นการกำหนดสารอาหารต่อ 1 หน่วยบริโภค เป็นสารอาหารตามจำนวนที่บรรจุแทน เพราะปัจจุบันอาหารมีการบรรจุหลายขนาด บางครั้ง 1 หน่วยบริโภคอาจเป็นน้ำหนักเพียง 1 ใน 4 ของน้ำหนักอาหารจริงใน 1 ซองก็ได้ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคหลายคนเข้าใจผิด  การปรับปรุงฉลากอาหารของ อย. จะทำให้ผู้บริโภคคำนวณสารอาหารที่กินได้ง่ายขึ้น และจะแสดงค่าสารอาหารสำคัญๆ ได้แก่ พลังงาน น้ำตาล ไขมันอิ่มตัว และเกลือ ซึ่งการกำหนดฉลากในรูปแบบใหม่นี้ จะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมเรื่องการกิน หวาน มัน เค็ม ไม่ให้มากเกินไป ทำให้สามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ง่ายขึ้น โดย อย. ตั้งเป้าว่าผู้บริโภคจะได้เห็นฉลากรูปแบบใหม่นี้ในปี 2554++++++++++++++++++++++++++++   23 มกราคม 2554ถึงเวลาคุมเข้ม สัญญา “ฟิตเนส”สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมออกกฎหมายคุมเข้มบริการ “ฟิตเนส” หลังยอดร้องเรียนปี 53 พุ่ง 200 ราย โดยประเด็นที่ร้องเรียนส่วนใหญ่คือเรื่อง การไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาในเรื่องการบริการ ที่ก่อนจะมีการทำสัญญา พนักงานขายจะบอกว่าสามารถใช้บริการด้านใดได้บ้าง แต่เมื่อทำสัญญาแล้วไม่เป็นตามข้อตกลงที่วางไว้ กับอีกเรื่องคือ เรื่องการบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด ที่ผู้ใช้บริการไม่สามารถเรียกร้องเอาเงินคืนจากผู้ประกอบการได้ และจะมีการหักเงินจากบัตรเครดิตเป็นรายเดือน ในการทำสัญญาระหว่างผู้ประกอบการและลูกค้าจะเป็นการทำสัญญากันเองของสองฝ่าย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะถูกเอาเปรียบ และไม่สามารถเอาผิดกับผู้ประกอบการได้ เนื่องจากไม่มีข้อกฎหมายบังคับ  โดยสาระสำคัญของ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ จะเจาะจงแต่สถานที่ให้บริการแบบที่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายเท่านั้น ไม่รวมสถานที่ที่มีหลักสูตรเฉพาะอย่าง โยคะ ศิลปะป้องกันตัว หรือกีฬา โดยการทำสัญญาต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน พร้อมระบุรายละเอียดขนาดพื้นที่ จำนวนประเภท จำนวนอุปกรณ์ออกกำลังกาย สิ่งอำนวยความสะดวก  อัตราค่าสมาชิก ค่าใช้บริการออกกำลังกาย ค่าฝึกสอน ลักษณะการเรียกเก็บเงิน ระยะเวลาการเป็นสมาชิก ฯลฯ  สิทธิในการบอกเลิกสัญญา เงื่อนไขการขอเรียกคืนเงิน ซึ่งต่อไปหากพบสัญญาไม่เป็นธรรม ผู้บริโภคสามารถฟ้องร้องได้++++++++++++++   26 มกราคม 2554ผู้บริโภคเสี่ยงน้ำมันทอดซ้ำเพราะน้ำมันปาล์มขึ้นราคาผลพวงจากวิกฤติราคาน้ำมันปาล์มที่แพงขึ้น กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงว่า บรรดาพ่อค้า-แม่ค้าอาจใช้วิธีประหยัดต้นทุนด้วยการใช้น้ำมันทอดอาหารซ้ำหลายๆ ครั้ง ซึ่งเป็นอันตรายกับผู้บริโภค เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าการนำน้ำมันมาทอดซ้ำ จะเป็นการก่อให้เกิดสารโพลาร์ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง  กระทรวงสาธารณสุขเคยสุ่มตรวจตัวอย่างน้ำมันที่ใช้ทอดอาหาร ในร้านขายอาหารในปี 2553 จำนวนทั้งหมด 4,397 ตัวอย่าง พบมีสารโพลาร์เกิน 294 ตัวอย่าง ในช่วงวันที่ 1-14 มกราคม 2554 ได้ตรวจน้ำมันทอดซ้ำในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 494 ตัวอย่าง พบน้ำมันทอดซ้ำไม่ได้มาตรฐานร้อยละ 5.06  กระทรวงสาธารณสุขฝากถึงพ่อค้า-แม้ค้าว่า ไม่ควรน้ำมันทอดซ้ำเกิน 2 ครั้ง โดยหลังจากใช้ทอดครั้งแรกแล้ว จะต้องกรองกากทิ้งก่อน จึงจะสามารถนำน้ำมันมาใช้ทอดครั้งที่ 2 ได้ หากสุ่มตรวจแล้วพบมีสารโพลาร์เกินมาตรฐาน คือไม่เกินร้อยละ 25 ต่อน้ำหนักน้ำมันที่ใช้ ถือว่ามีความผิดฐานจำหน่ายอาหารไม่ได้มาตรฐาน มีสิทธิโดนโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++   บรอดแบรนด์ 199 บาท เพื่อการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตทีโอที ได้เปิดให้บริการอินเตอร์เน็ตราคาถูกใน 6 จังหวัด ด้วยระบบบรอดแบนด์ 2 เมกะบิต เพียง 199 บาทต่อเดือน ภายใต้โครงการ “ถนนไร้สาย” ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ซึ่งเป็นโครงการนำร่องให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่ายไร้สาย หรือ ไว-ไฟ (Wi-Fi) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตามนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ โดยเริ่มต้นไปแล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช, ตรัง, เพชรบูรณ์, เชียงใหม่, เชียงราย และ พิษณุโลก  โดย ทีโอที หวังว่าการให้บริการอินเตอร์เน็ตในราคานี้ จะช่วยให้การใช้งานอินเตอร์เน็ตภายในประเทศมีความแพร่หลายมากขึ้น เพราะปัจจุบันอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ขั้นต่ำ 6 เมกะบิต อยู่ที่ 599 บาทต่อเดือน ซึ่งยังถือว่าค่อนข้างสูงเกินไปสำหรับลูกค้าที่มีรายได้น้อย การปรับลดราคาโดยใช้เงื่อนไขลดความเร็วของอินเตอร์เน็ตลง จึงน่าจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน – นักศึกษา  แต่บริการนี้ก็ยังติดปัญหาเรื่องการให้บริการยังไม่ครอบคลุมในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งถ้าจะทำให้เข้าถึงได้ทั่วประเทศต้องใช้เงินลงทุนสูง  แบบนี้คงต้องฝากความหวังเอาไว้กับ 3 จี ซึ่งหวังว่าบ้านเราจะมีโอกาสได้ใช้เร็วๆ นี้++++++++++++++++++++++++++++++++++++++   คัดค้านเครดิตบูโร เก็บประวัติการจ่ายค่าน้ำ – ค่าไฟมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นหนังสือคัดค้านการจัดเก็บประวัติการชำระค่าระบบสาธาณูปโภค ต่อบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด(เครดิตบูโร) เพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เรื่องการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ไม่น่าจะมีผลเกี่ยวข้องกับเรื่องขอสินเชื่อ พร้อมเสนอให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนโดยไม่เป็นธรรม  นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวว่าการเข้ายื่นหนังสือครั้งนี้ต้องการให้ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ทบทวนการนำประวัติการชำระค่าระบบสาธาณูปโภคมาเป็นเงื่อนไขในการของสินเชื่อ เพราะเรื่องการชำระ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าโทรศัพท์ของผู้บริโภคไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงิน แถมยังเป็นการซ้ำเติมประชาชน เพราะปัญหาเรื่องการขาดชำระค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นเรื่องที่อาจเกิดได้จากหลายเหตุผล ทั้งจากความผิดพลาดด้านเอกสาร ที่อาจตกหล่นไม่ถึงมือผู้ใช้บริการ หรือการที่ชื่อของผู้ขอใช้กับผู้ใช้จริงไม่ได้เป็นคนเดียวกัน อย่างในกรณีของผู้ให้บริการหอพัก บ้านเช่า หรือการที่อาจถูกแอบอ้างชื่อโดยมิจฉาชีพไปจดทะเบียนของใช้บริการโทรศัพท์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยความไม่ตั้งใจ หากมีการนำไปบันทึกประวัติเสียในเครดิตบูโร ข้อมูลจะถูกเก็บไว้ถึง 3 ปี แม้เงินที่ค้างชำระจะเป็นเงินจำนวนไม่มากและผู้บริโภคจะได้ชำระเงินเรียบร้อยในภายหลังแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดูไม่สมเหตุสมผลหากกลายมาเป็นอุปสรรคในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน++++++++++++++++++++++  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 อย่าวางใจ “ธรรมชาติ” บนฉลากอาหาร

ท่านผู้อ่านที่มีโอกาสเดินตามห้างสรรพสินค้าใหญ่หน่อยอาจเคยสงสัยว่า สินค้าที่มีวิตามินขนาดสูงๆ หรือเป็นสารสกัดจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาตินั้น ถูกนำมาวางขายบนหิ้งในห้างได้อย่างไร มันปลอดภัยแล้วหรือ ผู้เขียนเคยพบคลิปใน YouTube ให้ข้อมูลว่า ครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันปัจจุบันนั้น ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งรวมถึงสารสกัดจากใบแปะก๊วยและรากวาเลอเรี่ยนมากินเอง โดยไม่ได้ปรึกษาผู้รู้เช่น แพทย์ เภสัชกร หรือนักโภชนาการ สารสกัดจากใบแปะก๊วย(Ginkgo Biloba extract) เป็นสารสกัดที่ใช้ลดความเสี่ยงหรือแก้ปัญหาอาการความจำเสื่อม แต่สารสกัดนี้ไม่ได้ช่วยให้ความจำดีขึ้นในคนปรกติ กล่าวคือ ฉลาดหรือโง่เพียงใดก็เป็นได้แค่นั้น การกินสารสกัดนี้เองอาจก่อปัญหาถ้าต้องเข้ารับการผ่าตัด เพราะสารนี้ทำให้เลือดหยุดไหลช้าจนอาจถึงตายได้) ส่วนสารสกัดจากรากวาเลอเรี่ยน (valerian root extract) นั้น การแพทย์ทางเลือกใช้ช่วยแก้ปัญหาหลับยาก แต่อาจมีผลข้างเคียงในการทำลายตับเมื่อกินมากไป ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำในการใช้สารสกัดเหล่านี้ว่า ให้ใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่รู้จริง ท่านผู้อ่านจึงควรถามตนเองในเรื่องความจำเป็น และสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ก่อนซื้อมาบริโภคทุกครั้ง แต่ปัญหาสำคัญที่มักเกิดขึ้นกับบางท่านคือ จะถามใครหรือหาข้อมูลได้จากที่ไหน มีข้อสังเกตว่า ผู้ขายสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติต่างๆ มักกล่าวอ้างแบบปากต่อปากถึงสรรพคุณของสินค้าว่า มีฤทธิ์ในการบำบัดอาการหรือเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเพราะเป็นสินค้าจากธรรมชาติ ประเด็นที่น่าสนใจคือ คำว่า ธรรมชาติ นั้นไม่ได้หมายความหรือแปลว่า ปลอดภัย แค่ดูตัวหนังสือที่ใช้เขียนก็เห็นความต่างแล้ว ผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านลองเข้าไปดูคลิปของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เรื่อง ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ปลอดภัยกว่าสารเคมีจริงหรือ ใน YouTube ( ลิงค์ยูทูปกดดูได้ )ก็คงเข้าใจได้ดีขึ้น ตัวอย่างที่คนอเมริกันซาบซึ้งใจดีเกี่ยวกับคำว่าธรรมชาติคือ การใช้สมุนไพรจีนชื่อ มาฮวง (Ma Huang ซึ่งรู้จักกันทั่วโลกในชื่อ Ephedra โดยมีชื่อเล่นว่า yellow horse) ในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก แต่สุดท้ายปรากฏว่า ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงคือ เพิ่มความดันโลหิตให้สูงกว่าปรกติพร้อมกับอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น (ซึ่งทั้งสองอาการนี้นำไปสู่อาการหัวใจวาย) ก่อปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกจึงทำให้ถูกห้ามใช้อย่างเด็ดขาดในสตรีมีครรภ์ ข้อมูลจาก Wikipedia กล่าวว่า อย.มะกันได้ห้ามขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารอัลคาลอยด์ซึ่งเป็นสารสำคัญในมาฮวงชื่อ อีฟีดรีน (ephedrine alkaloids) ตั้งแต่ปี 2004 แต่ไม่ได้ห้ามการขายมาฮวงหรือสารสกัดจากมาฮวงที่มีอีฟีดรีนไม่มากเกินปริมาณที่ อย.กำหนด ในรัฐยูทาห์มีการชงชาที่ใช้ใบมาฮวงแทนใบชาจีนเพราะไม่มีคาเฟอีน ซึ่งเป็นสารห้ามกินในศาสนานี้ จึงมีผู้เรียกชานี้ว่า Mormon tea จากตัวอย่างความหมายของคำว่า “ธรรมชาติ” ที่ยกให้เห็นเกี่ยวกับมาฮวงในสหรัฐอเมริกานั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อคำนี้ปรากฏบนฉลากผลิตภัณฑ์ใดๆ โดยเฉพาะบนฉลากอาหารนั้น มัก เป็นคำที่ดูไร้สาระ ในความนึกคิดของชาวอเมริกันที่มีการศึกษาดี ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของสหรัฐอเมริกาจึงได้เริ่มขยับที่จะทำให้คำๆ นี้มีความหมายเป็นเรื่องราวเสียที ดังปรากฏในบทความชื่อ FDA Wants You to Define ‘Natural’ on Food Labels ซึ่งปรากฏในเว็บ www.care2.com เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2015 ใจความสำคัญในบทความนั้นกล่าวว่า องค์กรเอกชนในสหรัฐอเมริกาได้พยายามรวบรวมข้อเสนอแนะจากสาธารณะชน เพื่อขอ(กดดัน)ให้ อย.กำหนดความหมายที่ชัดเจนหรือห้ามการใช้คำๆ นี้บนฉลากอาหาร ประจวบกับทางหน่วยงานนี้ได้ถูกศาลของรัฐบาลกลางขอร้องให้ข้อแนะนำเพื่อการตัดสินคดีว่า สินค้าที่มีวัตถุดิบที่เป็นจีเอ็มโอ หรือใช้น้ำเชื่อมฟรัคโตสที่ทำจากข้าวโพดนั้น ใช้คำว่าธรรมชาติได้หรือไม่ โดยทั่วไปแล้วนักการตลาดที่ไร้เดียงสาในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ มักมโนว่า ธรรมชาตินั้นมีความหมายเกี่ยวข้องเพียงสีธรรมชาติหรืออะไรประมาณนั้น ซึ่งบางครั้งการมโนแบบนี้ก็ได้กลายเป็นภาพลวงที่มักเกิดได้กับผู้ซื้อสินค้า(นักช็อป)มืออาชีพ จากรายงานการสำรวจของ Consumer Reports ในบทความเรื่อง Say no to 'natural' on food labels (โดย Deborah Pike Olsen ซึ่งถูกตีพิมพ์เมื่อ 16 มิถุนายน 2014 ใน www.consumerreports.org) กล่าวว่า กว่าร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถาม 1000 คน พยายามมองหาคำว่าธรรมชาติบนฉลากเมื่อต้องการซื้ออาหารสำเร็จรูป โดยที่สองในสามตีความสินค้าที่มีคำว่าธรรมชาติหมายถึงสินค้านั้นไม่มีองค์ประกอบที่เป็นสิ่งสังเคราะห์ ยาฆ่าแมลง และจีเอ็มโอ ในการสำรวจเดียวกันนั้นยังพบว่า 9 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นควรให้ติดฉลากอาหารที่มีองค์ประกอบที่เป็นจีเอ็มโอตามมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยที่กว่า 3 ใน 4 กล่าวว่าเรื่องนี้สำคัญมากสำหรับประชาชนที่ต้องหลีกเลี่ยงองค์ประกอบอาหารที่มาจากจีเอ็มโอ ในขณะที่ประเด็นนี้ทาง อย.มะกันไม่ได้รู้สึกร้อนรู้สึกหนาวในการจะบังคับให้มีการติดฉลากหรือสร้างมาตรฐานความปลอดภัย พฤติกรรมของ อย.มะกันเกี่ยวกับจีเอ็มโอนั้นเป็นที่สงสัยกันมาตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถเข้าไปดูบทความเรื่อง Monsanto Controls both the White House and the US Congress ที่ www.globalresearch.ca/monsanto-controls-both-the-white-house-and-the-us-congress/5336422 แล้วใช้วิจารณญานของแต่ละบุคคลคิดเองว่ามันเป็นอย่างไร สำหรับประเด็นความหมายของคำว่า ธรรมชาติ สำหรับ อย.มะกันแล้ว มันมีอะไรมากกว่าที่มนุษย์ธรรมดาคิด กล่าวคือ อย.ได้พิจารณาว่า คำๆ นี้น่าจะหมายถึง การไม่มีของเทียมหรือสารสังเคราะห์(ซึ่งรวมถึงสีที่ใช้ใส่ในอาหาร โดยไม่คำนึงถึงแหล่งที่มาของสี ทำให้น่าจะหมายความว่า แม้แต่แตงโมที่ถูกเอาสีจากกระเจี๊ยบทาให้ดูแดงฉ่ำกว่าเดิม แตงโมนั้นก็ไม่เรียกว่าเป็นอาหารธรรมชาติแล้ว) เป็นองค์ประกอบหรือถูกเติมลงไปในอาหารนั้น อย่างไรก็ดี ความหมายของธรรมชาติที่ อย.มะกันมองนั้น ไม่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตว่าใช้หรือไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช หรือขั้นตอนการผลิตใช้หรือไม่ใช้ความร้อนในการฆ่าเชื้อ หรือการฉายรังสี อีกทั้ง อย.มะกันก็ไม่ได้มองคำว่า ธรรมชาติ นั้นมีอะไรเกี่ยวข้องกับคุณค่าทางโภชนาการหรือสิ่งที่มีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ดังนั้นในปัจจุบัน อย.มะกันจึงพยายามมองหาผู้ร่วมอุดมการมาช่วยคิดว่า มันถึงเวลาแล้วในการกำหนดความหมายที่แน่นอนของคำว่า ธรรมชาติ และควรกำหนดด้วยวิธีใด อีกทั้งหน่วยงานนี้ก็ยังต้องการความเห็นว่า การใช้คำว่าธรรมชาติบนฉลากอาหารนั้นควรเป็นอย่างไรด้วย ความเห็นของผู้สนใจ(ชาวอเมริกัน)นั้นสามารถส่งให้ อย.มะกันได้ตั้งแต่ 12 พฤศจิกายน 2015 ถึง 10 กุมภาพันธ์ 2016 ซึ่งหลังจากนั้นก็คงรอกันอีกนานพอควรกว่าจะได้ข้อสรุปออกมาเป็นเรื่องเป็นราวให้ อย.ประเทศอื่นได้สำเนาไปใช้กัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 134 ฉลากอาหารกับความเข้าใจของผู้บริโภค

“ฉลากอาหาร” เปรียบเสมือนหน้าต่างของผลิตภัณฑ์ที่ทำให้สามารถมองเห็นผลิตภัณฑ์ภายในภาชนะบรรจุได้ โดยเป็นเครื่องมือของผู้ประกอบการในการสื่อสารข้อมูลแก่ผู้บริโภคและเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ เป็นเครื่องมือของหน่วยงานรัฐในการติดตามตรวจสอบคุณภาพอาหารและให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบว่า มีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจากกรณีการแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้องอยู่พอสมควร เช่น การไม่แสดงวันผลิต-วันหมดอายุ หรือแสดงแล้วแต่หาไม่เจอ ไม่แสดงชื่อผู้ผลิต-ผู้จำหน่าย การใช้ข้อความกล่าวอ้างคุณค่าให้เข้าใจผิดในสรรพคุณไปจากความเป็นอาหาร และการใช้คำแสดงส่วนประกอบที่ทำให้เข้าใจผิดถึงส่วนประกอบของอาหาร เป็นต้น ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่น่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบฉลากอาหารโดยทำให้เป็นมิตรต่อผู้บริโภคโดยทำให้เห็นชัด น่าอ่าน อ่านง่าย และเข้าใจง่ายมากขึ้น แต่ก่อนที่จะมีการปรับปรุงรูปแบบฉลากอาหารได้จะต้องมีการสำรวจข้อมูลการแสดงฉลากอาหารในปัจจุบันกันเสียก่อน ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงได้นำข้อมูลผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อฉลากอาหารมาฝากคุณผู้อ่านกัน   ข้อมูลการสำรวจ ฉลาดซื้อได้ร่วมกับโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภคดำเนินการสำรวจการรับรู้และความเข้าใจของผู้บริโภคที่มีต่อฉลากอาหารในสามประเด็น 1. รูปแบบฉลากโภชนาการ 2. วันผลิต/วันหมดอายุของอาหาร และ 3. ประเด็นการโฆษณาบนฉลากอาหาร การสำรวจนี้ได้รับความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามจากผู้บริโภคจำนวน 474 คนในทุกช่วงอายุ คละกลุ่มอาชีพและคละฐานการศึกษาจากแปดจังหวัดในสี่ภูมิภาคคือ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น เชียงใหม่ พะเยา สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ระหว่างช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2554   ผลการสำรวจ 1 การรับรู้ฉลากโภชนาการ ร้อยละ 83.5 ต้องการให้อาหารทุกประเภทต้องแสดงฉลากโภชนาการ ฉลากโภชนาการ คือ การแสดงข้อมูลคุณค่าทางอาหารของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ บนฉลากในรูปของชนิด และปริมาณของสารอาหารรวมไปถึงการใช้ข้อความ กล่าวอ้างทางโภชนาการ เช่น โปรตีนสูง เสริมวิตามินซี เป็นต้น การใช้ฉลากโภชนาการในปัจจุบันอยู่ในลักษณะการแสดงโดยสมัครใจสำหรับอาหารทุกชนิดทั่วไป แต่จะบังคับให้ อาหารที่มีการกล่าวอ้าง ต้องแสดงฉลากโภชนาการ ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่อาหารทุกชนิดต้องมีฉลากโภชนาการ เราถามผู้บริโภคเกี่ยวกับความเข้าใจฉลากโภชนาการ (ข้อมูลแสดงคุณค่าของอาหาร) ในสามรูปแบบคือ แบบการแสดงตัวเลขเป็นร้อยละโดยมีสีเดียวที่ อย. เพิ่งนำมาใช้ (Guideline Daily Amount: GDA)     แบบสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง (Traffic Light Labeling) และ แบบตารางแสดงคุณค่าโภชนาการตามปกติ   ผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 49.6 มีความพอใจในฉลากโภชนาการแบบ GDA ขณะที่ความพอใจที่มีต่อฉลากสีสัญญาณไฟจราจรนั้นอยู่ที่ร้อยละ 84.8 และเมื่อถามเปรียบเทียบระหว่างการใช้ฉลากทั้งสองรูปแบบพบว่าร้อยละ 24.3 ชื่นชอบ GDA ร้อยละ 64.8 ชื่นชอบแบบสีสัญญาณไฟจราจร และร้อยละ 5.7 ไม่ชอบทั้งสองแบบ โดยให้ข้อเสนอแนะว่าน่าจะนำทั้งสองรูปแบบมารวมกัน(มีผู้ไม่ตอบในข้อนี้อีกจำนวนร้อยละ 5.3) เมื่อถามว่าถ้ามีการใช้รูปแบบฉลากโภชนาการแบบใหม่ไม่ว่าจะเป็น GDA หรือ สีสัญญาณไฟจราจรแล้วจะต้องใช้รูปแบบฉลากโภชนาการแบบเดิมหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าจำเป็น แต่ต้องปรับรูปแบบให้เข้าใจง่ายขึ้นจำนวนร้อยละ 62.2 และมีผู้ที่ตอบว่าไม่จำเป็นจำนวนร้อยละ 33.5 โดยให้เหตุผลสองข้อคือ 1) เพราะไม่เคยอ่านฉลากโภชนาการรูปแบบเดิม จำนวนร้อยละ 67.5 และ 2) เพราะอ่านฉลากโภชนาการแบบเดิมไม่รู้เรื่องจำนวนร้อยละ 32.5 คำถามสุดท้ายในประเด็นนี้ ได้ถามถึงความจำเป็นในการแสดงฉลากโภชนาการในอาหาร พบว่า ร้อยละ 83.5 ต้องการให้อาหารทุกประเภทต้องแสดงฉลากโภชนาการ ร้อยละ 10.3 ให้แสดงเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างคุณค่าทางโภชนาการ และ ร้อยละ 1 ต้องการให้แสดงในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก โดยที่มีผู้ไม่ตอบในข้อนี้อีกจำนวนร้อยละ 5.7   2 ความเข้าใจเรื่องการโฆษณาบนฉลากอาหาร ร้อยละ 76.8 ตอบว่า โฆษณาบนฉลากมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ โดยทั่วไป พรบ. อาหาร พ.ศ. 2522 ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์อาหารของตนจะต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทุกครั้งแต่สำหรับการโฆษณาบนฉลากอาหารนั้นกลับไม่มีการบังคับทางกฎหมายว่าต้องส่งให้ อย. ตรวจสอบแต่อย่างใด ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนใช้ช่องว่างนี้ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนซึ่งบางครั้งก็เป็นข้อความที่เกินจริง โอ้อวดสรรพคุณ ทำให้เข้าใจผิดไปจากความเป็นอาหาร อีกทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองเนื้อที่บนฉลากทำให้ตัวหนังสือในส่วนอื่น ๆ ของฉลากที่มีความสำคัญมากกว่า เช่น วันผลิต-วันหมดอายุ ตารางโภชนาการ มีขนาดเล็กทำให้ไม่น่าอ่าน ดังนั้นหากมีการควบคุมดูแลด้านฉลากอาหารที่ดี โดยตัดเนื้อหาการโฆษณาที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ออกไปก็จะทำให้มีเนื้อที่บนฉลากมากขึ้นเพียงพอที่จะทำให้ฉลากอาหารน่าอ่านและอ่านง่าย   เมื่อส่งผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ตอบแบบสอบถามและให้หาโฆษณาบนฉลากอาหาร ร้อยละ 24.5 ตอบว่าไม่มีโฆษณา ขณะที่ร้อยละ 71.3 ตอบว่ามี อย่างไรก็ตาม จากการให้ผู้ตอบแบบสอบถามเขียนคำโฆษณาที่ตนเห็นลงในแบบสอบถามด้วย พบว่า กว่าครึ่งเข้าใจได้ถูกต้องถึงสิ่งที่ตนเขียนมา ขณะที่อีกกลุ่มใหญ่ไม่เข้าใจว่าการโฆษณาบนฉลากอาหารคืออะไร โดยที่กว่าครึ่งของผู้ที่ตอบว่ามีโฆษณาบนฉลากเข้าใจว่าการใช้คำกล่าวอ้างทางโภชนาการตามที่ อย. อนุญาต คือการโฆษณา บ้างคิดว่าชื่ออาหารเป็นโฆษณา และบางส่วนสับสนระหว่างการแสดงส่วนประกอบของอาหารกับการโฆษณา เมื่อถามว่าโฆษณาที่เห็นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อหรือไม่ ร้อยละ 76.8 ตอบว่ามี ร้อยละ 18.6 ตอบว่าไม่มีผล และร้อยละ 4.6 ไม่แสดงความคิดเห็น ซึ่งหมายความว่าคำบรรยายต่าง ๆ ที่เห็นบนฉลากไม่ว่าจะเป็นการกล่าวอ้างทางโภชนาการทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง และทั้งการโฆษณาโดยตรงบนฉลาก มีผลต่อการตัดใจของผู้บริโภคค่อนข้างสูง คำถามสุดท้ายของประเด็นว่าเห็นด้วยกับการมีโฆษณาบนฉลากอาหารหรือไม่ ร้อยละ 69 ตอบว่า เห็นด้วย และ ร้อยละ 26.8 ตอบว่า ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตามจากเหตุผลของผู้ที่เห็นด้วยที่บอกว่าการโฆษณาทำให้รู้สรรพคุณและส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้นทำให้สามารถเข้าใจได้ว่าผู้ที่ตอบว่าเห็นด้วยบางส่วนนั้นยังคงมีความสับสนและไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือคำกล่าวอ้างทางโภชนาการที่ อย. อนุญาต และอะไรคือการโฆษณาซึ่งเป็นสิ่งที่มิได้ระบุไว้ให้แสดงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องฉลาก 3 การรับรู้ของผู้บริโภคที่มีต่อการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ ร้อยละ 49.2 อยากเห็นฉลากอาหารแสดงทั้งวันผลิตและวันหมดอายุ --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- “ในทางกฎหมายคำว่า “วันหมดอายุ” ถือเป็นสัญญาที่ผู้ประกอบการให้กับผู้บริโภค ส่วนคำว่า “ควรบริโภคก่อน” ถือเป็นคำแนะนำของผู้ประกอบการที่มีต่อผู้บริโภค” นายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เมื่อถามผู้ตอบแบบสอบถามว่าเห็นวันผลิต-วันหมดอายุของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในมือหรือไม่ ร้อยละ 57.6 ตอบว่าเห็น ร้อยละ 7.4 ตอบว่า ไม่เห็น ร้อยละ 30.6 ตอบว่า เห็นแต่ใช้เวลาในการหานาน และส่วนที่เหลือไม่แสดงความคิดเห็น ซึ่งสัดส่วนที่ไม่ต่างกันมากของทั้งสามคำตอบและเมื่อรวมผู้ที่ตอบว่าไม่เห็นกับผู้ที่ตอบว่าเห็นแต่ใช้เวลาในการหานานแล้วนั้นสัดส่วนขยับมาเป็นร้อยละ 57.6 ต่อ ร้อยละ 38 สำหรับคำถามที่ว่าพอใจกับการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุที่เห็นอยู่แค่ไหน ได้รับคำตอบว่า พอใจ ร้อยละ 52.7 ไม่พอใจ ร้อยละ 42.8 และไม่แสดงความคิดเห็นอีกร้อยละ 4.4 จากการตอบแบบสอบถาม แสดงว่าการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบันค่อนข้างมีปัญหา และควรที่จะมีการปรับปรุงรูปแบบ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อถามความเข้าใจเรื่องวันหมดอายุว่า คำว่า “วันหมดอายุ” เหมือนหรือต่างอย่างไรกับคำว่า “ควรบริโภคก่อน” พบว่า ร้อยละ 47.3 ตอบว่า เหมือนกัน ร้อยละ 48.1 ตอบว่า ต่างกัน และร้อยละ 4.6 ไม่ตอบ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความเข้าใจเรื่องวันผลิต-วันหมดอายุของผู้บริโภคยังคงเป็นปัญหาและตามมาซึ่งคำถามว่าปัญหานี้เกิดจากอะไร ระหว่าง การใช้คำที่สร้างความสับสนให้เหมือนว่าใช้แทนกันได้ทั้งที่ควรจะมีการบังคับทางกฎหมายต่างกัน หรือความเข้าใจพื้นฐานของผู้บริโภคน้อย หรือ ระบบไม่ต้องการให้คนเข้าใจได้ กันแน่ ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงรูปแบบการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุที่อยากเห็น เราได้รับคำตอบว่า ร้อยละ 49.2 อยากเห็นการแสดงทั้งวันผลิตและวันหมดอายุโดยให้มีแต่คำว่า “วันหมดอายุ” เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องมีคำว่า “ควรบริโภคก่อน” มาเป็นตัวเลือกของผู้ประกอบการ ขณะที่ร้อยละ 29.5 ต้องการแบบเดียวกับข้อแรกแต่ให้เปลี่ยนจากคำว่า “วันหมดอายุ” มาเป็น “ควรบริโภคก่อน” แต่อย่างเดียว ซึ่งจากสัดส่วนที่ออกมาเห็นได้ชัดเจนว่าผู้บริโภคไม่อยากเห็นการแสดงคำที่สร้างความสับสนอย่างคำว่าว่า “วันหมดอายุ” และ “ควรบริโภคก่อน” ไว้ด้วยกันโดยให้เป็นตัวเลือกของผู้ประกอบการ หากแต่ต้องการความชัดเจนอย่างใดอย่างหนึ่งไปเลย --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ความหมายและความสำคัญของฉลากอาหาร “ฉลากอาหาร” คืออะไร? บางคนตอบว่ากระดาษ/พลาสติกที่มีตัวหนังสือพิมพ์ติดอยู่ข้างขวด บ้างก็ตอบว่าลวดลายและตัวอักษรที่ติดอยู่บนซองขนม และอีกหลายคนตอบว่าข้อความบรรยายสรรพคุณของอาหาร ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ คือ ถูกทุกข้อ โดยตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ให้คำนิยามไว้ว่าคือ “รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใด ๆ ที่แสดงไว้ที่อาหาร ภาชนะบรรจุอาหารหรือหีบห่อของภาชนะบรรจุอาหาร” และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 194 พ.ศ. 2543 เรื่องฉลากอาหารได้กำหนดให้อาหารทุกชนิดที่ผู้ผลิตไม่ได้เป็นผู้ขายอาหารนั้นให้กับผู้บริโภคโดยตรงต้องแสดงฉลากบนภาชนะบรรจุ โดยกำหนดให้แสดงข้อมูลที่สามารถแบ่งกลุ่มตามวัตถุประสงค์การแสดงได้เป็น 4 กลุ่มได้แก่ ข้อมูลความปลอดภัย ประกอบด้วย วันที่ผลิต/หมดอายุ วิธีการเก็บรักษา วิธีปรุง และคำเตือนต่างๆ ข้อมูลความคุ้มค่า ประกอบด้วย ชื่อ/ประเภทของอาหาร ส่วนประกอบซึ่งเรียงลำดับตามปริมาณที่ใช้จากมากไปน้อย และปริมาณอาหาร (น้ำหนักหรือปริมาตร) ในภาชนะบรรจุ ข้อมูลเพื่อการโฆษณา ได้แก่ รูปภาพและข้อความกล่าวอ้างต่าง ๆ  และ ข้อมูลเพื่อแสดงความเชื่อมั่น ได้แก่ ยี่ห้ออาหาร ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต ผู้จำหน่ายหรือผู้นำเข้า เครื่องหมาย อย.  และตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 กระแสต่างแดน

ยังไม่พร้อมความพร้อมในการอพยพผู้อยู่อาศัยในบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าเซนได(ซึ่งคาดว่าจะกลับมาใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม) ยังคงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยของญี่ปุ่นทั้งประเทศการสำรวจโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮีพบว่า มีสถานพยาบาล 2 แห่งจาก 85 แห่ง และศูนย์พักฟื้น 15 แห่ง จาก 159 แห่งในรัศมี  30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวเท่านั้นที่เตรียมพร้อมแผนอพยพในกรณีฉุกเฉินถ้ารวมความพร้อมในเขตโรงงานนิวเคลียร์ทั้งประเทศจะพบว่า มีเพียงร้อยละ 34 เท่านั้นจัดทำแผนอพยพแล้ว ในปี 2012 รัฐบาลญี่ปุ่นขยายเขตการเตรียมตัวเมื่อเกิดภัยพิบัติ จากรัศมี 8 – 10 กิโลเมตรเป็น 30 กิโลเมตร และกำหนดให้สถานพยาบาลต่างๆ ระบุสถานที่พักสำหรับคนไข้ เส้นทางการอพยพ รูปแบบการเดินทางขนส่งที่จะใช้ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการอพยพผู้ป่วยและชาวบ้านเหมือนเหตุการณ์ที่เมืองฟุกุชิมะนอกจากนี้ยังกำหนดให้เมืองและหมู่บ้าน 135 แห่งในรัศมี 30 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้าทุกโรง รวบรวมรายชื่อผู้ที่ไม่สามารถอพยพด้วยตนเองได้เอาไว้ด้วย แต่การสำรวจพบว่า 1 ใน 4 ของหมู่บ้านเหล่านี้ยังไม่ได้ทำ ปัจจุบันเตาปฏิกรณ์ปรมาณูทุกตัวในญี่ปุ่นถูกพักงาน แต่บริษัทคิวชู อิเล็กทริก พาวเวอร์ กำลังผลักดันให้เซนไดเป็นโรงงานแรกที่เริ่มใช้งานเตาดังกล่าวอีกครั้ง ภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น และในอนาคตอัน โรงไฟฟ้าทากาฮามาและโรงไฟฟ้าอิคาตะก็จะเริ่มเดินเครื่องเตาเหล่านี้เช่นกัน   ระวัง “ของนอก” อาหารปลอมจากจีนระบาดไปหลายประเทศ จึงไม่แปลกที่เราจะได้ยินข่าวว่าคนจีนก็ไม่ไว้ใจอาหารในประเทศตัวเองผู้ประกอบการหลายเจ้าจึงไม่ยอมพลาดโอกาสจัดหาสินค้าแบรนด์นอกเข้ามาสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการอาหาร “ปลอดภัยและมีคุณภาพ”  นมผงสำหรับทารกเป็นหนึ่งในสินค้าที่ว่า บรรดาผู้ผลิตนมผงยี่ห้อที่ได้รับความน่าเชื่อถือในต่างประเทศต้องกำหนดโควตาการส่งออกไปยังประเทศจีน เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนในประเทศตัวเอง แม้แต่นักท่องเที่ยวที่ถือโอกาสไปหิ้วมาด้วยตนเองก็เริ่มพบอุปสรรค เพราะต้นทางเขาจำกัดจำนวนซื้อ (ฮ่องกงอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนซื้อได้คนละ 2 กระป๋อง ออสเตรเลียให้ซื้อได้คนละ 4 กระป๋อง) โอกาสใหม่สำหรับพ่อค้าหัวใสจึงบังเกิด เขาเอาใจผู้นิยมของนอกด้วยการ “จ้าง” โรงงานในประเทศที่มีชื่อเสียงด้านผลิตภัณฑ์นม อย่างออสเตรเลีย เป็นผู้ผลิตให้ บนกระป๋องมีฉลากที่ระบุว่า “มาจากออสเตรเลีย” และ “ได้รับการรับรองโดยหน่วยงานที่ดูแลผลิตภัณฑ์นมของออสเตรเลีย” แล้วขายออนไลน์ในราคาถูกจนไม่น่าเชื่อขนาดรวมค่าจัดส่งแล้ว นมผงกระป๋องขนาด 1,800 กรัม ราคาประมาณ 600 บาทเท่านั้นมันเป็นสินค้า “จากออสเตรเลีย” ที่คุณหาซื้อไม่ได้ในออสเตรเลียแน่ๆ แล้วก็ได้แต่สงสัยว่ามัน “ผลิตในออสเตรเลีย” จริงหรือเปล่า  อยากรู้ ต้องได้รู้กฎหมายที่กำหนดให้ไม่ต้องมีการติดฉลากอาหารที่มีส่วนประกอบผ่านการดัดแปรพันธุกรรม หรือ  Safe and Accurate Food Labeling Act กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาโดยวุฒิสภาอเมริกันเร็วๆ นี้ร่างกฎหมายนี้มีคนตั้งชื่อให้ว่า DARK Act หรือ Denying Americans the Right–to-Know Act เพื่อประชดที่กฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิที่ผู้บริโภคจะได้รู้ว่ามีอะไรอยู่ในอาหารที่พวกเขารับประทาน Just Label It หนึ่งในองค์กรที่คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวระบุว่า ร้อยละ 90 ของคนที่พวกเขาสอบถาม เห็นด้วยกับการติดฉลาก และยังมีอีกกว่า 200,000 คนที่ลงชื่อออนไลน์ว่าไม่เห็นด้วยกับ “พรบ. มืด” ดังกล่าว ดาราสาวกวินเน็ธ พาลโทรว์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอมาร่วมประท้วงในฐานะคุณแม่ที่ต้องการให้ลูกๆได้สิ่งที่ดีและสมควรได้รู้ว่าเธอกำลังให้พวกเขารับประทานอะไร  คุณแม่ของเธอก็มาด้วยเพราะเชื่อว่ายังมีเรื่องที่ต้องพิสูจน์อีกมากเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารดัดแปรพันธุกรรม ด้านอุตสาหกรรมอาหารอ้างว่า การติดฉลากจะทำให้ผู้บริโภคสับสน แถมยังต้องจ่ายเงินมากขึ้นถึงปีละ 500 เหรียญ (17,500 บาท) ต่อครัวเรือน แถมยังแขวะดาราสาวว่าหาเรื่องเกาะกระแสแก้ตกเทรนด์หรือเปล่า    ปัจจุบัน จีน บราซิล รัสเซีย ออสเตรเลีย ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ รวม 64 ประเทศ มีกฎหมายบังคับการติดฉลากระบุว่ามีส่วนผสมที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรมแล้ว    โดนเรียกคุยหลังจากชาวเน็ตในสิงคโปร์พากันแชร์รูปพนักงานร้าน BreadTalk เทนมถั่วเหลืองยี่ห้อ Yeo’s ลงในขวดแบ่งของทางร้าน ที่ติดฉลากว่า “freshly prepared” (ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าทางร้านทำเองทุกวัน)ทางร้านออกมาขอโทษและหยุดขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว BreadTalk ยอมรับว่าเขาแบ่งนมถั่วเหลืองพาสเจอไรส์ยี่ห้อเย่วอี้มาใส่ขวดขายในร้านจริง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ร้านอาหารนิยมทำ(แต่ร้านอื่นเขาไม่ได้ติดฉลากที่ว่านะคุณ)ร้านให้เหตุผลว่าปกติแล้วขวดเหล่านั้นเป็นขวดสำหรับใส่น้ำผลไม้คั้นสด ไม่ได้ใช้สำหรับนมถั่วเหลือง และจะดูแลไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก  แต่นั่นยังไม่เพียงพอ สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์ CASE – Consumers Association of Singapore บอกว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และเรียกร้านขนมปังเจ้าดังสัญชาติสิงคโปร์ (ซึ่งมีสาขาอยู่ในบ้านเราด้วย) เข้ามาพูดคุยปรับความเข้าใจเนื่องจากฉลากทำให้เข้าใจได้ว่าทางร้านเป็นผู้ผลิตนมถั่วเหลืองเองทุกวัน ซึ่งสอดคล้องกับการมีราคาสูงกว่านมถั่วเหลืองที่เทจากกล่อง ผู้บริโภคจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าวได้   บอลลิวูดลดโลกร้อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้พลังงานมหาศาลและสร้างผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางของทีมงาน นักแสดง การใช้แสง สี เสียง และเอฟเฟคต่างๆ รวมถึงอาหารการกิน ไหนจะวัสดุต่างๆที่นำมาสร้างฉากอีก ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้เกิด “รอยเท้าคาร์บอน” ภาพยนตร์เรื่อง “Aisa Yeh Jahaan” เป็นภาพยนตร์อินเดียเรื่องแรกที่มีการบันทึกข้อมูลรอยเท้าคาร์บอน การถ่ายทำภาพยนตร์ดรามาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเรื่องนี้ สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 78.47 ตัน คิดจากการใช้พลังงานทั้งทางตรง (ไฟฟ้าที่ใช้) และทางอ้อม (อาหาร การเดินทาง ฯลฯ)  เพื่อเป็นการชดเชยมลพิษที่สร้างขึ้น ผู้สร้างต้องปลูกต้นไม้ทั้งหมด 560 ต้น แนวทางการวัดและจัดการร้อยเท้าคาร์บอนสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ถูกกำหนดขึ้นโดยสมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์ BAFTA ของอังกฤษ และ PGA ของอเมริกา ที่ผ่านมาพบว่าหนังค่ายเล็กๆ จะสร้างคาร์บอนฯประมาณ 100 ตัน แต่ถ้าเป็นหนังฟอร์มยักษ์ ก็อาจสร้างคาร์บอนฯ ได้มากถึง 10,000 ตันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของลอนดอนเจ้าเดียวก็ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 125,000 ตัน ต่อปี (เทียบเท่ากับปริมาณจากบ้าน 24,000 หลังเลยทีเดียว)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 กระแสต่างแดน

ได้เวลาตัดสัญญาณ ปัจจุบันประเทศเคนยามีผู้ใช้มือถืออยู่ประมาณ 29 ล้านคน แต่มือถือที่ชาวบ้านร้านตลาดถือกันอยู่นั้น มีไม่น้อยที่เป็น “เครื่องปลอม” หรือเครื่องที่หมายเลขอีมี่ไม่ปรากฏในฐานข้อมูลระหว่างประเทศ พูดง่ายๆ คือมือถือประเภทที่แอบหิ้วเข้ามาขายกันเองจากจีน ไนจีเรีย หรือ อัฟริกาใต้นั่นแหละ รัฐบาลเคนยาตัดสินใจเด็ดขาด ให้บรรดาผู้ประกอบการทั้ง 4 เจ้า ระงับการให้สัญญาณกับ ”เครื่องปลอม” ที่ว่านั้นทันทีหลังเที่ยงคืนวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา (ข่าวบอกว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลประกาศเลื่อนเวลาการตัดสัญญาณไปแล้ว 3 ครั้ง) รัฐบาลเขาบอกว่า “เครื่องปลอม” นั้นเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติและของบุคคลทั่วไป เพราะโทรศัพท์พวกนี้ทำให้ประสิทธิภาพของเครือข่ายลดลง และยังอาจถูกนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมด้วย ผู้ประกอบแต่ละรายมีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป ซาฟารีคอมมีลูกค้าได้รับผลกระทบถึง 670,000 คน ตามด้วยแอร์เทลเคนยา 100,000 คน เทเลคอมออเรนจ์ 20,000 คน และยูโมบายอีก 45,000 คน ทางออกของผู้บริโภคคือต้องไปซื้อเครื่องใหม่มาใช้ก่อนกำหนดตัดสัญญาณดังกล่าว   รวมๆ แล้ว มีเลขหมายที่ถูกตัดสัญญาณทั้งหมด 800,000 เลขหมาย (รวมซิมการ์ดแบบไม่จดทะเบียนด้วย) ทั้งนี้ กสทช. ของเคนยา บอกว่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการตัดสัญญาณให้กับผู้ประกอบการ แต่ไม่ได้บอกว่าผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยอย่างไร หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่โทรศัพท์ “ปลอม” สามารถผ่านชายแดนเข้ามาขายในประเทศได้ ก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐเช่นกัน เพราะผู้บริโภคทั่วไปจะไปตรวจสอบหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์ด้วยตนเองได้อย่างไรกัน บอลจบ คนยังจบไม่ได้ ชาวฉลาดซื้อคงยังจำกันได้ว่าเมื่อ 2 ปีก่อน ทีมนักเตะจากสเปนได้ตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลโลก (World Cup 2010) ไปครอง สำหรับพวกเราที่นี่พอได้รู้ว่าใครเป็นแชมป์ก็บ้านใครบ้านมัน แต่จนถึงวันนี้ มีผู้บริโภคชาวสเปนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าเกมนี้ยังไม่จบ คนเหล่านี้คือผู้บริโภคที่ซื้อโน้ตบุ้ค และเครื่องรับโทรทัศน์ ยี่ห้อทอม ทอม และโตชิบา รุ่นที่โฆษณาในช่วงก่อนและขณะที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศอัฟริกาใต้ว่า “ถ้าสเปนได้แชมป์ พวกเขาจะสามารถมาขอเงินคืนได้ทันที” ผ่านไปแล้ว 2 ปี บางคนก็ยังไม่ได้เงินคืน แต่ได้รับคำตอบจากบริษัททั้งสองแห่งว่า เป็นเพราะพวกเขาไม่ได้เข้าไปลงทะเบียนในเว็บไซต์หลังการซื้อ (แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้บอกไว้ชัดเจนในโฆษณา) องค์กรผู้บริโภค FACUA ของสเปนบอกว่าขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาท่วมท้น และทีมกฎหมายขององค์กรก็กำลังเตรียมที่จะฟ้องบริษัทอยู่ เนื่องจากโฆษณาที่ว่านั้นเข้าข่ายทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด ซึ่งเป็นตามมาตรา 5 ของ พรบ.การค้าที่เป็นธรรม ของสเปน ความจริงโฆษณานี้ก็มีในประเทศอื่นในยุโรปด้วยเช่นกัน ทอม ทอม ทำโฆษณาใน 8 ประเทศ ในขณะที่โตชิบาก็โฆษณาใน เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี สเปน และโปรตุเกส แต่ไม่เป็นปัญหาที่ประเทศอื่นเพราะประเทศเหล่านั้นไม่ได้แชมป์   อาหารกลางวันเยอรมนี เดือนที่แล้วนักเรียนกว่า 11,000 คนในเยอรมนีตะวันออก (เบอร์ลิน แบรนเดนเบิร์ก แซ็กโซนี เทอริงเกีย)  ต้องล้มป่วยลงด้วยอาการอาหารเป็นพิษ สาเหตุเบื้องต้นคาดว่าน่าจะมาจากชุดอาหารกลางวันที่มีสตรอเบอรี่แช่แข็งเป็นของหวานอยู่ด้วย ระบบอาหารกลางวันที่โน่นเขาใช้การจ้างบริษัทเอกชนจัดส่งให้ตามโรงเรียน สถาบันควบคุมและป้องกันโรค สถาบันประเมินความเสี่ยง และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของที่นั่น สันนิษฐานว่าโรงเรียนที่มีเด็กป่วยเหล่านี้ น่าจะได้รับอาหารจากบริษัทที่ชื่อ โซเด๊กโซ เหมือนกัน  และสาเหตุน่าจะมาจากไวรัสที่แฝงตัวมาในอาหาร อย่าง โนโรไวรัส โซเด๊กโซ ยืนยันว่ามีเพียงร้อยละ 5 ของโรงเรียนที่เขาส่งอาหารให้เท่านั้นที่มีนักเรียนมีอาการอาหารเป็นพิษ แต่ข่าวล่าสุด ระบุว่าโซเด๊กโซยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด (แต่ไม่ได้เปิดเผยตัวเลข) เนื่องจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากบริษัทที่มารับช่วงการผลิตนั่นเอง นายกผู้ประกอบการอาหารโรงเรียนแห่งเบอร์ลินและแบรนเดนเบิร์ก บอกว่าเขาไม่แปลกใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะราคาวัตถุดิบแพงขึ้นในขณะที่งบช่วยเหลือที่รัฐบาลให้กับพวกเขาก็น้อยลง เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ 6 รายร่วมกันหยุดส่งอาหารตามโรงเรียนจนกว่าเทศบาลจะอนุมัติเพิ่มเงินช่วยเหลือ งานวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ก็ระบุว่ารัฐจะต้องเพิ่มงบประมาณอีกอย่างน้อย 1 ยูโรต่อหัว จึงจะสามารถมีอาหารกลางวันที่ดีตามมาตรฐานของสมาคมโภชนาการแห่งเยอรมนีให้กับเด็กนักเรียนได้ ปัจจุบันงบอาหารกลางวันอยู่ที่ประมาณ 2.50 ยูโรต่อหัว (99 บาท) แต่เขาบอกว่าถ้าจะให้ดีต้องมีถึง 3.17 – 4.25 ยูโรต่อหัว (126 – 168 บาท)     นายก (อียิปต์) หยุดได้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าต่างประเทศของอียิปต์ กำลังเล็งจะรื้อฟื้นการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 10 ของ พรบ. คุ้มครองการแข่งขันและป้องกันการผูกขาดทางการค้าขึ้นมาอีกครั้ง กลุ่มประชาชนต่อต้านการขึ้นราคาสินค้า (Citizens Against Price Rise Association CAPRA) สนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าวเต็มที่ เพราะกฎหมายดังกล่าวระบุให้นายกรัฐมนตรีมีสิทธิกำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ ในยามจำเป็นหรือเมื่อประเทศเกิดวิกฤติ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าอียิปต์จะกลับไปใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบเผด็จการ ที่กำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิดเหมือนในอดีต เขาแค่ต้องการจัดระเบียบการค้าและป้องกันผู้บริโภคจากผู้ค้าบางรายที่อาศัยช่วงชุลมุนมาผูกขาดราคาสินค้า หลังเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 และเหตุการณ์ต่อเนื่องหลังจากนั้น กลุ่ม CAPRA บอกว่ารัฐบาลปฏิบัติต่อนักธุรกิจพวกนี้ราวกับว่าพวกเขาเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นหลักและใส่ใจความเดือดร้อนของคนในสังคม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วผู้ค้าเหล่านั้นไม่ได้มีความรับผิดชอบถึงระดับนั้น ข่าวบอกว่า ราคาสินค้าที่สูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทานแต่อย่างใด แต่เป็นผลพวงจากการคอรัปชั่นในช่วงการปกครองของนายมูบารัคนั่นเอง    ยักษ์ใหญ่ยอมแล้ว ในที่สุดห้างยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของอังกฤษอย่างเทสโก้ก็ยินยอมที่จะใช้ฉลากอาหารระบบไฟจราจร เหมือนห้างอื่นๆ ในประเทศเสียที เทสโก้บอกว่าได้ทำการสำรวจความเห็นของลูกค้าแล้วพบว่า พวกเขาชอบฉลากแบบไฟจราจรที่แสดงให้เห็นกันไปเลยว่าอาหารดังกล่าวมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือ เกินไปหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็ชอบฉลากแบบ GDA ที่ให้ข้อมูลละเอียดเป็นร้อยละด้วย เลยตัดสินใจจะใช้ฉลากระบบ “ลูกครึ่ง” ที่มีทั้งสองอย่างด้วยกัน ความจริงแล้ว ก่อนหน้านี้ห้างอื่นๆ (Sainsbury, Mark & Spencer, Asda) เขาเปลี่ยนมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว อีกสองห้างได้แก่ Lidl และ Aldi ก็เปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน และข่าวล่าสุดห้าง Morrisons ก็เปลี่ยนแล้วเช่นกัน องค์กรมาตรฐานอาหารของอังกฤษ ระบุว่าฉลากไฟจราจร จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพและจัดการไขปัญหาโรคอ้วนของคนอังกฤษได้ดีที่สุด ข้ามฝั่งมาดูทางอเมริกาเขาบ้าง บริษัทน้ำอัดลม โค้ก เป๊ปซี่ และดร.เปปเปอร์ กำลังจะเปิดตัวตู้ขายน้ำอัดลมอัตโนมัติที่จะแจ้งปริมาณแคลอรี่ ให้ทราบก่อนลูกค้าจะตัดสินใจซื้อ โดยจะเริ่มจากตึกราชการในเมืองชิคาโก และซานอันโตนีโอ และจะใช้ตู้ดังกล่าวทั่วประเทศในปี 2556

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 กระแสต่างแดน

ทำเองใช้เอง จะมีสักกี่คนที่รู้จักเมือง อีสต์ ลิเวอร์พูล บนฝั่งแม่น้ำโอไฮโอ ก่อนหน้านี้เคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ “จัดโต๊ะอาหารให้กับอเมริกา” ด้วยโรงงานถ้วยชามในเมือง ที่มีถึง 48 แห่ง แต่ปัจจุบัน เศรษฐกิจที่นี่แตกสลาย ไม่ต่างอะไรกับถ้วยชามที่ถูกทำหล่น เมืองนี้กลายเป็นจุดอับของอเมริกา ประชากร(ซึ่งมีทั้งหมด 11,000 คน) มีรายได้เฉลี่ยเพียง 1 ใน 3 ของรายได้ของผู้คนในรัฐโอไฮโอทั้งหมด คนส่วนใหญ่ข้ามแม่น้ำไปหางานทำในคาสิโน ในเวอร์จิเนียตะวันตก บ้างก็ไปทำงานที่สนามบินพิทส์เบิร์ก อัตราว่างงานที่นี่สูงถึงร้อยละ 10 โรงงานเซรามิกก็เหลืออยู่เพียง 2 เจ้าเท่านั้น หนึ่งในนั้นได้แก่ The American Mug and Stein เกือบจะปิดตัวลงเมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา   ที่ว่า “เกือบ” ก็เพราะ อูลริค โฮนิกเฮาเซน เจ้าของบริษัทเฮาเซนแวร์ ในคาลิฟอร์เนีย ที่เป็นผู้จัดหาเครื่องถ้วยชามเซรามิกให้กับห้างค้าปลีกรายใหญ่ๆ มีแผนจะให้โรงงานนี้ผลิตถ้วยส่งให้กับร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ถ้วยดังกล่าวจะเริ่มวางขายในสาขาต่างๆ ทั่วอเมริกา ในเดือนมิถุนายน ภายใต้แบรนด์ Indivisible ที่เป็นโครงการสร้างงานให้กับคนอเมริกัน ของสตาร์บัคส์นั่นเอง นี่เป็นตัวอย่างการตอบสนองเสียงเรียกร้องให้ผู้ประกอบการทั้งได้มีส่วนช่วยกันแก้ปัญหาการว่างงานในอเมริกา บริษัท GE ก็ตั้งโรงงานเพิ่มอีก 2 แห่งเพื่อผลิตแบตเตอรี่คุณภาพสูง ที่แต่ก่อนเคยสั่งผลิตจากจีน ทำให้มีคนว่างงานน้อยลงไปอีก 800 คน เป็นต้น เรื่องนี้เป็นไปได้ด้วยหลายปัจจัย ตั้งแต่ค่าแรงในสหรัฐฯ ที่ลดลง ในขณะที่ค่าแรงในจีนแพงขึ้น นอกจากนี้ระยะทางและเวลาในการขนส่งที่น้อยกว่าก็มีส่วนจูงใจผู้ประกอบการไม่น้อย (เช่น ถ้าสั่งทำถ้วยที่อีสต์ ลิเวอร์พูล จะใช้เวลารอเพียง 4 วัน ถ้าสั่งจากจีนจะต้องรอถึง 3 เดือน เป็นต้น)   จับไป .. อย่าให้เสีย นักวิชาการเขาบอกว่า ถ้าเราเรียนรู้ที่จะกินปลาชนิดใหม่ๆ กันบ้าง เราจะสามารถรอดพ้นจากวิกฤติอาหารได้ อย่างน้อยๆ ก็ที่ทะเลเหนือ ที่แต่ละปีมีการทิ้งปลาที่จับขึ้นมาได้กลับลงทะเลไป ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน ด้วยวิธีการทำประมงแบบปัจจุบัน ทำให้ชาวประมงมักจะได้ปลาที่ไม่ได้ตั้งใจจับ (เพราะมันนำมาขายใครไม่ได้) ขึ้นมาด้วยเสมอ สถิติบอกว่ามีปลาที่ถูกจับผิดตัวอยู่ประมาณร้อยละ 50 แถมบางประเทศยังมีกฎหมายห้ามจับปลาบางชนิด หรือไม่ก็มีโควตาห้ามจับปลาบางชนิดเกินปริมาณ ก็ต้องจัดการทิ้งปลาพวกนี้ไปซะก่อนจะถึงฝั่ง คำถามคือ ทำไมเราต้องเลือกด้วย? การนำปลาที่ว่ามากินเป็นอาหาร ย่อมดีกว่าปล่อยพวกมันกลับลงทะเลไป รอเวลาสิ้นลม เสียของเปล่าๆ นอกจากเรื่องภาวะเศรษฐกิจ เรื่องฟุตบอลแล้ว ระยะนี้สมาชิกสหภาพยุโรปก็กำลังถกเถียงกันว่าจะประกาศห้ามการจับปลาแบบทิ้งๆ ขว้างๆ นี้ดีหรือไม่ นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ค แบนไปแล้ว ในขณะที่ สก็อตแลนด์ ฝรั่งเศส โปรตุเกส และโปแลนด์อยู่ฝ่ายที่ยังไม่ค่อยจะเห็นด้วย นักวิชาการยืนยันว่าต้องแบนเท่านั้นยุโรปถึงจะมีทางรอด และมีปลาบริโภคกันอย่างพอเพียงในอนาคต     ผู้ดีเชิดใส่วันหมดอายุ สิ่งที่สำคัญที่สุดบนฉลากอาหารสำเร็จรูปคือ วันหมดอายุ แต่พักหลังๆ นี่ผู้บริโภคชาวอังกฤษดูเหมือนจะใส่ใจกับมันน้อยลง ต้องกินให้หมด แม้มันจะเสี่ยง องค์การมาตรฐานอาหารของอังกฤษเขาทำสำรวจพบว่าร้อยละ 97 ของผู้บริโภคเชื่อว่าราคาอาหารนั้นเพิ่มขึ้นมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา(ข่าวไม่ได้บอกว่านายกอร์ดอน บราวน์ สั่งการให้บรรดา รมต.ไป เดินตลาดสำรวจราคาด้วยตนเองหรือเปล่านะ) และเมื่อถามว่าผู้บริโภคมีมาตรการที่จะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร ร้อยละ 47 บอกว่าตนเองใช้วิธี “บริการจัดการ สต๊อค” หรือพูดอีกอย่างคือเก็บของเหลือในตู้เย็นกินให้เกลี้ยงนั่นแหละ ปัญหามันอยู่ที่เขากินทุกอย่างแม้จะเลยวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลาก คือถ้าดูแล้วยังหน้าตาเหมือนเดิม กลิ่น ยังไม่เปลี่ยน หรือจำได้ว่าเอาใส่ตู้เย็นไว้ไม่นาน ก็เป็นอันว่าลงมือกินได้ แต่ทางการเขาเป็นห่วง เพราะผู้ดีเหล่านี้ลืมใช้วิจารณญาณในการกินไปนิด เพราะอันตรายบางอย่างนั้นไม่สามารถบอกได้ด้วยลักษณะภายนอก เช่น คุณไม่มีทางดมดูแล้วรู้ว่าอาหารนั้นมี อีโคไล หรือซัลโมเนลลา เด็ดขาด ข่าวเขาฝากเตือนมาว่าใครก็ตามที่ไปลอนดอนเพื่อดูกีฬาโอลิมปิกในปีนี้ อย่าลืมสังเกตดูว่ารถเข็นขายอาหารที่เข้าไปรุมซื้อนั้นมีใบอนุญาตและผ่านการตรวจสอบหรือไม่ อาหารเป็นพิษขึ้นมาจะเชียร์กีฬาไม่สนุกซะเปล่าๆ     อีบุ๊คส์ บุกโรงเรียนฮ่องกง ฮ่องกงก็เป็นอีกที่ๆ มีปัญหาเรื่องราคาหนังสือเรียนแพงเหลือหลาย ปีที่แล้ว ก็ออกประกาศห้ามโรงเรียนใช้ระบบการรับแจกคู่มือครูฟรีจากสำนักพิมพ์ เพื่อแลกกับการขายหนังสือฉบับนักเรียนในราคาที่สูงกว่าปกติ แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป รมต.ศึกษาธิการของที่นั้นจึงหันมาชงข้อเสนอให้รัฐส่งเสริมการพัฒนาหนังสือในรูปแบบอิเลคทรอนิกส์แทน เขาบอกว่าตั้งแต่ปีการศึกษาหน้าเป็นต้นไป โรงเรียนประถมและมัธยมในฮ่องกง อย่างน้อย 50 โรงจะเปลี่ยนจากหนังสือในรูปแบบดั้งเดิมมาเป็นอีบุ๊คส์ทั้งหมด ทั้งนี้กำลังรอให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 50 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 200 ล้านบาท) ให้มหาวิทยาลัยและองค์กรไม่แสวงหากำไรนำไปเป็นทุนพัฒนาอีบุ๊คส์เล่มใหม่ๆ ขึ้นมาให้ตอบสนองกับหลักสูตรในโรงเรียนมากขึ้น ที่น่าสนใจคือ เขาบอกว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการอ่านอีบุ๊คส์นั้น ไม่จำเป็นต้องมีกันคนละเครื่อง เด็กๆ สามารถใช้อุปกรณ์ร่วมกันเป็นกลุ่มได้ จะได้แบ่งเบาภาระของผู้ปกครองด้วย ไม่น่าเชื่อว่าฮ่องกงที่รวยขนาดนั้น เขาไม่แจกแท็บเล็ตให้เด็กคนละเครื่องเหมือนที่เมืองไทยหรอกหรือนี่     รักคงยังไม่พอ โคลเอตต้า ผู้ผลิตช็อคโกแล็ต สัญชาติสวีเดน โฆษณาว่าในซองขนมหวานรสช็อคโกแลต Mini Plopp ของเขาจะมีถ้อยคำ 4 คำบรรจุอยู่: LOVE HUG KISS และ JOY บรรยากาศรักนะจุ๊บๆ นี้ควรจะทำให้ทุกฝ่ายรื่นรมย์ แต่ปรากฏการณ์รักคุดก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อผู้บริโภคชาวสวีเดนรายหนึ่งร้องเรียนต่อองค์กรผู้บริโภค Konsumentverket ว่าเธอไม่ได้รับความเป็นธรรม(หรือจะบอกว่าไม่ได้รับความรักดี?) จากโคลเอตต้า เพราะเธอลงทุนไปซื้อ Mini Plopps มาหลายห่อ เพื่อนำมาใช้ในงานแต่งของเธอ ซึ่งคิดมาแล้วว่าจะต้องอบอวลไปด้วยความรัก แต่ปรากฏว่าไม่ว่าจะเปิดสักกี่ซอง แขกเหรื่อทั้งหลายรวมทั้งตัวเธอเองก็ยังไม่พบคำว่า LOVE และ JOY เสียที เมื่อสืบสาวราวเรื่องไปก็พบว่าเกิดความผิดพลาดขึ้นในกระบวนการผลิต ทำให้โรงงานใส่แต่คำว่า HUG และ KISS ลงไปในซองเท่านั้น โฆษกบริษัทออกมาขอโทษ และสัญญาว่าคราวหน้าจะไม่ให้พลาดอีก ... เขาคงหมายถึงการผลิตครั้งต่อๆ ไป ไม่ใช่งานแต่งครั้งหน้าหรอก

อ่านเพิ่มเติม >