ฉบับที่ 189 ยาฝาแฝด “ปัญหาจาก ฉลากยา(มหัศจรรย์) ดูให้ดีก่อนกิน”

ฉลากยาเป็นเครื่องมือที่กฎหมายกำหนดให้แสดงไว้ข้างภาชนะบรรจุยา วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สั่งใช้ และผู้ที่จะต้องใช้ยา ได้อ่านเพื่อที่จะได้ใช้ยาอย่างถูกต้องปลอดภัย โดยกฎหมายจะกำหนดให้ฉลากยาต้องมีรายละเอียดที่จำเป็นครบถ้วน ได้แก่ ชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า เลขทะเบียนยา สรรพคุณของยา วันผลิตและวันหมดอายุ แต่บางครั้งเราพบว่าฉลากยาหลายรายการกลับมีรูปแบบที่ใกล้เคียงกันมาก มากจนอาจเรียกได้ว่าเป็น “ ยาฝาแฝด จนทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน หรือเกิดความเสี่ยงในการใช้ยาอย่างผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ ลองดูตัวอย่างที่ฉลาดซื้อ ได้สำรวจ และสอบถามข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความสับสนเหล่านี้ จากเภสัชกร ชมรมเภสัชชนบท ตัวอย่างเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นผู้ป่วยชายไทย อายุ 41 ปี มารับยาจิตเภท (Schizophrenia) ตามนัด หลังจากเภสัชกรได้ตรวจสอบยาเดิมที่ผู้ป่วยนำติดตัวมา โดยผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาชนิดเดียวกัน แต่ 2 ความแรง คือ Risperidone 1 mg และ Risperidone 2 mg ตามภาพประกอบโดยเวลารับประทานยาทั้ง 2 เหมือนกันคือ ครั้งละ 1 เม็ด ก่อนนอน จากการสอบถามผู้ป่วยและญาติเข้าใจผิดคิดว่าอันเดียวกันเนื่องจากดูเหมือนๆกันจึงเก็บยาทั้ง 2 ความแรงไว้ในซองเดียวกัน โดยหยิบรับประทานครั้งละ 2 เม็ด ก่อนนอนและไม่ทราบว่าเป็นยาคนละความแรง ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากความสับสนในฉลากยากลุ่มนี้ยาพาราเซตามอล ไซรัป ผู้ประกอบการได้ผลิตในรูปแบบความแรงที่แตกต่างกัน 4 ขนาดคือ 1. 120 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 120 มิลลิกรัม 2. 160 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 160 มิลลิกรัม 3. 250 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 250 มิลลิกรัม 4. 60 mg / 0.6 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 0.6 มิลลิลิตร มียาพาราเซตามอล 60 มิลลิกรัมจะสังเกตได้ว่า ยาพาราเซตามอล ไซรัป ที่อยู่ในรูปแบบของชนิดหยด ใช้สำหรับเด็กทารกแรกเกิด มีความแรงของยาในขนาดที่สูงกว่ารูปแบบยาน้ำเชื่อมถึง 4 เท่า และยาในรูปแบบยาน้ำเชื่อมมีความแรงของยาที่แตกต่างกันถึง 3 ขนาด ซึ่งผู้บริโภคต้องทราบว่า ไม่เพียงแต่รสชาติ กลิ่นของยาน้ำเชื่อม จะแตกต่างกันเท่านั้น ความแรงของยาก็มีความแตกต่างกันด้วย ซึ่งยาพาราเซตามอล หากใช้เกินขนาด อาจทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย นำไปสู่ภาวะตับวายและเสียชีวิตได้ ซึ่งขนาดการใช้ยาพาราเซตามอลในเด็ก ไม่เกิน 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง (และไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/ครั้ง) รวมทั้งไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/24 ชั่วโมง (ไม่เกิน 3,250 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง) และไม่ควรใช้ยาพาราเซตามอล ติดต่อกันนานเกิน 5 วัน ในเด็กข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหา ฉลากยาที่คล้ายกันปัญหาจากกลุ่ม “ยาฝาแฝด” หรือ “ยารูปพ้อง-มองคล้าย” ต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาร่วมกันจากทุกส่วน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายถึงผู้ใช้ยา นอกจากนี้ แม้ว่าโรงพยาบาลทุกแห่งจะมีมาตรการจัดการด้านยา “ชื่อพ้องมองคล้าย”อย่างจริงจังแล้วก็ตาม ตัวผู้ใช้ยาหรือผู้ดูแลผู้ป่วยเอง ก็ต้องมีการทบทวนยาที่ตนใช้ให้ละเอียดรอบคอบทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ที่สำคัญที่สุด คือ “การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุตั้งแต่การขอขึ้นทะเบียนยา” ควรให้มีการบรรจุเกณฑ์การพิจารณาฉลากยาบรรจุภัณฑ์ของยานั้นๆ เช่น แผงยา ขวดยา หลอดยา ไม่ให้มีความเหมือน หรือคล้ายคลึงกับยาอื่น นอกจากนี้ ไม่ควรอนุญาตให้ใช้ชื่อทางการค้าเดียวกัน โดยที่ส่วนประกอบของตำรับยาเป็นคนละชนิดกัน และไม่ควรอนุญาตให้ยาชนิดเดียวกัน ที่มีความแรงของยาที่ไม่เท่ากัน ใช้ชื่อทางการค้าเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ปรารถนาดีหรือจะมีค้าแฝง

  “บางครั้งมันก็ยากที่จะบอกว่ามันคือการปรารถนาดีหรือมีการค้าแฝง” วันหนึ่ง กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคของผม ได้รับการติดต่อจากบุคคลรายหนึ่ง แจ้งความประสงค์ว่าต้องการนำยามาเผยแพร่ให้กับผู้ป่วยฟรี  โดยบุคคลรายนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เคยมีผู้ป่วยรับประทานยาเหล่านี้  แล้วอาการเจ็บป่วยหาย  จึงมีความปรารถนาดีที่จะเผยแพร่ยาเหล่านี้กับผู้ป่วยอื่นๆ ในจังหวัด โดยการเปิดบริการผู้ป่วยโดยไม่คิดมูลค่า เมื่อพิจารณาจากฉลากยาทั้ง 2 ชนิดนี้ พบว่าทั้ง 2 ชนิดเป็นยาแผนโบราณ มีเลขทะเบียนยาแผนโบราณแสดงบนฉลากชัดเจน  มีเอกสารแผ่นพับระบุสถานที่ผลิต และข้อความ “แด่ผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมาน ...กลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง ภูมิต้านทานร่างกายผิดปกติ โรคเกิดจากความเสื่อม ฯลฯ” แต่เมื่อได้อ่านรายละเอียดวิธีใช้ข้างกล่อง ผมก็ต้องสะดุดตากับข้อความแปลกๆ “วิธีใช้ รับประทานก่อนอาหาร ก่อนยาจากโรงพยาบาล 1 ชั่วโมง” (ซึ่งผมมั่นใจว่าทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คงไม่อนุญาตให้ใช้ข้อความแปลกๆ ทำนองนี้) จากการติดตามตรวจสอบทะเบียนยาจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาปรากฏว่า ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องแล้ว แต่ไม่ได้อนุญาตให้ระบุข้อความแบบนี้ อย่างที่สงสัย แต่สิ่งที่ผมอยากชี้แจงเพิ่มเติมแก่ผู้อ่านคือ แม้ยาทั้ง 2 ชนิดนี้จะได้รับอนุญาตแล้ว แต่การที่ใครจะมาเผยแพร่หรือรักษาผู้ป่วยโดยใช้ยาเหล่านี้แจกฟรีๆ นั้น ตามกฎหมายไม่ได้อนุญาตนะครับ และที่กฎหมายไม่อนุญาตนั้น ไม่ใช่จะไปกีดกันอะไรหรอก  เจตนาก็เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเองครับ ยาเป็นสินค้าที่แม้จะมีคุณประโยชน์ในการรักษาโรค แต่ถ้าใช้อย่างไม่เหมาะสมไม่ระมัดระวัง อาจจะทำให้ผู้ที่รับประทานเกิดอันตรายได้ ดังนั้นการจะใช้ยาชนิดใดก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องมีกฎเกณฑ์กติกา เช่น ต้องจำหน่ายในร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น (ยกเว้นยาสามัญประจำบ้านที่อนุญาตให้ขายในร้านค้าอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต) ห้ามเร่ขายยาตามสถานที่ต่างๆ  นอกจากนี้ การที่ใครจะมาเปิดรักษาโรค แม้จะบริการฟรีไม่คิดค่าใช้จ่าย ก็ต้องแจ้งขออนุญาตให้ถูกต้อง เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้เข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยร่วมกัน ทราบอย่างนี้ก็ช่วยกันแนะนำต่อๆ กันด้วยนะครับ เพราะบางทีเราก็อธิบายได้ยาก ว่าเรื่องแบบนี้เกิดจากเจตนาดีหรือมีการค้าแอบแฝงกันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >