ฉบับที่ 203 ผิวเต่งตึงด้วยกรดไฮยาลูโรนิก (ตอนที่ 2)

มาต่อกันกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิก ซึ่งเป็นสารสำคัญสำหรับเซลล์ผิวหนัง ในการช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นทำให้ผิวไม่แห้งตึง โดยฉบับที่ผ่านมาเราได้พูดถึงกรดไฮยาลูโรนิกในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกันไปแล้ว คราวนี้เราลองมาดูกรดไฮยาลูโรนิกในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันบ้าง มารู้จักผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันสักนิดผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอาหารเสริมมีความหมายเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วอาหารทั้ง 2 ประเภทนี้มีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อยตรงที่ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” คือผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ และไม่สามารถใช้รับประทานแทนอาหารหลักได้ โดยมีสารอาหารหรือสารอื่นเป็นองค์ประกอบ และอยู่ในรูปแบบเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลวหรือลักษณะอื่น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้บุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพปกติรับประทาน ในขณะที่ “อาหารเสริม” จะหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากอาหารจริงๆ เช่น ฟักทองบด ที่เป็นอาหารเสริมสำหรับเด็กเล็ก หรือ โจ๊กปั่น ที่เป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการกินอาหาร ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำหรับใช้กินเป็นมื้อเสริมเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีวิตามินบางชนิดที่จัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกด้วย โดยผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อเองได้ตามท้องตลาดทั่วไป อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ต้องมีการควบคุมคุณภาพและได้รับการรับรองจาก อย. ซึ่งผู้บริโภคควรตรวจสอบก่อนซื้อมารับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิกแม้ปัจจุบันจะมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิกจำนวนมาก ซึ่งผู้บริโภคหลายคนรับประทานกันเป็นประจำอยู่แล้ว และเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถช่วยชะลอความเหี่ยวย่นได้จริง แต่เราไม่ควรลืมว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นอาหารประเภทหนึ่ง ซึ่งช่วยเสริมสารอาหารบางอย่างให้กับร่างกายตามที่กล่าวไว้ข้างต้น และไม่ควรถูกโฆษณาอวดอ้างในลักษณะสรรพคุณทางยาหรือเครื่องสำอาง เช่น เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย บำรุงหัวใจ ลดการดูดซึมไขมัน ทำให้ผิวขาวเปล่งปลั่ง กระชับรูขุมขนหรือลดรอยเหี่ยวย่น เป็นต้น อย่างไรก็ตามเรามักพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายยี่ห้อตามท้องตลาด มักโฆษณาว่ามีฤทธิ์หรือให้สรรพคุณคล้ายกับยารักษาโรค จนทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดได้เราจึงควรสำรวจผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก่อนตัดสินใจซื้อด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างการอ่านฉลาก ซึ่งหากพบว่ามีเลขสารบบอาหาร 13 หลักก็แสดงให้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นอาหารและไม่มีสรรพคุณทางยาใดๆ แต่หากพบว่ามีเลขทะเบียนยา เช่น Reg. No. …/.. ก็หมายถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นยารักษาโรค ซึ่งเราสามารถคาดหวังสรรพคุณหรือการออกฤทธิ์ต่อร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ บำบัด บรรเทา รักษาโรค หรือให้ออกฤทธิ์ในการเติมเต็มร่องลึกและทำให้ผิวหนังเต่งตึงขึ้น แต่ทั้งนี้ประสิทธิผลก็ขึ้นอยู่กับการดูดซึมของร่างกายแต่ละคนด้วยวิธีการง่ายๆ ในการตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนอกจากเราควรตรวจสอบเลขสารบบอาหาร 13 หลักแล้ว ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ฉลากของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จำหน่ายต่อผู้บริโภคต้องระบุ ดังนี้1. ชื่ออาหาร โดยมีคำว่า “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” เป็นส่วนหนึ่งของชื่ออาหารหรือกำกับชื่ออาหาร 2. เลขสารบบอาหาร 3. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า (แล้วแต่กรณี) 4. ปริมาณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่บรรจุ 5. ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และส่วนประกอบที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ ในฉลากของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 6. ข้อความว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” (ถ้ามี) 7. ข้อความว่า “เจือสีธรรมชาติ” หรือ “เจือสีสังเคราะห์” (ถ้ามี) 8. ข้อความว่า “แต่งกลิ่นธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นเลียนธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นสังเคราะห์” “แต่งรสธรรมชาติ” หรือ “แต่งรสเลียนธรรมชาติ” (ถ้ามี) 9. ข้อความชัดเจนว่า “การได้รับสารอาหารต่างๆ นั้น ควรได้จากการบริโภคอาหารหลักที่หลากชนิดครบทั้ง 5 หมู่ และเป็นสัดส่วนที่พอเหมาะ” 10. คำแนะนำในการใช้ 11. คำแนะนำในการเก็บรักษา (ถ้ามี) 12. วันเดือนและปีที่ผลิต/ หมดอายุการบริโภค ทั้งนี้การแสดงข้อความตามข้อ (12) ต้องมีข้อความที่ฉลากระบุตำแหน่งที่แสดงข้อความดังกล่าวด้วย 13. คำเตือนการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง การกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health claim) และคำเตือนการบริโภคอาหาร 14. ข้อมูลเฉพาะอื่นๆ ถ้าเข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใช้ หรือฉลากโภชนาการ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >