ฉบับที่ 252 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์วิปปิ้งครีม(ครีมแท้)

        ฉบับนี้ขอชวนผู้บริโภคสายเบเกอรี่ ทั้งคนชอบกินและคนชอบทำ มาสำรวจฉลากวิปปิ้งครีมกัน         ‘วิปปิ้งครีม’เป็นครีมจากน้ำนมหรือไขมันพืช เมื่อตีให้ขึ้นฟูจนครีมตั้งยอดได้ก็จะเป็น ’วิปครีม’           เมื่อก่อนเรามักลิ้มรสชาติวิปครีมที่หอมมัน นุ่มละมุนลิ้น บนหน้าเค้กหรือเป็นส่วนประกอบในขนมเบเกอรี่ต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นไอศกรีม น้ำปั่น น้ำหวาน เครื่องดื่มร้อน-เย็น ก็ใส่วิปครีมเป็นหน้าท็อปปิ้งเพิ่มความอร่อยได้หลากหลายเมนู และกำลังนิยมกันมาก หากบริโภคบ่อยๆ เสี่ยงไขมันเกินได้         ทั้งนี้ นมสด 100% จะมีไขมัน 3.3% ในตำราเบเกอรี่ระบุว่า วิปปิ้งครีมแท้จะมีไขมันเนย 30-36%         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์วิปปิ้งครีม ทั้งหมด 12 ตัวอย่าง เลือกเฉพาะที่ระบุว่าเป็นครีมแท้ชนิดวิปปิ้งครีม จากร้านค้าและห้างค้าปลีก มาสำรวจฉลากเพื่อดูเปอร์เซ็นต์ของครีมแท้จากนม ปริมาณพลังงานและไขมันทั้งหมด รวมถึงความคุ้มค่า เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค           ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 208) พ.ศ.2543 เรื่อง ครีม ระบุให้ครีมเป็นอาหารที่กําหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน “ครีมแท้” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่แยกได้จากนม โดยกรรมวิธีต่าง ๆ และมีมันเนยเป็นส่วนประกอบที่สําคัญ สำหรับมาตรฐานของครีมแท้ชนิดวิปปิ้งครีม คือต้องทำจากนมและมีมันเนยไม่น้อยกว่าร้อยละ 28 ของน้ำหนัก ผลสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์วิปปิ้งครีม(ครีมแท้)-จากทั้งหมด 12 ตัวอย่าง พบว่ามี 4 ตัวอย่าง ที่ระบุว่าเป็นครีมแท้จากนมโค 100 % ได้แก่ ยี่ห้อแมกโนเลีย, โฟร์โมส, เมจิ และเอ็มมิลค์-ค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์ครีมแท้ในตัวอย่างวิปปิ้งครีมทั้งหมด คือ 95.44 %  - มี 3 ตัวอย่างที่มีเปอร์เซ็นต์ครีมแท้น้อยกว่าค่าเฉลี่ย คือ ยี่ห้อเวสท์โกลด์ (86%), พอลส์(81.76%) และเดบิค(81%)-เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่า ยี่ห้อเพรสซิเด้นท์ แพงสุด คือ 0.75 บาท  ส่วนยี่ห้อเอโร่ ถูกสุดคือ 0.17 บาท-มี 6 ตัวอย่าง ที่แสดงฉลากโภชนาการระบุปริมาณพลังงานและไขมันทั้งหมดในวิปปิ้งครีม 100 มิลลิลิตร ได้แก่ ยี่ห้อแองเคอร์, เอ็มบอร์ก, พอลส์, เพรสซิเด้นท์, เดบิค และเวสท์โกลด์ พบว่ามีปริมาณพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 335.9 กิโลแคลลอรี และปริมาณไขมันทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 35.3 กรัม-ยี่ห้อเอ็มบอร์กและพอลส์ มีพลังงานมากที่สุดคือ 337 กิโลแคลลอรี่ต่อ 100 มิลลิลิตร ส่วนยี่ห้อเวสท์โกลด์ มีพลังงานน้อยที่สุดคือ 334.6 กิโลแคลลอรี่ต่อ 100 มิลลิลิตร  -ยี่ห้อแองเคอร์ และเวสท์โกลด์ มีไขมันทั้งหมดมากที่สุดคือ 35.5 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ส่วนยี่ห้อเดบิค มีไขมันทั้งหมดน้อยที่สุดคือ 35 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร   ข้อสังเกต-ทั้ง 4 ตัวอย่างที่มีครีมแท้จากนมโค 100 % เป็นวิปปิ้งครีมพาสเจอร์ไรส์ ที่ผลิตในประเทศไทย และไม่มีฉลากโภชนาการที่ระบุปริมาณพลังงานและไขมันทั้งหมดไว้-มี 6 ตัวอย่างที่นำเข้าจากต่างประเทศ คิดเป็น 50% ของตัวอย่างที่นำมาสำรวจ-ยี่ห้อเพรสซิเด้นท์ ที่มีราคาต่อหน่วยแพงสุด มีครีมแท้ 99.6% นำเข้าจากฝรั่งเศส ส่วนยี่ห้อเอโร่ ที่ราคาต่อหน่วยถูกสุด มีครีมแท้ 99.97% ผลิตในประเทศไทย-ยี่ห้อเวสท์โกลด์ มีพลังงานน้อยที่สุด แต่มีไขมันทั้งหมดมากที่สุด-ปริมาณพลังงานเฉลี่ยของวิปปิ้งครีม 100 มิลลิลิตร อยู่ที่ 335.9 กิโลแคลอรี ถือว่าพอๆ กับพลังงานของอาหารจานเดียว 1 จานที่ปริมาณ 300 – 600 กิโลแคลอรี และคิดเป็นประมาณ 16.8% ของปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน (2,000 กิโลแคลอรี่) นี่คือวิปปิ้งครีมจืดๆ แต่ถ้านำไปตีเป็นวิปครีมแล้วใส่ส่วนผสมอื่นๆ เพิ่ม เช่น น้ำตาล คาราเมล หรือช็อกโกแลต ก็จะได้พลังงานบวกเพิ่มเข้าไปอีก-ค่าเฉลี่ยของปริมาณไขมันทั้งหมดในวิปปิ้งครีม 100 มิลลิลิตร อยู่ที่ 35.3 กรัม คิดเป็นประมาณ 54.3% ของปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน (< 65 กรัม) ซึ่งค่อนข้างสูงทีเดียว- ในฉลากระบุว่ามีไขมันทรานส์ด้วย ไม่ต้องตกใจ เพราะอยู่ในน้ำนมธรรมชาติ และมีปริมาณน้อยมาก (0.94 -1.7 กรัม) ฉลาดซื้อแนะคนชอบกิน - ควรกินวิปปิ้งครีมแท้ โดยสังเกตว่าวิปครีมที่ทำจากวิปปิ้งครีมแท้ จะสีออกเหลือง ไม่ขาวจั๊ว หอมมันกลิ่นนมสดเข้มข้น กินแล้วละลายในปาก ไม่มีคราบมันติดปาก อย่างไรก็ตามควรบริโภคแต่น้อย  เพื่อลดเสี่ยงภาวะไขมันเกินคนชอบทำ - ก่อนซื้อวิปปิ้งครีมควรดูฉลากให้ชัดเจน เพราะครีมที่ใช้ทำขนมเบเกอรี่ยังมีอีกหลายชนิด เช่น ฮาลฟ์ครีม(ไขมัน 10-18%) คุกกิ้งครีม (ไขมัน 18-56%) เฮฟวี่ครีม(ไขมัน 36-38%)และดับเบิ้ลครีม(ไขมัน 48-60%) หากจะทำวิปครีม แล้วซื้อครีมที่มีไขมันน้อยกว่า 35% มา อาจตียากหรือตีไม่ขึ้นเลยก็ได้         -จากตัวอย่างมีหมายเหตุบนฉลากว่า “เปิดแล้วใช้ให้หมดภายใน...” น้อยที่สุด  1 วัน มากที่สุด 4 วัน เพราะตามมาตรฐานครีมแท้จะต้องไม่มีวัตถุกันเสีย เมื่อเปิดแล้วจะเก็บได้ไม่นาน จึงควรดูวันหมดอายุให้ดีๆ ซื้อมาเท่าที่จะใช้ ไม่ควรซื้อตุน         -ถ้าใช้ไม่หมด ให้แรปปิดกล่องให้สนิท หรือเทส่วนผสมใส่ภาชนะสะอาดและเขียนวันหมดอายุติดไว้ด้วย เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา อย่าใส่ช่องแช่แข็ง ครีมจะแข็งแล้วตีไม่ขึ้นฟู         -เมื่อหมดอายุแล้ว ต้องทิ้งไป แม้บางทีรสชาติและลักษณะของวิปปิ้งครีมยังเหมือนเดิม ก็อย่าเสียดาย เพราะอาจมีเชื้อราที่มองไม่เห็นเจือปนอยู่ได้  ข้อมูลอ้างอิงhttps://my-best.in.th/50276https://krua.co/cooking_post/whipping-cream/https://www.dip.go.th/files/Cluster/20.pdfhttp://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P208.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 Let’s say Cheese! มาอ่านฉลากผลิตภัณฑ์จากชีสกันเถอะ

        พูดเรื่อง ชีส(Cheese) หรือเนยแข็งในอาหารที่คนไทยคุ้นเคย คงจะเป็น มอสซาเรลลา ที่ใส่ในพิซซ่าซึ่งเราจะมีภาพจำในความยืดเยิ้มของมัน หรือ เชดดา ที่วางบนแฮมเบอร์เกอร์ แซนวิช และหลายคนก็คงคุ้นลิ้นกับ พาร์เมซาน เนยแข็งป่นๆ ที่โรยหน้าสลัดหรือผสมในสปาเก็ตตี้  อาจกล่าวได้ว่า ชีสสามชนิดนี้ คือชีสที่คนไทยคุ้นเคยที่สุด จากชีสทั่วโลกที่มีมากกว่า 3000 ชนิด  แม้จะคุ้นลิ้นคุ้นตาในรสชาติ แต่เชื่อว่าหลายคน อาจจะเกิดอาการสับสน งุนงง หากต้องไปเลือกซื้อชีสเพื่อมาทำอาหารสไตล์ตะวันตกกินเอง เพราะเลือกไม่ถูกว่าจะซื้อชีสอะไรดี แล้วที่เขียนบนฉลากว่า อีแดม เชดดา เนมชีส โพรเซสชีส เฟรชชีส คืออะไร ใช้กินกับอะไรได้บ้าง ทำอาหารอะไรได้บ้าง หรือจะซื้อยังไงคุ้มค่า นิตยสารฉลาดซื้ออาสาพาไปส่องฉลาก และช่วยให้เลือกซื้อกันได้สะดวกขึ้น                 ทีมกองบรรณาธิการและอาสาสมัครฉลาดซื้อเดินห้างสรรพสินค้าทั้งแบบห้างค้าปลีก ค้าส่ง และร้านสะดวกซื้อเพื่อเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนยแข็งหรือชีส แบบที่มีฉลากบนผลิตภัณฑ์สมบูรณ์และผู้บริโภคสามารถหยิบได้เองจากตู้แช่เย็น ในต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา จำนวนทั้งสิ้น 51 ตัวอย่าง เพื่อแสดงรายละเอียดและแยกกลุ่มผลิตภัณฑ์ระหว่าง เนยแข็งหรือชีสแท้ กับ โพรเซสชีส นิยามและประเภทของชีส         เนยแข็ง(Cheese)  ทั่วโลกมีมากกว่า 3,000 ชนิด แม้เนยแข็งบางประเภทจะมีลักษณะเหมือนกัน แต่ก็มีชื่อเรียกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น วิธีการจำแนกประเภทของเนยแข็งจึงทำได้โดยอาศัยหลักเกณฑ์บางอย่าง เช่น ชนิดของน้ำนมที่ใช้ ระยะเวลาในการบ่ม เชื้อราที่ใส่ลงไปเพื่อแยกไขมันออกจากน้ำนม อุณหภูมิที่ใช้ในการหมักบ่ม พื้นผิวและความราบเรียบของเนยแข็ง อย่างไรก็ตามเราอาจแบ่งเนยแข็งหรือชีส (Cheese)  ได้เป็น 3 กลุ่ม ซึ่งเป็นการแบ่งที่นิยมกัน คือ        1.เนยแข็งแบบนุ่มหรือชีสนุ่ม (Soft Cheese)         2.เนยแข็งแบบกึ่งแข็งกึ่งนุ่ม (Semi Cheese)        3.เนยแข็งแบบแข็งหรือฮาร์ดชีส (Hard Cheese)         การแบ่งแบบนี้เป็นการแบ่งตามความชื้นในเนื้อผลิตภัณฑ์ เนยแข็งที่มีความแข็งมาก(ฮาร์ดชีส) ก็เพราะมีความชื้นต่ำ เช่น พาร์เมซาน เชดดา สวิสชีส ส่วนชนิดกึ่งแข็งกึ่งนุ่มจะมีความชื้นกลางๆ เช่น มอสซาเรลลา อีแดม บลูชีส และหากมีความชื้นสูงเนื้อสัมผัสก็จะนุ่ม เช่น บรี ครีมชีส ซึ่งทำให้เก็บไว้ไม่นานเหมือนพวกฮาร์ดชีส ที่สามารถเก็บได้เป็นเวลาหลายเดือน         นิยามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 209 พ.ศ.2543 เรื่องเนยแข็ง ให้ความหมายของ เนยแข็งว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำนม ครีมบัตเตอร์มิลค์ (Butter milk) หรือเวย์ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างมาผสมเอนไซม์หรือกรดหรือจุลินทรีย์จนเกิดการรวมตัวเป็นก้อนแล้วแยกส่วนที่เป็นน้ำออก แล้วนำมาใช้ในลักษณะสดหรือบ่มให้ได้ที่ก่อนใช้ จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่คือเนยแข็งแท้หรือชีสแท้         ส่วนที่แสดงบนฉลากว่า โพรเซสชีส(Processed Cheese) ตามนิยามในประกาศ หมายความว่า เนยแข็ง ซึ่งได้ผ่านกรรมวิธีทำให้เล็กลง เติมสารอีมัลซิฟายและนำมาพาสเจอร์ไรซ์และจะแต่งสี กลิ่น รส หรือไม่ก็ได้  ตามนิยามนี้เราอาจตีความได้ว่า โพรเซสชีสเป็นเนยแข็งที่มีกรรมวิธีการผลิต โดยเอาชีสแท้ น้ำมัน และส่วนผสมทางเคมีอื่นๆ มาผสมกัน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอาหารที่ปลอดภัย แต่ว่ามันมีสารเคมีต่างๆ มีแต่งสี แต่งรส และเนื่องจากมีส่วนผสมของนมอยู่น้อย ก็เลยไม่ได้ให้ประโยชน์มากเหมือนชีสแท้ ที่ทำจากนมเกือบทั้งหมด         และที่อาจจะทำให้ผู้บริโภคงงเมื่ออ่านฉลากคือ คำว่า เนมชีส(Named Cheese) ซึ่งในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 209 ให้ความหมายว่า เนยแข็งที่มีชื่อตามชนิดของเนยแข็งหรือสถานที่ผลิต ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปและมีกรรมวิธีการผลิตเฉพาะตามชนิดของเนยแข็งนั้น  เชดดา อีแดม พาร์เมซาน(หรืออีกสามพันชนิด) พวกนี้คือ เนมชีสนั่นเองตารางแสดงรายละเอียดการแสดงฉลาก ผลิตภัณฑ์เนยแข็ง(ชีสแท้) เก็บตัวอย่างเดือนตุลาคม 2562เนยแข็ง หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำนม ครีมบัตเตอร์มิลค์ (Butter milk) หรือเวย์ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างมาผสมเอนไซม์หรือกรดหรือจุลินทรีย์จนเกิดการรวมตัวเป็นก้อนแล้วแยกส่วนที่เป็นน้ำออก แล้วนำมาใช้ในลักษณะสดหรือบ่มให้ได้ที่ก่อนใช้ตารางแสดงรายละเอียดการแสดงฉลาก ผลิตภัณฑ์โพรเซสชีสเก็บตัวอย่างเดือนตุลาคม 2562โพรเซสชีส หมายความว่า เนยแข็ง ซึ่งได้ผ่านกรรมวิธีทำให้เล็กลง เติมสารอีมัลซิฟายและนำมาพาสเจอร์ไรซ์และจะแต่งสี กลิ่น รส หรือไม่ก็ได้  ข้อค้นพบจากการดูฉลากผลิตภัณฑ์        ผลจากการสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์เนยแข็ง ทั้งหมด 51 ตัวอย่าง พบว่า ผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ที่เข้านิยามเนยแข็งหรือชีสแท้ มีจำนวน 24 ตัวอย่าง และเป็นผลิตภัณฑ์โพรเซสชีส 26 ตัวอย่าง โดยมีโพรเซสชีส 1 ตัวอย่างที่เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อชาวมังสวิรัตที่ไม่บริโภคผลิตภัณฑ์จากนม ได้แก่ วีแกนเชดด้าสไตล์สไลซ์ (ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเชดด้าชีส) ตราอิมพีเรียล ซึ่งมีส่วนประกอบของ น้ำมันปาล์ม และ โปรตีนถั่วเหลือง ซึ่งนอกจากผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่เป็นวีแกนที่มีส่วนผสมของไขมันจากพืช         ผลิตภัณฑ์เนยแข็งทำจากนมในปริมาณเกือบ 100 % และใช้เวลาในการหมักบ่มนาน ดังนั้นราคาจึงค่อนข้างแพง ส่วนผลิตภัณฑ์โพรเซสชีส ใช้เนยแข็ง น้ำนม และไขมันพืชช่วยในการแต่งเติมผลิตภัณฑ์ ดังนั้นจึงมีราคาไม่แพง แต่ก็จะให้คุณค่าทางสารอาหารน้อยกว่าชีสแท้ ผู้บริโภคสามารถพิจารณาเลือกจากฉลากที่เรานำมาแสดงในตารางได้ โดยมีการเปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนักไว้เพื่อช่วยในการตัดสินใจด้วย          ผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่มีราคาต่อกรัมถูกที่สุด คือ  ครีมฟีลด์ เท็น ซิงเกิ้ล (ผลิตภัณฑ์จากชีส) CREAMFIELDS 10 SINGLES ราคา  0.282  บาทต่อกรัม และผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่มีราคาต่อกรัมแพงที่สุด คือ  เอ็กซ์ตร้า เมชัวร์ เชดด้า (เนยแข็งชนิดเนมชีส) ตรา คุมบี คาสเซิล COOMBE CASTLE TM EXTRA MATURE CHEDDAR ราคา  1.945  บาทต่อกรัม  โดยผลิตภัณฑ์ชีสส่วนใหญ่ที่สุ่มเก็บมา เป็นผลิตภัณฑ์ชีสที่นำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งสิ้น         การแสดงฉลากเรื่องการผลิต พบว่ามีผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่ไม่ได้ระบุวันผลิต จำนวน 19 ตัวอย่าง แต่ทุกตัวอย่างมีการระบุวันหมดอายุ หรือ วันที่ควรบริโภคก่อน  โดยส่วนใหญ่มีอายุการเก็บประมาณ 1 ปี และแนะนำให้เก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 0 – 8 องศาเซลเซียส           ข้อมูลอ้างอิงhttps://th.wikipedia.org/wiki/เนยแข็ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 ผิวเต่งตึงด้วยกรดไฮยาลูโรนิก (ตอนที่ 2)

มาต่อกันกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิก ซึ่งเป็นสารสำคัญสำหรับเซลล์ผิวหนัง ในการช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นทำให้ผิวไม่แห้งตึง โดยฉบับที่ผ่านมาเราได้พูดถึงกรดไฮยาลูโรนิกในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกันไปแล้ว คราวนี้เราลองมาดูกรดไฮยาลูโรนิกในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันบ้าง มารู้จักผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันสักนิดผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอาหารเสริมมีความหมายเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วอาหารทั้ง 2 ประเภทนี้มีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อยตรงที่ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” คือผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ และไม่สามารถใช้รับประทานแทนอาหารหลักได้ โดยมีสารอาหารหรือสารอื่นเป็นองค์ประกอบ และอยู่ในรูปแบบเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลวหรือลักษณะอื่น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้บุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพปกติรับประทาน ในขณะที่ “อาหารเสริม” จะหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากอาหารจริงๆ เช่น ฟักทองบด ที่เป็นอาหารเสริมสำหรับเด็กเล็ก หรือ โจ๊กปั่น ที่เป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการกินอาหาร ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำหรับใช้กินเป็นมื้อเสริมเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีวิตามินบางชนิดที่จัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกด้วย โดยผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อเองได้ตามท้องตลาดทั่วไป อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ต้องมีการควบคุมคุณภาพและได้รับการรับรองจาก อย. ซึ่งผู้บริโภคควรตรวจสอบก่อนซื้อมารับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิกแม้ปัจจุบันจะมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิกจำนวนมาก ซึ่งผู้บริโภคหลายคนรับประทานกันเป็นประจำอยู่แล้ว และเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถช่วยชะลอความเหี่ยวย่นได้จริง แต่เราไม่ควรลืมว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นอาหารประเภทหนึ่ง ซึ่งช่วยเสริมสารอาหารบางอย่างให้กับร่างกายตามที่กล่าวไว้ข้างต้น และไม่ควรถูกโฆษณาอวดอ้างในลักษณะสรรพคุณทางยาหรือเครื่องสำอาง เช่น เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย บำรุงหัวใจ ลดการดูดซึมไขมัน ทำให้ผิวขาวเปล่งปลั่ง กระชับรูขุมขนหรือลดรอยเหี่ยวย่น เป็นต้น อย่างไรก็ตามเรามักพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายยี่ห้อตามท้องตลาด มักโฆษณาว่ามีฤทธิ์หรือให้สรรพคุณคล้ายกับยารักษาโรค จนทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดได้เราจึงควรสำรวจผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก่อนตัดสินใจซื้อด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างการอ่านฉลาก ซึ่งหากพบว่ามีเลขสารบบอาหาร 13 หลักก็แสดงให้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นอาหารและไม่มีสรรพคุณทางยาใดๆ แต่หากพบว่ามีเลขทะเบียนยา เช่น Reg. No. …/.. ก็หมายถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นยารักษาโรค ซึ่งเราสามารถคาดหวังสรรพคุณหรือการออกฤทธิ์ต่อร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ บำบัด บรรเทา รักษาโรค หรือให้ออกฤทธิ์ในการเติมเต็มร่องลึกและทำให้ผิวหนังเต่งตึงขึ้น แต่ทั้งนี้ประสิทธิผลก็ขึ้นอยู่กับการดูดซึมของร่างกายแต่ละคนด้วยวิธีการง่ายๆ ในการตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนอกจากเราควรตรวจสอบเลขสารบบอาหาร 13 หลักแล้ว ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ฉลากของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จำหน่ายต่อผู้บริโภคต้องระบุ ดังนี้1. ชื่ออาหาร โดยมีคำว่า “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” เป็นส่วนหนึ่งของชื่ออาหารหรือกำกับชื่ออาหาร 2. เลขสารบบอาหาร 3. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า (แล้วแต่กรณี) 4. ปริมาณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่บรรจุ 5. ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และส่วนประกอบที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ ในฉลากของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 6. ข้อความว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” (ถ้ามี) 7. ข้อความว่า “เจือสีธรรมชาติ” หรือ “เจือสีสังเคราะห์” (ถ้ามี) 8. ข้อความว่า “แต่งกลิ่นธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นเลียนธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นสังเคราะห์” “แต่งรสธรรมชาติ” หรือ “แต่งรสเลียนธรรมชาติ” (ถ้ามี) 9. ข้อความชัดเจนว่า “การได้รับสารอาหารต่างๆ นั้น ควรได้จากการบริโภคอาหารหลักที่หลากชนิดครบทั้ง 5 หมู่ และเป็นสัดส่วนที่พอเหมาะ” 10. คำแนะนำในการใช้ 11. คำแนะนำในการเก็บรักษา (ถ้ามี) 12. วันเดือนและปีที่ผลิต/ หมดอายุการบริโภค ทั้งนี้การแสดงข้อความตามข้อ (12) ต้องมีข้อความที่ฉลากระบุตำแหน่งที่แสดงข้อความดังกล่าวด้วย 13. คำเตือนการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง การกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health claim) และคำเตือนการบริโภคอาหาร 14. ข้อมูลเฉพาะอื่นๆ ถ้าเข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใช้ หรือฉลากโภชนาการ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 “ส่องฉลาก” ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค กลายมาเป็นตัวช่วยเรื่องการกำจัดสิ่งสกปรกที่น่าจะมีติดอยู่แทบทุกบ้าน มาในหลายๆ รูปแบบการใช้งาน ไมว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ และผลิตภัณฑ์ทำความเสื้อผ้า ซึ่งเฉพาะผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าก็ไม่ได้มีแค่ ผงซักฟอก เพียงอย่างเดียว ยังมีแยกประเภทเป็นทั้งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าชนิดน้ำ ผลิตภัณฑ์ขจัดคราบอเนกประสงค์ที่ใช้แช่เสื้อผ้าเพื่อขจัดคราบสกปรกก่อนนำไปซักปกติ ซึ่งลักษณะก็จะคล้ายกับน้ำยาซักผ้าขาว นอกจากนี้ยังมีน้ำยาปรับผ้านุ่มที่หลายๆ บ้านนิยมใช้ ฉลาดจึงจะพามาส่องฉลากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพื่อให้สามารถใช้งานกันได้อย่างถูกวิธีผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคต้องใช้อย่างระมัดระวังผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่มีการใช้สารเคมีที่อาจมีฤทธิ์ต่อสุขภาพและเป็นอันอันตรายต่อผู้ใช้ จะอยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ใช้ภายในบ้านเรือนส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 ซึ่งหมายถึงกลุ่มสารเคมีที่มีอันตรายน้อย สามารถนำมาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือตามบ้านเรื่องทั่วไปได้ แต่ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ตัวผลิตภัณฑ์ต้องผ่านการแจ้งข้อเท็จจริงกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยจะควบคุมเรื่องสารเคมีที่ใช้และการจัดทำฉลากเพื่อประโยชน์กับผู้บริโภคในการใช้งานได้อย่างปลอดภัยวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เป็นวัตถุอันตรายที่ก่อให้เกิดผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มอื่น กฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าไม่ต้องขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย แต่ต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด เช่น การจัดทำฉลาก การปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตและการเก็บรักษา เป็นต้น การแสดงฉลากจะต้องแสดงเลขที่รับแจ้งไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์ ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มวัตถุอันตรายขนิดที่ 1 มีอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น ฝาผนัง เครื่องสุขภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า (ยกเว้นผงซักฟอก ที่อยู่ในการควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.))  เป็นต้นข้อความที่ไม่อนุญาตให้แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค-“สูตรพิเศษ” ยกเว้นว่ามีเอกสารที่สามารถสนับสนุนหรือชี้แจงได้ว่ามีลักษณะพิเศษอย่างไร-“ไม่เป็นอันตราย”, “ไม่เป็นพิษ”, “ปลอดภัย”, “ไม่มีสารตกค้าง”, “ไร้สารตกค้างที่เป็นอันตราย”, “ไร้สารตกค้าง”, “ไม่มีผลต่อเด็กสัตว์เลี้ยงและอาหาร”, “สูตรไม่ระคายเคือง”, “ปราศจากการระคายเคือง” เนื่องจากอาจทำให้เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัย-“นุ่มละมุนใช้ได้ทุกวัน” เนื่องจากผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ควรใช้ตามความจำเป็น และต้องระมัดระวังในการใช้ -“ใช้ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ” เนื่องจากเป็นการชักจูงใจเกินความจำเป็น-“น้ำหอมปรับอากาศ”, “สดชื่น” หรือ “กลิ่นสดชื่น” เนื่องจากคำว่า “สดชื่น” มีความหมายในเชิงเกี่ยวกับสุขภาพอาจสื่อให้เกิดความเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นนี้มีผลต่อสุขภาพ ซึ่งไม่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์และสารเคมี-“ปกป้องสุขภาพของคุณและสิ่งแวดล้อม”, “ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม”, “ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม”, “ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ”, “จึงช่วยรักษาสภาพแวดล้อม”, “ห่วงใยสิ่งแวดล้อม” เนื่องจากก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าผลิตภัณฑ์ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม-“ได้ผล 100%”, “ประสิทธิภาพสูง”, “ด้วยสูตรพลังประสิทธิภาพ”, “ประสิทธิภาพเยี่ยม”, “ระบบเดียวที่มีประสิทธิภาพสูงสุด”, “ได้ผลเด็ดขาด”, “ออกฤทธิ์แรง” เนื่องจากเป็นข้อความที่อาจเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินจริง-“ไม่ทำลายเนื้อผ้าหรือทำให้ผ้าเป็นสีเหลือง”, “อ่อนโยนต่อทุกเนื้อผ้า”, “อ่อนโยนต่อเส้นใยผ้า”, “ถนอมผ้า”, “ปลอดภัยต่อผ้าสี”, “คงไว้ซึ่งความนุ่มนวลของเนื้อผ้า”, “พลังสลายคราบสกปรก” เนื่องจากเป็นข้อความที่อาจเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินจริง-แม้แต่ชื่อทางการค้าก็ต้องไม่สื่อไปในทำนองโอ้อวดสรรพคุณ หรือทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของผลิตภัณฑ์ หรือสื่อให้เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคขาดความระมัดระวังในการใช้ที่มา : คู่มือการจัดทำฉลากวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 โดยกลุ่มควบคุมอันตราย สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาข้อมูลสำคัญที่ “ต้องมี” บนฉลากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด1.ชื่อทางการค้า ต้องเป็นภาษาไทย ขนาดเห็นได้ชัด หากมีชื่อเป็นภาษาต่างประเทศต้องตรงกันหรือมีความหมายอย่างเดียวกันกับชื่อการค้าภาษาไทย2.ชื่อและอันตราส่วนของสารสำคัญ ต้องแสดงเป็นหน่วยร้อยละของน้ำหนักต่อน้ำหนัก (% w/w) หรือร้อยละของน้ำหนักต่อปริมาตร (% w/v)3.ประโยชน์4.วิธีใช้5.คำเตือนหรือข้อควรระวัง ต้องใช้อักษรทึบหรือขีดเส้นใต้6.วิธีเก็บรักษา7.ข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดพิษ (ถ้ามี) ไมว่าจะเป็น อาการเกิดพิษ วิธีแก้พิษเบื้องต้น คำแนะนำสำหรับแพทย์8.การทำลายภาชนะบรรจุ (ถ้ามี)9.เครื่องหมายและข้อความแสดงระดับความเป็นพิษ และ/หรืออันตรายตามที่กำหนด (ถ้ามี) 10.เลขที่รับแจ้ง 11.ขนาดบรรจุ (ปริมาณสุทธิ) 12.วัน เดือน ปี ที่ผลิต 13.วันหมดอายุการใช้ (ถ้ามี)14.เลขหรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต (Lot Number/ Batch Number)15.ชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ ของผู้ผลิตในประเทศ หรือนำเข้า พร้อมชื่อและประเทศของผู้ผลิตผลการสำรวจฉลากตัวอย่างผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคส่วนใหญ่ไม่ว่า สำหรับใช้ทำความสะอาดพื้นหรือทำความสะอาดเสื้อผ้า จะมีการให้ข้อมูลในเรื่องการฆ่าเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีหลายตัวอย่าง ที่อ้างว่า สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.99% เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่า 100% เพราะดูเป็นการโอ้อวดเกินจริง แต่ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การแสดงข้อความบนฉลากผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค อนุญาตให้แสดงค่าความสามารถหรือตัวเลขที่แสดงความสามารถในการฆ่าเชื้อ เมื่อมีข้อมูลผลการทดสอบประสิทธิภาพเชิงปริมาณ แต่ต้องระบุชื่อเชื้อที่ใช้ทดสอบและแสดงข้อความว่าเป็นข้อมูลที่ได้จากผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ โดยตัวอย่างที่สำรวจส่วนใหญ่ก็จะมีการอ้างถึงแหล่งที่มาของการทดสอบ แต่ก็มีบางตัวอย่างที่ใช้คำโฆษณาเรื่องการฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.99% แต่ไม่ได้อ้างอิงที่มาของคำโฆษณาดังกล่าว เช่น แวนิช ผลิตภัณฑ์ขจัดคราบ เอ๊กซ์ตร้า ไอยีน และ เดทตอล ลอนดรี แซนิไทเซอร์ผลิตภัณฑ์ที่แสดงโฆษณาบนฉลากว่า “สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย” หมายความว่าผลิตภัณฑ์ผ่านการทดสอบในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิด คือ Staphylococcus aureus และ Salmonella enterica (choleraesuis)ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน แม้จะมีสารเคมีที่มีความเป็นพิษต่ำ แต่ก็ถือเป็นสารที่อันตรายหากนำไปใช้ไม่ถูกวิธี เช่น เข้าตา หรือเผลอกลืนกินเข้าสู่ร่างกาย เพราะฉะนั้นต้องเก็บผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้พ้นมือเด็ก ส่วนผู้ที่ใช้แล้วเกิดอาการแพ้ต้องหยุดใช้ทันทีและควรไปพบแพทย์ ปริมาณที่ใช้ก็ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลากสารเคมีในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าและพื้นที่ภายในอาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ เป็นสารในกลุ่ม disinfectant ซึ่งสามารถกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้หลากหลาย ไม่เฉพาะเจาะจง เหมาะสำหรับใช้ทำความสะอาดพื้นผิวของสิ่งของต่างๆ โดยสารเคมีหลักๆ ที่ใช้ก็คือสารที่มีผลในการฆ่าและยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรค กับสารที่ทำหน้าที่ลดแรงตึงผิว (surfactant) ซึ่งก็มีคุณสมบัติในการขจัดสิ่งสกปรกและฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะ Ethoxylated alcohol, Sodium Lauryl Sulfate,  Alkyldimethyl benzyl ammonium chloride และ Didecyl dimenthyl ammonium chlorideผลทดสอบ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point