“การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปและการโฆษณา ณ สถานที่ขายเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพ”

ผลสำรวจตัวอย่างเนื้อหมู-ไก่ ชนิดพรีเมียม และปกติ พบบางรายการปกปิดข้อมูลด้านความไม่ปลอดภัยจากสารอันตราย ไม่ยอมแจ้งบนฉลาก         วันนี้ ( 13 มีนาคม 2567 ) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และภาคีเครือข่ายนักวิชาการ ได้จัดแถลงผลการศึกษาเรื่อง “การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปและการโฆษณา ณ สถานที่ขายเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพ” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)         การสำรวจฉลาก นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวถึงวิธีการเก็บตัวอย่างว่า ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่ระบุว่าเป็นสินค้าพรีเมียม มีการอ้างถึงขั้นตอนเลี้ยงด้วยกระบวนการพิเศษและปลอดภัยจากสารต่างๆ ทำให้ราคาขายแพงกว่าเนื้อสัตว์ในกระบวนการเลี้ยงปกติ โดยเก็บเนื้อหมูส่วนสะโพก (สันนอก สันใน) และอกไก่ลอกหนัง จากซูเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเนื้อหมูจำนวน 7 ตัวอย่าง อกไก่ 5 ตัวอย่าง และเก็บตัวอย่างเนื้อหมูส่วนสะโพกและอกไก่ แบบปกติที่บรรจุในภาชนะบรรจุอย่างละ 1 ตัวอย่างในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำมาเปรียบเทียบราคาจำหน่ายในช่วงเวลาเดียวกัน (เดือนกันยายน 2566) รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง จากการเปรียบเทียบราคาพบว่า ราคาแพงกว่าราคาปกติประมาณสองเท่า         1.เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 290 – 500 บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดธรรมดา สันนอกคัด จำหน่ายภายในห้างฯ ราคาอยู่ที่ 225 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 สันนอกจะมีราคาอยู่ที่ 130 บาทต่อกิโลกรัม         2.เนื้ออกไก่ลอกหนังชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 215 – 400 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เนื้ออกไก่ชนิดธรรมดา จำหน่ายภายในห้างฯ อกไก่ลอกหนัง ราคาอยู่ที่ 208 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 อกไก่จะมีราคาอยู่ที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม         ผลวิเคราะห์การสำรวจฉลากเนื้อหมูสด-เนื้อไก่สด อ.ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ได้นำข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ฉลากเนื้อหมูสด-ไก่สด ชนิดพรีเมียม และชนิดธรรมดา ช่วงเดือนกันยายน 2566 ทำการวเคราะห์ประเด็นการใช้ยาปฏิชีวนะ และสารอื่นๆ ปรากฏว่า รูปแบบฉลากที่สำรวจชนิดพรีเมียม มีทั้งแจ้ง และ ไม่แจ้ง บนฉลาก ส่วนชนิดธรรมดา ไม่มีการแจ้งใดๆ         การวิเคราะห์ฉลาก ยังมีข้อสังเกต ดังนี้         มีความหลากหลายของการแสดงฉลาก         การแสดงฉลากในเรื่องยาปฏิชีวนะของเนื้อหมูและเนื้อไก่ ...พบว่าเนื้อหมูและไก่เกรดพรีเมียม 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) มีการแสดงข้อความในฉลากที่สื่อว่าไม่ใช้เลยตลอดการเลี้ยง และ 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) ที่ฉลากมีการกล่าวอ้างว่าไม่เจอโดยใช้ข้อความหลายรูปแบบ เช่น ‘ปลอดยาปฏิชีวนะ’ แตกต่างจาก ‘เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ’ ในขณะที่เนื้อหมูและเนื้อไก่แบบธรรม 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 14.3) ไม่ได้ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ         บางยี่ห้อเน้นที่รางวัลที่ได้รับ ทำให้ผู้บริโภคสนใจคำว่าชนะรางวัล มากกว่าคุณค่าทางโภชนาการ         ข้อความคำแนะนำเป็นภาษาอังกฤษ อ่านยาก ควรเป็นภาษาไทยเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ         ข้อสังเกตสำคัญ ประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องยาปฏิชีวนะ มีการใช้คำสองความหมายคือ “เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ (RAISED WITHOUT ANTIBIOTICS)” ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะตกค้าง (ANTIBIOTICS CONTROLLED หรือ ANTIBIOTICS FREE)” มีการใช้คำกล่าวอ้างที่มีรูปแบบหลากหลายอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เช่น มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง แต่หยุดการใช้ก่อนเชือดจนไม่มีการตกค้างอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดูเลยได้ ควรมีการกำหนดมาตรฐานและการตรวจสอบก่อนอนุญาตให้ใช้คำดังกล่าว และควรมีการกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง ทั้งในฉลากทั้งเนื้อสัตว์แบบพรีเมียม และไม่พรีเมียม รวมทั้งระบุถึงมาตรฐานฟาร์มที่เป็นที่มาของเนื้อสัตว์ดังกล่าว         ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รายงานข้อสังเกตจากฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูป การโฆษณา ณ สถานที่ขายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า “ประเทศไทยมีการกำหนดฉลากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ประเภทลูกชิ้น ไส้กรอก แหนม หมูยอ กุนเชียง และผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตทำนองเดียวกันนี้ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2544 เรื่อง ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และมีการกำหนดฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ แต่ประกาศนี้ก็ไม่ใช้กับอาหารสดที่ไม่ผ่านกรรมวิธีใดๆ หรืออาหารสดที่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด ซึ่งอาจแช่เย็นหรือไม่แช่เย็นและบรรจุในภาชนะที่สามารถมองเห็นสภาพของอาหารสด ฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปขาดการควบคุม จึงส่งผลให้ผลการสำรวจฉลากพบการแสดงฉลากที่หลากหลาย ขาดความชัดเจน ทั้งขนาดตัวอักษร รูปแบบการแสดงข้อความ ตลอดจนความชัดเจนของการสื่อความหมายของข้อความ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้ จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าบทบาทหน้าที่ในการกำหนดมาตรการด้านฉลากดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือหน่วยงานอื่น”         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนประเด็นด้านโฆษณาอาหารนั้น ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้การแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร ต้องได้รับอนุญาตก่อนการโฆษณา ซึ่งหากพิจารณาตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2564 การใช้คำว่า “สด” “ธรรมชาติ” “ผลิตภัณฑ์อินทรีย์” “ออร์แกนิก” “อนามัย” “ถูกสุขอนามัย” “สะอาด” “คุณภาพ” เข้าข่ายบัญชีหมายเลข 3 ของประกาศนี้ ซึ่งเป็นลักษณะการโฆษณาที่เข้าข่ายลักษณะเป็นคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารที่ต้องยื่นคำขออนุญาตโฆษณาอาหาร หากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาถือว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปเป็นอาหารที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 การกล่าวอ้างในลักษณะนี้ก็ควรจะต้องมีการตรวจสอบโฆษณาทั้งเรื่องการขออนุญาต หรืออย่างน้อยก็ควรมีบทบาทในการตรวจสอบสิ่งที่กล่าวอ้างนั้นเป็นความจริงหรือไม่         รายละเอียดด้านการลงพื้นที่เก็บภาพการโฆษณา ณ แหล่งขาย นางสาวทัศนีย์กล่าวว่า ไปสำรวจโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อหมูและเนื้อไก่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 44 ร้าน 29 พื้นที่ สำรวจทั้งในซูเปอร์มาเก็ต ร้านตั้งเดี่ยวนอกห้างสรรพสินค้า ร้านค้าในตลาด ร้านสะดวกซื้อ และแผงในตลาดสด ...เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยเทียบกับหลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พบว่าการโฆษณาที่เข้าข่ายการแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร โดยมีการแจ้งคุณภาพของสินค้า พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) โดยรูปแบบการแจ้งคุณภาพอาจจะกล่าวเพียงประเด็นเดียวหรือหลายประเด็น ดังนี้ ร้านขายได้กล่าวถึงความสะอาด 8 ร้าน, สด 6 ร้าน, คุณภาพ 4 ร้าน, อนามัย 2 ร้าน, ชุ่มฉ่ำ 2 ร้าน คำว่าพรีเมี่ยม 1 ร้าน และเลี้ยงด้วยโปรไบโอติกส์อย่างละ 1 ร้าน ข้อสังเกตในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ต จะมีการอนุญาตให้สินค้าแต่ละชื่อการค้าโฆษณาตัวเอง พบ 8 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 18.18) นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาว่าปลอดภัย 6 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 13.63) การโฆษณาว่าปลอดสารเร่งเนื้อแดง พบ 4 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 9.09) การโฆษณาว่าไม่ใช้ฮอร์โมน พบ 2 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 4.55) การโฆษณาสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) แต่ร้านที่มีสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK มีแจ้งคุณภาพของสินค้าเพียง 8 ร้านเท่านั้น การแจ้งคุณค่าทางโภชนาการของเนื้อสัตว์ที่ขาย พบเพียง 1 ร้าน และการกล่าวอ้างอื่น เช่น การกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ พบคำว่า “100% organic” การรับรองตนเอง พบคำรับรองประกันคุณภาพในบริษัท “มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ” “วงจรคุณภาพและความสดของแผนกเนื้อสัตว์”         นักวิชาการด้านกฎหมาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ มองว่า “หากมองในมุมกฎหมายการโฆษณาลักษณะนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นปัญหาด้านกฎหมายได้ หากมองในมุมของผู้บริโภคก็ต้องการทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเชื่อถือหรือไว้วางใจได้หรือไม่ หากไม่ทราบข้อมูลจากผู้ขายเลยก็อาจขาดข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ หากผู้ขายให้ข้อมูลมา แต่ไม่สามารถตรวจสอบหรือยืนยันได้ว่าเรื่องใดจริงหรือเท็จผู้บริโภคก็ถูกเอาเปรียบได้เช่นกัน”         ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สรุปผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้น มีข้อสังเกตว่าฉลากมีความหลากหลายของการนำเสนอ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้อง คำว่า’ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง’ ที่มีความหมายแตกต่างจากคำว่า’ปลอดจากยาปฏิชีวนะ’ นอกจากนี้ยังพบความแตกต่างของการใช้คำต่าง ๆ เช่น วันหมดอายุ มีขนาดเล็กมาก รวมถึงการระบุสรรพคุณของเนื้อสัตว์ จากการวิเคราะห์กฎหมาย ระเบียบ กติกา อาจมีช่องว่างของการควบคุมฉลากเนื้อสัตว์ดิบประเภทหมูและไก่ เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์แปรรูปแปรรูปหรือไม่ จึงมีช่องว่างของการใช้คำโฆษณาผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ เช่นคำว่า ปศุสัตว์ OK หมายถึงอะไรบ้าง การเคลมคุณสมบัติบนฉลากผลิตภัณฑ์ หรือ การแสดง ณ จุดจำหน่ายนี้ มีหน่วยงานใดมีหน้าที่ตรวจสอบบ้าง มีหน่วยงานใดทำหน้าที่ควบคุม การกำหนดราคาสินค้าพรีเมียม มาตรฐานต่างๆ         ดังนั้นจึงมีข้อเสนอเกี่ยวกับฉลากเนื้อสัตว์สด และการโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ ดังนี้         1. ควรมีเจ้าภาพรับผิดชอบในการกำหนดลักษณะฉลากเนื้อสัตว์สดและการโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ ซึ่งอาจจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค         2.ควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เนื่องจากพบการใช้คำโฆษณานี้มีความหลากหลาย มีทั้งการกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ และการกล่าวอ้างด้านไม่พบสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่างกันได้ เช่น คำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ” อาจสื่อความหมายได้ตั้งแต่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดู หรือมีระยะหยุดยาก่อนการฆ่า หรือมีการใช้ยาแต่มีเนื้อสัตว์พบยาปฏิชีวนะตกค้างไม่เกินที่กำหนดในกฎหมาย จึงควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เช่น “Raised without antibiotics” (ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะทุกขั้นตอนของการเลี้ยง)         3.ควรมีหน่วยงานที่ติดตามและตรวจสอบการกล่าวอ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการกล่าวอ้างเกินจริง ซึ่งจูงใจให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ และการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวอาจมีผลทำให้ราคาสินค้าเกินกว่าความเป็นจริงได้ โดยเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เข้ามาตรวจสอบการโฆษณาดังกล่าว         4.มีระบบฐานข้อมูลการตรวจสอบฉลากของสินค้า และ 5. การให้ความรู้กับผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 266 ผลสำรวจฉลากยาดมสมุนไพร

        ฉลาดซื้อฉบับที่แล้ว นำเสนอผลสำรจฉลากยาดมในรูปแบบหลอด น้ำ และขี้ผึ้งกันไปแล้ว ฉบับนี้เราจะมาดูฉลากยาดมสมุนไพรกัน ซึ่งจะแตกต่างจากยาดมทั่วไปตรงที่มีชิ้นส่วนสมุนไพรแห้งที่มีกลิ่นหอมเติมลงไปในส่วนประกอบด้วย เช่น กานพลู ดอกจันทน์ พริกไทยดำ กระวาน และผิวผลส้มมือ เป็นต้น         ในปัจจุบัน กระแสการแพทย์ทางเลือกที่บำบัดอาการป่วยด้วยสมุนไพร เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้ยาดมสมุนไพรได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น อีกทั้งมีขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยากและมีต้นทุนที่ไม่สูง จึงมีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายย่อยผลิตยาดมสมุนไพรออกมากันหลายสูตรหลายกลิ่น ทำให้บางครั้งผู้บริโภคมองจนตาลายก็ยังตัดสินใจเลือกไม่ได้         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือก ยาดมสมุนไพร ที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นไว้ใช้สูดดมแก้วิงเวียนและคัดจมูก ที่บรรจุทั้งในขวด/กระปุกแก้ว พลาสติกและโลหะ จำนวน 15 ตัวอย่าง 13 ยี่ห้อ เมื่อเดือนมีนาคม 2566 มาสำรวจการแสดงข้อความบนฉลาก ส่วนประกอบที่พึงระวัง และเปรียบเทียบราคา เพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจฉลาก         จากยาดมสมุนไพร 15 ตัวอย่าง แบ่งเป็นแบบบรรจุในกระปุกแก้วและพลาสติกอย่างละ 7 ตัวอย่าง และกระปุกโลหะ 1 ตัวอย่าง พบว่า        ·     ยาดมสมุนไพร ตราโบว์แดง (กระปุกพลาสติก) เป็นตัวอย่างเดียวที่มีข้อความที่ควรแสดงบนฉลากอยู่ครบ (ชื่อยา เลขทะเบียนตำรับยา ปริมาณของยาที่บรรจุ เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตยา วัน/เดือน/ปี ที่ผลิต คำว่า “ยาสิ้นอายุ” และวัน/เดือน/ปี ที่ยาสิ้นอายุ  ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบ คำว่า “ยาแผนโบราณ” “ยาสามัญประจำบ้าน” และ “ยาใช้เฉพาะที่” )        ·     มี 9 ตัวอย่าง ระบุว่าเป็น “ยาสามัญประจำบ้าน” โดยปรากฏสัญลักษณ์  คิดเป็น 60% ของตัวอย่างทั้งหมด        ·     มี 6 ตัวอย่าง ระบุคำว่า “ยาแผนโบราณ” ได้แก่ ยาดมสมุนไพร ตราคุณเปรมา ตราวังว่าน  ตราราสยาน และตราโบว์แดง (ทั้งแบบกระปุกแก้ว กระปุกพลาสติก และสูตร 2)          ·     มี 4 ตัวอย่าง ระบุคำว่า “ยาสิ้นอายุ” พร้อมแสดงวัน/เดือน/ปีที่ยาสิ้นอายุ โดยระบุไว้ไม่เกิน 3 ปี ได้แก่    ยาดมสมุนไพร ตราคุณเปรมา ตราโบว์แดง(กระปุกแก้วและพลาสติก) และยาดมชุติภา        ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยาดมส้มมือ จรุงจิต ตรามงกุฎพญานาคคู่ แพงสุด คือ 32.50 บาท ส่วนยาดมผสมสมุนไพร ตราหงส์ไทย สูตร 2 (กระปุกพลาสติก) ถูกสุด คือ 0.70 บาทข้อสังเกต        ·     ตัวอย่างที่แสดงข้อความที่ควรมีบนฉลากไว้ไม่ครบ มีดังนี้            (1) ไม่มีชื่อทางการค้ากำกับไว้ ได้แก่ สมุนไพรดมโบราณ และสมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ            (2) ไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา ได้แก่ ยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์, สมุนไพรดมโบราณ, ยาดมโบราณ ตราศรีษะอโศก, สมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย            (3) ไม่ระบุปริมาณของยาที่บรรจุ ได้แก่ ยาดมชุติภา และยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์            (4) ไม่ระบุเลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตยา ได้แก่  5 ตัวอย่างที่ไม่มีเลขทะเบียนยา และยาดมสมุนไพร ตราโบว์แดง(กระปุกแก้ว)            (5) ไม่ระบุจังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยา ได้แก่ สมุนไพรดมโบราณ และยาดมโบราณ ตราศรีษะอโศก            (6) ไม่ระบุวัน/เดือน/ปีที่ผลิตยา ได้แก่ ยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์, สมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย            (7) ไม่ระบุคำว่า “ยาใช้ภายนอก” หรือ “ยาใช้เฉพาะที่” ด้วยอักษรสีแดงเห็นได้ชัด ได้แก่ ยาดมส้มมือ จรุงจิต ตรามงกุฎพญานาคคู่, ยาดมชุติภา, ยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์, สมุนไพรดมโบราณ, สมุนไพร ไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย        ·     ยาดมชุติภา ระบุอายุยาอยู่ที่ 33 ปี (วันผลิต 25/8/2022 ยาสิ้นอายุ 25/8/2055) น่าจะเป็นการพิมพ์ผิด        ·     ยาดมส้มมือ จรุงจิต ตรามงกุฎพญานาคคู่ และยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์ ไม่ระบุส่วนประกอบไว้        ·     มี 7 ตัวอย่างที่ไม่ระบุปริมาณของส่วนประกอบไว้        ·     มี 5 ตัวอย่าง ที่ไม่ระบุว่ามี ‘การบูร’ ในส่วนประกอบ ได้แก่ ยาดมทีเอฟดี, ยาดมชุติภา, สมุนไพรดมโบราณ, สมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย        ·     ยี่ห้อสมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ มีหน่วยปริมาณเป็นซีซี ในขณะที่ตัวอย่างอื่นๆ ระบุเป็นกรัม        ·     ส่วนใหญ่จะมีพิมเสน การบูร เกล็ดสะระแหน่ และน้ำมันยูคาลิปตัส เป็นส่วนประกอบเหมือนยาดมทั่วไป ส่วนสมุนไพรอื่นๆ ที่นำมาใช้มากสุด 3 ลำดับแรก คือ กานพลู (กลิ่นหอมจัด น้ำมันหอมระเหยมาก ช่วยขับลม) ดอกจันทน์ (แก้ลม ขับลม) และผิวมะกรูด (มีน้ำมันหอมระเหย แก้ลม วิงเวียน)        ·     3 ใน 5 ของตัวอย่างที่ไม่มีเลขทะเบียนยา ใช้คำว่า ‘สมุนไพร’ นำหน้าชื่อผลิตภัณฑ์ ฉลาดซื้อแนะ        ·     ยาดมสมุนไพรจัดเป็นยาแผนโบราณ หากผลิตเพื่อจำหน่ายต้องทำการขึ้นทะเบียนเป็นตํารับยาแผนโบราณให้ถูกต้อง แต่ไม่บังคบหากเป็นในรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีส่วนประกอบและลักษณะการใช้สูดดมเพื่อแก้อาการวิงเวียน คัดจมูก คล้ายกัน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในระดับหนึ่ง หากเลือกได้ผู้บริโภคควรเลือกยาดมสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ดมที่มีเลขทะเบียนยาถูกต้องหรือมีสัญลักษณ์ยาสามัญประจำบ้าน หรืออย่างน้อยๆ ควรมีแหล่งผลิตที่ได้รับอนุญาตหรือซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือได้          ·     การบูร เป็นสารกระตุ้นในระบบประสาทชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสพติดได้ หากสูดดมกลิ่นที่เข้มข้นของการบูรบ่อยๆ อาจทำให้แพ้หรืออักเสบได้ จึงไม่ควรสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานาน        ·     ระวังการสัมผัสถูกกับบริเวณริมฝีปาก รอบดวงตา หรือบริเวณผิวหนังอ่อน อาจทำให้ระคายเคืองได้ และควรเก็บให้พ้นจากมือเด็กด้วย        ·     การสูดดมนานๆ บ่อยๆ อาจทําให้เกิดอาการระคายเคืองจมูกและทางเดินหายใจได้ ควรใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆ หากใช้แล้วเกิดความผิดปกติ ควรหยุดใช้ทันทีและรีบปรึกษาแพทย์        ·     มีคำแนะนำจากผู้ผลิตบางรายว่า หากกลิ่นยาดมสมุนไพรเริ่มจางแล้ว ให้นำไปตากแดด จะทำให้กลิ่นสมุนไพรกลับมาหอมขึ้นได้ (ผู้บริโภคลองทำตามดูว่าได้ผลจริงหรือไม่)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ผลสำรวจฉลากยาดม ตอนที่ 1

        อากาศเมืองไทยตลอดปีมีทั้งร้อน ร้อนมาก ร้อนสุดๆ ทำให้หลายคนเกิดอาการหน้ามืด วิงเวียน คล้ายจะเป็นลม จึงต้องมียาดมพกไว้ให้พร้อมเพื่อผ่อนคลายอาการซึ่งนี่เป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตลาดยาดมเติบโตมีมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านต่อปี โดยนอกจากสำรวจพบว่าคนไทย 10% ใช้ยาดม และใช้อย่างน้อยเดือนละ 2 หลอดแล้ว (ข้อมูล : Nielsen ประเทศไทย) ปัจจุบันยาดมของไทยยังเป็นของฝากที่นักท่องเที่ยวต้องหิ้วกลับไปอีกด้วย อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่ายาแล้วก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญด้วย เพราะยาดมในรูปแบบต่างๆ นั้น หาซื้อได้ง่ายในราคาไม่แพง         ส่วนประกอบหลักๆ ในยาดม คือเมนทอล การบูร พิมเสน น้ำมันหอมระเหยต่างๆ ซึ่งจะทำให้รู้สึกเย็นซ่าในโพรงจมูก สดชื่น ตื่นตัวได้ แต่การสูดดมสารเหล่านี้บ่อยๆ อาจเสี่ยงทำให้เยื่อเมือกบุทางเดินจมูกที่สัมผัสกับกลิ่นที่เข้มข้นเป็นประจำเกิดการระคายเคืองได้         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ยาดมที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นไว้ใช้ดมหรือทาแก้วิงเวียนและคัดจมูก ทั้งแบบหลอด แบบน้ำ และแบบขี้ผึ้ง จำนวน 22 ตัวอย่าง 16 ยี่ห้อ เมื่อเดือนมีนาคม 2566 มาสำรวจการแสดงข้อความบนฉลาก ส่วนประกอบที่พึงระวัง และเปรียบเทียบราคา เพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไปผลการสำรวจฉลาก        จากยาดม 22 ตัวอย่าง แบ่งเป็น รูปแบบหลอด 8 ตัวอย่าง แบบน้ำ 13 ตัวอย่าง และแบบขี้ผึ้ง 1 ตัวอย่าง พบว่า        ·     ทุกตัวอย่าง ระบุ ‘ชื่อยา’ ‘เลขทะเบียนตำรับยา’ ‘เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตหรือวิเคราะห์ยา’ ‘วัน เดือน ปี ที่ผลิต-หมดอายุ’ และ ‘คำเตือน เช่น  ยาใช้ภายนอก  ยาใช้เฉพาะที่ ห้ามรับประทาน หรือ For external use only’ ไว้บนฉลาก         ·     มี 16 ตัวอย่าง ระบุเป็น ‘ยาสามัญประจำบ้าน’ โดยปรากฏสัญลักษณ์ คิดเป็น 72.73 %  ของตัวอย่างทั้งหมด        ·     มี 18 ตัวอย่าง แสดง ‘คำระบุบนฉลาก’ ว่าเป็น ยาแผนโบราณ หรือ ยาแผนไทย        ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 หน่วย (ซีซี / มิลลิลิตร / กรัม)            - จากตัวอย่างยาดมทั้งหมด พบว่า ยาดมพิมเสนน้ำ ตราหงส์ไทย(ขวดแก้ว) แพงสุด คือ 16.88 บาท / ซีซี  ส่วนยี่ห้อไอซ์ เจลลิ บาล์ม  ถูกสุด คือ 2.86 บาท / กรัม            - จากตัวอย่างยาดมแบบหลอด พบว่า ยาดมตราพาสเทล แพงสุด คือ 16.67 บาท / มิลลิลิตร  ส่วน ยาดมพีเป๊กซ์  ถูกสุด คือ 8 บาท / ซีซี / หลอด            - จากตัวอย่างยาดมแบบน้ำ พบว่า พิมเสนน้ำตราโป๊ยเซียน(กระปุก) ถูกสุด คือ 4 บาท /ซีซี ข้อสังเกต        ·     มี 4 ตัวอย่าง ที่ไม่ระบุว่ามี ‘การบูร’ ในส่วนประกอบ ได้แก่ ยาดมพีเป๊กซ์ ยี่ห้อวาเป๊กซ์ เอชอาร์ พิมเสนน้ำและยาหม่องน้ำ ตราขาวละออ        ·     ยาดมพีเป๊กซ์ มีเมทิล ซาลิไซเลต (Methyl Salicylate) ปริมาณ 0.05% ในส่วนประกอบ ซึ่งสารนี้มีคุณสมบัติแก้ปวดเมื่อย            ·     ยาหม่องน้ำเซียงเพียวอิ๊ว สูตร 1 มีอายุยาอยู่ที่ 5 ปี (ผลิต 21/7/22 หมดอายุ 21/7/27) ขณะที่ตัวอย่างอื่นๆ มีอายุยาอยู่ที่ 2 - 3 ปี          ·     ยี่ห้อไอซ์ เจลลิ บาล์ม และยาดมตราพาสเทล แสดงคำว่า “ยาสิ้นอายุ” ไว้บนฉลาก โดยไม่ได้เป็นยาสามัญประจำบ้าน        ·     เมื่อดูตามเกณฑ์ข้อความที่ต้องแสดงบนฉลากในกลุ่มที่เป็น’ยาสามัญประจำบ้าน’ พบว่า            - ยาดมผสมสมุนไพร ตราหงส์ไทย สูตร 2 (หลอด) ไม่ระบุปริมาณของยาที่บรรจุ            - ยาดมสมุนไพร ตราอภัยภูเบศร และยาหม่องน้ำขาวละออ ไม่ระบุปริมาณของส่วนประกอบ            - มีเพียง 2 ตัวอย่าง ที่แสดงคำว่า “ยาสิ้นอายุ” ได้แก่ ยี่ห้อวาเป๊กซ์ เอชอาร์ และยาดมท่านเจ้าคุณ            - พิมเสนน้ำตราโป๊ยเซียน(กระปุก) ไม่ระบุชื่อผู้ผลิตและจังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยา ฉลาดซื้อแนะ        ·     หลายคนเลือกซื้อยาดมเพราะติดกลิ่นและใช้แล้วเห็นผลดั่งใจ แต่ก็อย่าลืมเลือกที่มีเลขทะเบียนยาถูกต้องด้วย หรือเลือกที่มีสัญลักษณ์ยาสามัญประจำบ้าน เพื่อความปลอดภัยในระดับหนึ่ง        ·     เภสัชกรแนะนำว่า ยาหม่องน้ำซึ่งมีข้อบ่งใช้คือทาแก้อาการปวดเมื่อย ที่มีเมทิล ซาลิไซเลต เป็นตัวยาหลักนั้น ไม่ควรนำมาใช้สูดดม เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ        ·     การบูร เป็นสารกระตุ้นในระบบประสาทชนิดหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการเสพติดได้ หากสูดดมกลิ่นที่เข้มข้นของการบูรบ่อยๆ อาจทำให้แพ้หรืออักเสบได้ เช่น โพรงจมูกอักเสบ ติดเชื้อในโพรงจมูก ไซนัสอักเสบ เยื่อบุโพรงจมูกเสียหาย และการระคายเคืองที่อาจรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบได้ จึงไม่ควรสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานาน และใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้นหลีกเลี่ยงพฤติกรรมติดยาดม คือหยิบมาสูดดมหรือทาเป็นประจำ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอาการวิงเวียนหรือคัดจมูกใดๆ เพราะอาจเสี่ยงได้รับสารต่างๆ ในยาดมเกินความจำเป็น  และทำให้เสียบุคลิกอีกด้วยข้อมูลอ้างอิง  mahidol.ac.th บทความ ยาดมมีอันตรายหรือไม่BrandAge Onlinehttps://wizsastra.com/2017/10/15/householddrugs/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 กระแสต่างแดน

ถูกใจสิ่งนี้        ชาวเน็ตจีนแห่สรรเสริญมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหูหนาน ที่ใช้วิธีการอันแยบยลในการช่วยเหลือนักศึกษาที่มีปัญหาทางการเงิน         จากการวิเคราะห์ข้อมูล “บิ้กดาต้า” เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินซื้ออาหารกลางวันของนักศึกษา 40,000 กว่าคน มหาวิทยาลัยพบว่ามีอย่างน้อย 2,000 คน ที่กินข้าวในโรงอาหารวันละ 3 มื้อ โดยใช้เงินไปไม่ถึง 11 หยวน (ประมาณ 55 บาท)         มหาวิทยาลัยจะพิจารณาว่านักศึกษาคนใดในกลุ่มนี้สมควรได้รับความช่วยเหลือ แล้วก็จะโอนมูลค่าเครดิต 200 หยวนเข้าไปใน “บัตรอาหาร” โดยอัตโนมัติ โดยจะโอนให้ปีละ 4 ครั้ง ในเดือนมีนาคม พฤษภาคม กันยายน และ พฤศจิกายน         ผู้บริหารบอกว่าเด็กที่ฐานะทางบ้านยากจนส่วนใหญ่จะไม่กล้าติดต่อขอความช่วยเหลือ จึงเลือกใช้วิธีนี้เพราะสามารถช่วยให้เด็กเหล่านั้นได้กินอาหารอิ่ม โดยไม่ต้องรู้สึกด้อยกว่าคนอื่นฉลากไม่เป็นมิตร         องค์กรผู้บริโภคยุโรป (BEUC) เรียกร้องให้แบนคำว่า “carbon neutral” “CO2 neutral” หรือ “climate positive” บนฉลากสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มในสหภาพยุโรป        การสำรวจพบว่าข้อความคลุมเครือเหล่านี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในสินค้าที่ขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตของกลุ่มประเทศสมาชิก         นอกจากฉลากหรือสัญลักษณ์ที่อ้างความ “เป็นมิตรต่อโลก” ในยุโรปที่มีมากถึง 230 แบบ จะสร้างความสับสนให้ผู้บริโภคแล้ว ยังทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่ากระบวนการผลิตสินค้าเหล่านั้นไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนในกระบวนการผลิต ทั้งที่จริงๆ แล้วบริษัทเพียงใช้วิธีปลูกป่าเพื่อนำมาหักล้าง โดยยังคงสร้างคาร์บอนต่อไป และไม่มีหลักประกันว่าจะไม่สร้างเพิ่มขึ้นในอนาคต เป็นต้น          ปัจจุบัน “ฉลากสิ่งแวดล้อม” ที่ใช้กันทั่วโลกมีถึง 450 แบบ จึงน่าจะมีผู้บริโภคอีกจำนวนมากที่เข้าใจผิดว่าตัวเองได้เลือกสินค้าที่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย อุปสรรคสำคัญ         สหประชาชาติระบุ การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวดเป็นปัจจัยบั่นทอนความพยายามของรัฐในการจัดหาแหล่งน้ำดื่มสะอาดให้กับประชากรอย่างทั่วถึงรายงานล่าสุดจาก UN University ที่สำรวจอุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวดใน 109 ประเทศ ยังพบความเหลื่อมล้ำอีกด้วย น้ำดื่มบรรจุขวดในซีกโลกเหนือจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ผู้คนซื้อดื่มเพราะต้องการน้ำที่รสชาติดีและดีต่อสุขภาพแต่ผู้คนในซีกโลกใต้ต้องพึ่งน้ำดื่มบรรจุขวดเพราะต้องการน้ำดื่มสะอาด และกำไรมหาศาลของบริษัทน้ำดื่มในเอเชียแปซิฟิกก็ตอกย้ำความเฉื่อยชาของภาครัฐในการลงทุนกับระบบน้ำดื่มสาธารณะ ที่น่าสนใจคือผู้คนยอมจ่ายเพื่อความปลอดภัย แต่แทบไม่มีการสุ่มตรวจคุณภาพโดยภาครัฐเลยธุรกิจที่ดึงน้ำมาใช้ด้วยต้นทุนต่ำและผลิตน้ำบรรจุขวดขายในราคาแพงกว่าน้ำประปาถึง 150 – 1,000 เท่านี้ยังเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน เพราะนอกจากจะสร้างขยะพลาสติกแล้ว ยังทำให้บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ด้วยไต้หวันจะไม่ทน         ไต้หวันเตรียมเสนอร่างกฎหมายพื้นฐานว่าด้วยความปลอดภัยบนท้องถนนในเดือนเมษายนนี้จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เครือข่ายถนนของไต้หวันถือเป็นปัญหาความมั่นคงระดับชาติ สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรอยู่ที่ 12.67 คนต่อประชากร 100,000 คนการจราจรในไต้หวันได้รับการขนานนามจากสื่อว่าไม่ต่างอะไรกับสนามรบ และยังเป็นนรกสำหรับคนเดินถนนโดยแท้ ในปี 2565 มีผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร ไม่หยุดรถที่ทางม้าลายให้คนข้ามถึง 50,000 รายรายงานข่าวระบุว่าปัญหาหลักของถนนไต้หวันคือการออกแบบและการก่อสร้างที่ล้าสมัย บวกกับการกำกับดูแลที่ไม่ทั่วถึงเพราะมีหน่วยงานเกี่ยวข้องมากเกินไป ถนนในไต้หวันทำมาเพื่อรองรับรถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก (แนวคิดเดียวกับถนนอเมริกาในยุค 60) ขนส่งมวลชนและคนเดินถนนจึงถูกละเลยการเพิ่มจำนวนไฟจราจรและกล้องวงจรปิดพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าสิ่งที่ไต้หวันต้องเปลี่ยนจริงๆ คือการออกแบบถนน และการปรับทัศนคติของผู้ขับขี่รถยนต์ ต้องมากกว่าหนึ่ง        นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศว่ารัฐบาลจะทบทวนการให้สิทธิผูกขาดกับผู้ประกอบกิจการ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีและเป็นธรรมโดยแต่ละกระทรวงได้รับคำสั่งให้ไปศึกษาเหตุผลและความเป็นมาที่รัฐบาลเคยให้สิทธิดังกล่าวกับเอกชนรายใดรายหนึ่ง และทำการประเมินอย่างรอบคอบและเป็นธรรมว่าจะให้สิทธินั้นต่อหรือไม่ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีมีมติไม่ต่ออายุสัมปทานแบบผูกขาดให้กับบริษัท Puspakom ที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตรวจสภาพรถยนต์ตาม พรบ. ขนส่งทางบก ค.ศ. 1987 แต่เพียงผู้เดียวในมาเลเซียตั้งแต่ปี 1994 ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถที่ใช้ในการประกอบธุรกิจหมายความว่าเมื่ออายุสัมปทานดังกล่าวหมดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 บริษัทอื่นที่ผ่านคุณสมบัติตามที่รัฐกำหนดก็สามารถประกอบกิจการดังกล่าวแข่งกับ Puspakom ที่ได้รับสัมปทานต่ออีก 15 ปีได้ เป็นที่ยินดีของผู้บริโภคที่จะไม่ต้องรอนาน และไม่ต้องทนกับภาวะไร้ทางเลือกอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สำรวจฉลากครีมนวดผม พบซิลิโคนในครีมนวดทุกตัวอย่าง ซึ่งจะสะสมทำให้ผมร่วงได้ เตือนผู้บริโภคศึกษาชื่อสารเคมีบางชนิดเพื่อรู้เท่าทันฉลาก

        วันนี้ (28 ตุลาคม 2565) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ  และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้เปิดเผยผลสำรวจฉลากครีมนวดผม เนื่องจากในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมมีการใช้สารเคมีที่มีผลกระทบต่อเส้นผม และหนังศีรษะหลายชนิด เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค จึงสุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ครีมนวดผม” จำนวน 12 ตัวอย่าง  ในเดือนมิถุนายน 2565  จากห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ตชั้นนำทั่วไป  ได้แก่ยี่ห้อ ซันซิล , เทรซาเม่ , ลอรีอัล ปารีส , บุ๊ทส์ , รีจอยส์ , โดฟ , เฮดแอนด์โชว์เดอร์ , แพนทีน , วัตสัน ,  เฮอร์บัล เอสเซนส์ ,ซึบากิ ,เคลียร์ ผลการสำรวจฉลากครีมนวดผม ทั้ง 12 ตัวอย่าง           -  พบสารซิลิโคนทั้ง 12 ตัวอย่าง        -  ไม่พบ พาราเบน ฟอร์มาดีไฮด์ และอิมิดาโซลิตินิล ยูเรีย        -  พบเมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (MIT) ใน 7 ตัวอย่าง  คิดเป็น 58.33 % ของตัวอย่างทั้งหมด        -  พบพีน็อกซี่เอทานอล ใน 8 ตัวอย่าง คิดเป็น 66.67 % ของตัวอย่างทั้งหมด        -  เมื่อคำนวณเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ  1 มิลลิลิตร พบว่า ยี่ห้อเคลียร์ แอนตี้แดนดรัฟ สกาล์ป แคร์ คอนดิชันเนอร์ ไอซ์คูล เมนทอล แพงสุดคือ 0.61 บาท ส่วนยี่ห้อซันซิล แดเมจ รีสโตร์เซรั่มคอนดิชันเนอร์ แอคทีฟ-อินฟิวส์ชั่น ถูกสุดคือ 0.16 บาท         นอกจากนี้ จาก 12 ตัวอย่าง  มี 4 ตัวอย่างที่พบสารกันเสียทั้งเมทิลไอโซไทอะโซลิโนนและพีน็อกซี่เอทานอล ซึ่งเป็นการใช้สารเคมีกันเสียมากกว่า 1 ชนิดใน 1 ผลิตภัณฑ์  และมี 4 ตัวอย่างที่ระบุวันที่ผลิตแต่ไม่ระบุวันหมดอายุ         ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ปัจจุบันหลายปัจจัยแวดล้อมทำให้ผมเสียทั้งแสงแดด ฝุ่นควัน ความร้อนจากการเป่าและหนีบผม รวมถึงสารเคมีจากการทำสีผม ไฮไลต์ผม สังเกตพบว่า ในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมจึงมีการใช้สารเคมีที่มีผลกระทบต่อเส้นผม และหนังศีรษะหลายชนิด และเนื่องจากผู้บริโภคต้องการดูแลเส้นผมมากขึ้น จึงส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ได้รับความนิยมมากขึ้น ตามไปด้วย  ในปี 2564 ตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมในประเทศไทย เติบโตถึง 5.6% มูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท ในการตลาดระดับโลก ผลิตภัณฑ์ครีมนวดผมและทรีตเมนต์มีมูลค่าการขายเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปี 2563         ดังนั้น ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีคำแนะนำในการเลือกซื้อ เลือกใช้ครีมนวดผมคือ หนึ่ง เลือกซื้อครีมนวดผมคือ  เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย และมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนด คือ ชื่อผลิตภัณฑ์ประเภทสารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและสถานที่ตั้งผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตและปริมาณสุทธิ เพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญที่เชื่อถือได้ และผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบปริมาณ และคุณภาพเทียบกับราคาได้   สอง เมื่อซื้อครีมนวดผมที่มีโปรโมชันลดราคาเยอะๆ ยิ่งควรสังเกตวันหมดอายุให้ดี เพราะหากหมดอายุไปแล้ว จะเสียเงินเปล่าและจะทำให้สารเคมีในครีมนวดผมมีอันตรายต่อเส้นผมและหนังศีรษะมากขึ้น  สาม  การใช้ครีมนวดผม ไม่ควรชโลมครีมนวดผมที่หนังศีรษะเพราะทำให้หนังศีรษะมัน ครีมนวดผมนั้นยังถูกออกแบบมาให้บำรุงเฉพาะเส้นผม การใช้ครีมนวดผมให้ได้ผลดีที่สุด คือการใช้บริเวณกลางเส้นผมจรดปลาย  นอกจากนี้เมื่อรู้ว่า ครีมนวดผมที่เลือกใช้มีส่วนผสมของซิลิโคน ยิ่งควรล้างออกให้สะอาดเพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีตกค้างสะสม  สี่ หากระคายเคืองผิว หรือแพ้ คันจากการใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ นอกจากหยุดใช้และไปพบแพทย์แล้ว ควรศึกษาฉลาก ดูส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้นให้ดี เพราะจะได้สามารถเลือกซื้อครีมนวดผมที่จะไม่มีส่วนผสมของสารเคมีที่แพ้อีกในครั้งหน้า          นอกจากนี้ฉลาดซื้อขอแนะนำว่า ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติใกล้ตัว ในครัว เช่น มะกรูด อัญชัน ไข่ไก่ โยเกิร์ต  น้ำมันมะพร้าว  เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้บำรุงเส้นผม โดยที่ไม่มีสารเคมีตกค้างได้เช่นกัน         อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่บทความทดสอบ จากนิตยสารฉลาดซื้อ “มีอะไรน่าสนใจใน “ครีมนวดผม” https://www.chaladsue.com/article/4095

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 สำรวจฉลากส่วนประกอบในแยมส้มและมาร์มาเลดส้ม

        ฉลาดซื้อฉบับที่ 234 ได้เคยนำเสนอเรื่องปริมาณเนื้อผลไม้ในแยมสตรอว์เบอร์รีมาแล้ว คราวนี้ขอเอาใจคนที่ชื่นชอบรสชาติของ “แยมส้ม” และ”มาร์มาเลดส้ม” กันบ้าง          “แยมส้ม” จะมีส่วนประกอบหลักคือ เนื้อส้ม น้ำส้ม และน้ำตาล เนื้อเนียนละเอียด รสหวานนำ ส่วน ”มาร์มาเลดส้ม” จะใส่ผิวส้มเพิ่มเข้าไปด้วย จึงเจือรสขมผสมกับรสหวานอมเปรี้ยว เนื้อหยาบกว่ากินแล้วสัมผัสได้ถึงผิวส้มและเนื้อส้ม หอมกลิ่นส้มในปาก         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์แยมส้มและมาร์มาเลดส้มจำนวน 18 ตัวอย่าง ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ จากห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 โดยสำรวจฉลากเพื่อพิจารณา สัดส่วนของปริมาณส้ม (เนื้อส้ม น้ำส้มและผิวส้ม) และปริมาณน้ำตาล พร้อมกับเปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนัก 1 กรัม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ผู้บริโภคเลือกว่ายี่ห้อไหนจะมีรสชาติถูกปาก คุ้มค่าและปลอดภัยสำหรับคุณ ผลการสำรวจ         จากการสำรวจฉลากส่วนประกอบของแยมส้มและมาร์มาเลดส้มทั้ง 18 ตัวอย่าง พบว่า         1. สัดส่วนของปริมาณส้มรวม (เนื้อส้ม น้ำส้มและผิวส้ม) => ยี่ห้อดาโบ มีมากที่สุดคือ 70% ส่วนยี่ห้อเบสท์ ฟู้ดส์ มีน้อยที่สุดคือ 20%         2.สัดส่วนของปริมาณน้ำตาลรวม (รวมน้ำตาลที่ให้ความหวานและพลังงานทุกชนิด) => ยี่ห้อแม็คเคย์ มีมากที่สุด คือ 72% ส่วนยี่ห้อทิพทรี มีน้อยที่สุดคือ 10%         3.สัดส่วนของปริมาณน้ำตาลที่ระบุว่าเป็น “น้ำตาล” => ยี่ห้อแม็คเคย์ มีมากที่สุด คือ 72% ส่วนยี่ห้อสตรีมไลน์ มีน้อยที่สุดคือ 9%         4.เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนัก 1 กรัม => ยี่ห้อทิพทรี แพงสุดคือ 1.23 บาท ส่วนยี่ห้อเอ็มไพร์ ถูกสุดคือ 0.20 บาท  ข้อสังเกต        - ยี่ห้อเซนต์ดาลฟูร์ ไม่ระบุว่ามีน้ำตาลชนิดใดๆ เพิ่มเข้าไปในส่วนประกอบ แต่เมื่อดูที่ฉลากโภชนาการระบุว่ามีปริมาณน้ำตาลต่อหนึ่งหน่วยบริโภค(1 ช้อนโต๊ะ = 15 กรัม) อยู่ 8 กรัม ซึ่งเป็นน้ำตาลจากน้ำผลไม้        - ยี่ห้อสทิ้ว ระบุว่า ‘no sugar added’ ไม่ใส่น้ำตาล แต่ใช้ซอร์บิทอล(วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล)        - มี 4 ยี่ห้อ เป็นสูตรลดน้ำตาล (Reduce Sugar) ได้แก่ มายช้อยส์, บอนน์ มาม็อง, สตรีมไลน์ และทิพทรี        - ยี่ห้อดอยคำ ปริมาณ 130 กรัม เป็นแบบหลอดบีบที่น่าจะช่วยลดการปนเปื้อน และใส่วัตถุกันเสีย มีคำแนะนำให้เปิดแล้วควรเก็บไว้ในตู้เย็นและบริโภคให้หมดภายใน 2 สัปดาห์        - มี 8 ยี่ห้อระบุว่าใส่วัตถุกันเสีย มี 6 ยี่ห้อแต่งกลิ่น และมี 5 ยี่ห้อแต่งสี ฉลาดซื้อแนะ        - ถ้าใครไม่ชอบรสขม ลองเลือกมาร์มาเลดส้มที่มีผิวส้มน้อยหน่อย        - ใครที่ชอบรสหวานแต่ไม่อยากอ้วน ลองเลือกแยมส้มที่ให้ความหวานจากน้ำผลไม้ น้ำเชื่อมข้าวโพด หรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอื่น ๆ  ซึ่งมีรสหวานและให้พลังงานน้อยกว่าน้ำตาลปกติ แต่ถ้ากินเพลินจนเยอะเกินก็เสี่ยงน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้        - เปิดขวดแยมแล้วให้แช่ในตู้เย็น ควรใช้ช้อนสะอาดตักแบ่งใส่ถ้วยก่อนทาขนมปัง เพื่อลดการปนเปื้อน        -จดวันที่ที่เปิดขวดแยมส้มครั้งแรกไว้ แยมส่วนใหญ่จะหมดอายุหลังจากเปิด 3 เดือน หรือดูที่ฉลากแนะนำ        - ถ้าใครกินไม่บ่อยและไม่ค่อยเยอะ ซื้อขวดเล็กก็พอ จะได้กินหมดก่อนวันหมดอายุ แต่ถ้าใครกินเป็นประจำทุกวันให้ซื้อขวดใหญ่จะคุ้มค่ากว่า        - หลายคนเลือกซื้อแยมส้มที่รสชาติอร่อยถูกปากและความคุ้มค่า แต่ก็อย่าลืมคำนึกถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย ลองเลือกที่มีส้มเยอะ มีน้ำตาลน้อยหรือไม่มีเลย ไม่ใส่วัตถุกันเสีย ไม่แต่งกลิ่นแต่งสี ก็น่าจะดี ข้อมูลอ้างอิงhttps://bestreview.asia/best-orange-jams/ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์วิปปิ้งครีม(ครีมแท้)

        ฉบับนี้ขอชวนผู้บริโภคสายเบเกอรี่ ทั้งคนชอบกินและคนชอบทำ มาสำรวจฉลากวิปปิ้งครีมกัน         ‘วิปปิ้งครีม’เป็นครีมจากน้ำนมหรือไขมันพืช เมื่อตีให้ขึ้นฟูจนครีมตั้งยอดได้ก็จะเป็น ’วิปครีม’           เมื่อก่อนเรามักลิ้มรสชาติวิปครีมที่หอมมัน นุ่มละมุนลิ้น บนหน้าเค้กหรือเป็นส่วนประกอบในขนมเบเกอรี่ต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นไอศกรีม น้ำปั่น น้ำหวาน เครื่องดื่มร้อน-เย็น ก็ใส่วิปครีมเป็นหน้าท็อปปิ้งเพิ่มความอร่อยได้หลากหลายเมนู และกำลังนิยมกันมาก หากบริโภคบ่อยๆ เสี่ยงไขมันเกินได้         ทั้งนี้ นมสด 100% จะมีไขมัน 3.3% ในตำราเบเกอรี่ระบุว่า วิปปิ้งครีมแท้จะมีไขมันเนย 30-36%         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์วิปปิ้งครีม ทั้งหมด 12 ตัวอย่าง เลือกเฉพาะที่ระบุว่าเป็นครีมแท้ชนิดวิปปิ้งครีม จากร้านค้าและห้างค้าปลีก มาสำรวจฉลากเพื่อดูเปอร์เซ็นต์ของครีมแท้จากนม ปริมาณพลังงานและไขมันทั้งหมด รวมถึงความคุ้มค่า เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค           ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 208) พ.ศ.2543 เรื่อง ครีม ระบุให้ครีมเป็นอาหารที่กําหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน “ครีมแท้” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่แยกได้จากนม โดยกรรมวิธีต่าง ๆ และมีมันเนยเป็นส่วนประกอบที่สําคัญ สำหรับมาตรฐานของครีมแท้ชนิดวิปปิ้งครีม คือต้องทำจากนมและมีมันเนยไม่น้อยกว่าร้อยละ 28 ของน้ำหนัก ผลสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์วิปปิ้งครีม(ครีมแท้)-จากทั้งหมด 12 ตัวอย่าง พบว่ามี 4 ตัวอย่าง ที่ระบุว่าเป็นครีมแท้จากนมโค 100 % ได้แก่ ยี่ห้อแมกโนเลีย, โฟร์โมส, เมจิ และเอ็มมิลค์-ค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์ครีมแท้ในตัวอย่างวิปปิ้งครีมทั้งหมด คือ 95.44 %  - มี 3 ตัวอย่างที่มีเปอร์เซ็นต์ครีมแท้น้อยกว่าค่าเฉลี่ย คือ ยี่ห้อเวสท์โกลด์ (86%), พอลส์(81.76%) และเดบิค(81%)-เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่า ยี่ห้อเพรสซิเด้นท์ แพงสุด คือ 0.75 บาท  ส่วนยี่ห้อเอโร่ ถูกสุดคือ 0.17 บาท-มี 6 ตัวอย่าง ที่แสดงฉลากโภชนาการระบุปริมาณพลังงานและไขมันทั้งหมดในวิปปิ้งครีม 100 มิลลิลิตร ได้แก่ ยี่ห้อแองเคอร์, เอ็มบอร์ก, พอลส์, เพรสซิเด้นท์, เดบิค และเวสท์โกลด์ พบว่ามีปริมาณพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 335.9 กิโลแคลลอรี และปริมาณไขมันทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 35.3 กรัม-ยี่ห้อเอ็มบอร์กและพอลส์ มีพลังงานมากที่สุดคือ 337 กิโลแคลลอรี่ต่อ 100 มิลลิลิตร ส่วนยี่ห้อเวสท์โกลด์ มีพลังงานน้อยที่สุดคือ 334.6 กิโลแคลลอรี่ต่อ 100 มิลลิลิตร  -ยี่ห้อแองเคอร์ และเวสท์โกลด์ มีไขมันทั้งหมดมากที่สุดคือ 35.5 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ส่วนยี่ห้อเดบิค มีไขมันทั้งหมดน้อยที่สุดคือ 35 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร   ข้อสังเกต-ทั้ง 4 ตัวอย่างที่มีครีมแท้จากนมโค 100 % เป็นวิปปิ้งครีมพาสเจอร์ไรส์ ที่ผลิตในประเทศไทย และไม่มีฉลากโภชนาการที่ระบุปริมาณพลังงานและไขมันทั้งหมดไว้-มี 6 ตัวอย่างที่นำเข้าจากต่างประเทศ คิดเป็น 50% ของตัวอย่างที่นำมาสำรวจ-ยี่ห้อเพรสซิเด้นท์ ที่มีราคาต่อหน่วยแพงสุด มีครีมแท้ 99.6% นำเข้าจากฝรั่งเศส ส่วนยี่ห้อเอโร่ ที่ราคาต่อหน่วยถูกสุด มีครีมแท้ 99.97% ผลิตในประเทศไทย-ยี่ห้อเวสท์โกลด์ มีพลังงานน้อยที่สุด แต่มีไขมันทั้งหมดมากที่สุด-ปริมาณพลังงานเฉลี่ยของวิปปิ้งครีม 100 มิลลิลิตร อยู่ที่ 335.9 กิโลแคลอรี ถือว่าพอๆ กับพลังงานของอาหารจานเดียว 1 จานที่ปริมาณ 300 – 600 กิโลแคลอรี และคิดเป็นประมาณ 16.8% ของปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน (2,000 กิโลแคลอรี่) นี่คือวิปปิ้งครีมจืดๆ แต่ถ้านำไปตีเป็นวิปครีมแล้วใส่ส่วนผสมอื่นๆ เพิ่ม เช่น น้ำตาล คาราเมล หรือช็อกโกแลต ก็จะได้พลังงานบวกเพิ่มเข้าไปอีก-ค่าเฉลี่ยของปริมาณไขมันทั้งหมดในวิปปิ้งครีม 100 มิลลิลิตร อยู่ที่ 35.3 กรัม คิดเป็นประมาณ 54.3% ของปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน (< 65 กรัม) ซึ่งค่อนข้างสูงทีเดียว- ในฉลากระบุว่ามีไขมันทรานส์ด้วย ไม่ต้องตกใจ เพราะอยู่ในน้ำนมธรรมชาติ และมีปริมาณน้อยมาก (0.94 -1.7 กรัม) ฉลาดซื้อแนะคนชอบกิน - ควรกินวิปปิ้งครีมแท้ โดยสังเกตว่าวิปครีมที่ทำจากวิปปิ้งครีมแท้ จะสีออกเหลือง ไม่ขาวจั๊ว หอมมันกลิ่นนมสดเข้มข้น กินแล้วละลายในปาก ไม่มีคราบมันติดปาก อย่างไรก็ตามควรบริโภคแต่น้อย  เพื่อลดเสี่ยงภาวะไขมันเกินคนชอบทำ - ก่อนซื้อวิปปิ้งครีมควรดูฉลากให้ชัดเจน เพราะครีมที่ใช้ทำขนมเบเกอรี่ยังมีอีกหลายชนิด เช่น ฮาลฟ์ครีม(ไขมัน 10-18%) คุกกิ้งครีม (ไขมัน 18-56%) เฮฟวี่ครีม(ไขมัน 36-38%)และดับเบิ้ลครีม(ไขมัน 48-60%) หากจะทำวิปครีม แล้วซื้อครีมที่มีไขมันน้อยกว่า 35% มา อาจตียากหรือตีไม่ขึ้นเลยก็ได้         -จากตัวอย่างมีหมายเหตุบนฉลากว่า “เปิดแล้วใช้ให้หมดภายใน...” น้อยที่สุด  1 วัน มากที่สุด 4 วัน เพราะตามมาตรฐานครีมแท้จะต้องไม่มีวัตถุกันเสีย เมื่อเปิดแล้วจะเก็บได้ไม่นาน จึงควรดูวันหมดอายุให้ดีๆ ซื้อมาเท่าที่จะใช้ ไม่ควรซื้อตุน         -ถ้าใช้ไม่หมด ให้แรปปิดกล่องให้สนิท หรือเทส่วนผสมใส่ภาชนะสะอาดและเขียนวันหมดอายุติดไว้ด้วย เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา อย่าใส่ช่องแช่แข็ง ครีมจะแข็งแล้วตีไม่ขึ้นฟู         -เมื่อหมดอายุแล้ว ต้องทิ้งไป แม้บางทีรสชาติและลักษณะของวิปปิ้งครีมยังเหมือนเดิม ก็อย่าเสียดาย เพราะอาจมีเชื้อราที่มองไม่เห็นเจือปนอยู่ได้  ข้อมูลอ้างอิงhttps://my-best.in.th/50276https://krua.co/cooking_post/whipping-cream/https://www.dip.go.th/files/Cluster/20.pdfhttp://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P208.pdf

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 246 ฮาวทู (ไม่) ทิ้ง

         ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักถึงผลกระทบจากการกินการใช้สินค้า/บริการ และต้องการทางเลือกที่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 74 ของผู้บริโภคในยุโรป สหรัฐอเมริกา และอเมริกาใต้ ยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่แพ็คเกจรีไซเคิลได้         ผู้ประกอบการหลายเจ้าก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น มาดูกันว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจากผู้ผลิตค่ายใหญ่ มีการปรับปรุงแพ็คเกจให้เหลือเป็น “ขยะ” น้อยลง และให้ความรู้กับผู้บริโภคเรื่องวิธีการ “ทิ้ง”หรือ “รีไซเคิล” แพ็คเกจที่ใช้แล้วหรือไม่           Consumers International หรือสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกใน 9 ประเทศ (บราซิล โปรตุเกส ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย อินเดีย และฮ่องกง ทั้งหมดนี้มีผู้บริโภครวมกันไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านคน) ทำการสำรวจบรรจุภัณฑ์ของกินของใช้ยอดนิยม 11 ชนิดที่มีจำหน่ายในประเทศดังกล่าว ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 ว่าสามารถคัดแยกไปรีไซเคิลได้สะดวกหรือไม่และมีฉลากที่ให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงใด         มีข้อค้นพบที่น่าสนใจจากการสำรวจดังนี้        · ในภาพรวม ร้อยละ 35 ของแพ็คเกจผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่สำรวจยังเป็นภาระในการรีไซเคิล        · ถ้าเฉลี่ยเป็นรายชิ้นจะพบว่า ร้อยละ 17 ของแพ็คเกจแต่ละชิ้นไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และยิ่งเป็นพลาสติกชิ้นบางเบา ก็ยิ่งยากต่อการรีไซเคิล        · เมื่อเทียบแพ็คเกจสินค้า 11 ชนิด ในแต่ละประเทศ ฮ่องกงมีสัดส่วนของแพ็คเกจที่นำไปรีไซเคิลได้มากที่สุด ในขณะที่บราซิลมี “ขยะ” เหลือทิ้งมากที่สุด          ·  สำหรับอีก 7 ประเทศ ดูได้จากตารางด้านล่างนี้                   · ฉลากสินค้าเหล่านี้ในทุกประเทศที่สำรวจ ไม่ระบุวิธี “ทิ้ง” บางชนิดมีแพ็คเกจที่นำไปรีไซเคิลได้ แต่ฉลากกลับไม่แจ้งไว้ หรือกรณี M&M ของโปรตุเกส ที่แพ็คเกจระบุว่าให้นำไปทิ้งลงถัง ทั้งๆ ที่มันสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100%        · ฉลากมีข้อความที่ไม่สามารถเข้าใจได้ง่ายโดยผู้บริโภคในประเทศ เช่น ฉลากน้ำแร่ซานเพลลิกรีโน ที่ขายในออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ กลับมีการแสดงสัญลักษณ์แบบที่ใช้ในยุโรป        · จากการเปรียบเทียบฉลากสินค้า 11 ชนิด ใน 9 ประเทศ พบว่า ออสเตรเลีย บราซิล และฝรั่งเศส มีสินค้าที่มีฉลากให้ข้อมูลรีไซเคิลมากกว่า 8 ชนิด อินเดีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร มีระหว่าง 5 – 8 ชนิด ฮ่องกงและโปรตุเกสมีไม่เกิน 4 ชนิด                     โดยสรุป ผู้บริโภคใน 9 ประเทศที่ทำการสำรวจรู้สึกว่า การคัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิลเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย ฉลากที่ไม่ชัดเจนหรือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอย่างรับผิดชอบต่อโลกเป็นเรื่องยาก หากต้องการไปให้ถึงเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน ภาระเรื่องนี้ต้องไม่ใช่ของผู้บริโภคอย่างเดียว ผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามนี้ รวมถึงภาครัฐที่ปัจจุบันยังมีระดับการจัดการเรื่องนี้แตกต่างกันไป ก็ควรมีกฎเกณฑ์ในเรื่องฉลากและมีศูนย์รีไซเคิลไว้รองรับด้วย           หลัก 7R ที่ผู้บริโภคอย่างเราสามารถใช้เพื่อช่วยลดขยะ        REFUSE         ปฏิเสธสิ่งที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม            REDUCE        ลดการใช้อย่างฟุ่มเฟือย รวมถึงเลือกสินค้าที่สามารถใช้งานได้นานขึ้น        REUSE           ใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำหลายครั้งก่อนทิ้ง        REFILL           เลือกใช้สินค้าชนิดเติมได้ เพื่อลดขยะบรรจุภัณฑ์        REPAIR          ซ่อมแซมเพื่อให้สามารถใช้ต่อได้ แทนที่จะปลดระวางมันไปเป็นขยะ        RETURN        เลือกสินค้าที่สามารถส่งคืนบรรจุภัณฑ์กลับสู่ผู้ผลิตได้          RECYCLE     แยกขยะที่ยังมีประโยชน์ออกมาเพื่อส่งแปรรูป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน

ขนส่งทางบกขยับใช้เทคโนโลยีแก้โกงแท็กซี่         15 มิถุนายน นายจักรกฤธ  ตั้งใจตรง  ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก  เปิดเผยผ่านแอปพลิเคชั่น Clubhouse ของสื่อมวลชน The Transport Talk ในหัวข้อเสวนา “แท็กซี่บุคคลผ่านแอปฯ vs แท็กซี่เดิม ความคาดหวังของผู้บริโภค”  ว่า ขนส่งฯ มีนโยบายแก้ไขปัญหาและยกระดับบริการของแท็กซี่ โดยหาแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาดูแลให้ผู้ขับแท๊กซี่ปฏิบัติตามกฏหมาย ป้องกันการโกงมิเตอร์ ปฏิเสธผู้โดยสาร หรือการขับรถเร็ว โดยจะเริ่มมีการนำจีพีเอสมาติดแท๊กซี่เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชั่น TAXI OK  พิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารให้สอดรับกับต้นทุนค่าจีพีเอส กสทช. เตือนระวัง SMS หลอกลวง ป้องสูญเงิน-ล้วงข้อมูลส่วนตัวไปใช้         นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า มีประชาชนได้รับข้อความสั้นหรือ  SMS  แอบอ้างว่าส่งมาจากธนาคาร หน่วยงานราชการหรือหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งผู้ส่งตัวจริงคือมิจฉาชีพที่แอบอ้างใช้วิธีการส่งลิงก์ประกอบข้อความ ในลักษณะคล้ายการแจ้งเตือนแบบระบบ อี-แบงกิ้ง หรือ SMS แจ้งสถานะทางการเงิน ทั้งนี้ประชาชนที่ได้รับข้อความอาจไม่เคยทำธุรกรรมใดกับธนาคารนั้นๆ มาก่อนหรือติดต่อกับหน่วยงานมาก่อน เป็นการหลอกให้ประชาชนกดลิงก์แนบเพื่อเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนบุคคล หรือทำให้สูญเสียเงินหรือถูกนำข้อมูลไปใช้ในคดีทางอาชญากรรมจนเกิดการความเสียหาย         นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน กล่าวว่า กสทช. ขอให้ประชาชนระมัดระวัง เมื่อได้รับ SMS ที่มีลิงก์ลักษณะดังกล่าวขอให้ตั้งสติหรืออย่าเพิ่งเชื่อข้อความที่ได้รับ แต่ให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของ SMS  สังเกตลิงก์ก่อนกด หากเป็นมิจฉาชีพ Url จะมีลักษณะแปลก ไม่ตรงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อ้างใน SMS หากสงสัยอย่าไปกดลิงก์ ให้โทรสอบถาม Call Center ของหน่วยงานแทน ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. สั่งการให้ผู้ประกอบการโทรมานาคมทุกรายตรวจสอบดูแลการส่ง SMS ที่ผ่านระบบของผู้ใช้บริการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนหรือเกิดกรณีหลอกลวง ขายประกันจำไว้ ถ้าถูกปฏิเสธภายใน 6 เดือนห้ามตื้อขายอีก        นายจอม จีระแพทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายตรวจสอบคนกลางประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบการธุรกิจ เปิดเผยว่า ได้ยกร่างประกาศใหม่ สำหรับแนวทางปฏิบัติหลักเกณฑ์วิธีการออกและเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย และดำเนินการของตัวแทน นายหน้า และธนาคาร พ.ศ.2563  เพิ่มเติมจากประกาศเสนอขายฉบับใหญ่เดิม โดยประกาศเดิมอาจมีถ้อยคำที่มีความยืดหยุ่นให้ธุรกิจไปปฏิบัติแต่บางเรื่องภาคธุรกิจยังมีความเห็นไม่ตรงกัน เพื่อให้ประชาชนและผู้เอาประกันภัยได้รับความเป็นธรรม คปภ. จึงยกร่างแนวปฏิบัติใหม่ เปิดรับความคิดเห็นภาคธุรกิจ ซึ่งปิดรับฟังความคิดเห็นภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้         นายจอม กล่าวว่า  “ร่างใหม่จะเป็นไกด์ไลน์ข้อแนะนำในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ถ้าเกิดกรณีมีความผิดปกติ หรือมีลักษณะทุจริต เราก็อ้างอิงแนวปฏิบัติจากตรงนี้ได้ ซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่ คปภ.พยายามกำหนดเกณฑ์ปฏิบัติแก้ไขส่วนที่ยังคลุมเครืออยู่เพื่อลดข้อโต้แย้ง”สำหรับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเสนอขายประกันภัยใหม่1.ปลดล็อกขายยูนิตลิงก์ผ่านช่องทาง2.เปิดกว้างใช้วิธีเห็นชอบด้วยกฎหมาย ยืนยันลูกค้าประสงค์ทำประกัน3.ห้ามเสนอขายประกันนอกเหนือวันและเวลา (วันจันทร์-วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-19.00 น.) เว้นแต่มีนัดหมายล่วงหน้าและลูกค้ายินยอม4.หากลูกค้าไม่ประสงค์ทำประกันภัยจะต้องล่วงพ้นไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 6 เดือนนับจากวันปฏิเสธถึงเสนอขายใหม่ได้ห้ามใช้ถ้อยคำดูหมิ่น ข่มขู่ หรือไม่สุภาพ5.ใช้คำว่า ชำระเบี้ยประกันทุกครั้ง ห้ามใช้คำว่า ฝาก หรือ ฝากเงิน หากมีการระบุว่าเป็นการออม ระบุชัดว่าเป็นการออมในรูปแบบการประกันชีวิต      จับฉลากออนไลน์ ขายหวยไม่มีใบรางวัลที่ 1 ให้ครูชัยภูมิ         จากกรณีครูชาวชัยภูมิ ซื้อลอตเตอรี่จากแพลตฟอร์มออนไลน์ถูกรางวัลที่ 1 ผู้ขายไม่ได้ให้ใบสลากและขอจ่ายเงินรางวัลเพียง 1 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะแบ่งจ่ายเป็นเช็คให้งวด 500,000 บาทจนครบ โดยอ้างว่าสลากที่ถูกรางวัลถูกพนักงานในบริษัทขโมยงัดตู้เซฟนั้น         พ.ต.อ. บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการซื้อขายหมายเลขโดยไม่มีสลากมอบให้กับผู้ซื้อ แต่อ้างอิงผลสลากกินแบ่งรัฐบาล เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ.2478 จึงมอบอำนาจให้นิติกรไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้กระทำความผิดทุกฐานความผิดจากพฤติกรรมดังกล่าว ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ทำการประชาสัมพันธ์เตือนผู้ซื้อสลากกินแบ่งผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หากไม่ได้รับสลากมาครอบครองอาจไม่สามารถนำสลากมารับเงินรางวัลได้ และเตือนตัวแทนจำหน่าย การนำสลากไปขายต่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และเว็บไซต์เป็นการกระทำผิดเงื่อนไขในสัญญา หลักเกณฑ์การรับสลากไปจำหน่าย   มพบ.เสนอรัฐจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียนป้องกันเหตุสลดซ้ำซาก         จากกรณีอุบัติเหตุรถสองแถวหกล้อรับส่งนักเรียนโรงเรียนดงบังพิสัยนวการนุสรณ์ เสียหลักพลิกคว่ำรับเปิดเทอมบริเวณสามแยกด้านหน้าทางเข้าโรงเรียน ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ทำให้มีเด็กนักเรียนบาดเจ็บกว่า 37 คน อาการสาหัสอีก 4 คนนั้น นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สถานการณ์อุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนในปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์รถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย โดยศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุว่า เพียง 6 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-มิถุนายน) เกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนมากถึง 8 ครั้ง มีนักเรียนบาดเจ็บมากถึง 134 คน และเสียชีวิต 2 คน เกือบทั้งหมดมีสาเหตุจากความประมาทของผู้ขับรถรับส่งนักเรียน และสภาพรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ปลอดภัย         “เฉพาะกรณีล่าสุดที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งนอกจากจะมีสาเหตุจากการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสแล้ว ยังพบว่ารถคันดังกล่าววิ่งรับส่งนักเรียนโดยไม่ได้ขออนุญาตเป็นรถรับส่งนักเรียน รวมถึงสภาพรถยังไม่มั่นคงแข็งแรง กล่าวคือ โครงสร้างรถที่ส่วนควบกระเด็นออกจากตัวรถไม่สามารถป้องกันแรงกระแทกให้กับนักเรียนที่โดยสารมาได้ ส่วนนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการปล่อยให้นักเรียนนั่งบนหลังคารถเป็นทั้งสิ่งที่ผิดกฎหมายและเป็นอันตรายร้ายแรงสูงสุดที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด”         จากปัญหาที่เกิดขึ้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอเรียกร้องกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานที่กำกับมาตรฐานความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น พร้อมทบทวนมาตรการกำกับความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนขั้นสูงสุด ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะมีการสูญเสียกันมามากพอแล้ว         ข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษา มีดังนี้        1. ต้องกำหนดยุทธศาสตร์และแผนความปลอดภัยเพื่อการเดินทางของนักเรียน เพื่อเป้าหมายความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียน        2. กำหนดบทบาทให้โรงเรียนเป็นจุดจัดการงานรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย โดยมีภารกิจสนับสนุนองค์ความรู้ และแนวทางการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยให้กับครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแนวทางติดตามประเมินผลการปฏิบัติการในทุกภาคเรียนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการทบทวนมาตรการให้เหมาะสมต่อไป        3. สนับสนุนนโยบายให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางของนักเรียน โดยถือว่าหนึ่งในสวัสดิการด้านการศึกษาที่รัฐต้องจัดให้ เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาที่เป็นบริการของรัฐได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม         สำหรับข้อเสนอต่อหน่วยงานอื่นๆ เพื่อการบูรณาการคือ ให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงคมนาคมบูรณาการความร่วมมือเพื่อปรับปรุงข้อกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติ และข้อมูลของสองหน่วยงานให้มีความสอดคล้องกันสามารถใช้ปฏิบัติได้จริง ต้องกำหนดการเดินทางที่ปลอดภัยของนักเรียนให้เป็นแผนงานหลักของหน่วยงานระดับจังหวัด เช่น สำนักงานขนส่งจังหวัดหรือโรงเรียน เป็นต้น และให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนมีมาตรการให้ทุกจังหวัดมีแผนยุทธศาสตร์หรือคณะทำงานด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน โดยให้กำหนดโครงสร้างการเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย อีกทั้งต้องกำหนดตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยการเดินทางของนักเรียน หากจังหวัดใดเกิดเหตุซ้ำซากต้องมีมาตรการลงโทษโดยทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 กระแสต่างแดน

มือสะอาดหรือเปล่า        บริษัทท้อปโกลฟ (Top Glove Corp) ผู้ผลิตถุงมือยางทางการแพทย์รายใหญ่ที่สุดของโลก กำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีถึงสิบข้อหา โทษฐานไม่จัดหาที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐานให้กับแรงงานต่างชาติ ตามข้อกำหนดของกรมแรงงานมาเลเซียแต่ท้อปโกลฟซึ่งมีโรงงาน 41 แห่งในมาเลเซีย และมีคนงานกว่า 21,000 คน ปฏิเสธทุกข้อหา เรื่องนี้จึงต้องติดตามคำตัดสินกันอีกครั้งในปลายเดือนเมษายนหากพบว่ามีความผิดจริง บริษัทจะถูกปรับเป็นเงิน 50,000 ริงกิต ( 375,400 บาท) ต่อหนึ่งข้อหาในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางการมาเลเซียได้เข้าตรวจสอบหอพักสำหรับคนงานต่างชาติในพื้นที่หลายแห่งของบริษัท หลังมีการระบาดของโควิด-19 ในโรงงานแห่งหนึ่งของบริษัทที่ตั้งอยู่ใกล้กับกรุงกัวลาลัมเปอร์ กลุ่มก้อนดังกล่าวได้กลายเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย ที่มีแรงงานต่างด้าวติดเชื้อมากกว่า 5,000 คน ลอนนี้ดีต่อใจ        เป็นเวลาหลายทศวรรษที่สาวๆ อิยิปต์ต้องดิ้นรนไปซาลอนหรือซื้อหาครีมยืดผมมาเปลี่ยนผมให้ตรงสวย “ดูดีมีคลาส” ตามมาตรฐานความงามแบบตะวันตก ในขณะที่หนุ่มๆ ก็ใช้วิธีไว้ผมทรงสั้นติดหนังศีรษะหลายคนเคยถูกครูทำโทษฐานไม่ดูแลตัวเองถ้าไปโรงเรียนด้วยทรงผมหยิกตามธรรมชาติ บ้างก็ไม่ได้รับคัดเลือกเข้าทำงาน หากไปสอบสัมภาษณ์ด้วยลอนผมที่แม่ให้มา เพราะสังคมมองว่าทรงแบบนั้น “ไม่เป็นมืออาชีพ”แต่เรื่องนี้กำลังจะเปลี่ยนไป หนุ่มสาวอิยิปต์วันนี้กล้าโชว์รอยสัก ตัดผมทรงขัดใจบุพการี และกล้าเดินอวดลอนผมตามท้องถนนในเมืองโดยไม่แคร์เสียงโห่ฮาด้วยพวกเขาตระหนักแล้วว่าการยืดผมส่งผลกระทบต่อทั้งเส้นผมและจิตใจ ในขณะที่ความร้อนหรือสารเคมีทำให้ผมแตกแห้งหลุดร่วง การไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองก็ทำให้พวกเขารู้สึกขาดอิสรภาพเช่นกัน   บรรดาคนดังของอิยิปต์เริ่มปรากฏตัวในเทศกาลหนังด้วยลอนผมธรรมชาติ แบบเดียวกับที่โมฮาเหม็ด ซาลาห์นักฟุตระดับโลกทำมาตลอดนั่นเอง ขอฉลากมีสี        นักวิทยาศาสตร์ 269 คน และสมาคมสุขภาพ 21 แห่ง ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้สหภาพยุโรปนำระบบฉลากแบบ Nutri-Score ซึ่งเป็นการระบุข้อมูลโภชนาการด้วยตัวอักษร A B C D E พร้อมสีประจำตัว มาใช้เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ดีขึ้นศาสตราจารย์ Serge Hercberg ผู้ให้กำเนิดนูทรีสกอร์ ย้ำว่านี่คือระบบเดียวที่มีงานวิจัยรับรอง แต่กลับถูกลดความน่าเชื่อถือโดยการแทรกแซงทางการเมืองและการให้ข้อมูลเชิงลบผ่านสื่อโซเชียลโดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันอิตาลี กรีก และสเปน ไม่เห็นด้วยกับระบบนี้ สิ่งที่พวกเขาต้องการคือฉลาก Nutinform ที่แสดงร้อยละของพลังงาน ไขมัน น้ำตาล และเกลือ คล้ายการแสดงกำลังไฟในรูปแบตเตอรี ซึ่งยังไม่มีงานวิจัยรับรองปัจจุบันฉลาก Nutri-Score ใช้อยู่ในฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และสเปน (ซึ่งรัฐบาลรับมาใช้ แต่ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วย) ภายในปี 2022 สหภาพยุโรปต้องเลือกรูปแบบของฉลากโภชนาการสำหรับใช้กับทุกประเทศในกลุ่ม  ปวดเมือไรก็แวะมา        ฝรั่งเศสมีร้านยา 21,000 แห่ง ข้อมูลปี 2017 ระบุว่ามีร้านยา 33 แห่งต่อประชากร 100,000 คน (ค่าเฉลี่ยของทั้งยุโรปคือ 29)   ร้านยาที่มีสัญลักษณ์กากบาทสีเขียวเรืองรอง พร้อมป้ายบอกวัน เวลา และอุณหภูมิ มีให้เห็นอยู่ทั่วไป ที่มีมากขนาดนี้เพราะตามกฎหมายฝรั่งเศส คุณจะซื้อยาแก้ไอ แก้ไข้ แก้ปวด ลดน้ำมูก ได้จากร้านขายยาเท่านั้น แต่หลักๆ แล้วรายได้ของร้านยังมาจากการจัดยาตามใบสั่งแพทย์การสำรวจในปี 2019 พบว่าร้อยละ 90 ของการพบแพทย์จบลงด้วยการได้ใบสั่งยา ซึ่งมียาไม่ต่ำกว่า 3 รายการในนั้น รายงานบอกว่าคุณหมอเองก็ถูกกดดันทั้งจากตัวแทนบริษัทยาและคนไข้ (1 ใน 5 ของคนไข้เรียกร้องให้หมอจ่ายยา) ซึ่งไม่วิตกเรื่องค่าใช้จ่ายเพราะเบิกจากรัฐได้พวกเขาคุ้นเคยและใช้ประโยชน์จากร้านขายยาเต็มที่ เภสัชกรประจำร้านนอกจากจะจ่ายยาแล้ว ยังให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพ รวมถึงฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี หรือแม้แต่วัคซีนโควิดให้ลูกค้าด้วยใครเข้าป่าไปเก็บเห็ดมาแล้วไม่แน่ใจว่ากินได้หรือไม่ ก็เก็บใส่ถุงไปให้เภสัชกรเขาช่วยดูได้   เสียงจากเบื้องบน        Korea Environment Corporation เปิดเผยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่าในปี 2020 มีเหตุร้องเรียนเพื่อนบ้านชั้นบนถึง 42,250 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 เพราะโรคระบาดทำให้คนต้องอยู่บ้านมากขึ้น  ปัญหาส่วนใหญ่มาจากเสียงกระทืบพื้น (ร้อยละ 61) ตามด้วยเสียงลากเฟอร์นิเจอร์ เสียงค้อนทุบผนัง เสียงปิดประตู และเสียงเพลงที่ดังเกินไปการตอบโต้กันระหว่างเพื่อนบ้าน “ต่างชั้น” นอกจากการใช้เสียง เช่น บางคนลงทุนซื้อลำโพงใหญ่ๆ มาเปิดเสียงพุ่งใส่ชั้นบนแล้ว บางรายถึงขั้นทำร้ายร่างกายหรือฆาตกรรมเพื่อนบ้านด้วย  ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าการได้ยินเสียงรบกวนอย่างต่อเนื่องยาวนานอาจทำให้เป็นโรคนอนไม่หลับหรือภาวะซึมเศร้าได้ร้อยละ 60 ของประชากรเกาหลี 50 ล้านคนอาศัยในอพาร์ตเมนต์ แต่กฎหมายที่กำหนดให้พื้นห้องมีความหนาอย่างต่ำ 21 เซนติเมตรนั้นเพิ่งจะประกาศใช้เมื่อปี 2005 ตึกที่สร้างก่อนหน้านั้นจึงมีพื้นหนาเพียง 13.5 เซนติเมตร และไม่สามารถลดเสียงรบกวนได้         

อ่านเพิ่มเติม >

สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย แนะ อ่านฉลากก่อนบริโภคอาหารจานด่วนแบบแช่แข็ง เลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย

        วันนี้ (26 มกราคม 2564 ) สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารจานหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็ง  สำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จำนวน 53 ตัวอย่าง ได้จัดแถลงข่าวเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย          นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ หนึ่ง เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย สอง เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการลดปริมขาณโซเดียมในกลุ่มอาหารจานด่วนแบบแช่เย็น แช่แข็ง และสาม เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในกลุ่มอาหารแบบแช่เย็น แช่แข็ง เพราะเป็นอาหารสะดวกซื้อ ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจด้วย          ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการครั้งนี้ ทางสมาคมฯ เริ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน - วันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีตัวอย่างอาหารมื้อหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็งสำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทานจำนวน 53 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มอาหารจานด่วน ได้แก่ ผัดไทย ข้าวผัดปู ข้าวผัดกะเพรา จำนวน 35 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 450 – 1,390 มิลลิกรัม 2. กลุ่มอาหารอ่อน ได้แก่ ข้าวต้มหมู เกี๊ยวกุ้ง โจ๊กหมู จำนวน 15 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 380 – 1,340 มิลลิกรัม และ 3.กลุ่มขนมหวาน ได้แก่ บัวลอยมันม่วงมะพร้าวอ่อน สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน บัวลอยเผือก จำนวน 3 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210 – 230  มิลลิกรัม          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ  อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม  กล่าวว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (กลุ่มโรค NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จากผลงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1-11.) ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 2,388 คน จากทุกภาคทั่วประเทศไทย พบว่า  ค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยในประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ขณะที่ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ ผลการวิจัย พบ ปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้ จำนวน 4,108 มก./วัน รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน อันดับสาม คือ ภาคเหนือ จำนวน 3,563 มก./วัน อันดับสี่ คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,496 มก./วัน และ อันดับสุดท้าย คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน  3,316 มก./วัน ตามลำดับ          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมส่วนมากพบเครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่าง ๆ หรือเกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ยังมีโซเดียมแฝงที่ไม่เค็ม ได้แก่ ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง หรือ เบเกอรี่ต่าง ๆ และจากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม หรือจากภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค หรือแม้แต่การสำรวจของภาคเอกชน (Nielsen) พบข้อมูลตรงกันว่า คนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยพึ่งพาอาหารอาหารแช่เย็น แช่แข็ง อุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จากเดิมประมาณร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 เและอีกร้อยละ 40 ทานอาหารข้างทาง ตลาดนัด ร้านข้าวแกงมากขึ้น          “การสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกชนิดหรือประเภทของอาหารแช่เย็นแช่แข็งพร้อมบริโภคอย่างมาก และหากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียมหรือเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลงได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ เช่น ในบางประเทศฮังการี ผู้ประกอบการที่มีการปรุงอาหารให้มีรสเค็มน้อย จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว        มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มพบ. ได้มีการผลักดันนโยบายเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อโดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) ซึ่งเป็นแอปที่ให้ผู้บริโภคสแกนบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการรับประทานหรืออยากทราบข้อมูล เมื่อสแกนแล้วจะมีข้อมูลบนฉลากโภชนาการที่ถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดงเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถข้าใจได้ง่าย และช่วยในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเดินหน้าพลักดันเรื่องฉลากสีสัญญานไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร ให้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 Let’s say Cheese! มาอ่านฉลากผลิตภัณฑ์จากชีสกันเถอะ

        พูดเรื่อง ชีส(Cheese) หรือเนยแข็งในอาหารที่คนไทยคุ้นเคย คงจะเป็น มอสซาเรลลา ที่ใส่ในพิซซ่าซึ่งเราจะมีภาพจำในความยืดเยิ้มของมัน หรือ เชดดา ที่วางบนแฮมเบอร์เกอร์ แซนวิช และหลายคนก็คงคุ้นลิ้นกับ พาร์เมซาน เนยแข็งป่นๆ ที่โรยหน้าสลัดหรือผสมในสปาเก็ตตี้  อาจกล่าวได้ว่า ชีสสามชนิดนี้ คือชีสที่คนไทยคุ้นเคยที่สุด จากชีสทั่วโลกที่มีมากกว่า 3000 ชนิด  แม้จะคุ้นลิ้นคุ้นตาในรสชาติ แต่เชื่อว่าหลายคน อาจจะเกิดอาการสับสน งุนงง หากต้องไปเลือกซื้อชีสเพื่อมาทำอาหารสไตล์ตะวันตกกินเอง เพราะเลือกไม่ถูกว่าจะซื้อชีสอะไรดี แล้วที่เขียนบนฉลากว่า อีแดม เชดดา เนมชีส โพรเซสชีส เฟรชชีส คืออะไร ใช้กินกับอะไรได้บ้าง ทำอาหารอะไรได้บ้าง หรือจะซื้อยังไงคุ้มค่า นิตยสารฉลาดซื้ออาสาพาไปส่องฉลาก และช่วยให้เลือกซื้อกันได้สะดวกขึ้น                 ทีมกองบรรณาธิการและอาสาสมัครฉลาดซื้อเดินห้างสรรพสินค้าทั้งแบบห้างค้าปลีก ค้าส่ง และร้านสะดวกซื้อเพื่อเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนยแข็งหรือชีส แบบที่มีฉลากบนผลิตภัณฑ์สมบูรณ์และผู้บริโภคสามารถหยิบได้เองจากตู้แช่เย็น ในต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา จำนวนทั้งสิ้น 51 ตัวอย่าง เพื่อแสดงรายละเอียดและแยกกลุ่มผลิตภัณฑ์ระหว่าง เนยแข็งหรือชีสแท้ กับ โพรเซสชีส นิยามและประเภทของชีส         เนยแข็ง(Cheese)  ทั่วโลกมีมากกว่า 3,000 ชนิด แม้เนยแข็งบางประเภทจะมีลักษณะเหมือนกัน แต่ก็มีชื่อเรียกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น วิธีการจำแนกประเภทของเนยแข็งจึงทำได้โดยอาศัยหลักเกณฑ์บางอย่าง เช่น ชนิดของน้ำนมที่ใช้ ระยะเวลาในการบ่ม เชื้อราที่ใส่ลงไปเพื่อแยกไขมันออกจากน้ำนม อุณหภูมิที่ใช้ในการหมักบ่ม พื้นผิวและความราบเรียบของเนยแข็ง อย่างไรก็ตามเราอาจแบ่งเนยแข็งหรือชีส (Cheese)  ได้เป็น 3 กลุ่ม ซึ่งเป็นการแบ่งที่นิยมกัน คือ        1.เนยแข็งแบบนุ่มหรือชีสนุ่ม (Soft Cheese)         2.เนยแข็งแบบกึ่งแข็งกึ่งนุ่ม (Semi Cheese)        3.เนยแข็งแบบแข็งหรือฮาร์ดชีส (Hard Cheese)         การแบ่งแบบนี้เป็นการแบ่งตามความชื้นในเนื้อผลิตภัณฑ์ เนยแข็งที่มีความแข็งมาก(ฮาร์ดชีส) ก็เพราะมีความชื้นต่ำ เช่น พาร์เมซาน เชดดา สวิสชีส ส่วนชนิดกึ่งแข็งกึ่งนุ่มจะมีความชื้นกลางๆ เช่น มอสซาเรลลา อีแดม บลูชีส และหากมีความชื้นสูงเนื้อสัมผัสก็จะนุ่ม เช่น บรี ครีมชีส ซึ่งทำให้เก็บไว้ไม่นานเหมือนพวกฮาร์ดชีส ที่สามารถเก็บได้เป็นเวลาหลายเดือน         นิยามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 209 พ.ศ.2543 เรื่องเนยแข็ง ให้ความหมายของ เนยแข็งว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำนม ครีมบัตเตอร์มิลค์ (Butter milk) หรือเวย์ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างมาผสมเอนไซม์หรือกรดหรือจุลินทรีย์จนเกิดการรวมตัวเป็นก้อนแล้วแยกส่วนที่เป็นน้ำออก แล้วนำมาใช้ในลักษณะสดหรือบ่มให้ได้ที่ก่อนใช้ จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่คือเนยแข็งแท้หรือชีสแท้         ส่วนที่แสดงบนฉลากว่า โพรเซสชีส(Processed Cheese) ตามนิยามในประกาศ หมายความว่า เนยแข็ง ซึ่งได้ผ่านกรรมวิธีทำให้เล็กลง เติมสารอีมัลซิฟายและนำมาพาสเจอร์ไรซ์และจะแต่งสี กลิ่น รส หรือไม่ก็ได้  ตามนิยามนี้เราอาจตีความได้ว่า โพรเซสชีสเป็นเนยแข็งที่มีกรรมวิธีการผลิต โดยเอาชีสแท้ น้ำมัน และส่วนผสมทางเคมีอื่นๆ มาผสมกัน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอาหารที่ปลอดภัย แต่ว่ามันมีสารเคมีต่างๆ มีแต่งสี แต่งรส และเนื่องจากมีส่วนผสมของนมอยู่น้อย ก็เลยไม่ได้ให้ประโยชน์มากเหมือนชีสแท้ ที่ทำจากนมเกือบทั้งหมด         และที่อาจจะทำให้ผู้บริโภคงงเมื่ออ่านฉลากคือ คำว่า เนมชีส(Named Cheese) ซึ่งในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 209 ให้ความหมายว่า เนยแข็งที่มีชื่อตามชนิดของเนยแข็งหรือสถานที่ผลิต ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปและมีกรรมวิธีการผลิตเฉพาะตามชนิดของเนยแข็งนั้น  เชดดา อีแดม พาร์เมซาน(หรืออีกสามพันชนิด) พวกนี้คือ เนมชีสนั่นเองตารางแสดงรายละเอียดการแสดงฉลาก ผลิตภัณฑ์เนยแข็ง(ชีสแท้) เก็บตัวอย่างเดือนตุลาคม 2562เนยแข็ง หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำนม ครีมบัตเตอร์มิลค์ (Butter milk) หรือเวย์ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างมาผสมเอนไซม์หรือกรดหรือจุลินทรีย์จนเกิดการรวมตัวเป็นก้อนแล้วแยกส่วนที่เป็นน้ำออก แล้วนำมาใช้ในลักษณะสดหรือบ่มให้ได้ที่ก่อนใช้ตารางแสดงรายละเอียดการแสดงฉลาก ผลิตภัณฑ์โพรเซสชีสเก็บตัวอย่างเดือนตุลาคม 2562โพรเซสชีส หมายความว่า เนยแข็ง ซึ่งได้ผ่านกรรมวิธีทำให้เล็กลง เติมสารอีมัลซิฟายและนำมาพาสเจอร์ไรซ์และจะแต่งสี กลิ่น รส หรือไม่ก็ได้  ข้อค้นพบจากการดูฉลากผลิตภัณฑ์        ผลจากการสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์เนยแข็ง ทั้งหมด 51 ตัวอย่าง พบว่า ผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ที่เข้านิยามเนยแข็งหรือชีสแท้ มีจำนวน 24 ตัวอย่าง และเป็นผลิตภัณฑ์โพรเซสชีส 26 ตัวอย่าง โดยมีโพรเซสชีส 1 ตัวอย่างที่เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อชาวมังสวิรัตที่ไม่บริโภคผลิตภัณฑ์จากนม ได้แก่ วีแกนเชดด้าสไตล์สไลซ์ (ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเชดด้าชีส) ตราอิมพีเรียล ซึ่งมีส่วนประกอบของ น้ำมันปาล์ม และ โปรตีนถั่วเหลือง ซึ่งนอกจากผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่เป็นวีแกนที่มีส่วนผสมของไขมันจากพืช         ผลิตภัณฑ์เนยแข็งทำจากนมในปริมาณเกือบ 100 % และใช้เวลาในการหมักบ่มนาน ดังนั้นราคาจึงค่อนข้างแพง ส่วนผลิตภัณฑ์โพรเซสชีส ใช้เนยแข็ง น้ำนม และไขมันพืชช่วยในการแต่งเติมผลิตภัณฑ์ ดังนั้นจึงมีราคาไม่แพง แต่ก็จะให้คุณค่าทางสารอาหารน้อยกว่าชีสแท้ ผู้บริโภคสามารถพิจารณาเลือกจากฉลากที่เรานำมาแสดงในตารางได้ โดยมีการเปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนักไว้เพื่อช่วยในการตัดสินใจด้วย          ผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่มีราคาต่อกรัมถูกที่สุด คือ  ครีมฟีลด์ เท็น ซิงเกิ้ล (ผลิตภัณฑ์จากชีส) CREAMFIELDS 10 SINGLES ราคา  0.282  บาทต่อกรัม และผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่มีราคาต่อกรัมแพงที่สุด คือ  เอ็กซ์ตร้า เมชัวร์ เชดด้า (เนยแข็งชนิดเนมชีส) ตรา คุมบี คาสเซิล COOMBE CASTLE TM EXTRA MATURE CHEDDAR ราคา  1.945  บาทต่อกรัม  โดยผลิตภัณฑ์ชีสส่วนใหญ่ที่สุ่มเก็บมา เป็นผลิตภัณฑ์ชีสที่นำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งสิ้น         การแสดงฉลากเรื่องการผลิต พบว่ามีผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่ไม่ได้ระบุวันผลิต จำนวน 19 ตัวอย่าง แต่ทุกตัวอย่างมีการระบุวันหมดอายุ หรือ วันที่ควรบริโภคก่อน  โดยส่วนใหญ่มีอายุการเก็บประมาณ 1 ปี และแนะนำให้เก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 0 – 8 องศาเซลเซียส           ข้อมูลอ้างอิงhttps://th.wikipedia.org/wiki/เนยแข็ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ตะละแม่หน้าขาว กับหม่องหายเมื่อย

        เรื่องสุขภาพแข็งแรงและความสวยงาม ไม่ว่าชนชาติไหนในโลกคงไม่ต่างกัน ในขณะที่ในประเทศไทย เรายังไล่ตามกวดจับผลิตภัณฑ์สุขภาพหลายชนิด ที่ลักลอบผลิตหรือใส่สารอันตรายกันอย่างแทบไม่หมดสิ้น กลับพบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ไม่ได้มีเฉพาะของไทยๆ ที่ไทยทำไทยใช้เท่านั้น         ผมได้ข้อมูลจากเครือข่ายภาคประชาสังคม กลุ่มผู้ป่วยเขตกรุงเทพมหานคร พี่เขาเล่าให้ฟังว่า ที่บ้านมีคนงานต่างชาติชาวพม่า เธอเป็นคนรักสวยรักงาม หลังๆ แอบสังเกตว่าหน้าเธอขาวขึ้นแบบผิดหูผิดตา ซักไซร้ไล่เลียงเลยทราบว่าเธอใช้ครีมทาหน้าขาว ที่ซื้อมาจากเพื่อนชาวพม่าที่มาทำงานใกล้ๆ บ้านกัน ด้วยความเป็นห่วงเพราะข่าวครีมหน้าขาวอันตรายเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ เลยไปขอดูครีมที่เธอใช้กัน ปรากฎว่าครีมที่ใช้เป็นครีมที่ไม่มีฉลากภาษาไทย แต่แสดงเป็นภาษาพม่าทั้งหมด จากการสอบถามได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พวกเธอสั่งซื้อจากเพื่อนของเธอ ซึ่งซื้อต่อๆ กันมาจากผู้ขายผ่านทางโซเชียล เวลาสั่งก็จะสั่งทางไลน์ แว่วๆ ว่าผลิตในประเทศนี้แหละ แต่ไม่รู้ว่าคนผลิตคือโรงงานในประเทศ ผลิตแล้วติดฉลากภาษาพม่า เพื่อจำหน่ายในกลุ่มพวกเธอ หรือเป็นคนชาติเดียวกับเธอแอบลักลอบทำมาขายกันเอง         สาวใช้พม่ารายนี้ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ไม่ได้มีแค่ครีมหน้าขาวนะ ยาแก้ปวดเมื่อยสำหรับแรงงานชาวพม่าก็มีจำหน่าย จัดเป็นชุดๆ มักขายให้พวกผู้ชาย ผู้หญิง ที่ใช้แรงงานหนักๆ หรือทำงานจนปวดเมื่อย กินแล้วได้ผลชะงัด เวลาซื้อก็จะสั่งต่อๆ กัน เขาก็จะส่งมาให้ ส่วนรายละเอียดบนฉลากก็เป็นภาษาพม่าเช่นเคย         พี่จากเครือข่ายภาคประชาสังคมค่อนข้างเป็นห่วง เพราะไม่ว่าจะเป็นใคร ชาติไหน ก็ไม่น่าจะต้องมาเสี่ยงอันตรายจากผลิตภัณฑ์พวกนี้ และยังเกรงว่าหากนิยมกันมากๆ อาจแพร่ระบาดมายังคนไทยที่ชอบลองของใหม่ๆ อีกด้วย ผมแนะนำเธอว่าถ้าเป็นไปได้ อยากให้ช่วยขอข้อมูลเพิ่มเติมว่าซื้อจากที่ไหน หรือถ้ามีตัวอย่างผลิตภัณฑ์พวกนี้ ขอให้นำมาให้ดูด้วย จะได้ช่วยกันสืบหาต้นตอแหล่งผลิต ว่าเป็นของที่ลักลอบผลิตกันในประเทศ หรือลักลอบนำเข้ามาทางชายแดนกันแน่         ตามกฎหมายอาหาร ยา เครื่องสำอาง ทุกชนิดที่ผลิต จำหน่าย หรือนำสั่งเข้ามาในประเทศ จะต้องแสดงฉลากเป็นภาษาไทย และต้องขออนุญาตให้ถูกต้องด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่สาวพม่านำมาใช้ หรือยาที่แรงงานต่างๆ นำมาใช้ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย และยังมีความเสี่ยงเพราะไม่ทราบว่ามันมีส่วนผสมของอะไร และอันตรายหรือไม่ แต่ที่น่าสงสัยคือ ผลหลังจากการใช้มันเกิดขึ้นเร็วมาก ทั้งหน้าขาว หรือหายปวดเมื่อย จึงมีแนวโน้มว่าน่าจะผสมสารอันตราย         ฝากผู้อ่านทุกท่านคอยสอดส่องด้วยนะครับ หากมีข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พวกนี้ ขอให้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เลยครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ส่องฉลากซีอิ๊วขาว ตำนานน้ำปรุงรสจากถั่วเหลือง

        “ซีอิ๊ว” นั้นออกเสียงตามสำเนียงแต้จิ๋ว หมายความว่า “ซอสถั่วเหลือง” (จีนกวางตุ้งเรียก ‘สี่เหย่า’) นับเป็นเวลาอันยาวนานกว่าพันปีที่ “ซีอิ๊ว” ถูกคิดค้นขึ้นโดยบรรพบุรุษชาวจีน เพื่อใช้เป็นเครื่องปรุงแต่งรสอาหาร ว่ากันว่าซีอิ๊วนั้นถือกำเนิดขึ้นในช่วงราชวงศ์โจว (1,100 – 221 ปี ก่อนคริสตกาล) เรียกกันว่า ‘เชียง (Chiang)’ หรือ ‘เจียง (Jiang)’ จากนั้นในช่วงสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960 – 1229) ซีอิ๊วเริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นสิ่งจำเป็นในวิถีชีวิตชาวจีน โดยภายหลังถูกเรียกว่า ‘เจียงอิ้ว’        วัฒนธรรมการใช้ซีอิ๊วปรุงอาหารและการทำเต้าเจี้ยว ได้ถูกส่งต่อมายังประเทศญี่ปุ่นในยุคสมัยของซามูไร โดยพระชาวญี่ปุ่นที่ไปศึกษาพุทธศาสนาในประเทศจีนในศตวรรษที่ 12 โดยชาวญี่ปุ่นเรียกซีอิ๊วว่า ‘โชยุ (shoyu)’ ซึ่งซีอิ๊วนับเป็นของแพงและหายากที่มีใช้กันเฉพาะในชนชั้นสูง ในแต่ละตระกูลจะมีสูตรและวิธีการผลิตที่แตกต่างกันออกไป โชยุของญี่ปุ่นจึงมีความหลากหลาย จากนั้นโลกตะวันตกก็ได้รู้จักซีอิ๊วครั้งแรกจากญี่ปุ่น โดยการนำเข้าของพ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์        สำหรับคนไทย ซีอิ๊วนับเป็นเครื่องปรุงรสสำคัญในครัวมาช้านาน ใช้ประกอบอาหารทั้ง ต้ม ผัด หรือน้ำจิ้ม โดยเฉพาะเมนูอาหารเจที่ต้องใช้ซีอิ๊วแทนน้ำปลา ซึ่งให้รสเค็มกลมกล่อมกว่ามาก         การผลิตซีอิ๊ว         ซีอิ๊ว เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสในรูปของเหลวที่ได้จากการย่อยสลายโปรตีนถั่วเหลือง โดยผ่านกระบวนการหมักด้วยจุลินทรีย์ ซึ่งกรรมวิธีการผลิต ซีอิ๊วหมักแบบธรรมชาติ คือ การนำเอาถั่วเหลืองต้มสุกพักให้หมาด คลุกกับแป้งสาลี (ทำให้ซีอิ๊วมีส่วนผสมของกลูเตน) แล้วบ่มทิ้งไว้ประมาณ 3-7 วัน กระบวนการนี้จะทำให้เกิดเชื้อรา ในกลุ่ม แอสเพอร์จิลลัส ออไรชี (Aspergillus oryzae) ซึ่งจะทำหน้าที่ย่อยโปรตีนในถั่วเหลืองให้กลายเป็นกรดอะมิโนที่มีรสชาติกลมกล่อมตามธรรมชาติ จากนั้นจึงนำถั่วเหลืองที่เกิดเชื้อราทั่วแล้ว หมักในน้ำเกลือตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป จากนั้นจึงนำมากรองแยกน้ำซีอิ๊วออกจากกากถั่วเหลือง          ซีอิ๊วสูตรต่างๆ        ซีอิ๊วที่คนไทยนิยมใช้กันนั้น มีอยู่ 4 - 5 ชนิด ได้แก่         1. ซีอิ๊วขาว คือ ซีอิ๊วที่ไม่ผ่านการปรุงรสหรือแต่งสีเพิ่มเติม         2. ซีอิ๊วดำ คือ ซีอิ๊วขาวที่นำมาเก็บหรือต่อระยะเวลาการบ่ม ทำให้ซีอิ๊วเข้มข้นและกลมกล่อมขึ้น อาจมีการแต่งสีเพื่อให้สีเข้มข้นสม่ำเสมอ ซึ่งโดยมากจะใช้น้ำตาลเคี่ยว        3. ซีอิ๊วดำหวาน คือ ซีอิ๊วที่ผสมกับสารให้ความหวาน โดยมากจะเป็นกากน้ำตาล หรือ โมลาส (Molasses) สีดำเข้ม ค่อนข้างหนืด         4. จิ๊กโฉ่ว หรือ ซอสเปรี้ยว คือ ซีอิ๊วขาวผสมกับน้ำส้มหมัก อาจมีการเติมเครื่องเทศลงไปด้วยระหว่างการหมักบ่ม         เมื่อผู้บริโภคเลือกซื้อซีอิ๊ว คงจะเคยสังเกตเห็นตัวเลข สูตร 1, 2, 3, 4, 5 ซีอิ๊วสูตร 1 คือ ซีอิ๊วที่ได้จากการหมักครั้งแรก เมื่อกรองน้ำซีอิ๊วออกแล้ว จะเหลือกากถั่วเหลือง เมื่อนำกากถั่วเหลืองนี้ไปหมักต่อกับน้ำเกลือ ก็จะกลายเป็นน้ำซีอิ๊ว สูตร 2 ซึ่งถ้าหมักกากซ้ำต่อไปอีกก็จะนับเป็น สูตร 3, 4, 5         ทราบความเป็นมาของซีอิ๊ว และวิธีการทำซีอิ๊วแบบคร่าวๆ กันแล้ว ฉลาดซื้อ ในโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงอยากชวนผู้บริโภคมาดูฉลากของซีอิ๊วที่วางจำหน่ายในท้องตลาดในประเทศไทยกันบ้าง โดยฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่างซีอิ๊วจากห้างสรรพสินค้า จำนวน 37 ตัวอย่าง เพื่อดูข้อมูลบนฉลาก เช่น ส่วนประกอบสำคัญ ปริมาณโซเดียมจากฉลากโภชนาการ เป็นต้น เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อซีอิ๊วกัน ตารางแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ซีอิ๊ว จำนวน 37 ตัวอย่าง (ลำดับตามปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภค 1 ช้อนโต๊ะ หรือ ประมาณ 15 มิลลิลิตร)จากการสังเกตฉลากบนขวดซีอิ๊ว 37 ตัวอย่าง พบข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้         ข้อมูลปริมาณโซเดียม         เนื่องจากซีอิ๊วเป็นเครื่องปรุงที่ให้รสเค็ม ฉลาดซื้อจึงเลือกเปรียบเทียบปริมาณโซเดียม โดยสังเกตข้อมูลจากฉลากโภชนาการ ซึ่งจากผลิตภัณฑ์ซีอิ๊วทั้งหมด 37 ตัวอย่าง มีซีอิ๊วที่มีการแสดงฉลากโภชนาการ จำนวน 27 ตัวอย่าง และไม่มีฉลากโภชนาการ จำนวน 10 ตัวอย่าง (กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ซีอิ๊วต้องมีการแสดงฉลากโภชนาการ) แต่การที่เครื่องปรุงรสมีการแสดงฉลากโภชนาการ นับเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้อ โดยเฉพาะข้อมูลปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภค         โดยหากเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำของซีอิ๊ว คือ 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 3 ช้อนชา (หรือประมาณ 15 มิลลิลิตร) ลำดับจากน้อยไปมาก พบว่า         ยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค น้อยที่สุด คือ ซีอิ๊วขาวเห็ดหอม สูตรลดโซเดียม 40% ตราเด็กสมบูรณ์ ซึ่งมีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคเท่ากับ 480 มิลลิกรัม/ช้อนโต๊ะ (มีการใช้โพแทสเซียมคลอไรด์ (INS508) เป็นส่วนประกอบ)                  ยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค มากที่สุด คือ ซีอิ๊วขาวฉลากน้ำเงิน ตราเด็กสมบูรณ์ มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เท่ากับ 1600 มิลลิลิตร/ช้อนโต๊ะ         หากสังเกตตัวอย่างซีอิ๊วลำดับที่ 1-4 ในตารางจะพบว่า ซีอิ๊วที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด 4 อันดับแรกเป็นซีอิ๊วสูตรลดเกลือโซเดียม 40% ทั้งหมด ซึ่งสูตรดังกล่าวมีการใช้เกลือโพแทสเซียม หรือ โพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) แทนการใช้เกลือปกติเพื่อลดปริมาณโซเดียมลง เพราะหากร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด         แต่การใช้เกลือโพแทสเซียมคลอไรด์ ก็มีข้อควรระวัง คือ ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไต และโรคหัวใจที่มีความผิดปกติของระดับโพแทสเซียมในเลือด ผู้บริโภคที่มีปัญหาดังกล่าวจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อซีอิ๊วที่มีการใช้เกลือโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบ         ข้อมูลการใช้วัตถุกันเสีย         ผลิตภัณฑ์ซีอิ๊ว จำนวน 26 ตัวอย่าง มีการใช้วัตถุกันเสียประเภทโซเดียมเบนโซเอต (Sodium Benzoate / INS211) หรือ โพแทสเซียมซอร์เบต (Potassium Sorbate / INS202) และ มีซีอิ๊ว 10 ตัวอย่าง ที่ระบุบนฉลากบรรจุภัณฑ์ว่าไม่ใช้วัตถุกันเสีย หรือ No preservative added และ มี 1 ตัวอย่าง ที่ไม่ระบุข้อมูลการใช้วัตถุกันเสีย โดยหากประมาณสัดส่วนของปริมาณสารกันบูดต่อการบริโภคเครื่องปรุงรสแต่ละครั้งแล้ว เป็นปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งร่างกายสามารถขับถ่ายสารกันบูดทั้งสองชนิดได้เองตามธรรมชาติ         ข้อสังเกตอื่นๆ         - ซีอิ๊วส่วนใหญ่แสดงข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร เช่น มีถั่วเหลือง, ข้าวสาลี หรือแป้งข้าวสาลีเป็นส่วนประกอบ หลายยี่ห้ออาจมีกลูเตน (Gluten) จากข้าวสาลี  แต่ทั้งนี้ มีซีอิ๊ว 3 ตัวอย่าง ที่ปราศจากกลูเตน ได้แก่ 1) ซีอิ๊วขาว ตราเมกาเชฟ  2) ซีอิ๊วขาวเห็ดหอม ตราซันลี (Sunlee) Gluten Free  และ  3) ซีอิ๊วขาวธัญพืช ง่วนเชียง ตราเรือ Golden Boat Brand         คำแนะนำในการบริโภค        ซีอิ๊วเป็นเครื่องปรุงรสที่ให้รสเค็ม ดังนั้นจึงควรบริโภคในปริมาณน้อยเพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป จะทำให้ไตทำงานหนักเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ในแต่ละวันเราไม่ควรบริโภคเกลือโซเดียมเกิน 1 ช้อนชา (หรือ ปริมาณโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม) โดยหากลองเฉลี่ยปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (1 ช้อนโต๊ะ หรือ 3 ช้อนชา) จากซีอิ๊วทั้ง 22 ยี่ห้อ ที่มีฉลากโภชนาการแสดงปริมาณโซเดียม (ยกเว้น 5 ตัวอย่าง ที่ฉลากโภชนาการแสดงข้อมูลเป็นเกลือ (Salt) แทนปริมาณโซเดียม (Sodium) ซึ่งไม่สามารถนำมาคำนวณเปรียบเทียบได้ชัดเจน) พบว่ามีปริมาณโซเดียมเฉลี่ยอยู่ที่ 1,096.81 มิลลิกรัม/ช้อนโต๊ะ         นอกจากนี้ เมื่อเปิดซีอิ๊วใช้แล้ว ควรปิดฝาให้สนิทและเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อยืดอายุให้นานขึ้น และป้องกันไม่ให้ซีอิ๊วขึ้นราหรือเกิดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะซีอิ๊วยี่ห้อที่ไม่ใช้วัตถุกันเสีย และหากไม่ได้ใช้ซีอิ๊วปรุงอาหารบ่อยๆ ก็ควรเลือกซื้อขวดเล็กแทน         ข้อควรรู้เกี่ยวกับซีอิ๊ว         - ยิ่งหมักและเก็บซีอิ๊วไว้นาน กลิ่นรสและเนื้อสัมผัสของซีอิ๊ว ก็จะยิ่งกลมกล่อม หอมละมุน ซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น         - ซีอิ๊วยิ่งมีส่วนผสมน้อยเท่าไหร่ ยิ่งดี         - ซีอิ๊วเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เสีย ถ้าไม่เปิดขวด ส่วนใหญ่มักจะกำหนดวันหมดอายุ 1 – 2 ปี อ้างอิง 1. ข้อแนะนำในการเลือกซีอิ๊วอย่างปลอดภัยสไตล์กินเปลี่ยนโลก (โดย แก้วตา ธัมอิน)2. เลือกซื้อซีอิ๊วอย่างมืออาชีพ ต้องรู้อะไรบ้าง ? (โดย DragonfirE thinking girl)     (https://storylog.co/story/5a7c6993ee105b9517b3fd7e)    (https://storylog.co/story/5a7c6993ee105b9517b3fd7e) 3. ‘ซีอิ๊ว’ ปรุงตำนานอาหารเอเชีย     (https://www.thaihotelbusiness.com/in-the-kitchen/ซีอิ๊ว-อาหารเอเชีย/) 4. ซีอิ๊ว (https://guru.sanook.com/5988/)5. ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร     (http://www.foodnetworksolution.com)6. ทำไมต้องห้ามกินเค็ม ?     (https://www.thaihealth.or.th/Content/48381-    (https://www.thaihealth.or.th/Content/48381-ทำไมต้องห้ามกินเค็ม.html) ขอบคุณภาพประกอบจาก : มูลนิธิชีววิถี

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 208 ห้างติดฉลากใหม่ทับข้อมูลเดิม

เดี๋ยวนี้ห้างต่างๆ มีการขายผลไม้สดปอกเปลือกจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นที่นิยมมาก เพราะทั้งสะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการรับประทาน แต่หากเราซื้อสินค้ามาแล้วพบว่า สินค้านั้นมีบางอย่างผิดปกติ เราจะสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไร คุณภูผาซื้อเม็ดบัวต้มสุกจากร้านโกเด้นเพลส มาจำนวน 1 กล่อง เมื่อเปิดกล่องเพื่อจะทานพบว่าเม็ดบัวมีกลิ่นเหม็นเขียว จึงตรวจสอบฉลากดูพบว่า มีการติดฉลากใหม่ทับฉลากเก่า โดยเปลี่ยนวันที่ผลิตและวันหมดอายุใหม่ จากฉลากเดิมที่หมดอายุไปแล้ว วันรุ่งขึ้นเขาจึงไปติดต่อร้านโกเด้นเพลสสาขาที่ซื้อสินค้าว่า เมื่อวานได้ซื้อเม็ดบัวต้มสุกไป แล้วพบว่าเป็นของเก่าแต่มีการติดฉลากใหม่ทับ เขาจึงต้องการให้ทางร้านคืนเงินเมื่อได้ฟังคุณภูผาทักเช่นนั้น พนักงานหันไปคุยกันว่า “ของที่พลัสไปเมื่อวานลูกค้าบอกว่าเสีย”  ทำให้คุณภูผารู้สึกว่าพนักงานน่าจะทำแบบนี้เป็นประจำหรือไม่ พนักงานอีกคนหนึ่งจึงรับกล่องสินค้าพร้อมหยิบกล่องเม็ดบัวที่เหลือในชั้นวางไปด้วย จากนั้นขอใบเสร็จเพื่อไปยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าในเครื่องคิดเงิน และคืนเงินให้ตามราคาที่ได้ซื้อไป โดยไม่มีการขอโทษหรือรับผิดใดๆ จากพนักงานเลย คุณภูผารู้สึกว่าร้านค้าเอาเปรียบผู้บริโภค จึงมาร้องเรียนศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้แนะนำผู้ร้องว่า การกระทำของโกเด้นเพลสเป็นการจำหน่ายสินค้าหมดอายุ ซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 การจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ผู้ร้องถ่ายรูปสินค้าและใบเสร็จ นำไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานอย่างไรก็ตามผู้ร้องไม่ได้ไปแจ้งความตามคำแนะนำ เนื่องจากได้ให้ใบเสร็จและคืนสินค้าให้โกเด้นเพลสแล้วไม่ได้ถ่ายภาพเก็บไว้ ศูนย์พิทักษ์จึงนัดเจรจาระหว่างผู้ร้องกับบริษัทฯ บริษัทฯ ชี้แจงว่าไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน และปัจจุบันได้ลงโทษพนักงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดการฝึกอบรมพนักงานใหม่ทั้งหมดเรื่องการตรวจสอบสินค้าโดยเฉพาะอาหารปรุงสำเร็จบรรจุแพ็ค สุดท้ายได้กล่าวขอโทษคุณภูผา ซึ่งไม่ได้ติดใจเอาเรื่องอะไรกับบริษัทอีก เพียงขอให้บริษัทฯ ทำหนังสือขอโทษและชี้แจงเรื่องมาตรการในการแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีระบบตรวจสอบสินค้าเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับผู้บริโภครายอื่นอีก ศูนย์พิทักษ์สิทธิเองก็ได้แนะนำให้บริษัทฯ จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนหรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์เพื่อเป็นช่องทางติดต่อระหว่างลูกค้าและบริษัทด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ฉลากมะเร็งในร้านกาแฟ

“ในความเป็นจริงแล้วนักพิษวิทยาทราบมานานแล้วว่า ที่ใดมีควันที่นั่นมีสารก่อมะเร็งกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอนเสมอ แต่สารพิษกลุ่มนี้มีอยู่ในปริมาณไม่มากจนก่อให้เกิดพิษในคนส่วนใหญ่ ประการสำคัญคือ สารพิษปริมาณน้อยนี้ (น่าจะ) ช่วยกระตุ้นระบบเอ็นซัมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับสารพิษอื่น ๆ ในอาหารที่เรากินออกจากร่างกายด้วยอัตราที่เร็วขึ้น โดยมีข้อแม้ว่า ต้องดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสมคือ 3 - 4 แก้วต่อวัน” ประมาณปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านไปนั้น ผู้เขียนได้แว่วข่าว(ขณะนั่งพิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์) จากโทรทัศน์ช่องหนึ่งประมาณว่า “ต้องมีการทำป้ายเพื่อแจ้งผู้ดื่มกาแฟในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาว่า กาแฟมีสารก่อมะเร็ง” ซึ่งเมื่อฟังแล้วก็ไม่น่ามีอะไร เพราะมันเป็นของรู้กันมานานแล้วในแวดวงนักพิษวิทยาจนต่อมามีเพื่อนที่เล่นแบดมินตันด้วยกันถามความเห็นเกี่ยวกับประกาศที่เกี่ยวกับกาแฟนี้ แต่ด้วยความที่ผู้เขียนไม่ได้ตามข่าวเลยตอบเพื่อนไม่ได้ จึงต้องกลับบ้านเข้าไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตจึงได้พบว่า ประมาณวันที่ 27 มกราคม 2518 ที่ผ่านไปนั้น หนังสือพิมพ์ออนไลน์หลายฉบับเช่น USA Today มีการพาดหัวข่าวว่า “Coffee must carry cancer warning label, California judge rules” ซึ่งแปลได้ประมาณว่า (ร้าน) กาแฟจะต้องติดประกาศเตือน ตามกฏหมายแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียว่า กาแฟมีสารก่อมะเร็งเนื้อข่าวที่ได้จาก USA Today กล่าวว่า องค์กรเอกชนชื่อ The Council for Education and Research on Toxics ได้ฟ้องบริษัทที่ขายกาแฟทั้งยักษ์ใหญ่และยักษ์เล็กราว 90 แห่งว่า ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียคือ California’s Proposition 65 (เดิมชื่อ The Safe Drinking Water and Toxic Enforcement Act of 1986) ที่ต้องมีคำเตือนผู้ดื่มเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดจากการที่กาแฟมีสารเคมี ซึ่งอาจก่อมะเร็งได้ โดยสารเคมีนั้นคือ อะคริลาไมด์(นอกเหนือไปจากสารพิษกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอน)California’s Proposition 65 เป็นกฎหมายที่มีเป้าประสงค์ในการปกป้องผู้บริโภคจากอันตรายที่เกิดจากการได้รับสารพิษในน้ำดื่ม(ปัจจุบันขยายความสู่อาหารที่เป็นของเหลวต่าง ๆ) ซึ่งอาจก่อมะเร็งและความพิการของทารก ดังนั้นเพื่อให้มีการลดหรือขจัดความเสี่ยงของผู้บริโภคเนื่องจากสารพิษในผลิตภัณฑ์ที่ทราบแน่ว่า มีสารพิษที่อาจก่อปัญหา ผู้ประกอบการต้องมีการเตือนผู้บริโภคก่อนการสัมผัสอาหารเหล่านั้น (โดยยังยึดหลักว่า ผู้บริโภคยังมีสิทธิซื้อสินค้าดังกล่าว บนพื้นฐานความเสี่ยงที่ยอมรับเอง) ซึ่งว่าไปแล้วก็ดีต่อผู้ประกอบการในกรณีที่เกิดมีผู้บริโภคเป็นมะเร็งแล้วอ้างว่า เนื่องจากบริโภคสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีการประกาศเตือนแล้วคงฟ้องได้แต่ชนะยากโดยหลักการตามกฎหมายแล้ว คำเตือนของฉลากมีลักษณะทั่วไปดังนี้ WARNING: This product contains chemicals known to the State of California to cause cancer and birth defects or other reproductive harm. (สินค้าที่ผู้บริโภคจะซื้อนั้นได้ถูกตรวจพบว่ามีสารเคมี ซึ่งเป็นที่รู้ต่อรัฐแคลิฟอร์เนียว่า ก่อมะเร็งและความผิดปรกติของทารกแรกเกิดหรือความผิดปรกติอื่นต่อระบบสืบพันธุ์)   โดยอาจมีข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคได้กลับมาที่กรณีของร้านกาแฟในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งหลังการยื่นฟ้องศาลในปี 2511 แล้ว ได้มีการสืบพยานต่อๆ กันมาจนสุดท้ายในปีนี้ (2518) ผู้พิพากษาศาลในลอสแองเจลิสจึงได้ตัดสินว่า ร้านกาแฟจำต้องมีป้ายเตือนให้ผู้บริโภคระลึกว่า การดื่มกาแฟนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเนื่องจากมีสารก่อมะเร็ง (ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการคั่ว) ทั้งนี้เพราะบริษัทกาแฟขนาดใหญ่ต่างๆ ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่า การดื่มกาแฟนั้น มีประโยชน์ต่อร่างกายมากจนสามารถมองข้ามความเสี่ยงจากสารพิษในกาแฟได้ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ต่างๆ ได้กล่าวพ้องกันประมาณว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่เมล็ดกาแฟคั่วแล้วมีการปนเปื้อนของอะคริลาไมด์ (ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่กำหนดตามรัฐบัญญัติ  the Emergency Planning and Community Right-to-Know Act) ในปริมาณน้อย ในความเป็นจริงแล้วสารอะคริลาไมด์นั้น เป็นสารปนเปื้อนที่เกิดขึ้นในปริมาณน้อยๆ จนดูเป็นของธรรมดาในเมล็ดกาแฟคั่วและอาหารอื่นที่ปรุงสุกด้วยความร้อน เช่น มันฝรั่งทอด บิสกิต และอาหารทารกของบางบริษัท แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ ทนายความของบริษัทขายกาแฟ กลับมักง่ายอ้างด้วยความรู้สึกว่า ปริมาณของอะคริลาไมด์นั้นมีค่อนข้างต่ำ จนความเสี่ยงต่อสุขภาพเนื่องจากการดื่มกาแฟนั้นไม่มีนัยสำคัญ ซึ่งคำพูดดังกล่าวนั้นขาดการสนับสนุนทางวิชาการที่หนักแน่นพอ ศาลจึงไม่รับฟัง เมื่อสืบดูข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟแล้ว ผู้ที่อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์สุขภาพค่อนข้างเชื่อว่า กาแฟนั้นมีแนวโน้มในการลดความเสี่ยงต่อมะเร็งในผู้บริโภค ศักยภาพในการลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในผู้บริโภคที่ดื่มกาแฟนั้น อาศัยหลักการว่า หลังจากเมล็ดกาแฟถูกคั่วแล้วสีของเมล็ดจะเปลี่ยนไปเป็นสีดำคล้ำ ซึ่งเกิดจากการไหม้และควันที่เกิดจากการคั่วลอยกลับลงมาเคลือบผิวเมล็ด ซึ่งทำให้กาแฟมีกลิ่นไหม้ที่มนุษย์ชอบ ในความเป็นจริงแล้วนักพิษวิทยาทราบมานานแล้วว่า ที่ใดมีควันที่นั่นมีสารก่อมะเร็งกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอนเสมอ แต่สารพิษกลุ่มนี้มีอยู่ในปริมาณไม่มากจนก่อให้เกิดพิษในคนส่วนใหญ่ ประการสำคัญคือ สารพิษปริมาณน้อยนี้ (น่าจะ) ช่วยกระตุ้นระบบเอ็นซัมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับสารพิษอื่น ๆ ในอาหารที่เรากินออกจากร่างกายด้วยอัตราที่เร็วขึ้น โดยมีข้อแม้ว่า ต้องดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสมคือ 3 - 4 แก้วต่อวันดังนั้นการที่รัฐแคลิฟอร์เนียเตรียมพร้อมบังคับให้ร้านกาแฟติดประกาศเตือนดังกล่าว ดูไปก็เหมือนการเหวี่ยงแหโดยไม่ได้หวังปลาสักเท่าใดนัก เพราะผู้ประกอบการต่างๆ ไม่ใคร่กังวลในเรื่องการติดประกาศนี้ อาจเป็นเพราะคนอเมริกันก็ไม่ได้ใส่ใจในการอ่านฉลากหรือประกาศเช่นกันข้อบังคับทางกฎหมายของ California’s Proposition 65 นี้ ปรากฏว่ามีคนอเมริกันนำไปทำให้ดูเป็นของเล่น ตัวอย่างเช่น ป้ายเตือนติดในที่สาธารณะที่ว่า WARNING: The Disneyland resort contains chemicals known to the State of California to cause cancer and birth defects or other reproductive harm หรือ WARNING: Breathing the air in this parking garage can expose you to chemicals including carbon monoxide and gasoline or diesel engine exhaust, which are known to the State of California to cause cancer and birth defects or other reproductive harm เป็นต้น ตัวอย่างตลกอื่นๆ สามารถหาดูได้จาก Googleเว็บไซต์เกี่ยวกับมะเร็งเว็บหนึ่งได้กล่าวเป็นเชิงว่า มีการศึกษาทางระบาดวิทยาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า “การดื่มกาแฟอาจช่วยปกป้องผู้ป่วยจากมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก” นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งลำไส้ใหญ่หลายคนได้กล่าวในอินเทอร์เน็ตประมาณว่า การศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่า “การดื่มกาแฟอาจช่วยป้องกันผู้ดื่มจากการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือผู้ดื่มกาแฟที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้วนั้นมีชีวิตยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่ไม่ดื่มกาแฟ” อย่างไรก็ดีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้นไม่สามารถตอบแบบ ฟันธง ให้ศาลยุติธรรมเข้าใจได้ เนื่องจากข้อสรุปที่ได้นั้นจำต้องอยู่ภายใต้กรอบของคำว่า อาจจะ ซึ่งเป็นกรอบการพูดภาษาทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องรอบคอบ เนื่องจากการทดสอบหรือหาข้อมูลในมนุษย์นั้นมีปัจจัยแฝง(confounding factor) หลายประการที่อาจทำให้สิ่งที่ไม่น่าเกิดกลับเกิดขึ้นมาได้ในภาวะใดภาวะหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 ส่องฉลากลูกอมชุ่มคอและยาอมสมุนไพรบรรเทาอาการไอ เจ็บคอ

ลูกอม(เม็ดอม) กับ ยาอม นั้นต่างกันในทางสรรพคุณ ลูกอมจัดเป็นอาหารส่วนใหญ่ไว้อมเพลินๆ ชุ่มคอ ส่วนยาอม เป็นยามีผลในทางบำบัดรักษา ถึงอย่างนั้นเวลารู้สึก คอแห้ง ระคายเคืองคอ เจ็บคอ จนเลยไปถึงไอถี่ๆ หลายคนก็รู้สึกว่า ลูกอม ยาอมก็เป็นทางออกที่พอจะช่วยให้ชุ่มคอและผ่อนเพลาอาการทั้งหลายลงได้บ้าง หรือบางคนไม่ได้มีอาการอะไรก็ยังชอบอมเพราะติดใจในรสชาติ  แต่หลายครั้งการเลือกซื้อก็ทำให้ผู้บริโภคสับสนหน่อยๆ เพราะลูกอมกับยาอมมักวางขายบนชั้นวางเดียวกัน (ยาอมที่เป็นยาสามัญประจำบ้านสามารถวางจำหน่ายได้ทั่วไป)  ถ้าไม่รู้จักกันมาก่อนหรือไม่ได้อ่านฉลากก็อาจจะเลือกผิดวัตถุประสงค์ได้  ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงไปหยิบลูกอมที่โฆษณาให้อารมณ์ประมาณชุ่มคอ สดชื่น และเนียนๆ ว่าช่วยลดการเจ็บคอมาส่องฉลาก เน้นกันที่ผลิตภัณฑ์ทำจากน้ำตาลแท้(ยังครองใจตลาด) กับชนิดไม่มีน้ำตาล ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมา แถมด้วยยาอมสมุนไพรที่จัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน ยาแผนโบราณ ซึ่งปัจจุบันวางขายหลากหลายยี่ห้อ มาเจาะกันที่ส่วนผสมหรือตัวยา เพื่อไว้เป็นข้อมูลสามัญประจำบ้านแก่สมาชิกชาวฉลาดซื้อ  ตลาดลูกอม 8000 ล้าน ผลิตภัณฑ์เล็กๆ แต่การตลาดยิ่งใหญ่ ตลาดลูกอมนั้นมีมูลค่าสูงและเติบโตทุกปี ทำให้การแข่งขันสูง ทั้งเจ้าตลาดเก่าและรายใหม่ ลูกอมแบบชนิดเม็ดแข็งได้รับความนิยมมากที่สุด(สัดส่วน 43%) ส่วนรสชาติ เย็นสดชื่น คือรสชาติที่คนไทยชื่นชอบ รองลงมาเป็นลูกอมช่วยให้ปากหอม(ลดกลิ่นปาก) ฉลาดซื้อกับลูกอม ยาอมลูกอมนั้นแต่แรกเริ่มเดิมทีก็มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นยา มีสรรพคุณแก้ไอ เจ็บคอ ลดการระคายคอ และวางขายกันในร้านยา ต่อมาจึงขยับมาเป็นอาหาร เพื่อให้จำหน่ายได้ง่ายขึ้น แต่ภาพจำก็ยังทำให้รู้สึกถึงความเป็นยาของลูกอม  อย่างไรก็ตามลูกอมนั้นส่วนใหญ่ทำจากน้ำตาลล้วนๆ ส่วนสมุนไพรที่ใส่ลงไปจะเป็นเรื่องของรสชาติที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกสดชื่น เว้นก็แต่ใส่สมุนไพรเข้าไปเป็นจุดขาย ดังนั้นหากเป็นลูกอมจากน้ำตาลก็ควรระวังเรื่องปริมาณน้ำตาล ไม่อมบ่อยจนเพิ่มน้ำตาลในร่างกายมากไป รวมถึงเรื่องฟันผุด้วย แต่ปัจจุบันก็มีทางเลือกเป็นลูกอมชนิดซูการ์ฟรีหรือไม่มีน้ำตาล แต่ถ้าอยากได้สรรพคุณทางยา หรือรับคุณประโยชน์จริงๆ จากสมุนไพร ยาอมสมุนไพรเป็นทางออกที่ดี เดิมนั้นอาจมีรสชาติไม่ถูกปาก เพราะรสที่ฝาด ขม และสัมผัสในปากที่ให้ความรู้สึกระคายลิ้น แต่หลายผลิตภัณฑ์ก็ปรับปรุงรสชาติให้ “อร่อย” ขึ้น รสยอดนิยมก็คือ รสบ๊วย รสเปรี้ยวหวาน รสสัมผัสหวานๆ เย็นๆ การปรับตัวนี้ทำให้ตลาดยาอมสมุนไพรนั้นไม่ธรรมดาและมีแนวโน้มเติบโตไปเรื่อยๆ เห็นได้จากการจัดวางในร้านสะดวกซื้อทั้งหลาย   เจ็บคอทำอย่างไรดี เจ็บคอเกิดได้จากหลายสาเหตุ แบ่งหลักๆ เป็นเรื่องเจ็บคอจากการติดเชื้อโรค กับเจ็บคอเนื่องจากสิ่งแวดล้อม(สูดควันบุหรี่ ภูมิแพ้ ฯลฯ) หรือการใช้เสียงมากเกินไป(พูดมากไป ตะโกนเสียงดังเป็นเวลานาน) หรือสภาวะของโรคบางอย่าง เช่น กรดไหลย้อน เป็นต้น การเจ็บคอ ระคายคอที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ การใช้ยาอมสมุนไพรหรือลูกอม ช่วยให้เกิดสภาพชุ่มคอ ช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองได้ ยิ่งเป็นยาอมสมุนไพร จัดว่ามีสรรพคุณทางยาที่ช่วยบำบัดอาการได้มาก และปลอดภัยกว่ายาแก้เจ็บคอหรือยาแก้ไอ ที่เป็นยาแผนปัจจุบัน   วิธีที่ดีและง่ายสุดเพื่อบรรเทาอาการคอแห้ง เจ็บคอ คือ ดื่มน้ำให้มากๆ ไม่เป็นน้ำเย็น ควรเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้องจะดีกว่า เพราะน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุลำคอที่เกิดการอักเสบ และควรเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการคันคอ พวกของทอด ของมัน อาหาร ผลไม้ รสหวานจัด   ส่วนยาอมที่ต้องหลีกเลี่ยงไม่ใช้เลยคือ ยาอมที่มียาปฏิชีวนะนีโอมัยซินเป็นส่วนผสม ยาเหล่านี้บรรเทาอาการเจ็บคอได้จากยาชาที่ผสมอยู่ แต่ยาปฏิชีวนะเป็นส่วนเกินเพราะไม่มีส่วนช่วยให้อาการดีขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อเชื้อดื้อยาด้วย 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point