ฉบับที่ 168 “สถานการณ์ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”

ผศ.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  และเป็นรองประธานกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ( และผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ )   ซึ่งหน่วยงานนี้คือ สิ่งที่คนนอกรู้จักแบบง่าย ๆ ว่าเป็นองค์กรภาคจำลองที่ภาคประชาชนตั้งขึ้นเพื่อเป็นโมเดล  นอกจากอาจารย์จะช่วยผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว  สาเหตุที่อาจารย์สนใจเรื่องผู้บริโภคนั้นท่านเล่าว่า  “ในประเทศไทยทุกคนเป็นผู้บริโภค บางคนก็อยู่ใน 2 สถานะ คือเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจ คืออาจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการสร้างคอนโค อาคารชุด แต่คุณก็เป็นผู้บริโภคในการซื้อของในห้างสรรพสินค้า เลยทำให้คิดว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว เราก็ต้องมาดูว่าสิ่งที่ใกล้ตัวเราต้องระวังอะไรบ้าง ต้องป้องกันหรือแก้ไขอะไรบ้าง” นอกจากนี้ท่านยังมีความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ พ.ร.บ.ผู้บริโภค กฎหมายที่เดิมวาดฝันเอาไว้ว่าจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการทำงานของผู้บริโภค  เป็นเสมือนความหวังให้ผู้บริโภคใช้สิทธิได้อย่างง่ายดายนั้น   วันนี้มีสถานการณ์เป็นอย่างไร สถานการณ์เกี่ยวกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ต้องบอกก่อนว่าสาเหตุที่ออกกฎหมายเพื่อให้ผู้บริโภคได้มีคุณภาพชีวิตในเรื่องของการใช้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอุปโภค บริโภค หรือว่าทุกๆ สิ่ง ที่จะสามารถเท่าทันกับผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ได้หมายความว่าต้องไปแข่งกันนะ เท่าทันคือรู้ว่าอะไรควรจะมีให้ผู้บริโภค เมื่ออดีตมันออกมาแล้วเหมือนคนตัวใหญ่กับคนตัวเล็ก ซึ่งเวลามีปัญหาขึ้นมานั้นคนตัวเล็กก็ต้องแพ้ ด้วยเหตุนี้ก็จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคขึ้นมา จุดประสงค์หลักก็คือ ทำให้มีการดำเนินคดีในศาลร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภคในการทำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งในอดีตเวลามีคดีขึ้นสู่ศาล ผู้บริโภคจะแพ้เกือบ 100 % เลยต้องมีกฎหมายตัวนี้ แต่พอกฎหมายฉบับนี้ออกเมื่อปี 2551 แต่สภาพบังคับหรือวิธีปฏิบัติ การใช้จริงๆ จะเกิดประโยชน์มากน้อยขนาดไหน ต้องบอกว่าหลังจากมี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคหลังปี 2551 คดีผู้บริโภคนำขึ้นสู่ศาลนั้นเยอะกว่าตอนที่ยังไม่มีกฎหมาย ถ้าถามว่าทำไมมีกฎหมายแล้วยังมีการนำคดีขึ้นสู่ศาลในคดีผู้บริโภคมากกว่าเดิม ต้องมาดูว่าการบังคับใช้กฎหมายทำให้เกิดการบังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจริงหรือไม่ จริงหรือไม่ที่ออกมาแล้วเกิดการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องบอกเลยว่าในความเป็นจริงแล้วนั้นมันก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้ 100 % บางอย่างก็ปฏิบัติได้ บางอย่างก็ไม่ได้ แต่ทั้งนี้นั้นกรณีหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้ให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เมื่อไม่ให้ความสำคัญ จะมีหรือไม่มีเขาก็ปฏิบัติตามที่เขาต้องการที่จะทำ ก็เลยทำให้การบังคับใช้กฎหมายมันไม่เกิดประโยชน์ การที่ผู้ประกอบการใช้ช่องว่างในการฟ้องร้อง อยากให้ อ.ยกตัวอย่าง ก็มี อย่างแรกเลยกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคนั้น ใช้ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจอยู่ภายใต้กฎหมายนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าผู้บริโภคเห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจเอาเปรียบ เราก็ใช้สิทธิฟ้องได้ แต่ถ้าเกิดผู้ประกอบธุรกิจเห็นว่าผู้บริโภคเริ่มผิดนัดในเรื่องมูลหนี้อื่นๆ นั้น ผู้ประกอบธุรกิจก็ฟ้องผู้บริโภคได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นไม่ได้จำกัดว่าผู้บริโภคที่ใช้กฎหมายฉบับนี้ได้ฝ่ายเดียว ผู้ประกอบธุรกิจก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน อันนี้คือจุดเริ่มต้น ส่วนกระบวนการพิจารณาก็ต้องไปว่ากันอีกว่ามันมีตัวช่วยอะไรบ้าง แต่ทั้งนี้ถ้าถามว่าที่ผ่านมานั้นคดีที่ขึ้นสู่ศาลเกือบ 70 % เป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องร้องผู้บริโภค เลยอาศัย พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนในการที่จะฟ้องคดี ก็กลายเป็นว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายเริ่มบิดเบือนไปจากความเป็นจริง อันนี้คือสภาพปัญหาที่ผู้บริโภคคิดว่ามีหรือไม่มีก็ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไร สิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคคิดว่าเข้าถึงยากคือเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าจัดการ จริงๆ แล้วพ.ร.บ. นี้ก็ได้ออกแบบว่าผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิได้โดยไม่ต้องจ้างทนายความ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ไม่ต้องเสียค่าส่งหมายศาล หรือค่าใช้จ่ายอะไรต่างๆ นั้นผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายเลย แต่เมื่อฟ้องคดีไปแล้วเวลานำเข้ากระบวนการสืบพยาน ไม่ว่าจะพยานโจทย์ พยานจำเลย ในที่สุดก็ต้องใช้ทนายความ จริงๆ จะมีเจ้าพนักงานคดีผู้บริโภค ในทางความเป็นจริงแล้วเขาก็ไม่สามารถจะช่วยผู้บริโภคได้อย่างเต็มเวลา ฉะนั้นบ่อยครั้งที่เวลาคดีขึ้นไปสู่ศาล ผู้พิพากษาก็จะถามว่าผู้บริโภคมีทนายหรือเปล่า ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องของทางปฏิบัติ ในทางทฤษฎีอาจจะมองไม่เห็น แต่ในทางปฏิบัติเวลาเดินเรื่องไปผู้บริโภคต้องใช้ทนาย อย่างไรก็ต้องใช้ทนาย แม้ว่ากฎหมายจะออกแบบๆ ไม่ต้องใช้ทนายความ ก็ยังต้องใช้อยู่ดี แล้วค่าธรรมเนียม ค่าธรรมเนียมได้รับการยกเว้นอยู่แล้วครับ ไม่ต้องจ่าย ก็คือออกแบบมาอย่างเช่นเพื่อที่จะต้องการส่งหมาย เช่น ผู้บริโภคต้องการที่จะเรียกพยานคนที่ 1 คนที่ 2 มานั้นทางหน่วยงานของรัฐฯ ก็จะมีงบประมาณในเรื่องของการสนับสนุนเรื่องค่าส่งหมายอยู่แล้ว จึงไม่ต้องจ่ายแต่ว่ามันจะมีปัญหาตรงที่สืบพยาน ต้องใช้ทนาย หรือถ้าไม่มีทนายเขาต้องสืบเองซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ผู้บริโภคจะสืบเอง ถ้าอย่างนี้คนที่ไม่มีจริงๆ ต้องทำอย่างไร ถ้าในที่สุดไม่มีความช่วยเหลือเรื่องของตรงนี้จริงๆ ก็ต้องใช้เจ้าพนักงานคดีผู้บริโภคเป็นคนช่วยสืบพยานให้ ซึ่งน้อยครั้งที่พนักงานคดีผู้บริโภคจะว่างมาทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะงานเขาก็เยอะ ทีนี้ก็กลายเป็นว่าเราออกแบบกฎหมายจริงแต่ไม่ได้ออกแบบในเรื่องบุคลากรในการติดตามถึงความสำเร็จในการใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ อย่างนี้จะแก้ไขปัญหาในด้านกฎหมาย มีการเพิ่มเติมกับ พ.ร.บ. นี้อย่างไร จริงๆ คิดว่าสิ่งหนึ่งต้องเข้าใจเวลาพิจารณาคดีในศาลประกอบไปด้วย 3 ฝ่าย คือตัวศาล คือท่านผู้พิพากษาเอง ตัวฝั่งทนายความโจทย์หรือโจทย์คดีผู้บริโภค หรือฝ่ายจำเลย ผู้ประกอบธุรกิจ หรือทนายจำเลย เพราะฉะนั้นที่บอกว่าไม่ต้องจ้างทนายก็ได้ แต่ถ้าจ้างก็ต้องดูอีกว่าศาลมีอำนาจมากน้อยขนาดไหน จริงๆ ศาลมีอำนาจที่จะเรียกพยานหลักฐานที่ได้มาเองโดยไม่ต้องให้ทนายฝ่ายโจทย์หรือจำเลยไปเสาะหามา ซึ่งในทางกฎหมายเราเรียกว่าเป็นระบบไต่สวนแต่กฎหมายอื่นๆ จะเป็นระบบกล่าวหาก็คือต้องฟังอย่างเดียว แต่ถ้าเกิดกฎหมายฉบับนี้ก็คือผู้พิพากษาสามารถที่จะเรียกส่วนที่เกี่ยวข้องมาได้ แต่ในทางปฏิบัติ ณ ปัจจุบันนี้ผู้พิพากษาก็ยังไม่ได้ทำหน้าที่นี้อย่างสมบูรณ์ เลยเกิดการที่เรียกว่าทำให้ในมิติของท่านผู้พิพากษานั้นขาดหายไปในการพิจารณาคดี ตัวอย่างคดีผู้บริโภคที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นกำลังใจให้คนที่กำลังรู้สึกว่าเรื่องพวกนี้เข้าถึงยาก คือจริงๆ แล้วกระบวนการพิจารณาคดีในศาล ผมคิดว่านั้นกระบวนการที่สมบูรณ์และมีความสำเร็จและถือว่ามีประโยชน์สูงสุดก็คือ ในระบบของการไกล่เกลี่ยคู่ความก่อนที่จะมีการสืบพยาน ตรงนี้ถือว่าสำคัญมากเพราะทุกอย่างสามารถคุยกันได้ ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย มันไม่ใช่เรื่องฟันแทงกันมา เพราะฉะนั้นผมเข้าใจว่าตรงนี้นั้นช่วงหลังนโยบายของศาลยุติธรรมต่างๆ ก็จะมีนโยบายในเรื่องการไกล่เกลี่ยซึ่งระบบไกล่เกลี่ยนี้ที่ผ่านมาเคยเป็นทนายความบ้าง หรือเป็นธุระให้กับผู้บริโภคบ้าง เคยจบตรงนี้ก็มีหลายกรณี ซึ่งถ้าจบตรงนี้แล้วก็ถือว่าประสบความสำเร็จทั้ง 3 ฝ่าย ฝ่ายโจทย์ จำเลย และศาล แต่ถ้าไม่จบขึ้นมาในขั้นสืบพยาน หลักฐาน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ประมาณ 4 % น้อยมากๆ ส่วนใหญ่จะไกล่เกลี่ยกันได้ แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ผู้ไกล่เกลี่ยด้วยว่าสามารถที่จะคุยให้ทั้ง 2 ฝ่ายรอมชอมกันได้ไหม อยากให้ อ. แนะนำผู้บริโภคเวลามีคดีเกี่ยวกับผู้บริโภค คือผู้บริโภคที่เป็นข้อที่เสียเปรียบเวลานำคดีขึ้นสู่ศาลนั้น พวกหลักฐานต่างๆ นั้นผู้บริโภคจะไม่ค่อยเก็บ เช่น ใบเสร็จรับเงิน หรือว่าแผ่นพับรายละเอียดการโฆษณาต่างๆ หรือในกรณีของทรัพย์สินที่เกี่ยวกับเรื่องความเสียหายของผู้บริโภค ตรงนี้ไม่ได้เก็บ เป็นข้อที่เสียเปรียบ ในความหมายของคำว่าเก็บบางคนอาจจะคิดว่าเครื่องซักผ้าเสียจะให้เก็บอย่างไร ก็เก็บโดยการถ่ายรูปหรือเก็บในรูปแบบของไฟล์คอมพิวเตอร์ เป็นไฟล์ PDF ประมาณนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เสียเปรียบในตอนนี้ คือความไม่รู้ว่าผู้บริโภคต้องเก็บอะไรบ้างเวลานำคดีขึ้นมาสู่ศาล ตรงนี้ผู้บริโภคจะไม่ค้อยทราบ หรือถ้าทราบก็เก็บไว้ไม่ครบ ตรงนี้เป็นประเด็นที่ถือว่าสำคัญ เวลาขึ้นศาลพยานหลักฐานถือว่าสำคัญ อย่างนี้เวลาเราซื้อบ้านหรือคอนโดใหม่สิ่งที่เราควรทำคือ ถ้าซื้อใหม่ก็ใบโฆษณา ถ้ามีการออกสปอตรายการวิทยุ สถานีโทรทัศน์ เก็บไว้ได้ก็ดีเพราะว่าหลายรายการจะมีกรณีที่ว่าตอนโฆษณามีสระว่ายน้ำ แต่พอเสร็จแล้วสระว่ายน้ำไม่มีเพราะพื้นที่ไม่พอ แบบนี้ถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภคเพราะบางทีเราซื้อเพราะมีสระว่ายน้ำ เพราะฉะนั้นตรงนี้ถือว่าต้องเก็บสัญญาซื้อ – ขาย ใบเสร็จการผ่อนค่างวดแต่ละงวด เหล่านี้สำคัญหมด แม้กระทั่งที่ตั้งของสำนักงานของผู้ประกอบธุรกิจว่าอยู่ที่ไหน อย่างไรเป็นเรื่องสำคัญ ที่สำคัญอีกอย่างคือเจ้าของโครงการแต่ละที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จะเป็นในรูปของนิติบุคคล เพราะฉะนั้นไปดูหนังสือรับรองนิติบุคคลนั้นๆ ด้วยว่าในแต่ละปีมีการส่งงบดุลเป็นปัจจุบันหรือเปล่า อันนี้หมายถึงสถานะทางการเงินของเจ้าของโครงการเพื่อเราจะได้รู้ว่าตอนนี้อยู่ถึงไหน อย่างไร

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point