ฉบับที่ 222 อาหารจากการแก้ไขจีโนม ตอนที่ 2

นักวิทยาศาสตร์พยายามคิดค้นกระบวนการแก้ไขหน่วยพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่ต้องไม่เข้าข่ายเป็นการสร้างสิ่งมีชีวิตที่ถูกดัดแปรพันธุกรรม(จีเอ็มโอ) เพื่อเลี่ยงปัญหาที่ค้างคาใจของสังคมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตจีเอ็มโอมี ซึ่งยีนแปลกปลอมที่หลงเหลือในเซลล์หลังถูกดัดแปรพันธุกรรม เช่น ยีนต้านยาปฏิชีวนะที่มีการใช้เป็นตัวบ่งชี้(marker) ระหว่างการเพิ่มปริมาณยีนที่ต้องการใช้ ซึ่งอาจหลุดเป็นอิสระระหว่างการย่อยอาหาร และเมื่อไปถึงกลุ่มแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ ซึ่งอาจเก็บเอายีนต้านยาปฏิชีวนะเข้าสู่เซลล์ ส่งผลให้แบคทีเรียนั้นกลายพันธุ์จนต้านยาปฏิชีวนะได้  หรือ ยีนโปรโมเตอร์ที่ได้จากไวรัส อาจย้ายตำแหน่งบนโครโมโซมในลักษณะของ transposon แล้วไปกำหนดให้ยีนอื่นที่ไม่เคยทำงานถูกกระตุ้นให้สร้างโปรตีนแปลกประหลาดออกมาในเซลล์ และยีนที่แทรกเข้าไปในโครโซมของเซลล์เจ้าบ้านอาจไม่ใช่ยีนเดี่ยว แต่กลับมียีนอื่นซึ่งสามารถสร้างโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้เมื่อได้กินอาหารที่ดัดแปรพันธุกรรม เป็นต้น         ด้วยความระแวงในปัญหาที่เกิดจากอาหารที่ดัดแปรทางพันธุกรรมดังกล่าว ผู้บริโภคในสังคมบางส่วนจึงต่อต้านการเข้าสู่ตลาดอาหารของจีเอ็มโอ อย่างไรก็ดีนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านนี้ก็มิได้ย่อท้อต่อปัญหาที่ประสบและได้ทำการค้นพบวิธีการใหม่ โดยนำเอาเทคนิค Crispr มาใช้กับสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์กินเป็นอาหารเพื่อแก้ไขจีโนมให้เปลี่ยนจากเดิมไปเป็นตามที่ผู้แก้ไขต้องการ นัยว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่ดีต่อมนุษย์ด้วยกันเองโดยละเว้นที่จะบอกว่า มันสามารถทำกำไรมหาศาลเมื่อทำสำเร็จ         หลักการของ Crispr และการยอมรับ         หลักการของ Crispr นั้นดูมหัศจรรย์มาก ผู้คิดค้นสมควรได้รับรางวัลโนเบลเป็นอย่างยิ่ง...ถ้าในอนาคตอันใกล้ไม่มีการพบเสียก่อนว่า หลักการนั้นถูกนำไปใช้แล้วก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เพราะมันเป็นความหวังในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความผิดปรกติทางพันธุกรรมต่างๆ ที่ถ่ายทอดจากพ่อ-แม่ไปสู่ลูก นอกเหนือไปจากการทำให้สิ่งมีชีวิตที่เป็นอาหารมนุษย์ทั้งพืชและสัตว์นั้นดูดีกว่าต้นตำรับสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ         ผู้ที่นิยมทำอาหารกินเองที่บ้านมักให้เหตุผลว่า สามารถควบคุมทั้งรสชาติและความสะอาด แต่บ่อยครั้งมักพบว่าเสียความรู้สึก เพราะอาหารหลายชนิดที่เป็นผัก-ผลไม้ซึ่งรวมถึงเห็ดที่ชื่นชอบนั้นเปลี่ยนสี ไปในลักษณะที่ไม่พึงประสงค์หลังการปอกหรือหั่นแล้ว จนต้องเพิ่มขั้นตอนการใช้สารละลายซึ่งอาจเป็นสารธรรมชาติหรือสารสังเคราะห์ยับยั้งกระบวนการเปลี่ยนสีที่เกิดขึ้น        การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสีของผัก-ผลไม้ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลเนื่องจากการทำงานของเอ็นซัมออกซิเดสในพืชผักและผลไม้ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงได้คิดนำเอาเทคนิค Crisper มาจัดการในเรื่องนี้ โดยปรากฏเป็นบทความในวารสาร Nature ชุดที่ 532 หน้าที่ 293 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2016 เรื่อง Gene-edited Crispr mushroom escapes US regulation ที่มีใจความโดยย่อว่า ผู้ชำนาญด้านพยาธิวิทยาพืชของ Pennsylvania State University ในสหรัฐอเมริกาได้แก้ไขเพื่อหยุดการทำงานของจีโนมที่สร้าง polyphenol oxidase ของเห็ดกระดุมขาว (Agaricus bisporus) เพราะเอ็นซัมนี้ทำให้เห็ดเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นในข่าวนี้คือ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) จะไม่ใช้กฎหมายควบคุมเห็ดกระดุมที่ได้รับการแก้ไขจีโนมด้วย Crispr ในลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่ถูกดัดแปรพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ เนื่องจากไม่ได้มีการสอดใส่ชิ้นส่วนของ DNA แปลกปลอมเข้าไปเหมือนกรณีจีเอ็มโอทั่วไป ดังนั้นเห็ดที่ถูกแก้ไขจีโนมจึงสามารถปลูกและจำหน่ายได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกำกับดูแลของ อย.สหรัฐอเมริกา นี่เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่ได้รับการแก้ไขจีโนมโดย Crispr แล้วได้รับไฟเขียวจากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา        จากกรณีตัวอย่างของเห็ดไม่เปลี่ยนสีในปี 2016 นั้น ส่งผลให้กระทรวงเกษตรต้องทำการทบทวนหลักเกณฑ์การควบคุมการดัดแปรพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่นำมาใช้เป็นอาหาร แล้วสุดท้ายในปี 2018 กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาก็จนมุม ต้องมีแถลงการณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร Sonny Perdue ยอมรับว่า พืชที่ถูกปรับปรุงโดยใช้เทคนิคการแก้ไขจีโนมที่เรียกว่า Crispr นั้นไม่อยู่ภายใต้กฎระเบียบพิเศษอื่นใด เพราะปลอดภัยพอๆ กับเห็ดที่ผ่านกระบวนการแบบดั้งเดิมในการปรับปรุงพันธุ์ (ที่ใช้เวลานานกว่าและแพงกว่า) รายละเอียดนั้นสามารถหาอ่านได้ในบทความชื่อ USDA greenlights gene-edited crops ของเว็บ https://cen.acs.org ประจำวันที่ 9 เมษายน 2018 เป็นต้น         ผลต่อเนื่องจากการที่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาไฟเขียวต่ออาหารที่ผลิตจากพืชหรือสัตว์ที่ถูกแก้ไขจีโนมในปี 2018 ทำให้มีข่าวที่ปรากฏในหลายเว็บที่สนใจเกี่ยวกับความทันสมัยของการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ลงบทความในทำนองว่า ญี่ปุ่น ยังต้องยอมให้อาหารที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตที่ถูกแก้ไขจีโนมเข้าสู่ประเทศได้เหมือนเป็นอาหารธรรมดา ดังปรากฏเป็นบทความเรื่อง Gene-edited foods are safe, Japanese panel concludes ใน www.sciencemag.org เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2019 ข่าวโดยย่อกล่าวว่า ญี่ปุ่นจะอนุญาตให้ขายอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบที่มีการแก้ไขจีโนมแก่ผู้บริโภค โดยไม่ต้องมีการประเมินความปลอดภัย ตราบใดที่เทคนิคต่างๆ นั้นมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการที่ปรึกษาของ Ministry of Health, Labour and Welfare เห็นชอบ ประเด็นที่สำคัญคือ นี่เป็นการเปิดประตูสู่การใช้ Crispr และเทคนิคอื่นๆ เกี่ยวกับพืชและสัตว์ที่มีไว้เพื่อการบริโภคของมนุษย์ในญี่ปุ่น         ดังที่กล่าวแล้วในตอนต้นของบทความว่า การใช้เทคนิค Crispr นั้นดูดีไปทุกอย่าง ถ้ากระบวนการนั้นเป็นไปอย่างที่หวัง กล่าวคือ ถ้าหวังว่าต้องการตัดยีนแค่ไหนก็ตัดได้แค่นั้น ไม่ขาดหรือไม่เกิน เพราะถ้ามีการขาดหรือเกินนั้นผลที่ตามมาอาจก่อปัญหาที่รุนแรงต่อฟีโนไทป์ของสิ่งมีชีวิตนั้น         แล้วลางร้ายก็ปรากฏขึ้นดังที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนกังวลใจ เพราะมีงานวิจัยเรื่อง Repair of double-strand breaks induced by CRISPR-Cas9 leads to large deletions and complex rearrangements ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 36 หน้า 765–771 ในปี 2018 ชี้ให้เห็นว่า การใช้ Crispr ในตอนนี้อาจจะไปไกลเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะระบบการแก้ไขนั้นอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเนื่องมากกว่าที่คิดไว้ รายงานดังกล่าวบอกว่า นักวิจัยลองใช้ Crispr เพื่อแก้ไข DNA ทั้งในเซลล์ของหนูและมนุษย์แล้วพบว่า มีส่วนของดีเอ็นเอขนาดยาวถูกลบทิ้งโดยไม่ได้ตั้งใจ มีการจัดเรียงลำดับหน่วยพันธุกรรมใหม่จนทำให้เซลล์กลายพันธุ์ แล้วส่งผลให้เซลล์เสียสภาพร้อยละ 15 ซึ่ง Allan Bradley (ผู้ร่วมทำงานวิจัยนี้) กล่าวเป็นเชิงกังวลกับ Live Science (ในบทความเรื่อง Crispr gene editing may be doing more damage than scientists thought ดูได้จาก www.livescience.com ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2018) ว่า Crispr อาจไม่ปลอดภัยอย่างที่เราเคยคิด เพราะไม่สามารถควบคุมให้กระบวนการแก้ไข DNA นั้นถูกต้องถึง 100 เปอร์เซ็นต์และอาจมีปัญหาอื่นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม"โดยสรุปแล้วประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับเทคนิค Crispr คือ สิ่งมีชีวิตที่ผ่านการแก้ไขจีโนมนั้นมีลักษณะเหมือนเหล้าใหม่ในขวดเก่า เนื่องจากมีลักษณะฟีโนไทป์ที่แสดงออกคล้ายหรือเหมือนกับสิ่งมีชีวิตต้นแบบ (wild type) ในกรณีที่ฟีโนไทป์ที่แตกต่างนั้นเกี่ยวกับสีหรือกลิ่น ผู้บริโภคอาจสามารถบอกความแตกต่างได้ แต่ถ้าสีและกลิ่นยังเหมือนเดิมในขณะที่ส่วนการแสดงออกที่เปลี่ยนไปนั้นอยู่ภายในสิ่งมีชีวิตนั้น การสังเกตด้วยตาและจมูกก็อาจทำได้ลำบาก ด้วยเหตุนี้เราอาจต้องสวดมนต์ภาวนาว่า ขออย่าให้ต้องกินอาหารที่ได้ถูกแก้ไขจีโนมเลย เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งหนึ่งของยีนในสิ่งมีชีวิตอาจส่งผลให้ยีนอื่น ๆ ทำในสิ่งไม่ดีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 อาหารจากการแก้ไขจีโนม ตอนที่ 1

        คนไทยหลายคนคงลืมแล้วว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้เรามีข่าวความกังวลของสังคมเกี่ยวกับ อาหารจีเอ็มโอ หรือที่มีคำเต็มว่า อาหารซึ่งได้จากสิ่งมีชีวิตที่ดัดแปรพันธุกรรม อย่างไรก็ดีในอนาคตอันใกล้คนไทยอาจได้เลิกกังวลเรื่องเกี่ยวกับอาหารจีเอ็มโอแล้ว เพราะกำลังจะมีอาหารในรูปแบบใหม่เข้ามาสร้างความกังวลในชีวิตเรา คือ gene edited food ซึ่งน่าจะแปลเป็นไทยว่า อาหารที่ถูกแก้ไขจีโนม (จีโนมเป็นคำเดียวกับคำว่า ยีน)         เว็บ www.businessinsider.com ได้ลงข่าวที่น่าสนใจเรื่อง We'll be eating the first Crispr'd foods within 5 years, according to a geneticist who helped invent the blockbuster gene-editing tool ในวันที่ 20 เมษายน 2019 ซึ่งเนื้อข่าวโดยสรุปคือ Jennifer Doudna แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แห่งเมืองเบิร์กลีย์ ผู้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้พัฒนาระบบการแก้ไขจีโนมกล่าวว่า ภายในห้าปีข้างหน้าผลกระทบที่ชัดเจนของเท็คนิคการแก้ไขจีโนมต่อชีวิตประจำวันคนบนโลกนี้จะปรากฏในพืชผลของภาคเกษตรกรรม          ความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ Jennifer Doudna พูดนั้นได้เกิดขึ้นก่อนหน้าแล้ว โดยในวันที่ 20 มีนาคม 2019 เว็บ www.wired.com ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง The First Gene-Edited Food Is Now Being Served ซึ่งมีใจความว่า แม้ผู้บริโภคยังไม่สามารถหาซื้อน้ำมันจากถั่วเหลืองที่ได้รับการแก้ไขจีโนมเพื่อให้ถั่วนั้น ผลิตไขมันอิ่มตัวน้อยลงกว่าเดิมและมีไขมันทรานส์เป็นศูนย์ก็ตาม แต่ซีอีโอของบริษัท Calyxt ได้กล่าวว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันกำลังกินน้ำมันดังกล่าวอยู่แล้ว(โดยไม่รู้ตัว) จากร้านอาหารที่เป็นลูกค้าสั่งซื้อน้ำมันถั่วเหลืองจาก Calyxt โดยร้านอาหารเหล่านี้อยู่ในตะวันตกกลางของสหรัฐ (ได้แก่ นอร์ทดาโกตา เซาท์ดาโกตา เนบราสกา มินเนสโซตา ไอโอวา มิสซูรี วิสคอนซิน อิลลินอยส์ แคนซัส มิชิแกน อินเดียนา และโอไฮโอ) ซึ่งได้เริ่มใช้น้ำมันดังกล่าวแล้วในการทอดอาหาร ทำซอสปรุงรสและน้ำมันสลัดต่างๆ เพื่อบริการแก่ลูกค้า ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้บริหารของ Calyxt นั้นกล่าวอย่างมั่นใจว่า ถั่วเหลืองที่ใช้ผลิตน้ำมันนั้น “ไม่ใช่จีเอ็มโอ” อาหารแก้ไขจีโนมคืออะไร         อาหารในลักษณะนี้ใช้หลักการการเปลี่ยนชนิดขององค์ประกอบ ส่วนใดส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นหน่วยพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ผลิต ซึ่งเมื่อทำสำเร็จแล้วการแสดงออกของสิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นลักษณะที่เห็นได้ด้วยตา คือ ฟีโนไทป์ (phenotype) นั้นจะเปลี่ยนแปรไปตามที่หน่วยพันธุกรรมที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น สีของสิ่งมีชีวิตนั้นอาจเปลี่ยนไปจากปรกติที่เคย แดงเป็นดำ ขาวเป็นเขียว โดยที่การเปลี่ยนแปรนั้นถ่ายทอดไปถึงลูกหลานด้วย         การแก้ไขจีโนมนั้นเป็นการใช้เทคนิคที่เรียกว่า Crispr/cas9(อ่านออกเสียงว่า คริสเปอร์/คาสไนน์) หรือเรียกสั้นๆ ว่า Crispr ซึ่งเป็นวิธีที่ดูแล้วน่าศรัทธามาก เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่าและสะดวกกว่าวิธีการผสมพันธุ์แบบดั้งเดิมซึ่งรวมถึงการผลิตพืชดัดแปรพันธุกรรม อีกทั้งกล่าวกันว่ามีความแม่นยำสูงในการทำให้สิ่งมีชีวิตกลายไปตามต้องการโดย(อาจ) ไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ให้ตรวจจับได้         สิ่งที่สำคัญของเทคนิคนี้ประการแรกคือ ต้องรู้ตำแหน่งของจีโนมหรือยีนที่ต้องการแก้ไข จากนั้นต้องมีกระบวนการทำให้โปรตีนต่างๆ ที่ห่อหุ้ม DNA ของเซลล์สิ่งมีชีวิตเป้าหมาย ตรงตำแหน่งที่ต้องการแก้ไขหน่วยพันธุกรรมหลุดออกก่อน แล้วจึงทำให้ DNA คลายตัวจากการพันกันเป็นเกลียวเพื่อแยกเป็นอิสระจากกัน ซึ่งเป็นการเปิดทางให้องค์ประกอบของระบบเข้าไปดำเนินงานต่อ         ส่วนสำคัญที่เป็นหลักคือ ตัว Crispr (clusters of regularly interspaced short palindromic repeats.) ซึ่งเป็นกรดนิวคลิอิกชนิดที่เรียกว่า RNA ที่บางส่วนของสายมีการเรียงตัวของเบสหรือนิวคลิโอไทด์ที่สามารถประกบกับส่วนของ DNA ซึ่งเป็นจีโนม(ยีน) ที่ต้องการแก้ไข สำหรับองค์ประกอบส่วนที่สองของระบบนี้คือ cas9 ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีฤทธิ์เป็นเอ็นซัมที่สามารถตัดสาย DNA ออกได้เสมือนเป็นกรรไกรตรงตำแหน่งที่ RNA ได้ประกบไว้ ซึ่งเมื่อตัดเสร็จแล้วจะมีการนำชิ้นส่วนของ DNA (ซึ่งเป็นยีนที่สามารถแสดงออกซึ่งลักษณะที่ต้องการเปลี่ยน) ที่เตรียมขึ้นในห้องปฏิบัติการส่งเข้าไปแทนที่ DNA ส่วนที่ถูกตัดออกไป จากนั้นจึงใช้เอ็นซัม (ที่เรียกว่า DNA ligase) เชื่อมต่อให้ชิ้น DNA ใหม่ต่อเข้าได้กับส่วนของ DNA เดิมทั้งสาย และถ้าทุกขั้นตอนสำเร็จเซลล์นั้นจะมีหน่วยพันธุกรรมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเมื่อถูกพัฒนาต่อก็จะเจริญเติบโตไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการแสดงออกของฟีโนไทป์ใหม่ที่สามารถสืบต่อลักษณะใหม่นั้นในลูกหลานต่อไป         มีการนำเทคนิคของการแก้ไขจีโนมนี้มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ปลูกในสหรัฐอเมริกา โดยหวังว่าจะได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีและได้ข้าวปริมาณสูง ซึ่งสามารถทนต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เพิ่มความเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ และได้รายงานผลการวิจัยในบทความเรื่อง CRISPR mediated genome engineering to develop climate smart rice: Challenges and opportunities ที่ปรากฏในวารสาร Seminars in Cell and Developmental Biology ในปี 2019 โดยการวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ฟีโนไทป์ ซึ่งเป็นที่ต้องการและปัจจัยทางพันธุกรรมของข้าว แล้วนำมาใช้ในการพัฒนาความทนทานต่อความวิกฤตดังกล่าวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก         โดยปรกติแล้วพืชหลายชนิดที่ปลูกขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น มักอ่อนแอต่อการรุกรานจากไวรัส เห็นได้จากเมื่อปลูกไปไม่นานเท่าไรมักเกิดโรค เพราะไวรัสสามารถแทรกจีโนมของมันเข้าไปซ่อนในจีโนมของพืชนั้น แล้ววันหนึ่งเมื่อสภาวะภูมิอากาศแห้งแล้งได้ที่ ไวรัสที่ซ่อนอยู่ก็แสดงตัวออกฤทธิ์ได้ มีตัวอย่างงานวิจัยที่นักวิจัยของ International Institute of Tropical Agriculture ในเคนยาได้ใช้วิธีการแก้ไขจีโนมเพื่อตัด DNA ของไวรัสภายในจีโนมของกล้วยสายพันธุ์ Gonja Manjaya ออก  จนได้กล้วยที่ปลอดไวรัสแล้วแจกจ่ายพันธุ์ที่ปลอดโรคแก่เกษตรกรของประเทศ ข่าวนี้ได้ปรากฏในเว็บ www.newscientist.com เรื่อง Virus lurking inside banana genome has been destroyed with Crispr เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2019         ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เนื้อส่งสู่ตลาดมักมีปัญหารำคาญใจที่สัตว์มีเขามักทำร้ายกันเอง จนต้องมีการตัดเขาให้สั้นหรือใช้วิธีเอาไฟฟ้าจี้บริเวณที่เขาจะงอกตั้งแต่สัตว์ยังเล็ก ซึ่งทำให้สัตว์ทรมาน จนผู้เลี้ยงสัตว์ถูกโจมตีเกี่ยวกับสิทธิของสัตว์ ดังนั้นถ้าวัวไม่มีเขาจะส่งผลให้การดูแลง่ายขึ้น แล้วความฝันของคาวบอยก็เป็นจริงเมื่อมีบทความเรื่อง Production of hornless dairy cattle from genome-edited cell lines. เผยแพร่ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 34(5) หน้า 479-481 ของปี 2016 โดยผลงานนี้เป็นความร่วมมือของนักวิจัยจากสองมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาคือ University of Minnesota และ Texas A&M University         เทคนิค Crispr ได้ถูกพัฒนาต่อยอดไปอีก เช่น นักวิทยาศาสตร์ของบริษัท Syngenta ในเมือง Durham รัฐ North Carolina ได้คิดค้นกระบวนการใหม่ชื่อ haploid induction-edit หรือ HI-edit เพื่อทำให้เทคนิคการปรับแก้จีโนมของพืชง่ายขึ้นโดยรวมสองวิธีการคือ การเหนี่ยวนำให้เซลล์มีโครโมโซมชุดเดียว(haploid induction technology) และการแก้ไขจีโนม(gene edited technology) เพื่อทำให้พืชมีเกสรตัวผู้(pollen) พิเศษที่มีชุด Crispr ในเซลล์ จึงเรียกว่า Crispr pollen technique ซึ่งอ้างว่าจะไม่มีการแพร่กระจายไปดัดแปลงพืชอื่นในธรรมชาติที่ไม่ใช่เป้าหมาย เพราะระบบ Crispr ที่ใส่ไว้ในเกสรตัวผู้จะหายไปเอง หลังการปฏิสนธิระหว่างเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย ทำให้พืชที่เป็นผลผลิตไม่ควรถูกควบคุมในลักษณะของจีเอ็มโอ ผลงานนี้ได้เผยแพร่ในรูปบทความวิจัยชื่อ One-step genome editing of elite crop germplasm during haploid induction ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 37 หน้าที่ 287–292 ของเดือนมีนาคม 2019         นอกจากการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์แล้ว เทคโนโลยี Crispr สามารถถูกใช้แก้ไขข้อบกพร่อง ซึ่งก่อโรคทางพันธุกรรมในมนุษย์ ตลอดจนการบำบัดและป้องกันการแพร่กระจายของโรค ฯลฯ แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนที่มีความกังวลในการปรับแต่งจีโนมว่า มันแม่นยำมากดังที่กล่าวอ้างนั้นจริงหรือ คำตอบนั้นสามารถติดตามได้ในฉลาดซื้อฉบับหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2558“ฉลาดซื้อ” เป็นเจ้าภาพการประชุมองค์กรทดสอบระหว่างประเทศมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและนิตยสารฉลาดซื้อได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมร่วมกันในเรื่องของการทดสอบสินค้าและบริการต่างๆ ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2558 โดยในการประชุมครั้งนี้มีองค์กรผู้บริโภคจาก 7 ประเทศเข้าร่วมประชุม ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลี ฮ่องกง จีน  ไทย และองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT, International Consumer Research Testing) จากประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคมที่ผ่านมา     โดยในการประชุมครั้งนี้แต่ละองค์กรได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการทดสอบสินค้าและบริการต่างๆ ของแต่ละประเทศ ว่าในรอบปีที่ผ่านมาแต่ละประเทศประสบความสำเร็จ รวมทั้งต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างในเรื่องการทดสอบ และผลทดสอบที่ได้มีการนำไปเผยแพร่และให้กับผู้บริโภคได้ใช้ประโยชน์อย่างไรกันบ้าง ซึ่งสำหรับประเทศไทยเราผลทดสอบทั้งหมดก็ได้ถูกนำเสนออยู่ในนิตสารฉลาดซื้อของเรานั่นเอง โดยในที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าในปีหน้าที่กำลังจะมาถึงนี้ จะเน้นเรื่องการยกระดับความปลอดภัยของรถยนต์ที่จำหน่ายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้เป็นมาตรฐานทัดเทียมกับประเทศในยุโรป     แฟนๆ ฉลาดซื้อก็สามารถติดตามผลการทดสอบสินค้าและบริการต่างๆ ทั้งในประเทศที่ฉลาดซื้อร่วมทดสอบกับทีมเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค และผลทดสอบในระดับสากลโดย ICRT ได้ที่นิตยสารฉลาดซื้อเช่นเดิม   ผิดสัญญา!!? ใกล้ครบ 1 ปี BTS ต้องมีลิฟท์ให้ผู้พิการ แต่ยังไร้ความคืบหน้าหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสต้องดำเนินการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการอย่าง ลิฟท์โดยสาร ให้ครอบคลุมทุกสถานีภายใน 1 ปี ซึ่งคำสั่งศาลมีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 58 ซึ่งอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันครบกำหนด แต่เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 58 ที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) ร่วมกับตัวแทนคนพิการจากหน่วยงานต่างๆ นำโดย คุณมานิตย์ อินทร์พิมพ์ ประธานคณะติดตามระบบรางภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ ลงสำรวจความคืบหน้าการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณรอบสถานีบีทีเอสพร้อมพงษ์ พบว่ายังไม่มีความคืบหน้าในการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการเท่าที่ควร ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจของเครือข่ายฯ พบว่ายังมีอีก 13 สถานีที่กำลังดำเนินการก่อสร้างลิฟท์ ได้แก่ สถานีทองหล่อ นานา พญาไท พร้อมพงษ์ พระโขนง ราชเทวี สนามกีฬา สนามเป้า สะพานควาย สุรศักด์ อนุเสาวรีชัยฯ อารีย์ และเอกมัย รวมทั้งยังมีอีก 8 สถานีที่ยังไม่เอื้อต่อคนพิการ ได้แก่ สถานีช่องนนทรี ชิดลม บางหว้า เพลินจิต ราชดำริ ศาลาแดง สะพานตากสิน และอ่อนนุช ซึ่งดูแล้วมีแนวโน้มว่าอาจจะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการได้ไม่เสร็จตรงตามเวลาที่กำหนด ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้อย่าง กองขนส่ง สํานักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงอุปสรรคที่ทำให้การดำเนินงานล่าช้าว่าเกิดจากระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน ระบบสื่อสารต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง ต้องมีการประสานจัดการก่อนซึ่งต้องใช้เวลานาน อย่าหลงเชื่อเครื่องตรวจสุขภาพ “ควอนตั้ม”อย.เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาเครื่องตรวจสุขภาพ “ควอนตั้ม” หรือ Quantum Resonance Magnetic Analyzer (QRMA) ที่อวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถตรวจวินิจฉัยโรคและตรวจร่างกายเบื้องต้นได้กว่า 40 รายการ โดยมีการอ้างว่าเครื่องนี้สามารถวิเคราะห์ไฟฟ้าที่ไหลเวียนในร่างกาย แล้วนำมาเทียบเคียงกับค่าเฉลี่ยของคนปกติที่สามารถบ่งชี้ความผิดปกติของร่างกายได้อย่างแม่นยำ อย. ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วพบว่าเครื่องตรวจสุขภาพดังกล่าวไม่เคยมีการขออนุญาตนำเข้าหรือจำหน่าย นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่าผลิตภัณฑ์ในลักษณะดังกล่าวจะถูกนำเสนอพร้อมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางการค้าของผู้จำหน่ายในรูปแบบธุรกิจการขายตรงการตรวจสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและตรงตามความเป็นจริงที่สุดนั้น ควรดำเนินการตรวจวินิจฉัยโรคโดยแพทย์จากสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองแล้วเท่านั้น คัดค้าน พ.ร.บ.จีเอ็มโอเครือข่ายภาคประชาชน กลุ่มเกษตรกรรม นักวิชาการ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์ รวมตัวกันคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ “พ.ร.บ.จีเอ็มโอ” เนื่องจากไม่มั่นใจว่าการส่งเสริมให้มีการทำเกษตรจีเอ็มโอในประเทศไทย อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในธรรมชาติ ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ กระทบต่อการเกษตรอินทรีย์ และอาจเกิดการผู้ขาดเมล็ดพันธุ์โดยบรรษัทข้ามชาติเพียงไม่กี่เจ้า สร้างความเสียหายต่อเกษตรกรพื้นบ้านในประเทศ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการส่งร่างกฎหมายจีเอ็มโอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าว โดยให้มีตัวแทนจากกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากจีเอ็มโอ ตัวแทนจากเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์ องค์การคุ้มครองผู้บริโภค นักวิชาการด้านกฎหมายที่ติดตามเรื่องนี้ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการปรับปรุงร่างกฎหมายด้วย โดยการพิจารณากฎหมายต้องคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ และความเสียหายที่อาจจะเกิดกับพันธุ์พืชในประเทศ โดยจากนี้จะต้องมีการออกกฏหมายให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของจีเอ็มโอต้องแสดงฉลากให้ผู้บริโภคทราบเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค โดยล่าสุดรัฐบาลได้สั่งให้ยกเลิกการพิจารณา พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพแล้ว เจ็บป่วยฉุกเฉินยังมีปัญหาสิทธิเรื่องการรักษาพยาบาลยังคงเป็นปัญหาใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศไทยที่ต้องมีการปฏิรูปอย่างรวดเร็ว เพื่อคนไทยทุกคนจะได้มีสิทธิได้รับการรักษพยาบาลที่เท่าเทียมทั่วถึงและมาตรฐานเดียวกันทุกคน     ล่าสุดในงานเสวนาเรื่อง “สภาผู้บริโภคประเด็นบริการสุขภาพและสรุปบทเรียนการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ กรณีเข้ารับการบริการฉุกเฉิน” ที่จัดขึ้นโดยคณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านบริการสุขภาพ โดยในเวทีได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้สิทธิในเรื่องการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะกับกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ยังพบปัญหาการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ การถูกเรียกเก็บเงินก่อนการรักษา และการคิดค่ารักษาพยาบาลในราคาแพง ในเวทีได้มีการเสนอผลวิจัยเรื่องค่าใช้จ่ายกรณีรับบริการสุขภาพ โดยรวบรวมเรื่องร้องเรียนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน (หน่วยรับเรื่องร้องเรียน 50(5))ในช่วงปี 2558 ศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติ จากการถูกเรียกเก็บค่ารักษาจากโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามสิทธิ ในกรณีที่ใช้บริการฉุกเฉินตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน จากผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินกรณีเข้ารับการรักษากับสถานพยาบาลเอกชนหรือสถาพยาบาลนอกสิทธิ สามารถเบิกเงินคืนได้ในจำนวนเงินที่น้อยมาก ยกตัวอย่างโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเรียกเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วย 3 แสนบาท แต่สามารถเบิกคืนได้เพียง 10,500 บาท ไม่ถึง 5% ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด โดยในใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลไม่มีการแจกแจงรายละเอียดเรื่องค่าบริการต่างๆ นอกจากนี้ยังพบผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น ด้านคุณภาพมาตรฐานการรักษา บางรายต้องกลับมารักษาซ้ำในโรคเดิมหรือเสียชีวิต ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับการคุ้มครอง ช่วยเหลือ เยียวยา อย่างที่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า เจ็บป่วยฉุกเฉิน บางครั้งผู้ป่วยไม่มีโอกาสที่จะเลือกใช้เฉพาะสถานพยาบาลตามสิทธิหรือสถานพยาบาลของรัฐ จำเป็นต้องเลือกใช้บริการสถานพยาบาลที่พร้อมและอยู่ใกล้ที่สุด ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อาจเป็นสถานพยาบาลของเอกชน ดังนั้งหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องนี้ต้องมีมาตรการที่ทำให้สถานพยาบาลเอกชนให้การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินที่ใช้สิทธิอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม คำนึงถึงการรักษาพยาบาลก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นค่อยดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2558 ศาลสั่ง “BTS” ทำลิฟท์ทุกสถานีให้ผู้พิการ ศาลปกครองสูงสุดมีมติ ให้กลุ่มผู้พิการ โดยมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เป็นฝ่ายชนะคดีที่ฟ้องร้องต่อ กทม. และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กรณีร่วมกันก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) โดยไม่มีการก่อสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ หลังจากที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิมายาวนาน ตั้งแต่เริ่มมีการสร้างรถไฟฟ้าก่อนเปิดให้ใช้งาน นับเวลารวมแล้วเกือบ 20 ปี โดยมติของศาลมีว่า กทม. และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ต้องจัดทำลิฟต์ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้ง 23 สถานี (ปัจจุบันมีเพียง 5 สถานี ได้แก่ สยาม หมอชิต ช่องนนทรีย์ สนามกีฬาแห่งชาติ และอ่อนนุช โดยแต่ละสถานีมีลิฟต์เพียง 1 ตัวเท่านั้น) และให้จัดทำอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก ทั้ง 23 สถานี รวมทั้งจัดทำอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า โดยให้จัดที่ว่างสำหรับเก้าอี้เข็นคนพิการ ให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า 120 ซม. และให้ราวจับสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 ซม. บริเวณทางขึ้นลงและติดสัญลักษณ์คนพิการไว้ทั้งในและนอกตัวรถที่จัดให้สำหรับคนพิการ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2542) ออกตามความใน พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 และตามระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ.2544 ทั้งนี้ให้ดำเนินการตามคำสั่งศาลให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังจากมีคำพิพากษา   ไม่อยาก “ซิมดับ” รีบไปลงทะเบียน ใครที่เป็นผู้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน แล้วยังไม่เคยลงทะเบียนซิม ต้องอ่านข่าวนี้ให้ดี เพราะ กทสช. ออกประกาศชัดเจนแล้ว หากใครยังไม่ยอมนำซิมไปลงทะเบียนก่อนวันที่ 31 ก.ค. 2558 ซิมจะถูกระงับการใช้งานโทรเข้า-โทรออกไม่ได้ เรื่องการบังคับให้ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน หรือ prepaid ต้องลงทะเบียนซิมนั้น เป็นไปตามประกาศตั้งแต่สมัย กทช. เพื่อผลในเรื่องของความปลอดภัย ทำให้ทราบถึงข้อมูลของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละหมายเลข รวมทั้งเป็นผลดีในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ช่วยในความสะดวกเวลาใช้สิทธิหรือร้องเรียนปัญหาต่างๆ อย่างเช่น การย้ายค่ายเบอร์เดิม ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินที่ยังไม่เคยลงทะเบียนซิม สามารถลงได้โดยนำซิมการ์ดที่ต้องการลงทะเบียนและบัตรประชาชนนำไปติดต่อขอลงทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เครือข่ายที่เราใช้บริการอยู่   “ไอโอดีน” ในวิตามินรวมสำหรับคนท้องตกมาตรฐานเพียบ มี “ทั้งขาด – ทั้งเกิน” กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยผลตรวจวิตามินรวมผสมเกลือแร่สำหรับหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 13 ตัวอย่าง ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ พบผิดมาตรฐาน 9 ตัวอย่าง (ร้อยละ 69) โดยพบว่าแต่ละตัวอย่างมีปริมาณไอโอดีนในแต่ละเม็ดแตกต่างอย่างมาก บางเม็ดยาตรวจไม่พบไอโอดีนเลย ขณะที่บางเม็ดพบปริมาณไอโอดีนสูง 40 เท่าของปริมาณที่แจ้งไว้ ไอโอดีนถือว่า 1 ในสารอาหารสำคัญสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพราะช่วงตั้งครรภ์หากมารดาขาดสารไอโอดีนจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทของเด็กทารกได้ จึงกลายเป็นช่องทางให้มีผู้ผลิตอาหารเสริมผสมไอโอดีนออกมาขาย แต่จากผลทดสอบที่ได้จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายอยู่ส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพของผู้ที่กินได้ ซึ่งหลังจากนี้ทาง อย.จะต้องมีการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ยาและอาหารเสริมที่มีสารไอโอดีนเป็นองค์ประกอบ และต้องมีการกำหนดข้อบ่งใช้กับสตรีมีครรภ์เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้   “สปาหอยทาก” เจอ “อีโคไล” วิวัฒนาการเรื่องความสวยความงามมีมาได้ไม่สิ้นสุดจริงๆ ที่มาสร้างความฮือฮาแบบสุดๆ ก็คือ “สปาหอยทาก” ที่จับเอาหอยทากมาไต่บนใบหน้า เพราะเชื่อว่าที่ตัวหอยทากมีสารช่วยบำรุงผิวหน้าเป็นสูตรลับจากฝรั่งเศส แต่งานนี้ดูไม่ชอบมาพากล เพราะหลายคนตั้งคำถามถึงเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย ร้อนถึงกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ต้องรุดเข้าไปตรวจสอบ สปาหอยทากนี้ตั้งอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ มีเจ้าของเป็นชาวฝรั่งเศส โดยนอกจากจะเปิดให้บริการในลักษณะเป็นร้านเสริมสวยที่ใช้หอยทากมาไต่ที่ผิวหน้าแล้วนั้น ยังมีฟาร์มหอยทากจำนวนกว่า 3 หมื่นตัว โดยเจ้าของระบุว่า เดิมนำเข้าแม่พันธุ์มาจากฝรั่งเศสประมาณ 100 ตัว แล้วค่อยมาขยายพันธุ์ที่เมืองไทย ซึ่งหลังจากการตรวจสอบโดยกรมประมง พบว่ามีเชื้ออีโคไลปนเปื้อนในตัวอย่างหอยทากที่นำไปตรวจ นอกจากนี้ยังอาจมีความผิดฐานนำเข้าสัตว์โดยผิดกฎหมาย ส่วนเรื่องของของเปิดบริการสถานเสริมความงาม พบเรื่องการใช้เครื่องมือแพทย์โดยผู้ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ได้รับใบอนุญาต และสถานบริการดังกล่าวยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สบส. แค่จดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น ใครที่จะไปใช้บริการก็ขอให้ระวังเรื่องของเชื้ออีโคไลให้ดี เพราะเป็นเชื้อที่ผลต่อระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้ท้องร่วงรุนแรงได้   จับตากฎหมาย “จีเอ็มโอ” หวั่นเอื้อประโยชน์บรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน นักวิชาการ กลุ่มธุรกิจอาหาร และกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ร่วมกันจัดเวทีเสวนา จับตาการผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ....” หวั่นเอื้อประโยชน์บรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ ซึ่งหลังจากที่คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) และผลิตภัณฑ์มาใช้ใน ประเทศไทย ได้มีมติร่วมกันว่า การทดลองเรื่องจีเอ็มโอนั้นให้กลับไปใช้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 ที่มีเงื่อนไขควบคุมการทดลองจีเอ็มโอในภาคสนามที่เข้มงวด เช่น ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องทดลองในสถานที่ของราชการเท่านั้น ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และนักวิชาการ และคณะรัฐมนตรีต้องเป็นผู้อนุมัติให้มีการทดลองเป็นรายกรณี ซึ่งจากข้อกำหนดนี้ จะส่งผลลบกับกลุ่มบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ ที่หวังจะนำเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเข้ามาขายในประเทศไทย ทำให้การพลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ....” นี้จึงเป็นเครื่องมือของเหล่าบรรษัทข้ามชาติ ที่ลดทอนความเข้มงวดในการควบคุมการใช้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอในประเทศ ทั้งนี้เมล็ดดัดแปลงพันธุกรรมหรือ จีเอ็มโอนั้น ถูกทำให้เชื่อว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่ดีกว่าเมล็ดพันธุ์ทางธรรมชาติปกติ แต่นั่นเป็นเพียงการสร้างมายาคติของบรรษัทผู้ถือสิทธิเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเท่านั้น การใช้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเกษตรกรจะต้องซื้อจากบรรษัทเจ้าของสิทธิ ไม่สามารถเพาะได้เองเหมือนเมล็ดพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งในอนาคตจีเอ็มโออาจจะกลายเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ในการกีดกันทางการค้า เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอจะทำลายเมล็ดพันธุ์ทางธรรมชาติอื่นๆ ที่สำคัญคือเมืองไทยเราเป็นเมืองเกษตร มีความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูกพืชพรรณต่างๆ อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอจากต่างชาติ โดยหลังจากนี้จะมีการทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เอาไว้ก่อน โดยจะขอให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ และปรับปรุงเนื้อหาที่จะไม่เป็นการทำร้ายเกษตรกร ภาคธุรกิจ และผู้บริโภคในประเทศ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 เดอะ จีเอ็มโอ สไตรค์แบค (The GMO strikes back)

แล้วผลการลงคะแนนเสียงในสหรัฐอเมริกาก็ปรากฏออกมาว่า นอกจากโอบามาจะได้เป็นใหญ่ในประเทศมหาอำนาจต่อไปแล้ว จีเอ็มโอก็ยังไม่เคยสยบต่อใครเลย ดูได้จากการที่ proposition 37 ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีผู้พยายามเสนอให้อาหารที่มีองค์ประกอบเป็นจีเอ็มโอหรือสิ่งมีชีวิตที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมต้องแสดงฉลากให้ชัดเจน ต้องตกกระป๋องไปอย่างที่หลายคนคาดไว้ในลักษณะที่ว่า แข็งเท่าเหล็กเงินง้างได้ดั่งใจ ดังที่ได้เคยกล่าวไว้ใน ฉลาดซื้อ ฉบับที่ผ่านมาว่า การต่อสู้เพื่อไม่ให้การติดฉลากจีเอ็มโอผ่านสภาของรัฐแคลิฟอร์เนียนั้น มีการใช้เงินราว 45 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อทำรณรงค์ให้คนในรัฐนี้เชื่อใจว่า จีเอ็มโอไม่อันตราย การรณรงค์นี้เป็นไปตามกฎหมายของสหรัฐ จึงไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งดูแปลกดีเหมือนกันถ้าปรากฏการณ์ทำนองนี้มาเกิดขึ้นในบ้านเรา เมื่อวันที่ 29 สิงหา 2012 www.naturalnews.com นี้ได้แสดงโปสเตอร์ที่บอกให้ประชาชนอเมริกันรู้ว่า บริษัทใดบ้างที่มีส่วนในการลงขันเพื่อยับยั้งร่างกฎหมายนี้ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่หรือทั้งหมดยังไม่ได้มาขายในบ้านเรา ขอให้ท่านผู้อ่านดูโปสเตอร์ที่ผู้เขียนได้นำมาจากอินเตอร์เน็ต แล้วแสดงให้ท่านผู้อ่านดูนี้ อาจไม่ชัดนัก ถ้าท่านผู้อ่านต้องการดูชัดๆ ท่านสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.cornucopia.org/2012/09/california-proposition-37-your-right-to-know-what-is-in-your-food   ความจริงผลการลงคะแนนไม่รับกฎหมายติดฉลากจีเอ็มโอนี้ ก็ไม่ได้เกินความคาดหมายที่ผู้เขียนและผู้ที่มีความสงสัยในอาหารจีเอ็มโอคาดไว้แต่แรก ทั้งนี้เพราะธุรกิจอาหารจีเอ็มโอนั้นมหาศาลจนสามารถทำให้ผู้บริหารประเทศไม่ว่าระดับใดมีปัญหาได้ อีกทั้งหัวข้อข่าวที่พาดหัวข่าวในอินเตอร์เน็ตก็ออกมาในทำนองเดียวกันว่า “Proposition 37 appears to have failed in California, but GMO labeling awareness achieves victory” ซึ่งความหมายง่ายๆ ก็คือ ถึงแพ้ในการโหวต แต่ผู้ต่อต้านจีเอ็มโอก็ชนะในการสร้างกระแสให้ผู้บริโภคคำนึงว่า เวลาซื้ออาหารให้สำนึกว่า อาจมีจีเอ็มโอได้ เพราะไม่มีการติดฉลาก ดังนั้นในความพ่ายแพ้นั้น ก็เสมือนฝ่ายไม่ไว้ใจจีเอ็มโอ จะชนะ ที่ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปเริ่มระแวงในอาหารที่ยังไม่ผ่านการประเมินความปลอดภัยอย่างที่หลายฝ่ายคิดว่าควรต้องทำ การประเมินความปลอดภัยของอาหารนั้นมีหลายระดับ ในกรณีที่เป็นสารเจือปนในอาหารนั้น กว่าจะได้ผ่านมาเข้าปากผู้บริโภคนั้น ต้องเข้าปากสัตว์ทดลองเป็นพันตัวขึ้นไป ทั้งสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่ จำนวนของสัตว์นั้นขึ้นกับว่าสารเคมีใหม่นั้น มีลักษณะทางเคมีและกายภาพน่าสงสัยแค่ไหน และมีการใช้ปริมาณเท่าใด ที่สำคัญการประเมินนั้นจะเริ่มจากการทดสอบในสัตว์ระยะสั้นแบบชั่วคราวไม่กี่วันถึงเป็นเดือน และแบบค้างยาวตลอดชาติของสัตว์นั้น จนได้ข้อมูลว่า ปริมาณเท่าใดของสารเคมีที่ศึกษาให้สัตว์กินทุกวันตลอดชีวิตแล้วสัตว์ไม่มีอาการอะไรเลย (ซึ่งรวมถึงมะเร็งและเนื้องอก) สารนั้นถึงจะถูกนำมาคำนวณว่าคนควรได้รับสักเท่าไร อีกทั้งยังมีการประเมินแบบถึงลูกหลานเพื่อดูศักยภาพการก่อพิษในตัวอ่อนและระบบสืบพันธุ์ด้วย   ส่วนอาหารที่มีความเป็นอาหารมากกว่า สารเจือปนในอาหาร เช่น อาหารที่มาทดแทนการใช้แป้ง ไขมัน หรืออื่นๆ เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ใช้เฉพาะผู้บริโภคบางกลุ่ม จะต้องการการทดลองในสัตว์ทดลองระดับหนึ่งเพื่อประกันว่าจะไม่เกิดปัญหาสุขภาพ จากนั้นจึงมีการศึกษาทดลองในอาสาสมัครที่มีการควบคุมการศึกษาโดยผู้ชำนาญการ ในการศึกษาอาหารประเภทนี้ จะมีลักษณะการออกแบบการทดลองเฉพาะ   ในขณะที่อาหารที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอนั้น การประเมินความปลอดภัยทำเพียงแค่มองๆ ดม  หรือวิเคราะห์ทางเคมีว่า มีอะไรเหมือนกับอาหารปรกติเท่านั้น แล้วก็บอกว่าปลอดภัย (substantial equivalence) แต่ไม่เคยลองนำอาหารมาสกัดหาสารซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการตัดแต่งพันธุกรรมที่อาจก่ออันตรายต่อสิ่งมีชีวิตมาศึกษาในสัตว์ทดลอง ทั้งนี้เพราะพืชหรือสัตว์ที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรมแล้วนั้นถือว่า ได้กลายพันธุ์ไปแล้ว เพราะหน่วยพันธุกรรมสามารถสร้างสิ่งที่ไม่เคยสร้างได้ขึ้นมา   ที่สำคัญในทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพนั้น ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดปฏิเสธได้ว่า การทำงานของยีนใดยีนหนึ่งมีความสัมพันธ์กับอีกหลายยีน การที่ยีนหนึ่งทำงานจะมีผลกระทบให้อีกยีนทำงานหรือไม่ทำงานก็ได้ พูดไปพวกจงรักจีเอ็มโอก็จะบอกว่า เอาหลักฐานมาดูสิ   ในความเป็นจริงแล้ว วารสารวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติที่เป็นที่ยอมรับคือ Environment International ชุดที่ 37 ปีที่พิมพ์คือ  2011 หน้าที่ 734 ถึง หน้าที่ 742 ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการประเมินความปลอดภัยของอาหารจีเอ็มโอที่น่าสนใจคือ บทความชื่อ A literature review on the safety assessment of genetically modified plants เขียนโดย José L. Domingo และ Jordi Giné Bordonaba ซึ่งเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยชื่อ Universitat Rovira i Virgili ประเทศสเปน   ในบทความดังกล่าวนั้นได้สรุปว่า แทบจะยังไม่พบปัญหาอะไรเลยในทางสุขภาพที่เกิดเนื่องจากพืชจีเอ็มโอเมื่อศึกษาในสัตว์ทดลองถ้างานวิจัยนั้นทำโดยนักวิจัยของบริษัทที่ผลิตจีเอ็มโอ (ข้อความที่กล่าวไว้คือ Nevertheless, it should be noted that most of these studies have been conducted by biotechnology companies responsible of commercializing these GM plants) และที่สำคัญซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปคือ บริษัทที่ผลิตสินค้าจีเอ็มโอไม่ค่อยชอบให้ทุนนักวิจัยอิสระทำวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารจีเอ็มโอเลย อาจเนื่องจากไม่สามารถรับประกันได้ว่าผลจะออกหัวหรือก้อย   ตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Séralini และคณะชื่อ Genetically modified crops safety assessments: present limits and possible improvements ซึ่งได้ทุนจาก the French Ministry of Research และ The Regional Council of Basse-Normandie ทำวิจัยแบบที่เรียกว่า meta-analysis (หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า การวิเคราะห์อภิมาน) และตีพิมพ์ใน Environmental Sciences Europe ชุดที่ 23 หน้า 1-10 ปี 2011 วารสารดังกล่าวเป็นวารสารวิชาการของ Springer Open Journal ซึ่ง Springer ไม่ใช่บริษัทที่กระจอก แต่เป็นบริษัทที่พิมพ์วารสารที่อยู่ในระดับน่าเชื่อถือของยุโรปทีเดียว การวิเคราะห์อภิมานนั้น เป็นการวิจัยเชิงปริมาณที่ใช้วิธีการทางสถิติมาสังเคราะห์งานวิจัยหลายๆ เรื่องที่ศึกษาปัญหาวิจัยเดียวกัน โดยใช้งานวิจัยแต่ละเรื่องเป็นหน่วยตัวอย่างของการวิเคราะห์ งานวิจัยแต่ละเรื่องนั้นจะถูกแปลงให้เป็นหน่วยมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถสรุปผลรวมเข้าด้วยกันได้ หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า การวิเคราะห์อภิมานเป็นการวิจัยงานวิจัย (Research of Research) โดยใช้วิธีการทางสถิติมาวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุปอย่างมีระบบจากงานวิจัยหลายๆ เรื่องที่ศึกษาปัญหาวิจัยเดียวกัน ต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ meta-analysis สามารถไปอ่านได้ที่ http://rci2010.files.wordpress.com/2011/ 06/mata.pdf ข้อสรุปหนึ่งที่ Séralini และคณะกล่าวไว้คือ จากการที่หนู rat ได้กินข้าวโพด MON 863 (ซึ่งเป็นข้าวโพดจีเอ็มโอ) นาน 90 วัน แล้วดูเหมือนว่า ตับและไตจะมีปัญหาในระดับหนึ่ง ผู้ที่สนใจอ่านผลงานวิจัยนี้เชิญได้ที่ http://www.enveurope.com/content/pdf/2190-4715-23-10.pdf เพื่อจะได้ทราบว่า ผู้เขียนไม่ได้อ้างเรื่องนี้ขึ้นมาลอยๆ เพราะ ความจริงก็คือความจริง เพียงแต่ว่าเราจะเอาความจริงมาใช้ประโยชน์หรือไม่ ซึ่งขึ้นกับผู้กำกับการบริโภคอาหารที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมจะเอางานวิจัยลักษณะนี้มาใช้หรือไม่เท่านั้น   สำหรับผู้เขียนแล้วก็ยังนึกดีใจว่า รัฐบาลของเราไม่ว่าจะชุดไหนก็ตาม ยังคงไว้ซึ่งหลักการว่า ไม่รับจีเอ็มโอเพื่อให้ผลิตผลการเกษตรของเรา ยังขายได้ในประเทศที่ไม่ต้อนรับผลิตภัณฑ์ประเภทนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 140 ติดฉลากจีเอ็มโอ มีหรือในอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกา มลรัฐที่เคยมีผู้ว่าการเป็นคนเหล็ก (Arnold Alois Schwarzenegger) คือ แคลิฟอร์เนีย กำลังมีการต่อสู้ทางความคิด แบบว่าใช้เงินกันน่าดูของกลุ่มคนสองฝ่าย ฝ่ายแรกคือ บริษัทที่ผลิตสินค้าที่เป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม ส่วนอีกฝ่ายคือ เกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบอินทรีย์ร่วมหัวจมท้ายกับนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและองค์กรเอกชน ประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายหาเรื่องให้คนกลางคือ ผู้บริโภค เกิดอาการเวียนหัวคือ Proposition 37 (ซึ่งเป็นรัฐบัญญัติชื่อ “California Right to Know Genetically Engineered Food Act” คนอเมริกันเรียกกันง่าย ๆ ว่า Prop 37) ซึ่งกล่าวถึงการ ติดฉลากอาหารที่ตัดแต่งพันธุกรรมจะมีการลงมติว่า ประกาศได้หรือไม่ประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้ ทำไมเรื่องนี้จึงน่าสนใจ ท่านผู้อ่านบางท่านอาจไม่ทราบว่า สหรัฐอเมริกาไม่ใช่ประเทศเดี่ยวที่ใครแบ่งแยกไม่ได้เหมือนประเทศไทย การรวมตัวเป็นสหรัฐนั้น มีกฎหมายกลางซึ่งใช้บังคับทั้งประเทศ มีกฎหมายรัฐที่ใช้บังคับทั้งรัฐ แถมกฎหมายท้องถิ่นที่ใช้เฉพาะท้องถิ่นอีกด้วย ดังนั้นแต่ละรัฐจึงเปรียบเสมือนแต่ละประเทศที่มักมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เหมือนกระทรวง (ซึ่งใช้คำว่า Department of ต่างๆ ไม่ใช่ Ministry of เช่นบ้านเราซึ่งเข้าใจว่าเลียนแบบอังกฤษ) เช่น เมื่อมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของสหรัฐอเมริกา ก็ย่อมมีหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่เดียวกันในระดับรัฐ และมีอำนาจออกกฎหมายที่ใช้เฉพาะในรัฐได้ ขอเพียงอย่างเดียวกฎหมายนั้นต้องไม่แย้งกฎหมายกลางที่ออกตามรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น   ดังนั้นในประเด็นของอาหารที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม ที่ไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดจาก อย. ของสหรัฐอเมริกาให้มีการติดฉลากอาหารประเภทนี้เหมือนประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศไทย (ผู้เขียนภูมิใจมากที่ได้เขียนอย่างนี้) จะด้วยเหตุผลใดคงไม่เกินท่านผู้อ่านจะเดาได้ เพราะระบบรัฐสภาของสหรัฐนั้นว่าไปเปิดเผยทุกอย่างจนออกนอกหน้า กล่าวคือ ในการออกกฎหมายอะไรก็ตาม จะมีการประกาศให้รู้กันล่วงหน้าเป็นเวลานานพอควร นานจนกฎหมายบางฉบับแท้งคาปากกาไปเลย เพราะมีการวิ่งเต้นล้มกฎหมายได้อย่างถูกต้อง โดยบุคคลที่ทำอาชีพเป็น lobbyist บทความในฉลาดซื้อฉบับนี้ จึงขอยกเอาเรื่องของ การติดฉลากอาหารตัดแต่งพันธุกรรมในรัฐแคลิฟอร์เนียมาเป็นตัวอย่างให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามในอนาคตว่า ฝีมือ lobbyist นั้นจะแน่สักแค่ไหน ข้อมูลจากวารสาร Nature ฉบับออนไลน์ (http://www.nature.com) วันที่ 20 August 2012 ได้ออกข่าวระบุว่า ปฏิบัติการเพื่อให้มีกฏหมายติดฉลากอาหารตัดแต่งพันธุกรรม (Prop 37) นั้นเป็น expensive war ทั้งนี้เพราะ ฝ่ายผู้ประกอบการได้เริ่มต้นตั้งงบประมาณในการรณรงค์คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ด้วยวงเงินราว 13 ล้านเหรียญดอลลาร์ หรือประมาณ 400 ล้านบาท ส่วนฝ่ายผู้สนับสนุนกฏหมายนี้คือ องค์กรอิสระที่ต่อต้านการใช้กระบวนการตัดแต่งพันธุกรรมกับอาหารนั้นก็ตั้งงบไว้ในการรนณรงค์ครั้งนี้ 2.5 ล้านเหรียญดอลลาร์ ซึ่งคงได้จากการบริจาคล้วนๆ ความสำคัญของ Prop 37 นี้ก็คือ มันเป็นตัวแทนของปรัชญาพื้นฐานของสิทธิของผู้บริโภคที่มีสิทธิจะรู้ถึงคุณลักษณะของสินค้าที่จะบริโภค โดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นว่า การตัดแต่งพันธุกรรมนั้นมีอันตรายหรือไม่ ในขณะที่ผู้ผลิตก็กล่าวอ้างว่า การติดฉลากนั้นจะกระทบถึงผู้บริโภคแน่เพราะมันต้องใช้เงิน ซึ่งส่งผลถึงการเพิ่มราคาสินค้า การพยายามให้มีการติดฉลากอาหารที่มีองค์ประกอบผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมนั้นมีมาแล้วใน 19 รัฐ แต่ก็แท้งหมดทุกครั้ง เพราะมีการต่อต้านจากผู้ประกอบการ แต่สำหรับแคลิฟอร์เนียในครั้งนี้ดูเหมือนจะเสร็จแน่ เนื่องจากมีการรณรงค์อย่างจริงจังในการออกกฎหมายนี้ และถ้ากฎหมายนี้ผ่านได้ในรัฐแคลิฟอร์เนีย อีกหลายรัฐคงเอาบ้าง ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องอาหารตัดแต่งพันธุกรรมของชาวอเมริกันเลยทีเดียว การติดฉลากอาหารผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมนี้ ย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกามักอยู่ในกลุ่มหลัง ถึงขนาดเรียกกฏหมายในลักษณะนี้ว่า เป็นกฎหมายที่ต่อต้านการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เพราะนักวิทยาศาสตร์หลายคนมีความรู้สึกว่า กฎหมายลักษณะนี้จะทำให้เกิดความท้อแท้ในการจะพัฒนาความรู้ในการดัดแปลงพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ขายผู้บริโภค ที่สำคัญนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐส่วนใหญ่ไม่คิดว่า การตัดแต่งพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการนั้น เป็นการทำให้เกิดชีวิตแบบใหม่ เพราะสิ่งมีชีวิตที่ถูกดัดแปลงนั้นได้มีการกลายพันธุ์ไปแล้ว และที่สำคัญและมักหลงลืมกันก็คือ การทำงานของหน่วยพันธุกรรม (gene) ลักษณะหนึ่งมักมีผลต่อการทำงานของหน่วยพันธุกรรมอื่นด้วยในเซลล์เดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น การตัดแต่งพันธุกรรมของถั่วเหลืองให้ต่อต้านสารกำจัดวัชพืชนั้น ได้ทำให้ถั่วเหลืองมีการสร้างสารไอโซเฟลโวน (isoflavone) เช่น เจ็นนิสติน (genistin) ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่ผู้บริโภคหวังว่าต้องได้จากการบริโภคถั่วเหลือง(เพื่อลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม) ลดลงไปถึงระดับที่นักตัดแต่งพันธุกรรมเรียกว่า ต่ำปรกติ (หมายความว่า ถึงต่ำก็ยังอยู่ในช่วงที่เรียกว่าไม่ผิดปกติ) นักตัดแต่งพันธุกรรมพืชมักกล่าวว่า การที่พืชทางเศรษฐกิจสามารถต้านสารกำจัดวัชพืชนั้น เป็นผลดีต่อเกษตรกร เพราะช่วยประหยัดเวลาในการใช้สารเคมี เนื่องจากไม่ต้องกังวลว่า สารกำจัดวัชพืชจะไปมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นพืชที่ต้องการ แต่ในกรณีนี้นักต่อต้านการใช้พืชตัดแต่งพันธุกรรมกลับคิดว่า เกษตรกรพันธุ์ใหม่มีความมักง่ายที่จะไม่สนใจว่า สารเคมีที่ตกค้างบนพืชนั้นเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ส่งผลให้ผลิตผลการเกษตรนั้นมีสารตกค้างในปริมาณที่สูงขึ้น อีกทั้งความสามารถในการใช้สารเคมีได้ตามสบายยังส่งผลถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้ออาหารที่แพงขึ้นด้วย โดยผู้ขายสารเคมียิ้มสบาย ทำไมการติดฉลากอาหารที่มีองค์ประกอบผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมจึงสำคัญสำหรับผู้บริโภคในรัฐแคลิฟอร์เนีย คำตอบก็คือ ปัจจุบันมีนักวิชาการได้ประเมินว่า อาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น มีองค์ประกอบที่ได้จากพืชตัดแต่งพันธุกรรม มากกว่าร้อยละ 70 (ข้อมูลเหล่านี้ดูได้จาก Youtube) ตัวเลขที่แน่นอนนั้นยังไม่ยืนยัน แต่ที่แน่ๆ คือ มีการทำการทำโพลล์ (poll หรือคำเติมคือ opinion poll) หลายการสำรวจเช่น ของ Thomson Reuters ในปี 2010 พบว่า คนอเมริกันทั่วไปกว่าร้อยละ 90 ต้องการฉลากดังกล่าว อย่างไรก็ดี การดูข้อมูลจากการทำโพลล์นั้นมักต้องติดตามให้ทันสมัยเพราะข้อมูลเปลี่ยนไปมาได้ตลอด ที่สำคัญก็ต้องดูว่าเป็นโพลล์ของสำนักไหน เพราะคนทำโพลล์ก็ต้องกินข้าว อยู่บ้าน มีรถขับ และอยากได้เฟอร์นิเจอร์ประดับกายอื่นๆ เหมือนกัน จะหวังคนทำโพลล์ถือศีลครบห้าข้อตลอดนั้น ชาติหน้าบ่าย ๆ ค่อยหวังแล้วกัน ดังนั้นการเต้าโพลล์จึงเป็นของธรรมดาในประเทศทุนนิยม ในรัฐแคลิฟอร์เนียนั้น เคยมีการทำโพลล์ว่าคนในรัฐนี้ร้อยละ 67 สนับสนุนการขึ้นภาษีบุหรี่ ดังนั้นบริษัทผลิตบุหรี่จึงทุ่มเงินราว 50 ล้านเหรียญเพื่อรณรงค์ต่อต้านกฎหมายนี้ และประสบความสำเร็จเสร็จที่สุดว่ากฎหมายเพิ่มภาษีบุหรี่ต้องตกไป จึงมีนักข่าวหลายคนคาดว่า เหตุการณ์ในลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นกับกฎหมายการติดฉลากอาหารตัดแต่งพันธุกรรมได้ ต้องคอยดูกัน ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจไม่เคยทราบหลักการติดฉลากอาหารตัดแต่งพันธุกรรมของไทยว่า เรามีข้อกำหนดอย่างไร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 251) พ.ศ.2545 เรื่อง การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม มีอาหารในหมวดที่ต้องแสดงฉลาก 22 ชนิด ซึ่งอาหารที่ควบคุมจะเป็นอาหารประเภทถั่วเหลืองและข้าวโพด ในประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า “ให้ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม หรือพันธุวิศวกรรมเป็นอาหารที่ต้องมีฉลาก ซึ่งหมายความว่า อาหารที่มีถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดที่มีสารพันธุกรรมหรือโปรตีนที่เป็นผลจากการดัดแปรพันธุกรรมนั้นอยู่ตั้งแต่ร้อยละ 5 ของแต่ละส่วนประกอบที่เป็นส่วนประกอบหลัก 3 อันดับแรกต้องติดฉลากบอกปริมาณ” จึงมีคำถามว่า ถ้าองค์ประกอบชนิดที่ 4 เป็นอาหารที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมและมีปริมาณเกินร้อยละ 5 ขึ้นไปด้วย จะต้องแสดงฉลากขององค์ประกอบที่ 4 หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ (โดยอธิบายในเชิงว่าคงไม่มีอาหารอะไรที่จะมีองค์ประกอบลำดับที่ 4 มีปริมาณเกินร้อยละ 5) การออกประกาศติดฉลากของอาหารตัดแต่งพันธุกรรมของไทยนั้น เป็นการทำตามธรรมเนียมของประเทศที่เป็นสมาชิกที่ดีของ WTO ที่พึงกระทำตามที่ Codex ขององค์การสหประชาชาติกำหนด ในขณะที่สหรัฐอเมริกานั้นใหญ่โตเกินว่า Codex จะกล้าวอแว ดังนั้นการที่จะมีการออกกฎหมายการติดฉลากอาหารตัดแต่งพันธุกรรมเพียงในรัฐเดียวของมหาประเทศนี้ จึงเป็นเรื่องที่ควรจับตามองจากคนทั้งโลก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 128 กระแสต่างแดน

  เยอรมนีไม่ชอบ ปุ่ม Like อย่างที่รู้ๆ กัน เยอรมันชนเขาถือมากในเรื่องของการละเมิดความเป็นส่วนตัว คงยังจำกันได้ว่าเยอรมนีคือประเทศที่บังคับให้กูเกิ้ล สตรีทวิวทำเบลอหน้าของผู้คนที่ปรากฏในเว็บของตน จนหลายคนที่ใช้บริการเว็บแผนที่ดังกล่าวแอบเรียกประเทศนี้ว่า “เบลอมันนี”  และวันนี้งานก็มาเข้าเครือข่ายออนไลน์ยอดนิยมอย่างเฟสบุ๊ค เจ้าของปุ่ม Like ที่เรารู้จักกันดีนี่แหละ  รัฐเชลสวิก-โฮลสไตน์ ทางตอนเหนือของเยอรมนี ประกาศว่าการทำงานของปุ่ม Like นั้นผิดกฎหมายว่าด้วยความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ และต่อไปนี้บริษัทใดก็ตามที่ยังคงใช้ปุ่ม Like เป็นเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ของตนเองหลังสิ้นเดือนตุลาคมนี้ จะถูกปรับ 50,000 ยูโร (ประมาณ 2 ล้านบาท)  กฎหมายของสหภาพยุโรประบุว่า ผู้ที่จะถูกเก็บข้อมูลจะต้องให้ความยินยอมอย่างชัดแจ้งและโดยสมัครใจหลังจากที่ได้รับการแจ้งโดยผู้ประกอบการ แต่สำหรับกฎหมายเยอรมนีนั้นระบุให้ต้องแจ้งจุดประสงค์ในการเก็บและแจ้งด้วยว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งไปให้ใครบ้าง  เฟสบุ๊คออกมาบอกว่าปุ่ม Like ที่ว่านี้มีมาปีกว่าแล้ว แถมใครๆ ก็ชื่นชอบ และข้อมูลที่เก็บก็แค่เป็นการนับจำนวนจากหมายเลขเครื่องคอมพิวเตอร์ (IP address) ที่มีการกดปุ่ม Like เท่านั้น  ในขณะที่หลายผ่ายออกมายืนยันว่าเฟสบุ๊คเก็บข้อมูลมากกว่านั้น แถมยังเก็บข้อมูลทุกคนที่เข้าใช้เว็บดังกล่าว ไม่ว่าจะกดปุ่ม Like หรือไม่ และจะถูกติดตามเก็บข้อมูลไปอีก 2 ปีด้วย   เมื่อความอ้วนเป็นวาระแห่งโลกปัญหาที่ทุกประเทศมีเหมือนๆ กันขณะนี้ คือการมีจำนวนประชากรที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นทุกปี และดูเหมือนสถานการณ์จะย่ำแย่ไปได้อีก  นักวิจัยคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 อังกฤษ ซึ่งปัจจุบันมีคนเป็นโรคอ้วนอยู่ร้อยละ 25 จะมีคนอ้วนถึงร้อยละ 40 โดยที่ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าวก็จะเพิ่มขึ้นปีละ 2 ล้านปอนด์ด้วย ส่วนในอเมริกาจะมีถึงร้อยละ 50 ของประชากรเป็นโรคอ้วนในปีดังกล่าว (ขณะนี้ประชากร 1 ใน 3 ของอเมริกาก็เป็นโรคอ้วนแล้ว)  เลยมีการตั้งคำถามว่าเราน่าจะสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความอ้วนกันดีหรือไม่  นักวิจัยฟันธงว่า ที่ปัญหาโรคอ้วนลุกลามใหญ่โตได้ขนาดนี้ก็เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศเฉื่อยชาเกินไปและไม่ตระหนักว่า ทุกวันนี้สิ่งที่ทำให้ประชากรอ้วนขึ้น คือสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้การสร้างสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่ยากเย็น ทั้งๆ ที่ผลลัพธ์ของมันคือภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของรัฐนั่นเอง  ว่าแล้วก็มีข้อเสนอไปยังองค์การสหประชาชาติ ที่มีการประชุมสูงสุดด้านสุขภาพในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ให้กดดันรัฐบาลของประเทศต่างๆ ให้ลงมือ “ลดความอ้วน” ในระดับนโยบาย เช่น เก็บภาษีจากอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย จำกัดจำนวนโฆษณาอาหารทางสื่อต่างๆ บังคับใช้ฉลากอาหารแบบสัญญาณไฟจราจร หรือจัดโครงการอาหารกลางวันเพื่อสุขภาพในโรงเรียนของรัฐ เป็นต้น  ถ้าเป็นเช่นนั้นได้จริงก็น่าจะดีไม่น้อย เพราะการสร้าง “สภาพแวดล้อม” เพื่อการลดความอ้วน น่าจะได้ผลดีกว่าการปล่อยให้ประชาชนต้องหันไปพึ่งพาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่อ้างว่าช่วยลดความอ้วนได้ไม่น้อย ที่สำคัญประหยัดเงินในกระเป๋าเราด้วย   ข้าวจีเอ็มโออีกสองปีข้างหน้าฟิลิปปินส์จะมีข้าวพันธุ์โกลเด้นไรซ์ ภาคสอง(Golden Rice 2) ออกสู่ตลาด ว่ากันว่าถ้ารับประทาน “ข้าวสีทอง” ฉบับปรับปรุงนี้วันละ 1 ถ้วย (8 ออนซ์) ร่างกายเราจะสามารถสร้างวิตามิน A ได้ถึงครึ่งหนึ่งของความต้องการต่อวันเลยทีเดียว แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีการพิสูจน์  เพราะ “ข้าวสีทอง” ที่ว่านั้นมันเกิดมาเพื่อช่วยลดปัญหาการขาดวิตามินเอในเด็กโดยเฉพาะ จึงถูกดัดแปรพันธุกรรมให้มีเบตาแคโรทีนมากเป็นพิเศษ แต่ขอบอกว่าตัวแรกที่ทำออกมา (Golden Rice 1) โดยบริษัท ซินเจนต้านั้นไม่น่าประทับใจเท่าไร นักวิทยาศาสตร์อาวุโส จากสหภาพผู้บริโภคของอเมริกา (Consumer Union) ได้ทำการวิเคราะห์สารที่มีอยู่ในข้าวที่ว่านั้นและพบว่ามันก็ช่วยได้จริงๆ ถ้าเด็กกินข้าวที่ว่าวันละ ... 10 กิโลกรัม เครือข่ายต่อต้านการเกษตรแบบใช้สารเคมีในฟิลิปปินส์จึงออกมาแสดงความวิตกเรื่องที่จะมีข้าวชนิดใหม่ออกสู่ตลาดโดยที่ผู้บริโภคยังไม่ได้รับความมั่นใจว่าข้าวชนิดใหม่นั้นดีอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ คุ้มค่าแค่ไหนที่จะเสี่ยงกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการจำกัดสิทธิของเกษตรกร ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าแต่ละปีมีเด็ก 250,000 – 500,000 คนในประเทศโลกที่สาม ต้องสูญเสียการมองเห็นเพราะขาดวิตามินเอ และนอกจากนี้มีร้อยละ 40 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จึงทำให้มีคนคิดหาทางออกด้วยข้าวชนิดใหม่ แต่เดี๋ยวก่อน เราไม่ได้กินแค่ข้าวอย่างเดียว และข้าวที่ไม่ขัดสีก็มีวิตามินอยู่แล้ว ไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องพึ่งพา “ข้าวสีทอง” นี่เลย ได้เวลาขาย “รถคันแรก”ช่วงนี้ตลาดรถมือสองที่พม่าคึกคักมากๆ ตรงข้ามกับบ้านเราที่ใครๆ ก็พากันมองหาซื้อรถใหม่ป้ายแดง เพราะรัฐบาลพม่ามีนโยบายโละรถเก่าออกจากท้องถนน โดยให้เหตุผลว่ามันสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทำให้จราจรติดขัด และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุด้วย ปัจจุบันในพม่ามีรถที่อายุเกิน 40 ปีอยู่ ประมาณ 10,000 คัน และรถที่อายุระหว่าง 30 – 40 ปี อีกประมาณ 8,000 คัน (ที่นี่เขามีรถไม่มากเพราะคนที่จะเป็นเจ้าของรถได้ก็มีแต่ทหารหรือคนใกล้ชิดเท่านั้น)  เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลออกประกาศเชิญชวนให้เจ้าของนำรถยนต์ที่มีอายุเกิน 40 ปี พร้อมกับทะเบียนรถไปมอบให้กับกรมขนส่งทางบกเพื่อแลกกับใบอนุญาตซื้อรถใหม่ (กว่าเดิม) ที่นำเข้าจากไทย ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย มาเลเซีย โดยเขากำหนดว่ารถเหล่านี้จะต้องเป็นรถที่ผลิตหลังปี พ.ศ. 2538 และราคาไม่เกิน 3,500 เหรียญ (ประมาณ 108,000 บาท)  โครงการดังกล่าวทำให้ราคารถเก่าถีบตัวสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะมีคนไม่น้อยอยากจะมาซื้อเพื่อเอาไปแลกกับใบอนุญาต ซึ่งมีราคาแพงลิบลิ่ว ข่าวบอกว่าใบอนุญาตสำหรับรถเอนกประสงค์ (เช่น โตโยต้า แลนด์ครูสเซอร์) ก็คันละ 150 ล้านจ๊าด ถ้าเป็นรถบัสก็ 30 ล้านจ๊าด รถบรรทุกก็ถูกลงมาเหลือ 20 ล้านจ๊าด และเมื่อได้รถใหม่มาแล้วก็สามารถเอามาขายทำกำไรได้มากขึ้นนั่นเอง แผนขั้นต่อไปของกระทรวงอุตสาหกรรมพม่าคือการขายรถมินิซาลูน ที่ร่วมกันผลิตกับบริษัทรถแห่งหนึ่งในจีน ที่ราคา 5.5 ล้านจ๊าด (สองแสนกว่าบาท) ด้วย 100 ปีผ่านไป ยังไม่สายใช้สิทธิ ชาวบ้านจาก 13 หมู่บ้าน 350 ครอบครัวรวมตัวกันฟ้องรัฐบาลอินเดีย โทษฐานที่ไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับบรรพบุรุษของพวกเขา หลังจากยึดพื้นที่ทำมาหากินของพวกเขาไปสร้างเมืองใหม่ เมื่อ 100 ปีก่อน  ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นที่ตั้งของอาคารสำคัญๆ อย่างรัฐสภา ศาลสูง บ้านประธานาธิบดี หรือแม้แต่ประตูชัยอินเดียที่เราเห็นรูปกันอยู่บ่อยๆ  ในขณะที่ลูกหลานของคนกลุ่มดังกล่าวต้องอาศัยอยู่อย่างแร้นแค้นในหมู่บ้านที่ห่างออกไป 40 กิโลเมตรจากกรุงเดลลี  ความจริงแล้วคนที่เข้ามาไล่ที่ในสมัยนั้น คือบรรดาขุนนางอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม แต่ที่ฟ้องรัฐบาลอินเดียเพราะถือว่ามารับช่วงต่อตั้งแต่การประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1947 ทั้งนี้เขาบอกว่าถ้ายังไม่ได้เรื่องก็จะเดินหน้าฟ้องรัฐบาลอังกฤษเป็นรายต่อไป  ความจริงแล้วอังกฤษได้จ่ายค่าชดเชยให้กับบางครอบครัวด้วยการฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารไว้ แต่ว่าคนสมัยนั้นไม่รู้ถึงสิทธิของตนเองและไม่ได้รับข่าวสาร จึงไม่ได้ไปถอนออกมา  ชาวบ้านกลุ่มนี้บอกว่า การฟ้องร้องครั้งนี้ก็เพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีของ “ชาวเดลลี” และเรียกร้องค่าชดเชยตามที่พวกเขาสมควรได้ (แต่ทั้งนี้เขาขอให้จ่ายเป็นอัตราปัจจุบันนะ)  กฎหมายเวนคืนที่ดินของอินเดียนั้นมีใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1894  และยังถูกนำมาใช้อยู่ เมื่อรัฐบาลต้องการเวนคืนพื้นที่มาทำโครงการสาธารณะ เช่น ถนนหรือโรงไฟฟ้า ซึ่งก็มีมากขึ้นทุกวันตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย ซึ่งปีนี้รัฐบาลก็กำลังถูกกดดันให้เพิ่มค่าชดเชยให้กับชาวบ้านด้วย  อังกฤษตัดสินใจย้ายเมืองหลวงของจากกัลกัตตามาที่เดลลี เพื่อหนีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง โดยพระเจ้าจอร์จที่ 5 ได้ประกาศตั้งเดลลีเป็นเมืองหลวงใหม่ของอินเดียในปี ค.ศ. 1911  ลดระดับความโปร่งใสสหรัฐฯ มีหน่วยงาน HRSA (Health Resources and Services Administration) ที่เก็บข้อมูลความผิดพลาดของแพทย์ในการรักษาพยาบาล เอาไว้ในธนาคารข้อมูลเกี่ยวกับแพทย์ หรือ National Practitioners Data Bank คนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ทางอินเตอร์เน็ท ในส่วนที่เรียกว่า Public Use File ซึ่งข้อมูลที่นำมาลงนั้นจะถูกตัดข้อมูลบางอย่างออกไปเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของแพทย์ ส่วนข้อมูลเต็มๆ นั้น กฎหมายถือเป็นความลับและจะเปิดเผยต่อโรงพยาบาล หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และหน่วยงานด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่อยู่มาวันหนึ่งมีนักข่าวของหนังสือพิมพ์ Kansas City Star นำเอาข้อมูลที่ตัวเองสืบค้น มารวมกับข้อมูลของแพทย์ทางประสาทวิทยาคนหนึ่งที่เขาได้จากฐานข้อมูลข้างต้น แล้วก็เขียนบทความเปิดโปงเรื่องราวการถูกฟ้องร้องจากการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดของหมอคนดังกล่าวโดยเปิดเผยชื่อ เรื่องนี้ทำให้ HRSA ประกาศลดระดับการเข้าถึงข้อมูลเรื่องดังกล่าวโดยคนทั่วไป ส่งผลให้สมาคมผู้สื่อข่าวสาธารณสุขและองค์กรผู้บริโภค Consumer Union ออกมาตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า นี่หรือคือนโยบายเรื่อง “ความโปร่งใส” ที่นายบารัค โอบามา พูดถึง และการช่วยรักษาความลับให้กับแพทย์ มันสำคัญกว่าการรักษาประโยชน์ของสาธารณะอย่างนั้นหรือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 กระแสต่างแดน

มือถือรุ่นสกัดบริการเสริมปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมบริการเสริมในโทรศัพท์มือถือนี่ไม่ใช่มีแต่ในเมืองไทยกันนะพี่น้อง ผู้บริโภคชาวออสซี่เขาก็สุดทนกับรายจ่ายอันไม่คาดฝันที่โผล่มาพร้อมบิลค่าบริการโทรศัพท์มือถือเหมือนกันล่าสุดทางการเขาก็คิดทางเลือกกันขึ้นมาสองทาง หนึ่งคือออกข้อบังคับให้เครื่องรับโทรศัพท์ทุกเครื่องถูกตั้งมาให้ไม่สามารถรับบริการเสริม (ที่คิดเงินเพิ่ม) จนกว่าเจ้าของจะไปแจ้งว่าตนเองต้องการใช้บริการดังกล่าว หรืออย่างที่สอง คือ ไม่ต้องไปทำอะไรกับเครื่องโทรศัพท์ แต่ให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายแจ้งมาเองถ้าต้องการให้เครื่องรับของตนเองบล็อกบริการสิ้นเปลืองดังกล่าวท้ายสุดคณะกรรมาธิการการแข่งขันและคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (Australian Competition and Consumer Commission: ACCC) เห็นด้วยอย่างยิ่งกับทางเลือกที่หนึ่งที่จะมีโทรศัพท์ชนิดที่ “ไม่รับ” บริการเสริมออกมาจำหน่าย และถ้าผู้บริโภคสนใจบริการเสริมใดๆ ก็โทรไปแจ้งขอเปิดรับบริการ ซึ่งจะดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ปกครองที่ต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายและการเข้าถึงสื่อของลูกๆACCC ฟันธงแล้วว่าจะนำเสนอรูปแบบนี้ต่อคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ในขณะที่วิจารณ์ว่าทางเลือกที่สองนั้นค่อนข้างจะอ่อนไปหน่อย เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจไม่รู้ว่าพวกเขาสามารถโทรไปขอให้มีการบล็อคโทรศัพท์ได้   เมื่อขยะเดินทางไกลปัจจุบันขยะอิเล็กทรอนิกส์ในยุโรปนิยมเดินทางไปต่างประเทศกันมากขึ้น ทำให้ธุรกิจขนส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปยังปลายทางอย่าง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย หรืออัฟริกา นั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเหตุที่ขยะเหล่านั้นต้องเดินทางกันมากขึ้นก็เพราะกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นของยุโรปนั่นเอง ตั้งแต่การรีไซเคิลหรือการกำจัดอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นภาคบังคับ การเก็บภาษีการเผาขยะ (ซึ่งแพงมากๆ) ไปจนถึงการห้ามเด็ดขาดเรื่องการเอาขยะไปถมที่ยกตัวอย่างเช่น การเผาขยะในเนเธอร์แลนด์นั้น แพงกว่าการส่งขยะลงเรือไปประเทศจีนถึง 4 เท่า นี่คิดเทียบกับการส่งออกขยะแบบถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ความจริงแล้วสามารถถูกลงกว่านั้นได้อีกถ้าเป็นการดำเนินการแบบใต้ดิน (หรือจะเรียกว่าใต้น้ำดี) ที่คุณสามารถส่งขยะของคุณไปยังประเทศอันห่างไกลแล้วทำให้มันสาบสูญไร้ร่องรอยไปโดยไม่ต้องใช้ทุนมากข่าวบอกว่าในบรรดาขยะที่ส่งออกไปจากยุโรปนั้น มีถึงร้อยละ 16 ที่เป็นการส่งไปแบบผิดกฎหมาย แต่ขยะที่ไม่มีทั้งพาสปอร์ตและวีซ่าเหล่านี้สามารถผ่านออกไปได้ฉลุยเพราะท่าเรือส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้มงวดกับสินค้าที่ส่งออกมากเท่ากับสินค้านำเข้า ที่สำคัญยังมีเรือที่นำเสื้อผ้าราคาถูกเข้ามาส่งในยุโรปแล้วไม่อยากกลับบ้านเรือเปล่าอีกจำนวนไม่น้อยด้วยปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในยุโรปนั้นลดลงมากกว่าครึ่งจากที่คาดการณ์ไว้ แต่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรป (European Environment Agency) บอกว่า ดูท่าแล้วคงจะลดลงเพราะถูกลักลอบส่งออกไปมากกว่าปัจจุบันท่าเรือร็อตเตอร์ดัม ซึ่งเป็นท่าเรือที่จอแจที่สุดในยุโรป ทำหน้าที่เป็นชุมทางเรือบรรทุกขยะไปโดยปริยาย ขยะกระดาษ พลาสติก หรือโลหะจากยุโรปจะถูกส่งไปยังประเทศจีน ในขณะที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์จะไปที่ปลายทางในอัฟริกาที่ กาน่า อียิปต์ และไนจีเรียณ ประเทศปลายทางของเรือที่ออกจากท่านี้จะมีเด็กๆ คอยทำหน้าที่แยกชิ้นส่วนต่างๆ (ซึ่งเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะมีสารพิษ) ที่สามารถนำกลับไปใช้ได้ ส่วนขยะอีกจำนวนหนึ่ง (ที่กฏหมายยุโรประบุว่า ต้องนำไปรีไซเคิล) ก็จะถูกเผาหรือปล่อยไว้ให้ผุพังไปตามอัธยาศัยที่ท่าเรือร็อตเตอร์ดัมนั้นมีการใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์ และการวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อหาตู้สินค้าน่าสงสัยและจัดการปรับผู้กระทำผิด และส่งขยะเหล่านั้นกลับไปยังประเทศต้นตอ แต่ฝ่ายที่แอบส่งขยะไปประเทศที่สามอย่างผิดกฎหมายนี้มองว่าค่าปรับแค่ 22,000 เหรียญ (เจ็ดแสนกว่าบาท) นั้นถือว่าคุ้มมาก ซึ่งยังถือว่าเป็นอัตราที่ผู้ลักลอบส่งขยะเหล่านั้นมองว่าน่าเสี่ยงไปไม่พ้น จีเอ็มโอผู้บริโภคทั่วโลกนั้นชัดเจนมานานแล้วว่าไม่ต้องการอาหารที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม แต่ดูเหมือนว่า แม้ในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ปฏิเสธอาหารดัดแปรพันธุกรรมอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างประเทศอังกฤษก็กำลังเผชิญกับปัญหา หนีไม่พ้นจีเอ็มโอปัจจุบันสองในสามของถั่วเหลือง 2.6 ล้านตันที่อังกฤษนำเข้านั้น เป็นถั่วเหลืองที่ดัดแปรพันธุกรรมที่ส่วนใหญ่ส่งมาจากประเทศในทวีปอเมริกาและระบุว่าใช้เพื่อเป็นอาหารสัตว์ นอกจากนี้น้ำมันจากถั่วเหลืองที่ดัดแปรพันธุกรรม ก็ใช้กันแพร่หลายในธุรกิจอาหารในประเทศด้วยเมื่อดูจากปริมาณการนำเข้าแล้วก็ดูจะเชื่อได้ยากเหลือเกินว่าอาหารที่วางขายอยู่ทั่วไปในอังกฤษนั้นจะปลอดจากพืชดัดแปรพันธุกรรม และการตรวจสอบต้นตอที่มาของมันก็ยากขึ้นทุกที เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าถ้านำอาหารพวกนั้นไปตรวจก็มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะพบพืชดัดแปรพันธุกรรมเป็นส่วนผสมปัญหาอีกอย่างหนึ่งของพืชพันธุ์จีเอ็มโอก็คือ การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ จะว่าไปแล้ว อำนาจของธุรกิจในการควบคุมเมล็ดพันธุ์เพื่อการค้าและการผลิตสารเคมีการเกษตรไม่เคยมากเท่านี้มาก่อน ปัจจุบันร้อยละ 82 ของเมล็ดพันธุ์ในตลาดโลกเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ “มีเจ้าของ” ที่สำคัญเกือบครึ่งหนึ่งของเมล็ดพันธุ์อันมีลิขสิทธิ์ในตลาดโลกซึ่งมีมูลค่าถึง 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น ถูกยึดครองโดยสามบริษัทใหญ่ ได้แก่ มอนซานโต และดูปองท์ จากสหรัฐฯ และ ซินเจนต้าจากสวิตเซอร์แลนด์ เท่านั้นและสามบริษัทที่กล่าวมารวมกับ Bayer BASF และ DowAgro Sciences ก็ครองตลาดสารเคมีการเกษตรไปถึง 3 ใน 4 ของโลกแล้วเช่นกัน เอาอะไรมาแลก ก็ไม่ยอมสองในสามของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ไม่เห็นด้วยกับการถูกบริษัทโฆษณาเฝ้าติดตามพฤติกรรมออนไลน์ แม้ว่ามันจะหมายถึงการได้คูปองส่วนลดหรือการได้รับข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ตนเองสนใจก่อนใครโดยอัตโนมัติก็ตามการสำรวจครั้งนี้พบว่าร้อยละ 66 ของผู้ตอบคำถาม (ซึ่งได้แก่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ท ที่อยู่ในวัยระหว่าง 18 ถึง 24 ปี ทั้งหมด 1,000 คน) ไม่เห็นด้วยกับการที่บริษัทต่างๆ ส่งโฆษณามาให้ โดยอ้างอิงจากพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ทในการหาข้อมูลของตนเองก่อนหน้านั้น และเมื่อได้ทราบถึงวิธีการต่างๆ ที่เว็บไซต์ใช้ในการติดตามเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง ทั้งทางออนไลน์ และออฟไลน์ (เช่น ณ จุดขาย) อัตราส่วนของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ทเหล่านี้ ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเรื่องนี้ค้านกับข้อสรุปของนักการตลาดที่ทึกทักเอาว่าการติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคทางอินเตอร์เน็ทเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ต้องเกรงใจ เพราะบรรดาวัยรุ่นใน Facebook นั้นไม่มีปัญหากับการเปิดเผยข้อมูลของตนเองให้คนทั่วไปได้รับรู้แต่อย่างใด และโฆษณานี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถหาข้อมูลได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ 70 ของผู้ตอบบอกว่าเห็นด้วยกับการมีกฎหมายที่ให้สิทธิกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ทได้รับรู้ว่าเว็บไซต์รู้อะไรเกี่ยวกับพวกเขาบ้าง ในขณะที่มีเสียงอีกท่วมท้น (มากกว่าร้อยละ 90) บอกว่าน่าจะมีกฎหมายที่ระบุให้ทางเว็บไซต์ลบข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งทันทีที่ได้รับการร้องขอที่สำคัญการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามน้อยกว่าครึ่งที่เข้าใจถูกต้องว่าถึงแม้เว็บไซต์จะมีสิ่งที่เรียกว่า “นโยบายเรื่องความเป็นส่วนตัว” แต่ก็ยังสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลของเว็บตัวเองกับบริษัทอื่นๆ ได้อยู่ดี 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 2 ทศวรรษพืชและอาหารจีเอ็มโอ

2 ทศวรรษพืชและอาหารจีเอ็มโอผลกระทบต่อสุขภาพและการต่อต้านของผู้บริโภค การถกเถียงเกี่ยวกับจีเอ็มโอ(genetically engineered organism) หรือสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและอาหารดัดแปรพันธุกรรม (genetically engineered food) ปะทุขึ้นในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติได้ผลักดันให้รัฐบาลปัจจุบันเปิดให้มีการทดลองพืชจีเอ็มในแปลงเปิด และเตรียมให้มีการปลูกเชิงพาณิชย์ แต่ได้รับการคัดค้านจากเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อย องค์กรผู้บริโภค และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย เป็นต้น อาหารดัดแปลงพันธุกรรม เป็นอาหารที่ได้มาจากผลิตภัณฑ์ของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดัดแปลงพันธุกรรม โดยมีการตัดต่อหน่วยพันธุกรรม(gene) ของสิ่งมีชีวิตไปสู่สิ่งมีชีวิตเป้าหมายเพื่อให้ได้ลักษณะที่ต้องการ เช่น ตัดต่อหน่วยพันธุกรรมจากแบคทีเรียเข้าไปใส่ในถั่วเหลือง หรือข้าวโพดเพื่อให้พืชดังกล่าวสามารถผลิตสารพิษขึ้นในเนื้อเยื่อของพืช ดังนั้นเมื่อแมลงกัดกินพืชนั้น ทำให้แมลงตายโดยหวังว่าวิธีการนี้จะทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง หรือตัดต่อหน่วยพันธุกรรมของไวรัสใส่ในพืช เพื่อให้พืชนั้นสามารถต้านทานสารเคมีกำจัดวัชพืช เกษตรกรสามารถพ่นสารเคมีได้มากโดยไม่ต้องกลัวว่าพืชนั้นจะได้รับผลกระทบ เป็นต้น การตัดต่อพันธุกรรมดังกล่าวถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบทั้งในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปัญหาการผูกขาด เพราะแม้แต่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่มีความเห็นเป็นที่ยุติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังที่ ดร.เดวิด ซูซูกิ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม-พันธุศาสตร์ที่มีชื่อเสียงผู้เขียนตำราเกี่ยวกับพันธุศาสตร์ซึ่งเป็นตำราที่ใช้แพร่หลายมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวเอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “นักวิทยาศาสตร์คนใดที่บอกคุณว่าจีเอ็มโอปลอดภัยหรือไม่ต้องกังวล ถ้าไม่ใช่เพราะไม่ประสีประสากับความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์แล้ว ก็เป็นเพราะเขาจงใจโกหก แท้จริงแล้วไม่มีใครทราบหรอกว่าผลกระทบระยะยาวของจีเอ็มโอจะเป็นเช่นไร”   ปัญหาสำคัญที่เป็นศูนย์กลางของการคัดค้านของผู้บริโภค กลุ่มสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยมีอยู่สามเรื่องสำคัญคือ ปัญหาความไม่เชื่อมั่นต่อความไม่ปลอดภัยของอาหารดังกล่าว ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากจีเอ็มโอ และปัญหาการผูกขาดของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่มาพร้อมระบบกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้เกิดการผูกขาดพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ซึ่งเป็นฐานรากของระบบอาหาร ผลกระทบต่อสุขภาพของเรื่องจีเอ็มโอ ปัญหาผลกระทบต่อเรื่องสุขภาพที่เกิดขึ้นจากอาหารดัดแปรพันธุกรรมเกี่ยวข้องกับความกังวลเกี่ยวกับความเป็นพิษจากสารที่ถูกผลิตขึ้น  โอกาสที่จะเกิดการแพ้และการที่การต้านทานยาปฏิชีวนะจากยีนแปลกปลอมที่ใช้ในกระบวนการตัดต่อพันธุกรรม ตลอดจนสัดส่วนและองค์ประกอบของสารอาหารที่แตกต่างไม่เทียบเท่ากับอาหารทั่วไปที่เราเคยรับประทาน เป็นต้น กลุ่มผู้สนับสนุนมักอ้างว่า กระบวนการประเมินความเสี่ยงทำให้สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวได้ แต่ยังไม่สามารถทำให้เกิดความมั่นใจได้เนื่องจากเหตุผล 3 ประการคือ หนึ่ง งานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของอาหารจีเอ็มโอมักเป็นการทำการทดลองในระยะสั้นๆ เท่านั้น ในขณะที่ผลกระทบนั้นเป็นเรื่องระยะยาว สอง อุปสรรคสำคัญสำหรับการทดสอบความปลอดภัยของพืชจีเอ็มโอ เกิดจากการขัดขวางของบริษัทผู้ผลิตจีเอ็มโอไม่ให้มีการนำผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อให้นักวิชาการอิสระทำการประเมินเรื่องความปลอดภัยนั้น เรื่องนี้ทำให้ประชาคมวิทยาศาสตร์อดรนทนไม่ได้จนต้องทำจดหมายร้องเรียนรัฐบาลสหรัฐ สาม สาธารณชนตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาเรื่องความปลอดภัยทางอาหารของ FDA สหรัฐเนื่องจากพวกเขาพบว่าเหล่าผู้บริหารระดับสูงหลายคนมาจากผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่จีเอ็มโอ คณะทำงานของ UN ที่ใช้ชื่อว่า International Assessment of Agricultural Knowledge Science and Technology for Development (IAASTD) ซึ่งเป็นคณะทำงานระหว่างประเทศเพื่อประเมินความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทางการเกษตรสำหรับการพัฒนา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกระบวนการประเมินจาก 110 ประเทศ 900 คน ได้เผยแพร่เอกสารที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของจีเอ็มโอว่า “ผลกระทบของจีเอ็มโอยังเป็นที่เข้าใจน้อยมากในปัจจุบัน ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบายและทำให้การวิจัยเรื่องความเสี่ยงเปิดเผยต่อสาธารณะ” “การประเมินเทคโนโลยีนี้ยังตามหลังการพัฒนาของมัน ข้อมูลที่มียังไม่เพียงพอ กระจัดกระจายและขัดแย้งกันเอง ทั้งประเด็นความเสี่ยง ผลกระทบและผลประโยชน์ของมัน ทั้งในประเด็นทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ” เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ไคล์ฟ เจมส์ ผู้ก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์ ISAAA (International Service for the Acquisition of Agri-Biotech Application) องค์กรที่ตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น มอนซานโต้ ซินเจนทา ดูปองท์ ได้เข้าพบกับนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อผลักดันให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย เจมส์บอกกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของไทยว่า พืชจีเอ็มโอนั้นมีความปลอดภัย จากการที่ผู้บริโภคในสหรัฐได้บริโภคผลิตภัณฑ์มานานถึง 19 ปีแล้ว แต่กลับไม่พบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพแต่ประการใด คำกล่าวข้างต้นเคยถูกตอบโต้โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาที่รวมตัวกันในนาม เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป (The European Network of Scientists for Social and Environmental Responsibility- ENNSSER) ว่าที่จริงยังไม่มีงานศึกษาเชิงระบาดวิทยา (epidemiological studies)เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จากการบริโภคอาหารจีเอ็ม ดังนั้นการอ้างว่ามีผู้บริโภคในอเมริกาเหนือบริโภคจีเอ็มโอมาเป็นเวลานานนับสิบปี แต่ก็ไม่เห็นปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นเพียงการพูดลอยๆ โดยไร้การศึกษาทางวิทยาศาสตร์รองรับ ในทางตรงกันข้ามกลุ่มนักเคลื่อนไหวและผู้ที่ติดตามปัญหาเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอในสหรัฐกลับพบว่า การปลูกพืชจีเอ็มโอในสหรัฐเพิ่มขึ้นทำให้มีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชไกลโฟเสทเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว( 90% ของพืชจีเอ็มโอในสหรัฐเป็นพืชที่ตัดต่อยีนต้านทานยาปราบวัชพืช) ไกลโฟเสทเหล่านั้นกระจายไปในดิน น้ำ และอากาศ รวมทั้งพบปนเปื้อนในผลผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพด และล่าสุดนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้พบว่าสถิติการใช้สารไกลโฟเสทที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐมีลักษณะคล้ายกับกราฟการเพิ่มของโรคหลายชนิดเช่น อัลไซม์เมอร์ ออร์ทิสติค และมะเร็งตับ เป็นต้น     ขณะนี้เริ่มมีงานวิจัยเป็นจำนวนมากที่พบว่าไกลโฟเสทซึ่งมาพร้อมกับพืชจีเอ็มโอนั้นมีพิษเรื้อรังต่อสุขภาพของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น “สารกำจัดวัชพืชที่มีไกลโฟเสทเป็นส่วนผสมมีความเป็นพิษและรบกวนการทำงานของเซลล์ต่อมไร้ท่อของมนุษย์” (Gasnier C. และคณะ ตีพิมพ์ใน Toxicology. 2009 Aug 21; 262(3): 184 – 91) งานวิจัยนี้พบว่าแม้ใช้สารนี้ใน ระดับที่ต่ำเช่นเพียง 0.5 ppm ก็มีผลกระทบต่อต่อมไร้ท่อ และมีผลกระทบต่อ DNA ในระดับที่ใช้เพียง 5 ppm เท่านั้น นักวิจัยได้เสนอให้มีการพิจารณาสารเคมีนี้เป็นสารก่อมะเร็งและก่อกลายพันธุ์ งานวิจัยชิ้นสำคัญในประเทศไทยต่อประเด็นเรื่องจีเอ็มโอ งานวิจัยชิ้นสำคัญในประเทศไทยที่สนับสนุนข้อค้นพบของประชาคมวิทยาศาสตร์คืองานวิจัยของ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (โดย Thogprakaisang S., Thiantanawat A., Rangkadilok N., Suriyo T., Satayavivad J.) ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Food and Chemical Toxicology( Food and Chemical Toxicology 59 (2013) 129–136) เรื่อง “ไกลโฟเสท ชักนำให้เซลล์มะเร็งเต้านมของมนุษย์เจริญเติบโต โดยผ่านทางตัวรับของฮอร์โมนเอสโตรเจน” ข้อค้นพบสำคัญของงานศึกษานี้คือ “ไกลโฟเสท ทำให้เพิ่มการเจริญขยายตัวเฉพาะในโรคมะเร็งเต้านมที่ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนของมนุษย์” และ “ไกลโฟเสท ในขนาดความเข้มข้นต่ำก็มีผลกระทบต่อการทำงานของเอนไซม์เอสโตรเจน” อาจจะเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า จีเอ็มโอเกี่ยวข้องโดยตรงกับโรคออร์ทิสติค อัลไซม์เมอร์ และมะเร็งชนิดต่างๆ แต่อย่างน้อยที่สุดข้อมูลเหล่านี้ควรทำให้ผู้ที่กล่าวอ้างว่าประชาชนบางภูมิภาคที่บริโภคอาหารจีเอ็มโอเป็นเวลานานหลายปีไม่เห็นว่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพต้องสงบปากสงบคำลงไปในที่สุด การต่อต้านที่ขยายตัวออกไปมากยิ่งขึ้น แม้จะเริ่มมีการปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1996 แต่กลับเป็นประชาชนในทวีปยุโรปที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเป็นภูมิภาคแรก โดยกระแสการต่อต้านพืชและอาหารจีเอ็มโอได้เริ่มต้นในยุโรปมานานเกือบ 20 ปี กลุ่มผู้สนับสนุนจีเอ็มโอเคยเชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปกระแสการต่อต้านจะค่อยๆ ลดลงในที่สุด แต่กลับเป็นไปในทางตรงข้าม โดยผลการสำรวจพบว่า กระแสการสนับสนุนอาหารจีเอ็มโอกลับยิ่งลดลง ทั้งในยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออก ที่น่าสนใจคือ ประเทศที่อนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอได้ในพื้นที่จำกัด เช่น สเปน และโปรตุเกส ซึ่งประชาชนมากกว่า 60% เคยสนับสนุนอาหารจีเอ็มโอเมื่อปี 1996 บัดนี้กลับลดเหลือเพียง 35-37% เท่านั้น บางประเทศที่มีประชากรเป็นจำนวนมากและเป็นตลาดสำคัญของการส่งออกอาหารของไทย เช่น ฝรั่งเศสและเยอรมนี มีผู้สนับสนุนอาหารจีเอ็มโอเพียง 16% และ 22% ตามลำดับเท่านั้นเมื่อเวลาผ่านไป ประชาชนได้รับทราบข้อมูลมากขึ้น พวกเขาจึงปฏิเสธอาหารดัดแปลงพันธุกรรม และเลือกระบบอาหารที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงความเป็นธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับเรื่องจีเอ็มโอในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาคือการแพร่ขยายการต่อต้านไปยังสหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดและประเทศที่มีพื้นที่ปลูกพืชประเภทนี้มากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของโลก จุดเริ่มต้นการต่อต้านที่สำคัญที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2556 เมื่อประชาชนในหลายรัฐทั่วสหรัฐร่วมเดินขบวนต่อต้านจีเอ็มโอและบริษัทที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันเรื่องนี้ โดยประมาณการว่ามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนั้นประมาณ 2 ล้านคน  พวกเขาเคลื่อนไหวต่อต้านสินค้าทุกชนิดที่ผลิตจากจีเอ็มโอ โดยให้การสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์แทน พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการติดฉลากสินค้าจีเอ็มโอเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการตัดสินใจ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดาราและศิลปินอเมริกันคนแล้วคนเล่าพร้อมใจกันลุกขึ้นเรียกร้องให้มีการติดฉลากอาหารจีเอ็ม ลงนามในคำแถลงต่อต้านจีเอ็มโอ บอยคอตบริษัทที่ต่อต้านการติดฉลาก และหลายคนเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านบรรษัท ดาราและศิลปินเหล่านั้น ได้แก่ Neil Young, Danny DeVito, Susan Sarandon, Daryl Hannah, Michael J Fox, Elijah Wood, James Kaitlin, Olson Taylor, Bill Maher,James Taylor, Dave Matthews, Maroon 5, Chevy Chase, Roseanne Barr, Kristin Bauer van Straten, Kimberly Elise, Mariel Hemingway, Bianca Jagger, Vivienne Westwood, Jeremy Irons, Bill Pullman, Amy Smart, Sara Gilbert, Ed Begley Jr, Anne Heche, Frances Fisher, Rashida Jones, Kimberly Elise, Ziggy Marley, Julie Bowen,Emily VanCamp เป็นต้น กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทุ่มเงินหลายร้อยล้านเหรียญโหมโฆษณาเพื่อต่อต้านการติดฉลากของบรรดารัฐต่างๆ ในขณะที่จำนวนเงินการระดมทุนของฝ่ายที่เรียกร้อง "สิทธิที่จะรู้ที่มาของอาหาร" น้อยกว่าหลายเท่าตัว บางรัฐผู้บริโภคได้รับชัยชนะในการออกกฎหมายติดฉลาก บางรัฐก็พ่ายแพ้ แต่ทุกคนบอกตรงกันว่า "นี่เป็นแค่เพียงการเริ่มต้น" เท่านั้น กระแสการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อต่อต้านจีเอ็มโอ และตอบโต้การผูกขาดระบบเกษตร/อาหารของบรรษัทกำลังเติบโต   ขณะนี้รัฐบาลไทยได้ตั้ง "คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ในประเทศไทย" เพื่อพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์และบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะไม่ตัดสินใจให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่ม ในขณะที่ผลกระทบเกี่ยวกับจีเอ็มโอนั้นจะส่งผลกระทบไม่เฉพาะต่อการส่งออก หรือปัญหาที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่จะส่งผลอย่างสำคัญต่อความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อยและความมั่นคงทางอาหารของประเทศโดยรวมด้วย เพราะเมื่อใดที่ประเทศไทยเดินหน้าพืชจีเอ็มโอ เท่ากับเราได้ละทิ้งเกษตรกรรมที่ยืนอยู่บนความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นจุดแข็งของเราไปพึ่งพาต่างชาติ ระบบเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากบรรษัทจะสร้างความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารได้อย่างไร ?

อ่านเพิ่มเติม >