ฉบับที่ 276 ไซบูทรามีน คืนชีพ

        ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่จังหวัดอ่างทอง เมื่อกลางปี 2562 ผลชันสูตรพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผลการตรวจเลือดพบว่ามียา 4 ชนิด (ที่มีการผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนักที่ผู้เสียชีวิตรับประทาน) ได้แก่ ฟูลออกซิทีน (Fluoxetine) บิซาโคดิล (bisacodyl) ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (hydrochlorothaiazide) และ ไซบูทรามีน (cybutramine) ยาทั้ง 4 ชนิด ออกฤทธิ์ร่วมและเสริมกันทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสียชีวิต นำไปสู่การปราบปรามการแอบลักลอบปลอมปน “ไซบูทรามีน” ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพราะมีข้อมูลว่าเป็นต้นทางการลักลอบนำเข้าสารไซบูทรามีนจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการตรวจค้นและพบวัตถุดิบสารไซบูทรามีนและการปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักจำนวนมากหลายยี่ห้อ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว         ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2566 เครือข่ายเฝ้าระวังในจังหวัดเชียงราย รายงานว่าพบการกลับมาจำหน่ายและพบการบริโภคผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “Lishou” และ “Bashi”ในหลายพื้นที่ โดยผลิตภัณฑ์ที่พบใครั้งล่าสุดนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้เคยตรวจพบการปลอมปนสารไซบูทรามีน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เคยดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายธุรกิจการลักลอบผลิตยาลดความอ้วนไม่ได้หมดไป ยังคงคืนชีพดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การกลับมาระบาดครั้งนี้ยังพบว่ามีการโฆษณาขายในตลาดออนไลน์อย่างเปิดเผย        ขอเตือนภัยมายังผู้บริโภคให้สังเกตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทานอยู่ว่าได้ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หรือแม้จะมีเลข อย. หากรับประทานไปแล้วน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วหรือผอมเร็ว ให้ระวังว่าอาจมีสารไซบูทรามีนปลอมปนควรหยุดรับประทาน แล้วให้ส่งผลิตภัณฑ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านตรวจสอบและดำเนินการต่อไปเพื่อความปลอดภัย         ไซบูทรามีนคืออะไร : ไซบูทรามีนคือสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง) ที่ทำให้ไม่รู้สึกหิว อิ่มเร็วและกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย จึงมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยนำมาลักลอบปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก แต่เนื่องจากสารนี้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับและท้องผูก ที่สำคัญมีรายงานผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต ประเทศไทยจึงจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และยกเลิกทะเบียนตำรับยาที่มีสารนี้ไปแล้วตั้งแต่ ปี 2553

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 ตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจ

หัวใจ เป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดของชีวิต เมื่อหัวใจหยุดเต้น ชีวิตเราก็จะสิ้นสุดไปด้วย ดังนั้นหัวใจถือเป็นอวัยวะที่จะต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ  การดูแลหัวใจในร่างกายนั้นทำได้ง่าย โดยให้สังเกตจังหวะการเต้นของหัวใจที่เกิดขึ้นในระหว่างวัน วิธีการตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจ ให้ใช้นิ้วมือ จับชีพจรบริเวณข้อมือหรือข้อพับแขน และนับการเต้นของหัวใจภายในเวลาหนึ่งนาที โดยปกติอัตราการเต้นของหัวใจในแต่ละช่วงวัย สามารถแบ่งได้ดังนี้ อายุ 1 เดือน มีอัตราการเต้นประมาณ 120-160 ครั้งต่อนาที อายุ 1-12 เดือน มีอัตราการเต้นประมาณ 100-140 ครั้งต่อนาที อายุ 1-6 ปี มีอัตราการเต้นประมาณ 80-120 ครั้งต่อนาที อายุ 6-12 ปี มีอัตราการเต้นประมาณ 70-120 ครั้งต่อนาที อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป มีอัตราการเต้นประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที   แต่ถ้าจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ไม่ว่าจะเต้นช้าเกินไปหรือเร็วเกินไป ย่อมส่งผลให้ร่างกายที่อาการต่างๆ เกิดขึ้น และถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเจ็บป่วย อาการที่จะเกิดขึ้นนั้น ถ้าหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ มักจะทำให้มีอาการ มึนงง หวิวๆ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรืออาจวูบหมดสติเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ จะมีอาการ ใจสั่น เต้นเร็ว แรง จะทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก เป็นลม และถ้ารู้สึกหัวใจเต้นผิดจังหวะ สะดุด จะรู้สึกเหมือนหัวใจเต้นๆ หยุดๆ อาจมีอาการวูบ หรือเจ็บหน้าอกร่วมได้  ถ้ามีอาการไม่มาก อาจแค่ใจสั่น  ไม่มีอันตรายรุนแรง แต่ถ้ามีอาการมาก จะส่งผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เกิดอาการเป็นลม หมดสติ เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบง่าย หรือเกิดอาการหัวใจวาย ทั้งนี้จะมีปัจจัยอาจเกิดจากความเครียดหรือปัจจัยกระตุ้นบางอย่าง เช่น ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ เป็นต้น  ทั้งนี้ถ้าจังหวะการเต้นของหัวใจ เต้นผิดจังหวะรุนแรงมาก ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว การตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ในเบื้องต้นเราสามารถตรวจสอบแบบง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง โดยการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Runtastic Heart Rate หรือแอพพลิเคชั่น Instant Heart Rate เพื่อนำมาใช้ตรวจสอบการเต้นของหัวใจในระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน อย่างเช่น จังหวะการเต้นของหัวใจหลังตื่นนอน  จังหวะการเต้นของหัวใจช่วงการเดินทาง จังหวะการเต้นของหัวใจหลังจากการออกกำลังกาย  จังหวะการเต้นของหัวใจก่อนเข้านอน เป็นต้น ในทุกแอพพลิเคชั่นจะใช้วิธีการตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยให้ใช้ปลายนิ้วมือแตะไปที่เลนส์กล้องและบริเวณแฟลชด้านหลังสมาร์ทโฟน ใช้เวลาประมาณ 2 นาที แอพพลิเคชั่นจะประมวลผลออกมาให้รู้ว่าจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือไม่ อย่างน้อยการใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจ ก็ช่วยให้เรารู้สภาพร่างกายของตนเองในเบื้องต้น เพื่อช่วยให้ป้องกันความผิดปกติที่จะเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง //

อ่านเพิ่มเติม >