ฉบับที่ 182 ฉลากแป้งฝุ่นทาผิวในประเทศไทยยังไม่มีคำเตือน อันตรายเสี่ยงมะเร็ง

หลังข่าวศาลชั้นต้นแห่งเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา ตัดสินให้ “จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” จ่ายเงินจำนวน 72 ล้านดอลลาร์ให้กับสุภาพสตรีรายหนึ่งที่ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ระยะสุดท้าย ซึ่งฟ้องร้องว่าสาเหตุของโรคนั้นมาจากแป้งฝุ่นของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันที่ตนใช้มายาวนานหลายสิบปี ได้กระจายไปทั่วโลก ความวิตกกังวลก็พลันบังเกิดขึ้นกับคนจำนวนมหาศาลที่นิยมใช้แป้งฝุ่นโรยตัว โดยเฉพาะบริเวณจุดซ่อนเร้น จากข่าวพบว่า ที่ผ่านมา จอห์นสันแอนด์จอห์นสันถูกฟ้องร้องกว่า 1,200 คดี ที่ทั้งหมดอ้างอิงจากผลการศึกษาและวิจัยต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แป้งเด็กจอห์นสันแอนด์จอห์นสันและผลิตภัณฑ์แบรนด์ชาวเวอร์ทูชาวเวอร์มีส่วนก่อให้เกิดโรคมะเร็งรังไข่ ในรายละเอียด คณะลูกขุนแห่งเมืองเซนต์หลุยส์ ตัดสินว่า จอห์นสันแอนด์จอห์นสันต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวน 10 ล้านดอลลาร์ และอีก 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นค่าชดเชยแก่ครอบครัวของ แจ็คกี ฟอกซ์ สุภาพสตรีที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งรังไข่เมื่อปีที่แล้ว หลังจากใช้แป้งจอห์นสันแอนด์จอห์นสันและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนผสมของแร่ทัลก์ติดต่อกันนานหลายปี เหตุผลสำคัญ คือ ทางบริษัทรับทราบมาไม่ต่ำกว่า 30 ปีแล้วว่าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ทัลก์ อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งแต่ก็ล้มเหลวที่จะแจ้งและตักเตือนผู้บริโภค “มีความชัดเจนว่าบริษัทได้ปกปิดข้อมูลบางอย่างเอาไว้” คริสตา สมิธกล่าวในฐานะหัวหน้าคณะลูกขุนแห่งเมืองเซนต์หลุยส์ “สิ่งที่บริษัทควรทำมานานแล้วคือติดฉลากเพื่อตักเตือนผู้บริโภค” แจ็คกี ฟอกซ์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งรังไข่ในวัย 62 ปี ได้ให้การในช่วงหกเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตว่า เธอใช้แป้งเด็กจอห์นสันแอนด์จอห์นสันและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นชาวเวอร์ทูชาวเวอร์ทุกๆ เช้า จนกระทั่งตรวจพบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็ง (ข้อมูลจาก : http://waymagazine.org/%E0%B9%8Bjjcausecancer/)   ฉลากแป้งฝุ่นและคำเตือนสำคัญ จากข่าวดังกล่าวทำให้เกิดประเด็นถกเถียงทางสังคมว่าการทาแป้งบริเวณจุดซ่อนเร้นเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงดังคำตัดสินในคดีของแจ็คกี ฟอกซ์ บริษัทผู้ผลิตควรมีคำเตือนเพื่อให้ผู้บริโภคได้ระมัดระวังการใช้ด้วยหรือไม่ โครงการสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จึงร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มสำรวจและเก็บตัวอย่างแป้งฝุ่นทาผิวจากท้องตลาดและห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในกรุงเทพฯ รวม 35 ตัวอย่าง เพื่อพิจารณาฉลาก ดูส่วนประกอบของแป้งว่ามียี่ห้อไหนบ้างที่มี ทัลค์ (Talc) เป็นส่วนประกอบ และมีคำเตือนที่บอกถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างการทาแป้งฝุ่นกับการเกิดมะเร็งหรือไม่   สรุปการสำรวจ1.ไม่พบคำเตือนที่บอกถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างการทาแป้งฝุ่นกับการเกิดมะเร็ง 2. พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุคำเตือนใดๆ 3. คำเตือน ที่พบคือ ระวังอย่าให้แป้ง เข้าจมูกและปากเด็ก ระวังอย่าให้แป้งเข้าตา ห้ามใช้โรยสะดือเด็กแรกเกิด ถ้ามีการผสมสารเพื่อป้องกันแสงแดด จะระบุเพิ่ม หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์4. พบ 34 ตัวอย่าง มีทัลค์ (Talc) เป็นส่วนประกอบสำคัญ5. มีเพียง 1 ตัวอย่าง ที่ไม่มีทัลค์ (Talc) เป็นส่วนประกอบ คือ แป้งหอมไร้ซแคร์ (ฟลอรัล สวีท) (ReisCare Perfumed Powder (Floral Sweet) แป้งฝุ่นทาผิวกับมะเร็งสำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ติดตามเฝ้าระวังเกี่ยวกับการปนเปื้อนของแร่ใยหินในทัลก์มาโดยตลอด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2553 และได้ส่งตรวจวิเคราะห์หาแร่ใยหินในแป้งที่มีส่วนผสมของทัลค์ จำนวน 40 ตัวอย่าง ซึ่งใน 40 ตัวอย่างนั้นตรวจไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหินแต่อย่างใด นอกจากนี้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ถึง 2558 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งตัวอย่างแป้งที่มีส่วนผสมของทัลก์ ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์ โดยส่งตัวอย่างแป้งฝุ่นโรยตัว จำนวน 73 ตัวอย่าง และทุกตัวอย่างตรวจไม่พบแร่ใยหินปนเปื้อน ทั้งนี้แร่ใยหินเป็นวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ลำดับที่ 757 “จากการศึกษาพบว่า ทัลค์ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อสัตว์ทดลอง ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ และยังอยู่ระหว่างการวิจัยว่าทำให้เกิดมะเร็งหรือไม่”   ฉลาดซื้อแนะ1. ควรอ่านวิธีการใช้ให้ละเอียดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด2. ระวังอย่าให้แป้งเข้าจมูก และปาก3. อย่าสูดดมแป้ง4. ไม่ควรใช้แป้งกับบริเวณอวัยวะเพศ               ทัลค์ (Talc), ทัลคัม (Talcum) และแมกนีเซียม ซิลิเกท (Magnesium Silicate) ทั้ง 3 ชื่อ คือตัวสารตัวเดียวกันเพียงแต่เรียกต่างกันเท่านั้น ทั้ง 3 ชื่อ คือแร่หินชนิดหนึ่งที่ได้มาจากการทำเหมืองหินทาล์ค แล้วนำมาโม่ให้ละเอียด อบให้แห้งและฆ่าเชื้อ แม้จะมีการแยกสิ่งแปลกปลอมออก แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้บริสุทธิ์ได้ จึงยังมีสิ่งแปลกปลอมหลงเหลืออยู่บางอย่าง ที่อาจจะมีคุณสมบัติคล้ายแอสเบสตอส (Asbestos) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) และ U.S. Environmental Protection Agency จัดให้เป็นUnclassifiable Carcinogen (สารก่อมะเร็งที่ไม่สามารถจัดจำพวกได้) “ทัลคัม” เป็นสารอนินทรีย์ จึงไม่สามารถ ย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ในธรรมชาติ ถ้าใช้โดยไม่ระมัดระวัง เมื่อสูดเข้าไปเป็นเวลานาน จะเกิดการสะสมอาจทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ(Talcosis) และอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งรังไข่ในสุภาพสตรีได้(Ovarian Cancer) กรณีใช้ใต้ร่มผ้าเป็นระยะเวลานานๆ  

อ่านเพิ่มเติม >