ฉบับที่ 168 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ดีเอสไอ เชือด!!! อาหารเสริม “เมโซ” (Mezo) อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ถูกเช็คบิลไปอีกหนึ่งยี่ห้อ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงอย่าง อาหารเสริมยี่ห้อ “เมโซ” (Mezo) ที่ถูกทาง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำการตรวจยึดของกลางได้กว่า 1 ล้านแคปซูล มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท จาก 2 แหล่ง คือที่ บริษัท เมโซ เอนเทอร์ไพรซ์ จำกัด ซึ่งเป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตราเมโซ (Mezo) และที่โรงงานผลิตอาหารเสริม บริษัท สุกฤษ 55 จำกัด ซึ่งพบผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายความผิดหลายรายการ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักตราเมโซ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ตรา FOMO V Shape Body ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ตราดับเบิลยูพีพลัส และผลิตภัณฑ์เอฟบีแอลพลัส มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท โดยโรงงาน-บริษัท ข้างต้นจดทะเบียนถูกต้อง มีรูปแบบการทำธุรกิจโดยเป็นเจ้าของสูตรยา แล้วโฆษณาให้คนที่มีต้นทุน และสนใจที่จะเข้ามาลงทุน โดยระบุข้อความขอเพียงมีเงินลงทุนเท่านั้น บริษัทจะเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ ทำการตลาด กำหนดยี่ห้อสินค้าให้ แต่ใช้สูตรตัวยาเดียวกัน สำหรับความผิดที่นำไปสู่การตรวจยึดสินค้าครั้งนี้มาจากการที่ผลิตภัณฑ์แสดงชื่อไม่ตรงกับที่จดแจ้งไว้ และแสดงฉลากข้อความอวดอ้างสรรพคุณฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยอาหารและยา มาตรา 6 (10) และมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 อาหารเสริมดังกล่าวมียอดการจำหน่ายต่อปีกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งต้องตรวจสอบการยื่นเสียภาษีด้วย ส่วนการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดนั้น ดีเอสไออยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน โดยในส่วนของโรงงานยังไม่สั่งปิด เนื่องจากผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์ให้กับหลายบริษัท แต่หากพบว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตจากโรงงานมีความผิด ก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป อย.เตรียมปรับฉลากอาหารใช้สัญลักษณ์แสดงโภชนาการ บ้านเรามีความพยายามอย่างมากในการปรับปรุงฉลากอาหารให้มีความเป็นมิตรกับผู้บริโภคมากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของฉลากโภชนาการที่เป็นข้อมูลสำคัญที่แจ้งให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงส่วนประกอบต่างๆ ในอาหารที่เรารับประทาน ซึ่งล่าสุดผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ออกมายืนยันว่าทาง อย. มีแผนที่จะปรับปรุงฉลากอาหารโดยจะมีการกำหนดเกณฑ์ของสารอาหารที่เหมาะสมต่อการบริโภคที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยใช้วิธีการมอบตราสัญลักษณ์ให้แก่ผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารได้ตามเกณฑ์ที่ อย. กำหนดไว้ ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากภาคประชาชนที่เสนอให้ใช้ฉลากอาหารแบบสัญญาณไฟจราจร ที่เป็นแบบแจ้งปริมาณสารอาหารว่าอยู่ในเกณฑ์หรือไม่แบบตรงไปตรงมา ซึ่งผู้อำนวยการสำนักอาหารก็ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นรูปแบบฉลากที่ผู้ประกอบการไม่ยอมรับ ส่วนฉลาก GDA ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นการให้ข้อมูลที่อ่านง่ายแต่ไม่ได้ตัดสินว่าผลิตภัณพ์อาหารนั้นดีหรือไม่ดี โดยภายในปีนี้ เครื่องหมายตราสัญลักษณ์แบบใหม่จะเริ่มนำมาใช้ได้ในกลุ่มอาหารแช่แข็งเป็นกลุ่มแรกและค่อยๆ ทยอยออกเพิ่มเติมต่อไป สปสช. เพิ่มยา 6 รายการในสิทธิบัตรทอง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ด้านยาเพิ่มเติม 6 รายการ เพื่อให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง เข้าถึงการรักษาพยาบาลและได้รับยาที่จำเป็นเพิ่มขึ้น โดยยา 6 รายการที่มีการอนุมัติเพิ่มเติมได้แก่ 1. ยาลอราซีแพม อินเจกชัน ใช้ฟื้นฟูลดภาวะที่สมองจะถูกทำลายและเสียชีวิตจากการชัก มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยา 3,000 - 5,000 คนต่อปี 2. ยาทริแพน บูล ใช้ย้อมสีถุงหุ้มเลนส์ตาระหว่างผ่าตัดต้อกระจก และย้อม Internal Limiting membrane กรณีผ่าจอตา มีผู้ป่วยต้องการใช้ประมาณ 10,000 รายต่อปี 3. ยาอินดอคยาไนน์ กรีน ใช้วินิจฉัยโรคจุดภาพเสื่อม (PCV ) มีผู้ป่วยที่ต้องการใช้ประมาณ 20,000 ราย 4. ยาดาคาบาซีน ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดกินส์ ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับยานี้มีโอกาสหาย มีผู้ที่ต้องรับยานี้ประมาณ 100 คนต่อปี 5. ยารักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว APL ใช้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา All-trans-retinoic acid มีผู้ป่วยที่ต้องได้รับยานี้ประมาณ 1,000 คน และ 6. Factor Vlll และ Factor IX สำหรับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย A และ B มีผู้ป่วยที่ต้องใช้รับยานี้ประมาณ 1,483 ราย การส่งเสริมเรื่องการเข้าถึงยาเพิ่มมากขึ้นในครั้งนี้ นอกจากช่วยให้ผู้ป่วยบัตรทองได้สิทธิในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยกองทุนบัตรทองถึงปีละเกือบหมื่นล้านบาท ช่วยลดภาระค่ายาที่มีราคาแพงให้กับโรงพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาเหล่านี้ สั่ง “วิตามิน-อาหารเสริม” จากต่างประเทศ ระวังเสียเงินฟรี!!! อย.เตือนใครที่คิดจะสั่งซื้อ “วิตามิน” และ “อาหารเสริม” จากต่างประเทศผ่านทางเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต ระวังจะสูญเงินเปล่า เพราะวิตามินและอาหารเสริมที่สั่งซื้ออาจเข้าข่ายเป็นยาตามกฎหมาย อย. หากไม่มีการขึ้นทะเบียนนำเข้าก็จะถูกสกัดที่ด่านอาหารและยาตั้งแต่ต้นทาง ปัจจุบันพบว่ามีคนที่สั่งซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากต่างประเทศ เช่น วิตามิน เกลือแร่ โสมสมุนไพร หรือสารสกัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งนำมาใช้เองและนำมาเพื่อจำหน่ายต่อ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาขายตามเว็บไซต์ต่างๆ นั้น แม้ในประเทศต้นทางแม้จะบอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่เมื่อพิจารณาจากขนาดของวิตามิน เกลือแร่ หรือสารสกัดต่างๆ ที่เป็นส่วนผสมแล้ว หากพบว่าเกินกว่าเกณฑ์ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ถือว่าเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งวิตามิน หรือสารสกัดแต่ละตัวจะมีขนาดกำหนดไว้ไม่เท่ากัน และหากมีการโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคได้ก็ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งหากไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนนำเข้ามาในราชอาณาจักรกับ อย. ก็ถือเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย หากใครมีข้อสงสัยเรื่องการสั่งซื้อนำเข้ายาจากต่างประเทศ ควรสอบถามให้แน่ใจกับทาง อย. เสียก่อน เพื่อป้องกันการสูญเงินไปแบบฟรีๆ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายเกลื่อนจอทีวี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้ทำการจับตาเฝ้าระวังสถาการณ์ของบรรดาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงทั้งหลาย ที่ยังคงโฆษณาออกอากาศอยู่ตามช่องเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม ระหว่างเดือน ตุลาคม ถึง ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่าโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ออกอากาศอยู่ ณ ปัจจุบัน เกือบ 100% เป็นการโฆษณาอย่างผิดกฎหมาย เนื้อหาส่วนใหญ่โอ้อวดเรื่องสรรพคุณด้านความสวยความงาม การลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ขาว-สวย-ใส และเรื่องการรักษาโรคแบบครอบจักรวาล ข้อมูลที่ได้จากการเฝ้าระวังพบว่า โทรทัศน์ดาวเทียม-เคเบิ้ลจำนวน 18 ช่อง พบแล้ว 17 ช่อง ที่โฆษณาผิดกฎหมายและเป็นช่องที่กสทช. เคยสั่งปรับไปแล้ว 5 ช่อง ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ไทยมุสลิม (TMTV) , ทีวีมุสลิมไทยแลนด์ , มีคุณทีวี , เอชพลัส (H+) และช่อง 8 (8 Channel : ดิจิตอลทีวี) โดยมีผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่โฆษณาอยู่จำนวน 95 ผลิตภัณฑ์ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันและมีข้อมูลก่อนเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเทคนิคง่ายๆ สำหรับใช้เป็นคนสังเกตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย มีดังนี้ 1.สังเกตเลขอนุญาต เช่น ด้านอาหาร คือ ฆอ. .../... , กรณีด้านยา คือ ฆท. .../... , เครื่องมือแพทย์ คือ ฆท. ..../... ,ส่วนเครื่องสำอางไม่ต้องมีเลขอนุญาตโฆษณา แต่ต้องไม่โฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ ซึ่งจะมีความผิดตา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2.พิจารณาเนื้อหา ว่าโฆษณาตรงกับผลิตภัณฑ์หรือไม่ 3.เนื้อหาโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ สำหรับข้อเสนอที่ภาคประชาชนอยากให้หน่วยงานภาครัฐจัดการกับปัญหานี้ คือให้มีการปรับปรุงบทลงโทษผู้ที่ทำผิดให้มีความรุนแรงมากขึ้น และต้องเร่งรัดการจัดทำระบบฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณาอาหาร และเปิดให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเรื่องการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ ที่สำคัญหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลปัญหานี้โดยตรงอย่าง อย. กสทช. ต้องจริงจังเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >