สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย แนะ อ่านฉลากก่อนบริโภคอาหารจานด่วนแบบแช่แข็ง เลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย

        วันนี้ (26 มกราคม 2564 ) สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารจานหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็ง  สำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จำนวน 53 ตัวอย่าง ได้จัดแถลงข่าวเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย          นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ หนึ่ง เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย สอง เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการลดปริมขาณโซเดียมในกลุ่มอาหารจานด่วนแบบแช่เย็น แช่แข็ง และสาม เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในกลุ่มอาหารแบบแช่เย็น แช่แข็ง เพราะเป็นอาหารสะดวกซื้อ ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจด้วย          ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการครั้งนี้ ทางสมาคมฯ เริ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน - วันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีตัวอย่างอาหารมื้อหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็งสำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทานจำนวน 53 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มอาหารจานด่วน ได้แก่ ผัดไทย ข้าวผัดปู ข้าวผัดกะเพรา จำนวน 35 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 450 – 1,390 มิลลิกรัม 2. กลุ่มอาหารอ่อน ได้แก่ ข้าวต้มหมู เกี๊ยวกุ้ง โจ๊กหมู จำนวน 15 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 380 – 1,340 มิลลิกรัม และ 3.กลุ่มขนมหวาน ได้แก่ บัวลอยมันม่วงมะพร้าวอ่อน สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน บัวลอยเผือก จำนวน 3 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210 – 230  มิลลิกรัม          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ  อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม  กล่าวว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (กลุ่มโรค NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จากผลงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1-11.) ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 2,388 คน จากทุกภาคทั่วประเทศไทย พบว่า  ค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยในประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ขณะที่ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ ผลการวิจัย พบ ปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้ จำนวน 4,108 มก./วัน รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน อันดับสาม คือ ภาคเหนือ จำนวน 3,563 มก./วัน อันดับสี่ คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,496 มก./วัน และ อันดับสุดท้าย คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน  3,316 มก./วัน ตามลำดับ          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมส่วนมากพบเครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่าง ๆ หรือเกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ยังมีโซเดียมแฝงที่ไม่เค็ม ได้แก่ ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง หรือ เบเกอรี่ต่าง ๆ และจากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม หรือจากภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค หรือแม้แต่การสำรวจของภาคเอกชน (Nielsen) พบข้อมูลตรงกันว่า คนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยพึ่งพาอาหารอาหารแช่เย็น แช่แข็ง อุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จากเดิมประมาณร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 เและอีกร้อยละ 40 ทานอาหารข้างทาง ตลาดนัด ร้านข้าวแกงมากขึ้น          “การสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกชนิดหรือประเภทของอาหารแช่เย็นแช่แข็งพร้อมบริโภคอย่างมาก และหากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียมหรือเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลงได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ เช่น ในบางประเทศฮังการี ผู้ประกอบการที่มีการปรุงอาหารให้มีรสเค็มน้อย จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว        มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มพบ. ได้มีการผลักดันนโยบายเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อโดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) ซึ่งเป็นแอปที่ให้ผู้บริโภคสแกนบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการรับประทานหรืออยากทราบข้อมูล เมื่อสแกนแล้วจะมีข้อมูลบนฉลากโภชนาการที่ถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดงเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถข้าใจได้ง่าย และช่วยในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเดินหน้าพลักดันเรื่องฉลากสีสัญญานไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร ให้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ตรวจสอบจราจร ปริมาณน้ำฝนและเส้นทางลัด กับ TVIS

                                  ฉบับนี้ผู้เขียนมาอัพเดทแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการรายงานสภาพการจราจร เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค แอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า TVIS ซึ่งย่อมาจากคำว่า Traffic Voice Information Service สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android          แอปพลิเคชัน TVIS เป็นแอปพลิเคชันที่แสดงถึงสภาพการจราจร มีกล้องวงจรปิด มีเรดาร์ตรวจอากาศ และเรดาร์น้ำฝน โดยจะแบ่งหมวดบนหน้าแอปพลิเคชัน 5 หมวด ได้แก่ หมวดรายการ หมวดรอบตัว หมวดรายการโปรด หมวดค้นหาด้วยเสียง และหมวดอื่นๆ          หมวดรายการ จะแบ่งการแสดงผลบนหน้าจอออกเป็น 8 หัวข้อ หัวข้อเรดาร์น้ำฝน จะแสดงสภาพปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้นซึ่งใช้สีเป็นตัวแบ่งปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ปริมาณเล็กน้อย ปานกลาง แรง แรงมาก และเกิดลูกเห็บ หัวข้อสภาพการจราจรจะให้เลือกบริเวณเส้นทางที่ต้องการทราบความคล่องตัวของสภาพการจราจร หัวข้อกล้องจราจร CCTV จะแสดงกล้องวงจรปิดตามจุดต่างๆ หัวข้อเส้นทางลัดจะแสดงเส้นทางลัดทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดหัวข้อข่าวสังคมออนไลน์เป็นการรายงานข่าวสารจากสังคมออนไลน์ หัวข้อข่าวจากภาครัฐเป็นการรายงานข่าวสารจากภาครัฐ หัวข้อหมายเลขสายด่วนเพื่อกดดูรายการหมายเลขสายด่วนที่มีอยู่ทั้งหมด และหัวข้อ Smart IVR ที่มีไว้สำหรับติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสอบถามผ่านแอปพลิเคชันโดยจะต้องกรอกหมายเลขโทรศัพท์ที่สะดวกหลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมา          หมวดรอบตัว จะเป็นการแสดงสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ โดยมีหัวข้อที่จะเลือกตรวจสอบสภาพการจราจร 4 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อเส้นสีจราจรจะปรากฏเส้นสีตามสภาพการจราจรในขณะนั้นเป็นสีแดง สีส้ม สีเหลืองและสีเขียว หัวข้อกล้องจราจรจะมีกล้องภาพเคลื่อนไหวจากแฟ้มภาพที่ผ่านไปเมื่อ 30 นาทีที่ผ่านมาและภาพเคลื่อนไหวแบบถ่ายทอดสด หัวข้อสังคมออนไลน์จะปรากฏข่าวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ จุดนั้น และหัวข้อดาวเทียมจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบมุมมองบนแอปพลิเคชันเป็นดาวเทียม          หมวดรายการโปรดเป็นหมวดที่เพิ่มขึ้นมาให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันได้รับความสะดวกสบายและสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วกับเส้นทางและสภาพการจราจรที่ต้องการใช้บ่อย สำหรับหมวดค้นหาด้วยเสียงเป็นการสั่งงานในการค้นหาสภาพการจราจรด้วยเสียง ซึ่งหมวดนี้จะรองรับผู้ที่ไม่สะดวกในการค้นหาในรูปแบบปกติ และหมวดอื่นๆ จะเป็นการตั้งค่าและวิธีการใช้งานภายในแอปพลิเคชัน        แอปพลิเคชัน TVIS นี้มีประโยชน์ในเรื่องการรายงานสภาพการจราจรตามเส้นทางที่ต้องการเดินทางว่ามีความคล่องตัวมากน้อยแค่ไหน  การรายงานสภาพการจราจรผ่านกล้องวงจรปิด การรายงานปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ การรายงานข่าวสารสภาพการจราจรผ่านสังคมออนไลน์ซึ่งมาจากการรายงานสภาพการจราจรจากผู้ใช้เส้นทางบนถนนโดยตรง        ถ้าผู้ใช้แอปพลิเคชันอยากจะหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจรที่ติดขัดบริเวณใด หรือต้องการหาเส้นทางลัด ก็สามารถเข้ามาตรวจสอบภายในแอปพลิเคชันนี้ได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 สำรวจเส้นทางก่อนออกเดินทางกับ “iTIC”

เดือนธันวาคมเป็นเดือนแห่งการเดินทางท่องเที่ยว เชื่อว่าหลายคนคงเตรียมวางแผนหาแหล่งท่องเที่ยวในช่วงหยุดปีใหม่นี้เรียบร้อยแล้ว แต่ในช่วงหยุดยาวแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องการเดินทาง การวางแผนเส้นทางการเดินทางเพื่อไปแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ จึงมีความสำคัญเช่นกัน ถ้ามีปัญหาในเส้นทางการจราจรก็คงทำให้ทริปการท่องเที่ยวไม่สนุกนัก ผู้เขียนได้เจอแอพพลิเคชั่นหนึ่งที่น่าสนใจในการให้ข้อมูลเส้นทางการเดินทางบนท้องถนนในประเทศไทย จัดทำโดยกรมการขนส่งทางบก และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า “iTIC” เมื่อเข้าไปในแอพพลิเคชั่นจะปรากฏภาพแผนที่และเส้นทางการจราจร โดยบริเวณมุมบนขวามือจะมีสัญลักษณ์ 4 อัน ได้แก่ สัญลักษณ์รูปคน สัญลักษณ์รูปกล้อง สัญลักษณ์รูปกรวยจราจร และสัญลักษณ์รูปไฟจราจร โดยแต่ละสัญลักษณ์จะมีรูปแบบการบอกรายละเอียดที่แตกต่างกันไปสัญลักษณ์รูปคน จะเป็นปุ่มสำหรับรายงานเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ว่าบริเวณใดมีอุบัติเหตุ มีการก่อสร้าง หรือมีปัญหาใดเกิดขึ้นสัญลักษณ์รูปกล้อง จะเป็นปุ่มที่จะแสดงสัญลักษณ์บนแผนที่ เพื่อบอกว่าจุดใดมีกล้องบ้าง นอกจากนี้ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นยังสามารถกดเข้าไปดูภาพของกล้องเพื่อให้ทราบสภาพการจราจรบนถนนบริเวณนั้นในเวลานั้นได้ทันทีสัญลักษณ์รูปกรวยจราจร จะเป็นปุ่มที่แสดงให้เห็นถึงการรายงานอุบัติเหตุ บริเวณสิ่งก่อสร้าง หรือปัญหาต่างๆ โดยสัญลักษณ์จะแตกต่างกันออกไปตามที่มีผู้รายงานเข้ามายังแอพพลิเคชั่นนี้ รวมถึงข้อมูลจากทางผู้จัดทำแอพพลิเคชั่นเอง อย่างเช่น รูปเครื่องอัศเจรีย์(เครื่องหมายตกใจ) รูปคนกำลังก่อสร้าง รูปรถเสีย เป็นต้น ซึ่งผู้ใช้แอพพลิเคชั่นสามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดที่เกิดขึ้นได้สัญลักษณ์สุดท้ายคือ สัญลักษณ์รูปไฟจราจร เป็นการแสดงให้เห็นสภาพการจราจรบนท้องถนนตามเส้นทางต่างๆ ว่ามีสภาพการจราจรที่คล่องตัวหรือติดขัดมากเพียงใด โดยแอพพลิเคชั่นจะใช้สีในการแบ่งสภาพการจราจร อย่างเช่น สีเขียว สีส้ม และสีแดงอย่าลืมสำรวจเส้นทางและสภาพการจราจรก่อนออกเดินทางไปท่องเที่ยวกันนะคะ จะได้เที่ยวอย่างมีความสุข และไม่สะดุดกับการเดินทาง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 รู้สภาพการจราจรบนทางด่วน

ต้องยอมรับว่าคนที่ใช้ชีวิตประจำวันในกรุงเทพมหานคร ต้องเคยใช้บริการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือทางด่วน แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีรถยนต์ส่วนตัว และคนที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวก็ตาม แต่ก็ต้องมีสักครั้งที่มีโอกาสได้ใช้บริการรถแท็กซี่ เพื่อเดินทางจากที่หนึ่งไปยังจุดหมายอีกที่หนึ่ง โดยใช้ทางด่วนเป็นตัวเชื่อมระยะทางเพื่อเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วขึ้น จากการที่ได้ใช้ทางด่วนเป็นประจำ ทำให้รู้ว่าในบางจุดบางช่วงเวลาคนใช้บริการทางด่วนมักจะเจอกับปัญหาทางด่วนที่มีการจราจรไม่ด่วน  เชื่อได้เลยว่าหลายคนคงเคยประสบปัญหานี้ ทำให้สงสัยว่าจะมีสิ่งใดบ้างที่จะช่วยบอกให้ได้ว่าควรเลือกใช้ทางด่วนในขณะนั้นหรือไม่ หรือควรใช้ทางธรรมดาดีกว่ากัน หรือจะต้องใช้เวลาในการเดินทางมากน้อยแค่ไหน และรถติดเพียงใด มีแอพพลิเคชั่นที่ผู้เขียนอยากแนะนำมีอยู่ 2 ตัวเกี่ยวกับทางด่วน ซึ่งมีชื่อเดียวกันว่า “EXAT  ITS” โดยความสามารถใน 2 แอพพลิเคชั่นนี้จะมีความแตกต่างกัน และสามารถใช้ควบคู่กันตามความต้องการของผู้ใช้ได้ และถูกพัฒนาจากคนละหน่วยงาน แอพพลิเคชั่นอันแรก จะบอกเกี่ยวกับสภาพการจราจรบนทางด่วนในภาพรวม ซึ่งสามารถเห็นหน้าจอเดียว มีแผนที่อัจฉริยะสำหรับนำทางจากจุดที่ยืนเพื่อเดินทางไปยังด่านเก็บเงินที่ใกล้ที่สุดได้ และสามารถค้นทางเส้นทางบนทางด่วนได้ด้วย ในแผนที่อัจฉริยะผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้อะไรปรากฏบนแผนที่อัจฉริยะบ้าง อย่างเช่น ป้ายจราจรอัจฉริยะ,  อุบัติเหตุ ,กล้อง CCTV,  ด่านเก็บค่าผ่านทาง,  สถานีตำรวจทางด่วน,  จุดกลับรถในทางพิเศษ และจุดพักรถในทางพิเศษ  โดยสามารถเลือกได้ทั้งหมด หรือเลือกเพียงอันใดอันหนึ่งก็ได้  นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้มีส่วนร่วมในการรายงานสถานการณ์หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนทางด่วน พร้อมทั้งได้มีการบอกข้อมูลเกี่ยวกับบัตร easy pass และช่วยรวบรวมเบอร์โทรฉุกเฉินให้ผู้ที่ใช้แอพพลิเคชั่นนี้ด้วย แอพพลิเคชั่นอันที่สอง เป็นแอพพลิเคชั่นที่ลงรายละเอียดบริเวณด่านเก็บเงินแต่ละด่าน ว่ามีเส้นทางการเดินทางเป็นอย่างไร และมีเส้นทางบอกถึงสภาพการจราจรให้ผู้ใช้ทางด่วนทราบได้ ทั้งนี้ยังสามารถค้นทางเส้นทางบนทางด่วนได้เหมือนกับแอพพลิเคชั่นอันแรก แต่มีข้อแตกต่างตรงแอพพลิเคชั่นนี้จะคำนวณเวลาในการเดินทางจากด่านทางด่วนหนึ่งไปยังอีกด่านทางด่วนหนึ่งได้ด้วย อย่างน้อยแอพพลิเคชั่นนี้ก็น่าจะช่วยให้ผู้เดินทางและใช้บริการทางพิเศษรู้ว่าสภาพการจราจรบนทางด่วนเป็นอย่างไร รู้ว่าต้องขึ้นทางด่วนที่ด่านบริเวณใดที่ใกล้ที่สุด และรู้ทิศทางการเดินทางที่ชัดเจน แอพพลิเคชั่น “EXAT  ITS”  อาจจะช่วยเรื่องการตัดสินใจในการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางได้ ลองใช้ดูสิคะ...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 Delivery Traffic รู้ทันตำรวจจราจร

รถชน!!! ความวุ่นวายในชีวิตก็จะเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่สำรวจว่าตนเองบาดเจ็บหรือไม่ ตรวจสภาพรถว่าเสียหายมากน้อยแค่ไหน แจ้งความกับตำรวจ เรียกประกันมาประเมินราคา และอะไรอีกน้า??? คุณผู้อ่านเคยเป็นไหม พอเกิดเหตุการณ์รถชน ความตื่นเต้น สับสน ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง จะหันไปหาเพื่อนร่วมเดินทาง ก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรเหมือนกัน วันนี้ผู้เขียนจึงนำแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยให้ประโยชน์ได้ทั้งคนขับและคนโดยสาร แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า Delivery Traffic หรือเรียกว่า กฎหมายจราจรเดลิเวอรี่ เป็นแอพพลิเคชั่นที่ให้ความรู้ผู้ที่ขับรถ หรือแม้แต่คนที่ขับรถไม่จำเป็นก็สามารถเรียนรู้แอพพลิเคชั่นนี้ไว้ได้เช่นกัน ข้อมูลใน Delivery Traffic จะให้ความรู้และความเข้าใจ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นบนท้องถนนได้อย่างดี   Delivery Traffic  เป็นของกองบังคับการตำรวจจราจร  โดยภายในแอพพลิเคชั่นจะแบ่งเป็น 6 ส่วน ในส่วนแรกจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกร็ดความรู้ที่จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อมีการกระทำผิดกฎจราจร อย่างเช่น มีคำถามว่าตำรวจจราจรเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ได้หรือไม่ เมื่อคลิกเข้าไปก็จะมีคำอธิบายเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ในส่วนที่สอง จะเป็นการบอกความหมายของเครื่องหมายจราจรบนท้องถนน ส่วนที่สามเป็นเรื่องคำถามและคำตอบเกี่ยวกับอัตราค่าปรับเมื่อกระทำความผิด ซึ่งจะบอกว่าผู้อ่านรู้ว่าถ้าทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ จะต้องมีโทษอย่างใด หรือปรับเป็นเงินเท่าไร ส่วนที่สี่เป็นแผนผังรูปภาพเพื่ออธิบายการปฏิบัติตนเมื่อได้รับใบสั่ง ส่วนที่ห้า เป็นเรื่องของสิ่งที่ควรรู้ น่ารู้และต้องรู้เกี่ยวกับการจราจร ในส่วนนี้จะอธิบายเป็นวิดีโอแอนนิเมชั่น เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ส่วนสุดท้าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรู้ทันแอลกอฮอล์ สำหรับนักดื่มที่ต้องใช้รถ โดยมีการอธิบายถึงปริมาณในการดื่มแต่ละครั้งว่าควรดื่มปริมาณเท่าไรที่จะขับรถได้ ซึ่งไม่ให้มีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้อ่านที่ต้องการติดตามวิดีโอแอนนิเมชั่นที่แนะนำวิธีต่างๆ สามารถคลิกเข้า youtube และ facebook ภายในแอพพลิเคชั่น Delivery Traffic ได้ทันที สามารถที่จะดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น Delivery Traffic ได้ที่  https://itunes.apple.com/th/app/delivery-traffic/id409994187?mt=8 สำหรับ iPhone, iPod touch และ iPad  และที่ https://play.google.com/store/apps/details?id=com.smileapp.deliverytraffic สำหรับ android ลองดาวน์โหลดมาอ่านดู เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และรู้ทันกับการทำงานของตำรวจจราจร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 ใช้ประโยชน์จาก Google Maps

  สวัสดีปีใหม่ปีมะเส็งนะคะ ผู้อ่านทุกท่าน เทศกาลปีใหม่ผ่านพ้นไป หลายคนคงได้หยุดพักผ่อนกันอย่างเต็มที่ (แม้ว่าวันหยุดจะน้อยไปนิ๊ด 555) บางคนได้เดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ บางคนก็กลับบ้าน พอเทศกาลปีใหม่ผ่านไป มนุษย์เงินเดือนอย่างเราก็ต้องกลับเข้าประจำโต๊ะทำงานกันต่อไป กลับมาใช้ชีวิตผจญปัญหาจราจรติดขัดในเมืองกรุงเหมือนเดิม   ปัญหาการจราจรบนท้องถนนในกรุงเทพมหานครติดขัดตลอด ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหานี้ไปได้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนนานนับเป็นชั่วโมง จะหลีกเลี่ยงเส้นทางก็ไม่แน่ใจว่าจะติดเหมือนกันหรือไม่ จึงได้แต่ร้องเพลงรอกันต่อไป  ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงลองหาแอพพลิเคชั่นที่มีประสิทธิภาพมาช่วยปัญหาที่เกิดขึ้น (อย่างน้อยก็ช่วยอะไรได้บ้างนะคะ)   แอพพลิเคชั่น Google Maps เป็นบริการแสดงแผนที่ประเทศไทย (รวมถึงทั่วโลก) บอกถึงสภาพการจราจรบนท้องถนน ตำแหน่งที่ยืนอยู่ไปจนถึงค้นหาตำแหน่งจุดหมายที่ต้องการเดินทางไปถึง ระบบขนส่งมวลชน อย่างเช่น สถานีรถไฟฟ้า BTS สายรถเมล์ที่สามารถทำให้จุดหมายปลายทางนั้นได้ โดยแอพพลิเคชั่นจะบอกระยะทางการเดินทาง รวมถึงเวลาที่จะใช้ในการเดินทาง   เมื่อเปิดแอพพลิเคชั่นขึ้นมา Google Maps จะบอกตำแหน่งที่เรายื่นอยู่ปรากฏบน Google Maps จากนั้นให้กรอกสถานที่จุดหมายที่ต้องการเดินทาง โดยจะมีเมนูที่แสดงผลสถานที่ใกล้เคียงบริเวณที่ค้นหา ให้คุณเลือกเพิ่มเติมอีกด้วย ในกรณีที่การแสดงผลไม่ตรงกับสถานที่ที่คุณต้องการ  เมื่อเจอสถานที่นั้นแล้ว คุณสามารถเปลี่ยนมุมมองเป็นแผนที่ 3 มิติหมุน 360 องศา หรืออาจจะเป็นในรูปแบบภาพถ่ายดาวเทียม นอกจากนี้ยังสามารถดูภาพท้องถนน หรือเรียกว่า Google Street View ในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน   บน Google Maps ที่แสดงผลอยู่นั้น คุณสามารถดูสภาพการจราจรไปด้วยในตัว ว่าเส้นทางใดสภาพการจราจรติดขัดควรหลีกเลี่ยง เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกเส้นทางการเดินทางที่ไม่ติดตัดและที่ดีที่สุด และแอพพลิเคชั่นยังคำนวณเวลาในการเดินทางให้ ไม่ว่าจะเป็นรถส่วนตัว หรือขึ้นรถเมล์ โดยจะบอกสายรถเมล์ที่ผ่านบริเวณจุดหมายให้อีกด้วย Google Maps สามารถติดตั้งในรูปแบบแอพพลิเคชั่น โดยผู้ที่ใช้ระบบ  iOS สามารถไปดาวน์โหลดได้ที่ App Store สำหรับผู้ใช้ระบบ Android  สามารถไปดาวน์โหลดได้ที่ Android Market เมื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Google Maps มาใช้งานแล้วมีปัญหา Google Maps ไม่ระบุตำแหน่ง ให้ไปเช็คที่  Settings > Privacy > Location Services   ลองดาวน์โหลดและดึงประโยชน์ของ แอพพลิเคชั่น Google Maps มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน อาจจะช่วยแก้ความหงุดหงิดใจในระหว่างที่อยู่บนท้องถนนได้สักเล็กน้อย ^_^

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 กระแสต่างแดน

ไถ่บาปให้ชะมด โทนี่ ไวลด์ นักธุรกิจรายแรกที่ทำให้โลกตะวันตกได้รู้จักกับกาแฟขี้ชะมด(ที่ฝรั่งเรียกกันว่า Kopi Luwak) ออกมาชักชวนให้คอกาแฟทั้งหลายเลิกดื่มกาแฟดังกล่าว เขาบอกว่าทุกวันนี้แทบจะไม่มีกาแฟขี้ชะมดแบบดั้งเดิมแล้ว ที่ขายกันอยู่ในอังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย เกาหลี ญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ตอนนี้ที่ราคากิโลกรัมละเกือบ 25,000 บาทนั้น ส่วนใหญ่ได้จากฟาร์มชะมดเลี้ยง ไม่ใช่ชนิดที่ต้องไปหาเก็บเองตามธรรมชาติเหมือนเมื่อก่อน ก่อนหน้านี้ ชาวไร่กาแฟบนเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย จะออกไปเก็บเมล็ดกาแฟจากมูลของชะมดที่แอบเข้ามาเลือกกินลูกกาแฟสุกแล้วถ่ายออกมา ซึ่งรวมๆ แล้วเก็บมาขายได้เพียงปีละ 500 กิโลกรัมเท่านั้น แต่ปัจจุบันกำลังการผลิตทั่วโลกอยู่ที่ 50 ตันต่อปี ฟาร์มชะมดในอินโดนีเซียที่เลี้ยงชะมดไว้ 240 ตัว สามารถผลิตเมล็ดกาแฟดังกล่าวได้ถึง 7 ตัน โดยปกติแล้วชะมดจะออกหากินโดยลำพังในเวลากลางคืน แต่ “กระบวนการผลิต” กาแฟรสเลิศนี้เป็นการนำพวกมันมาอยู่รวมกันในกรง ทำให้เกิดการต่อสู้เพื่อแย่งอาหาร นำไปสู่แผลเหวอะหวะและการติดเชื้อ  ซึ่งภาพดังกล่าวคือภาพที่สถานีโทรทัศน์บีบีซีนำออกมาเผยแพร่ และทำให้คนอังกฤษรวมถึงโทนี่ ไวลด์ไม่อยากดื่มกาแฟที่ว่าอีกต่อไป   ด้านสมาคมกาแฟขี้ชะมดแห่งอินโดนีเซียก็ออกมาชี้แจงว่า ชะมดมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายในกรงที่โอ่อ่า ด้วยเนื้อที่ถึง 2 ตารางเมตร และยืนยันว่าฟาร์มกรงโหดที่เป็นข่าวนั้นมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ตำนานกาแฟชะมดบนเกาะอังกฤษเริ่มขึ้นในปี  1981 เมื่อโทนี่ ไวลด์ ได้อ่านเรื่องของกาแฟโกปิ ลูวะ (ในนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟิก) ที่มีความหอมกลมกล่อมด้วยเมล็ดกาแฟจากมูลชะมด ที่มีกลิ่นเฉพาะตัวจากลำไส้และต่อมกลิ่นของมัน เมื่อถึงปี 1991 ที่เขามีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการจัดซื้อเมล็ดกาแฟของบริษัท เทย์เลอส์ ออฟ ฮาโรเกต ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายชาและกาแฟเจ้าเก่าแก่ของอังกฤษ เขาจึงลองซื้อมา 1 กิโลกรัม เรื่องราวของกาแฟที่เขาซื้อมา เข้าตาสื่อทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ จนเขาต้องสั่งนำเข้ากาแฟดังกล่าวในที่สุด นอกจากกาแฟขี้ชะมดแล้วเรายังมีกาแฟขี้ช้าง กาแฟขี้นก กาแฟขี้ลิง ไว้สนองความต้องการอันดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ ณ จุดนี้กาแฟที่แพงที่สุดในโลกคือกาแฟที่ได้จากมูลของตัว Uchunari (คล้ายชะมด) ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในประเทศเปรู ... มันรู้ชะตากรรมของตัวเองหรือยังหนอ ...     เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ โกง เป็นที่รู้กันดีว่าการจัดงานเลี้ยงตามธรรมเนียมจีนนั้นต้องยิ่งใหญ่อลังการและอาหารต้องหรูเลิศ ประเทศจีนมีค่าใช้จ่ายในการจัดงานเลี้ยงที่หน่วยงานรัฐเป็นเจ้าภาพถึงปีละ 300,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 1,000,000 ล้านบาท ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง จึงประกาศห้ามสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และข้าราชการทหารจัดงานเลี้ยงโดยใช้เงินหลวงเด็ดขาด นี่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปราบปรามคอรัปชั่น นโยบายดังกล่าวสั่นสะเทือนธุรกิจส่งออกอาหารแห้ง(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หูฉลาม หอยเป๋าฮื้อ และรังนก) มิใช่น้อย อย่างน้อยบริษัทจดทะเบียนของฮ่องกง 2 บริษัท ได้แจ้งต่อผู้ถือหุ้นถึงความเสี่ยงที่ผลกำไรจากการประกอบการในปีนี้อาจลดลงเพราะมาตรการรัดเข็มขัดและปราบปรามคอรัปชั่นของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนแผ่นดินใหญ่ นโยบายนี้ยังเกี่ยวข้องไปถึงเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งจะผ่านไป  รัฐบาลจีนประกาศห้ามการให้ของขวัญกันด้วยขนมไหว้พระจันทร์ชนิดหรูหรา ที่ทำให้สงสัยได้ว่าเป็นการให้สินบนมากกว่าการให้เพื่อแสดงความรัก ความหวังดี ปีนี้ขนมไหว้พระจันทร์ชนิดที่ใส่หูฉลาม หอยเป๋าฮื้อ รังนก หรือแม้แต่ใส่เงิน หรือทองลงไป จึงไม่ค่อยมีให้เห็นในตลาดแล้ว ข่าวบอกว่าชนิดที่ยังขายดี ที่คนซื้อไปเป็นของขวัญให้กันเป็นชนิดที่ราคาประมาณ 1,000 บาท ลืมบอกไปว่า รัฐบาลจีนเปิดสายด่วนให้ประชาชนโทรเข้าไปแจ้งเมื่อพบเห็นพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยฟุ่มเฟือยของข้าราชการด้วย   คราบที่ซักไม่ออก มาดูความคืบหน้าจากกรณีตึกรานาพลาซ่า ที่บังคลาเทศถล่มทับคนงานเสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 1,000 คนกันบ้าง มีการประเมินไว้ว่าจะต้องมีการให้เงินชดเชยไม่ต่ำกว่า 56 ล้านยูโรแก่เหยื่อของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ล่าสุดข่าวบอกว่า ขณะนี้ยังมีผู้เสียชีวิตอีกประมาณ 300 รายที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ดีเอ็นเอได้ ตามระเบียบแล้วรัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือประมาณ 600,000 บาท ให้แก่ญาติของเหยื่อที่ผ่านการตรวจดีเอ็นเอแล้วเท่านั้น เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมามีการประชุมที่เมืองเจนีวา ระหว่างองค์กรที่รณรงค์เรื่องความเป็นธรรมต่อคนงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปกับบรรดาเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าที่จ้างผลิตโดยโรงงานในตึกรานาพลาซ่า แต่การประชุมครั้งนั้นถือว่าล้มเหลว เพราะมีเพียงหนึ่งในสามของบริษัทดังกล่าวเข้าร่วมประชุม เจ้าใหญ่อย่าง Walmart  Benetton  และ Mango  ไม่ได้เข้าร่วมพูดคุยแสดงท่าที จะมีก็เพียงบริษัท Primark สัญชาติไอร์แลนด์เท่านั้นที่รับปากจะจ่ายเงินชดเชยเท่ากับเงินเดือนสามเดือนให้กับผู้บาดเจ็บหรือครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นการจ่ายเพิ่มเติมจากการให้เงินชดเชยเบื้องต้นกับผู้เคราะห์ร้ายรายละ 6,000 บาท ในเดือนกรกฎาคม บังคลาเทศ ซึ่งมีโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปถึง 4,500 โรง ได้ประกาศใช้กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ที่ให้ความคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างและเข้มงวดกับมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น   หมูกระป๋อง เพื่อคนที่คุณรัก เทศกาลไหว้พระจันทร์ของคนเกาหลีใต้ ไม่ต้องพึ่งพามูนเค้กหรือขนมไหว้พระจันทร์แต่อย่างใด เพราะสิ่งที่เขาอยากได้มากที่สุดคือ สแปม ไม่ใช่ชนิดที่หลอนคุณในคอมพิวเตอร์ แต่เป็นสแปม เนื้อหมูอัดกระป๋อง ที่คนเกาหลีได้รู้จักเป็นครั้งแรกเมื่ออเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพสมัยสงครามเกาหลี มันเป็นอะไรที่ดังกว่าโคคาโคล่าหรือเค เอฟ ซี และเป็นของขวัญที่ได้รับแล้วอบอุ่นใจอย่างบอกไม่ถูก ห้างต่างๆ จึงนิยมจัดแพ็คเก็จเป็นกล่องหรือตะกร้าของขวัญสวยหรูไว้ให้ซื้อกันได้สะดวก ชุดหนึ่งประมาณสองพันกว่าบาท  แม้ในอเมริกามันจะเป็นอาหารสำหรับคนรายได้น้อย แต่ที่นี่มันเป็นของโปรดของคนมีอันจะกิน คนเกาหลีเขายังมีสูตรอาหารที่ใช้เจ้าสแปมเป็นวัตถุดิบอยู่ไม่น้อย แต่ที่นิยมกันสุดๆ ได้แก่ “สตูว์กองทัพบก” (ดูจากชื่อแล้วน่าจะใหญ่กว่า “โจ๊กกองปราบ”) ตำรับนี้เกิดขึ้นช่วงหลังสงคราม  สแปมเป็นอาหารยอดนิยมที่มีการลักลอบนำออกมาจากกองทัพมาปล่อยในตลาดมืดมากที่สุด และชาวบ้านก็นิยมเอามาใส่ซุปรสแซ่บสไตล์เกาหลี ซึ่งยังเป็นที่นิยมมาจนถึงทุกวันนี้ ร้านอาหารที่เชี่ยวชาญเมนูจากสแปมนั้นมีอยู่ทั่วไป แต่ถ้าจะให้ได้อารมณ์ท่านว่าต้องไปชิมสตูว์ดังกล่าวจากร้านที่ตั้งเรียงรายบนถนนที่ติดกับกองทัพฯ นั้นแล     รถเขียวเอื้ออาทร ก่อนหน้านี้ไม่นานรองประธานาธิบดีของอินโดนีเซียประกาศแผนลดปัญหาการจราจรให้กับเมืองจาการ์ต้า ตามแผนดังกล่าวนั้นเขาบอกว่า จะมีการนำระบบ ERP (Electronic Road Pricing) หรือการคิดค่าธรรมเนียมการใช้ถนนตามพื้นที่มาใช้ในจาการ์ต้า พร้อมกันนี้จะเพิ่มจำนวนรถประจำทาง เพิ่มความเข้มงวดให้เลนรถประจำทางมีแต่รถประจำทางจริงๆ นอกจากนั้นเขาจะปรับกฎเกณฑ์และเพิ่มค่าธรรมเนียมในการจอดรถริมถนนด้วย นี่เป็นเพียงบางส่วนของแผนที่มีถึง 17 ขั้นตอน แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ประกาศลดภาษีให้กับผู้ที่ซื้อรถยนต์ที่ผลิตในอินโดนีเซีย ที่มีราคาไม่เกิน 100 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 320,000 บาท) ที่วิ่งได้ 20 กิโลเมตรต่อน้ำมัน 1 ลิตร แผนนี้เข้าทางรถอีโคคาร์สองรุ่น ได้แก่ โตโยต้า Agya และไดฮัทสุ Ayla ที่ขณะนี้มียอดจองรวมกัน 18,000 คัน ... และผู้ประกอบการบอกว่าถึงสิ้นปีน่าจะมียอดจองประมาณ 30,000 คัน คนที่มึนที่สุดกับนโยบายนี้คือผู้ว่านครจาการ์ต้า ที่ในที่สุดตัดสินใจส่งจดหมายไปขอให้มีการทบทวนนโยบายรถเขียวเอื้ออาทรที่ว่านี้โดยพลัน เพราะเขามองว่าท้องถนนจาการ์ต้าคงรับมือกับรถใหม่ที่จะออกมาไม่ไหว และมันคงจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปฏิบัติตามแผน 17 ขั้นตอนที่ว่า   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 กระแสต่างแดน

ยอมกันไม่ได้จริงๆ ชายนอร์เวย์คนหนึ่งยื่นเรื่องร้องเรียนให้คณะกรรมการผู้บริโภคของสวีเดนทบทวนว่า สโลแกนส่งเสริมการท่องเที่ยว “สต็อคโฮล์ม – เมืองหลวงแห่งสแกนดิเนเวีย” เป็นโฆษณาที่หลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ เขาบอกว่าสโลแกนดังกล่าวจงใจทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจว่ากรุงสต็อคโฮล์มนั้นเป็นเมืองหลวงของคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ที่ความจริงแล้วประกอบด้วย 3 ประเทศด้วยกันได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน เขาสอบถามไปยังเทศบาลเมืองสต็อคโฮล์มและได้คำตอบกลับมาว่า ที่ขนานนามเช่นนั้นเพราะ เมืองของเขาดังกล่าวมีสนามบินนานาชาติถึง 5 แห่ง แถมด้วยประชากรกว่า 3.5 ล้านคน และกว่าร้อยละ 40 ของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนสแกนดิเนเวียนั้นจะมาเที่ยวที่นี่   แต่เขายังข้องใจ เพราะสต็อคโฮล์มไม่ได้มีสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในย่านนี้สักหน่อย ไม่ได้ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของภูมิภาค แถมยังไม่ใช่ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของรางวัลโนเบลอย่างประเทศนอร์เวย์ของเขาซึ่งมีเมืองหลวงชื่อว่าออสโลอีกด้วย สรุปว่าเขาไม่เห็นว่า สต็อคโฮล์ม จะดีไปกว่าเมืองหลวงอื่นๆ ตรงไหน ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งออสโลเองก็ไม่ค่อยปลื้มกับคำขวัญของสต็อคโฮล์มเช่นกัน  เขาเปรยๆ ในการสัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ทำนองว่า “สต็อคโฮล์มเขาช่างกล้า” อยู่บ่อยๆ คำขวัญนี้มีใช้มา 7 ปีแล้ว แต่เพิ่งจะกลับมาเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อองค์การท่องเที่ยวของสต็อคโฮล์มเป็นสปอนเซอร์งานสัมมนาส่งเสริมการลงทุนที่จัดที่ฝรั่งเศส สโลแกนดังกล่าวมีอยู่ทั่วทั้งงานทั้งบนป้ายและบัตรเข้าชมงาน ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากเดนมาร์กและนอร์เวย์หลายคนรับไม่ได้ ขนาดถึงขั้นฉีกตั๋วทิ้งกันเลยก็มี     จ่ายก่อนจร เมืองใหญ่มักมาคู่กันกับปัญหารถติด หลายๆ ที่จึงต้องใช้วิธีเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนหรือในเขตที่มีการจราจรหนาแน่น เพื่อลดจำนวนรถลงบ้าง เช่น ที่ลอนดอน ซึ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกในเดือนกันยายนปีนี้ เขามีมาตรการสกัดกั้นรถเข้าเมืองมาเกือบ 10 ปีแล้ว ถ้าใครขับรถเข้าไปในเขต “เซ็นทรัล ลอนดอน” ในวันจันทร์ถึงศุกร์ ระหว่างเวลา 7 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 10 ปอนด์ในกรณีที่คุณไปจ่ายเงินภายในเที่ยงคืนของวันนั้น แต่ถ้าข้ามวันคุณจะต้องเสียเพิ่มเป็น 12 ปอนด์  ถ้าทำเมินลืมจ่ายก็จะมีค่าปรับ 60 ปอนด์ – 187 ปอนด์ (ประมาณ 3,000 – 9,400 บาท) เขาตามหนี้เราได้ เพราะมีกล้องวงจรปิดบันทึกภาพไว้ สำหรับคนที่ต้องเข้าเมืองในเวลาดังกล่าวเป็นประจำเขาจะใช้วิธีจ่ายล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับ แต่เขาจะไม่เก็บจากรถที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า 100 กรัม/กิโลเมตร หรือรถที่มีมากกว่า 9 ที่นั่ง วิธีนี้ทำให้รัฐมีรายได้ปีละเกือบ 150 ล้านปอนด์ ไว้เป็นทุนปรับปรุงระบบการจราจร กลับมาที่เวียดนามเพื่อนบ้านของเราบ้าง ขณะนี้เขากำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะห้ามรถยนต์ส่วนบุคคลจากเขตเมืองชั้นในของฮานอยและโฮจิมินห์ในวันธรรมดา ให้ได้อย่างน้อย 5 ชั่วโมง ก่อนหน้านี้เขาคิดจะแบนรถมอเตอร์ไซค์ แต่มีเสียงคัดค้านว่าควรจะห้ามรถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่า  เพราะแม้ว่ารถยนต์จะเป็นเพียงร้อยละ 10 ของยานพาหนะบนท้องถนน แต่มันครอบครองพื้นที่บนถนนกว่าร้อยละ 55 และพื้นที่จอดถึงร้อยละ 65 ข่าวบอกว่า ในที่สุดแล้วเขาอาจจะเลือกใช้ระบบเดียวกับที่ลอนดอน ส่วนที่เมืองออสโล นอร์เวย์ นี่มาแปลก เพราะไม่ได้มีปัญหารถแน่นถนน แต่เป็นปัญหาคนแน่นรถแทน เขาจึงเสนอวิธีการแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่ารถสาธารณะในชั่วโมงเร่งด่วน โดยคิดอัตราค่าบริการตามช่วงเวลาที่เราเดินทาง เพื่อให้คนเปลี่ยนมาเดินทางนอกช่วงเวลาเร่งด่วนกันมากขึ้น แต่สภาผู้บริโภคของเขาไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับวิธีนี้ คนที่อุตส่าห์ช่วยลดปัญหาการจราจรด้วยการหันมาใช้บริการขนส่งมวลชน ควรจะต้องได้รางวัล ไม่ใช่การลงโทษ ... อืม นั่นสินะ     อ่านอย่างพอเพียง มนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย... ใครเคยนับบ้างว่าคุณอ่านอีเมล์ (หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์) วันละกี่ครั้ง งานวิจัยล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร่วมกับศูนย์วิจัยของกองทัพสหรัฐฯ เขาออกมายืนยันว่า คนที่อ่านอีเมล์ในที่ทำงานน้อยกว่าจะสามารถสร้างผลงานได้มากกว่า ทีมวิจัยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมตามปกติของพนักงานออฟฟิศทั้งหมด 13 คน และขอให้คนเหล่านั้นหยุดอ่านอีเมล์เป็นเวลา 5 วัน เขาพบว่าในช่วงที่คนเหล่านี้พักจากการอ่านอีเมล์นั้น พวกเขาจะมีสมาธิอยู่กับงานเฉพาะหน้าได้นานกว่า แถมยังพบว่าพวกเขามีอัตราการคลิ๊กเปลี่ยนหน้าจอต่ำกว่าด้วย แล้วความเครียดล่ะ ...  เมื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจดูแล้วยังพบว่าระดับความเครียดเวลาที่ไม่เช็คอีเมล์นั้นแตกต่างจากตอนที่อ่านอีเมล์อย่างมาก กลอเรีย มาร์ค อาจารย์ด้านสารสนเทศศาสตร์ ผู้ศึกษาผลกระทบของใช้อีเมล์ในที่ทำงานมาเป็นเวลากว่า 8 ปี  เสนอให้บริษัททั้งหลายลองส่งอีเมล์ถึงพนักงานเพียงวันละหนึ่งหรือสองครั้งต่อวันเท่านั้น เพื่อที่พนักงานจะได้ไม่ต้องกังวลมาคอยเช็คเมล์ทุกๆ 10 นาที เพราะกลัวพลาด ที่สำคัญเธอเสนอให้ผู้คนทดลอง “พักร้อนจากอีเมล์” กันดูบ้าง เพราะว่าได้ผลดีไม่แพ้การลางานไปพักร้อนเลยทีเดียว สถิติน่าสนใจ : คนที่ใช้อีเมล์เป็นประจำจะเปลี่ยนหน้าจอ 37 ครั้งในหนึ่งชั่วโมง ในขณะที่คนอื่นๆ ที่เปิดอ่านอีเมล์น้อยครั้งกว่า จะเปลี่ยนหน้าจอเพียง 18 ครั้งต่อชั่วโมงเท่านั้น   ข้อเสียอีกประการของการเปิด “กล่องจดหมายเข้า” คือการต้องพบกับ “โฆษณาไม่พึงประสงค์” คุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ว่าอะไร แค่กด “delete” ทิ้งมันลงถังขยะไปเฉยๆ ผู้บริโภคที่ฮ่องกงเขาทำมากกว่านั้น จากการสอบถามชาวฮ่องกง 1,046 คน พบว่าเกือบร้อยละ 50 ตอบว่าตัวเองจะตอบโต้ด้วยการ “บอยคอต” แบรนด์สินค้าที่ส่งอีเมล์/SMS  เข้ามาโฆษณาไม่หยุดหย่อน ด้วยการเลิกซื้อไปเลย ที่นั่นเขาคงโฆษณากันหนักจริงๆ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ ได้บอยคอตไปไม่ต่ำกว่า 4 แบรนด์แล้ว แต่บริษัทโฆษณามีหรือจะท้อ เขาบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวจัดให้ใหม่ ที่ผู้บริโภคเซ็งแบรนด์ไปนั้นเป็นเพราะว่ายังสื่อสารไม่ถูกกลุ่มเป้าหมายและไม่ถูกเวลามากกว่า ต่อไปจะต้องเก็บข้อมูลผู้บริโภคให้ละเอียดมากขึ้น เอาล่ะสิ  งานกลับมาเข้าที่ผู้บริโภคอีกแล้ว ทุกวันนี้เรายังถูกเก็บข้อมูลไม่มากพออีกหรือ   เอกสิทธิ์เฉพาะคนจน? ไปดูสถานการณ์น้ำมันที่อินโดนีเซียกันบ้าง คงยังจำกันได้ว่าเขามีประท้วงใหญ่กันไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซีย ประกาศห้ามคนรวยหรือคนชั้นกลางซื้อน้ำมันชนิดที่รัฐช่วยพยุงราคา หมายความว่าใครก็ตามที่ขับรถที่มีขนาดเครื่องยนต์เกินกว่า 1.5 ลิตรขึ้นไป จะไม่สามารถซื้อน้ำมันเกรดต่ำได้ ข่าวบอกว่า แม้จะเป็น “น้ำมันเกรดต่ำ” ที่รัฐช่วยรับภาระไว้ครึ่งหนึ่ง แต่คนที่ใช้ส่วนใหญ่ก็เป็นคนมีเงิน เพราะคนจนนั้นไม่มีรถให้ต้องเติมน้ำมันอยู่แล้ว  ส่วนกลุ่มที่พอจะมีรายได้(แต่น้อย) ก็มีแต่มอเตอร์ไซค์ซึ่งใช้น้ำมันประเภทอื่น หลังจากประกาศใช้ กฎดังกล่าวจะมีผลภายใน 3 เดือนในจาการ์ตา และจะมีผลทั้งประเทศในอีก 4 เดือนหลังจากนั้น รถยนต์ของหลวงนั้นจะต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวภายใน 7 วันหลังการประกาศใช้ ส่วนรถสาธารณะนั้นไม่เข้าข่าย รถเล็กก็เติมต่อไปได้ตามปกติ องค์กรผู้บริโภคบอกว่านโยบายนี้จะทำให้ปั๊มน้ำมันหัวนอกได้เปรียบ เพราะถ้าจะต้องซื้อน้ำมันแพง ผู้บริโภค ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้ลำบากเรื่องเงิน จะหันไปเติมน้ำมันกับปั๊ม อย่างเชลล์ และโททาล เพราะเชื่อว่าน่าจะดีกว่าปั๊มท้องถิ่นอย่างเพอตามีนาของอินโดนีเซีย     ความผิดแนวตั้ง อย่างที่รู้กันดีว่าสิงคโปร์เมืองสะอาดเอี่ยมเขาเฮี้ยบมากในการจัดการกับพวกทิ้งขยะไม่เป็นที่ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เขาจัดการไม่ได้เสียทีแม้จะรณรงค์มากว่า 10 ปีแล้ว ด้วยเนื้อที่อันจำกัด คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ต้องอาศัยอยู่ในแฟลตสูง และหนึ่งในปัญหาที่เจออยู่บ่อยๆ คือ “ขยะลอยฟ้า”  ทางการบอกว่าได้รับเรื่องร้องเรียนไม่ต่ำกว่า 100 เรื่องต่อเดือน องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์จึงทดลองนำกล้องวงจรปิดไปติดตั้งไว้ 10 จุดที่ชั้นบนสุดของแฟลตการเคหะสิงคโปร์ ในบริเวณที่มีผู้คนร้องเรียนมาบ่อยๆ ได้ผลดีทีเดียวสำหรับการลงทุนกล้องตัวละ 25,000 เหรียญ (ประมาณ 620,000 บาท) ที่สามารถเก็บภาพต่อเนื่องได้อย่างน้อย 5 วัน  นับว่าคุ้มมาก จากที่เคยต้องให้คนไปซุ่มรอกันคราวละหลายชั่วโมง เขาจึงวางแผนว่าจะติดเพิ่มอีก 40 จุด ภายในเดือนสิงหาคมนี้ หนุ่มรายหนึ่งถูกเรียกไปศาลและถูกตัดสินให้จ่ายค่าปรับจำนวน 800 เหรียญสิงคโปร์ (เกือบๆ 20,000 บาท) โทษฐานที่ทิ้งขยะในที่สาธารณะ โดยมีหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ความละเอียดสูง ที่บันทึกภาพของเขาขณะโยนก้นบุหรี่ออกมาจากห้องพักบนชั้น 3 ของแฟลต เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 กระแสต่างแดน

  เมื่อเรือ “ไม่สำราญ”บรรดาผู้โดยสารเรือคอสตา คอนคอร์เดีย ที่ล่มอยู่นอกชายฝั่งเกาะแห่งหนึ่งในอิตาลีกำลังรวมตัวกันฟ้องผู้ประกอบการเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยให้เหมาะสมกับประสบการณ์ “เรือไม่สำราญ” ที่ตนเองได้รับ เบื้องต้นนั้น บริษัทประกาศว่าจะคืนเงินค่าตั๋วให้ พร้อมกับคูปองส่วนลด 30% สำหรับการเดินทางครั้งต่อไป(ถ้ายังจะกล้าไปด้วยกันอีก) แต่นั่นไม่ดีพอ บรรดาองค์กรผู้บริโภคของอิตาลี นำโดยองค์กร “อัลโตรคอนซูโม” ไปต่อรองการชดเชยได้ดีขึ้นอีกระดับ นั่นคือผู้โดยสารทุกคน(รวมถึงเด็กเล็กที่ไม่อยู่ในข่ายต้องเสียค่าตั๋ว) จะต้องได้รับค่าชดเชยคนละ 11,000 ยูโร(ประมาณ 440,000 บาท) และได้รับคืนเงินค่าตั๋ว ค่าภาษีท่าเรือ ค่าเดินทางเพื่อมาขึ้นเรือ(แล้วแต่ว่าใครขึ้นรถยนต์ รถไฟ หรือนั่งเครื่องบินมา) ค่ารักษาพยาบาล และค่าเดินทางกลับบ้าน(ด้วยความผิดหวัง) นอกจากนี้ยังขอให้บริษัทคืนเงินทั้งหมดที่ผู้โดยสารใช้จ่ายในระหว่างที่อยู่บนเรือ(เช่น การใช้บริการสปา บาร์เครื่องดื่ม หรือเล่นพนันในคาสิโนบนเรือ เป็นต้น)  รวมถึงจัดส่งข้าวของทั้งหมดคืนให้กับผู้โดยสารถึงบ้าน โดยบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย บริษัทคาร์นิวาล คอร์ป เขาบอกว่าตกลงตามนั้น โดยผู้โดยสารจะได้สิทธินั้น 7 วันหลังลงนามในสัญญา แต่เดี๋ยวก่อน องค์กรผู้บริโภค โคดาคอนส์ เขาประกาศชักชวนบรรดาผู้โดยสารที่เซ็งจิตเพราะอดเดินทางตามทริปในฝัน มาร่วมกันฟ้องผู้ประกอบการ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งเขาบอกว่าน่าจะอยู่ที่ระหว่าง 125,000 – 1,000,000 ยูโร(ประมาณ 4 – 40 ล้านบาท) ข่าวบอกว่ามีคนสนใจเยอะทีเดียว รายงานข่าวอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 17 ราย และผู้สูญหายอีก 15 คน นี้ทำให้เราได้รู้ว่าธุรกิจเรือสำราญนี้มีระเบียบด้านความปลอดภัยที่หละหลวมมาก เช่นไม่มีการระบุจำนวนเจ้าหน้าที่ที่สามารถดูแลเรื่องความปลอดภัยในยามฉุกเฉิน(เรียกว่า ในบรรดาลูกเรือ 1,023 คน บนเรือคอสตา คอนคอร์เดีย ที่ทำหน้าที่ดูแลสระว่ายน้ำ บาร์ คาสิโน และโรงภาพยนตร์บนเรือนั้น มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือ) หรือแม้แต่การแล่นเรือเข้าไปในระยะ 150 เมตรจากฝั่งนั้น เขาบอกว่าไม่ได้มีข้อห้ามใดๆ และที่เราไม่ค่อยจะได้ยินข่าวคราวเรื่องอุบัติเหตุเรือสำราญก็เพราะเขาถือเป็นข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อสาธารณะอีกต่างหาก ส่วนที่เปิดแง้มๆ ออกมาผ่านฐานข้อมูลขององค์กรสหประชาชาติ International Maritime Database นั้นก็มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ  ออกมาแฉว่าน้อยกว่าตัวเลขจริงหนึ่งเท่าตัว     แอพแยกสี ต้องพึ่งพาตัวเองกันแล้วจริงๆ สำหรับผู้บริโภคในยุคที่การตัดสินใจของรัฐบาลได้รับอิทธิพลจากผู้ประกอบการเป็นหลัก หลังจากที่รัฐบาลไม่ยอมประกาศใช้ฉลาก “สัญญาณไฟจราจร”บนผลิตภัณฑ์อาหาร ทีมงานจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เขาก็หันไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นในไอโฟนออกมาช่วยผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพขึ้นมาเองจนได้ แอพฯ ที่ชื่อว่า “food switch” นี้จะสแกนบาร์โค้ดผ่านกล้องของโทรศัพท์ แล้วบอกคุณได้ว่าบรรดาอาหาร 20,000 รายการที่มีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกตนั้น มีไขมัน น้ำตาล หรือเกลือในประมาณที่ ปลอดภัย ต้องระวัง หรือ เป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือไม่ ด้วยการขึ้นเป็นสัญลักษณ์ไฟเขียว เหลือง แดง นั่นเอง เจ้าโปรแกรมที่ว่า มันไม่หยุดแค่นั้น มันสามารถแนะนำอาหารที่ดีกว่าให้คุณได้ด้วย โดยจะอ้างอิงจากฐานข้อมูลที่มีการเก็บข้อมูลโดยสถาบันวิจัย George Institute ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ นั่นเอง บรูซ นีล ผู้อำนวยการสถาบันดังกล่าวบอกว่ากำลังเก็บข้อมูลว่าการใช้ระบบสัญญาณไฟจราจรนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลือกของผู้บริโภคได้จริงหรือไม่ ถ้าใช่ก็จะได้นำไปยืนยันกับรัฐบาลในทันใด เผื่อว่าคิดผิดจะได้คิดใหม่ เพราะเขาเชื่ออย่างยิ่งว่าคนเราต้องการเลือกอาหารที่ดี เพียงแต่อาจจะท้อแท้เพลียใจที่จะต้องคอยเพ่งอ่าน หรือคอยคำนวณเปรียบเทียบปริมาณไขมัน น้ำตาล หรือเกลือทุกครั้งที่เลือกซื้อ ทีนี้ก็อยู่ที่รัฐบาลแล้วว่าจะเลือกแบบที่ง่ายสำหรับผู้บริโภค หรือง่ายสำหรับผู้ผลิต    ชอบของเก่า เรื่องกินนี่ไม่เข้าใครออกใครจริงๆ นะคุณผู้ชม บางทีความอร่อยลิ้นก็มาเหนือความสะอาดเสียอย่างนั้น อย่างที่เมืองฉงชิ่ง ซึ่งเป็นถิ่นร้านอาหารหม้อไฟอันลือชื่อของจีนนั้นเกิดกระแสต่อต้านการประกาศห้ามใช้น้ำมันซ้ำจากลูกค้าคนก่อนๆ เรื่องมีอยู่ว่า ที่นี่เขาถือเป็นวิถีปฏิบัติกันมานานแล้ว การเก็บน้ำมันที่เหลือจากภาชนะของลูกค้าที่กินเสร็จแล้ว เพื่อนำมาใช้ต่อกับลูกค้ารายต่อไปนั้น ว่ากันว่ามันช่างได้กลิ่นและรสสะสมจากผัก หรือเนื้อสัตว์ที่เข้มข้นยิ่งนัก เอาเป็นว่าร้อยละ 80 ของร้านในเมืองนี้เขาก็ใช้วิธีนี้แหละ แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่งทางการเขาประกาศห้ามการกระทำดังกล่าวด้วยเหตุผลว่ามันไม่ถูกสุขอนามัย แถมยังมีคนนำคลิปเปิดโปงการ “รีไซเคิล” น้ำมันในร้านพวกนี้ไปโพสต์ลงยูทูบ ทำให้คนบางส่วนตกใจและรับไม่ได้ ที่น่าประหลาดใจกว่าคือ หลังจากประกาศออกไป มีคนในฉงชิ่งกว่า 13,000 คนเข้าไปแสดงความเห็นในเว็บกันอย่างกว้างขวาง มีถึงร้อย 66.5 ที่ไม่เห็นด้วยกับการแบน โดยให้เหตุผลว่ารสชาติจะไม่อร่อยเหมือนเดิม และ “น้ำมัน” ในที่นี้ก็เป็นคนละอย่างกับ “น้ำมัน” ในคลิปที่เห็นพนักงานร้านเก็บออกจากชามที่กินเหลือด้วย ส่วนทางร้านก็แน่นอนว่าไม่เห็นด้วย โดยบอกว่ามันเพิ่มต้นทุนและไม่อร่อยเหมือนเดิม จึงทำให้คนเข้าร้านน้อยลงขาประจำรายหนึ่งบอกว่าเมื่อก่อนมีแค่ 60 หยวนก็กินกันได้ 2 คนแล้ว แต่หลังจากประกาศแบนแล้วต้องมีเงินเป็นร้อยถึงจะพอกินกัน เพราะทางร้านอ้างว่าต้นทุนสูงขึ้น จึงขอเก็บเงินเพิ่มจากค่าน้ำซุปด้วยนั่นเอง   ไวไฟ กรุณาเข้าใกล้ รู้ไว้ให้อิจฉาเขาเล่น ในประเทศฟินแลนด์ เอสโตเนีย  ฝรั่งเศส สเปน และกรีซนั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตนั้นถือเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานกันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟินแลนด์ ที่การันตีว่าประชาชนของเขาทุกคนจะต้องสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วอย่างต่ำ 1 Mbps ด้วย มาเลเซีย เพื่อนบ้านเราก็กำลังตอบรับเทรนด์ดังกล่าวเช่นกัน ตั้งแต่เมษายนนี้เป็นต้นไป รัฐบาลมาเลเซียเขามีวิธีเพิ่มการเข้าถึงสัญญาณไวไฟ WiFi แบบไม่ต้องเสียเงินด้วยการออกกฎให้บรรดา ผับ ร้านอาหารที่มีเนื้อที่เกิน 120 ตารางเมตร ทั้งหมดในกรุงกัวลาลัมเปอร์ จัดบริการไวไฟฟรีแก่ลูกค้า ส่วนศูนย์อาหารในพื้นที่สาธารณะ นั้นรัฐบาลรับเป็นคนจัดหาให้เอง ก่อนหน้านี้เขาก็มี hotspots ไว้ให้ประชาชนได้ใช้ 1,500 จุด แต่กำลังจะหมดสัญญาในไม่ช้า(อันนี้ไม่อยากจะโม้ว่าที่กรุงเทพฯ ของเรานั้นเขามีถึง 20,000 จุดเชียวนะ) ส่วนที่ญี่ปุ่นนั้นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขายเครื่องดื่มผ่านตู้ขายของ เขาออกมาประกาศว่าในปี 2012 นี้ ตู้ขายน้ำอัตโนมัติของเขา จำนวน 1,000 ตู้ จะปล่อยสัญญาณไวไฟในรัศมี 50 เมตร รอบๆ ตู้ ให้ได้ใช้กันฟรี รอบละ 30 นาที จะเข้านานเท่าไรก็ได้เพียงแต่ต้องกดต่อสัญญาณทุกๆ 30 นาทีนั่นเอง   มีจอดต้องมีดับเมื่อมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่ในฮ่องกงมาจากรถยนต์ ทางการเขาก็เลยออกกฎหมายห้ามการจอดรถแบบติดเครื่องค้างไว้เสียเลย ต่อไปนี้ถ้าใครจอดรถโดยไม่ยอมดับเครื่อง(เพราะว่ากำลังรอใคร หรือแอบนอนกลางวัน ก็แล้วแต่) จะต้องโดนปรับเป็นเงิน 320 เหรียญฮ่องกง(ประมาณ 1,300 บาท) แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เขาให้จอดได้ 3 นาที ทุกๆ 1 ชั่วโมง(แต่สงสัยอยู่ว่าใครจะมาคอยจับเวลานะนี่) และเขาอนุโลมให้รถแท็กซี่ที่อยู่ในคิวพร้อมรับผู้โดยสาร และรถมินิบัสที่อยู่ใน 2 คิวแรก สามารถติดเครื่องรอไว้ได้ เขามีตัวเลขอ้างอิงว่าการจอดรถติดเครื่องวันละ 10 นาที จะทำให้สูญเสียน้ำมันไปเปล่าๆ ปีละ 100 ลิตร และสำคัญการกระทำดังกล่าวมันทำให้เครื่องยนต์สึกหรอเร็วกว่าที่ควร แถมยังต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเร็วขึ้นอีก ฮ่องกงเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นที่สุดในโลก ปัจจุบันมีรถวิ่งไปมาอยู่ 567,705 คัน บนถนนระยะทางประมาณ 2,000 กิโลเมตร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 กระแสต่างแดน

  โนซอง ... โนเซอร์วิสเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โรงพยาบาลใหญ่ๆ 5 แห่ง ในเวียดนามออกประกาศห้ามเจ้าหน้าที่ “รับซอง” จากคนไข้ เพราะการกระทำดังกล่าวชักจะกลายเป็นเรื่องปกติขึ้นทุกวัน หน่วยงานหนึ่งของกระทรวงสุขภาพเวียดนาม ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ไว้ เขาบอกว่า ภายใน 1 ปี เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐ จะกลายเป็นโรค “ติดซอง” เรื่องนี้พูดไปก็เหมือนปัญหาไก่กับไข่ไม่รู้อะไรมันเริ่มก่อนกัน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าคนไข้ต้องหยุด “เสนอซอง” ให้พวกตนได้แล้ว ส่วนคนไข้ก็แย้งว่าถ้าไม่เตรียมซองมาให้เจ้าหน้าที่ ก็มีหวังได้รับบริการแบบแย่ๆ แน่นอน รองผู้อำนวยการของโรงพยาบาลเค ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 โรงพยาบาลที่ว่า บอกว่าคนเวียดนามมีนิสัยอยู่อย่างหนึ่ง คือต้องการจะเป็นคนแรกเสมอ เวลามาโรงพยาบาลก็อยากจะได้รับการตรวจก่อนใคร และนั่นเป็นที่มาของวัฒนธรรมให้ซอง ในขณะที่หน่วยงานเจ้าภาพการสำรวจครั้งนี้บอกว่า ปัญหามันอยู่ที่ “3 ไม่” ของบริการสาธารณสุขในเวียดนาม อันได้แก่ ไม่โปร่งใส ไม่ยุติธรรม และไม่มีประสิทธิภาพ (นี่ยังไม่ได้นับว่าเงินเดือนสำหรับหมอและพยาบาล ไม่ค่อยจะพอยังชีพอีกด้วย) จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ป่วยที่มีต่อบริการสาธารณสุข เขาพบว่า ร้อยละ 45 ของผู้มารับบริการ รู้สึกไม่พอใจกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ และหงุดหงิดกับขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ที่พวกเขาต้องเจอในโรงพยาบาลของรัฐ ว่าแล้วก็เสนอทางออกว่าเวียดนามควรจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และแยกระบบสาธารณสุขออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนที่รับผิดชอบโดยรัฐบาล ทำหน้าที่หลักคือป้องกันโรค ส่วนที่รับผิดชอบโดยเอกชนซึ่งมีหน้าที่ในการรักษา และมูลนิธิที่คอยช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส สำนักข่าวเวียดนามเน็ทก็เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ความกลัวของคนไปโรงพยาบาล” เช่นกัน เขาพบว่าสิ่งที่คนเวียดนามกลัวเป็นอันดับแรก คือการถูกเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลดุว่า ตามด้วยความกังวลว่าจะไม่ได้รับความเอาใจใส่จากแพทย์ อันดับต่อมาคือกลัวต้องรอนาน และท้ายสุดคือกลัวจะไป “ทำเปิ่น” ที่โรงพยาบาล ป่วยได้ แต่ไม่อยากเปิ่นน่ะ เข้าใจมั้ย   จอดได้อีกเนื่องจากเวียดนามกำลังมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ทุกวันนี้มีรถราออกมาวิ่งกันมากขึ้น แต่พื้นที่จอดรถมันไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงทำให้เกิดปัญหาการจราจรตามมา ปัจจุบันฮานอยมีรถยนต์ 372,000 คัน มอเตอร์ไซค์อีก 3,800 ล้านคัน ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา มีผู้จอดรถผิดกฎหมายกว่า 4,000 ราย โดนยึดรถไป 200 ราย ที่เหลืออีก 3,800 รายโดนยึดใบขับขี่ ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงเวลาดังกล่าวมีเหตุการณ์รถติดมโหฬารอย่างน้อย 25 ครั้ง ซึ่งสาเหตุล้วนมาจากการจอดรถผิดที่ผิดทางทั้งสิ้น ในแต่ละปี จำนวน “รถส่วนตัว” ในเวียดนามเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 – 15 ในขณะที่ข้อหาจอดรถผิดกฎหมาย (ที่มีค่าปรับครั้งละประมาณ 1,000 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และกว่าร้อยละ 70 ของรถที่ทำผิดกฎจราจร คือรถที่จอดบนทางเท้านั่นเอง กรมการขนส่งของเวียดนามบอกว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา บรรดาสำนักงานเขตต่างๆ ในฮานอยต้องบริหารจัดการเพิ่มที่จอดรถ ด้วยการอนุญาตให้มีการใช้พื้นที่ทางเท้าในการจอดรถได้ แต่ทำไปทำมาตอนนี้ “พื้นที่จอดรถ” มันเพิ่มมากขึ้นจนเป็นปัญหากับคนเดินเท้าเสียแล้ว ต่อไปนี้เขตจะไม่ออกใบอนุญาตให้มีการใช้พื้นที่ทางเท้าเป็นที่จอดรถอีกต่อไป แต่ที่เคยได้ใบอนุญาต ไปแล้ว เขาก็บังคับให้เหลือเนื้อที่อย่างน้อย 1.5 เมตร เอาไว้ให้คนเดินด้วย ที่เวียดนามเขารู้กันหรือยัง ว่าถ้าหมดที่จอดบนถนนก็ขึ้นไปจอดบนสะพาน บนทางด่วนกันบ้างก็ได้   ขาดทุนแต่ได้ใจนอกจากจะมีโอกาสซื้อรถยนต์ และคอมพิวเตอร์มือถือที่ราคาถูกที่สุดในโลกแล้ว ผู้บริโภคชาวอินเดียยังจะได้ซื้อรองเท้าผ้าใบรีบอคในราคาที่ถูกที่สุดในโลกอีกด้วย บริษัทอาดิดาส ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของรีบอค ประกาศว่าจะทำร้องเท้าผ้าใบยี่ห้อดังกล่าวออกมาขายในราคาคู่ละ 1 เหรียญ (ประมาณ 30 บาท) เท่านั้น จากที่ขายกันอยู่ประมาณคู่ละ 1,500 – 3,000 บาท เรื่องนี้ต้องเล่าย้อนไป 3 ปีก่อน เมื่อศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ชื่อดังคนหนึ่งของบังคลาเทศได้เสนอแนวคิดรองเท้าเอื้ออาทรนี้กับซีอีโอของอาดิดาส ว่าน่าจะลองทำรองเท้าราคาถูกออกมาให้คนบังคลาเทศได้สวมใส่กันบ้าง ถามว่าทำอย่างไรให้ถูก ก็ตอบว่าทำได้ด้วยการผลิตเป็นจำนวนมากๆ โดยใช้วัสดุและแรงงานในท้องถิ่น และที่สำคัญที่สุดคือต้องทำใจ เปลี่ยนเป้าหมายจากการทำธุรกิจเพื่อผลกำไร มาเป็นการสร้างธุรกิจเพื่อสังคม พูดง่ายๆ คืออาจจะต้องยอมขาดทุนกันบ้าง อย่างที่บังคลาเทศเขาก็ต้องยอมขายขาดทุนกันไปคู่ละประมาณ 150 บาท (ต้นทุน 195 บาท ขาย 45 บาท) แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้คนมีงานทำ มีรายได้ และมีคนอีก 5,000 คน ที่ไม่ต้องเดินเท้าเปล่าอีกต่อไป (ข่าวเขาบอกว่า ทำยอดได้ 5,000 คู่) แต่ผู้บริหารรีบอคมั่นใจว่าปัจจัยการผลิตที่อินเดียน่าจะทำให้รองเท้าดังกล่าวมีราคาถูกลงได้อีก บริษัทบอกว่าสิ่งที่ได้กลับมาจากการขายถูกคือการที่แบรนด์ของตนเป็นที่รู้จักในท้องถิ่นมากขึ้น เพราะดูเหมือนวิธีนี้จะเป็นการตลาดที่ได้ผลที่สุดแล้วสำหรับลูกค้ากลุ่มที่ไม่แคร์แม้แต่จะใส่รองเท้าแตะ คุณผู้อ่านคงจะสงสัยว่าจะไปหาซื้อแถวไหน ก็ต้องบอกว่าเขาทำขายเฉพาะในชนบทของอินเดีย และเขาจะส่งขายผ่านเครือข่ายชุมชนเท่านั้น ไม่มีในห้างร้านทั่วไปนะจ๊ะ ... อินิ เสียใจด้วย นะจ๊ะนายจ๋า   ซื้อขายแบบไร้กระดาษเชื่อมั่นว่าผู้บริโภคที่ดีอย่างเราจะต้องเก็บใบเสร็จรับเงินไว้เสมอ และเชื่อมั่นในโชคชะตาที่ชอบเล่นตลกกับเราเช่นกัน ที่ทำให้เราหาของที่เก็บไว้ไม่เจอในเวลาที่ต้องการใช้จริงๆ คาดว่าที่อังกฤษเขาก็มีปัญหาคล้ายๆ กัน จึงเกิดความคิดที่จะใช้ใบเสร็จแบบดิจิตัลกันขึ้นมา (แบบเดียวกับที่ร้าน Apple ใช้อยู่) เรียกว่าซื้อของเสร็จแล้วคุณจะได้รับใบเสร็จรับรองการซื้อขายทางเมล์อิเลคทรอนิกส์นั่นแหละ เพียงแต่เขาจะไม่ได้ส่งไปที่บัญชีจดหมายส่วนตัวของเรา ไม่เช่นนั้นจะเปลี่ยนจากใบเสร็จเต็มกระเป๋ามาเต็มกล่องจดหมายออนไลน์ของเราจนได้ บริษัท Paperless Receipts ที่ใช้เทคโนโลยีของค่ายไอบีเอ็มเขาจะส่งใบเสร็จไปฝากไว้ที่เว็บตู้ไปรษณีย์ ที่ลูกค้าต้องการเปิดดูเมื่อไรก็เรียกดูได้ทันที ตอนนี้บรรดาห้างค้าปลีกที่อังกฤษกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของระบบที่ว่านี้อยู่ ภายใน 5 ปี ประมาณร้อยละ 70 ของห้างค้าปลีกที่นั่นจะใช้ระบบที่ว่านี้ ก็น่าจะสะดวกดี สำหรับผู้บริโภคที่มีหนทางเข้าถึงอินเตอร์เน็ทได้ แต่สงสัยว่าเขาจะยังมีระบบไว้สำหรับบรรดาผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้หรือเปล่าน่ะซิ   ปลอดภัยแต่ไม่ส่วนตัว?นานจิง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัดเจียงซู ประเทศจีน เขาออกกฎให้รถแท็กซี่ทุกคันติดตั้งกล้องวงจรปิด และอุปกรณ์บันทึกเสียง เพื่อความปลอดภัยของทั้งคนขับและผู้โดยสาร เครื่องบันทึกเสียงนั้นจะทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนกล้องวิดีโอนั้นจะเริ่มบันทึกภาพเมื่อคนขับกดปุ่ม “ฉุกเฉิน” โดยภาพที่บันทึกไว้ด้วยความเร็ว 8 ภาพต่อนาทีจะถูกส่งตรงไปยังศูนย์ควบคุม ที่สำนักงานตำรวจ และกรมขนส่ง นั่นเอง มาตรการนี้ก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบเป็นธรรมดา คนที่ชื่นชมก็บอกว่ามันน่าจะทำให้ประสบการณ์การนั่งรถแท็กซี่รื่นรมย์ขึ้นไม่น้อย เพราะคนขับจะต้องพูดจาและให้บริการดีขึ้นเมื่อรู้ว่าสิ่งที่ตนเองพูดออกมาจะถูกบันทึกไว้ อีกฝ่ายยังข้องใจอยู่ว่ามันจะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคหรือไม่ เพราะอุตส่าห์กระโดดขึ้นแท็กซี่ทั้งทีก็ต้องการจะคุยกันส่วนตัวบ้าง ไรบ้าง เกรงว่าจะเผลอพูดอะไรแล้วโดนบันทึกลงไปด้วย สาวๆ บางคนยังวิตกว่าถ้าโชคร้ายบังเอิญกระโปรงเปิดในขณะที่กล้องบันทึกภาพอยู่จะทำยังไง ทางการเขาให้การรับรองว่าภาพและเสียงที่ว่านี่จะรับชมรับฟังกันในหมู่คนกันเอง เอ๊ย.. ในหมู่ผู้มีอำนาจหน้าที่ซึ่งก็จะต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการเวลาที่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเท่านั้น รับรองว่าไม่มีรั่วไหลเด็ดขาด นานจิงมีแท็กซี่ทั้งหมด 9,000 คัน ติดตั้งระบบที่ว่านี้ไปแล้วกว่า 6,000 คัน ผลจะเป็นอย่างไรต้องรอติดตามกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >