ฉบับที่ 273 สถานการณ์ผู้บริโภคประจำปี 2566

        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคปี 2566 ได้รับเรื่องร้องเรียนและให้คำปรึกษาตั้งแต่เดือน มกราคม-พฤศจิกายน 2566 ดำเนินการสำเร็จ 1,277 เรื่อง จากเคสร้องเรียนทั้งหมด 1,614 เรื่อง โดยแบ่งปัญหาของผู้บริโภค 9 เรื่องเด่นใน 4 หมวด ได้แก่ สินค้าและบริการทั่วไป, บริการขนส่งและยานพาหนะ, อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย, การเงินการธนาคารและประกัน เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ หมวดสินค้าและบริการทั่วไป มีมากถึง 630 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 จากทุกข์ของผู้บริโภคทั้งหมดที่ร้องเรียนเข้ามา     9 เรื่องเด่น ประจำปี 2566    เรื่องที่ 1        ·     หมวดบริการขนส่งและยานพาหนะ        M-Flow ตามที่มีนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วนและมอเตอร์เวย์ โดยการใช้เทคโนโลยี AI พัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางด้วยกล้องตรวจบันทึกภาพป้ายทะเบียนรถ ผ่านระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) บนเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ของกรมทางหลวง  ได้แก่ ด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 ด่านธัญบุรี 2 นั้น          มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ใช้บริการ และประสบปัญหาเรื่องการถูกเรียกเก็บค่าปรับทางด่วน  โดยมีเรื่องร้องเรียนดังนี้         1. อัตราค่าปรับแพง ระบบ M-Flow กำหนดให้ผู้ใช้บริการชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันใช้บริการ หากไม่ชำระภายในระยะเวลาดังกล่าวจะถูกปรับ 10 เท่าของค่าธรรมเนียม โดยให้ผู้ใช้บริการดำเนินการชำระเงิน หากไม่เห็นด้วยให้เข้ามาชี้แจงต่อกรมทางหลวงภายในระยะเวลาที่กำหนด (ให้ระยะเวลาเข้าไปชี้แจงประมาณ 8 วัน) หากไม่ดำเนินการชี้แจงจะถูกปรับจากการไม่มาชี้แจงตามกำหนดเวลา (200 บาทต่อกรณี) ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าอัตราค่าปรับไม่เหมาะสมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ เนื่องจากผู้ใช้บริการไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง         2. ไม่ทราบว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ใช้ระบบ M-Flow ผู้ใช้บริการบางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด ทำให้ไม่ทราบว่า หากใช้เส้นทางของระบบ M-Flow แล้วต้องชำระค่าบริการหรือไม่ หรือต้องชำระค่าบริการอย่างไร หรือบางรายอาจถูกรถเบียดเปลี่ยนเส้นทางไม่ได้ จนหลุดเข้าไปใช้เส้นทางดังกล่าวโดยไม่ตั้งใจ แล้วไม่ทราบว่าต้องดำเนินการชำระเงินอย่างไร ซึ่งกว่าจะได้รับหนังสือแจ้งเตือน ก็เลยกำหนดระยะเวลาที่ต้องชำระไปแล้ว         3.ป้ายแสดงไม่ชัดเจน จำนวนป้ายแสดงน้อย และมีขนาดเล็ก หากไม่สังเกต หรือไม่คุ้นเส้นทางก็จะไม่ทราบว่าเส้นทางข้างหน้าเป็นเส้นทาง M-Flow         4.ไม่รู้ยอดอัตราค่าบริการ และช่องทางการชำระ ไม่มีการประชาสัมพันธ์ช่องทางการชำระเงินให้ผู้ใช้บริการรับทราบ ซึ่งผู้ใช้บริการบางรายไม่ทราบด้วยว่าได้ใช้งานผ่านเส้นทาง M-Flow แล้ว         5.หนังสือแจ้งให้ชำระค่าบริการมาถึงช้า ทำให้เกินกำหนดชำระต้องเสียค่าปรับ ผู้ใช้บริการบางรายแจ้งว่า หนังสือแจ้งให้ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ส่งมาถึงก่อนวันถึงกำหนดเพียง 1 วัน โดยไม่ได้ระบุช่องทางการชำระเงินมาในหนังสือ แต่ระบุเพียงว่า “ท่านสามารถชำระผ่านเว็บไซต์ระบบ M-Flow  (www.mflowthai.com)” หรือบางรายได้รับหนังสือหลังจากเกินกำหนดชำระแล้ว ทำให้ต้องเสียค่าปรับจำนวน 10 เท่า         6.ระบบโต้แย้งค่าผ่านทาง ไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ ระบบ M-Flow ได้จัดให้มีการส่งเหตุผลการโต้แย้งค่าผ่านทางได้ ผ่านเว็บไซต์ https://mflowthai.com/mflow/dispute และเหตุผลในการโต้แย้งค่าผ่านทาง ไม่ครอบคลุมปัญหาที่ผู้ใช้บริการได้รับจริง โดยในเว็บไซต์จะมีเหตุผลการโต้แย้งให้เลือกได้ดังนี้         (1) มีหนังสือยกเว้นภายหลังผ่านทาง         (2) ชำระเงินแล้วมีหนังสือแจ้งเตือน/ขอคืนเงิน/ขอคืนแต้ม         (3) ไม่ได้ผ่านทาง         (4) ข้อมูลซื้อขายรถไม่ตรงกับกรมขนส่งทางบก         (5) ซื้อขายรถแบบโอนลอย         (6) รถสวมทะเบียน         (7) รถหาย/รถโดนขโมย         (8) การผ่านทางซ้ำ (การสร้างรายการผ่านทางซ้ำ)         (9) ขนาดรถไม่ถูกต้อง         (10) เคลื่อนย้ายรถส่งซ่อมการดำเนินการ         1. ทำหนังสือขอให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการใช้งานระบบ M-FLOW พร้อมแนบรายชื่อผู้เสียหาย (มพบที่.119/2565)                                                                      2.ทำหนังสือ/ข้อเสนอ ขอให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการใช้งานระบบ M-FLOW (มพบที่ 272/2566)    เรื่องที่ 2        ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        งานวิ่ง Ultra Trail Unseen Koh Chang 2023 ถูกยกเลิก แต่บริษัท ทีละก้าว จำกัด ไม่คืนเงินซึ่งจะจัดในวันที่ 21-22 ม.ค. 66 จัดที่โรงเรียนสลักเพชร เกาะช้างใต้ จ.ตราด โดยสมัครทางช่องทาง Google Form 2023 ผู้เสียหายได้ชำระค่าสมัครเรียบร้อย ต่อมาวันที่ 20 ม.ค.2566 เพจ Ultra-Tail Unseen Koh Chang ประกาศแจ้งยกเลิกงานดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหาย ผู้ร้องจึงประสงค์ให้บริษัทคืนเงินค่าสมัคร โดยได้แจ้งขอคืนเงินไปยังบริษัทฯแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการคืนเงินแต่อย่างใด        การดำเนินการ         1. บริษัท ทีละก้าว จำกัด จัดการแข่งขันวิ่งเทรลเกาะช้าง จังหวัดตราด ในวันที่ 21-22 มกราคม 2566 และได้มีการประกาศยกเลิกฉุกเฉิน ผ่านเพจ ""Ultra-Trail Unseen Koh Chang"" ที่เป็นของผู้จัดงาน ประกาศเพียง 1 วัน และแจ้งเพียงช่องทางเดียว         2. 3 มิถุนายน 2566 เนื่องจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทราบปัญหาการยกเลิกงานวิ่งดังกล่าวจึงได้ตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก Ultra-Trail Unseen Koh Chang ของ ผู้จัดงานวิ่ง พบว่าโพสต์ล่าสุด 18 เมษายน 2566 ได้โพสต์แจ้งการคืนเงินเฉพาะค่าสมัครวิ่งให้กับผู้เสียหายตามกำหนดรอบเรียงตามคิวที่ยื่นเรื่อง แต่จนถึงต้นเดือนมิถุนายน ยังมีผู้เสียหายจำนวนมาก ที่ยื่นเรื่องตามคิวแรกแจ้งว่า ยังไม่ได้รับเงินคืน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงประกาศให้ผู้เสียหายงานวิ่งเทรลเกาะช้าง ส่งหลักฐานเพื่อนำสู่การไกล่เกลี่ยกับผู้จัดให้เร่งจ่ายเงินคืน พร้อมส่งหลักฐานประกอบการร้องเรียน กรณี Ultra Trail Unseen Koh Chang 2023 (งาน UTKC 2023) (21-22 มกราคม 2566) ดังนี้            (1) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน            (2) หลักฐานการสมัครวิ่ง, หมายเลขประจำตัวนักวิ่ง             (3) หลักฐานการโอนเงิน            (4) หลักฐานการจองที่พัก หรือค่าเสียหายอื่นๆ         มีผู้ร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจำนวน 18 ราย         3. 13 กรกฎาคม 2566 เชิญบริษัทฯมาไกล่เกลี่ย ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ซึ่งดำเนินการไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 จากการไกล่เกลี่ย ผู้ร้องและบริษัทฯได้ทำบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาท ดังนี้             (1)  บริษัทฯจะดำเนินการตรวจสอบรายชื่อนักวิ่งที่ตกหล่นและอัพเดตรายชื่อนักวิ่งให้สามารถตรวจสอบได้ พร้อมระบุลำดับการคืนเงินผ่านเพจ ""Ultra-Trail Unseen Koh Chang"" และบริษัทฯจะดำเนินการตอบข้อความผู้ร้องและเคลื่อนไหวข้อมูลทางเพจ ภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2566             (2)  บริษัทฯจะดำเนินการประสานนักวิ่งเพื่อขอข้อมูลที่พัก รวบรวมเพื่อประสานสภาอุตสาหกรรม ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามที่ประสานไว้             (3)  บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินแก่นักวิ่งตามรอบที่ลงทะเบียนเดิม โดยจะเริ่มคืนรอบที่ 2 ภายใน 2 เดือนนับแต่วันที่มาไกล่เกลี่ย ผู้ร้องตกลงรับข้อเสนอที่บริษัทฯแจ้ง             (4)  13 กันยายน 2566 ผู้เสียหายรอบการคืนเงิน 16 กรกฎาคม – 16 สิงหาคม 2566 แจ้งมายังมูลนิธิฯว่ายังไม่ได้รับการคืนเงินจากบริษัทฯตามที่ได้ทำบันทึกไว้ จึงประสานไปยังบริษัทฯแจ้งว่าจะดำเนินการตรวจสอบและคืนเงินแก่ผู้ร้องภายในวันที่ 22 กันยายน 2566 เมื่อครบกำหนดผู้ร้องกลับไม่ได้รับเงินคืนตามสัญญา และตรวจสอบจากผู้ร้องพบว่ายังไม่มีผู้ร้องคนใดได้รับการคืนเงิน            (5)  12 ตุลาคม 2566 ติดต่อบริษัทฯสอบถามความคืบหน้าการคืนเงิน บริษัทฯขอให้ส่งรายชื่อผู้เสียหายอีกครั้ง มูลนิธิฯจึงส่งอีเมล์พร้อมแนบรายชื่อผู้เสียหายอีกครั้ง            (6)  18 ตุลาคม 2566 บริษัทฯแจ้งว่าได้รับอีเมล์และรายชื่อผู้เสียหายแล้ว บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 แต่จนถึงปัจจุบันผู้เสียหายยังไม่ได้รับการการคืนเงินและไม่ได้รับการติดต่อกลับจากบริษัทฯ ทั้งนี้มูลนิธิฯไม่สามารถติดต่อบริษัทฯได้เช่นเดียวกัน ***  ซึ่งผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับผู้ประกอบการได้ โดยสามารถแจ้งความประสงค์ในการดำเนินคดีพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง มายังมูลนิธิฯเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีได้     เรื่องที่ 3        ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        การปรับผังเวทีคอนเสิร์ต Mark Tuan ‘the other side’ Asia Tour 2023 in Thailand บัตรราคา 6,500 บาท ในรอบการแสดงที่กรุงเทพ และ บัตรราคา 4,500 บาท ในรอบการแสดงที่ขอนแก่น  ทำให้ผู้ซื้อบัตรคอนเสิร์ตที่ไม่พอใจการจัดเวทีรูปแบบใหม่         การดำเนินการ         ดำเนินการเจรจาแทนผู้ร้อง โดยผู้จัดงาน บริษัท ไบร์ท แพนเทอร์ จำกัด ได้ติดต่อมาที่มูลนิธิฯ บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินแก่ผู้ร้องที่ประสงค์จะขอเงินคืน หากผู้ร้องจะขอเงินคืนสามารถแจ้งชื่อ-สกุล เบอร์ติดต่อ/อีเมล์ และให้มูลนิธิฯดำเนินการประสานไปยังบริษัทฯ แต่ทั้งนี้ในส่วนของการเปลี่ยนผังบริษัทฯแจ้งว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้     เรื่องที่ 4        ·     หมวดอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย            บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สร้างคอนโด 4 ปีไม่เสร็จตามสัญญา ไม่คืนเงิน โดยมีโครงการดังนี้             1.โครงการ RISE Phahon - Inthamara : ขณะนี้สร้างเสร็จถึงชั้น 2 แต่บอกว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธันวาคม 2564             2.โครงการ The Excel ลาซาล 17 : ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่บอกว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธันวาคม 2564             3.โครงการ The Excel Hideaway รัชดาห้วยขวาง : ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่บอกว่าสร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ : 31 ธันวาคม 2562            4.โครงการ The Excel Hideaway สุขุมวิท 50 : ผู้เสียหายแจ้งขอยกเลิกสัญญาตั้งแต่ก่อนก่อสร้างแล้วเสร็จ ( ซึ่งเดิมแจ้งว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์มีกำหนด กุมภาพันธ์ 2563)             5. โครงการ Impression เอกมัย สร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ : มิถุนายน 2563  โดยมูลนิธิฯดำเนินการช่วยยื่นฟ้องคดีที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี , และยื่นฟ้อง ที่ ศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี         การดำเนินการ         ดำเนินการช่วยเหลือผู้ร้องโดยการฟ้องคดี                               1. ฟ้องที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี                                              2.ยื่นฟ้อง ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี     เรื่องที่ 5     ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        Asia Society Fitness สาขารามคำแหง119 ปิดให้บริการ สมาชิกที่สมัครในสาขาดังกล่าวไม่สะดวกไม่สามารถไปใช้บริการในสาขาอื่น บริษัทฯไม่กำหนดแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา  ผู้บริโภคต้องการยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน บริษัทฯแจ้งว่าจะดำเนินการคืนเงินภายใน30 วัน เมื่อครบกำหนดบริษัทฯไม่คืนเงินและไม่สามารถติดต่อบริษัทฯได้         การดำเนินการ        ทำหนังสือขอให้คืนเงิน (มพบที่ 147/2566) แต่ไม่ได้รับการตอบกลับจากบริษัทฯ     เรื่องที่ 6    ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป          ถูกว่าจ้างให้ซื้อมือถือ  ปัจจุบันมือถือกับค่ายผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มีการทำโปรโมชั่นร่วมกัน ด้วยการจำหน่ายมือถือในราคาพิเศษ แต่แลกด้วยการทำสัญญาเปิดใช้บริการอย่างน้อย 1 ปี (ซิมรายเดือน) จุดนี้จะมีช่องให้มีคนหาผลประโยชน์เข้าตนเองได้ คือ การจ้างบุคคลทั่วไป ใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน เพียงแค่อายุ 18 ปีขึ้นไปและมีบัตรประชาชน ซื้อมือถือและเปิดใช้บริการแทนตน โดยแลกกับการจ่ายเป็นค่าจ้างให้ 300-500 บาท มองเผินๆ ก็น่าจะดีเพราะไม่ได้ทำอะไรมาก แค่ซื้อเครื่องให้และรับเงินค่าจ้างสบายๆ แต่อาจลืมมองไปว่าคนที่ลงลายมือชื่อทำสัญญาใช้บริการนั้นคือเจ้าของบัตรประชาชน” ดังนั้นในกรณีที่เกิดการค้างชำระค่าบริการ หรือโทรศัพท์ถูกนำไปใช้ก่ออาชญากรรม คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือคนที่ทำสัญญา     การดำเนินการ         ตามพระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ระบุว่า เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         รวมถึงผู้ที่เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ทั้งนี้หากบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้เปิดบัญชี ให้รีบดำเนินการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที และใช้เอกสารที่แจ้งความไปติดต่อขอยกเลิกสัญญากับผู้ให้บริการ     เรื่องที่ 7    ·     หมวดการเงินการธนาคาร/ประกัน         ทำประกันแบบสะสมทรัพย์ 20 ปีแต่ได้รับเงินปันผลไม่ครบตามสัญญา ผู้ร้องสมัครทำประกันแบบสะสมทรัพย์ 20 ปี ตรีคูณ  (มีเงินปันผล)  จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท เริ่มทำสัญญาวันที่ 8 สิงหาคม 2545 กรมธรรม์ครบสัญญาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ผู้ร้องแจ้งว่าก่อนทำสัญญาพนักงานขายแจ้งแก่ผู้ร้องว่าหากทำสัญญาครบ 20 ปี จะได้รับเงินปันผลจำนวน 500,000 บาท  ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาบริษัทฯแจ้งว่าจะจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ร้องจำนวน 70,000 บาท ผู้ร้องจึงทำเรื่องร้องเรียนโต้แย้งการจ่ายเงินปันผล บริษัทฯพิจารณาเสนอการจ่ายเงินเพิ่มเติมจากเดิมแก่ผู้ร้องเป็นจำนวน 180,000 บาท แต่ผู้ร้องไม่รับข้อเสนอเนื่องจากไม่เป็นตามสัญญาที่ระบุว่าผู้ร้องจะต้องได้รับเงินปันผลจำนวน 500,000 บาท  หลังจากรับเรื่องร้องเรียนมูลนิธิฯทำหนังสือเชิญบริษัทฯมาเจรจาแต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับใดๆจากทางบริษัทฯ จึงดำเนินการฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้ร้อง         การดำเนินการ         1.ทำหนังสือเชิญบริษัทฯมาไกล่เกลี่ย ( มพบ. 038/2566)บริษัทฯไม่มาไกล่เกลี่ย         2.ดำเนินการช่วยเหลือผู้ร้องโดยการฟ้องคดี          เรื่องที่ 8    ·     สินค้าและบริการทั่วไป         ร้องเรียนกรณีถูกบริษัท  มิเนอรัล บิวตี้ จำกัด  เสนอขายเครื่องสำอางค์ของ Aqua Mineral แพงเกินจริง         การดำเนินการ         เจรจาตามความประสงค์ที่ร้องเรียน     เรื่องที่ 9    ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป          ธุรกิจนำเที่ยว บริษัท อ้วนผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด หรือทัวร์ “อ้วน ผอม จอมเที่ยว” ยกเลิกทัวร์ ทำให้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก และเกิดความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท         การดำเนินการ         ประสานกรมการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยวแจ้งกรณีถูกบริษัท อ้วนผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด ยกเลิกทัวร์ให้ผู้เสียหายเตรียมเอกสารหลักฐาน 5 รายการ ดังนี้         1. รายการนำเที่ยวที่ซื้อ         2. ใบเสร็จรับเงิน         3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ชำระเงิน         4. หลักฐานการแจ้งยกเลิกการเดินทาง (ถ้ามี)         5. เอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อความการแชตพูดคุยต่างๆ         ส่งทางอีเมล tgtcenter@tourism.go.th หรือ เดินทางมาร้องเรียนได้ตนเอง ที่กรมการท่องเที่ยว (บริเวณโถงกลาง) ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ         หลังจากส่งเอกสารครบถ้วนนิติกรจะติดต่อกลับไปยังผู้ร้องทั้งนี้กรมจะดำเนินการเชิญบริษัทฯมาเจรจาหากบริษัทฯไม่มาเจรจาหรือเจรจาไม่ได้ กรมจะนำเงินกองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยวมาชดเชยแก่ผู้เสียหาย และจะดำเนินการส่งเรื่องให้สคบ.ดำเนินการฟ้องคดี         สามารถติดตามการแถลงข่าว สถานการณ์ผู้บริโภค ปี 2566 ได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค | มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแถลงผลงานปี2566 (ffcthailand.org)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ระวัง มิจฉาชีพหลอกเหยื่อให้โอนเงินเพื่อทำงานโปรโมตสินค้า

        ปัจจุบันการทำงานโปรโมตสินค้าในตลาดออนไลน์มีหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ Affiliate Marketing ซึ่งทำงานคล้ายเป็นนายหน้าและมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่น เมื่อแนะนำสินค้าหรือบริการบนสื่อออนไลน์ต่างๆ พร้อมแปะลิงก์ (URL) สินค้าหรือบริการไว้แล้วมีคนคลิกเข้าไปซื้อผ่านลิงก์นั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทที่ทำการตลาดในรูปแบบนี้จะเปิดให้สมัครฟรี ดังนั้นหากเจอบริษัทไหนเก็บเงินค่าสมัครหรืออ้างเหตุผลใดๆ ที่ให้คุณต้องโอนเงินไปให้ก่อน รีบเหยียบเบรกไว้เลย เพราะคุณอาจจะเจอโจรในคราบนักบุญที่ใช้วิธีหมุนเงินแบบแชร์ลูกโซ่มาหลอกเชิดเงินไปเนียนๆ เหมือนอย่างที่คุณเชอร์รี่เพิ่งเจอ        เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คุณเชอรี่สนใจหารายได้ทางออนไลน์ จึงไปสมัครเป็นตัวแทนช่วยโปรโมตสินค้าหรือบริการในรูปแบบ Affiliate กับ บริษัท เอฟฟิลิเอท ประเทศไทย ซึ่งมีเงื่อนไขว่าเธอจะต้องโอนเงินไปให้ตัวแทนบริษัทก่อนเพื่อซื้อสินค้า เมื่อทำงานแล้วเธอจะได้ค่าคอมมิชชั่นคืนพร้อมค่าสินค้าที่จ่ายไป ในตอนนั้นคุณเชอรี่ยอมทำตามข้อตกลงนี้โดยไม่ได้เอะใจอะไร เมื่อเธอโอนเงินไปครั้งแรกแล้ว หลังจากนั้นก็ได้เงินคืนมาพร้อมค่าคอมมิชชั่นจริงๆ ต่อมาเธอจึงไม่อิดออดเมื่อตัวแทนแจ้งให้เธอโอนเงินไปก่อนเหมือนเดิม เธอโอนเงินไปแล้ว 3 รอบ และได้ค่าคอมมิชชั่นพร้อมเงินคืนมาครบทุกรอบ         จนล่าสุด เมื่อตัวแทนบอกให้เธอโอนเงินเข้าบัญชีที่เป็นชื่อบุคคลหลายครั้ง จำนวนรวมแล้ว 50,000 กว่าบาท แต่รอบนี้เธอกลับไม่ได้รับเงินคืน เมื่อทวงถาม ทางตัวแทนอ้างว่าเธอจะต้องทำงานให้ครบตามที่กำหนดก่อนจึงจะโอนเงินให้ได้ ซึ่งเธอแย้งกลับไปว่าตอนสมัครไม่เห็นมีการแจ้งเงื่อนไขนี้ไว้เลยและขอเงินคืนทั้งหมด แต่ทวงแล้วทวงอีกก็ยังไม่ได้เงินคืน เธอเชื่อว่าคงโดนมิจฉาชีพหลอกซะแล้ว จึงโทรศัพท์มาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าต้องทำอย่างไรถึงจะได้เงินคืนมา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้คุณเชอรี่รีบโทร.แจ้งธนาคารเพื่ออายัดธุรกรรม(อายัดบัญชีปลายทาง)ทันที และเข้าไปลงทะเบียนและแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://thaipoliceonline.com/ ของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.) หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อกลับไปและแนะนำขั้นตอนต่างๆ ที่จะต้องทำต่อไป         ในกรณีนี้ หากคุณเชอรี่เอะใจเร็วกว่านี้ และแจ้งเรื่องไปยัง ศปอส.ภายในระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงหลังถูกหลอกถูกโกง ก็อาจทำให้มีโอกาสได้เงินคืนค่อนข้างมาก เพราะยิ่งปล่อยระยะเวลาให้นานออกไป การติดตามเส้นทางทางการเงินก็จะยากขึ้น ซึ่งทำให้โอกาสที่จะได้เงินคืนน้อยลง         อย่างไรก็ตาม การสมัครทำงานหารายได้ทางออนไลน์ในรูปแบบใดก็ตาม ควรเลือกบริษัทที่มีประวัติน่าเชื่อถือ ศึกษาข้อมูล วิธีการทำงาน และเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนอย่างรอบคอบทุกครั้ง หลีกเลี่ยงงานที่ต้องให้โอนเงินไปก่อน จะได้ไม่เสี่ยงเจอมิจาฉาชีพมาหลอกแล้วเชิดเงินหนีเข้ากลีบเมฆไป     

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 รู้ก่อนตัดสินใจ “สักคิ้ว”

        “การสักคิ้ว” เป็นที่นิยมอย่างมากในวงการความสวยความงามของไทย ก็อย่างว่าคิ้วคือมงกุฎของหน้า สาเหตุที่คนนิยมกัน ก็เนื่องจากต้องการแก้ปัญหาบริเวณส่วนคิ้ว เช่น บางคนต้องการสักคิ้วเพื่อแก้ปัญหาคิ้วบางจนเกินไป ไม่มีความมั่นใจหรือบางคนแค่ต้องการเปลี่ยนทรงคิ้วให้ดูสวยขึ้น เป๊ะปังอยู่ตลอดเวลานั้นเอง การสักคิ้วสมัยนี้ก็มีอยู่หลายรูปแบบ ทั้ง 3 มิติ 6 มิติ แบบการฝังสีคิ้วสไตล์เกาหลี เพิ่มโหงวเฮ้งของใบหน้าก็มีหาได้ทั่วไป          อย่างไรก็ตาม หากต้องการสักคิ้วจริงๆ อยากให้ผู้บริโภคศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจสักหน่อย เพราะหากสักพลาดไปแล้วแน่นอนแก้ยากกว่าที่คิด หลายคนคงจะเห็นได้จากข่าวที่มีคนพลาดไปสักคิ้วแล้วได้คิ้วทรงแปลกๆ ให้เห็นกันอยู่บ่อย ฉลาดซื้อ จึงอยากแนะนำ ดังนี้          1. ตรวจสอบร้านสักคิ้วที่เราต้องการใช้บริการ ช่างมีใบรับรองวิชาชีพหรือไม่ ก่อนลงมือสักมีการใส่ถุงมือ หน้ากากอนามัย         2. สถานที่ใช้บริการต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ (ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ) ซึ่งใบประกอบดังกล่าวจะมีอายุ 1 ปี นอกจากนี้ ภายในร้านต้องสะอาด ถูกอนามัย อยู่ในพื้นที่เปิดเผยเป็นหลักแหล่ง อุปกรณ์ที่ใช้ไม่ควรใช้ซ้ำ         3. อ่านรีวิวก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง เพื่อศึกษาความน่าเชื่อถือของร้าน และให้แน่ใจว่าการใช้บริการจะปลอดภัย ตรงนี้แนะนำให้เช็กดีๆ         4. สำหรับคนที่แพ้ยาชาไม่ควรสักคิ้ว เนื่องจากการสักคิ้วก่อนลงเข็มจะต้องมีการลงยาชาเพื่อลดอาการเจ็บก่อน         5. ก่อนลงมือสักคิ้ว ควรแจ้งรายละเอียดทรงคิ้วที่อยากได้ให้ชัดเจน ให้ช่างร่างทรงคิ้วให้ดูก่อนยิ่งดีอย่าตามใจช่างเพราะอาจได้ทรงคิ้วที่ไม่ถูกใจ เมื่อสักไปแล้วการแก้ไขภายหลังก็ยากมากขึ้น         6. สำหรับคนที่ชอบเปลี่ยนทรงคิ้วตามกระแสบ่อยๆ อาจจะไม่ตอบโจทย์     ความเสี่ยงในการสักคิ้ว         -  ไม่ได้ทรงคิ้วตามที่ต้องการอาจจะหนาเกินไป เหมือนที่คนทั่วไปเรียกว่า “คิ้วปลิง” นั้นเอง         -  การแก้ไขในภายหลังกรณีที่ทำการสักคิ้วไปแล้ว เช่น การสักคิ้วแบบถาวร ซึ่งอาจจะต้องแก้ด้วยการเลเซอร์ลบรอยสักเท่านั้น มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องทำอีกหลายครั้งจนกว่าสีจะจางเป็นปกติ แถมยังอาจมีแผลเป็นตามมาอีกด้วย         -  การเลือกร้านสักที่ไม่ถูกสุขอนามัย ไม่มีมาตรฐาน ทำให้อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากอุปกรณ์ที่ไม่สะอาด         -  มีอาการแพ้สีที่ใช้สัก หรือยาชาโดยที่เราไม่ทราบมาก่อน ทำให้เกิดการอักเสบ คัน หรืออื่นๆ แนะนำว่าอย่าปล่อยทิ้งไว้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที         -  ค่าใช้จ่ายในการสักคิ้ว ราคาสูงไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิดความผิดพลาด                    นอกจากนี้  การสักคิ้วไม่ได้มีแต่ข้อเสีย ข้อดีก็มี เช่น ช่วยเสริมโหวงเฮ้ง ลดเวลาการเขียนคิ้วแต่งหน้า แก้ปัญหาสำหรับสาวคิ้วบางได้ตามที่กล่าวไปข้างบน แต่สำหรับใครที่ขี้เบื่อหรือชอบเปลี่ยนทรงคิ้ว แต่ยังอยากสักคิ้วจริงๆ  อาจเลือกการสักคิ้วแบบฝังสีฝุ่น ซึ่งเป็นการฝั่งสีคิ้วไปบริเวณบนหนังกำพร้า อยู่ได้ 3-6 เดือนหรือมากกว่านั้นและจะเริ่มจางหายไปเองตามธรรมชาติ เหมาะกับคนที่ต้องการเปลี่ยนทรงคิ้วอยู่เรื่อย แต่อาจจะเหมาะสำหรับคนที่ชอบคิ้วสไตล์เกาหลีเท่านั้น          ทั้งนี้ “สำหรับคนที่ได้ไปสักคิ้วมาแล้ว ก็อยากให้ดูแลโดยการหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนน้ำ ทำตามคำแนะนำของช่าง เพื่อลดโอกาสเกิดการติดเชื้อและอักเสบด้วยนะคะ”           ข้อมูลจาก : สักคิ้ว ศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ - พบแพทย์ (pobpad.com)สักคิ้ว ข้อควรรู้ ขั้นตอน และแนวทางการดูแลตัวเองหลังสัก - พบแพทย์ (pobpad.com)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ทำหน้ากระชับ แต่กลับได้หน้าเบี้ยว

        Ulthera (อัลเทอร่า) หรือ Ultherapy คือ เทคโนโลยียกกระชับแบบ Original มีหลักการทำงานโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง และมีความเฉพาะเจาะจง (Focused Ultrasound) ยิงลงไปใต้ชั้นผิวเพื่อให้ผิวเกิดการยกกระชับขึ้น         นี่คือคำโฆษณา ที่สถานเสริมความงาม คลินิกต่างๆ ให้คำจำกัดความนวัตกรรมอัลเทอร่าไว้ แต่เรื่องราวของคุณจอย ผู้ที่ได้รับบริการอัลเทอร่ากับคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่งกลับเป็นตรงกันข้าม เพราะไม่ได้หน้ากระชับแต่กลับได้หน้าเบี้ยว เธอจึงเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         คุณจอยได้เข้ารับบริการกระชับหน้าด้วยการทำอัลเทอร่าที่ โนรา คลินิก (นามสมมุต) เมื่อปี 2565 แต่ใบหน้าที่ต้องการให้กระชับนั้น กลับกลายเป็นว่าทำให้มีปัญหาหน้าเบี้ยวหลังการทำอัลเทอร่า คุณจอยจึงกลับมาหาแพทย์ที่คลินิกอีกครั้งเพื่อให้ช่วยรักษาอาการผิดปกติ แต่แพทย์ของทางคลินิกปฏิเสธการรักษาเพื่อแก้ไขอาการเพียงแนะนำให้คุณจอยไปซื้อยารักษาอาการเอาเอง โดยคลินิกจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ คุณจอยจึงต้องไปหาแพทย์เพื่อรักษาอาการผิดปกติที่โรงพยาบาลอื่น         ระหว่างการรักษาอาการหน้าเบี้ยวคุณจอยจึงได้รู้เพิ่มเติมว่า คลินิกดังกล่าวไม่ได้ใช้แพทย์ที่เชี่ยวชาญอัลเทอร่า ( Ulthera ) โดยเฉพาะเป็นเพียงแพทย์ผิวหนังทั่วไปเท่านั้น จึงได้รับการบริการและการดูแลที่ไม่ดีและยังต้องหาทางรักษาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นตามมาภายหลัง คุณจอยเสียเงินรักษาอาการไปแล้วกว่า 32,500 บาท (ก่อนร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ) แต่ทางคลินิกจ่ายเพียงแค่ 7,664 บาท ยังคงเหลือจำนวนที่ทางคลินิกต้องชดใช้คืนให้แก่คุณจอยอีกจำนวน 24,836 บาท ซึ่งคุณจอยยังไม่ได้รับเงินคืนจากคลินิกอีกเลย ทั้งที่คลินิกแจ้งว่าจะรับผิดชอบค่ารักษาทั้งหมดแต่แรก จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ถูกหลอกเสียเงินหลักแสนว่าจะให้ของฟรีที่ไม่มีจริง!!

        การถูกล่อลวงให้ซื้อเครื่องสำอางหรือคอร์สเสริมความงามจนประชาชนต้องสูญเสียเงินมหาศาลนั้น ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแม้กับคนที่ไม่ชอบใช้เครื่องสำอางเลย เช่น คุณดาว ที่แค่เพียงเดินผ่านหน้าร้าน ก็ถูกชักจูงให้รับของฟรีให้เอาไปทดลองใช้ พอคุณดาวเผลอหลวมตัวเข้าไปนั่งภายในร้าน จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ถูกหลอกซื้อเครื่องสำอางเสียเงินไปกว่าแสนบาท          เรื่องราวนี้เริ่มเพียงแค่ตอนแรกคุณดาวถูกใจและตกลงซื้อเครื่องสำอางที่จัดโปรโมชั่นลดราคาเหลือ  1,900 บาท จึงยื่นบัตรเครดิตให้พนักงานไปรูดเป็นค่าสินค้า แต่ในระหว่างที่พนักงานร้านถือบัตรเครดิตไว้แล้ว พนักงานอีก 2 คน ก็เข้ามาเสนอคอร์สทรีตเมนท์หน้าฟรีให้อีก ‘พี่รู้มั้ย มาสก์ครั้งเดียวก็ 60,000 บาทแล้ว’ คุณดาวปฏิเสธไปหลายครั้งเพราะจะรีบไปรับลูกที่โรงเรียนแต่พนักงานงานกลับช่วยกันประคองพาคุณดาวเข้าในห้องเล็กๆ เพื่อทำทรีตเม้นท์หน้าต่อ และเพียงล้มตัวนอน ฝรั่งเจ้าของบริษัทก็ปรากฏตัวขึ้นและบอกว่า ถูกใจคุณดาวมากจนอยากให้เป็นพรีเซนเตอร์ และให้พนักงานนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของบริษัทมาวางให้คุณดาวที่ข้างเตียงมากมาย จนถึงตอนนี้ คุณดาวก็รู้สึกว่าคุ้มมากๆ เพียงเข้ามาซื้อเครื่องสำอางราคา 1,900 บาทกลับได้ทรีตเมนท์หน้าฟรี ยังจะได้เป็นพรีเซ็นเตอร์และยังได้เครื่องสำอางกลับไปใช้อีกเป็นจำนวนมากด้วย         จนเมื่อพนักงานเสนอกับคุณดาวว่า “ค่าคอร์สทำหน้า ราคา 96,000 บาท ทำหน้าได้ 12 ครั้งซึ่งตอนนี้บอสถูกใจให้ทำคอด้วยอีก 12 ครั้ง  แล้วเครื่องสำอางที่นำมาวางให้กว่า 9 รอบทั้งหมดคือให้ฟรี ใช้แล้วจะเต่งตึงอยู่ได้ 5 ปี ไม่ต้องไปใช้ตัวอื่นอีกเลย” คุณดาวจึงเริ่มรู้สึกกระอักกระอ่วนใจมากแล้วเพราะราคาสูงลิ่ว และอยากออกจากร้านแล้ว แต่เพราะพนักงานยังไม่ล้างทรีตเม้นท์บนหน้าให้ ในระหว่างนี้ยังนำเครื่องสำอางมาวางให้ฟรีเรื่อยๆ ไม่หยุด จนคุณดาวต้องปฏิเสธบอกว่า เธอเป็นป่วยโรคมะเร็งและไม่อยากเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ พนักงานก็รับประกันว่า ‘ไม่ต้องห่วง ปลอดภัยต่อผู้ป่วยมะเร็งแน่นอน และทั้งหมดนี้มีมูลค่าสูงเกือบล้านบาทแต่วันนี้ลดราคาเหลือ 96,000 บาท’ เท่านั้น  ด้วยเพราะเป็นห่วงลูกที่รอให้ไปรับที่โรงเรียนและด้วยความรำคาญจึงตอบตกลงซื้อคอร์สทรีตเมนท์ใบหน้า เพราะคิดว่าอย่างน้อยระยะเวลาให้เข้ามาใช้บริการก็ยาวนานถึง 5 ปี และยังรับประกันว่าปลอดภัย มีประสิทธิภาพไม่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์อื่นอีก         จนเมื่อกลับถึงบ้านและเห็นใบเสร็จอย่างชัดเจนว่ายอดบัตรเครดิตทั้งหมดที่พนักงานบอกว่า เป็นค่าเครื่องสำอางที่บอกว่าให้ฟรีทั้งหมดนั้นไม่ฟรีจริง ส่วนคอร์สทรีตเมนท์หน้าไม่มีรายละเอียดใดๆ ให้กลับไปใช้บริการได้เลยอีกด้วย (สัญญา 5 ปีคืออะไร)  ในท้ายใบเสร็จยังระบุว่า ‘ไม่สามารถเปลี่ยนสินค้าคืนได้’  วันรุ่งขึ้นคุณดาวจึงกลับไปที่ร้านอีกแต่ไม่พบพนักงานที่ขายของให้เลยและยังไม่สามารถติดต่อพนักงานคนใดให้รับผิดชอบได้เลยด้วย คุณดาวและสามีจึงช่วยกันสืบหาข้อมูลของบริษัทและพบว่ามีผู้เสียหายที่ถูกทำให้เข้าใจผิด ถูกยัดเยียดขายให้แบบคุณดาวจำนวนกว่า 10 ราย บางคนเป็นแพทย์ มีรายได้สูงก็ถูกหลอกขายและกดบัตรเครดิตเสียเงินไปถึงกว่า 4 แสนบาท จึงมาปรึกษาว่าตนเองและผู้ร้องรายอื่นจะสามารถทำอะไรเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องนี้คุณดาวเองได้เดินเรื่องร้องเรียนไว้กับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ด้วย เธอฝากบอกถึงผู้เสียหายรายอื่นๆ ว่า เมื่อเกิดเรื่องขึ้นให้เก็บหลักฐานการซื้อขายทุกอย่าง เก็บรักษาผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้อยู่ในสภาพคงเดิมและเข้าร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยกับบริษัท ณ ปัจจุบันคุณดาวได้ไกล่เกลี่ยกับบริษัทแล้ว แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะบริษัทไม่รับผิดชอบตามข้อเรียกร้องคุณดาวจึงร่วมกับผู้เสียหายรายอื่นๆ แต่งตั้งทนายความเพื่อสู้คดีแล้ว         “หากเดินผ่านร้านแบบนี้  ไม่อยากให้แวะเลย แม้ว่าเขาจะสร้างภาพหรูหราหรือตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่โตแล้วเราคิดว่าจะปลอดภัยไม่ใช่ มีทุกรูปแบบ  ไม่อยากให้รับของฟรี หรือ  gift voucher ฟรีใดๆ ปฏิเสธแล้วรีบเดินออกมาเลยดีที่สุด”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 สิ่งที่ควรรู้ ก่อนศัลยกรรมเพิ่มความสวย

        ปัจจุบันมีคลินิกเสริมความงามเปิดใหม่มากมาย แถมราคาในการผ่าตัดบางคลินิกก็ถูกแสนถูก ล่อตาล่อใจผู้บริโภคกันสุดๆ  แต่ว่าราคาถูกที่ว่านั้น..ถ้าเจอที่ดีก็ถือว่าโชคดีไป เจอไม่ดีก็อาจจะได้หมอเถื่อนมาทำหน้าเราแทน จากหน้าสวยก็จะกลายเป็นหน้าพัง  อย่างกระแสข่าวเรื่องจับหมอปลอมตามคลินิกเสริมความงามก็มีมาให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ เต็มโลกออนไลน์         แม้ว่า ฉลาดซื้อ จะรู้อยู่ว่าหลายคนที่ต้องการศัลยกรรมใบหน้าคงรู้กันอยู่แล้วว่าการทำหัตถการประเภทนี้ค่อนข้างเสี่ยง แต่ถ้าความเสี่ยงที่เราเอาไปแลก มันคือความผิดพลาดจากทางคลินิกที่มักง่าย ไม่ได้มาตรฐานมันก็คงไม่คุ้มเสี่ยงใช่ไหม ดังนั้น ฉลาดซื้อ ก็อยากให้ทุกคนที่กำลังตัดสินใจจะไปทำศัลยกรรม ลองมาพิจารณาข้อมูลที่ควรเช็กกันก่อนเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงาม เช็กก่อนศัลยกรรมเพื่อความปลอดภัย        ·     อย่างแรกที่ต้องเช็คเลย คือ การตรวจเช็กใบอนุญาตสถานพยาบาล 11 หลัก อันนี้สำหรับตรวจสอบว่าคลินิกที่ให้บริการเป็นคลินิกเถื่อนหรือไม่ ซึ่งก่อนเข้ารับบริการควรสังเกตว่ามีติดไว้หน้าคลินิกเพื่อให้ผู้ที่เข้ารับบริการนั้น สามารถตรวจเช็กได้อย่างสะดวก เช็กได้ที่ https://hosp.hss.moph.go.th/ หรือ http://privatehospital.hss.moph.go.th         ·     ตรวจสอบใบประกอบวิชาชีพแพทย์ โดยต้องมีติดอยู่หน้าที่เข้าบริการอย่างชัดเจน  ต้องมีภาพถ่ายของแพทย์ ชื่อ-นามสกุล  สาขาและเลขที่ใบอนุญาตของผู้ให้บริการ และสามารถ                นำไปเช็กได้ที่ https://checkmd.tmc.or.th/ หรือโทรสอบถามแพทย์สภาโดยตรง        ·     ทำการเช็กภาพถ่ายที่ติดอยู่หน้าห้องกับผู้ที่ทำหัตถการให้ว่าเป็นคนเดียวกันหรือไม่ หากไม่ใช่ ให้หลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำหัตถการด้วย ไม่ต้องเกรงใจคลินิกเพราะเราต้องปลอดภัยไว้ก่อน        ·     เวลาเข้าคลินิกเพื่อทำศัลยกรรมต่างๆ อีกเรื่องที่ต้องระวัง คือ อุปกรณ์ ยา ซิลิโคน ฟิลเลอร์หรือโบท็อกซ์ ซึ่งต้องมี อย. รับรอง ยกตัวอย่าง คลินิกถูกกฎหมายส่วนมาก เมื่อทำหัตถการจะเปิดตัวยาให้เราดูอย่างชัดเจนก่อนเริ่มฉีด เมื่อเสร็จก็จะให้กล่องตัวยากลับบ้าน ซึ่งเราควรจะเลือกคลินิกที่เมื่อเราเข้ารับบริการนั้น ทางคลินิกสามารถเปิดข้อมูลตัวยาที่จะฉีดให้เราดูได้อย่างชัดเจน ไม่ปกปิดข้อมูล        ·     หากทำหัตถการที่จะต้องวางยาสลบ  คลินิกควรต้องมีวิสัญญีแพทย์อันนี้สำคัญ เผื่อกรณีคนไข้มีอาการแพ้ยาสลบ หรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ทั้งนี้ ควรมีเครื่องมือและอุปกรณ์รองรับในกรณีฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัย        ·     การรับผิดชอบของคลินิกกรณีหากเราเกิดความเสียหายต่อการรักษาของแพทย์ในคลินิก จะมีแนวทางในการชดเชยเยียวยาอย่างไร        ·     คลินิกสะอาดมีสุขอนามัยอนามัยหรือไม่  และก่อนเข้าบริการควรไปสำรวจที่ตั้งของคลินิกที่ต้องการเข้ารับบริการก่อนว่ามีอยู่จริง         ทั้งนี้  เราควรที่จะต้องสอบถามแพทย์เพื่อให้ตรวจเช็กความพร้อมของร่างกายเราด้วย และตัวเราเองควรบอกข้อมูลกับแพทย์ให้ครบถ้วน เช่น แพ้ยาอะไร มีโรคประจำตัวอะไร พร้อมกับสอบถามรายละเอียดให้ชัดเจน พยายามอย่าเชื่อรีวิวโฆษณาในโลกออนไลน์หรือโปรโมชันราคาถูกจนเกินไป         อีกเรื่องที่ต้องเตือนคือ หมอกระเป๋า แน่นอนว่าไม่มีความปลอดภัย ผู้บริโภคบางคนอาจจะคิดว่าฟิลเลอร์แท้ โบท๊อกซ์แท้ฉีดยังไงก็คงไม่เป็นไร แต่จริงๆ มีความเสี่ยงมาก เพราะใบหน้าของเรามีทั้งเส้นเลือด เส้นประสาทมากมาย  ดังนั้นการทำหัตถการควรต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น        นอกจากนี้ หากผู้บริโภคพบเจอสถานประกอบพยาบาลเถื่อนเบื้องต้นสามารถร้องเรียนได้ที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สายด่วน 1426 หรือ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ โทรศัพท์ 02 5918844  ข้อมูลจาก  https://www.hfocus.org/content/2021/10/23328https://ffcthailand.org/case/65https://www.springnews.co.th/blogs/spring-life/819276

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 สงครามแย่งก๊าซธรรมชาติ

เราบ่นกันมากว่าค่าไฟฟ้าแพงมาก จะเรียกว่าราคาแพงที่สุดตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมาก็ว่าได้ จนในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองต่างก็เสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่จะเป็นจริงหรือไม่ ผู้บริโภคอย่างเราก็ต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไป รวมทั้งต้องร่วมกำหนดนโยบายของผู้บริโภคเองด้วยปัญหาสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงก็คือนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องการกับการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติของคนไทยทุกคน ที่คนไทยเราได้ร่วมกันพิทักษ์รักษามาตลอดที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า ร้อยละ 56 ของไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทยนั้น ผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น เรามาพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับก๊าซฯที่เราใช้ในการผลิตไฟฟ้ากันสักหน่อย รวมทั้งที่มา และราคา ดังรูปข้างล่างนี้  ว่ากันตามรูปเลยนะครับผมขอสรุปว่า ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศไทยมาจาก 3 แหล่งคือ(1)          จากประเทศไทยเราเอง(ทั้งในอ่าวไทยและบนบก) ราคาในเดือนธันวาคม 2565 เท่ากับ  239 บาทต่อล้านบีทียู เราเริ่มใช้ก๊าซในยุคที่เขาคุยว่า “โชติช่วงชัชวาล” ประมาณปี 2524(2)          จากประเทศเมียนมาร์ ผ่านท่อก๊าซฯ ราคา 375 บาทต่อล้านบีทียู  เริ่มนำเข้าตั้งแต่ปี 2543(3)          ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าทางเรือ ราคา 599 บาทต่อล้านบีทียู เริ่มนำเข้าครั้งแรกปี 2553 และโปรดสังเกตว่า ราคาแปรผันมาก จาก 717 เป็น 599 บาทต่อล้านบีทียูในเวลาเดือนเดียว จากข้อมูลดังกล่าวเราจะเห็นได้ว่า ราคา LNG  สูงกว่าราคาในประเทศไทยมากกว่า 2 เท่าตัว ตรงนี้แหละครับที่เป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลว่า จะให้ใคร หรือกลุ่มไหนได้ใช้ประโยชน์จากก๊าซทั้ง 3 แหล่งที่มีราคาแตกต่างกันมากขนาดนี้ผมไม่ทราบว่า ก่อนที่จะมีการนำเข้า LNG ทางกระทรวงพลังงานได้คิดราคาก๊าซจาก 2 แหล่งอย่างไร แต่หลังจากปี 2553 ที่ได้นำก๊าซทั้ง 3 แหล่ง ทางกระทรวงฯได้นำราคาก๊าซทั้ง 3 แหล่งมาเฉลี่ยกันเพื่อให้ ภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงแยกก๊าซ(หรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี) และภาคยานยนต์(เอ็นจีวี) ใช้ในราคาที่เท่ากับค่าเฉลี่ย หรือที่เรียกว่า ราคา Pool Gasแต่โรงแยกก๊าซหรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะได้ใช้ในราคาที่ผลิตจากประเทศไทย ถ้าในภาพข้างต้นก็ราคา 239 บาทต่อล้านบีทียู ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าต้องจ่ายในราคา 376 บาทโดยอาศัยข้อมูลจากกระทรวงพลังงานพบว่า ก๊าซ 1 ล้านบีทียูสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 129 หน่วย ดังนั้น หากต้องใช้ Pool Gas ต้นทุนค่าก๊าซ(อย่างเดียว)จะเท่ากับ 376/129  หรือ 2.91 บาทต่อหน่วยแต่หากรัฐบาลมีนโยบายให้ก๊าซจากประเทศไทยซึ่งเป็นของคนไทย ให้คนไทยทั้งประเทศได้ใช้ก่อน โดยนำไปผลิตไฟฟ้าซึ่งมีจำนวนมากเพียงพอ ต้นทุนค่าก๊าซก็จะลดลงเหลือเท่ากับ 239/129 หรือ 1.85 บาทต่อหน่วยเห็นกันชัดๆเลยใช่ไหมครับว่า ต้นทุนนี้ลดลง 1.06 บาทต่อหน่วยแต่เนื่องจากไฟฟ้าที่คนไทยใช้ผลิตจากก๊าซ 56% ดังนั้น เมื่อเฉลี่ยทั้งประเทศแล้วค่าไฟฟ้าจะลดลงถึง 59 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ยังไม่ได้คิดถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าล้นเกินเลยที่นำไปสู่ค่าความพร้อมจ่ายทั้งที่ไม่ได้มีการเดินเครื่องผลิตเลยในปี 2565 คนไทยใช้ไฟฟ้าประมาณ 2 แสนล้านหน่วย หากรัฐบาลไทยมีการเปลี่ยนนโยบายว่า ก๊าซฯจากประเทศไทยให้คนไทยได้ใช้ผลิตไฟฟ้าก่อน ก็จะทำให้มูลค่าไฟฟ้าลดลงได้ถึงประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ผลประโยชน์ตรงนี้ก็จะตกอยู่กับประชาชนผู้บริโภคแต่ปัจจุบันนี้เงินก้อนนี้ได้ไหลเข้าไปอยู่ในกระเป๋าของธุรกิจปิโตรเคมี อันเป็นผลมาจากสงครามแย่งก๊าซธรรมชาติ นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 อเมริกากับการใช้แรงงานเด็ก

        ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา เด็กอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไป สามารถเข้าสู่ระบบการจ้างงานได้ แต่หากอายุยัง ไม่ถึง 16 ปี รัฐจะจำกัดชั่วโมงการทำงานเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสไปโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีงานอันตรายบางอย่างใน โรงงานอุตสาหกรรมหรือในโรงฆ่าสัตว์ที่กฎหมายระบุห้ามทำ         ที่ผ่านมามีการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวมากขึ้นถึงร้อยละ 60 ตั้งแต่ปี 2018 และผู้กระทำผิดก็เป็นผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่เสียด้วย เช่น กรณีของแมคโดนัลด์ ที่กระทรวงแรงงานพบว่า “จ้าง” เด็กไม่ต่ำกว่า 300 คน ทำงานโดยไม่ให้ค่าจ้างหรือให้ในอัตราที่ต่ำมาก  ในจำนวนนั้นมีเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ สองคนรวมอยู่ด้วย         หลุยส์วิล บาวเออร์ฟู้ด เจ้าของแฟรนไชส์แมคโดนัลด์ 10 สาขา จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ทำงานเกินเวลาที่กำหนด บางครั้งเกินตีสอง โดยไม่จ่ายค่าจ้างล่วงเวลา         บริษัทบอกว่างานของเด็กเหล่านี้คือเตรียมอาหาร เสิร์ฟ ทำความสะอาดร้าน รับออเดอร์ และคิดเงิน แต่การสืบสวนพบว่าเด็กบางคนประจำการอยู่หน้าเตาทอดฟรายส์ ซึ่งตามกฎหมายแล้ว หน้าที่นี้ต้องเป็นของผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ส่วนเด็กอายุ 10 ขวบสองคนที่ว่านั้น บริษัทอ้างว่าเป็นลูกหลานของพนักงานซึ่งเป็นผู้จัดการร้านกะดึก และ“งาน” ที่ทำก็อยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามบริษัทถูกปรับเป็นมูลค่า 212,000 เหรียญ (7.25 ล้านบาท)         อีกตัวอย่างเป็นกรณีของเด็กหนุ่ม “วัย 18” ที่ทำงานอยู่ในโกดังแห่งหนึ่งของบริษัทประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ของค่ายรถจากเกาหลี ฮุนไดมอเตอร์กรุ๊ป         เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจโกดังแห่งนี้ หลังได้รับเบาะแสจากพลเมืองดีว่ามีเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ทำงานอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็พบ “พนักงานหน้าเด็ก” กำลังง่วนอยู่กับการวางซ้อนอุปกรณ์โลหะขนาดใหญ่จริงๆ ตามเอกสารการจ้างงาน “พนักงานชาย” คนนี้ชื่อ เฟอร์นันโด รามอส บัตรประจำตัว (ที่ทำปลอมหยาบๆ แบบไม่กลัวถูกจับได้) ระบุว่าเขาอายุ 34 ปีและมาจากรัฐเทนเนสซี         แต่ความจริงแล้วเด็กซึ่งเป็นผู้อพยพจากเม็กซิโกคนนี้อายุ 16 ปี(แต่โกหกเจ้าหน้าที่ว่าอายุ 18) เคยเรียนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมต้นแห่งหนึ่งในเมืองมอนต์โกเมอรี เด็กยอมรับว่าไม่ได้ไปเรียนนานแล้ว และใช้บัตรปลอมนี้สมัครเข้าทำงานกับหลายบริษัทมาตั้งแต่อายุ 14 เบื้องต้นกระทรวงแรงงานสั่งปรับบริษัทจัดหางานสามแห่ง ฐานจ้างเด็กทำงานโดยผิดกฎหมาย รายละ 5,050 เหรียญ (ประมาณ 173,000 บาท)         ทางด้านฮุนได ซึ่งมียอดขายรถยนต์เป็นอันดับสามในอเมริกา รีบแถลงข่าวทันทีว่าเขาไม่เคยมีนโยบายจา้ งคนอายุต่ำกวา่ 18 ปี ต่อไปนี้บริษัทจะตรวจสอบซัพพลายเออรกวดขันไม่ให้มีการจ้างงานผ่านบุคคลที่สาม และจะจัดสัมมนาเพื่อทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย         บทวิเคราะห์จากสื่อมวลชนระบุว่าปัญหาการใช้แรงงานเด็กในสหรัฐฯ รุนแรงขึ้นเพราะหลายปัจจัยอย่างแรกคือโรคระบาด ความต้องการบริโภคสินค้าและบริการหลังการระบาดของโควิด 19 ทำให้ผู้ประกอบการต้องรับมือกับการขาดแคลนแรงงาน ในขณะที่ความสามารถในการจ่ายค่าจ้างก็น้อยลงเด็กเหล่านี้จึงเป็นทางออก        การอพยพหนีความยากจนหรือความรุนแรงในอเมริกาใต้ก็ทำให้มีแรงงานเด็กผิดกฎหมายมากขึ้นสถิติระบุว่าในปี 2022 เด็กจากพื้นที่ดังกล่าวขอลี้ภัยเข้ามาในสหรัฐถึง130,000 คน และเมื่อพวกเขาถูกละเมิด ทั้งตัวเด็กและพ่อแม่ก็ไม่แจ้งความ เพราะยังไม่มั่นใจเรื่องสิทธิอยู่อาศัยในอเมริกา         อีกปัจจัยคือทุนนิยมที่กำลังระบาดไปทั่วประเทศ ภาคธุรกิจอ้างว่าพวกเขาให้โอกาสคนจนได้มีรายได้มีที่อยู่อาศัย ช่วยลดปัญหาคนอดอยากและคนไร้บ้านไปในตัว ภาครัฐเองก็ออกกฎหมายที่ช่วยให้การจ้างงานเด็กเป็นเรื่องง่ายขึ้น เช่น รัฐอาคันซอ อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า16 ปี สมัครเข้าทำงานได้โดยไม่ต้องแสดงใบอนุญาตทำงานที่ทางการออกให้ หรืออีก 10 มลรัฐที่เพิ่มชั่วโมงทำงานของเด็ก ยกเลิกข้อห้ามเรื่องการทำงานอันตราย อนุญาตให้เด็กทำงานในสถานที่ ๆ มีการเสริ์ฟอัลกอฮอล และลดค่าแรงขั้นต่ำสำหรับเด็ก เป็นต้น         โทษสูงสุดของการใช้แรงงานเด็กตามกฎหมายปัจจุบันของสหรัฐคือค่าปรับไม่เกิน 15,138 เหรียญต่อกรณี (ประมาณ 514,450 บาท) ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป บริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำไรมหาศาลสามารถจ่ายได้โดยไม่เดือดร้อน         รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศแผนปราบปรามการใช้แรงงานเด็กโดยให้กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์เป็นเจ้าภาพ แต่สังคมอเมริกันเองยังไม่ตระหนักถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจก็แกล้งทำไม่รู้ไม่เห็น เพราะคิดว่าเด็กเหล่านี้ “ไม่ใช่ลูกหลานเรา” ก็ตามที่รัฐบาลทำได้ตามนี้จึงจะถือได้ว่าเห็นแก่ประโยชน์ของบริโภคอย่างแท้จริง!ที่มา:https://www.straitstimes.com/world/united-states/us-vows-clampdown-on-alarming-child-labour-surge https://www.japantimes.co.jp/news/2023/05/01/world/fake-id-hyundai-child/?fbclid=IwAR2toYrBilsK2WnaYh xTeW9AxHBdGcowjhCQzYtnoUgY6-0k1OrYiMyqQP8 https://www.channelnewsasia.com/business/mcdonalds-franchises-fined-us-child-labour-violations-3462256? fbclid=IwAR2NncrkFhMMGGHOIPSWhbW0GGVIBjWBxAWUdSecQwgKrEwftHhSp3FSfgI https://www.theguardian.com/commentisfree/2023/mar/31/child-labor-laws-republicans

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 ประกาศเลิกวิ่งเทรลกะทันหันแค่ 1 วัน ทำอะไรได้บ้าง

        คุณตุ๊กตาและครอบครัวหลงใหลการวิ่งมาราธอนมาก โดยเฉพาะวิ่งเทรล (Trail Running) หรือการวิ่งในรูปแบบของการผจญภัยตามบริเวณพื้นที่ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่า ภูเขา ทุ่งหญ้ากว้าง แล้วแต่ภูมิประเทศของสถานที่จัดงาน เมื่อได้ทราบข่าวการวิ่งเทรลที่เกาะช้าง โดยบริษัทจัดงานที่มีชื่อเสียง คุณตุ๊กตาจึงสมัครทันทีไม่รีรอ และแน่นอนว่าไม่พลาดที่จะบริหารจัดการเรื่องตั๋วเรื่องที่พักบนเกาะช้างอย่างว่องไว พร้อมกับคาดหวังถึงความสุข สนุกสนานของงานวิ่งครั้งนี้         “เราสมัครวิ่งตั้งแต่เมษายน 2565 ล่วงหน้าเป็นปีเลยนะ เสียค่าสมัคร 2,400 บาท เป็นการวิ่งระยะทาง 40 กิโลเมตร แล้วยังจ่ายเงินค่าโรงแรมไปอีก 4,000 บาท มีค่าเดินทางด้วยแล้วนี่ก็เตรียมพร้อมล่วงหน้าไปถึงก่อน เข้าพักแล้วด้วย อ้าวเฮ้ย...บริษัทผู้จัดงานประกาศยกเลิกผ่านเฟซบุ๊กก่อนจะวิ่งแค่ 1 วัน เงิบเลยค่ะ”         คุณตุ๊กตาเล่าว่าในเพจของผู้จัดงานแจ้งเหตุผลว่า งานล่มเพราะทางอุทยานแห่งชาติหมูเกาะช้างและเทศบาลตำบลเกาะช้าง ไม่อนุญาต “แบบนี้ก็แสดงว่าทางผู้จัดการไม่ได้ทำเรื่องยื่นขออนุญาตใช่ไหม บริษัทนี้ใหญ่มากนะทำไมทำงานพลาดเรื่องง่ายๆ แค่นี้” และถึงทางบริษัทจะประกาศคืนเงินที่ทางบริษัทเรียกว่า ชดเชยสิทธิประโยชน์  แต่ต้องรอนานพอสมควรคือจ่ายคืนเป็นรอบไม่ใช่ทันที ตอนนี้ใกล้ถึงรอบที่เราต้องได้รับการชดเชยค่าสมัครแล้วยังไม่มีการติดต่อมาเลยดิฉันจะทำอย่างไรได้บ้างคะ เป็นคำถามเพื่อขอรับคำแนะนำจากทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         งานวิ่งเทรลนี้เป็นงานใหญ่มีผู้สมัครเข้าร่วมมากกว่า 2000 ราย เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ตรวจสอบจากข้อความหน้าเพจของทางผู้จัด เมื่อ 18 เมษายน 2566 ปรากฎข้อความแจ้งคืนเงินให้ผู้เสียหายตามกำหนดรอบเรียงตามคิวที่ยื่นเรื่องขอรับการชดเชย ซึ่งยังปรากฎว่ามีผู้เสียหายหลายคนยังไม่ได้รับการคืนเงิน สำหรับคุณตุ๊กตานั้น ทางศูนย์ฯ ได้ช่วยทำหนังสือแจ้งบริษัทให้เร่งชดเชยเงินต่อผู้ร้องตามกำหนด แต่ขณะที่เขียนบทความนี้คุณตุ๊กตายังไม่ได้เงินคืนตามรอบที่กำหนดไว้ คือ 24 พฤษภาคม และสำคัญสุดคือ บริษัทประกาศชดเชยเฉพาะค่าสมัครวิ่ง ไม่รวมกับค่าเสียหายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าที่พัก         กรณีคุณตุ๊กตา เป็นเพียงผู้ร้องรายเดียวที่ติดต่อมาที่ มพบ. ดังนั้นเพื่อให้เกิดการชดเชยที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อคนในวงกว้าง มุลนิธิฯ จึงประกาศแจ้งให้ผู้เสียหายจากงานวิ่งเทรลเกาะช้างเร่งส่งหลักฐานมาที่ www.ffcthailand.org/complaint  เพื่อนำสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้จัดงานเพื่อให้คืนเงินอย่างเร่งด่วน และหากเจรจาไม่เป็นผลอาจเข้าสู่กระบวนการฟ้องคดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 266 "แฉเล่ห์! ผู้ค้าน้ำมันหากินกับส่วนต่างราคา"

หากินกับส่วนต่างราคาน้ำมัน, ปกปิดราคาอ้างอิงตลาดสิงคโปร์, ปกปิดข้อมูลสต็อกน้ำมันเหล่านี้คือสิ่งที่กระทรวงพลังงาน ไม่ยอมให้สังคมเห็นต้นตอทำราคาขายปลีกน้ำมันแพง         ผู้บริโภคเคยสงสัยกันไหมว่า น้ำมันดิบเวลาเอาไปกลั่นเป็นน้ำมันเบนซินและดีเซล กระทรวงพลังงาน ที่กำกับดูแล ปตท. (การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย )จึงอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ เพราะฉะนั้น ราคาที่ปรับขึ้น-ลง ก็ควรเป็นตลาดสิงคโปร์ ใช่ไหม อ้าว ! แล้วทำไมเวลาประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันสำเร็จรูปถึงไปอ้างอิง OPEC ( Organizationof the Petroleum Exporting Countries องค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก )         ประเด็นต่อมา ถือว่าสำคัญสุดยอด ในเมื่อประเทศไทย ใช้สูตรอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์แต่ทำไม กระทรวงพลังงาน กลับไม่ยอมโชว์ตัวเลข โดยอ้างว่า เป็นข้อมูลลับ มีอะไรในกอไผ่ ! คุณอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค บอกกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แฉข้อมูลเชิงลึกแบบละเอียดยิบ         “ราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับขึ้นหรือลง จะมีผลตามหลังราคาน้ำมันดิบ 1-2 วัน เช่นหากราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ประกาศวันใดก็ตาม ให้นับเป็นวันแรก ถัดจากนั้น อีก 1-2 วัน ให้จับตาดูราคาน้ำมันสำเร็จรูป จะถูกประกาศลดหรือเพิ่มตามราคาน้ำมันดิบ ก็อย่างที่ผู้บริโภค ได้เห็นเวลาประกาศขึ้นราคาขายเอาซะเยอะเชียว แต่พอเวลาลดราคาขายกลับลงแค่นิดเดียว อันนี้แหละ ที่จะบอกให้ว่าผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ มักใช้ข้ออ้างเรื่องสต็อกน้ำมัน ที่มีต้นทุนสูงอยู่เดิมนั่นมันแค่การพูดให้ชาวบ้านสบายใจว่า ทุกอย่างเป็นไปตาม “กลไกราคาตลาด“ แต่ในความเป็นจริง ข้อมูลสต็อกน้ำมัน ไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน คำถามคือทำไมต้องปกปิด “มีเรื่องที่ตลกมาก กระทรวงพลังงานไม่ยอมเปิดข้อมูล “ราคาน้ำมันสำเร็จรูปอ้างอิงหน้าโรงกลั่นตลาดสิงคโปร์”         ณ วันที่ออกประกาศขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในไทย ลองไปหาดูกันสิ ไม่มีเว็บไซต์ไหน เอาขึ้นมาโชว์ เป็นไปได้อย่างไรที่หน่วยงานรัฐบาลซึ่งออกนโยบายว่าประเทศไทยอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ แต่ไม่ยอมเอาข้อมูลมาเปิดเผยวันต่อวัน ...ผู้บริโภคเคยสังเกตไหมว่า ทำไมปตท. ถึงประกาศปรับราคาน้ำมันตอน 5 โมงเย็นทุกครั้ง มีเล่ห์กลที่ผู้บริโภคคาดไม่ถึงเลยทีเดียว!         “เวลาของสิงคโปร์เร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง ตลาดน้ำมันปิด “4 โมงเย็น จังหวะนี้แหละที่ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของไทย เห็นราคาล่วงหน้าจึงคำนวณได้ว่าหาก 5 โมงเย็นประกาศขึ้นหรือลดราคาน้ำมัน30 หรือ 60 สตางค์ /ลิตร ไม่เจ็บตัวเท่าไหร่ อ้าว! เห็นตัวเลขล่วงหน้าแบบนี้มันไม่ใช่กลไกตลาด แถมไม่ได้เห็นวันเดียวด้วยนะ เพราะคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ใช้วิธีคิดแบบถัวเฉลี่ยของราคาสิงคโปร์ย้อนหลังไปอีก 2 วัน เพื่อเอามาคำนวณกับวันที่ 3 ซึ่งใช้ประกาศ ลด -เพิ่ม ราคาน้ำมันสำเร็จรูป เพราะฉะนั้น เขาถึงบอกว่า วันนี้จะลดให้ 30 สตางค์หรือ 60 สตางค์ แต่พอเห็นจังหวะที่ไม่ส่งผลบวก ก็รีบชิงปรับขึ้นราคาล่วงหน้า 1 วัน ได้กำไรเฉพาะวันนั้น 300 ล้านบาท นี่แหละเป็นวิธีที่เขาเล่นกันแบบนี้! ผมเคยส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดข้อมูล“ราคาน้ำมันสำเร็จรูปอ้างอิงหน้าโรงกลั่นตลาดสิงค์โปร์” เพื่อเทียบเคียงกับ“โครงสร้างราคาน้ำมันของไทย “จะได้คิดย้อนทวนคำนวณราคาต่อลิตร”1 บาท หรือ 2 บาท แต่พอไม่ยอมเปิดข้อมูลมีปัญหาแล้ว แถมไม่เคยมีคำตอบอธิบายความใดๆ มีแต่ข้ออ้างที่ว่า “เปิดไม่ได้เพราะเป็นราคาที่เขาต้องซื้อข้อมูล” ขอถามกลับว่าตลาดอะไรต้องซื้อข้อมูล อย่างนี้ไม่เรียกว่าตลาดแล้ว ตลาดหมายถึงว่าเขาจะต้องประกาศที่หน้าป้ายอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เป็นสาธารณะให้ทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย รับทราบด้วยกัน การปิดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคแสดงให้เห็นถึงการ “ไม่มีธรรมาภิบาล” แต่กระทรวงพลังงานกลับได้คะแนนโหวตดีเด่นด้านความโปร่งใส         คุณอิฐบูรณ์บอกว่า ทุกวันนี้ต้องใช้ข้อมูล “วงใน” วันต่อวัน เพื่อดูราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปที่รัฐบาลประกาศ โดยเขียนบทความแหย่เบาๆ เช่น “วันนี้พวกคุณโกงเรา, ไม่ยอมปรับลดราคา2วันแล้วนะ” อีกทั้งยังพบความผิดปกติจากราคาหน้าโรงกลั่นที่รัฐบาลเอามาแถลงอยู่บ่อยครั้งเพื่อทำให้ค่าการตลาดมันสูงขึ้นหรือ ดีดกลับแบบประหลาดๆ เหล่านี้ถือเป็นข้อมูลที่ผมต้องการสื่อสารไปถึงชาวบ้านให้รู้เท่าทัน และที่ยากที่สุดของการอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ มันคืออะไรรู้ไหม? มันคือ“ราคาค่าการกลั่น “บางทีคิดจากความต่างระหว่างราคาสิงคโปร์กับราคาน้ำมันดิบดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยิ่งหากราคาสิงคโปร์ห่างจากราคาน้ำมันดิบดูไบก็จะยิ่งได้ค่าการกลั่น เพราะนี่คือกำไรขั้นต้นก่อนที่จะหักต้นทุนสุทธิออกมาเป็นกำไรสุทธิ ดังนั้น จึงมีขบวนการดันให้ราคาตลาดสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันดิบดูไบ ทำให้ค่าการกลั่นบางช่วงพุ่งไป 5 บาท ถึง 6 บาท ได้กำไรกันทีเป็นแสนล้านบาทเรียกว่า “หากินกับส่วนต่างราคาน้ำมัน” เพราะสิ่งนี้ ไม่ได้เกิดจากต้นทุนของโรงกลั่นที่แท้จริง แต่มันคือ ราคาที่ถูกสมมุติ รวมกันถึง 2 สมมุติ กระทั่งกลายร่างออกมาเป็นราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นแบบสมมุติแถม ยังบวกด้วย ค่าขนส่งสมมุติแล้วก็มาเก็บเงินเป็นราคาขายที่แพงเอากับประชาชน อย่างหลังสุดนี่คือของจริง หากยังมองไม่เห็นภาพ ผมขออธิบายความชัดๆ เริ่มจาก ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่ถูกสมมุติเพราะฉะนั้นค่าการตลาด ก็เป็นสิ่งสมมุติ ซึ่งค่าการตลาดรัฐบาลกำหนดให้อยู่ที่ 2 บาท นี่ก็สมมุติเพราะไม่มีใครรู้เลยว่า ปตท. เอาต้นทุนร้านกาแฟ, ค่าพื้นที่เวิ้งว้างที่เอามาทำธุรกิจย่อมๆ, ร้านค้าปลีกต่างๆ, ธุรกิจโรงแรมธุรกิจถูกเอามารวมเป็นต้นทุน-ค่าโสหุ้ยของค่าการตลาดน้ำมันด้วยหรือเปล่า ผมเคยเสนอให้ ปตท. แยกบัญชี แต่กลับเห็นการเอาที่ดินทั้งแปลง มารวมเป็นค่าการตลาด แล้วก็มาอ้างเหตุผลว่า ได้ค่าการตลาด 2 บาทน้อยมากเลย ยังขาดทุนอยู่นะ ทั้งที่ความเป็นจริงผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ปรับราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปช้าและลดราคาน้อยกว่าที่ควรเป็น ทำค่าการตลาดน้ำมันพุ่งสะสมขึ้นไปถึง3 บาทต่อลิตร สูงกว่าเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)ประกาศ และทำให้ผู้ใช้น้ำมันต้องเสียเงินกับค่าการตลาดสูงที่เกินควรร่วมกว่า 300 ล้านบาท ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566         ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการปล่อยลอยตัว ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทีไร้การควบคุม, ต้องกำหนดเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมเป็นมาตรการบังคับ, ต้องตรวจสอบและเปิดเผยให้สาธารณชนทราบถึงต้นทุนการประกอบการและต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่โรงกลั่นขายให้ผู้ค้าน้ำมันที่มีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศมากที่สุด 2 ลำดับแรก คือ บริษัทในกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. และบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งอาจอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาอ้างอิงของ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)ตามที่ผู้ค้าน้ำมันกล่าวอ้าง เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลทำได้ตามนี้ จึงจะถือได้ว่าเห็นแก่ประโยชน์ของบริโภคอย่างแท้จริง! ผู้เขียน : นิชานันท์ ธัญจิราโชติ

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 265 แอบดูการผลิตไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย

        ประเทศไทยเรากำลังมีปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพงมากเป็นประวัติการณ์ มากกว่า 5 บาทต่อหน่วยแล้วรัฐบาลก็อ้างว่าที่แพงเพราะว่าค่าเชื้อเพลิงแพง คือค่าก๊าซธรรมชาติที่ในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ             ผมถามว่า...เรามีเชื้อเพลิงเป็นของตัวเองแล้ว โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ทำไมเราไม่นำมาใช้            รัฐตอบว่า...พลังงานแสงอาทิตย์มันไม่เสถียร กลางคืนไม่มีพระอาทิตย์จะเอาอะไรใช้         แล้วทำไมรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประชากร 40 ล้านคน เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลกใช้ไฟฟ้ามากกว่าประเทศไทยเราเกือบประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ทำไมเขาจึงผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดมาใช้ได้เยอะมากเลย จากแผงโซล่าเซลล์ที่ติดตามบ้านประมาณ 1.5 ล้านหลังคาเรือน โดยใช้ระบบแลกไฟฟ้ากับรัฐ และต้องย้ำว่า แลกไฟฟ้ากันในราคาที่เท่ากันด้วย         ทั้งๆ ที่มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 กันยำยน 2565 ออกมำแล้วว่าให้ส่งเสริมให้ประชาชนติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาโดยด่วน โดยใช้ระบบหักลบกลบหน่วย (NetMetering) คือแลกไฟฟ้ากันระหว่างผู้ผลิตบนหลังคากับการไฟฟ้า แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระทรวงพลังงานไม่ทำอะไรต่อ ทั้งๆ ที่มีมติ ครม.ไปนานกว่า 8 เดือนแล้ว ฉบับนี้ ผมจะมาแสดงการผลิตำพลังงานไฟฟ้าของรัฐแคลิฟอร์เนียให้เห็นกันว่าเขาทำอย่างไรบ้าง         ผมไปดูข้อมูลการผลิตไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ของรัฐนี้ เริ่มตั้งแต่ 7 โมงเช้า โซล่าเซลล์ก็ผลิตได้แล้วจนถึงหนุ่งทุ่มก็ยังทำงานอยู่บางส่วนในบางวัน ผมลองคำนวณคร่าวๆเอาช่วงเวลาประมาณ 10 ชั่วโมง คิดออกมาเป็นไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 160 ล้านหน่วยต่อวัน ถ้าคิดแบบบ้านเรา  เป็นค่าเชื้อเพลิงหน่วยละ 2.50 บาท ก็ 400 ล้านบาทต่อวัน นี่คือมูลค่าของแสงแดดที่เรมองข้ามที่สามารถนำมาแทนเชื้อเพลิงได้โดยไม่ต้องซื้อ        ช่วงที่มีแดด เขาก็ให้แดดผลิตก่อน ตอนที่ไม่มีแดดก๊าซธรรมชาติก็ผลิตได้เยอะ แต่พอมีแดดเขก็ลดการผลิตจากก๊าซธรรมชาติลง ซึ่งข้อมูลค่าส่วนที่ไม่ต้องไปซื้อก๊าซตรงนี้ก็กลายเป็นรายไดด้ของชาวบ้านไปเลย ในแคลิฟอร์เนียเขาผลิตโซล่าเซลล์เองด้วย เงินจำนวนนี้ก็กระจายอยู่นั้นนอกจากแสงแดดแล้วเขายังใช้เชื้อเพลิงอะไรอีกบ้างในการผลิตไฟฟ้าเรามาดูกันที่รัฐนี้เขาจะพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าล่วงหน้าไว้ก่อนว่าพรุ่งนี้จะใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่ เขาจะรู้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวัน ล่วงหน้า 1 วันล่วงหน้า 1 ชั่วโมง รู้หมด เผื่อมีอะไรผิดพลาดขนาดไหน จะได้ปรับแผนได้         ในหนึ่งวัน ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงเขาจะใช้พลังงานหมุนเวียน ใช้แดดเยอะ ใช้ก๊าซน้อย พอตอนหัวค่ำก็ใช้ก๊าซเพิ่มขึ้นมา แล้วก็ใช้พลังงานหมุนเวียนอื่นๆบางส่วน พอใช้แดดหมดแล้วก็ใช้ลม ใช้พลังน้ำ ใช้แบตเตอรื่เขาใช้นิวเคลียร์คคงที่ตลอดทั้งวันทั้งปี ถ่านหินก็ใช้แค่ 2 เมกะวัตต์เท่านั้น เขาใช้หลักว่าพลังานหมุนเวียนซึ่งไม่ต้องซื้อและไม่ปล่อยมลพิษ ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อนให้ผลิตมาใช้ได้ก่อนเลย ถ้าลมมาก็ผลิตเลย แดดมาก็ลิตเลย ถ้าพอกับความต้องการดก็จบ ถ้าเหลือก็เก็บเข้าแบตเตอรี่ ถ้าไม่พอก็เอาจากแบตเตอรี่มาใช้         นี่คือการบริหารพลังงานไฟฟ้าโดยปรับเปลี่ยนตามทรัพยากรที่มี เลือกทรัพยากรของฟรีก่อน ที่ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้ ชาวบ้านผลิตได้ ถ้าไม่พอก็ไปใช้ฟอสซิล ไปใช้นิวเคลียร์ซึ่งเป็นของบริษัทต่างๆทีหลัง หลายคนอาจถามว่า...ทำไมประเทศไทยไม่ทำอย่างนี้ ?         ผมขอตอบว่า...ประเทศไทยเอาพลังงานฟอสซิลก่อน เพราะสามารถผูกขาดได้ แค่นี้ละครับ นี่เป็นมายาคติซึ่งหลายคนไม่เข้าใจเราต้องพยายามอธิบาย ก็ต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อน นอกจากกนี้ ในส่วนของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนในภาคไฟฟ้า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 30 เดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่าในช่วงตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น รัฐแคลิฟอร์เนียมีการปล่อยคำร์บอนฯ ในภาคผลิตไฟฟ้าลดต่ำลงจนกระทั่งติดลบ         ผมเองก็สงสัยว่ามันติดลบได้อย่างไร ก็ไปดูว่าเขาใช้พลังงานอะไรบ้างในการผลิต ปรากฏว่าการผลิตไฟฟ้าของเขาในช่วงประมาณบ่าย 3เศษๆ เขามีพลังงานหมุนเวียนเยอะเขามีไฟฟ้าเหลือ เขาส่งออกไปให้รัฐอื่น จึงทำให้การปล่อยคาร์บอนฯของเขาในช่วงเวลาบ่าย 3 เศษๆ นั้นติดลบ นั่นเอง          จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่า เราแก้ปัญหาโลกร้อนได้ภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบัน คือใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ไม่ใช่เรื่องยากเลย ถ้าผู้นำมีความกล้าหาญที่จะลดผลประโยชน์ของพวกพ่อค้าพลังงานฟอสซิลลง         ผมมองว่าปัญหาในการผลิตไฟฟ้าของไทยตอนนี้ คือการผูกขาดคนอื่นผลิตไม่ได้ เขาจะไม่ให้ชาวบ้านผลิตเอง ทั้งๆที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปประเทศไทย ด้านพลังงาน ที่ใช้คำว่า Prosumer (Production byConsumer – ผลิตโดยผู้บริโภค)         ดังนั้น การอ้างว่าไฟฟ้าแพงเพราะเชื้อเพลิงแพงนั้น จริงๆ แล้วมีปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ การหลีกเลี่ยงไม่ยอมใช้พลังงานที่ตัวเองขายไม่ได้ที่ตัวเองไม่สามารถควบคุมได้เท่านั้นแหละครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ค่าแรงขั้นต่ำ คุณภาพชีวิตต่ำ กับข้อถกเถียงเรื่อง ‘เซอร์วิสชาร์จ’

        'การมีจิตใจบริการ' หรือ 'service mind' เป็นภาพลักษณ์หนึ่งที่เกื้อหนุนอุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตมาหลายทศวรรษ        'คนไทยเป็นคนมีน้ำใจ' เป็นภาพลักษณ์เชิดชูความเป็นไทยแบบเหมารวมและยากพิสูจน์ที่ถูกเชื่อว่าหนุนหลังให้เกิด service mind แง่มุมอันงดงามเรื่องน้ำใจที่มีแง่คมต่อการขูดรีดแรงงาน        ก่อนหน้านี้เกิดประเด็นเรื่อง 'เซอร์วิสชาร์จ' ว่าเก็บได้หรือไม่ได้ ถ้าจะเก็บต้องทำอย่างไร ผู้บริโภคไม่จ่ายได้หรือไม่ ฯลฯ เรื่องนี้มีตำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนในทางกฎหมาย ซึ่งเราจะรวบตึงมามัดไว้ด้วยกันให้ผู้บริโภคได้ทำความเข้าใจ         นอกเหนือจากนี้ จะชวนไปฟังความเห็นของเจ้าของร้านอาหารที่ผูกพ่วงตำแหน่งนายกสมาคมการท่องเที่ยว และจะชวนไปฟังเสียงบาริสต้าจากสหภาพแรงงานบาริสต้า คนทำงานบริการตัวเป็นๆ ผู้ไร้สุ้มเสียงจากข้อถกเถียงที่พวกเขาไม่ควรถูกทำให้เงียบ เก็บได้ แต่ต้องชัดเจน         ก่อนที่งานบริการจะค่อยๆ ถูกยกมาตรฐานวิชาชีพและองค์ความรู้ตามสายงานอันหลากหลายเช่นปัจจุบัน ในสังคมอเมริกันงานบริการอย่างงานเสิร์ฟอาหารเคยเป็นงานขั้นต่ำสุดที่คนหลีกเลี่ยง แต่มันก็เป็นงานที่จำเป็นต้องมีใครสักคนรับหน้าที่ เซอร์วิสชาร์จจึงเข้ามาเพิ่มแรงจูงใจเพื่อดึงดูดแรงงานและยังมีบทบาทถึงปัจจุบัน         แล้วเซอร์วิสชาร์จเก็บได้ไหม? เอาตรงนี้ก่อน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. ออกมาให้ข้อมูลว่า ผู้ประกอบการสามารถคิดค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าอาหารตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 69 พ.ศ.2565 ข้อ 9 ได้ เซอร์วิสชาร์จนับเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามประกาศ         กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดอีกว่า หากผู้ประกอบการจะคิดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็จำเป็นต้องแสดงค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ชัดเจนและครบถ้วนโดยแสดงควบคู่กับราคาอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคทราบประกอบการตัดสินใจว่าจะใช้บริการหรือไม่ อันเป็นสิทธิของผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 4 ที่ระบุถึงสิทธิของผู้บริโภคไว้ 5 ประการ ประกอบด้วย        1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ        2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ        3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ        4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ        5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณา และชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง และชดใช้ค่าเสียหายเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตาม ข้อ -4         และเพื่อให้เกิดความชัดเจนเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค ผู้ประกอบการควรแจ้งการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นไว้บริเวณหน้าร้านค้า มีกำหนดราคาที่เหมาะสมตามสมควร หากผู้ประกอบการไม่ดำเนินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศฉบับนี้ ผู้บริโภคอาจปฏิเสธไม่ชำระค่าใช้จ่ายอื่นและสามารถร้องทุกข์ต่อกรมการค้าภายในได้ ทางเลือกของผู้บริโภค         สรุปว่าร้านอาหารสามารถเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จได้ แต่ต้องทำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ถึงกระนั้นก็มีร้านอาหารบางแห่งเลือกที่จะไม่เก็บ             พันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่และเจ้าของร้านอาหารเป็นลาวซึ่งไม่มีการเก็บเซอร์วิสชาร์จให้เหตุผลว่า การเก็บเซอร์วิสชาร์จจะมาพร้อมกับความคาดหวังของลูกค้าต่อมาตรฐานการบริการ ขณะที่ร้านเป็นลาวมีนโยบายและรูปแบบการบริการที่เน้นความเป็นกันเอง         “เราอยากรู้สึกเป็นเพื่อนกับลูกค้ามากกว่า แต่ถ้าในอนาคตเราต้องอยู่ในห้าง ต้องเป็นระบบ อันนั้นก็ไม่แน่ ต้องพิจารณากันอีกที แต่โดยส่วนตัวพบว่าสำหรับร้านเราไม่มีนโยบายเพราะเรารู้ว่าเราอาจบริการไม่ดีและก็ไม่อยากให้ลูกค้าคาดหวัง รู้สึกว่าจ่ายแล้วไม่คุ้มค่า” พันชนะยังอธิบายต่ออีกว่า         ในเมืองไทยการเก็บเซอร์วิสชาร์จเกิดขึ้นและวิวัฒนาการมาพร้อมกับการเติบโตของอุตสาหกรรมโรงแรม มันเป็นแรงจูงใจให้แก่พนักงานที่แม้ว่าฐานเงินเดือนจะต่ำ แต่ได้รับค่าเซอร์วิสชาร์จจากการเข้ามาใช้บริการของแขกเป็นสิ่งชดเชย เมื่อมองในแง่การบริหารต้นทุน มันทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการไม่สูงจนเกินไป เซอร์วิสชาร์จจึงมีหน้าที่ของมันในระบบนิเวศของธุรกิจ         เมื่อถามเธอในฐานะนายกสมาคมท่องเที่ยวเขาใหญ่ เธอเห็นว่าควรปล่อยให้เป็นนโยบายของแต่ละร้านที่จะเลือกเก็บหรือไม่เก็บเซอร์วิสชาร์จ เพราะร้านอาหารในเขาใหญ่เองมีความหลากหลาย ตั้งแต่สตรีทฟู้ดถึงแบบ fine dining ที่มีมาตรฐานการบริการขั้นสูง การกำหนดว่าต้องเก็บหรือไม่เก็บอาจไม่สอดคล้องกับสภาพของแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งสถานการณ์ที่เป็นอยู่เวลานี้ พันชนะบอกว่ามีร้านอาหารไม่ถึงร้อยละ 30 ในเขาใหญ่ที่มีการเก็บเซอร์วิสชาร์จ และควรปล่อยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกว่าต้องการระดับการบริการแบบไหน เก็บได้ แต่ต้องเป็นของพนักงาน         ถามย้อนกลับมาฝั่งผู้บริโภคบ้างว่ายินดีจ่ายหรือไม่ ตามทัศนะของ พีรพัฒน์ ตุลยาเดชานนท์ เจ้าของเพจกินกับพีท และพุธิตา ปราบ เจ้าของเพจ Wander Girls ทั้งคู่เป็นเพจรีวิวร้านอาหาร คาเฟ่ สปา เห็นว่าทางร้านสามารถเก็บเซอร์วิสชาร์จได้         “ถ้าถามในมุมผู้ประกอบการคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรมี” พีรพัฒน์อธิบาย “เป็นกำลังใจให้พนักงาน แต่ประเด็นคือการจะมีสิทธิตรงนี้ ทางผู้ประกอบการเองก็น่าจะต้องคอยหมั่นเทรนพนักงานให้มีมาตรฐานที่ดีในการบริการลูกค้า ทั้งในส่วนหน้าร้านและในครัว เพราะเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน”         ส่วนพุธิตามีจุดยืนว่า service charge ควรต้องมี         “เซอร์วิสชาร์จควรจะเป็นการเอาไปหารระหว่างพนักงานด้วยกันเอง ด้วยค่าแรงขั้นต่ำประเทศไทยคนทำงานในสายงานพวกนี้ไม่ได้เงินเดือนสูงอยู่แล้ว บวกกับวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนอเมริกาที่ทิปหนัก เซอร์วิสชาร์จยังจำเป็นอยู่เพื่อให้คนที่ทำงานด้านนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น มันก็มีกฎหมายไม่ให้เซอร์วิสชาร์จเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ได้แรงมาก คิดว่ามันเล็กน้อยมากกับสิ่งที่เขาต้องทำงานให้เรา”         แต่เมื่อเก็บเซอร์วิสชาร์จ การบริการก็ควรต้องมีมาตรฐานในระดับหนึ่ง พีรพัฒน์กล่าวว่าผู้ประกอบการต้องจัดอบรมพนักงานด้านมาตรฐานการให้บริการ ขณะที่พุธิตามองต่างเล็กน้อยว่า บริการดีหรือไม่ดี ค่อนข้างเป็นเรื่องอัตวิสัย แต่ละคนมีความคาดหวังต่างกัน การให้บริการตามที่เป็นอยู่จึงถือว่าเพียงพอ หากร้านไหนบริการแย่จริงๆ ก็มีการโซเชียล แซ็งชั่นอยู่แล้วในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กำกับร้านอาหารให้ต้องรักษาคุณภาพบริการ        ประเด็นที่ทั้งคู่เห็นพ้องต้องกันคือเซอร์วิสชาร์จควรเป็นของพนักงาน ไม่ใช่ผู้ประกอบการ        พีรพัฒน์ กล่าวว่า “ผมเข้าใจว่าเจอหลายที่ที่เอาสิบเปอร์เซ็นต์นี้เก็บเข้าตัวเอง พนักงานไม่ได้ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องดูอย่างชัดเจนว่าลูกน้องได้หรือเจ้าของเก็บ ผมมองว่าควรลงที่พนักงานเต็มๆ มากกว่า” ในมุมคนทำงานคุ้มครองสิทธิ         อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดว่าเซอร์วิสชาร์จที่อยู่ในหมวดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ต้องเก็บเท่าไหร่ ระบุเพียงว่าต้อง ‘เหมาะสม’ ซึ่งโดยปกติที่เก็บกันทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 10 ของค่าอาหารในแต่ละครั้ง         จุดนี้เอง นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย https://www.bbc.com/thai/articles/cx808jy8g3qo ว่า การเก็บเซอร์วิสชาร์จในไทยไม่มีมาตรฐานอ้างอิง ผู้บริโภคไม่รู้ว่าที่เก็บไปร้อยละ 10 ของราคาคิดจากอะไร ซึ่งทางมูลนิธิเคยหารือเรื่องนี้กับ สคบ. และกรมการค้าภายใน แต่ก็ไม่มีระเบียบหรือมาตรฐานกำหนดไว้ บอกเพียงว่าเก็บได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าก่อนเข้ารับบริการ ติดป้ายหน้าร้านเพื่อให้คนที่จะเข้ามากินเห็นได้ชัดเจน ซึ่งเธอกล่าวว่าไม่ค่อยพบเห็นร้านที่ติดป้ายบอกว่ามีการเก็บเซอร์วิสชาร์จ        นฤมลตั้งข้อสังเกตต่อไปด้วยว่า ในเมืองไทยยังไม่มีการศึกษาเรื่องค่าทิปและเซอร์วิสชาร์จอย่างจริงจัง เช่น เงินส่วนนี้คิดเป็นมูลค่าเท่าไรของรายได้ของธุรกิจค้าปลีกและบริการของไทย อ้างอิงจากมาตรฐานอะไร หรือเซอร์วิสชาร์จตกถึงมือพนักงานหรือไม่         ถึงตรงนี้เราจะเห็นร่องรอยสำคัญบางอย่างที่ขาดหายไปในการถกเถียงเรื่องเซอร์วิสชาร์จ นั่นก็คือเหล่าพนักงานบริการซึ่งสุ่มเสี่ยงจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง         จิตใจบริการหรือจิตวิญญาณของความเป็นทาส?        เชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยร้านอาหารและคาเฟ่ จากการเปิดเผยของ เริงฤทธิ์ ลออกิจ บาริสต้าและสมาชิกสหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่ ทำให้รู้ว่ายังมีพนักงานบริการที่ไม่ได้รับค่าแรงตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ         เขาให้ข้อมูลอีกว่าค่าแรงขั้นต่ำของเชียงใหม่ที่ประกาศใช้ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 คือ 340 บาทต่อวันหรือ 10,200 บาทต่อเดือน ที่ได้มากกว่านี้อาจอยู่ที่ประมาณ 11,000-12,000 บาท มันเป็นรายได้ที่ต่ำเกินกว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เป็นเหตุผลที่ทำให้เขาสนับสนุนให้มีการเก็บเซอร์วิสชาร์จ         “มุมมองต่อลูกค้าจากแรงงานอย่างเรา เมื่อก่อนหนักมาก ปัจจุบันก็ยังมีอยู่คือการเปรียบลูกค้าเป็นพระเจ้า ทำให้ทุกบริการของแรงงานเป็นบริการพิเศษ ไม่ใช่แค่ผมไปเสิร์ฟ แต่ผมต้องยิ้มแย้ม ที่จริงผมไม่ต้องยิ้มก็ได้ งานผมแค่เสิร์ฟ แต่ในไทยไม่ได้ เราต้องมีเซอร์วิสไมด์ วันนี้จะมีปัญหาอะไรก็ตาม ต้องยิ้ม พอนิยามว่าลูกค้าคือพระเจ้า เราแทบจะบริการลูกค้าเต็มที่อยู่แล้ว เพิ่มด้วย                 “เวลามีคนมารีวิวร้านผมว่าบริการดี เป็นมิตร ผมก็จะบอกกับเพื่อนคนทำงานด้วยกันว่า ใช่สิ เพราะใส่จิตวิญญาณของความเป็นทาสลงในบริการนั้นด้วย แบบนี้ควรจะได้มั้ย แต่มันก็เป็นงานประจำของคุณอยู่แล้ว นั่นไง แล้วมันต้องพิเศษขนาดไหน” เริงฤทธิ์ตั้งคำถามกฎหมายคลุมเครือเปิดช่องนายจ้างฮุบเงินเซอร์วิสชาร์จ        กฎหมายอนุญาตให้ผู้ประกอบเก็บเซอร์วิสชาร์จได้และนับเป็นรายได้ แต่กฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องจัดการอย่างไรกับเซอร์วิสชาร์จ ต้องให้พนักงานหรือไม่ ต้องให้ในสัดส่วนเท่าไหร่ ช่องว่างนี้กลายเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการเก็บเซอร์วิสชาร์จเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ของตนโดยไม่แบ่งให้พนักงานตามที่พีรพัฒน์เล่า               “กฎหมายให้ไปตกลงกันเอง คิดว่านายจ้างกับลูกจ้างใครมีอำนาจการตัดสินใจมากกว่ากัน ไม่มีหลักประกันว่านายจ้างให้เท่านี้สมเหตุสมผลแล้ว พอไม่มีหลักประกัน แรงงานไม่กล้ามีปากเสียงในเรื่องเซอร์วิสชาร์จที่จะได้แต่ละเดือน ก็ต้องรอความอนุเคราะห์ของนายจ้าง อะไรคือหลักประกันของคนทำงานภาคบริการว่านายจ้างจะให้ ไม่มี มีนายจ้างฮุบเซอร์วิสชาร์จ แล้วเราจะพิทักษ์สิทธิ์ของตนได้ยังไงในเมื่อกฎหมายยังคลุมเครือ” เริงฤทธิ์อธิบาย         แม้กฎหมายจะเปิดทางให้ผู้ประกอบการใช้ดุลพินิจเองว่าจะเก็บหรือไม่เก็บเซอร์วิสชาร์จ แต่ถ้าธุรกิจใดเลือกจะเก็บ เริงฤทธิ์ก็เรียกร้องให้ต้องมีกฎหมายระบุชัดเจนลงไปว่าเงินที่ได้จากเซอร์วิสชาร์จต้องถูกนำมาแบ่งให้พนักงานทุกคนเท่าๆ กัน         ฟังดูสมเหตุสมผลที่จะเป็นเช่นนั้น พุธิตา กล่าวกับ ‘ฉลาดซื้อ’ ว่า         “ส่วนตัวรับไม่ได้ เซอร์วิสชาร์จเราเต็มใจจ่ายให้พนักงานที่มาดูแลเรา ถ้าเขาเก็บเข้าร้าน อันนี้ไม่ถูกต้อง แสดงว่ามันไม่ใช่ค่าอาหารที่แท้จริง แอบเสียบในเซอร์วิสชาร์จ ถ้าคุณจะเก็บเข้ากำไร คุณต้องใส่ในค่าอาหาร ในฐานะผู้บริโภค เดี๋ยวนี้มีการรณรงค์ว่าเวลาบริจาคไปตรวจสอบได้มากแค่ไหน อันนี้ก็เหมือนกัน เราพร้อมจ่ายเซอร์วิสชาร์จ แต่มันไปถึงคนที่เราอยากจะจ่ายให้จริงๆ หรือเปล่า ถ้ามันไม่ถึง เราทิปให้ยังจะง่ายกว่าอีก แต่ประเทศไทยมันไม่มีอะไรให้ตรวจสอบได้เลย ตอนที่มีดราม่าก็เคยลองอ่านดู มันมีบางคนที่ไม่ได้จริงๆ” ค่าแรงขั้นต่ำที่ต่ำเกินกว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี         เหมือนเป็นประโยคแบบมีเงื่อนไข กล่าวคือเพราะค่าแรงต่ำ เซอร์วิสชาร์จจึงต้องมี ดังนั้น ถ้าค่าแรงสูง เซอร์วิสชาร์จก็ไม่จำเป็น จริงๆ แล้วไม่ใช่ประโยคแบบมีเงื่อนไข เซอร์วิสชาร์จควรเรียกเก็บเป็นปกติเพื่อให้แก่การบริการของพนักงาน เป็นสิ่งที่เริงฤทธิ์และพุธิตาเห็นสอดคล้องกัน         เมืองไทยค่าแรงขั้นต่ำถูกนิยามว่าเป็นค่าตอบแทนที่คนทำงานได้รับซึ่งเพียงพอต่อค่าครองชีพของแรงงานคนนั้นเพียงคนเดียว แต่ค่าแรงขั้นต่ำตามนิยามสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) หรือ ILO ค่าแรงขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการยังชีพตามอัตภาพของคนงาน รวมถึงภรรยาและบุตรอีก 2 คน เห็นได้ชัดว่าค่าแรงขั้นต่ำของไทยห่างไกลจากหลักการสากลไปมาก         ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ เป็นต้น ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ แต่ใช้หลักการเจรจาร่วมระหว่างสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งและนายจ้าง ซึ่งต่างจากไทยที่นายจ้างเข้มแข็งมาก ส่วนสหภาพแรงงานอ่อนแอ         เหตุนี้ เงื่อนไขเดียวที่เริงฤทธิ์ยอมรับได้ถ้าจะไม่มีเซอร์วิสชาร์จคือ         “ถ้าจะไม่มีเซอร์วิสชาร์จ คุณต้องทำให้แรงงานมีอำนาจที่จะรวมตัวและต่อรองขึ้นค่าแรงของตนเองได้โดยอิสระ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 คลินิกเสริมความงามแอบรูดบัตรเครดิตเกินราคา

        คลินิกเสริมความงามหลายแห่งมักจัดโปรโมชันพิเศษราคาถูก เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการในร้านให้ได้ก่อน หลังจากนั้นพนักงานขายจะพยายามโน้มน้าวชักชวนให้ลูกค้าซื้อคอร์สต่อเนื่องในราคาที่แพงกว่าหลายเท่า ผู้บริโภคจึงต้องดูเงื่อนไขและราคาให้รอบคอบจะได้ไม่เจอปัญหาเหมือนอย่างคุณนารี         วันหนึ่งขณะที่คุณนารีนั่งเล่นเฟซบุ๊กอยู่ ก็มีโฆษณาของคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่ง เด้งขึ้นมานำเสนอคอร์สกำจัดขนใต้รักแร้ในราคาโปรโมชั่นพิเศษ เธอจึงสนใจและตัดสินใจเดินทางไปที่คลินิกที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าใหญ่แถวลาดพร้าว หลังจากโอนเงิน 1,990 บาท ชำระตามเงื่อนไขโปรโมชั่นแล้วก็นั่งรอคิวรับบริการ ระหว่างนั้นมีพนักงานขาย 2 คนเข้ามาแนะนำว่าโปรโมชั่นนี้ไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา และเสนอขายคอร์สที่ราคาสูงกว่าคือ 23,000 บาท ลดเหลือ 15,000 บาท (ทั้งหมด 12 ครั้ง ไม่มีวันหมดอายุ แถมคอร์ส Cooling Cell ฟรี 1 ครั้ง) แต่เธอปฏิเสธไป         หลังจากนั้น ขณะที่พนักงานกำลังเลเซอร์ขนใต้รักแร้ให้คุณนารีอยู่ พนักงานขายคนเดิมก็เข้ามาขายคอร์สอีกรอบ และจงใจให้พนักงานหยุดให้บริการจนกว่าเธอจะตอบตกลง โดยเสนอคอร์สเดิมในราคาใหม่ที่ 10,000 บาท เธอคำนวณดูแล้วก็คิดว่าคุ้ม จึงตอบตกลง แล้วหยิบบัตรเครดิตส่งให้พนักงานขายไป เพื่อชำระเงินส่วนที่ต้องจ่ายเพิ่มอีก 8,010 บาท (ก็ตอนนั้นกำลังทำเลเซอร์อยู่) เมื่อรับบริการเสร็จแล้ว วันนั้นเธอก็กลับบ้านพร้อมกับใบเสร็จรับเงิน 10,000 บาท โดยไม่ได้เอะใจอะไร         ผ่านไป 2 วัน คุณนารีเพิ่งมาเช็คยอดเงินที่จ่ายไป ถึงได้รู้ว่าพนักงานรูดเงินไป 10,000 บาท ซึ่งเกินราคาที่ตกลงซื้อไว้ เธอจึงได้ติดต่อขอเงินส่วนที่จ่ายเกินไป 1,990 บาทคืน แต่ทางคลินิกปฏิเสธในครั้งแรก และแจ้งภายหลังว่าขอพิจารณาโดยไม่ได้กำหนดวันที่แน่ชัด ทำให้เธอไม่อยากจะใช้บริการคลินิกนี้อีกแล้ว จึงยืนยันขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน 10,000 บาท แต่ทางบริษัทไม่ยอมคืนเงินให้ โดยอ้างว่าได้ไลน์ไปแล้ว แต่เธอไม่ได้ทักท้วงในตอนนั้นจึงถือว่ายอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น คุณนารีเห็นว่าข้ออ้างของทางคลินิกไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค จึงโทรศัพท์มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ คุณนารีสามารถขอยกเลิกบริการได้ภายในระยะเวลา 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับบริการ โดยดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้         1.นำเรื่องไปบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานทีตำรวจในท้องที่         2.ทำหนังสือบอกยกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน (ส่งภายใน 45 วันนับตั้งแต่ทำสัญญา) โดยทำเป็นไปรษณีย์ตอบรับ สำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         3.ทำจดหมายถึงธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้ทำเป็นแบบไปรษณีย์ตอบรับเช่นเดียวกัน และสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         4.ถ้ามีข้อความกำหนดไว้ว่า ไม่สามารถยกเลิกได้ ถือว่าข้อความในสัญญานั้นไม่เป็นธรรม        5. ถ้าทางคลินิกไม่ยกเลิกให้ตามที่ผู้ร้องทำหนังสือไป ผู้ร้องสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ โดยไม่ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมศาลหรือค่าขึ้นศาลแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 พลังงานไทยไม่เป็นธรรมตรงไหน?

        เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมเสวนาออนไลน์ Just Energy Transition Talk ครั้งที่ 1 ที่ The Cloud กลุ่ม RE100 และป่าสาละ จัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนผ่านตัวแทนจากแต่ละภาคส่วน ว่า ‘ทำไมต้องเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม?’ ผมไปในฐานะตัวแทนสภาองค์กรผู้บริโภค ตั้งใจและเตรียมตัวเต็มที่เลย ผมไปบรรยายพร้อมกับสไลด์อัปเดตข้อมูลด้านพลังงานกว่า 40 หน้า         ผมยกคำพูดของดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ ผู้ที่ทำงานอย่างไม่ย่อท้อเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลก ที่ว่า “การปล่อยให้พ่อค้าพลังงานฟอสซิลเขียนนโยบายพลังงาน ก็เหมือนกับการปล่อยให้พ่อค้าบุหรี่เขียนแผนรณรงค์การไม่สูบบุหรี่” มาย้ำอีกครั้ง และเสนอภาพให้เห็นว่าการทำนโยบายพลังงานของประเทศเราหรือทุกประเทศ ล้วนถูกผูกขาดอยู่ด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แล้วก็มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็คือพ่อค้าพลังงานฟอสซิลนั่นเอง นี่ก็คือความไม่เป็นธรรมข้อแรก         ทุกวันนี้เทคโนโลยีพลังงานหลายอย่างมาบรรจบกันในทางที่ดีและราคาถูกลง ซึ่งวิศวกรกลุ่มหนึ่งของ “Institute for Local Self Reliance” (ILSR) ที่ผมติดตามมานานแล้ว เขาบอกว่าเราใช้เทคโนโลยี 5 อย่างคือ แบตเตอรี่ โทรศัพท์มือถือ โซล่าเซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และกังหันลม ที่เปรียบเหมือน 5 จอมเทพนี้ที่มาปราบระบบพลังงานแบบเก่าที่เราใช้อยู่ตอนนี้ได้เลย         ตอนนี้เริ่มมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าทำได้จริง เช่น การผลิตไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีประชากร 40 ล้านคน ที่นั่นใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้สามารถส่งไฟฟ้าเข้าสายส่งได้โดยไม่จำกัดจำนวน แสงอาทิตย์มาก่อนใช้ก่อน ลมมาก่อนใช้ก่อน ใช้เต็มที่ไปเลย พอไม่มีแดดแล้วก็ไปเอาไฟฟ้าจากก๊าซมา อย่างบ้านเราผมว่าไฟฟ้าจากชีวมวลเยอะมาก ทำกันดีๆ เอามาใช้ตอนหัวค่ำที่เปลี่ยนผ่านตรงนั้นก็ได้แล้ว จริงๆ รัฐทำได้ทุกอย่าง ถ้าอยากจะทำนะ         หรืออย่างที่หมู่บ้าน Wildpoldsried ทางตอนใต้ของเยอรมัน มีประชากร 2,500 คน สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าที่เขาใช้ถึง 8 เท่าตัว ตอนที่ได้ 5 เท่าตัว ผมจำตัวเลขได้ว่าเขาขายไฟฟ้าได้ปีละ 4 ล้านยูโร ณ วันนี้อาจจะเป็น 6-7 ล้านยูโรแล้วก็ได้ เขาได้ผสมผสานหลายอย่าง มีกังหันลม มีโซล่าเซลล์ 190 กว่าหลัง อาคารสำนักงานข้าราชการก็ใช้โซล่าเซลล์หมด แล้วเอาเงินมาแบ่งกันตามสัดส่วน         คราวนี้กลับมาดูในบ้านเรา ผมได้ยกตัวอย่างเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ผู้นำประเทศเราบอกว่ามีน้อย ไม่เสถียร กลางคืนจะเอาอะไรใช้ แต่ปรากฎมีข้อมูลสำรวจของนักวิทยาศาสตร์พบว่า พลังงานแสงอาทิตย์นั้นมีมากกว่าที่มนุษย์ทั้งโลกใช้ถึงหมื่นเท่าตัว และจากที่ผมได้เล่าไปแล้วถึงมติ ครม. 27 ก.ย. 65 (ซึ่งเป็นช่วงที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี) ที่ให้ติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านโดยใช้ระบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) ได้ ซึ่งเป็นระบบที่ประหยุดที่สุด ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม ติดเข้าไปได้เลย แล้วแลกไฟฟ้ากันในราคาที่เท่ากัน สิ้นเดือนก็มาคิดบัญชีกัน ใครจ่ายมากจ่ายน้อยก็ว่ากันไปตามนั้น แต่มาถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในทางปฏิบัติเลย         ประเทศไทยเราผลิตไฟฟ้าจากก๊าซมากที่สุดถึง 54% ถ้าเราเปลี่ยนจากก๊าซเป็นแดด จะประหยัดเงินได้ 3 แสนล้านต่อปี นี่เห็นชัด แก้จน สร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้ทันทีเลย และทั้งๆ ที่ธรรมชาติของสายส่งไฟฟ้านั้น ไฟฟ้าสามารถเดินได้ 2 ทาง เข้าบ้านเราก็ได้ ออกจากบ้านเราได้ 2  แต่ตลอดมามันเดินทางเดียว คือจากโรงไฟฟ้ามาเข้าบ้านเราอย่างเดียว แล้วเงินของเราก็เดินทางเดียวเหมือนกัน คือจากกระเป๋าเราไปเข้ากระเป๋านายทุน  เราก็เลยจนลงๆ เจ้าของโรงไฟฟ้าก็รวยเอา รวยเอาจนรวยที่สุดในประเทศไทยแล้ว         ปัจจุบันไทยมีการสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 60% แสดงว่าไฟฟ้าล้นเกิน โดยปกติประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าเขาวัดกันที่อัตราการใช้ประโยชน์ คือดูว่าใน 1 ปี มี 8,760 ชั่วโมง มีการเดินเครื่องเต็มที่คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเวลาดังกล่าว โดยปกติโรงไฟฟ้าถ่านหินกับโรงไฟฟ้าก๊าซ เขาจะใช้อัตราการใช้ประโยชน์ 90% ของเวลาเต็มศักยภาพ  ที่น่าแปลกใจคือโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ได้ผลิตถึง 100% ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ได้เพียง 35% ต่ำมาก ในจำนวนนี้มี 5-6 แห่งยังไม่ได้เดินเครื่องเลย แต่ได้เงินไปในรูปของค่าความพร้อมจ่าย นี่คือสัญญาที่เป็นปัญหา สัญญาไม่เป็นธรรม เราทำสัญญายาว 25 ปี ในรูปไม่ซื้อก็ต้องจ่าย เมื่อโลกมีปัญหา เช่น โควิด-19 ประเทศมีปัญหาก้ปรับตัวไม่ได้         ทั้งๆ ที่มีรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งขององค์กรพลังงานสากล (IEA) ที่กระทรวงพลังงานของไทยร่วมทำวิจัยอยู่ด้วย ก็เสนอไว้ชัดเจนในเรื่องให้มีความยืดหยุ่น และเพิ่มพลังงานหมุนเวียนด้วย แต่ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานเราไม่ทำตามผลงานวิจัยที่ตัวเองไปทำ เราทำสัญญาแบบไม่ยืดหยุ่น เทคโนโลยีก็เป็นแบบที่ตายตัว ทั้งๆ ที่โลกทุกวันนี้เป็น VUCA World แล้ว มีทั้งความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และกำกวม แต่เรายังไปยึดอาของเก่า สัญญาเก่า 25 ปี เทคโนโลยีเก่า           ในภาพรวมของพลังงานไทย เราชูคำขวัญ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แต่ปรากฏว่าการพึ่งตนเองด้านพลังงานของเรากลับลดลง  ในปี 2554 เราเคยพึ่งตัวเองได้ 46% จากข้อมูลกระทรวงพลังงาน แต่ตอนนี้เราพึ่งตัวเองได้เพียง 24% เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงอนาคต จะยั่งยืนได้ยังไง แล้วคนจะไม่จนลงได้อย่างไง จนทั้งระดับครอบครัวและระดับประเทศ  เพราะต้องซื้อทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่แสงอาทิตย์ไม่ต้องซื้อ แต่ว่าถูกกฎระเบียบห้ามหมด พ่อค้าพลังงานฟอสซิลมายืนบังแดดอยู่         ประเทศไทยพูดถึงความมั่นคงทางพลังงานคือ มีใช้ มีพอ ราคาถูก แต่ที่จริงแล้วยังต้องมีมิติของคาร์บอนต่ำ เรื่องประสิทธิภาพ เรื่องท้องถิ่นที่ต้องให้คนท้องถิ่นเป็นผู้ควบคุมทั้งนโยบายและรายได้ รวมถึงมิติความเป็นธรรมอื่นๆ ด้วย         สรุปภาพรวมที่ผมนำเสนอในวันนั้นก็คือ เรื่องนโยบายเป็นเรื่องใหญ่เลย เรื่องแนวคิดพวกนี้ ทำยังไงให้ประชาชนเป็นผู้เขียนนโยบายพลังงาน ซึ่งผมเชื่อว่าโลกนี้ทุกอย่างมีทางออก ถ้าไม่เห็นแก่ตัว มีทางออกแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 กระแสต่างแดน

หาเงินง่าย         ปีที่แล้วมีหนุ่มสาวออสซี่ที่ต้องการหางานทำ ถูกหลอกให้ “วางเงิน” ไปไม่ต่ำกว่า 3,000 คน (ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 25 – 44 ปี) คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 8.7 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 200 ล้านบาท คณะกรรมาธิการการแข่งขันและผู้บริโภคของออสเตรเลีย (ACCC) เตือนผู้ที่กำลังหางานทำให้ระวัง “ข้อเสนอจ้างงาน”​ ที่พบเห็นในโซเชียลแพลตฟอร์ม ที่มักอ้างว่าเป็นงานเบา งานง่าย แต่รายได้ดีสุดๆแค่นั่งคลิกส่งคำสั่งซื้อสินค้าในแอปฯ หรือกดส่งรีวิว ก็ได้เงินวันละ 1,000 เหรียญแล้ว และถ้าขยันทำทุกวัน ก็ได้ปีละ 365,000 เหรียญ (8.3 ล้านบาท) เลยทีเดียว นอกจากจะขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้สมัครงานตอนที่ “ลงทะเบียน” เช่น ชื่อ อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ แล้ว มิจฉาชีพซึ่งอ้างตัวเป็นฝ่ายบุคคลของบริษัทชื่อดังที่ไม่ว่าใครก็ต้องรู้จัก จะขอให้ผู้สมัครวาง “เงินประกัน” ไว้ด้วยนั่นเอง  เหนือการควบคุม         เทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาเทศบาลกรุงปราก เมืองหลวงของสาธารณะรัฐเช็ก สั่งห้ามการจุดพลุหรือเล่นดอกไม้ไฟด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมและการลดความเดือดร้อนรำคาญของคนในพื้นที่ แต่ไม่ค่อยมีคนเชื่อฟัง ตำรวจจับและปรับผู้ฝ่าฝืนแทบไม่ไหว เจ้าหน้าที่กู้ภัยก็ได้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุคนบาดเจ็บจากการเล่นพลุถึง 83 สาย ยังมีกระจกหน้าต่างอาคารกว่า 30 หลังแตกกระจาย แถมด้วยเหตุไฟลุกไหม้บนหลังคาซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้พลุและดอกไม้ไฟยังเป็นของที่หาได้ง่าย ประเทศนี้เป็นผู้ส่งออกพลุรายใหญ่อันดับ 7 ของโลกด้วย สาธารณรัฐเช็กเคยเป็น “ประเทศคอมมิวนิสต์ที่เสรีมาก” ผู้คนซื้อหาเหล้าบุหรี่ราคาถูกมาดื่มหรือสูบกันได้ทุกที่ ใครจะปลูกกัญชาที่บ้านกี่ต้นก็ได้แม้จะมีกฎหมายห้าม รัฐบาลยุคนั้นมองว่าอิสระเล็กน้อยพวกนี้ทำให้ผู้คนไม่ลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องเสรีภาพ แต่มันกลับส่งผลให้รัฐบาลยุคต่อมาไม่สามารถควบคุมเรื่องใดได้อย่างจริงจังอีกเลย  ภาษีบินบ่อย         งานวิจัยพบว่าในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 20 ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาบนโลกใบนี้เกิดจากร้อยละ 1 ของประชากรเท่านั้น พฤติกรรมการเดินทางของคนกลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 124,000 ยูโร หรือ 4.4 ล้านบาทต่อปี จึงถูกจับจ้องเป็นพิเศษ ในสหภาพยุโรป ครึ่งหนึ่งของรายได้จากค่าโดยสารเครื่องบินมาจากร้อยละ 20 ของคนรายได้สูง ไม่ต่างกันกับที่อเมริกาเหนือ ทำให้ข้อเสนอเรื่องการจัดเก็บภาษีแบบบินมากจ่ายมาก ถูกพูดถึงอีกครั้ง นักวิจัยเสนอว่าภายในปี 2050 รัฐจะมีรายได้จากภาษีนี้มากถึง 121,000 ล้านเหรียญ เพื่อใช้เป็นทุนในการแก้ปัญหาโลกร้อน ทั้งนี้ยังไม่มีการพูดถึงการเก็บภาษีจากเหล่าซูเปอร์ริช ที่ใช้เวลาเพียง 5 นาทีก็สร้างคาร์บอนได้ในปริมาณที่คนทั่วไปต้องใช้เวลาถึงหนึ่งปีอย่าง ไคลี เจนเนอร์ ที่มักไปไหนมาไหนใกล้ๆ ด้วยเครื่องบินส่วนตัว หรือโรมัน อับราโมวิช เจ้าของเรือยอทช์ที่มีทั้งสระว่ายน้ำและลานจอดเฮลิคอปเตอร์ อยู่ก่อนขาย         โฆษณาขายแฟลตมือสองในราคา 688,888 เหรียญ (ประมาณ 17 ล้านบาท) ในเว็บไซต์ สร้างความสงสัยให้กับชาวเน็ตในสิงคโปร์อย่างมาก ไม่ใช่เพราะราคาแฟลตขนาด 5 ห้อง ที่แพงขึ้นจาก 50,000 เหรียญ (ประมาณ 4 แสนกว่าบาท) ที่ Housing Development Board (HDB) ขายให้กับผู้ซื้อเมื่อปี 2017 แต่เพราะสภาพใหม่เอี่ยมเหมือนไม่เคยมีผู้อยู่อาศัยมาก่อนต่างหาก ตามกฎหมายสิงคโปร์ เจ้าของแฟลตไม่มีสิทธิขายห้องก่อนจะได้อยู่อาศัยเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี หากไม่ต้องการอยู่ ก็จะต้องคืนห้องให้กับ HDB ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายเพื่อการเข้าถึงที่อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียม (มีข้อยกเว้นกรณีของบุคคลล้มละลายหรือคนที่ต้องการหย่าร้างจากคู่สมรส ที่สามารถขออนุญาตเป็นพิเศษได้) การฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวมีค่าปรับสูงสุด 50,000 เหรียญ และอาจถูกรัฐบาลริบห้องคืนด้วย   มาเร็วกว่ารถไฟ         ในปี 2024 ฝรั่งเศสจะเริ่มโครงการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อรองรับขบวนรถไฟความเร็วสูงที่จะทำให้การเดินทางระหว่างเมืองบอร์โดและตูลูส ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส สามารถเป็นไปได้ใน 3 ชั่วโมง โดยผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในระยะขับรถถึงใน 1 ชั่วโมงจากสถานีรถไฟ (ทั้งหมด 2,340 ชุมชน) จะถูกเรียกเก็บภาษีเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2023 รัฐบาลประเมินว่าจะสามารถเก็บภาษี SET หรือ Special Equipment Tax ได้ถึงปีละ 29.5 ล้านยูโร (ประมาณหนึ่งพันล้านบาท) โครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเปิดใช้ในปี 2032 มีมูลค่า 14,300 ล้านยูโร (ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท) งบประมาณร้อยละ 40 มาจากรัฐบาลท้องถิ่น ร้อยละ 20 จากสหภาพยุโรป เพราะรถไฟดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับสเปน ส่วนที่เหลือเป็นของรัฐบาลกลาง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ค่าเฉลี่ยกับความมั่นคงด้านพลังงานและของชีวิต

        เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จัดเสวนาเรื่อง “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟฟ้าแพง ขัดรัฐธรรมนูญ?” (อย่าลืมอ่านเครื่องหมายคำถามด้วยนะ) โดยผมเองได้มีโอกาสกล่าวเปิดการเสวนาในครั้งนั้น จึงขอถือโอกาสนำมาเล่าให้ชาว “ฉลาดซื้อ” ฟังในบางประเด็นดังต่อไปนี้ครับ         เอาเรื่องรัฐธรรมนูญก่อนเลยครับ         รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 56 วรรคสอง กำหนดว่า “โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใด ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้”นอกจากนี้ ในมาตรา 72 วรรคห้า กำหนดว่า “ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า รวมทั้งพัฒนาและสนับสนุนให้มีการผลิตและการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน” เป็นที่น่าสังเกตว่า คำว่า “ความมั่นคงด้านพลังงาน” เป็นคำที่เพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2560 สองฉบับก่อนหน้านี้คือปี 2540 และ 2550 ยังไม่มีครับ         เท่าที่ผมติดตามความหมายของ “ความมั่นคงด้านพลังงาน” ค่อยๆ พัฒนามาอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มต้นอย่างแคบๆ เช่น สามารถมีใช้ตลอดเวลา ราคาไม่แพง หากเป็นกรณีไฟฟ้าก็ต้องให้อุปสงค์กับอุปทานต้องเท่ากันตลอดเวลา เป็นต้น แต่ในระยะต่อมาความหมายเริ่มกว้างขึ้น เช่น มีมิติของความยั่งยืน ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำและมีความเป็นธรรม         ความจริงแล้วโลกรู้จัก “ความไม่มั่นคงด้านพลังงาน” ก่อนที่รู้จัก “ความมั่นคงด้านพลังงาน” เสียด้วยซ้ำ โดยเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่ประเทศกลุ่มโอเปค (OPEC) ขึ้นราคาน้ำมันดิบ 4 เท่าตัวในปี 2516  Evan Hillebrand ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (University of Kentucky Patterson School สหรัฐอเมริกา) ได้ให้ความหมายที่ลึกซึ้งมากว่า “ความมั่นคงทางพลังงานไม่ใช่แค่เรื่องความสำคัญของพลังงาน แต่เกี่ยวข้องกับว่าพลังงานมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติอย่างไร” ย้ำนะครับว่า มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติด้วย เหตุการณ์ประเทศรัสเซียถล่มโรงไฟฟ้าในประเทศยูเครนคงจะเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ได้อย่างดี มีคนสรุปว่า “ในช่วงที่อุณหภูมิหนาวจัดการทำลายโรงไฟฟ้าคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” มันสาหัสกว่าการทำลายความมั่นคงของชาติเสียอีก         ความมั่นคงด้านพลังงานไม่ใช่แค่หมายถึง (1) การมีพลังงานใช้ตลอดเวลา (2) ในราคาที่สามารถจ่ายได้และมีเสถียรภาพ แต่ยังคงหมายถึง (3) การพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย (4) มีการปล่อยคาร์บอนและมลพิษน้อย และ (5) มีความเป็นธรรม มีธรรมาภิบาลในการกำกับดูแล จากความหมายของศาสตราจารย์ Evan Hillebrand และความหมาย 5 ข้อข้างต้นพอสรุปได้ว่า “ประเทศใดไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล ประเทศนั้นไม่มีความมั่นคง” และน่าจะเป็นจริงกับเรื่องทั่วๆ ไปด้วย         ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้าทั้งประเทศคิดเป็นมูลค่า 3.65 แสนล้านบาท ซึ่งตอนนั้นค่าไฟฟ้ายังไม่ได้ขึ้นมากนัก ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี ค่าเอฟทีได้ขึ้นจาก 24.77 เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย (จำได้ใช่ไหมครับ)  ดังนั้นพอจะประมาณได้ว่า ค่าไฟฟ้าปี 2565 ทั้งปีน่าจะประมาณ 7.4-8.0 แสนล้านบาทซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีกิจการไฟฟ้า         คราวนี้มาถึงมาตรา 56 ที่พอสรุปให้กระชับได้ว่า การทำให้รัฐเป็นเจ้าของสาธารณูปโภค(ระบบการผลิตไฟฟ้า)น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้ แต่เนื่องจากระบบการผลิตไฟฟ้าประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนของโรงไฟฟ้าซึ่งนับถึงเดือนสิงหาคม 2565 มีจำนวน 53,030 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของรัฐหรือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ร้อยละ 32 ที่เหลือร้อยละ 68 ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนไปแล้ว ส่วนของโครงข่ายสายส่งเป็นของ กฟผ.ทั้ง 100%  และส่วนฝ่ายจัดจำหน่ายซึ่งเป็นของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงรวมกันเป็น 100%  การคิดความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของระบบไฟฟ้าว่าเป็นของรัฐหรือของเอกชนนั้น ควรจะคิดกันอย่างไร จะคิดรวมทั้งระบบทั้ง 3 ส่วน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้กรรมสิทธิ์ของรัฐก็น่าจะไม่น้อยกว่าร้อยละ 51    หรือจะคิดทีละส่วนๆ เพราะถือว่าหากส่วนใดส่วนหนึ่งไม่มีความมั่นคงก็ส่งผลให้ทั้งระบบก็ไม่มีความมั่นคงไปด้วย         ภาพบนเป็นภาพคนเอาเท้าข้างหนึ่งแช่น้ำเย็นอุณหภูมิลบ 60 องศาเซลเซียสซึ่งเย็นกว่าน้ำแข็ง เท้าอีกข้างหนึ่งแช่ในน้ำร้อนบวก 60 องศาเซลเซียส น่าจะพอลวกไข่ได้ เมื่อเป็นดังนี้ หากเราคิดตามหลักการหาค่าเฉลี่ยทางคณิตศาสตร์หรือทางสถิติ เราก็จะได้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของคนคนนี้ก็ยังเท่าเดิม คือ 37 องศาเซลเซียส  ทั้งๆที่ ในความเป็นจริงแล้ว เท้าทั้งสองข้างอาจจะเปื่อยพองไปแล้วก็ได้         สิ่งที่ผมยกมาเปรียบเทียบ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะครับ แต่มีคนเขียนเป็นหนังสือชื่อ How to lie with Statistics ขายดีด้วยทั่วโลก และมีคนแปลเป็นภาษาไทยว่า “วิธีปั่นหัวคนด้วยสถิติ”  ผมอธิบายเพิ่มเติมดังรูป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ผลสำรวจฉลากเยลลี่พร้อมดื่ม

        เยลลี่เหลวที่บรรจุในถุงพร้อมดื่ม มีทั้งที่ระบุว่าเป็น “ขนมเยลลี่คาราจีแนน” “ขนมเยลลี่คาราจีแนนและบุก” “วุ้นสำเร็จรูปคาราจีแนน” หรือ“วุ้นสำเร็จรูปคาราจีแนนแบบผสมบุกผง” ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้อิ่มท้อง จนหลายคนเลือกดื่มเยลลี่เหลวแบบนี้เพื่อควบคุมน้ำหนัก เพราะอร่อย หาซื้อง่ายและราคาถูก         ข้อมูลจากเอซี นีลเส็น (AC Nielsen) เผยว่า “ตลาดเยลลี่พร้อมดื่ม” มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยอยู่ที่ 9% ซึ่งสอดคล้องกับภาพที่เรามักเห็นเยลลี่พร้อมดื่มหลายสูตรและหลายรสชาติ วางเรียงอยู่ในตู้แช่ของร้านสะดวกซื้ออย่างละลานตา ชนิดที่ว่าเลือกไม่ถูกกันเลยทีเดียว ในปัจจุบันผู้ผลิตยังแข่งกันชูจุดขายด้านสุขภาพและความงาม โดยเน้นเป็นสูตรน้ำตาลน้อย แคลอรีต่ำและยังพ่วงผสมวิตามินต่าง ๆ คอลลาเจน ไฟเบอร์และสารอาหารอื่นๆ เพิ่มเข้าไปด้วย        นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์เยลลี่พร้อมดื่มจำนวน 22 ตัวอย่าง 6 ยี่ห้อ ที่มีวางขายในร้านสะดวกซื้อ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 มาสำรวจฉลากแสดงส่วนประกอบและฉลากโภชนาการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ผู้บริโภคเลือกชื้อได้ถูกปาก ปลอดภัยและคุ้มค่า         ผลการสำรวจฉลากในส่วนประกอบ พบว่า        1.สัดส่วนของปริมาณน้ำผลไม้ มากที่สุดคือ 30 % มี 3 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ คอลลาเจน , วิตามิน A ,C, E และแบล็คเคอร์แร้นท์ น้อยที่สุดคือ 8% มี 3 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A, วิตามินรวมและวิตามิน C+B        2.วัตถุกันเสีย 18 ตัวอย่าง ระบุว่าใช้  ( คิดเป็น 81.82 % ของตัวอย่างทั้งหมด )  และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ระบุว่าใช้ ได้แก่ เจเล่ เนสที กลิ่นทับทิม, กลิ่นแอปเปิ้ล ฮันนี่ และบลู วิตามิน เยลลี่    ส่วนเจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามินซี ระบุไว้ชัดเจนว่า”ไม่ใช้วัตถุกันเสีย”         3.วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล  19 ตัวอย่าง ระบุว่าใช้ (คิดเป็น 86.36% ของตัวอย่างทั้งหมด) และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ระบุว่าใช้ ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามิน A ,C, E และนูริช เมท แอลคาร์นิทีนและคอลลาเจน         ในส่วนฉลากโภชนาการ (ปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภค) พบว่า        1.พลังงาน มากที่สุดคือ 60 กิโลแคลอรี มี 5 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามินซี ,เซ็ปเป้บิวติเจลลี่  คอลลาเจน , กุมิ กุมิ เยลลี่ รสลิ้นจี่ , นูริช เมท ฝรั่งชมพูและแอลคาร์นิทีน ส่วนเจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A มีค่าพลังงานน้อยที่สุดคือ 20 กิโลแคลอรี        2.น้ำตาล มากที่สุด 14 กรัม คือ กุมิ กุมิ เยลลี่ รสลิ้นจี่ มีน้อยที่สุด 3 กรัม คือ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามิน A ,C, E        3.โซเดียม มากที่สุดคือ 75 มิลลิกรัม ได้แก่ ซี-วิต เยลลี่ รสส้มและรสเลมอน น้อยที่สุดคือ 10 มิลลิกรัม ได้แก่ เจเล่ ไลท์ เฟรช์ชี่ กลิ่นสตรอเบอรี่และกลิ่นบลูเบอร์รี่ ส่วนเจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A และเซ็ปเป้บิวติเจลลี่ ไฟเบอร์ ระบุว่าไม่มี           เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า แพงที่สุดคือ 0.12 บาท (8 ตัวอย่าง) ถูกที่สุดคือ 0.06 บาท (2 ตัวอย่าง)   ข้อสังเกต        - น้ำองุ่นขาว (จากองุ่นขาวเข้มข้น) เป็นน้ำผลไม้ที่นิยมใช้ในส่วนประกอบมากที่สุด (17 ตัวอย่าง)          - เจเล่ เนสที กลิ่นทับทิมและกลิ่นแอปเปิ้ลฮันนี่ ระบุคำเตือนถึงผู้ที่มีสภาวะฟินิลคีโตนูเรียไว้ว่า  ผลิตภัณฑ์มี “ฟินิลอลานีน”         - เจเล่ เยลลี่ บิวตี้  วิตามินซี ระบุว่าไม่ใช่อาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก        - 9 ตัวอย่าง มีปริมาณน้ำตาลต่อ 1 หน่วยบริโภค ตั้งแต่ 10 -14 กรัม ใน 1 วัน เราไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 24 กรัม ดังนั้นถ้าเราดื่มเยลลี่ที่มีน้ำตาล 14 กรัมต่อถุง ไป 2 ถุง เราก็จะได้รับน้ำตาลมากเกินไป ยังไม่นับว่ารวมถึงอาหารอื่นๆ ที่รับประทานในหนึ่งวันด้วย  ฉลาดซื้อแนะ        - หากต้องการลดน้ำหนัก ควรพิจารณาฉลากก่อนซื้อทุกครั้ง เพราะเยลลี่แต่ละยี่ห้อดื่มแล้วอิ่มท้องพอกัน แต่หากเผลอเลือกดื่มเยลลี่ที่มีน้ำตาลสูง อาจยิ่งเพิ่มความอ้วนได้        - ไม่ควรดื่มเยลลี่แทนมื้ออาหารหลักเพื่อลดน้ำหนัก เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นได้        - จากตัวอย่างเยลลี่พร้อมดื่มส่วนใหญ่ใส่วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล จึงไม่ควรดื่มปริมาณมากๆ บ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดการสะสมของสารสังเคราะห์เหล่านี้ จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้        -ในแต่ละวัน ถ้าเราได้รับวัตถุกันเสียในปริมาณน้อย ร่างกายจะสามารถกำจัดออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ แต่หากได้รับในปริมาณมากทุกวัน ตับและไตจะต้องทำงานหนักขึ้น และหากกำจัดออกไปไม่หมด ก็จะเกิดการสะสมในร่างกาย ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของตับและไตในการกำจัดสารเคมีเหล่านี้ลดลง และอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่อตับและไตได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่สุ่มเสี่ยงต่อการใส่วัตถุกันเสียหรือบริโภคแต่น้อย น่าจะดีต่อสุขภาพที่สุด        -ผู้บริโภคที่แพ้ปลา ควรหลีกเลี่ยงเยลลี่พร้อมดื่มที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนจากปลา        -หากเคยดื่มเยลลี่แล้วมีอาการปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน ให้สันนิษฐานว่ากระเพาะอาหารของคุณอาจไวต่อคาราจีแนน ทั้งนี้จากผลศึกษาเปรียบเทียบ 45 รายการโดยศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพสหรัฐ (National Center for Biotechnology Information: NCBI) เมื่อปี 2001 สรุปว่าการกินคาราจีแนนติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงต่อมะเร็งระบบทางเดินอาหารและลำไส้อักเสบ ข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อฉบับที่ 158 เยลลี่ กับสารกันบูดhttps://consumerthai.org (เรื่อง ปลอดภัยไหม..เมื่อต้องกินอาหารที่แถมสารกันบูด)https://www.thansettakij.com/business/marketing/539834https://brandinside.asia/jelly-for-beauty-and-healthy/https://waymagazine.org (เรื่อง คาร์ราจีแนน ภัยเงียบในกระเพาะอาหาร)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ตามดูการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่ม APEC

        เนื่องจากในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) เรามาตามดูการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มสมาชิกซึ่งมีจำนวน 21 สมาชิก (บางสมาชิกไม่ได้เป็นประเทศ)         ผมได้รวบรวมข้อมูลในปี 2015 และปี 2021 เพราะว่าในปี 2015 เป็นปีที่มีข้อตกลงปารีสเพื่อให้ประเทศต่างๆช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่วนใหญ่ก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ก๊าซนี้คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนและภัยพิบัติต่างๆ ตามมา แล้วก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่ก็มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคพลังงานและการขนส่งเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้นก็คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง         จำนวนประชากรของกลุ่มเอเปกมีประมาณ 37% ของโลก แต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันถึง 60% ของโลก ดังนั้น หากประเทศใดมีร้อยละของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2015 กับ 2021 เพิ่มขึ้นมากก็แสดงว่าประเทศนั้นๆให้ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติด้วยดี เรามาดูกันเลยครับ        จากข้อมูลในรูปข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า ในปี 2015 ของประเทศไทยปล่อยมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเล็กน้อย แต่พอถึงปี 2021 กลับต่ำกว่า ในขณะที่ประเทศเวียดนาม เริ่มจากเกือบศูนย์(มากไม่เห็นในรูป) จนพุ่งปรี๊ดถึง 10.53%  ในช่วงเวลาเดียวกัน         ความจริงดังกล่าวได้สะท้อนว่ารัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นรัฐบาลเดียวที่อยู่มาตลอดนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาโลกร้อนขององค์การสหประชาชาติเท่าที่ควร         นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นการลดการพึ่งพิงพลังงานจากต่างประเทศซึ่งมีราคาผันผวนเป็นอย่างมากนับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นต้นมา         อนึ่ง เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรีที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ออกมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมให้มีการใช้โซลาร์เซลล์บนหลังคาประชาชน โดยใช้ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า หรือ Net Metering  หากมติดังกล่าวได้รับการปฏิบัติจริง ผู้บริโภคจะสามารถลดภาระค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกหลายสตางค์ต่อหน่วยในงวดถัดไป การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านในประเทศไทยก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศออสเตรเลียซึ่งติดไปแล้วกว่า 3 ล้านหลังคา ทั้งๆ ที่มีจำนวนประชากรไม่ถึงครึ่งของประเทศไทย         จึงขอฝากให้ผู้บริโภคช่วยกันติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องปากท้องของผู้บริโภคที่นับวันจะชักหน้าไม่ถึงหลังแล้ว ยังจะช่วยลดภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >