ฉบับที่ 162 เมื่อคนร้ายงัดบ้าน เอาสมุดฝากเงินกับบัตรฯ ไปถอนเงิน

สำหรับฉบับนี้เป็นอุทาหรณ์ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคที่ต้องใช้บริการฝากเงินไว้กับธนาคาร และเหตุตามอุทาหรณ์อาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในยุคโจรผู้ร้ายชุกชุม ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534  โจทก์ทำสัญญาฝากเงินและเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ไว้กับจำเลยที่ 2 ที่สาขาชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์  ต่อมาวันที่ 25  มีนาคม 2549  มีคนร้ายงัดบ้านโจทก์แล้วลักทรัพย์สินไปหลายรายการรวมทั้งบัตรประชาชนและสมุดฝากเงินดังกล่าวไป  ในวันนั้นโจทก์ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจในทันที  และในวันเดียวกันเวลา 17.34 นาฬิกา โจทก์โทรศัพท์แจ้งศูนย์กรุงไทยโฟน หมายเลข 1551  ให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ศูนย์แจ้งว่ารับแจ้งอายัดเฉพาะบัตรถอนเงินและบัตรเครดิต ไม่รับแจ้งอายัดเงินฝาก หากจะแจ้งอายัดเงินฝากต้องแจ้งที่สาขาที่โจทก์เปิดบัญชีไว้  โจทก์ไม่ได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่สาขาชนแดน เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันเสาร์  ต่อมาวันที่ 26  มีนาคม 2549  ซึ่งเป็นวันอาทิตย์มีหญิงคนหนึ่งนำสมุดเงินฝากของโจทก์ไปถอนเงินจำนวน  280,000  บาท  ที่ธนาคารจำเลยที่ 2 สาขาย่อยฟิวเจอร์พาร์ครังสิต จังหวัดปทุมธานี  โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่สาขาย่อยฟิวเจอร์พาร์ครังสิต จังหวัดปทุมธานี ได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่หญิงคนดังกล่าวไป โจทก์จึงได้มาฟ้อง จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ธนาคารผู้เป็นนายจ้างให้ร่วมกันรับผิด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 แพ้คดี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน  จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาหลายประเด็น  แล้วผลจะเป็นอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 268/2556  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า.....คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่า เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1  มิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างย่อมหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลละเมิดแล้วโจทก์ยังบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจธนาคาร โจทก์ได้ตกลงทำสัญญาฝากเงินกับจำเลยที่ 2  และจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้จ่ายเงินให้แก่บุคคลอื่นที่แสดงตัวเป็นโจทก์ ทำให้โจทก์สูญเสียเงินในบัญชีเงินฝาก ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 2 ให้รับผิดในมูลฝากทรัพย์ด้วย  ดังนั้น  แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างหลุดพ้นความรับผิด จำเลยที่ 2 ก็หลุดพ้นความรับผิดเฉพาะในมูลละเมิดเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับฝากเงินต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ฝากเงินตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 659  วรรคสาม นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อต่อไปว่า ถ้าโจทก์เก็บรักษาบัตรประจำตัวประชาชนไว้กับตัวคนร้ายก็ไม่สามารถปลอมบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ได้ ถือว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วยนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่ามีคนร้ายงัดบ้านโจทก์แล้วลักทรัพย์สินไปหลายรายการ  บ้านเป็นเคหสถานซึ่งปกติบ่อมเป็นที่ปกป้องเก็บรักษาทรัพย์สินได้ การที่มีคนร้ายงัดบ้านโจทก์แล้วลักทรัพย์สินภายในบ้านโจทก์ รวมทั้งนำสมุดฝากเงินและบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ไปใช้ถอนเงินไปใช้ถอนเงินจากจำเลยที่ 2 จะถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อมิได้ ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ฯลฯ พิพากษายืน

อ่านเพิ่มเติม >