ฉบับที่ 235 ควรใช้ Far UVC ฆ่าเชื้อในสถานบริการหรือไม่

        องค์ประกอบของแสงอาทิตย์นั้นแบ่งง่าย ๆ เป็น แสงที่มองเห็นได้ (visible light) และ แสงที่มองเห็นไม่ได้ (invisible light) โดยแสงที่มองเห็นได้นั้นอยู่ในแถบความยาวคลื่นช่วงระหว่าง 400 – 700 นาโนเมตร ส่วนแสงที่มองไม่เห็นนั้นมีสองกลุ่มคือ กลุ่มที่มีความยาวคลื่นเกิน 700 นาโนเมตรขึ้นไป ซึ่งเรียกว่า อินฟราเรด (infrared) มีพลังงานต่ำกว่าพลังงานของแสงสีต่างๆ และอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความยาวคลื่นต่ำกว่า 400 นาโนเมตรลงมา ซึ่งเรียกว่า อัลตราไวโอเล็ท (ultraviolet หรือ UV) นั้น มีพลังงานสูงกว่าพลังงานของแสงที่มองเห็นได้        แสงอัลตราไวโอเล็ทนั้นมักแบ่งง่าย ๆ (www.who.int/uv/uv_and_health/en/) เป็น 3 ระดับคือ UVA (ความยาวคลื่น 315-400 นาโนเมตร), UVB (ความยาวคลื่น 280-315 นาโนเมตร) และ UVC (ความยาวคลื่น 100-280 นาโนเมตร) โดย UVA นั้นไม่ค่อยก่อปัญหาอะไรนักเพียงแค่ทำให้คนที่ผิวคล้ำโดยกำเนิดแล้วคล้ำหนักขึ้นกว่าเดิม แสง UVB เป็นแสงที่เมื่อส่องผิวราว 15-20 นาที ในช่วงเช้าและบ่ายแก่ ๆ จะช่วยในการสร้างวิตามินดี แต่ถ้ามากไปก็จะไม่ค่อยดี ระดับความร้อนอันตรายต่อผิวหนังชั้นล่างที่เป็นเซลล์มีชีวิตในลักษณะที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์และมีโอกาสขยายต่อเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ส่วนแสง UVC นั้นยังไม่ต้องพูดถึงเพราะแม้เป็นแสงที่มีพลังงานสูงมากจนฆ่าเซลล์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี แต่แสง UVC นี้ถูกดูดซับไว้ด้วยก๊าซโอโซนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก        ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรค Covid-19 นั้นได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายวิถีชีวิตแบบเดิมของมนุษย์ มนุษย์ปรับตัวให้อยู่กันแบบ นิวนอร์มอล อย่างไรก็ดีมีข่าวเรื่องหนึ่งที่ทั้งน่าตื่นเต้นและชวนให้กังวล นั่นคือ มีแนวความคิดในการใช้แสงที่มีความยาวคลื่นในช่วง far UVC (207-222 นาโนเมตร ซึ่งต่ำกว่าช่วงความยาวคลื่นที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโรคทั่วไปคือ ราว 245 นาโนเมตร) ช่วยในการฆ่าไวรัสที่ก่อโรคดังกล่าว โดยที่คนซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นและได้รับแสง far UVC ไม่ได้รับอันตราย         แนวความคิดนี้มันช่าง  โหด มัน ฮา เพราะ แสง far UVC นั้นเป็นแสงที่มีพลังงานทำลายล้างได้สูงกว่าแสง UVC ที่ 245 นาโนเมตรเสียอีก ซึ่งโดยพื้นฐานความเข้าใจของคนทั่วไปแล้ว แนวความคิดในการใช้แสงกลุ่ม UV เพื่อฆ่าไวรัสที่ก่อให้เกิด Covid-19 นั้น ควรทำได้เฉพาะการฆ่าไวรัสที่ปนเปื้อนบนพื้นผิววัตถุเท่านั้น แต่ปรากฏว่าเมื่อมีข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มในการใช้แสงกลุ่ม UV ในสถานที่ที่มีคนอยู่ได้ เลยเป็นประเด็นที่ควรหาความรู้มาศึกษากัน    Far-UVC light กับการฆ่าเชื้อโรค        ผู้เขียนได้พบข้อมูลจากบทความวิจัยเรื่อง Far-UVC light: A new tool to control the spread of airborne-mediated microbial diseases (doi:10.1038/s41598-018-21058-w) ซึ่งเผยแพร่ใน www.nature.com/scientificreports เมื่อปี ค.ศ. 2018 ในบทความแสดงให้เห็นว่า แสง far UVC ที่ขนาดความเข้มข้นต่ำคือ 2 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตรของแสง far UVC ที่ความยาวคลื่น 222 nm สามารถฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ที่อยู่ในฝอยน้ำ (aerosol) ได้มากกว่าร้อยละ 95 และกล่าวว่า น่าจะเป็นแนวทางที่ประหยัดสุดและได้ผลดีในการฆ่าไวรัสเช่น ไข้หวัดใหญ่ที่กระจายในอาคาร (ผลงานนี้ตีพิมพ์ก่อนมีการระบาดของ Covid-19)         งานวิจัยที่กล่าวถึงข้างบนเป็นผลงานของทีมนักวิจัยที่ Center for Radiological Research ของ Columbia University Irving Medical Center (CUIMC) ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นกลุ่มที่โดดเด่นในสหรัฐอเมริกา ในแวดวงที่ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ต่างๆ ของแสง UV เข้าใจว่า หน่วยงานนี้น่าจะมีความร่วมมือกับทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยทางญี่ปุ่น ทั้งนี้เพราะได้มีข้อมูลเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตถึงการทดสอบหลอด Care222® series ของบริษัทหนึ่งในญี่ปุ่นที่ปล่อยแสงความยาวคลื่น 222 นาโนเมตร (far UVC) ที่ได้รับการรับรองให้ใช้ฆ่าเชื้อในห้องปลอดเชื้อของโรงพยาบาลต่างๆ ว่า ได้ผลดี โดยมีเอกสารรับรองประสิทธิภาพของการใช้แสง far UVC ในการทำลายไวรัส ชื่อ Performance test for virus inactivation efficacy by UV irradiation จากสถาบัน Kitasato Research Center for Environmental Science (KRCES) สังกัด Kitasato University         ตัวอย่างงานวิจัยเพิ่มเติมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้แสง far UVC ในการฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ของกลุ่มนักวิจัยของ Columbia University นั้นเช่น บทความเรื่อง Germicidal Efficacy and Mammalian Skin Safety of 222-nm UV Light ตีพิมพ์ใน Radiation Research ปี 2017 ได้แสดงให้เห็นว่า far UVC (222 นาโนเมตร) ขนาด 0.036 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตร สามารถฆ่า methicillin-resistant Staphylococcus aureus ได้ และในบทความเรื่อง 207-nm UV Light—A Promising Tool for Safe Low-Cost Reduction of Surgical Site Infections. II: In-Vivo Safety Studies ตีพิมพ์ใน PLoS ONE ปี 2016 กล่าวถึงการฉายแสง far UVC (207 นาโนเมตร) ขนาด 157 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตร นาน 7 ชั่วโมง ให้กับหนูถีบจักรสายพันธุ์ที่ไม่มีขน (hairless SKH1-Elite strain 477 mice) แล้วปรากฏว่าเมื่อเวลาผ่านไป 48 ชั่วโมงหลังการได้รับแสง นักวิจัยได้ทำการศึกษาผิวหนังของหนูและพบว่า แสงที่ความยาวคลื่น 207 นาโนเมตรนั้นไม่ก่ออันตรายต่อผิวหนังหนู         ล่าสุดในปี 2020 ทีมนักวิจัยจาก Columbia University ได้เผยแพร่ข้อมูลในบทความชื่อ Far-UVC light (222 nm) efficiently and safely inactivates airborne human coronaviruses (doi: 10.1038/s41598-020-67211-2.) ใน www.nature.com/scientificreports ซึ่งเป็นการรายงานผลการทดลองใช้แสงที่ความยาวคลื่น 222 นาโนเมตรด้วยขนาดของแสงที่ 1.7 และ1.2 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตร ฆ่าเชื้อ coronavirus สายพันธุ์ alpha HCoV-229E และ beta HCoV-OC43 ที่อยู่ในสภาพเป็นละอองฝอย (aerosol) ตามลำดับได้สำเร็จถึงร้อยละ 99.9 จึงเสนอว่าการใช้แสง Far UVC ในลักษณะดังกล่าวน่าจะฆ่าเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรค Covid-19 ได้ (โคโรนาไวรัสมีพันธุกรรมใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่ใช้ในการทดลอง) ด้วยขนาดความเข้มข้นของแสงที่จำกัดไว้ที่ประมาณ 3 มิลลิจูล/ตารางเซนติเมตร/ชั่วโมง เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ร้อยละ 90, 95, 99.5 และ 99.9 ด้วยระยะเวลาการฉายแสง 8 นาที,11 นาที, 16 นาที และ 25 นาที ตามลำดับ โดยไม่ทำอันตรายต่อผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้น         สมมุติฐานที่อธิบายว่า far UVC ฆ่าไวรัสและเชื้อโรคอื่นๆ โดยไม่ทำอันตรายต่อผิวหนังและน่าจะรวมถึงชั้นเนื้อเยื่อของตานั้นเพราะแสงในระดับ far UVC ไม่สามารถทะลุผ่านเซลล์ชั้นบนๆ ของผิวหนังซึ่งตายแล้วรวมถึงชั้นเนื้อเยื้อ (tear layer) ของลูกตาได้ ดังปรากฏในคำสัมภาษณ์ของ David J. Brenner ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ของ Columbia University Irving Medical Center ในบทความเรื่อง Far-UVC Light Could Safely Limit Spread of Flu, Other Airborne Viruses ของเว็บ www.photonics.com         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่า มีผู้เสนอให้ใช้แสง far UVC บนเครื่องบินโดยสาร ซึ่งมีผู้โดยสารอยู่ในกรณีฉุกเฉินที่ทราบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้ออยู่บนเครื่องก่อนนำเครื่องลงที่สนามบินปลายทาง อย่างไรก็ดีผู้เขียนยังรู้สึกระแวงว่า จริงหรือที่ว่าแสง far UVC นั้นไม่เป็นอันตรายต่อตามนุษย์ ทั้งนี้เพราะ แสง far UVC นั้นมีพลังงานสูงมาก  จึงอาจทำให้เกิดความร้อนแก่บริเวณที่แสงสัมผัสหรือทำให้น้ำตาที่อยู่ในลูกตามีอุณหภูมิสูงขึ้น ถ้าผู้บริหารการใช้แสงไม่ชำนาญในการควบคุมปริมาณความเข้มแสงและช่วงเวลาการสัมผัสที่ถูกต้อง         ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดที่หาได้นั้นกล่าวว่า ปัจจุบัน US.FDA ยังไม่รับรองการใช้แสง far UVC ในสถานบริการที่มีผู้บริโภคอยู่ เพียงแต่ยอมให้หลอดกำเนิดแสงชนิดนี้ถูกใช้ในการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และห้องที่ต้องปลอดเชื้อเช่น ห้องผ่าตัดเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมีใครพยายามซื้อหลอดที่ให้แสง far UVC (ซึ่งอาจมีขายใน platform online ในไม่ช้านี้) เพื่อฆ่าไวรัสในสถานบริการในขณะที่มีผู้บริโภคอยู่ด้วย เช่น ผับ บาร์ อาบอบนวด สนามมวยหรือโรงภาพยนต์ เนื่องจากกระบวนการยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อโรคต่างๆ เช่น ระยะห่างระหว่างบุคคล (personal distancing) นั้นทำได้ลำบาก สถานที่ดังกล่าวจึงน่าจะเป็นเป้าหมายของสินค้านี้ แม้ยังไม่มีการประเมินความปลอดภัยก่อนก็ตาม “อย่าหาทำ”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ความจริงของ COVID-19 และวิธีการฆ่าไวรัส

ไวรัส COVID-19 คืออะไร        ไวรัสเป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งแต่แปลกแยกจากจุลินทรีย์อื่นๆ เช่นแบคทีเรีย ราและสาหร่าย ตรงที่ว่าไวรัสไม่ใช่สิ่งมีชีวิต   มันต้องอาศัยเซลล์ของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเพื่อเพิ่มจำนวน   สิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิดมีไวรัสเป็นปรสิต  แม้แต่อาร์เคียแบคทีเรียที่อาศัยในน้ำพุร้อนกรดยังมีไวรัสตามไปรังควาน   มนุษย์สุขภาพดีทั่วไปมีไวรัสแอบอาศัยอยู่ด้วยโดยไม่ก่อให้เกิดอาการป่วยประมาณ 5 ชนิดเลยทีเดียว (Wylie และคณะ 2014) และแน่นอนว่าไวรัสเหล่านี้พร้อมจะทำให้เราเจ็บป่วยหรือแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ทุกเมื่อ        Coronavirus disease of 2019 หรือ COVID-19 มีชื่อไทยว่าไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นน้องใหม่ล่าสุดลำดับที่ 7 ของไวรัสกลุ่มโคโรนาที่ก่อโรคหวัดในมนุษย์   ผู้ป่วยด้วยโรคหวัดทุกปีประมาณ 10-30% จะมีสาเหตุจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 229E, NL63, OC43 และ HKU1   ส่วนไรโนไวรัส (Rhinovirus) เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของโรคหวัด  แต่ก่อนใครเป็นหวัดก็ให้พักผ่อนและรักษาดูแลกันไปตามอาการ  ยาแก้ปวดลดไข้อย่างพาราเซตามอลก็กินไปเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานจากอาการของโรคไม่ได้เป็นยาต้านไวรัสและไม่มีใครสนใจหาสาเหตุด้วยซ้ำไปว่าเราเป็นหวัดเพราะติดไวรัสอะไรมา           พอเรามีน้องใหม่เข้ามา  ทั้งคนและไวรัสยังไม่ได้มีเวลาปรับตัวเข้าหากัน  ดังนั้นอัตราการติดต่อ การตายและความรุนแรงของโรคจึงเป็นที่น่าพรั่นพรึงของทุกคน   ไวรัสอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเจ้าบ้าน  ดังนั้นในที่สุดในอนาคตเจ้าโควิด-19 จะกลายเป็นไวรัสหวัดอีกชนิดหนึ่งที่ไม่มีใครสนใจสืบหาสาเหตุ  แต่กว่าจะถึงวันนั้นต้องรอจนกว่าจะมีวัคซีนหรือมียารักษาที่ได้ผลและปลอดภัยที่แพร่หลายเข้าถึงได้ทุกหมู่บ้าน  หรือใช้แนวคิด "การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่" (Herd Immunity) ที่มีประชากรอย่างน้อย 60% มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนหรือติดเชื้อ  ทั้งสามความหวังนี้เราต้องรออย่างน้อย 1-2 ปี           งานวิจัยเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อื่น พบว่าผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วและตรวจพบว่ามีแอนติบอดีต่อเชื้อยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์เดิมซ้ำอีกครั้งเพียง 4 เดือนถึง 2 ปี หลังจากการติดเชื้อครั้งแรก (Callow และคณะ 1990)  ในปัจจุบันเรายังมีความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 น้อยมาก  ระหว่างนี้ก็อยู่ห่างๆ เจ้าโควิด-19 กันไว้ก่อนดีกว่า   การติดโควิด-19 มักจะเกิดจากการสูดเอาละอองสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อที่หายใจไอจามออกมาแล้วล่องลอยอยู่ในอากาศเข้าไป  มีรายงานว่าละอองลอยของโควิด-19 ยังก่อการติดเชื้อได้แม้ว่าล่องลอยในอากาศนานถึง 3 ชั่วโมง  บนพื้นผิวอยู่ได้ตั้งแต่ 2-10 วันขึ้นไป (van Doremalen และคณะ 2020)         โควิด-19 เป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอ  ห่อหุ้มด้วยเปลือกโปรตีนหรือแคพซิด (capsid)  มีชั้นไขมันหุ้มล้อมรอบแคพซิดอีกชั้นหนึ่งเรียกว่าเปลือกหุ้ม (envelope) บนเปลือกหุ้มของมันมีโปรตีนคลุมด้วยกลุ่มคาร์โบไฮเดรทเป็นปุ่มๆ (spikes) เมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจะเห็นอนุภาคของไวรัสคล้ายมงกุฎ (ภาษาลาติน corona แปลว่า crown หรือ มงกุฎ) จึงเป็นที่มาของชื่อไวรัส   เปลือกหุ้มชั้นนอกสุดเป็นชั้นไขมันทำให้ถูกทำลายได้ง่ายเมื่อเทียบกับไวรัสพวกที่ไร้เปลือกหุ้ม           เมื่อเรารู้โครงสร้างของโควิด-19 แล้ว การจะทำลายมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ยาก  แต่ที่ยากคือต้องทำให้ถูกต้อง จึงจะสามารถใช้วิธีต่าง ๆ ในการทำลายไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้  ช่วงที่มีการระบาดรุนแรงเป็นช่วงฝุ่นตลบ ใครคิดว่ามีวิธีการอะไรดีก็เอามาแจกจ่ายเพื่อนฝูงผ่านทางโซเชียล ซึ่งบางครั้งไม่ถูกต้องและอาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้อีกด้วย  ดังนั้น ในบทความนี้จะสรุปวิธีการที่ประชาชนทั่วไปพอจะสามารถใช้เพื่อกำจัดไวรัสโควิด-19 นี้ได้ ดังต่อไปนี้  1. การล้างมือด้วยสบู่          การล้างมือด้วยสบู่เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดในการกำจัดไวรัส เนื่องจากสบู่มีฤทธิ์สองลักษณะคือ เป็นสารลดแรงตึงผิวทำให้สามารถกำจัดไวรัสไปจากพื้นผิวซึ่งคือผิวหนังของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้ สบู่ยังสามารถละลายไขมันได้ด้วย  ดังนั้นจึงมีความสามารถในการฆ่าแบคทีเรียและไวรัสได้ด้วย  โควิด-19 ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชั้นไขมันหุ้มจึงโดนทำลายได้ด้วยสบู่อย่างง่ายดาย   อย่างไรก็ตาม การล้างมือด้วยสบู่จะต้องมั่นใจว่าทำความสะอาดได้ทุกซอกมุมบนมือได้แก่ ฝ่ามือ หลังมือ นิ้ว ซอกนิ้ว ซอกเล็บและข้อมือ และต้องออกแรงถูสักเล็กน้อยและใช้เวลาล้างมือนานพอสมควร (ร้องเพลงช้าง หรือ happy birthday 1 รอบ)  ซึ่งวิธีการล้างมือที่ถูกต้องได้มีการเผยแพร่แล้วโดยกระทรวงสาธารณสุข   นอกจากสบู่แล้วสารซักฟอกทุกชนิด เช่น ผงซักฟอก  ยาสระผม  ยาสีฟัน  น้ำยาล้างจาน และสารอื่นที่สามารถทำให้เกิดฟองได้ จะมีความสามารถกำจัดไวรัสและแบคทีเรียได้เช่นเดียวกับสบู่ 2. การใช้แอลกอฮอล์เจล 70%          การใช้แอลกอฮอล์เจลเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สะดวกและปลอดภัย สามารถใช้ได้ทุกที่โดยเฉพาะเมื่อลงจากขนส่งสาธารณะหรือสัมผัสกับสิ่งของที่คิดว่าจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรค   แอลกอฮอล์มีผลในการละลายไขมันเช่นกันซึ่งจะทำให้โควิด-19 ถูกทำลายได้เนื่องจากมันมีเปลือกหุ้มที่ประกอบด้วยไขมัน   แอลกอฮอล์เจลที่ให้ผลในการกำจัดจุลินทรีย์รวมทั้งไวรัสโควิดจะต้องมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมอย่างน้อย 70%  รวมทั้งจะต้องให้เวลาการสัมผัสแอลกอฮอล์เจลนานไม่น้อยกว่า 30 วินาทีจึงจะให้ผลการฆ่าเชื้อได้ดีที่สุด (Hirose และคณะ 2019) เนื่องจากแอลกอฮอล์ 70% ส่วนใหญ่จะระเหยอย่างรวดเร็วเมื่อถูกับมือ  ดังนั้นจึงแนะนำว่าควรใช้สองครั้งติดต่อกันเพื่อให้มีเวลาสัมผัสกับเชื้อนาน 30 วินาที   เราต้องทำลายไวรัสให้หมด เพราะว่าในปัจจุบันนี้เรายังไม่ทราบจำนวนอนุภาคที่ทำให้เกิดโรค (infectious dose) นั่นคือจำนวนไวรัสน้อยที่สุดที่ทำให้เกิดโรคได้           บนขวดแอลกอฮอล์เจลมักจะเขียนว่าฆ่าเชื้อโรค 99.99% หมายความว่า ถ้าบนมือเรามีไวรัส 100,000 อนุภาค ใช้เจลถูมือ 1 รอบจะเหลือ 10 อนุภาค ซึ่งไม่แน่ว่า 10 ตัวนี้อาจก่อให้เกิดโรคก็ได้   นอกจากนี้ ไวรัสมักอยู่ในน้ำมูกน้ำลายที่มีลักษณะเป็นเมือกๆ เหนียวๆ ซึ่งสารคัดหลั่งซึ่งจะลดประสิทธิภาพการทำงานของแอลกอฮอล์เจลลงไปอีก (Hirose และคณะ 2019)   ผู้ป่วยโควิด-19 บางรายมีไวรัสในเสมหะได้สูงถึงแสนล้านอนุภาคต่อมิลลิลิตร (1.34 x 1011 อนุภาคต่อมิลลิลิตร)  (Pan และคณะ, 2020)    การใช้แอลกอฮอล์เจลที่มีสัดส่วนของแอลกอฮอล์น้อยกว่าเช่น 40% หรือเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ที่มากเกินไปเช่น 90-100% ก็ให้ผลตรงกันข้ามคือไม่สามารถกำจัดไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Kampf 2018)    การใช้สุราหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น วิสกี้ บรั่นดี วอดก้า เบียร์ ไวน์ เหล้าโรง อุ สาโท ฯลฯ ไม่สามารถฆ่าไวรัสได้   นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ที่ควรใช้ในการผลิตแอลกอฮอล์เจลคือ เอธิลแอกอฮอล์หรือไอโซโพรพิลแอกอฮอล์ (แอลกอฮอล์ล้างแผล)         ห้ามใช้เมธิลแอลกอฮอล์ เนื่องจากสามารถซึมเข้าทางผิวหนัง การใช้เป็นระยะเวลานานเป็นอันตรายต่อดวงตา อาจทำให้ตาบอดได้ถ้ากระเด็นเข้าตา   และเนื่องจากแอลกอฮอล์เจลหรือแอลกอฮอล์มีราคาแพง ในการทำความสะอาดพื้นผิวเช่น เก้าอี้ โต๊ะ พื้น จึงสามารถใช้น้ำสบู่หรือน้ำผงซักฟอกแทนได้ 3. โซเดียมไฮโปคลอไรต์         โซเดียมไฮโปคลอไรต์หรือสารฟอกขาว (household bleach)  สารประกอบเหล่านี้มีความสามารถในการทำลายเชื้อโดยคลอรีนที่เกิดขึ้นจะทำลายโปรตีนของไวรัส  ดังนั้นในการทำความสะอาดพื้นบ้านที่มีผู้ป่วย  ให้เจือจาง 5% โซเดียมไฮโปคลอไรต์ (น้ำยาซักผ้าขาวที่มีขายตามท้องตลาด) ให้ได้ความเข้มข้นสุดท้ายอย่างน้อย 0.1% หรือพูดง่าย ๆ ใช้น้ำยาซักผ้าขาว 1 ส่วนผสมน้ำ 49 ส่วน   แต่การทำความสะอาดห้องน้ำและสุขภัณฑ์ควรใช้ความเข้มข้นสูงกว่าคือใช้ที่ความเข้มข้น 0.5% โซเดียมไฮโคลอไรต์  นั่นคือใช้น้ำยาซักผ้าขาว 1 ส่วน ผสมน้ำ 9 ส่วน   การเช็ดต้องเช็ดให้ชุ่มและทิ้งไว้อย่างน้อย 5 นาที  ข้อควรระวังในการใช้โซเดียมไฮโปคลอไรต์คือสารอินทรีย์บนพื้นผิวจะทำให้โซเดียมไฮโปคลอไรต์หมดประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรค  ไอระเหยของโซเดียมไฮโปคลอไรต์เป็นอันตรายต่อสุขภาพและต้องสวมถุงมือทุกครั้งที่สัมผัสกับสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (FIOH 2020)   อย่างไรก็ตาม พื้นผิวบางชนิดเช่นโลหะอาจเสียหายเมื่อสัมผัสกับโซเดียมไฮโปคลอไรต์   เราสามารถสามารถใช้ผงซักฟอกแทนได้ โดยละลายน้ำให้ได้ความเข้มข้นเช่นเดียวกับที่ซักผ้าหรือตามผู้ผลิตกำหนด  ผงซักฟอกมี pH 9 และสารลดแรงตึงผิวทำงานร่วมกันทำลายเยื่อหุ้มอนุภาคไวรัส  ถูให้พื้นเปียกทิ้งไว้ 15 วินาที จากนั้นล้างอีกครั้งด้วยน้ำเปล่าเพื่อกำจัดคราบผงซักฟอก (National Environment Agency, 2020) 4. ฟีนอล         สารออกฤทธิ์ในเดทตอล คือ สารประกอบประเภทฟีนอล (Chloroxylenol) จะทำลายจุลินทรีย์และไวรัสโดยการทำให้โปรตีนเสียสภาพ   ผู้บริโภคควรระวังเนื่องจากเดทตอลที่วางจำหน่ายในท้องตลาดมีสองชนิด คือชนิดที่มีมงกุฎสีฟ้าบนเครื่องหมายการค้า (น้ำยาฆ่าเชื้อโรค Dettol Antiseptic Liquid) จะสามารถใช้กับร่างกายได้ เช่นสำหรับล้างแผลหรืออาบน้ำ รวมทั้งฆ่าเชื้อที่พื้นผิวด้วย  ส่วนอีกชนิดไม่มีมงกุฎสีฟ้า (ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคอเนกประสงค์ Dettol Hygiene Multi-Use Disinfectant) เป็นชนิดที่ไม่สามารถใช้กับร่างกายได้โดยตรง มักจะใช้สำหรับการฆ่าเชื้อบริเวณพื้นผิว  ทั้งสองชนิดสามารถฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้ ผู้ใช้ต้องเจือจางให้เหมาะสมตามที่แนะนำข้างฉลาก 5. แสงอุลตราไวโอเลต (UV)         แสงอุลตราไวโอเลตหรือแสง UV เป็นคลื่นแสงที่มีความยาวคลื่นต่ำและมีผลในการทำลายสารพันธุกรรมของไวรัสหรือจุลินทรีย์อื่น   ดังนั้นแสง UV จึงสามารถฆ่าโควิด-19 ได้ แสง UV จากดวงอาทิตย์ที่ฉายมายังโลกมนุษย์มีสามชนิด คือ UVA UVB และ UVC ซึ่ง UVA และ UVB สามารถผ่านชั้นบรรยากาศมายังพื้นโลกได้  แต่แสง UV ที่สามารถฆ่าไวรัสได้คือ UVC เท่านั้น ซึ่งจะไม่สามารถผ่านชั้นบรรยากาศลงมาได้ ดังนั้น การยืนตากแดดจึงไม่สามารถฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้           อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้มีหลอดไฟที่ผลิตแสง UVC ได้และสามารถใช้ฆ่าโควิด-19 และมีการประดิษฐ์เครื่องมือที่ใช้แสง UVC สำหรับฆ่าเชื้อบนธนบัตรหรือหน้ากากอนามัยได้ แต่หลอดอุลตราไวโอเลตตามปกติไม่มีใช้ทั่วไปตามบ้านเรือน จะใช้เฉพาะในห้องผ่าตัด ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา  ห้องปลอดเชื้อตามโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ    และการใช้แสง UVC มีผลต่อมนุษย์มาก เช่น หากโดนแสง UVC เป็นเวลานานจะเกิดมะเร็งผิวหนังได้และอาจก่อให้เกิดจอตาเสื่อมหรือต้อกระจกได้หากมองรังสี UVC เป็นเวลานาน          นอกจากนี้การใช้แสง UV เพื่อฆ่าเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมีความเข้มแสงเพียงพอ ดังนั้นจึงขึ้นกับชนิดหลอดไฟ (วัตต์) และระยะห่างจากพื้นผิวที่ต้องการฆ่าเชื้อ   วัตถุที่โดนแสง UV เป็นเวลานานอาจทำให้เปลี่ยนสภาพไปเหมือนกับการวางตากแดดไว้เป็นเวลานาน เช่นพลาสติกอาจกรอบหรือสีอาจซีดลงได้  แสง UV ยังมีข้อเสียคือจะไม่ผ่านวัตถุทึบแสงหรือกระจก  ดังนั้นการฆ่าเชื้อธนบัตรหรือหน้ากากอนามัย ในขณะฆ่าเชื้อจึงไม่สามารถซ้อนทับกัน  สำหรับหลอดไฟ UV ที่ใช้ในการตรวจสอบธนบัตรไม่มีผลในการฆ่าเชื้อโควิด-19 6. การกรองไวรัส         คนไทยรู้จักการกรองและป้องกันตัวเองมาก่อนแล้วตั้งแต่ยุค pm2.5 ซึ่งทุกคนทราบว่าจะมีหน้ากากที่เรียกว่า N95 ซึ่งสามารถกรองฝุ่น pm2.5 ได้  ในปัจจุบันนี้มีหน้ากากมากมายหลายชนิด  แต่หน้ากากทุกชนิดไม่สามารถป้องกันไวรัสได้ 100%  ถึงแม้หน้ากาก N95 จะป้องกันไวรัสได้ดีที่สุดแต่ก่อนการใช้งานจะต้องทดสอบ fit test เพื่อให้หน้ากากแนบสนิทกับใบหน้ามากที่สุด จึงเหมาะสมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยจำนวนมาก   สำหรับบุคคลทั่วไปการใช้ surgical mask (หน้ากากอนามัยทั่วไปที่มีสีเขียว สีฟ้า สีขาว ฯลฯ) หรือหน้ากากแบบผ้าก็เพียงพอแล้ว          การใช้หน้ากากทุกชนิดให้มีประสิทธิภาพสูงสุดขึ้นกับวิธีการใช้หน้ากากให้ถูกต้อง  การใส่หน้ากากที่ถูกต้องจะต้องปิดทางเข้าของอากาศที่ไม่ผ่านหน้ากากให้ได้มากที่สุด สังเกตได้จากเราจะหายใจได้อึดอัดไม่สะดวก   การใส่แบบเห็นรูจมูกจะไม่มีผลในการป้องกันไวรัสเลย  หรือการไส่หน้ากากที่หลวมเกินไปไม่แนบกับใบหน้าก็จะป้องกันไวรัสได้น้อยกว่า  และการที่ผู้ที่ป่วยหรือผู้ที่เข้าข่ายเฝ้าระวังใส่หน้ากากจะช่วยให้เชื้อไม่แพร่กระจายไปคนอื่นได้มากถึง 90%          การกรองอีกวิธีหนึ่งคือการใช้ HEPA FILTER ที่มีใช้ในเครื่องฟอกอากาศต่าง ๆ  จนถึงปัจจุบันนี้ ไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศชนิดใดหรือระบบใดที่ได้รับการยืนยันว่าสามารถฆ่าโควิด-19 ได้  ไวรัสมีขนาดเล็กกว่า HEPA FILTER มาก ดังนั้นจึงสามารถลอดผ่าน HEPA FILTER ได้ คำถามยอดฮิตช่วงนี้คำถามยอดฮิตช่วงนี้สบู่เหลว สบู่ก้อน หรือโฟมล้างมือ ชนิดใดจึงเหมาะสมที่จะใช้ล้างมือป้องกันเชื้อ          สบู่ทุกประเภทรวมทั้งสารซักฟอกทุกชนิดมีผลในการทำลายจุลินทรีย์และไวรัสได้ใกล้เคียงกัน  จึงสามารถเลือกใช้ชนิดใดก็ได้ ว่ายน้ำจะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่         ตามปกติแล้ว ในสระว่ายน้ำจะใส่สารฆ่าเชื้อ ซึ่งอาจเป็นสระน้ำที่เติมคลอรีนหรือสระน้ำที่เป็นน้ำเกลือ   ในสระน้ำที่เติมคลอรีน  คลอรีนที่อยู่ในน้ำจะสามารถทำลายโควิด-19 เนื่องจากคลอรีนจะไปทำลายโปรตีนของไวรัส  และสระน้ำที่เป็นน้ำเกลือจะมีระบบเซลล์เกลือ (Salt chlorinator) เพื่อทำปฏิกิริยาไฟฟ้าและสร้างคลอรีนธรรมชาติ (Sodium hypochlorite – NaOCl) ที่สามารถฆ่าเชื้อโรคและ COVID-19 ได้เช่นกัน  ดังนั้นสระว่ายน้ำทั้งสองประเภทที่ดูแลรักษาระบบบำบัดน้ำให้ได้มาตรฐานจะทำลายโควิด-19 ได้แน่นอน  และจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อโควิด-19 จากสระว่ายน้ำ แต่การอยู่ร่วมกันใกล้ชิดอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย (https://www.babyswimmingthailand.com/) หน้ากากแบบผ้าก่อนซักต้องแช่น้ำยาฆ่าเชื้อหรือไม่        ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากการซักที่ใช้ผงซักฟอก สบู่หรือน้ำยาซักผ้าชนิดต่าง ๆ  ก็จะสามารถทำลายไวรัสโควิดได้แล้วจึงไม่จำเป็นต้องแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อก่อน การฉีดแอกอฮอล์หรือสารฆ่าเชื้ออื่นบนหน้ากากอนามัยจะช่วยฆ่าไวรัสได้ดีขึ้น         หน้ากากอนามัยจะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อผู้ที่เป็นโรคใส่เพื่อป้องกันการกระจายหรือการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น  การใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้อื่นสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องให้หน้ากากแนบกับใบหน้ามากที่สุด  การฉีดแอลกอฮอล์บนหน้ากาก ไม่ช่วยให้ป้องกันไวรัสได้ดีขึ้น เนื่องจากแอลกอฮอล์จะระเหยไปอย่างรวดเร็วและไม่มีผลต่อการทำลายไวรัสใด ๆ การทำอาหารด้วยความร้อนจะฆ่าโควิด-19 ได้หรือไม่         การทำอาหารด้วยความร้อนไม่ว่าจะเป็นการต้ม นึ่ง ทอด ผัด สามารถทำลายไวรัสโควิด-19 ได้  เนื่องจากความร้อนจะทำลายโปรตีนของไวรัส  อย่างไรก็ตาม การทำอาหารต้องแน่ใจว่าอาหารทั้งหมดได้สัมผัสกับความร้อนอย่างทั่วถึงและนานเพียงพอ  การใช้ไมโครเวฟยังสามารถทำลายไวรัสได้เช่นกัน  ความร้อนที่ 56 องศาเซลเซียสอย่างน้อย 30 นาที (จอดรถตากแดดปิดกระจกดูเทอร์โมมิเตอร์ให้อุณหภูมิในห้องโดยสารขึ้นถึง 56 oซ อย่างน้อย 30 นาที) หรือความร้อนที่ 70 องศาเซลเซียสอย่างน้อย 25 นาทีทำลายไวรัสได้ เอกสารอ้างอิงCallow KA, Parry HF, Sergeant M, Tyrrell DA. The time course of the immune response to experimental coronavirus infection of man. Epidemiol Infect 1990, 105:435-446.Finnish Institute of Occupational Health (FIOH). 2020. Cleaning guidelines for the prevention of covid-19 infections. https://www.ttl.fi/en/cleaning-guidelines-for-the-prevention-of-covid-19-infections%E2%80%AF/, สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2563 Hirose R, Nakaya T, Naito Y, Daidoji T, Bandou R, Inoue K, Dohi O, Yoshida N, Konishi H, Itoh Y: Situations leading to reduced effectiveness of current hand hygiene against infectious mucus from influenza virus-infected patients. mSphere 2019, 4.Kampf G: Efficacy of ethanol against viruses in hand disinfection. J Hosp Infect 2018, 98:331-338.National Environment Agency (Singapore). 2020. Interim List of Household Products and Active Ingredients for Disinfection of the COVID-19 Virus. https://www.nea.gov.sg/our-services/public-cleanliness/environmental-cleaning-guidelines/guidelines/interim-list-of-household-products-and-active-ingredients-for-disinfection-of-covid-19, สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2563Pan Y, Zhang D, Yang P, Poon LLM, Wang Q: Viral load of SARS-CoV-2 in clinical samples. Lancet Infect Dis 2020, 20:411-412.van Doremalen N, Bushmaker T, Morris DH, Holbrook MG, Gamble A, Williamson BN, Tamin A, Harcourt JL, Thornburg NJ, Gerber SI, et al.: Aerosol and Surface Stability of SARS-CoV-2 as Compared with SARS-CoV-1. N Engl J Med 2020.world health organization (WHO). 2005. Food safety issues. https://www.who.int/influenza/resources/documents/food_risk_h5n1_11_2005/en/, สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2563 Wylie KM, Mihindukulasuriya KA, Zhou Y, Sodergren E, Storch GA, Weinstock GM: Metagenomic analysis of double-stranded DNA viruses in healthy adults. BMC Biol 2014, 12:71.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 กระแสต่างแดน

 งานด่วน        ยักษ์ใหญ่ในวงการผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดกำลังแข่งกันว่าใครจะส่งสินค้าที่ “สามารถฆ่าไวรัสโคโรนาได้” ออกสู่ตลาดได้ก่อนกัน         เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ (เจ้าของแบรนด์เดทตอล) แถลงเป็นรายแรกว่าได้ซื้อสเตรนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากห้องปฏิบัติการอิสระมาแล้ว         ตามข้อกำหนดของยุโรปและอเมริกา ต้องมีผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองโดยหน่วยงานควบคุมมายืนยันว่าผลิตภัณฑ์นั้นฆ่าไวรัสได้ร้อยละ 99.99 จึงจะสามารถโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ “ฆ่าไวรัสได้”         ผลทดสอบจะออกปลายเดือนเมษายนนี้ แต่ยังต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่าหกเดือนสำหรับการทดสอบอย่างเข้มข้นโดยหน่วยงานควบคุมอีกหลายครั้ง (ซึ่งมีค่าใช้จ่ายหนึ่งถึงสองแสนเหรียญ (3.2 ล้านถึง 6.4 ล้านบาท)         ข่าวไม่ได้ระบุราคาของไวรัส แต่แหล่งข่าวคาดการณ์ว่าอีกสามค่าย (โคลร็อกซ์, ยูนิลเวอร์, และ พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล) คงจะซื้อสเตรนไวรัสสุดเฮี้ยนนี้มาแล้วเช่นกันคนจีนไม่ถูกใจสิ่งนี้        เป็นธรรมเนียมปกติสำหรับศิลปินดาราจีนที่จะต้อง “แทนคุณแผ่นดิน” ที่ผ่านมามีหลายคนมอบเงินบริจาคเพื่อสู้กับวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น ชาวเน็ตจึงรวบรวมรายชื่อดาราและเงินบริจาคมาแชร์กันในโลกออนไลน์        งานนี้หลายคนได้รับการชื่นชมมาก เช่น เจย์ โชว์และภรรยาที่บริจาคให้มูลนิธิแห่งหนึ่งในมณฑลหูเป่ยเป็นเงิน 3 ล้านหยวน (13.7 ล้านบาท) หรือเจ้าเปิ่นชาน เจ้าพ่อแห่งวงการบันเทิงที่บริจาคให้กับเทศบาลเมืองอู่ฮั่นถึง 10 ล้านหยวน ( 45.8 ล้านบาท)         แต่บางรายโดนถล่มยับเพราะไม่เป็นไปตามความคาดหวังของชาวจีน เช่น หวงเสี่ยวหมิงและภรรยา ที่มอบเงินให้มูลนิธิแห่งหนึ่ง 200,000 หยวน (917,000 บาท)         โดนหนักที่สุดคือ คริสตัล หลิว นางเอกภาพยนตร์เรื่องมู่หลาน นอกจากถูกหาว่าขี้เหนียวเพราะบริจาคแค่ 200,000 หยวนแล้วเธอยังโดนประณามว่า “ไม่มีสำนึกรักบ้านเกิด” ด้วย  ไหนว่าไม่มี        คอนแทค เอนเนอร์ยี ผู้ประกอบการด้านพลังงานที่ใหญ่เป็นอันดับสองของนิวซีแลนด์ถูกสั่งปรับเป็นเงิน 245,000 เหรียญ (4.8 ล้านบาท) เนื่องจากทำผิด พ.ร.บ.การค้าที่เป็นธรรม ถึงเจ็ดข้อหา          บริษัทยอมรับผิดกรณีที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของโปรโมชัน Fuel Rewards Plans ในปี 2017 ที่โฆษณาว่าลูกค้าจะได้ส่วนลดลดค่าน้ำมัน 10 ถึง 50 เซนต์ต่อลิตรทุกเดือน และยังคำนวณให้ด้วยว่าใครที่เลือกโปรฯ แบบหนึ่งปีจะประหยัดเงินได้ถึง 180 เหรียญ (3,500 บาท) สิ่งที่ไม่บอกให้ชัดคือ ผู้บริโภคมีสิทธิได้ส่วนลดที่ว่านี้เพียงเดือนละครั้ง และจำกัดที่ไม่เกิน 50 ลิตรแต่ที่น่าตีที่สุดคือบริษัทยังมั่นหน้าชูสโลแกน “ไม่ตุกติก ไม่ต้องรอ ไม่มีเซอร์ไพรซ์”          คณะกรรมการพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการฟ้องบริษัทนี้บอกว่า การกระทำเช่นนั้นส่งผลให้ผู้บริโภคลดความระมัดระวังในการอ่านเงื่อนไขตัวเล็กๆ ก่อนตัดสินใจ น้องหมางานเข้า        มาตรการล็อกดาวน์ในสเปนที่สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนไม่สามารถออกมาสูดอากาศนอกบ้านได้เลย          เฉพาะคนที่มีสุนัขเท่านั้นที่ได้สิทธิพามันออกมาเดินเล่นในระยะเวลาสั้นๆ ให้มันได้ทำธุระส่วนตัว         แต่คุณจะพากันออกมาทั้งครอบครัวไม่ได้ เขาให้โควตาน้องหมาหนึ่งตัวต่อคนจูงหนึ่งคน นอกจากจะต้องมีถุงเก็บมูลสุนัขแล้ว คนจูง (ซึ่งต้องจูงสุนัขตลอดเวลา) ต้องเตรียมน้ำยาทำความสะอาดละลายน้ำใส่ขวดมาราดทำความสะอาดบริเวณที่สุนัขอึหรือฉี่ด้วย         เมื่อใครๆ ก็อยาก “จูงน้องหมา” ความฮาจึงบังเกิดในโลกโซเชียล... เราได้เห็นคลิปชายคนหนึ่งแอบจูงตุ๊กตาน้องหมาออกมานอกบ้าน หรือคุณพ่อที่จับลูกสาวแต่งเป็นดัลเมเชียนเพื่อจะพาเธอไป “เดินเล่น”         เรายังได้เห็นโฆษณา “ให้เช่าสุนัข” และภาพล้อเลียนที่น้องหมาในสภาพอิดโรยกำลังโอดครวญว่า “วันนี้แม่พาผมเดินไป 38 รอบแล้วนะ”  พักหรูสู้โควิด        หลายโรงแรมอาจเลือกปิดกิจการชั่วคราวในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ไม่ใช่ที่โรงแรม Le Bijou ในเมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์         โรงแรมแห่งนี้เสนอ “แพ็คเกจสุดหรู ที่ควรคู่กับการกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ไวรัสโคโรนา” ที่นอกจากห้องพักหรูเลิศ ซาวนาและยิมส่วนตัวแล้ว คุณยังสามารถเลือกบริการเสริมต่อไปนี้ได้ตามใจชอบ          มาดูกันว่าคุณชอบค่าใช้จ่ายของแต่ละบริการหรือไม่         บริการตรวจหาเชื้อไวรัส  500 ฟรัง (17,000 บาท)  การเยี่ยมโดยพยาบาลวันละสองครั้ง 1800 ฟรัง (61,000 บาท)  หรือออปชันแบบมีพยาบาลส่วนตัวดูแล 24 ชั่วโมง 4,800 ฟรัง (164,000 บาท)         รวมๆ แล้ว ถ้าคุณพักที่นี่จนครบช่วงเวลากักตัว 14 วัน ก็เตรียมควักกระเป๋าอย่างน้อย 80,000 ฟรัง (2.7 ล้านบาท)  โอ... มันช่างเป็นประสบการณ์ที่เลอค่าจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >