‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ยืนหยัด ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ แถลงชัดไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบจากเว็บไซต์

            ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ดำเนินการเชิงรุกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคช่วงโควิด - 19 โดยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือในช่วงที่ขาดแคลนและมีราคาแพง รวมทั้ง ขาดข้อมูลอ้างอิงที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือได้ว่ามีคุณภาพตรงกับฉลากหรือคำโฆษณา และไม่ปนเปื้อนสารที่ก่ออันตราย มูลนิธิฯ ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค ผลพบว่า จำนวน 27 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 69.23 มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 จากนั้นจึงได้เผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเปิดเผยชื่อยี่ห้อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อเท็จจริง และมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับปกป้องสุขภาพในภาวะที่มีการระบาดของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนั้น (อ่านข้อมูล ผลทดสอบเจลแอลกอฮอล์ จากนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3420)         ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 บริษัท รีเอกซ์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ ได้ฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 1 และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดอาญา ใส่ความหมิ่นประมาทบริษัท และระบุว่า “...ไม่ใช่ผลการทดสอบที่ถูกต้องที่จะนำเสนอเป็นข่าวหรือบทความให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจลล้างมือ เพราะเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบจำเป็นต้องมีการควบคุมการทดสอบและกำหนดค่าความผันแปรของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมระหว่างทดสอบ...”         ในวันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้แถลงข่าวเพื่อให้ข้อเท็จจริงและแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้         1. นิตยสารฉลาดซื้อ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดให้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลกับผู้บริโภค โดยมีการเปิดเผยชื่อยี่ห้อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ ด้วยเหตุผลในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า ตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการตามหลักการนี้มาอย่างต่อเนื่องตลอดมา         2. การทดสอบได้ทำอย่างสุจริตและโปร่งใส โดยยึดมั่นหลักวิชาการ และดำเนินการอย่างมีคุณภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยการทดสอบเจลแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ดำเนินการโดย ศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นอิสระ และเป็นห้องทดลองที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรอง ISO 17025 แม้แต่ อย. ก็ใช้ห้องทดลองนี้เช่นกัน และในการแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ข้อมูล เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ผู้เกี่ยวข้องกับการทดสอบได้ร่วมในการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย ประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร. ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย         3. มูลนิธิฯ เห็นว่า การฟ้องร้องของบริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด อาจเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้มูลนิธิฯ ยุติการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค         4. มูลนิธิฯ ไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบที่ได้จัดทำและเผยแพร่จากเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อสินค้า โดยเป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ดังที่ได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา         ด้าน ดร. ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยืนยัน กระบวนการทดสอบสินค้าและบริการของนิตยสารฉลาดซื้อ ใช้ห้องทดสอบที่มีมาตรฐาน ระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับกระบวนการทดสอบด้านสินค้าและบริการ จะอ้างอิงหลักการและวิธีการออกแบบการทดสอบ ขององค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ ที่เป็นสมาขิกของ International Consumer Product Research and Testing โดยเน้นหลักการความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช้การสุ่มซื้อสินค้าที่มีการจำหน่ายจากร้านค้าจริงทั่วไปและออนไลน์เหมือนผู้บริโภคซื้อสินค้าและเผยแพร่ผลการทดสอบผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่รับโฆษณาจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำให้สามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา         "การทดสอบสินค้าที่มีมาตรฐานกำกับจะดำเนินการทดสอบตามมาตรฐาน โดยใช้ห้องทดสอบของมหาวิทยาลัย หรือ ห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 กรณีสินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐานกำกับจะทดสอบโดยใช้มาตรฐานของต่างประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น กรณีการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ การทดสอบเปรียบเทียบมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยที่จะเข้าไปกำกับมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศในอนาคต เป็นต้น"        ทั้งนี้ พลังของผู้บริโภคในการสนับสนุนการต่อสู้คดีในครั้งนี้ ซึ่งเป็น “ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี” ที่ผลการทดสอบและการเปิดเผยข้อมูลของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถูกฟ้องคดีโดยบริษัทผู้ผลิตหลังจากเปิดเผยชื่อผู้ผลิตและยี่ห้อของสินค้าจากการทดสอบ” จึงมีความสำคัญต่อการยืนหยัดทำหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ผลิตน้ำดื่มสูตรไม่ผสมเชื้อโรค (ตอนที่ 2)

เมื่อน้ำผ่านการกรองในขั้นต้นแล้ว ก็จะไปผ่านระบบฆ่าเชื้อโรค ซึ่งมีหลายแบบให้เลือกอีกเช่นกัน เช่น เครื่องกรองเซรามิค เครื่องกรองไมโครพอร์ (ซึ่งเครื่องกรองสองแบบนี้ต้องหมั่นล้างหรือเปลี่ยนไส้กรองตามกำหนดระยะเวลาเพราะมันจะอุดตันได้ง่าย และต้องล้างอย่างถูกวิธี ถ้ารุนแรงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการกรองเสียหาย และถ้าล้างไม่สะอาดก็อาจทำให้ติดเชื้อเข้าในระบบได้ บางรายจึงใช้วิธีเปลี่ยนใหม่เลย) หรือบางระบบก็จะให้น้ำผ่านทางเครื่องฆ่าเชื้อที่ใช้แสงอุลตราไวโอเลตเลย หรือเรียกสั้นๆว่า หลอด UV ซึ่งมีหลักการคือใช้ความเข้มของแสงอุลตราไวโอเลต (UV)ในการฆ่าเชื้อ  เมื่อน้ำผ่านตรงนี้แล้วก็จะเป็นน้ำที่สะอาด ไม่มีเชื้อโรค เราก็สามารถไปยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เลย จุดที่ต้องระวังคือ พวกบริษัทขายเครื่องมือที่ไม่เข้าใจระบบจริงๆ อาจติดเครื่องกรองสลับย้อนไปมา แทนที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ ก็อาจทำให้เพิ่มจุดเสี่ยงในการผลิตมากขึ้น เช่น มีการติดเครื่องกรองผงถ่านหลังจากน้ำผ่านหลอด UV แล้ว(ทำให้เพิ่มจุดเสี่ยงในการสะสมเชื้อโรคขึ้นอีก) หรือบางรายก็แนะนำให้ติดเครื่องกรองต่างๆ มากเกิน เช่น ติดเครื่องกรองไมโครพอร์และหลอด UV ในหลายๆ จุด หรือบางทีก็แนะนำให้ติดเครื่องฆ่าเชื้อชนิดโอโซนอีกด้วย  โดยอ้างว่าเพื่อความมั่นใจ อันที่จริงถ้าเราผลิตโดยความระมัดระวังและหมั่นดูแลบำรุงรักษาอย่างดีแล้ว  ก็ไม่จำเป็นต้องติดมากมายหลายจุดจนเกินจำเป็นด้วยซ้ำ อย่าลืมว่ายิ่งติดมากหลายจุดก็ยิ่งต้องเพิ่มภาระในการดูแลมากขึ้นไปอีกด้วย แม้น้ำดื่มจะเป็นอาหารที่ไม่มีส่วนประกอบอื่นๆ แต่สิ่งที่จะทำให้น้ำดื่มเราสะอาดได้มาตรฐานตลอดเวลาคือ การดูแลรักษา เกณฑ์จีเอ็มพี(GMP) จึงกำหนดให้เราต้องบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ  มีการบันทึกข้อมูลที่เราทำเป็นรายงานให้ชัดเจน  เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่าได้ทำจริง และเมื่อมีปัญหาก็ตรวจสอบย้อนกลับไปได้ว่าในช่วงนั้นใครทำอะไรจนน้ำมีปัญหา นอกจากนี้ยังกำหนดให้เราต้องมีชุดทดสอบเบื้องต้นไว้ทดสอบน้ำที่เราผลิตอีกด้วย ชุดทดสอบเบื้องต้นที่แนะนำคือ ชุดทดสอบความเป็นกรดด่าง (pH)  ชุดทดสอบความกระด้าง และชุดทดสอบเชื้อโรค  การที่กำหนดให้มีชุดทดสอบก็เพื่อให้เราทดสอบว่าคุณภาพเครื่องกรองของเรา  ยังคงมีประสิทธิภาพดีอยู่หรือไม่ และจะประหยัดกว่าไปส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า  ผู้ผลิตน้ำบางรายมักจะให้บริษัทที่ขายเครื่องกรองเข้ามาทดสอบให้ แต่อยากแนะนำให้ผู้ผลิตฝึกการใช้ชุดทดสอบเหล่านี้ให้เป็นเองจะดีกว่า เพราะมันใช้ไม่ยาก และจะได้ประหยัดเงิน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเวลาเขามาทดสอบหรือไม่ต้องรอให้เขามาทดสอบ และหากพบว่าคุณภาพเครื่องกรองยังดีอยู่ จะได้ไม่ถูกใครมาหลอกให้ต้องเปลี่ยนไส้กรองให้เสียเงินโดยไม่จำเป็น หลอด UV ต้องดูแลอย่างละเอียดสม่ำเสมอ  เพราะหลอด UV ก็เหมือนหลอดไฟ เมื่อใช้ไปนานๆ ความเข้มของแสงจะลดลง ดังนั้นเราต้องสอบถามว่าอายุใช้งานนานกี่ชั่วโมง เมื่อครบตามกำหนดก็ต้องเปลี่ยนหลอดใหม่ (แต่ไม่ว่าจะมีเครื่องกรองที่ดีอย่างไร ถ้าคนบรรจุน้ำไม่รักษาความสะอาดระหว่างบรรจุน้ำ ก็อาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนได้) ส่วนผู้บริโภคน้ำดื่ม ถ้าเห็นสถานที่ผลิตน้ำดื่มไม่สะอาด ขอให้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบเพื่อดำเนินการต่อไป เราจะได้มั่นใจว่าเราเราเสียเงินคุ้มค่าและไม่ได้ดื่มน้ำสูตรผสมเชื้อโรคให้เสี่ยงอันตราย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 “ส่องฉลาก” ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค กลายมาเป็นตัวช่วยเรื่องการกำจัดสิ่งสกปรกที่น่าจะมีติดอยู่แทบทุกบ้าน มาในหลายๆ รูปแบบการใช้งาน ไมว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ และผลิตภัณฑ์ทำความเสื้อผ้า ซึ่งเฉพาะผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าก็ไม่ได้มีแค่ ผงซักฟอก เพียงอย่างเดียว ยังมีแยกประเภทเป็นทั้งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าชนิดน้ำ ผลิตภัณฑ์ขจัดคราบอเนกประสงค์ที่ใช้แช่เสื้อผ้าเพื่อขจัดคราบสกปรกก่อนนำไปซักปกติ ซึ่งลักษณะก็จะคล้ายกับน้ำยาซักผ้าขาว นอกจากนี้ยังมีน้ำยาปรับผ้านุ่มที่หลายๆ บ้านนิยมใช้ ฉลาดจึงจะพามาส่องฉลากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพื่อให้สามารถใช้งานกันได้อย่างถูกวิธีผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคต้องใช้อย่างระมัดระวังผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่มีการใช้สารเคมีที่อาจมีฤทธิ์ต่อสุขภาพและเป็นอันอันตรายต่อผู้ใช้ จะอยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ใช้ภายในบ้านเรือนส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 ซึ่งหมายถึงกลุ่มสารเคมีที่มีอันตรายน้อย สามารถนำมาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือตามบ้านเรื่องทั่วไปได้ แต่ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ตัวผลิตภัณฑ์ต้องผ่านการแจ้งข้อเท็จจริงกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยจะควบคุมเรื่องสารเคมีที่ใช้และการจัดทำฉลากเพื่อประโยชน์กับผู้บริโภคในการใช้งานได้อย่างปลอดภัยวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เป็นวัตถุอันตรายที่ก่อให้เกิดผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มอื่น กฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าไม่ต้องขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย แต่ต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด เช่น การจัดทำฉลาก การปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตและการเก็บรักษา เป็นต้น การแสดงฉลากจะต้องแสดงเลขที่รับแจ้งไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์ ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มวัตถุอันตรายขนิดที่ 1 มีอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น ฝาผนัง เครื่องสุขภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า (ยกเว้นผงซักฟอก ที่อยู่ในการควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.))  เป็นต้นข้อความที่ไม่อนุญาตให้แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค-“สูตรพิเศษ” ยกเว้นว่ามีเอกสารที่สามารถสนับสนุนหรือชี้แจงได้ว่ามีลักษณะพิเศษอย่างไร-“ไม่เป็นอันตราย”, “ไม่เป็นพิษ”, “ปลอดภัย”, “ไม่มีสารตกค้าง”, “ไร้สารตกค้างที่เป็นอันตราย”, “ไร้สารตกค้าง”, “ไม่มีผลต่อเด็กสัตว์เลี้ยงและอาหาร”, “สูตรไม่ระคายเคือง”, “ปราศจากการระคายเคือง” เนื่องจากอาจทำให้เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัย-“นุ่มละมุนใช้ได้ทุกวัน” เนื่องจากผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ควรใช้ตามความจำเป็น และต้องระมัดระวังในการใช้ -“ใช้ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ” เนื่องจากเป็นการชักจูงใจเกินความจำเป็น-“น้ำหอมปรับอากาศ”, “สดชื่น” หรือ “กลิ่นสดชื่น” เนื่องจากคำว่า “สดชื่น” มีความหมายในเชิงเกี่ยวกับสุขภาพอาจสื่อให้เกิดความเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นนี้มีผลต่อสุขภาพ ซึ่งไม่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์และสารเคมี-“ปกป้องสุขภาพของคุณและสิ่งแวดล้อม”, “ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม”, “ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม”, “ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ”, “จึงช่วยรักษาสภาพแวดล้อม”, “ห่วงใยสิ่งแวดล้อม” เนื่องจากก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าผลิตภัณฑ์ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม-“ได้ผล 100%”, “ประสิทธิภาพสูง”, “ด้วยสูตรพลังประสิทธิภาพ”, “ประสิทธิภาพเยี่ยม”, “ระบบเดียวที่มีประสิทธิภาพสูงสุด”, “ได้ผลเด็ดขาด”, “ออกฤทธิ์แรง” เนื่องจากเป็นข้อความที่อาจเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินจริง-“ไม่ทำลายเนื้อผ้าหรือทำให้ผ้าเป็นสีเหลือง”, “อ่อนโยนต่อทุกเนื้อผ้า”, “อ่อนโยนต่อเส้นใยผ้า”, “ถนอมผ้า”, “ปลอดภัยต่อผ้าสี”, “คงไว้ซึ่งความนุ่มนวลของเนื้อผ้า”, “พลังสลายคราบสกปรก” เนื่องจากเป็นข้อความที่อาจเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินจริง-แม้แต่ชื่อทางการค้าก็ต้องไม่สื่อไปในทำนองโอ้อวดสรรพคุณ หรือทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของผลิตภัณฑ์ หรือสื่อให้เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคขาดความระมัดระวังในการใช้ที่มา : คู่มือการจัดทำฉลากวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 โดยกลุ่มควบคุมอันตราย สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาข้อมูลสำคัญที่ “ต้องมี” บนฉลากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด1.ชื่อทางการค้า ต้องเป็นภาษาไทย ขนาดเห็นได้ชัด หากมีชื่อเป็นภาษาต่างประเทศต้องตรงกันหรือมีความหมายอย่างเดียวกันกับชื่อการค้าภาษาไทย2.ชื่อและอันตราส่วนของสารสำคัญ ต้องแสดงเป็นหน่วยร้อยละของน้ำหนักต่อน้ำหนัก (% w/w) หรือร้อยละของน้ำหนักต่อปริมาตร (% w/v)3.ประโยชน์4.วิธีใช้5.คำเตือนหรือข้อควรระวัง ต้องใช้อักษรทึบหรือขีดเส้นใต้6.วิธีเก็บรักษา7.ข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดพิษ (ถ้ามี) ไมว่าจะเป็น อาการเกิดพิษ วิธีแก้พิษเบื้องต้น คำแนะนำสำหรับแพทย์8.การทำลายภาชนะบรรจุ (ถ้ามี)9.เครื่องหมายและข้อความแสดงระดับความเป็นพิษ และ/หรืออันตรายตามที่กำหนด (ถ้ามี) 10.เลขที่รับแจ้ง 11.ขนาดบรรจุ (ปริมาณสุทธิ) 12.วัน เดือน ปี ที่ผลิต 13.วันหมดอายุการใช้ (ถ้ามี)14.เลขหรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต (Lot Number/ Batch Number)15.ชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ ของผู้ผลิตในประเทศ หรือนำเข้า พร้อมชื่อและประเทศของผู้ผลิตผลการสำรวจฉลากตัวอย่างผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคส่วนใหญ่ไม่ว่า สำหรับใช้ทำความสะอาดพื้นหรือทำความสะอาดเสื้อผ้า จะมีการให้ข้อมูลในเรื่องการฆ่าเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีหลายตัวอย่าง ที่อ้างว่า สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.99% เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่า 100% เพราะดูเป็นการโอ้อวดเกินจริง แต่ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การแสดงข้อความบนฉลากผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค อนุญาตให้แสดงค่าความสามารถหรือตัวเลขที่แสดงความสามารถในการฆ่าเชื้อ เมื่อมีข้อมูลผลการทดสอบประสิทธิภาพเชิงปริมาณ แต่ต้องระบุชื่อเชื้อที่ใช้ทดสอบและแสดงข้อความว่าเป็นข้อมูลที่ได้จากผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ โดยตัวอย่างที่สำรวจส่วนใหญ่ก็จะมีการอ้างถึงแหล่งที่มาของการทดสอบ แต่ก็มีบางตัวอย่างที่ใช้คำโฆษณาเรื่องการฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.99% แต่ไม่ได้อ้างอิงที่มาของคำโฆษณาดังกล่าว เช่น แวนิช ผลิตภัณฑ์ขจัดคราบ เอ๊กซ์ตร้า ไอยีน และ เดทตอล ลอนดรี แซนิไทเซอร์ผลิตภัณฑ์ที่แสดงโฆษณาบนฉลากว่า “สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย” หมายความว่าผลิตภัณฑ์ผ่านการทดสอบในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิด คือ Staphylococcus aureus และ Salmonella enterica (choleraesuis)ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน แม้จะมีสารเคมีที่มีความเป็นพิษต่ำ แต่ก็ถือเป็นสารที่อันตรายหากนำไปใช้ไม่ถูกวิธี เช่น เข้าตา หรือเผลอกลืนกินเข้าสู่ร่างกาย เพราะฉะนั้นต้องเก็บผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้พ้นมือเด็ก ส่วนผู้ที่ใช้แล้วเกิดอาการแพ้ต้องหยุดใช้ทันทีและควรไปพบแพทย์ ปริมาณที่ใช้ก็ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลากสารเคมีในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าและพื้นที่ภายในอาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ เป็นสารในกลุ่ม disinfectant ซึ่งสามารถกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้หลากหลาย ไม่เฉพาะเจาะจง เหมาะสำหรับใช้ทำความสะอาดพื้นผิวของสิ่งของต่างๆ โดยสารเคมีหลักๆ ที่ใช้ก็คือสารที่มีผลในการฆ่าและยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรค กับสารที่ทำหน้าที่ลดแรงตึงผิว (surfactant) ซึ่งก็มีคุณสมบัติในการขจัดสิ่งสกปรกและฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะ Ethoxylated alcohol, Sodium Lauryl Sulfate,  Alkyldimethyl benzyl ammonium chloride และ Didecyl dimenthyl ammonium chlorideผลทดสอบ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 110 แอร์ฆ่าเชื้อโรค จำเป็นแค่ไหน

ฟิลเตอร์ที่ติดมากับเครื่องในลักษณะนี้จะไม่สามารถกรองจุลินทรีย์ได้เลย เนื่องจากจุลินทรีย์มีขนาดที่เล็กมากที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นและจะหลุดรอดฟิลเตอร์ได้ทั้งหมด ฟิลเตอร์ที่จะกรองจุลินทรีย์ได้นั้นจะต้องเป็นฟิลเตอร์เฉพาะที่เรียกว่า HEPA filter (High Efficient Particulate Absorbing filter) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับไส้กรองอากาศในรถยนต์ ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมานี้ ผมได้รับคำถามจากสื่อมวลชนต่างๆ เกี่ยวกับ “แอร์ฆ่าเชื้อ” หลายครั้ง เนื่องจากเครื่องปรับอากาศหลายยี่ห้อได้เสนอทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภคโดยอ้างว่า สามารถฆ่าเชื้อได้ด้วยทั้งแบคทีเรียและไวรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคระบาดต่างๆ เช่น SARS หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นต้น แอร์ฆ่าเชื้อมีจริงหรือไม่? ทำงานได้จริงหรือไม่? ทำไมมีโฆษณาแอร์ที่มีระบบฆ่าเชื้อด้วย? เลยถือโอกาสมาบอกเล่าให้ชาว ”ฉลาดซื้อ” ทราบ เชื้อโรคกับฟิลเตอร์“เชื้อ” หรือ “เชื้อโรค” ที่ทุกคนเข้าใจกันเป็นส่วนใหญ่คงจะหมายถึงจุลินทรีย์ต่างๆ ที่ให้เกิดโรคได้ ที่เรารู้จักกันดีก็ได้แก่แบคทีเรีย ไวรัส รา ยีสต์ เป็นต้น แต่ในความเป็นจริง จุลินทรีย์นั้นมีอยู่ทั่วไป ทุกที่ทุกเวลาและทุกชนิดที่กล่าวมา ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์ คือไม่ก่อให้เกิดโรค เชื้อที่ก่อโรคจริงๆ ก็สามารถพบได้ด้วยแต่จะมีอยู่น้อยมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกจะพบได้น้อยมากๆ ถ้าถามว่า แอร์ที่ฆ่าเชื้อได้มีจริงหรือ ผมคงต้องตอบว่ามี แต่พวกที่สามารถฆ่าเชื้อหรือกรองเชื้ออย่างละเอียดนั้นจะไม่ได้มีใช้ทั่วไป แต่จะมีใช้เฉพาะแห่งเท่านั้น เช่นในห้องที่ต้องการการปลอดเชื้อปลอดฝุ่นอย่างมาก เช่น ห้องผ่าตัด ห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ห้องวิจัย ห้องทำแผงวงจรต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากเครื่องเหล่านี้จะมีราคาแพงมาก บางครั้งเครื่องที่ฆ่าเชื้อหรือดักฝุ่น อาจไม่อยู่รวมกับเครื่องปรับอากาศ แต่จะแยกต่างหากเป็นระบบการกำจัดเชื้อจากอากาศ กลไกในการกำจัดจุลินทรีย์ที่มีในเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่นิยมใช้คือ การกรองด้วยฟิลเตอร์ ฟิลเตอร์ที่ใช้นี้จะไม่ใช่ฟิลเตอร์ที่กรองฝุ่นที่ติดมากับเครื่องปรับอากาศ ลักษณะจะเป็นคล้ายฟองน้ำบางๆ มีรูพรุน หากส่องแสงจะเห็นแสงลอดออกมาได้หรืออาจเป็นฟิลเตอร์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายมุ้งลวดพลาสติก ฟิลเตอร์ที่ติดมากับเครื่องในลักษณะนี้จะไม่สามารถกรองจุลินทรีย์ได้เลย เนื่องจากจุลินทรีย์มีขนาดที่เล็กมากที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น (เฉลี่ยจะมีขนาดประมาณ 1 ไมครอนหรือ 1/1000 มิลลิเมตร) และจะหลุดรอดฟิลเตอร์ได้ทั้งหมด ฟิลเตอร์ที่จะกรองจุลินทรีย์ได้นั้นจะต้องเป็นฟิลเตอร์เฉพาะที่เรียกว่า HEPA filter (High Efficient Particulate Absorbing filter) มีลักษณะคล้ายกับไส้กรองอากาศในรถยนต์ (แบบที่เป็นใยสีขาว) แต่จะมีจำนวนชั้นเรียงทบกันหนากว่า สามารถกรองอนุภาคฝุ่น แบคทีเรีย รา ซึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.3 ไมครอนได้ อย่างไรก็ตามฟิลเตอร์ชนิดนี้จะไม่สามารถกรองไวรัสได้(ฟิลเตอร์ที่จะกรองไวรัสได้ต้องมีขนาด 0.1 ไมครอน) HEPA filter นั้นจะมีราคาแพง ในประเทศอเมริกา HEPA filter หนึ่งตารางฟุตหรือ 30 ซม x 30 ซม. หนาประมาณ 2 นิ้ว ราคาประมาณ 3,000 บาท และเช่นเดียวกับฟิลเตอร์ต่างๆ HEPA filter ก็มีอายุการใช้งานด้วย แม้เครื่องปรับอากาศมีระบบกรอง HEPA filter นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้ตลอด จะต้องมีการเปลี่ยนด้วย(ไม่สามารถล้างได้) และถ้าไม่เปลี่ยนก็จะไม่มีประสิทธิภาพในการดักจับจุลินทรีย์ได้อีกต่อไปอีกวิธีการหนึ่งที่มีการโฆษณาว่าใช้ระบบไอออนเพื่อฆ่าเชื้อรวมทั้งกำจัดกลิ่น หลักการทำงานของระบบไอออนนี้ก็คือจะสลายน้ำเพื่อให้ได้อนุมูลออกซิเจนที่มีประจุลบ (O2-) และอนุมูลไฮดรอกซิล (OH-) ซึ่ง อนุมูลทั้งสองชนิดนี้เป็นอนุมูลอิสระ สามารถทำปฏิกิริยากับโปรตีนหรือพอลิแซ็กคาไรด์ที่เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์หรือผิวของแบคทีเรียหรือไวรัสทำให้เกิดการทำลายแบคทีเรียหรือไวรัสได้ อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีรายงานคำยืนยันใดๆ จากนักวิชาการอิสระ(ที่ไม่ใช่ผู้ผลิต) ที่ยืนยันคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นจากการใช้เครื่องปรับอากาศแบบนี้ นอกจากนี้ในทางเดินหายใจของมนุษย์เราก็มีโปรตีนเช่นเดียวกัน จึงยังเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปอีกว่า จะมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของคนด้วยหรือไม่ (Bolashikov & Melikov, Building and Environment 44(2009), 1378-1385) แอร์ไม่ได้มีไว้ฟอกอากาศผู้บริโภคจำเป็นต้องเข้าใจความจริงอย่างหนึ่งคือ ในทุกที่บนโลกจะมีจุลินทรีย์อยู่แล้ว ในดิน ในน้ำ ในอากาศ มากน้อยต่างกันไป พบได้ทั้งในบ้าน ในห้องทำงาน ห้องประชุม ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องเลี้ยงเด็กเล็ก จุลินทรีย์ที่พบส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่ไม่ก่อโรค ดังนั้น แม้ว่าจะมีแอร์หรือเครื่องฟอกอากาศจะสามารถทำงานได้จริงตามที่กล่าวอ้างก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะเมื่อเปิดประตูห้องออกไป เราก็จะเจอกับจุลินทรีย์สารพัดชนิด และที่สำคัญ เมื่อเราเปิดประตูห้อง จุลินทรีย์จากภายนอกก็จะปะปนเข้ามาในห้องได้ใหม่ และถ้าเป็นห้องที่เปิดเข้าออกบ่อยครั้ง แอร์ฆ่าเชื้อยิ่งไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีวันฆ่าจุลินทรีย์ได้หมดนั่นเอง และต่อให้ในห้องมีแอร์ฆ่าเชื้อโรคได้ หากคนที่นั่งข้างๆ หรือคนในห้องเป็นหวัด 2009 เราก็คงมีโอกาสติดได้มากเช่นเดียวกัน ดังนั้นในการเลือกซื้อแอร์ สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคือประโยชน์ที่สำคัญของแอร์นั่นเอง คือเป็นเครื่องทำความเย็นให้แก่ห้อง การเลือกซื้อ จึงควรให้ความสนใจในเรื่องของความสามารถในการทำความเย็น อัตราการใช้ไฟ (ควรเป็นเบอร์ 5) หรือความเงียบในการทำงานมากกว่า ส่วนเรื่องของการฆ่าเชื้อ น่าจะเป็นเรื่องรอง ซึ่งเป็นเรื่องการเพิ่มมูลค่าและความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดของผู้ผลิต และจะทำให้เครื่องมีราคาแพงมากขึ้นโดยได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า แต่ถ้าผู้บริโภคยังยืนยันที่จะต้องการการฆ่าเชื้อในอากาศ เครื่องฟอกอากาศน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point