ฉบับที่ 249 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน

อัตราค่าโดยสารรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์        12 พ.ย. 64 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่น สำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ พ.ศ.2564  โดยมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันประกาศ โดยอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารของรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ กำหนด ดังนี้         1. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 40 - 45 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 6 - 10 บาท 2. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดกลาง ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 45 - 50 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 7 - 12 บาท 3. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 100 - 150 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 12 - 16 บาท         ทั้งนี้ กรณีระบบคำนวณอัตราค่าโดยสารล่วงหน้าประเมินว่าสภาพจราจร ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติ ให้คิดอัตราค่าโดยสารคำนวณเพิ่มในอัตรานาทีละ 2 บาท และค่าบริการอื่น กำหนดในกรณีจ้างผ่านระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ เรียกเก็บเพิ่มในอัตรา 20 บาท กรณีที่ปริมาณรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่สมดุลกับความต้องการใช้บริการ เรียกเก็บเพิ่มในอัตราไม่เกินหนึ่งเท่าของค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ต้องไม่เกิน 200 บาท จากประกาศราชกิจจานุเบกษาราคาเริ่มต้นค่าโดยสารต่ำสุด คือ 40 บาท เพิ่มค่าบริการเรียกรถ 20 บาท โดยรวมค่าบริการเริ่มต้นจะอยู่ที่ 60 บาท คปภ.ยัน บ.ประกันห้ามยกเลิกกรมธรรม์ "เจอ จ่าย จบ"         จากกรณีของบริษัทเดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) แจ้งผู้เอาประกันให้เลือกเงื่อนไขที่บริษัทยื่นข้อเสนอ หากไม่แจ้งการเลือกทางบริษัทจะเปลี่ยนความคุ้มครองในกรมธรรม์โดยอัตโนมัติ จากเจอ จ่ายจบ เป็นคุ้มครองเฉพาะโคม่านั้น         15 พ.ย. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงาน คปภ. กล่าวว่า ยังคงยึดคำสั่งนายทะเบียนตามกฎหมาย โดยบริษัทประกันไม่สามารถใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขกรมธรรม์ได้ตามอัตโนมัติ เนื่องจากจะกระทบต่อผู้เอาประกันทั้งความไม่ยุติธรรมและความเชื่อมั่นของประชาชน ทั้งนี้ คปภ. ได้เสนอแนวทางเพิ่มเพื่อช่วยเหลือบริษัทประกันและผู้เอาประกัน โดยทางบริษัทประกันสามารถเสนอทางเลือกให้ผู้เอาประกันได้ แต่ต้องเป็นความสมัครใจของผู้เอาประกันเท่านั้น ไม่สามารถบังคับหรือแจ้งเปลี่ยนอัตโนมัติได้ หากไม่ปฎิบัติตามจะถือว่าทางบริษัทประกันฝ่าฝืนคำสั่งนายทะเบียน มีโทษปรับสูงสุด 300,000 บาท กาแฟผสมยาอียังไม่มีในไทย         จากกรณีในสื่อออนไลน์มีการประกาศขาย “ยาอีในกาแฟซอง 3,000 บาท ในทวิตเตอร์และอีกกรณีเผยแพร่คลิปที่นำซองกาแฟมาประกอบคลิป เพื่ออ้างว่ามียาอีผสมในกาแฟในแอปพลิเคชัน TikTok” นั้น         นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้สอบปากคำ นายนพพร สุชัยเจริญรัตน์ ผู้ต้องหาที่ใช้บัญชีทวิตเตอร์ ประกาศขายยาอีผสมกาแฟ โดยพบว่า นายนพพรได้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริงและยอมรับว่า ได้นำรูปมาจากทางอินเตอร์เน็ตมาโพสต์ลงทวิตเตอร์ เมื่อลูกค้าสนใจและหลงเชื่อโอนเงินให้ ก็จะบล็อกไลน์  เปลี่ยนชื่อไลน์ เพื่อหลอกลวงไปเรื่อยๆ นายนพพรสารภาพว่า ทำไปเพราะความมึนเมาจากการเสพยา คึกคะนอง แต่ไม่ได้มีการจำหน่ายจริง ดังนั้นจากการสืบสวนทั้งหมดพบเป็นเพียงการหลอกลวงให้หลงเชื่อและโอนเงิน ขอยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ ไม่พบว่ามียาอีผสมกาแฟอยู่จริงในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรวมหนี้-รีไฟแนนซ์         พ.ย. 64 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้มีการออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรีไฟแนนซ์ รวมหนี้ โดยให้สถาบันการเงินที่เป็นผู้รวมหนี้  ช่วยลดต้นทุนเรื่องการจัดชั้นและการกันเงินสำรอง โดยทำการรวมหนี้และผ่อนปรนหลักเกณฑ์การคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิต และไม่คิดค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนดตั้งแต่ 16 พ.ย. 64 - 31 ธ.ค. 66 ส่วนการรวมหนี้ต้องใช้ระยะเวลาเตรียมการ เริ่มตั้งแต่สิ้นเดือน ธ.ค. 64 - 31 ธ.ค. 66 ส่วนในกรณีสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการไม่ปล่อยให้ลูกหนี้รีไฟแนนซ์ออกไปรวมกับหนี้แห่งอื่น ยืนยันเมื่อลูกหนี้นำเงินมาปิดหนี้มายื่นให้ สถาบันการเงินไม่มีสิทธิปฏิเสธ ทั้งนี้ ด้านนางสาว อรมนต์ จันทพันธ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า ประโยชน์ของลูกหนี้ คือ ดอกเบี้ยลด สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยเท่าเดิม สินเชื่ออื่นที่หากนำมารวมหนี้ จะบวกดอกเบี้ยจากสินเชื่อบ้านที่ใช้เป็นหลักประกันได้ไม่เกิน 2%  ศาลอุธรณ์รับเป็นคดีกลุ่มกรณีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากพาราควอต         จากกรณีเกษตรกรที่อาศัยอยู่ใน อ.โนนสัง อ.นากลาง และ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้า ยี่ห้อ ก๊อกโซน ที่มีสารพาราควอตผสมอยู่ ซึ่งก่อให้เกิดโรคเนื้อเน่า จนบางรายต้องตัดเนื้อส่วนที่เน่าออก ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากสารพาราควอต กับบริษัท เจียไต๋ จำกัด จำนวน 16 รายนั้น         วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากยาฆ่าหญ้าในศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม แต่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ โดยมีเหตุผลเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยหากฟ้องคดีแยกกันการนำสืบที่แตกต่างกันทำให้ผลการตัดสินอาจไม่เหมือนกันได้ และผู้ที่ได้รับความเสียหายบางส่วนจะไม่ได้รับการเยียวยา ศาลยังเห็นว่า การที่ประชาชนได้รับการเยียวยาจากผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่ก่อให้เกิดความเสียหาย จะทำให้เกิดการลงโทษเชิงทรัพย์สินกับผู้ประกอบธุรกิจ และจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตระหนักได้ว่าหากไม่แก้ไขปรับปรุงในการประกอบธุรกิจ ก็อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มอีก ทั้งนี้ การดำเนินคดีฟ้องกลุ่มได้เรียกค่าเสียหายของสมาชิกกลุ่ม 16 คน เรียกค่าเสียหายรวมประมาณ 11.32 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ยาฆ่าหญ้า ไกลโฟเซต อันตรายที่ไกลตัว?

                มหากาพย์เรื่องยาวของการยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด แบ่งเป็นสารกำจัดวัชพืช (ยาฆ่าหญ้า) 2 ชนิด (พาราควอต และไกลโฟเซต) กับ สารกำจัดแมลง (ยาฆ่าแมลง) 1 ชนิด (คลอร์ไพริฟอส) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 ได้จบบทแรกลงไปแล้ว โดยที่ได้มีการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ให้พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ประกาศดังกล่าวส่งผลให้การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการยกเลิกการใช้สารเคมีประสบความสำเร็จบางส่วน อย่างไรก็ตามยังคงเหลือสารเคมีอีก 1 ตัวที่ยังไม่ถูกแบน ซึ่งได้แก่ยาฆ่าหญ้า – ไกลโฟเซต ที่ยังอยู่ในการควบคุมระดับวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 หรือการจำกัดการใช้เท่านั้น         การคงอยู่ของการใช้ไกลโฟเซตในวงจรการผลิตนำมาซึ่งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยและการตกค้าง ว่าจะมีการตกค้างของไกลโฟเซตหรือไม่ และถ้ามีจะมีมากน้อยเพียงใด “ฉลาดซื้อ” เลยถือโอกาสเก็บตัวอย่างถั่วเหลืองทั้งแบบเต็มเม็ดและแบบผ่าซีก เพื่อทดสอบหาการตกค้างของไกลโฟเซต มาให้หายสงสัยกัน อย่างไรก็ตามต้องแจ้งให้ท่านผู้อ่านทุกท่านทราบก่อนว่าผลการทดสอบครั้งนี้เป็นผลที่เก็บตัวอย่างและทดสอบกันมาระยะหนึ่งแล้วมิใช่การทดสอบที่เพิ่งดำเนินการแต่ประการใด         การเก็บตัวอย่าง 3 ครั้ง ในวันที่ 29 พ.ย., 2 ธ.ค. และ 6 ธ.ค. 62  ได้ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองรวม 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ การทดสอบทำตามเกณฑ์มาตรฐานในการอ้างอิงใช้ค่าการตกค้างสูงสุดที่ยอมรับได้จากมาตรฐานอาหารสากล (MRL CODEX : glyphosate 2006) ที่ 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม        สรุปผลการทดสอบ        ผลการทดสอบพบการตกค้างของไกลโฟเซตจำนวน 5 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62.5) (แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน) ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ ที่ 0.53 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ ที่ 0.07 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน ที่ 0.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท ที่ 0.20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต ที่ 0.24 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยมี 3 ตัวอย่าง ที่ไม่พบการตกค้าง (ร้อยละ 37.5) ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, และถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์         นอกจากไกลโฟเซตแล้ว “ฉลาดซื้อ” ยังได้ตรวจสอบหาสารที่เป็นเมตาโบไลท์หลักของไกลโฟเซตชื่อ Aminomethyphosphonic acid: AMPA ซึ่งตรวจพบการตกค้างของ AMPA จำนวน 4 ตัวอย่าง (ร้อยละ 50) ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ ที่ 0.84 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ ที่ 0.16 มิลลิกรัม/กิโลกรัม,   ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน ที่ 0.79 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, และถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท ที่ 0.51 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนอีก 4 ตัวอย่างที่ตรวจไม่พบได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, ถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์, และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต         ข้อสังเกต จากทั้งหมดที่พบไกลโฟเซตจำนวน 5 ตัวอย่างมี 3 อย่าง (ถั่วเหลืองตราไร่ทิพย์, ถั่วเหลืองซีกตราเอโร่, และถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท) ที่เป็นผู้ผลิตรายเดียวกันคือ บริษัท ไร่ธัญญะ จำกัด         แม้ว่าการตรวจพบไกลโฟเซตจำนวน 5 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่าง (มี 1 ตัวอย่างเป็นถั่วเหลืองออร์กานิค) นั้น จะไม่มีตัวอย่างใดเลยที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานอาหารสากล (ค่าเฉลี่ยเพียงแค่ 0.31 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) แต่การพบการตกค้างหมายความว่า ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการบริโภคในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านความร้อนสูงไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ ฯลฯ         การตกค้างที่ตรวจพบไม่ใช่เรื่องไกลตัวของผู้บริโภค ดังนั้นผู้บริโภคที่นิยมการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองในกลุ่มที่กล่าวไว้ข้างต้นอาจจะต้องสนใจในแหล่งที่มาของวัตถุดิบของอาหารของเราให้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอของฉลาดซื้อ คือ การแสดงฉลากโดยระบุว่า “ใช้ สาร….” (ในที่นี้คือไกลโฟเซต) ตรงส่วนประกอบของอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะเลือกซื้อ และเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารเคมีเกินสมควรด้วยตนเอง         อย่างไรก็ตามความปลอดภัยของผู้บริโภค ณ ต้นทาง ย่อมสำคัญกว่าการจัดการที่ปลายทาง ฉลาดซื้อยังคงคาดหวังที่จะเห็นการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตเช่นเดียวกันกับ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในอนาคตอันใกล้นี้ จึงอยากขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีส่วนร่วมโดยการเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย เร่งรัดการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตโดยเร็วที่สุด โดยร่วมกันไม่อุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่แสดงว่ามีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง ทั้งนี้ให้เริ่มจากไกลโฟเซตเป็นลำดับแรก*ข้อมูลประกอบhttps://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%9F%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%95 

อ่านเพิ่มเติม >