ฉบับที่ 223 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2562

องค์กรผู้บริโภค และ ETDA จับมือผู้ประกอบการ ทำ MOU ซื้อขายออนไลน์ปลอดภัย        19 กันยายน องค์กรผู้บริโภค และ ETDA จับมือผู้ประกอบการ ทำ MOU ซื้อขายออนไลน์ปลอดภัย หวังคุ้มครอง เยียวยาผู้บริโภคจากการถูกหลอก         คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยู จำกัด และบริษัท บิวตี้ นิสต้า จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์” ณ ห้อง 201 ชั้น 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว         โดยนายณัฏฐชัย ศรีรุ่งสุขพินิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้เกิดจากองค์กรผู้ร่วมลงนามและพยานทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในการซื้อขายออนไลน์ จึงร่วมกับ ETDA และผู้ประกอบการออนไลน์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์” นี้ขึ้น เพื่อเป็นกรอบในการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน ทำให้การซื้อขายออนไลน์มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น         ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ความร่วมมือในการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายออนไลน์ในครั้งนี้ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างองค์กรผู้บริโภค หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการตลาดออนไลน์หลายครั้ง เพื่อให้เกิดระบบและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งบันทึกความร่วมมือนี้จะคลอบคลุมสาระสำคัญทั้งหมด 7 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการตรวจสอบร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายสินค้าหรือบริการ 2. ด้านการแสดงข้อมูลของร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายสินค้าหรือบริการ 3. ด้านการมีระบบให้ข้อมูลจำเป็นแก่ผู้บริโภค 4. ด้านระบบรักษาความปลอดภัยทางการเงิน โดยมีระบบ “คนกลาง” 5. ด้านนโยบายความเป็นส่วนตัว 6. ด้านการมีช่องทางร้องเรียน และระบบติดตามเรื่องร้องเรียน และ 7. ด้านการมีนโยบายความพึงพอใจ การคืนสินค้าและการเยียวยาแก่ผู้บริโภค          ขณะที่นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ผลสำรวจของ ETDA พบว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ เพิ่มสูงขึ้น จาก 2.7 ล้านล้านบาทในปี 2560 เป็น 3.2 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ส่วนบีทูซี (B2C) ของประเทศไทยก็สูงเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน และเมื่อเทียบมูลค่าระหว่างปี 2559 กับปี 2560 พบว่า มีมูลค่าเพิ่มถึงกว่า 1 แสน 6 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ระบบอีเพย์เมนท์ (e - Payment) ที่สะดวกมากขึ้น การขนส่งที่รวดเร็ว ทำให้คนหันมานิยมซื้อของออนไลน์สูงขึ้น ท่ามกลางการทำธุรกรรมทางออนไลน์ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด กลับพบปัญหา การโกง ฉ้อฉล เอารัดเอาเปรียบผู้โภคอย่างต่อเนื่อง        จากสถิติศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 OCC) พบว่า ในปี 2560 มีการร้องเรียนจำนวน 9,987 ครั้ง และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2561 ที่พบเรื่องร้องเรียนสูงถึง 17,558 ครั้ง เฉลี่ย 1,463 ครั้งต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการซื้อแล้วไม่ได้รับสินค้า สินค้าไม่ตรงตามสเปกที่ตกลง สินค้าผิดกฎหมาย ไม่มีมาตรฐาน ซึ่งการลงนามครั้งนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต  เผย “บุหรี่ไฟฟ้า” ลดสูบไม่เกิน 10%        การประชุมการขับเคลื่อนเชิงนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล เผยผู้ที่นำบุหรี่ไฟฟ้ามาเป็นทางเลือกเพื่อเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่นั้น จากข้อมูลพบว่าผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีอัตราการเลิกบุหรี่เพียงร้อยละ 5-9และหากคนที่สูบบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่เทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ โอกาสเลิกบุหรี่ยังลดลงไปกว่าเดิมถึง 27% (ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าในตลาดมากกว่า 95% มีสารนิโคตินเป็นส่วนผสมอยู่ในสารน้ำ ซึ่งทำให้ติดสารนิโคตินได้)        ด้าน ภญ.ดร.อรลักษณ์ พัฒนาประทีป คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากการประมาณค่าความสูญเสียที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าในเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข พบว่า ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการรักษาและค่าเสียโอกาสในการเกิดโรคต่อปีเท่ากับ  534,571,710 บาท ซึ่งเป็นความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์และสุขภาพของเยาวชนและประชาชนไทยที่ต้องแบกรับภาระจากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์         ที่ประชุมจึงได้เสนอความเห็นเพื่อการคงไว้ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า  ห้ามขาย หรือให้บริการ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ1 ต.ค. นี้ กระทรวงสาธารณสุขให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้         ต้นเดือนตุลาคม 2562 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มดำเนินนโยบายลดความแออัดของโรงพยาบาล โดยให้ผู้ป่วยสามารถนำใบสั่งยาจากแพทย์ไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้ เพื่อลดเวลารอคิวรับยาในโรงพยาบาลและเพิ่มความสะดวกสบายแก่ประชาชนมากขึ้น หากเข้าเกณฑ์ 4 เงื่อนไข ดังนี้ (1) ใช้สิทธิ์บัตรทอง (2) ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด หรือโรคทางจิตเวช (3) แพทย์วิจัยฉัยแล้วว่าผู้ป่วยสามารถรับยาที่ร้านยาได้ และ (4) ผู้ป่วยยินดีไปรับยาที่ร้านยา เริ่มนำร่องในโรงพยาบาล 50 แห่ง และร้านยาที่ได้มาตรฐานกว่า 500 ร้านทั่วประเทศ        ดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่        https://www.nhso.go.th/FrontEnd/page-contentdetail.aspx?CatID=MTI4OA%3D%3D ป.ป.ส. เตือน ระวังตกเป็นเหยื่อขนส่งยาทางพัสดุไปรษณีย์         พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เตือนประชาชน ระวังตกเป็นเหยื่อนักค้ายาเสพติด ฉวยโอกาสขนส่งยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายผ่านพัสดุไปรษณีย์ เป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย         “ปัจจุบัน นักค้ายาเสพติดเลือกใช้บริการรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ในการขนส่งยาเสพติดมากขึ้น ซึ่งหากพบว่าบุคคลใดมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าในฐานะผู้ให้บริการขนส่ง หรือผู้รับพัสดุไปรษณีย์ ล้วนมีความผิดตามกฎหมาย โดยผู้ส่งมีความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ และผู้รับพัสดุภัณฑ์มีความผิดฐานครอบครอง หรือครอบครองเพื่อจำหน่าย ขึ้นอยู่กับปริมาณของกลางยาเสพติด...ดังนั้นขอให้ประชาชนระมัดระวังตนเองและคนในครอบครัว กรณีผู้รับสินค้า เมื่อทราบจากพนักงานส่งพัสดุภัณฑ์ว่าจะมีการส่งพัสดุนั้น ขอให้สอบถามและตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่า ตนเองหรือคนในครอบครัวมีการสั่งสินค้า หรือจะได้รับพัสดุภัณฑ์โดยที่ไม่สั่งสินค้าหรือไม่ หากพบการแอบอ้างชื่อในการส่งสินค้า หรือเห็นความไม่ชอบมาพากล ขอให้แจ้งตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน หรืออาจเก็บหลักฐานไว้แสดงถึงเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และยืนยันตนว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง”         แจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง สถิติการฆ่าตัวตายปี 2562 ของไทย เฉลี่ย 14.4 คนต่อคนไทย 1 แสนคน         คนไทยฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 32 ของโลก  เฉลี่ย 14.4 คนต่อคนไทย 1 แสนคน ข้อมูลจากผลสำรวจซึ่งแถลงในวันที่ 10 กันยายน ซึ่งองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก(World Suicide Prevention Day)         องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้รายงานสถานการณ์การฆ่าตัวตายโลก โดยระบุว่ามีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทุกๆ 40 วินาที และการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของวัยรุ่น(อายุ 15-29 ปี) มากที่สุด รองลงมาจากอุบัติเหตุบนท้องถนน แม้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกจะเพิ่มมาตรการ และนโยบายป้องกันการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังต้องการการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก ประจำปี 2562 โดย World Population Review ที่สำรวจ และพิจารณาข้อมูลการฆ่าตัวตายขององค์การอนามัยโลกปี 2561 ทั้งหมด 183 ประเทศ พบว่า ประเทศไทย มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด ติดอันดับ 32 ของโลก เฉลี่ย 14.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน      โดยห้าอันดับแรกได้แก่ อันดับ 1 ลิทัวเนีย อันดับ 2 รัสเซีย อันดับ 3 กายอานา อันดับ 4 เกาหลีใต้ อันดับ 5 เบลารุส

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 กระแสต่างแดน

คราวนี้ต้องเลิกให้ได้ ไม่ได้มีแต่เราเท่านั้นที่ใช้ยาแก้อักเสบกันเป็นว่าเล่น ข่าวจากหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ บอกว่าคนจีนก็ติดยาแก้อักเสบเข้าขั้นเหมือนกัน  ซื้อมากินกันเองยังไม่เท่าไร แต่ข่าวบอกว่าขนาดไปพบแพทย์แล้วก็ยังไม่วายได้ยาแก้อักเสบกลับมากินไปพลางๆ ยามที่ยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้  สถิติระบุว่าโรงพยาบาลในประเทศจีนมีการจ่ายยาแก้อักเสบเกินปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึงสองเท่า  เขาซุบซิบกันอย่างหนาหูในชุมชนออนไลน์ของจีนว่าเหตุที่มีการจ่ายยาแก้อักเสบกันมากมายนั้นเป็นเพราะโรงพยาบาลได้ประโยชน์จากการสั่งยาประเภทนี้นั่นเอง จีนเป็นผู้ผลิตยาแก้อักเสบรายใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยอัตราการผลิต 147,000 ตันต่อปี มีทั้งหมด 181 ยี่ห้อ และส่วนใหญ่(ร้อยละ 83) ของปริมาณที่ผลิตได้นั้นเป็นการบริโภคภายในประเทศ  อย่างที่ทราบกัน การใช้ยาแก้อักเสบมากเกินไปทำให้การรักษาอาการเจ็บป่วยนั้นทำได้ยากขึ้น ปีที่แล้วจีนก็ต้องเจอกับปัญหาเชื้อชั่วฆ่าไม่ตาย ที่เรียกกันว่าซุปเปอร์แบคทีเรีย NDM-1 ที่สามารถต้านทานยาแก้อักเสบได้เกือบทุกชนิด ร้ายแรงกว่านั้น ขณะนี้มีทารกที่เกิดมาพร้อมอาการดื้อยาแล้วด้วย รัฐบาลจีนคงต้องรีบลงมือทำอะไรสักอย่างแล้ว เพื่อหยุดพฤติกรรมการใช้และการจ่ายยาแก้อักเสบอย่างพร่ำเพรื่อ ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายจนไม่สามารถหายาที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะจัดการกับเชื้อแบคทีเรียที่อัพเกรดตัวเองได้     หรือผู้บริโภคจะไม่แคร์สื่อ? หลายคนคงเคยได้ยินข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายของพนักงานบริษัทฟ็อกซ์คอน ด้วยการกระโดดหน้าต่างโรงงานถึงวันนี้ มีผู้ที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จไปแล้ว 17 รายโรงงานที่ว่านี้ก็เป็นโรงงานที่ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดี อย่างไอพอด และไอโฟนกันนั่นเอง และประธานบริษัทนี้ก็คือชายที่ร่ำรวยที่สุดในไต้หวัน นามว่าเทอรี่ กั๊ว นั่นเอง หลังจากข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายแพร่ออกไป บริษัทก็ประกาศขึ้นเงินเดือนเกือบร้อยละ 70 ให้กับพนักงานในสายการผลิต เพิ่มจากเดือนละ 1,200 หยวน เป็น 2,000 หยวน ฟ็อกซ์คอนมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ที่เมืองเฉินเจิ้น ประเทศจีน ในฟ็อกซ์คอนซิตี้หรือไอพอดซิตี้นี้มีโรงงานทั้งหมด15 โรง มีประชากร 300,000 ถึง 450,000 คน เขาบอกว่าเหมือนเมืองขนาดย่อมๆเที่มีทุกอย่างพร้อมสรรพ รวมถึงสถานีโทรทัศน์ของตัวเองด้วย เรียกว่าไม่จำเป็นต้องออกนอกกำแพงเมืองไปไหนกันเลย  ข่าวการฆ่าตัวตายทำให้กลุ่ม SACOM (Students and Scholars against Corporate Misbehavior) ซึ่งมีสมาชิกเป็นนักศึกษาและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย 20 แห่งในจีน ที่คอยจับตาดูพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของธุรกิจ ทำการติดตามสำรวจสภาพการทำงานในโรงงานของฟ็อกซ์คอนเป็นเวลา 4 เดือน  SACOM บอกว่าที่นี่มีการควบคุมระเบียบวินัยแบบเคร่งครัดเต็มอัตรา พนักงานต้องยืนตัวตรงตลอดการทำงาน และต้องทำชิ้นงานให้เสร็จตามจำนวนที่กำหนด ถ้าทำไม่เสร็จหรือใช้เวลากับกิจกรรมอื่น เช่น เข้าห้องน้ำ หรืออาบน้ำนานเกินไป ก็จะถูกทำโทษทั้งด้วยการทุบตีและการทำให้อับอาย   นอกจากนี้ยังห้ามคุย ห้ามหัวเราะ ห้ามบิดขี้เกียจในเวลางาน (ห้ามหลับคงไม่ต้องพูดถึง)  ฟ็อกซ์คอนออกมาโต้ตอบรายงานดังกล่าวว่า ไม่จริงนะ บริษัทออกจะมุ่งมั่นที่จะให้พนักงานจำนวน 937,000 คนได้อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี และได้รับค่าตอบแทนและการชดเชยที่ไม่แพ้บริษัทอื่นๆ ทางแอปเปิ้ลเองก็ยืนยันว่าตนเองเลือกใช้ฐานการผลิตที่มีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับสูงสุดเสมอมา ที่สำคัญคือทั้งๆ ที่มีข่าวนี้ออกไป ยอดขายเขาก็ไม่ได้รับการกระทบกระเทือนแต่อย่างใด แอปเปิ้ลก็ยังทำยอดขายได้ 16,000 ล้านปอนด์ต่อไตรมาส  หรือเพราะผู้บริโภคยอมรับได้ เพราะนั่นหมายถึงการควบคุมต้นทุน การผลิตให้มีราคาต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจจะมีคนต้องทุกข์ทรมานบ้างก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ อย่างน้อยก็ได้ของถูก แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ รายงานจากสำนักวิจัย iSupply ระบุว่าไอโฟนเครื่องหนึ่งนั้นมีต้นทุนในการประกอบ 6.54 เหรียญ ค่าชิ้นส่วนต่างๆ อีก 187.51 เหรียญ รวมแล้วต้นทุนอยู่ที่ 194 เหรียญ หรือ 5,842 บาท ว่าแต่คุณซื้อไอโฟนมาในราคาเท่าไร?     อยู่บ้านอย่างไรให้เป็นอัจฉริยะ เกาะเชจู นอกจากจะเป็นสถานที่ยอดฮิตในการไปเที่ยวตากอากาศของพระเอก นางเอกหนังเกาหลีแล้ว เขายังเป็นเกาะที่มีหมู่บ้านอัจฉริยะอีกด้วย ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเชจู เขากำลังทดลองใช้ระบบเครือข่ายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Smart Grid เป็นแห่งแรกในเกาหลี ที่ว่าฉลาดนั้นก็เพราะมันสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และช่วยให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลการใช้ไฟฟ้าทุกๆ 15 นาที และยังจะได้รับการเตือนให้ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีคด้วย   นอกจากแผงโซล่าเซลล์ที่จะติดตั้งเพื่อให้แต่ละบ้านสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เองแล้ว อุปกรณ์ที่สำคัญในระบบที่ว่านั้นได้แก่ Smart Tag หรือ Smart Plug ตามจุดปลั๊กไฟ ที่จะช่วยป้องกันการบริโภคไฟฟ้าจากอุปกรณ์ต่างๆที่เสียบปลั๊กทิ้งไว้ แม้จะไม่ได้อยู่ในโหมด Stand-by   เขาบอกว่าถ้าทุกครัวเรือนในประเทศใช้ระบบดังกล่าว ก็จะสามารถประหยัดเงินได้ปีละ 1,500 ล้านเหรียญ แต่ที่เห็นผลทันทีคือผู้บริโภคสามารถประหยัดค่าไฟได้ ด้วยการขายพลังงานไฟฟ้า (จากแสงอาทิตย์) ที่เหลือใช้ให้กับผู้ประกอบการ โดยนำไปหักลบจากค่าไฟฟ้าที่ตนเองจะต้องเสีย   มีตัวอย่างจากครอบครัวหนึ่งซึ่งมีสมาชิก 3 คน เคยจ่ายค่าไฟเดือนละ 50,000 วอน (ประมาณ 1,300 บาท) หลังจากติดระบบแล้ว ค่าไฟเหลือเพียง 1,000 วอน(ประมาณ 26 บาท) เท่านั้น   เมืองผู้ดีก็มีไม้เถื่อน อังกฤษเป็นประเทศที่นำเข้าไม้ผิดกฎหมายมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น ความจริงแล้วผู้บริโภคที่นั่นสามารถช่วยหยุดการค้าไม้เถื่อนได้ ด้วยการเลือกซื้อไม้หรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีฉลาก FSC (Forestry Stewardship Council) แต่จากการสำรวจขององค์กร WWF พบว่ามีคนอังกฤษมีการรับรู้เรื่องนี้ค่อนข้างน้อย มีเพียงร้อยละ 28 ของผู้บริโภค ที่ตอบแบบสำรวจที่รู้จักเครื่องหมายดังกล่าว เมื่อเทียบกับการรับรู้ในเรื่องอื่นๆ อย่างเรื่องของการค้ากาแฟอย่างเป็นธรรม(หรือแฟร์เทรด) แล้วถือว่าน้อยมาก   ร้อยละ 50 ของผู้บริโภคไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ไม้ที่ขายในอังกฤษนั้นอาจจะมาจากแหล่งที่ผิดกฎหมาย หรือพูดให้ชัดคือมาจากการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศกำลังพัฒนานั่นเอง พวกเขาเชื่อว่าถ้าเข้ามาขายในอังกฤษก็น่าจะผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว  แต่ละปีผู้บริโภคอังกฤษใช้จ่ายเงินกว่า 700 ล้านปอนด์ไปกับผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายเหล่านี้   เมืองไม่ประหยัดน้ำ ลิมา เมืองหลวงของประเทศเปรู เขาขาดแคลนน้ำใช้จนต้องตั้งเป็นวาระแห่งชาติ ประธานาธิบดีอลัน การ์เซีย ออกมาประกาศว่าจะให้ทุกคนได้มีน้ำใช้อย่างทั่วถึงภายในสิ้นปี ค.ศ. 2011 เหตุที่น้ำน้อยก็เพราะเมืองนี้เป็นเมืองทะเลทรายที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากเมืองไคโร ประเทศอียิปต์  แล้วที่วิกฤติซ้ำคือการใช้น้ำอย่างไม่ประหยัด ข่าวบอกว่าเมืองนี้เขาไม่มีการติดตั้งมิเตอร์น้ำด้วย  ข้อมูลของศูนย์วิจัยภูมิศาสตร์ประยุกต์ระบุว่าประชากรในเมืองลิมา มีการบริโภคน้ำต่อหัววันละ 250 ลิตร ในขณะที่เมืองหลวงในทวีปยุโรปกลับมีอัตราการใช้น้ำเพียงวันละไม่เกิน 140 ลิตรต่อวัน  หรือแม้แต่กรุงไคโรซึ่งเป็นเมืองทะเลทรายเหมือนกัน มีการใช้น้ำวันละ 100 ลิตรต่อหัวเท่านั้น  นอกจากนี้อัตราการสูญเสียน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์ ( เช่น น้ำรั่ว) นั้นสูงถึงร้อยละ 42 ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นสูญเสียน้ำใช้เพียงร้อยละ 3.5  เยอรมนีร้อยละ 5  และเม็กซิโก ร้อยละ 17

อ่านเพิ่มเติม >