ฉบับที่ 249 แฝงสัญญาค้ำประกันในการเช่าซื้อข้อตกลงให้รับผิดแบบลูกหนี้ร่วม ใช้บังคับได้หรือไม่

        สวัสดีทุกท่านครับ  ในฉบับนี้มีเรื่องน่าสนใจเป็นเรื่องใกล้ตัวเกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าซื้อที่มีรูปแบบการทำสัญญาที่แปลกและน่าสนใจ คือผู้ให้เช่าซื้อทำสัญญากับผู้เช่าซื้อที่เป็นผู้บริโภครายหนึ่ง แต่มีการให้บุคคลที่มิใช่ผู้เช่าซื้ออีกคนหนึ่งมาร่วมทำสัญญาและให้ร่วมรับผิดด้วย         โดยบุคคลนี้ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ตามสัญญา แต่หากเกิดการผิดนัด ผิดสัญญาต้องมาร่วมรับผิดกับผู้เช่าซื้อด้วย เมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นสู่ศาล ฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อก็มาฟ้องบุคคลที่ร่วมทำสัญญาคนดังกล่าวมาร่วมรับผิดโดยอ้างว่ามีข้อตกลงในสัญญา คดีนี้ศาลมองเจตนาของการทำสัญญา ปกติประเพณีการทำสัญญาเช่าซื้อโดยทั่วไป ก็ไม่มีการทำสัญญาลักษณะแบบนี้และตั้งข้อสงสัยว่า เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่าซื้อต้องการหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายค้ำประกันที่แก้ไขใหม่หรือไม่ ซึ่งกำหนดห้ามมิให้มีข้อสัญญาให้ผู้ค้ำประกันรับผิดแบบลูกหนี้ร่วม และเมื่อมีข้อสงสัย ศาลก็ต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณกับคนที่อาจเสียหาย คือคนที่ทำสัญญาร่วมรับผิด โดยเห็นว่าสัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการหลบเลี่ยงกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกัน ยังเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ของสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาจึงตกโมฆะไปทั้งฉบับ มาฟ้องให้รับผิดไม่ได้         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8418/2563         ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1 บัญญัติว่า “ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ” มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันซึ่งมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้น แต่เป็นเพียงบุคคลภายนอกที่ยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ ในการที่จะชำระหนี้ แทนลูกหนี้เท่านั้น สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่แสดงเจตนาต่อกันเป็นสัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 นั้น แม้ชื่อและลักษณะของสัญญาจะมิใช่สัญญาค้ำประกัน แต่ในการตีความการแสดงเจตนา ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร เมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยเนื้อหาของสัญญามิได้ระบุให้จำเลยที่ 2 มีสถานะเป็นผู้เช่าซื้อ    อย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 สัญญาดังกล่าวคงมีเพียงข้อกำหนดหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ กับจำเลยที่ 1 จนสิ้นเชิง จำเลยที่ 2 มิได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ อย่างผู้เช่าซื้อด้วย สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ทำขึ้นในลักษณะนี้ จึงเพ่งเล็งให้เห็นเจตนาและวัตถุประสงค์ของโจทก์ผู้ประกอบธุรกิจได้ว่า โจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 2 เข้ามาผูกนิติสัมพันธ์กับตนเพื่อเป็นประกันร่วมรับผิดในกรณีจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อเพิกเฉยไม่ชำระหนี้  อันเป็นสัญญาที่ก่อประโยชน์แก่โจทก์ไม่แตกต่างจากการที่บุคคลภายนอกทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดตามกฎหมายค้ำประกัน ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1         นอกจากนี้หากพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีในการทำสัญญาเช่าซื้อที่ถือปฏิบัติกันมา ไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือผู้ให้เช่าซื้อโดยทั่วไปมีวิธีการทำสัญญาโดยให้ผู้เช่าซื้อทำสัญญาเช่าซื้อฉบับหนึ่ง แล้วให้บุคคลอื่นเข้าทำสัญญาค้ำประกันยินยอมร่วมรับผิดชำระหนี้ กับผู้เช่าซื้อเป็นอีกฉบับ หรือมีการทำสัญญาโดยให้ผู้เช่าซื้อทำสัญญาเช่าซื้อ แล้วให้บุคคลอื่นเข้าทำสัญญายินยอมร่วมรับผิดชำระหนี้ อย่างลูกหนี้ร่วมกับผู้เช่าซื้ออีกฉบับหนึ่งดังเช่นคดีนี้ จึงนับว่ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับสัญญาว่า สัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาที่คู่สัญญากระทำเพื่อหลบเลี่ยงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1 ที่ห้ามตกลงกันให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมหรือไม่ เมื่อมีข้อสงสัยย่อมต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11         ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตีความและรับฟังได้ว่าโจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 2  ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม แต่ไม่อาจทำเป็นสัญญาค้ำประกันให้มีข้อตกลงเช่นนั้นได้    จึงหลบเลี่ยงการทำสัญญาค้ำประกันที่มีข้อจำกัดมิให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วม สัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่มีวัตถุประสงค์ในการหลบเลี่ยงกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองและให้เป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกัน ยังเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ของสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อไม่มีส่วนใดที่สมบูรณ์แยกส่วนออกมาได้จึงตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจทก์ไม่อาจอาศัยสัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ตกเป็นโมฆะมาฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้         จากคำพิพากษาของศาล ก็เป็นข้อบ่งชี้อย่างหนึ่งว่า เมื่อมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อคุ้มครองให้ความเป็นธรรมกับผู้ค้ำประกันมากขึ้น ฝั่งผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการต้องมีผู้ค้ำประกัน ก็พยายามหาทางหลีกเลี่ยงกฎหมาย กำหนดข้อสัญญาเพื่อประโยชน์ของตนเอง ซึ่งเมื่อเจอพฤติกรรมเช่นนี้และศาลได้ตัดสินไว้เป็นแนวทาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมสัญญาให้เกิดความเป็นธรรม โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ที่มีคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาที่ดูแลธุรกิจเช่าซื้อ เช่าห้องชุด เช่าที่อยู่อาศัย และสัญญาอื่นๆ ก็ควรพิจารณาเรื่องมาตรการควบคุมสัญญาเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 เมื่อผู้ค้ำประกันถูกฟ้องให้ใช้หนี้

คุณสุภาพร  พันธุ์เลิศวิไล เป็นผู้ค้ำประกันเช่าซื้อรถยนต์ให้คุณพ่อ  เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดจึงทำหนังสือแจ้งขอพักชำระหนี้ถึงบริษัทฯ  แต่บริษัทฯ ไม่ตอบ คุณสุภาพรในฐานะผู้ค้ำประกันจึงผ่อนชำระต่อ  แต่กลับถูกบริษัทฟ้องคดี  เธอเล่าเรื่องราวให้ฉลาดซื้อฟังว่า         หนูเป็นผู้ค้ำประกันให้คุณพ่อค่ะ ทีนี้เราผ่อนชำระมาเกินครึ่งทางแล้ว แล้วมีสถานการณ์โควิดรอบแรก คุณพ่อเลยไปทำหนังสือขอพักชำระหนี้หกเดือน เสร็จแล้วพอยื่นไปใช่ไหมคะ บริษัทเขาก็มีการเซ็นต์รับทราบกลับมาค่ะ แต่ว่าเขาก็ไม่ได้บอกว่าเขาไม่ร่วมโครงการ (โครงการพักชำระหนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิด ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินเพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้) หรืออะไร ทีนี้พอมันใกล้ๆ ถึงกำหนดชำระที่เราขอยื่นไป เขาก็โทรมาแจ้งว่าเขาไม่ได้ร่วมโครงการนะ พอเขาไม่ได้ร่วมเราก็ต้องส่งต่อใช่ไหมคะ เราก็ส่งต่อไปประมาณสักสองเดือน สองสามเดือนนี่แหละค่ะ         หลังจากนั้นก็มีหนังสือแจ้งมาที่ผู้ค้ำประกันว่าขอยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ แล้วขอให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ประมาณแสนนิดๆ เราเห็นแล้วว่าเราจ่ายมาประมาณหนึ่งแล้ว ถ้าจะให้เราจ่ายอีกแสนกว่าบาทก็คิดว่าเรามีเงินก้อนอยู่สำหรับมาเติมตัวนี้ได้ น่าจะปิดดีลรถคันนี้ได้ เราก็เลยไปเจรจาตั้งแต่วันที่เขาส่งจดหมายแจ้งมาเลยว่าขอปิดยอดรถคันนี้ โดยที่จะเอาเงินสดไปจ่ายให้ ทางบริษัทเขาอยากให้เราไปเจรจาก่อน เขาก็พูดว่าถ้าไปเจรจาลดได้เยอะ อย่างโน้นอย่างนี้            เราคุยกับพนักงานของบริษัทใช่ไหมคะ         ใช่ค่ะ พอเราไปถึงบริษัทเราไปดูยอดจริงๆ ปรากฎว่ายอดของเขามันไม่เคยตรงกับยอดที่เราส่งเลย เพราะว่าเขาหักต้นหักดอกแบบไม่ใช่ร้อยละ 15 ตามที่เคยสัญญาไว้ ซึ่งเขาบอกว่าการหัก การคิดของเขามันเป็นการคิดทางธุรกิจ ซึ่งเราก็ว่ามันไม่ใช่ แล้วเราก็บอกว่ามันควรจะเหลือยอดเท่านี้สิ เราขอจ่ายยอดเท่านี้ เพราะเราจ่ายล่วงหน้าสองปี ก็ไม่ควรที่จะคิดดอกเบี้ยเรา แต่เขาก็ไม่ยอมลดค่ะ พอไม่ลดเราก็จ่ายของเราปกติก็คือไม่เจรจาแล้ว เราก็ผ่อนของเราไปตามปกติ พอเดือนมกราคมที่ผ่านมาก็คือเท่ากับผ่อนหลังโควิดมาประมาณสี่ถึงห้างวดแล้วนะคะ พอเดือนมกราคมเขาก็ไปฟ้องศาล ฟ้องขอรถคืนหรือให้ชำระราคารถ         ทั้งที่เราผ่อนส่งตามปกติแต่เขาก็ยังเดินหน้าฟ้องเรา        เขาก็ไม่ได้ว่าอะไรตอนที่เข้าไปเจรจา เขาก็โอเค ไม่ได้ปิดยอด เราก็ผ่อนไปตามปกติ แต่เขาฟ้องคดีค่ะ ทนายที่คุยด้วยบอกว่าฟ้องแล้วก็ให้เราไปเจรจาในศาลแทน ซึ่งเราต้องการอย่างนั้นอยู่แล้ว อยากจะไปเจรจาเพื่อปิดยอดรถคันนี้ในศาลแทน เพราะว่าศาลท่านลดให้มากกว่า ถูกไหมคะ คือศาลท่านจะเมตตากว่า อะไรที่มันเกินความเป็นจริง เขาจะไม่ได้มาคิดจากเราไม่ได้หรอก         ทีนี้พอขึ้นศาล นัดแรกเลย ขึ้นไปนัดเดียวนะคะ ศาลบอกว่าท่านสามารถพิพากษาให้ได้ว่าจ่ายตามที่เราต้องการได้ แต่รู้ไหมว่าบริษัทไม่ยอมโอนรถให้ ศาลท่านพูดแบบนี้ ศาลพูดขึ้นมาให้ก่อนเลย คือศาลคำนวณมาให้คร่าวๆ เลย ก็ตรงกับที่เราคำนวณไป คือเราทำการบ้านคำนวณไว้เรียบร้อยแล้วค่ะ ตรงกันใกล้เคียงกันมากเลย ผู้พิพากษาท่านก็พูดว่าเคสแบบนี้บริษัทไม่โอนหรอก ท่านไม่ได้เจอมาเคสแรกนะ  ท่านเจอมาหลายเคสแล้ว ทนายบริษัททำหน้างงว่า ไม่นะเขาเคยได้ ศาลก็บอกไม่จริงไม่เชื่อให้โทรถามที่บริษัทเดี๋ยวนี้เลยว่าโอนหรือไม่โอน ให้ทนายโทรหน้าบัลลังก์เลย แล้วทางบริษัทก็บอกว่าไม่โอนให้จริงๆ ด้วย         บริษัทให้เหตุผลว่าอย่างไรคะ         ไม่ได้ให้เหตุผลอะไร ทนายบอกว่าเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าเคสเป็นอย่างนี้ไม่โอนรถให้ ซึ่งเราไม่เชื่อไงว่าไม่รู้ แต่เราก็ไม่อะไรนะเพราะว่าเราทำตามศาลท่านมีคำวินิจฉัย ศาลบอกให้ไปคุยเลยให้ไปคุยกับที่บริษัทนี้อีกครั้งหนึ่ง เราก็เลยไปเจรจาอีกรอบ ซึ่งต้องขอบคุณทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ส่งผู้แทนคือคุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ ไปกับเราด้วย  พอไปคุยแล้ว ทางเราบอกตัวเลขไป เขาไม่โอเค เราก็เลยบอกว่าไม่เอาแล้วค่ะ คืนรถไปเลย         บริษัทกำหนดให้เราจ่ายเท่าไหร่         เขาก็ยังให้ตัวเลขมาเท่าเดิมกับที่เจรจาครั้งแรกก่อนไปศาลอยู่ดี ตัวเลขที่เราคุยกับเขารอบแรก มีการบอกว่านี่เป็นยอดหลังฟ้อง นี่เป็นยอดก่อนฟ้อง ซึ่งเราคิดว่าคุณจะให้เป็นยอดไหนเราก็ไม่โอเคตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เขาลดให้หนึ่งหมื่นบาท ก็ไม่รู้จะเอาไปทำไม เราก็จ่ายดอกเบี้ยมาให้เยอะแล้ว สรุปคือเราเอารถไปคืนแล้ว ตอนนี้เขากำลังทำเรื่องถอนคดี         ส่วนเรื่องที่ว่าจะมีการขายทอดตลาดนั้น ในกรณีเราก็คือ ในส่วนของค่าขาดประโยชน์ ก็คือจะเป็นแค่ในช่วงที่รถอยู่กับเรา อันนี้เราก็จ่ายปกติคือเราจ่ายไปแล้ว แล้วบริษัทคุณรับเงินในตรงนั้นไปแล้ว โดยไม่แจ้งอะไรเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเราเลย จุดนี้คือถือว่ามันเป็นลาภไม่ควรได้ที่บริษัทจะได้อยู่แล้ว ดังนั้นมันต้องหักกันตั้งแต่ตอนที่คุณบอกว่าไม่เอาไม่ให้จ่ายแบบนี้ แล้วก็ยกเลิกสัญญาไป ถูกไหมคะ ไม่ให้ผ่อนผันตอนโควิด  แต่ว่าคุณให้เราผ่อนมาตลอดๆ ตอนนั้น         ฝากบทเรียนต่อผู้บริโภคท่านอื่นๆ         อยากจะฝากว่าการคำนวณเรื่องค่างวด ค่าดอกเบี้ย  เราต้องคำนวณของเราไว้เองด้วย โดยที่ว่าเขามีในเอกสารมาว่า เวลาที่เราผ่อนชำระต่อเดือนเท่านี้ มันจะเป็นดอกเบี้ยเท่าไหร่ ดอกเบี้ย 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าภาษี 7 เปอร์เซ็นต์อะไรของเขา คือเราก็ทำตามสูตรเขานั่นแหละ แต่เมื่อถึงเวลาจริง ถ้าเขามาอ้างตัวเลขกับเรา เขาก็จะบอกว่าเป็นหักเงินต้นแค่เท่านี้หักดอกแค่เท่านี้ ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะว่าอัตราของเขามันคือ อัตราคงที่ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเท่ากันทุกเดือน มันไม่ใช่ลดต้นลดดอก ตรงนี้ต้องตามเขาให้ทัน แล้วตอนนี้มีกฎหมายใหม่ที่ออกมาแล้ว ว่าต้องมีการลดต้นลดดอก         แล้วส่วนหนึ่งที่เป็นข้ออ้างของบริษัทคือ เขามักอ้างว่า รถแท็กซี่กับรถยนต์ส่วนบุคคล มันไม่เหมือนกัน แต่ในเมื่อคดีที่เขาฟ้องเรามันก็เป็น “คดีผู้บริโภค” เหมือนกัน อย่างแรกเลยคุณใช้กฎหมายตัวไหนในการฟ้องคดีผู้บริโภค เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม คือ คนที่เป็นผู้ค้ำประกันแบบเรา หรือจะเป็นคนที่เป็นลูกหนี้เองก็ตาม ถ้าหากว่าเราจ่ายหรือทำอะไรไปเช่นการเจรจา คุณก็ต้องเก็บหลักฐานตรงนั้นไว้ให้หมดทุกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร หรือหนังสือสัญญาต่างๆ เราต้องเก็บไว้ทั้งหมดเก็บทุกเดือน หรือสิ่งที่เรายื่นอะไรให้ทางบริษัท แล้วบริษัทเซ็นรับทราบกลับมาเราก็เก็บเอาไว้ ตอนก่อนที่จะเอารถไปคืน ก็เช็คสภาพมาอย่างไรโดยมีช่างให้หนังสือรับรอง (จริงๆ กรณีของเราก็ไม่ได้บอกที่บริษัทนะว่าเราเช็คสภาพรถมาก่อนคุณอีก แต่เราทำเช็คสภาพเผื่อไว้ก่อน) แล้วถ้าบริษัทเขาเช็คส่วนอะไรบ้าง เราก็ต้องคอยดูเขาเพื่อเปรียบเทียบกัน เออ...ตอนมามันเป็นอย่างไร เราก็จะต้องมีการยืนยันกับเขาได้ แล้วหลังจากนี้เมื่อบริษัทถอนฟ้องเสร็จแล้ว   เราควรจะต้องไปคัดสำเนาถอนฟ้องไว้นะคะ         การเป็นผู้ค้ำประกันต้องดูละเอียดแบบเดียวกับคู่สัญญาเลยนะคะ             อย่างแรกเลยคือคงต้องมองที่บริษัท เพราะว่าพูดตามตรงนะคะว่าตรงนี้ก็พลาดไปเหมือนกัน เพราะว่าคุณพ่อเขาก็ไม่ได้ดูข้อมูลอะไรมาเลย นอกจากการชักชวนกันไปแล้วบอกว่าอันนี้โอเค แต่จริงๆ แล้วเราควรดูข้อมูลบริษัท เพราะบริษัทพวกนี้มันมีตั้งเยอะแยะเราสามารถเลือกได้ ถ้าเราไม่โอเคกับบริษัทนี้ เราเป็นผู้ค้ำประกันก็คงจะบอกได้ว่าอย่าไปทำกับบริษัทนี้เลยไปทำกับที่อื่นดีกว่า         พอรู้ว่าจะต้องเป็นผู้ค้ำประกันแล้วก็ควรที่จะหาข้อมูล หาข้อมูลทั้งบริษัท หาข้อมูลทั้งคนที่เราจะค้ำประกันให้ด้วย โดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่ญาติ ควรจะเก็บเอกสารทุกอย่างให้ดี คือถ้าเป็นผู้ค้ำประกันคงต้องคอยติดตามลูกหนี้ด้วยเหมือนกัน เพราะว่าถ้าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้มาผู้ค้ำก็เดือดร้อน กรณีนี้คือเป็นคุณพ่อเราสามารถคุยได้ว่าเอกสารเอามาให้เราเก็บนะ เอกสารอยู่ที่ไหน อะไรอย่างไร แต่ถ้าเกิดเขาเป็นผู้ค้ำอย่างเช่นช่วยเพื่อนอย่างนี้ จะได้ติดตามเรื่องว่าเอกสารเรียบร้อยไหม หรือถ้าเพื่อนไม่ได้ชำระตามเวลาเราจะได้ไปตาม จริงๆ การเป็นผู้ค้ำก็ต้องใส่ใจเขานิดหนึ่งเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นผู้ค้ำแล้วจบ         ถ้าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับหนี้ก็ควรที่จะเผชิญหน้าสู้กับมัน คุณมีหนี้ก็ต้องใช้หนี้ ปรึกษาผู้ที่รู้ ปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้ค่ะ เราไม่ควรจะหนีหนี้ ทุกอย่างมันมีทางออก แก้ปัญหาให้เร็วที่สุด เราจะได้เริ่มต้นใหม่ให้เร็วที่สุด พอเราตั้งต้นใหม่ได้เร็ว ชีวิตเราก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ไม่จมอยู่กับมัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 สิทธิของคนค้ำประกันที่ควรรู้

    การเป็นหนี้ เชื่อว่าหลายท่านหรือคนใกล้ตัวต้องมีมาคุยเรื่องหนี้กันบ้าง โดยเฉพาะหนี้จากการกู้ยืมเงินไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบ แต่ในครั้งนี้ผมจะขอกล่าวถึงหนี้ของผู้ค้ำประกัน เพราะเป็นคนที่เจตนาดี ช่วยค้ำประกันหนี้ให้คนอื่นทั้งที่ตัวเองไม่ได้ใช้เงิน แต่สุดท้ายเมื่อลูกหนี้ผิดนัด ตนเองก็โดนบังคับชำระหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเห็นใจสำหรับผู้ค้ำประกันหลายคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระได้  ดังนั้นผมจึงคิดว่าเรื่องของ “สิทธิของผู้ค้ำประกันตามกฎหมาย” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกท่านควรรู้ครับ         เมื่อเจ้าหนี้มาทวงหนี้จากผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันมีสิทธิ ดังนี้        1. บอกปัดให้เจ้าหนี้ไปเรียกเอาจากลูกหนี้ก่อน ก่อนที่ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้แทนลูกหนี้นั้น ผู้ค้ำสามารถให้เจ้าหนี้ไปเอาจากลูกหนี้ได้ก่อน ดังนั้นหากเจ้าหนี้มาทวงหนี้กับผู้ค้ำ ให้ผู้ค้ำแจ้งไปเลยว่า ให้ไปเอาจากลูกหนี้ก่อน        2. ตรวจสอบว่า ลูกหนี้มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้หรือไม่ ถ้าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินพอจะชำระหนี้ ผู้ค้ำก็แจ้งเจ้าหนี้ให้ไปบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้        3. ตรวจสอบข้อสัญญาค้ำประกัน หากมีข้อตกลงที่ให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ ผลคือเจ้าหนี้จะต้องไปเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน จนก็กระทั่งลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้แล้วจึงค่อยมีเรียกร้องกับผู้ค้ำประกัน        4. ตรวจสอบว่ามีการแจ้งให้ผู้ค้ำทราบหลังลูกหนี้ผิดนัดภายใน 60 วัน หรือไม่ เนื่องจากข้อกฎหมายได้กำหนดหน้าที่ของเจ้าหนี้ให้ต้องแจ้งผู้ค้ำประกันทราบเมื่อลูกหนี้ผิดนัด ภายใน 60 วัน เพื่อที่ผู้ค้ำจะชำระหนี้ เพื่อไม่เกิดดอกเบี้ยในกรณีผิดนัด โดยที่ผู้ค้ำฯไปเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้ภายหลัง หากไม่แจ้งผู้ค้ำไม่ต้องรับผิดชอบในดอกเบี้ย ค่าติดตามทวงหนี้ ค่าสินไหมทดแทนต่างๆ        5. ตรวจสอบว่าเจ้าหนี้ มีการลดหนี้ให้ลูกหนี้หรือไม่ หากมีผู้ค้ำได้รับประโยชน์นั้นด้วย เนื่องจากข้อกฎหมายให้ผู้ค้ำประกันได้รับประโยชน์จากการที่เจ้าหนี้กระทำการใดๆ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ให้แก่ลูกหนี้ด้วย รวมทั้งกำหนดให้ข้อตกลงที่เป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ค้ำประกันเป็นโมฆะ (ถ้าเจ้าหนี้ลดหนี้ให้ลูกหนี้ก็มีผลถึงผู้ค้ำประกัน แต่ถ้าเป็นผลเสียแก่ผู้ค้ำจะใช้บังคับไม่ได้ )        6. ตรวจสอบว่าเจ้าหนี้ มีการขยายเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้หรือไม่ ซึ่งหากมีการขยายระยะเวลา โดยผู้ค้ำไม่ได้รับทราบหรือยินยอม ผู้ค้ำก็พ้นความรับผิด        7. หลังชำระหนี้แทนลูกหนี้ มีสิทธิฟ้องลูกหนี้ตามวงเงิน ที่ชำระแทน พร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายอื่น          คำพิพากษาฎีกาที่  3847/2562  รูปแบบข้อความของหนังสือบอกกล่าวไปยังค้ำประกัน กฎหมายไม่ได้ระบุรูปแบบไว้ และการแจ้งผู้ค้ำต้องดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่ลูกหนี้ผิดนัด หากไม่ได้แจ้งตามกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ค้ำหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันต่างๆ         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด” บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดรูปแบบข้อความของหนังสือบอกกล่าวไว้อย่างชัดเจน เพียงแต่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อเท็จจริงว่าลูกหนี้ผิดนัดแล้วเพื่อผู้ค้ำประกันจะได้ใช้สิทธิเข้าชำระหนี้แทนลูกหนี้เพื่อลดภาระหนี้ การตีความข้อความในหนังสือบอกกล่าวจึงไม่จำต้องยึดถือรูปแบบที่เคร่งครัด         เมื่อปรากฏว่าหนังสือบอกกล่าวซึ่งโจทก์ส่งไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีเนื้อความระบุว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นมียอดหนี้จำนวนเงินค้างชำระและยังมิได้ชำระหนี้ ขอให้ไปชำระหนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวซึ่งมีข้อความที่แจ้งว่าลูกหนี้ผิดชำระหนี้ เข้าลักษณะเป็นหนังสือบอกกล่าวตามความมุ่งหมายมาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว         จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้รับหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1  ผิดนัด จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็น อุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว ตามมาตรา 686 วรรคสอง โจทก์คงเรียกให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่คิดได้เพียง 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เท่านั้น         อย่างไรก็ตาม การค้ำประกันแม้จะมีข้อกฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้ค้ำประกันไว้ แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่ง่าย หากลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินหรือติดตามตัวไม่ได้ ผู้ค้ำก็ยังต้องรับผิดอยู่ ดังนั้นการจะค้ำประกันให้ใครควรคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเอง ศึกษาข้อมูลรายละเอียดทั้งของตัวลูกหนี้เอง และขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ญาติไม่จ่ายหนี้รถคนค้ำก็ช้ำไป

        เรื่องปวดใจสำหรับคนค้ำประกันคือ แม้ไม่ใช่ผู้ซื้อโดยตรงแต่ตามกฎหมายต้องรับภาระไม่ต่างจากผู้ซื้อ ซึ่งบางคนก็คาดไม่ถึงว่า การลงลายมือชื่อเพื่อค้ำประกันให้ญาติด้วยน้ำใจอันดี อาจกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ผิดใจกันมานักต่อนัก         คุณสนิท โทรศัพท์มาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ตนเองค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ให้ญาติ ต่อมาภายหลังประมาณหนึ่งปีกว่า ญาติผิดนัดไม่ชำระค่างวดรถ ต่อมารถยนต์ถูกยึดและบริษัทไฟแนนซ์ได้ขายทอดตลาด แต่ยังมีเงินส่วนต่างอีกจำนวนหนึ่งค้างอยู่ 155,000 บาท ไฟแนนซ์ได้เรียกให้ตนเองและญาติชำระหนี้ ซึ่งตนเองพยายามติดตามให้ญาติใช้หนี้จำนวนดังกล่าวเสีย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ชำระหนี้ดังกล่าว จึงกลายเป็นคดีความ         ตอนที่ไปฟังคำตัดสิน ศาลพิพากษาให้ญาติและคุณสนิทให้ฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ไม่นานก็มีหมายบังคับคดีถึงบริษัทของคุณสนิทเพื่อที่จะอายัดเงินเดือน “ผมพยายามหาหยิบยืมเงินมาเพื่อปิดหนี้ไม่อยากโดนบังคับคดี อยากทราบว่าผมต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะไม่ให้เสียเปรียบกับทางไฟแนนซ์ แล้วถ้าผมชำระหนี้หมดจะมีทางไหนเรียกเงินคืนจากญาติได้บ้าง”  แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.เมื่อต้องการปิดบัญชี คุณสนิทต้องขอเอกสารใบลดหนี้จากเจ้าหนี้ก่อน เมื่อได้เอกสารแล้วให้อ่านข้อความให้ละเอียดว่า ตรงตามที่ได้ตกลงขอปิดหนี้กับทางไฟแนนซ์หรือไม่        2.หากข้อความเป็นไปตามที่ตกลง สามารถโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัทไฟแนนซ์เพื่อให้มีหลักฐานคือยอดโอนเงินผ่านธนาคาร จากนั้นแจ้งให้ทางบริษัทฯ ทราบและขอใบปิดบัญชีจากทางไฟแนนซ์มาเก็บไว้        3.กรณีที่คุณสนิทซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้แทนญาติ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 (ผู้ซื้อ) คุณสนิทมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอากับญาติได้ แต่ต้องดูว่าญาติมีทรัพย์สินอะไรบ้าง ถ้ามีก็ฟ้องเพื่อให้ชำระหนี้ ถ้าตกลงกันไม่ได้ในชั้นศาลก็สามารถบังคับคดีกับญาติต่อไป เพื่อนำทรัพย์ของญาติออกมาขายทอดตลาดและนำเงินมาชำระหนี้ให้กับคุณสนิท   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 “โปรดระวังเอกสารสำคัญของตัวเอง”

“นักศึกษาช้ำกลายเป็นผู้ค้ำประกันแบบไม่รู้เรื่อง แถมยังโดนทวงหนี้กว่า 150 ล้าน!!”นี่ไม่ใช่เรื่องระหว่างนักธุรกิจร้อยล้านคุยกัน แต่เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องที่เป็นนักศึกษาอายุ 20 ปีกับบริษัทประกันภัยชื่อดังอย่าง บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อผู้ร้องได้รับจดหมายขอให้ชำระหนี้ ของสำนักงานกฎหมายที่อ้างว่าทวงถามหนี้ให้กับบริษัทประกันภัยดังกล่าว เหตุเพราะต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันให้กับตัวแทนขายประกันของบริษัทเนื้อหาในจดหมายอ้างว่าตัวแทนคนหนึ่งของบริษัทฯ ได้ชักชวนให้คนทำประกันภัย โดยเสนอผลตอบแทนสูงกว่าเงื่อนไขในกรมธรรม์ เป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยจำนวนมากหลงเชื่อและตกลงทำประกันชีวิต อย่างไรก็ตามต่อมาผู้เอาประกันภัยเหล่านั้นได้ขอยกเลิกกรมธรรม์ ทำให้บริษัทฯ ต้องคืนเงินเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัย และสูญเสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการนำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตนั้นไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีการจ่ายเงินค่าบำเหน็จ และผลประโยชน์อื่นๆ ที่ให้ตัวแทนดังกล่าวไปแล้ว รวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมดเป็นจำนวนเงิน 159,924,536.12 บาท (หนึ่งร้อยห้าสิบเก้าล้านเก้าแสนสองหมื่นสี่พันห้าร้อยสามสิบหกบาทสิบสองสตางค์) ดังนั้นเพื่อเป็นการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น บริษัทฯ จึงขอให้ผู้ร้องในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันและตัวแทนดังกล่าว ร่วมกันชำระเงินที่บริษัทได้สูญเสียไปทั้งหมดข้างต้น พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 นับตั้งแต่วันที่บริษัทฯ คืนเบี้ย!! แน่นอนว่าเงินจำนวนมากที่บริษัทเสียหายไปเทียบไม่ได้กับความตกใจของผู้ร้อง เพราะเขาไม่เคยรู้จักกับบุคคลตามสัญญาค้ำประกัน และไม่เคยเซ็นเอกสารหรือสัญญาใดๆ กับทางบริษัทฯ มากไปกว่านั้นด้วยวัยเพียง 20 ปีจะเป็นผู้ค้ำประกันให้กับตัวแทนดังกล่าวได้อย่างไร ซ้ำยังต้องมาโดนทวงนี้กว่า 150 ล้านทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ก่อขึ้นอีก (แค่คิดก็ขนลุกแล้ว)แนวทางการแก้ไขปัญหาหลังจากผู้ร้องได้แจ้งเรื่องมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงได้แนะนำให้ไปแจ้งความบันทึกประจำวันไว้ก่อน จากนั้นก็ให้ทำหนังสือถึงบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา เพื่อขอหนังสือสัญญาดังกล่าวมาให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งพบว่า สัญญาการค้ำประกันฉบับนั้นมีการปลอมแปลงเอกสารทุกจุดได้อย่างน่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นลายเซ็นของผู้ร้องหรือแม้กระทั่งลายนิ้วมือ ทางศูนย์ฯ จึงให้ผู้ร้องไปแจ้งความอีกครั้ง แต่เป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร โดยระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์หลักฐานของตำรวจ สิ่งน่ากลัวสำหรับผู้บริโภคอย่างเราทุกคนก็คือ เอกสารสำคัญของเราสามารถถูกปลอมแปลงได้ตั้งแต่ต้นทาง และสามารถทำให้เรากลายเป็นหนี้จำนวนมากมายมหาศาลได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหา สิ่งที่เราควรทำนอกเหนือไปจากการระมัดระวังไม่ให้เอกสารสำคัญเหล่านั้นสูญหายแล้วก็คือ ในทุกครั้งที่มีการทำสัญญาใดๆ ควรเขียนหรือเซ็นกำกับไว้ว่าเอกสารนั้นใช้สำหรับทำอะไร หรือแสดงความประสงค์แบบเฉพาะเจาะจงทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เอกสารของเราถูกนำไปใช้ต่อโดยผู้ไม่ประสงค์ดีนั่นเอง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 เมียเก่าอยากปลดกระดูก

การทำสัญญาค้ำประกันให้กับคนอื่น ตรงกับคำโบราณที่ว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง มีแต่เอากระดูกมาแขวนคอ” แม้ว่าคนที่เราค้ำประกันให้นั้นจะเป็นสามีหรือภรรยากันก็ตามคุณวรินบอกว่าได้ไปค้ำประกันรถยนต์ให้กับสามี โดยสามีไปทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัทไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง แต่บุญวาสนาของสามีภรรยาคู่นี้นั้นแสนสั้นนัก หลังเช่าซื้อรถคันนี้ไม่ถึงปีคุณวรินได้หย่าขาดแยกทางจากสามี เหตุเพราะฝ่ายชายไปมีภรรยาใหม่“ตอนนี้สามีดิฉันยังส่งรถคันนี้อยู่ตลอดค่ะ แต่ที่กังวลก็คือเขาจะส่งไปได้ตลอดหรือเปล่าไม่รู้ เพราะยังเหลือค่างวดอีกตั้ง 5 ปีกว่าจะครบ”คุณวรินเธอปรึกษาว่า ตอนนี้ไม่อยากจะเป็นคนค้ำประกันรถยนต์ให้อดีตสามีอีกต่อไป เพราะไม่ได้มีความผูกพันกันเหมือนแต่ก่อน จะมีวิธีไหนบ้างที่จะยกเลิกการค้ำประกันรถยนต์ของอดีตสามีได้แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาค้ำประกัน คือการที่ไปทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่าถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้นั้นแทน ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดแทนได้ สัญญาค้ำประกัน ถ้าผู้ค้ำประกันไม่ต้องการรับผิดอะไร หรือต้องการจำกัดขอบเขตความรับผิดไว้เพียงใด ต้องระบุในสัญญาให้ชัดเจน เมื่อจำกัดความรับผิดไว้แล้วก็รับผิดเท่าที่จำกัดไว้ แต่สัญญาค้ำประกันส่วนใหญ่เป็นสัญญาสำเร็จรูป ซึ่งจะให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเสมือนลูกหนี้ร่วมเมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้ ไม่ชำระเงินหรือค่าเสียหายมากน้อยเพียงใด ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดจนสิ้นเชิงเช่นเดียวกับลูกหนี้ทุกอย่าง ไม่มีสิทธิเกี่ยงการยกเลิกหรือสิ้นสุดสัญญาค้ำประกันนั้นกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิในการให้ผู้ค้ำประกันบอกเลิกสัญญาเองได้ทันที ยกเว้นกรณีที่ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย หรือศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือเป็นบุคคลล้มละลาย หรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หากจะถอนค้ำประกันหรือเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันคงต้องคุยกับอดีตสามีในฐานะลูกหนี้โดยตรงว่าจะขอเปลี่ยนคนค้ำประกันใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นภรรยาใหม่ก็ได้ เมื่อตกลงกันได้แล้วถึงจะพากันไปเจรจาตกลงกับไฟแนนซ์หรือเจ้าหนี้ว่าจะยินยอมตกลงด้วยหรือไม่ ซึ่งบริษัทไฟแนนซ์อาจมีสองทางเลือกคือยินยอมที่จะเปลี่ยนสัญญาให้ หรือที่พบโดยมากคือให้บุคคลที่เพิ่มเข้ามาทำสัญญาค้ำประกันพ่วงต่อท้ายไปอีกคนหนึ่งเลย ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ช่วยกันกดดัน ควบคุมลูกหนี้ให้ชำระหนี้ต่อไปตามสัญญานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 เพื่อนรัก เพื่อนร้ายหลอกเซ็นค้ำประกันเปล่า

การลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันเปล่า ไม่มีข้อความว่าค้ำประกันอะไร เพียงแค่ลงชื่ออย่างเดียว พร้อมแนบหลักฐานแสดงตน ถือเป็นความประมาทอย่างร้ายแรง และไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง คุณบุญเยี่ยม ได้รับการติดต่อจากเพื่อนรักว่า ให้ช่วยเซ็นค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ให้หน่อยเพราะอยากจะได้รถยนต์โตโยต้าที่โชว์รูมราษฎร์บูรณะไว้ใช้สักคัน โดยจะเช่าซื้อผ่านทางบริษัท ลิสซิ่งกสิกรไทย ด้วยความรักเพื่อน กลัวเพื่อนจะเสียน้ำใจจึงตกปากรับคำและลงนามเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ให้โดยไม่มีข้อความว่าเช่าซื้อรถอะไร จากบริษัทใด ซ้ำยังแนบหลักฐานแสดงตนเพื่อการค้ำประกันไว้ให้กับเพื่อนอีก ในขณะที่ฝั่งเพื่อนแทนที่จะเป็นผู้เช่าซื้อเองกลับให้น้องสาวของตนเป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อ บริษัทลิสซิ่งกสิกรไทยอนุมัติผลการเช่าซื้อให้ แต่มีเงื่อนไขต้องวางเงินดาวน์จำนวน 10,000 บาทก่อน เพื่อนรักของคุณบุญเยี่ยมอยากได้รถแต่ไม่มีเงินสักบาท คิดจะใช้วิธีผ่อนค่างวดอย่างเดียว เลยต้องชวดรถโตโยต้าคันดังกล่าวไป หลังจากไม่ได้รถคันแรกแล้ว เพื่อนของคุณบุญเยี่ยมได้ใช้เอกสารค้ำประกันที่เซ็นต์ลอยๆ ไว้ ไปเที่ยวดูรถยนต์คันใหม่ที่โชว์รูมรถยนต์อีกแห่งหนึ่งบริเวณถนนกาญจนาภิเษก คราวนี้ขอจัดไฟแนนซ์ผ่านทางโตโยต้าลิสซิ่ง โดยใช้ชื่อและเอกสารของน้องสาวและของคุณบุญเยี่ยมเป็นผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันเหมือนเดิม ในครั้งนี้แม้ไม่มีข้อตกลงในการวางเงินดาวน์เหมือนครั้งแรก แต่ไฟแนนซ์ไม่ผ่าน คุณบุญเยี่ยมก็คิดว่า เพื่อนรักน่าจะรู้สภาพฐานะการเงินของน้องสาวและของตัวเองดีแล้วว่าไม่พร้อมที่จะมีรถใช้ และไม่คิดจะไปดูรถที่ไหนอีก และพันธะการค้ำประกันของตนจะหมดสิ้นลงไปด้วย แต่สิ่งที่คุณบุญเยี่ยมไม่ได้ทำก็คือ การขอเอกสารค้ำประกันคืนหรือยกเลิกหรือทำลายเอกสารดังกล่าวไป ปัญหาจึงเกิดขึ้นตามมา ประมาณเดือนกันยายน 2550 คุณบุญเยี่ยมต้องตกใจและรู้สึกสับสนเป็นอย่างมากที่ได้รับหนังสือค้ำประกันรถยนต์ยี่ห้อ เชฟโรเล็ต โคโลราโด้ 3.0LXCAB จาก บริษัท กสิกรไทยลิสซิ่ง ที่มีข้อความระบุว่าตนเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวให้กับน้องสาวของเพื่อนรัก เนื่องจากไม่เคยรับรู้เรื่องการเช่าซื้อรถยนต์คันล่าสุดนี้เลย จึงได้สอบถามไปยังเพื่อนรักทราบว่า รถยนต์เชฟโรเล็ตคันนี้ เพื่อนเป็นคนอยากได้ จึงได้ใช้ชื่อน้องสาวเป็นผู้ซื้อและใช้ชื่อผู้ร้องเป็นคนค้ำประกันเหมือนเดิมแต่ไม่ได้บอกกล่าวกันล่วงหน้า คุณบุญเยี่ยมคิดว่าเรื่องไม่ดีแน่ เพราะตนไม่ได้รับรู้เรื่องการซื้อขายรถยนต์คันนี้แม้แต่น้อย จึงได้ประสานไปยังฝ่ายกฎหมายของบริษัท กสิกรไทยลิสซิ่ง เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และขอให้บริษัทฯ ติดตามรถยนต์คันดังกล่าวคืน แต่ก็สายไปเสียแล้วเมื่อปรากฎว่า ผู้เช่าซื้อถูกบอกเลิกสัญญาภายหลังค้างค่างวดเกินสามงวดติดต่อกัน และไฟแนนซ์สามารถติดตามรถคืนได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 และถูกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ที่ขาดอยู่ แต่ขายทอดตลาดแล้วเงินที่ได้ก็ยังไม่พอชำระหนี้ ทางบริษัท ลิสซิ่งกสิกรไทย จึงใช้สิทธิฟ้องร้องผู้เช่าซื้อคือน้องสาวของเพื่อนรักเป็นจำเลยที่ 1 ฐานผิดสัญญาเช่าซื้อ และคุณบุญเยี่ยมเป็นจำเลยที่ 2 ฐานผิดสัญญาค้ำประกัน ให้ร่วมกันรับผิดชอบในหนี้ที่เหลืออยู่จำนวน 434,800 บาท แนวทางแก้ไขปัญหาการลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันแม้จะไม่มีการกรอกข้อความใดๆ แต่เมื่อมีการนำไปใช้เข้าทำสัญญาการซื้อขายหรือเช่าซื้อพร้อมกับแนบสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการแล้วถือว่ามีผลทางกฎหมายทันที โดยที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบในหนี้ที่เกิดขึ้นเสมือนลูกหนี้ร่วมตามที่สัญญาสำเร็จรูปส่วนใหญ่กำหนดไว้ ทั้งนี้เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาไว้อย่างชัดเจน (ฎ.357/2548) ว่า ผู้ค้ำประกันไม่สามารถที่จะอ้างว่าผู้เช่าซื้อและพวกไปกรอกข้อความให้ผิดไปจากเจตนาของผู้ค้ำประกันมาเป็นประโยชน์เพื่อจะให้ผู้ค้ำประกันพ้นจากความรับผิดได้ เพราะถือว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อซึ่งเป็นการยอมเสี่ยงภัยในการกระทำของตนเอง(ผู้ค้ำประกัน)อย่างร้ายแรง จึงต้องร่วมรับผิดกับผู้เช่าซื้อตามสัญญาค้ำประกันดังนั้นทางเลือกที่เหลือของคุณบุญเยี่ยม คือเป็นผู้ชี้เป้าให้เจ้าหนี้คือไฟแนนซ์ไปเรียกเก็บหนี้กับผู้เช่าซื้อให้ได้ หรือไม่ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในหนี้ที่เกิดขึ้นแทนผู้เช่าซื้อแล้วจึงค่อยไปฟ้องไล่เบี้ยเอาในภายหลัง ดังนั้นที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ ขอแนะนำว่าไม่ควรเข้าทำสัญญาค้ำประกันใดๆ โดยที่ตนไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในทรัพย์สินตามสัญญานั้น และหากจะเข้าทำสัญญาค้ำประกันต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า ผู้เช่าซื้อหรือผู้ซื้อสินค้านั้นมีความสามารถทางการเงินพอที่จะชำระค่าสินค้าจนลุล่วงหรือไม่ และสำคัญต้องคอยติดตามการชำระเงินค่างวดอย่างใกล้ชิดไม่ต่างอะไรกับผู้ขายสินค้าเช่นกัน หากปล่อยปละละเลยผู้ค้ำประกันไม่สามารถที่จะอ้างว่าผู้เช่าซื้อและพวกไปกรอกข้อความให้ผิดไปจากเจตนาของผู้ค้ำประกันได้หรือเซ็นชื่อทิ้งขว้างไปตามสัญญาซื้อขายต่างๆ มีสิทธิที่จะได้หนี้มาแขวนคอเหมือนกรณีนี้ก็เป็นได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 การค้ำประกันผู้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ

การค้ำประกันผู้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ    หลังจากที่มีข่าวเรื่องของทันตแพทย์คนหนึ่งไปค้ำประกันให้ผู้รับทุนไปเรียนต่างประเทศแล้วหนีการใช้ทุน เกิดความลำบาก ต้องหาเงินมาใช้ทุนแทน และมีภาระต้องไปฟ้องเรียกเงินเอากับนักเรียนหนีทุนคนดังกล่าวอีกคราวหนึ่ง  วันนี้ จึงนำคำพิพากษาฎีกาน่าสนใจในเรื่องที่เกี่ยวกับการค้ำประกันผู้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ มาให้ศึกษากันครับ     เรื่อง แรกเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เป็นนักเรียนทุนที่ได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ต่างประเทศ โดยมีจำเลยที่ 2 มาค้ำประกันให้ แต่ปรากฏว่าครบกำหนดแล้ว ยังเรียนไม่จบ จึงทำเรื่องขออนุมัติเรียนต่ออีกสามครั้ง  ต่อมาหลังจากเรียนจบก็กลับมาใช้ทำงานใช้ทุนได้ปีกว่า ก็เกิดปัญหา ทำผิดวินัย ถูกไล่ออกจากราชการ และทางผู้ให้ทุนจึงมาฟ้องนักเรียนทุนคนดังกล่าวให้รับผิดร่วมกับผู้ค้ำประกัน ซึ่งในคดีนี้ ศาลตัดสินว่า คนค้ำต้องร่วมรับผิดด้วย แม้การอนุมัติให้ศึกษาต่อ จะไม่ได้แจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบ และไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ค้ำประกันก็ตาม เพราะเห็นว่าอยู่ในข้อตกลงสัญญาค้ำประกัน             คำพิพากษาฏีกาที่ 1056/2536     “สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้ระบุระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ และสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ก็มิได้ระบุเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อเช่นกัน ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศเป็นเวลา 2 ปี ครบแล้วโจทก์ได้อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ศึกษาต่ออีกเป็นเวลา 4 ปีเศษโดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ และจำเลยที่ 2 มิได้ยินยอมในการที่โจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ศึกษาต่ออีกนั้น แม้จะเป็นภาระหนักขึ้นแก่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแต่ก็ไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงในสัญญาและเป็นคนละเรื่องกับการที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต่อโจทก์จะต้องคืนเงินเดือนเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพที่ตนรับไปให้โจทก์เป็นเงิน 161,863.96 บาท และต้องเสียเบี้ยปรับอีกเท่ากับเงินทั้งหมดที่รับไปกับจะต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีสำหรับเงินต้นรวมกับเบี้ยปรับตามสัญญาด้วยนั้น เบี้ยปรับและดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ระบุความเสียหายหรือความรับผิดในการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้าเมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกิน ส่วนศาลก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 และเมื่อกำหนดเบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายจำนวนพอสมควรแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้ค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอีก”แต่ถ้าเป็นกรณีเพียงค้ำประกันการไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโท และตัวผู้ขอทุนได้จบปริญญาโทแล้ว ทำเรื่องขอเรียนต่อปริญญาเอก และได้รับอนุมัติ โดยผู้ค้ำไม่ได้ยินยอมด้วย เช่นนี้ ผู้ค้ำประกันรับผิดเพียงสัญญาเดิมเท่านั้น  โดยคดีที่ยกมาอ้างอิงนี้ เป็นเรื่องของ อาจารย์ท่านหนึ่ง ขอไปเรียนต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ สาขาการสอนคณิตศาสตร์ มีกำหนด 2 ปี  โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน พอครบ 2 ปี อาจารย์ท่านก็จบปริญญาโท แต่ไม่ได้กลับมาใช้ทุน และขอเรียนต่อปริญญาเอกอีก รวมเป็นเวลา 5 ปีกว่า แต่ปรากฏว่าเมื่อเรียนจบปริญญาเอกแล้ว ไม่กลับมารับราชการ ดังนี้ ศาลเห็นว่า การที่โจทก์ให้ผู้ให้ทุนไม่ได้แจ้งให้ จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันทราบถึงการอนุมัติให้เรียนต่อปริญญาเอก และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันเพิ่ม จำเลยที่ 2 จึงรับผิดเฉพาะตามสัญญาค้ำประกันใช้ทุนเดิม คือ 2 ปี เท่านั้น คำพิพากษาฏีกาที่ 3579/2536 “ จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติและความรับผิดตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรืออบรม ณ ต่างประเทศ ที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ในการที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนส่วนตัว (ทุนประเภท 2) มีกำหนด2 ปี นับแต่วันออกเดินทาง โดยเมื่อจำเลยที่ 1 เสร็จการศึกษาตามที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษาต่อ หรือจำเลยที่ 1ถูกเรียกตัวกลับ และจำเลยที่ 1 ไม่กลับมารับราชการกับโจทก์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของเวลาที่ได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มและจำเลยที่ 1 ไม่ชดใช้เงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มและเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 2 ยินยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ส่วนที่หลังจากครบกำหนด2 ปี แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ขอลาศึกษาต่อด้วยทุนส่วนตัวอีก 5 ปี9 เดือน 4 วัน และโจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาศึกษาต่อโดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการลาไปศึกษาต่อเพิ่มเติมของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์แต่อย่างใดจำเลยที่ 2 จึงคงมีความรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเพียงสำหรับการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี เท่านั้น สัญญาค้ำประกันระบุว่า หากโจทก์จะผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันต่อไป มีความหมายเพียงว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินคืนให้โจทก์พร้อมเบี้ยปรับภายในกำหนด 30 วัน ถัดจากวันได้รับแจ้งจากโจทก์ตามสัญญาข้อ 4 และ ข้อ 5 และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน แม้โจทก์ผ่อนเวลาในการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ยินยอมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันต่อไปข้อความดังกล่าวหาได้มีความหมายว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ทุกประการโดยไม่จำกัดเวลาและจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นในอนาคตไม่”หลายๆ ท่านคงทราบดี ว่ากฎหมายค้ำประกันมีการแก้ไขใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่20) พ.ศ.2557  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558  หากใครไปทำสัญญาค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ก็ต้องไปว่ากันตามกฎหมายใหม่ ซึ่งสิ่งที่พอจะช่วยคนค้ำได้คือ ในการเซ็นสัญญาค้ำประกันให้กับผู้ที่ประสงค์จะไปเรียนต่อต่างประเทศ  หากเขาขอทุนเพื่อไปศึกษาต่อปริญญาโท จะต้องมีการแจ้งตัวเลขที่ชัดเจนกับผู้ค้ำประกันทันทีว่าจะต้องมีส่วนรับผิดชอบเป็นจำนวนเงินเท่าใด หากครบกำหนดแล้วนักเรียนทุนรายนั้นไม่สามารถมาใช้ทุนได้ ต้องมีการระบุตัวเลขชัดเจนตั้งแต่วันทำสัญญาและในกรณีที่ขอทุนไปเรียนโทแล้วจบการศึกษาแล้วประสงค์ต่อปริญญาเอกเลย ก็จะต้องมีการพูดคุยกับผู้ค้ำประกันอีกครั้งถึงมูลค่าการรับผิดชอบที่จะต้องเพิ่มขึ้น หากผู้ค้ำไม่ยินยอมก็จะต้องมีการหาผู้ค้ำรายใหม่สำหรับทุนปริญญาเอกแต่สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า หากท่านจะไปทำสัญญาค้ำประกันให้ใครก็ขอให้ดูให้ดี เพราะสุดท้ายหากเขาไม่มีความรับผิดชอบ หรือหนีทุนเหมือนกับหลายคนที่เป็นข่าว ก็จะทำให้ตัวท่านเองเดือดร้อนโดยไม่จำเป็น และหากจำเป็นต้องค้ำ ก็ขอให้พิจารณาถึงวงเงินที่ตนจะสามารถรับผิดชอบได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกันในภายหลังครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 ค้ำประกันเท่าไร เทวดาน่าจะรู้

ค้ำประกันเท่าไร  เทวดาน่าจะรู้ สุภาษิตคำพังเพยโบราณกล่าวไว้ว่า “ อยากเป็นลูกหนี้ให้เป็นนายหน้า  อยากเป็นขี้ข้าให้เป็นนายประกัน “ นั้น  น่าจะมีมูลเป็นความจริง มิฉะนั้นคงจะไม่มีคำพังเพยเช่นนี้  สัญญาค้ำประกัน นั้นคืออะไร ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา ๖๘๐ วรรคแรก บัญญัติว่า “ อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น จากบทนิยามดังกล่าว ลักษณะสำคัญของสัญญาค้ำประกันมี ๓ ประการคือ  ๑.     ผู้ค้ำประกันต้องเป็นบุคคลภายนอก กฎหมายใช้คำว่า “ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกัน “ ดังนั้น ผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่สาม คือไม่ใช่เจ้าหนี้และลูกหนี้ อาจจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้  ถ้าเป็นนิติบุคคลต้องเป็นการที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น  ผู้ค้ำประกันหนี้รายหนึ่งอาจมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ สัญญาค้ำประกันเป็นการประกันการชำระหนี้ด้วยตัวบุคคล ซึ่งมีผลให้เจ้าหนี้มีบุคคลสิทธิที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้โดยบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วๆไปของผู้ค้ำประกัน   ๒.    ต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ จะมีการค้ำประกันได้จะต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ หนี้นั้นจะเกิดจากสัญญาหรือละเมิดก็ได้ หนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้เรียกว่าหนี้ประธาน เมื่อมีหนี้ประธานแล้วจึงมีสัญญาระหว่างผู้ค้ำประกันกับเจ้าหนี้  หนี้ระหว่างผู้ค้ำประกันกับเจ้าหนี้เป็นหนี้อุปกรณ์  ถ้าไม่มีหนี้ประธานคือไม่มีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้  แม้มีการทำสัญญาค้ำประกันไว้ ผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิด  ๓.    ต้องเป็นเรื่องผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น การที่จะเป็นการค้ำประกันจะต้องเป็นเรื่องบุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คือต้องทำสัญญาต่อเจ้าหนี้  ถ้าไปทำสัญญากับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้สัญญานั้นไม่ใช่สัญญาค้ำประกัน   นอกจากนี้สัญญาค้ำประกันไม่มีแบบแต่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๐ วรรคสอง บัญญัติว่า “ อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ “   และถ้าผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันสำเร็จรูปแล้วไม่ได้ไม่ได้กรอกจำนวนเงินในช่องจำนวนเงินที่จะค้ำประกันลงไป จะเกิดผลอย่างไร  ดูได้จากกรณีตัวอย่างดังนี้   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๙/๒๕๔๕ วินิจฉัยว่า สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว การตีความจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด การที่จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันต่อหน้าโจทก์โดยระบุว่าใช้หนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ ๑  แต่ในสัญญาค้ำประกันเป็นเพียงแบบที่พิมพ์ไว้โดยเว้นช่องว่างเพื่อการกรอกรายละเอียดต่างๆ  โดยไม่ได้ระบุจำนวนเงิน ดังนั้นข้อความที่ว่า ยอมรับผิดในหนี้สินทั้งหมด จึงเป็นข้อความต่อเนื่องจากข้อความในตอนแรกที่ต้องกรอกจำนวนเงินไว้ก่อน เมื่อในสัญญาค้ำประกันไม่ได้กำหนดจำนวนเงินที่จะค้ำประกันไว้ จึงเป็นเอกสารไม่สมบูรณ์และไม่อาจอนุมานได้ว่า ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่าใด  จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์  สรุป ศาลก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจำเลยที่ ๒ จะค้ำประกันจำเลยที่ ๑ จำนวนเท่าไรกันแน่จึงยกฟ้องจำเลยที่ ๒ และคิดต่อไปว่าหากมีผู้ค้ำประกันคนไหนไปบอกเจ้าหนี้ว่าถ้าขีดเส้นในช่องจำนวนเงินที่ค้ำประกันนั้นหมายความว่า ค้ำประกันไม่จำกัดจำนวนเงิน คงสนุกดีพิลึก

อ่านเพิ่มเติม >