ฉบับที่ 274 ชวนคิดเรื่องการประหยัดค่าไฟฟ้าภายในบ้าน

        นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศผิวโลกในปี 2567 จะสูงกว่าของปีที่แล้วซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีการจดบันทึกมา  สาเหตุสำคัญเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล) แล้วลอยขึ้นไปทำหน้าที่เป็นผ้าห่มโลก ดังนั้นเมื่อเรายังคงปล่อยก๊าซฯ ต่อไปผ้าห่มก็จะหนาขึ้น โลกจึงร้อนขึ้นตามกลไกที่ตรงไปตรงมาที่เราเข้าใจกันอยู่แล้ว         คราวนี้หันมามองตัวเราเองบ้าง เมื่ออุณหภูมิอากาศสูงขึ้นและจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเยอะด้วย เนื่องจากเราอยู่ในเขตร้อนของโลก เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร  แต่ไม่ว่าจะแก้ไขอย่างไรก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ทั้งจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่มากขึ้นและอัตราค่าไฟฟ้าที่เป็นอัตราก้าวหน้า นั่นคือยิ่งใช้จำนวนมาก อัตราค่าไฟฟ้าก็จะกระโดดขึ้นเป็นเหมือนขั้นบันได บางคนพูดตลกว่า “เห็นใบแจ้งค่าไฟฟ้าแล้วจะหนาว”         เรื่องที่ผมขอชวนคิดในวันนี้เกี่ยวกับการประหยัดค่าไฟฟ้าภายในบ้าน หากท่านใดพิจารณาแล้วเห็นว่าพอจะปฏิบัติได้ก็ลงมือทำเลยครับ ท่านที่ไม่สามารถทำได้ก็ขอเพียงรับรู้และบอกเล่ากันต่อไป         เรื่องมีอยู่ว่า ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 800 หน่วยต่อเดือนควรเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU  ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าคิดตามเวลาที่ใช้ (Time of Use)         กล่าวคือ ตั้งแต่ 4 ทุ่มจนถึง 9 โมงเช้าของวันจันทร์ถึงวันศุกร์และตลอด 24 ชั่วโมงของวันเสาร์และอาทิตย์ (เราเรียกว่าเป็นช่วงนอกพีค Off Peak) อัตราค่าไฟฟ้าจะมีราคาถูกและเป็นอัตราคงที่ด้วย จะใช้มากหรือใช้น้อยก็มีอัตราเท่าเดิม (เฉพาะค่าไฟฟ้าอย่างเดียวหน่วยละ 2.6369 บาทต่อหน่วย) แต่ถ้าใช้นอกเหนือจากช่วงเวลาดังกล่าว(ช่วงพีค) อัตราค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้น (ค่าไฟฟ้าอย่างเดียว 5.7982 บาทต่อหน่วย) ในขณะที่มิเตอร์แบบธรรมดาประเภทผู้อยู่อาศัย 1.2 อัตราค่าไฟฟ้าประมาณ 4.19 บาทต่อหน่วยและเป็นอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้มาก อัตรายิ่งเพิ่มขึ้น        โปรดอ่านช้าๆ อีกครั้งครับ         ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์แบบ TOU ถ้าเราใช้ไฟฟ้าไม่มากพอ เราจะไม่ได้ประโยชน์ บางกรณีค่าไฟฟ้าจะมากกว่ามิเตอร์แบบเดิมเสียด้วยซ้ำ  สมมุติว่าเราใช้ไฟฟ้าเดือนละ 1,000 หน่วย หากใช้มิเตอร์แบบเดิม (ประเภท 1.2) จะเสียค่าไฟฟ้ารวมในช่วงมกราคมถึงเมษายน 2567 เดือนละ 4,941 บาท   เมื่อเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์แบบ TOU  และมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าในพีคและนอกพีค ดังตาราง         อนึ่ง จากข้อมูลของการไฟฟ้านครหลวง พบว่าค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนมิเตอร์ TOU ประเภทแรงดันต่ำ เท่ากับ 6,640 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)  ดังนั้นหากสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าเท่ากับ 200:800 การเปลี่ยนมิเตอร์ก็จะคุ้มทุนในเวลาประมาณ 7 เดือน  หากเปลี่ยนสัดส่วนการใช้เป็น 300:700 ก็จะใช้เวลาประมาณ 10 เดือนจึงจะคุ้มทุน         เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นทางเลือกที่มากขึ้น ผมจึงลองสมมุติสถานการณ์ใหม่ คือ ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 800 หน่วย ถ้าใช้มิเตอร์เดิมจะเสียค่าไฟฟ้าเดือนละ 3,910 บาท ถ้าเปลี่ยนเป็น TOU แล้วมีสัดส่วนการใช้เป็น 200:600 ค่าไฟฟ้าใหม่จะเป็น 3,300 บาท ลดลง 610 บาท นั่นคือ ระยะเวลาคุ้มทุนจะเป็น 11 เดือน         ถ้าใช้ไฟฟ้าเดือนละ 600 หน่วย มิเตอร์เดิมจะจ่ายค่าไฟฟ้ารวม 2,878 บาท แต่ถ้าเป็นมิเตอร์ TOU โดยมีสัดส่วน 200:400 ค่าไฟฟ้าใหม่จะเท่ากับ 2,651 บาท ลดลง 227 บาท ดังนั้นต้องใช้เวลานาน 29 เดือน จึงจะคุ้มทุน ข้อควรระวังและคำแนะนำ          (1)        ต้องมีการวางแผนการใช้ไฟฟ้าตามเวลาที่กำหนด เช่น ซักผ้า (ด้วยเครื่อง) ก่อน 8 โมงเช้า เปิดแอร์นอนหลัง 4 ทุ่ม และรีดผ้าวันเสาร์ เป็นต้น ผู้บริโภคควรพิจารณารายละเอียดอย่างอื่นประกอบด้วย เช่น ในแต่ละวันเราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่นอกบ้านหรือในบ้าน         (2)        จากผลการคำนวณดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าใช้ไฟฟ้าน้อยเดือนละ 600 หน่วย ต้องใช้เวลา 29 เดือนจึงจะคุ้มทัน แต่ถ้าใช้ตั้งแต่เดือนละ 800 หน่วยขึ้นไปยิ่งมีความน่าสนใจ ยิ่งใช้มากยิ่งคุ้มทุนเร็วขึ้น        (3)        ผู้บริโภคที่มีรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ควรเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU ครับ รถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ชาร์จไฟฟ้าครั้งละ 20 หน่วย สามารถแล่นได้ 100 กิโลเมตร ถ้าเราชาร์จแบตเตอรี่หลัง 4 ทุ่ม ก็ยิ่งเพิ่มสัดส่วนการใช้นอกพีคเพิ่มขึ้น ความคุ้มทุนก็จะยิ่งเร็วขึ้น ใช้ไฟฟ้าอัตรา 2.64 บาทต่อหน่วย แล่นได้ 5 กิโลเมตร เฉลี่ยรถยนต์คันนี้ใช้เชื้อเพลิงกิโลเมตรละ 53 สตางค์ ถูกกว่าการใช้น้ำมันหลายเท่าตัว         ถ้าไม่คุ้มแล้วจะเรียกว่าอะไร          อ้อ ขอย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นการคิดบนฐานของการประหยัดค่าไฟฟ้าเท่านั้น อันเนื่องมาจากกติกาของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน ตอนต่อไปผมจะชวนคิดเรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ซึ่งเป็นเรื่องของการประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญของโลก โปรดติดตามกันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 มีหมายศาลเรียกให้ไปจ่ายค่าไฟจากบ้านที่ขายไปเมื่อ 20 ปีก่อน

        เรื่องนานขนาดผ่านไปเกือบยี่สิบปี แต่หากผู้บริโภคไม่ได้จัดการในเรื่องสัญญาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าให้เรียบร้อย ปัญหาก็อาจวนกลับมาให้เสียทรัพย์ได้         คุณก้อยติดต่อขอคำแนะนำมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า วันหนึ่งได้รับหมายเรียกของศาลจังหวัดปทุมธานี ตามที่มีคำฟ้องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอสามโคก ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2565 โดยยื่นฟ้องฐานค้างชำระหนี้ค่าไฟฟ้า 6 เดือน สิงหาคม - ธันวาคม 2563 และมกราคม 2564 มียอดหนี้พร้อมดอกเบี้ยรวม 10,300.51 บาท ซึ่งในคำฟ้องนี้ มีคุณก้อยเป็นจำเลยที่ 1 และผู้ใช้ไฟฟ้าคนปัจจุบันเป็นจำเลยที่ 2         เหตุนี้เกิดขึ้นจากเมื่อ 20 ปีก่อน (พ.ศ. 2544)  นางสะอาด (นามสมมติ) ได้ซื้อบ้านหลังเกิดเหตุกับคุณก้อย ครั้งนั้นคุณก้อยไม่ได้ “สนใจ” ที่จะจัดการยกเลิกหรือเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองมิเตอร์ไฟฟ้าให้เรียบร้อย “ยอมรับค่ะว่าไม่ทันคิดอะไร หลังธุรกรรมเรื่องซื้อขายบ้านเรียบร้อย ดิฉันเซ็นมอบอำนาจให้นางสะอาดไปเพื่อให้เขาไปดำเนินการเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นชื่อนางสะอาดแทน” หลังจากที่คุณก้อยมอบอำนาจแล้วก็ไม่ได้สนใจอะไรอีก เพราะตลอดเวลาเกือบ 20 ปี ก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร ดังนั้นเมื่อได้หมายเรียกจากศาล จึงพยายามติดต่อนางสะอาดว่าเกิดอะไรขึ้น ได้ความแค่ว่า นางสะอาดขายบ้านหลังนี้ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าหรือเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 และไม่ได้ชำระค่าไฟฟ้าหลายเดือน จนเกิดหนี้ค่าไฟฟ้าขึ้น  “ดิฉันถูกฟ้องด้วย เรื่องนี้ดิฉันต้องทำอย่างไรดีคะ”           แนวทางการแก้ไขปัญหา         จากการที่ละเลยไม่เปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าของคุณก้อยหลังการขายบ้าน จนกระทั่งผู้เป็นเจ้าของบ้านคนปัจจุบันค้างชำระค่าไฟฟ้านั้น ตามระเบียบของการไฟฟ้า ระบุว่า  “ตามระเบียบว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ. 2562 ข้อ 32 ความรับผิดชอบในการชำระค่าไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับผิดชอบค่าไฟฟ้าตลอดไปจนกว่าจะแจ้งบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าเป็นลายลักษณ์อักษรหรือโอนเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าให้ผู้อื่น หากผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้บอกเลิกการใช้ไฟฟ้า แต่มีผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้า ให้ถือว่าผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันชำระค่าไฟฟ้า”         หลังจากขอรายละเอียดต่างๆ จากคุณก้อยผู้ร้องเรียนแล้ว ทางมูลนิธิฯ ได้ประสานไปที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพราะเกิดข้อสงสัยว่า ธรรมดาเมื่อผู้ใช้ไฟฟ้าค้างชำระค่าไฟฟ้า 1-2 เดือน การไฟฟ้าจะระงับการจ่ายไฟฟ้าหรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า ตัดไฟ แล้วในกรณีนี้ทำไมจึงปล่อยให้มีการใช้ไฟฟ้าต่อไปจนถึง 6 เดือน ซึ่งเท่ากับทำให้ยอดค้างชำระมีจำนวนที่สูงตามจำนวนการใช้ไฟฟ้าไปด้วย         คำถามนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอสามโคก ปทุมธานี ตอบว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลมีมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชน ดังนั้นการไฟฟ้าสามโคกในฐานะโจทก์จึงยังมิได้งดจ่ายกระแสไฟฟ้าหรือบอกเลิกสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้ากับจำเลย แต่ได้ติดตามทวงถามและแจ้งหนี้มาโดยตลอด แน่นอนว่าการทวงถามนี้คุณก้อยไม่เคยได้รับข้อมูล เนื่องจากเอกสารต่างๆ ส่งไปยังบ้านเลขที่ของบ้านที่เกิดการใช้ไฟฟ้าและปัจจุบันไม่สามารถติดตามตัวเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าได้         คุณก้อยกังวลใจมาก เพราะตามตัวผู้ใช้ไฟฟ้าหรือจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ทำให้คิดว่าตนอาจต้องรับผิดชอบเรื่องหนี้ก้อนนี้ทั้งหมดเองคนเดียว ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้แนะนำให้คุณก้อยไกล่เกลี่ยโดยขอร้องต่อศาลให้เลื่อนเวลาผ่อนผันออกไปก่อน เพื่อตามตัวผู้ใช้ไฟฟ้าหรือเจ้าของบ้านคนปัจจุบันให้ได้ เพื่อมารับผิดชอบหนี้ที่ก่อไว้ (ตอนนี้บ้านไม่มีผู้อาศัย) ขณะเดียวกันเสนอให้คุณก้อยยื่นคำให้การต่อศาลเป็นเอกสารชี้แจงลำดับเหตุการณ์ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ยินดีช่วยร่างให้ พร้อมกับต้องไปคัดทะเบียนราษฎร์ที่เคยปรากฎชื่อตนเองว่าครอบครองบ้านหลังดังกล่าวก่อนขายเปลี่ยนมือเมื่อปี 2544 พร้อมหลักฐานการแจ้งย้ายออกแล้วนำยื่นต่อศาลเพื่อพิจารณา ซึ่งเรื่องราวจะจบลงอย่างไรจะได้นำเสนอต่อไป         ทั้งนี้ฝากเป็นบทเรียนให้แก่ทุกท่าน เมื่อมีการซื้อขายเปลี่ยนมือไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดมิเนียม ควรจัดการบอกยกเลิกสัญญาการใช้ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ ต่างๆ ให้เรียบร้อย เพื่อมิให้ต้องเกิดปัญหาเช่นเดียวกับผู้ร้องทุกข์รายนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ค่าเฉลี่ยกับความมั่นคงด้านพลังงานและของชีวิต

        เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จัดเสวนาเรื่อง “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟฟ้าแพง ขัดรัฐธรรมนูญ?” (อย่าลืมอ่านเครื่องหมายคำถามด้วยนะ) โดยผมเองได้มีโอกาสกล่าวเปิดการเสวนาในครั้งนั้น จึงขอถือโอกาสนำมาเล่าให้ชาว “ฉลาดซื้อ” ฟังในบางประเด็นดังต่อไปนี้ครับ         เอาเรื่องรัฐธรรมนูญก่อนเลยครับ         รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 56 วรรคสอง กำหนดว่า “โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใด ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้”นอกจากนี้ ในมาตรา 72 วรรคห้า กำหนดว่า “ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า รวมทั้งพัฒนาและสนับสนุนให้มีการผลิตและการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน” เป็นที่น่าสังเกตว่า คำว่า “ความมั่นคงด้านพลังงาน” เป็นคำที่เพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2560 สองฉบับก่อนหน้านี้คือปี 2540 และ 2550 ยังไม่มีครับ         เท่าที่ผมติดตามความหมายของ “ความมั่นคงด้านพลังงาน” ค่อยๆ พัฒนามาอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มต้นอย่างแคบๆ เช่น สามารถมีใช้ตลอดเวลา ราคาไม่แพง หากเป็นกรณีไฟฟ้าก็ต้องให้อุปสงค์กับอุปทานต้องเท่ากันตลอดเวลา เป็นต้น แต่ในระยะต่อมาความหมายเริ่มกว้างขึ้น เช่น มีมิติของความยั่งยืน ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำและมีความเป็นธรรม         ความจริงแล้วโลกรู้จัก “ความไม่มั่นคงด้านพลังงาน” ก่อนที่รู้จัก “ความมั่นคงด้านพลังงาน” เสียด้วยซ้ำ โดยเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่ประเทศกลุ่มโอเปค (OPEC) ขึ้นราคาน้ำมันดิบ 4 เท่าตัวในปี 2516  Evan Hillebrand ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (University of Kentucky Patterson School สหรัฐอเมริกา) ได้ให้ความหมายที่ลึกซึ้งมากว่า “ความมั่นคงทางพลังงานไม่ใช่แค่เรื่องความสำคัญของพลังงาน แต่เกี่ยวข้องกับว่าพลังงานมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติอย่างไร” ย้ำนะครับว่า มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติด้วย เหตุการณ์ประเทศรัสเซียถล่มโรงไฟฟ้าในประเทศยูเครนคงจะเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ได้อย่างดี มีคนสรุปว่า “ในช่วงที่อุณหภูมิหนาวจัดการทำลายโรงไฟฟ้าคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” มันสาหัสกว่าการทำลายความมั่นคงของชาติเสียอีก         ความมั่นคงด้านพลังงานไม่ใช่แค่หมายถึง (1) การมีพลังงานใช้ตลอดเวลา (2) ในราคาที่สามารถจ่ายได้และมีเสถียรภาพ แต่ยังคงหมายถึง (3) การพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย (4) มีการปล่อยคาร์บอนและมลพิษน้อย และ (5) มีความเป็นธรรม มีธรรมาภิบาลในการกำกับดูแล จากความหมายของศาสตราจารย์ Evan Hillebrand และความหมาย 5 ข้อข้างต้นพอสรุปได้ว่า “ประเทศใดไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล ประเทศนั้นไม่มีความมั่นคง” และน่าจะเป็นจริงกับเรื่องทั่วๆ ไปด้วย         ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้าทั้งประเทศคิดเป็นมูลค่า 3.65 แสนล้านบาท ซึ่งตอนนั้นค่าไฟฟ้ายังไม่ได้ขึ้นมากนัก ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี ค่าเอฟทีได้ขึ้นจาก 24.77 เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย (จำได้ใช่ไหมครับ)  ดังนั้นพอจะประมาณได้ว่า ค่าไฟฟ้าปี 2565 ทั้งปีน่าจะประมาณ 7.4-8.0 แสนล้านบาทซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีกิจการไฟฟ้า         คราวนี้มาถึงมาตรา 56 ที่พอสรุปให้กระชับได้ว่า การทำให้รัฐเป็นเจ้าของสาธารณูปโภค(ระบบการผลิตไฟฟ้า)น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้ แต่เนื่องจากระบบการผลิตไฟฟ้าประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนของโรงไฟฟ้าซึ่งนับถึงเดือนสิงหาคม 2565 มีจำนวน 53,030 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของรัฐหรือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ร้อยละ 32 ที่เหลือร้อยละ 68 ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนไปแล้ว ส่วนของโครงข่ายสายส่งเป็นของ กฟผ.ทั้ง 100%  และส่วนฝ่ายจัดจำหน่ายซึ่งเป็นของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงรวมกันเป็น 100%  การคิดความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของระบบไฟฟ้าว่าเป็นของรัฐหรือของเอกชนนั้น ควรจะคิดกันอย่างไร จะคิดรวมทั้งระบบทั้ง 3 ส่วน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้กรรมสิทธิ์ของรัฐก็น่าจะไม่น้อยกว่าร้อยละ 51    หรือจะคิดทีละส่วนๆ เพราะถือว่าหากส่วนใดส่วนหนึ่งไม่มีความมั่นคงก็ส่งผลให้ทั้งระบบก็ไม่มีความมั่นคงไปด้วย         ภาพบนเป็นภาพคนเอาเท้าข้างหนึ่งแช่น้ำเย็นอุณหภูมิลบ 60 องศาเซลเซียสซึ่งเย็นกว่าน้ำแข็ง เท้าอีกข้างหนึ่งแช่ในน้ำร้อนบวก 60 องศาเซลเซียส น่าจะพอลวกไข่ได้ เมื่อเป็นดังนี้ หากเราคิดตามหลักการหาค่าเฉลี่ยทางคณิตศาสตร์หรือทางสถิติ เราก็จะได้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของคนคนนี้ก็ยังเท่าเดิม คือ 37 องศาเซลเซียส  ทั้งๆที่ ในความเป็นจริงแล้ว เท้าทั้งสองข้างอาจจะเปื่อยพองไปแล้วก็ได้         สิ่งที่ผมยกมาเปรียบเทียบ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะครับ แต่มีคนเขียนเป็นหนังสือชื่อ How to lie with Statistics ขายดีด้วยทั่วโลก และมีคนแปลเป็นภาษาไทยว่า “วิธีปั่นหัวคนด้วยสถิติ”  ผมอธิบายเพิ่มเติมดังรูป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับ 259 มาตัดยอดค่าไฟฟ้าแพงด้วยโซลาร์เซลล์บนหลังคากันเถอะ

ดังที่เราทราบกันดีแล้วว่า ในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคมปีนี้ค่าไฟฟ้าได้ขึ้นราคาไปแล้ว ด้วยเหตุผลว่าค่าเชื้อเพลิงซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติขึ้นราคา โดยค่า Ft ได้ขึ้นจาก 24.77 เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย  และมีแนวโน้มที่ค่อนข้างแน่นอนว่าในช่วง 4 เดือนถัดไปของปี 2566 จะต้องขึ้นราคาอีก         ที่ผมใช้คำว่าค่อนข้างแน่นอนก็เพราะว่า ผลการคำนวณค่า Ft ในรอบ 4 เดือนสุดท้ายของปี 2565 จะต้องขึ้นเป็น 2 บาทกว่าต่อหน่วย ไม่ใช่ 93.43 สตางค์ แต่ที่ลดลงมาแค่นี้ก็เพราะรัฐบาลได้ผลักภาระชั่วคราวไปให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับไปก่อน ส่งผลให้ กฟผ.เป็นหนี้กว่า 8 หมื่นล้านบาท ต่อให้ราคาก๊าซฯกลับมาเป็นปกติ กฟผ.ก็ต้องเก็บเงินจากผู้บริโภคมาคืนอยู่ดี ค่าไฟฟ้าจึงไม่มีทางจะถูกลงในช่วงสั้นๆ         หากมองในช่วงยาว ๆ รัฐบาลได้อนุมัติให้ ปตท.ลงทุนก่อสร้างระบบนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมีราคาแพงมาก ปัญหากิจการพลังงานไฟฟ้าไทยจึงค่อยๆรัดคอผู้บริโภคให้แน่นขึ้นๆ ค่าไฟฟ้าก็จะแพงขึ้นและแพงขึ้น ทั้งๆที่มีหนทางอื่นที่จะทำให้ถูกลงได้แต่รัฐบาลไม่เลือก         นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่สำคัญอื่นๆอีก ซึ่งผมจะไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่ขอมาชวนผู้บริโภคคิดเพื่อการพึ่งตนเอง ด้วยการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเอง         เรามาดูค่าไฟฟ้าในบ้านเรากันก่อนครับ ซึ่งปกติผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ดู แต่เราชอบบ่นว่าค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งก็เป็นความจริง ถ้าเราหยุดอยู่แค่นี้ก็จะไม่มีอะไรดีขึ้น  แต่ถ้าเราสามารถค้นพบความจริงที่เราสามารถลงมือแก้ไขด้วยตนเองได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี         จากข้อมูลในตาราง(ดังภาพ) พบว่าค่าไฟฟ้าประเภทผู้อยู่อาศัยเป็นอัตราก้าวหน้า นั้นคือยิ่งใช้มากอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยยิ่งแพงขึ้น  จากภาพอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับหน่วยที่ 401 ขึ้นไปจะเท่ากับ 5.73 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)         จากการสอบถามเพื่อนๆที่เดินออกกำลังกายด้วยกันพบว่า แต่ละบ้านก็ใช้ไฟฟ้าเกิน 400 หน่วยต่อเดือน บางรายมากกว่า 600 หน่วยถึง 700 หน่วย ดังนั้น หากมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา จะทำให้ยอดจำนวนการใช้ไฟฟ้าของบ้านนั้นลดลงมา ส่วนที่ลดลงจะเป็นส่วนที่มีอัตราค่าไฟฟ้าสูง ผมขอสมมุติว่าอัตราค่าไฟฟ้าส่วนที่เป็นยอดเท่ากับ 5.60 บาทต่อหน่วย เรามาดูกันว่า ผลจากการติดโซลาร์เซลล์จะคุ้มทุนภายในกี่ปี วิธีการคิดจุดคุ้มทุนอย่างง่าย         เนื่องจากผลตอบแทนจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของอุปกรณ์ที่ใช้ ได้แก่ แผงโซลาร์ อินเวิตเตอร์ อุปกรณ์ยึด สายฟฟ้า ค่าการติดตั้ง จำนวนกิโลวัตต์ที่ติด ทิศทางการรับแสง ระยะเวลาและเงื่อนไขการประกัน เป็นต้น        สมมุติว่า ขนาด 3 กิโลวัตต์ ราคารวม 125,000 บาท (สมมุติว่าเท่ากับ A บาท) สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,300 หน่วยต่อกิโลวัตต์ ตลอด 25 ปี สามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 97,500 หน่วย (สมมุติว่าเท่ากับ B)         ดังนั้น ต้นทุนเฉลี่ยของค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้ตลอด 25 ปี เท่ากับ A หารด้วย B ซึ่งเท่ากับ 1.28 บาทต่อหน่วย โดยไม่คิดค่าดอกเบี้ยจากการลงทุน ไม่คิดค่าสึกหรอและการบำรุงรักษาซึ่งมีน้อยมาก         คราวนี้มาคิดเรื่องจุดคุ้มทุน สมมุติว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้เองไปแทนที่ค่าไฟฟ้าที่เราต้องซื้อจากการไฟฟ้า 5.60 บาทต่อหน่วย มูลค่าดังกล่าวเท่ากับ 21,840 บาทต่อปี (สมมุติว่าเท่ากับ C) ระยะเวลาคุ้มทุนจะเท่ากับ A หารด้วย C ซึ่งเท่ากับ 5.7 ปี หรือ 5 ปี 8 เดือน  โดยที่การใช้งานได้นานอีก 19 ปีกว่า ถ้าคิดเป็นผลตอบแทนต่อปีก็ประมาณ 13%  ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในขณะนี้ไม่ถึง 1%         ที่ผมนำมาคิดทั้งหมดนี้เป็นเรื่องการลงทุนอย่างเดียว แต่เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์เป็นการลดภาวะโลกร้อน ลดมลพิษทางอากาศ ลดน้ำเสีย เพิ่มการจ้างงาน ซึ่งทั้งโลกกำลังวิกฤต  สนใจไหมครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ค่าน้ำค่าไฟฟ้าหอพักอยู่ๆ นึกจะขึ้นราคาได้ไหม

        ประมาณปี 2561 มีข่าวดีให้ผู้บริโภคได้ฮือฮาอยู่พักหนึ่งว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกประกาศเพื่อให้หอพักเก็บค่าไฟฟ้า น้ำประปา ตามอัตราเดียวกับที่เก็บกับบ้านเรือนทั่วไป แต่เมื่อมีการทวงสิทธิจากผู้ให้บริการหอพักว่าไม่เป็นธรรมด้วยเหตุผลต่างๆ สุดท้ายก็ต้องออกประกาศใหม่ ซึ่งกำหนดไว้เพียงว่า ผู้ให้เช่าต้องระบุข้อความเป็นภาษาไทยไว้ในสัญญาที่มีสาระสำคัญแสดงถึงอัตราค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ โดยแสดงวิธีการคำนวณและกำหนดระยะเวลาชำระค่าสาธารณูปโภค ตามข้อ 4 (1.7) ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2562         คราวนี้มีกรณีร้องทุกข์จากคุณสุโขทัย มาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่าตนเองเช่าหอพัก ในเขตอำเภอเมือง มหาสารคาม วันหนึ่งเจ้าของหอพักก็แจ้งต่อผู้เช่าว่า จะคิดราคาค่าน้ำ ค่าไฟใหม่ จากเดิมค่าน้ำ หน่วยละ 24 บาท เป็น 35 บาท ค่าไฟฟ้าจากเดิมหน่วยละ 8 บาท เป็น 10 บาท คุณสุโขทัยขอคำปรึกษาว่า ตนเองจะทำอะไรได้บ้างไหม เพราะมีผลกระทบโดยตรง แนวทางแก้ไขปัญหา        ถ้าพิจารณาตามประกาศของ สคบ. อยู่ๆ ผู้ให้เช่าจะปรับราคาขึ้นไม่ได้ ต้องชี้แจงหรือเปลี่ยนแปลงในสัญญาเช่าเสียก่อน และเพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ให้คุณสุโขทัย ทางศูนย์ฯ ได้นำเรื่องดังกล่าวร้องเรียนต่อ สคบ.เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวว่าเป็นการคิดราคาเกินสมควรหรือไม่         ต่อมาทาง สคบ.ได้ตอบหนังสือกลับมาว่า หอพักดังกล่าวอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม จึงส่งเรื่องร้องเรียนให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดมหาสารคามพิจารณาตรวจสอบหอพักที่เป็นต้นเรื่องเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป ต่อมาได้รับทราบว่าเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองมหาสารคาม ได้ติดต่อกับผู้ร้องพบว่า ผู้ร้องคือคุณสุโขทัยได้ย้ายออกจากหอพักดังกล่าวแล้ว และเมื่อคณะอนุกรรมการฯ ได้สอบข้อเท็จจริงพบว่า กรณีหอพักมีการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเพิ่มจากเดิมนั้น เป็นเพียงผู้ดูแลได้มีการแจ้งกับผู้เช่าหอว่าจะมีการปรับขึ้นราคา แต่ผู้เช่าส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จึงมิได้ดำเนินการต่อยังคงเก็บในอัตราเดิม คือ ค่าไฟฟาหน่วยละ 8 บาท และค่าน้ำประปาหน่วยละ 24 บาท         ดังนั้นหากท่านผู้บริโภคพบว่ามีการคิดอัตราค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าหอพักในราคาที่ไม่เป็นธรรม โดยมิได้แจ้งให้ทราบตามเงื่อนไขสัญญาเช่า สามารถร้องเรียนได้ที่ สคบ. ต่างจังหวัดแจ้งโดยตรงได้ที่ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัด

อ่านเพิ่มเติม >

เหตุผล 7 ประการที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง(จังหู)

        ประเด็นค่าไฟฟ้าแพงได้กลายเป็นกระแสทั้งในสื่อกระแสหลักและสังคมออนไลน์ ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 63 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพราะคนส่วนใหญ่ต้องทำงานจากบ้านเพื่อตอบสนองมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” จากโรค COVID-19  บางรายเคยจ่ายของเดือนกุมภาพันธ์ ประมาณ 1,500 บาท ได้เพิ่มเป็น 5,200 บาทในเดือนมีนาคม        เจอเข้าอย่างนี้ ผู้บริโภคที่แอคทีฟจะต้องโวยอยู่แล้ว  จริงไหมครับ?        ผมขอเรียงลำดับคำตอบนี้ตั้งแต่ระดับปรากฏการณ์ไปจนถึงสาเหตุเชิงโครงสร้างของค่าไฟฟ้าแพงรวม 7 ประการ ดังนี้         ประการที่หนึ่ง เพราะเราใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นจริง         เวลาเราได้ “ใบแจ้งค่าไฟฟ้า” นอกจากต้องดูจำนวนเงินที่ต้องจ่ายแล้ว เราต้องดูจำนวนหน่วยที่ใช้ด้วย  ซึ่งคำว่า “หน่วย (unit)” หมายถึงจำนวนวัตต์ของอุปกรณ์ไฟฟ้า คูณด้วยจำนวนชั่วโมงที่ใช้ แล้วหารด้วย 1,000  เช่น หลอดไฟขนาด 18 วัตต์จำนวน 1 หลอด ถ้าเปิดวันละ 10 ชั่วโมง ใน 30 วัน จะใช้พลังงานรวม 5.4 หน่วย หรือ kwh ในภาษาวิชาการ         โดยปกติใบแจ้งค่าไฟฟ้าจะมีข้อมูลประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง 6 เดือน เราก็ลองเปรียบเทียบกันดูว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่  เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าออกมายอมรับเองว่า “บางครั้งก็มีการจดผิด”           ประการที่สอง เพราะการคิดค่าไฟฟ้าเป็นอัตราก้าวหน้า         บ้านอยู่อาศัยประเภทที่ 1.2 (มิเตอร์ 15 แอมป์) ถ้าใช้ไฟฟ้าเดือนละ 1,000 หน่วย ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วย (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าบริการแล้ว-ในอัตราปัจจุบัน) เท่ากับ 4.41 บาท (รวมต้องจ่าย 4,406.21 บาท) แต่ถ้าใช้ 2,000 หน่วย ค่าเฉลี่ยจะเพิ่มเป็น 4.51 บาทต่อหน่วย (รวมต้องจ่าย 9,013.31 บาท)         โปรดสังเกตว่า จำนวนการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่จำนวนเงินเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า         เหตุผลที่ทางรัฐบาลใช้เกณฑ์อัตราก้าวหน้า ก็เพราะต้องการให้คนประหยัดการใช้พลังงาน ซึ่งผมเห็นด้วยหากเป็นสถานการณ์ปกติ แต่ในยุคที่รัฐบาลต้องการให้คน “ช่วยชาติ” ทำไมจึงลงโทษคนที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลด้วยการคิดอัตราก้าวหน้าด้วยเล่า         ผมเสนอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกราย ทั้งพวก “5 แอมป์” และ “15 แอมป์” ได้ใช้ไฟฟ้าฟรี 150 หน่วยแรกเท่ากัน ส่วนที่เกินให้คิดในอัตรา “คงที่” อัตราเดียว         สำหรับค่าเอฟทีรอบหน้า (พ.ค.ถึง ส.ค.) ยังคงเท่าเดิม ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันลดต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี         ประการที่สาม เพราะกำไรสุทธิของ 3 การไฟฟ้าสูงถึง 11.6%         จากรายงานประจำปี 2562 ของ กฟผ. และ กฟภ. มีกำไรสุทธิจำนวน  48,271.26 และ 15,384 ล้านบาทตามลำดับ ในขณะที่ กฟน. มีกำไรสุทธิปี 2561 (ปีล่าสุดที่เผยแพร่) จำนวน 9,094.95 ล้านบาท         เมื่อรวมกำไรสุทธินี้เข้าด้วยกัน (เพื่อให้เห็นภาพคร่าวๆ) เท่ากับ  72,750.21 ล้านบาท ในขณะที่กระทรวงพลังงาน (ตารางที่ 7.1-6 สนพ.) มูลค่าพลังงานไฟฟ้าในปี 2562 เท่ากับ 699,000 ล้านบาท ทำให้เราคำนวณได้ว่า กิจการ 3 ไฟฟ้ามีกำไรสุทธิร้อยละ 11.62 ซึ่งผมเห็นว่าเป็นอัตรากำไรที่สูงเกินไป เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยธนาคารในปัจจุบัน         ในขณะที่บริษัท บี กริม เพาว์เวอร์  จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีโรงไฟฟ้าจำนวน 2,896 เมกะวัตต์ โดยร้อยละ 65 ของรายได้ปี 2562 จำนวน 44,132 ล้านบาท มาจากการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. มีกำไรสุทธิ เท่ากับ 3,977 ล้านบาท (เจ้าของบริษัทนี้ คือมหาเศรษฐีอันดับที่ 12 ของไทยที่นายกฯประยุทธ์ มีจดหมายไปขอคำแนะนำ)         ที่กล่าวมาแล้ว เป็นเหตุผลเชิงปรากฎการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่าค่าไฟฟ้าแพงมาก หรือ “แพงจังหู”         เหตุผลที่เหลือเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างซึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐบาล ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของการไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงาน คือ กฟผ., กฟน.และ กฟภ.         ประการที่สี่ เพราะเรามีโรงไฟฟ้าสำรองมากเกินไป         จากรายงานประจำปี 2562 ของ กฟผ. พบว่า นับถึงสิ้นปี 2562 ในระบบไฟฟ้าของประเทศไทยมีกำลังการผลิตจำนวน 45,298.25 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของ กฟผ.คิดเป็น 33.40% ที่เหลือเป็นของบริษัทเอกชน  โดยมีความต้องการใช้สูงสุดที่ 30,853.20 เมกะวัตต์           ถ้าคิดเป็นกำลังสำรองก็เท่ากับ 46.8%  ในขณะที่ค่ามาตรฐานสากลประมาณ 15%         อนึ่ง จากเอกสารของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่า “กำลังการผลิตในระบบ 3 การไฟฟ้าา ณ สิ้นเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 49,066 เมกะวัตต์ ไม่รวมข้อมูลของผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง(IPS)” (http://www.eppo.go.th/index.php/th/energy-information)         เราไม่ทราบว่ามีรายละเอียดอะไรซ่อนอยู่จึงทำให้ข้อมูลทั้งสองแหล่งนี้แตกต่างกันค่อนข้างมาก        กลับมาที่ข้อมูลของ กฟผ. แม้กำลังการผลิตของ กฟผ.เหลือเพียง 33.4% แต่พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็ต่ำกว่าตัวเลขนี้อีก คือ 31.49% ที่เหลืออีก 68.51% เป็นการซื้อจากบริษัทเอกชน         การมีโรงไฟฟ้าสำรองมากเกินไปถือเป็นภาระของผู้บริโภค เพราะสัญญาที่ทำไว้เป็นแบบ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย ที่เรียกว่า take or pay”         ประการที่ห้า  เพราะเราปลดระวางโรงไฟฟ้าเร็วเกินไป        สัญญาที่รัฐบาลทำกับบริษัทเอกชนทั้งที่เรียกว่า IPP และ SPP จะมีอายุระหว่าง 21 ถึง 25 ปีเท่านั้น ในขณะที่ 51% ของโรงไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา(จากทั้งหมดกว่า 530,000 เมกวัตต์) มีอายุอย่างน้อย 30 ปี ในจำนวนนี้มีโรงไฟฟ้าก๊าซฯกว่า 5 หมื่นเมกะวัตต์ มีอายุ 41 ถึง 50 ปี (https://www.eia.gov/todayinenergy/detail.php?id=1830)         ต้นทุนการก่อสร้างพร้อมดอกเบี้ยของโรงไฟฟ้าที่ถูกปลดระวาง ผู้บริโภคเป็นผู้จ่ายให้ครบหมดถ้วนแล้ว          ประการที่หก เพราะอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับภาคครัวเรือนแพงกว่าภาคธุรกิจ  จากข้อมูล         (https://www.globalpetrolprices.com/Thailand/electricity_prices/) พบว่าค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนโดยเฉลี่ยแล้วแพงกว่าในภาคธุรกิจถึง 6.6 สตางค์ต่อหน่วย (เป็นข้อมูลเดือนกันยายน 2562- แต่เกือบทุกประเทศเป็นลักษณะนี้)        จากข้อมูลของ กฟผ. ในปี 2562 ความต้องการไฟฟ้าทั่วประเทศเท่ากับ 197,873 ล้านหน่วย ในจำนวนนี้ใช้ในภาคครัวเรือน 22%  นั่นคือ ถ้าภาคธุรกิจจ่ายน้อยกว่าภาครัวเรือน 6.6 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นมูลค่าก็ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี นี่มัน “เตี้ยอุ้มค่อม” ชัด ๆ         ประการที่เจ็ด เพราะราคาก๊าซหน้าโรงไฟฟ้าแพงกว่าที่ปากหลุม 32%        จากข้อมูลในรายงานประจำปี 2562 ของ กฟผ. “ราคาก๊าซธรรมชาติหน้าโรงไฟฟ้าเฉลี่ย 263.43 บาท ต่อล้านบีทียูคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 144,794 ล้านบาท” ซึ่งผู้นำส่งก็คือบริษัทในเครือของ ปตท.         ราคาก๊าซฯเฉลี่ย 263.43 บาท สูงกว่าราคาก๊าซเฉลี่ยที่ปากหลุม(ในประเทศไทยคือ 199 บาทต่อล้านบีทียู) ถึง 32%         ในทัศนะของผม แม้จะต้องลงทุนสร้างท่อก๊าซฯ แต่ถ้าราคาก๊าซขนาดนี้ก็น่าจะสูงเกินไป  ถ้าค่าผ่านท่อ(และกำไร)ลดลงมาเหลือ 20% ราคาไฟฟ้าต่อหน่วย(ที่ผลิตจากก๊าซฯซึ่งมีสัดส่วน 57%) ก็จะลดลงมาได้ประมาณ 10 สตางค์ต่อหน่วย (ก๊าซ 1 ล้านบีทียู ผลิตไฟฟ้าได้ 220 หน่วย)นี่คือเหตุผล 7 ประการที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงจังหู ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 135 เรื่องเพี้ยน ๆ ของค่าไฟฟ้า

ผู้บริโภคเป็นงง ระหว่างหม้อมิเตอร์กับการไฟฟ้า...ไม่รู้ใครเพี้ยนแน่ร้องมิเตอร์ไฟฟ้าเพี้ยน คิดค่าไฟสูงผิดปกติ แจ้งให้มาตรวจสอบ การไฟฟ้าบอกเพี้ยนจริงหม้อคิดค่าไฟฟ้าต่ำไป 3% ต้องเปลี่ยนมิเตอร์ใหม่ แต่ยอมคิดค่าไฟใหม่เปลี่ยนบิลและลดค่าไฟฟ้าให้ปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นกับบ้านของคุณเพียรเงิน อยู่ในเขตดูแลรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน ซึ่งปกติจะใช้ไฟฟ้าอยู่ประมาณเดือนละ 500-600 กว่าหน่วย คิดเป็นเงินตกราวสองพันบาทต้นๆ“ที่บ้านก็มีคุณพ่อวัยแปดสิบ ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่หรอกค่ะ กับเด็กอีกหนึ่งคน เครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ๆ ก็มีแอร์สองตัว ตู้เย็นสองตัว หม้อข้าว พัดลม ทีวี ก็ใช้ไฟตามปกติ ส่วนใหญ่ใช้ในช่วงเย็นๆ ค่าไฟก็อยู่ราวๆ เดือนละสองพันบาทต้นๆ ไม่เคยขึ้นไปถึงสามพัน”“พอมาในช่วงเดือนธันวาคม ปลายปี 53 ตกใจมากค่ะ ใบแจ้งค่าไฟปาเข้าไปตั้งแปดพันบาท บอกว่าบ้านเราใช้ไฟไปถึง 1,982 หน่วย ไม่อยากจะเชื่อค่ะ เพราะเคยใช้กันแค่ 500-600 หน่วยต่อเดือนเท่านั้น ก็เลยรีบไปแจ้งเรื่องไปที่การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน”การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและแจ้งผลกลับมาว่า ได้นำเครื่องวัดมาตรฐานมาติดตั้งเปรียบเทียบตั้งแต่ช่วงวันที่ 25 มกราคม 2554 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 พบว่า เครื่องวัดการใช้ไฟฟ้าที่บ้านคุณเพียรเงินแสดงหน่วยน้อยกว่าความเป็นจริง จึงต้องเปลี่ยนเครื่องวัดให้ใหม่ ส่วนค่าไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อน การไฟฟ้านครหลวงจะคิดค่าไฟฟ้าเพิ่มเดือนละ 3.03% ของหน่วยการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 จนถึงวันเปลี่ยนมิเตอร์ใหม่ เจอคำตอบของการไฟฟ้ากลับมาเช่นนี้ คุณเพียรเงินเลยเซ็งไปใหญ่ ร้องเรียนไปว่าค่าไฟฟ้าสูงผิดปกติ แต่มาตรวจสอบแล้วดันบอกว่าค่าไฟฟ้าต่ำเกินจริง เลยไม่รู้จะทำยังไง ปล่อยให้การไฟฟ้าส่งคนมาเปลี่ยนหม้อมิเตอร์ให้ใหม่ ส่วนค่าไฟก็ยังค้างจ่ายกันอยู่เพราะเคลียร์กันไม่ได้ เรื่องล่วงเลยมาจนถึงเดือนพฤษภาคมต่อเดือนมิถุนายน 2554 มีบิลค่าไฟฟ้าแจ้งมาโดยมีหน่วยการใช้อยู่ที่ 848 หน่วยเท่ากันทั้งสองเดือน ก็เลยสงสัยว่าทำไมหน่วยการใช้ไฟฟ้ายังสูงอยู่และเท่ากันทั้งสองเดือนแบบนี้ สอบถามพนักงานการไฟฟ้า ได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า การไฟฟ้าใช้วิธีคิดค่าไฟฟ้าแบบประมาณการ เพราะมิเตอร์ที่ติดใหม่อยู่สูงเกินไปไม่สามารถปีนขึ้นไปดูตัวเลขได้คุณเพียรเงินไม่พอใจกับคำตอบที่ไม่กระจ่างชัดดังกล่าว เลยโทรศัพท์มาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องจริงเท็จเป็นอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือสอบถามไปที่ผู้อำนวยการไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน              และพ่วงจดหมายเนื้อความเดียวกันส่งไปที่ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง และเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเมื่อกลางเดือนกันยายน 2554ปลายเดือนกันยายน 2554 การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน มีหนังสือชี้แจงกลับมาว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2553 ผู้ใช้ไฟฟ้าได้มาทำเรื่องขอตรวจสอบเครื่องวัดฯ ผิดปกติที่การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน และแผนกตั้งเทียบเครื่องวัดฯ การไฟฟ้านครหลวงเขตวัดเลียบ ได้ตั้งเทียบเครื่องวัดฯ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 ผลจากการตรวจสอบเครื่องวัดฯ ตั้งเทียบ พบว่า เครื่องวัดฯ ชำรุด แสดงค่าคลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนเครื่องวัดฯใหม่และแก้ไขใบแจ้งค่าไฟฟ้าให้ถูกต้อง จาก 1,982 หน่วย เป็น 792 หน่วย  โดยใช้หน่วยเฉลี่ยจากเครื่องวัดฯใหม่ ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงมิถุนายน 2554 และเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 การไฟฟ้านครหลวง ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเลขอ่าน พบว่าสภาพเครื่องวัดฯใช้ไฟได้ปกติ จึงขอยืนยันว่า เลขอ่านและหน่วยการใช้ไฟฟ้าดังกล่าว(ของเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2554) ถูกต้องแล้วผลของการแก้ไขใบแจ้งค่าไฟฟ้าจาก 1,982 หน่วย เป็น 792 หน่วย  ทำให้เงินค่าไฟที่จะต้องจ่ายในเดือนธันวาคม 2553 จาก 8,080.30 บาท ลดลงเหลือ 3,109.98 บาท หรือลดลงไป 4,970.32 บาทปัญหาการถูกคิดค่าไฟฟ้าคลาดเคลื่อนจากการใช้จริง โดยที่การไฟฟ้าใช้วิธีประมาณการเอาจากเดือนอื่นๆ ที่มีการใช้ไฟฟ้ามาเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้า จะยังคงเป็นปัญหาต่อไป เพราะการแก้ไขปัญหาแบบนี้ไม่ใช่วิธีที่เที่ยงตรงและเป็นธรรมกับผู้บริโภค เนื่องจากการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าในสภาพอากาศหรือฤดูกาลที่แตกต่างกันก็ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าแตกต่างไปด้วยแม้จะเป็นเครื่องไฟฟ้าชนิดเดียวตัวเดียวกันก็ตาม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างแท้จริง สมควรที่หน่วยงานอย่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จะต้องนำไปพิจารณาสร้างระบบการเก็บค่าไฟฟ้าที่มีมาตรฐานที่ดีกว่านี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 กระแสต่างแดน

โบนัสขจัดมลพิษ กระทรวงสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศสต้องการส่งเสริมให้ผู้คนเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์ดีเซลมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า จึงเสนอให้เงิน 10,000 ยูโร (ประมาณ 370,000 บาท) กับผู้ที่ยินดีเปลี่ยน โครงการนี้จะเริ่มในเดือนเมษายนนี้ รมต.สิ่งแวดล้อมบอกว่าถึงเวลาแล้วที่จะหยุดละเมิดสุขภาพของประชาชน เพราะมีเทคโนโลยีที่เป็นทางออกแล้ว แต่เงื่อนไขมีอยู่ว่าคุณต้องเป็นผู้อยู่อาศัยในเขตที่มีมลภาวะสูงที่สุดในประเทศที่นิยมเรียกกันว่า PPA ทั้ง 23 เขต และคุณต้องมีหลักฐานมาแสดงว่าคุณได้นำรถที่อายุเกิน 13 ปีของคุณไปส่งที่สุสานรถเก่าแล้ว สินจ้างรางวัลสำหรับคนรักสิ่งแวดล้อมยังมีอีก เช่น เจ้าของรถไฮบริดทั่วไปจะได้รับโบนัส 1,500 ยูโร (55,900 บาท) แต่ถ้าใครใช้รถไฮบริดแบบชาร์จไฟได้ก็มีโบนัสให้ 2,500 ยูโร (93,000 บาท) ในทางกลับกัน เจ้าของรถที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต้องเสียค่าปรับ ระหว่าง 150 – 3,700 ยูโร (5,600 – 138,000 บาท) ฝรั่งเศสวางแผนติดตั้งสถานีชาร์จแบตฯให้ได้ 7 ล้านจุดทั่วประเทศ ทั้งในบริเวณลานจอดรถทั้งของรัฐและเอกชน สถานีรถไฟ ซูเปอร์มาร์เก็ต และสนามบิน   มีขึ้นต้องมีลง มาเลเซียประกาศลดค่าไฟฟ้าในเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ... ก็ไม่มีอะไรมาก แค่ต้นทุนการผลิตเขาลดลง รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เทคโนโลยีสะอาด และน้ำ ประกาศว่าค่าไฟจะลดลงร้อยละ 3.5 สำหรับครัวเรือนบนคาบสมุทรมาเลย์ ในขณะที่ผู้ใช้ไฟในซาบาห์และลาบวนก็จะเสียค่าไฟน้อยลงร้อยละ 5.8 เช่นกัน เอาเป็นว่าเขาจะประหยัดกันได้เดือนละประมาณ 120 บาท และ 400 บาท ตามลำดับ เขาบอกว่าร้อยละ 70 ของผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากงานนี้ ที่ทำได้เพราะว่าบริษัทเทนากา เนชั่นแนล ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ารายใหญ่ของมาเลเซียเขาสามารถประหยัดเงินได้ 700 กว่าล้านริงกิต (ไม่ต่ำกว่า 6,600 ล้านบาทไทย) จากค่าเชื้อเพลิงและค่าการผลิตที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา ถามว่าทำไมถึงลดแค่เดือนมิถุนายน ก็เพราะมาเลเซียใช้กลไกการคิดอัตราค่าไฟแบบ ICPT (Imbalance Cost Pass Through) ที่ทำให้รัฐสามารถเพิ่มหรือลดอัตราค่าไฟได้ด้วยการคำนวณจากราคาของถ่านหิน ก๊าซ และน้ำมันดิบ โดยรัฐจะคำนวณอัตราค่าไฟทุกๆ 6 เดือน เอาเป็นว่าเดือนมิถุนายนนี้มาดูกันใหม่อีกที อาจจะถูกหรือแพงกว่านี้ก็ต้องมาลุ้นกัน ... ยังดีที่ได้มีโอกาสลุ้น เครื่องดื่ม 18 + คณะกรรมการยุโรปด้านสุขภาพและความปลอดภัยด้านอาหารกำลังพิจารณาห้ามขายเครื่องดื่มผสมคาเฟอีนให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เรื่องนี้เรื่องใหญ่ของเขาเพราะร้อยละ 68 ของเยาวชนของเขานิยมดื่มเครื่องดื่มดังกล่าว มีถึงร้อยละ 24 ที่ดื่มถึงสัปดาห์ละ 4 ครั้ง นอกจากนี้งานวิจัยขององค์การความปลอดภัยทางอาหารของยุโรปเขาพบว่า ไม่ว่าจะผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นก็ไม่ควรได้รับคาเฟอีนเกินกว่าวันละ 3 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เครื่องดื่มดังกล่าวในปริมาณ 500 มิลลิกรัม ก็มีคาเฟอีนในปริมาณเกินกว่าที่เด็กอายุ 12 ควรได้รับต่อวันแล้ว และมันยังอันตรายมากสำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจ เพราะมันอาจเร่งความเร็วในการเต้นของหัวใจ ทำให้ความดันสูงขึ้นและทำให้เสียชีวิตในที่สุด ข่าวนี้เป็นที่สรรเสริญขององค์กรที่รณรงค์เรื่องอาหารปลอดภัยอย่าง Foodwatch  ในขณะที่เครื่องดื่ม “บำรุงกำลัง” ยี่ห้อที่ขายดีที่สุดในโลกอย่างเรดบูล หรือที่บ้านเราเรียกกระทิงแดง ออกมาโต้ตอบว่า คาเฟอีนที่ผู้คนทุกวันนี้ได้รับส่วนใหญ่นั้นมาจาก ชา กาแฟ และน้ำอัดลม ไม่ได้มาจากเครื่องดื่มชนิดนี้เสียหน่อย   ปรับไม่เลี้ยง ศาลเยอรมันสั่งให้เทศบาลเมืองไลป์ซิกจ่ายค่าชดเชย 15,000 ยูโร (ประมาณ 560,000 บาท) ให้กับสามครอบครัวที่รวมตัวกันฟ้อง พ่อแม่เหล่านี้บอกว่าพวกเขาได้รับความเดือดร้อนลำบากจากการที่เทศบาลมีสถานรับเลี้ยงเด็กไม่เพียงพอสำหรับลูกๆในวัยขวบกว่าของพวกเขา ทำให้ต้องผลัดกันลางานมาเลี้ยงลูกและยอมถูกหักเงินเดือน เพราะตามกฎหมาย รัฐจะต้องจัดหาสถานรับเลี้ยงเด็กสำหรับเด็กวัย 1 ปีขึ้นไปให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เทศบาลเมืองนี้ก็ยืนยันว่าเขากำลังเร่งสร้างศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพิ่มเติมอยู่ เพียงแต่มันมีปัญหาขลุกขลักนิดหน่อยในขั้นตอนการวางแผนและการทำสัญญาการก่อสร้างนี่แหละพี่น้อง แต่ศาลถือว่านั่นไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างของการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเทศบาลได้ ในเยอรมนี พ่อแม่มีสิทธิหยุดงานโดยได้ยังรับค่าจ้าง 15 เดือน(ทั้งนี้แต่ละฝ่ายหยุดได้ไม่ต่ำกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน) และสามารถหยุดงานเพื่อเลี้ยงลูกได้สูงสุดถึง 3 ปี   อย่างนี้ต้องพิสูจน์ มินห์ พบแมลงวันตายหนึ่งตัวในเครื่องดื่มยี่ห้อนัมเบอร์วัน เขาจึงโทรหาบริษัทผู้ผลิตแล้วบอกว่าจะไม่แพร่งพรายเรื่องนี้ให้ใครรู้ถ้าบริษัทยินดีจ่ายค่าเสียหาย 1,000 ล้านดอง(ประมาณ 1,540,000 บาท) ให้กับเขา แต่ถ้าไม่จ่ายเขาจะฟ้องสื่อ บริษัทจึงตกลงจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง(โดยไม่ลืมแจ้งตำรวจไว้ด้วย) ผลคือมินห์ถูกตำรวจรวบตัวได้ขณะที่มารับเงินและถูกดำเนินคดีข้อหาขู่กรรโชกทรัพย์ และขวดเครื่องดื่มที่ว่าก็ถูกตรวจสอบพบว่ามีร่องรอยการเจาะโดยวัตถุมีคม แต่เดี๋ยวก่อน เรื่องนี้ยังจบไม่ได้ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กระทรวงอนามัยและความปลอดภัยด้านอาหารของเวียดนาม ตั้งชุดเฉพาะกิจขึ้นมาตรวจสอบสายการผลิตของบริษัททัน เฮียบ พัด กรุ๊ป ผู้ผลิตเครื่องดื่มดังกล่าว เนื่องจากก่อนหน้านี้ก็มีการส่งต่อเรื่องราวในอินเตอร์เน็ตว่าด้วยเรื่องเครื่องดื่มของบริษัทนี้ที่เปลี่ยนสี เปลี่ยนสภาพ หรือมีสิ่งปลอมปนทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงวันหมดอายุ จนกระทั่งเกิดกลุ่มผู้บริโภคที่ชักชวนกันผ่านโซเชียลมีเดียให้บอยคอตผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้ด้วย ที่สำคัญเมื่อ 6 ปีก่อน ทางการเคยตรวจพบผลิตภัณฑ์แต่งกลิ่นที่หมดอายุแล้วกว่า 67 ตันในโกดังของบริษัทนี้ทั้งที่เมืองบินห์ดวงและโฮจิมินห์ บริษัทดังกล่าวมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 40 ของตลาดชาพร้อมดื่มในเวียดนาม และร้อยละ 14 ของเครื่องดื่มบำรุงกำลัง  

อ่านเพิ่มเติม >