ฉบับที่ 199 ต้องการค่าเทอมคืน

คุณสุชาติพาลูกชายเข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลใกล้บ้าน โดยเสียค่าใช้จ่ายไปแล้วกว่า 60,000 บาท/เทอม แต่เมื่อเปิดภาคเรียนไปได้เพียง 1 เดือนก็เกิดโรคระบาดมือเท้าปากภายในโรงเรียน ซึ่งลูกชายของเขาก็ติดได้ติดโรคดังกล่าวมาด้วย ทำให้คุณสุชาติต้องพาลูกชายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และให้หยุดเรียนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อรอให้อาการหายสนิท อย่างไรก็ตามเมื่อลูกชายกลับไปที่โรงเรียนก็พบว่าได้ติดโรคดังกล่าวมาอีกครั้ง ทำให้คุณสุชาติต้องพาลูกชายกลับไปพบหมอ เพื่อรักษาอาการดังกล่าวเป็นรอบที่สอง ซึ่งรวมๆ แล้วเสียค่ารักษาพยาบาลไปทั้งหมดประมาณ 90,000 บาท โดยคุณสุชาติได้สังเกตว่าสาเหตุที่ทำให้ลูกชายติดโรคมาอีกครั้งเป็นเพราะ โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมเล่านิทาน ที่ให้นักเรียนหลายห้องมารวมกันเพื่อฟังนิทาน ซึ่งเด็กบางคนมีอาการของโรคอยู่ แต่โรงเรียนไม่มีการคัดแยกเด็กป่วยกับไม่ป่วยออกจากกัน ทำให้อาจเกิดการแพร่เชื้อได้ดังนั้นคุณสุชาติจึงคิดว่า ต่อให้อาการของลูกชายหายสนิท แต่ถ้าโรงเรียนไม่มีมาตรการป้องกันควบคุมโรคเช่นนี้ ก็อาจทำให้ลูกชายติดโรคดังกล่าวกลับมาเช่นเดิมได้ เพราะตามประกาศของสาธารณสุขกำหนดมาตรการป้องกันไว้ว่าจะต้องปิดห้อง ปิด ชั้นหรือปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลา 5 - 7 วัน แต่ทางโรงเรียนกลับประกาศให้นักเรียนหยุดเรียนเพียง 3 วันเท่านั้น เขาจึงแจ้งไปยังโรงเรียนเพื่อขอลาออก พร้อมขอให้คืนเงินค่าเทอมที่เสียไป และยินดีให้หักค่าใช้จ่ายที่ลูกชายได้เข้าเรียนไปแล้ว 1 เดือนออกได้ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาหวังไว้ เพราะทางโรงเรียนแจ้งว่าตามนโยบายการคืนเงินค่าเทอม จะสามารถคืนให้ได้เพียงร้อยละ 40 ของเงินทั้งหมดหรือ 18,800 บาทเท่านั้น เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุชาติจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้แนะนำผู้ร้องว่า กรณีนี้อาจถือได้ว่าโรงเรียนผิดสัญญาจ้างทำของ หากโรงเรียนไม่สามารถทำได้ตามสัญญา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกเงินในส่วนที่เหลือคืนได้ ซึ่งควรได้รับเงินคืนตามจริงด้วย ดังนั้นในเบื้องต้นจะเชิญให้มีการเจรจากันก่อนที่มูลนิธิ อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะทางโรงเรียนยืนยันว่าสามารถคืนเงินได้ตามระเบียบของโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นสินน้ำใจและผู้ร้องไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเรียกเก็บจากโรงเรียนได้อีก ทำให้ศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องทำเอกสารไปยังสาธารณสุข โดยขอให้เข้าไปตรวจสอบโรงเรียน เพื่อให้มีการแสดงหลักฐานว่าโรงเรียนไม่มีมาตรการในการจัดการโรคระบาดที่เหมาะสมจริงๆ แต่ในระหว่างนี้ยังต้องรอการตอบกลับจากสาธารณสุข และผลจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 กระแสต่างแดน

  ค่าเทอมสุดโหดที่อังกฤษ รัฐบาลอังกฤษประกาศตัดงบอุดหนุนที่เคยให้กับมหาวิทยาลัย จึงทำให้สถาบันเหล่านี้ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดด้วยการขึ้นค่าเล่าเรียน เพดานเดิมที่เคยเก็บสูงสุดปีละ 3,290 ปอนด์ (ประมาณ 160,000 บาท) นั้นไม่เพียงพอแล้ว   รัฐบาลก็รับลูกด้วยการอนุญาตให้มหาวิทยาลัยเก็บค่าเล่าเรียนได้สูงสุดถึงปีละ 6,000 ปอนด์ (ประมาณ 294,000 บาท) ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีโควตารับนักเรียนจากครอบครัวที่รายได้ยากจนตามจำนวนที่รัฐกำหนด ใครผิดเงื่อนไขจะปรับถึง 500,000 ปอนด์ (24.5 ล้านบาท) กันทีเดียว  นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อการศึกษา National Scholarship Programme ที่จะให้เงินช่วยเหลือแก่นักศึกษาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 25,000 ปอนด์ (1.2 ล้านบาท) ปีละ 3,000 ปอนด์ (147,000 บาท) ด้วย มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้คัดค้านเงื่อนไขเหล่านี้ เพียงแต่ออกมาตอบโต้ว่าตัวการที่ทำให้ต้องขึ้นค่าเล่าเรียนที่แท้จริงคือรัฐบาล ซึ่งกำลังพยายามบิดเบือนให้ดูเหมือนเป็นความผิดของมหาวิทยาลัย ส่วนเรื่องการให้โควต้าหรือการให้ทุนนั้น มหาวิทยาลัยเขาก็ทำกันอยู่แล้วโดยไม่ต้องมีการบังคับจากรัฐด้วยซ้ำ อังกฤษก็มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กรวยกับเด็กยากจนเช่นกัน ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 7 ของเด็กในอังกฤษที่เข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน(ซึ่งแปลความได้ว่าเป็นเด็กจากครอบครัวฐานะดี) แต่เด็กกลุ่มนี้กลับมีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษอย่าง     อ็อกซฟอร์ด หรือเคมบริดจ์  วิบากกรรมของนักศึกษาที่นั่นยังไม่จบ เพราะข่าวบอกว่าปีหน้าค่าเล่าเรียนอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 9,000 ปอนด์ (ประมาณ 440,000 บาท) เล่นเอาหลายคนอยากไปเกิดใหม่ในสก๊อตแลนด์ เพื่อจะได้สิทธิ์เรียนฟรีกันเลยทีเดียว   รู้มั้ย พ่อกูเป็นใคร? ถ้าใครเจอคำถามนี้เข้าไปก็ไม่ต้องงงอีกแล้ว เพราะวันนี้คุณสามารถหาซื้อชุดทดสอบ “ความเป็นพ่อ” ได้ตามร้านบูทส์ทั่วอังกฤษในสนนราคาชุดละ 30 ปอนด์ (1,500 บาท) ตามด้วยค่าธรรมเนียมห้องแล็บอีก 129 ปอนด์ (6,400 บาท) ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ราคา แต่การเปิดตัวของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้สร้างกระแสในสังคมขึ้นไม่น้อย  ทางผู้ผลิตบอกว่าเหตุที่ต้องมีบริการนี้ออกมาก็เพราะมีงานวิจัยที่ระบุว่า มี “คุณพ่อ” ในอังกฤษและอเมริกาอย่างน้อยร้อยละ 4 ไม่ใช่พ่อที่แท้จริงของ “ลูก” ตนเอง แถมยังบอกว่าในสหรัฐฯ นั้น ร้อยละ 31 ของผู้ชายที่ใช้บริการตรวจดังกล่าว พบว่าตนเองไม่ใช่พ่อของเด็กอีกด้วย  ในการใช้บริการดังกล่าวนั้น ทั้งพ่อ แม่ และเด็กที่อายุ 16 ปีขึ้นไป จะต้องเซ็นสัญญาให้ความยินยอมก่อน หรือมารดาเป็นฝ่ายเซ็นแทนในกรณีของเด็กเล็ก (ตามกฎหมายอังกฤษแล้ว การนำดีเอ็นเอของผู้ใดไปใช้ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้นั้นก่อน)  X  ห้องแล็บที่ให้บริการดังกล่าว ระบุว่าแต่ละปีเขาทำการทดสอบไม่ต่ำกว่า 3000 ครั้ง และยืนยันว่าการทดสอบดังกล่าวมีระดับความถูกต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 99.9 เขายืนยันว่าผลทดสอบของเขาช่วยให้ครอบครัวที่มีปัญหา สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเป็นปกติสุข (แต่ไม่ได้บอกว่าร้อยละเท่าไร)  แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าผลิตภัณฑ์และบริการดังกล่าวอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการตอบโต้กันระหว่างผู้ใหญ่ และทำให้เกิดผลกระทบทางอารมณ์ที่รุนแรงเกินกว่าเด็กจะรับได้ด้วย  ในอังกฤษ แต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 50,000 คน ที่ไม่ชื่อของบิดาบันทึกในสูติบัตร   มั่งคั่งแต่ไม่มั่นคง รัฐบาลจีนเขากำหนดเป้าหมายของแผน 5 ปี ฉบับที่ 12 ว่า จีนจะเปลี่ยนเป้าหมายทางเศรษฐกิจจากที่เคยเน้นเรื่องการเพิ่มผลผลิตหรือเพิ่มรายได้ต่อหัว มาเป็นการเพิ่มความสุขให้กับประชากรแทน   ว่าแล้วสถาบันสังคมศาสตร์ของจีนได้ทำการสำรวจระดับความสุขของผู้คนในเมืองต่างๆ ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน  ผลปรากฏว่าเมืองที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงสุดถึง 6 ปีซ้อนอย่างฮ่องกง กลับมีระดับความสุขลดลงมา 73 อันดับ จนปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 271 จากเมืองที่ทำการสำรวจทั้งหมด 294 เมือง  เมืองที่อยู่แล้วมีความสุขที่สุดตามข่าวนี้ได้แก่เมืองหลวงของมณฑลเหอเป่ย ชื่อเมืองสือเจียจวง ซึ่งตกเป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อ 4 ปีก่อน เพราะเป็นที่ตั้งของบริษัทที่ผลิตนมผสมเมลามีน ที่ทำให้เด็กทารกป่วยถึง 360,000 รายมาแล้ว   การจัดอันดับดังกล่าวนั้นดูจากปัจจัย 4 ประการคือ ความรู้สึกมั่นใจในอนาคตของตนเอง สภาพความเป็นอยู่ ภาวะการจ้างงาน และสวัสดิการสังคม  กุ้ยหลิน หางโจว และซูโจว หรือ “สวรรค์บนดิน” ที่คนไทยนิยมไปเที่ยวกันก็พากันรั้งอยู่ท้ายๆ ที่ อันดับ 291 289 และ 276 ตามลำดับ  ไม่แน่ใจว่านักท่องเที่ยวไทยเราเป็นปัจจัยฉุดระดับความสุขของเขาหรือเปล่า เพราะดูๆเหมือนว่าที่ไหนที่เราชอบไป ระดับความสุขของเขาจะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ    ภาพประกอบ การ์ตูนจากหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ฉบับวันที่ 7 พฤษภาคม 2554   อิสระบนโลกออนไลน์นี่ก็เป็นอีกผลสำรวจที่นำมาฝากกัน องค์กรพัฒนาเอกชน Freedom House ได้จัดอันดับอิสรภาพทางอินเตอร์เน็ตของ 37 ประเทศทั่วโลก จากข้อมูลเรื่องการจำกัดการปล่อยสัญญาณ การบล็อก การเซ็นเซอร์ การเฝ้าระวัง หรือการดำเนินคดีกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในแต่ละประเทศ เอสโตเนีย ประเทศที่มีประชากร 1,300,000 คน คว้าตำแหน่งประเทศที่ให้อิสระบนโลกออนไลน์สูงสุด ทั้งนี้เพราะรัฐบาลของประเทศที่เคยอยู่ภายใต้สหภาพโซเวียตแห่งนี้ เขามีการใช้อินเตอร์เน็ตให้การบริการกับประชากรอย่างทั่วถึงและสร้างสรรค์ ประชากรส่วนใหญ่ของเขาสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ และยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ได้โดยสะดวก โดยแทบจะไม่มีการแทรกแซงจากรัฐเลย  สหรัฐอเมริกา เข้ามาเป็นอันดับสอง เพราะแม้ว่าจะมีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสูงมากแต่ก็เสียคะแนนตรงที่ยังมีการเข้าแทรกแซงการพื้นที่บนอินเตอร์เน็ต ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและการรับมือกับการก่อการร้าย  ตามด้วยเยอรมนี ที่ยังรัฐบาลยังต้องเข้าแทรกแซงเพื่อจับตาดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มนาซีใหม่บน โลกออนไลน์ประเทศที่รั้งดันดับท้ายสุดในการสำรวจครั้งนี้ได้แก่ อิหร่าน ตามด้วยเมียนม่า คิวบา และจีน ส่วนไทยเรานั้นรั้งอันดับที่ 27  

อ่านเพิ่มเติม >