ฉบับที่ 275 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2567

ร้องเรียน 9,218 เรื่อง ปัญหามลพิษ ปี 2566        อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เผยมีประชาชนแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหามลพิษในปี 2566 เข้ามากว่า 9,218 เรื่อง ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงสายด่วน 1650 โดยพบว่าจำนวน 8,043 เรื่อง เป็นกรณีเหตุรำคาญต่างๆ โดยทางกรมควบคุมมลพิษได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่ผู้ร้องเรียนและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหา อีก 1,175 เรื่อง ทางกรมควบคุมมลพิษดำเนินการเอง ส่วนใหญ่แหล่งกำเนิดมลพิษ คือ โรงงานอุตสาหกรรม อาคารประเภทต่างๆ การเลี้ยงสุกร โดยได้รับการแก้ไขแล้วกว่า 836 เรื่อง         ทั้งนี้ ประเด็นที่พบมากที่สุด ได้แก่ 1. ปัญหากลิ่นเหม็น  2. ปัญหาฝุ่นละออง-เขม่าควัน และ 3. เสียงดัง-เสียงรบกวน   ผลิต-เผยแพร่สื่อลามกด้วย AI ระวังโทษคุก 5 ปี                    สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยว่า ปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพนำเทคโนโลยี AI มาใช้สร้างเนื้อหาปลอมเพื่อใช้ในการฉ้อโกงสร้างความเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงผลิตสื่อลามกอนาจาร โดยมักนำภาพของบุคคลมีชื่อเสียง เช่น ดารา นักแสดง นักร้อง มาใช้เป็นใบหน้าตัวอย่างและสร้างคลิปลามกแล้วนำไปเผยแพร่หรือจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ทางออนไลน์ ประชาชนต้องระวังต่อภัยดังกล่าว ทั้งนี้ฝากเตือนถึงผู้ที่ผลิตและเผยแพร่สื่อลามกปลอมด้วย AI  ดังกล่าวนั้น จะถือว่าเข้าข่ายความผิดทางอาญาถึง 6 ฐานความผิด ระวางโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี ปรับสูงสุดถึง 200,000 บาท ระวัง! ไลน์ปลอม ก.ล.ต. อ้างเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน         จากกรณีพบบัญชีไลน์แอบอ้างเป็น “ที่ปรึกษาด้านการลงทุน ภายใต้สำนักงาน ก.ล.ต.” นั้น   ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ทำการตรวจสอบถึงกรณีดังกล่าวแล้ว และได้ทำการชี้แจ้งว่า บัญชีไลน์ที่ว่ามีการปลอมแปลงและแอบอ้างการใช้โลโก้ของหน่วยงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับข้อมูลอาจเข้าใจผิดและหลงเชื่อเข้าลงทุนจนเกิดความเสียหาย  ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่างหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว พร้อมทั้ง ไม่แชร์หรือส่งต่อข้อมูลดังกล่าวด้วย ลูกชิ้นเถื่อน         กองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจค้นพื้นที่ ม.4 ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หลังพบว่ามีการใช้สถานที่ดังกล่าวในการผลิตและจัดส่งจำหน่ายลูกชิ้นไม่ถูกสุขอนามัย ไปในพื้นที่ใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดลูกชิ้นกว่า 2,400 ถุง พร้อมอุปกรณ์เครื่องจักร บรรจุภัณฑ์ และส่วนผสมต่างๆ กว่า 31 รายการ พร้อมนำตัวอย่างส่งตรวจสอบ และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ ลูกชิ้นที่พบมีทั้งมียี่ห้อและไม่มียี่ห้อรวม 9 รายการ ดังนี้ 1.ลูกชิ้นหมูตราตี๋ใหญ่  2.ลูกชิ้นหมูเมืองทอง ตราโกดี KODEE  3. ลูกชิ้นหมูเมืองทองตราที.เค  4.ลูกชิ้นหมูตราตี๋เล็ก  5.ลูกชิ้นเนื้อตราตี๋ใหญ่  6.ลูกชิ้นเนื้อ ตรา เฮง 7.ลูกชิ้นเนื้อตราเมืองเอก 8.ลูกชิ้นหมู AR  9. ชาย 2 ลูกชิ้นหมู         ทั้งนี้  การกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  มพบ. จี้ ขสมก. ตอบคำถาม “ทำไมรถต่างสี ราคาต่างกัน” ย้ำ นโยบายปฎิรูปรถเมล์ ให้คำนึงถึงผู้ใช้บริการ         16 มกราคม 67 จากกรณีรถยูโรทู "สายปฏิรูป" เปลี่ยนเลขสายใหม่ พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้เดินรถที่ได้สัมปทานโครงการปฏิรูปเอาเลขสายใหม่ไปใช้และเก็บค่าโดยสารเพิ่มอีก 1 บาท (แพงกว่าเดิม) โดยเก็บจากราคา "อัตราขั้นสูง" ตามที่กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดไว้ในตารางค่าโดยสาร (ทำให้การลดอัตราค่าโดยสารทำได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของอัตราขั้นสูง) เปิดช่องให้ผู้เดินรถเลือกที่จะเก็บค่าโดยสารตามอัตราขั้นสูงหรือหากจะลดราคาก็ให้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับทาง ขสมก. ทั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ประกาศแจ้งให้ผู้โดยสารรับรู้ล่วงหน้าสำหรับการขึ้นราคาครั้งนี้ จึงทำให้เกิดกระแสสังคมจากผู้บริโภคในเชิงตำหนิต่างๆ นั้น         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “มูลนิธิฯ ขอเป็นตัวแทนผู้บริโภคตั้งคำถามไปถึง ขสมก. ที่ต้องตอบให้ชัดว่า รถต่างสี ทำไมต้องเก็บราคาค่าโดยสารต่างกัน และ การเปลี่ยนเลขหมายรถนั้นมีเหตุผลอย่างไร อะไรที่เป็นเหตุต้องปรับงขึ้นราคาค่ารถ โดยไม่แจ้งผู้โดยสารล่วงหน้า” มูลนิธิฯ ขอเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบก ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ตรวจสอบและแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร เพราะนโยบายการ “ปฎิรูปรถเมล์” ของกรมการขนส่ง ควรคำนึงถึงผู้ใช้บริการให้มีรถเมล์บริการอย่างทั่วถึงและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะ ขสมก. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องให้บริการรถที่มีคุณภาพและคิดค่าบริการที่ราคาเป็นธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 โทรศัพท์ที่บ้าน...เงียบเกินไปไหม!!!???

        โทรศัพท์บ้าน หรือที่เรียกเป็นทางการว่า “โทรศัพท์ประจำที่” หรือ “โทรศัพท์พื้นฐาน” ทุกวันนี้มีการใช้บริการลดน้อยลงเรื่อยๆ สวนทางกับการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ         สำหรับคนที่ยังเปิดใช้บริการโทรศัพท์บ้าน การใช้ก็น้อยลงเรื่อยๆ เช่นกัน โดยเฉพาะการโทรออก บางคนแทบไม่เคยใช้โทรศัพท์บ้านเพื่อการโทรไปหาผู้อื่นเลย ใช้ก็เพียงการรับสายที่โทรเข้ามาเท่านั้น ซึ่งนับวันเสียงเรียกเข้าก็น้อยลงและห่างหายไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน         ด้วยสภาพดังกล่าวที่เป็นแนวโน้มปกตินี้เอง ถึงแม้โทรศัพท์บ้านจะยังคงตั้งอยู่ตรงที่เดิมของมัน และทุกเดือนๆ ผู้ใช้บริการก็จ่ายสิ่งที่เรียกว่า “ค่ารักษาเลขหมาย” จำนวน 100 บาท รวม vat เป็น 107 บาท แต่ผู้ใช้จำนวนมากอาจแทบไม่เคยยกหูโทรศัพท์ขึ้นมาเป็นเดือนๆ หรือหลายๆ เดือน และอาจไม่ทันเอะใจกับความเงียบอันเป็นปกติของ “โทรศัพท์บ้าน” ของตนเอง โดยคิดไปว่าคงเพราะไม่มีใครติดต่อมาทางช่องทางดังกล่าวนั่นเอง         อย่างไรก็ตาม จากเรื่องร้องเรียนต่อไปนี้ อาจทำให้คนที่ยังมีโทรศัพท์บ้านอยู่ จำเป็นต้องคิดใหม่และทำใหม่         เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้โทรศัพท์บ้านคนหนึ่งได้ร้องเรียนเข้ามาที่สำนักงาน กสทช. ระบุปัญหาว่า โทรศัพท์บ้านที่บ้านแม่ของเธอใช้ไม่ได้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งในครั้งนั้นเคยแจ้งเหตุไปยังบริษัททีโอทีบริษัทตรวจสอบแล้วแจ้งว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากสายภายในบ้าน จากนั้นทั้งสองฝ่ายต่างก็เงียบหายกันไป         ผู้ร้องเรียนบอกเล่าว่า จนกระทั่งกลางปี 2565 แม่ของผู้ร้องเรียนได้บ่นว่าเมื่อไรจะจัดการเรื่องโทรศัพท์บ้าน มีปัญหาผ่านมานานหลายปีแล้ว เธอจึงทดสอบดูด้วยการโทรเข้าเบอร์บ้านแม่ ผลพบว่าสองครั้งแรกมีเสียงอัตโนมัติตอบกลับว่า เลขหมายนี้ยังไม่เปิดใช้บริการ แต่ครั้งหลังพบว่ามีเสียงสัญญาณเรียกดังในหูผู้โทร แต่ไม่ดังที่เครื่องโทรศัพท์แต่อย่างใด         นั่นทำให้เธอร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ให้บริการอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ผู้ให้บริการเปลี่ยนเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเอ็นที (NT) แล้ว จากการควบรวมกิจการกันระหว่างบริษัททีโอที กับบริษัท กสท โทรคมนาคม หรือแคท (CAT) คราวนี้ได้รับการชี้แจงจากช่างของบริษัทฯ ว่า เนื่องจากมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า จึงทำให้สายโทรศัพท์ภายนอกชำรุดเสียหาย         ต่อมาผู้ร้องเรียนตัดสินใจพาแม่ไปดำเนินการขอยกเลิกการใช้บริการโทรศัพท์บ้านไปเลย พร้อมกับเรียกร้องขอเงินที่จ่ายไปเดือนละ 107 บาทคืนด้วย โดยระบุว่าขอคืนย้อนหลังไปจนถึงปี 2561 ที่เคยมีการร้องเรียนปัญหาครั้งแรก แต่บริษัทฯ ไม่ได้แก้ไขปัญหาให้         หลังจากนั้น ทางบริษัทฯ ได้ติดต่อกลับหาผู้ร้องเรียน แจ้งว่าได้พบสาเหตุของปัญหาคือ เคเบิลปลายทางขาดจากการถูกลักลอบตัดสายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565!!!         กลายเป็นว่า จากเรื่องที่เริ่มด้วยการแจ้งเหตุเสียของผู้บริโภค บทลงเอยกลายเป็นเรื่องบริษัทฯ ถูกลักทรัพย์                 อย่างไรก็ตาม ปัญหาการลักลอบตัดสายเคเบิลโทรศัพท์เพื่อนำทองแดงไปขาย หรือแม้แต่สายเคเบิลอื่นๆ เช่นสายไฟฟ้า สายรถไฟฟ้า เป็นปัญหาจริงที่เกิดขึ้นและทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างต้องปวดหัวและสูญเสียงบประมาณจำนวนมหาศาล         ยกตัวอย่าง บริษัททีโอทีเคยให้ข่าวว่า ผลจากการขโมยตัดสายเคเบิลในปี 2557 เพียงปีเดียว สร้างความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท โดยประมาณร้อยละ 20 นั้นเป็นความเสียหายที่เกิดในเขตกรุงเทพมหานคร อีกทั้งปัญหาดังกล่าวยังกระทบผู้ใช้บริการจำนวนมากและกระทบการสื่อสารในวงกว้าง โดยเฉพาะถ้าสายที่ถูกขโมยเป็นสายเคเบิลขนาดใหญ่         แม้แต่ในปี 2566 นี้ ข่าวอาชญากรรมเกี่ยวกับการจับกุมผู้ลักลอบตัดสายเคเบิลชนิดต่างๆ ก็ยังมีให้เห็นเป็นระยะ         แน่นอนว่า ปัญหาดังกล่าวนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัทฯ เป็นหลัก ส่วนผู้บริโภค แม้ว่าโดยทั่วไปอาจถือว่าไม่เดือดร้อน เนื่องจากดังที่กล่าวไปตอนต้นว่า ในระยะหลังโทรศัพท์บ้านก็ดูจะอยู่อย่างเงียบๆ มาจนเป็นปกติไปแล้ว แต่ผู้บริโภคก็มีความเสียหายจากการต้องจ่ายเงินให้แก่สิ่งที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้...อย่างไม่รู้ตัว         ทั้งนี้ สำหรับกรณีของผู้ร้องเรียน ในที่สุดบริษัทได้เสนอ “ปรับลดค่าบำรุงรักษาคู่สายโทรศัพท์” ของรอบปี 2565 ให้ ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ร้องเรียนมิได้พึงพอใจต่อข้อเสนอดังกล่าว และตั้งประเด็นที่น่ารับฟังไว้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า เหตุใดบริษัทจึงไม่แจ้งผู้ใช้บริการ แต่กลับ “ตีเนียน” เก็บค่าบริการเรื่อยมาเดือนแล้วเดือนเล่า         เนื่องจากสถานการณ์จริงเป็นเช่นนั้นแล ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคจึงต้องช่วยเหลือตัวเอง ถ้าโทรศัพท์บ้านของใครไม่ส่งเสียงบ้างเลย ก็อาจต้องลองยกหูขึ้นฟังว่ายังมีสัญญาณอยู่หรือไม่ เพราะโทรศัพท์บ้านของท่านอาจกลายเป็น “บริการไร้สาย” ไปเสียแล้ว โดยไร้สายมาตั้งแต่ต้นทาง...จากนอกบ้าน...นั่นทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 257 ไม่ได้เปิดใช้ซิม แต่ถูกเรียกเก็บเงิน

        ค่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ กำลังแข่งกันทำโปรโมชันการขาย โดยโปรโมชันที่เป็นที่นิยมโปรโมชันหนึ่งคือ การขายซิมรายเดือนพร้อมพ่วงค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าเปิดใช้งานซิมเรา ก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเราไม่เปิดใช้ซิมแต่มีการเรียกเก็บเงินเราจะทำอย่างไร มาดูผู้บริโภครายนี้กันว่าเขาจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร         ภูผาซื้อซิมเบอร์โทรศัพท์มือถือ แบบโปรโมชันรายเดือนเดือนละ 299 บาท รวมทั้งค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตของค่ายทรูมูฟเอชจากร้านขายโทรศัพท์ ทางร้านขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเขาไว้เพื่อยืนยันการซื้อซิม หลังจากนั้นเขาเอาเบอร์ที่ซื้อมาไปตรวจดูว่าเบอร์ที่ซื้อมาเข้ากับเขาไหม เพราะมีคนแนะนำเรื่องพลังของตัวเลข เขาพบว่าเบอร์ที่เขาซื้อมาไม่เข้ากับเขาอย่างมาก เขาจึงไม่ได้เปิดใช้บริการซิมนี้ เรื่องก็ล่วงเลยมา จนประมาณ 1 ปี เขาได้รับหนังสือจากสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง ขอให้ชำระเงินกว่า 3,000 บาท เนื่องจากค้างค่าบริการโทรศัพท์มือถือ อ้าว...ไปค้างเงินค่ามือถือได้อย่างไร เขางงมากว่าทำไมถึงถูกเรียกเก็บค่าบริการ เพราะว่าเขาไม่ได้เปิดใช้บริการ เขาเห็นว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่เป็นธรรม จึงมาขอคำปรึกษาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าจะสามารถแก้ไขอย่างไรได้บ้าง  แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิฯ แนะนำว่า ผู้ร้องสามารถไปแจ้งความบันทึกประจำวันไว้ว่า ตนไม่ได้เปิดใช้บริการซิมเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและเพื่อไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นก็ให้ทำหนังสือแจ้งผู้ให้บริการว่าไม่ได้เปิดใช้บริการเบอร์โทรศัพท์และปฏิเสธการจ่ายเงินไปยังบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ พร้อมแนบสำเนาใบบันทึกประจำวันและทำหนังสืออีกฉบับหนึ่งส่งไปที่สำนักงานกฎหมายที่ได้ส่งหนังสือมาให้ผู้ร้องชำระเงินด้วย         ต่อมาทางมูลนิธิฯ ได้ประสานงานไปยังบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้ดำเนินการยกเลิกการคิดค่าบริการจากผู้ร้อง ซึ่งทรูมูฟเอชได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและประสานกับผู้ร้องแจ้งว่า ได้ดำเนินการยกเลิกการเรียกเก็บค่าบริการทั้งหมดแก่ผู้ร้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 แค่สระไดร์ ทำไมแพงจัง

สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคท่านหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว จึงนำมาเสนอฝากเป็นเรื่องเตือนใจถึงผู้บริโภคท่านอื่น ดังนี้         คุณศรีสมรไปประชุม ณ โรงแรมแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ช่วงเย็นหลังเลิกงานประชุมแล้ว คุณศรีสมรแวะเข้าไปใช้บริการสระไดร์จากร้านเสริมสวยแห่งหนึ่งที่เปิดบริการอยู่ใกล้ๆ โรงแรม เท่าที่สังเกตคือ ร้านเสริมสวยดังกล่าวไม่ได้ติดป้ายแสดงราคาค่าบริการเอาไว้ ส่วนคุณศรีสมรเองตอนนั้นก็ไม่คิดอะไรมาก จึงไม่ได้สอบถามค่าบริการก่อนแต่แรก คิดว่าแค่สระไดร์คงไม่เกิน 150 บาท เพราะเคยทำในราคานี้         หลังจากรับบริการเสริมสวยเป็นที่เรียบร้อย คุณศรีสมรก็ต้องตกใจ เมื่อเจ้าของร้านเรียกเก็บค่าบริการเป็นเงินจำนวน 340 บาท ซึ่งผิดจากที่คาดการณ์ไว้มาก คุณศรีสมรจึงสอบถามเจ้าของร้านไปว่า ทำไมค่าบริการถึงแพงจัง ?  ซึ่งเจ้าของร้านได้ตอบกลับมาว่า “ ผมสั้น 200 บาท ผมยาว 340 บาท ค่ะ ”         คุณศรีสมรนำเรื่องมาปรึกษากับสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ถึงปัญหาการคิดค่าบริการสระไดร์ของร้านเสริมสวยดังกล่าวว่าแพงเกินไปหรือไม่ ทางสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ได้แจ้งกับคุณศรีสมรไปว่า การที่ทางร้านไม่ติดป้ายแสดงราคานั้นถือว่าผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 40 ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 28 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ดังนั้นทางสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น จะทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา        1. หากผู้บริโภคเจอปัญหาเช่นนี้ ให้ถ่ายภาพสถานที่ร้านเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยอาจถ่ายภาพจากระยะห่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโต้เถียงกัน        2. ร้องเรียนไปยัง กรมการค้าภายใน สายด่วน 1569 เพื่อขอให้หน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค        - ควรเลือกใช้บริการร้านค้าที่ติดป้ายแสดงราคาสินค้า/บริการที่ชัดเจน  หากเลี่ยงไม่ได้ ให้สอบถามและตกลงค่าบริการกันก่อนใช้บริการ         สำหรับผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น สามารถขอคำแนะนำหรือร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องผู้บริโภคได้ที่ สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น  เลขที่ 686/5 ซอยวุฒาราม ถนนหน้าเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000  โทร.065 052 5005  หรือ อีเมล cakk2551@gmail.com หรือเฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/Cakk2551

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 รถจักรยานยนต์รับจ้างกับการคิดค่าบริการ

ท่ามกลางวิกฤติจราจรของกรุงเทพมหานคร ที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง  ยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ทุกคนต้องการเร่งรีบในการเดินทาง  การเลือกหารถโดยสารซักคันเพื่อเดินทาง จึงกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบาก รถจักรยานยนต์รับจ้างจึงเป็นทางออกของคนเมืองที่ต้องใช้งานกันแทบทุกวัน แต่ทางเลือกนี้กลับพบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะโก่งราคาค่าโดยสาร ขับรถเร็วหวาดเสียว เรียกแล้วไม่ไป หรือไปแต่ส่งไม่ถึงจุดหมาย บางครั้งปริมาณรถมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนใช้ ที่แย่ไปกว่านั้น แม้บางคนเลือกที่จะเดินไปต่อแถวขึ้นรถจักรยานยนต์รับจ้างที่วินรถแท้ๆ แต่กลับได้รถคันที่ขึ้นเป็นรถป้ายขาว หรือรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการแทน แน่นอนว่าในใจคงไม่อยากขึ้น เพราะไม่รู้ว่ารถคันที่ขึ้นเป็นใครมาจากไหน แต่ด้วยความจำเป็น ทำให้ต้องขึ้นเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางสิ่งต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นปัญหาที่สะสมมานาน แม้ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกจะออกมาตรการควบคุมราคาค่าโดยสาร กำหนดให้ระยะทาง 2 กม.แรก จัดเก็บอัตราค่าโดยสารได้ไม่เกิน 25 บาท กม.ที่ 2 – 5 ไม่เกิน กม.ละ 5 บาท และหากระยะทางมากกว่า 15 กม.ขึ้นไป ให้สามารถเลือกการตกลงราคากันเอง หรือให้คิดค่าโดยสาร กม.ละไม่เกิน 10 บาท โดยย้ำทุกวินต้องทำป้ายแสดงอัตราค่าโดยสารแสดงให้เห็นชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติมักพบว่า มีการเรียกเก็บค่าโดยสารที่สูงกว่าความเป็นจริง และยังมีวินเถื่อนรถเถื่อนแอบให้บริการอยู่ทั่วไปจากข้อมูลการจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก ในกลุ่มรถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีรถจักยานยนต์สาธารณะที่จดทะเบียนถูกต้องทั่วประเทศมากถึง 194,393 คัน แต่ในความเป็นจริงนอกจากกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนถูกต้องแล้ว ยังมีกลุ่มรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่นำมาวิ่งรับจ้างรับส่งคนโดยสารอยู่อีกเช่นกัน เพราะรถที่นำมาวิ่งให้บริการส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นรถป้ายเหลืองหรือขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะ  ทั้งนี้ตามกฎหมายรถจักรยานยนต์ที่นำมารับส่งผู้โดยสารได้ ต้องจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะต้องมีป้ายทะเบียนสีเหลืองเท่านั้น และผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ใช้เสื้อวินรูปแบบใหม่ ที่แสดงบัตรประจำตัวและหมายเลขประจำตัว ที่ถูกต้องตรงกันตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด เพื่อป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมาย  อย่างไรก็ตาม เมื่อปัญหาสะสมมาถึงจุดหนึ่ง และมีผู้เข้าร่วมวงใหม่อย่าง GrabBike ที่ผู้บริโภคสามารถเรียกใช้บริการรถผ่านแอปพลิเคชัน ที่สะดวก รวดเร็วและมารับถึงที่ แถมราคาถูกกว่า รถจักรยานยนต์รับจ้างแบบเดิม ปรากฏขึ้น จึงเป็นที่ถูกใจและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ แม้จะเป็นบริการผิดกฎหมายไทยก็ตาม โดยกรมการขนส่งทางบกยืนยันอย่างชัดเจนแล้วว่า การให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันเป็นการให้บริการที่ผิดกฎหมาย ซ้ำยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 23/1 ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร, มาตรา 5 (15) แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก และมาตรา 42 ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถสาธารณะปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่เมื่อ GrabBike ตอบโจทย์ชีวิตได้ดีกว่า เราจึงเห็นภาพความขัดแย้งผ่านสื่อทั้งหลาย ระหว่างผู้ให้บริการเดิมกับ GrabBike  อยู่บ่อยๆ จึงกลายเป็นคำถามว่า การที่ผู้บริโภคเลือกใช้บริการที่บอกว่า ผิดกฎหมายนั้น ยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีสิทธิหรือไม่ แล้วจะมีทางออกต่อเรื่องนี้อย่างไร ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องน่าจะได้มีการคิดทบทวนกันว่า เหตุใดการให้บริการที่ถูกกฎหมายอย่างรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ควบคุมโดยรัฐ จึงมีคุณภาพบริการที่แย่กว่าบริการเอกชนที่รัฐบอกว่าผิดกฎหมาย ทางออกจะนำไปสู่การพัฒนาระบบรถรับจ้างให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานที่ผู้บริโภคยอมรับได้ ขณะเดียวกันหากจะยอมรับผู้ประกอบธุรกิจในมิติใหม่ๆ เข้าสู่ระบบ ก็ต้องมีความชัดเจนทางกฎหมายว่าถูกหรือผิด หากผิดแล้วยังฝ่าฝืนก็ต้องมีบทลงโทษที่ควบคุมจัดการได้ มิเช่นนั้นปัญหาการทะเลาะวิวาทแบบนี้ก็จะยังคงมีอยู่ ด้วยต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิและประโยชน์ที่มี ท่ามกลางความขัดแย้งที่นำไปสู่การปะทะกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือผู้บริโภคที่ยังคงเป็นฝ่ายที่ต้องแบกรับความเสี่ยงกับระบบขนส่งสาธารณะแบบนี้ต่อไปเหมือนเดิม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 รวมพลังผู้บริโภค ยกเลิกปัดเศษค่าโทรมือถือ คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที (2)

หลักการสำคัญของข้อเสนอให้คิดค่าบริการโทรศัพท์เป็นวินาทีตามที่มีการใช้งานจริง ก็คือ “หลักความเป็นธรรม ใช้เท่าไร ก็ควรจ่ายเท่านั้น”  ในอดีต การปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์จากวินาทีเป็นนาทีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดด้านเทคนิคของระบบนับเวลาและคิดคำนวณค่าบริการที่ยังไม่ทันสมัย เป็นระบบอนาล็อก ที่ไม่สามารถคำนวณนับแบบละเอียดได้ จึงต้องมีการปัดเศษการโทรเป็นนาที แต่ทุกวันนี้ ระบบโทรคมนาคมพัฒนาไปมาก เป็นระบบดิจิตอลหมดแล้ว การบันทึกข้อมูลการใช้งานทำได้ละเอียดมาก ๆ  แม้กระทั่งหน่วยที่เล็กกว่าวินาทีก็สามารถคำนวณนับได้ และถ้าดูข้อมูลในใบแจ้งค่าใช้บริการดี ๆ จะเห็นว่า ข้อมูลระยะเวลาการใช้งานโทรศัพท์ที่บริษัทบันทึกไว้นั้น มีหน่วยเป็นวินาทีด้วยซ้ำไป แล้วจึงค่อยมาปัดเศษการใช้งานเป็นนาทีอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว การคำนวณนับค่าบริการเป็นวินาทีนั้น ตรงไปตรงมาและยุ่งยากน้อยกว่าการต้องไปปัดเศษเสียอีก  คิดค่าบริการโทรศัพท์เป็นวินาทีตามที่มีการใช้งานจริง จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับยุคดิจิตอล การคิดแบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีต่างหากที่เป็นเรื่องล้าสมัย และไม่เป็นธรรม  ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส จึงเลิกใช้ระบบปัดเศษกันแล้ว และมีกฎหมายห้ามปัดเศษ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค  แพ็คเกจค่าบริการโทรศัพท์ในบ้านเราทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบเหมาจ่าย เช่น “จ่าย 190 บาท รับสิทธิโทรออกทุกเครือข่าย 250 นาที ค่าบริการส่วนเกินคิดค่าบริการนาทีละ 0.99 บาท” แต่พอใช้งานจริง เมื่อถูกปัดเศษการใช้งานทุกครั้งที่โทร ผู้ใช้บริการก็จะไม่สามารถใช้งานได้เต็มตามสิทธิ แถมบางรายอาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพราะ ด้วยวิธีการคำนวณนับระยะเวลาการใช้งานแบบปัดเศษ ทั้งที่ถ้านับระยะเวลากันจริง ๆ ใช้งานไม่เกินสิทธิตามแพ็คเกจด้วยซ้ำ เรียกว่า โดนเอาเปรียบถึง 2 ต่อเลยทีเดียว  ที่สำคัญ เงื่อนไขการปัดเศษการโทรจากวินาทีเป็นนาทีนี้ หลายกรณีก็มิได้มีการเขียนเอาไว้ในสัญญาการใช้บริการ หรือแจ้งไว้ในรายการส่งเสริมการขายด้วยซ้ำ จึงเท่ากับว่า ค่ายมือถือกำลังทำผิดสัญญา ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้ใช้บริการก็มีสิทธิฟ้องร้อง ให้ศาลสั่งให้บริษัทปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา คือ คิดค่าบริการตามที่มีการใช้งานจริง และให้คืนเงินส่วนที่บริษัทได้เรียกเก็บไปโดยมิได้มีการใช้งานจริง  แต่เมื่อพูดถึงเรื่องการฟ้องร้อง หลายคนก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก วุ่นวาย เสียเงิน เสียเวลา แถมไม่รู้ว่าฟ้องไปแล้วจะชนะหรือไม่ คิดแล้วยังไง ก็ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไปไม่กี่บาท ยอมทนก้มหน้า ถูกเอาเปรียบต่อไปดีกว่า  ระบบศาลยุติธรรมเองก็เห็นถึงข้อจำกัดนี้ จึงมีการพัฒนาปรับปรุง กระบวนฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ขึ้น โดยเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ ด้วยการดำเนินคดีเพียงคดีเดียว ซึ่งเหมาะสำหรับคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนเยอะ ๆ แต่ความเสียหายของแต่ละคนไม่มาก และความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำที่มีข้อเท็จจริงเดียวกัน และข้อกฎหมายเหมือนกัน เช่น คดีผู้บริโภค คดีผิดสัญญา คดีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยจะมีโจทก์ผู้ริเริ่มคดี ดำเนินการแทนผู้เสียหายคนอื่น ๆ และไม่จำเป็นต้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีหรือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน เพียงแต่เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม ซึ่งเมื่อศาลมีคำพิพากษาก็จะมีผลผูกพันกับสมาชิกในกลุ่มไปด้วย  การดำเนินคดีแบบกลุ่มนี้ในต่างประเทศมีมานานแล้ว แต่ในประเทศไทยเพิ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการฟ้องและดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว  ล่าสุด(12 มกราคม 2560) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่าย เตรียมรวบรวมผู้เสียหายจากการถูกคิดค่าบริการเกินกว่าที่ใช้งานจริงเนื่องจากถูกปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์ ฟ้องคดีแบบกลุ่ม เพื่อเรียกเงินคืนจากบริษัทมือถือต่าง ๆ และขอให้บริษัทปฏิบัติตามสัญญาคิดค่าบริการตามที่มีการใช้งานจริงเป็นวินาที โดยไม่ปัดเศษ  สำหรับผู้บริโภคท่านใดที่สนใจ สามารถมีส่วนร่วมพิสูจน์ปัญหาค่าโทรปัดเศษด้วยตัวท่านเอง โดยขอบันทึกการโทรย้อนหลังเพื่อนับวินาทีและเงินที่หายไป (Call Detail Record ) ผ่านคอลเซ็นเตอร์ในเครือข่ายที่ท่านใช้งาน  ครับ ช่วยกันไปขอบันทึกการใช้โทรศัพท์ ที่ให้บริการมือถือที่เราใช้อยู่ ย้อนหลังได้กี่เดือนเอามาให้หมด มาดูกับประวัติการโทรของว่า เราถูกเอารัดเอาเปรียบไปเท่าไร หากเห็นว่าตัวท่านเสียหายจากการปัดเศษค่าโทร และอยากร่วมฟ้องคดี สามารถติดต่อมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งทางเฟสบุ๊ค และเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร่วมลงชื่อกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องคดี แบบกลุ่ม class action >>> https://goo.gl/PgmPDM 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 ไฟฟ้าไทย คำนวณผิดผลิตเกินผู้บริโภครับกรรม

คงยังไม่ลืมกันว่า เมื่อเดือนเมษายน  2557   มีการเสนอข่าวจากเจ้าหน้าที่รัฐ  และนักการเมืองออกมาให้ข้อมูลที่ทำให้ประชาชน  ประหวั่นพรั่นพรึงตื่นตระหนกกันทั้งประเทศ เรื่องไฟฟ้าอาจไม่พอใช้   เพราะหลุมก๊าซจากพม่าบางหลุมหยุดซ่อมบำรุงและงดส่งก๊าซ  ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพออาจจะเกิดไฟฟ้าดับได้ในบางพื้นที่   พร้อมโหมโฆษณาอย่างมโหฬารว่า  มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดทำลายสถิติการใช้ไฟฟ้า ปีนี้ ปีนั้นจากนั้นก็มี  พระเอกจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกมาให้ข่าวว่า ไฟฟ้าสามารถจัดการไม่ให้เกิดไฟฟ้าดับได้แล้ว   “โดยใช้ความสามารถจากการจัดการของการไฟฟ้าฯ” ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ(โถ....ช่างเป็นพระคุณจริงๆ ) แต่ข้อมูลที่เปิดเผยออกมาคือ  การใช้ไฟฟ้าสูงสุด ในเดือน เมษายน 2557   ใช้อยู่ที่ 26,940 mw  เท่านั้น  และเมื่อเปิดไปที่เอกสารกำลังการผลิตไฟฟ้าในเดือน มิถุนายน 2557  รวมทั้งสิ้น  34,4179 mw   ผลิตเกินจำนวนที่ใช้ไปถึง  7,237  mw  เอ...มาตรฐานการผลิตไฟฟ้า ต้องมีสำรองไฟฟ้าไว้ 15% หรือ 4,041 mw  มิใช่หรือ แต่เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว หักไฟฟ้าสำรองแล้วก็ยังมีไฟฟ้าเกินไปอีกจำนวน 3,196 mw  รวมแล้วปัจจุบันมีไฟฟ้า สำรองถึง 15 %  คิดเป็นเงินลงทุนเกินความจำเป็นถึง ประมาณ 110,000  ล้านบาท     โดยที่กลุ่มผู้คำนวณการผลิต ผิดพลาดไม่ต้อง ”รับผิดชอบ” แต่โยนภาระให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นผู้รับผิดชอบ จ่ายเงินที่ลงทุนเกินเหล่านี้  โดยบวกเข้าไปในบิลค่าไฟฟ้า ของประชาชนทุกครัวเรือน   ขอตั้งคำถาม คำโตๆว่า  ทำเช่นนี้ มันเป็นธรรมกับผู้บริโภคแล้วหรือที่น่าตกใจมากไปกว่านั้นคือ  จำนวนไฟฟ้าที่เกินมานี้  ยังไม่รวมการผลิตจากโรงไฟฟ้า  ที่ประชาชนออกมาคัดค้านให้สร้างไม่ได้ เกือบ 10 โรง  ถึงตรงนี้ต้องขอบคุณกลุ่มผู้ที่ออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้า ที่ช่วยให้ประชาชนไม่ต้องแบกภาระกันหลังอานไปมากกว่านี้ เพราะหากปล่อยให้มีการผลิตไฟฟ้าได้ตามแผน PDP 2014   ที่นายทุน/นักการเมือง/เจ้าหน้าที่รัฐรวมหัวกันกำหนด ให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทั้งพลังงานนิวเคลียร์  ถ่านหิน ฯลฯ นึกภาพไม่ออกว่ามันจะมีไฟฟ้าเกินไปอีกเท่าใด   ใครได้ประโยชน์  แล้วใครเสียประโยชน์ ถึงวันนี้ชาวกระบี่ ก็ยังต่อสู่กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะสร้างในพื้นที่กันอย่างเข้มข้น เราก็ขอเอาใจช่วย  หากสร้างได้เมื่อใดต้นทุนที่สร้างโรงไฟฟ้านั้นจะมาอยู่ในบิลค่าไฟของเรา  จึงขอเรียกร้องให้  ท่านนายกประยุทธ์   จันทร์โอชา   ช่วยคืนความสุขให้ผู้บริโภคได้ใช้ราคาพลังงานที่เป็นธรรม  ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังภายใต้อำนาจพิเศษ  แล้วเราจะ “ไว้ใจ และศรัทธา”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 ร้องเรียนกรณี ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ

30 หมู่ที่ 8 ตำบล บางแก้วอำเภอ เมือง จังหวัดสมุทรสงคราม วันที่   28   พฤศจิกายน  2556 เรื่อง  ร้องเรียนกรณี ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ เรียน   กสทชด้วยดิฉัน  นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม  หมายเลขบัตรประชาชน 37501-00253-723    เป็นผู้ใช้โทรศัพท์ หมายเลข 081- 3089020   ใช้แบบชำระค่าบริการรายเดือนของบริษัท DTAC  ได้รับความเสียหาย ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ หลายเดือนโดยที่ไม่ได้ใช้บริการวันที่ 28 พฤศจิกายน  2556  ดิฉันได้ไปจ่ายค่าบริการโทรศัพท์ ที่ศูนย์ DTAC จังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยตัวเอง(ซึ่งเดือนก่อนๆ ให้ลูกน้องไปจ่ายแทน) ซึ่งมียอดต้องชำระ 2 เดือน มียอดรวม 1,622  บาท  จึงได้ถามว่าดิฉัน ใช้บริการโปรฯ 599 ต่อเดือน(รวมอินเตอร์เน็ต) ทำไมค่าบริการจึงสูงกว่า 599  บาท  ได้คำตอบว่า  ส่วนที่เกินมาจากค่าใช้บริการบันเทิงดารา  และการสมัครข่าวฮอตนิวส์  ซึ่งดิฉันไม่เคยสมัครใช้บริการดังกล่าว และไม่เคยได้รับบริการใดๆ (นอกจากสมัครรับข่าวของสำนักข่าวอิศรา) มีเพียงได้รับข้อความทาง SMS เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน  2556  ว่า “ระบบจะต่ออายุบริการHotNews-FT 15D&Normal 29.00 บาท 30 วัน ในวันที่ 2013 -11-14 สอบถามโทร 02-9412815”  ซึ่งดิฉันไม่สนใจและไม่คิดจะรับบริการ  จากนั้นวันที่  14 พฤศจิกายน  2556  ดิฉันก็ได้รับข้อความว่า ระบบได้ต่ออายุบริการแล้ว(ดิฉันได้นำข้อมูลนี้ให้คุณฐากร  ตันฑสิทธิ  เลขา กสทช ดูแล้ว) ส่วนค่าบริการบันเทิงดาราดิฉันมาทราบภายหลังว่า มีการให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2556  ทั้งที่ดิฉันไม่เคยสมัครและไม่เคยรับบริการข่าวบันเทิงใดๆ พฤติกรรมการให้บริการของ  DTAC   เข้าข่ายฉ้อโกงผู้บริโภค อย่างชัดเจน  จึงขอร้องเรียน ให้ DTAC ชดเชยค่าเสียหายดังนี้ เรียกร้องค่าบริการที่เรียกเก็บเกิน  ตามที่เก็บเกินไปจริง เรียกร้องค่าเสียหายกรณีเสียเวลา เสียค่าโทรศัพท์ เสียค่าเดินทางและอื่นๆในกระบวนการร้องเรียน   กรณีถูกฉ้อโกง  จำนวน 5,000  บาท (เพราะผู้บริโภคไม่ได้มีหน้าที่ร้องเรียน  แต่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ให้บริการอย่างตรงไปตรงมา มิใช่ช่อโกงผู้บริโภคได้ตามที่ต้องการ) ห้ามมิให้ DTAC ส่งบริการเสริมใดๆโดยไม่ได้มีการส่งคำร้องขอ   ลงชื่อ  นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม ผู้ร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 มันมาในรูปของ sms

มีเรื่องร้องเรียนเรื่องถูกส่ง sms มารบกวน และต้องจ่ายค่าบริการเยอะมาก  และที่มากไปกว่านั้นยังมีการโฆษณาสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคสมัครเข้ามารับบริการ เช่น หากสนใจกดหมายเลข .... แต่ไม่มีการให้ข้อมูลว่าหากต้องการยกเลิกจะกดอะไร ? ได้บ้าง  สิ่งที่เห็นคือเมื่อสมัครไปแล้วต้องการยกเลิกแทบไม่มีช่องให้ทำได้  หรือทำได้ก็มีการกำหนดขั้นตอนให้ยุ่งยากซับซ้อน ยากลำบากในการใช้สิทธิขอเลิกใช้บริการ ซึ่งอาจคาดเดาว่านี่คงเป็นยุทธศาสตร์เพื่อให้ผู้บริโภคเบื่อหน่าย และยอมจ่ายเงินไปเรื่อยๆองค์กรที่กำกับดูแล ก็เหมือนไม่ใยดีกับปัญหาที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการ แถมองค์กรกำกับของเรายังมีพฤติกรรมคล้ายๆ กรรมการห้ามมวยปล้ำที่มักเอนเอียงไปทางด้านผู้ประกอบการซะอีก  ทั้งที่ผู้ประกอบการหลายมีพฤติกรรมแบบว่า ออกแนว ขี้โกงสารพัด  มากกว่าจะยึดกติกาที่เป็นธรรม(ที่กสทช.กำหนดขึ้นมาเองแต่ไม่บังคับใช้)   หากประเทศไทยก้าวเข้าสู่การบริการ 3G เต็มรูปแบบ และองค์กรกำกับยังเป็นอย่างนี้   เราคงต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรกันต่อไปที่กล่าวมาข้างต้นคงสื่อให้เห็นปัญหากันบ้างแล้ว    สาเหตุของปัญหาจริงๆ มันอยู่ตรงไหน   หากนำปัญหาเรื่องร้องเรียนต่างๆ มาสังเคราะห์ อาจจะทำให้เห็นภาพของต้นเหตุได้ชัดเจนพอสมควร   เช่น กรณีมีผู้บริโภคร้องเรียนมาว่า  ต้องการยกเลิกข้อมูลที่ส่งมาแล้วถูกเก็บเงินโดยไม่เคยเปิดใช้บริการ  คำตอบที่ได้มาชวนให้คิดต่อได้มาก  คือ บริการเสริมเหล่านั้น ไม่เกี่ยวกับบริษัทผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตแต่เป็นบริการเสริมจากผู้ประกอบการรายอื่น(contantprovider) คำตอบนั้น เป็นเรื่องจริงหรือโกหกคำโตกันแน่?     เพราะข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนคือ   ผู้ให้บริการเสริมไม่ได้มาเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคโดยตรง  แต่เป็นการจ่ายผ่านระบบบริการ ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือนของทั้ง  เอไอเอส,ดีแทค,และทรู “ทั้ง 3 ผู้ประกอบการได้นำเลขหมายที่ขายให้ผู้บริโภคแล้ว ไปขายให้กับผู้ให้บริการเสริมเพื่อให้ได้กำไรหลายต่อหรือไม่?”เพราะหากเป็นเรื่องจริง ปัญหานี้ต้องได้รับการแก้ไข  กสทช.ต้องไม่ปล่อยให้บริษัทผู้ประกอบการนำเลขหมายที่เป็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้บริโภค  ไปค้าขายทำกำไร 2 ต่อ คำถามตามมาคือ หากองค์กรกำกับฯ (กสทช.)  ละเลยไม่กำกับดูแลตามหน้าที่  ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิกันอย่างไร? 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 บ้านถูกน้ำท่วม ไม่ใช้เน็ตแต่ถูกเรียกเก็บค่าบริการ

เป็นที่ทราบกันดีว่าที่อยู่อาศัยแถบอำเภอบางบัวทองต้องถูกน้ำท่วมอย่างหนัก แทบไม่มีใครอยู่อาศัยได้ ระบบสาธารณูปโภคต่างๆล่ม จึงมีการยกเว้นการเรียกเก็บค่าบริการไม่ให้ซ้ำเติมความทุกข์ของชาวบ้าน แต่ความดีแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับอินเทอร์เน็ตของทรูไลฟ์พลัส เพราะมีการร้องเรียนว่ายังเรียกเก็บค่าบริการต่อเนื่องเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นคุณชูชัยเป็นผู้บริโภครายหนึ่งที่ร้องเรียนมาว่า ตนและครอบครัวอยู่อาศัยในหมู่บ้านชื่อดังแห่งหนึ่งย่านถนนบางกรวยไทรน้อย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เมื่อน้ำท่วมใหญ่เข้าอำเภอบางบัวทองเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554  ทำให้ไม่สามารถอยู่อาศัยในบ้านได้ จึงได้โทรแจ้งไปยังบริษัท ทรู ไลฟ์ พลัส จำกัดว่า บ้านถูกน้ำท่วมอยู่อาศัยไม่ได้จึงไม่สามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตของบริษัทได้ ขอให้บริษัทระงับการเรียกเก็บค่าบริการไว้ก่อนเสียงร้องขอของผู้บริโภคคงไร้ความหมาย เจตนารมณ์ของทรูไลฟ์พลัส คงไม่เปลี่ยนแปลงและมุ่งมั่นรักษาสโลแกนของตนไว้เหมือนเดิม “ชีวิตมีแต่บวก” ก็เลยมีการส่งใบแจ้งหนี้บวกเพิ่มให้คุณชูชัยเข้ามาทุกเดือน กลายเป็นหนี้สะสมทบติดต่อกันมาถึง  5 เดือนนับจากวันที่น้ำท่วมเข้าบางบัวทอง จนถึงวันที่ร้องเรียน คุณชูชัยก็ยังไม่สามารถเข้าอาศัยในบ้าน ของตัวเองได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการซ่อมแซมต้องไปหาพักอาศัยในคอนโดแห่งหนึ่งแทน จึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหา เรื่องนี้ได้มีการร้องเรียนไปที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.)ของ กสทช.อีกทางหนึ่งด้วย เราจึงได้สอบถามความคืบหน้าไปที่ สบท. ทราบว่าหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนแห่งนี้ได้มีหนังสือถึงบริษัท ทรู ไลฟ์ พลัสฯ เพื่อขอให้พิจารณายกเว้นการเรียกเก็บค่าบริการใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงที่ผู้บริโภคไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ทรู ได้ปรับลดค่าบริการตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2554 ถึงรอบเรียกเก็บในเดือนมีนาคม 2555 เป็นเงิน 3,700 กว่าบาทให้ และได้มีการเริ่มต้นคิดค่าใช้จ่ายกับผู้บริโภคอีกครั้ง สอบถามคุณชูชัยได้ความว่าตอนนี้ยังอาศัยอยู่ที่คอนโดยังไม่ได้กลับเข้าบ้านเพราะบ้านยังซ่อมไม่เสร็จ จึงอยากจะทำเรื่องยกเลิกการใช้บริการอินเทอร์เน็ตและขอเงินประกันกล่อง Router คืนไปเลย แต่กล่อง Router หายไปตอนน้ำท่วมหลังทราบความต้องการของผู้บริโภค ทรูจึงทำการยกเลิกบริการอินเทอร์เน็ต และแจ้งว่าค่าประกันกล่อง Router อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) เรื่องนี้มีความสับสนอยู่สักพัก เพราะจริงๆแล้ว กล่อง Router นั้นไม่มีการทำประกัน แต่เป็นลักษณะของการซื้อขายอุปกรณ์เมื่อใช้อินเทอร์เน็ตครบ 1 ปี กล่อง Router จะตกเป็นของผู้บริโภค ส่วนเงินที่ติดตามทวงถามคืนนั้นเป็นค่าประกันหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งห้ามมิให้มีการเรียกเก็บเงินในลักษณะนี้ จึงได้มีการติดตามทวงถามคืนจากทีโอทีรวมจำนวน 2 เลขหมาย และท้ายที่สุดได้คืนเป็นจำนวนเงินเลขหมายละ 3,000 บาท รวมเป็น 6,000 บาทเรื่องจึงเป็นอันยุติ สวัสดี  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 ค่าบริการมือถือด้วยเสียงต้องไม่เกินนาทีละ 99 ส.ต.

จากสถานการณ์ของผู้บริโภคที่ถูกรุมเร้าในหลายเรื่อง ทั้งการขึ้นราคาค่าโดยสาร รถ-เรือ ค่า Ft น้ำมัน ก๊าซ ฯลฯ ซึ่งหลายเรื่องเป็นข่าวร้ายของผู้บริโภคทั้งสิ้น แต่ในวิกฤติก็จะมีโอกาส ภายใต้ข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดี(อยู่บ้าง) ข่าวดีนั้นเกิดขึ้นในกิจการโทรคมนาคม เมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ได้ออกประกาศเรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ขั้นสูง ซึ่งมีผลเมื่อ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคค่อนข้างมากดังนี้1.กสทช. กำหนดให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาด(smp) 2 รายคือ AIS และ Dtac คิดอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือด้วยเสียงได้ไม่เกินนาทีละ 99 ส.ต. และทุกนาทีที่ใช้งานต้องไม่เกิน 99 ส.ต.2.โปรโมชั่นที่ผู้บริโภคใช้อยู่หากหมดลง ภายในปี 55 โปรโมชั่นใหม่ต้องคิดค่าบริการเสียงไม่เกิน 99 ส.ต.3.โปรโมชั่นที่ผู้บริโภคใช้อยู่หากมีระยะเวลาเกิน 31 ธ.ค. 55 แต่เมื่อสิ้นปีแล้วโปรโมชั่นทั้งหมดต้องไม่เกินนาที 99 ส.ต.อ่านแล้วก็เห็นได้ค่อนข้างชัดว่าประกาศเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะอัตราค่าบริการขั้นสูง “หมายความว่าห้ามคิดค่าบริการเกิน 99 สต” แต่ต่ำกว่าไม่เป็นไร ปัญหาคือประกาศเหล่านี้ จะไปถึงผู้บริโภคอย่างทั่วถึงได้อย่างไร(ไม่รู้ก็ไม่ได้ใช้) ควรจะผ่านสื่อไหนถึงจะเข้าถึงผู้บริโภคได้(หากสื่อยังอยู่ในลักษณะ ข่าวร้ายลงฟรีข่าวดีเสียเงิน) ต้องยอมรับกันว่า การที่จะให้บริษัทที่ให้บริการโทรคมนาคม ทำตามประกาศ กสทช. คงเป็นไปค่อนข้างยาก อย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ การจะบังคับให้บริษัทเหล่านี้ทำตามประกาศ พึ่ง กสทช.ฝ่ายเดียวไม่ได้ ดังนั้นภาระหนักยังคงตกอยู่ที่คนทำงานด้านผู้บริโภค ที่ต้องให้ความรู้กับผู้บริโภค ให้ร่วมกันกดดันให้ กสทช.บังคับใช้ประกาศของตนเอง เพราะที่ผ่านมาเป็นประเภทประกาศอย่างเดียว แต่ไม่ค่อยบังคับใช้ดังนั้นผู้เขียนจึงได้เขียนเรื่องนี้มาเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบและประชาสัมพันธ์กันต่อๆ ไป และขอให้ช่วยกันรักษาสิทธิ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค มิให้ฝ่ายผู้ให้บริการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเช่นปัจจุบันดังนั้นการจะให้ประกาศนั้นเป็นไปได้จริง ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมในการรักษาสิทธิคือ 1) ให้ตรวจสอบโปรโมชั่นที่ใช้อยู่ว่า เกิน 99 ส.ต. หรือไม่ หากเกิน ขอให้ช่วยกันใช้สิทธิร้องขอโปรโมชั่นใหม่ที่ราคาเป็นไปตามประกาศ 2) ถ้า โปรโมชั่นเดิมใช้แล้ว ราคายังถูกกว่าประกาศฯ ก็ยังสามารถใช้ต่อไปได้จนถึงสิ้นปี 55นอกจากการใช้บริการของบริษัทผู้ให้บริการรายเดิม ถ้ามีรายอื่นที่ราคาถูกกว่าผู้บริโภคก็มีสิทธิย้ายเลขหมายของเราไปใช้บริการรายอื่นได้เช่นกัน หากผู้ให้บริการรายใดปฏิเสธหรือขัดขวางการใช้สิทธิตามประกาศ กสทช. หรือเห็นว่า กสทช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประกาศ ผู้บริโภคก็มีสิทธิร้องเรียน ได้ในหลายทาง เช่น ร้องเรียนโดยตรงกับผู้ให้บริการ ร้องผ่าน กสทช. สายด่วน 1200 หรือร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ภาคประชาชนสุดท้ายหากยังไม่ได้รับการแก้ไข ผู้บริโภคสามารถไปที่ศาลจังหวัด เพื่อขอฟ้องคดีผู้บริโภคโดยไม่ต้องจ้างทนายและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากผู้บริโภคอยากเห็นความเป็นธรรม และองค์กรกำกับฯได้ทำงานอย่างจริงจังอย่างที่ควรจะเป็น คงต้องช่วยกันส่งเสียงผ่านการใช้สิทธิที่เป็นจุดแข็งของผู้บริโภคร่วมกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 ค่าโทรโผล่ที่ไอร์แลนด์

“ดิฉันโดนเรียกเก็บค่าบริการโทรทางไกลระหว่างประเทศไปประเทศไอร์แลนด์ 2 รอบบิลติด ทั้งที่ไม่มีคนรู้จักหรือเคยโทรออกไปประเทศนี้เลยค่ะ”คุณมนต์ชิตาลูกค้าทรูมูฟร้องทุกข์“ตอนที่ได้รับบิลแรกได้โทรกลับไปสอบถามที่คอลเซนเตอร์ เค้าบอกว่าตรวจสอบแล้วว่าเป็นเครื่องของเราโทรออกไป แต่เรายืนยันว่าไม่ได้โทรออกไปจริงๆ ให้ตรวจสอบอีกครั้ง เพราะเคยทำมือถือหาย ไม่รู้ว่าซิม เก่าโดนใช้หรือเปล่า แต่ถูกปฏิเสธทันที ว่าเป็นไปไม่ได้”“ดิฉันยุ่งๆ เลยไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก พอบิลมาอีกครั้ง ก็มีโทรไปประเทศเดิม เบอร์เดิมอีก ดิฉันโมโหมาก โทรไปที่คอลเซนเตอร์ พนักงานถามว่า มือกดไปโดนรึเปล่าคะ หรือมีการโทรออกเองอัตโนมัติหรือเปล่าคะ”เจอคำถามแบบนั้นคุณมนต์ชิตาก็ได้แต่คิดใจว่า มือใครมันจะสามารถกดไปโดนเบอร์เดียวกันถึง 6 ครั้งในเวลาที่ต่างกัน และอีกอย่างก็ไม่มีเบอร์นี้บันทึกไว้อยู่ในเครื่อง ดังนั้นโทรศัพท์คงไม่มีทางโทรออกได้เองแน่“ดิฉันที่เป็นเจ้าของเครื่อง ยืนยันว่าไม่ได้โทร เขายังบอกว่าโทร ดิฉันเลยบอกว่าจะให้สาบานมั้ย เพราะไม่รู้ว่าจะบอกอย่างไรแล้ว เขายังถามต่ออีกว่า มีคนอื่นเอาไปใช้มั้ย คือวันๆ ได้แต่เลี้ยงลูกอยู่ในบ้าน ลูกอายุ 1 ขวบ 6 เดือน แถมยังไม่เคยมีเพื่อนอยู่ที่ประเทศไอร์แลนด์ หรือถ้าลูกเอาไปกดเล่น ก็คงจะไม่กดได้เบอร์เหมือนกันทุกครั้งใช่มั้ยคะ แล้วคงจะไม่รู้ว่าโทรไปต่างประเทศต้องเริ่มกดด้วย 006 แน่ๆ” เมื่อเซ็งสุดๆ กับผีคอลเซนเตอร์ คุณมนต์ชิตาจึงขอปิดบริการเบอร์มือถือเจ้าปัญหา แต่ผีคอลเซนเตอร์กลับโยกโย้เยกเย้แจ้งว่า จะต้องไปปิดที่ทรูชอปสาขาใดก็ได้ แต่บ้านของคุณมนต์ชิตาอยู่ต่างจังหวัด และไม่ได้อยู่ในอำเภอที่มีทรูชอป“แล้วดิฉันจะทำอย่างไรหล่ะคะ ถ้ารอบบิลหน้า มันมีโทรไปไอร์แลนด์อีก พวกพนักงานโง่ไม่สามารถตอบได้ จนดิฉันต้องบอกว่าทำไมไม่ระงับการโทรออกไปต่างประเทศให้ลูกค้า ถ้าเค้าบอกว่าไม่ได้โทร ทำไมพวกคุณไม่เสนอให้เค้าระงับสัญญาณโทรออกต่างประเทศ”“ดิฉันบอกพนักงานว่าดิฉันจะจ่ายแต่ยอดที่ดิฉันใช้จริง ที่ไม่ได้ใช้จะไม่จ่าย และตอนนี้มีจดหมายจากทนายมา ดิฉันควรทำอย่างไรคะ”แนวทางแก้ไขปัญหาตามกฎหมายโทรคมนาคมผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธค่าใช้บริการที่ไม่ถูกต้องได้ แต่การแจ้งไปที่คอลเซนเตอร์มักไม่ค่อยได้เรื่องแถมยังทำให้รำคาญใจเสียอีก วิธีที่ได้ผลกว่าคือให้แจ้งเป็นหนังสือจะเป็นรูปของจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับหรืออีเมล์ก็ได้ส่งไปที่กรรมการผู้จัดการบริษัทผู้ให้บริการและให้จดหมายมีน้ำหนักมากขึ้นก็ให้สำเนาส่งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยเมื่อส่งจดหมายออกไปแล้ว กฎหมายโทรคมนาคมจะบังคับให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างเป็นทางการครับ และกฎหมายโทรคมนาคมได้บังคับให้ผู้ให้บริการต้องมีคำชี้แจงกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรเช่นกัน ถ้าไม่ตอบมาภายใน 60 วัน ผู้ให้บริการโทรศัพท์จะหมดสิทธิ์ในการเรียกเก็บเงินที่มีปัญหากันอยู่ทันทีคุณมนต์ชิตาใช้วิธีเขียนเรื่องร้องเรียนไปที่ www.truemove.com ไม่นานมีพนักงานของทรูมูฟติดต่อกลับมา แจ้งว่ายินดีจะยกเว้นการเรียกเก็บเงินจำนวนที่ทักท้วงให้ แต่ขอให้เซ็นเอกสารที่มีใจความว่าผู้ร้องไม่ติดใจเอาความกับบริษัททรูมูฟอีกต่อไป คุณมนต์ชิตาเห็นว่ายอดเงินตรงกันจึงตกลงเซ็นยินยอมยุติเรื่องโดยไม่คิดเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 ทีโอที ยังเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์

เป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนมานานแล้วว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์ค่ายต่างๆ จะสามารถเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ได้หรือไม่หลังจากที่ผู้ใช้บริการค้างชำระค่าบริการตั้งแต่ 2 งวดขึ้นไป ทั้งๆ ที่เวลาเปิดบริการใช้ครั้งแรกไม่ยักมีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายแต่อย่างใด คุณจิรอร พนักงานขายประกันจากจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเหยื่ออีกรายหนึ่งของผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่มีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายใหม่หลังผิดนัดชำระค่าบริการเกิน 2 งวด คุณจิรอรขอเปิดใช้บริการโทรศัพท์บ้านมาตั้งแต่เป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจนปัจจุบันกลายเป็นกับบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) แต่ด้วยความที่มีภารกิจการงานมากมายในแต่ละวันทำให้เกิดอาการผัดวันประกันพรุ่งไม่มีโอกาสไปจ่ายค่าโทรศัพท์เสียที จนล่าช้าไปถึง 2 เดือน พอไม่จ่ายค่าโทรศัพท์เป็นเดือนที่สองก็เป็นเรื่องล่ะทีนี้ เพราะถูกทีโอทีตัดสัญญาณให้บริการโทรศัพท์ทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า คนขายประกันอย่างคุณจิรอรเลยต้องเดือดร้อนเป็นธรรมดาเพราะไม่มีโทรศัพท์ไว้ใช้งานติดต่อกับลูกค้า“ตายแล้วนี่ฉันลืมจ่ายค่าโทรศัพท์หรือเนี่ย” คุณจิรอรอุทานออกมาหลังจากใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โทรไปสอบถามถึงสาเหตุสัญญาณโทรศัพท์บ้านขาดหายไปหลายวัน“ก็ไม่ได้ตั้งใจจะไม่จ่ายเขาหรอกค่ะ แต่มันลืมจริง ๆ ก็ขอโทษขอโพยเขาไปและคิดว่าแค่จ่ายเงินค่าโทรศัพท์ที่ค้างอยู่เรื่องน่าจะจบและได้กลับมาใช้โทรศัพท์ใหม่ แต่ทางพนักงานเขาบอกว่าเราต้องจ่ายค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ด้วยอีก 107 บาทรวมแวต เราก็เลยถามไปว่าการต่อสัญญาณโทรศัพท์ใหม่สมัยนี้เนี่ยมันยุ่งยากอะไรแค่ไหนถึงต้องเรียกค่าใช้จ่ายกันเป็นร้อย ตามจริงแล้วเงินค่ารักษาเลขหมายที่จ่ายให้ทุกๆ เดือนก็เกินพอแล้วมั้ง ก็ถามเขาไปอย่างนี้” “เขาบอกไงรู้ไหมคะ ยังไงก็ต้องจ่ายถ้าไม่จ่ายก็ไม่ต่อโทรศัพท์ให้ เจอมุขนี้เข้าเราก็เลยต้องจ่ายให้เขาไปด้วยความจำยอม แต่พอกลับมาถึงบ้านเปิดดูหนังสือพิมพ์เจอข่าวว่า กทช. ว่าเขาห้ามเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์แบบนี้ไปแล้ว เราก็เลยเป็นงงค่ะ อ้าว...แล้วทำไมทีโอทียังมาเรียกเก็บเงินกับเราอยู่ มันยังไงกัน” คุณจิรอรจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือเรียกเงิน 107 บาทคืนจากทีโอทีแนวทางแก้ไขปัญหาข่าวที่คุณจิรอรได้อ่านคงเป็นข่าวนี้ครับ ...เมื่อวันที่ 12 มีนาคมทีผ่านมา (12 มี.ค. 2552) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ได้มีมติชี้ชัดในเรื่องการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ หลังจากที่เรื่องนี้ยืดเยื้อมาระยะหนึ่ง โดย กทช. มีมติให้ทุกบริษัทงดเว้นการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ในกรณีที่ผู้ใช้บริการผิดนัดหรือค้างชำระค่าบริการเป็นเวลา 2 เดือนมตินี้จะมีผลให้ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคซึ่งถูกตัดบริการโทรออกเพราะชำระค่าบริการล่าช้า และเมื่อนำเงินไปชำระต้องถูกเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่เป็นจำนวน 107 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือในบางรายเรียกเก็บ 214 บาท ต่อไปนี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์จะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อีก ไม่ว่าจะเป็นกรณีของโทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ตาม มตินี้จะใช้บังคับทั้งกับ บมจ.ทีโอที บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส บจก.ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมิเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น บมจ.ทีทีแอนด์ที บจก.เอเซีย ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่นอย่างไรก็ดี แม้จะมีมติ กทช. ชี้ชัดออกมาอย่างนี้ ทางมูลนิธิฯ ก็ยังคงได้รับเรื่องร้องเรียนอยู่เป็นระยะๆ จากผู้บริโภคว่ายังคงถูกเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ แม้ผู้บริโภคบางรายได้พยายามทักท้วงด้วยการอ้างถึงมตินี้แต่ก็ไม่เป็นผล พนักงานของผู้ให้บริการโทรศัพท์ตามสาขาต่าง ๆ ได้อ้างว่ายังไม่มีคำสั่งโดยตรงมาจากสำนักงานใหญ่ จึงต้องมีการเรียกเก็บไปก่อนข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาแบบนี้ คือให้จ่ายเงินค่าโทรศัพท์ที่ค้างชำระให้เรียบร้อย หากยังไม่มีการต่อสัญญาณโทรศัพท์ให้และมีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ ผู้ใช้บริการควรเขียนเป็นหนังสือแจ้งถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์นั้นๆ ว่า ขอทักท้วงและปฏิเสธการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ดังกล่าวเพราะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนในมติของ กทช. และขอให้ผู้ให้บริการดำเนินการต่อสัญญาณโทรศัพท์โดยทันที ไม่เช่นนั้นจะถือว่าผู้ให้บริการผิดสัญญาการให้บริการ เราในฐานะผู้ใช้บริการมีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้เป็นรายวันเลยล่ะครับ จะเรียกร้องค่าเสียหายผ่านทางสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนของ กทช. ก็ได้ หรือจะเล่นลูกหนักฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลก็ได้ทั้งนั้นครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดนศศิวรรณ ปริญญาตร วัยรุ่นร้ายกว่ายุง?สวนสาธารณะในโตเกียวกำลังกำลังประสบปัญหาน่ากลุ้ม จากแกงค์วัยรุ่นที่ออกก่อกวนทำลายทรัพย์สินสาธารณะและสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับคนที่อาศัยอยู่ใกล้สวนเหล่านั้น เช่นสวนสาธารณะคิตาชิตาฮามา ในเขตอาดาจิทางเหนือของกรุงโตเกียว นั้นต้องพบกับการถูกวัยรุ่นที่คึกคะนองทำลาย ไม่ว่าจะซ่อมแซมใหม่สักกี่ครั้งก็ยังจะกลับมาทำลายซ้ำได้อีก แม้ว่าทางสวนจะแก้ปัญหาด้วยการจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาดูแลแล้วก็ตาม สุดท้ายทางเขตเลยตัดสินใจไปปรึกษาบริษัทจากอังกฤษที่เคยประดิษฐ์อุปกรณ์ไว้ป้องกันการจับกลุ่มเฮฮาของตามหน้าห้างสรรพสินค้ามาแล้ว แล้วก็ได้อุปกรณ์ Mosquito MK4 Anti-vandal system มาทดลองใช้ ฟังจากชื่ออาจเหมือนกับอุปกรณ์ไล่ยุงแต่ความจริงแล้วเขาทำขึ้นมาเพื่อปราบเด็กเฮี้ยนโดยเฉพาะ โดยเจ้าอุปกรณ์ที่ว่าซึ่งมีหน้าตาคล้ายสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาด 10 เซนติเมตร จะปล่อยเสียงความถี่สูงขนาด 17 เมกะเฮิร์ทซ์ (ที่ว่ากันว่าจะมีแต่คนที่อายุต่ำกว่า 25 ปีเท่านั้นที่จะได้ยิน) ออกมาทุกวันในช่วงเวลาระหว่างเวลา 5 ทุ่มถึงตี 5 ด้วยระยะการทำงานของคลื่นเสียงที่ครอบคลุมพื้นที่ 40 เมตรทางสวนดังกล่าวหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กเหล่านี้จะไม่มาจับกลุ่มเฮฮา เตะนี่ ทุบนั่น หรือแม้แต่จุดประทัดเล่นกันกลางดึกอีกต่อไป ยากูซ่าขาลงสมาชิกยากูซ่าตัวจริงทุกวันนี้ดูไม่น่าเกรงขามเหมือนในภาพยนตร์ที่เราเห็นอีกต่อไปแล้ว เรื่องนี้ข่าวจากหนังสือพิมพ์เจแปนไทม์ เขายืนยันมาปลายปีที่แล้วมีชายวัย 61 ปีถูกตำรวจจับข้อหารีดไถคุณแม่บ้านด้วยการขายของแล้วทอนเงินไม่ครบ เรื่องนี้ถ้าเป็นกรณีทั่วไปก็ไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่ชายคนดังกล่าวเป็นสมุนยากูซ่า ซึ่งตามมาตรฐานยากูซ่าแล้วการหาเงินด้วยวิธีดังกล่าวออกจะน่าขำอยู่บ้างแต่นั่นเป็นแค่ตัวอย่างเดียว ข่าวเขาบอกว่ายากูซ่าทุกวันนี้รับแทบจะทุกงานที่ได้เงิน ตั้งแต่รับจ้างเข้าคิวซื้อตั๋วดูคอนเสิร์ต เป็นนายหน้าจัดหาภรรยาน้อย ช่วยหาลูกค้ามาเช่าบ้านหรือมาเที่ยวผับ และมีไม่น้อยที่เปลี่ยนไปหากินด้วยการขับแท็กซี่ในทางกลับกัน คนที่เป็นซาลารี่แมนหรือมนุษย์เงินเดือนกลับนิยมไปสมัครเป็นสมาชิกยากูซ่ามากขึ้น เพราะรายได้จากงานประจำนั้นไม่พอใช้ ซึ่งก็เข้าทางกันพอดี เพราะทางยากูซ่าก็หาคนรุ่นใหม่ๆ มาสืบทอดไม่ได้ ในขณะที่รุ่นเก่าก็อายุมากขึ้นกันทุกวัน ที่สำคัญมนุษย์เงินเดือนเหล่านี้มีรายได้ประจำมาเสียค่าสมาชิกอย่างสม่ำเสมอดีด้วย สรุปว่าการควบรวมกิจการระหว่างแก๊งค์ยากูซ่ากับซาลารี่แมน นี้เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าเราควรดีใจหรือเสียใจดีนะนี่ เมื่ออาหารสุขภาพแย่กว่าอาหารขยะคุณพ่อคุณแม่ต้องเกิดอาการช็อคกันอีกครั้ง (หรืออาจจะชินแล้วก็ได้) เมื่อมีงานสำรวจที่พบว่า อาหารเสริมสำหรับเด็กนั้นมีน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวมากกว่าขนมปังกรอบรสช็อคโกแล็ต หรือชีสเบอร์เกอร์เสียอีก โครงการรณรงค์เพื่ออาหารสำหรับเด็ก Children’s Food Campaign ได้ทำการสำรวจอาหารสำหรับเด็กทารกและเด็กวัยหัดเดินจำนวน 100 ชนิดที่โฆษณาว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และพบว่ามีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของอังกฤษขนมปังกรอบ Toddler's Own Mini Cheese Biscuits ที่ผลิตโดยบริษัท Heinz นั้นมีไขมันอิ่มตัวถึงร้อยละ 7.3 ซึ่งมากกว่าในชีสเบอร์เกอร์ที่ที่มีไขมันดังกล่าวร้อยละ 6.7 หรือ เช่น Farley’s Original Rusk มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบถึง 29 กรัม (มากกว่าในขนมปังรสช็อคโกแล็ตเสียอีก)แล้วบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง ... บริษัท Cow and Gate ตัดสินใจเลิกผลิตขนมปังกรอบ ที่ถูกพบว่ามีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบไปเลย ในขณะที่บริษัท Heinz นั้นยังยืนยันว่า นี่เป็นของชอบของเด็กๆ มากว่า 120 ปี สูตรดั้งเดิมของเขาจริงๆ มีทั้งวิตามินและเกลือแร่มากมาย (เอ่อ ... แล้วก็น้ำตาลด้วย) กูเกิ้ลโดนห้ามถ่ายหลายคนคงรู้จักบริการของกูเกิ้ลที่ชื่อว่า สตรีทวิว ว่ากันว่ามันดีกว่าการดูแผนที่ธรรมดามากมายนัก เพราะคุณสามารถคลิกซูมเข้าไปบนตำแหน่งที่ต้องการแล้วคุณก็จะเห็นภาพสองข้างถนน ราวกับว่าคุณกำลังเดินอยู่บนถนนสายนั้นเลยทีเดียวแต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ เวลาที่กล้องหมุนได้ 360 องศาซึ่งติดอยู่บนหลังคารถของกูเกิ้ล เก็บภาพสองข้างถนนเข้าไป มันก็เก็บเอารูปคนที่เดินผ่านไปมาในย่านนั้นๆ ด้วย ถือเป็นการละเมิดสิทธิของคนเหล่านั้นเขาด้วยเช่นกันประเทศกรีกจึงตัดสินใจห้ามไม่ให้ยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิ้ล (ที่เคยประกาศไว้ว่าจะขยายบริการให้ครอบคลุมยุโรป) เข้าไปเก็บภาพด้วยสตรีทวิว ทางกูเกิ้ลต่อรองว่าจะทำจุดเบลอๆ ลงบนหน้าคนหรือทะเบียนรถให้ แต่หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการปกป้องข้อมูลข่าวสารได้ขอให้กูเกิ้ลตอบมาก่อนว่าจะเก็บภาพดังกล่าวไว้นานเท่าใด และจะแจ้งให้กับบุคคลในวิดีโอทราบด้วยวิธีใดว่าจะมีหน้าเขาอยู่ในนั้นเยอรมนีก็เป็นอีกประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับบริการดังกล่าว และจะยอมให้มีได้ก็ต่อเมื่อกูเกิ้ลสามารถพัฒนาเครื่องมือที่รับรองว่าจะไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวขึ้นมาได้ในกรณีของญี่ปุ่นนั้น กูเกิ้ลต้องถ่ายใหม่ทั้งหมดโดยลดระดับความสูงของกล้องลงมา เนื่องจากกล้องที่ติดอยู่กับรถนั้นอยู่ในระดับที่สูงเกินไปจนเห็นเข้าไปในรั้วบ้านได้ ระวัง คุณอาจจ่ายทิปโดยไม่จำเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้าไปรับประทานอาหารในร้านต่างๆ ในเมืองเบอร์ลิน อาจยังไม่รู้ตัวว่าจ่ายเงินเกินจริง ทั้งนี้ก็เพราะว่าเขาจะปั๊มข้อความอย่าง “ยังไม่รวมค่าบริการ” หรือ “ยังไม่รวมทิป” เพิ่มในใบเสร็จสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้พูดภาษาเยอรมันนั่นเองซึ่งฟังดูก็ไม่น่าจะแปลก แต่ที่เยอรมนีนั้นเขามีกฎหมายควบคุมงานบริการโรงแรมและร้านอาหาร ที่ระบุว่า “ราคา” นั้นได้รวมเอาทั้งภาษีและค่าบริการเอาไว้หมดแล้ว โดยปกติแล้วสิ่งที่คนเยอรมันนิยมทำคือการจ่ายเงินแบบปัดเศษไป ไม่รับเงินทอน หรือไม่ก็เพิ่มให้อีกประมาณร้อยละ 10 จากค่าอาหารและเครื่องดื่ม แต่นี่เป็นความสมัครใจของลูกค้านะ สเตฟานี่ เฮคเคล โฆษกสมาคมผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหารแห่งเยอรมนีบอกว่า การเรียกร้องทิปจากลูกค้านั้นเป็นสิ่งที่ห้ามเด็ดขาดแต่เห็นได้ชัดว่ามีคนทำแล้วจริงๆ มีนักท่องเที่ยวจากฝรั่งเศสคนหนึ่ง เพิ่งมาเที่ยวได้สามวัน แกก็เจอกับใบเสร็จอย่างว่าเข้าไป 5 ใบ จากร้านอาหารต่างๆ กัน 5 ร้าน จนเขานึกว่าตัวเองตกข่าว และคิดเอาเองว่าสงสัยเยอรมนีคงจะเปลี่ยนกฎหมายไปใช้แบบอเมริกา ที่เป็นที่รู้กันว่าลูกค้าต้องให้ค่าบริการอย่างน้อยร้อยละ 15 นั่นเองทางเจ้าของร้านและบริกร ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวไม่ค่อยจะให้ทิปเลย เลยต้องใช้วิธีนี้แหละในขณะที่สหพันธ์ผู้บริโภคแห่งเยอรมนีบอกว่า อย่างนี้เขาเรียกปล้นกันกลางวันแสกๆ นะพี่น้อง แต่การท่องเที่ยวแห่งเยอรมนี บอกว่ายังไม่เห็นมีใครมาร้องเรียนอย่างเป็นทางการ แต่ก็เริ่มเป็นห่วงว่าเรื่องนี้อาจทำให้เบอร์ลินเสียภาพพจน์ในหมู่นักท่องเที่ยวอยู่เหมือนกัน เอาเป็นว่าเรารู้กันไว้ ก่อนไปเที่ยวเบอร์ลินแล้วกัน ว่าค่าบริการต่างๆ ที่นั่นความจริงเขารวมไว้หมดแล้ว ไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มอีก

อ่านเพิ่มเติม >