ฉบับที่ 230 ค่าน้ำค่าไฟฟ้าหอพักอยู่ๆ นึกจะขึ้นราคาได้ไหม

        ประมาณปี 2561 มีข่าวดีให้ผู้บริโภคได้ฮือฮาอยู่พักหนึ่งว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกประกาศเพื่อให้หอพักเก็บค่าไฟฟ้า น้ำประปา ตามอัตราเดียวกับที่เก็บกับบ้านเรือนทั่วไป แต่เมื่อมีการทวงสิทธิจากผู้ให้บริการหอพักว่าไม่เป็นธรรมด้วยเหตุผลต่างๆ สุดท้ายก็ต้องออกประกาศใหม่ ซึ่งกำหนดไว้เพียงว่า ผู้ให้เช่าต้องระบุข้อความเป็นภาษาไทยไว้ในสัญญาที่มีสาระสำคัญแสดงถึงอัตราค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ โดยแสดงวิธีการคำนวณและกำหนดระยะเวลาชำระค่าสาธารณูปโภค ตามข้อ 4 (1.7) ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2562         คราวนี้มีกรณีร้องทุกข์จากคุณสุโขทัย มาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่าตนเองเช่าหอพัก ในเขตอำเภอเมือง มหาสารคาม วันหนึ่งเจ้าของหอพักก็แจ้งต่อผู้เช่าว่า จะคิดราคาค่าน้ำ ค่าไฟใหม่ จากเดิมค่าน้ำ หน่วยละ 24 บาท เป็น 35 บาท ค่าไฟฟ้าจากเดิมหน่วยละ 8 บาท เป็น 10 บาท คุณสุโขทัยขอคำปรึกษาว่า ตนเองจะทำอะไรได้บ้างไหม เพราะมีผลกระทบโดยตรง แนวทางแก้ไขปัญหา        ถ้าพิจารณาตามประกาศของ สคบ. อยู่ๆ ผู้ให้เช่าจะปรับราคาขึ้นไม่ได้ ต้องชี้แจงหรือเปลี่ยนแปลงในสัญญาเช่าเสียก่อน และเพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ให้คุณสุโขทัย ทางศูนย์ฯ ได้นำเรื่องดังกล่าวร้องเรียนต่อ สคบ.เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวว่าเป็นการคิดราคาเกินสมควรหรือไม่         ต่อมาทาง สคบ.ได้ตอบหนังสือกลับมาว่า หอพักดังกล่าวอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม จึงส่งเรื่องร้องเรียนให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดมหาสารคามพิจารณาตรวจสอบหอพักที่เป็นต้นเรื่องเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป ต่อมาได้รับทราบว่าเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองมหาสารคาม ได้ติดต่อกับผู้ร้องพบว่า ผู้ร้องคือคุณสุโขทัยได้ย้ายออกจากหอพักดังกล่าวแล้ว และเมื่อคณะอนุกรรมการฯ ได้สอบข้อเท็จจริงพบว่า กรณีหอพักมีการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเพิ่มจากเดิมนั้น เป็นเพียงผู้ดูแลได้มีการแจ้งกับผู้เช่าหอว่าจะมีการปรับขึ้นราคา แต่ผู้เช่าส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จึงมิได้ดำเนินการต่อยังคงเก็บในอัตราเดิม คือ ค่าไฟฟาหน่วยละ 8 บาท และค่าน้ำประปาหน่วยละ 24 บาท         ดังนั้นหากท่านผู้บริโภคพบว่ามีการคิดอัตราค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าหอพักในราคาที่ไม่เป็นธรรม โดยมิได้แจ้งให้ทราบตามเงื่อนไขสัญญาเช่า สามารถร้องเรียนได้ที่ สคบ. ต่างจังหวัดแจ้งโดยตรงได้ที่ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 ค่าน้ำไฟหอพักแพง

หลายคนที่เช่าหอพักหรืออพาร์ทเมนต์ มักพบปัญหาค่าน้ำค่าไฟแพง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการถูกเรียกเก็บในอัตราต่อหน่วยที่สูงกว่าปกติ แต่เราจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ลองไปดูกันคุณพลอยเคยเช่าหอพักอยู่แถวรังสิต และต้องเสียค่าน้ำไฟเฉลี่ยแล้วเดือนละ 1,500 บาท โดยเธอพบว่าถูกเรียกเก็บค่าไฟในอัตรา 6 บาท/ ยูนิตและค่าน้ำเหมา 250 บาท/ เดือน ซึ่งเธอรู้สึกว่าแพงเกินไปจึงย้ายที่อยู่ใหม่มาเช่าอพาร์ทเมนต์แถววิภาวดี อย่างไรก็ตามเธอก็ยังคงต้องเสียค่าน้ำไฟถึง 2,000 บาทต่อเดือน เพราะที่ใหม่เรียกเก็บค่าไฟในอัตรา 8 บาท/ ยูนิต แม้คุณพลอยจะพยายามหาที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ เธอก็ยังคงพบว่าการเรียกเก็บค่าน้ำไฟอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน หรือตั้งแต่ 6 – 12 บาท/ ยูนิต เธอจึงต้องการทราบว่าการเรียกเก็บในอัตราดังกล่าวมีความเหมาะสมแล้วหรือไม่ หรือสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไรบ้างแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่าการเก็บค่าน้ำไฟในอัตราดังกล่าว ถือว่าแพงเกินอัตราเรียกเก็บจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีผู้ร้องหลายรายที่ร้องเรียนปัญหาดังกล่าวเข้ามา และศูนย์ฯ เคยรวบรวมรายชื่อผู้ร้องทั้งหมดส่งไปยัง สคบ. เพื่อขอให้ออกมาตรการหรือประกาศควบคุมการเรียกเก็บค่าน้ำไฟของหอพักแล้วภายหลัง สคบ. ก็ได้มีการหารือร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และล่าสุดได้ออกประกาศให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา (พ.ศ. 2561) โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสัญญาเช่าให้ชัดเจน รวมทั้งข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้เช่า ต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือความหมาย ในลักษณะที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถกำหนดอัตราค่าบริการกระแสไฟฟ้าและน้ำประปา เกินกว่าที่ผู้ให้บริการกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาเรียกเก็บจากผู้ประกอบธุรกิจได้ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวจะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป ซึ่งหลังการบังคับใช้แล้ว หากผู้บริโภคพบว่าเจ้าของหอพักยังคงเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟเกินกว่าอัตราที่ระบุไว้ก็สามารถฟ้องร้องได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 สะดวกสบายกับแอพพลิเคชั่นค่าน้ำค่าไฟ

สาธารณูปโภคของหน่วยงานรัฐเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน เมื่อตื่นขึ้นมาทุกคนต้องอาบน้ำ แปรงฟัน เปิดเครื่องทำน้ำร้อน เป่าผม ฯลฯ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทุกย่างก้าวของการดำรงชีวิตนั้น เราทุกคนต้องใช้น้ำและไฟในการดำเนินชีวิต น้ำและไฟเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เมื่อมีเหตุขัดข้องเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นน้ำประปาไม่ไหล ไฟไม่ติด หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องน้ำและไฟ ก็จะสร้างความลำบากให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก   ฉบับนี้ผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงแอพพลิเคชั่นของการไฟฟ้านครหลวง และแอพพลิเคชั่นการประปานครหลวง ที่ได้ผลิตออกมาเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคมีความสะดวกสบายมากขึ้น และช่วยเพิ่มช่องทางที่มีความรวดเร็วในการขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานได้อย่างทันถ่วงที แอพพลิเคชั่นของการไฟฟ้านครหลวง มีชื่อว่า “Smart Life”  ส่วนแอพพลิเคชั่นการประปานครหลวง มีชื่อว่า “MWA on Moblie” เมื่อดาวน์โหลดทั้งสองแอพพลิเคชั่นนี้มาไว้บนสมาร์ทโฟนเรียบร้อยแล้ว แอพพลิเคชั่นจะให้ผู้ใช้ลงทะเบียน โดยกรอกหมายเลขโทรศัพท์และหมายเลขบัตรประชาชน ซึ่งเป็นขั้นตอนในการเข้าใช้แอพพลิเคชั่นในหมวดต่างๆ หลังจากนั้นผู้ใช้ต้องกรอกรหัสเฉพาะ ดังนี้ แอพพลิเคชั่นของการไฟฟ้านครหลวง จะให้กรอกเลขบัญชีแสดงสัญญาและรหัสเครื่องวัดฯ บ้านของผู้ใช้ ส่วนแอพพลิเคชั่นการประปานครหลวง จะให้กรอรกเลขสาขา เขต และเลขทะเบียนผู้ใช้น้ำ เมื่อกรอกเลขรหัสเฉพาะเสร็จสิ้น ข้อมูลต่างๆ ของผู้ใช้จะปรากฏขึ้น คุณสมบัติของแอพพลิเคชั่น “Smart Life”  จะมีหมวดค่าไฟฟ้า ประวัติการใช้ไฟ สถานที่ชำระเงินที่ใกล้บริเวณที่ผู้ใช้ยืนอยู่ แผนที่แสดงจุดให้บริการ นอกจากนี้ยังมีหมวดของข่าวสารที่จะแจ้งข้อมูลความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับการไฟฟ้านครหลวง หมวดประกาศดับไฟเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่าบริเวณใดบ้างที่จะไม่สามารถใช้ไฟได้ และหมวดที่สำคัญที่สุดคือ หมวดรับแจ้งไฟฟ้าขัดข้อง เมื่อมีเหตุไฟฟ้าขัดข้องผู้ใช้สามารถกดแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ได้ทันที สำหรับคุณสมบัติของแอพพลิเคชั่น “MWA on Moblie” จะมีหมวดแอพพลิเคชั่นคล้ายคลึงกับ “Smart Life”  ได้แก่ หมวดข้อมูลผู้ใช้น้ำ ค่าน้ำ สถิติการใช้น้ำในแต่ละเดือน แจ้งข่าวสารพื้นที่ที่น้ำไม่ไหล สาขาหน่วยงานที่สามารถติดต่อได้สะดวกที่สุด รวมถึงมีหมวดการแจ้งปัญหาน้ำไม่ไหล ท่อรั่ว ท่อแตก ฯลฯ ได้อีกด้วย โดยทั้งแอพพลิเคชั่นทั้งสองนั้น สามารถเปลี่ยนจากแอพพลิเคชั่นมาเป็นใบแจ้งค่าน้ำค่าไฟได้ด้วย เพราะภายในแอพพลิเคชั่นได้สร้างบาร์โค้ด (Barcode) เพื่อเพิ่มความสะดวกโดยการกดสัญลักษณ์เครื่องหมายบาร์โค้ด (Barcode) แล้วนำสมาร์ทโฟนนั้นยื่นให้กับผู้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสเพื่อชำระเงินได้ทันที เพียงมีแอพพลิเคชั่นภายในสมาร์ทโฟน ก็ช่วยเพิ่มช่องทางในการติดต่อกับการไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวง และยังช่วยลดความกังวลในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์น้ำไม่ไหล ท่อรั่ว ท่อแตก ไฟดับ หม้อแปลงระเบิด ฯลฯ ได้บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 ถูกเรียกเก็บค่าน้ำผิดประเภท 8 ปี

ป้าจินตนา เป็นผู้เช่าบ้านหลังหนึ่งที่ถนนปางล้อนิคม ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน โดยเปิดบ้านทำเป็นร้านขายอาหารตามสั่งมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2543 หรือร่วม 8 ปีเศษเข้ามาแล้ว ตั้งแต่เปิดร้านอาหารมาก็แปลกใจตลอดว่าทำไมค่าน้ำถึงแพงจัง ใช้แค่ล้างจานชามอาจจะมากกว่าการใช้น้ำตามบ้านเรือนทั่วไปแต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่เมื่อเอาค่าน้ำของตัวเองไปเทียบกับเพื่อนบ้านแล้วก็ได้แต่สงสัยมาตลอดว่าทำไมค่าน้ำของตัวเองถึงสูงมาก แต่ก็ทนจ่ายมาตลอด จนมาถึงเดือนมิถุนายน 2551 ที่ผ่านมาก็ถึงจุดแตกหัก เมื่อได้รับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำที่คาดว่าน่าจะถูกลงเพราะเป็นช่วงฤดูฝนไม่ต้องดูแลต้นไม้หน้าบ้านแต่ค่าน้ำกลับแพงกว่าเดิม ก้มดูรายละเอียดในใบแจ้งหนี้มันก็ไม่ได้บอกอะไรนอกจากจำนวนเงินค่าน้ำและ 373 ที่ระบุว่าเป็นประเภทการใช้น้ำ ดูแล้วก็ไม่เข้าใจ เพราะคำแนะนำที่อยู่ด้านหลังใบแจ้งหนี้ให้ความหมายสำหรับตัวเลขของประเภทผู้ใช้น้ำไว้ว่า 1= ที่อยู่อาศัย 2 = ราชการและธุรกิจขนาดเล็ก 3 = รัฐวิสาหกิจ อุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดใหญ่ 4 = ประเภทพิเศษ ป้าจินตนาจึงถือใบแจ้งหนี้ไปถามกับเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์รับเงินว่าเลข 373 นี่มันคืออะไร ได้รับคำตอบว่า เป็นการเรียกเก็บค่าน้ำประเภทธุรกิจขนาดใหญ่ ป้าจินตนาก็ตกใจเพราะที่ทำอยู่มันก็แค่ร้านอาหารตามสั่งอย่างเก่งก็แค่ธุรกิจขนาดย่อมเท่านั้นแหละ “ฉันก็ถามเขาไปว่า ใครเป็นคนตัดสินใจแทนเจ้าของบ้านว่าจะให้บ้านนั้นบ้านนี้ไปใช้น้ำประเภทไหน เพราะฉันไม่เคยมาแจ้งเปลี่ยนมาก่อน เข้าใจมาตลอดว่าตัวเองใช้น้ำประเภทบ้านอยู่ แต่เชื่อมั้ยคะ คำตอบที่ได้รับยิ่งทำฉันฉุนเฉียวมากขึ้น เพราะเขาบอกว่า คนจดมาตรน้ำเป็นคนจัดการ”  ป้าจินตนาเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง จึงขอเปลี่ยนประเภทน้ำใช้ไปเป็นธุรกิจขนาดเล็กตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ และขอเรียกร้องเงินค่าน้ำที่ได้จ่ายเกินไปกว่า 8 ปีคืน “ฉันเคยเข้าพบผู้จัดการแล้ว ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นผลเพราะบ่ายเบี่ยงไปมาบอกว่าไม่รู้จะทำยังไงได้ ไม่เคยเจอกรณีแบบนี้” ผลการช่วยเหลือของมูลนิธิฯหลังรับเรื่องร้องเรียน ในช่วงเดือนตุลาคม 2551 มูลนิธิฯ ได้ทำจดหมายส่งถึงผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาคและผู้จัดการสำนักงานประปาแม่ฮ่องสอน โดยมีข้อร้องเรียนอยู่ 2 เรื่องคือ 1.ให้ชดใช้ค่าเสียหายหากตรวจสอบพบแล้วว่าเป็นความผิดพลาดของการประปาแม่ฮ่องสอน 2. ห้แก้ไขหรือชี้แจงรายละเอียดของตัวเลขผู้ใช้น้ำแต่ละประเภทที่ทำให้ผู้ใช้น้ำเกิดความสับสน ปรากฏว่า สำนักงานประปาแม่ฮ่องสอนได้เรียกป้าจินตนาไปเจรจาโดยบอกว่าจะให้เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเปลี่ยนประเภทผู้ใช้น้ำให้โดยพลการนั้นรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินคืนให้ 3,000 บาทและขอให้ยุติเรื่อง ป้าจินตนาไม่ยินยอมเพราะเข้าใจว่าความเสียหายเกิดขึ้นมาตั้ง 8 ปีแล้วค่าเสียหายน่าจะมากกว่านี้ เมื่อไม่เห็นถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ จึงต้องทำจดหมายถามย้ำไปอีกรอบ ทีนี้ได้เรื่องครับ การประปาส่วนภูมิภาคสำนักงานใหญ่ได้มีหนังสือชี้แจงถึงผลการดำเนินการตรวจสอบว่า สำนักงานประปาแม่ฮ่องสอน จัดประเภทผู้ใช้น้ำให้แก่ป้าจินตนาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2546 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2551 (เดือนที่ป้าจินตนาทราบเรื่องและขอเปลี่ยนประเภทผู้ใช้น้ำเป็นประเภทธุรกิจขนาดเล็ก) ซึ่งตามข้อเท็จจริงจะต้องเรียกเก็บในประเภทที่ 2 ธุรกิจขนาดเล็ก รหัส 243 ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สำนักงานประปาแม่ฮ่องสอนได้เรียกเก็บเป็นประเภท 3 ธุรกิจขนาดใหญ่ รหัส 373 เนื่องจากเข้าใจว่า เป็นสถานบริการเพราะมีเครื่องเสียงไว้บริการให้ลูกค้าได้ร้องเพลง สรุปว่าป้าจินตนาถูกเรียกเก็บค่าน้ำผิดประเภทไป 5 ปี ซึ่งในขณะนี้การประปาส่วนภูมิภาคกำลังพิจารณาคำนวณค่าน้ำประปาที่เก็บเกินเพื่อคืนให้กับป้าจินตนาอยู่ ส่วนเรื่องตัวเลขรหัสแสดงประเภทผู้ใช้น้ำที่ทำให้ผู้บริโภคอาจเกิดความสับสนนั้น การประปาส่วนภูมิภาคได้ชี้แจงว่า ในด้านหน้าใบเสร็จจะเป็นเลขรหัสประเภทผู้ใช้น้ำแสดงไว้ 3 หลัก คือ หลักร้อย มีเลขรหัส 1 ถึง 4 หมายถึง ประเภทผู้ใช้น้ำว่าเป็นประเภทที่อยู่อาศัย ธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดใหญ่ รหัสนี้ใช้สำหรับการคิดค่าน้ำประปาในอัตราที่ต่างกัน หลักสิบ มีเลขรหัส 1 ถึง 9 หมายถึง ประเภทผู้ใช้น้ำหลักเป็นการแสดงลักษณะการประกอบการของสถานที่ใช้น้ำ หลักหน่วย มีเลขรหัส 1 ถึง 9 หมายถึง ลำดับที่ในประเภทผู้ใช้น้ำย่อย ซึ่งแสดงรายละเอียดของลักษณะการใช้น้ำของสถานที่ประกอบการ ส่วนในด้านหลังใบเสร็จรับเงินนั้นจะบอกเฉพาะความหมายของเลขรหัสหลักร้อยว่าหมายถึงผู้ใช้น้ำประเภทใดเท่านั้น อ่านมาถึงตรงนี้แล้วจึงมาถึงบางอ้อ นี่ถ้าการประปาภูมิภาคไม่ชี้แจง ไม่ยอมบอกความหมายของเลขรหัสให้ได้ทราบกันนี่ ผู้บริโภคก็คงงมจ่ายค่าน้ำไปแบบไม่รู้ทิศรู้ทางแบบป้าจินตนากันเป็นแถวล่ะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >