ฉบับที่ 258 กลุ่มผู้เสียหายเรียกร้องความยุติธรรม หลังชมการแสดงที่จกตาและไม่คุ้มค่าตั๋ว

        ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาไปติดตามประสบการณ์การใช้สิทธิของผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผนึกกำลังกันในเฟซบุ๊กกรุ๊ปชื่อ “รวบรวมผู้เสียหายจาก TRANCE STUDIO (เจ้าชายน้อย)” ผ่านการพูดคุยกับคุณณัฐนันท์ ชำนาญประดิษฐ์กุล (ทราย) และคุณณัฐนรี ลาภาอเนกอนันต์ (มิ้ม) ในฐานะตัวแทนผู้เสียหายและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นด้วย โดยทั้งคู่จะมาเล่าถึงวิธีดำเนินการเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม หลังจากเข้าชมการแสดงเรื่อง “ Me&My Little Prince” ในช่วงวันที่ 3-19 มิถุนายน 2565 แล้วปรากฏว่าไม่เป็นไปตามที่บริษัทประชาสัมพันธ์ไว้ และไม่คุ้มกับค่าตั๋วที่จ่ายไปคุณณัฐนันท์ ชำนาญประดิษฐ์กุล (ทราย) คุณณัฐนรี ลาภาอเนกอนันต์ (มิ้ม) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีความเป็นมาอย่างไรคุณณัฐนันท์ :  ต้องย้อนไปเมื่อปี 2562 ทรายได้ไปชมการแสดงเรื่อง “เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย” ของ Blind  Experience ที่ผู้ชมต้องปิดตา เราประทับใจการจัดแสดงละครด้วยเทคนิคและวิธีการต่างๆ ของเขา แล้วทางบริษัทก็ทิ้งท้ายไว้ว่าถัดไปจะแสดงเรื่องเจ้าชายน้อย เราก็ติดตามในเพจมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีโฆษณาผ่านเพจบริษัทนี้ว่าจะจัดแสดงเรื่องเจ้าชายน้อยขึ้น แต่คนโพสต์บอกว่าจัดในนามบริษัท Trance studio และเขาเคยเป็นหนึ่งในผู้จัดของ Blind Experience มาก่อน เราก็ไม่ได้เอะใจอะไร เขามีลิงก์ให้เข้าไปกดต่อในเพจ Trance studio ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆ ว่าใช้เทคนิคอะไร ยังไง ทำให้เราเข้าใจว่าคงเป็นการแสดงแบบเดิมที่เคยประทับใจ ก็จองบัตรและจ่ายเงินเลย แต่พอถึงวันที่เข้าไปชมการแสดง กลับไม่เหมือนกับที่เราเคยดูเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่ได้ใช้เทคนิคเหล่านั้นในการแสดงจริงเลยคุณณัฐนรี :  มิ้มคิดว่า 90% ที่ซื้อบัตรดูเรื่องนี้ คือลูกค้าเก่าที่ตามมาจาก “เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย” ซึ่งประสบความสำเร็จมาก มีคนบอกต่อกันค่อนข้างเยอะ คือเหมือนบริษัท Trance studio เขาพยายามมาร์เกตติ้งให้ไปในทางที่ว่าการแสดงจะคล้าย ๆ กัน เราก็เข้าใจว่าทุกอย่างเหมือนเดิมหมดเลย แค่เปลี่ยนบริษัท แต่พอเข้าไปชมแล้วก็ต้องออกมาตั้งแต่ 10 นาทีแรก พร้อมกับอีกหลายคนเลย ทั้งที่การแสดงน่าจะเกือบ 2 ชั่วโมง ช่วยเล่าหน่อยว่าผิดหวังจากการเข้าชมการแสดงครั้งนี้ยังไงบ้างคุณณัฐนันท์ :  ครั้งก่อนที่เคยดูการแสดงแบบนี้ เขาจะมีห้องให้รอเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ผ้าปิดตารับรู้ประสาทสัมผัสอื่นๆ แต่ครั้งนี้คือไม่มีการจัดระเบียบใด ๆ ทั้งๆ ที่เขาระบุว่ามีมาตรการป้องกันโควิด ตอนเดินเข้าไปในฮอลล์จะมีแสงนำทางและเสียงจากเทปเล่าเรื่อง พอถึงด้านใน ที่นั่งก็ติดกัน ห้องเป็นแบบมีเสา เอาผ้าดิบมาเป็นเวที 4 ด้าน แล้วฉายแสงจากโปรเจกเตอร์เข้าไป และเปิดเหมือนนิทานเสียง ซึ่งต่างจากที่เคยเข้าชมการแสดงรูปแบบนี้มาก่อนมาก ที่จะเป็นการแสดงจากคนจริงๆ มีคนตาบอดมาร่วมแสดงด้วย มีการใช้แสง สี เสียง กลิ่น มีการเดินมาสัมผัสเรา ทั้ง ๆ ที่ปิดตาแต่เรายังรับรู้ถึงมิติอื่นได้จริงๆคุณณัฐนรี :  พอมีฟีดแบกว่าการแสดงนี้ หนึ่ง-ไม่ใช่จัดโดยบริษัท Blind Experience สอง-ไม่มี 6 มิติที่เกิดขึ้นจริงตามที่โฆษณา มิมก็ทักไปถามบริษัทว่านี่เป็นการหลอกลวงหรือเปล่า เหมือนเขียนให้เข้าใจผิดในหลายๆ รูปแบบ ก็เลยอยากขอรีฟันด์ เขาก็แจ้งว่าไม่สามารถรีฟันด์ได้ในทุกกรณี ตอนแรกคิดว่าไม่เป็นไร แต่พอไปดูปุ๊บ มันไม่ใช่เลย ไม่มีอะไรที่เขาเคลมไว้เลย รู้สึกว่าหลายๆ อย่างทั้งการบริการ อุปกรณ์ หรือตัวการแสดงเอง ไม่สมกับราคาที่จ่ายไป 1,800 บาทเลย ซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยดูการแสดงต่าง ๆ มาบ้าง ถ้าราคานี้ควรจะเป็นกึ่งๆ ละครเวที มีการแสดงจากคนจริง ๆ ด้วย แล้วหลังจากนั้นได้ติดต่อกลับไปยังบริษัทไหมคุณณัฐนันท์ :  ทรายติดต่อเพจ Trance studio เขาไม่อ่าน ไม่ตอบ จึงไปถามทางเพจ Blind Experience ซึ่ง          หนึ่งในผู้ก่อตั้งหลักก็อินบอกซ์ส่วนตัวกลับมาชี้แจงว่า คนที่โพสต์โฆษณาเรื่อง“ Me&My Little Prince” บนเพจของเขานั้น เคยเป็นเหมือนหัวหน้าฝ่ายพีอาร์ในการจัดแสดงครั้งที่แล้ว คือเคยมีส่วนร่วมจริง แต่ว่าไม่ได้เป็นคนคิดคอนเซ็ปต์หลักค่ะ แล้วพวกเขาตกลงกันว่าหากแต่ละคนแยกย้ายกันไป เขายังคงเพจไว้ ทุกคนยังเป็นแอดมินเพจที่สามารถพีอาร์งานศิลปะการแสดงของตัวเองมาในเพจได้ ซึ่งทรายก็รู้สึกว่าเรายังไม่ได้รับความยุติธรรมใดๆ แค่ได้รับการอธิบายที่ไม่ได้ช่วยอะไรเราได้เลย พอเห็นว่ามีผู้ชมหลายคนไปคอมเมนต์ตำหนิในเพจ Trance studioนี่คือผิดปกติแล้ว จึงลองรวมกลุ่มคนที่ไปดูว่าคนอื่นรู้สึกเหมือนเราไหมคุณณัฐนรี :   วันนั้นพอเดินออกมาแล้ว นิมไปคอมเมนต์ในเพจ Trance studio เขาลบและบล็อกเลย เรารู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมเท่าไหร่ อย่างน้อยเขาควรจะขอโทษ หรือว่ารับผิดชอบอะไรสักอย่างกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะว่าไม่ใช่เราคนเดียวที่เข้าใจผิด เราก็เลยกลับเข้าไปขอคุยกับเจ้าของถึงหน้าเธียเตอร์ รออยู่เกือบ 2 ชั่วโมง เขาไม่ยอมมาคุย เรารู้สึกไม่โอเค จึงมาร่วมกันตั้งกลุ่มผู้เสียหายในกรณีนี้กับคุณทราย แสดงว่ากลุ่มผู้เสียหายนี้คือรวบรวมมาจากคนที่เข้าไปคอมเมนต์ในเพจ Trance studioคุณณัฐนันท์ :  ใช่ค่ะ ทรายก็ทักส่วนตัวบ้าง มีเพื่อนๆ ที่อยู่หลังบ้านช่วยกันอินบอกซ์ไปหาคนที่คอมเมนต์บ้าง แล้วจากนั้นทุกคนที่เราติดต่อไปก็มารวมกัน ถ้านับตั้งแต่ที่ทรายเริ่มสร้างกลุ่มในเฟซบุ๊กจนถึงวันที่ 27 มิถุนายนนี้ มี 230 บัญชีผู้ใช้ที่เข้ามาในกลุ่ม แล้วก็มีความคิดเห็นที่บอกว่าตัวเองเหมือนถูกหลอก แล้วก็ไม่คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป เป็นจำนวน 195 ความเห็น และมี 38 บัญชีผู้ใช้ที่กรอกกูเกิลฟอร์มที่ทรายทำขึ้นมาเพื่อจะขอคืนค่าตั๋ว รวมบัตรแล้ว 90 ใบ เป็นเงิน 143,031 บาท ซึ่งทรายมีหลักฐานยืนยันทั้งหมด หลังจากรวมกลุ่มกันได้แล้ว ดำเนินการอย่างไรต่อคุณณัฐนันท์ :  ทรายไปติดต่อ สคบ.ก่อน เขาบอกว่าให้รวบรวมหลักฐาน พวกใบกำกับภาษีอะไรอย่างนี้ให้เสร็จทีเดียวก่อนค่อยมาแจ้ง แล้วมีเพื่อนในกลุ่มที่ติดต่อไปทางสรรพากร ให้ตรวจสอบรายได้ เพราะบริษัทไม่ได้ออกใบกำกับภาษีให้ทุกคน เราต้องขอไปเอง อย่างนี้ดูมีพิรุธ ซึ่งเพื่อนแต่ละคนก็ทำวิธีที่ตนถนัด จนไปเจออีกว่าภาพโฆษณาที่เขาใช้นั้นก็ไปก็อปมาจากที่อื่นแบบ 100% แค่ปรับแสงนิดเดียว ซึ่งเราอ้างอิงได้ว่าภาพมาจากเว็บอะไร ถูกจัดแสดงจริงที่ไหนแล้วทรายก็ต้องไปขอให้ตัวแทนจำหน่ายบัตรช่วยติดต่อ Trance studio เรื่องใบกำกับภาษี เขาถึงยอมตอบกลับมาว่าจะทำให้ ตอนนั้นเองที่ได้คุยกันว่าละครเวทีนี้เป็นไปตามที่คุณโฆษณาเลยไหม เขาก็ยังยืนยันว่าเป็นไปตามนั้น อยากจะแจ้งอะไรก็แจ้ง ระหว่างนั้นทรายก็ติดต่อมาที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ด้วยอีกทาง เพื่อให้ช่วยเหลือในการขอคืนเงินค่าตั๋วและดำเนินคดีตามกฎหมายคุณณัฐนรี : พวกเราคุยกันว่าต้องหาตัวกลางเพื่อมาประสาน หรือดูว่าสุดท้ายแล้วยังไง ใครถูกใครผิด ใครต้องรับผิดชอบ หรือว่าความถูกต้องคือตรงไหน หลังจากรวมกลุ่มกัน รวบรวบหลักฐานแล้ว ไปติดต่อผ่านตัวกลางน่าจะดีกว่า ซึ่งล่าสุดทางมพบ.ทำจดหมายนัดให้มาเจรจาไกล่เกลี่ยกันวันที่ 13 กันยายน แต่ทางบริษัทเขาขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 30 กันยายน ไม่แน่ใจว่าด้วยเหตุผลอะไร แล้วถ้าเขาไม่มา ก็อยากจะรู้ว่าปกติเลื่อนได้กี่รอบ เพราะว่าที่จริงถ้าเขาผลัดไปเรื่อยๆ ก็ลำบากพวกเราเหมือนกัน อยากให้ฝากถึงผู้บริโภคท่านอื่นว่าก่อนที่จะตัดสินใจซื้อตั๋วเข้าชมการแสดง ควรจะเลือกอย่างไรคุณณัฐนันท์ :  ถ้าเหมือนกรณีทรายนะคะ คงจะต้องสอบถามไปทางบริษัทหรือว่าเพจที่เคยดูว่าเป็นการแสดงลักษณะเดียวกันไหม ผู้จัดเดียวกันไหม ยังคงเป็นเทคนิคการแสดงเดียวกันไหม เพื่อความมั่นใจก่อนจะซื้อบัตร เพราะว่าทรายแค่เห็นเพจเดิมถูกแชร์ออกมา ก็กดซื้อเลย ไม่ได้สอบถามก่อนว่าเหมือนกับที่เคยดูไหม อะไรอย่างนี้ อยากฝากว่าจะต้องเช็กให้มั่นใจก่อนจะจ่ายเงิน ครั้งนี้ทรายไม่ได้รีเช็กอะไรเลย เพราะเราเชื่อว่าจะเหมือนครั้งที่ผ่านมา  คุณณัฐนรี : เดี๋ยวนี้อาจจะดูคำโฆษณายาก ดูรูปยาก มิมคิดว่าหลักๆ แล้วน่าจะดูความน่าเชื่อถือของตัวบริษัทที่จัดว่าก่อตั้งมานานแล้วหรือยัง เจ้าของมีใครบ้าง เคยทำโชว์แบบไหนมาบ้าง ตรงนี้เราอาจจะพลาดเองเพราะแทรนซ์เพิ่งเปิดเลย ไม่มีการโชว์ที่ไหนมาก่อน ไม่มีดิจิตอลฟุตปริ้นต์มาก่อนว่าเคยทำอะไรมาบ้าง แต่เราไปเชื่อแค่ว่าเขาเป็นคนที่เคยจัดเรื่องเล่าจากหิ่งห้อย เพราะประทับใจกับรอบที่แล้วมากๆ แล้วเข้าใจว่าเป็นทีมผู้จัดเดิม ต่อไปต้องละเอียดกว่านี้ หรือถ้าจะให้เซฟจริงๆ อาจรอดูรีวิวจากรอบสื่อก่อน แต่ต้องเลือกสื่อที่ตรงไปตรงมาและเชื่อถือได้จริงๆ ไม่ใช่สื่อที่บริษัทจ้างรีวิวนะคะ             ครั้งต่อไป คุณจะเลือกซื้อบัตรเข้าชมการแสดงต่างๆ จากอะไร ? 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2564

เตือนอย่าหลงเชื่อ "กู้เงินออนไลน์"         กระทรวงการคลัง เอาจริง เตรียมดำเนินคดีมิจฉาชีพแอบอ้างหลอกประชาชนให้ "กู้เงินออนไลน์" ก่อนเก็บค่าดำเนินการอมเงินหนีหาย โดยนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้แอบอ้างเป็นผู้ให้บริการทางการเงินผ่านสื่อดิจิทัล หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยมีพฤติการณ์หลอกลวงประชาชน ดังนี้         - ต้องทำสัญญากู้เงิน และต้องโอนเงินค่าดำเนินการ หรือค่าธรรมเนียมล่วงหน้าก่อน ซึ่งจะให้โอนเข้าบัญชีผู้ให้กู้เงิน ซึ่งเป็นชื่อบุคคลธรรมดา         - ผู้แอบอ้างบางราย อ้างว่าได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังแล้ว และมีการแสดงหนังสืออนุญาตที่ทำการปลอมแปลงขึ้นมา         - ผู้แอบอ้างได้เปลี่ยนชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นชื่อนิติบุคคลของผู้ที่แอบอ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ         - ทำให้มีประชาชนหลายรายหลงเชื่อ พร้อมทั้งโอนเงินค่าดำเนินการหรือค่าธรรมเนียมไปให้ผู้แอบอ้าง และไม่ได้รับเงินกู้ตามความประสงค์ที่จะขอกู้ยืมเงินจึงขอเตือนประชาชนให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อภายใต้การกำกับที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ถูกต้องตามกฎหมายก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ที่เว็บไซต์ www.1359.go.th และหากพบเบาะแสบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่แอบอ้าง สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359 หรือสามารถแจ้งความร้องทุกข์โดยตรงได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599 มพบ. เรียกร้องสายการบินคืนเงินค่าตั๋วโดยสาร ระบุพร้อมดำเนินคดี          จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้สายการบินยกเลิกเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากนั้น นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณียังไม่ได้รับเงินค่าตั๋วโดยสารคืนจากสายการบิน จำนวน 228 ราย จึงได้ติดต่อประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยสายการบินเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา 2 แบบ คือ หนึ่ง คืนเป็นเครดิตให้กับผู้บริโภคเพื่อเก็บไว้ใช้บริการในครั้งต่อไป หรือสอง คืนค่าตั๋วในกรณีที่ผู้บริโภคต้องการเงินคืน         อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความคืบหน้าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ทำให้ทราบว่ายังมีผู้บริโภคที่ใช้บริการสายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท แอร์จอย สต๊อค และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ รวม 31 ราย ที่ยังไม่ได้รับเงินคืน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 557,929.27 บาท ดังนั้นทางศูนย์ฯ จึงทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาแต่พบว่ามีเพียงคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ที่ตั้งวงประชุมเพื่อหารือแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องสายการบิน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า         ทางมูลนิธิฯ จึงเตรียมดำเนินคดีเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า “ระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 1 ปีเต็ม ยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับเงินคืน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป และทราบว่าที่ผ่านมาทางภาครัฐก็ได้ช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan ให้ผู้ประกอบการสายการบินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว สายการบินก็ควรคืนเงินให้กับผู้บริโภค หากยังคงเพิกเฉยก็คงต้องเดินหน้าฟ้องสายการบินต่อไป” เฉลิมพงษ์กล่าว         39 องค์กรร่วมฟ้องบอร์ด กขค. ขอเพิกถอนคำสั่งควบรวมซีพีเทสโก้          15 มีนาคม  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ 37 องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภคทั่วประเทศ รวมกันเป็นโจทก์ฟ้อง คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และ สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าต่อศาลปกครอง กรณีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ CP-Tesco อาจขัดกฎหมาย         จากการที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 มีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการอนุญาตครั้งนี้ โดยเห็นว่าจะทำให้เครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ในกลุ่มธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นสูงถึง 83.97% อีกทั้งเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารสำคัญหลายประเภท ทั้งวัตถุดิบ สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งนำไปสู่การผูกขาดทางการค้า ทำให้กลไกการตลาดไม่เป็นอิสระ ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดต่อ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจในตลาดสินค้าและบริการต่าง ๆ ให้มีการแข่งขันมากที่สุดภายใต้หลักเสรีและเป็นธรรม และขัดต่อสิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการอย่างอิสระตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522         โดยผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลไต่สวนคำร้องและขอให้ศาลมีคำสั่ง กำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยมีคำสั่งให้ระงับการรวมธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ ของบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ไว้ก่อนชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ผู้บริโภคยินดีจ่ายเพิ่มไม่เกิน 20% กับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม         ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพฤติกรรมและมุมมองความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อปัญหาและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม พบผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่อาจช่วยลดการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นงดหรือลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติกและหันมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย หรือแม้แต่การเดินทางโดยรถสาธารณะแทนรถส่วนตัว ทั้งนี้พบว่ากว่าร้อยละ 55 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาที่แพงกว่าสินค้าปกติทั่วไประหว่าง 1 – 20 % ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า รองลงมาคือร้อยละ 23 เต็มใจที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาเท่าเดิม หรือไม่แตกต่างจากสินค้าปกติทั่วไป 6 วิธีจับสังเกตแชร์ลูกโซ่          กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สคบ. และ กองปราบปราม สรุปข้อสังเกตเพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อขบวนการแชร์ลูกโซ่ ดังนี้ 1.ผลตอบแทนสูงกว่าความเป็นจริง 2.เชียร์ให้ลงเงินเยอะๆ ไม่พูดถึงความเสี่ยง 3.เน้นหาเครือข่าย ยิ่งชวนคนมาลงทุนเยอะยิ่งได้เงินเยอะ 4.หว่านล้อม กดดันให้รีบตัดสินใจ 5.อ้างคนมีชื่อเสียงร่วมลงทุน และ 6.ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีหน่วยงานรับรอง

อ่านเพิ่มเติม >