‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ยืนหยัด ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ แถลงชัดไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบจากเว็บไซต์

            ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ดำเนินการเชิงรุกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคช่วงโควิด - 19 โดยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือในช่วงที่ขาดแคลนและมีราคาแพง รวมทั้ง ขาดข้อมูลอ้างอิงที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือได้ว่ามีคุณภาพตรงกับฉลากหรือคำโฆษณา และไม่ปนเปื้อนสารที่ก่ออันตราย มูลนิธิฯ ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค ผลพบว่า จำนวน 27 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 69.23 มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 จากนั้นจึงได้เผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเปิดเผยชื่อยี่ห้อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อเท็จจริง และมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับปกป้องสุขภาพในภาวะที่มีการระบาดของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนั้น (อ่านข้อมูล ผลทดสอบเจลแอลกอฮอล์ จากนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3420)         ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 บริษัท รีเอกซ์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ ได้ฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 1 และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดอาญา ใส่ความหมิ่นประมาทบริษัท และระบุว่า “...ไม่ใช่ผลการทดสอบที่ถูกต้องที่จะนำเสนอเป็นข่าวหรือบทความให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจลล้างมือ เพราะเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบจำเป็นต้องมีการควบคุมการทดสอบและกำหนดค่าความผันแปรของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมระหว่างทดสอบ...”         ในวันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้แถลงข่าวเพื่อให้ข้อเท็จจริงและแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้         1. นิตยสารฉลาดซื้อ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดให้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลกับผู้บริโภค โดยมีการเปิดเผยชื่อยี่ห้อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ ด้วยเหตุผลในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า ตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการตามหลักการนี้มาอย่างต่อเนื่องตลอดมา         2. การทดสอบได้ทำอย่างสุจริตและโปร่งใส โดยยึดมั่นหลักวิชาการ และดำเนินการอย่างมีคุณภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยการทดสอบเจลแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ดำเนินการโดย ศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นอิสระ และเป็นห้องทดลองที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรอง ISO 17025 แม้แต่ อย. ก็ใช้ห้องทดลองนี้เช่นกัน และในการแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ข้อมูล เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ผู้เกี่ยวข้องกับการทดสอบได้ร่วมในการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย ประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร. ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย         3. มูลนิธิฯ เห็นว่า การฟ้องร้องของบริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด อาจเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้มูลนิธิฯ ยุติการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค         4. มูลนิธิฯ ไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบที่ได้จัดทำและเผยแพร่จากเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อสินค้า โดยเป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ดังที่ได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา         ด้าน ดร. ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยืนยัน กระบวนการทดสอบสินค้าและบริการของนิตยสารฉลาดซื้อ ใช้ห้องทดสอบที่มีมาตรฐาน ระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับกระบวนการทดสอบด้านสินค้าและบริการ จะอ้างอิงหลักการและวิธีการออกแบบการทดสอบ ขององค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ ที่เป็นสมาขิกของ International Consumer Product Research and Testing โดยเน้นหลักการความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช้การสุ่มซื้อสินค้าที่มีการจำหน่ายจากร้านค้าจริงทั่วไปและออนไลน์เหมือนผู้บริโภคซื้อสินค้าและเผยแพร่ผลการทดสอบผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่รับโฆษณาจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำให้สามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา         "การทดสอบสินค้าที่มีมาตรฐานกำกับจะดำเนินการทดสอบตามมาตรฐาน โดยใช้ห้องทดสอบของมหาวิทยาลัย หรือ ห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 กรณีสินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐานกำกับจะทดสอบโดยใช้มาตรฐานของต่างประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น กรณีการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ การทดสอบเปรียบเทียบมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยที่จะเข้าไปกำกับมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศในอนาคต เป็นต้น"        ทั้งนี้ พลังของผู้บริโภคในการสนับสนุนการต่อสู้คดีในครั้งนี้ ซึ่งเป็น “ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี” ที่ผลการทดสอบและการเปิดเผยข้อมูลของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถูกฟ้องคดีโดยบริษัทผู้ผลิตหลังจากเปิดเผยชื่อผู้ผลิตและยี่ห้อของสินค้าจากการทดสอบ” จึงมีความสำคัญต่อการยืนหยัดทำหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 การประเมินนโยบายงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี

การประเมินนโยบายงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีหลังจากที่พรรค CDU ของนางแองเจล่าร์ แมร์เคลประสบความสำเร็จได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถได้รับคะแนนเสียงข้างมากได้ และคะแนนนิยมตกต่ำลงซึ่งเป็นผลพวงมาจาก นโยบายการรับผู้อพยพลี้ภัย โดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยภายใน ส่งผลให้การเจรจากับพรรคอื่น ไม่ว่าจะเป็น พรรค FDP หรือ พรรค The Greeen Party ประสบความล้มเหลว และในที่สุด ก็สามารถจัดตั้งพรรครัฐบาลผสมโดยพรรคขนาดใหญ่ 3 พรรค คือ พรรค CDU CSU ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยม และพรรค SPD ซึ่งเป็นพรรคสายสังคมนิยม การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสม ได้สั่นคลอนความเป็นปึกแผ่นของพรรค SPD มีการเปลี่ยนผู้นำพรรค และผู้บริหารพรรค นอกจากนี้ หลังการเจราจาจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้ว ก็ยังมีการทำสัตยาบรรณ (Koalitionsvertrag) ในการเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยสิ่งที่น่าสนใจสำหรับ พรรค SPD ซึ่งเป็นพรรคสายสังคมนิยม คือ การลงคะแนนเสียงของสมาชิกพรรค เพื่อยอมรับ สัตยาบรรณ ดังกล่าว ซึ่งเสียงของสมาชิกส่วนใหญ่ (66.02%) จากสมาชิกพรรคทั้งหมด 463,723 คน เรียกได้ว่า การจัดตั้งรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ผ่านอุปสรรคด่านแรกไปอย่างหืดขึ้นคอทีเดียวสำหรับความเห็นขององค์กรผู้บริโภคต่อนโยบายของรัฐบาลต่อประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี จัดทำเอกสาร เพื่อประเมินนโยบายของรับบาลผสมขนาดใหญ่ของทั้งสามพรรค โดยมีทั้งหมด 12 ประเด็นได้แก่• การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค (Right and Right receiving)• การคุ้มครองผู้บริโภคในโลกยุคดิจิทัล (Digital  world)• ตลาดเงิน ตลาดทุน (Financial market)• การประกันสุขภาพและการดูแลผู้ป่วย (health and care insurance market)• อาหาร (food market)• พลังงาน (Energy market)• อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย (Real estate and accommodation)• การเดินทาง การท่องเที่ยว (Mobility and tourism)• การบริโภคที่ยั่งยืน และการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ (sustainability consume and resource protection)• การค้าข้ามชาติ ( International commerce)• การรู้เท่าทัน (consumer education)• การเฝ้าระวังกลไกตลาด (market surveillance) นโยบายการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค (Right and Right receiving)นโยบายของรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ คือ การออกกฎหมายสำหรับการฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class action) เพื่อเพิ่มอำนาจและ การบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ซึ่งเป็นประเด็นที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี เรียกร้องมาโดยตลอด ในประเด็นนี้ รัฐบาลมีนโยบายให้สิทธิในการฟ้องคดีกับหน่วยงานที่เป็นองค์กรภาคประชาชนที่ ได้มาตรฐาน (qualified organization or institution) เช่น องค์กรผู้บริโภค สมาคมสงเสริมการแข่งขันทางการค้า เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดการ “ค้าความ” ขึ้นในกระบวนการยุติธรรม ความเห็นของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกับนโยบายดังกล่าว คือ เห็นด้วย แต่ในประเด็นของข้อกฎหมายที่เป็นข้อกังวล คือ การตีความว่า องค์กรหรือ สถาบันใดที่จะได้รับสิทธินั้น ซึ่งไม่ควรจะกำหนดกฎเกณฑ์ จนทำให้มีเพียงไม่กี่องค์กรที่สามารถฟ้องคดีแบบกลุ่มได้นอกจากนี้ ในกรณีของการเยียวยาผู้บริโภค ต่อกรณีการละเมิดสัญญาในการทำธุรกรรมในโลกดิจิทัล เช่นการซื้อตั๋วรถไฟ กรณีการละเมิดสัญญา ควรที่จะมีการเยียวยาโดยอัตโนมัติต่อกรณีของการรับผิดต่อสินค้า โดยเฉพาะการทำธุรกรรมในยุคดิจิทัล จำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายเรื่องการรับผิดต่อสินค้าให้ทันสมัยกับยุคดิจิทัล โดยรัฐบาลต้องติดตามสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และ ปรับปรุง มาตรฐาน กฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคในโลกยุคดิจิทัล (Digital  world)- การควบคุม Algorithm control ของ Artificial Intelligemce (AI) โดยจะจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมในด้านการใช้ข้อมูล (Data- Ethic Commission) เพื่อติดตามและเฝ้าระวังการใช้ AI ที่อาจละเมิดสิทธิผู้บริโภคต่อประเด็นดังกล่าว สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเห็นด้วย และสนับสนุนในการมีตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในคณะกรรมชุดนี้ และการทำงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าวต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงที และไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน (โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของ เวลา ที่มักเป็นจุดอ่อนของ Regulator)- ประเด็น Network neutrality ซึ่งสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลที่จะรักษาหลักการนี้ โดยจะต้องมีการกำกับดูแล ผ่าน กฎหมาย ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายของอียู- นโยบายการขยายโครงข่าย broadband ทั่วประเทศ ภายในปี 2025 สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า เป็นเรื่องที่สมควรทำ โดยในปีแรกของรัฐบาลควรที่จะขยายโครงข่ายให้ได้มากกว่า 50 % ของพื้นที่เป้าหมาย และต้องคำนึงถึงประเด็นในเชิงคุณภาพ ของเครือข่าย broadband ด้วย - ข้อมูลส่วนบุคคล (E-privacy- Regulation) รัฐบาลเสนอให้เกิดการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด และการออกกฎหมายของรัฐบาลต้องสอดคล้องกับหลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของอียู และความสนใจของทั้งผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ซึ่งจะต้องรักษาสมดุลระหว่างกันและกันในขณะที่ประเด็นนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า เป็นนโยบายที่ย้อนแย้งกัน แต่ก็เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะดำเนินนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเข้มงวดฉบับนี้ขออนุญาต นำเสนอ 2 นโยบายที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ได้มีความเห็นและเผยแพร่ต่อสาธารณะหลังจากที่การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ความน่าสนใจของรัฐบาลชุดนี้ คือ จะสามารถทำงานได้ครบวาระหรือไม่ ภายใต้การขัดแย้งทางการเมืองที่ถาโถมเข้ามาเป็นระยะๆ (ที่มา เว็บไซต์สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี https://www.vzbv.de/.../ausfuehrliche_bewertung_koav_vzbv.pdf) ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีอันตราย และบทบาทของภาครัฐในการคุ้มครองผู้บริโภค (2)

ช่วง ฉลาด ช้อปดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค บทความในฉบับนี้ มาว่ากันต่อเรื่องผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีอันตราย ปนเปื้อนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันแทบทุกวัน ดูว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้าน มีผลิตภัณฑ์อะไรบ้างที่เราควรระมัดระวัง  ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายจานชามที่ทำมาจากพลาสติก จานชามประเภทนี้จะพบสาร Bisphenol A สารเคมีตัวนี้มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และจะทำให้เกิดความผิดปรกติทางพฤติกรรม (Behavioral disorder) อีกด้วย สารตัวนี้สามารถปนเข้ามากับอาหารที่เรารับประทานเข้าไป หากใช้ภาชนะพลาสติกที่มีสารดังกล่าวอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟ เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะพลาสติก โดยใช้ภาชนะที่ทำจากกระเบื้อง เซรามิกส์ หรือแก้วแทนพลาสติกคลุมโต๊ะรับประทานอาหารที่ทำจาก พีวีซี (PVC: Poly Vinyl Chloride) สินค้าตัวนี้มีสารพลาสติไซเซอร์ (Plastisizer) ผสมอยู่ด้วย อันตรายของสารเคมีดังกล่าว คือ อาจก่อให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากและทำให้ปริมาณของเชื้ออสุจิลดลงครีมทาผิวและโลชั่น ต้องระวังที่มีส่วนผสมของพลาสติไซเซอร์ (Plastisizer) และกลิ่นมัสค์สังเคราะห์ (Musk Fragrance) ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นและเกิดอาการคันจากการแพ้ได้ เวลาเลือกซื้อครีมทาผิวควรอ่านที่ฉลากดูว่าส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์มีสารเคมีเหล่านี้อยู่หรือไม่ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจากสารเหล่านี้ โดยเฉพาะคนที่เป็นภูมิแพ้ บทบาทของภาครัฐในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อความปลอดภัยจากสารเคมีฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงตัวอย่างองค์กรเอกชนและบทบาทในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในยุโรปไปแล้ว ฉบับนี้ ขอยกตัวอย่างบทบาทภาครัฐโดยเฉพาะของสหภาพยุโรปในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคกันบ้าง เป็นที่ทราบกันแล้วว่า สหภาพยุโรป (EU) มีคณะกรรมการที่ดูแลด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะนโยบายด้านการใช้สารเคมีในการผลิตสินค้า ที่ปัจจุบันมีสารเคมีที่ใช้ประมาณ 70,000 ชนิด และกว่า 70% ของสารเคมีนั้น ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของมนุษย์ แต่กลับไม่มีข้อมูลในด้านผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งสารเคมีดังกล่าว มีการตรวจพบในเสื้อผ้าจากใยสังเคราะห์ จอคอมพิวเตอร์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ดังที่เคยเขียนเล่าให้เพื่อนๆ สมาชิกทราบไปแล้ว สาเหตุที่ทางกรรมการดูแลทางด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (EU commissioner for consumer protection) และองค์กรภาคประชาชนต้องให้ความสนใจในเรื่องนี้ เนื่องจากตามสถิติ พบว่าคู่สามีภรรยามากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถมีบุตรได้เพราะได้รับสารเคมีอันตราย ที่มีผลต่อระบบการสืบพันธุ์ ทำให้ระบบการสืบพันธุ์บกพร่อง มีเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้น คนงานในยุโรปกว่า 23% ป่วยเป็นโรคมะเร็ง เพราะเกิดจากการทำงานในโรงงานที่มีสารเคมีอันตรายเป็นเวลานาน จึงต้องหามาตรการในการป้องกันปัญหาดังกล่าว นโยบายการควบคุมสารเคมีอันตราย (REACH)ขณะนี้สหภาพยุโรปจะผลักดันมาตรการที่สำคัญ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจาณาร่างกฎหมายที่จะออกบังคับใช้ คือ การบันทึกเก็บข้อมูล (Registration) การตรวจสอบ (Evaluation) และการออกใบอนุญาต (Authorization of Chemicals) ซึ่งมีชื่อย่อว่า REACH โดยภายในระยะเวลา 10 ปี สหภาพยุโรปจะทำการศึกษาสารเคมีกว่า 30,000 ชนิด ว่ามีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะหาสารเคมีทดแทนสารเคมีที่เป็นอันตราย หรือสามารถจัดการและควบคุมการใช้สารเคมีเหล่านี้ได้ดีขึ้น เนื้อหาสาระของ REACH คือ สารเคมีต้องถูกตรวจและทดสอบถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะออกสู่ตลาด และถ้าสารเคมีใดก็ตามที่วางอยู่ในตลาดแล้ว ก็สามารถทำการทดสอบย้อนกลับไปได้อีกด้วย หากผู้ผลิตสารเคมีละเลยในการกระทำตามมาตรการดังกล่าว จะโดนอาญัติสินค้าไม่ให้จำหน่าย นอกจากนี้ในปี 2009 ผู้ผลิตและผู้ขายจะต้องให้ข้อมูลกับลูกค้า ว่าสินค้าของผู้ผลิตนั้นมีสารเคมีที่เป็นพิษ ปนเปื้อนหรือผสมมาในสินค้าหรือเปล่า ซึ่งผู้ผลิตจะต้องตอบและให้ข้อมูลกับลูกค้าภายใน 45 วัน โดยถือเป็นบริการของผู้ผลิตและไม่สามารถไปเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากลูกค้าได้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลเพิ่มเติม ในด้านความปลอดภัยจากสารเคมี และจากมาตรการนี้จะมีผลทำให้งบประมาณทางด้านการสาธารณสุข โดยเฉพาะงบประมาณที่ใช้ในการเยียวยารักษาคนป่วย และผู้บริโภค ลดลง จากการประมาณของสหภาพยุโรป เมื่อมาตรการ REACH ออกเป็นกฏหมายบังคับใช้แล้วจะสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 50,000 ล้านยูโร ภายในระยะเวลา 30 ปี แต่ที่สำคัญก็คือ สุขภาพและสวัสดิภาพภาพของประชาชนในยุโรปที่ไม่สามารถวัดเป็นตัวเงินได้นั้น จะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล และกฏหมายนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ขายที่ไม่ได้อยู่ในยุโรปด้วย เพราะสินค้าที่จะนำไปขายในยุโรปทุกชนิดจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >