‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ยืนหยัด ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ แถลงชัดไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบจากเว็บไซต์

            ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ดำเนินการเชิงรุกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคช่วงโควิด - 19 โดยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือในช่วงที่ขาดแคลนและมีราคาแพง รวมทั้ง ขาดข้อมูลอ้างอิงที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือได้ว่ามีคุณภาพตรงกับฉลากหรือคำโฆษณา และไม่ปนเปื้อนสารที่ก่ออันตราย มูลนิธิฯ ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค ผลพบว่า จำนวน 27 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 69.23 มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 จากนั้นจึงได้เผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเปิดเผยชื่อยี่ห้อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อเท็จจริง และมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับปกป้องสุขภาพในภาวะที่มีการระบาดของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนั้น (อ่านข้อมูล ผลทดสอบเจลแอลกอฮอล์ จากนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3420)         ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 บริษัท รีเอกซ์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ ได้ฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 1 และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดอาญา ใส่ความหมิ่นประมาทบริษัท และระบุว่า “...ไม่ใช่ผลการทดสอบที่ถูกต้องที่จะนำเสนอเป็นข่าวหรือบทความให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจลล้างมือ เพราะเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบจำเป็นต้องมีการควบคุมการทดสอบและกำหนดค่าความผันแปรของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมระหว่างทดสอบ...”         ในวันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้แถลงข่าวเพื่อให้ข้อเท็จจริงและแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้         1. นิตยสารฉลาดซื้อ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดให้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลกับผู้บริโภค โดยมีการเปิดเผยชื่อยี่ห้อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ ด้วยเหตุผลในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า ตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการตามหลักการนี้มาอย่างต่อเนื่องตลอดมา         2. การทดสอบได้ทำอย่างสุจริตและโปร่งใส โดยยึดมั่นหลักวิชาการ และดำเนินการอย่างมีคุณภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยการทดสอบเจลแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ดำเนินการโดย ศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นอิสระ และเป็นห้องทดลองที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรอง ISO 17025 แม้แต่ อย. ก็ใช้ห้องทดลองนี้เช่นกัน และในการแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ข้อมูล เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ผู้เกี่ยวข้องกับการทดสอบได้ร่วมในการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย ประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร. ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย         3. มูลนิธิฯ เห็นว่า การฟ้องร้องของบริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด อาจเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้มูลนิธิฯ ยุติการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค         4. มูลนิธิฯ ไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบที่ได้จัดทำและเผยแพร่จากเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อสินค้า โดยเป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ดังที่ได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา         ด้าน ดร. ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยืนยัน กระบวนการทดสอบสินค้าและบริการของนิตยสารฉลาดซื้อ ใช้ห้องทดสอบที่มีมาตรฐาน ระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับกระบวนการทดสอบด้านสินค้าและบริการ จะอ้างอิงหลักการและวิธีการออกแบบการทดสอบ ขององค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ ที่เป็นสมาขิกของ International Consumer Product Research and Testing โดยเน้นหลักการความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช้การสุ่มซื้อสินค้าที่มีการจำหน่ายจากร้านค้าจริงทั่วไปและออนไลน์เหมือนผู้บริโภคซื้อสินค้าและเผยแพร่ผลการทดสอบผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่รับโฆษณาจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำให้สามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา         "การทดสอบสินค้าที่มีมาตรฐานกำกับจะดำเนินการทดสอบตามมาตรฐาน โดยใช้ห้องทดสอบของมหาวิทยาลัย หรือ ห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 กรณีสินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐานกำกับจะทดสอบโดยใช้มาตรฐานของต่างประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น กรณีการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ การทดสอบเปรียบเทียบมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยที่จะเข้าไปกำกับมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศในอนาคต เป็นต้น"        ทั้งนี้ พลังของผู้บริโภคในการสนับสนุนการต่อสู้คดีในครั้งนี้ ซึ่งเป็น “ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี” ที่ผลการทดสอบและการเปิดเผยข้อมูลของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถูกฟ้องคดีโดยบริษัทผู้ผลิตหลังจากเปิดเผยชื่อผู้ผลิตและยี่ห้อของสินค้าจากการทดสอบ” จึงมีความสำคัญต่อการยืนหยัดทำหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

“คดีส่วนใหญ่ที่เราไปฟ้อง เขาจะจ้างลอว์เฟิร์มมาต่อสู้คดีกับเราเพราะเขามีเงิน  แต่ผู้บริโภคไม่มีเงินมากขนาดที่จะไปจ้างได้ แต่เราก็มีทนายจากศูนย์ทนายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพมาช่วยเหลือ ซึ่งตรงนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้” จากสถิติการร้องเรียนของผู้บริโภคทั่วประเทศ ผ่านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ในปี 2560 พบว่า มีเรื่องร้องเรียนสูงถึง 3,615 กรณี ในจำนวนนี้ปัญหาที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือ ปัญหาด้าน อาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ 885 กรณี สินค้าและบริการทั่วไป 682 กรณี บริการสุขภาพและสาธารณสุข 631 กรณี การเงินการธนาคาร 527 กรณี บริการสาธารณะ 424 กรณี สื่อและโทรคมนาคม 176 กรณี อสังหาริมทรัพย์ 127 กรณี และอื่นๆ 163 กรณี ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจึงเกิดขึ้น โดยคุณเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เล่าถึงที่มาว่าทนายความจิตอาสามีความสำคัญในงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร“ปัญหาของผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ์ ในปัจจุบันเป็นเรื่องสลับซับซ้อนและเป็นเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามากขึ้น เช่นการรักษาพยาบาล การซื้อรถยนต์มาใช้ก็มีปัญหาเรื่องรถเสีย ซึ่งต้องมีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยี หรือต้องใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 ถึงจะช่วยผู้บริโภคได้ เพราะปัญหาผู้บริโภคสมัยนี้ไม่ได้โบราณ แบบ ไปตลาด เช่น ซื้อเนื้อมา 1 กิโล แต่ได้เนื้อมา 9 ขีด ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้มันก็ง่าย แต่ปัจจุบันนี้  มันเป็นเรื่องที่ยากที่จะระบุว่า สินค้าที่ผู้บริโภคมาใช้แล้วมีปัญหานี่ มันเป็นความผิดของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการไหม ตัวอย่างที่เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ปัญหาเรื่องรถยนต์ที่เราซื้อมาใหม่ อยู่ในระยะประกันป้ายแดง ผู้บริโภคคิดว่ามันไม่ปกติ แต่เวลาไปเข้าศูนย์ของผู้ประกอบการเขาบอกว่าปกติ แล้วตกลงมันเป็นอย่างไรกันแน่ แล้วที่ว่าไม่ปกติ ไม่ปกติแค่ไหน จึงถือว่าเป็นความชำรุดบกพร่องที่ตัวผู้ผลิตจะต้องรับผิดชอบกับผู้บริโภค ด้วยการแก้ไขซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ ถ้าหากว่าแก้ไขซ่อมแซมแล้วมันไม่ดีขึ้น เรื่องเหล่านี้ทนายทั่วๆ ไป ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในด้านนี้ ก็จะดำเนินคดีไม่ถูกว่าจะเริ่มตรงไหนจากจุดไหน ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีประสบการณ์ทางด้านการฟ้องคดีเกี่ยวกับรถยนต์ มีนักวิชาการให้การสนับสนุน ช่วยตรวจสอบดูว่าเหตุที่มันเกิดเพราะสาเหตุอะไรทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่จะไปโต้แย้งกับผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตที่บอกว่าปกติ ไม่เป็นไร หรือการไปใช้สิทธิทางศาล เพราะว่าการเจรจาไม่เป็นผล ก็จะมีข้อมูลจากนักวิชาการเพียงพอที่ทนายจะใช้ไปประกอบในคำฟ้องของตนได้จึงทำให้เราเกิดศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นการรวบรวมทนายที่มีจิตช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือผู้บริโภคโดยไม่ได้หวังสิ่งอื่น และเป็นทนายความที่มีความรู้หลากหลาย บางคนจบปริญญาโท จบเนติบัณฑิต รับรองว่าทนายของศูนย์ฯ มีทนายที่มีความรู้ความสามารถไม่น้อยหน้ากว่าองค์กรไหนๆ ทั้งสิ้น  คดีส่วนใหญ่ที่เราไปฟ้อง เขาจะจ้างลอว์เฟิร์มมาต่อสู้คดีกับเราเพราะเขามีเงิน  แต่ผู้บริโภคไม่มีเงินมากขนาดที่จะไปจ้างได้ แต่เราก็มีทนายจากศูนย์ทนายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพมาช่วยเหลือ ซึ่งตรงนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้” คุณศรินธร อ๋องสมหวัง ทนายประจำมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “การเป็นทนายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มันจะแตกต่างตรงที่ เราจะได้รับรู้ถึงความเป็นผู้บริโภค ว่ามันเป็นอย่างไร  แล้วเวลาที่ผู้บริโภคเดือดร้อนแต่เค้าไม่รู้จะหันไปหาใคร เรามาทำงานส่วนนี้ก็เป็นเพราะใจของเราด้วย ทำให้เรารู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นลูกความ เหมือนเป็นญาติกัน เป็นเพื่อนกัน ที่เราอยากให้คำแนะนำให้เค้าหลุดพ้นจากปัญหา”สิ่งที่ได้จากการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคเราจะได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องผู้บริโภคโดยเฉพาะ ซึ่งถ้าเราทำงานที่อื่น เราจะไม่ได้ในจุดนี้นะคะ ปกติก็จะเป็นคดีทั่วไป แพ่ง อาญา ถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับผู้บริโภค  เราก็ต้องปรับใช้  อย่างเช่นคดีทางการแพทย์ ซึ่งเราก็จะได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยการถามหมอเพิ่มเติมเพื่อเอามาทำคดีได้ หรือคดีเกี่ยวกับผู้บริโภคก็จะมีเรื่องเฉพาะ อย่าง เช่น ประกาศ สคบ. อะไรพวกนี้ที่ต้องใช้โดยตรง อย่างเรื่องเครื่องสำอางเพิร์ลลี่ ซึ่งต้องไปดูเรื่องสินค้าไม่ปลอดภัยว่าเป็นอย่างไร ถ้าคุณมาทำงานที่นี่คุณจะไม่ได้แค่เรื่องกฎหมายอย่างเดียว คุณจะได้เรื่องความเข้าใจเพราะส่วนหนึ่งเราก็เป็นผู้บริโภค ซึ่งเราสามารถเอาความรู้ไปปรับใช้กับครอบครัวเราได้ ว่าถ้าครอบครัวเราหรือคนรู้จักมีปัญหา เราจะรู้ว่าวิธีเบื้องต้นที่จะแก้ไขปัญาจะมีอะไรบ้าง ไม่ใช่ต้องฟ้องอย่างเดียว อาจจะทำหนังสือร้องเรียน สอบถามเพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเองก่อน แต่ถ้าเราทำงานกฎหมายเราก็ยื่นโนติสแล้ว ซึ่งถ้าเรารู้หลักของมันเราอาจจะไม่ถึงฟ้อง เราแก้ปัญหาเบื้องต้นได้ แล้วเรื่องมันก็จบในคดีผู้บริโภคนั้น อาจไม่ต้องมีทนายความเลยก็ได้ ผู้บริโภคสามารถดำเนินคดีด้วยตนเองได้ แต่การไม่มีทนายให้คำปรึกษา อาจทำให้ในหลายคดี ซึ่งต้องมีการสืบพยาน การที่ผู้บริโภคไม่มีทนายความคอยให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ  จะเกิดความอยากลำบาก เพราะไม่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับกฎหมาย เกิดการเสียเปรียบในการดำเนินคดีในชั้นศาล โอกาสที่จะเพลี่ยงพล้ำในคดีก็จะมีมาก โดยทางฝั่งผู้ประกอบธุรกิจ จะมีทนายความประจำอยู่แล้ว การที่ผู้บริโภคมีทนายความในการช่วยเหลือในคดี ทำให้ไม่เป็นการเสียเปรียบในเชิงคดีปัจจุบันจะเห็นว่า ยังมีผู้บริโภคเป็นจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามาตรการเชิงป้องกันที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอ จึงสมควรที่สนับสนุนให้ผู้บริโภค ได้ความรู้หรือศึกษาข้อมูลเบื้องต้นในเรื่องนั้นๆ ก่อนที่ตนเองทำการบริโภคสินค้าหรือบริการ เช่น การได้รับข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่ครบถ้วนถูกต้อง การให้ผู้บริโภคได้รับความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคสินค้าหรือบริการ เมื่อพบปัญหาขึ้นจะได้แก้ไขได้ทันท่วงทีความแตกต่างของการเป็นทนายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคงานทนายความเพื่อผู้บริโภค ได้มีโอกาสสัมผัสกับผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน เห็นการถูกละเมิดสิทธิ โดยที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องคุณภาพสินค้าหรือบริการ และขาดอำนาจต่อรองในการเข้าทำสัญญา ทำให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายถูกเอาเปรียบอยู่เสมอ  และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ผู้บริโภคก็ขาดความรู้ ในวิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องตามขั้นตอน  ทนายความจึงควรมีบทบาทในการให้ข้อมูลเรื่องสิทธิผู้บริโภคโดยการให้คำแนะนำและความช่วยเหลือด้านคดีความกับผู้บริโภค  ทำงานกับผู้บริโภค รับรู้ถึงความเป็นผู้บริโภคการเป็นทนายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มันจะแตกต่างตรงที่ เราจะได้รับรู้ถึงความเป็นผู้บริโภค ว่ามันเป็นอย่างไร  แล้วเวลาที่ผู้บริโภคเดือดร้อนแต่เค้าไม่รู้จะหันไปหาใคร เรามาทำงานส่วนนี้ก็เป็นเพราะใจของเราด้วย ทำให้เรารู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นลูกความ เหมือนเป็นญาติกัน เป็นเพื่อนกัน ที่เราอยากให้คำแนะนำให้เขาหลุดพ้นจากปัญหาถ้าเป็นลูกความก็จ่ายเงินมา เราทำตามหน้าที่รับเงิน แต่พอมาที่นี่ก็เหมือนได้หลายๆ อย่าง ผู้ร้องกับเราก็เหมือนเกิดความผูกพัน ไปไหนมาไหนก็คิดถึงเราซื้อขนมมาให้ เป็นเหมือนครอบครัว สังคมผู้บริโภค คือเขาเดือดร้อนก็จะนึกถึงมูลนิธิว่ามูลนิธิเป็นที่พึ่ง เขาไปร้องเรียนที่ศาลหรือศูนย์ดำรงธรรม เขาก็จะแนะนำให้มาร้องเรียนที่มูลนิธิ แล้วเวลาเขาร้องเรียนเรื่องกฎหมายก็จะนึกถึงมูลนิธิก่อน เพราะว่าจะเชี่ยวชาญเกี่ยวกับคดีผู้บริโภคที่สุด รักษาผลประโยชน์ให้เขาได้ เนื่องจากคดีมีความหลากหลาย อยากได้คนที่มีความรู้ที่หลากหลายสาขาอาชีพมาช่วย เช่น ปัญหาเรื่องการเงินการธนาคารมาช่วยเรื่องการคิดคำนวณเรื่องดอกเบี้ย ด้านวิศวกรรม เรื่องสินค้าชำรุดบกพร่องอย่างเช่น เรื่องรถยนต์ เป็นต้น มีพี่คนหนึ่งเขาจบพยาบาลมา ก็รับคดีเกี่ยวกับการแพทย์ไป เพราะอ่านเวชระเบียนได้ ในส่วนของใครที่มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยนั้นอย่างตัวเองทำงานมา 2 ปีกว่าๆ เราทำงานด้วยใจและทำตามหน้าที่ โดยนำข้อเท็จจริงมาปรับใช้ในการทำงาน กฎหมายบ้านเมืองก็มีอยู่แล้ว คุณมาทำงานที่นี่ไม่ต้องกลัวเรื่องการถูกคุกคาม เพราะเราทำมาสองปีกว่า เราก็มีความปลอดภัยและมีความสุขกับการทำงานดีค่ะ ปัจจุบันทีมทนายความจิตอาสา ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีประมาณมากกว่า 20 ท่าน โดยมีความรู้ความสามารถที่หลากหลายกันไปค่ะ”ทนายความสวิทย์ จันทร์ต๊ะคาด“ทนายความอาสาเป็นเรื่องจำเป็นเพราะว่า อาชีพทนายเป็นอาชีพอิสระ และหาคนที่มีจิตอาสาหรือจิตที่เป็นบุญกุศลมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันยาก และทนายอาสาควรที่จะมีความรู้ความสามารถ ที่จะต้องช่วยเหลือประชาชนได้ด้วย”เหตุที่สนใจงานด้านจิตอาสาพอดีเห็นจากประกาศของมูลนิธิประกาศรับสมัครทนายความที่มีจิตอาสามาร่วมองค์กร เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน ผมคิดว่าตนเองพอจะมีความรู้ความสามารถ และมีจิตอาสาที่อยากช่วยประชาชน ส่วนแนวคิดเกี่ยวกับงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค เห็นว่าหน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายควบคุมอยู่ในมือไม่สามารถใช้กฎหมายนั้นบังคับได้จริง ต้องให้ประชาชนใช้สิทธิทางศาลเอง ถึงจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย กฎหมายไทยมองว่าจะต้องพัฒนาอีกไกลเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองตามสิทธิ ทนายความอาสาเป็นเรื่องจำเป็นเพราะว่า อาชีพทนายเป็นอาชีพอิสระ และหาคนที่มีจิตอาสาหรือจิตที่เป็นบุญกุศลมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันยาก และทนายอาสาควรที่จะมีความรู้ความสามารถ ที่จะต้องช่วยเหลือประชาชนได้ด้วยความคาดหวังเมื่อเข้ามาเป็นทนายอาสาปกติจะมีส่วนกลางใช่ไหมครับ ส่วนภูมิภาคใช่ไหมครับ ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัย สามารถขอคำปรึกษากับเครือข่ายที่อยู่ตามภูมิภาคได้ เพื่อที่จะได้ลดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเดินทางมาส่วนกลางเราจะช่วยดำเนินการด้านคดีอย่างไร ต้องดูว่าสิ่งที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบมีอะไรบ้าง และเราจะขอให้ศาลคุ้มครองสิทธิอย่างไร เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดตามกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคนั้นๆ ยุคนี้คือเทคโนโลยีได้พัฒนาไปไกล ทำให้มีการผลิตสินค้าและบริการมากมาย ซึ่งก่อนที่เราจะบริโภคสินค้าหรือบริการนั้น ควรมีการตรวจสอบที่มาที่ไป ส่วนประกอบ ผลข้างเคียง ถ้าได้บริโภคหรือใช้สินค้านั้นทนายความวาสนา สายเป้า“ผู้บริโภคเมื่อจะใช้สิทธิอะไรเมื่อตัวเองเสียเปรียบ หรือสินค้าตัวนั้นไม่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้บริโภค ผู้บริโภคควรเรียกร้องสิทธินั้นกลับมาให้คุ้มกับที่เงินที่จ่ายไปถึงแม้ราคาสินค้าจะเป็นบาทเดียว ห้าบาท สิบบาท แต่ควรให้คุ้มค่าตรงนั้น”ความคิดกับงานคุ้มครองผู้บริโภคงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นพื้นฐานสำคัญของผู้บริโภคในเบื้องต้น กรณีการเป็นทนายอาสาเป็นการดูแลเบื้องต้นของผู้บริโภคที่มี คือการรักษาสิทธิของผู้บริโภคเบื้องต้น ซึ่งบ้างครั้งผู้บริโภคไม่ทราบว่าตนเองสามารถเรียกร้องสิทธิ ที่ตัวเองเสียไปจากการใช้บริการสินค้าต่างๆได้ เราจะเป็นตัวแทนให้คำแนะนำ ให้ช่องทางในการเรียกร้องสิทธิ ไม่ว่ากรณีสินค้าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือการใช้สินค้าไม่ตรงตามคุณสมบัติของรายการสินค้าที่ควรจะต้องเป็นไปตามที่ผู้บริโภคต้องได้รับ เราจะเป็นตัวแทนที่ให้ทราบสิทธิของผู้บริโภคเบื้องต้น ทำหน้าที่ต่อโดยการเรียกร้องสิทธิให้กับผู้บริโภคต่อไปจะสนับสนุนความรู้เรื่องกฎหมายแก่ผู้บริโภคอย่างไรอันนี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภค จริงๆ ผู้บริโภคอาจจะไม่คิดถึงว่าการบริโภคแค่ทานอาหาร ต้องใช้กฎหมายเลยเหรอ ถ้าเราให้ความรู้ผู้บริโภคก็จะสังเกตถึงสิ่งที่ตนเองบริโภคเข้าไปว่า มันถูกต้อง คุ้มราคา คุ้มที่เราจ่ายไปไหม และการบริโภคมันสมกับที่เขาโฆษณาไหม ให้ผู้บริโภคได้สังเกตสินค้ามากขึ้น แล้วก็เป็นการตรวจสอบเบื้องต้น ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อไปด้วยคิดว่าเมื่อเข้ามาอาสา จะช่วยงานคดีทำให้ดีขึ้นได้อย่างไรชัดเจนอยู่แล้ว มันดีขึ้นอยู่แล้ว เพราะเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสิทธิตนเอง เมื่อคุณเสียเงินไปแล้วหรือการใช้บริการไปแล้ว คุณควรได้คุ้มค่ากับการที่ต้องเสียเงินบริโภคสิ่งนั้น เพราะผู้บริโภคเมื่อจะใช้สิทธิอะไรเมื่อตัวเองเสียเปรียบ หรือสินค้าตัวนั้นไม่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้บริโภค ผู้บริโภคควรเรียกร้องสิทธินั้นกลับมาให้คุ้มกับที่เงินที่จ่ายไปถึงแม้ราคาสินค้าจะเป็นบาทเดียว ห้าบาท สิบบาท แต่ควรให้คุ้มค่าตรงนั้น ถ้าผู้บริโภคไม่รักษาสิทธิ ผู้ประกอบการก็จะใช้โอกาสหรือช่องที่ผู้บริโภคไม่ได้สนใจเอาเปรียบไป ถึงแม้ผู้บริโภคจะมีสักล้านนึง คนละบาทคนละบาท อย่างกรณีค่าโทรศัพท์มันก็เหมือนกันนั้นก็คือเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะเรียกร้องกลับมา(มีอะไรฝากถึงมูลนิธิฯ) ฝากให้มูลนิธิดูแลผู้บริโภคต่อไป อยากให้ดูแลไปตลอดเพราะผู้บริโภคไม่มีที่พึ่งตรงไหน ก็มีที่พึ่งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเท่านั้น อยากให้ผู้บริโภคทุกคนมาใช้มูลนิธิทำงาน มูลนิธิยินดีอยากให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุดกับสินค้าทุกตัว นั้นคือความสุขของมูลนิธิทนายความจิราภา เต็มเพ็ชร“หากผู้บริโภคมีฐานะยากจนไม่มีทุนทรัพย์ที่จะจ้างทนายความ ทนายความอาสาจะเข้าไปช่วยเหลือผู้บริโภคที่ยากจนให้ได้รับสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น”แนวคิดกับงานคุ้มครองผู้บริโภคผู้บริโภคคือประชาชนทั้งประเทศ ทุกเพศ ทุกวัย ควรได้รับความคุ้มครองจากรัฐในทุกด้าน รัฐควรเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือให้ความรู้ในด้านต่างๆ เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และหากมีการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคเพื่อเป็นกระบอกเสียงของผู้บริโภคด้วยกันแล้ว รัฐควรเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนในเรื่องนี้ เช่น เรื่องงบประมาณ, การศึกษาวิจัย, การดำเนินคดี ฯลฯงานทนายอาสามีความสำคัญกับงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไรทนายความอาสานั้นมีบทบาทสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภคมาก เพราะใช้ความรู้ด้านกฎหมายช่วยเหลือในการฟ้องร้องและต่อสู้คดีแทนผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้า และหากผู้บริโภคมีฐานะยากจนไม่มีทุนทรัพย์ที่จะจ้างทนายความ ทนายความอาสาจะเข้าไปช่วยเหลือผู้บริโภคที่ยากจนให้ได้รับสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้นผู้บริโภคต้องการความช่วยเหลือหรือสนับสนุนความรู้เรื่องกฎหมายอย่างไรผู้บริโภคควรได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุน ในด้านกฎหมายเรื่องที่ว่าควรจะเลือกบริโภคสินค้า อาหาร และผลิตภัณฑ์ อย่างไรให้ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และหากว่าต่อมาผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการบริโภคแล้ว จะมีแนวทางในการดำเนินคดีกับผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการอย่างไรบ้าง คิดว่าเมื่อเข้ามาอาสาช่วยให้คำแนะนำกับผู้บริโภคนั้น จะช่วยงานด้านคดีให้ดีขึ้นด้วยการทำให้ผู้บริโภคที่ยากจนมีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น จากการที่ตนได้รับความเสียหายจากการบริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 ตลาดออนไลน์และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค

โพลล์เผย คนกรุง 74.7%  เชื่อมั่นใน Online shopping แต่พบว่า  32.4% เคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ที่มา นิตยสารฉลาดซื้อและบ้านสมเด็จโพลล์ปัจจุบันการจับจ่ายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับในประเทศไทย มูลค่า e-Commerce ในปี 2559 รวมทั้งสิ้น 2,560,103.36 ล้านบาท ขณะที่งบโฆษณาดิจิทัล ในปี 2559 มีมูลค่า 9,477 ล้านบาท และปี 2560 พุ่งทะลุหมื่นล้านบาทไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นของการซื้อขายออนไลน์ ได้ทำให้เกิดปัญหาสำคัญกับผู้บริโภค เช่น การฉ้อโกง การหลอกลวง ซื้อของแล้วไม่ได้ของ ไม่ได้เงินคืนหรือถึงแม้ได้เงินคืนก็แสนยากเย็น ซึ่งปัญหาจะยิ่งร้ายแรงมากขึ้น หากการถูกหลอกลวง ฉ้อโกง นั้นเป็นเรื่องของโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ ในสินค้าที่เกี่ยวพันกับสุขภาพ จนทำให้เกิดผลเสียที่ร้ายแรงตามมา ดังนั้นหากจะคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนถึงผู้ที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ควรที่จะร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในงานสมัชชาผู้บริโภค ซึ่งถูกจัดขึ้นทุกปี(วันคุ้มครองผู้บริโภคสากล 15 มีนาคม) โดยภาคประชาชนนั้น ประเด็นในปีนี้ทางผู้จัดได้ให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีต่อการตลาดออนไลน์ และจัดให้มีวงเสวนาที่เกี่ยวพันกับประเด็นดังกล่าวในหลายแง่มุม อย่างไรก็ตามทีมฉลาดซื้อจะขอสรุปบางส่วนของวงเสวนาสำคัญสองเรื่อง คือ “มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคตลาดออนไลน์” และ “แนวทางการแจ้งเตือนภัยสินค้าไม่ปลอดภัยทางสื่อดิจิตัล” มานำเสนอในลำดับแรกก่อน เพราะเห็นว่าน่าจะช่วยให้ติดตามสถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิด และมีข้อมูลในส่วนของการแจ้งเตือนภัยที่ผู้บริโภคควรมีไว้เป็นข้อมูลพื้นฐาน   เสวนาเรื่อง “มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคตลาดออนไลน์” วันพุธที่ 14 มีนาคม 2561สถานการณ์ปัญหาการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ จากมุมมองของผู้เข้าร่วมเสวนา ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากประชาชน ผู้แทนหน่วยงานรัฐ (สคบ.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นักวิชาการ และตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นั้น พอสรุปได้ดังนี้  1.ผู้บริโภคให้ความเชื่อถือกับสื่อโซเชียลที่มีคนจำนวนมากสนใจ เช่น มียอดแชร์ ยอดเข้าชมจำนวนมาก สินค้าได้รับการรีวิวจากบุคคลหลากหลายและหากมีการใช้บุคคลที่เป็นที่นิยมอย่างเน็ตไอดอล หรือดารา ศิลปิน จะเพิ่มความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น  2.แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าในระบบออนไลน์ คือ ราคา ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า การซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้ราคาที่ถูกกว่าหน้าร้านปกติ แต่ที่จริงแล้วสินค้าบางอย่างกลับมีราคาแพงกว่า 3.ส่วนใหญ่ของผู้เสียหาย มักถูกหลอกลวงด้วยโฆษณา ไม่ว่าจะด้วยภาพหรือคำบรรยาย ที่ไม่ตรงกับความจริง  4.ผู้บริโภคมักเข้าใจว่า สินค้าบางประเภทจัดทำและจำหน่ายโดยดาราหรือคนดัง ซึ่งพอติดต่อเพื่อซื้อจริงกลับกลายเป็นบุคคลอื่น   5.คำอ้างว่า สามารถเปลี่ยนคืนสินค้าได้ หากไม่พอใจ พอถึงเวลาจริงไม่สามารถทำได้ หรือบางครั้งเกิดจากข้อสัญญาที่ผู้บริโภคไม่ได้อ่านให้ชัดเจน ซึ่งระบุว่า ไม่คืนเงินในทุกกรณี  6.แม้มีรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ขายที่น่าเชื่อถือ เช่น การให้เลขบัตรประชาชน การได้รับคำชมจำนวนมาก หรือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจด้วยการบริการที่ดีในระยะแรกๆ ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่า ผู้ขายจะไม่ฉ้อโกงผู้ซื้อ   7..สินค้าที่ส่งมอบมีสภาพชำรุดบกพร่อง ไม่ตรงกับคำสั่งซื้อ และสินค้ามีอันตราย แต่ไม่สามารถขอเปลี่ยนคืน ขอคืนเงิน หรือการชดเชยเยียวยาหากเกิดความเสียหายต่อสุขภาพ  8.กรณีเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้า ผู้บริโภคต้องดิ้นรนเองมากๆ ต้องเข้าไปติดตามด้วยตัวเอง ประกาศแจ้ง เพื่อให้คนในโซเชียลมีเดียรับรู้ด้วยกัน บางส่วนไม่เก็บหลักฐานการซื้อขาย ทำให้เสียโอกาสการร้องเรียน หรือในหลายกรณีแม้มีหลักฐานสมบูรณ์ เมื่อนำไปแจ้งความ ขั้นตอนจะหยุดอยู่ที่การแจ้งความแต่เรื่องจะไม่ได้รับการประสานต่อ เพราะกำลังเจ้าหน้าที่มีน้อย  หากร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐก็มีระยะเวลาดำเนินการถึง 90 วัน ซึ่งระหว่างนั้นผู้บริโภคจะไม่สามารถเช็คสถานะได้ว่าเรื่องร้องเรียนของตนเองอยู่ตรงจุดไหน มาตรการ นโยบาย ของหน่วยงานรัฐต่อกรณีการจัดการเพื่อให้เกิดธุรกิจตลาดออนไลน์ที่เป็นธรรม ปัจจุบันและอนาคต ดร.สรณันท์ จิวะสุรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กล่าวโดยสรุปว่า “การตลาดแบบออนไลน์มีสภาพคล้ายกับตลาดนัดทั่วไปหรือการเปิดท้ายขายของ คือ ผู้ค้าใช้ช่องทางบนโลกออนไลน์เป็นสถานที่ค้าขาย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ค้าเป็นล้านราย จึงไม่สามารถทำให้ทุกคนมาขึ้นทะเบียนได้ ผู้ค้าก็มีทั้งคนที่ตั้งใจดีและคนโกง กลุ่มคนที่โกงจะโหมโฆษณาสินค้าเพื่อหวังขายเอากำไรในระยะสั้น โดยใช้จุดขายเรื่องราคาถูก พอได้เงินแล้วก็หนีไปสักพักแล้วก็ไปเปิดตัวที่ใหม่ แนวคิดที่ว่าคนขายของทุกคนจะต้องมาจดทะเบียนธุรกิจไม่อาจเป็นจริงได้ แต่กลไกที่เป็นไปได้คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตลาดที่ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาพบกัน หรือรูปแบบของการเป็นตัวกลาง ซึ่งคนกลางนี้ต้องเป็นผู้คอยดูแลปัญหา ทำให้ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นในการสั่งซื้อสินค้ารูปแบบที่น่าจะเป็นได้อีกอย่างหนึ่งคือการเชื่อมพลังของคนสองรุ่น คือผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์กับวัยรุ่นที่อาจเผลอหรือไม่รู้เท่าทันการโฆษณาบนโลกออนไลน์ และที่สำคัญที่สุด คือการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเพื่อให้เกิดการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบพันตำรวจเอก ประทีป เจริญกัลป์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรง และการตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นำเสนอข้อมูลการทำงานของ สคบ.ว่า ในบทบาทของการรับเรื่องร้องเรียน พบว่า มีผู้บริโภคจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ จากการซื้อขายออนไลน์ แต่ไม่ได้ร้องเรียน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมูลค่าของสินค้าไม่มาก หรือไม่เชื่อมั่นในหน่วยงานของภาครัฐ ส่วนที่ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญคือ เรื่อง ปัญหาเรื่องโครงสร้างด้านกฎหมาย ขณะนี้มีกฎหมายอยู่ 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือพ.ร.บ.ขายตรง ซึ่งมีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับเรื่องความรับผิดเกี่ยวกับการขายออนไลน์น้อยมาก อีกทั้งบทบาทหน้าที่ตามที่กฎหมายเขียนไว้ มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง  ไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาธุรกิจการค้าซึ่งรับจดทะเบียนบริษัท ในขณะเดียวกันหากเป็นธุรกิจออนไลน์ อีคอมเมิร์ซจะต้องไปจดทะเบียนในหมวดของอีคอมเมิร์ซด้วย และยังต้องจดทะเบียนกับ สคบ.อีกด้วย “ทุกวันนี้ผู้ประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีเป็นล้านราย จดทะเบียนกับกรมธุรกิจการค้ามีจำนวนหลักหมื่นราย ส่วนที่จดทะเบียนขายตรงกับ สคบ. ก็มีเพียง 400 กว่าราย” แม้ สคบ. จะเป็นหน่วยงานกลางในการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ตามความจริงแล้วจะมีหน่วยงานหลักในการคุ้มครองผู้บริโภคตามกฎหมายแต่ละฉบับ เช่น อย.ก็มีบทบาทคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องอาหารและยา เป็นต้น แต่ทุกวันนี้ประชาชนจำนวนมากไม่เข้าใจ คิดว่า สคบ.จะต้องเข้าไปจัดการทุกเรื่องในส่วนของกลไกการเฝ้าระวังของต่างประเทศ คุณพลินี เสริมสินสิริ นักวิชาการอิสระ นำเสนอว่า ในงานวิจัยของตนนั้น การคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศ จะมีระบบเรื่องการป้องกันว่า ทำอย่างไรที่เว็บไซต์ต่างๆ จะไม่มีการหลอกลวง โดยมีหน่วยงานที่คอยดูแลและตรวจสอบ และมีกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น เมื่อผู้บริโภคประสบปัญหา จะทราบได้ทันทีว่าต้องไปร้องเรียนที่ไหน และสามารถติดตามสถานะได้อย่างไร ซึ่งหากเป็นเรื่องการซื้อขายออนไลน์ ก็จะมีกลไกเรื่องการรับเรื่องร้องเรียนทางออนไลน์และการติดตามสถานะของการร้องเรียนทางออนไลน์ ซึ่งจะสะดวกกับผู้บริโภคยกตัวอย่างประเทศจีน มีสมาคมผู้บริโภคจีน ซึ่งเป็นของภาครัฐ เมื่อผู้บริโภคมีปัญหา เขาก็จะติดต่อกับผู้ประกอบการก่อน ถ้าผู้ประกอบการสามารถทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจได้ด้วยการคืนสินค้า คืนเงิน เรื่องก็จบ แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการของการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อไป ซึ่งจะมีการยื่นเอกสาร มีระบบการจัดการ รวมทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 90 วันในการดำเนินการ นอกจากนี้ หากผู้บริโภคไม่พอใจการติดตามของภาครัฐ เขาจะมีระบบอนุญาโตตุลาการออนไลน์อีกด้วย โดยจะคอยติดตามต่อ เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้ว จะมีค่าดำเนินการไม่น้อยกว่า 4,000 หยวนส่วนในประเทศสิงคโปร์ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่ค้ากำไร ทำเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือการซื้อขายของออนไลน์ ผู้บริโภคต้องสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมและจ่ายค่าสมาชิก เมื่อผู้บริโภคมีปัญหาเขาก็จะดำเนินการรับเรื่องร้องเรียนให้ด้วยภาพรวมของต่างประเทศก็คือ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคมีช่องทางร้องเรียน โดยมีทั้งออนไลน์และไม่ใช่ออนไลน์ อย่างเช่น สมาคมผู้บริโภคของประเทศจีนที่ได้กล่าวไปแล้ว ไม่ได้ออนไลน์ ผู้บริโภคจะต้องเข้าไปร้องเรียนด้วยตัวเอง แต่หากเป็นของภาคเอกชนก็สามารถติดต่อหรือร้องเรียนทางออนไลน์ได้ ทำให้เห็นได้ว่าในแต่ละประเทศจะมีกลไกในการร้องเรียนของผู้บริโภคที่สามารถติดตามได้“เรื่องระบบการป้องกัน หลายประเทศจะมีการคัดกรองตัวเว็บไซต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หรืออยู่ในระบบที่ไม่สามารถให้บริการแก่ผู้รับบริการได้ เช่น อาจจะไม่มีชื่อ ไม่มีตัวตน ไม่มีสถานที่ เขาก็จะสุ่มตรวจ และเมื่อเห็นก็จะโชว์เป็นตัวสีแดงให้ผู้บริโภคเห็น อีกเรื่องหนึ่งก็คือหน่วยงานภาครัฐมีการคัดกรองเรื่องนี้ให้ระดับหนึ่งคือ แจ้งให้รู้ว่าผู้ประกอบการรายไหนที่มีความสุ่มเสี่ยงกับการมีปัญหาหากผู้บริโภคจะไปซื้อของกับเขา ซึ่งการระบุแบบนี้ก็จะช่วยผู้บริโภคได้” -------------------------------------------------------------------- ข้อเสนอของสมัชชาผู้บริโภคต่อหน่วยงานภาครัฐ 1.ให้มีระบบตรวจสอบเว็บไซต์ซื้อขายที่ทำผิดกฎหมาย เช่น ข้อมูลผู้ประกอบการไม่ครบถ้วน ไม่มีข้อมูลที่ติดต่อ ข้อมูลราคาไม่ครบถ้วน และมีการหลอกลวง เช่น การเปลี่ยนราคาของสินค้าที่ซื้อ 2.ให้จัดทำข้อมูลของผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย และเปิดเผยต่อผู้บริโภค ให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย หรือใช้ในการแจ้งเตือนเพื่อดำเนินงานแบบเชิงรุก 3.ให้พัฒนากลไกการรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ และสามารถแก้ไขปัญหาแบบที่เดียวจบ  4.สนับสนุนสร้างความตื่นตัว และความเท่าทันให้กับผู้บริโภค 5.ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการกำกับการดูแลกันเอง   การเชื่อมโยงระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อการเตือนภัยจากข้อเสนอที่น่าจะเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่อง การถูกหลอกลวงจากการตลาดออนไลน์ คือเรื่องของการเฝ้าระวังภัย ด้วยการบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ซึ่งมีด้วยกันหลายหน่วยงาน และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดการผู้บริโภคสามารถใช้เป็นคู่มือในการตัดสินใจได้ เช่นเดียวกับต่างประเทศ  ที่มีหน่วยงานภาครัฐคัดกรองให้ระดับหนึ่งคือ แจ้งให้รู้ว่าผู้ประกอบการรายไหนที่มีความสุ่มเสี่ยงกับการมีปัญหาหากผู้บริโภคจะไปซื้อของกับเขา อย่างที่คุณพลินี ได้กล่าวไว้ และเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลนี้ มีการพูดคุยกันอย่างเข้มข้นในวงเสวนาอีกห้องหนึ่งในวันเดียวกัน คือ การเสวนาเรื่อง “แนวทางการแจ้งเตือนภัยสินค้าไม่ปลอดภัยทางสื่อดิจิทัล” ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ผู้แทนจาก สคบ.  อย. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) และอดีตรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีช่องทางการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ของตนเองเริ่มจาก ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค คุณพิฆเนศ ต๊ะปวง พูดถึงการทำหน้าที่ของ สคบ. ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในเรื่องของการเตือนภัย อยู่ในมาตรา 10(3) ในพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค โดยให้อำนาจคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่า มีอำนาจหน้าที่ในการแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเสื่อมเสียต่อสิทธิของผู้บริโภค ในการนี้จะระบุชื่อสินค้าหรือบริการ หรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจก็ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ทำไปแล้ว และปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงาน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการแจ้งชื่อผู้ประกอบการที่ถูกดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโฆษณาเป็นเท็จ การทำสัญญาไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้อง การพิจารณาเยียวยาความเสียหาย หรือการละเมิดต่อผู้บริโภค และมีการร้องเรียนมาที่ สคบ.ปัจจุบันนี้มีเว็บไซต์สำหรับการเตือนภัย มี 2 แบบคือ อย่างแรกผู้ประกอบธุรกิจสมัครใจแจ้งข้อมูลการเตือนภัยขึ้นมาว่าสินค้าของเขาขายไปที่ไหนบ้าง และการแจ้งเบาะแสสินค้าไม่ปลอดภัย เป็นส่วนที่ประชาชนส่งข้อมูลมาให้ ซึ่งจะถูกนำมาวิเคราะห์ แล้วส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ในการศึกษาข้อมูลและรวบรวมกลับเข้ามาสู่ระบบแจ้งเตือนภัย ซึ่งส่วนนี้กำลังพัฒนาอยู่แบบที่สอง คือ การตรวจสอบข้อมูลสินค้า ส่วนนี้ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรม เรียกว่าระบบบาร์โค้ด (GS1) จะใช้ตัวบาร์โค้ดแจ้งสถานะข้อมูลของผู้ประกอบการ โดยทั้งสองแบบนี้เกิดจากการประชุมยุทธศาสตร์อาเซียน ซึ่ง สคบ.มีบทบาทในส่วนนี้สำหรับประเทศไทย ทั้งนี้ นโยบายอาเซียนต้องการให้กระบวนการการจัดการเป็นไปภายใต้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของแต่ละประเทศในส่วนของแนวทางที่ สคบ.กำลังพัฒนา คือ ศูนย์เตือนภัย นั้น ข้อมูลข่าวสารต่างๆ จะมีทั้งรับมาจากผู้บริโภค,องค์กรวิชาการต่างๆ ที่มีการศึกษาวิจัยและส่งข้อมูลเข้ามา,โรงพยาบาล,สถานีตำรวจ,ศูนย์ป้องกันภัยต่างๆ ก็จะส่งข้อมูลเข้ามาในศูนย์เตือนภัยนี้ ศูนย์นี้ก็จะวิเคราะห์ข้อมูลและแจ้งข้อมูล จัดลำดับการส่งข้อมูลเป็น 3 ระดับคือระดับต้น คือแจ้งข้อเท็จจริง คือข้อมูลที่เป็นจริง ตรวจสอบแล้วว่าเป็นจริงก็แจ้งเข้าไประดับที่ 2 คือข้อมูลที่สามารถสื่อไปทางฝ่ายเฝ้าระวังได้ระดับที่ 3 คือข้อมูลที่จะนำไปสู่การจัดการ เช่น จัดการห้ามขาย จัดการเรียกคืน จัดการนำสิ่งค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศออกไป โดยจะมีกฎมายรองรับเรื่องเหล่านี้โดยข้อมูลต่างๆ ที่ สคบ.เผยแพร่ออกไปก็หวังให้ผู้บริโภคนำไปขยายต่อในวงกว้าง ภก.วิษณุ โรจน์เรืองไร นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการพิเศษ กลุ่มสารสนเทศ กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงงานในความรับผิดชอบว่า อย.ได้เตรียมช่องทางการสื่อสารดิจิทัล แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือกลุ่มแรก เป็นเว็บไซต์ มี 2 อันคือ www.fda.moph.go.th  เป็น official website ของ อย. มีข้อมูลที่หลากหลาย ให้บริการทั้งผู้ประกอบการ ประชาชน ส่วนเว็บไซต์ที่ 2 จัดทำเพื่อกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนโดยตรงคือ www.oryor.com เป็นเว็บไซต์ที่มีแต่ข้อมูลสำหรับประชาชนทั่วไปเป็นหลัก ถ้าเป็นผู้ประกอบการก็อาจจะไม่มีประโยชน์สักเท่าไร  ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นพวก แอปพลิเคชัน มีชื่อว่า oryorsmart application ปัจจุบันเป็นเวอร์ชันที่ 3 รองรับการใช้งานทั้งไอโอเอสและแอนดรอยด์ และจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันสมัยที่สุดกลุ่มที่ 3 เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ค อย.ก็พยายามสร้างทางเลือก เพราะเข้าใจว่าทุกคนอาจไม่ได้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คที่เหมือนกันหมด จึงพยายามทำหลายช่องทางเพื่อรองรับ ปัจจุบันมีด้วยกัน 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ เฟสบุ๊ค,ทวิตเตอร์,ยูทูป,อินสตาแกรม,ไลน์ นี่คือช่องทางต่าง ๆ ที่อย.ใช้สำหรับการสื่อสารเตือนภัย --------------------------------------------------------------------- 5 แพลตฟอร์มของ อย. facebook.com/fdathai twitter.com/fdathai Instagram.com/fdathai YouTube.com/fdathai Line@fdathai ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ประธานมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ  เรื่องการแจ้งเตือนภัยในมุมมองของตัวเอง มองว่าเป็นการเสริมพลังในภาคประชาชนหรือผู้บริโภคและภาคี มีตัวอย่างสินค้าจำนวนมากที่เป็นอันตรายต่อประชาชน และกลุ่มผู้บริโภคหรือภาคีเครือข่ายเป็นผู้แจ้งเบาะแส แจ้งเตือนภัย ในฐานะที่เคยอยู่กรมวิทย์ฯ ผู้บริโภคสามารถเข้าไปดูผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยได้ที่ www.tumdee.org  ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในมุมมองของ ภก.วรวิทย์ มองว่า การแจ้งเตือนภัย ต้องมีองค์ประกอบสำคัญดังนี้1.การแจ้งเตือนภัยถ้าทำอย่างล่าช้าก็จะไม่มีประโยชน์ ต้องทำให้ทันต่อเหตุการณ์ 2.การแจ้งเตือนภัยถ้าทำไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย ไม่มีประโยชน์  3.ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้สะดวก การเฝ้าระวังที่ดีก็จะนำมาซึ่งข้อมูลที่รวดเร็ว ทำให้สามารถเตือนภัยได้เร็ว จากนั้นก็ควรนำไปสู่การจัดการสินค้านั้นๆ พ.ต.อ.ทีนัฐกรณ์ วัฒนแสงประเสริฐ   ผู้กำกับการสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด   เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.)“การแจ้งเตือนภัย ทุกหน่วยงานมีอยู่แล้ว ตำรวจเองก็มี แต่ว่าในเพจกองปราบปราม พบว่ามีผู้ติดตามเพียงพันกว่าคนเท่านั้น คิดว่าประชาชนคงอยากไปดูทางอย. หรือทาง สคบ.มากกว่าเพราะคิดว่าเขารับผิดชอบโดยตรง ข้อมูลที่ได้แสดงไว้ในเพจ คือผลลัพธ์ของการสืบสวนและมีการจับกุมแล้ว มีด้วยกัน 2 เพจบนเฟซบุ๊ค ชื่อ “รู้ทันภัยเครื่องสำอาง อาหาร และยา” และอีกเพจคือ “กองบังคับการปราบปรามคุ้มครองผู้บริโภค” และก็มีเพจส่วนตัว ชื่อว่า “ผกก.เติ้ล” จะมีสาระความรู้อยู่ในเพจนี้ เป็นการแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนทุกรูปแบบ บางครั้งก็มีการเผยแพร่แบบไลฟ์ด้วย เช่น เกี่ยวกับเรื่องแชร์ลูกโซ่ เรื่องการขายตรง เป็นต้น” ในกรณีของสินค้าออนไลน์ สามารถเข้าไปแจ้งได้ มีเวรรับแจ้งตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว แต่ประชาชนมักกลัวการแจ้งความเพราะกลัวการขึ้นศาล ไม่กล้าลงชื่อเพราะกลัวเขาจะรู้ว่าตัวเองไปร้องเรียน ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่มีชื่อ เขาก็รับการร้องเรียน แต่จะต้องตรวจสอบข้อมูลว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ แต่หากมีชื่อหรือหมายเลขติดต่อก็จะสะดวก เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ เพื่อที่จะชี้ชัดเรื่องข้อเท็จจริงได้ ไม่ต้องเสียเวลาไปตามหา อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหา สามารถโทรแจ้งที่สายด่วนได้เลย  เพราะหากไปแจ้งความตามโรงพักในต่างจังหวัด ตำรวจจะขาดความชำนาญเฉพาะทาง สายด่วน ปคบ.คือหมายเลข 1135 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 การประเมินนโยบายงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (ตอนจบ)

หลังจากที่พรรค CDU ของนางแองเจล่าร์ แมร์เคลประสบความสำเร็จได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถได้รับคะแนนเสียงข้างมากได้ และคะแนนนิยมตกต่ำลงซึ่งเป็นผลพวงมาจาก นโยบายการรับผู้อพยพลี้ภัย โดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยภายใน ส่งผลให้การเจรจากับพรรคอื่น ไม่ว่าจะเป็น พรรค FDP หรือ พรรค The Green Party ประสบความล้มเหลว และในที่สุด ก็สามารถจัดตั้งพรรครัฐบาลผสมโดยพรรคขนาดใหญ่ 3 พรรค คือ พรรค CDU CSU ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยม และพรรค SPD ซึ่งเป็นพรรคสายสังคมนิยม การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสม ได้สั่นคลอนความเป็นปึกแผ่นของพรรค SPD มีการเปลี่ยนผู้นำพรรค และ ผู้บริหารพรรค นอกจากนี้ หลังการเจราจาจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้ว ก็ยังมีการทำสัตยาบรรณ(Koalitionsvertrag) ในการเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยสิ่งที่น่าสนใจสำหรับ พรรค SPD ซึ่งเป็นพรรคสายสังคมนิยม คือ การลงคะแนนเสียงของสมาชิกพรรคเพื่อยอมรับสัตยาบรรณ ดังกล่าว ซึ่งเสียงของสมาชิกส่วนใหญ่ (66.02%) จากสมาชิกพรรคทั้งหมด 463,723 คน เรียกได้ว่า การจัดตั้งรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ผ่านอุปสรรคด่านแรกไปอย่างหืดขึ้นคอทีเดียวสำหรับความเห็นขององค์กรผู้บริโภคต่อนโยบายของรัฐบาลต่อประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี จัดทำเอกสาร เพื่อประเมินนโยบายของรับบาลผสมขนาดใหญ่ของทั้งสามพรรค โดยมีทั้งหมด 12 ประเด็นได้แก่• การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค (Right and Right receiving)• การคุ้มครองผู้บริโภคในโลกยุคดิจิตัล (Digital  world)• ตลาดเงิน ตลาดทุน (Financial market)• การประกันสุขภาพและการดูแลผู้ป่วย (health and care insurance market)• อาหาร (food market)• พลังงาน (Energy market)• อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย (Real estate and accommodation)• การเดินทาง การท่องเที่ยว (Mobility and tourism)• การบริโภคที่ยั่งยืน และการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ (sustainability consume and resource protection)• การค้าข้ามชาติ (International commerce)• การรู้เท่าทัน (consumer education)• การเฝ้าระวังกลไกตลาด (market surveillance)นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อประเด็น ตลาดเงิน ตลาดทุน (Financial market) ทางคณะรัฐมนตรีเสนอให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการจัดการการประกันเงินบำนาญ ชราภาพแห่งชาติ โดยทำหน้าที่ ศึกษาและจัดทำข้อเสนอ ในการพัฒนารูปแบบการจัดการระบบประกันเงินบำนาญ ชราภาพ ภาคบังคับ (Gesetzliche Renterversicherung) เนื่องจาก ระบบสวัสดิการของประเทศเยอรมันนั้น เมื่อคนทำงานมีรายได้ จะถูกหักเงินรายได้ส่วนหนึ่งเข้ากองทุนเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับการหักเงินประกันสังคมในบ้านเรานั่นเอง วัตถุประสงค์การจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้คือ เพื่อทำให้กองทุนบำนาญชราภาพ ที่จัดเก็บจากรายได้ประชาชนและเงินสมทบของผู้ประกอบการ ให้เกิดความยั่งยืน ภายในปี 2025 องค์ประกอบของคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจาก ภาคประชาสังคม ภาคการเมือง และภาคธุรกิจต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญในการที่จะต้องมีตัวแทนฝ่ายองค์กรผู้บริโภคเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย เพราะระบบการประกันบำนาญ ชราภาพ ไม่ได้มีเฉพาะการประกันภาคบังคับเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการประกันเงินบำนาญชราภาพ ภาคสมัครใจ ที่ มีผู้บริโภคอีกเป็นจำนวนมากที่ใช้บริการ การประกันภาคสมัครใจอยู่ และมีผลต่อนโยบายการประกันเงินบำนาญชราภาพในภาพรวมของประเทศ การจัดระบบการประกันเงินบำนาญชราภาพภาคสมัครใจ (Private Altersvorsorge) รัฐบาลมีนโยบายในการจัดการระบบ ประกันเงินบำนาญชราภาพใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้เอาประกัน โดยมีกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น(Dialog) ระหว่าง ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของทุกภาคส่วน และ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงระบบการประกันบำนาญชราภาพ ภาคสมัครใจที่เป็นมาตรฐาน( Riester Rente) ตอนนี้ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน(หมายเหตุ Riester Rente เป็นมาตรการ การปฏิรูประบบการประกันเงินบำนาญชราภาพ ที่ จัดเป็นการประกันภาคสมัครใจของผู้ทำงานมีรายได้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2000- 2001 ภายใต้การเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของนาย Walter Riester สังกัดพรพรรค SPD ซึ่งเป็นพรรคสังคมนิยม โดยหักจากเงินรายได้ของผู้เอาประกันและ เงินสมทบที่รัฐบาลช่วยเหลือ) ต่อประเด็นนี้ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสนับสนุนแนวความคิดในการปฏิรูประบบการประกันเงินบำนาญชราภาพใหม่ เพื่อให้คุณภาพของระบบประกันเงินบำนาญชราภาพดียิ่งขึ้น โดยที่เงินที่จ่ายเข้ากองทุนนี้ต้องลดลง แต่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยใช้มาตรการ การลดค่าการตลาด ซึ่งในกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น(Dialog) นั้น การมีส่วนร่วมนอกจากภาคตัวแทนภาคธุรกิจแล้ว องค์กรภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดทำ dialog โดยเฉพาะองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค การคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน รัฐบาลจะจัดให้มีการประเมินกลไก การคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินต่อประเด็นนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมีความเห็นสนับสนุน การประเมินมาตรการที่ใช้ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ควรให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลในการทำรายงานผลการประเมินมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินต่อสาธารณะ และควรระบุด้วยว่ามาตรการในการกำกับใดของรัฐ ที่เกินความจำเป็น (Over regulation) ก็ควรจะต้องปรับปรุง หรือ กลไกใดของรัฐที่ การกำกับดูแลแล้ว ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ก็ต้องมีการปรับปรุงเช่นกัน  การปรับปรุงค่าธรรมเนียม Prepayment charge ในการ กู้ยืมเงินซื้ออสังหาริมทรัพย์นโยบายของรัฐบาลต่อประเด็นนี้ คือ ต้องการให้สัญญา การกู้ยืมเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย ในกรณีที่ผู้บริโภคต้องการ Refinance ที่อยู่อาศัย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย ลดลง แต่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่เรียกว่า prepayment charge มีความเป็นธรรม และฐานในการคำนวณค่าธรรมเนียมเข้าใจ และเห็นภาพได้ง่ายความเห็นของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สนับสนุนนโยบายนี้ของรัฐบาล และได้เรียกร้องประเด็นนี้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว การกำกับ ควบคุม และเฝ้าระวัง ระบบการเงินการลงทุน รัฐบาลมีนโยบายในการโอนหน้าที่การกำกับดูแล ผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนทางการเงิน ให้กับ หน่วยงานรัฐคือ Federal Financial Authority (BaFin: Bundesanstalt fÜr Finanzdienstleistungsaufsicht) อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีแผนที่จะให้หน่วยงานกำกับองค์กรนี้ มีอำนาจในการกำกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินการลงทุน ใน digital platform และทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานรัฐที่ดูแลทางด้าน IT-securityเพิ่มขึ้นด้วยความเห็นของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เห็นด้วยในหลักการแต่ควรจะมีรายละเอียดในการทำงานขององค์กรกำกับดูแลนี้ให้ชัดเจนขึ้นครั้งหน้าจะนำเสนอ ความเห็นต่อนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านสุขภาพ และบริการสุขภาพครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 การประเมินนโยบายงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี

การประเมินนโยบายงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีหลังจากที่พรรค CDU ของนางแองเจล่าร์ แมร์เคลประสบความสำเร็จได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถได้รับคะแนนเสียงข้างมากได้ และคะแนนนิยมตกต่ำลงซึ่งเป็นผลพวงมาจาก นโยบายการรับผู้อพยพลี้ภัย โดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยภายใน ส่งผลให้การเจรจากับพรรคอื่น ไม่ว่าจะเป็น พรรค FDP หรือ พรรค The Greeen Party ประสบความล้มเหลว และในที่สุด ก็สามารถจัดตั้งพรรครัฐบาลผสมโดยพรรคขนาดใหญ่ 3 พรรค คือ พรรค CDU CSU ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยม และพรรค SPD ซึ่งเป็นพรรคสายสังคมนิยม การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสม ได้สั่นคลอนความเป็นปึกแผ่นของพรรค SPD มีการเปลี่ยนผู้นำพรรค และผู้บริหารพรรค นอกจากนี้ หลังการเจราจาจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้ว ก็ยังมีการทำสัตยาบรรณ (Koalitionsvertrag) ในการเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยสิ่งที่น่าสนใจสำหรับ พรรค SPD ซึ่งเป็นพรรคสายสังคมนิยม คือ การลงคะแนนเสียงของสมาชิกพรรค เพื่อยอมรับ สัตยาบรรณ ดังกล่าว ซึ่งเสียงของสมาชิกส่วนใหญ่ (66.02%) จากสมาชิกพรรคทั้งหมด 463,723 คน เรียกได้ว่า การจัดตั้งรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ผ่านอุปสรรคด่านแรกไปอย่างหืดขึ้นคอทีเดียวสำหรับความเห็นขององค์กรผู้บริโภคต่อนโยบายของรัฐบาลต่อประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี จัดทำเอกสาร เพื่อประเมินนโยบายของรับบาลผสมขนาดใหญ่ของทั้งสามพรรค โดยมีทั้งหมด 12 ประเด็นได้แก่• การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค (Right and Right receiving)• การคุ้มครองผู้บริโภคในโลกยุคดิจิทัล (Digital  world)• ตลาดเงิน ตลาดทุน (Financial market)• การประกันสุขภาพและการดูแลผู้ป่วย (health and care insurance market)• อาหาร (food market)• พลังงาน (Energy market)• อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย (Real estate and accommodation)• การเดินทาง การท่องเที่ยว (Mobility and tourism)• การบริโภคที่ยั่งยืน และการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ (sustainability consume and resource protection)• การค้าข้ามชาติ ( International commerce)• การรู้เท่าทัน (consumer education)• การเฝ้าระวังกลไกตลาด (market surveillance) นโยบายการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค (Right and Right receiving)นโยบายของรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ คือ การออกกฎหมายสำหรับการฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class action) เพื่อเพิ่มอำนาจและ การบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ซึ่งเป็นประเด็นที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี เรียกร้องมาโดยตลอด ในประเด็นนี้ รัฐบาลมีนโยบายให้สิทธิในการฟ้องคดีกับหน่วยงานที่เป็นองค์กรภาคประชาชนที่ ได้มาตรฐาน (qualified organization or institution) เช่น องค์กรผู้บริโภค สมาคมสงเสริมการแข่งขันทางการค้า เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดการ “ค้าความ” ขึ้นในกระบวนการยุติธรรม ความเห็นของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกับนโยบายดังกล่าว คือ เห็นด้วย แต่ในประเด็นของข้อกฎหมายที่เป็นข้อกังวล คือ การตีความว่า องค์กรหรือ สถาบันใดที่จะได้รับสิทธินั้น ซึ่งไม่ควรจะกำหนดกฎเกณฑ์ จนทำให้มีเพียงไม่กี่องค์กรที่สามารถฟ้องคดีแบบกลุ่มได้นอกจากนี้ ในกรณีของการเยียวยาผู้บริโภค ต่อกรณีการละเมิดสัญญาในการทำธุรกรรมในโลกดิจิทัล เช่นการซื้อตั๋วรถไฟ กรณีการละเมิดสัญญา ควรที่จะมีการเยียวยาโดยอัตโนมัติต่อกรณีของการรับผิดต่อสินค้า โดยเฉพาะการทำธุรกรรมในยุคดิจิทัล จำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายเรื่องการรับผิดต่อสินค้าให้ทันสมัยกับยุคดิจิทัล โดยรัฐบาลต้องติดตามสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และ ปรับปรุง มาตรฐาน กฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคในโลกยุคดิจิทัล (Digital  world)- การควบคุม Algorithm control ของ Artificial Intelligemce (AI) โดยจะจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมในด้านการใช้ข้อมูล (Data- Ethic Commission) เพื่อติดตามและเฝ้าระวังการใช้ AI ที่อาจละเมิดสิทธิผู้บริโภคต่อประเด็นดังกล่าว สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเห็นด้วย และสนับสนุนในการมีตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในคณะกรรมชุดนี้ และการทำงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าวต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงที และไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน (โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของ เวลา ที่มักเป็นจุดอ่อนของ Regulator)- ประเด็น Network neutrality ซึ่งสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลที่จะรักษาหลักการนี้ โดยจะต้องมีการกำกับดูแล ผ่าน กฎหมาย ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายของอียู- นโยบายการขยายโครงข่าย broadband ทั่วประเทศ ภายในปี 2025 สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า เป็นเรื่องที่สมควรทำ โดยในปีแรกของรัฐบาลควรที่จะขยายโครงข่ายให้ได้มากกว่า 50 % ของพื้นที่เป้าหมาย และต้องคำนึงถึงประเด็นในเชิงคุณภาพ ของเครือข่าย broadband ด้วย - ข้อมูลส่วนบุคคล (E-privacy- Regulation) รัฐบาลเสนอให้เกิดการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด และการออกกฎหมายของรัฐบาลต้องสอดคล้องกับหลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของอียู และความสนใจของทั้งผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ซึ่งจะต้องรักษาสมดุลระหว่างกันและกันในขณะที่ประเด็นนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า เป็นนโยบายที่ย้อนแย้งกัน แต่ก็เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะดำเนินนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเข้มงวดฉบับนี้ขออนุญาต นำเสนอ 2 นโยบายที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ได้มีความเห็นและเผยแพร่ต่อสาธารณะหลังจากที่การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ความน่าสนใจของรัฐบาลชุดนี้ คือ จะสามารถทำงานได้ครบวาระหรือไม่ ภายใต้การขัดแย้งทางการเมืองที่ถาโถมเข้ามาเป็นระยะๆ (ที่มา เว็บไซต์สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี https://www.vzbv.de/.../ausfuehrliche_bewertung_koav_vzbv.pdf) ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 กฎหมายคุ้มครองแม่และเด็กแรกเกิดจากอิทธิพลของบริษัทนมผง

การตลาดที่ได้ผลดีที่สุดของบริษัทนมผง คือการเปลี่ยนให้บุคลากรทางด้านสาธารณสุขกลายมาเป็นตัวแทนขายของบริษัทนม มีรายงานในประเทศไทยระบุว่า แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมผสม ร้อยละ 81.8 จะเลือกยี่ห้อนมตามที่ได้รับแจก(ตัวอย่าง)และคำแนะนำจากบุคลากรสาธารณสุข ภาพจำในหลายๆ ปีที่ผ่านมา รูปแบบกิจกรรมการตลาดของบริษัทนมผงมีการบันทึกไว้หลากหลาย กล่าวคือ เป็นการตลาดแบบจู่โจมเข้าถึงเนื้อตัวคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อกับหญิงที่ตั้งครรภ์โดยตรงของตัวแทนขายสินค้า(ส่วนหนึ่งก็เป็นบุคลากรทางสาธารณสุข) หรือการแจกนมผงฟรีที่โรงพยาบาลให้แม่นำกลับไปเลี้ยงลูกที่บ้าน หรือการให้ข้อมูลที่เกินความเป็นจริงต่างๆ เพื่อโน้มน้าวให้คุณแม่เชื่อว่า นมผงเทียบเท่านมแม่ หรือดีกว่าเพราะเพิ่มเติมสารอาหารที่จะทำให้พัฒนาการของเด็กดียิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังเกี่ยวโยงไปถึงการที่บริษัทนมบริจาคสิ่งต่างๆ ให้กับสถานพยาบาล ทั้งในรูปแบบ การจัดกิจกรรมให้ความรู้กับแม่ การให้ค่าตอบแทนพิเศษแก่บุคลากรที่ช่วยแนะนำสินค้า การนำผลิตภัณฑ์แจกให้กับแม่ถึงเตียงนอนพักฟื้น ฯลฯ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ได้ถูกถกเถียงกันมาอย่างยาวนานในประเทศไทย เหตุเพราะการกระทำดังกล่าวนั้น ผิดจริยธรรม อีกทั้งเข้าข่ายละเมิดสิทธิของแม่และเด็กทารกในการเข้าถึงสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดสำหรับเด็กแรกเกิด ซึ่งก็คือ การได้รับน้ำนมแม่อันทรงคุณค่า เช่นเดียวกันกับภาคธุรกิจ ผู้ที่เห็นคุณค่าของการส่งเสริมให้คุณแม่ทั้งหลายใช้น้ำนมของตัวเองเลี้ยงดูทารกก็ได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะผลักดันให้เกิดกติกา ที่จะสามารถลดทอนอิทธิพลทางการตลาดของบริษัทนมผงลง โดยเฉพาะการทำตลาดแบบถึงเนื้อตัวและการห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบผ่านสื่อทุกชนิด ซึ่งลำพังกติกาเดิมที่เรียกว่า โค้ดนมแม่ หรือ  หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ ปี 2551นั้น ไม่อาจต้านทานพลังจากภาคธุรกิจได้ จึงมีแนวคิดที่จะนำกลไกที่เป็นกฎหมายหรือพระราชบัญญัติมาใช้จัดการปัญหา และในวันที่ 9 กันยายน 2560 นี้ จะเป็นวันแรกที่ พระราชบัญญัติการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560  จะมีผลบังคับใช้ ขอเล่าถึงความยากของการผลักดัน พ.ร.บ.นี้สักเล็กน้อย เนื่องเพราะมีผลประโยชน์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องมหาศาล ทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย แน่นอนว่าส่วนหนึ่งย่อมมาจากภาคธุรกิจผู้ผลิตนมผง แต่ที่น่าตั้งคำถามที่สุดว่ามาคัดค้านเพื่ออะไร กลับเป็นบรรดาองค์กรวิชาชีพบางแห่ง ที่ให้ข้อมูลและคัดค้านจน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวนไปหลายรอบ อย่างไรก็ตามแม้จะใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ในที่สุด พ.ร.บ.นี้ก็ผ่านออกมาจนได้ ทำให้ต่อไปนี้การทำตลาดที่ละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงดังที่ผ่านมา จะต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมายและมีบทลงโทษเป็นการเฉพาะ  กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ห้ามการขายนมผง ผู้บริโภคจะยังสามารถหาซื้อนมผงได้จากร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา ฯลฯ แต่สิ่งที่กฎหมายห้ามคือ ห้ามบริษัททำการส่งเสริมการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์นมสำหรับเด็กอายุ 0-3 ปี ซึ่งหมายความว่า • ห้ามโฆษณาตามสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ ป้ายโฆษณา นิตยสาร อินเตอร์เน็ต• ห้ามแจกตัวอย่างนมผง เช่น การแจกตัวอย่างนมผงให้แม่หลังคลอด หรือเมื่อไปแจ้งเกิด • ห้ามการส่งเสริมการขาย เช่น แจกของขวัญ หรือสิ่งจูงใจต่างๆ ให้แก่หญิงตั้งครรภ์ แม่และครอบครัวของทารกและเด็กเล็ก การลดราคา การขายพ่วง• ห้ามติดต่อกับแม่ เพื่อสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น การให้ Call center โทรศัพท์ไปหาแม่หลังคลอด การจัดอีเวนท์ต่างๆนอกจากนี้ กฎหมายจะมีผลในการห้ามให้ของขวัญหรือสิ่งจูงใจอื่นๆ แก่บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด้วย  ในส่วนของตัวผลิตภัณฑ์ กฎหมายจะให้ความสำคัญกับการโฆษณาเพื่อคุมการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์ถึง 3 ปี ไม่ใช่เพียงเพราะเหตุผลว่า นมแม่มีประโยชน์ต่างๆ ต่อเด็กมากว่าแค่ในช่วง 6 เดือนแรกหรือปีแรก และเด็กควรได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัยจนอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้นเท่านั้น แต่ยังมีเหตุผลสำคัญด้านตลาดด้วย คือการป้องกันการส่งเสริมการขายแบบข้ามชนิด(Cross promotion) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่บริษัทใช้ในการหลบเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เดิม ที่ผ่านมา แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะได้ห้ามการโฆษณานมผงสำหรับทารก แต่ยังไม่มีการห้ามโฆษณานมสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไป หรือที่เราเห็นในท้องตลาดว่าคือ “นมสูตร 3” ซึ่งกลายเป็นช่องโหว่สำคัญ ให้บริษัทต่างๆ ทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์นี้ โดยทำให้รูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของทุกๆ สูตรให้คล้ายกัน และใช้ชื่อยี่ห้อที่คล้ายกันมาก มีการใช้สโลแกน สัญลักษณ์ และแมสคอตเดียวกัน และใช้เลข 1-2-3 บนกล่องเพื่อแสดงให้ว่ามีความเกี่ยวข้องกัน เพราะตั้งใจเพื่อให้การส่งเสริมการตลาดของนมสูตร 3 ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจว่าโฆษณานมสูตร 1 และ 2 ไปด้วย  แต่เมื่อกฎหมายฉบับใหม่นี้มีผลบังคับใช้ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเด็กต่ำกว่า 3 ขวบ จะถูกห้ามโฆษณาผ่านสื่อทุกชนิด  ผลิตภัณฑ์ที่จะถูกควบคุมการส่งเสริมการตลาดตามกฎหมายนี้ ประกอบด้วย 1.อาหารสำหรับทารก (อาหารสำหรับเด็กอายุ 0-12 เดือน) 2.อาหารสำหรับเด็กเล็ก(อาหารที่ใช้สำหรับเด็กอายุ 1-3 แต่จะต้องมีประกาศรองรับก่อน ส่วนนี้กรมอนามัยจะเป็นผู้จัดทำประกาศดังกล่าว) และ 3. อาหารเสริมสำหรับทารก ดังนั้นจึงขอฝากถึงบรรดาคุณแม่หรือผู้ที่ใกล้ชิด ให้ตระหนักและช่วยกันเฝ้าระวัง สอดส่องกิจกรรมการทำตลาดนมผง ที่อาจเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อดูแลลูกหลานของเราให้ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ ซึ่งเป็นอาหารอันแสนวิเศษสุดบนโลกใบนี้สำหรับเด็กแรกเกิดทุกคน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ก้าวต่อไปของการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล

“เมื่อถึงวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี เราก็กลับมาพบกันอีกครั้งกับวันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อเตือนให้ผู้บริโภคทุกคนตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเคารพและปกป้องสิทธิของผู้บริโภคอย่างทั่วถึงทั้งโลก โดยสำหรับในปี พ.ศ. 2560 นี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนก็ได้มีโอกาสข้ามน้ำทะเลไปร่วมงานประชุมผู้บริโภคสากลที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ภายใต้ประเด็นหลักคือการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล ซึ่งจะมีข้อมูลน่าสนใจอะไรบ้าง เราลองไปดูกันเลยทำความรู้จักวันสิทธิผู้บริโภคสากลกันสักนิดแม้ว่าในแต่ละประเทศจะกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภคไว้มากน้อยแตกต่างกัน แต่แนวทางหลักๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการกำหนดกฎหมาย ต่างมีที่มาจากหลักสิทธิผู้บริโภคสากลขั้นพื้นฐาน 8 ประการ ได้แก่ 1. สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน 2. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ 3. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จำเป็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ 4. สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระในราคายุติธรรม 5. สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม 6. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและค่าชดเชยความเสียหาย 7. สิทธิที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริโภค และ 8. สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย ซึ่งถูกบัญญัติไว้โดยสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) นั่นเองสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล เป็นกลุ่มองค์กรอิสระที่ก่อตั้งมานานกว่า 50 ปี มีประเทศสมาชิกในเครือข่ายองค์กรกว่า 240 องค์กรใน 120 ประเทศทั่วโลก ซึ่งบ้านเราก็เป็นหนึ่งในสมาชิกที่อยู่ในกลุ่มสภาองค์กรผู้บริโภคประเทศอาเซียน หรือในกลุ่มประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย โดยสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลมีเป้าหมายเพื่อทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วโลกโดยไม่แสวงหาผลกำไร และรับรองให้ทุกวันที่ 15 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งในวันดังกล่าวจะมีการจัดเวทีประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลปัญหาของผู้บริโภค รวมทั้งมีการกำหนดประเด็นในการรณรงค์ร่วมกันของกลุ่มประเทศสมาชิก เช่น ในปีที่ผ่านมาได้มีการร่วมรณรงค์ต่อยาปฏิชีวนะในอาหาร เนื่องจากพบว่าสามารถทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา รวมทั้งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อและการเจ็บป่วยเล็กน้อยได้ การคุ้มครองผู้บริโภคในโลกดิจิทัลสำคัญอย่างไรแม้ประเด็นปัญหาของผู้บริโภคจะมีมากมายแตกต่างกันไป แต่หนึ่งปัญหาใหญ่ที่ผู้บริโภคทั่วโลกต้องเผชิญร่วมกันในยุคนี้ก็หนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้บริโภคทั่วโลก โดยช่วยทำให้เข้าถึงและดำเนินการด้านข้อมูลต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกและการแข่งขัน รวมทั้งกระตุ้นให้มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในโลกธุรกิจ เช่น การซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ หรือการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตามข้อมูลอีกด้านหนึ่งกลับว่า โลกดิจิทัลได้สร้างอุปสรรคและความเสี่ยงต่างๆ ให้ผู้บริโภคจำนวนมาก ซึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบมากที่สุดคือยังมีผู้บริโภคบางส่วนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต และผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังไม่เชื่อมั่นในระบบความปลอดภัยของโลกออนไลน์ เพราะต่างกลัวว่าข้อมูลส่วนตัวจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือจะตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงในโลกออนไลน์ ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้ผู้บริโภคทุกภาคส่วนของโลกสามารถเข้าถึงโลกดิจิทัลได้อย่างครอบคลุม สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลจึงผลักดันให้ปัญหาดังกล่าวให้กลายเป็นประเด็นหลักสำหรับในปีนี้ โดยกำหนดชื่อการชุมประชุมว่า “Building a Digital World Consumers Can Trust” หรือการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในโลกดิจิทัล อุปสรรคและความเสี่ยงของโลกดิจิทัลส่งผลกระทบอย่างไรบ้างจากปัญหาของผู้บริโภคข้างต้น ได้เผยผลสำรวจในงานประชุมผู้บริโภคสากลครั้งนี้ว่าอุปสรรคและความเสี่ยงต่างๆ ได้ส่งผลกระทบด้านลบโดยตรงต่อเศรษฐกิจทางดิจิทัล ทำให้ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ความเชื่อใจของผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญต่อการซื้อ (demand) ซึ่งจะทำให้ตลาดดิจิทัลเจริญเติบโตทางด้านกำลังขาย (supply) ดังนั้นหากปราศจากความเชื่อใจของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอาจจะไม่มีทางเป็นไปได้ ทั้งนี้หากต้องการให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อใจนั้น ต้องมีกฎหมายที่คลอบคลุมเพื่อสร้างความมั่นใจในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านความเป็นส่วนตัว การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือด้านการชดเชยเยียวยา นอกจากนี้ในทุกประเทศควรมีองค์กรที่ทำหน้าที่สร้างความตระหนักและให้ความรู้กับผู้บริโภค เพื่อยกระดับความสามารถของผู้บริโภคการเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย อย่างองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นต้น แนวทางแก้ปัญหาเพื่อคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัลเพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งเพื่อทำให้ผู้บริโภคเกิดความไว้วางใจในโลกดิจิทัลมากขึ้น หลายประเทศต่างๆ ทั่วโลกในกลุ่ม G20 (Group of Twenty) หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 แห่ง ได้แก่ อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เม็กซิโก, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย, แอฟริกาใต้, ตุรกี, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกาและองค์กรสหภาพยุโรป ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเท่ากับร้อยละ 90 ของเศรษฐกิจโลก และมีประชากรรวมกันประมาณ 2 ใน 3 ของโลก จึงร่วมมือกันหาแนวทางคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล ซึ่งได้นำแนวทางของ UNGCP (UN Guidelines for Consumer Protection) หรือแนวทางของสหประชาชาติในการคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นกรอบแนวคิดเพื่อแก้ไขปัญหา โดยสามารถสังเคราะห์ออกมาได้เป็น 8 มิติที่ครอบคลุมประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น การขยายการเข้าถึงบอร์ดแบรนด์ การปรับปรุงคุณภาพ การพัฒนาทักษะหรือความสามารถของผู้บริโภคในการเข้าถึงโลกออนไลน์กรอบคิดของ UN ในการคุ้มครองผู้บริโภคในโลกดิจิทัลมีอะไรบ้าง8 มิติของการแก้ปัญหาที่กลุ่ม G20 ร่วมกันวางกรอบแนวคิดไว้ มีการกำหนดตัวบ่งชี้ที่สามารถอธิบายและวัดความก้าวหน้าได้ เพื่อทำให้การแก้ปัญหามีความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ดังนี้1. ด้านการเข้าถึงเพื่อลดช่องว่างของการเข้าถึงข้อมูลบนโลกดิจิทัล จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดที่สามารถบ่งบอกได้ว่าผู้บริโภคจะได้รับการส่งเสริมด้านใดบ้าง ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้จากสัดส่วนของประชากรได้รับบริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือสัดส่วนของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และวัดความพึงพอใจในคุณภาพและราคาที่ต้องเสียไปเมื่อมีการเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลต่างๆ 2. ด้านประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควรมีกฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้าสำหรับโลกดิจิทัล เพื่อป้องกันผู้บริโภคถูกเอาเปรียบด้านราคา รวมทั้งต้องให้ผู้บริโภคมีความสามารถที่จะเปลี่ยนผู้ให้บริการ ICT ได้หากไม่พึงพอใจการให้บริการออนไลน์3. ความปลอดภัยด้านสินค้าและความรับผิด โลกดิจิทัลควรมีความปลอดภัย ซึ่งสามารถชี้วัดได้จำนวนและความรุนแรงของการรายงานเหตุสินค้าและบริการดิจิทัลที่ไม่ปลอดภัย โดยต้องพัฒนากฎหมายด้านความปลอดภัยและความรับผิด รวมทั้งควรมีหน่วยงานกำกับ ดูแล ควบคุมหรือสินค้าและบริการดิจิทัล นอกจากนี้ภาคธุรกิจก็ควรร่วมมือด้วยการยึดมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยก่อนวางตลาด หรือติดตาม ตรวจสอบสินค้าของตนเองหลังการวางจำหน่ายในตลาด และเรียกคืนสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ4. ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยด้านข้อมูล เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยด้านข้อมูล ควรมี Internet server ที่ปลอดภัย และพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว5. ข้อมูลและความโปร่งใสควรมีองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้คำแนะนำก่อนทำการซื้อขาย หรือมีหน่วยงานทดสอบเปรียบเทียบสินค้าหรือบริการออนไลน์ต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคก่อนตกลงซื้อ6. การศึกษาและจิตสำนึกเพื่อทำให้ผู้บริโภคมีความรู้เท่าทันโลกดิจิทัล จำเป็นต้องเพิ่มทักษะด้านการใช้งานหรือสามารถแก้ไขปัญหาได้ หากพบว่าตนเองถูกหลอกลวงในโลกออนไลน์ เช่น วิธีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ  7. การแก้ปัญหาข้อพิพาทและการเยียวยาความเสียหายตัวชี้วัดสำหรับมิตินี้ สามารถพิจารณาได้จากสถานะของการดำเนินการระงับข้อพิพาทและการเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งความพึงพอใจของผู้บริโภคเมื่อได้รับการแก้ปัญหา โดยควรพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการระงับข้อพิพาทและการเยียวยาความเสียหายให้มากขึ้น รวมทั้งทำให้ระบบจัดการเรื่องร้องเรียนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น8. ธรรมาภิบาลและความมีส่วนร่วมหน่วยงานของรัฐสามารถสร้างความเชื่อใจของผู้บริโภคในด้านการคุ้มครองสิทธิทางดิจิทัล ด้วยการออกกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล หรือให้มีองค์กรเพื่อผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย และให้หน่วยงานเพื่อผู้บริโภคมีอำนาจในการฟ้องคดีกลุ่มแทนผู้บริโภค นอกจากนี้หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้าน ICT ต้องมีความโปร่งใสนอกจากนี้เพื่อให้ได้เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลก็ได้เสนอแนะให้กลุ่ม G20 ริเริ่มกระบวนการที่สามารถใช้เพื่อประเมิน หรือตรวจสอบสถานะของการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิตัลทั้งในระยะกลางและระยะยาว รวมทั้งควรร่วมมือกันในการพัฒนาเครื่องมือกลไกสำหรับการจัดทำนโยบายและดำเนินการตามแผนนโยบายดังกล่าวเพิ่มเติม เช่น จัดตั้งคณะทำงานหรือมีองค์กรระหว่างประเทศที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นทางการ หรือมีโครงการทดลองนำร่องเพื่อแก้ปัญหาและมีการประเมินผล แนะแนวทางเบื้องต้นสำหรับปกป้องข้อมูลของตัวเองบนออนไลน์นอกเหนือจากไปกรอบแนวคิดที่กลุ่ม G20 ได้ร่วมกันเสนอเพื่อคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัลแล้ว ก่อนจบการประชุมครั้งนี้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลก็ได้นำเสนอ 10 วิธีเบื้องต้นที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถปกป้องข้อมูลของตัวเองบนออนไลน์ได้ ซึ่งมีดังนี้1. ใช้รหัสผ่านที่ต่างกันในแต่ละบัญชีผู้ใช้ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงรหัสผ่านเสมอเพื่อป้องกันการถูกล้วงข้อมูล 2. ใช้การตั้งค่าความปลอดภัย หรือความเป็นส่วนตัวบนอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเชื่อมต่อโลกออนไลน์เสมอ 3. ระวังสิ่งที่แบ่งปันในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในพื้นที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย 4. ตั้งค่ารหัสผ่าน Wi-Fi เพื่อจำกัดการเข้าถึงเครือข่ายที่เราใช้งานอยู่ 5. อย่าหลงกลอีเมลหลอกลวงที่มักให้เรากดเข้าไปดูและกรอกรายละเอียดส่วนตัว 6. หลีกเลี่ยงการเปิดไฟล์แนบอีเมลหรือลิงก์ที่ผิดปกติ  7. ควรมีบัญชีอีเมลมากกว่า 1 บัญชี ซึ่งช่วยป้องกันการระบุที่อยู่อีเมลที่แท้จริงเมื่อต้องสมัครลงชื่อใช้บริการในเว็บไซต์ต่างๆ 8. ชำระเงินกับเว็บไซต์ที่ปลอดภัย โดยสามารถตรวจสอบได้จากที่อยู่ของเว็บดังกล่าว ซึ่งควรขึ้นต้นด้วย “https: //” ไม่ใช่แค่ 'http' หรือมีเครื่องหมายเป็นรูปกุญแจล็อคสีเขียวที่ด้านซ้ายหรือด้านขวาข้างๆ ที่อยู่ดังกล่าว 9. อัปเดตซอฟต์แวร์เสมอ เพื่อให้ระบบรักษาความปลอดภัยบนอุปกรณ์การเชื่อมต่อมีความทันสมัย 10. ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสที่มีประสิทธิภาพ *ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจากเว็บไซต์: http://www.consumersinternational.org/wcrd-2017-resource-pack/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 หลักการคุ้มครองผู้บริโภคขั้นสูง

         มีโอกาสไปร่วมประชุมและให้ข้อคิดเห็นในการพัฒนาหลักการคุ้มครองผู้บริโภคขั้นสูง(High-level Principles on consumer protection) กับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียน(ACCP, ASEAN Committee on Consumer Protection) ณ เมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ความคาดหวังของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ความคาดหวังของภาคธุรกิจ ข้อมูลข่าวสารที่มีมากมาย ความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค ความท้าทายที่จะต้องมีระบบคุ้มครองผู้บริโภค ทิศทางการเมืองในประเทศ ทรัพยากร การบริหารความเสี่ยง ศักยภาพและความเป็นผู้นำ ปัญหาสำคัญของผู้บริโภค การจัดการปัญหาให้ตรงจุดและจัดการความเสี่ยงที่สำคัญของผู้บริโภค ทำให้ต้องทบทวนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคและร่วมกันกำหนดหลักการคุ้มครองผู้บริโภคขั้นสูงในกลุ่มประเทศอาเซียน ดังนี้หลักการสำคัญประการที่ 1 การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม คงเส้นคงวา มีประสิทธิภาพ และได้สัดส่วนกับปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคประการที่ 2 ผู้บริโภคจะต้องมีทักษะ ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ความพร้อม และความมั่นใจในการใช้สิทธิของตนเอง ประการที่ 3 ผู้บริโภคจะต้องได้รับการคุ้มครองจากสินค้าและบริการที่จะส่งผลต่ออันตรายต่อสุขภาพและความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ประการที่ 4 สิทธิของผู้บริโภคจะต้องได้สัดส่วน สมดุลกับความรับผิดชอบที่ชัดเจน ง่ายเพียงพอต่อการทำความเข้าใจ ประการที่ 5 ผู้บริโภคมีความสามารถเข้าใจถึงผลกระทบจากตัดสินใจบริโภคของตนเองทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประการที่ 6 มีตัวแทนผู้บริโภคที่เข้มแข็งในการรักษาผลประโยชน์และพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในการจัดทำนโยบาย และการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านหรือกรณีต่างๆ ประการที่ 7 วิธีการที่มีประสิทธิภาพในการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค จะต้องเกิดความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมทั้งในระดับประเทศและระหว่างภูมิภาค ประการที่ 8 การเข้าถึงความจำเป็นพื้นฐานของผู้บริโภค จะต้องได้รับการพิจารณาและคุ้มครองโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ยากจนและเปราะบาง  หากทำได้ปัญหาผู้บริโภคคงลดลงได้มาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 กฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้เช่าตึกแถว

คราวนี้เราจะมาพูดถึงการคุ้มครองสิทธิด้านที่อยู่อาศัยของตนเองกันต่อ แต่เป็นเรื่องสิทธิของผู้เช่าที่ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่อาศัยนะครับ แต่ก็ถือว่า เขาเป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง มีสิทธิครอบครองใช้สอยทรัพย์ที่เช่าตามสัญญาได้ และมีสิทธิจะอยู่ในที่อยู่อาศัยหรือสิ่งแวดล้อมที่ดีเช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีใครมาทำให้เขาเดือดร้อน กฎหมายก็คุ้มครองเขานะครับมีคดีหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นกรณีผู้เช่าตึกแถวคนหนึ่ง ที่เช่าอยู่มาเกือบ 20 ปี ที่อยู่มาวันดีคืนดี ก็มีเจ้าของที่มาสร้างกำแพงปูนปิดปากทางถนน ที่ผู้เช่าใช้เป็นทางสัญจรผ่านเข้าออกเป็นประจำ ทำให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถใช้ทางได้โดยปกติสุข ก็มาฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งศาลก็มองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ผู้เช่าตึกแถวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1036/2543แม้โจทก์จะเป็นเพียงผู้เช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 แต่ถนนพิพาทเป็นถนนหน้าตึกแถวที่จำเลยที่ 1 สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่ซื้อหรือเช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 ใช้เป็นทางสัญจรผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ และโจทก์ได้ใช้ถนนพิพาทตลอดมาเป็นเวลานานถึง 17 ปีแล้ว โดยจำเลยที่ 1 ไม่เคยหวงห้าม แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะขายตึกแถวที่โจทก์เช่าอยู่ให้แก่บุคคลภายนอก แต่โจทก์ก็ยังคงอยู่ในตึกแถวที่เช่าต่อมา การที่จำเลยที่ 2 สร้างกำแพงปูนปิดปากทางถนนพิพาทด้านถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ตนซื้อจากจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์สัญจรผ่านเข้าออกไม่ได้ตามปกติย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้จำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์และผู้เช่ารายอื่นว่าจะจัดให้ถนนพิพาทเป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ตลอดไป มิฉะนั้นโจทก์และผู้เช่ารายอื่นคงไม่ยินยอมจ่ายเงินช่วยค่าก่อสร้างและจดทะเบียนการเช่ากับจำเลยที่ 1 เป็นเวลานานถึง 20 ปี และจำเลยที่ 1 ก็คงไม่ยินยอมให้โจทก์และครอบครัวตลอดจนบุคคลอื่นที่อาศัยอยู่ในตึกแถวดังกล่าวได้ใช้ถนนพิพาทเป็นทางเข้าออกตลอดมาเป็นเวลานานถึง 17 ปี เช่นเดียวกัน แม้สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะมิได้ระบุเรื่องการใช้ถนนพิพาทไว้ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้หวงห้ามมิให้ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 ใช้ถนนพิพาท และจำเลยที่ 2 ก็ทราบดีอยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 ก่อสร้างถนนพิพาทไว้สำหรับให้ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวใช้เป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ การที่จำเลยที่ 2 ซื้อถนนพิพาทบางส่วนจากจำเลยที่ 1 และได้ก่ออิฐเป็นกำแพงปิดกั้นถนนพิพาทบริเวณปากทางออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมุ่งแต่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว โดยรู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดความเสียหายแก่ผู้ที่ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 ที่ไม่สามารถใช้ถนนพิพาทออกสู่ทางสาธารณะด้านถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้โดยปกติสุข การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่ารายหนึ่งอีกเรื่อง เป็นการเช่าช่วง ที่ผู้เช่าช่วงต้องทราบว่า หากจะให้เกิดสิทธิของผู้เช่าช่วงก็ต้องทำหนังสือสัญญาเช่ากับผู้ให้เช่าไว้เป็นหลักฐานด้วย หากไม่มีก็อาจจะถูกฟ้องขับไล่ เหมือนอย่างคดีดังต่อไปนี้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6275/2551การเช่าช่วงที่ดินพิพาทถือ เป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่ง จึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่า เช่าช่วงจากโจทก์ แต่ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าช่วงกับโจทก์แต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อของจำเลยผู้เช่า จำเลยจึงไม่อาจยกการเช่าช่วงขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทจึงต้องถือว่าจำเลยอยู่โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จำเลยจะอ้างว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินแก่โจทก์แล้ว เพื่อต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาย่อมเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 ทำไมประกันภัยจ่ายไม่ครบ

ปัจจุบันกฎหมายได้กำหนดให้รถมอเตอร์ไซค์ทุกคันต้องทำประกันภัย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกฝ่าย อย่างไรก็ตามประกันภัยดังกล่าวก็สามารถสร้างความสับสนให้กับผู้ทำประกันในส่วนของการชดเชยค่ารักษาพยาบาลได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสุชาติประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ล้ม จึงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายไปทั้งสิ้น 2,800 บาท อย่างไรก็ตามเขารู้ว่าได้ทำประกันภัยกับบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยภัยจากรถ (คปภ.) ไว้ จึงนำใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวไปเบิกกับบริษัทฯ แต่เจ้าหน้าที่กลับแจ้งว่าไม่สามารถเบิกได้เต็มจำนวน โดยจะชดเชยให้เพียง 520 บาทเท่านั้น ทำให้เขาเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม จึงไม่ยินยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวและมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 กำหนดไว้ว่า สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ได้รับบาดเจ็บตามความเป็นจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อหนึ่งคน ศูนย์ฯ จึงส่งเรื่องร้องเรียนของคุณสุชาติไปไปสอบถามยัง คปภ. โดยแนบสำเนาใบเสร็จรับเงินของผู้ร้องไปด้วย ซึ่งภายหลังทางบริษัทฯ ได้ชี้แจงกลับมาว่า “คปภ. ได้พิจารณาจ่ายรักษาพยาบาลคืนให้ผู้ร้องเป็นจำนวน 2,280.18 บาท โดยไม่สามารถจ่ายเงินเต็มจำนวนคืนให้ได้ เพราะผู้ร้องเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุและทำประมาทเอง ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ได้กำหนดให้บริษัทประกันภัย บริษัทกลางประกันภัย จำกัด กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถดำเนินการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น ตามจำนวนจริงแต่ไม่เกินจำนวนเงินสูงสุด โดยให้จ่ายแต่ละรายการในอัตราไม่เกินราคาสูงสุดที่กำหนดตามมาตรฐานกลางของรายการ ซึ่งจากกรณีของผู้ร้องมีค่าใช้จ่ายที่เกินราคากลางไปจำนวน 520 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ผู้ร้องจำเป็นต้องจ่ายเอง”สรุปว่า คปภ. จ่ายได้ในแต่ละรายการไม่เกินอัตราสูงสุดที่ประกาศกำหนดไว้ ซึ่งกรณีของผู้ร้องนั้นสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 2,280.18 บาท ขาดไปจากที่จ่ายจริง 520 บาท ซึ่งผิดกับที่ผู้ร้องเข้าใจในตอนแรกว่าบริษัทฯ จะชดเชยให้เพียง 520 บาทเท่านั้น ภายหลังได้รับการชี้แจง ผู้ร้องก็ยินดีรับเงินจำนวนดังกล่าวและยุติการร้องเรียนทั้งนี้สำหรับใครที่ต้องการใช้สิทธิขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น ต้องติดต่อกับบริษัทภายใน 180 วัน นับแต่วันที่มีความเสียหายเกิดขึ้น โดยเตรียมหลักฐานต่างๆ ดังนี้1. กรณีบาดเจ็บ1.1 ใบเสร็จรับเงินจากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล หรือหลักฐานการแจ้งหนี้เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล 1.2 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย2. กรณีผู้ประสบภัยที่ได้รับบาดเจ็บต่อมาทุพพลภาพ นอกจากต้องยื่นหลักฐานตาม ข้อ 1.1 และ 1.2 แล้ว ให้ยื่นใบรับรองแพทย์ หรือความเห็นแพทย์ หรือหลักฐานอื่นใดที่ระบุว่าเป็นผู้ประสบภัยซึ่งทุพพลภาพ พร้อมทั้งสำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายจากการประสบภัยจากรถเพิ่มเติมด้วย3. กรณีเสียชีวิต 3.1 สำเนามรณะบัตร 3.2 สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน 3.3 สำเนาบัตรประจำตัว หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัยอย่างไรก็ตามสำหรับข้อมูลอื่นๆ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของบริษัทฯ  http://www.rvp.co.th หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) http://www.oic.or.th/ และสามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วน 1791

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 ว่าด้วยเรื่อง พ.ร.บ.รถ อีกสักที

ปัญหาเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางถนนสร้างความปวดหัว และปวดใจได้ไม่น้อยเลย ยิ่งในรายที่ประสบอุบัติเหตุแบบไม่ธรรมดา คือ ต้องไปข้องเกี่ยวกับรถที่ไม่ได้ทำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือเรียกว่า พ.ร.บ.ภาคบังคับ หรือบางราย พ.ร.บ.หมดอายุ (พ.ร.บ. ขาด) แล้วใครล่ะที่จะมารับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล และค่าปลงศพ (กรณีเสียชีวิต)ให้กับผู้เสียหาย  เรื่องนี้มีคำตอบกรณีที่ผู้เสียหาย 3 คน เดินกินลมชมวิวริมถนนอยู่ดีๆ ก็มีรถมาเฉี่ยวชน คนที่ 1 บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนคนที่ 2 บาดเจ็บเล็กน้อย คนที่ 3 เสียชีวิตคาที่  และบังเอิญ รถคันที่มาชนไม่ได้ทำ พ.ร.บ.ภาคบังคับเสียด้วย จะได้รับการชดเชยเยียวยาอะไรบ้างการชดเชยในกรณีนี้ -  ทั้ง 3 คน สามารถใช้สิทธิจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ สามารถทำเรื่อง เบิกจ่ายได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) -  คนที่ 1 ทายาทจะได้รับเงิน จำนวน 35,000 บาท ซึ่งจะหัก ค่ารักษาพยาบาลตามจริงก่อนเสียชีวิต ด้วย ในรายที่รักษาเกินกว่า 35,000 บาท ก่อนเสียชีวิตก็เท่ากับว่าจะไม่ได้ค่าปลงศพนั่นเอง -  คนที่ 2 โรงพยาบาลจะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท หากเกินจะสามารถใช้สิทธิที่ตนเองมีอยู่ เช่น ประกันสังคม ข้าราชการ หลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) -  คนที่ 3 ทายาทจะได้รับเงินค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาทอีกกรณีคือเด็กชายอายุ 13 ปี ได้ขับรถมอเตอร์ไซด์ พาน้องสาวอายุ 9 ปี นั่งซ้อนท้ายมาด้วยกัน แล้วถูกรถยนต์เก๋งชน จนเป็นเหตุให้คนขับบาดเจ็บ ส่วนน้องสาวเสียชีวิตคาที่  ทั้ง พ.ร.บ.รถมอเตอร์ไซด์ และ พ.ร.บ.รถยนต์ ไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย อ้างว่า เด็กชายคนดังกล่าวไม่มีใบขับขี่การชดเชยในกรณีนี้ -  โปรดจำไว้ว่า แม้คนขับจะไม่มีใบขับขี่ก็ตาม จะได้รับจากชดเชยเยียวยาจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถตามปกติคือ ค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท แต่หากพิสูจน์ได้ว่า คู่กรณีเป็นฝ่ายผิดจะได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเป็นตามจริง ไม่เกิน 50,000 บาท  เพราะ เป็นกฎหมายคนละฉบับกัน หากคนขับไม่มีใบขับขี่จะถูกดำเนินการลงโทษจาก พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยการเปรียบเทียบปรับในภายหลัง - สำหรับคนซ้อน ถือเป็นบุคคลภายนอก ไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด จะได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.รถมอเตอร์ไซด์ทันที ที่ 200,000 บาท - หากไม่สามารถตกลงกันได้ สามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)   ความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ค่ารักษาพยาบาล ตามจริง ไม่เกิน 50,000 บาท ค่าปลงศพ จำนวน 200,000 บาท ค่าชดเชยกรณีนอนโรงพยาบาล วันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน กฎหมายบังคับให้รถยนต์ทุกคันที่จดทะเบียนกับการขนส่งทางบกจะต้องมีการประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครอบผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หากไม่ทำจะมีความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และให้เจ้าของรถหรือผู้ใช้รถเก็บรักษาหลักฐานแสดงการมีประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถไว้ให้พร้อมที่จะแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทุกเวลาที่ใช้รถ เว้นแต่กรณีรถคันดังกล่าวได้จดทะเบียนหรือชำระภาษีประจำปีแล้ว   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 ประเทศไทย สองมาตรฐานจริงๆ

กว่าหนังสือเล่มนี้จะออกคงล่วงเลยเวลาที่มีบุคลากรทางการแพทย์แต่งชุดดำมาคัดค้าน พรบ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เราคงไม่บอกว่าการคัดค้านการสนับสนุนพรบ.ฉบับนี้ใครถูกใครผิด แต่มีประเด็นที่น่าคิดมากกว่านั้นคือ ประเด็นการคัดค้านของคุณหมอต่างๆ ที่ออกมาให้ข้อมูลกับสังคมว่า วันนี้ผู้ป่วยมากขึ้น หมอมีน้อย งานหนัก วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลน เตียงรองรับคนไข้ไม่เพียงพอ มาตรฐานการให้บริการยังต้องพัฒนากันอีกมาก งบบริการจัดการองค์กรเป็นไปด้วยความยากลำบากเราเข้าใจและเห็นใจเป็นอย่างยิ่งเพราะมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ และยอมรับว่าด้วยงานที่หนักมากทำให้เกิดความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างจำนวนผู้ที่ได้รับความเสียหายที่มาขอรับเงินชดเชย ตามมาตรา 41 แห่ง พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2552 (ผู้ไม่รู้สิทธิยังมีอีกมาก)จำนวน 810 ราย ผ่านเกณฑ์ช่วยเหลือ 660 รายไม่ผ่าน 150 ราย(เป็นไปตามอาการของโรค)เสียชีวิต 340 ราย พิการ 97 ราย เจ็บป่วยต่อเนื่อง 219 ราย สปสช.จ่ายเงินชดเชยไปทั้งสิ้น 73 ล้านบาท(ยังไม่รวมประกันสังคมและราชการ)   นี่คือตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีคนตายมากกว่าประเทศที่ทำสงครามอีก(อนิจจาระบบสาธารณสุขที่รักษาคนไทย)แต่อีกมุมหนึ่งในประเทศเดียวกัน เราก็เจรจาการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ โชว์สรรพคุณ คุณภาพมาตรฐานการบริสาธารณสุขที่โดดเด่นเป็นสากลไม่น้อยหน้าประเทศใดๆ ภายใต้ชื่อเมดดิคอลฮับ(ศูนย์กลางทางการแพทย์สากล) เกิดธุรกิจการแพทย์ ที่มีความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยจากต่างประเทศ คุณภาพมาตรฐานการรักษาระดับ 5 ดาว ที่เจริญเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด มีการนำโรงพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อปั่นมูลค่ากันมากมาย ถึงขนาดบางมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรการแพทย์นานาชาติ เพื่อรองรับธุรกิจดังกล่าว จนเกิดเสียงเพรียกร้องจากประชาชน ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัย ผลิตแพทย์มารักษาคนไทยให้เพียงพอก่อน แล้วค่อยคิดถึงคนต่างชาติ แต่หานำพาไม่จนมีคำถามที่ถามทีเล่นทีจริงว่าหากมีคนไทย(คนจน) กับคนต่างประเทศที่เจ็บเจียนตายเหมือนกัน โรงพยาบาลเอกชนจะเลือกรักษาใคร ? เออ..เนาะใครรู้ช่วยตอบหน่อยซิ กี่รัฐบาลมาแล้วที่ปล่อยปละละเลย..เรื่องนี้ แล้วสังคมไทยจะโทษหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์ฝ่ายเดียวก็ไม่ได้เพราะคุณหมอก็ต้องทำงานบนข้อจำกัดมากมายเราอยากบอกคุณหมอดังๆ ว่าเราอยู่ข้างคุณหมอนะ เราเข้าใจความรู้สึกของคุณหมอ และเราก็เข้าใจความรู้สึกของผู้เสียหายเช่นกัน ก็ไม่รู้ว่าจะฝากเรื่องนี้ไว้ที่ใครดี คงต้องฝากคณะทำงานที่มีหน้าที่ปฏิรูปชุดต่างๆ ช่วยปฏิรูปเรื่องนี้ด้วย ไม่อย่างนั้นอาจต้องเขียนป้ายใหญ่ๆ ปิดไว้หน้าโรงพยาบาลว่า “การเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลนี้มีความเสี่ยงโปรดใช้วิจารณญาณในการเข้ารับการรักษา” ดีมั้ยท่านนา....ยกกกกก....

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีอันตราย และบทบาทของภาครัฐในการคุ้มครองผู้บริโภค (2)

ช่วง ฉลาด ช้อปดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค บทความในฉบับนี้ มาว่ากันต่อเรื่องผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีอันตราย ปนเปื้อนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันแทบทุกวัน ดูว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้าน มีผลิตภัณฑ์อะไรบ้างที่เราควรระมัดระวัง  ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายจานชามที่ทำมาจากพลาสติก จานชามประเภทนี้จะพบสาร Bisphenol A สารเคมีตัวนี้มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และจะทำให้เกิดความผิดปรกติทางพฤติกรรม (Behavioral disorder) อีกด้วย สารตัวนี้สามารถปนเข้ามากับอาหารที่เรารับประทานเข้าไป หากใช้ภาชนะพลาสติกที่มีสารดังกล่าวอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟ เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะพลาสติก โดยใช้ภาชนะที่ทำจากกระเบื้อง เซรามิกส์ หรือแก้วแทนพลาสติกคลุมโต๊ะรับประทานอาหารที่ทำจาก พีวีซี (PVC: Poly Vinyl Chloride) สินค้าตัวนี้มีสารพลาสติไซเซอร์ (Plastisizer) ผสมอยู่ด้วย อันตรายของสารเคมีดังกล่าว คือ อาจก่อให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากและทำให้ปริมาณของเชื้ออสุจิลดลงครีมทาผิวและโลชั่น ต้องระวังที่มีส่วนผสมของพลาสติไซเซอร์ (Plastisizer) และกลิ่นมัสค์สังเคราะห์ (Musk Fragrance) ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นและเกิดอาการคันจากการแพ้ได้ เวลาเลือกซื้อครีมทาผิวควรอ่านที่ฉลากดูว่าส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์มีสารเคมีเหล่านี้อยู่หรือไม่ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจากสารเหล่านี้ โดยเฉพาะคนที่เป็นภูมิแพ้ บทบาทของภาครัฐในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อความปลอดภัยจากสารเคมีฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงตัวอย่างองค์กรเอกชนและบทบาทในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในยุโรปไปแล้ว ฉบับนี้ ขอยกตัวอย่างบทบาทภาครัฐโดยเฉพาะของสหภาพยุโรปในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคกันบ้าง เป็นที่ทราบกันแล้วว่า สหภาพยุโรป (EU) มีคณะกรรมการที่ดูแลด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะนโยบายด้านการใช้สารเคมีในการผลิตสินค้า ที่ปัจจุบันมีสารเคมีที่ใช้ประมาณ 70,000 ชนิด และกว่า 70% ของสารเคมีนั้น ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของมนุษย์ แต่กลับไม่มีข้อมูลในด้านผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งสารเคมีดังกล่าว มีการตรวจพบในเสื้อผ้าจากใยสังเคราะห์ จอคอมพิวเตอร์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ดังที่เคยเขียนเล่าให้เพื่อนๆ สมาชิกทราบไปแล้ว สาเหตุที่ทางกรรมการดูแลทางด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (EU commissioner for consumer protection) และองค์กรภาคประชาชนต้องให้ความสนใจในเรื่องนี้ เนื่องจากตามสถิติ พบว่าคู่สามีภรรยามากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถมีบุตรได้เพราะได้รับสารเคมีอันตราย ที่มีผลต่อระบบการสืบพันธุ์ ทำให้ระบบการสืบพันธุ์บกพร่อง มีเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้น คนงานในยุโรปกว่า 23% ป่วยเป็นโรคมะเร็ง เพราะเกิดจากการทำงานในโรงงานที่มีสารเคมีอันตรายเป็นเวลานาน จึงต้องหามาตรการในการป้องกันปัญหาดังกล่าว นโยบายการควบคุมสารเคมีอันตราย (REACH)ขณะนี้สหภาพยุโรปจะผลักดันมาตรการที่สำคัญ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจาณาร่างกฎหมายที่จะออกบังคับใช้ คือ การบันทึกเก็บข้อมูล (Registration) การตรวจสอบ (Evaluation) และการออกใบอนุญาต (Authorization of Chemicals) ซึ่งมีชื่อย่อว่า REACH โดยภายในระยะเวลา 10 ปี สหภาพยุโรปจะทำการศึกษาสารเคมีกว่า 30,000 ชนิด ว่ามีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะหาสารเคมีทดแทนสารเคมีที่เป็นอันตราย หรือสามารถจัดการและควบคุมการใช้สารเคมีเหล่านี้ได้ดีขึ้น เนื้อหาสาระของ REACH คือ สารเคมีต้องถูกตรวจและทดสอบถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะออกสู่ตลาด และถ้าสารเคมีใดก็ตามที่วางอยู่ในตลาดแล้ว ก็สามารถทำการทดสอบย้อนกลับไปได้อีกด้วย หากผู้ผลิตสารเคมีละเลยในการกระทำตามมาตรการดังกล่าว จะโดนอาญัติสินค้าไม่ให้จำหน่าย นอกจากนี้ในปี 2009 ผู้ผลิตและผู้ขายจะต้องให้ข้อมูลกับลูกค้า ว่าสินค้าของผู้ผลิตนั้นมีสารเคมีที่เป็นพิษ ปนเปื้อนหรือผสมมาในสินค้าหรือเปล่า ซึ่งผู้ผลิตจะต้องตอบและให้ข้อมูลกับลูกค้าภายใน 45 วัน โดยถือเป็นบริการของผู้ผลิตและไม่สามารถไปเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากลูกค้าได้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลเพิ่มเติม ในด้านความปลอดภัยจากสารเคมี และจากมาตรการนี้จะมีผลทำให้งบประมาณทางด้านการสาธารณสุข โดยเฉพาะงบประมาณที่ใช้ในการเยียวยารักษาคนป่วย และผู้บริโภค ลดลง จากการประมาณของสหภาพยุโรป เมื่อมาตรการ REACH ออกเป็นกฏหมายบังคับใช้แล้วจะสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 50,000 ล้านยูโร ภายในระยะเวลา 30 ปี แต่ที่สำคัญก็คือ สุขภาพและสวัสดิภาพภาพของประชาชนในยุโรปที่ไม่สามารถวัดเป็นตัวเงินได้นั้น จะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล และกฏหมายนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ขายที่ไม่ได้อยู่ในยุโรปด้วย เพราะสินค้าที่จะนำไปขายในยุโรปทุกชนิดจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 อาเซียนกับการคุ้มครองผู้บริโภค ฝันไกลที่ต้องไปให้ถึง

    การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือที่คุ้นกันในชื่อ เออีซี (Asean Economic Community) สร้างโอกาสมากมายให้กับประเทศในอาเซียนที่ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างกันให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน และสินค้า-บริการระหว่างกัน    ทว่า โอกาสมักมาพร้อมความท้าทาย ในมิติสิทธิผู้บริโภค เออีซีนำปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคต้องหันมาให้ความสนใจ ลองนึกดูว่าถ้าสินค้าที่ผลิตในอาเซียนถูกส่งเข้าไปขายในอาเซียนด้วยกัน หากสินค้ามีปัญหาจะมีกลไกอะไรที่จะช่วยคุ้มครองดูแลผู้บริโภคใน 10 ประเทศได้ แล้วถ้าสินค้านั้นเป็นสินค้าประเภทอาหารหรือยา ผลกระทบก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่จะต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้ และติดตามการทำงานของภาครัฐในการดูแลสิทธิของผู้บริโภค    เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับอาเซียนขึ้น เท่าที่ปรากฏขณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 องค์กรหลักคือ สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซี (SEACC: Southeast Asian Consumer Council) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาชนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม และไทย ที่จะคอยเกาะติดประเด็นสิทธิผู้บริโภค คู่ขนานไปกับอีกองค์กรหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลของประเทศในอาเซียนที่เรียกว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียน หรือ เอซีซีพี (ACCP : ASEAN Committee on Consumer Protection) โดยในส่วนของประเทศสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนในเอซีซีพีถามว่าเอซีซีพีมีภารกิจอะไร คำตอบคือ เพื่อคอยประสานงานด้านการดำเนินการและกำกับติดตามการจัดทำกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการความร่วมมือร่วมใจและใส่ใจเป็นพิเศษ ยุทธศาสตร์ของอาเซียน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคƒ    อุฬาร จิ๋วเจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้ทาง ACCP ได้มีการร่างแผนยุทธศาสตร์ขึ้นมา โดยส่งร่างเข้าไปยังที่ประชุมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่สำคัญด้วยกัน 4 ประการเรียกว่า แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2559-2568 ตามแผนนี้กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการตามแผนปฏิบัติการทั้งหมด 4 ด้านยุทธศาสตร์ที่ 1 คือการจัดทำกรอบการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียน ให้มีการกำหนดหลักการขั้นสูงด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หมายถึง การยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นระดับสากล ซึ่งจะต้องมีการทบทวนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศสมาชิก และเมื่อพอทบทวนเสร็จจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายของประเทศภายในสมาชิกให้เป็นสากลยุทธศาสตร์ที่ 2 การคุ้มครองและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้บริโภคในระดับสูง ยุทธศาสตร์นี้จะพูดในเรื่องของการส่งเสริม เช่น การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคผ่านการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้บริโภค และต้องมีการนำเสนอประเด็นข้อกังวลของผู้บริโภคต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐ เอ็นจีโอยุทธศาสตร์ที่ 3 สนับสนุนให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อหลักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและทำธุรกรรมข้ามพรมแดน วิธีการก็คือส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนผ่านการตั้งกลไกการหารือและการพัฒนาชุดเครื่องมือข้อมูลข่าวสาร มีการบังคับใช้กฎมายอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยของสินค้าต่างๆ มีการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยหรือที่เรียกว่า Alert System ขึ้นมา ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบูรณาการนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในอาเซียน การส่งเสริมให้มีการประสานกันในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคกับส่วนอื่นๆ เช่น ประเด็นการแข่งขันทางการค้า E-Commerce และจะต้องมีการพัฒนาดัชนีการเพิ่มขึ้นของความเข้มแข็งและประสิทธิภาพของผู้บริโภคในอาเซียน มีการพัฒนากลไกการประเมินผลกระทบด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีต่อผู้บริโภคเหล่านี้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่กำลังจะจบลงในปีนี้ ที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมในสังคมว่า จะต้องพัฒนามาตรฐานระบบการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศและรองรับการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการและข้อมูลข่าวสารอย่างเสรีในประชาคมอาเซียน การเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎระเบียบด้านมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ การปรับปรุงกฎหมายระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง โดยครอบคลุมถึงคุณภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและการคุ้มครองสิทธิ รวมถึงช่องทางการรับข้อร้องเรียน พร้อมทั้งปรับปรุงกลไกเฝ้าระวังคุณภาพมาตรฐานการตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการ จากการร้องเรียน การเพิ่มสมรรถนะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค สร้างความตระหนักของ ผู้บริโภคในการรักษาสิทธิและดูแลผลกระทบจากการใช้สินค้าและบริการ ควบคู่ไปกับการกระตุ้น จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจเอกชนสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน การผนึกกำลังของภาคประชาสังคมสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายเพิ่มเติมว่า“แต่เนื่องจากการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยและในอาเซียนมีการแยกส่วน ตัว สคบ. หรือเอซีซีพีดูเฉพาะเรื่องสินค้าปลอดภัยหรือความร่วมมือในบางเรื่อง แต่ก็มีกรรมการเฉพาะด้าน เช่น กรณีอาหารเสริมหมามุ่ย มีคณะกรรมการที่เรียกว่า Traditional Medicine and Health Product ซึ่งกรรมการชุดนี้จะดูเรื่องยาสมุนไพร ซึ่งก็ไปกำหนดกติกาอีกที ทำแนวทางเรื่องยา เครื่องสำอาง คือ เขาจะมีกรรมการเฉพาะในบางด้านอีกต่างหาก ไม่ได้หมายความว่าเอซีซีพีดูทุกเรื่อง ซึ่งก็คล้ายๆ กับบริบทในประเทศ เพราะแต่ละที่ก็จะมีเหมือน อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ของทุกประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือในประเด็นเฉพาะบางด้านก็มีความร่วมมือแยกออกไป”อีกด้านหนึ่ง ฟากคนทำงานด้านสิทธิผู้บริโภคก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และได้ผลักดันจนเกิดสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซี โดยมีพันธกิจในการก่อตั้งคือ เป็นตัวแทนและส่งเสริมการเคารพสิทธิของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคในภูมิภาค  ส่งเสริมให้เกิดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและเสนอความเห็นเพื่อการตัดสินใจของอาเซียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค และทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาชนทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และระดับโลก เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคสารี กล่าวว่า SEACC เป็นอีกหนึ่งกลไกที่พยายามผลักดันให้รัฐสนับสนุนให้เกิดกลไกคุ้มครองผู้บริโภคข้ามแดนขึ้น และอีกข้อผลักดันหนึ่งที่สำคัญคือ ทุกครั้งที่รัฐบาลประชุมก็ขอให้มีการจัดประชุมกับองค์กรผู้บริโภคควบคู่กันไป แล้วให้โอกาสภาคประชาสังคมเข้าไปเสนอประเด็นเรื่องผู้บริโภคในการประชุมของเอซีซีพีกติกากลาง-การเชื่อมโยงข้อมูล งานหลักที่ต้องรีบดำเนินการ    อุฬาร อธิบายว่า เบื้องต้นขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต่างก็มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเป็นของตนเอง บางประเทศเพิ่งร่าง บางประเทศเพิ่งผ่านสภา เช่น กัมพูชาที่เพิ่งจะมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนเมียนมาร์ก็เพิ่งตั้งหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น เป็นต้น ซึ่งการจะมีกฎหมายกลางระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่จะต้องพัฒนาต่อไป ในเบื้องต้นมีแค่ความตกลงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อุฬารเห็นว่าการสร้างกติการ่วมกันนั้นมีความเป็นไปได้“มันมีความเป็นไปได้ เนื่องจากประชาคมอาเซียน เราก็อยู่ในสังคมโลกเหมือนกัน ทางสหประชาชาติก็กำหนดไกด์ไลน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคออกมา ซึ่งประเทศสมาชิกก็ต้องรับมาปฏิบัติ มีคณะกรรมการ กรรมาธิการกฎหมายการค้าแห่งสหประชาชาติ ก็ประชุมกันเพื่อกำหนดเกณฑ์ในเรื่องของกฎหมายการค้า ซึ่งการคุ้มครองผู้บริโภคมันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแต่ละประเทศก็คงจะต้องปรับแก้กฎหมายของตนเองให้สอดคล้อง พอกฎหมายของตนเองสอดคล้องแล้ว มันก็จะมีกำหนดกติการ่วมกันได้ในอนาคต”อีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือการสร้างฐานข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าในระดับชาติหรือระดับอาเซียน อุฬารยอมรับว่า ปัจจุบันฐานข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยยังกระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 20 หน่วยงาน ซึ่งตอนนี้ สคบ. พยายามปรับองค์กรเพื่อให้มีศูนย์ข้อมูลแห่งชาติด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น เพื่อดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรืออาจจะเชื่อมโยงข้อมูลกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ด้วย เพราะทาง สคบ. เห็นว่าทาง มพบ. มีข้อมูลที่เป็นเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคอยู่มากพอสมควร ซึ่งควรนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลส่วนในระดับชาติจะต้องเชื่อมโยงกับอาเซียน ซึ่งตรงนี้ทางอาเซียนก็ได้เริ่มจัดทำอินเตอร์เน็ต แพล็ตฟอร์มขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประเทศสมาชิกสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและจะมีการพัฒนาต่อไป“ตอนนี้น่าจะยังไม่มีตัวอย่างการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูล ตอนนี้เราอยู่ในระหว่างการเริ่มต้นการพูดคุยกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สพทอ. (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เราทำ MOU ร่วมกัน ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวผม เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะนำมากำหนดนโยบายพื้นฐาน ถ้าเราขาดข้อมูลที่ถูกวิเคราะห์ สังเคราะห์ออกมาให้ครบถ้วน วิธีการแก้ไขปัญหามันก็จะไม่ตอบโจทย์ ซึ่งตอนนี้รูปธรรมยังไม่ออกมาเป็นแพทเทิร์นที่สมบูรณ์ จะมีเรื่องการระงับข้อพิพาทข้ามแดน การเยียวยาผู้บริโภค การเจรจาไกล่เกลี่ยออนไลน์ ต่างๆ เหล่านี้พ่วงเข้ามาด้วย ตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการริเริ่มเบื้องต้นเท่านั้น อย่าง สคบ. เอง ตอนนี้ก็กำลังเสนอเรื่องการปรับปรุงโครงสร้าง ปรับปรุงระบบงานเพื่อให้สอดคล้องและมีความเป็นสากลมากขึ้นกับทาง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อนเสนอทางรัฐบาลต่อไป”อุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามอย่างไรก็ตาม ในมุมมองของสารี สะท้อนทัศนะวิพากษ์ต่อการดำเนินการเรื่องของรัฐบาลว่ายังไม่มีความกระตือรือร้นมากนัก โดยยกตัวอย่างว่า“มีความร่วมมือตัวหนึ่งที่น่าสนใจ เรียกว่าการรายงานผลิตภัณฑ์ที่เอาออกจากท้องตลาดหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย อยู่ในหน่วยที่เรียกว่า Product Alert อันนี้คือฝั่งเอซีซีพี พบว่าประเทศไทยเข้าไปแอคทีฟกับการรายงานเรื่องพวกนี้น้อยมาก ทั้งที่เรามีสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยเรื่องสินค้า บริการเยอะแยะ ด้วยความที่มันอาจจะมีหน่วยงานเยอะก็ได้อย่างของเวียดนามมีการรายงานเรื่อง โน้ตบุ๊ค เลอโนโว รถยนต์รุ่นนั้นรุ่นนี้ที่มีปัญหา เราเสนอให้ สคบ. นำข้อมูลเหล่านี้มาเผยแพร่ให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ เพราะบางรุ่นอาจจะผลิตที่เวียดนาม เราเชื่อว่า ถ้าพบความผิดพลาดในบางประเทศ ก็น่าจะพบความผิดพลาดที่บ้านเรา ถ้าผู้บริโภครู้ก็จะได้แก้ปัญหา แต่ขณะนี้ต้องบอกว่ามีแต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเท่านั้น ที่เอาข้อมูลนี้มาใช้ประโยชน์ แต่หน่วยงานของรัฐไม่ได้เอาข้อมูลออกมาทำเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนตื่นตัว รู้ว่ามีสินค้ารุ่นนี้ที่ประเทศนี้เอาออกจากท้องตลาดหรือในยุโรปที่ใช้กติกาเดียวกัน ใช้ระบบฐานข้อมูลเชื่อมโยงกัน เช่น ไทยส่งผักไปยุโรปและพบว่ามีซัลโมเนลลา(เชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ) ปนเปื้อน ภายใน 24 ชั่วโมง 27 ประเทศในยุโรปจะรู้หมดว่าผักนี้อยู่ในตลาดไหน บ้านเรายังไม่มีระบบแบบนี้ แม้ว่าจะมียุทธศาสตร์ให้ความสำคัญกับสินค้าปลอดภัยที่ค้าขายกันอยู่ตามชายแดน เรายังไม่เห็นระบบเตือนภัยลักษณะนี้ หรืออย่างอินโดนีเซียก็ก้าวหน้ามาก เขาเอาไดร์เป่าผมออกจากท้องตลาดเพราะไม่มีฉลากเป็นภาษาบาฮาซาร์ ซึ่งมันสะท้อนระดับความจริงจังของการจัดการเรื่องพวกนี้ที่แตกต่างกัน”สารีเห็นว่า การสร้างกติกากลางเป็นประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยยกตัวอย่างว่าขณะนี้สิงคโปร์มีกฎหมายคืนสินค้า ถ้าสิงคโปร์สั่งรถจากไทยไป แล้วพบว่ามีการชำรุด บกพร่อง คนสิงคโปร์จะได้เงินคืนหรือได้รถคันใหม่ ขณะที่ไทยยังไม่มีมาตรการทำนองนี้ เพราะฉะนั้นต้องทำกติกากลางร่วมกัน    ในมิตินี้ อุฬาร กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือความแตกต่างระหว่างกฎหมายภายในแต่ละประเทศ เรื่องขององค์กรที่รับผิดชอบเป็นองค์กรหลักในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคที่แตกต่างกันภายในประเทศ เรื่องขอความกระจัดกระจายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เกิดการซ้ำซ้อน เกิดช่องว่าง ซึ่งตรงนี้มันจะต้องมาปรับทัศนคติหน่วยงานที่รับผิดชอบภายในประเทศให้เกิดการบูรณาการกันอย่างแท้จริง ตอนนี้ สคบ. ก็เสนอให้มีศูนย์ประสานการขับเคลื่อนนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น โดยที่แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มาบูรณาการในเรื่องของการขับเคลื่อนแผนงานโครงการและก็มีการแก้ไขกฎหมายไปพร้อมๆ กัน“อุปสรรคอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องของตัวผู้บริโภคเอง เนื่องจากว่าช่องว่างระหว่างรายได้ การศึกษาของของบุคคลในประเทศเรามีค่อนข้างหลากหลาย ทีนี้จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเพียงพอ ให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงกระบวนการเยียวยาได้โดยง่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันต้องช่วยกันทำ”    อุฬาร เสริมว่า การทำ One Stop Service ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทาง สคบ. กำลังพัฒนา โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นศูนย์กลางเพื่อส่งต่อข้อมูลการร้องเรียนของผู้บริโภค ส่วนในกรณีสินค้าจากต่างประเทศ อุฬารอธิบายว่า“สมมติว่ามีผู้ประกอบการรายหนึ่งของจังหวัดหนองคาย ไปซื้อสินค้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน และผู้บริโภคของเราเกิดความเสียหาย ผู้บริโภคมาเรียกร้องขอให้ชดเชย เยียวยา พอเข้าระบบนี้ก็จะถูกคัดกรองและส่งผ่านระบบการเยียวยาข้ามแดนไป จากไทยผ่านไปที่ สปป.ลาว ทางองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่นั่นก็ไปดำเนินการเพื่อเรียกร้องการเยียวยาความเสียหายจากผู้ผลิตที่นั่น เป็นต้น”ทั้งหมดนี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดที่ทาง สคบ. กำลังดำเนินการ แม้ว่าจะพบเผชิญอุปสรรคอยู่บ้าง ขณะที่สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซีก็ยังคงเกาะติดการทำงานของภาครัฐ เพื่อปรับปรุงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไปหมายเหตุ หน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคในกรอบอาเซียนคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ซึ่งทางนิตยสารฉลาดซื้อได้ทำการขอสัมภาษณ์ แต่เนื่องจากความล่าช้าของระบบราชการ และการส่งต่อคำร้องขอสัมภาษณ์อันไม่สิ้นสุด จึงทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลจากทาง อย. มาเสนอได้ทันในการนำเสนอครั้งนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 127 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ก้าวสำคัญของงานผู้บริโภคไทย

  แม้จะพยายามใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังอย่างเต็มที่ แต่เราทุกคนคงยากที่จะหลีกเลี่ยงจากการถูกเอารัดเอาเปรียบได้ เนื่องด้วยอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับวิถีการบริโภคนั้นไม่ได้อยู่ในมือของผู้บริโภค แต่ไปผูกพันกับระบบเศรษฐกิจ บรรษัทข้ามชาติ นักการเมืองและพ่อค้า คงมีก็แต่ผู้บริโภคที่แข็งแรงมากพอเท่านั้นที่จะมีโอกาสรอดได้ ซึ่งก็เป็นแค่คนส่วนน้อย ทุกวันนี้ประชาชนผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับปัญหาการละเมิดสิทธิอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง   ความฝันของผู้บริโภค   ความฝัน ความจริง ของดี ราคาไม่แพง ของห่วย ราคาแพง อาหารสะอาด ปลอดภัย อาหารปนเปื้อนสารพิษ สารเคมี ไปไหนมาไหนสะดวก บริการขนส่งสาธารณะได้มาตรฐาน ไปไหนไม่ค่อยมีทางเลือก ราคาไม่คุ้มบริการ ตลอดปีมีแต่อุบัติเหตุ ค่าน้ำ ไฟ โทรศัพท์ สมเหตุสมผล มีการบริหารจัดการที่ดี ราคาขึ้นไม่มีเหตุผล คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้เรื่องโครงสร้างราคา   ความฝันกับความจริงมักจะสวนทางกัน ไม่ว่าผ่านมากี่ยุคสมัย ผู้บริโภคยังต้องดิ้นรนเพื่อให้รอดจากการถูกเอาเปรียบ   ทำไมงานคุ้มครองผู้บริโภคบ้านเราไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าหากมองว่า ทางออกของการดูแลผู้บริโภคคือ กฎหมาย ประเทศไทยก็มีกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก แล้วทำไมผู้บริโภคจึงยังถูกเอาเปรียบ??? ก็เพราะกฎหมายมีข้อจำกัดที่ว่า ทำได้แค่ดูแลเฉพาะเรื่องที่กรอบกฎหมายของตนเองกำหนดไว้เท่านั้น โดยทุกกฎหมายเน้นการป้องกันที่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาหาร ยา ที่ดิน ประกันชีวิต ฯลฯ ซึ่งเน้นควบคุมที่ผู้ประกอบการหรือต้นน้ำ ด้วยแนวคิดที่ว่าถ้าผู้ประกอบการดีเสียอย่าง ผู้บริโภคก็ปลอดภัย ซึ่งในความเป็นจริง ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะขีดความสามารถของหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลกฎหมาย ไม่อาจทำได้ถึงขนาดที่จะควบคุมผู้ประกอบการทุกรายและทุกสินค้าหรือบริการ เพราะโลกทุกวันนี้อยู่ในสภาพการผลิตที่ล้นเกิน และการบริโภคที่มากเกินไป ถามว่า แล้วมีกฎหมายที่เน้นที่ตัวผู้บริโภคไหม ก็มีอยู่ 1 ฉบับที่ระบุถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค คือ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่มีสำนักงานหนึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับ พ.ร.บ. นี้ คือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ.   ทว่า สคบ.ก็ขับเคลื่อนงานผู้บริโภคได้ไม่มาก เพราะถูกจำกัดบทบาทด้วยกฎหมายเช่นกัน กล่าวคือ สคบ.ดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคได้เฉพาะเรื่องที่ไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดของรัฐรับผิดชอบอยู่แล้ว เช่น เรื่องอาหาร ไม่ใช่บทบาทของ สคบ. แต่เป็นบทบาทของ อย. หรือเรื่องการเงินการธนาคารก็ไม่ใช่ สคบ. แต่เป็นบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ดังนั้นที่หลายคนเข้าใจว่า สคบ.เป็นหน่วยงานกลางของงานคุ้มครองผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง อีกทั้ง สคบ. ก็มิได้มีบทบาทหน้าที่ที่จะไปกำหนดนโยบายหรือมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศ นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ว่า ทำไมงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีข้อจำกัดอย่างมาก เมื่อหันกลับมามองที่ภาคประชาชน ก็ยิ่งพบสภาพการณ์ที่ย่ำแย่ ประชนชนทั่วไปยังเข้าใจในสิทธิผู้บริโภคน้อยเกินไป ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้อเลือกใช้ อาจเรียกได้ว่า “มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก” ทีเดียว ส่วนใหญ่ถูกชวนเชื่อให้ลุ่มหลงไปกับคำโฆษณา การประชาสัมพันธ์และการตลาดที่รุกรานเข้าไปในพื้นที่ทุกช่วงเวลาของชีวิต ทั้งในรายการข่าว ในละคร บนรถเมล์ ในโรงภาพยนตร์  ฯลฯ ยิ่งผนวกรวมกับความรู้สึกไม่อยากจะใช้สิทธิหรือร้องเรียน เพราะกลัวปัญหายืดเยื้อเรื้อรัง จนปล่อยเลยตามเลย ก็เลยกลายเป็นจุดอ่อนให้ผู้ประกอบการยิ่งได้ใจเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคมาตลอด  เพราะคนจ้องจะเอาเปรียบมีมากเกินไปและแข็งแรงเกินไป หรืออาจเป็นเพราะผู้บริโภคเราอ่อนแอเกินไป รู้น้อยเกินไป เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคก็มีมากมายหลากหลายเสียเหลือเกินตั้งแต่เรื่องเล็กอย่างกระดาษทิชชู จนถึงเรื่องระดับประเทศอย่างน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะฉะนั้นถ้าหวังให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค คอยไล่ตามแก้ปัญหา ย่อมไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม ในระยะยาวถ้าหวังให้งานคุ้มครองผู้บริโภคเข้มแข็ง ก็ต้องส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง จนถึงขนาดมีอำนาจต่อรองกับภาคการผลิตได้ สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นในกฎ ระเบียบต่างๆ ที่กระทบกับการบริโภคได้ ไม่เป็นเพียงหน่วยย่อยเล็กๆ ที่ถูกกระทำดังเช่นทุกวันนี้   หน่วยพิทักษ์ผู้บริโภคกับการเดินทาง 14 ปี อันที่จริงเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้น ยังคงวนเวียนเขียนได้ไม่เคยเก่า ราวกับเป็นเรื่องธรรมดาของประเทศนี้ แม้เหตุการณ์จะผ่านไปหลายสิบปี รัฐบาลเปลี่ยนไปหลายชุด ผู้บริโภคก็ยังเป็นเหยื่อไม่เคยเปลี่ยน ถึงอย่างไร โลกนี้ก็ไม่สิ้นไร้ซึ่งความหวัง เมื่อปี พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ร่างโดยภาคประชาชนได้กล่าวถึงการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในมาตรา 57 โดยกำหนดไว้ว่า “ต้องมีองค์การอิสระ” ที่มีผู้แทนผู้บริโภคมาทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎและข้อบังคับต่างๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ด้วยความที่เป็นกลไกใหม่ “องค์การอิสระ” ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันมากมาย โดยเฉพาะคำว่า “อิสระ” ว่าแค่ไหน อย่างไร รวมทั้งจุดอ่อนสำคัญที่ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญให้แน่ชัดว่าต้องเกิดองค์การนี้ภายในระยะเวลากี่ปี สุดท้ายก็ตายจากไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญปี 2540   แต่เพราะปัญหาผู้บริโภคเป็นเรื่องของคนทุกคน คำว่า “คุ้มครองผู้บริโภค” และ “องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค” จึงกลับมาในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 อีกครั้ง โดยคราวนี้ขยับไปที่ มาตรา 61 โดยแก้ไขจุดอ่อนที่มีในคราวรัฐธรรมนูญ 2540 โดยองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคในมาตรา 61 แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า ต้องการให้เป็นองค์กรที่เป็น “อิสระ” จากหน่วยงานของรัฐจริงๆ ไม่ใช่อยู่ในกำกับของรัฐ และนำบทเรียนเรื่องกรอบเวลามาปรับให้เป็นรูปธรรม โดยเขียนบทเร่งรัดกำหนดกรอบเวลาไว้ในมาตรา 303 ว่า รัฐบาลชุดแรกหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ประกาศใช้ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ต้องจัดทำกฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคให้เสร็จและบังคับใช้ได้ภายใน 1 ปี ถ้าเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ปี 2554 นี้เราคงมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เกิดขึ้นแล้ว แต่หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ มีการเปลี่ยนรัฐบาลถึง 3 คณะใน 1 ปี เราถึงยังไม่มีองค์การอิสระฯ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเสียที   การขยับตัวของภาคประชาชน ในสมัยรัฐธรรมนูญ ปี 2540 องค์กรผู้บริโภคคึกคักกันพักใหญ่ เพราะเห็นทางรอดของผู้บริโภคไทย ที่รัฐธรรมนูญให้แนวทาง การกำเนิดขององค์กรใหม่ ที่จะมาทำหน้าที่ หน่วยพิทักษ์ผู้บริโภค ที่เป็นหน่วยงานกลางในเรื่องผู้บริโภคจริงๆ ไม่ใช่ตัวแทนเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หน่วยงานที่จะทำหน้าที่หลักในการคุ้มครองผู้บริโภค เฝ้าระวังและให้ความเห็นในกฎหมายหรือมาตรการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภค   สามปีแรก(2541 – 2543) เป็นงานเดินสายสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคและหน่วยงานต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวคิดเรื่อง ความเป็นอิสระ อำนาจ หน้าที่ ต่อมาก็มีการยกร่าง กฎหมายองค์การอิสระขึ้น และทำความเข้าใจกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จนถึงช่วงท้ายๆ ของอายุรัฐธรรมนูญปี 2540 สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอกฎหมายได้ถึง 50,000 รายชื่อ แต่น่าเสียดาย ความหวังครั้งนั้นหายวับไปพร้อมกับเหตุรัฐประหาร 19 กันยายน 2549   แม้สิบปีจะยังไม่มีองค์การอิสระฯ เกิดขึ้น แต่ก็เหมือนกับได้เป็นการสร้างความพร้อม และปูพื้นฐานส่วนหนึ่งให้กับภาคประชาชน รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ เมื่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถือกำเนิดขึ้นและบทบัญญัติที่เกี่ยวกับองค์การอิสระไม่ได้หายไป ภาคประชาชนก็เริ่มขยับตัวอีกครั้ง การผลักดันกฎหมายโดยภาคประชาชนการเข้าชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 10,000 คน เสนอ (ร่าง) พ.ร.บ. องค์การอิสระผู้บริโภค ฉบับประชาชน   15 มีนาคม 2551 เริ่มรณรงค์ครั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 50องค์กรภาคประชาชน ประกาศเจตนารมณ์ และรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ ในการเสนอกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภค และรณรงค์ในจังหวัดต่างๆ  19 กุมภาพันธ์ 2552 ยื่นรายชื่อ  12,208 ชื่อ ต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา   23 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2552 รัฐสภาตรวจสอบรายชื่อ กระบวนการตรวจสอบรายชื่อ ความถูกต้องสมบูรณ์ รวมจำนวนที่ตรวจสอบได้  11,700  รายชื่อ   4 มีนาคม 2552 รัฐสภาส่งข้อมูลให้ กกต. ตรวจสอบสิทธิ 1 เมษายน 2552กกต. ส่งรายชื่อไปให้กรมการปกครองเป็นผู้ตรวจสอบ กรมการปกครองทำการส่งรายชื่อไปปิดประกาศในพื้นที่เพื่อร้องคัดค้าน เป็นเวลา 20 วัน   พฤษภาคม 2552กกต. ส่งกลับรายชื่อที่รับรองมาที่รัฐสภา     26  พฤษภาคม  2552รัฐสภาแจ้งผลการตรวจสอบ สรุปว่ามีผู้เข้าชื่อครบ 10,000 ชื่อ   1 มิถุนายน 2522 ประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ส่งให้นายกรัฐมนตรีลงนามให้คำรับรอง   หลังนายกรัฐมนตรีรับรอง ภาคประชาชนได้รับหนังสือจากเลขาธิการประธานรัฐสภา จะพิจารณาบรรจุเข้าวาระการประชุมของรัฐสภา   5 ตุลาคม 2553สภาผู้แทนราษฎร รับหลักการของร่างกฎหมาย 7 ฉบับรวมทั้ง พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ฉบับประชาชน โดยตั้งกรรมาธิการ 54  คน เป็นกรรมาธิการภาคประชาชน 18 คน   27 มกราคม 2554 พิจารณาร่างกฎหมายแล้วเสร็จ พร้อมเสนอให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป   9 กุมภาพันธ์ 2554 บรรจุวาระร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค วาระที่ 2   20 เมษายน 2554(ร่าง)พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 3 วาระ 10 พฤษภาคม 2554  รัฐบาลประกาศยุบสภา การพิจารณากฎหมายของวุฒิสภาต้องหยุดชะงักไป เพื่อรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่งภายใน 60 วันหลังการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง วุฒิสภาจึงจะสามารถพิจารณาร่างกฎหมายนี้ต่อไปได้   องค์การอิสระฯ ตามมาตรา 61 ทางออกระยะยาวที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม หลังผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร์ทั้ง 3 วาระ และรอลุ้นระทึกว่า รัฐบาลใหม่จะสานฝันให้ผู้บริโภคได้ทันหรือไม่ เรามาดูบทบาทหน้าที่ขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนี้กันสักหน่อย องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามร่างกฎหมายฉบับนี้ มีบทบาทสำคัญ  8 ประการ ได้แก่ 1. ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค 2. ตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและรายงานไปยังหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ และอาจรายงานเรื่องดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา รวมทั้งเผยแพร่เรื่องดังกล่าวต่อสาธารณชน  ทั้งนี้ ให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบดังกล่าวรายงานผลการพิจารณาและการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการภายในระยะเวลาอันสมควร 3. ดำเนินการและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริง หรือแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้บริโภค ในการนี้จะระบุชื่อสินค้าหรือบริการ หรือชื่อของผู้ประกอบการด้วยก็ได้ 4. สนับสนุนการใช้สิทธิร้องเรียนของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบการ และดำเนินการให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ 5. ดำเนินคดีต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม โดยคณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งเลขาธิการหรือพนักงานขององค์การเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดี รวมทั้งมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่ร้องขอได้ด้วย  ทั้งนี้ การฟ้องและดำเนินคดีดังกล่าว ให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด  6. สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคดังกล่าว ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  7. ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัย  รวมทั้งจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรผู้บริโภคหรือประชาชนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ  8. จัดให้มีการประชุมสมัชชาองค์กรผู้บริโภคอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเพื่อประเมินการดำเนินงานขององค์การ และติดตามตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค   ถ้านับเวลาจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็เป็นเวลากว่าสี่ปีมาแล้ว แต่หากนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มีการระบุให้จัดตั้งองค์การอิสระไว้ในมาตรา 57 ก็เป็นระยะเวลายาวนานถึง 14 ปี และหากรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพียงแค่ปล่อยให้เวลาผ่านเลยวันที่ 30 กันยายน 2554 การดำเนินการในการออกกฎหมายก็จะต้องเริ่มใหม่หมด นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของผู้บริโภค อีกทั้งความตั้งใจและการดำเนินการที่ผ่านมาของภาคประชาชนจะกลายเป็นศูนย์ ต่อจากนี้ไป เราคงต้องมาร่วมลุ้นระทึกกันอีกครั้ง ว่าองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จะกลับไปเริ่มต้นกันใหม่หรือดำเนินการต่อไปอย่างสง่าผ่าเผย ได้โปรดติดตาม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point