ฉบับที่ 161 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2557 เด็กไทย...เหยื่อโฆษณาอาหาร มีเดียมอนิเตอร์ร่วมกับแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ศึกษาการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการสำหรับเด็ก ทางฟรีทีวี 4 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 5 7 และ 9 ช่วงปิดเทอมใหญ่ ระหว่างวันที่ 24 มี.ค. ถึง 4 เม.ย. 2557 พบว่า ร้อยละ 94 ของอาหารและเครื่องดื่มที่โฆษณาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่ม นม และขนมขบเคี้ยว ซึ่งโฆษณาที่เป็นปัญหามักใช้กลยุทธ์ต่างๆ ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พรีเซนเตอร์ที่เป็นดาราดัง ใช้การ์ตูน ทำให้อาหารมีขนาดใหญ่เกินความเป็นจริง กระตุ้นให้กินเกินความจำเป็น บ้างก็อ้างถึงขนาดว่ากินแทนอาหารมื้อหลักได้ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายควบคุมการโฆษณาไม่ครอบคลุมการโฆษณาที่มีรูปแบบและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก อย., กสทช. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งออกข้อกำหนดในการควบคุมโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม เพราะขณะนี้พบว่ามีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่มีภาวะโภชนาการไม่เหมาะสมกับวัย เกิดภาวะอ้วน ขาดสารอาหาร และรุนแรงถึงขั้นเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน หัวใจ ไต ความดัน   ใช้ “ทิชชู” ซับน้ำมัน เสี่ยงอันตราย!!! จริงหรือ ใครที่ชอบใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันจากอาหาร ต้องระวังให้ดี เพราะกรมอนามัยได้ออกมาเตือนว่า ในกระดาษทิชชูมีสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ซึ่งทำปฏิกิริยากับโปรตีนและไขมัน ทำให้มีฤทธิ์กัดกร่อน หากหายใจเข้าไปจะทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ หากสัมผัสถูกผิวหนังจะระคายเคืองรุนแรง นอกจากนี้ยังมีสารก่อมะเร็ง หากกินเข้าไปก็อาจเป็นอันตรายกับกระเพาะอาหาร กระบวนการผลิตกระดาษทิชชู นิยมใช้กระดาษมาหมุนเวียนใหม่เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น นำกระดาษ A4 ที่ใช้แล้วมาผลิตกระดาษทิชชู ซึ่งการตีวัตถุดิบให้เป็นเนื้อเยื่อต้องใช้สารโซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือ โซดาไฟ และเพื่อความขาวน่าใช้ จึงมีการใช้สารคลอรีนฟอกขาว ซึ่งมีสารไดออกซินเป็นส่วนประกอบ การใช้ทิชชูซับน้ำมันจากอาหาร กระดาษจะสัมผัสกับอาหารโดยตรง จึงควรเลือกใช้กระดาษที่ผลิตมาเพื่อใช้กับอาหารโดยเฉพาะ และต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐานระดับสากล เช่น HACCP ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตที่มีมาตรการป้องกันอันตรายที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการบริโภคอาหาร แต่หลังจากที่มีข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็ได้มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ได้ออกมาโต้แย้งในข้อมูลดังกล่าว ว่า กระดาษ อนามัยหรือกระดาษทิชชูนั้น ไม่ได้มีความน่ากลัวตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด และแทบจะไม่มีโซดาไฟ และสารไดออกซินอยู่เลย ดร.ภูวดี ตู้จินดา อธิบายผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ว่า สารพิษที่เป็นข่าวอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นไดออกซินหรือโซเดียมไฮดร็อกไซด์ ไม่ได้เกิดขึ้น ใน "กระบวนการผลิตกระดาษ" แต่ถูกใช้ใน "กระบวนการฟอกเยื่อ" ดังนั้นการจะมีโซดาไฟปริมาณมากพอ ที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพปนเปื้อนอยู่ในเยื่อกระดาษธรรมดาๆ นั้นว่าน้อยแล้ว สำหรับกระดาษทิชชูนั้นยิ่งน้อยกว่า อีกทั้งโรงงานฟอกเยื่อเกือบทั้งหมดในประเทศไทยใช้สาร "คลอรีนไดออกไซด์" ซึ่งอาจทำให้เกิดสารพิษที่เรียกสั้นๆ ว่า AOX แต่ไม่เกิด "ไดออกซิน" เมื่อ "เยื่อกระดาษ" ไม่มีโซดาไฟ และ(แทบ)ไม่มีไดออกซิน กระดาษทิชชูจึงแทบไม่มีไดออกซินด้วย   ปรากฏการณ์ “คุกกี้ รัน” ดูดเงินแสน ถือเป็นเรื่องระดับ Talk of the Town เมื่อจู่ๆ มีผู้บริโภคนับ 10 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ และผู้ปกครอง พร้อมใจกันออกมาโวยว่าตัวเองถูกเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์แพงจนน่าตกใจ บางรายถูกเรียกเก็บหลักแสนบาท ซึ่งเมื่อตรวจสอบดูก็พบว่าเป็นผลมาจากการเล่นเกมชื่อดังบนมือถือ อย่าง “คุกกี้ รัน” ซึ่งเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกเรียกเก็บเกิดจากการซื้อของต่างๆ ที่อยู่ในเกม เด็กที่เล่นเกมไม่รู้ว่าเมื่อกดซื้อแล้วจะต้องเสียเงิน ทำให้ถูกเรียกเก็นเงินเป็นจำนวนมากรวมไปกับค่าบริการปกติ การแก้ปัญหา ทาง สคบ.ได้เชิญผู้เสียหายมาเจรจากับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เพื่อร่วมกันเพื่อหาทางออก แม้เบื้องต้นทางผู้ให้บริการจะยอมยกเลิกการเรียกเก็บเงิน เพราะเห็นว่าเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ใช้โทรศัพท์ แต่ดูแล้วมีโอกาสที่ปัญหาในลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นซ้ำ ทาง สคบ.จึงร่วมกับ กสทช. เตรียมปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจควบคุมสัญญาโดยเพิ่มข้อกำหนดของสัญญาการให้บริการให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือถูกเรียกเก็บค่าใช้บริการเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งจะมีการจัดการปัญหาข้อความเอสเอ็มเอส ต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการดูดวง ทายหวย หรือการโฆษณาต่างๆ ที่ส่งมาให้ผู้บริโภคโดยใช้กลยุทธ์บริการฟรี 7 วัน พอถึงวันที่ 8 ก็ต่ออายุอัตโนมัติและคิดเงินทันทีโดยที่ผู้ใช้มือถือไม่รู้ ซึ่งตามกฏหมาย สคบ.ก็มีการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของโฆษณาที่สร้างความรำคาญ มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ   สคบ. เตรียมตั้ง “ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ” สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นการปรับโครงสร้างการทำงานของ สคบ.ครั้งใหญ่ เพราะจะเป็นการรวบรวมงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของ 10 กระทรวงและ 20 กรม เข้ามารวมกันเพื่อแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วมากขึ้น ตั้งกองทุนเยียวยาผู้บริโภค คอยทำหน้าที่จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้ผู้บริโภคในช่วงที่คดีกำลังอยู่ในขั้นตอนการฟ้องร้อง โดยศูนย์ดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งตามแผนแม่บทการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจากการที่ สคบ. ได้ประชุมร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบให้แก้ไขกฎหมายของ สคบ.ฉบับเดิมให้ครอบคลุมกับแผนดังกล่าว คาดว่าศูนย์นี้จะดำเนินงานได้ภายใน 3 - 6 เดือน โดยจะให้นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกที่นายกฯ มอบหมายมาเป็นประธานศูนย์ฯ หน้าที่ของหลักศูนย์ฯ จะรวบรวมงานที่ซ้ำซ้อนของแต่ละหน่วยงาน ที่มีข้อกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค มาเร่งแก้ไขในจุดเดียวลดขั้นตอนการดำเนินงานที่ล่าช้า พร้อมทั้งมีหน่วยงาน สคบ.ระดับภูมิภาครับเรื่องร้องเรียน และไกล่เกลี่ยให้จบภายในระดับภูมิภาค รวมถึงสร้างองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายระดับท้องถิ่น โดยเชื่อว่าหากมีศูนย์ดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าใจ เข้าถึง สคบ.มากขึ้น ปริมาณเรื่องร้องเรียนที่มีเข้ามาก็น่าจะเพิ่มขึ้นจากปีละแค่ 8,000-10,000 เรื่อง เป็น 100,000 เรื่อง   8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ร้อง คสช.- ดีเอสไอ เอาผิดบอร์ดและ ผอ.องค์การเภสัช 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ประกอบด้วย ชมรมแพทย์ชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, กลุ่มคนรักหลักประกัน, เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และมูลนิธิเภสัชชนบท ได้ยื่นหนังสือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เพื่อให้พิจารณาปลดและตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ชุดที่มี นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธาน และนายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม มีพฤติกรรมส่อทุจริต และทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐเป็นคดีพิเศษ โดยมี 2 ประเด็นที่ให้ดีเอสไอพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ คือ ปัญหาการก่อสร้างโรงงานผลิตยาที่รังสิต ขององค์การเภสัชกรรมที่ ผอ. และบอร์ดยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง และมีการเอื้อแก่บริษัทที่เคยทิ้งงานและไม่ขึ้นบัญชีดำบริษัทที่ทิ้งงาน ทั้งที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเคยได้ทักท้วงมา นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งประเด็น คือเรื่องการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งหลังจากบอร์ดปลด นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ องค์การเภสัชกรรมในขณะนั้นไปแล้ว กลับไม่มีการเร่งรัดเพื่อให้การก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วตรงกันข้ามกลับมีการดำเนินการล่าช้า ที่สำคัญขณะนี้โรงพยาบาลในต่างจังหวัดจำนวนมากเผชิญภาวะยาขาด สาเหตุจากการที่ ผอ.อภ. และบอร์ด อภ. แก้ไขปัญหาภาวะขาดทุนด้วยการสั่งงดผลิตยาจำเป็น เช่น ยาเบาหวาน ซึ่ง อภ. เป็นผู้ผลิตส่งให้โรงพยาบาลต่างๆ ของรัฐราว 80% ของที่ใช้กับคนไข้ในประเทศ นอกจากนี้ อภ. ยังขาดส่งยาไปยังกองทุนยาต้านไวรัสกว่า 400 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่า หากไม่มีการแก้ปัญหาวัตถุดิบยา ต่อไปคนไข้อาจขาดยา นอกจากนี้ นพ.สุวัช ยังเสนอตัดงบเรื่องการทำงานวิจัย 45 ล้าน เพื่อแก้ปัญหาขาดทุน ถือเป็นการแก้ปัญหาโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของ อภ.ที่ต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา //

อ่านเพิ่มเติม >