ฉบับที่ 274 สำรวจฉลากโภชนาการ “ขนมในกระเช้าปีใหม่”

        ช่วงเทศกาลส่งความสุขในปีใหม่นี้ ผู้บริโภคคนไหนกำลังคิดจะเลือกซื้อขนมอบกรอบหวานหอม และขนมขบเคี้ยวเค็มๆ มันๆ ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์สีสันสดใส มาจัดกระเช้าปีใหม่ ด้วยหวังว่าผู้รับจะชอบใจ อยากให้แตะเบรกไว้ก่อน เพราะแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ยอดฮิตที่มักมอบให้กันในโอกาสพิเศษต่างๆ แต่อย่าลืมว่าขนมเหล่านี้มีส่วนผสมหลักเป็นแป้ง น้ำตาล เนย นม เกลือ ผงฟู และสารกันเสีย ซึ่งหากกินเข้าไปเยอะๆ บ่อยๆ อาจเกิดการสะสมของน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดได้         นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างขนมในกระเช้าปีใหม่ (คุกกี้ บิสกิต แครกเกอร์ และพาย) จำนวน 11 ตัวอย่าง ในช่วง 1 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2566 มาเปรียบเทียบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ (ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม) และราคาต่อปริมาณ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคว่าจะเลือกขนมเหล่านี้จัดใส่กระเช้าปีใหม่ดีไหมหนอ  ผลการสำรวจ        ·     ทุกตัวอย่างระบุเลขที่ใบอนุญาตจาก อย. ไว้ถูกต้อง ตรวจสอบข้อมูลได้         ·     เมื่อพิจารณาฉลากโภชนาการของขนม 11 ตัวอย่าง พบว่า ยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค มีปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำมากที่สุดคือ 34 กรัม ส่วนยี่ห้อไฮไท แครกเกอร์ รสดั้งเดิม และ ยี่ห้อเดนม่า คุกกี้สอดไส้รสผลไม้ มีน้อยที่สุดคือ 25 กรัม         ·     เมื่อเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 หน่วยบริโภค พบว่า            -        ปริมาณพลังงานมากที่สุด = 180 กิโลแคลอรี คือยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค ส่วนยี่ห้อล็อตเต้ ช็อกโกพาย บานาน่า มีน้อยที่สุด  = 120 กิโลแคลอรี            -        ปริมาณน้ำตาลมากที่สุด = 11 กรัม  คือยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม ส่วนยี่ห้อไฮไท แครกเกอร์ รสดั้งเดิม มีน้อยที่สุด = 2 กรัม             -        ปริมาณไขมันมากที่สุด = 9 กรัม ได้แก่ ยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค และยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ส่วนยี่ห้อล็อตเต้ ช็อกโกพาย บานาน่า และยี่ห้อแซง มิเชล กาเลต โอ เบอร์ ทิน บัตเตอร์ คุกกี้ มีน้อยที่สุด = 5 กรัม             -        ปริมาณโซเดียมมากที่สุด = 135 มิลลิกรัม คือ ยี่ห้อแมคไวตี้ส์ ไดเจสทีฟ ออริจินอล(บิสกิตข้าวสาลี) ส่วนยี่ห้อเดนม่า คุกกี้สอดไส้รสผลไม้  มีน้อยที่สุด = 40 มิลลิกรัม         ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อบาวเซ่น เดโลบา บลูเบอร์รี่ แพงสุดคือ 0.95 บาท ส่วนยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม ถูกสุดคือ  0.22 บาท  ข้อสังเกต        - เมื่อคำนวณในปริมาณ 1 หน่วยบริโภคที่เท่ากัน คือ 30 กรัม (ปริมาณเฉลี่ย ได้จากผลรวมของปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ÷ 11) พบว่า ยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มีปริมาณพลังงานมากที่สุด = 160 กรัม ส่วนยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม มีทั้งน้ำตาล (11.96 กรัม) และโซเดียม (141.30 มิลลิกรัม) ในปริมาณมากที่สุด         - หากเรากินโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม 1 ห่อ (3 ชิ้น) จะได้รับน้ำตาลเกือบครึ่งหนึ่งของที่แนะนำให้กินได้ต่อวัน(ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 24 กรัมต่อวัน) ถ้าเผลอกินเพลินเกิน 2 ห่อต่อวัน ร่างกายจะได้น้ำตาลเกินจำเป็น         - วัยผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้น หากกินขนมแมคไวตี้ส์ ไดเจสทีฟ ออริจินอล (บิสกิตข้าวสาลี) 2 ชิ้น หรือโอรีโอ ช็อกโกแลตครีม 3 ชิ้น ก็จะได้รับโซเดียมเกินครึ่งหนึ่งของที่แนะนำไว้แล้ว        - เมื่อลองนำเกณฑ์สัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกสุขภาพ” มาพิจารณา ในปริมาณขนม 100 กรัม         ขนมบิสกิตและแครกเกอร์   กำหนดให้มีน้ำตาล ≤ 7 กรัม  และโซเดียม ≤ 500 มิลลิกรัม พบว่าทุกตัวอย่างมีน้ำตาลเกิน และมีโซเดียมอยู่ในเกณฑ์        ขนมคุกกี้  กำหนดให้มีน้ำตาล ≤ 20 กรัม และ โซเดียม ≤ 300 มิลลิกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างมีน้ำตาลเกิน และมีโซเดียมเกินเกณฑ์นี้ 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม (471.01 มก.)  ยี่ห้อบาวเซ่น เดโลบา บลูเบอร์รี่ (348.48 มก.) และยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค (323.53 มก.)         - ทุกตัวอย่างบอกวันผลิตและวันหมดอายุไว้ มีอายุตั้งแต่ 10 – 21 เดือน โดยมี 8 ตัวอย่างที่อายุ 1 ปี         - ยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ระบุวันหมดอายุ 01.12.23 และมีอายุนับจากวันผลิตนานถึง 21 เดือน         - มี 3 ตัวอย่างที่ผลิตในประเทศไทย ส่วนใหญ่ผลิตจากต่างประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เยอรมันฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร         - ทุกตัวอย่างแสดงข้อความเตือนว่า “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ”     ฉลาดซื้อแนะสำหรับผู้ให้        - หากจะซื้อขนมมาจัดกระเช้าปีใหม่ ต้องดูวันหมดอายุให้ดีๆ เพราะอาจมีสินค้าใกล้หมดอายุมาวางขายปะปนบนชั้นได้ ยิ่งถ้าใครซื้อแบบกระเช้าสำเร็จรูปก็ต้องตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ         - เลือกซื้อขนมที่ผลิตในประเทศไทย สนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ         - เปลี่ยนเป็นขนมที่ดีต่อสุขภาพแทน เช่น กระเจี๊ยบมอญอบกรอบ บร็อคโคลี่อบแห้ง งาดำอัดแท่งหวานน้อย ลูกเดือยกล้อง ถั่วเปลือกแข็ง (อัลมอนด์ วอลนัท) อบไม่ปรุงรส ดาร์คช็อคโกแล็ต (มี %cocoa มากกว่า 70%) เป็นต้น         - อย. แนะนำให้มอบกระเช้าของขวัญปีใหม่ในแบบ “สุขใจผู้ให้ ห่วงใยผู้รับ” โดยเลือกที่มีสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้วว่ามีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมต่อสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สำหรับผู้รับ        - เมื่อได้รับขนมเหล่านี้เป็นของขวัญ มักได้เป็นกล่องหรือกระป๋องใหญ่ แกะแบ่งห่อเล็กปันคนอื่นๆ ด้วยก็ดีไม่ต้องเก็บไว้เยอะ และอย่าเผลอกินเกินจำนวนหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลากโภชนาการ เดี๋ยวจะอ้วน         - ถ้าวันไหนรู้ตัวว่ากินคุกกี้ แครกเกอร์ เยอะเกินแล้ว ก็ควรจะออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไป จะได้กินขนมให้อร่อยต่อไปได้โดยไม่ต้องกลัวอ้วนหรือรู้สึกผิดต่อตัวเอง         - กินขนมคู่กับน้ำเปล่าดีที่สุด หากไม่อยากได้รับน้ำตาล ไขมันและโซเดียมเพิ่มอีก         - อย่าชะล่าใจ กินขนมอบกรอบรสหวานๆ เสี่ยงเป็นเบาหวานแล้วยังเสี่ยงเป็นโรคไตด้วย เพราะโซเดียมไม่ได้มีแต่ในเกลือที่ให้รสเค็ม แต่ยังแฝงอยู่ในผงฝูและสารกันบูดที่เป็นส่วนผสมของขนมเหล่านี้ด้วย  ข้อมูลอ้างอิงwww.thaihealth.or.thwww.oryor.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 สำรวจฉลากโภชนาการผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย

        คุกกี้เนย หนึ่งในขนมยอดฮิตติดใจคนทุกวัย ด้วยรสชาติหวาน มัน หอม อร่อย ชิ้นพอดีคำ เคี้ยวกรุบกรอบเพลินเกินห้ามใจ หลายครั้งเราจึงเผลอกินเกินจำนวนหน่วยบริโภคที่แนะนำ (ตามฉลากโภชนาการ) คุ้กกี้เนยนั้น มีส่วนผสมหลักๆ คือ แป้ง เนย มาการีน น้ำตาลทราย นมผง ไข่ไก่ ผงฟู ปริมาณมากน้อยก็แล้วแต่สูตรความอร่อยของแต่ละยี่ห้อ อย่างไรก็ตามหลักๆ ก็คือของให้พลังงานสูง ดังนั้นหากกินคุกกี้เนยมากเกินไป อาจทำให้ได้รับพลังงาน รวมถึงโซเดียมเกินความต้องการในแต่ละวัน อาจก่อให้เกิดโรคจากพฤติกรรมการบริโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดัน โรคอ้วน ไขมันในเส้นเลือดสูง โรคไต เป็นต้น         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย จำนวน 10   ตัวอย่าง ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 มาเปรียบเทียบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ(ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ) เพื่อนำเสนอไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ผลการสำรวจฉลากโภชนาการคุกกี้เนย         เมื่อพิจารณาฉลากโภชนาการของคุกกี้เนยทั้ง 10 ตัวอย่าง พบว่าค่ากลางจากฐานนิยมของปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำคือ 30 กรัม หน่วยบริโภคที่มากที่สุดคือ 40 กรัม ได้แก่ คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ และ คุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้ หน่วยบริโภคที่น้อยที่สุดคือ 20 กรัม ได้แก่ คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่         เมื่อเปรียบเทียบปริมาณพลังงานและไขมัน ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ พบว่า คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ มีมากที่สุด (พลังงาน 210 กิโลแคลอรี และไขมัน 11 กรัม) คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่ มีน้อยที่สุด (พลังงาน 110 กิโลแคลอรี และไขมัน 6 กรัม) ส่วนปริมาณน้ำตาล มีมากที่สุด คือ 11 กรัม ได้แก่คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้และคุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้  มีน้อยที่สุดคือ 5 กรัม ได้แก่คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่  สำหรับปริมาณโซเดียมนั้น บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ก ตราบิสชิน มีมากที่สุด คือ 135 มิลลิกรัม และคุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้ มีน้อยที่สุด คือ 45 มิลลิกรัม ข้อสังเกต- เมื่อนำทั้ง 10 ตัวอย่างมาคำนวณในหน่วยบริโภคที่เท่ากันหรือใกล้เคียง (30 กรัม) พบว่า มีค่าพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 150-165 กิโลแคลอรี- หากนำคุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่ มาลองคำนวณในหน่วยบริโภคที่ 30 กรัม พบว่ามีค่าพลังงานสูงที่สุดคือ 165 กิโลแคลอรี่- ใน 1 วัน ร่างกายเราต้องการพลังงานประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี่ ปริมาณน้ำตาลสูงสุดไม่เกิน 40 กรัม ไขมันไม่เกิน 65 กรัม และโซเดียมไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม ดังนั้น ถ้าเรากิน คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ เพลินจนหมดกระปุก (6 ชิ้น) เราจะได้ปริมาณน้ำตาลและไขมัน อย่างละ 66 กรัม ซึ่งเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันแล้ว-เราไม่ควรบริโภคขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค หรือไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งพบว่าคุกกี้ทั้ง 10 ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมอยู่ในเกณฑ์นี้คือระหว่าง 45-135 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค-มีคุกกี้ 7 ยี่ห้อ ที่ระบุคำเตือนว่า “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” แสดงว่าผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็ห่วงใยสุขภาพผู้บริโภคเช่นกัน แล้วผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพตัวเองกันแค่ไหน ?คำแนะนำ-หยิบคุกกี้มาวางใส่จานไว้  1 ชิ้นใหญ่ หรือ 2-3 ชิ้นเล็ก แล้วปิดกล่องหรือมัดปากซองคุกกี้ไปเก็บไว้ไกลมือ เพราะถ้าไว้ใกล้มืออาจจะเผลอหยิบเข้าปากได้เรื่อยๆ-หากใครติดใจรสชาติและสัมผัสกรุบกรอบของคุกกี้ แต่กลัวอ้วน กลัวโรคต่างๆ ถามหา ก็ยังมีคุกกี้เพื่อสุขภาพ เช่น คุกกี้ธัญพืช คุกกี้ไข่ขาว มาเป็นทางเลือกในการลดแป้ง ลดน้ำตาล ลดโซเดียม ได้-ก่อนกินคุกกี้ควรพิจารณาฉลากโภชนาการแบบ GDA หรือ ฉลากหวาน มัน เค็ม เพื่อดูปริมาณที่ควรกินในแต่ละวัน เช่น ฉลากระบุว่าควรแบ่งกิน 2 ครั้ง หมายถึงเราไม่ควรกินหมดภายในวันเดียว แต่ควรแบ่งกิน 2 วัน หรือแบ่งกิน 2 คน จะได้ไม่เผลอกินมากจนเกิดภาวะโภชนาการเกินตามมา-ลองตั้งเงื่อนไขกับตัวเองว่าถ้าวันไหนกินคุกกี้เยอะเกิน จะต้องเบิร์นออกกำลังกายเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไปซะ อย่างน้อยก็จะกินคุกกี้ให้อร่อยต่อไปได้โดยไม่ต้องกลัวอ้วนหรือรู้สึกผิดต่อตัวเองข้อมูลอ้างอิงhttps://www.thaihealth.or.thhttps://www.rama.mahidol.ac.th  https://www.matichon.co.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2557 เด็กไทย...เหยื่อโฆษณาอาหาร มีเดียมอนิเตอร์ร่วมกับแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ศึกษาการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการสำหรับเด็ก ทางฟรีทีวี 4 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 5 7 และ 9 ช่วงปิดเทอมใหญ่ ระหว่างวันที่ 24 มี.ค. ถึง 4 เม.ย. 2557 พบว่า ร้อยละ 94 ของอาหารและเครื่องดื่มที่โฆษณาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่ม นม และขนมขบเคี้ยว ซึ่งโฆษณาที่เป็นปัญหามักใช้กลยุทธ์ต่างๆ ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พรีเซนเตอร์ที่เป็นดาราดัง ใช้การ์ตูน ทำให้อาหารมีขนาดใหญ่เกินความเป็นจริง กระตุ้นให้กินเกินความจำเป็น บ้างก็อ้างถึงขนาดว่ากินแทนอาหารมื้อหลักได้ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายควบคุมการโฆษณาไม่ครอบคลุมการโฆษณาที่มีรูปแบบและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก อย., กสทช. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งออกข้อกำหนดในการควบคุมโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม เพราะขณะนี้พบว่ามีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่มีภาวะโภชนาการไม่เหมาะสมกับวัย เกิดภาวะอ้วน ขาดสารอาหาร และรุนแรงถึงขั้นเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน หัวใจ ไต ความดัน   ใช้ “ทิชชู” ซับน้ำมัน เสี่ยงอันตราย!!! จริงหรือ ใครที่ชอบใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันจากอาหาร ต้องระวังให้ดี เพราะกรมอนามัยได้ออกมาเตือนว่า ในกระดาษทิชชูมีสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ซึ่งทำปฏิกิริยากับโปรตีนและไขมัน ทำให้มีฤทธิ์กัดกร่อน หากหายใจเข้าไปจะทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ หากสัมผัสถูกผิวหนังจะระคายเคืองรุนแรง นอกจากนี้ยังมีสารก่อมะเร็ง หากกินเข้าไปก็อาจเป็นอันตรายกับกระเพาะอาหาร กระบวนการผลิตกระดาษทิชชู นิยมใช้กระดาษมาหมุนเวียนใหม่เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น นำกระดาษ A4 ที่ใช้แล้วมาผลิตกระดาษทิชชู ซึ่งการตีวัตถุดิบให้เป็นเนื้อเยื่อต้องใช้สารโซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือ โซดาไฟ และเพื่อความขาวน่าใช้ จึงมีการใช้สารคลอรีนฟอกขาว ซึ่งมีสารไดออกซินเป็นส่วนประกอบ การใช้ทิชชูซับน้ำมันจากอาหาร กระดาษจะสัมผัสกับอาหารโดยตรง จึงควรเลือกใช้กระดาษที่ผลิตมาเพื่อใช้กับอาหารโดยเฉพาะ และต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐานระดับสากล เช่น HACCP ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตที่มีมาตรการป้องกันอันตรายที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการบริโภคอาหาร แต่หลังจากที่มีข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็ได้มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ได้ออกมาโต้แย้งในข้อมูลดังกล่าว ว่า กระดาษ อนามัยหรือกระดาษทิชชูนั้น ไม่ได้มีความน่ากลัวตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด และแทบจะไม่มีโซดาไฟ และสารไดออกซินอยู่เลย ดร.ภูวดี ตู้จินดา อธิบายผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ว่า สารพิษที่เป็นข่าวอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นไดออกซินหรือโซเดียมไฮดร็อกไซด์ ไม่ได้เกิดขึ้น ใน "กระบวนการผลิตกระดาษ" แต่ถูกใช้ใน "กระบวนการฟอกเยื่อ" ดังนั้นการจะมีโซดาไฟปริมาณมากพอ ที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพปนเปื้อนอยู่ในเยื่อกระดาษธรรมดาๆ นั้นว่าน้อยแล้ว สำหรับกระดาษทิชชูนั้นยิ่งน้อยกว่า อีกทั้งโรงงานฟอกเยื่อเกือบทั้งหมดในประเทศไทยใช้สาร "คลอรีนไดออกไซด์" ซึ่งอาจทำให้เกิดสารพิษที่เรียกสั้นๆ ว่า AOX แต่ไม่เกิด "ไดออกซิน" เมื่อ "เยื่อกระดาษ" ไม่มีโซดาไฟ และ(แทบ)ไม่มีไดออกซิน กระดาษทิชชูจึงแทบไม่มีไดออกซินด้วย   ปรากฏการณ์ “คุกกี้ รัน” ดูดเงินแสน ถือเป็นเรื่องระดับ Talk of the Town เมื่อจู่ๆ มีผู้บริโภคนับ 10 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ และผู้ปกครอง พร้อมใจกันออกมาโวยว่าตัวเองถูกเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์แพงจนน่าตกใจ บางรายถูกเรียกเก็บหลักแสนบาท ซึ่งเมื่อตรวจสอบดูก็พบว่าเป็นผลมาจากการเล่นเกมชื่อดังบนมือถือ อย่าง “คุกกี้ รัน” ซึ่งเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกเรียกเก็บเกิดจากการซื้อของต่างๆ ที่อยู่ในเกม เด็กที่เล่นเกมไม่รู้ว่าเมื่อกดซื้อแล้วจะต้องเสียเงิน ทำให้ถูกเรียกเก็นเงินเป็นจำนวนมากรวมไปกับค่าบริการปกติ การแก้ปัญหา ทาง สคบ.ได้เชิญผู้เสียหายมาเจรจากับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เพื่อร่วมกันเพื่อหาทางออก แม้เบื้องต้นทางผู้ให้บริการจะยอมยกเลิกการเรียกเก็บเงิน เพราะเห็นว่าเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ใช้โทรศัพท์ แต่ดูแล้วมีโอกาสที่ปัญหาในลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นซ้ำ ทาง สคบ.จึงร่วมกับ กสทช. เตรียมปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจควบคุมสัญญาโดยเพิ่มข้อกำหนดของสัญญาการให้บริการให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือถูกเรียกเก็บค่าใช้บริการเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งจะมีการจัดการปัญหาข้อความเอสเอ็มเอส ต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการดูดวง ทายหวย หรือการโฆษณาต่างๆ ที่ส่งมาให้ผู้บริโภคโดยใช้กลยุทธ์บริการฟรี 7 วัน พอถึงวันที่ 8 ก็ต่ออายุอัตโนมัติและคิดเงินทันทีโดยที่ผู้ใช้มือถือไม่รู้ ซึ่งตามกฏหมาย สคบ.ก็มีการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของโฆษณาที่สร้างความรำคาญ มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ   สคบ. เตรียมตั้ง “ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ” สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นการปรับโครงสร้างการทำงานของ สคบ.ครั้งใหญ่ เพราะจะเป็นการรวบรวมงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของ 10 กระทรวงและ 20 กรม เข้ามารวมกันเพื่อแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วมากขึ้น ตั้งกองทุนเยียวยาผู้บริโภค คอยทำหน้าที่จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้ผู้บริโภคในช่วงที่คดีกำลังอยู่ในขั้นตอนการฟ้องร้อง โดยศูนย์ดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งตามแผนแม่บทการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจากการที่ สคบ. ได้ประชุมร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบให้แก้ไขกฎหมายของ สคบ.ฉบับเดิมให้ครอบคลุมกับแผนดังกล่าว คาดว่าศูนย์นี้จะดำเนินงานได้ภายใน 3 - 6 เดือน โดยจะให้นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกที่นายกฯ มอบหมายมาเป็นประธานศูนย์ฯ หน้าที่ของหลักศูนย์ฯ จะรวบรวมงานที่ซ้ำซ้อนของแต่ละหน่วยงาน ที่มีข้อกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค มาเร่งแก้ไขในจุดเดียวลดขั้นตอนการดำเนินงานที่ล่าช้า พร้อมทั้งมีหน่วยงาน สคบ.ระดับภูมิภาครับเรื่องร้องเรียน และไกล่เกลี่ยให้จบภายในระดับภูมิภาค รวมถึงสร้างองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายระดับท้องถิ่น โดยเชื่อว่าหากมีศูนย์ดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าใจ เข้าถึง สคบ.มากขึ้น ปริมาณเรื่องร้องเรียนที่มีเข้ามาก็น่าจะเพิ่มขึ้นจากปีละแค่ 8,000-10,000 เรื่อง เป็น 100,000 เรื่อง   8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ร้อง คสช.- ดีเอสไอ เอาผิดบอร์ดและ ผอ.องค์การเภสัช 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ประกอบด้วย ชมรมแพทย์ชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, กลุ่มคนรักหลักประกัน, เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และมูลนิธิเภสัชชนบท ได้ยื่นหนังสือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เพื่อให้พิจารณาปลดและตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ชุดที่มี นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธาน และนายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม มีพฤติกรรมส่อทุจริต และทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐเป็นคดีพิเศษ โดยมี 2 ประเด็นที่ให้ดีเอสไอพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ คือ ปัญหาการก่อสร้างโรงงานผลิตยาที่รังสิต ขององค์การเภสัชกรรมที่ ผอ. และบอร์ดยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง และมีการเอื้อแก่บริษัทที่เคยทิ้งงานและไม่ขึ้นบัญชีดำบริษัทที่ทิ้งงาน ทั้งที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเคยได้ทักท้วงมา นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งประเด็น คือเรื่องการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งหลังจากบอร์ดปลด นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ องค์การเภสัชกรรมในขณะนั้นไปแล้ว กลับไม่มีการเร่งรัดเพื่อให้การก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วตรงกันข้ามกลับมีการดำเนินการล่าช้า ที่สำคัญขณะนี้โรงพยาบาลในต่างจังหวัดจำนวนมากเผชิญภาวะยาขาด สาเหตุจากการที่ ผอ.อภ. และบอร์ด อภ. แก้ไขปัญหาภาวะขาดทุนด้วยการสั่งงดผลิตยาจำเป็น เช่น ยาเบาหวาน ซึ่ง อภ. เป็นผู้ผลิตส่งให้โรงพยาบาลต่างๆ ของรัฐราว 80% ของที่ใช้กับคนไข้ในประเทศ นอกจากนี้ อภ. ยังขาดส่งยาไปยังกองทุนยาต้านไวรัสกว่า 400 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่า หากไม่มีการแก้ปัญหาวัตถุดิบยา ต่อไปคนไข้อาจขาดยา นอกจากนี้ นพ.สุวัช ยังเสนอตัดงบเรื่องการทำงานวิจัย 45 ล้าน เพื่อแก้ปัญหาขาดทุน ถือเป็นการแก้ปัญหาโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของ อภ.ที่ต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 กระแสในประเทศ

กระแสในประเทศกองบรรณาธิการ ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 25523 มกราคม 2552กรมวิทย์มุ่งธนาคารสเต็มเซลล์ ปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูกรามารุ่ง นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้การนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้รักษาโรคยังเป็นการศึกษาวิจัยทางคลินิกยังไม่ได้รับการยืนยันมาตรฐานทางการแพทย์ แต่ต้องยอมรับว่า เป็นการศึกษาวิจัยที่ได้ผลการรักษาค่อนข้างดี โดยที่ผ่านมากรมวิทย์ฯ ได้ทำโครงการความร่วมมือกับสถานพยาบาลในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดรักษาโรคแล้ว 2 โครงการ โดยประสบความสำเร็จ 1 โครงการ คือความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ศึกษาการปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูกผ่านหลอดเลือดโคโรนารี่ เพื่อทดแทนกล้ามเนื้อและหลอดเลือดฝอยที่ตายจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจทำงานบกพร่องในผู้ป่วยเด็กจำนวน 2 ราย ส่วนอีก 1 โครงการ คือ ความร่วมมือกับโรงพยาบาลเลิดสิน ศึกษาการปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูกเพื่อรักษาโรคข้อเข่าเทียม แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ในอนาคต กรมวิทย์ฯ จะพัฒนาการเพาะเซลล์ต้นกำเนิดใช้รักษาโรคอื่นๆ ด้วย เช่น โรคเลือดต่างๆ ธาลัสซีเมีย มะเร็งเม็ดเลือดขาว เบาหวาน กระจกตา เป็นต้น และอาจจะพัฒนาเป็นธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อสาธารณประโยชน์เช่นเดียวกับสภากาชาดไทย 6 มกราคม 2552แพทย์เตือนพ่อแม่ซื้อของเล่น ระวังสารปนเปื้อนทำลายลูกนพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า ในปี 2551 ได้เก็บตัวอย่างของเล่นในศูนย์พัฒนาเด็ก กทม. 23 แห่ง ตรวจหาสารตะกั่ว พบว่าของเล่นเด็กจาก 4 แห่ง มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน คือ 600 มล./กก. นอกจากนี้ยังเก็บตัวอย่างของเล่นที่มีการวางขายหน้าโรงเรียนในกรุงเทพฯ 26 แห่ง พบ 4 แห่ง มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน และจากการซื้อของเล่นจากห้างและตลาดทั่วไปในกรุงเทพฯ พิจิตร บุรีรัมย์ สระแก้ว และชลบุรี 126 ชิ้น ส่งตรวจคุณสมบัติทางกายภาพ 50 ชิ้น พบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 9 ชิ้น สภาพปัญหาที่พบคือ มีเสียงดังเกิน 75-85 เดซิเบล ซึ่งเป็นอันตรายต่อเซลล์ประสาทการได้ยิน มีเส้นสายยาวเกินกว่า 30 ซม. ซึ่งเสี่ยงต่อการพันรัดคอเด็ก มีช่องรูที่กว้างระหว่าง 5-12 มล. เสี่ยงต่อนิ้วเด็กติดค้างในช่องรู และมีขอบแหลมคมที่ทำอันตรายเด็กได้ และจากผลการตรวจคุณสมบัติทางเคมีของของเล่น 80 ชิ้น พบว่ามีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน 6 ชิ้น ซึ่งมีผลให้ไอคิวต่ำ "พ่อแม่ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ให้เด็ก ที่มีตรา มอก.รับรอง แม้จะไม่ปลอดภัย 100% แต่ก็พอที่จะบรรเทาอันตรายได้ในระดับหนึ่ง" 9 มกราคม 2552วิจัยพบเด็กโตขึ้นไอคิวยิ่งต่ำลงพญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงเรื่องระดับสติปัญญา (ไอคิว) และระดับความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ของเยาวชนไทย เนื่องจากในโครงการพัฒนาสติปัญญาเด็กไทยที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 เก็บข้อมูลทุกปีจากพื้นที่ตัวอย่างนำร่องจำนวน 1,500 คน 15 จังหวัดมาศึกษาพบว่า ต้นทุนของเด็กไทยในช่วงทารกหรือแรกเกิดอยู่ในระดับสากล คือมีไอคิวประมาณ 100 แต่เมื่อมาอยู่ระดับประถมศึกษาประมาณ 9-10 ขวบ กลับมีระดับไอคิวเหลือเพียง 97-98 แต่เมื่อโตมาในช่วงวัยรุ่นระดับมัธยมศึกษาถึงอุดมศึกษาจะมีค่าไอคิวเฉลี่ยเหลือเพียง 90 ต้นๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง ที่น่าสนใจคือ ปัจจัยแวดล้อมใดที่มีผลต่อการพัฒนาการทางสมองของเด็กไทย เพราะจากระดับไอคิวของเด็กแรกเกิดไทยแสดงให้เห็นว่าเรื่องของพันธุกรรมไม่ได้เป็นปัจจัยหลักเกี่ยวกับการพัฒนาไอคิวเด็ก"วิธีที่จะกระตุ้นให้พัฒนาการของลูกดีคือการที่พ่อแม่เอาใจใส่สนใจในการตั้งคำถามของลูก ไม่ด่าว่า ส่งเสริมให้เด็กตั้งคำถาม เอาใจใส่ต่ออาหารและการออกกำลังกาย การอ่านหนังสือ รวมถึงได้ทำกิจกรรมร่วมกับลูกในช่วงวันหยุด เพราะการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างการเล่นกับลูกให้เหมาะตามวัยจะช่วยให้พ่อแม่ได้รู้จักลูกตัวเองดีขึ้นด้วย อาทิ เกมหมากรุก เกมต่อคำภาษาอังกฤษ จิ๊กซอว์ เกมคอมพิวเตอร์พวกเกมซิมที่เป็นการสร้างเมืองวางแผนต่างๆ ซึ่งระหว่างการเล่นพ่อแม่สามารถสอนลูกไปพร้อมกันได้ ซึ่งเด็กจะซึมซับและนำมาใช้ในชีวิตจริงได้" อย.ชี้อันตราย"คุกกี้เสริมอึ๋ม" ใช้กวาวเครือขาวผิดวิธีเจอดีอย. เตือนอันตรายคุกกี้ผสมกวาวเครือขาว ชื่อผลิตภัณฑ์ F Cup Cookie ขายเกลื่อนเน็ต โอ้อวดสรรพคุณเพิ่มอึ๋ม นอกจากเสียเงินมากแล้วอาจเจออันตรายจากผลข้างเคียงของการใช้กวาวเครือขาวโดยผิดวิธี เนื่องจากจะรบกวนระบบฮอร์โมนเพศ อีกทั้งเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย แสดงฉลากไม่ถูกต้อง และกวาวเครือเป็นพืชสมุนไพรควบคุมที่ยังไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังไม่มีการขออนุญาตนำเข้ากับ อย. เพื่อนำมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคแต่อย่างใด ซึ่งในกรณีของผู้นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากจำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หากผู้บริโภคพบเห็นการจำหน่ายและโฆษณาผลิตภัณฑ์คุกกี้ดังกล่าว และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ที่คาดว่าจะผิดกฎหมาย โปรดแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย.1556 29 มกราคม 2552หมอเตือนภัยฉีด"คาร์บ็อกซี่" หลุมพรางของคนคลั่ง"ผอม"นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม กล่าวถึงกระแสความนิยมของคาร์บ็อกซี่ (Carboxy) ว่า มีโฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถสลายไขมันและเซลลูไลท์เฉพาะส่วนได้ในระยะเวลาไม่นาน และขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แต่ไม่รู้ว่าคาร์บ็อกซี่กำลังเป็นภัยเงียบที่คุกคามผู้บริโภค หากไม่ศึกษาถึงผลกระทบให้ดีก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการ การใช้ก๊าซคาร์บอนฉีดยังเป็นการทดลอง ยังไม่มีผลรับรองออกมาอย่างเป็นทางการ ทางที่ดีผู้บริโภคควรรอให้มีรายงานทางการแพทย์รับรอง 10 ฉบับขึ้นไป จึงนับว่าปลอดภัย รศ.นพ.นิยม ตันติคุณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการทำคาร์บ็อกซี่ว่า ฝรั่งเศส คือประเทศแรกที่นำมาใช้ และขยายความนิยมสู่อิตาลี ในปี 2533 จากนั้นได้รับการยอมรับและนิยมใช้อย่างแพร่หลายทั้งในเอเชียและยุโรป คาร์บ็อกซี่ เป็นนวัตกรรมความงามเพื่อใช้ลดไขมันเฉพาะที่ด้วยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่ละลายน้ำได้ดี สลายตัวได้เร็ว เมื่อฉีดเข้าไปยังชั้นไขมันใต้ผิวหนังจะช่วยเพิ่มการขยายตัวของเส้นเลือดและทำให้เซลล์ไขมันสลายตัวและถูกกำจัดออกไป เช่น หน้าท้อง ใต้ท้องแขน สะโพก น่อง ต้นขา ฯลฯ ทั้งนี้ ในวงการแพทย์มีการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้อยู่ก่อนแล้ว เช่น การฉีดเข้าช่องท้องขณะส่องกล้องตรวจอวัยวะภายใน ถ้าใช้เหมาะสมไม่ส่งผลอันตรายใดต่อร่างกาย ที่สำคัญผู้ที่ให้การรักษาควรเป็นแพทย์เท่านั้น ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการฉีดคาร์บ็อกซี่ ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเลือด โรคเบาหวาน สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เพราะหากก๊าซบางส่วนผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดอาจทำให้อาการดังกล่าวแย่ลง ในปัจจุบันข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่รับรองว่าการทำคาร์บ็อกซี่ปลอดภัยนั้นยังมีน้อย เท่าที่ทำการสืบค้นรายงานทางการแพทย์พบว่า มีเพียง 2 ฉบับเท่านั้น ที่รับรองว่าการทำคาร์บ็อกซี่ได้ผลและส่งผลข้างเคียงน้อย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยรถถึงเวลาต้องยกเลิก?พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำลังมาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า การรักษาพยาบาลที่ได้รับสิทธิคุ้มครองจากบริษัทประกันในช่วงแรก เมื่อรักษาหมดวงเงินประกัน ก็ต้องกลับเข้ามารักษาตามสิทธิของแต่ละบุคคล ซึ่งถือว่าไม่ได้รับการดูแลจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้อย่างเต็มที่ นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า จากการศึกษาเรื่อง "พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถในบริบทของการประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ของ นพ.ดร.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียรและคณะ ระบุว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งเป็นการประกันภัยภาคบังคับมีหลักไม่กำไร ไม่ขาดทุน แต่ผลกำไรของบริษัทประกันวินาศภัยที่ได้จากประกันภัยประเภทนี้กลับมีสูงถึง 3.3 พันล้านบาทใน 4 ปี บวกกับปัจจุบันคนไทยมีหลักประกันสุขภาพทุกคน พ.ร.บ.นี้ไม่น่าจะมีความจำเป็นอีกต่อไป จึงต้องพิจารณาทางเลือกในการปรับปรุงระบบเพื่อให้คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถทุกคน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีประกัน" นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แนวคิดในการเปลี่ยนระบบ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เป็นเพราะขณะนี้กองทุนผู้ประสบภัยจากรถเปลี่ยนแปลงไปจากวัตถุประสงค์เดิมที่ออกกฎหมายไว้ให้มีกองทุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนเพราะไม่มีกองทุนใดคอยดูแล แต่ขณะนี้คนไทยทุกคนได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เมื่อเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินก็สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งได้ อย่างไรก็ตาม หากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ควรจะให้เวลาในการหารือและตัดสินใจ เนื่องจากอาจจะกระทบกระเทือนหลายฝ่าย โดยเฉพาะธุรกิจการประกันภัย “ขณะนี้ได้มอบหมายให้ทีมที่ปรึกษาระดมความคิด พูดคุย ศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ปัจจุบันรายละเอียดต่างๆ ในสิทธิการรักษาพยาบาลเปลี่ยนไปมากจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ยอมรับว่ามีข้อร้องเรียนเข้ามาเสมอๆ โดยเฉพาะเรื่องความล่าช้าในการจ่ายเงินของบริษัทประกันภัย ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นการโยนหินถามทางว่า สังคมจะมีความคิดเห็นอย่างไร ส่วนจะดำเนินการทันทีหรือไม่นั้น กระทรวงสาธารณสุขมีหลายเรื่องที่ต้องทำขณะนี้ คงจะต้องทำทีละเรื่อง เดือนละเรื่องและแต่ละเรื่องต้องใช้เวลา" นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ประกันภัยรถยนต์อีก เพราะคนไทยทุกคนมีระบบหลักประกันสุขภาพรองรับแล้ว หากรัฐบาลนำมาเป็นนโยบายและดำเนินการจริงจัง สปสช.ก็พร้อมดูแลรับผิดชอบผู้ประสบภัยอุบัติเหตุอย่างเต็มที่ แต่ สปสช.คงไม่เป็นต้นเรื่องในการให้ยกเลิก พ.ร.บ.ดังกล่าวเอง ซึ่งหากยกเลิก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว รัฐสามารถจัดเก็บภาษีอื่นทดแทนได้ เช่น การคิดภาษีจากน้ำมันเชื้อเพลิง 1 สตางค์ต่อลิตร หากยานพาหนะเติมน้ำมันเต็มถัง 50 ลิตร สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในระยะเวลา 1 ปีจะเสียค่าภาษีเพียง 104 บาทต่อคันต่อปีเท่านั้น ถูกกว่าจ่ายเบี้ยประกันภัยในปัจจุบันหลายเท่า ผู้เสียหาย “ซานติก้า” และนักวิชาการ วอนผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 30 มกราคม 2552 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับกลุ่มแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดเสวนา “ซานติก้า…ปัญหาและทางออกของผู้บริโภค” ขึ้น โดยเชิญผู้เสียหายในเหตุการณ์ และนักวิชาการร่วมหาทางออก นายสันติสุข มะโรงศรี ผู้เสียหายในเหตุการณ์ ไฟไหม้ร้านซานติก้า เมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2551 และเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องผู้ถือหุ้นร้านซานติก้า ได้แก่ นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ และนายสุริยา ฤทธิ์ระบือ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ ตามลำดับ รวมทั้งหมด 31 คน ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้ บริโภค พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา กล่าวว่า สาเหตุหลักของการเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากการออกแบบอาคารและการก่อสร้างที่ผิดแบบ หากมีการก่อสร้างที่ถูกต้อง มีระบบดังเพลิงที่ดี เหตุการณ์ร้ายๆ คงจะไม่เกิดขึ้น “การที่ผมออกมาฟ้องเรื่องนี้ เพื่อจะยกระดับมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย และเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับตัวผมเอง และอยากจะใช้กฎหมายตัวนี้เป็นบรรทัดฐานให้ผู้บริโภคต่อไป และผมอยากให้ผู้ที่เสียหายต่อเหตุการณ์นี้ ได้ลุกขึ้นมาทวงสิทธิของตัวเอง” นายสันติสุขกล่าวนายชัยรัตน์ แสงอรุณ ตัวแทนจากสภาทนายความ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวขณะนี้ ได้มีผู้ไปขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความจำนวน 18 รายแล้ว สภาทนายความยินดีให้ความช่วยเหลือทุกท่าน“จากการทำงานที่ผ่านมา กรณีเกิดเหตุไฟไหม้เช่นนี้ซึ่งถือว่าเกิดเหตุโดยประมาท ผู้ประกอบการมักจะหลุดจากข้อหา เพราะภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับผู้บริโภค จึงค่อนข้างลำบาก แต่การฟ้องด้วย กม.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะภาระการพิสูจน์จะตกอยู่กับผู้ประกอบการว่า สถานประกอบการถูกต้องอย่างไง ผมคิดว่าข้อเท็จจริงของคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีผู้บริโภคต่อไป และอยากให้ผู้เสียหายออกมาใช้สิทธิของตัวเองและเพื่อให้กฎหมายผู้บริโภคที่ออกมาและมีอยู่ได้ถูกใช้โดยผู้บริโภค” นายชัยรัตน์ กล่าว

อ่านเพิ่มเติม >