ฉบับที่ 274 ข้อสัญญาที่กำหนดว่า “ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี” ใช้บังคับได้หรือไม่ (ตอนที่ 2)

        จากความเดิมในฉบับที่แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจบางรายมักจะเขียนเงื่อนไขในสัญญาว่า ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี สามารถกระทำได้หรือไม่ เรื่องนี้มีตัวอย่างปัญหาผู้บริโภคขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกามีการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะข้อสัญญาดังกล่าว โดยถือว่าเป็นการใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ให้ใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น  ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 8424/2563         ...ดูก่อนหน้าจากฉบับ 273         อย่างไรก็ตามหากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย ศ.  และจำเลยไม่อาจริบเงินได้  เท่ากับจำเลยต้องรับผิดคืนเงินแก่นาย  ศ. แม้เป็นกรณีที่นาย  ศ. ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการต้องรับภาระที่หนักกว่าของจำเลยเมื่อเปรียบเทียบกับของนาย  ศ.  ดังนี้  ข้อตกลงไม่คืนเงินจองกรณีสั่งซื้อรถที่มีคำสั่งซื้อพิเศษที่จำเลยกำหนดให้ตนไม่ต้องคืนเงินจองแก่นาย ศ. ในทุกกรณี  ซึ่งย่อมรวมถึงกรณีที่การซื้อขายมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลยและด้วยเหตุอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้รวมอยู่ด้วยนั้น  จึงเป็นข้อตกลงที่ทำให้นาย  ศ. ซึ่งเป็นผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญารวมอยู่ด้วย  ข้อสัญญาส่วนนี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  พ.ศ.  ๒๕๔๐  มาตรา  ๔ มีผลให้ใช้บังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น  ซึ่งหมายถึงหากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเฉพาะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  จำเลยชอบจะใช้สิทธิริบเงินซึ่งเป็นมัดจำตามข้อตกลงส่วนนี้ได้ เมื่อการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ที่ไม่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการที่นาย  ศ. ปฏิเสธคำเสนอที่อนุมัติให้สินเชื่อและเกิดจากการที่นาย  ศ. ละเลยไม่เสนอขอให้บริษัทเมอร์ซิเดส  เบนซ์  ลีสซิ่ง  จำกัด  พิจารณาสินเชื่อแก่ตนในเงื่อนไขอื่นแล้วทำคำเสนอใหม่แก่ตน ซึ่งนำไปสู่การยกเลิกสัญญาจองระหว่างนาย  ศ. กับจำเลย เมื่อการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำ  200,000  บาท  ได้          อย่างไรก็ตามกรณีอยู่ใต้บังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  พ.ศ. 2540 มาตรา 7 ที่บัญญัติว่า  “ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ  หากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ  ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน  ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้” แม้การดำเนินการเพื่อให้ได้สินเชื่อไม่เกิดขึ้นโดยเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  แต่ผู้ประกอบธุรกิจในฐานะเช่นจำเลยซึ่งเป็นผู้ให้บริการแก่ลูกค้า  ชอบที่จะแจ้งเตือนให้นาย  ศ. ดำเนินการเพื่อให้ขอสินเชื่อภายใต้เงื่อนไขใหม่  ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจเช่นจำเลย  นอกจากจะรักษาผลประโยชน์ในทางธุรกิจของตนตามที่ควรจะได้รับโดยชอบแล้ว  ยังมีหน้าที่ต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ที่นาย ศ. ผู้ซื้ออันเป็นผู้บริโภคสินค้าและบริการจากตนพึงได้รับตามสมควรด้วย  การที่จำเลยละเลยไม่แจ้งเตือนนาย  ศ. ว่าสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อได้เพื่อให้นาย ศ. ทราบถึงสิทธิที่จะต่อรองเจรจาเพื่อขอสินเชื่อต่อไปซึ่งอาจทำให้การขอสินเชื่อสำเร็จได้ในเงื่อนไขที่เห็นชอบทั้งสองฝ่าย แต่จำเลยไม่กระทำ  จำเลยกลับใช้สิทธิริบเงินมัดจำตามข้อตกลงแล้วขายรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้อื่นไปโดยไม่ได้ให้โอกาสแก่นาย  ศ. ที่จะรักษาประโยชน์ของตนซึ่งเป็นผู้บริโภคตามสมควร  ทั้งจะเป็นการรักษาประโยชน์ของจำเลยไปในขณะเดียวกันเพื่อให้ขายรถยนต์พิพาทที่มีอุปกรณ์พิเศษแก่นาย  ศ. ได้โดยไม่ขาดทุน         การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมไม่ใช่มาตรฐานปกติประเพณีการค้าที่พึงปฏิบัติต่อผู้บริโภค  ดังนี้  การที่จำเลยต้องขายรถยนต์พิพาทไปในราคาขาดทุนดังจำเลยอ้าง  จำเลยจึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายอยู่ด้วย  เมื่อคดีไม่ปรากฏความเสียหายที่แท้จริงจากข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบและเมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ที่จำเลยมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายอยู่ด้วย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยริบเงินมัดจำได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงที่กำหนดให้  120,000 บาท  จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำ  80,000 บาท  แก่นาย  ศ.  และกรณีเป็นเรื่องการคืนมัดจำที่สูงเกินส่วนตามที่ศาลกำหนด  หาใช่กรณีจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือเป็นกรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมจากการเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  224  วรรคหนึ่ง  และมาตรา  391  วรรคสองไม่  จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในค่าดอกเบี้ยนับแต่รับเงินมัดจำไว้  อย่างไรก็ตาม  เมื่อเป็นหนี้เงินและความรับผิดเกิดแต่คำพิพากษาของศาล  จึงกำหนดให้จำเลยรับผิดค่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  7.5 ต่อปี  ของต้นเงิน  80,000 บาท  นับแต่วันอ่านคำพิพากษาเป็นต้นไป        สรุปว่า หากการซื้อขายระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจไม่เกิดขึ้นเฉพาะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  ผู้ประกอบธุรกิจชอบจะใช้สิทธิริบเงินซึ่งเป็นมัดจำตามข้อตกลงส่วนนี้ได้  และในคดีนี้ ศาลยังเห็นว่า เงินมัดจำนั้น หากผู้ประกอบธุรกิจเรียกเก็บสูงเกินไป ศาลมีอำนาจศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ยกเลิกทัวร์และได้เงินมัดจำคืน

        การจองทัวร์ไปท่องเที่ยวเมื่อถึงกำหนดแล้วได้ท่องเที่ยวตามที่ใจหวังนับเป็นโชคดี แต่หากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นแล้ว การจ่ายเงินซื้อทัวร์ท่องเที่ยวก็ทำให้เงินสูญไปได้เฉยเลยเช่นเดียวกัน   การศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องรักษาสิทธิของตนเองก่อนทำการซื้อทัวร์จึงมีความสำคัญอย่างมาก เช่น กรณีของคุณส้มริน         เรื่องราวของคุณส้มรินเริ่มเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา คุณส้มรินได้จองทัวร์ทัศนศึกษาสถานที่สำคัญในพระคัมภีร์ไบเบิล ณ ประเทศอิสราเอล กับสถาบันที่ส่งเสริมศาสนาคริสต์แห่งหนึ่ง  โดยมีกำหนดเดินทางวันที่ 4-10 ม.ค. 2567  จำนวน 3 คน ราคามัดจำคนละ 15,000 บาท รวมทั้งสิ้น  45,000 บาท อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมและรัฐบาลอิสราเอลแจ้งว่าสงครามจะยืดเยื้อไปอีกอย่างน้อย 2 เดือน คุณส้มรินและครอบครัวจึงเป็นกังวลต่อความปลอดภัยในการเดินทางจึงได้ติดต่อขอยกเลิกทัวร์และขอคืนค่ามัดจำ ซึ่งผู้จัดทัวร์ได้แจ้งคุณส้มรินว่าได้นำเงินชำระค่ามัดจำกับสายการบินแอล อัลอิสราแอร์ไลน์ (LY) ไปแล้ว ซึ่งสายการบินได้แจ้งว่า กรุ๊ปทัวร์ที่เดินทางตั้งแต่เดือน ต.ค. - พ.ย. สามารถเลื่อนทัวร์ได้ แต่ยกเลิกไม่ได้ ส่วนกรุ๊ปทัวร์ที่เดินทางในปี 2567 ไม่สามารถเลื่อนหรือยกเลิกการเดินทางได้         คุณส้มรินเห็นว่าการจำเป็นต้องยกเลิกทัวร์เป็นเหตุมาจากภัยสงครามไม่ได้เกิดปัญหาจากตัวเธอ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำกับคุณส้มรินว่าหากผู้ซื้อทัวร์แจ้งขอยกเลิกให้ผู้จัดทัวร์ทราบล่วงหน้า 30 วัน (หรือเกิน 30 วันไปแล้ว) และยังไม่ได้รับเงินคืนสามารถแจ้งเพิ่มเติมได้ที่กรมการท่องเที่ยว เนื่องจากประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง  หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ได้กำหนดไว้ในข้อ 4 (1) ว่า ‘ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวทราบไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันที่นำเที่ยวให้คืนในอัตราร้อยละหนึ่งร้อยของเงินค่าบริการ’ และในข้อ 5 ยังระบุว่า ‘ในกรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกการนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยมิใช่ความผิดของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายเงินค่าบริการคืนแก่นักท่องเที่ยวในอัตราร้อยละหนึ่งร้อยของเงินค่าบริการ’         อย่างไรก็ตามเมื่อมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องของคุณส้มรินแล้วจึงติดต่อไปยังสถาบันผู้จัดทัวร์ดังกล่าว ซึ่งทางสถาบันฯ ได้แจ้งว่า “ปัจจุบันผู้จัดทัวร์ได้ติดต่อกลับคุณส้มรินแล้ว และแจ้งว่าถ้าคุณส้มรินต้องการเดินทางต่อสามารถเลื่อนออกไปก่อนได้จนกว่าจะพร้อม แต่ถ้าไม่ประสงค์ที่จะเดินทางต่อผู้จัดทัวร์จะคืนเงินมัดจำให้คุณส้มรินทั้งหมด”         ดังนั้นประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง  หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 เป็นกฎหมายที่สำคัญอย่างยิ่งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้ประชาชนศึกษาอย่างละเอียดก่อนการซื้อทัวร์ท่องเที่ยวทุกครั้ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ข้อสัญญาที่กำหนดว่า “ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี” ใช้บังคับได้หรือไม่ (ตอนที่ 1)

        ปัจจุบันเราจะพบว่า ปัญหาการเอาเปรียบผู้บริโภคส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้สัญญาที่ตนเขียนขึ้นมาฝ่ายเดียวและมีการกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค กรณีที่พบเจอบ่อยๆ คือ เรื่องของการริบเงินมัดจำ ซึ่งแน่นอนว่ามัดจำเป็นเงินที่ผู้ประกอบธุรกิจอาจริบได้ หากผู้บริโภคไม่เข้าทำสัญญา อย่างไรก็ตามเราจะพบว่า ผู้ประกอบธุรกิจบางรายมักจะเขียนเงื่อนไขในสัญญาว่า ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี จึงมีประเด็นว่าการกำหนดไว้เช่นนี้ใช้บังคับได้หรือไม่เพียงใด  ซึ่งเรื่องนี้ก็มีตัวอย่างปัญหาผู้บริโภคขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกาได้มีการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะข้อสัญญาดังกล่าว โดยถือว่าเป็นการใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ให้ใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น  ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 8424/2563          คำพิพากษาฎีกาที่ 8424/2563         ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา  เรื่อง  ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา  พ.ศ. 2551   เอกสารหมาย  จ.13  ออกโดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา  ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522  มาตรา  35  ทวิ  จึงมีผลใช้บังคับตามกฎหมาย ความตามข้อ  3  (4)  ของประกาศกำหนดว่า  “ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา  หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า  ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์ และผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาตาม  (2)” ความตามข้อ  3  (2)  กำหนดว่า  “กำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์”  ความตามข้อ  3  (5)  กำหนดว่า  “เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาตาม  (3)  หรือ  (4)  แล้ว  ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภคภายใน  15  วัน”  และความตาม  ข้อ  4  กำหนดว่า  “ข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือมีความหมายทำนองเดียวกัน  ดังต่อไปนี้  ...(2)  ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาการส่งมอบรถยนต์หรือเงื่อนไขต่าง ๆ  ตามที่กำหนดในสัญญาจองรถยนต์  ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญา...” ดังนี้          การวินิจฉัยว่า  ข้อตกลงไม่คืนเงินจองกรณีสั่งซื้อรถที่มีคำสั่งซื้อพิเศษเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่  จึงต้องพิจารณาว่า  เป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญาหรือไม่         เมื่อได้ความว่าขณะสั่งจองรถยนต์นาย  ศ. ทราบดีว่า  จำเลยต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นต้นทุนพิเศษต่างหากจากรถยนต์รุ่นปกติทั่วไปที่จำเลยต้องเสียไปในการสั่งรถยนต์นำเข้ามาให้แก่นาย  ศ. เป็นการเฉพาะ  และทราบดีถึงการที่จำเลยไม่อาจจำหน่ายรถยนต์นั้นเป็นการทั่วไปในท้องตลาดได้ดังเช่นรถยนต์รุ่นปกติ  แต่นาย ศ. ก็ยังยืนยันประสงค์จะให้จำเลยสั่งรถยนต์ที่มีอุปกรณ์พิเศษเช่นนั้นจากผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ในต่างประเทศเข้ามาเพื่อความประสงค์ของตนเป็นการเฉพาะเจาะจง  โดยนาย ศ. ยินยอมตกลงกับจำเลยในเงื่อนไขไม่ต้องคืนเงินจองให้ไม่ว่ากรณีใด  ซึ่งหมายความว่า  ในกรณีการซื้อขายไม่เกิดขึ้น  นาย ศ. ยินดีให้จำเลยริบเงินจองนั้นได้         เมื่อพิเคราะห์ถึงความรู้  ความเข้าใจ  สถานะของนาย  ศ. ที่เป็นกรรมการของบริษัทจำกัด  ตลอดจนอำนาจต่อรองและทางเลือกอย่างอื่นรวมทั้งทางได้เสียทุกอย่างของทั้งสองฝ่าย  ประกอบปกติประเพณีของการทำสัญญาจองรถยนต์กับโอกาสที่นาย  ศ.  มีในการไตร่ตรองทบทวนข้อตกลงไม่คืนเงิน  เวลาและสถานที่ในการทำสัญญาของนาย  ศ.  แล้ว  เห็นว่า  หากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลยก็ดีหรือด้วยเหตุอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ก็ดี  ย่อมเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่จำเลยต้องรับผิดชอบและจำเลยจะแสวงประโยชน์จากข้อตกลงให้ริบเงินนั้นมิได้  เพราะมิได้เกิดแต่การกระทำของนาย  ศ. อย่างไรก็ตามหากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย ศ.  และจำเลยไม่อาจริบเงินได้  เท่ากับจำเลยต้องรับผิดคืนเงินแก่นาย  ศ. แม้เป็นกรณีที่นาย  ศ. ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการต้องรับภาระที่หนักกว่าของจำเลยเมื่อเปรียบเทียบกับของนาย  ศ.  ดังนี้  ข้อตกลงไม่คืนเงินจองกรณีสั่งซื้อรถที่มีคำสั่งซื้อพิเศษที่จำเลยกำหนดให้ตนไม่ต้องคืนเงินจองแก่นาย ศ. ในทุกกรณี  ซึ่งย่อมรวมถึงกรณีที่การซื้อขายมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลยและด้วยเหตุอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้รวมอยู่ด้วยนั้น  จึงเป็นข้อตกลงที่ทำให้นาย  ศ. ซึ่งเป็นผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญารวมอยู่ด้วย  ข้อสัญญาส่วนนี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  พ.ศ.  ๒๕๔๐  มาตรา  ๔ มีผลให้ใช้บังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น...อ่านตอนที่ 2 ได้ที่ฉบับ 274   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ถูกหลอกซื้อบ้านที่ต้องเวนคืน มีสิทธิเรียกร้องอะไรบ้าง

        ก่อนที่เราจะตัดสินใจมีบ้านสักหลัง จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมีข้อมูล เพื่อให้เราเลือกบ้านได้ตามที่เราต้องการ ฝั่งผู้ประกอบธุรกิจขายบ้านก็มักมีคำโฆษณาชวนเชื่อหลากหลายเพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อ ซึ่งแน่นอนว่าคำโฆษณาเหล่านี้ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่ให้ไว้กับผู้บริโภค ดังนั้นเมื่อข้อความที่โฆษณาเป็นส่วนสำคัญที่ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อบ้านสักหลัง ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องมีความสุจริตในการทำโฆษณาไม่หลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด  มิเช่นนั้นผู้บริโภคก็จะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินค่าบ้านและค่าใช้จ่ายต่างๆ คืนจากผู้ประกอบธุรกิจได้          ผมขอยกตัวอย่างคดีที่ผู้บริโภคท่านหนึ่ง ซึ่งตัดสินใจอยากมีบ้านสักหลังเป็นของตนเอง แต่เมื่อทำสัญญาซื้อขายกันไปแล้วต่อมาทราบข้อมูลภายหลังว่า บ้านที่ตนซื้อเป็นพื้นที่กำลังโดนเวนคืน จึงเกิดความเสียหายเพราะผู้ประกอบธุรกิจปกปิดข้อมูลดังกล่าว ผู้บริโภคจึงฟ้องศาลเรียกเงินค่าบ้านคืน รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดจากการทำสัญญาซื้อบ้านดังกล่าว  เช่น ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปา ค่าธรรมเนียมสัญญาจำนอง อากรสัญญากู้และนิติกรรม และค่าประกันอัคคีภัย เป็นต้น         ลักษณะข้างต้นเช่นนี้ศาลถือว่าเป็นการใช้ “กลฉ้อฉล” โดยวิธีปกปิดไม่บอกความจริงเกี่ยวกับบ้านว่าอยู่บนพื้นที่เวนคืน ทำให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ศาลจึงพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินและค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการหลงทำสัญญาซื้อบ้านดังกล่าว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1808/2561         การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาด้วยการปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืน เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคทั้งสองซึ่งประสงค์จะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย โดยการไม่ได้ให้คำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าที่จำเลยขายแก่ผู้บริโภคทั้งสอง อันเป็นการโฆษณาที่ใช้ข้อความไม่เป็นธรรมโดยก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และตัดโอกาสของผู้บริโภคที่จะใช้ข้อมูลดังกล่าวตัดสินใจที่จะเข้าทำสัญญากับจำเลย ดังนั้นผู้บริโภคทั้งสองจึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะนี้ เป็นกรณีจำเลยละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ที่มีมาตรา 4 ประกอบมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 รับรองไว้         จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าติดตั้งโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปา ค่าธรรมเนียมสัญญาจำนอง อากรสัญญากู้และนิติกรรม และค่าประกันอัคคีภัย ซึ่งเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกี่ยวเนื่องกับการที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการปกปิดข้อเท็จจริง ซึ่งผู้บริโภคทั้งสองซื้อบ้านเพื่อการอยู่อาศัย สำหรับส่วนต่างราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาโดยปกปิดข้อเท็จจริง โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้และศาลมีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดี         หากขณะทำสัญญาซื้อขาย ผู้ประกอบธุรกิจไม่ทราบว่าที่ดินจะถูกเวนคืน เช่นนี้ ไม่ถือว่าปกปิดข้อเท็จจริง ดังนั้น จึงไม่ถือว่ามีความผิดฐานฉ้อโกง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 151/2537         ในขณะที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันจำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าที่ดินจะถูกเวนคืน เพียงแต่จำเลยทั้งสองพูดรับรองว่าที่ดินไม่มีภาระผูกพันใดๆ เท่านั้น ทั้งโจทก์ในฐานะผู้จะซื้อที่ดินจากจำเลยทั้งสองก็มีหน้าที่ต้องระวังอยู่แล้วการเวนคืนถึงหากจะมีก็ยังไม่เป็นการแน่นอน ในขณะทำสัญญาจะซื้อจะขาย พฤติการณ์แห่งคดีจำเลยทั้งสองไม่อาจทราบได้ว่าจะมีการเวนคืนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ถือว่าจำเลยทั้งสองมิได้ปกปิดข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับที่ดินซึ่งตกอยู่ในเขตที่ดินที่ต้องถูกทางราชการเวนคืนโดยทุจริตแต่อย่างใดจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 เครื่องบินบินไม่ได้ ขออะไรคืนได้บ้าง

        ช่วงสถานการณ์โควิด 19 ระบาดหนัก มีคำสั่งล็อกดาวน์ หรือคำขอความร่วมมือไม่ให้เดินทางข้ามจังหวัด หรือประกาศให้พื้นที่ในจังหวัดเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม การเดินทางต่างๆ ยากลำบาก ถ้าได้จองรถโดยสาร เครื่องบิน เราจะสามารถยกเลิกหรือขอเงินคืนได้ไหม เราไปตามไปดูผู้บริโภครายนี้กันว่าเขาจะได้อะไรคืนบ้างในการขอยกเลิกการเดินทาง         คุณภูผาต้องการไปทำงานที่จังหวัดสตูลกับเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน เขาวางแผนเลือกเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปหาดใหญ่และต่อรถไปจังหวัดสตูล จึงได้จองตั๋วเครื่องบินของสายการบินหนึ่ง เที่ยวบินกรุงเทพฯ ถึงหาดใหญ่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 และจองขากลับเที่ยวบินหาดใหญ่ ถึงกรุงเทพฯ วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 รวมเป็นเงิน 10,030 บาท แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ระบาด รัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมืองดเว้นการท่องเที่ยวและการเดินทาง และจังหวัดสตูลประกาศ ให้ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสีแดงต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน เพื่อให้ความร่วมมือในการปฎิบัติตามกฎหมายและมาตรการของรัฐ ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เขาและเพื่อนร่วมงานจึงไม่สามารถเดินทางตามวันเวลาที่จองตั๋วของสายการบินไว้ได้ จึงต้องการยกเลิกการจองและขอเงินจำนวน 10,030 บาท คืน จึงมาปรึกษามูลนิธิว่าเขาควรดำเนินการอย่างไรต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำผู้ร้องว่า ให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงบริษัทสายการบิน เพื่อยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน โดยส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับ     หลังจากนั้นศูนย์พิทักษ์ได้ติดต่อสอบถามไปยังสายการบิน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง สายการบินแจ้งว่าผู้ร้องไม่ได้แจ้งความประสงค์ว่าจะขอเงินคืน สายการบินจะคืนผู้ร้องเป็นเครดิตในเที่ยวบินกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ โดยยืดระยะเวลาออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยสายการบินได้แจ้งเงื่อนไขนี้ให้ผู้ร้องทราบแล้ว ผู้ร้องตกลงยอมรับในเงื่อนไขที่สายการบินเสนอ ส่วนเที่ยวบินหาดใหญ่-กรุงเทพฯ ผู้ร้องได้รับเงินคืนเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2564

เตือนอย่าหลงเชื่อ "กู้เงินออนไลน์"         กระทรวงการคลัง เอาจริง เตรียมดำเนินคดีมิจฉาชีพแอบอ้างหลอกประชาชนให้ "กู้เงินออนไลน์" ก่อนเก็บค่าดำเนินการอมเงินหนีหาย โดยนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้แอบอ้างเป็นผู้ให้บริการทางการเงินผ่านสื่อดิจิทัล หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยมีพฤติการณ์หลอกลวงประชาชน ดังนี้         - ต้องทำสัญญากู้เงิน และต้องโอนเงินค่าดำเนินการ หรือค่าธรรมเนียมล่วงหน้าก่อน ซึ่งจะให้โอนเข้าบัญชีผู้ให้กู้เงิน ซึ่งเป็นชื่อบุคคลธรรมดา         - ผู้แอบอ้างบางราย อ้างว่าได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังแล้ว และมีการแสดงหนังสืออนุญาตที่ทำการปลอมแปลงขึ้นมา         - ผู้แอบอ้างได้เปลี่ยนชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นชื่อนิติบุคคลของผู้ที่แอบอ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ         - ทำให้มีประชาชนหลายรายหลงเชื่อ พร้อมทั้งโอนเงินค่าดำเนินการหรือค่าธรรมเนียมไปให้ผู้แอบอ้าง และไม่ได้รับเงินกู้ตามความประสงค์ที่จะขอกู้ยืมเงินจึงขอเตือนประชาชนให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อภายใต้การกำกับที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ถูกต้องตามกฎหมายก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ที่เว็บไซต์ www.1359.go.th และหากพบเบาะแสบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่แอบอ้าง สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359 หรือสามารถแจ้งความร้องทุกข์โดยตรงได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599 มพบ. เรียกร้องสายการบินคืนเงินค่าตั๋วโดยสาร ระบุพร้อมดำเนินคดี          จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้สายการบินยกเลิกเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากนั้น นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณียังไม่ได้รับเงินค่าตั๋วโดยสารคืนจากสายการบิน จำนวน 228 ราย จึงได้ติดต่อประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยสายการบินเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา 2 แบบ คือ หนึ่ง คืนเป็นเครดิตให้กับผู้บริโภคเพื่อเก็บไว้ใช้บริการในครั้งต่อไป หรือสอง คืนค่าตั๋วในกรณีที่ผู้บริโภคต้องการเงินคืน         อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความคืบหน้าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ทำให้ทราบว่ายังมีผู้บริโภคที่ใช้บริการสายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท แอร์จอย สต๊อค และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ รวม 31 ราย ที่ยังไม่ได้รับเงินคืน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 557,929.27 บาท ดังนั้นทางศูนย์ฯ จึงทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาแต่พบว่ามีเพียงคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ที่ตั้งวงประชุมเพื่อหารือแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องสายการบิน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า         ทางมูลนิธิฯ จึงเตรียมดำเนินคดีเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า “ระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 1 ปีเต็ม ยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับเงินคืน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป และทราบว่าที่ผ่านมาทางภาครัฐก็ได้ช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan ให้ผู้ประกอบการสายการบินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว สายการบินก็ควรคืนเงินให้กับผู้บริโภค หากยังคงเพิกเฉยก็คงต้องเดินหน้าฟ้องสายการบินต่อไป” เฉลิมพงษ์กล่าว         39 องค์กรร่วมฟ้องบอร์ด กขค. ขอเพิกถอนคำสั่งควบรวมซีพีเทสโก้          15 มีนาคม  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ 37 องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภคทั่วประเทศ รวมกันเป็นโจทก์ฟ้อง คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และ สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าต่อศาลปกครอง กรณีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ CP-Tesco อาจขัดกฎหมาย         จากการที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 มีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการอนุญาตครั้งนี้ โดยเห็นว่าจะทำให้เครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ในกลุ่มธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นสูงถึง 83.97% อีกทั้งเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารสำคัญหลายประเภท ทั้งวัตถุดิบ สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งนำไปสู่การผูกขาดทางการค้า ทำให้กลไกการตลาดไม่เป็นอิสระ ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดต่อ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจในตลาดสินค้าและบริการต่าง ๆ ให้มีการแข่งขันมากที่สุดภายใต้หลักเสรีและเป็นธรรม และขัดต่อสิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการอย่างอิสระตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522         โดยผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลไต่สวนคำร้องและขอให้ศาลมีคำสั่ง กำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยมีคำสั่งให้ระงับการรวมธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ ของบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ไว้ก่อนชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ผู้บริโภคยินดีจ่ายเพิ่มไม่เกิน 20% กับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม         ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพฤติกรรมและมุมมองความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อปัญหาและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม พบผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่อาจช่วยลดการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นงดหรือลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติกและหันมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย หรือแม้แต่การเดินทางโดยรถสาธารณะแทนรถส่วนตัว ทั้งนี้พบว่ากว่าร้อยละ 55 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาที่แพงกว่าสินค้าปกติทั่วไประหว่าง 1 – 20 % ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า รองลงมาคือร้อยละ 23 เต็มใจที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาเท่าเดิม หรือไม่แตกต่างจากสินค้าปกติทั่วไป 6 วิธีจับสังเกตแชร์ลูกโซ่          กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สคบ. และ กองปราบปราม สรุปข้อสังเกตเพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อขบวนการแชร์ลูกโซ่ ดังนี้ 1.ผลตอบแทนสูงกว่าความเป็นจริง 2.เชียร์ให้ลงเงินเยอะๆ ไม่พูดถึงความเสี่ยง 3.เน้นหาเครือข่าย ยิ่งชวนคนมาลงทุนเยอะยิ่งได้เงินเยอะ 4.หว่านล้อม กดดันให้รีบตัดสินใจ 5.อ้างคนมีชื่อเสียงร่วมลงทุน และ 6.ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีหน่วยงานรับรอง

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 229 เคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2563

กสทช. เคาะให้เน็ตฟรี 10 GB ปรับความเร็วเน็ตบ้านขั้นต่ำ 100 Mbps หนุนประชาชนทำงานที่บ้าน        นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ โดยการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคม และส่งเสริมการทำงานที่บ้าน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนต่อไป ดังนี้        1. สนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) เพิ่ม 10 GB ต่อคน ต่อเดือน ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยผู้ใช้บริการ 1 คนจะได้รับการสนับสนุน 1 เลขหมาย ต่อ 1 ผู้ให้บริการ โดยจะสนับสนุนเป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ลงมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าว จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 โดยใช้ฐานลูกค้าที่มีผู้ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ณ วันที่ครม.มีมติ เท่านั้น โดยประชาชนจะสามารถรับสิทธิได้ด้วยการลงทะเบียนผ่านระบบ USSD ของผู้ให้บริการแต่ละค่ายที่ตนใช้งานอยู่         2. สนับสนุนการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยปรับเพิ่มขนาดความจุ (Capacity) เท่าที่ผู้ให้บริการจะสามารถดำเนินการได้ กล่าวคือ กรณีบริการ ADSL/VDSL/Copper ให้ปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดที่สามารถทำได้ และกรณีบริการ FTTX ให้ได้ระดับความเร็ว (Download) 100 Mbps   เลี่ยงใช้ยาไอบูโพรเฟนกับโควิด         องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำแนะนำอย่างเป็นทางการ ให้ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคทางเดินหายใจโควิด-19 หลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดไข้และแก้อักเสบไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้อาการทรุดหนักลงไปอีกได้         ข้อมูลจากรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Lancet ตั้งข้อสงสัยว่า เอนไซม์บางชนิดที่ถูกกระตุ้นด้วยยาไอบูโพรเฟน อาจทำให้การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ลุกลามเร็วขึ้นและส่งผลรุนแรงขึ้นได้        "เราแนะนำให้ใช้ยาลดไข้อย่างพาราเซตามอลแทน และอย่าซื้อยาไอบูโพรเฟนมารับประทานเองโดยไม่ขอคำแนะนำจากแพทย์เสียก่อน" โฆษกประจำองค์การอนามัยโลกกล่าว เกษตรกรฟ้อง “เจียไต๋" 100 ล้าน เหตุเจ็บป่วยพิษพาราควอต        ศาลหนองบัวลำภู นัดสืบคดีไต่สวนครั้งแรกเป็นคดีประวัติศาสตร์ในไทยระหว่างเกษตรกรกับ “เจียไต๋” พร้อมเรียกค่าเสียหายพิษพาราควอตกว่า 100 ล้าน         นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน กล่าวว่า ““ที่มาของการฟ้องร้องครั้งนี้เป็นผลเสียหายจากการที่เกษตรกรได้ใช้ยาฆ่าหญ้าของบริษัทในกลุ่มพาราควอต และได้เจ็บป่วยมีทั้งถูกตัดขา และมีผลกระทบเป็นโรคเนื้อเน่า รวมทั้งหมด 16 ราย เฉลี่ยรายละ 7-8 แสนบาท รวมแล้วกว่า 100 ล้านบาท ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ฟ้องศาลเรื่องสารเคมี สาเหตุที่ฟ้องเจียไต๋  เนื่องจากเป็นบริษัทรายใหญ่ที่นำเข้าและจำหน่ายของประเทศไทย การฟ้องครั้งนี้จะฟ้องแบบกลุ่ม แต่ถ้าทนายของเจียไต๋ระบุว่าฝ่ายบริษัทเสียเปรียบเนื่องจากคำฟ้องครอบคลุมเกษตรกรคนอื่นที่ไม่ใช่ 16 ราย ด้วย จะต้องไปพูดคุยกันที่ศาลฯ”        ด้าน ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่จะได้ทำความจริงให้ปรากฏ พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ความเชื่อ เพราะนั้นขอบคุณเกษตรกรที่ฟ้อง ซึ่งความจริงต้องฟ้องรายตัวปลูกพืชไม่เหมือนกัน มีความเสี่ยงแตกต่างกัน ส่วนบริษัทใหญ่ที่นำเข้าพาราควอตมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเอราวัณ รองลงมาเป็นกลุ่มบริษัทซินเจนทา ประเทศไทย ประกันสังคมช่วยผู้ประกันตนรับมือโควิด -19         โดยลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนายจ้าง-ลูกจ้าง เหลือฝ่ายละ 4% จากเดิมที่กำหนดให้นำส่งฝ่ายละ 5% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก โควิด-19         นอกจากนี้อยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาร่วมกัน 3 กองทุนสุขภาพ (สปส. สปสช. และกรมบัญชีกลาง) สำหรับการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มให้กับสถานพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเพียงพอ 'คืนเงินประกันไฟฟ้า' ไม่เกี่ยวมิเตอร์         จากเหตุที่มีประชาชนจำนวนมากสงสัยในเรื่องการคืนเงินประกันไฟฟ้า ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุโควิด-19 โดยเข้าใจสับสนกับเรื่องมิเตอร์ไฟฟ้านั้น ได้มีการชี้แจงรายละเอียดดังนี้         การของคืนเงินประกันไฟฟ้า ของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1 บ้านที่อยู่อาศัย และประเภท 2 กิจการขนาดเล็ก จากฝ่ายผลิต(ผู้ให้บริการ) ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กปน.) “ไม่มีหมดเขต ไม่ต้องรีบร้อน ขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าทางออนไลน์ ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ โทรศัพท์มือถือ ...สะดวก สบาย ตลอด 24 ชั่วโมง         เงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า เป็นคนละส่วนกับมิเตอร์ไฟฟ้า เงินประกันการใช้ไฟฟ้า คือ เงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้วางเป็นหลักประกันไว้ โดยผู้ให้บริการไฟฟ้าทั้ง กฟภ.และกปน.  ใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ค่าไฟฟ้า กรณีมีหนี้ค้างชำระ ค่าเบี้ยปรับ หรือหนี้อื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟฟ้า         ทั้งนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้เปิด 2 ช่องทางในการตรวจสอบสิทธิ์ และลงทะเบียนขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ได้แก่ 1.เว็บไซต์ https://dmsxupload.pea.co.th/cdp/  และ 2.การสแกน QR Code ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า  สงสัยสอบถามสายด่วน 1129        ส่วนการไฟฟ้านครหลวง เปิดให้ตรวจสอบสิทธิ์และทะเบียน หลายช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.mea.or.th 2.เฟซบุ๊ค การไฟฟ้านครหลวง MEA 3.แอพพลิเคชัน MEA Smart Life 4.ทวิตเตอร์ @mea_news 5.ไลน์ @meathailand 6.สแกน QR Code ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า  7.โทรศัพท์เบอร์ 02-256-3333 และ 8.ที่ทำการการไฟฟ้านครหลวง 18 เขต แต่จะเปิดช่องทางนี้ในเดือนพฤษภาคม 2563 เนื่องจากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม การไฟฟ้านครหลวง เบอร์ 1130

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 โดนหลอกซื้อที่ดินที่จะถูกเวนคืน ทำไงดี

        สวัสดีผู้อ่าน ทุกท่านครับ ในฉบับนี้ ก็มีคดีของผู้บริโภคที่น่าสนใจมาแบ่งปันเช่นเคย โดยครั้งนี้จะขอกล่าวถึงเรื่องของผู้บริโภคที่ไปซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ดันดวงซวย มารู้ทีหลังว่าบ้านที่ซื้อมา เป็นบ้านที่กำลังจะถูกเวนคืน  เจอแบบนี้ท่านทั้งหลายจะทำยังไงครับ                 แต่สำหรับผู้บริโภคคนที่ยกมาเล่าให้ฟังนี้ เขาไม่ปล่อยเรื่องนี้ไว้เฉยๆ เขาเห็นว่าเป็นการหลอกลวง และเอาเปรียบคนที่อยากมีบ้านเป็นของตนเอง จึงนำคดีไปฟ้องต่อศาลแพ่งเป็นคดีผู้บริโภค  และสุดท้าย ศาลก็ให้ความเป็นธรรม โดยตัดสินว่าผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดชอบ เพราะถือว่าตอนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดิน  มีการปกปิดข้อเท็จจริงเรื่องการเวนคืน ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคเกี่ยวกับการไม่ได้ให้คำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าที่ขายแก่ผู้บริโภค มีการโฆษณาที่ใช้ข้อความไม่เป็นธรรมโดยก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และตัดโอกาสของผู้บริโภคที่จะใช้ข้อมูลดังกล่าวตัดสินใจที่จะเข้าทำสัญญา จึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1808/2561        การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาด้วยการปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืน เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคทั้งสองซึ่งประสงค์จะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย โดยการไม่ได้ให้คำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าที่จำเลยขายแก่ผู้บริโภคทั้งสอง อันเป็นการโฆษณาที่ใช้ข้อความไม่เป็นธรรมโดยก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และตัดโอกาสของผู้บริโภคที่จะใช้ข้อมูลดังกล่าวตัดสินใจที่จะเข้าทำสัญญากับจำเลย ดังนั้นผู้บริโภคทั้งสองจึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะนี้ เป็นกรณีจำเลยละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ที่มีมาตรา 4 ประกอบมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 รับรองไว้        จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าติดตั้งโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปา ค่าธรรมเนียมสัญญาจำนอง อากรสัญญากู้และนิติกรรม และค่าประกันอัคคีภัย ซึ่งเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกี่ยวเนื่องกับการที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการปกปิดข้อเท็จจริง ซึ่งผู้บริโภคทั้งสองซื้อบ้านเพื่อการอยู่อาศัย สำหรับส่วนต่างราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาโดยปกปิดข้อเท็จจริง โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้และศาลมีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดี        อีกกรณี ที่เจอหลอกให้ซื้อที่ดินที่จะถูกเวนคืน ศาลก็ได้วางหลักไว้ชัดว่า กรณีถูกหลอกแบบนี้  ถือว่าสัญญาที่ทำเป็นโมฆียะ สามารถบอกล้างได้ โดยการทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ขายเพื่อขอเงินคืน        ( โมฆียะ คือการกระทำที่ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย จนกว่าจะถูกบอกล้างเมื่อ บอกล้างแล้ว ให้ถือว่า เป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และมีผลให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ดังนั้น สำหรับกรณีซื้อบ้าน จึงหมายถึงสัญญาซื้อขายบ้านที่ทำไว้จะมีผลใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา จนกว่าจะมีการบอกล้างทำให้สัญญาเป็นโมฆะ )        คำพิพากษาฎีกาที่ 1955/2538        จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์ โดยจำเลยรู้อยู่เเล้วว่าโจทก์ซื้อที่ดินนี้ไปสร้างโรงงานผลิตอาหารกระป๋อง เเละรู้ว่าที่ดินจะถูกเวนคืนบางส่วนเพื่อขุดคลองชลประทาน เเต่ไม่เเจ้งให้โจทก์ทราบความจริง ทำให้โจทก์เข้าใจผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่จะซื้อ ซึ่งตามปกติถือเป็นสาระสำคัญ สัญญาจะซื้อจะขายจึงเป็นโมฆียะ          เมื่อโจทก์ได้ไปทวงเงินคืนจากจำเลยถือว่าได้บอกล้างโมฆียะกรรมเเล้ว สัญญาจะซื้อจะขายจึงเป็นโมฆะมาเเต่เเรก คู่สัญญาต้องคืนกลับสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย เเละโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตามที่ระบุในสัญญา        ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นผู้บริโภค ก่อนจะซื้อที่ดินไม่ว่าจะซื้อจากโครงการต่างๆ  หรือจะเป็นคนรู้จัก คนสนิทแนะนำ ก็ต้องตรวจสอบให้เเน่ใจก่อน เป็นไปได้ควรไปดูที่ดินแปลงที่จะซื้อจริงๆ ขอดูเอกสารต่างๆ รวมถึงนำเลขที่โฉนดไปตรวจสอบตามหน่วยงานต่างๆ เรื่องการเวนคืนที่ดิน เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเอาเปรียบ หลอกลวง บ้านหลังหนึ่งเราอาจอยู่ไปทั้งชีวิต ดังนั้นต้องรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อและทำสัญญานะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 นายจ้างเรียกค่ารักษาพยาบาลคืนจากผู้ทำละเมิดลูกจ้าง “ไม่ได้”

สวัสดีครับ ครั้งนี้มาคุยกันเรื่องของสิทธินายจ้าง ลูกจ้างกันนะครับ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกท่าน ซึ่งบางท่านอาจจะเป็นทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เช่นเดียวกับที่ท่านอาจเป็นทั้งผู้บริโภคที่ซื้อและขายสินค้าในคนเดียวกัน โดยมีคดีเรื่องหนึ่งน่าสนใจมาก เป็นเรื่องของนายจ้างคนหนึ่งซึ่งมีลูกจ้างไปขับรถตักยกสินค้าประมาท โดยขับรถตักยกสินค้าเพื่อยกเยื่อกระดาษอัดลงจากรถยนต์บรรทุก โดยไม่ตรวจสอบก่อนว่าเยื่อกระดาษอยู่ในตำแหน่งที่อาจหล่นได้หรือไม่ เป็นเหตุให้เยื่อกระดาษหล่นจากรถยนต์บรรทุกมาทับลูกจ้างอีกคนตาย หลังเกิดเหตุ นายจ้างก็รับผิดชอบต่อครอบครัวของผู้ประสบเหตุ จ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าโลงศพ และค่าฉีดยาศพ พร้อมค่าขนศพมายังภูมิลำเนาลูกจ้างผู้ตาย รวมเป็นเงินกว่าแสนบาท   และต่อมา นายจ้างและครอบครัวของลูกจ้างที่ตาย ลูกจ้างที่ขับรถตักยก ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแต่ไม่ยอมชดใช้เงินให้นายจ้าง นายจ้างจึงมาฟ้องคดีต่อศาล  ซึ่งฝั่งจำเลยที่เป็นครอบครัวของลูกจ้างที่ตายก็สู้ว่าผู้ตายเป็นลูกจ้างของโจทก์ประสบเหตุขณะทำงานให้โจทก์ ผู้ตายเข้ารับการรักษาและโดยความยินยอมของโจทก์ โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ ขอให้ยกฟ้อง ท้ายที่สุด ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การที่นายจ้างจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิแก่นายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้าง เพราะไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทน ดังนั้นนายจ้างจึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายไปคืนได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7630/2554          การรับช่วงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจของกฎหมาย จึงต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้รับช่วงสิทธิได้ การที่โจทก์จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษซึ่งใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยเฉพาะ มิใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายและกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์ได้แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 7 ได้ โดยสรุปคือ การจ่ายเงินของนายจ้างกรณีตามคดีนี้ เป็นการจ่ายเงินทดแทนตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับกรณีลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายจากการทำงานให้นายจ้างโดยเฉพาะ ไม่ใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย และกฎหมายก็ไม่ได้ให้สิทธินายจ้างเรียกเอาเงินที่จ่ายทดแทนไปนั้นจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้นนายจ้างซึ่งเป็นโจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปคืนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 งานแต่งเลื่อน ขอเงินค่าแพ็กเกจถ่ายรูปคืน

เพราะการแต่งงานถือเป็นช่วงเวลาสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของใครหลายคน การจ้างช่างภาพมืออาชีพเพื่อมาเก็บภาพความประทับใจหรือบรรยากาศภายในงานจึงเป็นเรื่องธรรมดา โดยปัจจุบันการถ่ายภาพงานแต่งมักเป็นแพ็กเกจการถ่ายรูป ซึ่งจะมีราคาตั้งแต่หลักหมื่นไปจนหลักแสนเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามหากเราพบว่างานแต่งที่วางแผนไว้กลับล่ม แต่ตกลงซื้อแพ็กเกจการถ่ายรูปงานแต่งไว้แล้ว ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ เราจะจัดการปัญหานี้อย่างไรดี ลองไปดูกันคุณไอติมวางแผนแต่งงานไว้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จึงตัดสินใจเลือกใช้บริการถ่ายภาพและเช่าชุดงานแต่งงานกับบริษัทแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามหลังตกลงกันเรียบร้อย และจ่ายค่ามัดจำด้วยบัตรเครดิตไปแล้วเป็นจำนวนเกือบ 40,000 บาท กลับพบว่ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นภายในครอบครัวของเธอ ทำให้งานแต่งต้องยกเลิกไปก่อน คุณไอติมจึงต้องการยกเลิกสัญญาการถ่ายภาพและเช่าชุดแต่งงาน แต่ไม่สามารถตกลงกับบริษัทได้ จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องต้องการขอเงินคืนทั้งหมด ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงชี้แจงผู้ร้องว่า การจ่ายเงินมัดจำ เป็นการให้คำมั่นว่าจะมีการทำตามที่ตกลงในสัญญา ซึ่งหากผู้ร้องขอยกเลิกสัญญาเอง โดยที่บริษัทฯ ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาบริษัทฯ ก็มีสิทธิริบเงินมัดจำได้อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ ผู้ร้องได้จ่ายค่ามัดจำด้วยบัตรเครดิตไปแล้วเกือบ 40,000 บาท ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของราคาทั้งหมด ดังนั้นอาจเป็นการจ่ายเงินมัดจำสูงเกินไป ซึ่งตาม พ.ร.บ. ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กำหนดว่าสามารถลดลงได้เท่าที่เสียหายจริง ในเบื้องต้นศูนย์ฯ จึงแนะนำให้ผู้ร้องแจ้งระงับการจ่ายเงินกับธนาคารของบัตรเครดิตก่อน จากนั้นช่วยทำหนังสือยกเลิกสัญญาและขอเงินมัดจำคืน โดยให้บริษัทฯ สามารถหักค่าเสียหายได้เท่าที่เสียหายจริง รวมทั้งเชิญให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยที่มูลนิธิ ภายหลังการเจรจาพบว่า บริษัทแจ้งรายละเอียดค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เสียไปแล้วจำนวนกว่า 20,000 บาท ซึ่งหากยกเลิกสัญญาจะต้องหักจากเงินมัดจำ แต่ผู้ร้องไม่ยินยอม เพราะเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบมากเกินไป พร้อมเสนอให้หักเพียง 5,000 บาท ทางบริษัทจึงขอนำกลับไปพิจารณา และแจ้งกลับมาภายหลังว่ายินดีทำตามข้อเสนอของผู้ร้อง แต่จะคืนเงินให้หลังจากที่ขายแพ็กเกจดังกล่าวให้ลูกค้าคนอื่นได้แล้ว ซึ่งผู้ร้องยินดีและขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 10 ปีของมหากาพย์ทวงคืนท่อก๊าซ สมบัติชาติ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกได้ฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนการแปรรูปปตท.เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีนี้ ในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 เป็นคดีหมายเลขแดง ที่ ฟ35/2550 คำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี 2) นายกรัฐมนตรี 3) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน 4) บมจ. ปตท. ดำเนินการโดยสรุปดังนี้ 1) แบ่งแยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินคืนให้รัฐ2) ที่ดินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนคืนให้รัฐ3) แยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บมจ. ปตท.)ภาค 1 มหากาพย์แปรรูปฮุบสมบัติชาติการแปรรูป "ปตท." ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2544 เกิดขึ้นหลังจากพรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลเพียง 9 เดือนเศษ ทั้งที่เคยหาเสียงว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิก "กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ" ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายที่ถูกเรียกขานว่า 'กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ' คือ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ออกตามเงื่อนไขการกู้เงิน IMF เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เป็นผลจากความไร้วินัยทางการเงินของภาคเอกชนเมื่อปี 2540 แต่เป็นมรดกบาปที่ประชาชนทั้งประเทศต้องมาจ่ายหนี้แทนเอกชนที่ล้มบนฟูกทั้งหลายเมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล ทักษิณมองเห็นสำรับผลประโยชน์ที่จัดเตรียมขึ้นโดยกลุ่มสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามแนวทางของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่มีนางมาร์กาเรต แทตเชอร์เอาไปปฏิบัติจนประเทศอังกฤษย่อยยับจากนโยบายแปรรูปของรัฐบาลของเธอ หากใครติดตามข่าวตอนมรณกรรมของอดีตนายกฯหญิงอังกฤษคนนี้เมื่อปี 2556 จะเห็นหนังสือพิมพ์ในอังกฤษหลายฉบับได้พาดหัวข่าวคำสัมภาษณ์ของคนอังกฤษที่พูดว่านางแม่มดชั่วร้ายได้ตายแล้ว (The wicked witch is dead) ประชาชนออกมาจัดปาร์ตี้แสดงความยินดีกับการตายของเธอตามท้องถนนสวนกระแสการไว้ทุกข์ของรัฐบาล(แต่ในประเทศไทยยังมีกลุ่มธุรกิจผูกขาดหลงยุคที่ชื่นชมการแปรรูปสาธารณูปโภคพื้นฐานของนางแทตเชอร์)ทักษิณมองเห็นธุรกิจพลังงานเป็นผลประโยชน์มหาศาล และปตท. คือเครื่องมือสำคัญ จึงละทิ้งสัญญาประชาคมตอนหาเสียงเลือกตั้งแบบกลับหลังหัน และเข้ามาชุบมือเปิบผลประโยชน์ต่อจากกลุ่มนิยมขายสมบัติชาติที่ตั้งสำรับไว้แล้ว และแปรรูปปตท. เป็นภารกิจลำดับแรกๆ หลังเข้ามาเป็นรัฐบาล ในมุมมองตรงกันข้ามการแปรรูปกิจการรัฐในสายตานักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมกระแสหลักที่เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2544 อย่างโจเซฟ สติกลิสต์ที่กล่าวอมตวาจาว่า "การแปรรูปคือการคอรัปชั่น (Privatization is Barbarization ) เพียงการบอกขายสมบัติชาติในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ก็จะสามารถฉกฉวยเอาทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลเป็นของตนแทนที่จะปล่อยมันไว้ให้คนอื่นเข้ามาถลุง"การแปรรูป "ปตท." เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนอมตวาจาของสติกลิสต์ นอกจากนี้เขายังเคยพูดถึงวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 ว่ารัฐบาลอเมริกันไม่ควรไปอุ้มกลุ่มทุนการเงินที่เป็นผู้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงให้กับสหรัฐอเมริกา และประชาคมเศรษฐกิจโลก เขาถามหาสิ่งที่เรียกว่าความรับผิดชอบ และการตรวจสอบได้ (Accountability) ของกลุ่มทุนการเงินเหล่านั้น และเรียกร้องให้คนพวกนั้นเป็นผู้ที่ต้องจ่ายให้กับความเสียหายที่เขาก่อขึ้น ไม่ใช่ให้รัฐบาลเอาภาษีของประชาชนมาจ่าย และปล่อยคนเหล่านี้ลอยนวลไปพร้อมกับเงินก้อนใหญ่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และ 11 ปีก่อนหน้าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์นั้น ก็ไม่ต่างจากกลุ่มทุนการเงินชาวอเมริกัน คือนอกจากล้มบนฟูกแล้ว ยังตบตูดจากไปอย่างไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ปล่อยให้ประชาชนรับกรรมใช้หนี้แทน แล้วยังต้องการนำปตท.ที่เป็นสาธารณสมบัติของชาติมาพยุงตลาดหลักทรัพย์ที่ซบเซาจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้น ทั้งที่มาจากความโลภและความไร้วินัยทางการเงินของสถาบันการเงินภาคเอกชนเอง โดยคนเหล่านั้นหาได้มีจิตสำนึกความรับผิดชอบใดๆ ไม่เมื่อรัฐบาลต้องการแปรรูปปตท. ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 ให้ปตท.ซึ่งขณะนั้นคือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ไปดำเนินการแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ออกจากกิจการจัดหาและจำหน่ายก่อนการแปรรูปและนำเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยให้ ปตท.คงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 มติดังกล่าวจึงมิได้ให้มีการนำกิจการท่อก๊าซธรรมชาติเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย แต่ทักษิณอ้างว่าหากต้องรอการแยกกิจการท่อส่งก๊าซก่อน ก็จะไม่สามารถนำปตท. เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันในปลายปี 2544 รัฐบาลจึงมีมติให้แปรรูปทั้งองค์กรไปก่อน และนำปตท. ไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทันที โดยมีมติครม. ว่าจะแยกท่อก๊าซหลังระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว 1 ปี แต่หลังจากนั้น รัฐมนตรีพลังงานในสมัยนั้น ก็กลับมติ โดยให้ยกเลิกมติเดิมที่จะแยกท่อก๊าซภายใน 1 ปี เพราะอ้างว่ามีการเปลี่ยนนโยบายจากระบบ Power pool คือระบบที่ให้บุคคลที่ 3 เข้าร่วมใช้ระบบท่อส่งก๊าซ กลับไปเป็นระบบ Single buyer คือผูกขาดเจ้าเดียวโดยให้ปตท. เป็นผู้ผูกขาดการซื้อก๊าซและใช้ระบบท่อเพียงรายเดียว อันเป็นการโอนย้ายอำนาจผูกขาดจากรัฐไปให้เอกชน  สาเหตุที่ไม่ยอมแยกท่อก๊าซออกก่อนการนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะท่อส่งก๊าซมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติทำให้กิจการก๊าซเป็นกิจการไม่มีคู่แข่ง ย่อมทำให้ผู้ครอบครองท่อก๊าซได้รับผลประโยชน์สูงจากกิจการก๊าซไปด้วย การมีมติครม. ว่าจะแยกท่อก๊าซหลังจากนั้นก็เป็นเพียงมติแบบขอไปที และในที่สุดก็ยกเลิกการแยกท่อก๊าซ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการยักยอกทรัพย์ของแผ่นดิน ใช่หรือไม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกร่วมกันฟ้องเพิกถอนการแปรรูปปตท. ต่อศาลปกครองสูงสุดในเดือนสิงหาคม ปี 2549 ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายอย่างชัดเจนว่าการแปรรูปโดยไม่ได้ทำตามเงื่อนไขในกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจที่กำหนดเงื่อนเวลาในการแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและการไม่แบ่งแยกอำนาจรัฐออกจากปตท.ที่เป็นบริษัทเอกชนมหาชน โดยยังมีอำนาจเหมือนปตท. สมัยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบอำนาจมหาชนตามกฎหมายจากสภานิติบัญญัตินั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายในคำพิพากษาว่าเมื่อปตท.ได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นองค์กรมหาชนของรัฐไปเป็นองค์กรเอกชนมหาชนแล้ว จึงไม่ถือเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป แม้ว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นใหญ่เกิน 51% แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปตท. มีสถานะกลับมาเป็นองค์กรมหาชนของรัฐอีกแต่อย่างใด ปตท. จึงไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาด้วยอำนาจมหาชน ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อการใช้ร่วมกันของคนในชาติ และปตท.ซึ่งแปรสภาพไปเป็นบริษัทเอกชนแล้ว ก็ไม่สามารถใช้อำนาจมหาชนของรัฐได้อีกต่อไปด้วย อันที่จริงศาลมีความเห็นว่า การแปรรูปปตท.เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การฟ้องเพิกถอนการแปรรูปนั้นเกิดขึ้นหลังจากการแปรรูปปตท. ผ่านไปกว่า 5 ปีแล้ว ปตท. ได้ก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมาก และมูลค่าปตท. ในตลาดหลักทรัพย์ขณะนั้นสูงถึง 8.4 แสนล้านบาท หากเพิกถอนการแปรรูปเกรงจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจศาลปกครองสูงสุดได้อ้างพ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงานที่ออกในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่าเป็นการเยียวยาความเสียหายแล้ว จึงให้ยกคำร้องการเพิกถอนการแปรรูปปตท. แต่สั่งให้แบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและทรัพย์สินที่มาจากการรอนสิทธิคืนให้กับรัฐ และให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนมีการตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อีกทั้งไม่ให้ปตท. ใช้อำนาจรัฐอีกต่อไป ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้น รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในสมัยนั้นกำหนดให้คืนเฉพาะท่อก๊าซบนบกที่มีการรอนสิทธิ ส่วนท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ได้คืน ทั้งที่ในคำพิพากษาระบุว่าท่อส่งก๊าซและท่อส่งน้ำมันเป็นระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ซึ่งมีลักษณะเชื่อมต่อกันเป็นระบบจึงต้องคืนทั้งระบบ ไม่ใช่คืนเป็นท่อนหรือเป็นส่วน ๆ แต่กระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินก็ไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ที่ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลังไปแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา และให้สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สิน หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเรื่องทรัพย์สินตามคำพิพากษา มติครม.ก็ได้ระบุให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยให้มีข้อยุติต่อไป แม้สตง.จะยืนยันตลอดมาว่าปตท.ยังไม่ได้คืนท่อส่งก๊าซในทะเลและอุปกรณ์ที่รวมกันเป็นระบบตามคำพิพากษาของศาลอย่างครบถ้วน แต่รัฐบาลในสมัยต่อมาก็ไม่ได้ตรวจสอบและกำกับให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการตามมติครม.ที่เมื่อมีข้อโต้แย้งว่าท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เมื่อตกลงกันไม่ได้ต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้มีข้อยุติว่าท่อส่งก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสมบัติของเอกชน เมื่อยังไม่มีข้อยุติเรื่องท่อก๊าซในทะเล แต่หน่วยงานรัฐกลับให้บมจ.ปตท. ซึ่งมีสภาพเป็นลูกหนี้ได้ไปรายงานต่อศาลว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ และผู้เกี่ยวข้องได้เห็นชอบการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อสตง. ทักท้วงว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน คณะรัฐมนตรีก็เพิกเฉยทั้งที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษา และมติครม. ก็มอบหมายให้สตง. เป็นฝ่ายตรวจสอบและรับรองความถูกต้องเสียก่อน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกจึงได้ร้องต่อศาลปกครองสูงสุดหลายครั้ง ซึ่งศาลปกครองได้ยกคำร้องด้วยเหตุผลว่าผู้ร้องไม่ใช่ผู้ชนะคดี และไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ จึงไม่สามารถร้องให้มีการบังคับคดีใหม่ได้ ซึ่งในคำพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ศาลได้สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี 2) นายกรัฐมนตรี 3) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และ 4) บมจ. ปตท. ไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา ดังนั้นผู้ที่มีสิทธิทักท้วงให้มีการบังคับคดีใหม่ให้ถูกต้องคือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ส่วนปตท. เป็นลูกหนี้ และอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงพลังงาน ปรากฏในการแบ่งแยกทรัพย์สินเจ้าหนี้ปล่อยให้ลูกหนี้ไปรายงานต่อศาลว่าคืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว ทั้งที่สตง. ทักท้วงว่าไม่ครบ แต่เจ้าหนี้ไม่ทักท้วงว่าลูกหนี้ยังไม่คืนท่อในทะเล และไม่ได้ให้กฤษฎีกาวินิจฉัยข้อโต้แย้งว่าท่อในทะเลเป็นสาธารณสมบัติที่ต้องคืนหรือไม่ตามที่ฝ่ายตรวจสอบคือสตง. บอกว่าต้องคืนด้วย ปรากฏว่าเจ้าหนี้พอใจตามที่ลูกหนี้คืนให้โดยไม่ทักท้วง และไม่ฟังฝ่ายตรวจสอบของตัวเองอีกด้วย จากการนำคดีไปฟ้องร่วมกับประชาชน 1,455 คน เรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ไม่ได้ทำตามมติคณะรัฐมนตรี ของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ที่ให้การแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้นต้องให้สตง.เป็นผู้ตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องเสียก่อน การฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 800/2557 วินิจฉัยว่าข้ออ้างของผู้ร้องว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมติครม.นั้นเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีต้องไปว่ากล่าวกันเอง ความหมายคือมีแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่เป็นเจ้าหนี้ตามกฎหมายเท่านั้นที่จะสามารถโต้แย้งว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วนตามการตรวจสอบของสตง. เมื่อปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีไม่ว่ากล่าวให้มีการดำเนินการให้ถูกต้อง ประชาชนจึงต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารว่ามีการปฏิบัติถูกต้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนประชาชนหรือไม่ มูลนิธิฯ และพวกจึงนำเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 คตง. มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบว่าหน่วยรับตรวจได้ทำตามกฎหมายระเบียบ คำสั่ง รวมทั้งมติครม.หรือไม่ คตง. อาศัยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ตรวจสอบแล้วมีคำวินิจฉัยเมื่อ 10 พฤษภาคม 2559 ว่ายังมีการคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน ยังมีท่อก๊าซในทะเลและบนบกมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทที่ต้องคืน และคตง. มีหนังสือเมื่อ 24 สิงหาคม 2559 แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ให้ดำเนินการคืนให้ครบถ้วนภายใน 60 วัน แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลคสช. ก็ยังไม่ปฏิบัติตามมติของคตง. ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษได้วินิจฉัยเรื่องท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติหรือไม่ ตามการร้องของสตง. คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 นั้นมีความชัดเจนว่าท่อส่งก๊าซเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และศาลมองท่อก๊าซเป็นระบบไม่ว่าท่อก๊าซนั้นจะผ่านบนที่ดินใคร เพราะไม่ได้มองท่อก๊าซเป็นท่อนเป็นส่วน ดังนั้นคำพิพากษาจึงมีความชัดเจนขึ้นอยู่กับว่ามีการปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างครบถ้วนหรือไม่ ท่อก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรรูป และไม่มีการแยกออกมาก่อนการนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทำให้หุ้นของปตท. มีมูลค่าแบบก้าวกระโดดโดยที่ท่อก๊าซมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติที่ตามกฎหมายไม่อาจยกให้เอกชนครอบครองได้นั้น แม้มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 แล้วก็ไม่ได้มีการแบ่งแยกท่อก๊าซคืนทั้งระบบ การไม่แยกกิจการท่อก๊าซออกมา จึงทำให้ปตท. ได้กำไรจากกิจการท่อก๊าซรองมาจากกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยที่กิจการทั้ง 2 ส่วนนี้เกื้อหนุนกัน เพราะปิโตรเลียมที่พบในประเทศเป็นก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องอาศัยท่อส่งก๊าซในการขนส่งก๊าซจากแหล่งผลิตมาถึงโรงแยกก๊าซ ปตท. ผูกขาดกิจการก๊าซทั้งระบบเพราะได้ครอบครองและใช้ท่อก๊าซในระบบผูกขาดเจ้าเดียว และยังได้สิทธิผูกขาดการซื้อก๊าซเจ้าเดียวอีกด้วย ซึ่งสิทธินี้เคยเป็นสิทธิผูกขาดของกระทรวงอุตสาหกรรมและต่อมามอบให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หลังการแปรรูป สิทธินี้ยังไม่ได้คืนตามคำพิพากษาที่ระบุให้แยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 คือปตท.จึงทำให้รายได้ของปตท. จากท่อก๊าซธรรมชาติสูงถึงประมาณ 356,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 14 ปี (2544-2558) โดยปตท.จ่ายค่าเช่าท่อที่คืนให้รัฐบางส่วนตามคำพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นเม็ดเงินประมาณ 6,000 ล้านบาทในระยะเวลา 14 ปีภาค 2 มหากาพย์แยกท่อก๊าซเป็นสมบัติเอกชนแผนการฮุบท่อส่งก๊าซไปเป็นของเอกชนยังคงเป็นโรดแมปสำคัญ หลังการรัฐประหารของคสช. ในปี 2557 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติให้มีการแยกกิจการท่อส่งก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทลูกของปตท.ประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ บมจ. ปตท. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ว่า ได้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน และลดอำนาจการผูกขาดของปตท. โดยให้ปตท. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรียุครัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2544 คือให้ดำเนินการแยกท่อก๊าซ ปตท. ให้เป็นบริษัทลูกเพื่อเปิดให้บุคคลที่ 3 มาใช้ท่อก๊าซฯ ด้วยประธานกรรมการปตท. ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเผชิญหน้า ทีวีสปริงนิวส์ว่า จะแยกท่อก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่โดยให้เป็นของบริษัทปตท.หลังจากนั้นก็แล้วแต่ "คสช." จะตัดสินใจให้คนอื่นมาถือหุ้นแทนปตท. และเรื่องแยกท่อก๊าซก็ต้องทำให้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้ง (ที่เคยคาดว่าจะเกิด) ในปี 2558 อีกด้วย เมื่อย้อนไปดูมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2544 ได้มอบหมายให้ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจไปดำเนินการแยกท่อส่งก๊าซก่อนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และมอบหมายให้ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ในขณะนั้นคงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 ตามมติดังกล่าวแสดงว่าระบบท่อส่งก๊าซต้องเป็นของรัฐ 100% แต่กระบวนการแปรรูปโดยไม่แยกท่อก๊าซ จึงเป็นข้อต่อที่สำคัญที่จะถ่ายโอนท่อส่งก๊าซทั้งระบบไปเป็นสมบัติเอกชน ซึ่งศาลมีคำสั่งให้คืนแต่ก็ไม่ยอมคืนท่อทั้งระบบที่แปรรูปไป ข้อเสนอให้ดำเนินการแยกระบบท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ครั้งใหม่นี้ ย่อมมีความแตกต่างจากมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพราะปตท.ในขณะนี้เป็นบมจ.ปตท. ที่รัฐถือหุ้นเพียง 51% และมีเอกชนมาถือหุ้นร่วมด้วยอีก 49% ปตท. ในขณะนี้จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ 100% เหมือนเมื่อก่อนแปรรูป ดังนั้นการแยกท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ตามข้อเสนอนี้ จะทำให้รัฐและประชาชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ระบบท่อส่งก๊าซเพียง 51% เท่านั้นไม่ใช่เป็นเจ้าของ 100% ตามมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อปี 2544 หากการแยกท่อก๊าซไปตั้งบริษัทใหม่สำเร็จ ย่อมทำให้ท่อก๊าซตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนโดยสมบูรณ์ ซึ่งคือการย้อนกลับไปสู่สภาพก่อนที่มีคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด และท่อก๊าซก็จะไม่ได้คืนกลับมาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีก คำวินิจฉัยของคตง. และคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ทำให้มติกพช.ที่อนุมัติให้มีการแยกท่อก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่ต้องหยุดชะงักไป แต่คณะรัฐมนตรีก็ยังไม่ยอมปฏิบัติตามมติคตง. ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ที่มีหน้าที่ต้องแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติคืนแผ่นดินให้ครบถ้วนตามคำพิพากษา สิ่งที่รัฐบาลคสช. ควรทำคือปฏิบัติตามการตรวจสอบของคตง. โดยใช้อำนาจบังคับบัญชาตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 และมติคตง. 10 พฤษภาคม 2559 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา 20 กันยายน 2559 ให้ปตท. คืนท่อก๊าซทั้งระบบตามคำพิพากษา และควรตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติมารับมอบระบบท่อส่งก๊าซและเปิดให้เอกชนและปตท. ใช้โดยจ่ายค่าบริการให้กับรัฐผ่านองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่ การแก้ไขพ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) ที่ประกาศใช้เมื่อ 22 มิถุนายน 2560 หากรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายและให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่แทนการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ถูกแปรรูปไปเป็นเอกชนแล้วจะเป็นการปฏิรูปนโยบายพลังงานอย่างแท้จริง รัฐบาลจะมีองค์กรใหม่เป็นผู้รับมอบทรัพย์สินหลังจากเอกชนหมดสัมปทาน รวมทั้งรับมอบท่อส่งก๊าซและที่ดินตามคำพิพากษา รวมทั้งถือกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมจากระบบแบ่งปันผลผลิตกับบริษัทเอกชน ซึ่งบริษัทปตท. ที่มีเอกชนถือหุ้นไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ และให้องค์กรใหม่กำกับดูแลให้มีการประมูลขายปิโตรเลียมทั้งส่วนที่เป็นน้ำมันและส่วนที่เป็นก๊าซที่เป็นของรัฐ และเปิดให้เอกชนทุกรายสามารถใช้ท่อส่งก๊าซโดยจ่ายค่าบริการให้รัฐผ่านบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เชื่อว่าระบบก๊าซธรรมชาติในประเทศจะเกิดการแข่งขันกัน และได้ราคาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ แต่น่าเสียดายที่การครอบงำของกลุ่มทุนพลังงานมีพลังมากจนการปฏิรูปไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ตามโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงาน ขั้นตอนแรกคือแปรรูปกิจการสาธารณูปโภคของรัฐให้เป็นรัฐครึ่งเอกชนครึ่ง และขั้นตอนต่อมาคือแปรรูปกิจการให้เป็นของเอกชน 100% ตามแนวคิดของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่เชื่อว่าทรัพย์สินของรัฐไม่มีใครเป็นเจ้าของ เลยไม่มีใครสนใจดูแล ดังนั้นจึงควรแปรรูปให้เป็นของเอกชน (State owns is nobody owns, Nobody owns is nobody cares) กลุ่มทุนใช้ข้ออ้างเพื่อไม่ให้นักการเมืองเข้ามาล้วงลูกกิจการรัฐวิสาหกิจ จึงควรแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน ดังที่ปตท. ต้องการแยกทั้งบริษัทท่อก๊าซ และบริษัทน้ำมันและค้าปลีกออกไปเป็นบริษัทลูก ที่รัฐถือหุ้นต่ำกว่า 51% เพื่อให้บริษัทใหม่เป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว หากทุนเอกชนสามารถยึดโครงข่ายกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซได้ ก็เหมือนยึดเส้นเลือดในกายเศรษฐกิจของชาติด้านพลังงานได้ทั้งหมด แล้วเลือดหรือทรัพยากรพลังงานที่ผ่านท่อจะไปไหนเสีย? การที่กลุ่มทุนพยายามผลักดันให้คสช.คงระบบสัมปทานในการให้สิทธิสำรวจผลิตปิโตรเลียมแก่เอกชนต่อไปก็ยิ่งทำให้ทรัพยากรพลังงานที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชนตกอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนผูกขาดการคงระบบสัมปทานปิโตรเลียมก็คือการยกกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหมดให้กับกลุ่มทุนพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อทุนพลังงานครอบครองกลไกเครื่องมือคือระบบท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมันและได้กรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมไปด้วย ชะตากรรมของคนไทยก็จะอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนพลังงานเอกชนโดยสมบูรณ์ การผูกขาดธุรกิจพลังงาน ราคาพลังงานจะแพงขึ้นเท่าไหร่ ประชาชนต้องก้มหน้ารับกรรมกันไป จะไปเรียกร้องตรวจสอบอะไรอีกไม่ได้ เพราะเขาเป็นเอกชนเต็มตัว เมื่อตอนกลุ่มธุรกิจเอกชนใหญ่ก่อวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ประชาชนต้องเข้าไปรับเคราะห์ใช้หนี้แทน แต่พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เขาก็มาฮุบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาขน เอาไปเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่ ๆ ไม่กี่ราย มหากาพย์ฮุบสมบัติชาติด้านพลังงานจะเสร็จสมบูรณ์ตามโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความตื่นรู้ของประชาชนคนไทยทั้งปวง และความสุจริตและธรรมาภิบาลของผู้บริหารบ้านเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 เปลี่ยนคืนสินค้าชำรุด

หากเราซื้อสินค้าใดๆ มาใช้ แล้วพบว่าเกิดความชำรุดบกพร่อง และต้องการเปลี่ยนคืนสินค้าดังกล่าวจะสามารถทำได้อย่างไรบ้าง ลองไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้กันคุณสมหมายซื้อกาต้มน้ำไฟฟ้า จากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งมาใช้งาน ซึ่งโฆษณาว่ารับประกันการใช้งาน 1 ปี อย่างไรก็ตามหลังจากใช้ไปได้ประมาณ 3 เดือนก็พบความชำรุดบกพร่องกับสายปลั๊กไฟของกาต้มน้ำ โดยเขาพบว่าปลั๊กของกาน้ำละลาย และทำให้ปลั๊กสามตาที่ต่อพ่วงเอาไว้เสียหายด้วยเช่นกัน คุณสมหมายจึงโทรศัพท์ไปยังเบอร์พิเศษ(เลข 4 หลัก) ของบริษัทดังกล่าว ซึ่งโฆษณาว่าโทรฟรี 24 ชั่วโมงเพื่อแจ้งปัญหา แต่กลับพบว่าต้องเสียเงินค่าโทรศัพท์ฟรีๆ และไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างที่คิดไว้ เพราะพนักงานระบุเพียงว่าให้ส่งกาต้มน้ำดังกล่าวไปยังศูนย์บริการที่จังหวัดสมุทรสาคร และไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมีการเปลี่ยนหรือซ่อมให้ใหม่อย่างไรบ้าง เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมหมายจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักสิทธิเพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ขอเอกสารผู้ร้องเพิ่มเติมได้แก่ รูปถ่ายสินค้า ใบรับประกันสินค้าและใบเสร็จรับเงิน แต่ผู้ร้องแจ้งกลับมาว่าใบรับประกันและใบเสร็จรับเงินฉบับจริงได้สูญหายไปแล้ว เหลือเพียงรูปถ่ายใบเสร็จสินค้า ซึ่งทางห้างสรรพสินค้าไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินให้ใหม่ได้ เนื่องจากระยะเวลาการซื้อเกิน 3 เดือนแล้วอย่างไรก็ตามศูนย์ฯ ได้ช่วยเหลือผู้ร้องด้วยการแนบหลักฐานทั้งหมดที่ผู้ร้องมีส่งเป็นหนังสือร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ผลิต เพื่อขอให้มีการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งภายหลังทางบริษัทก็ได้เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยและเสนอเปลี่ยนกาต้มน้ำ รวมทั้งปลั๊กสามตาที่เสียหายไปให้ใหม่ พร้อมแจ้งว่าหากเกิดความเสียหายขึ้นอีก ทางบริษัทยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับราคาสินค้าให้กับผู้ร้อง ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติเรื่องร้องเรียน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 โดนขโมยบัตรเดบิตไปรูด ธนาคารพิสูจน์ไม่ได้ ต้องคืนเงิน !!!

เมื่อเดือนมกราคม 2554 เจฟฟรี จี เอเลน หนุ่มใหญ่ชาวออสเตรเลีย พร้อมภรรยา ได้เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า ถูกขโมยรหัสบัตรเดบิตไปใช้ซื้อสินค้าที่สหรัฐอเมริกา ทั้งที่ตนไม่ได้เป็นผู้ใช้ เมื่อติดต่อไปที่ธนาคาร ธนาคารก็ไม่รับผิดชอบ อยากขอให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ สอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ความว่า เจฟฟรี ได้ย้ายมาอาศัยอยู่กินกับอาจารย์ทิพย์รัตน์ ภรรยาชาวไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้เปิดบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารกรุงไทย สาขาแม่สะเรียง ตั้งแต่วันที่ 13  ตุลาคม 2548 เพื่อฝากเงินที่ได้รับจากสวัสดิการผู้สูงอายุประเทศออสเตรีย และสมัครเป็นผู้ถือบัตรเดบิตและทำสัญญาเป็นผู้ใช้บัตรเดบิต เพื่อนำไปใช้ชำระค่าซื้อสินค้าและบริการต่างๆ แทนเงินสด และในการเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ หรือ เอทีเอ็มต่อมาประมาณวันที่ 27 กันยายน 2554 เจฟฟรีพบความผิดปกติของจำนวนเงินในบัญชีที่ลดลงจำนวนมาก จึงติดต่อไปธนาคารกรุงไทยสาขาแม่สะเรียง เพื่อขอให้ตรวจสอบความผิดปกตินี้ เจ้าหน้าที่ธนาคารตรวจสอบแล้วแจ้งว่า มีรายการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2554  ถึงวันที่ 5 กันยายน 2554 รวมเป็นเงิน 120,599.35 บาท ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว เจฟฟรี และภรรยา ยืนยันว่าทั้งคู่อยู่ในประเทศไทย ไมได้เดินทางออกนอกประเทศไปที่ไหน และไม่เคยให้บัตรหรือรหัสกับผู้ใดไปใช้แน่นอน เจฟฟรีพยายามทักท้วงและให้เหตุผลกับธนาคารเพื่อให้คืนเงินกลับเข้าบัญชี แต่ธนาคารแจ้งว่าไม่พบความผิดปกติ คือธนาคารไม่เชื่อว่าเจฟฟรีไม่ได้ใช้นั่นเอง ธนาคารจึงไม่คืนเงินให้  แนวทางแก้ไขปัญหาทางศูนย์ฯ ได้แนะนำให้ เจฟฟรี เตรียมพยานหลักฐานที่สำคัญเพื่อแก้ข้อกล่าวหาของธนาคารคือ หนังสือเดินทาง ที่ยืนยันว่าในช่วงเวลาดังกล่าว เจฟฟรีอยู่ในประเทศไทย  และให้ทำหนังสือถึงธนาคารเพื่อยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นผู้ใช้และไม่ได้มอบบัตรให้บุคคลใดไปใช้ และขอให้ธนาคารแก้ไขคืนเงินในบัญชีโดยทันที เพื่อเป็นหลักฐานการร้องเรียนเสียก่อนต่อมาธนาคารปฏิเสธการคืนเงินให้กับเจฟฟรี โดยให้เหตุผลน่าเชื่อว่า เจฟฟรีเป็นผู้ใช้บัตรเอง จึงไม่คืนเงินเมื่อตกลงกันไม่ได้ เจฟฟรี จึงจำเป็นต้องฟ้องธนาคารกรุงไทย เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลแขวงพระนครใต้ เรียกค่าเสียหาย 125,357.11 บาทในชั้นพิจารณาคดี เจฟฟรีและภรรยา เป็นพยานเบิกความว่า ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2554 ถึง วันที่ 5 กันยายน 2554 เจฟฟรีอยู่กับภรรยา ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนและที่จังหวัดเชียงใหม่ เจฟฟรีไม่เคยมอบบัตรเดบิตให้ผู้อื่นนำไปใช้และมิได้เป็นผู้ใช้หรือยินยอมให้ใครนำไปใช้แต่อย่างใดส่วนจำเลยมีนายอรรนพ ชื่นบุญ พนักงานจำเลยเบิกความพบว่า ในช่วงวันที่ 8 สิงหาคม 2554 ถึง วันที่ 5 กันยายน 2554 บัตรเดบิตของโจทก์ถูกนำไปใช้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ แบบซื้อสินค้าทั่วไปตามปกติ เช่น อาหาร หรือ ร้านสะดวกซื้อ ไม่ใช่ลักษณะของพวกมิจฉาชีพ และยืนยันว่ารายการดังกล่าวเป็นการใช้บัตรของโจทก์เองหรือตัวแทน โจทก์จึงต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะถือว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ เนื่องจากโจทก์มีหน้าที่เก็บรักษาบัตรและรหัสไว้เอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้คืนโจทก์ตามที่ฟ้องแต่พยานจำเลยเองก็ได้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ในการนำบัตรเดบิตไปซื้อสินค้าและบริการต่างๆ จะต้องมีเซลส์สลิปและลายมือชื่อของลูกค้าทุกครั้ง ซึ่งพยานจำเลยอ้างว่า ได้ทำเรื่องไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อขอหลักฐานแล้วแต่ไม่ได้อ้างศาลและจากประสบการณ์การทำงานของพยานจำเลยที่ทำงานมานาน สันนิษฐานได้ว่าบัตรเดบิตของโจทก์ถูกขโมยไปใช้ที่สหรัฐอเมริกาศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าโจทก์เป็นผู้นำบัตรเดบิตไปใช้ด้วยตนเองหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนำไปใช้ แต่กลับไปนำความจากทางนำสืบของจำเลยว่าบัตรเดบิตของโจทก์น่าจะถูกขโมยไปใช้ โดยไม่ปรากฎว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่าบัตรเดบิตของโจทก์ถูกขโมยไปใช้ที่สหรัฐอเมริกา กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้ใช้บัตรเองหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนำไปใช้ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง จำเลยจึงไม่มีสิทธินำรายการการซื้อสินค้าและใช้บริการดังกล่าวมาหักเงินจากบัญชีของโจทก์ได้ จึงพิพากษาให้ จำเลยต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์“ส่วนตัวตอนแรกไม่คิดว่าจะต้องฟ้องเป็นคดีความต่อศาล เพราะคิดว่าธนาคารจะคืนเงินให้กับตน เพราะตนไม่ได้เป็นผู้ใช้ แต่เมื่อธนาคารไม่สนใจจะแก้ไขปัญหานี้ก็ต้องฟ้องคดี ซึ่งผลคดีที่ออกมา ตนรู้สึกพอใจกับคำพิพากษา ที่ท่านให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภค ตนเชื่อว่านอกจากตนแล้ว น่าจะมีผู้บริโภครายอื่นที่เจอปัญหาแบบนี้ ก็อยากฝากให้คนที่เจอปัญหาแบบตนลุกขึ้นมาใช้สิทธิร้องเรียนให้ถึงที่สุด ตนเชื่อว่าทุกคนจะรับความเป็นธรรมอย่างแน่นอน” คุณเจฟฟรีกล่าวทิ้งท้ายไว้ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 พฤกษา ยอมคืนเงินผู้บริโภค เหตุสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐาน

สำหรับคนที่จะซื้อบ้านใหม่ ซ่อมบ้านใหม่ หลังภาวะน้ำท่วม บทเรียนของผู้บริโภคเรื่องนี้น่าสนใจทีเดียวเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2553 คุณภัทรวรรธน์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินในโครงการบ้านพฤกษา 47/2 (เทพารักษ์-หนามแดง) จ.สมุทรปราการ กับบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน)บ้านที่จะซื้อจากโครงการของพฤกษา เป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น หน้ากว้าง 5 เมตร ห้องริมไม่มีหน้าต่าง อยู่บนเนื้อที่ 16.20  ตารางวา ราคารวมทั้งสิ้น 909,000 บาทกลยุทธ์การขายบ้านราคาไม่ถึง 1 ล้านของพฤกษา เรียลเอสเตท มักจะล่อลูกค้าผู้มีรายได้ปานกลางไปถึงน้อยด้วยการคิดเงินจองเงินดาวน์ในอัตราที่ไม่สูง สำหรับโครงการบ้านพฤกษา 47/2 พฤกษาเรียลเอสเตทคิดค่าจองเพียง 3,499 บาท ส่วนเงินดาวน์คิด 36,000 บาทให้แบ่งจ่าย 8 งวด งวดละ 4,500 บาท เงินค่าบ้านก้อนใหญ่ที่เหลืออีก 869,500 บาท ให้ผู้บริโภคไปหากู้เงินจากธนาคารมาจ่ายในวันนัดโอนบ้านคุณภัทรวรรธน์ทำเรื่องติดต่อธนาคารและจ่ายเงินจองเงินดาวน์มาถึง 6 งวด โครงการได้นัดเข้าไปตรวจรับบ้านเพื่อเตรียมการโอนบ้าน คุณภัทรวรรธน์จึงมอบหมายให้บริษัทตรวจรับบ้านที่มีประสบการณ์เข้าไปตรวจสภาพการก่อสร้างบ้านผลการตรวจบ้านพบปัญหาจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานหลายจุด ดูไม่สมกับชื่อเสียงของโครงการฯ ที่หนักหนาสาหัสที่สุดตรงที่ผนังบ้าน ไม่แน่ใจว่าช่างตาเอียงตาเหล่แค่ไหน ถึงได้ก่ออิฐบิดเบี้ยวจนทำให้ผนังบ้านซึ่งเป็นส่วนรับน้ำหนักบ้านเอียงไม่ได้ฉากและเกิดรอยร้าวอย่างเห็นได้ชัด คุณภัทรวรรธน์ จึงได้แจ้งให้โครงการฯ ทราบ ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ช่างของโครงการฯ เสนอวิธีการแก้ไขแบบง่ายแสนง่าย ว่า จะซ่อมแซมให้ด้วยการฉาบปิดรอยร้าว และฉาบปูนเพิ่มเพื่อให้กำแพงได้ฉาก คุณภัทรวรรธน์จึงสอบถามไปที่บริษัทตรวจรับบ้านว่าปัญหาผนังบ้านเอียงไม่ได้ฉาก จะใช้วิธีฉาบปูนเพิ่มเข้าไปได้หรือเปล่า ได้รับคำตอบว่า ผนังบ้านที่เอียงอย่างเห็นได้ชัดขนาดนั้นเป็นส่วนรับน้ำหนักของตัวบ้าน ซึ่งจะเกิดอันตรายในอนาคตได้ หากไม่ดำเนินการรื้อและก่อผนังขึ้นใหม่คุณภัทรวรรธน์ ได้พยายามเรียกร้องให้โครงการฯ แก้ไขงานบ้านตามที่บริษัทตรวจรับบ้านให้คำแนะนำแล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ซ้ำยังกำชับให้จ่ายค่างวดที่เหลือต่ออีก ในขณะที่ธนาคารก็นัดวันเซ็นสัญญาใกล้เข้ามา จึงปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า จะขอให้โครงการแก้ไขต้องทำอย่างไร และยังต้องจ่ายค่างวดให้ครบและต้องรับโอนบ้านหรือไม่ แนวทางแก้ไขปัญหาถ้าผู้บริโภคคนไหนทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านหรือว่าจ้างก่อสร้างบ้านใหม่ แล้วเรื่องเดินมาถึงจุดที่พบว่าสภาพการก่อสร้างมีปัญหา คิดจะใช้วิธีไม่จ่ายค่างวดที่เหลือ หรือไม่รับโอนบ้าน กะจะใช้เป็นเงื่อนไขกดดันหวังให้เจ้าของโครงการทำการซ่อมแซมแก้ไข ต้องระวังให้ดีเพราะผลีผลามทำไปโดยไม่รู้ขั้นตอนจะตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาถูกฟ้องคดีบังคับให้ต้องจ่ายเงินตามสัญญาที่เหลือได้โดยที่บ้านก็ไม่ได้ซ่อม หรืออาจจะสูญบ้านทั้งหลังไปเลยก็ได้หากต้องการจะหยุดส่งค่างวดหรือไม่รับโอนบ้าน โดยไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเอง การมีหนังสือแจ้งถึงปัญหาเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขตามกรอบระยะเวลาที่ได้กำหนดกันไว้ในสัญญาก่อนหน้า ส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทเจ้าของโครงการไปทางแฟกซ์หรือจดหมายลงทะเบียนตอบรับ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้โดยเด็ดขาด อย่าใช้ปากเรียกร้องเพียงอย่างเดียว เพราะมีแต่ลมจับต้องอะไรมาเป็นหลักฐานยืนยันในภายหลังไม่ได้ยิ่งได้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญมาประกอบถึงการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ยิ่งทำให้เหตุผลของฝั่งผู้บริโภคมีน้ำหนักมากขึ้น และหากความชำรุดบกพร่องนั้นเกี่ยวกับโครงสร้างหลักของตัวบ้าน เมื่อพิจารณาแล้วว่าไม่อาจทำการแก้ไขได้ตามกำหนดระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเรียกเงินที่ได้ชำระไปคืนทั้งหมดได้  โดยให้ทำเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญาส่งไปทางแฟกซ์หรือจดหมายลงทะเบียนตอบรับก็ได้หลังจากได้รับคำแนะนำ คุณภัทรวรรธน์ไม่มั่นใจในคุณภาพการก่อสร้างบ้าน จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืน ซึ่งบริษัทไม่ได้งอแงอิดออดแต่อย่างใด ยอมคืนเงินทั้งหมดให้ในเวลาไม่นานท้ายที่สุดของเรื่อง หวังว่าปัญหาของบ้านหลังนี้ บริษัทฯจะได้ทำการซ่อมแซมให้ถูกต้องตามหลักมาตรฐานการก่อสร้างที่ดีก่อนนำไปขายต่อให้ใคร อย่าให้เสียชื่อกันอีกรอบเพียงเพราะบ้านไม่ได้มาตรฐานเพียงแค่หลังเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 ขอคืนเครื่องทำน้ำอุ่นกับพาวเวอร์บาย

วันที่ 28 สิงหาคม 2554 ก่อนน้ำท่วมใหญ่ คุณจำนง สมาชิกฉลาดซื้อ ได้ไปซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นที่พาวเวอร์บาย สาขารัตนาธิเบศร์คุณจำนงจ่ายเงินไป 3,790 บาท สำหรับเครื่องทำน้ำอุ่น ฮิตาชิ รุ่น HES-35R นำมาให้ช่างติดตั้ง ใช้อาบได้ปกติ แต่พออาบเสร็จ คุณจำนงได้ลองกดปุ่มทดสอบป้องกันไฟรั่วตามวิธีที่คู่มือแนะนำ  ได้ผลเป็นอย่างดีคือ เครื่องตัดการทำงานทันที  แต่พอจะเปิดให้ใช้งานอีกครั้งปรากฏว่า เครื่องดันตัดไฟไม่ทำงานแบบถาวรไปเลย ใช้อาบน้ำอุ่นไม่ได้คุณจำนง นำใบเสร็จรับเงินของพาวเวอร์บายมาดู พลิกไปที่ด้านหลังมีข้อความระบุถึงเงื่อนไขในการรับเปลี่ยนหรือคืนสินค้าว่า“รับเปลี่ยนหรือคืนสินค้าที่มีใบเสร็จรับเงินพร้อมกล่องบรรจุ, ใบรับประกัน, คู่มือและอุปกรณ์ต่อพ่วงของสินค้าภายใน 7 วัน นับจากวันซื้อสินค้า (ยกเว้นไม่รับคืนมีดังนี้ : กล้องถ่ายรูป, กล้องวีดีโอ, โทรศัพท์มือถือ, เพจเจอร์, )สินค้าตัวโ ชว์, สินค้าลดล้างสต๊อก, ทีวีจอใหญ่กว่า 30 นิ้ว) และยังมีข้อยกเว้นเพิ่มเติมอีกว่า “ยกเว้นสินค้าที่ใช้แล้ว หรือแกะกล่องไม่รับคืนมีดังนี้ : ตู้เย็น, เทปคาสเซท, แผ่นซีดี, วีดีโอเทป, คอมพิวเตอร์ซอฟแวร์, ฟิล์ม, ถ่านไฟฉาย, ถ่านชาร์จ, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องซักผ้า, เครื่องดูดฝุ่น, ไมโครเวฟ, เครื่องครัวเล็ก , ผ้าหมึก, อุปกรณ์ทำความสะอาด)เห็นข้อยกเว้นในประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว ก็เกือบจะครอบคลุมแทบทุกชนิดอยู่แล้วที่ห้างจะไม่รับคืน ยังดีหน่อยที่อ่านอยู่ 2-3 รอบ ไม่พบเครื่องทำน้ำอุ่นอยู่ในข้อยกเว้นไม่รับคืน“โอ้...โชคดีอะไรเช่นนี้ ที่ยังมีเครื่องทำน้ำอุ่นเหลือรอดให้คืนให้เปลี่ยนได้” คุณจำนงคิดในใจ รีบถอดเครื่องทำน้ำอุ่นนำกลับไปที่ห้างพาวเวอร์บายเพื่อขอเปลี่ยนเครื่องใหม่ในวันรุ่งขึ้นทันที เพราะกลัวจะหลุดเวลาการเปลี่ยนคืนสินค้าภายใน 7 วัน แต่คำตอบที่ได้รับคือ...“เขาไม่เปลี่ยนให้ครับ บอกว่าต้องให้ช่างฮิตาชิมาดูก่อน” แนวทางแก้ไขปัญหาพอทราบคำตอบว่าพาวเวอร์บายจะไม่ยอมเปลี่ยนสินค้าให้ง่ายๆ และกลัวจะหลุดกรอบ 7 วันที่ห้างยอมให้เปลี่ยนหรือคืนสินค้า จึงรีบโทรศัพท์และส่งแฟกซ์รายละเอียดมาให้เราในวันที่ 30 สิงหาคม 2554ประมาณ 10.30 น. ของวันที่ 31 สิงหาคม 2554 เราได้ติดต่อกลับไปที่คุณจำนงพร้อมข้อแนะนำว่า ให้นำสินค้าและใบเสร็จรับเงินไปขอเปลี่ยนสินค้าใหม่อีกครั้งตามเงื่อนไขที่พาวเวอร์บายแสดงเวลา 13.40 น. ของวันที่ 1 กันยายน 2554 คุณจำนงโทรติดต่อกลับมาว่า ได้นำสินค้าไปเปลี่ยนตามคำแนะนำ แต่ทางห้างอ้างว่าจะให้ช่างจากฮิตาชิมาตรวจสอบก่อน ว่าเครื่องเสียด้วยตัวของผลิตภัณฑ์เองหรือเปล่า ถ้าช่างยืนยันว่าการเสียเกิดจาตัวผลิตภัณฑ์เอง ทางห้างยินดีเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ โดยช่างจะมาภายใน 3 วันคุณจำนงเห็นว่าเป็นธรรมดี แต่เกรงว่าจะหลุดกรอบเวลาการยื่นเคลมสินค้าภายใน 7 วัน ด้วยความรอบคอบจึงได้ขอให้ห้างออกใบยืนยันเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้ติดต่อขอเปลี่ยนสินค้าก่อน 7 วัน ซึ่งทางห้างได้ออกใบยืนยันให้ ต่อมาวันที่ 3 กันยายน 2554 ช่างจากฮิตาชิได้เข้ามาตรวจสอบเครื่องทำน้ำอุ่น“ช่างทำการเช็คเครื่องโดยขันน๊อต 2 ตัว ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ก็สามารถใช้ได้เป็นปกติ ช่างห้ามไม่ให้กด(ปุ่มตรวจสอบสวิทช์ป้องกันไฟรั่ว)หลายครั้ง ประมาณ 1 เดือนถึงจะกดครั้งหนึ่ง”เมื่อเห็นว่า ซ่อมแล้วใช้ได้ คุณจำนงเลยตกลงที่จะรับเอาสินค้าตัวเดิมไว้ และเมื่อไปทำการติดตั้งที่บ้านก็ใช้ได้ดีเหมือนเดิมไม่มีปัญหาแต่อย่างใดถือเป็นการตัดสินใจของผู้บริโภคแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ทำให้เรื่องยุติกันไปแบบน้ำใจงามๆ ของคนไทย แต่ในมุมสิทธิของผู้บริโภคแล้ว แม้สินค้านั้นจะซ่อมได้ แต่เหตุที่ผู้บริโภคต้องเทียวไปเทียวมาพาเครื่องทำน้ำอุ่นมาร้องเรียนอยู่ถึงสองสามรอบกับทางห้างก็นับว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ความรับผิดชอบของห้างในกรณีเช่นนี้จึงถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็นและต้องปรับปรุง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 สินค้าใช้แล้วไม่ได้ผล ยูนิซิตี้ ยอมคืนเงินให้ลูกค้า

 เป็นเรื่องราวของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่เราให้ชื่อสมมติว่า “คุณนันทา” เราเคยลงรายละเอียดเรื่องนี้ไว้ในฉลาดซื้อฉบับที่ 110 สำหรับเล่มนี้ขอนำเสนอความคืบหน้าที่ผู้บริโภคของเราได้แฮปปี้มีความสุขจากความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจ ความเดิมมีอยู่ว่า “คุณนันทา” ไปหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “เอนจูวิเนทพลัส” ของบริษัท ยูนิซิตี้ มาร์เก็ตติ้ง(ไทยแลนด์) จำกัด จากตัวแทนขายตรงที่โฆษณาสรรพคุณว่า กินผลิตภัณฑ์นี้แล้วจะช่วยให้ลดริ้วรอยตีนกาบนใบหน้าได้ หากไม่ได้ผลยินดีคืนเงิน แต่พอใช้ไปกลับเกิดอาการแพ้และริ้วรอยตีนกาก็ไม่ได้ลบหายไปเลย คุณนันทาจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอให้ช่วยเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้าจำนวน 4,950 บาทคืนให้ด้วย ส่วนค่าเสียหายอื่นไม่คิด แนวทางการแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ส่งจดหมายแจ้งไปยังบริษัท ยูนิซิตี้ฯ เพื่อขอให้เยียวยาความเสียหายตามจำนวนเงินที่ผู้บริโภคได้ร้องเรียนมา ซึ่งบริษัท ยูนิซิตี้ฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายมีหนังสือตอบกลับมาที่มูลนิธิฯ มีใจความโดยสรุปว่า ผลิตภัณฑ์เอนจูวิเนทพลัสเป็นผลิตภัณฑ์ในเครือของยูนิซิตี้จริง จำหน่ายในหลายประเทศ ยกเว้นประเทศไทยที่ ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ ไม่ได้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ตัวนี้แต่อย่างใด ยูนิซิตี้ยอมรับว่า สมาชิกขายตรงที่จำหน่ายสินค้าให้กับคุณนันทาเป็นสมาชิกขายตรงของยูนิซิตี้จริง  แต่การไปขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากยูนิซิตี้โดยใช้ชื่อของยูนิซิตี้ ถือว่าเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณการขายตรงอย่างร้ายแรง ทำให้ทั้งลูกค้าและบริษัทฯได้รับความเสียหาย ซึ่งบริษัทฯได้พิจารณามาตรการลงโทษสมาชิกขายตรงรายนี้ โดยอาจมีการให้พ้นจากสมาชิกภาพและดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไป ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตามสัญญาสมัครสมาชิกขายตรงของยูนิซิตี้และตามธรรมเนียมทางการค้าทั่วไปในการขายตรง ถือว่าสมาชิกขายตรงไม่ได้มีฐานะเป็นลูกจ้างของยูนิซิตี้ และบริษัทไม่มีความรับผิดร่วมกับสมาชิกขายตรงรายนี้ ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ยังอ้างข้อกฎหมายเพิ่มเติมอีกว่า บริษัทไม่ต้องมีความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้จัดจำหน่ายโดยบริษัท อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายให้กับผู้บริโภค ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์จะเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับบริษัทยูนิซิตี้ในต่างประเทศซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อดำเนินการคืนเงินให้กับคุณนันทาต่อไป อีกทั้งยินดีให้ความร่วมมือในการจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกขายตรงที่ก่อความเสียหายให้กับคุณนันทา  รวมถึงยินดีไปให้ปากคำเป็นพยานหากมีการดำเนินคดีต่อสมาชิกตรงรายนี้ด้วยเช่นกัน ในเวลาต่อมาเราได้รับแจ้งจากคุณนันทาว่า บริษัทยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ ได้โอนเงินจำนวน 4,950 บาทที่เป็นราคาสินค้าที่จ่ายไปให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนความเสียหายอื่นๆนั้นคุณนันทาไม่ติดใจเอาความ พร้อมทั้งขอสมัครเป็นสมาชิกฉลาดซื้อ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองและครอบครัวอีกด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 จองรถไม่ได้รถ ต้องได้เงินจองคืน

เรียน ผู้จัดการ บริษัท พระนครออโต้เซลล์เรื่อง ขอเงินค่าจองรถป้ายแดงคืนจากที่ได้ตกลงกันกับทางบริษัทไปแล้วนั้นว่าดิฉันจะรับเงื่อนไขจากบริษัท คือรับเงินคืนจำนวน 3,000 บาท จากที่ได้จองทั้งสิ้นเป็นเงิน 5,000 บาท โดยในการรับเงื่อนไขระบุในเอกสารการจองว่า ให้โอนเงิน 1,000 บาท เข้าบัญชีเลขที่ 688-000000-0 อีก 2,000 บาททางบริษัทยืนยันว่าจะจ่ายเป็นเช็คและแฟกซ์หน้าเช็คที่สั่งจ่ายเข้าบัญชีภายในวันที่ตกลงกัน แต่หลังจากนั้นดิฉันได้รอแฟกซ์แต่ก็ไม่มีแฟกซ์หน้าเช็คกลับมาดิฉันจึงอยากเรียนมา จริง ๆ แล้ว ดิฉันเช็คดูแล้วว่าทางบริษัท ผิดนัด ซ้ำแล้วซ้ำอีก นับตั้งแต่วันจองจนหาบริษัทไฟแนนซ์ให้ไม่ได้ และพยายามทำให้เรื่องยืดเยื้อและล่าช้า การกระทำดังกล่าวทำให้ดิฉันอดคิดไม่ได้ว่า ทางบริษัทจะริบเงินจองทั้งหมดจริง...นี่เป็นส่วนหนึ่งของจดหมายที่คุณกฤชญากรส่งถึงบริษัทขายรถยนต์แห่งหนึ่งเพื่อทวงถามเงินจองที่ได้จ่ายไปจำนวน 5,000 บาท แต่บริษัทรถอ้างว่าคุณกฤชญากรติดเครดิตบูโร ไฟแนนซ์ไม่อนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อให้สักราย และได้เสนอเปลี่ยนรถที่จะขายให้เป็นคันใหม่ คุณกฤชญากรเห็นว่าไม่ได้รถตามที่ต้องการไว้แต่แรก จึงบอกเลิกสัญญาการจองและขอเงินค่าจองรถคืน แต่เกือบร้อยทั้งร้อยล่ะครับที่จะเจอการโยกโย้ โยกเย้ ประวิงเวลา เตะถ่วงไปเรื่อย ๆ ไม่คลายเงินจองออกมาง่าย ๆ จนผู้จองรถโดยส่วนใหญ่จำต้องทิ้งเงินจองไป ที่ผ่านมา ธุรกิจกินเงินจองรถนี่บรรดาเต้นท์รถเบิกบานมาก เพียงแค่ลงทุนค่าโฆษณาผ่านหนังสือขายฝากรถยนต์ แจ้งโฆษณาว่ามีรถทุกรุ่น ทุกเฉดสี ไม่ว่าใหม่หรือเก่า ก็สามารถหาให้ได้ แถมราคาย่อมเยากว่าศูนย์ตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตเป็นหมื่น แค่นี้ก็มีลูกค้ามาถวายเงินจองให้ตรึม พอลูกค้ามาติดต่อก็บอกว่าหารถให้ได้แน่ ไฟแนนซ์ก็ผ่านแน่ ๆ ขอแค่วางเงินจองไว้ 5,000 บาท พอถึงจังหวะที่จะกินเงินจองกับลูกค้าก็จะมีสูตรตายตัวในทำนองว่า ลูกค้าปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับเครดิตบูโร เลยไม่สามารถจัดไฟแนนซ์ให้ได้ เมื่อลูกค้าเป็นคนผิดสัญญาการจองเอง ดังนั้นจึงต้องถูกยึดเงินจอง ลูกค้ากลับไปดูสัญญาก็เห็นเป็นจริงเช่นนั้นเสียด้วยแต่เขียนซะตัวเล็กกระจ้อยร่อย ท้ายสุดต้องยอมเสียเงินไป เรื่องทำนองนี้เคยนำลงในฉลาดซื้อมาครั้งสองครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้มีข้อกฎหมายเด็ดสะระตี่ไว้ให้ผู้บริโภคใช้เรียกเงินจองคืนได้แบบสมบูรณ์แบบครับแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยท่วงทำนองการประกอบธุรกิจที่ทุจริตของบรรดาเต้นท์รถทั้งหลายทำให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนิ่งเฉยไม่ได้ ในที่สุดจึงได้ใช้แผนเผด็จศึกที่ได้ผลมาแล้วกับหลายๆ ธุรกิจ คือการประกาศให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา หลายคนยังไม่รู้จักเพราะประกาศฉบับนี้เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2551 นี่เอง ถือเป็นประกาศควบคุมสัญญาล่าสุดที่ สคบ. มีออกมาประกาศฉบับนี้ใช้ควบคุมการประกอบกิจการขายรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเอารถยนต์ออกขายโดยให้ผู้บริโภคทำการจองซื้อ และผู้ประกอบธุรกิจได้รับเงินหรือรับสิ่งใดไว้เป็นมัดจำ และให้คำมั่นว่าจะส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคตามเวลาที่กำหนดในสัญญาทีนี้ในเรื่องของการซื้อขายรถยนต์ที่มีการจอง ประกาศฉบับนี้ได้เขียนข้อสัญญาที่ควบคุมไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจไปปรับเปลี่ยนราคารถยนต์ที่จองไว้สูงขึ้น หรือไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา หรือ ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กำหนดในสัญญานอกจากนี้ยังมีการควบคุมสัญญาที่สำคัญอีกข้อหนึ่งว่า หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์ และผู้บริโภคไม่ได้รับสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาการส่งมอบรถยนต์ ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญากันได้ผลของการบอกเลิกสัญญากันตามเงื่อนไขที่ได้ว่ามา คือ ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภคภายใน 15 วันแม้ผู้ประกอบธุรกิจอาจจะหัวหมออ้างว่า สัญญาที่ทำกับผู้บริโภคไม่มีข้อสัญญาเหล่านี้ แต่ไม่สามารถจะใช้ยกเป็นเหตุในการไม่ยอมคืนเงินจองเงินมัดจำให้กับผู้บริโภคได้ครับ เนื่องจาก ตามหลักกฎหมายควบคุมสัญญาของ สคบ. นั้นมีหลักการสำคัญคือ หากสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำขึ้นไม่มีข้อสัญญาตามที่ สคบ. ได้กำหนดไว้ กฎหมายจะถือว่าสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจมีข้อสัญญาที่ สคบ. กำหนดไว้อยู่ด้วยแล้ว และหากสัญญาข้อใดของผู้ประกอบธุรกิจที่เขียนแล้วไปฝ่า ไปฝืนข้อสัญญาที่ สคบ. ได้กำหนดไว้ กฎหมายควบคุมสัญญาจะถือว่าไม่มีข้อสัญญานั้นปรากฏอยู่ในข้อสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจ พูดง่ายๆ คือ ข้อสัญญาใดที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคจะเอามาบังคับใช้กันไม่ได้หลักการนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “ธุรกิจที่ควบคุมสัญญา” ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 ขอคืนตั๋วเดินทาง ทำได้แค่ไหน

การเดินทางเป็นกิจกรรมที่เกือบจะเป็นปกติธรรมดาของชีวิต ไม่ว่าจะทางใกล้หรือทางไกล ปัจจุบันเราก็มีทางเลือกที่หลากหลายพอสมควรสำหรับการเดินทาง โดยเฉพาะพาหนะสาธารณะ ทั้งทางบก ทางอากาศ ในการเดินทางไกล ก่อนการเดินทางส่วนใหญ่ทุกคนก็ต้องวางกำหนดการและค่อนข้างแน่ใจระดับหนึ่งว่าต้องเดินทางแน่ๆ เพราะนั่นหมายถึงว่าเราต้องเตรียมหาที่พักและจองตั๋วรถ ตั๋วเครื่องบินล่วงหน้า แต่หากเกิดเหตุให้ต้องเลื่อนการเดินทางออกไปหรืองดเดินทาง ตั๋วที่อุตส่าห์จับจองไว้ เราสามารถขอคืนได้ไหม จะถูกหักเงินหรือค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ ฉลาดซื้อลองรวบรวมนโยบายของแต่ละบริษัทมาเสนอไว้เป็นข้อมูลสำหรับท่านสมาชิก เผื่อจะได้จัดการกับการเดินทางได้สะดวกขึ้น     เครื่องบิน การบินไทย การเปลี่ยนแปลงการเดินทางหรือการบอกยกเลิก -         ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ สำหรับรายการท่องเที่ยวในประเทศ -         ไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ สำหรับรายการท่องเที่ยวต่างประเทศ -         ไม่น้อยกว่า 21 วันทำการ สำหรับหมู่คณะ หรือเป็นไปตามเงื่อนไขของทัวร์นั้น ๆ ยกเลิกน้อยกว่าจำนวนวันที่กำหนด -         ค่าธรรมเนียม ภายในประเทศ 500 บาท , ต่างประเทศ USD 50.00 หรือมากกว่าตามเงื่อนไขของทัวร์นั้น ๆ ยกเลิกน้อยกว่า 24 ชม -         ค่าธรรมเนียมผู้โดยสารจะต้องจ่ายเท่ากับอัตราห้องพัก 1 คืน หรือมากกว่าตามเงื่อนไขของทัวร์นั้น ๆ การขอคืนเงินทัวร์เอื้องหลวง (ขายในประเทศไทย) -         ค่าธรรมเนียม บัตรโดยสารภายในประเทศ 500 - 1,000 บาท ต่อท่าน -         ค่าธรรมเนียม บัตรโดยสารต่างประเทศ 2,000 บาท ต่อท่าน -         ค่าธรรมเนียม ใบรับรองการจ่ายเงิน (Voucher) ฉบับละ 200 บาท ในกรณีที่เริ่มเดินทางกับทัวร์เอื้องหลวงแล้ว หรือใช้แล้วบางส่วนไม่คืนเงินให้ไม่ว่ากรณีใด   ที่มา: http://www.thaiairways.co.th/thailand/th/roh/Booking.htm                   นกแอร์ การเปลี่ยนแปลงการเดินทางหรือการบอกยกเลิก -         ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ สำหรับรายการท่องเที่ยวในประเทศ -         ไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ สำหรับรายการท่องเที่ยวต่างประเทศ -         ไม่น้อยกว่า 21 วันทำการ สำหรับหมู่คณะ หรือเป็นไปตามเงื่อนไขของทัวร์นั้น ๆ ยกเลิกน้อยกว่าจำนวนวันที่กำหนด -         ค่าธรรมเนียม ภายในประเทศ 500 บาท , ต่างประเทศ USD 50.00 หรือมากกว่าตามเงื่อนไขของทัวร์นั้น ๆ ยกเลิกน้อยกว่า 24 ชม -         ค่าธรรมเนียมผู้โดยสารจะต้องจ่ายเท่ากับอัตราห้องพัก 1 คืน หรือมากกว่าตามเงื่อนไขของทัวร์นั้น ๆ การขอคืนเงินทัวร์เอื้องหลวง (ขายในประเทศไทย) -         ค่าธรรมเนียม บัตรโดยสารภายในประเทศ 500 - 1,000 บาท ต่อท่าน -         ค่าธรรมเนียม บัตรโดยสารต่างประเทศ 2,000 บาท ต่อท่าน -         ค่าธรรมเนียม ใบรับรองการจ่ายเงิน (Voucher) ฉบับละ 200 บาท ในกรณีที่เริ่มเดินทางกับทัวร์เอื้องหลวงแล้ว หรือใช้แล้วบางส่วนไม่คืนเงินให้ไม่ว่ากรณีใด   ที่มา: http://www.thaiairways.co.th/thailand/th/roh/Booking.htm                 แอร์เอเชีย การเปลี่ยนแปลงวัน/เวลา -           โปรโมชั่น (ค่าโดยสารต่ำสุด) / ปกติ อนุญาตให้เปลี่ยนได้อย่างช้าไม่เกิน 48 ชั่วโมงก่อน กำหนดเวลาออกเดินทาง หมายเหตุ: ต้องเสียทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาที่แตกต่างกันของตั๋วโดยสารแต่ละประเภทและค่าธรรมเนียมที่เปลี่ยนแปลงไป (คิดต่อผู้โดยสารต่อเที่ยวบิน) -           Hi Flyer อนุญาตให้เปลี่ยนได้อย่างช้าไม่เกิน  48 ชั่วโมงก่อน กำหนดเวลาออกเดินทาง หมายเหตุ: ต้องเสียไม่สามารถใช้ได้กับการจองตั๋วเครื่องบินใหม่ภายใน 4 ชม. เที่ยวบินถัดไปที่สามารถเดินทางได้ของ AirAsia คือ 3 ชั่วโมงและ 4 ชม.หรือหลังจากนั้นสำหรับเที่ยวบินของ AirAsia X -          Premium FlatBed อนุญาตให้เปลี่ยนได้อย่างช้าไม่เกิน 48 ชั่วโมงก่อน ผู้โดยสารจ่ายเพียงส่วนต่างของราคาตั๋วเครื่องบินเท่านั้น การเปลี่ยนชื่อ -          โปรโมชั่น (ค่าโดยสารต่ำสุด) / ปกติ และHi Flyer ไม่อนุญาต (อนุญาตให้เปลี่ยนชื่อได้เฉพาะเที่ยวบินญี่ปุ่นและเกาหลีเท่านั้น) -          Premium FlatBed อนุญาตให้เปลี่ยนได้อย่างช้าไม่เกิน 48 ชั่วโมงก่อนกำหนดเวลาออกเดินทาง หมายเหตุ: การเปลี่ยนเสียค่าบริการเปลี่ยนชื่อ ในอัตราต่อผู้โดยสารต่อช่วงการบิน การเปลี่ยนปลายทาง -          ไม่อนุญาต ทุกประเภทของตั๋วโดยสาร การคืนเงินค่าโดยสารและบริการเสริม -          ไม่อนุญาต ทุกประเภทของตั๋วโดยสาร พลาดกำหนดเวลาเช็คอินหรือขึ้นเครื่องไม่ทัน -          ทุกประเภทของตั๋วโดยสาร สามารถเปลี่ยนแปลงรายการผ่าน "จัดการบุกกิ้งของฉัน" ได้ฟรี (ยกเว้นการเปลี่ยนชื่อ) หากมีการเปลี่ยนแปลงที่เคาน์เตอร์ ณ ท่าอากาศยานจะต้องเสียค่าธรรมเนียม Currency -          ทุกประเภทของตั๋วโดยสาร  จะเก็บเงินทั้งหมดเป็นสกุลเงินของประเทศต้นทางเว้นแต่ท่านจะเลือกสกุลเงินอื่น   ไม่ว่าจะเป็นตั๋วโดยสารประเภท ราคาประหยัด Hi-Flyer หรือที่นั่งปรับนอนได้ระดับ Premium FlatBed ตั๋วโดยสารแต่ละประเภทต่างมีข้อบังคับและสิทธิประโยชน์พิเศษเฉพาะแบบไม่เหมือนกัน   ที่มา: http://www.airasia.com/th/th/our-fares/fare-rules.page               รถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มา: http://www.railway.co.th/NewSite/ การคืนเงินค่าตั๋ว ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วไว้แล้วไม่สามารถใช้ตั๋วโดยสารฉบับนั้นได้ เพราะเหดุใด ๆ ก็ตาม มีสิทธิขอคืนเงินค่าตั๋วโดยสารและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้ โดยนำตั๋วโดยสารไปแจ้งความจำนงต่อเจ้าหน้าที่ที่หมวดตั๋วล่วงหน้า หรือสถานีรถไฟทั่วประเทศ หรือตัวแทนที่เปิดจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าทุกแห่ง เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว ถ้าเป็นตั๋วที่ซื้อเงินสดจะคืนเงินทันที โดยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมคืนเงินตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 20 บาท ต่อตั๋ว 1 ฉบับ โดยคิดเป็นรายบุคคล หลักเกณฑ์การคิดค่าธรรมเนียมคืนเงิน ให้ถือเอาวัน เวลาขบวนรถออก และสถานีต้นทางที่ระบุในตั๋วเป็นเกณฑ์ โดยคิดค่าธรรมเนียมเป็นร้อยละของราคาตั๋วเป็นรายบุคคล ดังนี้ ก.ตั๋วรายบุคคล , ตั๋วร่วม และตั๋วพิเศษตามใบแลกการขนส่งของหน่ายงานต่าง ๆ - ขอคืนก่อนวันเดินทางที่ระบุไว้ในตั๋วโดยสาร 3 วันขึ้นไป                หัก 20% ของราคาตั๋วโดยสาร (ไม่นับวันขบวนรถออกต้นทางตามตั๋ว ) - ขอคืนน้อยกว่า 3 วันจนถึงก่อนขบวนรถออกไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง     หัก 50% ของราคาตั๋วโดยสาร ข.ตั๋วหมู่คณะทุกชั้นทุกประเภท ยกเว้นตั๋วหมู่คณะไป-กลับนักเรียน ในข้อ ค. - คืนก่อนวันเดินทาง 3 วันขึ้นไป (ไม่นับวันขบวนรถออกต้นทางตามตั๋ว ) หัก 60% ของราคาตั๋วโดยสาร หากพ้นกำหนดนี้ไม่คืนเงินค่าตั๋วให้และไม่รับคำร้อง ค.ตั๋วหมู่คณะไป-กลับ ลดราคาประเภทนักเรียน (รวมทั้งนิสิต นักศึกษา) ที่คิดค่าโดยสารเพียงเที่ยวเดียว ถ้ามีการใช้เที่ยวใดเที่ยวหนึ่งแล้วเที่ยวที่ยังไม่ได้ใช้จะไม่คืนค่าโดยสารให้ (คืนเฉพาะค่าธรรมเนียม ถ้ามี ) หากเป็นตั๋วลกราคาเที่ยวเดียวให้คิดเช่นเดียวกับ ตั๋วหมู่คณะในข้อ ข. ง.ตั๋วนำเที่ยว จำหน่ายแล้วไม่รับคืนค่าตั๋วโดยสาร   การคืนเงินเต็มราคา ได้ต้องอันเนื่องมาจากขบวนรถที่จะเดินทางตามตั๋วล่าช้ากว่ากำหนดเวลาที่ได้ ประกาศไว้ในตารางการเดินรถเกินกว่า 30 นาที หรือเหตุซึ่งไม่ใช่เป็นความบกพร่องของผู้โดยสารเอง หรือด้วยสาเหตุ เพราะไม่มีที่นั่งตามชั้นในตั๋ว หรือเพราะผู้โดยสารหนาแน่นขึ้นใช้การโดยสารไม่ได้ หรืออันเกิดมาจากความบกพร่องของการรถไฟฯ โดยท่านผู้โดยสารยังไม่ได้ใช้การโดยสารใดๆ ท่านผู้โดยสารมีสิทธิขอคืนเงินค่าโดยสาร และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้ทั้งหมด หรือขอเลื่อนขบวนรถที่จะเดินทางได้ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม การคืนเงินค่าธรรมเนียมปรับอากาศ หากรถโดยสารที่ผู้โดยสารใช้การโดยสาร เครื่องปรับอากาศชำรุดระหว่างทาง หลักเกณฑ์คืนเงินดังนี้ - คืนเงินเฉพาะค่าธรรมเนียมปรับอากาศให้เต็มราคา การยื่นคำร้อง ขอคืนเงินค่าตั๋วโดยสาร สามารถยื่นได้ที่สถานีหรือที่จำหน่ายตั๋วล่วงหน้าแห่งใดก็ได้ตามความประสงค์ของผู้ยื่นคำร้องและต้องมาติดต่อรับเงินคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้สั่งจ่ายเงินเป็นต้นไป ให้ใช้คำร้องตามแบบฟอร์มของการรถไฟฯ โดยกรอกรายละเอียดพร้อมแสดงเหตุผลการที่ไม่ได้ใช้ตั๋วอย่างชัดแจ้ง และหากมีหลักฐานอ้างอิงก็ให้แนบติดมาด้วย ผู้ยื่นคำร้องขอคืนเงินค่าตั๋ว นำเนาคำร้องฉบับที่ 3 มาติดต่อขอรับเงินหลังยื่นคำร้องขอคืนเงินค่าตั๋วประมาณ 11 วันทำการ เมื่อใบสั่งจ่ายคืนเงินค่าตั๋วส่งถึง หมวดจำหน่ายตั๋วล่วงหน้า , สถานีที่ผู้ร้องขอรับเงินคืนจะแจ้งผู้ร้องทราบ   รถโดยสารสาธารณะ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)   การคืนตั๋ว -          ลูกค้าสามารถคืนตั๋วรถโดยสารได้ที่จุดประสานงานหมอชิต เอกมัย และสายใต้ ก่อนรถออก 6 ชั่วโมง (ชำระเป็นเงินสดและคืนที่นี่ ได้เงินสดคืนทันที) -          ลูกค้าสามารถคืนตั๋วรถโดยสารได้ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ 13 สาขา ก่อนรถออก 6 ชั่วโมง (คืนที่นี่ โอนเงินให้ภายหลัง) ชำระผ่านบัตรเครดิต จะคืนวงเงินในบัตร** หักค่าธรรมเนียม 10% ผู้ประกอบการเรียกเก็บ ที่มา: http://home.transport.co.th/th/tcl-service/telephone-directory-reservation-booking.html สมบัติทัวร์   การเลื่อนการเดินทางและการคืนตั๋วโดยสาร การเลื่อนการเดินทาง ท่านผู้โดยสารที่เดินทางจาก กรุงเทพฯ , เชียงใหม่ ต้องนำตั๋วโดยสารมาติดต่อที่หน้าเคาน์เตอร์ด้วยตัวเองอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ก่อนเวลาเดินทางที่ระบุไว้ในตั๋วโดยสาร ส่วนเส้นทางอื่นๆ ให้นำตั๋วมาติดต่อ ก่อนเวลาเดินทาง ที่ระบุในตั๋วโดยสารอย่างน้อย 5 ชั่วโมง ตั๋วโดยสาร 1 ใบ สามารถเลื่อนได้ 1 ครั้งเท่านั้น ตั๋วโดยสารที่ทำรายการเลื่อนแล้วไม่สามารถคืนตั๋วโดยสารได้ การคืนตั๋วโดยสาร ท่านผู้โดยสารที่เดินทางจาก กรุงเทพฯ , เชียงใหม่ ต้องนำตั๋วโดยสารมาติดต่อที่หน้าเคาน์เตอร์ด้วยตัวเองอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเวลาเดินทางที่ระบุไว้ในตั๋วโดยสาร ส่วนเส้นทางอื่นๆ ให้นำตั๋วมาติดต่อ ก่อนเวลาเดินทาง ที่ระบุในตั๋วโดยสารอย่างน้อย 5 ชั่วโมง ในการคืนตั๋วโดยสารจะหักค่าธรรมเนียม 10% 2.1 กรณีที่ชื่อที่ระบุในตั๋วโดยสารและผู้ที่นำตั๋วโดยสารมาคืนไม่ใช่บุคคลเดียวกันทางบริษัทขอปฏิเสธในการทำรายการเว้นแต่มีสำเนาบัตรประจำตัวประชนของผู้ที่มีชื่อระบุในตั๋วโดยสารและหนังสือมอบอำนาจแนบมาด้วย กรณีตั๋วโดยสารหาย กรณีตั๋วโดยสารหายให้ท่านผู้โดยสารสามารถโทรแจ้งข้อมูลตั๋วหายได้ที่ Call Center ทางพนักงานจะได้บันทึกข้อมูลลงในระบบเพื่อป้องกันบุคคลอื่นแอบอ้างในการเดินทางโดยนำใบแจ้งความพร้อมสำเนาบัตรประชาชนมาติดต่อที่หน้าเคาน์เตอร์ด้วยตัวเอง ทางพนักงานจะตรวจสอบข้อมูลและยืนยันข้อมูล ทางบริษัทจะออกใบแทนตั๋วโดยสารให้กับท่านผู้โดยสารซึ่งใบแทนตั๋วโดยสารนี้สามารถใช้เดินทางและแลกอาหาร เครื่องดื่มที่จุดพักรับประทานอาหารเหมือนตั๋วโดยสารทุกประการ ใบแทนตั๋วโดยสารไม่สามารถเลื่อนหรือคืนได้สามารถใช้เดินทางได้อย่างเดียวเท่านั้น ที่มา: http://www.sombattour.com/html/ticket.php   นครชัยแอร์   การคืนตั๋ว สามารถดำเนินการได้ที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วเท่านั้น  ทั้งด้วยตนเอง  และการมอบอำนาจ โดยมีรายละเอียดต่างๆ คือ 1)       ดำเนินการคืนตั๋วก่อนการเดินทาง 3 ชั่วโมง 2)       กรณีคืนตั๋วก่อนการเดินทาง 24 ชั่วโมง   แต่ไม่เกิน 30 วัน มีค่าธรรมเนียมในการคืนตั๋ว 20% ของราคาหน้าตั๋ว 3)       กรณีตั๋วมีการเลื่อนการเดินทางมาแล้ว คืนตั๋วก่อนการเดินทาง 24 ชั่วโมง   แต่ไม่เกิน 30 วัน มีค่าธรรมเนียมในการคืนตั๋ว 50% ของราคาหน้าตั๋ว ที่มา: -call center นครชัยแอร์ 0-2790-0009, 1624 -สามารถใช้แฟกซ์โทร และรับเอกสารได้เลย http://www.nakhonchaiair.com/ticket.php เชิดชัยทัวร์   พนักงานรับโทรศัพท์ แจ้งว่าไม่รับคืนตั๋วทุกกรณี ที่มา: -สอบถามรายละเอียด 02 391 2237 -จองตั๋ว 1188 กด 3   ปิยะรุ่งเรืองทัวร์   การคืนตั๋ว มีค่าธรรมเนียม 20% จากราคาหน้าตั๋ว และค่าโอนเงินครั้งละ 50 บาท/ครั้ง   จองตั๋วรถทัวร์.com  กล้ารับประกันไม่ได้ที่นั่ง ยินดีคืนเงิน 100% *หมายเหตุ ผู้โดยสารต้องตรวจสอบความถูกต้องของการจองตั๋วทุกครั้ง และชำระเงินถูกต้องครบถ้วน ผู้โดยสารต้องเช็คอินรับตั๋วไม่น้อยกว่า 30 นาทีก่อนรถออก ณ เคาน์เตอร์รับตั๋วที่กำหนดไว้ สงวนสิทธิเปลี่ยนแปลงเที่ยวรถหรือที่นั่งในกรณีจำเป็น คืน เงิน 100% ของราคาตั๋วโดยสาร โดยไม่รวมค่าดำเนินการจัดการ และค่าธรรมเนียมจุดรับชำระเงิน เฉพาะกรณีผู้ให้บริการเดินรถไม่สามารถจัดรถหรือที่นั่งใดๆ ให้ผู้โดยสารเดินทางได้ โดยผู้โดยสารต้องแจ้งที่โทร 02 269 6999 ไม่น้อยกว่า 15 นาทีก่อนรถออก สงวนสิทธิไม่คืนเงินสำหรับผู้โดยสารซึ่งปฏิเสธการเดินทาง และผู้โดยสารซึ่งไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของบริษัท   ที่มา: - www.จองตั๋วรถทัวร์.com -022696999 (24 ชม.) -www.จองตั๋วรถทัวร์.com มี บ.รถทัวร์ ดังนี้ แอร์อรัญพัฒนา ชนะภัยทัวร์ โชครุ่งทวีทัวร์ ลิกไนท์ทัวร์ นครศรีร่มเย็นทัวร์ นิววิริยะยานยนต์ทัวร์ เพชรประเสริฐ ภูเก็ตท่องเที่ยว ภูกระดึงทัวร์ 10. ปิยะรุ่งเรืองทัวร์ ประหยัดทัวร์ เปรมประชาขนส่ง รุ่งกิจทัวร์ รุ่งประเสริฐทัวร์ สหพันธ์ร้อยเอ็ดทัวร์ สยามเฟิสท์ทัวร์ สมบัติทัวร์ ศรีตรังทัวร์ ทรัพย์ไพศาลทัวร์ สุวรรณนทีขนส่ง ไทยสงวนทัวร์

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 147 ไม่พอใจสินค้า ยินดีคืนเงิน

นักช้อปหลายๆ คนคงเคยประสบปัญหาซื้อของแล้วได้ของที่ไม่โดนใจ แม้ตอนจ่ายตังค์ซื้อจะดูโอเค แต่พอกลับมาบ้านเกิดรู้สึกว่ามันไม่ใช่ อาจเพราะซื้อโดยไม่ทันคิด ว่าของนั้นเราอยากได้จริงๆ หรือเปล่า ซื้อแล้วจะเอาไปใช้อะไร หรือซื้อมาซ้ำทั้งๆ ของที่บ้านก็มีอยู่แล้ว เมื่อสติเรากลับคืนมาแล้วเกิดฉุกคิดได้ ว่าจริงๆ เราไม่อยากได้หรือจำเป็นต้องใช้ของที่เพิ่งซื้อมา ทีนี้คำถามที่ตามมาคือ ของที่เราซื้อมาแล้วเกิดรู้สึกไม่พอใจ เน้นว่าแค่รู้สึกไม่พอใจ คือของที่ซื้อมาไม่ได้ชำรุดหรือมีปัญหา แค่เราเกิดเปลี่ยนใจไม่อยากได้ของที่ซื้อมา เรามีสิทธิ์ที่จะนำของไปขอคืนเงินกับร้านค้าที่เราซื้อของมาได้หรือเปล่า? “รับประกันความพึงพอใจในสินค้า ไม่พอใจเรายินดีคืนเงิน” ถ้าประโยคนี้ไม่ใช่แค่คำโฆษณา ผู้บริโภคอย่างเราก็น่าจะมีสิทธิขอคืนเงินได้...ใช่มั้ย?   ซื้อของแล้วเกิดเปลี่ยนใจ ขอคืนเงินได้ แม้จะดูเป็นเรื่องแปลกๆ อยู่สักหน่อย ที่ของที่เราตัดสินใจซื้อด้วยความเต็มใจตอนอยู่ที่ร้าน กลับกลายเป็นของที่เราไม่อยากได้เมื่อกลับมาอยู่บ้าน แต่เรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร เราในฐานะผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลในเรื่องการซื้อสินค้าและบริการ ไม่ใช่แค่เรื่องราคา คุณภาพ หรือข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ แต่ยังครอบคลุมถึงเรื่องสำคัญอย่าง “การรับประกันสินค้า” ซึ่งถือเป็นบริการลูกค้าที่เหล่าห้างร้านต่างๆ ต้องมีไว้คอยบริการให้กับคนซื้อของ   ไม่ว่าเราจะซื้อของจาก ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกชื่อดังทั้งหลาย หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อ ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะขอคืนสินค้าเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินได้ แต่ว่าก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่แต่ละที่กำหนดไว้ เพราะฉะนั้นเราในฐานะผู้บริโภคนักช้อป จำเป็นมากที่ต้องรู้ถึงรายละเอียดเงื่อนไขการขอคืนสินค้าก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ   ก่อนจ่ายเงินซื้อของ ต้องเช็คเงื่อนไขการเปลี่ยน - คืน ตอนนี้เรารู้กันแล้วว่า ของที่เราซื้อมาแล้วเกิดปัญหา ชำรุด สินค้าไม่ตรงกับที่โฆษณา หรือรู้สึกไม่พึงพอใจในตัวสินค้า เราสามารถนำไปขอคืนเงินได้ แต่ว่าต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ร้านค้าผู้ขายกำหนดไว้ แล้วเราจะรู้ถึงเงื่อนไขเหล่านั้นได้อย่างไร? ง่ายที่สุดก็คือการสอบถามโดยตรงจากพนักงานขาย ซึ่งถือเป็นช่องทางที่เราเข้าถึงขอมูลต่างๆ เกี่ยวกับสินค้าได้ง่ายที่สุด (แม้ว่าจากการทดสอบของฉลาดซื้อเรื่องการขอคืนสินค้า เราจะพบว่ามีหลายที่ที่พนักงานขายสินค้าคนเดิมอาจเปลี่ยนเป็นคนละคน จากพนักงานที่น่ารักดูเป็นมิตรตอนที่พูดเชิญชวนให้เราซื้อของ อาจกลายเป็นพนักงานขายที่ดูไม่อยากปฏิสัมพันธ์กับใครและไม่ค่อยสุภาพ ในเวลาที่เราไปติดต่อขอคืนสินค้า) การสอบถามข้อมูลเงื่อนไขการคืนสินค้าจากพนักงานขายจึงเป็นเรื่องสำคัญที่นักช้อปทุกคนควรปฏิบัติ เพราะปัจจุบันข้อมูลเรื่องการขอคืนสินค้าดูยังเป็นเรื่องลึกลับเข้าถึงยาก อาจจะมีบ้างในห้างสรรพสินค้าแบบแห่งที่แจ้งขอมูลเรื่องการขอเปลี่ยน – คืนสินค้าไว้ที่จุดบริการลูกค้า หรือในเว็บไซต์ของห้าง และที่ใกล้ตัวคนซื้อขึ้นมาหน่อยคือในใบเสร็จ แต่ก็ยังมีให้เห็นแค่ไม่กี่แห่ง (จากการทดสอบเราพบแค่ที่ Big C เท่านั้น) แถมข้อมูลก็ไม่ละเอียด เพราะแจ้งเพียงแค่ให้เก็บใบเสร็จไว้เป็นหลักฐานในการขอเปลี่ยน – สินค้าเท่านั้น   เงื่อนไขในการขอคืนสินค้าที่เราควรรู้ -ระยะเวลา – เพราะความที่ไม่ได้มีกฎหมายบังคับชัดเจนเรื่องการคืนสินค้า ทำให้การกำหนดระยะเวลาในการคืนสินค้าของห้างร้านแต่ละแห่งแตกต่างกันไป 7 วันบ้าง 15 วันบ้าง 30 วันบ้าง เพราะฉะนั้นระยะเวลาในการขอคืนสินค้านับจากวันที่ซื้อจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญอันดับแรกๆ ที่เราควรรู้ นอกจากนี้สินค้าแต่ละประเภทก็มีการกำหนดระยะเวลาการขอคืนสินค้าที่แตกต่างกัน เช่น อาหารสด อนุญาตให้คืนสินค้าภายในวันที่ซื้อเท่านั้น หรือถ้าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าก็อาจให้คืนสินค้าภายใน 10 – 15 วัน -สถานที่คืนสินค้า – ส่วนใหญ่จะต้องติดต่อขอคืนสินค้าที่จุดบริการลูกค้าในแผนกของห้างร้านสาขาที่เราได้ซื้อสินค้ามา และทางผู้ขายเขาจะรับประกันเฉพาะค่าสินค้าที่เรามาขอคืนเท่านั้น ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างค่าเสียเวลา ค่าเดินทาง ผู้ขายไม่รับผิดชอบ -สภาพของสินค้า – แน่นอนว่าสินค้าที่นำมาขอคืนสินค้าในกรณีที่สินค้าไม่ได้ชำรุดหรือเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน สินค้านั้นต้องอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด คืออยู่ในบรรจุภัณฑ์ใกล้เคียงตอนที่ซื้อมา (กรณีที่แกะกล่องเอาของออกไปใช้แล้ว) ต้องพยายามอย่าให้ไม่มีร่องรอยการใช้งานหรือชำรุดเสียหาย ถ้าเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องอยู่ครบถ้วน รวมถึงเอกสารต่างๆ ที่มพร้อมกับสินค้า ผู้ขายมักจะใช้คำจำกัดความง่ายๆ ว่าสินค้าที่นำมาคืนนั้น ต้องอยู่ในสภาพที่ “สามารถนำมาขายได้ต่อ” -หลักฐานในการขอคืนสินค้า – หลักๆ ก็คือใบเสร็จการซื้อสินค้า ไม่มีไม่ได้ นอกจากนี้อาจจะมีหลักฐานการจ่ายผ่านบัตรเครดิต กรณีซื้อสินค้าผ่านบัตร บางที่อาจให้ผู้ขอคืนสินค้าต้องกรอกเอกสารเพิ่มเติม -วิธีการคืนเงิน – ส่วนใหญ่ผู้ขายก็จะคืนให้ตามวิธีที่เราจ่ายเมื่อตอนซื้อ ถ้าจ่ายด้วยเงินสดก็จะคืนเป็นเงินสด ถ้าจ่ายผ่านบัตรก็จะคืนกลับไปในบัตร แต่ก็บางที่แม้จะจ่ายผ่านบัตรแต่ก็คืนให้เป็นเงินสด โดยจะมีการกำหนดวงเงินเอาไว้ เช่น ไม่เกิน 5,000 บาท (การคืนเงินผ่านทางบัตรเครดิตต้องคอยตรวจเช็คยอดเงินให้ดี เพราะผู้ขายมักจะคืนเงินหลังจากตกลงคืนสินค้าเรียบร้อยแล้ว 1 – 2 เดือน) ในการสำรวจของฉลาดซื้อเรายังพบว่ามีห้างสรรพสินค้าอยู่ 2 แห่ง ที่ไม่ได้คืนเป็นเงินสดแต่คืนมาเป็นคูปองเงินสดราคาเท่าราคาสินค้า คือที่ เดอะมอลล์ สาขางามวงศ์วาน และ เอ็มโพเรียม (ทั้ง 2 ห้างอยู่ในเครือเดียวกัน คือ บริษัท เดอะ มอลล์ กรุ๊ป) ซึ่งนั้นเท่ากับว่าเป็นการบังคับผู้บริโภคกลายๆ ว่าต้องกลับมาซื้อของกับทางห้างอีกหากไม่อยากให้เงินนั้นสูญไปเฉยๆ แม้คูปองเงินสดนั้นจะไม่ได้กำหนดวันหมดอายุ แต่ก็ดูแล้วไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้บริโภคสักเท่าไหร่ -สินค้าบางอย่างไม่สามารถขอคืนเงินได้ – ถือเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญที่ควรรู้ก่อนซื้อสินค้า ยิ่งในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนสินค้าจากเหตุผลด้านความพึงพอใจ ไม่ใช่เพราะสินค้าชำรุดหรือมีปัญหา สินค้าที่ร้านค้าส่วนใหญ่ไม่ยอมให้คืนอย่างเด็ดขาด ก็มีอย่างเช่น ชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ ถุงเท้า หนังสือ แบตเตอรี่ ซีดี ฯลฯ และที่ต้องดูให้ดีคือ ในกลุ่มสินค้าลดราคา สินค้าราคาพิเศษ สินค้าลดล้างสต๊อก สินค้าเหล่านี้ก่อนจะซื้อต้องสอบถามให้ดีเรื่องการขอเปลี่ยนคืนสินค้า อย่าหลงซื้อโดยเห็นแก่ราคาที่ถูกกว่า ถ้าใช้ไปไม่นานแล้วเสียขึ้นมา จะเอากลับไปเปลี่ยนหรือขอคืนเงินไม่ได้ เดี๋ยวจะต้องมาปวดใจได้ของไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป   การขอเปลี่ยน – คืนสินค้า ในมุมของกฎหมาย หลังจากฉลาดซื้อเราได้ทดสอบดูเรื่องเงื่อนไขและมาตรการการขอเปลี่ยน – คืนสินค้ากับบรรดาห้างร้านต่างๆ แล้ว เราก็พบข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า แต่ละที่แต่ละแห่งต่างก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปแล้วแต่ตัวเองจะกำหนด ทั้งๆ ที่สินค้าอาจจะเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน ราคาเท่ากัน แต่เงื่อนไขการขอคืนสินค้าไม่เหมือนกัน นั้นเป็นเพราะว่าเราไม่มีกฎหมายหรือข้อกำหนดใดๆ ที่ดูแลในเรื่องนี้ แม้จะมี พ.ร.บ. ที่พูดถึงเรื่องสินค้าอย่าง พ.ร.บ.ความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย แต่ก็ดูแลเฉพาะสินค้าที่เข้าข่ายสินค้าไม่ปลอดภัยเท่านั้น หรือ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง ก็คุ้มครองเฉพาะคนซื้อของแบบขายตรง ที่ดูจะเป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุด ก็คงเป็น “โครงการส่งเสริมการรับประกันคุณภาพสินค้าและบริการประเภทธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง” ที่ทางกรมการค้าภายในทำไว้กับบรรดา ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกขนาดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมทั้งร้านสะดวกซื้อ ที่ให้มีการกำหนดเงื่อนไขการเปลี่ยน – คืนสินค้า แต่ว่าก็เป็นเพียงแค่การขอความร่วมมือเท่านั้น   ถ้าขอคืนไม่ได้...ให้กฎหมายช่วย สำหรับคนที่พบปัญหา ไปขอคืนสินค้าแล้วไม่ได้รับการบริการ ไม่ได้เงินคืน เปลี่ยนสินค้าไม่ได้ หรือผู้ขายปฏิเสธความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะเรายังสามารถใช้กฎหมายเป็นตัวช่วยจัดการปัญหานี้ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  เรื่อง ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง ได้กำหนดให้ผู้ขายสินค้าต้องรับผิดชอบต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง ซึ่งทำให้ผู้ซื้อสินค้าสามารถฟ้องร้องเพื่อพิจารณาเรียกร้องการชดเชยได้ โดยใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาวิธีคดีผู้บริโภค ช่วยในการฟ้องร้อง   สิ่งที่ต้องทำเมื่อจะไปขอคืนสินค้า 1.ตรวจสอบเงื่อนไขการคืนสินค้าของร้านที่เราจะไปขอคืนสินค้าให้ดีและละเอียดที่สุดเท่าที่จะได้ สอบถามข้อมูลจากหลายๆ ทาง ในเว็บไซต์ของร้าน โทรถามกับร้านโดยตรง หรือจากคนที่เคยมีประสบการณ์ขอคืนสินค้า 2.เตรียมหลักฐานการซื้อสินค้าไว้ให้ครบถ้วนที่สุด เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ซื้อสินค้าต้องรักษาหลักฐานการซื้อไว้ให้ดีที่สุด โดยเฉพาะใบเสร็จ 3.พยามยามรักษาสภาพของสินค้าที่เราจะนำไปขอคืนให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด รวมถึงเอกสารต่างๆ ของสินค้า หรือแม้แต่หีบห่อบรรจุก็ต้องพยายามรักษาให้คงสภาพเหมือนเมื่อตอนที่ซื้อมาให้มากที่สุด 4.ยิ่งติดต่อขอคืนเร็วมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะเราจะสามารถจัดการสภาพของสินค้าและเอกสารต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และยังทำให้ทางร้านค้าเองสามารถตรวจสอบข้อมูลการซื้อสินค้าของเราได้ง่ายด้วยเช่นกัน 5.ข้อนี้สำคัญ ต้องพยายามรักษาอารมณ์ของตัวเองให้ดี เพราะแน่นอนการไปติดต่อเพื่อขอคืนสินค้า (โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดจากความไม่พึงพอใจในสินค้า) พนักงานที่รับเรื่องจากเราอาจมีบ้างที่ไม่ค่อยยินดีที่จะให้บริการ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด หากเราต้องการให้การติดต่อขอคืนสินค้าของเราประสบความสำเร็จ เราเองต้องเป็นฝ่ายที่พยายามสื่อสารด้วยท่าทีสุภาพ แต่ก็ต้องรักษาสิทธิอย่างเต็มที่ ซึ่งการที่เราเตรียมตัวตามที่บอกไว้ในข้อ 1 - 3 มาอย่างดี ย่อมทำให้เรามีน้ำหนักเพียงพอที่จะได้รับบริการที่เหมาะสม   เงื่อนไขการขอคืนสินค้าของห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก และร้านสะดวกซื้อ ชื่อ ระยะเวลาในการขอคืนสินค้า สินค้าที่ยกเว้นในการขอคืนสินค้า หมายเหตุ โลตัส 30 วัน - เครื่องใช้ไฟฟ้า ต้องแจ้งขอคืนสินค้าภายใน 7 วัน สินค้าอาหารสด และสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ รับเปลี่ยน-คืนได้ก่อนวันหมดอายุ บิ๊กซี 30 วัน ชุดว่ายน้ำ ชุดชั้นใน ซีดี สินค้าลดราคา เครื่องใช้ไฟฟ้า ต้องแจ้งขอคืนสินค้าภายใน 10 วัน สินค้าอาหารสด เบเกอรี่ คืนก่อนวันหมดอายุ ท็อป และ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ 7 วัน - - เซเว่น อีเลฟเว่น 7 วัน - สินค้าที่เสียก่อนวันหมดอายุ แฟมมิรี มาร์ช 7 วัน - สินค้าที่เสียก่อนวันหมดอายุ ฟูดแลนด์ - - สินค้าคุณภาพไม่ดี แม็คโคร 7 วัน - อาหารสดและแช่แข็ง ต้องแจ้งขอคืนสินค้าภายในวันที่ซื้อสินค้าเท่านั้น เซ็นทรัล 14 วัน ชุดว่ายน้ำ ชุดชั้นใน เครื่องประดับ เครื่องสำอาง หนังสือ ไส้ปากกา ผ้า สินค้าลดราคา - โรบินสัน 14 วัน ชุดว่ายน้ำ ชุดชั้นใน เครื่องประดับ เครื่องสำอาง หนังสือ ไส้ปากกา ผ้า สินค้าลดราคา - เดอะ มอลล์ 7 วัน สินค้าลดราคาพิเศษ - เพาเวอร์บาย 7 วัน กล้องถ่ายรูป, กล้องวีดีโอ, โทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์, โน๊ตบุ๊ค, แท็บเล็ต, สินค้าตัวโชว์, สินค้าลดล้างสต๊อก, ทีวีจอใหญ่กว่า 30 นิ้ว สินค้าที่ใช้แล้ว หรือ แกะกล่องแล้วไม่รับคืน มีดังนี้ ตู้เย็น, แผ่นซีดี, วีดีโอเทป, คอมพิวเตอร์ ซอฟแวร์, ฟิล์ม, ถ่านไฟฉาย, ถ่านชาร์จ, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องซักผ้า, เครื่องดูดฝุ่น, ไมโครเวฟ, เครื่องครัวขนาดเล็ก, ผ้าหมึก, อุปกรณ์ทำความสะอาด   ผลการสำรวจบริการคืนสินค้าของห้างสรรพสินค้าและห้างค้าปลีก   ห้างสรรพสินค้า /สาขา สินค้า ราคา ได้ ไม่ได้ วันที่ซื้อ วันที่คืน ง่าย ยาก เพราะ โรบินสัน /รังสิต เสื้อยืดหมีพูห์ 495- /   - 8 เมย.56 11 เมย.56 สยามพารากอน เสื้อยืด ยี่ห้อ Lantona 445-   / ไม่ให้คืนสินค้า ไม่มีเหตุผล 8 เมย.56 11 เมย.56 เทสโก้ โลตัส/สุขุมวิท 50 เสื้อยืดคอกลม 169- /   - 9 เมย.56 10 เมย.56 แม็คโคร/รังสิต เสื้อกีฬา ยี่ห้อ FBT 149- /   - 8 เมย.56 11 เมย.56 เดอะมอลล์/งามวงศ์วาน เสื้อยืดเด็ก ยี่ห้อ Tom&jerry 390-   / ต้องรอเป็นเวลาประมาณ 1 ชม. เนื่องจากทางแคชเชียร์ต้องยื่นเอกสารการทำคืนสินค้าให้ผู้จัดการแผนกต่าง ๆ รวม 3 ท่าน และไม่สามารถคืนเป็นเงินสด จึงคืนมาเป็นคูปองเงินสดราคาเท่าราคาสินค้า ไม่กำหนดวันหมดอายุ แต่ต้องมาใช้ซื้อสินค้าในเครือเท่านั้น 6เมย.56 10 เมย.56 บิ๊กซี /สี่แยกบ้านแขก เสื้อเชิ้ต 359- /   - 10 เมย.56 11 เมย.56 เอ็มโพเรียม เสื้อกล้ามผู้หญิง Giordano 200-   / ต้องรอเป็นเวลาประมาณ 15 นาที เนื่องจากทางแคชเชียร์ต้องยื่นเอกสารการทำคืนสินค้าให้ผู้จัดการเซ็นอนุมัติ แต่ไม่สามารถคืนเป็นเงินสด จึงคืนมาเป็นคูปองเงินสดราคาเท่าราคาสินค้า ไม่กำหนดวันหมดอายุ แต่ต้องมาใช้ซื้อสินค้าในเครือเท่านั้น 10 เมย.56 11 เมย.56 โตคิว       / ไม่ให้คืนเพราะพนักงานอ้างว่าหากให้คืนสินค้า พนักงานต้องจ่ายค่าสินค้าชิ้นนั้นแทน 10 เมย.56 11 เมย.56   เงื่อนไขในการสำรวจ 1.อาสาสมัครจะต้องซื้อเสื้อจากร้านที่ส่วนของทางห้างโดยตรง (ไม่ใช่ร้านที่มาเช่าพื้นที่) 2.ต้องนำเสื้อที่ซื้อมาไปติดต่อขอคืนสินค้า โดยต้องให้เหตุผลในการเปลี่ยนว่าไม่พอใจในสินค้าเท่านั้น เช่น ไม่ชอบสี หรือใส่แล้วไม่ชอบ 3.ติดต่อขอคืนสินค้าโดยที่ สินค้ายังอยู่ในสภาพเดิม และมีใบเสร็จเป็นหลักฐาน

อ่านเพิ่มเติม >