ฉบับที่ 220 ทำไมต้องคัดค้าน ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและตัวแทนชุมชนประชาชนในกรุงเทพมหานคร อาทิ  ชุมชน สุขุมวิท 28 และ 30 ชมรมอนุรักษ์พญาไท และ ชุมชนซอยมหาดเล็กหลวง 1-2 และ 30 ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)  เพื่อขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาทบทวนกฎกระทรวง ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)   ให้มีหลักเกณฑ์และมาตรการที่ควบคุมอย่างเข้มงวด และมีบทกำหนดโทษขั้นสูงหากมีการฝ่าฝืนกฎหมายทั้งผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการกระทำผิดและขอให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาในปัจจุบันทั้งระยะสั้นและในระยะยาว ดังที่ข่าวกระแสหลักได้เสนอไปแล้วนั้น ทีมงานฉลาดซื้อขอพามาอ่านความคิดของตัวแทนชุมชนท่านหนึ่งกันแบบเจาะลึก        คุณมานิต ศรีวิชภูมิ  เป็นตัวแทนชุมชนสุขุมวิทชอย 28 กับ 30 เล่าว่า พวกเขารวมกลุ่มกันเนื่องจากมีปัญหาการสร้างตึกสูง และคอนโดในพื้นที่ชุมชน        เรารวมตัวเพราะว่าเราเจอประเด็นเรื่องการสร้างคอนโด    ครั้งแรกที่รวมตัวกันน่าจะ 3 ปี ได้แล้ว    เพราะเกิดเหตุว่ามีคอนโดมาสร้าง แล้วก็พบว่าคอนโดที่สร้างเริ่มทำให้มีปัญหาในซอยจากผังเมืองอันเก่า พบว่ามีการใช้ใบอนุญาตผิดประเภท มีการไม่ตรงไปตรงมาของเจ้าหน้าที่รัฐ เรารวมตัวกันเพราะมันผิดปกติ มีการอนุญาตให้สร้างในที่ซอยเล็ก มีข่าวว่าจะมีการสร้างตึกในซอยแคบ  8 เมตร 10 เมตร สร้าง 30 ชั้น ดูแล้วว่าไม่ได้แล้ว ก็เลยเกิดการรวมตัวกันแล้วก็ไม่ยอม  รวมตัวกันโดยคนในพื้นที่    ที่อยู่กันมาดั้งเดิม ประเด็นต่อมาที่สำคัญก็คือ ขบวนการแบบนี้มันจะผลักดันให้เจ้าของที่ดินเดิม หรือที่อยู่กันมาหลายชั่วคน  ไม่มีที่อยู่ จะต้องออกไปจากพื้นที่  ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ามันไม่เป็นธรรมต่อเจ้าของที่ดินเดิม จะอ้างว่าได้ที่ดินราคาสูงขึ้น ซึ่งมันไม่เกี่ยวมันเป็นปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ คุณไม่สามารถเอาปัญหาเศรษฐกิจมาตอบคำถาม มาเป็นข้ออ้างและทำให้คุณสามารถละเมิด หรือทำอะไรก็ได้  แต่ละคนมีทัศนคติต่อเรื่องที่ดินไม่เหมือนกัน   อย่างที่ดินที่บ้านผม  อยู่ต่อกันมาสองสามชั่วคน   เป็นของทวด เพราะฉะนั้นการกระทำแบบนี้มันไม่ถูกต้อง ในกระบวนการพัฒนาเมือง มันต้องไม่ไปละเมิดคนใดคนหนึ่งหรือว่าจะต้องได้รับการเห็นชอบยินยอมสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิด        วันนี้ที่มายื่นหนังสือก็เพราะเห็นว่าผังเมืองอันนี้เขาไม่ได้มาถามเราตอนที่เขาร่าง เท่าที่ฟังดูเหมือนเขาไปถามกันในกลุ่มเอง  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสายอาชีพนักลงทุนต่างๆ คือเป็นพวกนักพัฒนา ซึ่งมันไม่ใช่   ผมได้ยินพวกคนจนเขามาสะท้อนให้ฟังว่า “เขาเป็นคนจนเขาก็ไม่เคยได้ถูกถามว่าจะให้พวกเขาไปอยู่ไหน” ซึ่งผมคิดว่าการพัฒนาแบบทิ้งคนใดคนหนึ่งมันไม่ถูก แล้วต้องให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบกรับภาระไป แล้วนักพัฒนาที่ดินได้เงินไปก็ไม่ได้อยู่ที่นั่น ผมสู้มาผมเห็นมาเยอะ   การที่คุณพัฒนาแบบนี้คุณอยู่ในที่ดินหรือเปล่า  คุณก็ไม่ได้อยู่คุณสร้างปัญหาเสร็จแล้วคุณเอาเงินไปไหน คุณเอาเงินไปเข้าบัญชีคุณ แล้วคุณก็ผ่องถ่ายออกไป บางคนมีร่วมลงทุนกับต่างประเทศ เขาได้เงินไปเขาก็ไปอยู่ประเทศเขา แต่เราที่อยู่ที่นี่ เราจะเผชิญกับปัญหา อันนี้คือปัญหาหลักของเมือง ซึ่งการพัฒนาเมืองที่ไม่สมดุล ไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ แล้วจะพัฒนาไปเพื่ออะไร คุณอ้างเรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวมันไม่ถูก เศรษฐกิจก็ไม่ได้นำความสุขมาให้กับทุกคน คุณพัฒนาเศรษฐกิจแต่คุณกลับสร้างความทุกข์ให้กับคนจำนวนไม่น้อย        ผมคิดว่าเป้าหมายหลักของการพัฒนาที่ กทม. พยายามจะใช้คำว่าเมืองสร้างสุข มันไม่ใช่สโลแกน มันหลอกลวง มันเป็นการโกหกหลอกลวงตัวเอง เพราะว่ากระบวนการที่ เขาทำก็ทำเฉพาะกลุ่มทุน กลุ่มที่มีอำนาจทางด้านการเงินทุนทรัพย์ เข้ามามีบทบาทในการกำหนดว่าประเทศควรพัฒนาไปอย่างไร ซึ่งมันไม่ใช่ ประเทศเป็นของทุกคน เมืองเป็นของทุกคน ควรจะคนทุกภาคส่วน คนทุกเพศทุกวัย ควรจะมีเสียงมีสิทธิ คอนโดต้นตอปัญหานั้นสร้างเสร็จหรือยัง        เขาหยุดสร้างไป มันมีสองคอนโดที่เราสู้ มีคอนโดที่ทำ EIA เราก็สู้โดยใช้ EIA ที่จะสร้าง 30 ชั้น เป็นกลุ่มของเคพีเอ็น อันนี้เราก็หยุดเขาได้คัดค้านได้ แต่สิ่งที่เขาทำก็คือเอาที่ดินนี้ไปขายต่อให้นายทุนกลุ่มอื่น ซึ่งนายทุนกลุ่มอื่น นายทุนกลุ่มใหม่ เขาก็รอผังเมืองใหม่มา เขาถึงจะสร้างเป็นการซื้อไว้เก็ง  มีอีกอันคือคอนโดเก่าซึ่งไม่ได้เก่ามาก เพิ่งสร้างเสร็จแต่ใช้ใบอนุญาตเก่า สร้าง 18 ชั้น ซึ่งใช้ใบอนุญาตเก่าที่ไม่ต้องมีการทำ EIA ไม่ต้องทำเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม  อันนี้เราฟ้องร้อง ตอนนี้อยู่ในศาลปกครอง เพราะเราบอกว่าทำไม่ได้ ที่จะใช้ใบอนุญาตตั้งแต่ปี 35 ปรากฏว่าเขาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รีบเปิดใช้อาคาร ทำให้มีการเปิดใช้อาคารแล้ว และเราก็ไม่สามารถที่จะหยุดการใช้อาคารของเขาได้ เขาสร้างเสร็จแล้ว เปิดมามีผลกระทบเรื่องน้ำท่วม เรื่องไฟตก เริ่มตั้งแต่เขาสร้างแล้ว เรื่องน้ำท่วมแต่ก่อนเป็นที่ดินเปล่าฝนตกก็รับน้ำ พอเขาสร้างเสร็จน้ำไม่มีที่ไป น้ำก็ลงมาที่ถนน ลงมาในชุมชน คือถ้าเขาปฏิบัติตามกฎหมาย อาคารเขาก็จะไม่สูง พื้นที่คอนกรีตก็จะน้อย ก็จะมีพื้นที่ๆ จะปล่อยให้น้ำซึมลงดินได้มากขึ้น คือเป็นประเด็นที่ชัดเจน ในส่วนของ 30 ชั้นเราก็คิดว่าให้สร้างไม่ได้แล้ว เพราะปัญหาเรื่องจราจรเอง สาธารณูปโภคไม่เพียงพอ ถึงแม้เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าพอ ก็ไม่พอ “เขาก็จะพูดเอาใจช่วยนายทุน แต่เราชาวบ้าน เราอยู่ ฝนตกปุ๊บไฟดับ ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยเป็น ไฟดับคือไฟไม่พอ แล้วคุณจะมาเพิ่มการใช้ไฟอีก อีก 30 ชั้นอีก 200 ห้อง 200 ครอบครัวคุณจะเอาไฟที่ไหนมาใช้   คุณเอาหมู่บ้านมาอยู่แนวตั้งมันไม่ได้  การพัฒนาโดยขาดการคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง  เราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่นี่ไม่ใช่เรียกว่าการพัฒนา เรียกว่าการแสวงหาประโยชน์”  เหตุที่มายื่นหนังสือในวันนี้        พอเราทราบข่าวว่าผังเมืองใหม่จะเปลี่ยนพื้นที่จากสีน้ำตาลเป็นสีแดง  ก็คือจะปล่อยผีให้สร้างตึกสูงขึ้นมาได้ เราก็เริ่มไม่สบายใจ เพราะว่ามีคอนโดที่เราสามารถหยุดยั้งเขาได้  ที่เขาพยายามจะสร้างสูงเกินที่กำหนด ซึ่งควรจะเป็น 8 ชั้น แต่ว่าจะสร้าง 30 ชั้น คือเขาจ้องอยู่  วันนี้เขาก็หยุดโครงการ เขาก็รอผังเมืองใหม่ออกมา ให้ถูกกฎหมายแล้วเขาก็จะสร้างได้เต็มที่ ทีนี้จาก 30 ที่เขาวางแผนไว้ก็จะสูงกว่านั้น เพราะว่าถ้าตามแผนนี้เขาก็จะสร้างสูงได้ไม่จำกัดถ้าเป็นสีแดงนี่ก็จะเป็นปัญหา เพราะว่าปกติสภาพการจราจรสุขุมวิทมันก็ติดมาก ขึ้นชื่อว่าเป็นเขตที่รถติดมากเราคิดว่านี่คือประเด็นหลัก ที่เราไม่เห็นด้วยที่จะมาเติมให้พื้นที่ในกรุงเทพฯ มันหนาแน่นขึ้น ซึ่งมันก็หนาแน่นอยู่แล้ว เราก็เลยกลับมาดูว่าผังเมืองนี้โดยภาพรวมแล้ว ถ้ายอมเปิดให้ขยายเส้นสีน้ำตาลมาเป็นสีแดง เท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสในการเติมความหนาแน่นเข้าไปอีก จากที่ของเดิมก็แย่อยู่แล้ว ประเด็นที่จะตามมาอีกอันก็คือ ประเด็นของเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเราเห็นว่ามันมีช่องโหว่และมีการคอรัปชัน ดูแล้วทำให้กลับไปคิดว่าเป้าประสงค์ของเขาคืออะไร อดถามไม่ได้ว่าการที่เราปล่อยเส้นสีแดง แล้วก็ไม่ได้ควบคุม ให้สร้างกันได้เต็มที่ในซอยเล็ก ซอยน้อย        ผมคิดว่าประโยชน์มันจะเกิดกับใคร เกิดกับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มากกว่าประชาชนส่วนน้อย  แล้วก็ทิ้งปัญหาทั้งหมดให้กับประชาชนธรรมดา ซึ่งไม่มีอะไรที่จะไปต่อรอง   ซึ่งก็ชัดเจนว่าเส้นสีแดงมันไม่ได้ถูกใช้อย่างมียุทธศาสตร์  คือไม่ได้ตอบสนอง ถ้าจะเอาเส้นสีแดงไปใช้ในส่วนของการส่งเสริมให้ความเจริญกระจายออกไปข้างนอก อันนั้นน่าจะเป็นประเด็นที่มีประโยชน์กว่า ควรกระจายออกไป ไม่ควรกระจุกตัวอย่างนี้ เพราะปัญหาเดิมมันไม่ได้แก้ และแก้ไม่ได้ด้วย เพราะด้วยโครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างทางหน่วยงานราชการเองก็เป็นปัญหาอยู่ ยังไม่ได้บวกเรื่องของการคอรัปชัน การไม่ซื่อตรงต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ๆ บังคับใช้กฎหมาย คิดไหมว่าการยื่นหนังสือจะช่วยเปลี่ยนอะไรได้        คือเรามาสะท้อนให้ผู้ออกแบบให้เขามองในหลายๆ มิติ คือคำนึงในมิติต่างๆ ที่เราได้สะท้อนไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับฟัง การมีส่วนร่วมของประชาชน ประเด็นเรื่องประชากรแฝง ชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในรูปของคอนโด หรือแม้แต่เรื่องของภาษี ซึ่งเราต้องโดนแน่ๆ เพราะถ้ามาประกาศอย่างนี้ราคาที่ดินก็จะขึ้น เราก็เคยอยู่ดีๆ เราไม่เกี่ยวอะไรจากประโยชน์ของเขา เราก็ต้องจ่ายภาษีที่สูงขึ้น แล้วก็ตามมาด้วยเรื่องอื่นๆ แน่นอน เรื่องสาธารณูปโภคมันไม่พออยู่แล้ว โดยเฉพาะที่จะออกกฎใหม่ที่จะลดจำนวนที่จอดรถยนต์ในคอนโดเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ มันไม่สอดคล้องกับสังคมไทย สังคมไทยเป็นสังคมบูชารถ มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงเลย คุณให้ 100 เปอร์เซ็นต์เขายังไม่พอ เพราะห้องหนึ่งมีมากกว่าหนึ่งคัน ทุกวันนี้แต่ละคอนโดก็มีปัญหาเรื่องนี้ แล้วก็ทะเลาะกัน คุณจะทำปัญหาเพิ่มขึ้น ตัวนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ ถ้าคุณจะจำกัดรถยนต์ เช่น คุณมีมาตรการในเรื่องภาษี รถยนต์ภาษีต้องสูงขึ้น คุณจะต้องมีแผนผังพื้นที่ในการจอดรถด้วยว่าซื้อแล้วจะไปจอดที่ไหน ไม่ใช่ว่าเอาใจมาตรการนายทุน อุตสาหกรรม ทุกวันนี้ไม่รอดอยู่แล้ว ย้ายฐานการผลิตไปหมดแล้ว หลังจากวันนี้ วางแผนอย่างไรต่อไป        คงต้องติดตามแล้วก็รวมกลุ่มผ่านชุมชนต่างๆ ที่ประสานงานโดยมูลนิธิ  คิดว่าเป็นจุดแข็ง เป็นจุดที่ดี  แล้วก็ไปทุกที่ ทุกเวที แล้วก็แสดงให้รัฐเห็นว่า เราไม่ยินยอม เราไม่เห็นด้วยในระดับนี้ จนกระทั่งคัดค้านไปจนถึงที่สุด เมื่อถึงที่สุดของกระบวนการ แล้วมีการไปอนุญาตหรือไปเซ็นโดยมหาดไทย เราก็จะไปถึงศาลปกครองซึ่งขอให้ยับยั้งการออกกฎกระทรวง เขาเรียกกฎกระทรวงซึ่งมันมีผลกระทบกับมหาชนมาก เพราะว่ากฎหมายที่มีผลกระทบกับมหาชนขนาดนี้กับไม่ผ่านสภา กลับไปอยู่กับกระทรวง  ผมคิดว่ามันมีผลกระทบมากแต่ทำไมจะให้แค่ระดับรัฐมนตรีเซ็นผ่านแค่นั้นหรือ น่าจะเป็นระดับประเทศ เพราะว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผลระทบต่อมหภาค เศรษฐกิจและประชากรที่อยู่ในนี้เป็นหนึ่งในสามของประเทศ ดังนั้นผมคิดว่าอะไรที่มีผลกระทบมากๆ จะต้องมีการถกเถียงกันในระดับสภา ทำไมเมืองใหญ่อื่นๆ ถึงทำได้ แต่ประเทศเราทำไม่ได้        ต้องไปดูว่าประเทศที่เขาจัดการได้ เขามีความเข้มแข็งในการจัดการบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายเขาศักดิ์สิทธิ์ เขาบังคับใช้ได้ เอาจริง การคอรัปชันน้อย ดังนั้นที่เราเห็นว่าเขาทำได้และอยากทำเหมือนเขานั้น เราไม่สามารถทำได้หรอก เราจะทำแย่กว่าเพราะการบังคับใช้กฎหมายเราต่ำมากต้องแก้  กทม เอง ปัญหาในวันนี้ก็คือตัว กทม  ผู้ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายกลับปล่อยปละละเลย หรือมีส่วนรู้เห็นในการที่จะให้เมืองมันพัฒนาไปอย่างบิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามผัง อย่างที่บอกคือวันนี้ที่เรามาเราถามว่าแผนเดิมของปี 56 ผังเดิมมันมีความบกพร่องตรงไหน คุณมีข้อศึกษาไหม คุณก็ไม่มี แทนที่จะเริ่มใหม่ อันเก่าคุณพัฒนาเต็มศักยภาพหรือยัง อันเก่าคุณยังทำไม่เต็มที่แล้วคุณยังมาขยับอีกเพื่ออะไร นี่มันก็คือการตอบโจทย์นายทุนทั้งนั้นอยากฝากถึงคนที่มีผลกระทบคนอื่นๆ หรือผู้อ่านอย่างไร        คือผมคิดว่าวันนี้เราจะปล่อยปละละเลยให้สิ่งต่างๆ ผ่านไป โดยที่เราไม่ใส่ใจมันคงไม่ได้อีกแล้ว เพราะว่าการที่เราปล่อยให้คนอื่นเขาละเมิดเรา เรายินยอมให้เขาทำ แล้วเราก็บอกว่าเราไม่อยากไปยุ่ง มันเลยทำให้ปัญหาลุกลามใหญ่โต ถ้าทุกคนทำหน้าที่คนละเล็กละน้อย แบ่งเบาภาระกันไป  ก็จะไม่ต้องมีคนใดคนหนึ่งทำหนัก แล้วท่านจะเดือดร้อนจนกระทั่งไปสู่วิกฤต เช่น ถ้า ทุกคนช่วยกันปัดกวาดขยะในบ้านและหน้าบ้านตัวเองมันก็จะไม่มีขยะสะสม จนกระทั่งทำให้บ้านเมืองดูไม่ดี ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือก็จะไม่มีปัญหาที่จะต้องมาทำแบบนี้ เพราะฉะนั้นจะบอกว่าขยะหน้าบ้านไม่ใช่ของฉัน ฉันจะทำเฉพาะในบ้านตัวเอง ในท้ายที่สุดขยะหน้าบ้านของคุณมันก็จะมาเป็นปัญหาของคุณด้วย เพราะคุณออกจากบ้านคุณก็จะเจอขยะ เมื่อเราต้องอยู่กันเป็นชุมชนเราก็ต้องดูแลชุมชนด้วย เราอย่านิ่งดูดาย เพราะถ้านิ่งดูดายผลักภาระให้คนอื่นที่เขาใส่ใจมันไม่ค่อยยุติธรรม        การแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกันมันจะทำให้เราทำให้ชุมชนเดินหน้าไปด้วยกันได้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดการขาดสมดุลเพราะความไม่ใส่ใจของเรา ที่เราไปดำเนินการตามที่ต่างๆ ก็เป็นเงินส่วนตัว การที่เราออกมาเคลื่อนไหว เราใช้เงินตัวเองไม่มีใครมาว่าจ้าง เราคิดว่าถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีใครทำให้เรา บ้านเราเองถ้าเราไม่ดูแลใครจะมาดูแลให้เรา “เราต้องช่วยกัน คืออย่าไปคิดว่าเวลาคนออกมาเรียกร้อง อย่าไปมองเชิงลบ ต้องดูเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ว่าเขามีปัญหาอะไร บางคนเขาออกมาเพราะปล่อยไปแบบนี้ไม่ได้ เราปล่อยให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้ไม่ได้ถ้าเราทุกคนนิ่งดูดายมันก็ไม่ไม่รอด อย่าไปคิดอะไรเชิงลบ มันไม่สร้างสรรค์และมันก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ ยิ่งถ้าเขามาทำให้เรา ถ้าเราช่วยได้ก็ส่งเสริมเขา เป็นกำลังใจ สนับสนุนได้ทางใดได้ก็ทำ”

อ่านเพิ่มเติม >