ฉบับที่ 140 คะน้าหมูกรอบ

3 กันยายน 55 – ฉันออกสำรวจตลาดนัดเช้าวันจันทร์ด้วยระยะเวลาอันสั้น  เดินวนตลาดครบรอบ ได้กับข้าวสด ผลไม้ และมะดันแช่อิ่ม  และผ่านตรงจุดที่จำเนียรนั่งขายผัก ผลไม้อยู่  วันนี้เธอกับเพื่อนอีก 3 คนนั่งจัดผักในกระจาดอยู่พอดี "เกี่ยวข้าวแล้ว ได้แค่ 30 ตันเอง มันเป็นข้าวเบา กข. 51 น่ะ ไวเลยได้น้อย  แทบไม่ได้พักดินเลย ไม่เหมือนต้นปี นั่นนาดีเพราะพักนานน้ำท่วม 35 ไร่ได้ 35 ตัน เที่ยวนี้ได้ ตัน 10,800 บาท  มันเปียกน้ำ โรงสีเขาวัดความชื้นเที่ยวเดียว  สู้ ของพี่สำไม่ได้ นาข้างกัน   ข้าวแบบเดียวกันแต่ไม่ล้มเหมือนเรา เกี่ยววันเดียวกันเขาได้ 12,000 บ.  ของเรามันล้มจมน้ำ ฝนมันตกก่อนวัน  พอรุ่งขึ้นก็เกี่ยวขายกันเลย โรงสีมันสุ่มจิ้มลงไปเที่ยวเดียวมันกดราคาเลย หาว่าความชื้น 34 % ยังดีว่า เกี่ยวทันน้ำ ไม่งั้นคงแย่กว่านี้ แต่ขายที่สุพรรณราคาดีกว่านี้หนึ่งพัน"  สาวชาวนาสุพรรณ ที่วันว่างจากนาจะผันตัวมาเป็นแม่ค้าตอบฉันด้วยสำเนียงอันเป็นเอกลักษณ์ เมื่อฉันถามถึงนา 30 ไร่ ที่ เธอว่าเพิ่งเกี่ยวไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา "แหม ก็ฟางแทบจะยังไม่ทันเน่าเลยต้องปลูกอีกรอบแล้ว ไม่งั้นหนีน้ำไม่ทัน" เพื่อนเธอที่ขายผักอยู่ข้างกันเสริม"   ปีที่แล้วทั้งน้ำทั้งฝนมาไวกว่าปกติราว 40 วัน  พอสิ้นเดือนสิงหาคม น้ำก็ท่วมบ้านริมแม่น้ำ และถูกปล่อยลงทุ่งตั้งแต่ต้นกันยายน  แต่ช่วงหน้าแล้งและขาดน้ำนี่สิ  นาที่อยู่ปลายน้ำหากจะทำนาหนที่ 2 ก็ต้องลงทุนเพิ่มกว่านาที่อยู่ต้นน้ำ   บางพื้นที่ทำนาได้แค่นาปรังหนเดียวก็มี  บางพื้นที่ทำแต่ข้าวปีเพราะอาศัยแต่น้ำฝน ครั้นพอเจ้าหน้าที่กรมชลประทานขอให้นาต้นน้ำระงับการใช้น้ำเพื่อปลูกข้าวรอบ 3 เพราะจะผันน้ำมาให้ด้านล่างทำนาบ้าง  ชาวนาต้นน้ำก็มักไม่สละสิทธิ และตั้งคำถามกลับเอากับเจ้าหน้าที่รัฐจนอึ้งว่า “หลวงจะประกันได้ไหมว่าจะมีน้ำให้เขาทำได้พอเหมาะพอดีกับการทำนา ปล่อยมาตามเวลาเป๊ะๆ น่ะ?” ปัญหางูกินหางของการจัดการน้ำโดยระบบเขื่อน ที่หน้าแล้งขาดน้ำ และหน้าน้ำปล่อยน้ำ  แล้วปล่อยให้ชาวนาไปลุ้นเอาทั้งค่าข้าวที่จะขายได้ กับภัยน้ำ ภัยแล้ง และภัยต่างๆ   เพราะเขาต้องความเสี่ยงกับภัยสารพัด    หลักประกันเดียวของชาวนาคือพึ่งตัวเองมาโดยตลอด ด้วยการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต/ไร่ และผลิตให้ได้จำนวนรอบการปลูกมากที่สุด ฉันจึงเห็นว่าน่าจะดี ถ้าระบบจำนำข้าวที่จะปรับปรุงใหม่ในปีนี้จะเปิดช่วงประกาศรับจำนำข้าวให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่เกี่ยวมากขึ้น และให้สิทธิชาวนาได้เข้าโครงการจำนำได้ปีละ 2 หน เพิ่มมาตรการป้องกันการทุจริตในโครงการจำนำข้าว เพิ่มอำนาจและกลไกการต่อรองของชาวนา แล้วให้กลไกตลาดทำงานตามที่รัฐเข้าไปแทรกแซง และถ้าหากว่ารัฐหรือเราอยากให้ชาวนาปลูกข้าวคุณภาพดี   รัฐควรมีนโยบายเรื่องข้าวที่หลากหลายกว่านี้สำหรับชาวนาที่มีระบบการผลิตที่แตกต่างกัน ราคาข้าว  ถูก/แพง  จำนำ/ประกันราคา ชาวนาก็จะปลูกข้าวให้มากรอบ/ปีที่สุด   บางคนเหลืออดเหลือทนจริงๆ ก็ยังจะเสี่ยงปลูก 75 วัน ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้ข้าวที่ขายจะต่ำลงไปอีก   เพราะน้ำหนักข้าวที่เบาตามอายุปลูก แถมข้าวเป็นท้องไข่ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนรับซื้อที่ลานข้าวกดราคาลงไปอีก เพราะปัจจัยเรื่องน้ำต่างหากที่ควบคุมรอบการปลูกข้าว   รัฐต้องแก้ไขระบบการจัดการน้ำให้ดีกว่าเดิม   หันมาดูปัจจัยเงื่อนไขที่จะช่วยอุดหนุนให้พวกเขาผลิตในระบบการปลูกข้าวคุณภาพ   และ ...  อีกมากมายที่รัฐต้องการเปิดใจและรับฟังเสียงของชาวนาที่ถูกกลไกการผลิตข้าวกดดันขูดรีดโดยตลอดจนบางรายอย่างจำเนียรและพี่น้องต้องหารายได้เสริมนอกอาชีพด้วยการค้าขาย  และชาวนาอีกตั้งมากมายที่ไม่อยากเป็นแล้วชาวนาพอเพียง อ้อ!  เกือบลืมแหนะ   ว่ารัฐก็ต้องฟังเสียงของผู้บริโภคที่เข้าใจชาวนา ที่ยอมจ่ายในราคาที่แพงให้กับชาวนาที่ต้องขูดรีดแรงงานตัวเอง(หรือจ้างคนงานเพิ่ม)เพราะเทคนิคการผลิตที่ซับซ้อนขึ้น  อีกทั้งยังต้องอดทนรอการฟื้นตัวเข้าสู่สมดุลธรรมชาติที่ใช้เวลานานกว่าระบบการผลิตข้าวกระแสหลัก ที่ชาวนาไร้สังกัดและทุนต่ำ หรือชาวนาเช่าที่ทำตามเงื่อนไขเหล่านี้ได้ยาก   ก่อนวันสุดท้ายที่ต้องส่งต้นฉบับ  ข่าวโทรทัศน์  หนังสือพิมพ์  และออนไลน์ประโคมเรื่องน้ำท่วม ข่าวหนึ่งที่เห็นเป็นข่าวที่ทางการจะปล่อยน้ำเข้าทุ่งเพื่อบรรเทาระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ 3 – 4 วัน  นั่นเป็นชะตากรรมของชาวนาในทุ่งรอบเขตเมืองใกล้กรุงเทพฯ ที่เสี่ยงภัยกันทุกปี   ดีว่าปีนี้ชาวนาผักไห่โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้าวกันไปก่อนหน้านี้แล้ว ช่วงฝนฉ่ำที่ฝนตกต่อเนื่องกันหลายวัน   เย็นนี้ฉันรอกินข้าวต้มร้อนๆ กับคะน้าหมูกรอบไฟแดง ที่ต้องผ่านหลายขั้นตอน ระหว่างรอกิน   ฉันเห็นและชอบที่เพื่อนใน FB แชร์ คำเท่ห์ของ บารัก โอบามา พูดไว้ที่ประชุมพรรคเดโมแครต เมื่อ 6 กันยายนนี้  “คุณไม่ได้เลือกผมมาเพื่อให้มาบอกในสิ่งที่คุณอยากฟัง คุณเลือกผมเพราะต้องการให้ผมบอกความจริง ความจริงคือเราต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าเราจะแก้ปัญหาที่สะสมมาเป็นหลายศตวรรษได้” ฟังนักการเมืองบ้านเขาพูดเขาท่า  นึกถึงว่าถ้านำเทียบกับเมืองไทย ปัญหาชาวนาที่สะสมไว้ก่อนปี 2475 กลับมาที่วิธีทำ ‘หมู (สามชั้น) กรอบ’ กินกันดีกว่า แม่เอาหมูสามชั้นที่ต้มพอสุกแล้วใส่กระจาดไม้ไผ่ เอาส้อมจิ้มหนังหมู  ทาเกลือให้ทั่วชิ้นแล้วล้างด้วยการบีบน้ำมะนาวใส่ จึงนำผึ่งแดดที่เพิ่งโผล่มาหลังม่านฝน   ดีว่ามันแห้งพอหมาดแล้วฝนก็ตั้งท่าจะตกลงมาอีกรอบ   จากนั้นจึงเห็นแม่เอาชิ้นหมูไปทอดในน้ำมันบนเตาไฟปานกลางแค่ให้สุกแล้วดับเตา  ปล่อยให้ชิ้นหมูสามชั้นนั้นนอนจมน้ำมันจนทั้งน้ำมันและชิ้นหมูเย็น  แล้วแม่จึงเริ่มกรรมวิธีการทอดอีกรอบโดยตักชิ้นหมูขึ้น ตั้งกระทะไฟกลางจนน้ำมันร้อน  แล้วทอดให้ชิ้นหมูสุกนิ่มเป็นหมูกรอบ 3 ชั้นอันแสนโอชะ แหมพิถีพิถันและรอกันนานหน่อยค่ะ  เพราะกว่าจะได้หั่นชิ้นหมูกรอบให้ขนาดพอเป็นคำก่อนจะเอาไปผัดไฟแดงกับคะน้านั่น หมู 3 ชั้น ต้องผ่านร้อนมาถึง 3 – 4 ที  ร้อนซ้ำซากแบบนี้แหละ ถึงจะได้ของอร่อยเต็มคำไว้ให้เราแม่ลูกได้กินกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point