ฉบับที่ 256 คอนโดฯ สร้างไม่เสร็จตามกำหนด ผู้บริโภครวมพลังขอยกเลิกสัญญา ทวงเงินคืน

        ...ผ่อนดาวน์จนครบแล้ว แต่คอนโดฯ ก็ยังสร้างไม่เสร็จ พอติดต่อไปขอให้คืนเงิน ก็ติดต่อไม่ได้เลย อยากได้เงินคืนมาก ทำยังไงดี...         ...ไปฟ้องศาลคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อขอเงินดาวน์ทั้งหมดคืน จนบริษัทส่งตัวแทนขอไกล่เกลี่ยผ่อนชำระ 4 งวด แต่หลังจากนั้นกลับไม่เคยได้รับเงิน แถมติดต่อใครไม่ได้เลยในทุกช่องทาง...         นี่คือตัวอย่างเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้เสียหาย ในกรณีคอนโดฯ สร้างไม่เสร็จตามกำหนดที่ปรากฎเป็นข่าวฮือฮาบนหน้าสื่อเมื่อไม่นานมานี้ จนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งแม้บริษัทเจ้าของโครงการจะออกมาชี้แจงแสดงความรับผิดชอบแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ตามมา กลุ่มผู้เสียหายส่วนหนึ่งจึงหมดความอดทนที่จะรอคอยอย่างไร้ความหวังอีกต่อไป         จนกระทั่งเมื่อ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มผู้เสียหายนับร้อยคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม 4 ปีแต่สร้างไม่เสร็จตามสัญญานี้ ได้รวมพลังเข้าร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยดำเนินการทางกฎหมายกับ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างคอนโดฯ 5 แห่งในย่านต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ที่สร้างไม่เสร็จตามกำหนดดังที่เป็นข่าว โดยผู้เสียหายทุกคนเห็นตรงกันว่า “ต้องการยกเลิกสัญญา” และ “เรียกเงินคืนทั้งหมด”         ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมกันได้ข้อสรุปว่า เบื้องต้นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะดำเนินการในขั้นตอนเชิญผู้ประกอบการมาเจรจาไกล่เกลี่ย และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือในการแก้ปัญหาในครั้งนี้ แต่หากไม่มาตามนัดจะยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี-อายัดทรัพย์ เพื่อนำเงินมาเฉลี่ยคืนให้ผู้เสียหายต่อไป         ในวันนั้น  “ฉลาดซื้อ” ได้คุยกับ คุณมนตรี เหมวิจิตร ซึ่งเป็นผู้เสียหายหนึ่งในกลุ่มนี้ เขาได้เล่าถึงมูลค่าความเสียหายของตนและครอบครัวว่า         “ผมและครอบครัวได้ซื้อคอนโดฯ โครงการของบริษัทนี้ที่พหลโยธิน ทั้งผม ภรรยาและครอบครัว ซื้อรวมกัน 5 ห้อง เราก็ทำสัญญาจ่ายเงินจองแล้วก็ผ่อนงวดดาวน์ตามปกติ ส่วนของผมและภรรยา จ่ายครบ 36 งวดแล้ว ส่วนของลูกชายยังไม่ครบจ่ายไปได้เพียง 26 งวดเท่านั้น โดยรวมแล้วผมกับครอบครัวจ่ายเงินไปแล้วคิดเป็นมูลค่าโดยประมาณ 2,299,000 บาท” ซื้อคอนโดฯ โครงการนี้ถึง 5 ห้อง         ตอนนั้นเหตุผลที่ซื้อก็เพราะเราเชื่อมั่นในโครงการฯ เนื่องจากบริษัทก็เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์เราเชื่อว่าบริษัทสามารถที่จะดำเนินการจนลุล่วงได้ เมื่อเกิดปัญหาก่อนหน้านี้ได้ไปร้องเรียนเรื่องที่ใดมาบ้าง         ผมเองยังไม่ได้ไปสักที่เลย เนื่องจากว่าในสัญญานั้นครบกำหนดคือสิ้นธันวาคม 2564 แล้วในสัญญาก็เขียนว่าสามารถจะต่อสัญญาได้อีก 1-2 เดือน ก็ประมาณมกราคม กุมภาพันธ์ (2565) ประกอบกับเรื่องของโควิด-19 เข้ามา ผมเลยยังไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ แต่ผมเองก็ได้โทร.เข้าไปที่บริษัท 3 - 4 ครั้งได้รับคำตอบทุกครั้งว่า “เดี๋ยวจะติดต่อกลับ” พอผ่านมาถึงเดือนมีนาคม เมษายนแล้วเลยโทร.ไปอีกที มีคนรับสายนะแต่บอกว่าจะนัดคุยเจรจาแล้วก็เงียบหายไปอีก เรามองว่าทำอย่างนี้ไม่ได้นะไม่เหมาะสมเลย เนื่องจากบริษัทนี้ก็เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เราเคยเชื่อมั่นว่าบริษัทต้องสามารถที่จะทำตามกฎของตลาดด้วยคือเรื่องของจรรยาบรรณตามมาตรฐานตลาดหลักทรัพย์ คือสิ่งที่เรามองว่าเขาควรจะต้องทำให้ถูกต้อง ทำไมจึงตัดสินใจรวมกลุ่มกันมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ผมรู้สึกว่าคงไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้ว เพราะบริษัทนี้คงไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามสัญญาได้ แล้วเราเชื่อมั่นในมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าจะเป็นตัวแทนของผู้บริโภคเพื่อรักษาสิทธิอันชอบธรรมของเรา เงินทุกบาททุกสตางค์ของพวกเราทุกคนที่มาร้องเรียนนี้ เราก็อยากจะได้คืนเนื่องจากว่าเราก็ผิดหวังที่ไม่ได้ห้องในโครงการแล้วแต่ทำไมไม่คืนเงินเราล่ะ นั่นคือสิ่งที่อยากให้มูลนิธิฯ เข้ามาช่วยเหลือพวกเรา หวังว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการทั้งหลายได้ปฏิบัติตามสัญญาอย่างถูกต้องเหมาะสมและยุติธรรม เราเห็นว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่เราจะอาศัยหน่วยงานสาธารณกุศลนี้ช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาเรียกร้องสิทธิ คิดว่าการที่เรามีปัญหาแล้วรวบรวมกันมา จะดีกว่าที่เราใช้สิทธิตรงนี้คนเดียวไหม         โดยส่วนตัวเท่าที่ผมดู หลายคนใช้สิทธิคนเดียวสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ขึ้นอยู่กับความหนักเบา และความรุนแรง ในกรณีนี้ผมเห็นหลายๆ คนก็ไปสคบ.(สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) กว่าจะเจรจากว่าจะไกล่เกลี่ยก็ใช้เวลา 3 - 4 เดือนกันเป็นแถว ถ้าคนที่ไปยื่นสคบ. เมื่อเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม พอถึงมิถุนายนที่พวกผมมาวันนี้ก็ไม่ต่างกัน ผมว่าถ้าไป 1 คนที่ สคบ. กว่าจะเจรจาส่งตัวแทนมาขอเลื่อนนัดก็หมดเวลาแล้วครับ ผมเชื่อว่าพลังของมดตัวน้อยๆ จากหลายๆ คนที่มารวมกันวันนี้จะเป็นแรงผลักดันอันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ผู้ประกอบการหันมาใส่ใจในสิทธิของผู้บริโภคด้วย สำหรับคนอื่นที่กำลังประสบปัญหาเหมือนกับเราจะแนะนำเขาอย่างไร         ผมอยากให้ผู้บริโภคที่มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นบริษัทใดก็ตาม ขอให้ออกมาเรียกร้องสิทธิและมารวมตัวกันไปหน่วยงานที่เขาช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างที่นี่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอให้ผู้เสียหายรวมตัวกัน แล้วมูลนิธิฯ จะเป็นแกนนำของผู้บริโภคได้ นี่คือความตั้งใจและความศรัทธาในมูลนิธิฯ ครับ        “ผมและทุกคนที่มาในวันนี้ อยากให้กรณีนี้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อที่จะให้ผู้บริโภคลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิที่ควรจะได้รับ การมารวมพลังกันนี่แหละครับคือความสำคัญ” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ประวีณมัย บ่ายคล้อย “ทำอย่างไรเมื่อคอนโดฯ ที่ทำสัญญาไว้สร้างไม่เสร็จตามกำหนด”

ทุกคนมีสิทธิ์ฉบับนี้มาเรียนรู้บทเรียนในการซื้อคอนโดจากคุณตาล ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศ ข่าวช่อง 3 ซึ่งเธอเล่าว่า นอกจากเรื่องทำเล เรายังต้องดูที่เอกสารหรือสัญญาว่าข้อสัญญาเป็นธรรมกับเราไหม มีรายละเอียดตรงไหนบ้าง เพราะแม้ก่อนหน้านี้ตัวเองเคยซื้อคอนโดมาบ้าง แต่ก็ยังมีปัญหาถึงกับต้องขึ้นโรงขึ้นศาลแบบไม่มีทนายมาแล้ว การซื้อคอนโดครั้งนี้เจอปัญหาอย่างไร         คอนโดอันนี้(ที่มีปัญหา) คือซื้อเพื่ออยู่เองนะคะ เราก็นึกภาพไปว่าถ้าเกิดว่าเรามีที่พักอยู่ที่นี่เอาไว้แบบตอนแก่ๆ เกษียณอะไรอย่างนี้ มีที่พักอยู่ปากช่อง ซื้อคอนโดก็ตอบโจทย์ที่ไม่ต้องเรื่องเยอะ ดูแลง่าย เลยไปซื้อโครงการหนึ่งที่ปากช่อง นครราชสีมา ดู Developer นี้แล้วพบว่าเป็นบริษัทชื่อดังบริษัทมหาชนด้วย คือพูดชื่อนี้ก็เป็น Big Name ของคนทำก่อสร้างคอนโดอยู่แล้ว เลยตัดสินใจว่าเราซื้อละกัน         พอซื้อแล้วก็ดูสัญญา เราเคยซื้อคอนโดมาบ้างหลายครั้งที่เราเจอว่าในสัญญาของโครงการจะไม่ได้ใช้สัญญามาตรฐาน หลายๆ ที่ไม่ได้ใช้สัญญามาตรฐาน อย่าง Case นี้เจอเหมือนกันว่าไม่ได้ใช้สัญญามาตรฐาน ส่วนตัวเวลาพิจารณาสัญญาข้ออื่นดูผ่านๆ แต่ข้อที่เพ่งคือจะดูเรื่องของการผิดนัดของทางผู้ที่จะขาย แล้วดูว่าถ้าเราผิด เช่น เราไม่มีกำลังในการผ่อนอย่างนี้เราจะโดนปรับอะไรบ้าง อันนี้เป็นไปตามสัญญาไหม และดูว่าถ้าผู้จะขายโครงการผิด เช่น ก่อสร้างไม่ทันหรือว่างานไม่มีคุณภาพนี่เราจะเอาผิดอย่างไรกับเขาได้บ้าง ซึ่งตรงข้อนี้ส่วนใหญ่เลยที่เจอ เท่าที่ตาลเจอคือสัญญาฝั่งผู้ที่จะขายจะเขียนค่าปรับตรงนี้ไม่เท่าในสัญญามาตรฐาน คือในสัญญาเขียนน้อยกว่า         เขียนน้อยกว่า อันนี้ใช่ค่ะ ซึ่งจริงๆ ใน Case นี้เราก็อาจจะไม่ใช่ผู้บริโภคที่แบบว่าทำหน้าที่เข้มแข็งนะคะ คือบางคนอาจจะบอกว่าแก้สัญญาเลยสิ ให้มันเป็นสัญญามาตรฐานได้ไหม แต่เราก็รู้สึกว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวถ้าเกิดว่าผิดจริงๆ เราค่อยไปคุยกันตอนที่มีปัญหาละกัน เพราะว่าเราก็อยากได้โครงการนี้ พอดูสัญญาเสร็จแล้วจนถึงช่วงเวลาที่ต้องโอนแล้ว เราดูอาการออกเลยว่า พอถึงวันที่ต้องโอนโครงการไม่สามารถโอนได้แน่ เราก็รู้สึกว่าถ้าโอนไม่ได้ น่าจะยึดเยื้อน่าจะก่อสร้างแบบดีเลย์ไปเป็นปีสองปี “ความคืบหน้ามันน้อยมากค่ะ ดีเลย์ไปเป็นปีแน่นอน เราก็เลยบอกเลิกสัญญาดีกว่า ทีนี้พอบอกเลิกสัญญาเราเข้าใจว่า โครงการคุณก็ต้องจ่ายเงินต้นที่เราได้จ่ายไปแล้วพร้อมดอกเบี้ย” บอกเลิกสัญญาทำอย่างไร         บอกเลิกสัญญาก็คือ ในสัญญาเขาจะบอกว่าถ้าเขาสร้างไม่เสร็จเราสามารถบอกเลิกได้ พี่ก็โทรไปแจ้งเซลล์คนที่เราติดต่อด้วยว่าอยากจะบอกเลิกสัญญา เซลล์บอกว่าต้องทำจดหมายมาถึงบริษัท เราก็ทำจดหมายไป ซึ่งความคาดหวังของเราคือบอกเลิกสัญญาจะต้องได้เงินต้นพร้อมกับค่าปรับ ก็คือดอกเบี้ยตามสัญญามาตรฐานของกฎหมายที่กำหนดเอาไว้         แต่ว่าตรงนี้พอคุยกันแล้วมีปัญหาเพราะว่าโครงการเขาบอกว่าจริงๆ แล้วเขาจะจ่ายเฉพาะเงินต้นไม่ยอมจ่ายค่าปรับให้ เราก็ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ เลยนำมาซึ่งการคุยกับเขาแต่ว่าตอนนั้นก็ตกลงกันไม่ได้ เคสตาลมันก็จะมีรายละเอียดอีกนิดหนึ่ง คือว่ามาถกเถียงกันเรื่องรายละเอียดว่าในสัญญามันจะมีข้อหนึ่งที่เขาเขียนเอาไว้บอกว่า ถ้าเกิดว่าโครงการมีปัญหาในการก่อสร้างประสบปัญหา โครงการเขาจะส่งหนังสือแจ้งมาว่าเขาจะขอขยายระยะเวลาการก่อสร้าง ไอ้ประโยคนี้ถ้าผู้บริโภคที่อาจจะเพิ่งเคยซื้อคอนโดหรือไม่ดูในสัญญา ก็อาจจะคิดว่าทุกกรณีเลยหรือ ถ้าเกิดว่าเขาอยากจะขยายเวลาการก่อสร้าง แต่ว่าพอดูเจตนารมณ์ตามกฎหมายคือการขยายเวลามันต้องมีเหตุผลจริงๆ เช่น แบบอย่างช่วงน้ำท่วมหรือว่ามีปัญหาเรื่องโควิดอะไรอย่างนี้ แต่ว่ารายละเอียดเขาต้องแจ้งมาที่คนซื้อด้วยว่าขยายเวลา ขอขยายจากเหตุอะไรแล้วก็ต้องแจ้งหลังจาก 7 วันที่เกิดเหตุนั้นแล้ว อันนี้คือรายละเอียด         แต่ว่าสัญญาไม่ระบุขนาดนี้แล้วโครงการเขาก็บอกว่าเขาแจ้งมาแล้ว ประเด็นคือเขาบอกเขาส่งหนังสือแจ้งมาตอนธันวา คือธันวาเขาต้องส่งงานประมาณต้นธันวาเขาส่งจดหมายมาแต่ตาลไม่ได้รับ ไม่มีจดหมาย พอมีเรื่องกันแล้วพอไปทวนกันดู  เขาบอกว่าเขาส่งมาแล้วแต่เขาไปส่งในที่อยู่ในบัตรประชาชนไง ซึ่งไม่ใช่ที่อยู่ในสัญญา ที่อยู่ตามบัตรเราไม่ได้อยู่ที่นั่นเราก็ไม่รู้เรื่องแล้ว แต่เราไปตามดูจดหมายนะว่ามีไหมก็ไม่มี อะไรอย่างนี้คะ ก็เลยเป็นที่ถกเถียงกัน เขายืนยันว่าเขาส่งแล้วเขามีสิทธิขอขยาย แต่เรายืนยันว่าคุณผิดสัญญาเราจะขอเลิกสัญญา  เขามีไปรษณีย์ตอบรับไหมคะว่ามีใครเซ็นจดหมาย         มีคะ ก็คือเหมือนกับว่าเขาส่งไปคนเซ็นเป็น รปภ.เขาก็เอาใบนั้นมาให้เราดู แต่ว่าคิดดูนะถ้าเราไม่ไปตามหาจดหมายจริงๆ เราก็ไม่ได้นะคะ ซึ่งอันนี้มันก็ยังสงสัยอยู่ว่าจริงๆ แล้วถ้า Developer มาอ้างแบบนี้ว่าเขาส่งไปที่ที่อยู่แล้ว แต่ว่าเป็นที่อยู่ตามบัตรประชาชนไม่ใช่อยู่ในสัญญา อันนี้จะใช้ได้หรือเปล่า อันนี้เรื่องหนึ่งทีนี้พอตกลงกันไม่ได้ก็เลยคิดว่าจะอย่างไรดี ซึ่งถ้าเกิดได้คืนเฉพาะเงินต้นมันไม่โอเคอยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่า Developer เอาเปรียบเราเกินไป แล้วเป็นบริษัทใหญ่ด้วย         ใช่คะ ก็เลยนำมาซึ่งการฟ้องคดี บริษัทควรมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค  ฟ้องเองเลยไม่ใช้ทนาย         ต้องบอกว่าฟ้องเองเลย ลองฟ้องดู คือเข้าไปอ่านรีวิว รีวิวใน Pantip เขาบอกว่าเขาก็ฟ้องกันนี่ แล้วทีนี้ก็เลยเริ่มหาข้อมูลแล้วก็โทรศัพท์ไปที่ศาล เพราะว่าตอนแรกยังสับสนเรื่องของการฟ้องคดีต้องฟ้องในพื้นที่ไหน ทางศาลเจ้าหน้าที่ท่านรับโทรศัพท์ก็ให้คำแนะนำที่ดีมากเลยนะคะ แล้วก็กระบวนการในการฟ้องก็ไม่ได้หนักอย่างที่คิด คือตอนแรกเรารู้สึกว่ากระบวนการมันน่าจะแบบว่าเป็นปีเลยหรือเปล่า แต่ปรากฏว่ากระบวนการก็คือเตรียมเอกสารไป ทางเจ้าหน้าที่ศาลก็แนะนำว่าถ้าจะให้ดีเอกสารเตรียมให้พร้อม แล้วถ้าเป็นไปได้อาจจะเขียนพิมพ์เป็น File ก็ได้ว่าเหมือนกับเล่าว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร Timeline เป็นอย่างไร สิ่งที่อยากเรียกร้องคืออะไร อย่างนี้ค่ะ เราก็เลยทำเป็น File ไป เสร็จแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ที่เราโทรปรึกษา เขาก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ที่ช่วยเขียนสำนวนให้ ซึ่งตรงนี้คือเรารู้สึกว่ากระบวนการไม่ได้ยากอย่างที่คิดจริงๆ ถึงแม้ว่าเราไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายไม่รู้ภาษากฎหมายไม่รู้จะเขียนสำนวนอย่างไรก็คือเดี๋ยวเขาก็จะไปปรับให้เอง (ตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะมีเจ้าพนักงานคดีซึ่งผู้บริโภคสามารถเล่าเหตุการณ์ปากเปล่า บอกว่าเรามีปัญหาอย่างไรแล้วเขาก็จะเขียนให้ตามนั้น แต่ว่าของคุณตาลจะพิเศษตรงที่ตรงไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ไปให้ด้วย)         ที่ชอบก็คือ เจ้าหน้าที่เขาก็ใส่ใจมากเลยเหมือนกับว่าก่อนที่จะไปให้ดูอีกครั้งหนึ่งเพื่อจะให้มันรวดเร็วเขาก็ส่ง File E-mail กลับมาเลย บอกว่าเราโอเคในสำนวนนี้ไหม ถูกต้องไหม ให้ตรวจทานดูอีกทีหนึ่งรู้สึกว่ากระบวนการมันไม่ช้า ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ก็ใช้เวลาสองเดือนพอดีถึงวันที่ที่ศาลเริ่มนัดวันแรก จริงๆ ต้องนัดภายใน 30 วัน         ใช่ค่ะเป็นช่วงโควิดพอดี เขาต้องทำภายใน 30 วันใช่ไหมคะ เห็นทางเจ้าพนักงานก็แจ้งว่าช่วงนี้คดีเยอะแล้วก็ช้า (ดีเลย์) ไปเพราะว่าโควิดด้วย จริงๆ ก็คือสองเดือนของคดีนี้ถือว่าเร็วแล้ว แต่ด้วยความที่ไม่เคยไปศาล ไม่เคยมีคดีอะไรมาก่อนเลยในชีวิต  อันนี้เป็นคดีแรกเราก็รู้สึกว่าจริงๆ เรื่องราวมันก็ไม่ได้ซับซ้อน คือจริงๆ น่าจะมีผู้เสียหายคล้ายๆ กันหรือว่าเจอยิ่งกว่าเราอีกหลายคดี เรารู้สึกว่าคดีเราก็เป็นคดีเล็กมากๆ ตอนแรกที่ไปเราก็เข้าใจว่าน่าจะมีการมาไกล่เกลี่ยพูดคุย ทาง Developer น่าจะชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ว่าตอนแรกที่ไปเจอทาง Developer เขาส่งทนายความมาท่านเดียว แล้วก็ให้เหตุผลว่าไม่สามารถติดต่อผู้มีอำนาจของบริษัทที่จะมาพูดคุยได้ ดังนั้นคือขอให้ทางศาลได้เลื่อนแล้วก็นัดกันใหม่ เพื่อไปคุยกันนัดหน้าก็เลยใช้เวลาไปอีกสองเดือน         แต่ว่าช่วงสองเดือนนี้เลยได้กลับมาทบทวนเรื่องของสำนวนเพราะว่ามีคนทักมาเหมือนกันว่า ฟ้องคดีคนเดียวเขาก็เป็นห่วงว่า เดี๋ยวสำนวนมันจะไม่รัดกุมหรือเปล่า หรือว่าจะมีจุดไหนที่เพลี่ยงพล้ำหรือเปล่า เราก็เลยกลับมาเอาสำนวนของทาง Developer มานั่งดูว่าเขาก็ยืนยันว่าเขาไม่ได้ผิดอะไร อย่างไร มีประเด็นไหนที่ต้องดูเป็นพิเศษ เราเลยเอาสำนวนเอาคดีมาปรึกษาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ตาลได้รับคำแนะนำในเบื้องต้นว่าในเรื่องกฎหมายหรือว่าการฟ้องคดี จริงๆ อาจจะไม่ต้องใช้ทนายก็ได้ แต่ว่ามีประเด็นไหนที่เราควรจะรู้แล้วก็เตรียมข้อมูลไปในวันที่จะมีการไต่สวน แต่ว่าสุดท้ายเรื่องก็มาลงเอยที่เราก็เตรียมตัวไป แต่ว่าช่วงใกล้ๆ เวลาที่จะมีคณะไต่สวนทาง Developer ก็ส่งทนายมาแล้วก็บอกว่าโอเค ก็อยากประนีประนอมกัน แล้วก็จะตกลงตามที่เราเรียกร้องไปกคือคืนเงินต้นแล้วก็เบี้ยปรับตามที่เราบอกไป พอฟ้องคดีถึงมีการเจรจาคืนเงินต้นคืนเบี้ยปรับให้เราทั้งที่ตอนแรกไม่ได้ให้         ตอนแรกไม่ได้ให้แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างจะกระชั้นเหมือนกันคือ ศาลจะนัดไต่สวนวันพรุ่งนี้ วันนี้มาทำประนีประนอมกัน สุดท้ายเราก็ยอมที่จะประนีประนอมไป ขอให้ช่วยแชร์ประสบการณ์ผู้ที่จะซื้อคอนโดต้องดูอะไรบ้าง         จริงๆ แล้วเรื่องสัญญาคือถ้าเป็นไปได้อยากให้ศึกษาให้ละเอียดหน่อยว่าถ้าสัญญาตรงไหนเราไม่เข้าใจหรือเราเห็นว่ามันคลุมเครือหรือว่าเราจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ก็ศึกษาสัญญาให้ดีก่อนที่จะเซ็น จริงๆ อันนี้ประสบการณ์ตัวเองที่เอามาแชร์ได้ก็คือ บางทีเราไปหลงเป็นเหยื่อการตลาด คือเราเห็นโปรโมชันแล้วเคลิ้ม อย่างปีนี้คอนโดมีเนียมโครงการต่างๆ มีโปรโมชันดีมากเลย คืออาจจะต้องถามความจำเป็นของตัวเองก่อนว่าเราซื้อคอนโดเพื่ออะไร จำเป็นไหม แล้วได้โปรโมชันมานี่มันคุ้มค่าจริงหรือเปล่า ค่อยๆ พิจารณาว่าอันนี้เป็นเหตุผลที่เราจะซื้อจริงๆ ใช่ไหม         เสร็จแล้วพอไปดูในสัญญา อย่างข้อที่อยากให้ดูมากๆ เลย ก็คือเรื่องนี้ว่าเบี้ยปรับหรือทางกรณีผู้ที่จะขายหรือว่าโครงการผิดสัญญาเขาจะโดนลงโทษอย่างไร หรือว่าเราเรียกร้องอะไรได้บ้างตรงนี้อยากให้เคลียร์กับเขาไปเลยว่ามันต้องเป็นอย่างไร แล้วอาจจะบอกไปได้เลยได้ว่าอันนี้มันไม่ใช่เป็นตามสัญญามาตรฐานนะ เราขู่เลยได้ไหมพี่ว่าอันนี้เดี๋ยวไปฟ้อง สคบ.ได้นะว่าสัญญาไม่ใช่สัญญามาตรฐาน         อันนี้คือให้แบบชัดเจนอยู่ในสัญญามันจะดีมาก แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็คือภาพที่เราเห็นตอนโฆษณาอย่างนี้ต้องเก็บไว้เป็นหลักฐานให้หมดเลย ตั้งแต่โบชัวร์ที่เราเห็นโฆษณาที่เขาติดไว้ เกิดมีปัญหาตรงนี้มันจะได้เอาเป็นข้อมูลที่จะเอาไว้เรียกร้องได้รวมถึงใบเสร็จต่างๆ ที่เราจ่ายค่างวดไป แล้วก็มีอันหนึ่งที่เป็นรายละเอียดเหมือนกันก็คือถ้าเกิดโครงการบอกว่าจะมีอะไรให้ เช่น แถมเฟอร์นิเจอร์กี่ชิ้น ก็ให้เขาแนบรูปเฟอร์นิเจอร์ที่แบบตรงตามสเปคที่เขาจะให้จริงๆ เพราะเคยเจอเหมือนกันบอกว่าจะแถมเฟอร์นิเจอร์แล้วแบบว่ามันครบไหม หรือว่าบางทีคุณภาพมันไม่ได้เหมือนกับตอนที่เขาโฆษณาไว้ สุดท้ายอยากฝากอะไรถึงผู้บริโภคหรือ Developer ที่กำลังทำโครงการ         Developer บ้านเราก็อยากจะให้คำนึงถึงจิตใจของผู้บริโภคเรื่องของสิ่งที่ผู้บริโภคเขามีความคาดหวัง จริงๆ ก็ทำตามสัญญาทำตามมาตรฐานที่คุณเป็น ทำตามสัญญาให้ได้ ส่วนฝั่งผู้บริโภคตาลคิดว่าจริงๆ สิทธิของผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญแต่ว่าหลายคนอาจจะคิดว่ามันเสียเวลาหรือว่ามันไม่คุ้ม มันลำบาก มันยากอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่จริงๆ แล้วคืออยากเชิญชวนว่าในเมื่อมันเป็นสิทธิของเรา คือถ้าเกิดผู้บริโภคเข้มแข็งเรียกร้องสิทธิที่เราพึงมีพึงได้ มันก็เป็นตัวที่จะช่วยกำกับการทำงานของ Developer ให้เขาควบคุมคุณภาพให้ดีด้วย ดังนั้นเราศึกษาก่อนว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง ถ้าเราเสียสิทธิเราควรจะเรียกร้องสิทธิที่เรามีคืนมา

อ่านเพิ่มเติม >